เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #91  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


แนวหน้า
3-7-15


แนะ'เรือประมง'อย่ากลัวกม.ใหม่ พบไร้ทะเบียนกว่า 1.6 หมื่นลำ



2 ก.ค.58 นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีปัญหาเรือประมงหยุดออกหาปลา เพราะเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่จับกุม จากการบังคับใช้กฎหมายประมงฉบับใหม่ที่เข้มงวด ว่า พี่น้องชาวประมงไม่ต้องกังวล เรือลำใดที่มีการขออนุญาตถูกต้อง 3 ด้าน คือ 1.ตัวเรือมีทะเบียนเรือ จากกรมเจ้าท่า 2.มีใบอนุญาตการทำงานของไต้ก๋ง นายท้ายเรือ และช่างเครื่อง จากกรมเจ้าท่า และ 3.มีใบอนุญาตทำการประมง หรืออาชญาบัตร ซึ่งไปติดต่อขออนุญาตได้ที่สำนักงานอำเภอ ก็สามารถออกเรือได้ไม่มีปัญหา ถ้ามีใบอนุญาตไม่ครบขาดไปอย่างใดอย่างหนึ่ง สามารถไปติดต่อขอได้ที่หน่วยเคลื่อนที่เร็วของกรมประมง และกรมเจ้าท่า 8 จุดทั่วประเทศ สามารถออกใบอนุญาตได้เสร็จภายในวันเดียว

สำหรับจำนวนเรือประมงทั่วประเทศ ที่มีทะเบียนเรือถูกต้อง ข้อมูลเดิมกรมเจ้าท่า รายงานว่ามีทั้งสิ้น 42,000 ลำ แต่เมื่อมีการลงพื้นที่สำรวจจริงพบว่า มีเรือที่มีทะเบียนประมาณ 28,000 ลำเท่านั้น และยังพบเรือที่ไม่มีทะเบียนถึง 16,900 ลำ โดยเรือที่ไม่มีทะเบียนส่วนใหญ่พบว่าเป็นเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 5 ตันกรอส หรือความยาว 11 - 12 เมตร กลุ่มนี้ขอให้ชาวบ้านมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง ราชการปลดล็อคให้แล้ว สามารถขอใบอนุญาตได้ง่ายขึ้น ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 31 ก.ค.นี้

นายชวลิต กล่าวต่อว่า สำหรับเรือประมงพาณิชย์ ที่ขึ้นทะเบียนเรือแล้วมีทั้งสิ้นประมาณ 20,000 ลำ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหามีประมาณ 4,000 ลำ เพราะเป็นกลุ่มที่มีทะเบียนเรือ แต่ไม่มีอาชญาบัตร เพราะใช้เครื่องมือจับปลาที่กฎหมายห้าม 4 ประเภท ได้แก่ อวนรุน อวนลาก อวนล้อมปลากะตัก และอวนช้อนครอบปลากะตัก ซึ่งเรือกลุ่มนี้เป็นเงื่อนไขที่สหภาพยุโรป (อียู) อาจออกใบเหลืองรอบ 2 หรือออกใบแดงให้แก่สินค้าประมงไทยได้ ที่ผ่านมารัฐได้ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายให้แล้ว ตอนนี้ผ่อนผันอีกไม่ได้ จึงกลายเป็นเรือกลุ่มที่มีความกังวลกฎหมายใหม่แล้วไม่ออกเรือ แต่ประเมินว่าเรือจำนวนนี้กระทบต่อผลผลิตอาหารทะเลไทยไม่มาก

"ตอนนี้ได้สั่งการให้กรมประมงเร่งไปประเมินให้ชัดเจนโดยเร็วว่า เรือประมงที่หยุดออกหาปลาในช่วงนี้จะมีผลกระทบต่อปริมาณการจับสัตว์น้ำของไทย ซึ่งปกติมีประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี เป็นจำนวนเท่าไร อียูให้เวลาไทยปรับปรุงตัวในเดือน ก.ย.นี้ ประเด็นหลักที่อียูให้ความสำคัญ คือ การแก้ปัญหาการจับปลามากเกินที่ทรัพยากรสัตว์น้ำจะรองรับได้ หรือโอเวอร์ฟิชชิง ซึ่งกรมประมงได้ควบคุม โดยจำกัดเครื่องมือประมง 4 ชนิด ที่ทำลายทรัพยากรหน้าดินรุนแรง ที่ผ่านมาได้หยุดออกอาชญาบัตรให้ตั้งแต่ปี 2523 และจากนี้จะไม่ออกใหม่ให้อีก" นายชวลิต กล่าว

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #92  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


แนวหน้า
4-07-15


ทช.เร่งผลักดัน‘วาฬบรูด้า’เป็นสัตว์สงวน หวั่นยักษ์ใหญ่แห่งท้องทะเลใกล้สูญพันธุ์!



ปัจจุบันสัตว์ทะเลได้รับการคุกคามจากภัยต่างๆ เป็นอย่างมาก ทั้งภัยจากมลภาวะทางน้ำ ขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยวการบุกรุกทำลายถิ่นฐาน รวมถึงปัญหาจากการประมงที่อาจทำให้เกิดการเกยตื้นหรือถูกลากติดอวนจนเสียชีวิต สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายทางชีวภาพรวมถึงการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายากอย่างเป็นวงกว้าง



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์ทะเลหายากและเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ จึงได้มีการประกาศเจตนารมณ์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำหนดเขตคุ้มครองเน้นความปลอดภัยของสัตว์รวมถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน เตรียมเสนอ “วาฬบรูด้า” เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ในรายชื่อสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เพื่อพิจารณา พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ที่บ้านท้ายหาดรีสอร์ทและบริเวณอ่าวไทยรูปตัว ก จ.สมุทรสงคราม

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้พบเห็นสัตว์ทะเลหายากจำพวก เต่าทะเล พะยูน วาฬ และโลมาเกยตื้นตายตามชายหาด หรือติดเครื่องมือประมงโดยบังเอิญเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งหาวิธีแก้ไข ทางทช. ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นของตัวเอง โดยที่ผ่านมาได้มีการใช้กฎหมายพระราชบัญญัติของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชรวมทั้งได้รับอำนาจบางมาตราจากกรมประมง จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันได้ยกกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2558 จากสาเหตุหลายๆอย่างเราจึงได้พิจารณาว่าในมาตรา 3 ของกฎหมายนั้นต้องดูแลเรื่องของสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งการดูแลก่อนหน้านี้เป็นเพียงเชิงอนุรักษ์ทั่วไป แต่กฎหมายที่แท้จริงของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังไม่ได้มีการร่างอย่างเป็นทางการเมื่อมีกฎหมายบังคับใช้ทางกรมจึงมีหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งรวมถึงสัตว์ทะเลที่หายาก



ในส่วนของการดูแลสัตว์ทะเลหายากแบ่งเป็น 2 แนวทาง

แนวทางที่ 1 คือการประกาศเขตคุ้มครอง โดยกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศเขตคุ้มครองเพื่อที่จะดูแลระบบนิเวศทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นปะการัง หญ้าทะเล รวมถึงระบบนิเวศของสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ พะยูน โลมา เต่า วาฬ

แนวทางที่ 2 คือการกำหนดให้สัตว์ทะเลเหล่านี้เป็นสัตว์สงวนคุ้มครอง ไม่ว่าจะออกไปนอกเขตพื้นที่การคุ้มครองก็ยังคงเป็นสัตว์สงวน เราจึงมีการพิจารณาการใช้พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าปี 2535 ทั้งยังพบว่าสัตว์เกือบ 20 ชนิด ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงของการสูญพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ วาฬ โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งปีมีอัตราการเสียชีวิตรวมกว่า 800 ตัว และมีการเกิดเพียง 2-4% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตสูงถึง 5% หากเรายังเพิกเฉยปล่อยให้วาฬที่มีอยู่ดำเนินชีวิตไปโดยไม่มีการควบคุมอาจก่อให้เกิดการสูญพันธุ์หลงเหลือไว้เพียงแค่รูปถ่าย ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องหันมาช่วยกันรณรงค์ปลูกจิตสำนึกประชาชนเพราะการตายของสัตว์ทะเลเกิดจาก “ขยะ”แน่นอนว่าขยะที่พบมากที่สุดเกิดจากการท่องเที่ยวและจากการประมง “ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางทะเลอย่างเป็นเรื่องเป็นราว” โดยเฉพาะในปีนี้เป็นปีที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีกฎหมายบังคับใช้เป็นของตนเอง เราจะดำเนินการและอนุรักษ์ไว้ซึ่งสัตว์ทะเลหายากอย่างเต็มที่

ขณะที่ ดร.ปิ่นสักก์ สรัสวดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน มีเป้าหมายอยู่ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นที่ 1 เป็นเรื่องของการให้ได้มาซึ่งข้อมูลสถานภาพและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของประชากรสัตว์ทะเลหายากโดยกลุ่มงานวิจัยจะช่วยทำให้เข้าใจว่าตอนนี้มีสัตว์กี่ชนิดอยู่ในท้องทะเลไทย กี่ชนิดที่เป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์อีกทั้งยังมีการศึกษาพฤติกรรมและสภาพทางชีววิทยาว่าเป็นอย่างไรเมื่อเข้าใจแล้วจึงมีมาตรการหรือแนวทางในการจัดการที่เหมาะสม

ประเด็นที่ 2 เป็นกลุ่มงานที่ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากและเกยตื้นจากสถิติพบว่าสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้มีการเกยตื้นเป็นจำนวนมาก เราทุกคนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาและงานนี้จะไม่สามารถก่อให้เกิดความสำเร็จได้หากทุกคนไม่ร่วมมือกันประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องของการช่วยชีวิตว่าควรมีการช่วยเหลืออย่างไร ใช้วิธีการรักษาเบื้องต้นที่เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพที่ดีอย่างไรก็ตามประชากรของสัตว์ทะเลหายากลดลงจนไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ธรรมชาติได้ เราทุกคนจึงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูและเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องร่วมมือกันในระดับภูมิภาค

“ผมเชื่อว่าชาวบ้านให้ความสำคัญกับทรัพยากรไม่น้อยไปกว่าภาครัฐ” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากนี้ทาง ทช. ยังให้ความสำคัญกับเครือข่ายภาคประชาชน และชุมชนท้องถิ่น เพราะกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสพบเหตุการณ์ดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านหากมีความความรู้ความเข้าใจในการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากเบื้องต้นก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในรอดชีวิตของสัตว์เหล่านี้ได้มากขึ้นและ “วาฬ” ยังถือว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลหายากที่จะต้องช่วยกันดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยเราทุกคนยังจะต้องช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ. การอนุรักษ์ให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

หากทางรัฐมีการประกาศให้วาฬบรูด้าเป็นสัตว์สงวนก็จะช่วยลดอัตราการสูญพันธุ์ ไม่เพียงแต่วาฬบรูด้าเท่านั้นเพราะสัตว์ทะเลทุกชนิดไม่ใช่ทรัพยากรหมุนเวียนหากแต่เป็นสิ่งที่ใช้แล้วหมดไป

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #93  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
6-07-15


ปลาในทะเลไทยมีเยอะแยะ แต่เรือประมงเถื่อนมีมากกว่า ....................... โดย ณขจร จันทวงศ์


(ภาพประกอบ : ประสาท นิรันดรประเสริฐ www.facebook.com/prasart.nirundornprasert)

ข่าวเกี่ยวกับการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย แน่นอนสื่อมวลชนจะต้องจะพยายามรายงานให้ครบทุกประเด็นทุกมิติ นำเสนอความคิดเห็นจากคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อไล่ดูความเกี่ยวข้องก็พบว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับคนทั้งประเทศ รวมถึงคนต่างประเทศที่มารับจ้างใช้แรงงานและยังขยายไปถึงผู้บริโภคทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย

หลังจากเรือเถื่อนหลายพันลำหยุดออกทะเลมาได้เกือบ 1 อาทิตย์ ทำให้ได้เห็นว่าแท้จริงแล้วเรือประมงถูกกฎหมาย ทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ เอาจำนวนจากทุกจังหวัดมารวมกัน

ไม่รู้จะสู้จำนวนเรือผิดกฎหมายได้หรือเปล่า?

หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องคงรายงานเรื่องนี้ให้สาธารณชนทราบได้อย่างไม่ลำบากว่าตอนนี้มีเรือผิดกฎหมายจอดอยู่ท่าเรือแต่ละแห่งกี่ลำ และที่ยังจับปลากันอยู่มีลำไหนอีกบ้างที่ไม่ทำผิดกฎหมาย

เมื่อเรือผิดกฎหมายหลายพันลำพากันมาแสดงตัว รายงานเบื้องต้นบอกว่ามีราว 3 พันลำ บ้างก็ว่ามากกว่านั้น เหตุผลที่หยุดบ้างก็ว่าเพื่อประท้วงรัฐบาล บ้างก็บอกว่าหยุดเพราะกลัวถูกจับ

แต่สุจริตชนมองว่าดีแล้ว เพราะนั่นคือการเคารพกฎหมาย

ส่วนเรือที่ไม่ได้ทำอะไรผิด วันไหนสภาพคลื่นลมเป็นใจก็ไม่มีอะไรให้ต้องกลัว ระยะ 3-4 วันมานี้มีรายงานไม่เป็นทางการจากชาวประมงทั้งเรือพาณิชย์และประมงพื้นบ้านว่าหลังจากเรืออวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ผิดกฎหมายหยุดออกทะเล พวกเขาจับปลาได้มากขึ้น

ข่าวอย่างเป็นทางการจากสื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่าที่ จ.กระบี่ มีเรือประมงออกจับปลาคืนเดียวได้ปลากลับมามูลค่ากว่า 2 ล้านบาท

มากเป็นประวัติการณ์!!!

จากเดิมได้แค่หลักหมื่นหลักแสนต่อคืนเท่านั้น เรื่องนี้ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าเรือลำเดียวจับปลาคืนเดียวมีใครได้มากกว่านี้ ชาวประมงเชื่อว่าจับปลาได้มากเพราะไม่มีเรืออวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟผิดกฎหมายมาลากอวนในทะเล

แสดงว่าที่ผ่านมาปลาในทะเลไทยมีเยอะแยะ แต่ก็ยังน้อยกว่าเรือประมงผิดกฎหมาย ใช่หรือเปล่า (ฮา)

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #94  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
6-07-15

ทะเลไทยในกำมือ “พล.อ.ประยุทธ์” เมื่อชาวบ้านหนุนล้างบางเรือผิดกฎหมาย เลิกเครื่องมือทำลายล้าง



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นที่บ้านแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายต่อเรือประมงเถื่อนของรัฐบาล พร้อมเปิดตลาดสินค้าสัตว์น้ำปลอดสารพิษราคาเป็นธรรม ยืนยันสินค้าสัตว์น้ำยังไม่ขาดแคลน แนะรัฐประกาศยกเลิกอวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ทะเลไทยจะอุดมสมบูรณ์ถึงลูกหลาน ชี้อนาคตทะเลไทยอยู่ในกำมือ “พล.อ.ประยุทธ์”

หลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยกรณีไม่สามารถควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้ ทำให้รัฐบาลต้องยื่นคำขาดออกมาตรการเข้มบังคับให้เรือประมงทุกลำต้องดำเนินการแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบ หากไม่ปฏิบัติตามเจ้าของเรือจะถูกดำเนินคดีทันที ซึ่งมาตรการนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา

และไม่น่าเชื่อว่า ผลจากการประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดของรัฐบาล ส่งผลให้ประมงพาณิชย์ไม่ต่ำกว่า 3,000 ลำ ต้องนำเรือเข้าจอดเทียบท่าเพราะเรือกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นเรือที่ทำประมงโดยผิดกฎหมาย มีจำนวนมากที่ใช้เครื่องมือประมงซึ่งไม่ตรงกับที่ระบุในอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตการทำประมง และมีจำนวนมากที่เป็นเรือสวมทะเบียน

มาตรการเข้มงวดของรัฐบาลครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ที่มีเรือประมงไม่ถูกกฎหมายได้รวมตัวกันยื่นข้อเรียกร้องกดดันรัฐบาลให้ผ่อนผันมาตรการทางกฎหมายออกไปอีก ขณะเดียวกัน พบว่าการพร้อมใจกันหยุดออกหาปลาของเรือประมงพาณิชย์ดังกล่าวได้ทำให้สินค้าสัตว์น้ำขาดตลาด และเริ่มมีราคาสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เรือประมงพาณิชย์ที่ปฏิบัติตามระเบียบถูกต้องตามกฎหมาย และเรือประมงของเครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านยังคงออกหาปลาตามปกติ แต่เนื่องจากท่าเรือหลายแห่งได้ปิดกิจการไม่มีกำหนดทำให้ระบบการซื้อขายสินค้าสัตว์น้ำมีปัญหา โดยมีรายงานว่า มีความพยายามสร้างสถานการณ์ให้สังคมเข้าใจว่า การหยุดออกหาปลาของเรือผิดกฎหมายนั้นทำให้สินค้าอาหารทะเลขาดตลาด

สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งติดตามสถานการณ์การแก้ปัญหาเรือประมงผิดกฎหมายมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ได้ออกมาเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้านหนึ่งสนับสนุนให้รัฐบาลจัดการขั้นเด็ดขาดต่อเรือประมงที่ผิดกฎหมายเพื่อปลดล็อกใบเหลืองจาก EU และฟื้นฟู และรักษาทรัพยากรในท้องทะเลไทยให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ยั่งยืนด้วยการเสนอให้รัฐบาลประกาศยกเลิก และสั่งห้ามการใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ โดยเด็ดขาด

โดยนายสะมะแอ เจ๊ะมูดอ สมาพันธ์สมาคมชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ระบุในคำแถลงการณ์ถึงผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และสื่อมวลชน ว่า ชาวประมงพื้นบ้านจากทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนจากการทำประมงผิดกฎหมาย เราติดตามการแก้ไขปัญหากรณีประเทศไทยโดนสหภาพยุโรปออกใบเตือนว่า อาจคว่ำบาตรสินค้าประมงไทย เพราะยังมีปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และไม่มีรายงาน โดยพวกเราเองก็เป็นชาวประมงเล็กๆ ที่ถูกมาตรการของภาครัฐโดย ศป.มผ. ให้ดำเนินการจดแจ้งรายละเอียดต่างๆ เช่นกัน

“เราอยากบอกท่านทั้งหลายว่า ประมงทะเลไทยเป็นแหล่งทำการประมงที่สำคัญและเป็นแหล่งอาหาร สัตว์น้ำที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง เป็นแหล่งรายได้ที่ชาวบ้านท้องถิ่นต่างๆ ทั่วประเทศ ใช้พึ่งพาอาศัยจับสัตว์น้ำเป็นอาหารคุณภาพปลอดภัยให้สังคมไทย จนมีเครื่องมือประมงอวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในเวลากลางคืน เกิดขึ้นในประเทศไทย และจำนวนมากมุ่งจับสัตว์น้ำเพื่อป้อนโรงงานอาหารสัตว์ ทำให้ทะเลไทยเกิดความเสื่อมโทรมลง เรือผิดกฎหมายได้ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำขนาดเล็กมากเกินไป เป็นเครื่องมือที่ทำลายระบบนิเวศ และทำลายเครื่องมือชาวประมงอื่นเสมอๆ จนหลายประเทศเริ่มห้ามมิให้ใช้เครื่องมือเหล่านี้ทำการประมง”

ที่สังคมไทยต้องทราบคือ การประมงเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการประมงแบบธุรกิจของนักลงทุน พวกเขาลงทุนใช้เครื่องมือชั้นเลว เพื่อหวังกอบโกยทำร้ายทรัพยากรทะเล และชาวประมงอื่นๆ มาโดยตลอด ดังนั้น ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีนโยบายในการควบคุมเครื่องมือประมงเหล่านี้ไม่ให้เพิ่มขึ้น พวกเขาก็ใช้วิธีการลักลอบทำอย่างผิดกฎหมาย เมื่อถูกจับกุมมักวิ่งเต้นจ่ายค่าปรับ แล้วกลับมาทำผิดต่ออีก



เมื่อปี 2515 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศห้ามทำการประมงอวนลาก อวนรุนในเขต 3,000 เมตร จากชายฝั่งเพื่อป้องกันการขัดแย้งต่อชุมชน และทำลายทรัพยากรมากเกินไป อนุญาตให้ทำได้ในทะเลไทยนอกเขต 3,000 พันเมตรออกไป ซึ่งกินพื้นที่กว่า 300,000 เมตรหรือประมาณ 300 กิโลเมตร ในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านเฝ้าระวังพื้นที่แค่ 3 กิโลเมตรเท่านั้น แต่ปรากฏว่า กลุ่มทุนจำนวนมากยังคงบุกรุกเข้ามาจับปลาในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร

“เรารับรู้ว่ากลุ่มนายทุนเหล่านี้กำลังให้ข่าวอ้างว่า ชาวประมงพื้นบ้านที่มีจำนวนมากน่าจะเป็นฝ่ายที่ทำให้เกิดการประมงเกินศักยภาพการผลิตของทะเล ซึ่งเป็นการบิดเบือนความจริงอย่างหน้าด้านๆ เป็นการตอกย้ำว่า กลุ่มนายทุนเหล่านี้ใช้วิธีสกปรกทุกทางเพื่อให้ตนหลุดพ้นจากความผิด และจะได้กระทำการเอารัดเอาเปรียบชาวประมงเล็กๆ ต่อไป ทั้งที่มีข้อมูลชัดเจนยืนยันได้ว่า ในการประมงทะเลไทยนั้น ชาวประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นคนในชุมชน ท้องถิ่น มีจำนวนมากถึงประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ของชาวประมงทั้งหมด แต่จับปลาในทะเลรวมกันได้ 23 เปอร์เซ็นต์ โดยที่ทั้งหมดใช้ป้อนตลาดเป็นอาหารของคน ในขณะที่อีก 77 เปอร์เซ็นต์ จับโดยนายทุนประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ และจับจำนวนมาก ทำแบบผิดกฎหมาย ละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น โดยสัตว์น้ำที่จับได้เกือบทั้งหมดใช้ป้อนโรงงานปลาป่นผลิตอาหารสัตว์ สร้างความร่ำรวยให้แก่ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผลเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น”

ล่าสุด หลังรัฐบาลกำหนดจะใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อแก้ปัญหา IUU เมื่อจะถึงกำหนด บรรดาเรือประมงขนาดใหญ่ รวมทั้งเรืออวนลากจำนวนมากกลับเข้าฝั่ง และเสนอว่าหากรัฐไม่ผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมาย จะทำให้พวกเขาไม่สามารถออกทำการประมงได้ และประเทศจะขาดสินค้าประมงตามข่าวในสื่อต่างๆ แต่สิ่งที่เรารับรู้ในหลายมาตรการมีการหมกเม็ด และให้การผ่อนผันทำประมงผิดประเภท แรงงานผิดกฎหมายต่อไป ยกเว้นกรณีให้ติดเครื่องมือติดตาม (VMS) เท่านั้นที่กำหนดให้ต้องติดตั้งภายในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลับปรากฏว่า บรรดาเรือประมงใหญ่เหล่านี้ยังเรียกร้องให้ผ่อนผันต่อไปเพื่ออะไร

เราขอเรียนว่า มีเครื่องมือประมงที่ดี ที่รับผิดชอบ ที่สามารถสร้างผลผลิตสัตว์น้ำให้ประเทศไทย ได้โดยไม่ต้องกังวลว่าประเทศไทยจะขาดอาหารทะเลบริโภค เพียงต้องยกเลิกการทำประมงที่ทำลายมากเกินไปเท่านั้น

“ถึงแม้ว่าทะเลไทย และชาวประมงพื้นบ้านเจ็บช้ำจากการกระทำของกลุ่มนายทุนอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ มาเป็นเวลานาน ทั้งเครื่องมือประมงพื้นบ้านเสียหาย ถูกรุมทำร้ายเคยถูกชาวประมงอวนลากไล่ยิงกลางทะเล เคยถูกเรือประมงผิดกฎหมายแบบนี้ฆ่าตาย เพียงเพราะไปขอให้พวกเขาออกไปจากเขตอนุรักษ์ 3,000 เมตร เราก็ไม่เคยคิดอิจฉาว่านายทุนอวนลากร่ำรวยมากเกินไป เราไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนเครื่องมือตัวเองแล้วหันไปทำผิดกฎหมายเหมือนกัน เพราะเรารู้ว่านั่นไม่ต่างจากฆ่าตัวเราเอง ฆ่าอนาคตของลูกหลานเราเอง เราไม่เคยคิดที่จะรุกไล่ไม่ให้พี่น้องชาวประมงที่ทำประมงขนาดใหญ่เลิกทำประมง แต่เราเรียกร้องให้พวกเขาเปลี่ยนเครื่องมือประมงมาทำด้วยเครื่องมือถูกกฎหมายอื่นๆ ที่คนทั่วไปเขาทำกัน และหยุดทำร้ายเราเสียที”

เรามีความเห็นว่า นายทุนประมงได้รับการเอื้อเฟื้อโอนอ่อนผ่อนผันมาเป็นเวลากว่า 30 ปี นาน เกินไปที่จะพูดว่าควรให้โอกาสอีก รัฐบาลต้องดำเนินการให้การทำประมงอวนลาก อวนรุน และการปั่นไฟ จับลูกปลาต้องหมดไปจากทะเลไทย เราขอเรียกร้องให้ชาวประมงทั้งหลายหันกลับมาทำประมงด้วยเครื่องมืออื่นที่รับผิดชอบต่อทรัพยากร รับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมอาชีพ

เราเชื่อมั่นว่าหากสามารถเลิกการประมงทำลายล้างเหล่านี้ได้ ประเทศไทยจะยิ่งมีอาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้กินในราคาที่ถูกลง ปริมาณสัตว์น้ำเต็มวัยจะเพิ่มขึ้น และภายใต้มาตรการอื่นๆ ประกอบกัน ประเทศไทยจะสามารถแก้ปัญหาการส่งออกไปสหภาพยุโรปได้ด้วย



ด้านนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า วิกฤตทะเลไทยเกิดขึ้นมายาวนานแล้ว ความผิดพลาดเกิดขึ้นในการบริหารจัดการทะเลมีหลายสาเหตุ เช่น ขาดการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องต่อมาตรการในการอนุรักษ์และฟื้นฟู เรายังปล่อยให้มีการทำการประมงแบบทำลายล้าง อย่างอวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ทำการประมงอยู่ได้

“เคยมีความพยายามจากนักวิชาการกรมประมงที่เสนอว่า ปัญหาทะเลไทยเสื่อมโทรมมาตรการแก้ไขคือ ต้องหยุดอวนลาก โดยงดการต่อทะเบียน และออกอาชญาบัตรให้แก่เรืออวนลาก ซึ่งเป็นข้อเสนอที่นุ่มนวลที่สุด เพราะคนที่มีเรืออวนลากอยู่ในตอนนี้ก็ทำต่อไปได้ แต่ในทางวิชาการ อายุเรืออวนลากจะไม่เกิน 12 ปี หากยึดตามนั้นป่านนี้ทะเลไทยปลอดเรืออวนลาก ตัวทำลายพันธุ์สัตว์น้ำไปนานแล้ว”

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวและว่า แต่เพราะความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมาย และอำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงข้าราชการประจำสูงมากๆ การสร้างเรือเพิ่ม การสวมทะเบียนเรือจึงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และนักการเมืองก็นิรโทษให้เรือเหล่านั้นกลับมาถูกต้องตามกฎหมายอีก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่าไทยหลายเท่า และเป็นประเทศที่มีเกาะแก่งในทะเลมากที่สุด ทำให้มีทรัพยากรสัตว์น้ำมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งการที่อินโดนีเซียไม่โดนใบเหลืองจากอียูเพราะรัฐบาลอินโดฯ มองไปข้างหน้าเพื่อคนส่วนใหญ่

“ในกรณีอวนลากซึ่งเป็นตัวทำลาย เขาใช้มาตรการประกาศยกเลิกห้ามทำอวนลากทุกชนิดไปเมื่อ 9 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา ขอย้ำว่า อวนลากทุกชนิด อียูก็เห็นความจริงใจของรัฐบาลอินโดฯ ว่าทำจริงไม่ใช่ทำแบบผักชีโรยหน้า เชื่อว่าอีกไม่เกิน 1 ปีต่อจากนี้ อินโดฯ จะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารทะเลใหญ่ที่สุดในเอเชียแน่นอน ประชาชนในชาติของเขาก็จะมีแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติที่ยั่งยืน หากนายกฯ คิดว่านี่คือโอกาสทั้งในแง่ใช้โอกาสนี้ทำความสะอาดทะเลไทยเสียที โอกาสนี้เหมาะที่สุด คือ หยุดเครื่องมือทำลายล้างสำคัญๆ 3 ชนิด คืออวนลาก อวนรุน และเรือปั่นไฟ ในขณะเดียวกัน ก็หามาตรการเยียวยาอย่างชอบธรรมและตรงไปตรงมาต่อผู้ทำการประมงเหล่านั้น ผมคิดว่าท่านจะสร้างคุณูปการให้แก่สังคมไทยที่ยากจะหาอะไรมาเปรียบเทียบ” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าว

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #95  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
6-07-15

บทความ : รู้จัก “กฎหมายประมงฉบับใหม่”



พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 ได้ใช้มาเป็นระยะเวลายาวนาน ทำให้สาระสำคัญ ของกฎหมายในหลาย ๆ เรื่องไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของการประมงในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ซึ่งจำเป็นต้องทำการปรับปรุงแก้ไขเสียใหม่ เพื่อให้กฎหมายประมงเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการการประมงของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต กรมประมงจึงได้จัดทำพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 โดยยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งฉบับ และเพิ่มหลักการใหม่ๆ ที่สำคัญ ประกอบด้วย

1. กำหนดให้มีการแบ่งเขตการประมงในน่านน้ำไทยออกเป็น 3 เขต อย่างชัดเจน ได้แก่ เขตประมงน้ำจืด เขตประมงทะเลชายฝั่ง และเขตประมงทะเลนอกชายฝั่ง โดยในแต่ละเขตจะมีการบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมงที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของสภาพพื้นที่และตามประเภทของเครื่องมือประมง ทั้งนี้ เนื่องจากกฎหมายเดิมไม่ได้กำหนดเขตพื้นที่ทำการประมง ทำให้เครื่องมือประมงที่ได้รับอนุญาตสามารถทำการประมงในทะเลได้อย่างเสรีในเกือบทุกพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหา การแย่งชิงพื้นที่ทำการประมง และมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น เช่น ระหว่างชาวประมงพื้นบ้านหรือเครื่องมือประมงขนาดเล็ก กับชาวประมงที่ทำการประมงในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งหลักการนี้จะช่วยลดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากร ลดความขัดแย้งระหว่างชาวประมงที่ใช้เครื่องมือประมงต่างประเภทกัน และเกิดความสะดวกต่อการบริหารจัดการในแต่ละเขตพื้นที่

2. กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและ มีคุณภาพที่ได้มาตรฐาน โดยรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนผู้ประสงค์ จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของตนให้ได้มาตรฐาน และออกหนังสือรับรองให้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้รัฐสามารถออกมาตรการควบคุมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำบางประเภทให้มีคุณภาพ ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงของประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

3. กำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมด้านสุขอนามัย โดยรัฐมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติ ขั้นพื้นฐานด้านสุขอนามัยสำหรับประชาชนผู้ประสงค์ทำให้สัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของตนมีสุขอนามัยที่ได้มาตรฐาน และออกหนังสือรับรองให้ นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีมาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยของสัตว์น้ำ ในกิจการบางประเภท นับตั้งแต่ขั้นตอนการจับ การดูแลสัตว์น้ำหลังการจับ และการขนส่ง อันจะส่งผลให้สามารถรักษาคุณภาพสัตว์น้ำให้มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้น

4. กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรประมง อันจะทำให้รัฐสามารถกำหนดมาตรการด้านการบริหารจัดการได้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และความต้องการของประชาชน เป็นหลักการที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้มีส่วนร่วมในหลายลักษณะ ได้แก่ การให้ตัวแทนภาคประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการ และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

การให้ตัวแทนภาคประชาชนจากองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมประมง มีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแต่ละจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงในเขตพื้นที่จังหวัดให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ทางการประมงของจังหวัด รวมทั้งการพิจารณาแก้ไขปัญหาและพัฒนาการประมงในเขตพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้หลักการร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และรับผิดชอบร่วมกัน

การกำหนดให้กรมประมงมีหน้าที่ในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดการ การบำรุงรักษา การอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรสัตว์น้ำ ภายในเขตประมงน้ำจืดหรือเขตประมงทะเลชายฝั่ง โดยให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนประมงท้องถิ่นในการจัดทำนโยบายการพัฒนาการประมงให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถในการทำประมง การให้คำปรึกษา การช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินงานหรือกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานดังกล่าว

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการประมงนอกน่านน้ำไทย เพื่อนำเสนอการแก้ไขปัญหา เสนอแนะนโยบายและแนวทางการพัฒนาการประมงนอกน่านน้ำไทย ต่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ และเสนอแนะต่อหน่วยงานในการออกกฎ ระเบียบต่างๆ ในการจัดระเบียบการใช้เรือไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทยเป็นการเฉพาะ เพื่อส่งเสริมการทำประมง การป้องกันและแก้ไขปัญหาการทำการประมงนอกน่านน้ำไทยอย่างเป็นระบบ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้ชาวประมงไทยออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่กระทำผิดกฎหมายหรือข้อตกลงระหว่างประเทศ

สำหรับหลักการในเรื่องอื่น ๆ ยังคงยึดถือแนวทางตามกฎหมายฉบับเดิมซึ่งมีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพียงแต่มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน เช่น การกำหนดอัตราโทษ อัตราค่าอากร ค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ เป็นต้น กรมประมงได้เริ่มยกร่างกฎหมายนี้ในปี พ.ศ. 2543 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนหลายครั้งมาอย่างต่อเนื่อง และได้ทำการแก้ไขปรับปรุงมาเป็นลำดับ จนท้ายที่สุดสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2558 เป็นต้นไป



พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้สอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านการประมง และสภาพของสังคมในปัจจุบัน โดยกำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมและพัฒนาการบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำ และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมให้ประชาชนหรือชุมชนประมงท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างสมดุล เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน และกำหนดมาตรการส่งเสริมให้สัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมงหรือจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีคุณภาพได้มาตรฐานด้านสุขอนามัย มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมและจัดระเบียบการใช้เรือประมงไทยในการทำการประมงนอกน่านน้ำไทย

ดังนั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากฎหมายประมงฉบับใหม่ จะเป็นคำตอบหรือเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาทางการประมงในปัจจุบัน และพัฒนาการประมงของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ภายใต้วิสัยทัศน์ของกรมประมงที่ว่า “มุ่งสู่การเป็นผู้นำทางการประมงอย่างยั่งยืนในภูมิภาค เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #96  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
7-07-15

เฟชบุ๊ก ‘บรรจง นะแส นายกฯ ส.รักษ์ทะเลไทย’ ถูกบล็อก คาดฝีมือสมุนนายทุนประมงเถื่อน



ศูนย์ข่าวภาคใต้ - บัญชี Facebook นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ถูกบล็อก หลังโพสต์เนื้อหาตีแผ่ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายและแฉบริษัทยักษ์ใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการทำลายทรัพยากรในท้องทะเลไทยมาอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (6 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา บัญชีผู้ใช้ Facebook ของนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ในชื่อ “บรรจง นะแส” ได้หายไปจากการเชื่อมต่อกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ โดยระบบของ Facebook แจ้งว่าไม่พบหน้าเพจดังกล่าว หน้าเพจดังกล่าวอาจมีการเลิกใช้งานหรือถูกลบไปแล้ว

โดยจากการค้นหาชื่อบัญชี Facebook บรรจง นะแส จากโปรแกรมค้นหา google.com พบเพียงแคชของหน้าโปรไฟล์ในชื่อ “บรรจง นะแส” ที่อัพเดทล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมาเท่านั้น



ด้านนายบรรจง นะแส เปิดเผย ‘ASTVผู้จัดการภาคใต้’ ว่า เพิ่งทราบเรื่องนี้หลังเสร็จจากอัดรายการสัมภาษณ์ประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการทำประมงที่สถานีโทรทัศน์ NEWS 1 ที่สำนักงานบ้านเจ้าพระยา ถ.พระอาทิตย์ กรุงเทพฯ เมื่อเชื่อมต่อเข้าใช้งาน Facebook ด้วยสมาร์ทโฟนตามปกติพบว่าไม่สามารถเข้าใช้บัญชีได้ โดยขณะนี้ยังไม่ทราบว่าบัญชีถูกบล็อกหรือไม่

“พรรคพวกหลายคนโทรมาสอบถามเพราะไม่เห็นเราในเฟชบุ๊ก ก็คิดว่าน่าจะเป็นผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการทำธุรกิจประมงและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพราะปกผมจะใช้หน้าเฟชบุ๊กสื่อสารกับสาธารณชนเรื่องปัญหาการทำประมง ทุนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังการทำประมงผิดกฎหมาย จับสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งตอนนี้เขากำลังเดือดร้อนจากกฎหมายประมงที่บังคับใช้อยู่ อาจมีความไม่พอใจแล้วแกล้งรายงานบัญชีผู้ใช้ของเรา ทำให้ถูกบล็อก ต้องไปตรวจสอบอีกครั้งว่าเกิดจากอะไร”



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ถือเป็นผู้ที่ต่อสู้และขับเคลื่อนการแก้ปัญหาประมงพาณิชย์ทำลายล้างทะเล กลุ่มทุนค้าปลีกผูกขาด และโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ละเมิดสิทธิชุมชน มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจถูกกลั่นแกล้งด้วยการรายงานบัญชีผู้ใช้หรือแฮ็กบัญชีเพื่อไม่ให้นายบรรจง สื่อสารกับสาธารณะได้อย่างสะดวก

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #97  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


คม ชัด ลึก
7-07-15

เจาะลึกวิกฤติ‘ประมงเทียบท่า’ ผลกระทบโดมิโน-สู่ความยั่งยืน ................... ทีมข่าวภูมิภาค



กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประเทศชาติและประชาชนโดยตรง เมื่อ "สมาคมประมง" มีมติให้สมาชิกกลุ่ม "เรือประมงพาณิชย์" หลายพันลำนำเรือเทียบท่าใน 22 จังหวัด หลังจากคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 10/2558 ลงวันที่ 29 เมษายน 2558 เพื่อจัดระเบียบ และแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายที่เป็นปัญหาหมักหมมมาเนิ่นนานกว่า 30 ปี โดยคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ให้ "ใบเหลือง" ประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่า ไทยไร้ศักยภาพ ไม่สามารถควบคุมการทำประมงที่ผิดกฎหมายได้
ทั้งนี้ แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะให้เวลาหลายเดือน เพื่อให้กลุ่มประมงพาณิชย์ทำทุกสิ่งอย่างให้ถูกต้องตามข้อกำหนด แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้รับการตอบสนองจากกลุ่มประมงพาณิชย์เท่าใดนัก

กระทั่งเวลาผ่านไปเนิ่นนานจนมาถึงเส้นตายของการบังคับใช้กฎหมายในวันที่ 1 กรกฎาคม กลุ่มผู้ประกอบการประมงพาณิชย์กลับต้องการให้รัฐผ่อนปรนข้อบังคับต่างๆ ไปอีกสักระยะ พร้อมยื่นข้อเสนอก่อนจะพากันนำเรือหลายพันลำเข้าเทียบท่าในจังหวัดต่างๆ โดยขอให้ผ่อนผันการบังคับใช้ ประกาศนียบัตรนายเรือ ประกาศนียบัตรช่างเครื่อง บัตรประชาชนผู้ควบคุมเรือ (ไต๋) บัตรประชาชนนายเรือ บัตรประชาชนช่างเครื่อง หรือแม้กระทั่งการผ่อนผันข้อบังคับในเรื่องอาชญาบัตรเรือ ที่รัฐบาลจะไม่ยอมออกให้เรือที่ใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท ทั้ง อวนรุน อวนลาก อวนล้อม อวนล้อมปลากะตัก เพราะถือเป็นเครื่องมือที่ทำลายวงจรการเติบโตของสัตว์น้ำ

นอกจากนี้กลุ่มชาวประมงพาณิชย์ยังขอให้รัฐผ่อนปรนในเรื่องแรงงานที่รัฐบาลต้องการให้มีแรงงานไทยอยู่บนเรือประมงในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อสามารถควบคุมการทำงานบนเรือได้ แต่ในความเป็นจริงแรงงานในภาคประมงบนเรือ 90% คือแรงงานต่างด้าว

ส่วนประเด็นสุดท้ายคือ กลุ่มประมงพาณิชย์ยังขอให้รัฐผ่อนปรนในเรื่องการติดตั้งเครื่องวิทยุภายในเรือ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลน เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นสินค้าที่ได้รับรองจากหน่วยงานรัฐ

ทั้งนี้ "กลุ่มประมงพาณิชย์ทั้ง 22 จังหวัด" ถือเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารทะเลในประเทศไทย ดังนั้นการนำเรือเทียบท่าหยุดทำประมงของกลุ่มประมงพาณิชย์จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม โดยเฉพาะประมงพาณิชย์ในภาคใต้นับเป็นแหล่งการทำประมงขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมทั้งอ่าวไทย และอันดามัน

จากข้อมูลของ "ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สาขาภาคใต้" ได้วิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมาจากการลงมติของสมาคมประมงที่ให้เรือประมงกลับเข้าสู่ฝั่ง ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ธปท.วิเคราะห์เรื่องปัจจัยภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญ โดยมองว่า ก่อนหน้านี้การทำประมงของไทยก็ประสบปัญหาอินโดนีเซียปิดน่านน้ำ ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือลดลงร้อยละ 8 ดังนั้นหากมีการหยุดเรือเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ลดลงไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกปัจจัยจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของ "ชาวประมง, เจ้าของเรือ, ธุรกิจเกี่ยวเนื่องประมง"

ขณะเดียวกัน "ผู้บริโภค" ต้องรับภาระราคาสัตว์น้ำที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามราคาสัตว์น้ำที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อเรือประมงที่ยังสามารถออกทำประมงได้

ทั้งนี้ภาคประมงมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ และร้อยละ 4.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้ ปี 2556

ส่วนการส่งออกจะกระทบต่อการส่งออกอาหารทะเลแปรรูปเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบมีมากขึ้น

"จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านน้ำของอินโดนีเซีย เรายังประสบปัญหาการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ของสหภาพยุโรป ทำให้ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ปลาและหมึก มีปริมาณลดลงร้อยละ 8.8 และ 17.4 ส่วนอาหารทะเลกระป๋องคงได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะที่กุ้งแปรรูปปริมาณการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลผลิตกุ้งจากการเพาะเลี้ยงเริ่มขยับขึ้นจากปัญหาโรคตายด่วน (อีเอ็มเอส) ที่เริ่มคลี่คลาย ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านบาท"

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ที่เป็นศูนย์กลางเทียบท่าของเรือประมง และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูป

จากการศึกษาของ ธปท. พบว่า ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูปเพื่อการส่งออกจากภาคใต้ มี 3 กลุ่มหลัก คือ ปลาและหมึกแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง กุ้งแปรรูปแช่เย็นแช่แข็ง และอาหารทะเลกระป๋องจะได้รับผลกระทบจากการหยุดการทำประมง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการประมง ห้องเย็นและแปรรูป รวมทั้งแรงงานที่อยู่ในกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลาและหมึกแปรรูป แต่ปัญหานี้สืบเนื่องมาจาก "หลักเกณฑ์สากล และการทำประมงยั่งยืน" รัฐจึงต้องแก้ไขให้ลุล่วงในที่สุด ดังนั้นทางออกที่ดีคือ การหารือและแก้ไขปัญหาร่วมกันเพื่อทำให้อนาคตอุตสาหกรรมดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ธปท. มองว่า ผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของภาคใต้อาจจะไม่สูงมากนัก เนื่องจากปลาและหมึกมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมดของภาคใต้ และคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคใต้

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการก็ปรับตัวด้วยการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า บางแห่งหันไปผลิตสินค้าแปรรูปอย่างอื่น เพื่อชดเชยปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอยู่แล้ว

ส่วนกุ้งแปรรูปและอาหารทะเลกระป๋องคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป (กุ้ง ปลา และหมึก ) ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ส่วนอาหารทะเลกระป๋องส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ

สุภาวดี โชคสกุลนิมิต กรรมการผู้จัดการบริษัทปัตตานีปลาป่น (1988) จำกัด เปิดเผยว่า การที่ภาคประมงบางส่วนหยุดออกจับสัตว์น้ำ ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการประมง และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมงที่มีบทบาทของการเป็นฐานรากของเศรษฐกิจไทย สัตว์น้ำที่นำขึ้นท่า 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศ 30 เปอร์เซ็นต์ ส่งออก ดังนั้นการหยุดทำประมงจึงส่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อทั้งระบบของเศรษฐกิจสูงถึง 5 หมื่นล้านบาท จากความชะงักงันที่เกิดขึ้น

"จ.ปัตตานีเอง ถือเป็นจังหวัดที่ทำประมงเป็นฐานราก หากประเมินคร่าวๆ จะมีเรือที่ต้องหยุดทำประมงตามมติของสมาคมประมงไม่ต่ำกว่า 200 ลำ นอกจากนี้ยังมีเรือที่ไม่เข้ากฎเกณฑ์ตามที่ภาครัฐออกข้อกำหนดอีกพอสมควร โดยสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประมงกระทบกระเทือนทั้งหมด ทั้งคนงานที่อยู่ในเรือประมง คนงานแพปลา คนคัดเลือกปลา โรงงานน้ำแข็ง ส่วนตัวมองว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลนั้นไม่ถูกจุด ที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของอาชญาบัตร เพราะที่ผ่านมารัฐก็ไม่ได้ต่อให้เรือประมงมาตั้งแต่ปี 2539 ปล่อยปละละเลยมาจนลุกลาม"

สุภาวดี กล่าวอีกว่า ธุรกิจประมงภายในประเทศก่อให้เกิดการจ้างงาน ทำให้มีเงินหมุนเวียนภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐกลับมองเพียงเรื่องการส่งออก ซึ่งธุรกิจส่งออกส่วนใหญ่ก็คือนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เพื่อการส่งออกไม่ต้องจ่ายภาษี แต่ประมงที่ทำภายในประเทศเกิดการจ้างงาน มีการจ่ายภาษีเข้าสู่ระบบ

"อยากให้รัฐบาลมองว่า หากเราไม่เข้าใจธุรกิจประมงนั้น ท้ายที่สุดจะกระทบไปทั้งระบบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ หากไม่มีวัตถุดิบก็ไม่สามารถผลิตได้ และที่กระทบมากที่สุด คือปลาป่น ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตอาหารสัตว์" สุภาวดี กล่าว

มานะ ศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทแมนเอ โฟรเซ่นฟู๊ด จำกัด กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือภาครัฐ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตีโจทย์ของอียูผิดทั้งหมด โดยประเด็นที่อียูให้ใบเหลืองคือ ต้องการให้ไทยทำประมงอย่างยั่งยืน แต่การแก้ปัญหาในขณะนี้มองต่างกันออกไป แนวทางที่ถูกต้องคือ รัฐบาลต้องมาทำความเข้าใจเรื่องการประมง ส่วนตัวข้อตั้งคำถามว่า หากวันนี้เรือประมงหยุดเดินเรือ เผาเรือ แล้วอียูจะปลดล็อกให้หรือไม่ก็ไม่

"ตอนนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารทะเลเพื่อการส่งออกที่เคยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เมื่อเจอปัญหา เขาก็ดิ้นรนไปหาวัตถุดิบจากต่างประเทศ บริษัทใหญ่ๆ ไปแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม อินโดนีเซีย นอกจากนี้ข่าวที่ออกไปกระทบกับออเดอร์ของที่มีในต่างประเทศ เช่นของบริษัทผมมีตลาดญี่ปุ่น พอมีข่าวแบบนี้ คู่ค้าหันไปหาซื้อที่อื่น เลยกลายเป็นว่าผิดกันไปทั้งหมด" มานะ กล่าว

เช่นเดียวกับ "ปรีชา ศิริแสงอารัมพี" ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า หากประเมินจากการที่เรือประมงพาณิชย์พากันกลับเข้าฝั่ง แน่นอนว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรงกับผู้ประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประมงในทุกส่วน โดยเฉพาะความเสี่ยงในเรื่องการว่างงาน นอกจากนี้ยังมองว่า การที่เรือประมงพาณิชย์กลับเข้าฝั่งจะทำให้ไม่มีสัตว์น้ำเข้ามาสู่ระบบ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนสัตว์น้ำเพื่อการอุปโภค- บริโภค โดยส่วนตัวเชื่อว่า น่าจะเกิดขึ้นอีก 2 เดือนนับจากนี้ เพราะสินค้าที่เก็บไว้ในห้องเย็นจะหมดไปจากระบบ

"ปัญหาในขณะนี้ขึ้นอยู่กับว่า จะเลือกมองในส่วนใด หากมองในภาครัฐนี่คือการจัดระเบียบประมงเพื่อให้เกิด "ความยั่งยืน" ขณะที่ในมุมคนทำประมงเขามองว่า ประมงคือความเป็นอาชีพ รัฐควรจะให้ความสำคัญ หรือหาทางช่วยเหลือ และในฐานะของภาคเอกชนได้แต่คาดหวังผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการหยุดทำประมงจะเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น โดยทุกฝ่ายสามารถหาทางคลี่คลายสถานการณ์ไม่ให้ลุกลามไปมากว่านี้" ปรีชา กล่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นภาพด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ หลังจากเรือประมงบางส่วนเทียบท่า ซึ่งท้ายที่สุดคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นประชาชนตาดำๆ อีกเป็นแน่แท้

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #98  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


โพสต์ทูเดย์
7-07-15

แจงน้ำทะเลเปลี่ยนสีทำปลาตายเกลื่อนบางแสน



ชลบุรี-คณะวิทยาศาสตร์ม.บูรพาเผยปลาตายเกลื่อนบางแสนเกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสีส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

เมื่อวันที่ 6 ก.ค. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา แจ้งว่า ปลาจำนวนมากนอนเกยตื้นบริเวณชายหาดบางแสน อ.เมือง จ.ชลบุรี เกิดจากปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี หรือชาวบ้านเรียกว่าปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬ ทำให้สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง ไม่มีอากาศหายใจหนีขึ้นมาบริเวณชายหาด ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาพักผ่อน ชายหาดบางแสน ได้นำอุปกรณ์ที่หาได้มาช่วยกันจับปลา อาทิ ปลากระเบน ปลาเห็ดโคน ปลาหมึก และปลาตัวเล็กๆ เพื่อนำไปเป็นอาหาร

ทั้งนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้หายไปจากหาดบางแสนนานแล้ว คาดว่าสาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เนื่องมาจากน้ำในชุมชนได้ปล่อยลงทะเล โดยเฉพาะชายหาดบางแสนรับน้ำทะเลจากแม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้น้ำทะเลได้รับสารอาหารอย่างเต็มที่จึงได้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้ออกซิเจนในทะเลหมดลง จึงเป็นสาเหตุทำให้ปลาตายก่อนถูกคลื่นซัดเข้าสู่ชายฝั่ง

อย่างไรก็ตามทางเทศบาลเมืองแสนสุขได้ระดมเจ้าหน้าที่ช่วยกันเก็บกวาดซากปลาและขยะอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ได้นำซากสัตว์น้ำและตัวอย่างน้ำทะเลส่งต่อให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อหาสาเหตุให้แน่นอนอีกครั้ง และไม่แนะนำให้ลงเล่นน้ำเนื่องจากอาจเกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งเทศบาลจะทดลองทิ้ง อีเอ็ม บอล เพื่อปรับสภาพน้ำก่อนคาดว่า ปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสูจะทุเลาขึ้นในอีก 3-4วันข้างหน้า


*********************************************************************************************************************************************************


ปลาทะเลจะราคาแพงขึ้นจริงหรือ? ........................... เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat



เพื่อนๆ สอบถามกันมาเรื่องปลาทะเลราคาแพง บ้างอยากรู้ว่าปลาอะไรบ้าง ผมจึงอยากบอกไว้ 6 ข้อ ดังนี้ครับ

1) เรือประมงที่หยุดแบ่งเป็น 2 พวก กลุ่มหนึ่งหยุดเพราะมีอะไรไม่เรียบร้อยนิดหน่อย อีกไม่นานคงกลับออกไปหาปลาได้ อีกพวกคือเรือที่อาชญาบัตรผิดประเภทหรือไม่มี จะเป็นเฉพาะ 4 เครื่องมือ ได้แก่ อวนรุน อวนลาก และอวนปลากะตัก (2 แบบ) ท่าจะหยุดนานครับ

2) อวนรุน-อวนลาก จะลากกวาดสัตว์หน้าดินทั้งหมด แต่กวาดมานานปี ทำให้ปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นลูกปลาวัยอ่อน นำไปทำปลาป่น ไม่ใช่นำมาให้คนกิน จึงไม่มีผลกระทบโดยตรงกับอาหารทะเล

3) สัตว์น้ำบางส่วนที่อาจติดมากับอวนรุน-อวนลากบ้าง เช่น ปลาทราย ปลาลิ้นหมา กุ้งบางชนิด ปูม้า หอยเชลล์ หมึกสายขนาดเล็ก กระเบน ฯลฯ ราคาอาจขึ้นบ้าง แต่สัตว์น้ำบางส่วนได้มาจากการทำประมงแบบอื่น รวมถึงประมงพื้นบ้านด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นสัตว์ที่เราพอมีทางเลือกในการกิน

4) สัตว์น้ำที่พวกเราส่วนใหญ่กินกัน เช่น กะพงขาว กุ้ง หอยแมลงภู่ หมึกทะเล (ปลาหมึก) ปลาสาก ปลาอินทรี ปลามง ฯลฯ ได้มาจากเครื่องมือชนิดอื่น บ้างก็ได้จากการเพาะเลี้ยง บ้างก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ (เมืองไทยนำเข้าปลาหมึกจำนวนมากจากทั่วโลกครับ) สัตว์น้ำกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบน้อยมากจากการหยุดทำประมงอวนรุน-อวนลาก

5) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ปูอัด (ทำจากเนื้อปลา) อาจใช้การนำเข้าปลามาแทน แต่ราคาอาจเปลี่ยนแปลงบ้าง

6) ในส่วนของปลากะตัก สัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบคือปลากะตัก แต่ต้องดูกันต่อไปว่าราคาจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้ ผมไม่คิดว่าอาหารทะเลจะขึ้นทุกอย่าง เรายังกินปลาทะเลได้ครับ โดยเลือกกินปลาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการหยุดทำประมงอวนรุน-อวนลาก และเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ทะเลไทยและลูกหลานไทยจะได้รับ ผมคิดว่ามันคุ้มค่าครับ

ก็หวังว่ารัฐบาลจะยืนยันหนักแน่นต่อไป แต่ก็หวังว่ารัฐบาลจะรีบช่วยให้ชาวประมงที่เดือดร้อนจากกรณีอื่นๆ ได้กลับไปหาปลาโดยไว เพื่อการประมงไทยจะได้เข้าสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ – การประมงที่ได้รับการควบคุมและแบ่งปันกุ้งหอยปูปลาในทะเลอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะสำหรับพวกเราในวันนี้ แต่เป็นธรรมต่อลูกหลานของเราในวันหน้าด้วยครับ

ที่มา https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #99  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


โพสต์ทูเดย์
7-07-15


ฟื้นทะเลสาบสงขลา ทวงคืนโลมาอิรวดี ............................ โดย...อัสวิน ภฆวรรณ



ทะเลหลวง หรือทะเลสาบสงขลาตอนบน ในพื้นที่ อ.กระแสสินธุ์ จ.พัทลุง มีพื้นที่กว้างที่สุดประมาณ 460 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่ แทบไม่มีน้ำเค็มเข้ามาปะปน จึงเป็นแหล่งวางไข่ ขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด รวมทั้งโลมาอิรวดี แต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของทะเลสาบสงขลา น้ำเสียที่เข้ามาปะปน การใช้เครื่องมือประมงผิดประเภท กระทบต่อโลมาอิรวดีอย่างหนัก ในแต่ละปีจะพบซากโลมาอิรวดีลอยตายปีละเกือบสิบตัว ทำให้พื้นที่ทะเลสาบสงขลา โดยเฉพาะทะเลหลวง ถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่วิกฤตที่สุดของโลมาอิรวดี

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง (พัทลุง-สงขลา) ได้ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ เอาจริงเอาจังกับการลักลอบหาปลาในเขตพื้นที่ถิ่นอาศัยของโลมาอิรวดี ในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งได้ปักแนวเขตอย่างชัดเจน เพื่อกันไว้เป็นเขตคุ้มครองพิเศษแก่โลมาอิรวดีจำนวน 100 ไร่ 3 ปีผ่านไป ไม่เพียงลดการสูญเสียโลมาอิรวดีลงได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

จำนง กลายเจริญ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง บอกว่า หลังจากที่ได้ร่วมกับเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดสร้างซั้งบ้านปลาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2555 เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของโลมาอิรวดี ปรากฏว่ามีผลเกินคาด มีกุ้ง หอย ปู ปลา อย่างชุกชุม โดยได้ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างเก็บผลผลิตจากการจัดทำซั้งบ้านปลา จำนวน 10 ซั้ง จากพื้นที่ 100 ซั้ง ซึ่งสามารถพบชนิดปลากว่า 9 ชนิด ชนิดปลาที่พบมากที่สุด เช่น ปลากดคัง

“แต่ชาวบ้านได้นำอวนมาลักลอบวางปลา ทอดแห และดักไซ จนมีผลกระทบต่อโลมาอิรวดี ผมได้ว่ากล่าวตักเตือน และสั่งห้ามเข้าพื้นที่เขตคุ้มครองพิเศษอย่างเด็ดขาด หากยังพบการลักลอบอีก จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด”

จำนงเล่าว่า ความสูญเสียโลมาอิรวดี จากสถิติปี 2555 พบเสียชีวิตจำนวน 14 ตัว เป็นเพศเมีย 10 ตัว เพศผู้ 3 ตัว และไม่ทราบเพศจำนวน 1 ตัว ส่วนใหญ่สาเหตุการตายมาจากติดอวนปลาบึก และพลัดหลงจากแม่ ปี 2556 เสียชีวิตจำนวน 4 ตัว เป็นเพศเมีย 2 ตัว เพศผู้ 2 ตัว ปี 2557 พบเสียชีวิตจำนวน 6 ตัว เป็นเพศเมีย 3 ตัว เพศผู้ 1 ตัว และไม่ทราบเพศจำนวน 2 ตัว สาเหตุการตายคือพลัดหลงจากแม่ ป่วย และแก่ตาย และล่าสุดปี 2558 พบโลมาอิรวดีเสียชีวิตจำนวน 2 ตัว เป็นเพศเมีย 1 ตัว ไม่ทราบเพศ 1 ตัว ส่วนสาเหตุการตายยังไม่แน่ชัดเช่นกัน และคาดว่ามีโลมาอิรวดีตัวเป็นๆ เหลืออยู่ในทะเลสาบสงขลาตอนบนเพียง 25-30 ตัวเท่านั้น โดยเสียชีวิต 4 ปี รวม 26 ตัว



โลมาอิรวดีไม่เพียงเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญา ไซเตส โดยจัดให้อยู่ในสถานะสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์ นอกจากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโลมาอิรวดีน้ำจืดในทะเลหลวงไว้เป็นสัตว์ป่าในพระบรมราชินูปถัมภ์ ตามประกาศจังหวัดพัทลุง ณ วันที่ 3 ต.ค. 2544

“ปัจจุบันสถานการณ์ภัยคุกคามโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลาตอนบน มีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย การลักลอบหาปลา แหล่งอาหารลดลง การผสมสายพันธุ์เดียวกันจนเกิดสายเลือดชิด มีการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี การทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล การชะล้างพังทลายของตะกอนดิน จนเกิดการทับถมและตื้นเขิน”

จำนง บอกว่า เมื่อปี 2556 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำเอ็มโอยูร่วมกับบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และชาวบ้านริมทะเลใน 2 จังหวัด จัดโครงการอนุรักษ์โลมาอิรวดีในพระบรมราชินูปถัมภ์ 3 ปีที่ผ่านมาอบรมชาวบ้านไปแล้วกว่า 300 คน และจัดทำซั้งบ้านปลาปีละ 100 ซั้ง เป็นการสร้างแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เพื่อเป็นแหล่งอาหารให้โลมาอิรวดีน้ำจืด และชุมชน

สมใจ รักษ์ดำ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์โลมาอิรวดี จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า โครงการจัดสร้างซั้งบ้านปลาเป็นความหวังในการกู้วิกฤตให้โลมาอิรวดีมีถิ่นอาศัย มีแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ ลดความเสี่ยงจากการติดเครื่องมือประมง และซั้งบ้านปลายังเป็นที่พักพิงแหล่งอาหารของนกนานาชนิด ทั้งนกอพยพ และนกประจำถิ่น ที่สำคัญคือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #100  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ผู้จัดการออนไลน์
8-07-15

ชาวประมงพื้นบ้านเมืองคอนจัดกิจกรรม “ประมงเพื่อลูกหลาน” ต้านนิรโทษประมงเถื่อน



นครศรีธรรมราช - เครือข่ายประมงพื้นบ้านนครศรีฯ ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ประมงเพื่อลูกหลาน” ต้านนิรโทษประมงทำลายล้าง ขณะที่ราคาสัตว์น้ำขยับสูงขึ้นหลังพ่อค้าเข้ากว้านซื้อให้ราคานำตลาด

วันนี้ (7 ก.ค.) ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เครือข่ายประมงพื้นบ้าน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนักเรียนซึ่งเป็นลูกหลานของชาวประมง ครู ข้าราชการกรมประมง พร้อมด้วยชาวประมงพื้นบ้าน ได้รวมตัวกันบริเวณริมชายหาด บ.เกาะเพชร อ.หัวไทร ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ทำประมงเพื่อลูกหลาน” เพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย ไม่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำ




ขณะที่ นายวิรชัช เจ๊ะเหล็ม นายกสมาคมประมงพื้นบ้านหัวไทร อ่านแถลงการณ์สนับสนุนของเครือข่ายประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย พร้อมกันนั้น ได้แสดงการคัดค้านการนิรโทษเรืออวนรุน อวนลาก สนับสนุนการใช้เครื่องมือที่ไม่มีการทำลายล้าง และมีการแสดงเปรียบเทียบถึงทรัพยากรที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และคุณภาพจากเรือประมงพื้นบ้าน กับปลาจากเรือประมงพาณิชย์ที่ใช้เครื่องมือในการทำลายล้าง โดยปลาที่ได้นำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์เท่านั้น



ชาวประมงระบุว่า ปลา และสัตว์น้ำที่ได้ในขณะนี้มีปริมาณที่มากขึ้น และมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากมีพ่อค้าที่มาดักรอซื้อจากริมหาดในราคาสูงกว่าปกติถึง 30-50 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สูงกว่าเดิม ส่วนสัตว์น้ำที่อยู่ในตลาดสดจะมีราคาสูงกว่าเดิมเช่นกัน และนับเป็นโอกาสดีของผู้บริโภคที่สามารถบริโภคสินค้าที่ปราศจากสารปนเปื้อน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 06:11


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger