เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 13-09-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำชายฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

อนึ่ง ในช่วงวันที่ 14-17 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน ประเทศไทย และอ่าวไทยตอนบน จะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 12 - 13 ก.ย. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก รวมทั้งกรุงทพมหานครและปริมณฑล มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 18 ก.ย. 67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 13 ? 18 ก.ย 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองตลอดช่วง ส่วนเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 14 ? 18 ก.ย. 67












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 13-09-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


สึนามิสูง 200 ม. ต้นเหตุแรงสั่นปริศนา สะเทือนทั่วโลก 9 วัน เมื่อปีก่อน



นักวิทยาศาสตร์พบสาเหตุที่ทำให้เกิด แรงสั่นสะเทือนปริศนาที่ตรวจจับได้ทั่วโลกเมื่อปีก่อนแล้ว โดยเป็นผลจากคลื่นยักษ์สึนามิสูง 200 ม.

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 12 ก.ย. 2567 ว่า เมื่อเดือนกันยายนปี 2566 เซ็นเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนทั่วโลก ตรวจพบแรงสั่นปริศนาเป็นเวลาต่อเนื่องถึง 9 วัน ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องร่วมกันตรวจสอบว่า แรงสั่นนี้มันมาจากไหนกันแน่ และในที่สุด พวกเขาก็ค้นพบคำตอบแล้ว

สิ่งที่พวกเขาพบคือ ในช่วงเวลาดังกล่าว เกิดดินถล่มครั้งใหญ่บริเวณภูเขาน้ำแข็งที่ "ดิกสัน ฟยอร์ด" (Dickson fjord) ในภูมิภาคกรีนแลนด์ ทำให้หินปริมาณมากถล่มลงมาพร้อมกับธารน้ำแข็งลงไปในทะเล ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามีสูงถึง 200 ม.

แต่สึดนามิลูกนี้ถูกกักให้แต่ภายในฟยอร์ด หรือ อ่าวแคบและยาวที่อยู่ระหว่างหน้าผาสูงชันแห่งนี้เท่านั้น ทำให้มันซัดกลับไปกลับมาเป็นเวลานานถึง 9 วัน จนเกิดแรงสั่นสะเทือนปริศนาดังกล่าว และทำให้สภาพพื้นผิวภูเขาในบริเวณนี้เปลี่ยนแปลงไป

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ดินถล่มลักษณะนี้กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทำให้ธารน้ำแข็งที่คอยค้ำจุนภูเขาในกรีนแลนด์ละลาย

ผลการสืบสวนครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร "Science" โดยเป็นความร่วมมือสืบสวนของทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติและกองทัพเรือเดนมาร์ก

"ตอนที่เพื่อนร่วมงานตรวจพบสัญญาณ (แรงสั่นสะเทือน) เมื่อปีก่อน มันดูไม่เหมือนแผ่นดินไหวเลย เราเรียกว่ามั่น 'สิ่งไหวสะเทือนที่ไม่อาจระบุที่มาได้' (unidentified seismic object)" ดร.สตีเฟน ฮิกส์ จากมหาวิทยาลัย "ยูนิเวอร์ซิตี คอลเลจ ลอนดอน" (UCL) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสืบสวนด้วย กล่าว

"มันปรากฎขึ้นทุกๆ 90 วินาทีเป็นเวลา 9 วัน" ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์เริ่มหารือกันผ่านแชตออนไลน์ "ในเวลาเดียวกัน เพื่อนร่วมงานจากเดนมาร์ก ซึ่งทำงานภาคสนามในกรีนแลนด์บ่อยมาก ก็ได้รับรายงานว่าเกิดสึนามิขึ้นที่ฟยอร์ดห่างไกลแห่งหนึ่ง" "เราก็เลยมาร่วมมือกัน" ดร.ฮิกส์กล่าว

จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ก็ใช้ข้อมูลการไหวสะเทือนระบุตำแหน่งที่มาของสัญญาณ ไปที่ ดิกสัน ฟยอร์ด ทางตะวันออกของกรีนแลนด์ ก่อนจะรวบรวมหลักฐานเพิ่มเติม รวมถึงรูปถ่ายจากดาวเทียม และรูปถ่ายจากดิกสัน ฟยอร์ด ซึ่งถ่ายโดยกองทัพเรือเดนมาร์ก ก่อนที่สัญญาณจะปรากฎครั้งแรกไม่นาน

ภาพดาวเทียมแสดงให้เห็นเมฆฝุ่นในฟยอร์ดแห่งนี้ ขณะที่การเปรียบเทียบภาพถ่ายก่อนและหลังเกิดเหตุ แสดงให้เห็นว่าภูเขาถล่มลงมาและหอบส่วนหนึ่งของธารน้ำแข็งลงทะเลไปด้วย โดยพวกเขาคำนวณว่า หินที่ตกลงไปมีปริมาณมากถึง 25 ล้าน ลบ.ม. เทียบเท่ากับตึกเอมไพร์สเตท 25 ตึก ทำให้เกิดคลื่นสึนามิสูงถึง 200 ม.

ตามปกติแล้ว สึนามิจะเกิดจากแผ่นดินไหวใต้ทะเล และจะสลายตัวไปภายในไม่กี่ชั่วโมงหากอยู่ในทะเลเปิด แต่สึนามิที่ดิกสัน ฟยอร์ด ต่างออกไป ดร.ฮิกส์อธิบายว่า ดินถล่มเกิดขึ้นภายในดินแดน ห่างจากมหาสมุทรถึง 200 กม. ท่ามกลางความซับซ้อนของระบบฟยอร์ด ทำให้คลื่นไม่สามารถกระจายพลังงานได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์สร้างแบบจำลองสถานการณ์ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า แทนที่จะกระจายตัวไป คลื่นกลับซัดปะทะภูเขากลับไปกลับมานานถึง 9 วัน และแผ่กระจายคลื่นไหวสะเทือนไปทั่วโลก

"เราไม่เคยเห็นการเคลื่อนไหวของน้ำขนาดนี้เป็นเวลานานขนาดนี้มาก่อน" ดร.ฮิกส์กล่าว

ที่มา : bbc


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2814110

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 13-09-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


การลักลอบนำเข้าสัตว์ต่างถิ่น ปัญหาโลกแตกของเมืองไทย



การลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอย่างมาก การทำความเข้าใจถึงปัญหานี้และร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการหาทางแก้ไขนับเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

... เรื่องผิดกฎหมายนี้ฝังรากลึกอยู่ในประเทศไทยมาช้านานและยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจวบจนปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากปลาหมอคางดำที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ ไม่นับรวมกุ้งเครย์ฟิช ปลาซัคเกอร์ ปลาหมอมายัน ปลาหมอบัตเตอร์ ที่จนป่านนี้ยังไม่รู้ว่าใครลักลอบนำเข้ามา จนมันกลายเป็นสัตว์ที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย หรือแม้แต่ปลาดุร้ายอย่างปิรันย่าก็ยังเคยถูกตรวจจับได้ที่สนามบินดอนเมือง

ประเด็นการลักลอบนำเข้าปลาหมอคางดำถูกกล่าวถึงมากขึ้น เมื่อครั้งพบ 11 บริษัทส่งออกปลาชนิดนี้ไปจำหน่ายยัง 17 ประเทศ โดยไม่เคยมีการขออนุญาตนำเข้า ในขณะที่ธุรกิจส่งออกปลาเหล่านี้มักจะมีฟาร์มเพาะเลี้ยงก่อนที่จะส่งออกได้ นั่นหมายความว่า น่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาเลี้ยงจนได้จำนวนที่ต้องการจึงค่อยส่งไปประเทศปลายทาง เรื่องนี้เป็นที่น่ากังขาเรื่อยมา ยิ่งเมื่อมีข้ออ้างว่า เป็นการลงเอกสารชื่อปลาผิดไปจากความเป็นจริง เพื่อหลบเลี่ยงการขอใบกำกับสุขภาพสัตว์น้ำหรือมาตรฐาน GAP ที่ต้องแสดงหากระบุตามจริงว่าเป็น ปลาหลังเขียว หรือปลาหมอมาลาวี เป็นข้ออ้างที่ใช้กับการส่งออกปลาหมอคางดำมากกว่า 3 แสนตัว รวม 212 ครั้ง ตลอด 4 ปี (2556-2559)

ข้ออ้างดังกล่าวดูเหมือนจะกลายเป็นการตอกย้ำว่า นี่คือการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างบริษัทส่งออกปลากับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปลอมแปลงเอกสารสำหรับใช้ในการสำแดงเท็จ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเหตุผลที่ยอมรับได้ ภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องการส่งออกปลาเหล่านี้ควรลุกขึ้นมาแก้ต่าง อย่าปล่อยให้ภาพการทำงานของหน่วยงานด่างพร้อย ถึงขั้นเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการสำแดงเท็จเช่นนี้

ปัญหาการลักลอบนำเข้า "ปลาหมอคางดำ" น่าจะไม่ต่างจากการลักลอบนำเข้า ?ปลาหมอมายันและปลาหมอบัตเตอร์? ซึ่งถูกกำหนดเป็นชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ในประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ.2561 พร้อมกัน และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2561 ขณะที่ปัจจุบัน กลับพบปลาหมอมายันที่คลองด่าน อ.บางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และพบปลาหมอบัตเตอร์จำนวนมากในเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ที่กลายเป็นเมนูเด็ดของร้านอาหารริมเขื่อนไปแล้ว

การออกประกาศดังกล่าวเป็นการนำกฎหมายมาบังคับใช้ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีบทลงโทษผู้กระทำผิดที่ชัดเจนจะช่วยให้การควบคุมและตรวจสอบเข้มงวดขึ้นได้ หากแต่ยังไม่เพียงพอ เพราะต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันในการแก้ไขและป้องกันด้วย เช่น กรมประมง ตำรวจน้ำ กรมศุลกากร ความร่วมมือนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เจ้าหน้าที่รัฐควรลงพื้นที่ตรวจตรา ตรวจสอบตามตลาดปลาต่างๆ เพื่อติดตามการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างสม่ำเสมอ กำหนดเป็นงานประจำที่มีความถี่ชัดเจนและควรเข้มข้นถึงการส่องตามท่อน้ำต่างๆ ที่เป็นอันรู้กันตลอดมาว่าหากปลาตัวไหนไม่เป็นที่ต้องการของตลาดแล้ว ผู้ค้าปลามักปล่อยปลาลงตามท่อเหล่านี้ (นัยว่าเพื่อเอาบุญ) กันเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่า การสร้างการตระหนักรู้ เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการป้องกันปลาลักลอบหลุดลอดลงแหล่งน้ำ รัฐต้องเพิ่มการศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ เกี่ยวกับผลกระทบของการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ

รวมถึงวิธีการป้องกัน ตลอดจนวิธีกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เหล่านี้ปะปนออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติดังกล่าว การสร้างความตระหนักรู้เช่นนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้คนระมัดระวังมากขึ้นแล้ว สายบุญที่ชอบปล่อยปลาจะมีความรู้มากขึ้น และยังช่วยให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันเป็นหูเป็นตาและแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อพบการลักลอบนำเข้าหรือทำลายอย่างไม่ถูกวิธีด้วย นอกจากนี้ รัฐน่าจะต้องลงทุนในการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการตรวจจับการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำด้วยอีกทางหนึ่ง

ปัญหาการลักลอบนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นแม้จะมีอยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน แต่ก็ใช่ว่าจะป้องกันแก้ไขไม่ได้ เหนืออื่นใดคือความตั้งใจและร่วมมือกันของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ภาครัฐ" ที่จำเป็นต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อน เชื่อว่าภาคเอกชนและภาคประชาชน ยินดีที่จะร่วมมือเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้คงอยู่เพื่อลูกหลานในอนาคตแน่นอน


https://mgronline.com/local/detail/9670000084985

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 13-09-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


'หมู่เกาะแปซิฟิก' ร้องศาลให้รับรอง 'การทำลายสิ่งแวดล้อม' เป็น 'อาชญากรรม'
....... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล


KEY POINTS

- วานูอาตู ฟิจิ และซามัว ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ขอเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ให้ "อีโคไซด์" (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมรุนแรง

- อีโคไซด์ ได้แก่ การรั่วไหลของน้ำมัน การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

- 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่ารัฐบาลหรือผู้นำของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการกระทำที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธรรมชาติและสภาพอากาศควรได้รับการลงโทษทางอาญาแล้ว




วานูอาตู ฟิจิ และซามัว กลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิกยื่นคำร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ขอเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ ให้ "อีโคไซด์" (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมรุนแรงระดับ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" และ "อาชญากรรมสงคราม"

หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวประสบความสำเร็จจะช่วยให้สามารถดำเนินคดีทางอาญากับบุคคลที่ก่อให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น บริษัทที่ก่อมลพิษปริมาณมาก หรือประมุขของรัฐได้

นี่ถือเป็นการดำเนินการในขั้นแรกเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกมีความเสี่ยงจะจมน้ำมากเป็นพิเศษ เพราะประเทศเหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่ำ ซึ่งปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและเกิดพายุที่รุนแรงขึ้น ประเทศวานูอาตูเป็นแกนนำในการเสนอข้อเรียกร้องนี้ตั้งแต่ปี 2019

"ความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศในวานูอาตู กำลังทำลายเศรษฐกิจของประเทศ ทำลายดินแดน และคุกคามการดำรงชีพของเรา ดังนั้นการรับรองทางกฎหมายให้อีโคไซด์เป็นอาชญากรรมจะช่วยสร้างความยุติธรรม และที่สำคัญคือ ป้องกันการทำลายล้างสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม"
-ราล์ฟ เรเกนวานู ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมของวานูอาตูกล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์

อาเธอร์ กัลสตัน นักชีววิทยาชาวอเมริกัน เป็นผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นในปี 1970 ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลรณรงค์ให้หยุดใช้ Agent Orange สารฆ่าวัชพืชและเป็นสารเร่งใบร่วง (defoliant) ในสงครามสารฆ่าวัชพืชที่เรียกว่า ปฏิบัติการแรนช์แฮนด์ (Operation Ranch Hand) ระหว่างสงครามเวียดนาม

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมระดับนานาชาติได้ผลักดันให้อีโคไซด์เป็นความผิดที่ต้องรับโทษทั่วโลก ตามข้อเสนอที่เสนอต่อศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันจันทร์ ได้เสนอให้ศาลอาญาระหว่างประเทศให้คำนิยามของ อีโคไซด์ ว่าเป็น

"การกระทำที่ผิดกฎหมายหรือด้วยความประมาทเลินเล่อที่กระทำโดยรู้ดีว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงและแพร่หลาย หรือยาวนาน"

ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายระบุว่า การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง หรือ อีโคไซด์ ได้แก่ การรั่วไหลของน้ำมัน การตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอน และบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่รู้ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก แต่ก็ไม่ยอมหยุด ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้อาจทำให้ระบบนิเวศเสียหายอย่างร้ายแรงและไม่มีวันฟื้นคืนกลับมาให้เหมือนเดิมได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ ศาลอาญาระหว่างประเทศจะต้องมีการหารือละเอียด และการอภิปรายข้อเสนอนี้อาจกินเวลานานหลายปี และจะเผชิญกับการคัดค้านอย่างรุนแรงจากหลายประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการคัดค้านเบื้องหลังก็ตาม เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่สามารถพูดออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผยได้

โจโจ เมห์ตา ผู้ก่อตั้งร่วมของกลุ่มรณรงค์ Stop Ecocide International และผู้สังเกตการณ์ของ ICC กล่าวกับ The Guardian ว่าการเคลื่อนไหวของทั้ง 3 ประเทศนี้ ถือเป็น "ช่วงเวลาสำคัญ" ในการต่อสู้เพื่อให้เกิดการยอมรับว่า อีโคไซด์เป็นอาชญากรรม

เมห์ตากล่าวเสริมว่าในตอนนี้ ยังไม่มีประเทศใดประกาศต่อสาธารณะว่าพวกเขาข้อเสนอนี้ แต่เธอคาดว่าจะมีการต่อต้านและการล็อบบี้อย่างหนักจากธุรกิจที่ก่อมลพิษสูง รวมถึงบริษัทน้ำมัน ซึ่งผู้บริหารอาจต้องถูกดำเนินคดี หากมีการรับรองว่าอีโคไซด์มีความผิด

ฟิลิปป์ แซนด์ส ทนายความระดับนานาชาติและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมของคณะผู้เชี่ยวชาญอิสระสำหรับคำจำกัดความทางกฎหมายของอีโคไซด์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิ Stop Ecocide เปิดเผยกับ The Guardian ว่าเขา "มั่นใจ 100%" ว่าสุดท้ายแล้ว ศาลจะยอมรับการทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

"ตอนแรกผมค่อนข้างลังเล แต่ตอนนี้ผมเชื่อจริง ๆ แล้ว ว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะตอนนี้มีบางประเทศได้ใส่เรื่องนี้ไว้ในกฎหมายแล้ว ผมคิดว่านี่เป็นแนวคิดที่ถูกต้องในเวลาที่เหมาะสม"

เบลเยียมเพิ่งประกาศให้อีโคไซด์เป็นอาชญากรรม ขณะที่สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับอาชญากรรมระหว่างประเทศเพื่อให้อีโคไซด์เข้าข่ายคุณสมบัติของการกระทำความผิด ส่วนเม็กซิโกก็กำลังพิจารณากฎหมายดังกล่าวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎของ ICC ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย เนื่องจากจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาที่เป็นรากฐานของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเรียกว่า "ธรรมนูญกรุงโรม" เพื่อรับรองการทำลายล้างระบบนิเวศก่อน และต่อให้รับรองอีโคไซด์แล้ว ก็อาจจะไม่ได้ผลมากนัก เพราะสหรัฐ จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่รายอื่น ๆ ไม่ได้เป็นภาคีของ ICC



คนทั่วโลกอยากให้ "อีโคไซด์" เป็นอาชญากรรม

ไม่ใช่แค่ 3 ประเทศนี้เท่านั้นที่อยากให้อีโคไซด์มีความผิดทางอาญา แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยเช่นกัน การสำรวจของ Ipsos บริษัทการวิจัยตลาดข้ามชาติ ซึ่งได้รับมอบหมายจาก Earth4All และ Global Commons Alliance (GCA) ทำการสัมภาษณ์ผู้คน 22,000 คนจาก 22 ประเทศ รวมถึงประเทศ G20 จำนวน 18 ประเทศ

พบว่า 72% ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยว่ารัฐบาลหรือผู้นำของธุรกิจขนาดใหญ่ที่อนุมัติหรืออนุญาตให้มีการกระทำที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธรรมชาติและสภาพอากาศควรได้รับการลงโทษทางอาญาแล้ว ส่วนอีก 59% ยังกล่าวว่าพวกเขากังวลมากเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในปัจจุบัน

ขณะที่ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า 52% รู้สึกว่าชีวิตของพวกเขามีความเสี่ยงต่อสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมมากหรือน้อย ซึ่งหมายความว่าสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตในแต่ละวัน โดย 69% เชื่อว่าโลกใกล้ถึงจุดเปลี่ยนของสภาพอากาศและธรรมชาติแล้ว โดยประชากรในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย เคนยา และตุรกี รู้สึกว่าตนเองสัมผัสกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าคนในยุโรปและสหรัฐอย่างมาก

?ผู้คนทั่วโลกต่างกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสภาพของโลกของเรา และพวกเขารู้สึกเจ็บปวดที่รู้ว่าโลกของเรากำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เช่นเดียวกับความกังวลว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญอื่นมากกว่าประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม? เจน แมดจ์วิก ผู้อำนวยการบริหารของ GCA กล่าว

แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วอาจต้องใช้เวลาถึงหนึ่งทศวรรษกว่าที่จะมีคนถูกตั้งข้อหาทำลายล้างระบบนิเวศ แต่ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการสร้างบรรทัดฐานของกฎหมายทั่วโลก เพราะปัจจุบันนี้ผู้คนตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากอีโคไซด์มากขึ้น และพวกเขาก็ไม่อยากให้โลกที่อยู่อาศัย

ที่มา: Euro News, The Guardian, The Washington Post


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1144373

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 13-09-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


ฉลามต้องทิ้งบ้านตามแนวปะการังเพราะโลกร้อนทำน้ำทะเลเดือด


SHORT CUT

- แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมาก แต่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน

- คาดว่าปะการังส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากปรากฏการณ์ฟอกขาวภายในกลางศตวรรษนี้

- การศึกษาพบว่าฉลามสีเทาใช้เวลาน้อยลงในแนวปะการังเมื่อเกิดภาวะเครียดจากอุณหภูมิสูง และอาจใช้เวลานานถึง 16 เดือนกว่าจะกลับมาอาศัยเหมือนเดิม




แนวปะการัง สร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย โดยเป็นที่อยู่อาศัยของ 1 ใน 4 ของปลาทะเลทั้งหมด พวกมันกำลังถูกทำร้ายด้วยความร้อนจากน้ำทะเล การทำประมงที่มากเกิน และปัญหามลพิษ

นักวิจัยพบว่า เหล่าฉลามกำลังละทิ้งบ้านตามแนวปะการัง เพราะโลกที่ร้อนขึ้น ทำให้น้ำทะเลมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนพวกมันเริ่มทนไม่ไหว โดยสิ่งนี้เป็นการทำร้ายฉลามและแนวปะการังไปพร้อมๆกัน เพราะการที่ฉลามอาศัยอยู่แถวแนวปะการังมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย

นักวิจัยได้เฝ้าติดตามฉลามจ้าวมัน หรือฉลามสีเทากว่า 120 ตัวที่อาศัยอยู่ในแนวปะการังห่างไกลของหมู่เกาะชากอส ในมหาสมุทรอินเดีย ระหว่างปี 2013-2020 และพบว่า เมื่อตอนที่ปะการังเริ่มมีความเครียดมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาฟอกขาวได้ เหล่าฉลามจะใช้เวลาอยู่กับแนวปะการังน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2015-2016 ที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ จนเป็นสาเหตุทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้น และพวกมันก็ยังไม่สามารถกลับมายังที่อยู่อาศัยตามปกติได้นานถึง 16 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ปะการังเครียด

อย่างไรก็ตาม เมื่อฉลามใช้เวลาอยู่กับแนวปะการัง แนวปะการังก็จะมีสุขภาพแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ แต่ฉลามเป็นสัตว์เลือดเย็น และมีอุณหภูมิร่างกายที่เชื่อมโยงกับอุณหภูมิน้ำ ถ้าหากว่ามันร้อนเกินไป พวกมันก็จำเป็นต้องย้ายที่อยู่

ดร.เดวิด จาโคบี วิทยากรด้านสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแลนคาสเตอร์ และเป็นผู้นำโครงการวิจัยดักงล่าวเปิดเผยว่า เราคิดว่าฉลามจำนวนมากเลือกที่จะเดินทางออกนอกชายฝั่งมากขึ้น ไปยังน้ำที่ลึกขึ้นและเย็นมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นกังวล เพราะฉลามส่วนหนึ่งกำลังหายไปจากแนวปะการังเป็นเวลานาน โดยพบว่า ฉลามจ้าวมันได้หายไปจากเกือบ 20 เปอร์เซ็นต์ของแนวปะการังทั่วโลก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการตกปลาของมนุษย์ และงานวิจัยนี้ก็ยังพบความเป็นไปได้เรื่องน้ำทะเลที่ร้อนขึ้นทำให้พวกมันหายไป

ทั้งนี้ แนวปะการังสร้างระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย โดยเป็นที่อยู่อาศัยของ 1 ใน 4 ของปลาทะเลทั้งหมด แต่พวกมันก็ถูกทำร้ายด้วยความร้อนจากน้ำทะเล การทำประมงที่มากเกิน และปัญหามลพิษ นอกจากนี้ แนวปะการังส่วนมากอาจจะหายไปถ้าหากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส และคาดว่า ปะการังส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายหนักจากปรากฏการณ์ฟอกขาวที่เกิดขึ้นทุกปีภายในกลางศตวรรษนี้ แม้ว่าชาติต่างๆจะสามารถปฏิบัติตามการให้คำมั่นสัญญาในข้อตกลงปารีสก็ตาม

ที่มา : The Guardian


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/852708

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 03:46


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger