เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 31 สิงหาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ชานชาน" SHANSHAN ที่ปกคลุมตอนกลางของหมู่เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 30 ? 31 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนลง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 1 ? 5 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย
เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก

ในช่วงวันที่ 31 ส.ค. ? 3 ก.ย. 67 สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 5 ก.ย. 67 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 1 ? 5 ก.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 4 ? 5 ก.ย. 67









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


เมื่อผลกระทบจากโลกร้อน ที่มาพร้อมกับลานีญา กำลังทำให้น้ำท่วมทั่วโลกมากผิดปกติ
........ Nature Matter, creator ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย


Summary

- สถานการณ์น้ำท่วมในไทยยังคงน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ และอีกไม่นานน้ำจะไหลจากทางภาคเหนือมายังภาคกลาง ซึ่งจะมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 2 กันยายนนี้

- แน่นอนว่าน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักเจออยู่เป็นประจำทุกปี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมมากในปีนี้เป็นเพราะ 'โลกร้อน'

- เดิมทีปีนี้เป็นปีของ 'เอลนีโญ' (El Ni?o) ส่งผลให้ไทยและภูมิภาคใกล้เคียงเกิดภัยแล้งและฝนตกน้อย เนื่องจากทิศทางกระแสลมทำให้กระแสน้ำอุ่นไปทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ฝั่งอเมริกาใต้ฝนตกมากขึ้น

- กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในภาวะปกติจะต่อเนื่องไป 1-2 เดือน โดยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2024 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2024-มกราคม 2025




สถานการณ์น้ำท่วมในไทยยังคงน่าเป็นห่วงในหลายพื้นที่ และอีกไม่นานน้ำจะไหลจากทางภาคเหนือมายังภาคกลาง ซึ่งจะมาถึงกรุงเทพฯ ประมาณวันที่ 2 กันยายนนี้ แน่นอนว่าน้ำท่วมเป็นภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักเจออยู่เป็นประจำทุกปี แต่สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมมากในปีนี้เป็นเพราะ ?โลกร้อน?

เดิมทีปีนี้เป็นปีของ 'เอลนีโญ' (El Ni?o) ส่งผลให้ไทยและภูมิภาคใกล้เคียงเกิดภัยแล้งและฝนตกน้อย เนื่องจากทิศทางกระแสลมทำให้กระแสน้ำอุ่นไปทางฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกทำให้ฝั่งอเมริกาใต้ฝนตกมากขึ้น

ส่วนกรณีน้ำท่วมหนักปี 2011 ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือเป็นปีลานีญา เนื่องจากมีฝนตกก่อนฤดูและฝนหยุดตกช้า โดยปรากฏการณ์ลานีญาจะส่งผลให้ไทยฝนตกหนักและมีระดับน้ำทะเลขึ้นสูง ความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญาจะแตกต่างออกไปในแต่ละปี เช่น เมื่อปี 2020 ก็เกิดปรากฏการณ์ลานีญา แต่มีกำลังอ่อนทำให้ฝนตกหนักกว่าปี 2019 เท่านั้น


จากรายงานเดือนสิงหาคม 2024 ของ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า ปรากฏการณ์เอนโซ (ENSO : El Ni?o-Southern Oscillation) หรือสภาวะที่เป็นกลาง (ช่วงที่ทั้งเอลนีโญและลานีญาไม่ได้มีพลังอยู่) อยู่ในสภาวะปกติ โดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลาง และด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรในเดือนที่ผ่านมาเย็นลงเล็กน้อย ส่วนบริเวณด้านตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกสูงกว่าค่าปกติ

กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปรากฏการณ์เอนโซที่อยู่ในภาวะปกติจะต่อเนื่องไป 1-2 เดือน โดยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2024 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2024-มกราคม 2025

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นประเทศไทยคาดว่าช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2024 ปริมาณฝนบริเวณประเทศไทยมีค่าใกล้เคียงค่าปกติ ส่วนอุณหภูมิจะสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย

ข้อมูลเดือนสิงหาคมขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงจากปรากฏการณ์เอนโซไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญายังคงดำเนินไปอย่างช้าๆ โดยมีแนวโน้มว่าจะมีโอกาส 66 เปอร์เซ็นต์ที่ลานีญาจะเกิดขึ้นในช่วงกันยายน-ธันวาคม 2024 และจะคงอยู่ต่อไปในช่วงฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ (มีโอกาส 74 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม)

จากผลคาดการณ์ของหลายสำนักยืนยันได้ว่าในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนไปเป็นลานีญา อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของเอลนีโญและลานีญานั้น ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำนายความรุนแรงแรงผลกระทบของอุณหภูมิหรือปริมาณน้ำฝนในพื้นที่นั้นๆ ได้ดีนัก หรืออธิบายง่ายๆ ว่า แม้จะเป็นปรากฏการณ์ลานีญาระดับปานกลางหรือระดับอ่อนก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งได้


ทั่วโลกกำลังวิกฤตจากภัยธรรมชาติ

ไม่ใช่แค่ไทยเท่านั้นที่เจอกับน้ำท่วมหนักในปีนี้ แต่ผลกระทบจากโลกร้อน และการคืบคลานเข้ามาของลานีญาในช่วงระหว่างปรากฏการณ์เอนโซนี้ กำลังส่งผลกระทบไปทั่วบริเวณประเทศในภูมิภาคฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะบริเวณประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ซึ่งไทยก็รวมอยู่ในนั้นด้วย

เช่น บนเกาะเตอร์นาเต (Ternate Island) ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย มีรายงานเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมว่าเกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันพัดถล่มพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านและมียอดผู้เสียชีวิตจำนวน 13 ราย

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนสำนักงานอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินโดนีเซีย (BMKG) ว่าจะยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่เมืองเตอร์นาเตและบริเวณโดยรอบ จึงยังให้ประชาชนคอยเฝ้าระวังน้ำท่วมต่อไป เนื่องจากฝนตกหนักจะทำให้เกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันบ่อยครั้ง ซึ่งในอินโดนีเซียมีผู้คนนับล้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ภูเขาและใกล้ที่ราบลุ่มที่น้ำท่วมถึง

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็กำลังเผชิญกับน้ำท่วมเช่นกันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า


ส่วนทวีปออสเตรเลียก็เกิดฝนตกและน้ำท่วมหนักที่ตอนเหนือของเมืองหลวงซิดนีย์ ออสเตรเลียเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และเมื่อเดือนสิงหาคมมีฝนตกหนักทำลายสถิติในบริเวณตอนใต้และตะวันตกส่งผลให้น้ำท่วมเป็นวงกว้าง แต่สภาพพื้นดินที่แห้งมากๆ ในบางเขตทำให้พื้นดินเหล่านั้น ดูดซับน้ำไว้ได้เหมือนกับฟองน้ำจึงทำให้ระดับน้ำลดลงแล้ว แต่บางพื้นที่อาจต้องใช้เวลามากกว่านั้นกว่าน้ำจะแห้ง


ส่วนฝั่งเอเชียตะวันออก เช่น จีน เกิดสภาพอากาศแปรปรวน โดยสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติของจีน กล่าวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า สภาพอากาศในจีนปีนี้เกิดความผิดปกติ ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั่วประเทศสูงกว่าค่าเฉลี่ย 13.3 เปอร์เซ็นต์

และสถานีตรวจอากาศ 30 แห่งพบว่ามีสถิติปริมาณน้ำฝนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม่น้ำสายหลัก 4 สายมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย แม่น้ำหวยเหอและลุ่มแม่น้ำเหลียวเหอมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย 2 เท่า ซึ่งจีนได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับน้ำท่วมและเตรียมอ่างเก็บน้ำเกือบ 5,000 แห่ง เพื่อรองรับน้ำท่วมกว่า 99,000 ล้านลิตรแล้ว


ภูมิภาคใกล้จีนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เช่น ญี่ปุ่น ก็เพิ่งมีรายงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมนี้ว่า ประชาชนทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเกือบ 4 ล้านคนต้องอพยพ เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นชานชาน(Shanshan) ที่พัดขึ้นฝั่งเมื่อวันพฤหัสบดี (29 ส.ค.) ทำให้ประชาชนหลายพันคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และมีลมแรงระดับเฮอริเคนพัดถล่มเกาะคิวชูด้วย ทำให้ฝนตกหนัก และมีอันตรายจากคลื่นพายุซัดฝั่งด้วย

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นจึงออกคำเตือนฉุกเฉิน คาดว่าพายุลูกนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มสร้างความเสียหายในพื้นที่ส่วนใหญ่ของคิวชูทางใต้ของประเทศ และยังคาดอีกว่าจะมีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์


ทางด้านฝั่งเอเชียใต้ก็เผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่เช่นกัน เพราะในประเทศโซนอินเดียและบังกลาเทศเกิดน้ำท่วมหนักตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม และมีประชาชนรวมกว่าแสนคนติดอยู่ในพื้นที่นั้น ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าฤดูมรสุมในเอเชียใต้จะมีปริมาณฝนเกินปกติ และจะกินเวลาไปจนถึงเดือนกันยายน

และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม บังกลาเทศยังคงเกิดน้ำท่วมหนัก ทำให้มีผู้เสียชีวิตในบังกลาเทศแล้วอย่างน้อย 23 ศพ มีประชาชนราว 4.5 ล้านคนในบังกลาเทศได้รับผลกระทบและมีชาวบ้านกว่า 65,000 คนต้องอพยพหนีภัยน้ำท่วม

น้ำท่วมที่เกิดพร้อมๆ กันทั่วโลกนี้เป็นสัญญาณหนึ่งของผลกระทบจากโลกร้อน ซึ่งปัญหาอุทกภัยในภูมิภาคใกล้เคียงไทยก็เป็นส่วนหนึ่งที่รัฐบาลจะต้องพิจารณาและแก้ไขสถานการณ์ในประเทศโดยเร็ว เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด

แม้การคาดการณ์ของเหล่าสำนักพยากรณ์อากาศจะช่วยให้ทราบสภาพอากาศล่วงหน้าได้ แต่การบริหารจัดการในพื้นที่ยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะบรรเทาปัญหาในยุคโลกรวนนี้ เพราะสภาพภูมิประเทศของไทยนั้นแตกต่างกัน การจัดการปัญหาน้ำท่วมจึงต้องให้คนในพื้นที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการจัดการน้ำด้วย


อ้างอิง: climate.gov , trueplookpanya.com , reuters (1,2) , abc.net.au , voanews.com , cnn.com , thairath.co.th , theguardian.com ,ANC 24/7, thestar.com, tmd.go.th , reliefweb.int


https://plus.thairath.co.th/topic/na...JhdGgtcGx1cw==
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ตื่นตาพบครอบครัวโลมาขนาดใหญ่4ตัว ว่ายน้ำอวดโฉมปากแม่น้ำกระบี่

ตื่นเต้นพบครอบครัวโลมาขนาดใหญ่ 4 ตัว ยาวประมาณ 1-2 ม. ว่ายน้ำอวดโฉมปากแม่น้ำกระบี่ เบื้องต้นคาดชวนกันไล่จับปลาเล็กปลาน้อยกินเป็นอาหาร



เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ใช้เพจเฟซบุ๊ก "โกอิท-อิทธิชัย ตันบุตร" สมาชิกกลุ่มพัฒนากระบี่ มีการแชร์ภาพความน่ารักของครอบครัวปลาโลมา 4 ตัว ยาวประมาณ 1-2 เมตร โผล่แหวกว่ายอวดโฉม บริเวณปากแม่น้ำกระบี่ ตำบลปากน้ำ เขตเทศบาลกระบี่ สร้างความตื่นเต้นแก่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ต่างหยิบโทรศัพท์บันทึกภาพเก็บไว้ โดยฝูงปลาโลมาไม่มีการตื่นกลัว ดำผุดดำว่ายให้บันทึกภาพ ใช้เวลา 10-15 นาที ก่อนจะว่ายน้ำหายไป

โกอิท-อิทธิชัย ตันบุตร อายุ 50 ปี เจ้าของเพจ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (30 ส.ค.)ก่อนเจอฝูงปลาโลมา ตนพร้อมกลุ่มพัฒนากระบี่ นำเรือออกให้บริการประชาชน บริการลอยอังคารฟรี บริเวณกลางทะเลกระบี่ ระหว่างเดินทางกลับเรือลอยลำอยู่ตรงร่องปากแม่น้ำ ได้เจอกับฝูงโลมาแหวกว่ายน้ำ คาดว่าคงไล่จับปลาเล็กปลาน้อยกินเป็นอาหาร ตอนนั้นรู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จึงพากันหยิบโทรศัพท์บันทึกภาพไว้ ก่อนที่ฝูงปลาโลมาจะว่ายหายไปบ่งชี้ปากแม่น้ำทะเลกระบี่มีความความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะล


https://www.dailynews.co.th/news/3810296/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


"น้ำท่วมปี 67" กรุงเทพฯ รอดไหม? ตัดสินเดือนหน้า



คาดการณ์ "ฝนตกหนัก" ถึง "สิ้นเดือน" เหนือท่วมหนัก คนมองภาพคล้ายๆ ปี 54 ชวนกูรูวิเคราะห์ "กรุงเทพฯ" จะรอดจากมวลน้ำนี้หรือเปล่า? กับ "ร่องมรสุม" ที่กำลังจะพาดผ่านเข้ามา

ยัง "เอาอยู่" ไม่ท่วม-ไม่ล้นตลิ่ง

กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองแล้ว กับปัญหา "น้ำท่วม" เพราะล่าสุด "กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)" คาดการณ์ว่า ระดับน้ำในเจ้าพระยา มีแนวโน้มจะ "เพิ่มสูง" ขึ้นอีก

"ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์" อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เผยกับสื่อว่า ได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ในวันที่ 24-30 ส.ค. นี้ ไทยยังคงมี "ฝนตกอย่างต่อเนื่อง"

และได้ประสาน 10 จังหวัดได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ รวมถึง "กทม." เฝ้าระวังสถาการณ์ระดับน้ำในแม่เจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด

เหตุการณ์แบบนี้ ทำให้หลายคนนึกถึง "น้ำท่วมใหญ่ ปี 54" และกังวลว่ากรุงเทพฯ จะท่วมหนักซ้ำรอยหรือเปล่า? ทีมข่าวจึงต่อสายหาผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำอย่าง "ชวลิต จันทรรัตน์" กรรมการบริษัท คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน)หรือ "TEAM GROUP" เพื่อตอบข้อกังวลนี้

"อันที่ 1 ก่อนนะครับ เดือนสิงหาคมนี้ ยังไม่ถึงกรุงเทพฯ กันยายนก็ปลายๆ เดือนนะ เพราะว่าปริมาณน้ำ มันไม่ได้มากน่ะครับ"

ปัญหาน้ำท่วมที่หนักจริงๆ ตอนนี้ คือ "ภาคเหนือ" ทั้งใน จ.น่าน, แพร่, สุโขทัย แต่ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมายัง "เขื่อนสิริกิติ์" ก็ยังเป็นปริมาณน้ำที่บริหารจัดการได้ เพราะพื้นที่เก็บน้ำของเขื่อนยังเหลืออีก 60%

และเรายังมี "เขื่อนเจ้าพระยา" ที่ชัยนาท ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ สามารถ "ผันน้ำ" ออกไปทางระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันนออก และฝั่งตะวันตกได้ ทำให้เรายังจัดการกับมวลน้ำก้อนนี้ได้

"เพราะฉะนั้น ก็จัดการได้ ตั้งแต่ชัยนาทลงมา จะมีน้ำเพิ่มเติมบ้าง อย่างเมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) ก็ยังปล่อยน้ำ 650 (ลบ.ม./วินาที)ลงมาทางโผงเผ, บางบาล, เสนา ก็ยังไม่ท่วม ยังไม่ล้นตลิ่ง"

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำรายเดิมบอกว่า พื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง "น้ำท่วม" คือบริเวณตามคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และ พื้นที่ อ.เสนา และ อ.บางบาล จ.อยุธยา เท่านั้น ซึ่งคาดว่า 31 ส.ค.- 2 ก.ย. 67 น้ำก็น่าจะลดลง

สรุปคือน้ำที่มานี้ จะ "ท่วมไม่ถึง" พื้นที่กรุงเทพฯ,นนทบุรี และปทุมธานี แต่นี่เป็นแค่มวลน้ำจากภาคเหนือก้อนเดียว "ชวลิต" วิเคราะห์ว่า ยังต้องจับตาดู "ร่องมรสุม" ในเดือน ก.ย. และ ต.ค. อีกที


แม้ตอนนี้จะมั่นใจว่า "น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ" แน่ๆ แต่มันก็แค่ระยะนี้เท่านั้น "ธารา บัวคำศรี" ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย บอกกับทีมข่าวว่า...

"มวลน้ำมันอาจจะไม่ได้ใหญ่ เทียบเท่าปี 54 น่ะครับ ถ้าพูดถึงมวลน้ำที่มันลงมา แต่มันต้องดูเดือนหน้า (ก.ย.) จะเป็นเดือนที่ร่องมรสุมพาดผ่าน"

"ร่องมรสุม" ที่ทำให้ฝนตกหนักนี้ มันจะค่อยๆ ขยับลงมาจากทางภาคเหนือ ในเดือน "ก.ย." ไปจนถึงภาคใต้ ในเดือน "พ.ย."

ถ้าฝนไปตกหนักบริเวณเหนือเขื่อนอย่าง "เขื่อนสิริกิติ์" กับ "เขื่อนภูมิพล" ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะทั้ง 2 ที่ยังมีพื้นที่เก็บน้ำอยู่ แต่มันปัญหามันจะเกิด เมื่อร่องมรสุมพัดให้ฝนไปตกใต้เขื่อน


อีกเรื่องที่จะเกิดขึ้นในเดือนกันยายนคือ "พายุหมุนเขตร้อน" ผอ.กรีนพีซประเทศไทยบอกกับเราว่า จากการพยากรณ์พบว่า ปีนี้เอเชียจะเจอกับ "ไต้ฝุ่น" ถึง "12-15 ลูก" ซึ่งมันอาจวิ่งเข้ามาบ้านเรา 1-2 ลูก

"เราก็ต้องจับตาดูว่า เดือนกันยาฯ เนี่ย มันจะวิ่งเข้ามาที่ไหนยังไง แล้วมันจะส่งผลต่อปริมาณน้ำท่า ที่อยู่ในลุ่มน้ำ ที่จะวิ่งเข้ามาในกรุงเทพฯ เข้ามาในภาคกลางเนี่ย มากน้อยแค่ไหน"

และตัวแปรที่ระวังยากที่สุดคือ "Rain Bomb" เป็นฝนที่ตกมาสั้นๆ แต่ "ตกหนัก-ปริมาณน้ำฝนเยอะ" ซึ่งปรากฎการณ์นี้ ทำให้เกิดน้ำท่วมที่ ภูเก็ต กับ ตราด ที่ผ่านมา และเป็นฝนแบบเดียวกับที่ตกใน เชียงราย กับ น่าน ตอนนี้

ปัญหาของ Rain Bomb คาดการณ์ได้ยากว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน-เมื่อไหร่ ปรากฎการณ์นี้มาจาก "น้ำทะเล"

ที่ "ร้อนขึ้น" กลายเป็นไอไปสะสมในอากาศ ซึ่งไทยเองก็โดนขนาบด้วยทะเล 2 ฝั่งทั้ง "มหาสมุทรอินเดีย" และ "แปซิฟิก"

"ถ้าไปเจอร่องฝน มันก็จะเป็นเงื่อนไขให้เกิด Rain Bomb ซึ่งเวลาเขาดูว่า จะมี Rain Bomb มั้ยเนี่ย มันดูล่วงหน้าอย่างน้อยนะ ผมคิดว่าไม่เกิน 3-5 วัน พอมันคาดการณ์ได้ยากเนี่ย การเตรียมรับมือ ก็มีความท้าทายด้วย"

ไม่หมดแค่นั้น ถ้า กทม. เคราะห์ร้ายจริงๆ อาจจะเจอกับ "ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุน" เพราะต่อให้ปริมาณน้ำที่เข้ากรุงเทพฯ มีไม่มาก แต่ถ้าไม่สามารถระบายได้ทัน จากการที่น้ำทะเลหนุนสูง มันก็จะเกิดการท่วมของน้ำที่รอระบายได้

"อันนี้อย่างที่ผมบอกว่า 1 เดือนกันยาฯ จะเป็นตัวตัดสินว่า กรุงเทพฯ จะเหมือนกับ ปี 54 หรือปี 65"

"ธารา" ผอ. กรีนพีซประเทศไทยบอกว่า สถานการณ์น้ำตอนนี้ "เรายังไปปลอดภัย" ต้องจับตาตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงช่วงปลายเดือน พ.ย. หรือสิ้นปี แต่ปัญหาคือตอนนี้ข้อมูลเรื่องน้ำ ที่มีหลายแหล่งมากเกินไป

มันสะท้อนถึงปัญหาของหน่วยงาน ที่บริหารจัดการเรื่องน้ำ "ทับซ้อน" กันไปมา ทำให้การแจ้งเตือนน้ำท่วมไปไม่ถึงพี่-น้อง ตามต่างจังหวัดด้วย รัฐต้องหาเจ้าภาพในการจัดการเรื่อง "อุทกภัย" ให้ได้ให้จบในองค์กรเดียว

สกู๊ป : ทีมข่าวMGR Live
ขอบคุณภาพ : เพจเฟซบุ๊ก "North Now"



https://mgronline.com/live/detail/9670000080563

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


มหันตภัยครั้งใหม่! 'ไต้ฝุ่นชานชาน' รุนแรงขึ้นเพราะโลกร้อนจริงหรือ?


SHORT CUT

- กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ประกาศเตือนภัยระดับ 5 (ขั้นสูงสุด) สำหรับไต้ฝุ่นชานชาน ซึ่งขึ้นฝั่งจังหวัดคาโกชิมะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่น

- ภาพรวมความเสียหาย 'ไต้ฝุ่นชานชาน' :บ้านเรือนเสียหาย 200 หลัง / 2 แสนหลังไม่มีไฟฟ้าใช้, อพยพประชาชน 5 ล้านคน, ทางหลวงถูกปิด / รถไฟชินคันเซ็นหยุดให้บริการชั่วคราว, บาดเจ็บเกือบ 80 คน, เสียชีวิต 4 ราย (BBC)

- Imperial College London ได้ทำการวิเคราะห์ว่าลมกระโชกแรงของไต้ฝุ่นชานชานนั้นที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้ มีส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 26%




SPRiNG ชวนสำรวจสถานการณ์ 'ไต้ฝุ่นชานชาน' ในญี่ปุ่น สร้างความเสียหายมากแค่ไหน พร้อมหาคำตอบของคำถามที่ว่าไต้ฝุ่นชานชานรุนแรงขึ้นเพราะโลกร้อนจริงหรือ?

กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น ประกาศเตือนภัยระดับ 5 (ขั้นสูงสุด) สำหรับไต้ฝุ่นชานชาน ซึ่งขึ้นฝั่งจังหวัดคาโกชิมะ บนเกาะคิวชู ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นเมื่อวานนี้ แม้ความแรงลมจะลดลงจาก 252 เหลือ 126 กล.ม./ชม. แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นประเมินค่ามิได้


ภาพรวมความเสียหาย 'ไต้ฝุ่นชานชาน'

- บ้านเรือนเสียหาย 200 หลัง / 2 แสนหลังไม่มีไฟฟ้าใช้
- อพยพประชาชน 5 ล้านคน
- ทางหลวงถูกปิด / รถไฟชินคันเซ็นหยุดให้บริการชั่วคราว
- สายการบินเจแปนแอร์ไลน์ยกเลิกเที่ยวบินกว่า 600 ไฟลท์
- บาดเจ็บเกือบ 80 คน
- เสียชีวิต 4 ราย (BBC)


ไต้ฝุ่นชานชาน รุนแรงขึ้นเพราะโลกร้อน?

"ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าภาวะโลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวมหาสมุทรสูงขึ้น" โคสุเกะ อิโตะ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศสุดขั้วจากมหาวิทยาลัยเกียวโตและมหาวิทยาลัยแห่งชาติโยโกฮาม่ากล่าว

โคสุเกะ กล่าวเสริมว่า "เมื่อไต้ฝุ่นได้รับไอที่ระเหยที่ลอยขึ้นมาจากมหาสมุทรที่อุ่น ยิ่งอุณหภูมิมหาสมุทรสูงขึ้นแค่ไหน พายุไต้ฝุ่นก็จะยิ่งแรงขึ้นเท่านั้น"

แต่อย่างไรก็ตาม โคสุเกะย้ำว่าภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ขุนให้ไต้ฝุ่นชานชานรุนแรงขึ้น เพราะความกดอากาศที่ศูนย์กลาง และความเร็วของไต้ฝุ่นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่หนึ่งสิ่งที่ยืนยันได้ก็คือภาวะโลกร้อนเป็นผลให้ฝนตกมากขึ้น เมื่อเกิดไต้ฝุ่น

ทางฟากของ Imperial College London ได้ทำการวิเคราะห์ว่าลมกระโชกแรงของไต้ฝุ่นชานชานนั้นที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นครั้งนี้ มีส่วนมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ 26%

ที่มา: Japan Times


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/852463

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:44


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger