|
|
Share | คำสั่งเพิ่มเติม | เรียบเรียงคำตอบ |
#101
|
||||
|
||||
ถึงแล้วค่ะ...โคกนกกระบา ยอดเขาภูหลวง ที่ความสูง 1,400 เมตร จากระดับน้ำทะเล คำว่า "ภูหลวง" มีความหมายว่า "ภูเขาที่ยิ่งใหญ่" หรือหมายถึง "ภูเขาของพระเจ้าแผ่นดิน" ภูหลวง เกิดจากการยกตัวของพื้นผิวโลก และดินส่วนที่อ่อนถูกพัดพาลงสู่พื้นที่ส่วนต่ำ คงเหลือหินซึ่งเป็นโครงสร้างที่แข็งไว้เป็นภูเขา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2517 ได้รับการยกขึ้นเป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง มีเนื้อที่ประมาณ 848 ตารางกิโลเมตรหรือ ประมาณ 530,000 ไร่ ตั้งอยู่ในท้องที่วังสะพุง อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย อ่านรายละเอียดอื่นๆได้ที่นี่ค่ะ... http://www.phuluang.org/webpage/data.html เราเป็นรถนักท่องเที่ยวคันแรก ที่ขึ้นไปถึงยอดภูหลวงในวันนั้น เห็นบรรยากาศแล้ว เสียดายที่มีเวลาอยู่น้อยนิดบนยอดภูหลวงนี้
__________________
Saaychol |
#102
|
||||
|
||||
บนยอดภูหลวงเป็นลานกว้าง ต้นไม้ที่เห็นหลักๆของที่นี่ น่าจะเป็น กุหลาบป่า (Rhododendron) ตั้งแต่เข้ามาที่ลานจอดรถ จนเดินเที่ยวไปตรงไหน ก็เห็นแต่ต้นกุหลาบป่าเต็มไปหมด มีทั้งดอกกุหลาบป่าที่บานแฉ่ง ...
และดอกตูมๆ ที่เจ้าหน้าที่บอกว่า พร้อมจะบานแฉ่งแข่งกัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์ต่อเดือนมีนาคม.. ไปอ่านพบใน http://www.bloggang.com/viewdiary.ph...oup=2&gblog=18 เขาบอกว่า "Rhodoendron นี้มาจากภาษากรีก 2 คำ คือ คำ "Rhode" ซึ่งแปลว่า "สีแดง (red) หรือ "ดอกยี่สุ่น" (rose) กับคำ "dendron" ซึ่งแปลว่า "ต้นไม้(tree)" โดยนัยจึงแปลได้ว่า "ต้นไม้(ดอก)สีแดง" หรือต้นยี่สุ่น" แต่จริงๆแล้วกุหลาบป่าที่เห็น ไม่ได้มีแต่สีแดง สีขาวก็มีค่ะ แต่ไปคราวนี้ สีขาวยังไม่บาน คงต้องหาโอกาสกลับไปดูใหม่อีกครั้ง...
__________________
Saaychol |
#103
|
||||
|
||||
ข้างที่ทำการหน่วยโคกนกกระบา...เราเห็นต้นเมเปิลต้นผอมชะลูดอยู่ต้นหนึ่ง... ใบเมเปิลเริ่มจะออกแดงๆ แต่ยังไม่เต็มที่ เจ้าหน้าที่บอกกับเราว่า ใบเมเปิ้ลจะแดงเต็มต้น ต้องเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เขาบอกอีกว่า ใบเมเปิลจะแดงทั้งต้น อยู่สัก 5 วัน จากนั้นก็จะทิ้งใบจนเหลือแต่ต้นโด่เด่ ก่อนจะแตกใบอ่อน ในเวลาต่อมา...เอ... แต่ตอนที่เราไปถึงนั่น ก็ใกล้ปลายเดือนธันวาคมเข้าไปแล้วนี่นา แต่ใยใบของเจ้าเมเปิ้ลต้นนี้ จึงไม่ยอมแดงเสียทีหนอ.. ใบเมเปิลแดงๆ คงจะสวยดีนะคะ...
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 07-07-2012 เมื่อ 12:43 |
#104
|
||||
|
||||
ทานข้าวเที่ยงกันที่ร้านอาหารสวัสดิการเจ้าหน้าที...อาหารง่ายๆ ข้าวสวยร้อนๆ รับประทานกับ ผัดกระเพราะหมู ไข่เจียว แกงจืดผักกาดขาวกับเต้าหู้และหมูสับ...
อิ่มแล้ว ไปเดินดูใกล้ๆที่ทำการ ไม่อยากไปไกล เพราะกลัวช้างจะมาเหยียบค่ะ เราเดินเข้าไปตามทางเดิน ที่เขียนบอกไว้ว่า "ลานสุริยัน" ไม้ร่มครึ้มสองข้างทางเล็กๆ กับลมเย็นๆ ทำให้การเดินราวหนึ่งกิโลเมตรนั้น ช่างน่ารื่นรมย์มากค่ะ ถึงแล้วลานสุริยัน...มีลานหินรูปร่างแปลกๆช้อนตัวกันอยู่ริมหน้าผา แต่ต้นไม้ที่ขึ้นสูงโด่เด่อยู่แถวริมผา ทำให้มองเห็นวิวสวยๆโผล่ให้เห็นแค่นี้เองค่ะ ที่นี่..จะทำให้เห็นทิวทัศน์ทางด้านตะวันตกของภูหลวงได้ชัดเจน แต่ก็เห็นเพียงเทือกเขาไกลๆ โผล่อยู่เหนือยอดไม้เท่านั้น ถ้าเป็นช่วงเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม ที่นี่จะมีสีสันงดงาม ด้วยดอกกุหลาบป่าทั้งสีแดงและสีขาว
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 06-07-2012 เมื่อ 17:19 |
#105
|
||||
|
||||
จากลานสุริยัน...เราเดินต่อไปตามทางที่ทำไว้ จนมาทะลุที่บริเวณเขตพระตำหนัก ซึ่งที่นั่นตัวพระตำหนัก รูปทรงทันสมัย มีหอคอยชมวิวสูงเหนือยอดไม้ ตั้งตระหง่านอยู่..
ตัวพระตำหนัก ตั้งอยู่บนโขดหินสูง ด้านหลังพระตำหนักเป็นระเบียงกว้างใหญ่ เป็นจุดที่น่าจะชมพระอาทิตย์ตกได้งดงามจุดหนึ่ง... บนหลังคาพระตำหนัก มีมอส และเฟิร์นขึ้นอยู่ ดูสวยดีค่ะ...
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 06-07-2012 เมื่อ 17:44 |
#106
|
||||
|
||||
เราเดินผ่านหน้าพระตำหนัก ลงไปตามทางเดิน มุ่งสู่พื้นล่างที่อยู่ต่ำลงไป และแล้วเราก็ถึงลานหินที่เรียกว่า "ผาเยือง" จุดชมวิวด้านตะวันตกของภูหลวง... เช่นเดียวกับลานสุริยัน...ต้นไม้จากผาสูงเบื้องล่าง โผล่ยอดมาบดบังวิวทิวทัศน์ที่อยู่เบื้องหน้าเราเกือบหมด เมื่อมองลอดช่องออกไป ก็เห็นทิวเขาเทือกเดียวกับที่เราได้เห็นที่ลานสุริยัน ใต้หน้าผาเยืองแห่งนี้มีน้ำซับไหลอยู่ตลอดปี เป็นที่อาศัยของเลียงผา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "เยือง" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อผาแห่งนี้ ด้านล่างเป็นป่า ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสามสาย คือแม่น้ำเลย น้ำสาน และ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลยนั้นไหลขึ้นเหนือ ไปหล่อเลี้ยงผู้คนในอำเภอภูหลวง วังสะพุง อำเภอเมือง เชียงคาน ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง ส่วนน้ำสาน จะไหลผ่านภูเรือ ด่านซ้าย แล้วลงสู่แม่น้ำเหือง ซึ่งจะไหลแม่น้ำโขงในที่สุด ส่วนแม่น้ำป่าสัก ไหลผ่านจังหวัดเพชรบูรณ์ สระบุรี และไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 06-07-2012 เมื่อ 17:44 |
#107
|
||||
|
||||
เราเดินออกมาทางถนนที่ก่อด้วยอิฐ ดูกว้างขวางและเดินสบายกว่าถนน ที่เราเดินมาจากลานสุริยัน แต่ตันไม้สองข้างทางที่ขึ้นสานกันเป็นอุโมงค์ ให้ความร่มรื่นที่ไม่ต่างกันนัก... มีทางแยกทางขวามือ ป้ายบอกว่าเป็นบ้านพักของทางเขตฯ...น่าสนใจดีค่ะ เพราะถ้าเราจะกลับมาเที่ยวที่นี่อีก คงจะต้องมาพักค้างแรม ลองเดินไปชมบ้านพักหน่อยก็ดีนะคะ บ้านหลังแรกที่เราเห็น คือ "บ้านไก่ฟ้าพญาลอ" สร้างเป็นเรือนแถวไม้ ฝาขัดแตะ ดูน่าอยู่ดีค่ะ.. ถัดไปเป็น "บ้านกุหลาบแดง" ลักษณะเป็นตึกปูนทันสมัย ต่อกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตรงกลางเป็นลานกว้าง น่าพักเชียวค่ะ... บ้านที่อยู่ไกลออกไป ชื่อ "บ้านกุหลาบขาว"...มาทราบที่หลังว่า ที่เราเห็นๆอยู่นั้น เป็น "เรือนรับรองพิเศษ" ถ้าเป็นคนธรรมดาๆอย่างเรา คงไม่มีสิทธิไปพักหรอกค่ะ
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 07-07-2012 เมื่อ 12:48 |
#108
|
||||
|
||||
อยากจะไปเดินเที่ยวชมต่อ แต่พอเห็นมูลช้างกองอยู่ เราก็เดินย้อนกลับไปปากทาง เพื่อเดินกลับไปที่ทำการหน่วยโคกนกกระบา พอถึงถนนลูกรังรถยนต์วิ่งได้ เราก็ค่อยเบาใจหน่อยค่ะ เราจากภูหลวงมา เพื่อมุ่งหน้ากลับเชียงคาน ที่พักของเราในคืนนั้น.... ความตั้งใจที่จะกลับมาเพื่อท่องเที่ยวให้ทั่วจุดสำคัญๆ ที่มีมากมายหลายแห่งบนภูหลวง ยังคงคุกรุ่นอยู่ในจิตใจของเราตลอดเวลา จนถึงบัดนี้...
__________________
Saaychol |
#109
|
||||
|
||||
ออกจากภูหลวงได้เราไม่ย้อนกลับไปทาง(สบายๆ) เส้นทางเดิม แต่กลับใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 2399 ซึ่งแยกจากถนนหลวงหมายเลข 203 ไปทางอำเภอท่าลี่ แล้วเลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2195 เลียบลำน้ำเหือง ซึ่งไหลไปบรรจบลำน้ำโขง มุ่งหน้าสู่เชียงคาน... ถนนหลวง 2399 อยู่ในสภาพค่อนข้างดี และวิวสองข้างทางเป็นทุ่งหญ้าโล่งๆ สูงๆต่ำๆ ไม่แน่ใจว่า ที่ดินบริเวณนี้ถูกหักล้างถางพง หรือว่าเป็นเขต "ทุ่งหญ้าสะวันนา" กันแน่... วิ่งไปได้สักพักหนึ่ง ก็พบศาลาพักสำหรับนักเดินทาง จึงแวะเข้าไป เพื่อถ่ายภาพวิวทิวทัศน์แถวๆนั้น... โชคดีจริงๆค่ะ ที่ศาลาแห่งนั้น เราสามารถมองเห็นภาพภูเรือ ที่อยู่ทางด้านตะวันตกได้ชัดเจน หุบเขาที่อยู่เบื้องล่าง เขียวขจีด้วยนาข้าวขั้นบันได และสวนผลไม้และไม้ดอก ผิดกับยอดเขาที่เรากำลังยืนอยู่ซึ่งแสนจะแห้งแล้ง... รถของเราวิ่งลัดเลาะเขาสูงที่ค่อยๆลาดต่ำลงเรื่อยๆ จนถึง เมืองท่าลี่ อันเป็นที่ตั้งของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ของไทย (รองจากสะพานที่หนองคาย) ซึ่งสะพานแห่งนี้ สร้างข้ามแม่น้ำเหือง ไม่ใช่แม่น้ำโขง อย่างสะพานที่หนองคาย หรือที่กำลังจะสร้างอีกหลายแห่ง เสียดายค่ะ ที่เราไม่มีเวลาแวะชม เพราะเย็นมากแล้ว เกรงจะไปมืดกลางทาง ที่เรายังไม่เคยผ่านมาก่อน... เราบังคับรถเลี้ยวขวา ไปตามถนนหลวงสาย 2195 ซึ่งถนนบีบแคบ ไม่มีขอบทาง และแทบไม่มีรถสวนมา พอใกล้ถึงเชียงคาน ถนนก็กลายสภาพเป็นพื้นผิวโลกพระจันทร์ เราหายสงสัยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้นไปได้ เมื่อได้เห็นรถเทรลเลอร์ใหญ่ยักษ์ ขนทรายเต็มกระบะหนักอึ้ง และไหลหกเรี่ยราดเลอะเทอะไปตลอดทาง เย็นนั้นกว่าจะถึงเชียงคานได้ พระอาทิตย์ก็ลับขอบฟ้าไปแล้ว....
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 07-07-2012 เมื่อ 21:16 |
#110
|
||||
|
||||
วันสุดท้ายของการเดินทาง....
สองสายตื่นแต่เช้า ด้วยตั้งใจจะออกเดินทางจากเชียงคาน ไม่เกิน 7 โมงเช้า เพื่อจะได้กลับถึงบ้านในกรุงเทพฯ ไม่ดึกเกินไปนัก แต่ก็มีเหตุให้เราต้องออกเดินทางช้ากว่าที่ตั้งใจไว้เกือบชั่วโมง ทั้งนี้เพราะลูกสาวคุณไสว ได้มาแจ้งว่า คุณไสวขอให้เราคอยหน่อย เพราะกำลังจะไปนำพืชผักผลไม้ในสวนมาให้เรา นำกลับไปทานที่กรุงเทพฯ น้ำใจของคุณไสว...ลูกเขยคุณตาหน่วม ที่ดูแลเราอย่างดีมาตลอด 4 วันในเชียงคาน ช่างประเสริฐนัก...ถ้าเราจะไม่คอยลาคุณไสว ก็ถือว่าเราใจจืดใจดำมากเกินไปหน่อย เราเลยนั่งดื่มกาแฟแกล้มปาท่องโก๋ คอยคุณไสวต่อไปอย่างสบายอารมณ์ คุณไสวมาถึง พร้อมกับมะละกอหลายลูก และกระหล่ำปลี จากสวนผักของคุณไสวเองอีกหลายหัว ซึ่งเป็นของฝากสำหรับเรา จากน้ำใจใสๆของคุณไสว เรานั่งคุยกันต่ออีกเล็กน้อย ก่อนจะกล่าวขอบคุณและล่ำลาคุณไสว พร้อมกับส่งมอบมังคุดและมะขามหวาน อย่างละสองสามกิโล ที่เราซื้อมาจากตลาดสด ซึ่งตั้งใจจะนำมาฝากคุณไสวโดยเฉพาะ การเดินทางมาเที่ยวเชียงคานครั้งนี้ เราได้ทั้งความสุขสนุกสนาน และได้ทั้งมิตรภาพและความจริงใจ จากคนเมืองเชียงคานแท้ๆอย่างคุณไสว ทำให้เราเกิดความประทับใจยิ่งนัก จนต้องสัญญากับคุณไสวว่า... เราจะกลับมาเยี่ยมเยือนคุณไสว ณ.บ้านตาหน่วม แห่งเมืองเชียงคานอีกครั้งอย่างแน่นอน....
__________________
Saaychol แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 07-07-2012 เมื่อ 21:18 |
|
|