เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 2 กันยายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 4-7 ก.ย. 67

สำหรับพายุโซนร้อน "ยางิ" บริเวณประเทศฟิลิปปินส์มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีน และเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 2 ? 6 ก.ย. 67 ร่องมรสุมกำลังปานกลางจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ ภาคตะวันออก และอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

หลังจากนั้น ร่องมรสุมกำลังจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย ภาคใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งในช่วงวันที่ 2 ? 3 ก.ย. 67

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ย. 67 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามัน มีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 2 ? 6 ก.ย. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม
ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 4 ? 7 ก.ย. 67



******************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย และคลื่นลมแรงบริเวณทะเลอันดามัน ฉบับที่ 2 (157/2567) (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 3-7 กันยายน 2567)


ในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย. 67 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ทั้งนี้เนื่องจากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น

จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีดังนี้


ในวันที่ 3 กันยายน 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ชัยภูมินครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่


ในช่วงวันที่ 4-5 กันยายน 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และตาก

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย ยโสธร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล


ในช่วงวันที่ 6-7 กันยายน 2567

ภาคเหนือ: จังหวัดตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ และสุรินทร์

ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 4-7 ก.ย. 67 ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าว เดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันและเวลาดังกล่าวนี้ไว้ด้วย

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ยางิ" บริเวณประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางตอนใต้ของเกาะไต้หวัน ประเทศจีนและเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน ในช่วงวันที่ 3-4 กันยายน 2567









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ช็อก "วาลดิเมียร์" วาฬสายลับรัสเซียชื่อดัง ถูกพบเป็นศพที่นอร์เวย์

วาฬเบลูกาซึ่งเชื่อกันว่าถูกรัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมข้อมูล จนโด่งดังเมื่อหลายปีก่อน ถูกพบเป็นศพในอ่าวนอกชายฝั่งของประเทศนอร์เวย์



สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า วาฬเบลูกาชื่อว่า "วาลดิเมียร์" (Hvaldimir) ถูกพบเห็นครั้งแรกที่นอร์เวย์ ไม่ไกลจากน่านน้ำของรัสเซีย เมื่อปี 2562 โดยบนตัวมันสวมบังเหียนที่ติดตั้งกล้องเอาไว้ จนทำให้เกิดข่าวลือว่า มันถูกรัสเซียใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมข้อมูล

ล่าสุดในที่ 1 ก.ย. 2567 สถานีโทรทัศน์ NRK ของนอร์เวย์รายงานว่า พ่อลูกชาวประมงคู่หนึ่ง พบศพของวาลดิเมียร์ลอยอยู่ในอ่าวริซาวิกา (Risavika) ทางตอนใต้ของประเทศ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (31 ส.ค.) ก่อนจะมีการขนย้ายซากของมันไปยังชาวฝั่งที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ

นายเซบาสเตียน สแตรนด์ นักชีววิทยาทางทะเล บอกกับ NRK ว่า บนร่างของวาลดิเมียร์ไม่มีบาดแผลภายนอกขนาดใหญ่ปรากฏให้เห็น และตอนนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้มันเสียชีวิต

หลังวาดิเมียร์ถูกพบและปลดอุปกรณ์ออกในปี 2562 มันก็ยังเวียนว่ายอยู่ในน่านน้ำของนอร์เวย์ ซึ่งนายสแตรนด์เป็นผู้สังเกตการณ์การผจญภัยของวาลดิเมียร์ตลอดช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในนามขององค์กรไม่แสวงกำไร "Marine Mind" โดยนายสแตรนด์ระบุว่า เขาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการตายของวาฬตัวนี้

"มันเลวร้ายอย่างที่สุด" นายสแตรนด์กล่าว "จนถึงเมื่อวันศุกร์ เขายังดูมีอาการที่ดีอยู่เลย ดังนั้นเราต้องหาคำตอบให้ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นที่นั่น"

ทั้งนี้ ชื่อวาลดิเมียร์ เป็นการเล่นคำโดยรวมคำว่า วาฬภาษานอร์เวย์ (Hval) กับ 2 พยางค์หลังของชื่อวลาดิเมียร์ ปูติน มารวมเข้าด้วยกัน

วาลดิเมียร์ วาฬเบลูกาความยาว 4.2 ม. หนัก 1,225 กก. ถูกพบครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2562 โดยนักประมงที่ออกหาปลาใกล้กับเกาะอินโกยา (Ingoya) ทางเหนือของประเทศ ไม่ใกลจากเมืองฮัมเมอร์เฟสต์ โดยบนตัวของมันสวมบังเหียนที่ติดตั้งกล่องขนาดเล็กเอาไว้ และบนเข็มขัดมีคำว่า "Equipment St Petersburg" สลักอยู่

เรื่องดังกล่าวทำให้เกิดข่าวลือว่า เจ้าวาฬเบลูกาตัวนี้เป็นวาฬสายลับของรัสเซีย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาอ้างในตอนนั้นว่า เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ากองทัพเรือรัสเซียเคยฝึกฝนวาฬ สำหรับใช้งานเพื่อเป้าหมายทางทหาร แต่บางคนก็ตั้งทฤษฎีว่า มันอาจถูกฝึกเพื่อใช้เป็นสัตว์บำบัดก็เป็นได้

วาลดิเมียร์ถูกพบเห็นอีกหลายครั้งที่นอกชายฝั่งของนอร์เวย์ และเป็นที่ชัดเจนอย่างรวดเร็วว่า มันเชื่องมาก และสนุกกับการได้เล่นกับผู้คน

ด้าน Marine Mind ระบุบนเว็บไซต์ของตัวเองว่า วาลดิเมียร์สนใจมนุษย์มาก และตอบสนองต่อสัญญามือได้ดี ซึ่งจากข้อสังเกตเหล่านี้ทำให้พวกเขาคาดว่า วาลดิเมียร์อาจเคยถูกจับเอาไว้ ก่อนจะข้ามทะเลรัสเซียมาจนถึงนอร์เวย์

ที่มา : the guandian


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2811983
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ฤดูทำประมงในมณฑลกวางตุ้งเริ่มขึ้นแล้ว



ฤดูทำประมงในมณฑลกวางตุ้งเริ่มขึ้นแล้ว คาดว่าในปีนี้มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์และแปรรูปอาหารทะเลของจ้านเจียง จะมีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท

ผู้คนต่างมุ่งไปที่ตลาดอาหารทะเลในเมืองจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง เพื่อซื้ออาหารทะเลชุดแรกของปี เฉลิมฉลองฤดูทำประมงรอบใหม่

ทะเลจีนใต้และบางส่วนของทะเลจีนตะวันออก คึกคักไปด้วยเรือประมง หลังจากการปิดน่านน้ำห้ามทำประมง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-15 สิงหาคม เป็นเวลา 3 เดือนครึ่ง สิ้นสุดลง

ที่ Xiashan Dongdi ตลาดค้าส่งสัตว์น้ำ ในเมืองจ้านเจียง มีปูที่เพิ่งจับมาสดๆ ปลานานาชนิด และอาหารทะเลอื่นๆ ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวจากกว่างโจวบอกว่า พาลูกๆ มาตลาดอาหารทะเลเพื่อซื้ออาหารทะเลสดๆ นำไปทำอาหาร ขณะที่นักท่องเที่ยวจากฉงชิ่งบอกว่า มาที่นี่เป็นครั้งที่ 2 และโชคดีที่มาช่วงเปิดฤดูทำประมงพอดี ทำให้ได้เลือกอาหารทะเลสดจำนวนมากในราคาสมเหตุสมผล

ท่าเรือบริเวณนี้ คึกคักตลอดทั้งคืนจนถึงตีสาม He Wei ผู้อํานวยการศูนย์บริการประมงและท่าเรือเขตเซียชาน (Xiashan) กล่าวว่า จะมีเรือประมงเทียบท่าตลอดทั้งคืนเพื่อขนถ่ายสินค้า โดยเรือประมงสามารถบรรทุกอาหารทะเลได้ 300-400 กล่อง น้ำหนักประมาณ 5,000 กิโลกรัม

ในปี 2023 มูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมเพาะพันธุ์และแปรรูปอาหารทะเลของจ้านเจียง มีมูลค่าสูงถึง 80,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 400,000 ล้านบาท คาดว่า ในปีนี้น่าจะมีมูลค่ามากกว่า 90,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 450,000 ล้านบาท

เครดิต China Media Group (CMG)


https://www.dailynews.co.th/news/3816132/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


วอนชาวภูเก็ตอย่ารบกวนพะยูน ฝากดูแลพะยูนเป็นอย่างดี หลังพบฝูงใหม่อีก 4 ตัว

หน่วยวิจัยหญ้าทะเลฯ วอนชาวภูเก็ตอย่ารบกวนพะยูน ฝากดูแลพะยูนเป็นอย่างดี หลังพบฝูงใหญ่อีก 4 ตัว มั่นใจเป็นกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาจากที่อื่น หลังพบหญ้าชะเงาใบยาวที่ป่าคลอกถูกกิน ใบกุดสั้นปลายใบมีรอยตัดขาด



วันนี้ (1 ก.ย.) เฟซบุ๊ก "Ning Supanwanid" หรือ หน่วยวิจัยหญ้าทะเลต้านโลกร้อน คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ระบุข้อความว่า "จดหมายถึงชาวภูเก็ต วันนี้ได้ข่าวจากการแชร์ fb ถึงการพบพะยูนที่ป่าคลอก ภูเก็ต ตามลิงก์และภาพโพสต์ fb ด้านล่างค่ะ เลยอยากเอาภาพหญ้าชะเงาใบยาวที่ป่าคลอก ในช่วงที่เราไปสำรวจ เมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม 2567 มาให้ดู

ปกติเราไปเยี่ยมหญ้าทะเลที่ป่าคลอกกันเดือนเว้นเดือน หญ้าทะเลที่นี่สวยงามสมบูรณ์มาก แต่วันที่เราไปสำรวจในเดือนกรกฎาคมเราพบหญ้าชะเงาใบยาว ใบกุดสั้นปลายใบมีรอยตัดขาด แต่ส่วนขอบใบซึ่งเป็นแกนข้างใบยังเหลืออยู่บ้าง ส่วนปลายที่ถูกตัดยังเขียวสด ทำให้เราคิดว่าเกิดจากการกินของพะยูนหรือเต่า

แต่เราไม่แน่ใจว่าชนิดไหนกันแน่ ไม่กล้าฟันธง

มาวันนี้จากโพสต์เครดิต ทำให้มั่นใจได้ว่า
พะยูนน่าจะมีความสุขกับการกินหญ้าชะเงาใบยาวที่นี่อย่างมาก ปกติพะยูนตัวเต็มวัยอาจกินหญ้าทะเลสดได้ 20-40 กิโลกรัม
ดังนั้น หากมีพะยูนมาก หญ้าทะเลอาจกุดสั้นและลดลง เมื่อหญ้าทะเลลดน้อยจนไม่เพียงพอ พะยูนก็จะว่ายหาหญ้าทะเลแหล่งใหม่หมุนเวียนไป

โดยปกติที่ป่าคลอกมีพะยูนเจ้าถิ่นอยู่แล้วบริเวณตอนเหนือของป่าคลอก ซึ่งจะเห็นได้จากรอยกินหญ้าใบมะกรูดเป็นประจำค่ะ แต่การที่หญ้าชะเงาใบยาวโดนกัดจนกุดเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เอง
ทำให้มั่นใจได้ว่าพะยูนทั้ง 4 ตัวในโพสต์น่าจะเป็นกลุ่มใหม่ที่เดินทางมาจากที่อื่น

หวังว่าชาวภูเก็ตจะดูแลพะยูนเป็นอย่างดี รบกวนเขาให้น้อยๆ เพราะเขาคือเจ้าของพื้นที่ตัวจริง ยังไม่ต้องไปคิดพยายามจัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเล เพราะปลูกไม่ทันเขากินแน่นอนค่ะ ถ้าหญ้าทะเลลดลง เราค่อยหาทางฟื้นฟูในภายหลังกันนะคะ"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9670000081020

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


หวั่นไม่ปลอดภัย เตือน!! ระวังแมงกะพรุนพิษ ถูกคลื่นซัดติดหาดป่าตอง



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - หวั่นไม่ปลอดภัย พบ "แมงกะพรุนพิษ" ถูกคลื่นซัดติดชายหาดป่าตอง เตือน! ห้ามสัมผัส เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ด ทยอยเก็บออกจากพื้นที่ เบื้องต้นมีมากกว่า 40 ตัว

มาพร้อมมรสุม แมงกะพรุนพิษถูกคลื่นซัดเกยตื้นที่หาดป่าตอง จ. ภูเก็ต แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง โดยเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำจุดหาดป่าตอง ได้ตรวจสอบพบแมงกะพรุน คาดว่าเป็นแมงกะพรุนพิษ ถูกคลื่นซัดขึ้นมาชายหาดป่าตอง เมื่อช่วงเย็นวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา และช่วยกันเก็บแมงกะพรุนออกจากชายหาด เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำจะไปสัมผัสตัวแมงกะพรุน และเกิดอันตรายได้

ขณะ ศวอบ. หรือศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน ซึ่งได้รับข้อมูลผ่านทางสื่อออนไลน์แจ้งพบแมงกะพรุนพิษเกยตื้นในช่วงเย็นที่ชายหาด จังหวัดภูเก็ต จึงได้ประสานกับเครือข่ายไลฟ์การ์ดหาดป่าตอง งานป้องกันบรรเทาสาธารณภัย (Patong surf life saving) เพื่อลงพื้นที่และได้ทำการตรวจสอบแล้ว จากการตรวจสอบพบเป็นแมงกะพรุนหัวขวดสกุลไฟซาเลีย (Physalia sp.) จำนวน 40 ตัว ที่หาดป่าตอง เบื้องต้นยังไม่พบรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน

ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานเครือข่าย มอบแผ่นพับ น้ำส้มสายชู เพื่อเตรียมความพร้อมและเฝ้าระวังการได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุน จึงขอให้ประชาชน ผู้ประกอบการ และนักท่องเที่ยวในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังการสัมผัสพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ ทั้งนี้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่สัมผัสอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 30 วินาที แล้วส่งแพทย์เพื่อรักษาตามอาการต่อไป


https://mgronline.com/south/detail/9670000080913


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ระบบนิเวศของ 'แอนตาร์กติกา' ถูกทำลายจากขยะ โรคระบาด และเอเลี่ยนสปีชีส์
.......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล


KEY POINTS

- ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ

- ขยะเหล่านี้มักจะมีเชื้อโรคและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กติดไปด้วย หากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

- ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์




ระบบนิเวศ ทวีปแอนตาร์กติกา อาจเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ในไม่ช้า หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้น จน น้ำแข็งละลายหมดทวีป ซึ่งจะทำให้ขยะ เชื้อโรค และ เอเลี่ยนสปีชีส์ สามารถขึ้นมาอยู่อาศัยและรุกรานแนวชายฝั่งแอนตาร์กติก ทำลายสายพันธุ์ท้องถิ่นได้

การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology ใช้การจำลองกระแสน้ำในมหาสมุทรเพื่อติดตามเส้นทางของวัตถุที่ลอยออกมาจากประเทศต่าง ๆ ตลอด19 ปี พบว่า ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ ส่วนวัตถุจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแอนตาร์กติกจะทำให้เกิดแผ่นน้ำแข็งถล่มบ่อยยิ่งขึ้น

วัตถุที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังแอนตาร์กติกา มีด้วยกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะ พลาสติก เศษไม้ และหินภูเขาไฟ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิด ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ลอยมาจากเกาะห่างไกลที่อยู่ในเขตมหาสมุทรใต้เท่านั้น แต่การวิจัยครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถเข้าถึงแนวชายฝั่งแอนตาร์กติกาได้จากทวีปทางตอนใต้ทั้งหมด

"สิ่งต่าง ๆ จากทางเหนือ ทั้งอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ สามารถล่องลอยไปถึงแอนตาร์กติกาได้ไกลมากกว่าที่เราคิดไว้มาก" ดร.ฮันนาห์ ดอว์สัน ผู้นำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ กล่าว


ในตอนนี้ "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ" ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและน้ำแข็งในทะเลละลายอย่างรวดเร็ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์

ดังนั้นมลพิษของพลาสติกและซากสัตว์สามารถลอยลงไปทางใต้ไกลกว่าเดิม ในปี 2566 พบว่าจำนวนอนุภาคพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรโลกเกิน 170 ตัน ส่วนเอเลี่ยนสปีชีส์ก็จะมีโอกาสที่จะย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งขั้วโลกใต้มากขึ้น

เซริดเวน เฟรเซอร์ ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักชีวภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอตาโก้ กล่าวว่า พลาสติกที่ลอยอยู่สามารถนำพามดและเชื้อโรค เช่น โรคไข้หวัดนก มากได้ ในขณะที่สาหร่ายทะเลมีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร อาจจะมีสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น ปู ดาวทะเล และทากติดพันไปด้วย และหากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก

"มันเป็นเรื่องน่ากังวลจริง ๆ สำหรับสายพันธุ์ท้องถิ่นของทวีปแอนตาร์กติกา หากสายพันธุ์ต่างถิ่นสามารถเดินทางและตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งแอนตาร์กติกที่อุ่นขึ้นได้สำเร็จ สายพันธุ์เหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบในการเอาตัวรอดได้มากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่เติบโตช้ากว่า" เฟรเซอร์กล่าว

"สุดท้ายแล้วเอเลี่ยนสปีชีส์อาจแข่งขันกับสายพันธุ์ท้องถิ่น และสายพันธุ์ท้องถิ่นเหล่านั้นก็อาจจะเสียที่อยุ่อาศัยไปในที่สุด"

การศึกษายังพบว่า บริเวณ คาบสมุทรแอนตาร์กติก มีความเสี่ยงต่อการถูกสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานมากที่สุด เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ มักจะขึ้นฝั่งที่จุดเหนือสุดของทวีป และเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้คาบสมุทรนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถอาศัยอยู่ได้

"วัตถุส่วนใหญ่มาถึงปลายคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอบอุ่นและมักไม่มีน้ำแข็ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถตั้งรกรากได้ก่อน" แมทธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมกล่าว

ปรกติแล้วสิ่งมีชีวิตที่เคยลอยไปทางแอนตาร์กติกาอาจถูกทำลายโดยน้ำแข็งทับถมอยู่ในทะเล ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง หรือไม่สามารถอยู่รอดในอากาศที่หนาวเย็นได้ หากปริมาณน้ำแข็งในแอนตาร์กติกายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งมีชีวิตที่ลอยอยู่บนผิวน้ำหรือเกาะอยู่กับวัตถุลอยน้ำอาจสามารถตั้งรกรากในทวีปได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ

ที่มา: Independent, Phys, The Conversation, The Guardian


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142532

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า สัปดาห์ที่แล้ว
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


น้ำกำลังล้นมหาสมุทร เสียงเตือนจากเกาะทะเลใต้
............. โดย ดร.ไสว บุญมา



"น้ำกำลังล้นมหาสมุทร... ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เป็นวิกฤติอันเกิดจากการกระทำของมนุษย์เราทั้งสิ้น วิกฤติซึ่งในเวลาอีกไม่นานจะเพิ่มความร้ายแรง จนถึงขั้นแทบเกินจินตนาการและปราศจากเรือชูชีพ ที่จะนำเรากลับมาสู่ความปลอดภัย"

เป็นคำเตือนของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เมื่อต้นสัปดาห์นี้ที่ประเทศตองงา หนึ่งในเกาะขนาดเล็กในย่านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก

เลขาธิการสหประชาชาติเปล่งคำเตือนดังกล่าวเนื่องในโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำของ 18 ประเทศในย่านนั้น รวมทั้งนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย คำเตือนวางอยู่บนฐานของรายงานขององค์การสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเกี่ยวกับ ภาวะโลกร้อน และ ภูมิอากาศโลก ผลกระทบที่จะเกิดกับเกาะเหล่านั้น รายงานชี้ชัดว่า


ภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้นในขณะนี้มีผลสูงต่อน้ำในมหาสมุทร 3 ด้านคือ

(1) อุณหภูมิน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะน้ำทะเลดูดซับราว 90% ของความร้อนอันเกิดจากการเผาผลาญถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติเพื่อเอาพลังงาน

(2) ระดับน้ำทะเล สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะน้ำขยายตัวจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นพร้อมกับการละลายของธารน้ำแข็งในหลายพื้นที่และแผ่นน้ำแข็งในย่านขั้วโลก

(3) น้ำทะเลเป็นกรด มากขึ้นจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาผลาญดังกล่าว

รายงานบ่งบอกด้วยว่า อุณหภูมิของมหาสมุทรในย่านทะเลใต้เพิ่มขึ้นราว 3 เท่าของการเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉลี่ยในช่วงเวลา 45 ปีที่ผ่านมา และระดับน้ำทะเลในย่านนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าของการเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยทั่วโลก

ภาวะเหล่านั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ รวมทั้งคลื่นความร้อนในอากาศซึ่งเกิดบ่อยขึ้นด้วยระดับอุณหภูมิที่สูงขึ้นและอยู่นานขึ้น ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลกระทบสูงมากต่อชีวิตของชาวเกาะ

ซึ่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติประสบด้วยตนเองในระหว่างการเข้าร่วมประชุม เมื่อพายุใหญ่ทำให้ฝนตกหนักจนน้ำท่วมอาคารศูนย์การประชุมสร้างใหม่ที่ใช้ในการประชุม ส่งผลให้การประชุมต้องหยุดชะงัก

ชาวเกาะในย่าน "ทะเลใต้" กำลังได้รับผลกระทบร้ายแรงจากภาวะโลกร้อนมากกว่าชาวโลกโดยทั่วไป ทั้งที่แทบไม่มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น

เนื่องจากการเผาผลาญเชื้อพลังงานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศร่ำรวย ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบร้ายแรงนั้น พร้อมกับลดการเผาผลาญเชื้อพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่การช่วยเหลือยังเชื่องช้าและต่ำกว่าความจำเป็นมาก

นอกจากนั้น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่มีทีท่าว่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ ณ นครปารีสเมื่อ 9 ปีก่อน ตรงข้าม เมื่อปีที่ผ่านมา การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 1%

ด้วยเหตุนี้ โอกาสที่โลกจะไม่ร้อนขึ้นเกินเป้าที่ตั้งไว้จึงแทบไม่มี ฉะนั้น เราอาจคาดเดาได้ว่าในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้าโลกจะถูกถล่มอย่างต่อเนื่องจากภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงสูงตามที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้

ในภาวะเช่นนี้ นอกจากจะวิงวอนให้ชาวโลกเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญต่อไปแล้ว

รายงานและการประชุมดังกล่าวจึงเสนอให้บรรดาเกาะและประเทศต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนของภูมิอากาศสร้างระบบเตือนภัยในระยะสั้น ตามด้วยมาตรการในด้านการฟื้นฟูและปรับตัวเมื่อได้รับผลกระทบ

เรามิอาจฟันธงได้ว่าเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ทางภาคเหนือของไทยในช่วงนี้ และแผ่นดินถล่มที่เกาะภูเก็ตซึ่งเพิ่งผ่านไป ภาวะโลกร้อนเป็นปัจจัยมากน้อยเพียงไร

แต่เราอาจใช้มันเป็นจุดตั้งต้นในการพิจารณาว่าประเทศเราอยู่ ณ ตรงไหนในด้านการเตือนภัยและด้านการฟื้นฟูและปรับตัวหลังจากถูกผลกระทบจากภาวะโลกร้อนโดยตรง

เราไม่อาจพึ่งความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เพราะหลายประเทศที่จนกว่าและเผชิญปัญหาสาหัสกว่าเรายังได้รับอย่างจำกัด รัฐบาลไทยจึงต้องเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งพร้อมด้วยปัญญาและสัมมา

จากมุมของผู้อยู่ภายนอก สิ่งที่เห็นจำพวกการออกไปทำข้าวผัดแจกชาวบ้านของหัวหน้ารัฐบาลและการเอาแต่ชิงอำนาจกันเสมือนสุนัขแย่งกระดูกอย่างต่อเนื่องของนักการเมือง

ไม่ทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะออกนำให้เกิดความพร้อมเผชิญกับโลกในภาวะใหม่ ประชาชนโดยทั่วไปจึงต้องเตรียมภูมิคุ้มกันเอง.


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142736

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:45


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger