เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #101  
เก่า 10-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สัญญาณเตือน "ไทย" แผนแก้ท่วมระยะยาว "จำเป็น" ต้องทำ



นับจากวันนี้ รัฐบาลจะต้องมองถึง "แผนระระยาว" ในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขณะนี้ ถือเป็น "สัญญาณ" เบื้องต้นของอนาคตที่น่ากลัวสำหรับเมืองหลวงของไทย

เพราะตั้งอยู่บนที่ลุ่มต่ำและจมลงช้าๆอย่างต่อเนื่อง

กทม.เป็นเมืองที่ตั้งอยู่เหนืออ่าวไทยเพียง 30 กิโลเมตร

มีผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อย่างธนาคารโลก คาดการณ์กันว่า อีกประมาณ 39 ปี หรือปี พ.ศ.2593 ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยจะสูงขึ้น 19-29 เซนติเมตร

กทม.เป็น 1 ใน 10 เมืองที่เสี่ยงต่อการจมน้ำ

เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักผ่ากลาง กทม.สูงขึ้นตามไปด้วย

ธนาคารโลกระบุถึงขนาดว่า กทม.จะเสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

เหตุผลที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ตรงกันคือ การขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำท่วมสร้างความเสียหายรุนแรงแก่ กทม. เพราะเหลือทางให้น้ำไหลน้อยมาก

มีการเสนอทางออกว่า ทางการไทยจะต้องแก้ปัญหาการใช้ที่ดินใน กทม. ปัญหาการวางผังเมือง และอาจต้องพิจารณาเรื่องย้ายโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

รุนแรงที่สุดอาจถึงขึ้นต้องพิจารณาย้ายเมืองหลวง

เหล่านี้คือการคาดการณ์ เมื่อบวกเข้ากับ "สัญญาณ" ที่คนกรุงประสบอยู่เวลานี้

ทำให้รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ต้องเตรียมวางแผนระยะยาวในการแก้ไขปัญหา

เพราะครั้งนี้จะเป็นโอกาสดี ที่จะต้องร่วมกันในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

ทั้งการพัฒนาพื้นที่ตลอดสองฝั่งเจ้าพระยา ด้วยการทำคันกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยระบบที่ทันสมัยคล้ายประตูเปิด-ปิดประตูน้ำ พร้อมๆกับถือโอกาสในการจัดระเบียบริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งหมด

เช่นเดียวกับคลองสำคัญต่างๆใน กทม.ทุกคลอง จะต้องทำการขุดลอก บูรณาการใหม่หมด ทำให้ชุมชนริมคลองหมดไป ด้วยการจัดระเบียบการพักอาศัยให้กับประชาชนใหม่ทั้งหมด

พร้อมบูรณะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ นี่เป็นโอกาส

รัฐบาลควรนำแนวคิด "โครงการแก้มลิง" ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริมาดำเนินการผันน้ำเหนือลงสู่ทะเล ด้วยการเสริมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไป

เพราะลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง คือ

1.ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง พักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ แก้มลิง ต่อไป

2.เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ

3.สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่แก้มลิง ให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลาส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

4.เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว (One Way Flow)

นอกจากนั้น ก็วางแผนในการชะลอน้ำอย่างถูกต้องตามหลักสากล ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อน สร้างฝาย ตั้งแต่ด้านบนของประเทศ เรื่อยลงมาถึงพื้นที่ภาคกลาง เพื่อการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

จริงอยู่ เวลานี้รัฐบาลกำลังวุ่นวายอยู่กับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เยียวยาผู้ประสบภัย แต่จะต้องมองการแก้ไขปัญหาในอนาคตควบคู่กันไปด้วย

รัฐบาลจะต้อง "กล้า" กู้เงินเป็นแสนๆล้าน เพื่อทำระบบป้องกันภัยจากอุทกภัยที่ทันสมัย ด้วยการนำเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยของต่างประเทศมาปรับใช้

ซึ่งการแก้ปัญหาทุกอย่าง คงไม่มีอะไรที่ "สมองมนุษย์" ทำไม่ได้ เว้นแต่คิดจะทำหรือไม่

หากรัฐบาลคิดทัน ก็ควรจะต้องเร่งตั้งคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาระยะยาวขึ้นมาศึกษาโครงการระดับอภิมหาโปรเจ็กต์ โดยมีระยะเวลาที่ชัดเจน

เพราะมีบทเรียนมให้เห็นแล้วว่า น้ำจะท่วมจะมิดหัวอยู่แล้ว ศปภ.เพิ่งจะสั่งซื้อเครื่องสูบน้ำ ขยะ ผักตบขวางทางระบายน้ำ กทม.เพิ่งจะเร่งเก็บขยะ ลอกผักตบ

เข้าลักษณะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

เพราะไม่เช่นนั้น อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สังคมไทยจะไม่ได้อะไรเลย นอกจากความเจ็บปวด สูญเสีย




จาก .................. มติชน วันที่ 9 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #102  
เก่า 11-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Food For Flood "สำรับ" ยามยาก



วันที่มวลน้ำมหาศาลยังไม่ระบายออกจากแผนที่ประเทศไทย นอกจาก "ที่หลับที่นอน" แล้ว "อาหารการกิน" ถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด

ระหว่างทาง "ลงทะเล" ของมวลน้ำก้อนโต หรือปลาวาฬฝูงใหญ่ (แล้วแต่ใครจะเรียก) มหากาพย์การเดินทางครั้งนี้ สร้างผลกระทบมากมายไม่ว่าจะ "ทางตรง" หรือ "ทางอ้อม"

กว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ เรือกสวนไร่นา อาคารบ้านเรือน ตลอดจนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ต่างถูกน้ำ "กวาดเรียบ"

น้ำ จึงกลาย "โจทย์สำคัญ" ให้คิด และปรับชีวิตไปโดยปริยาย

หลายบ้านต้องเทครัวอพยพไปยังศูนย์พักพิง ขณะที่อีกหลายบ้านยัง "ใจดีสู้น้ำ" รอเวลาอยู่กับที่ไม่ยอมไปไหน

จนวันนี้ ถึงคิว กรุงเทพมหานคร ที่ค่อยๆ "จม" ไปทีละเขต

แม้จะมีเสียงจากฟากบริหารออกมาพูดถึงความพยายามในการ "เอา" อุทกภัยให้ "อยู่" หมัด แต่กลับถูกน้ำไล่กระเจิงครั้งแล้วครั้งเล่า

ไม่ว่าจะงัดกระสอบทราย ก่ออิฐ ยาแนว หรือคลุมพลาสติก เท่าที่ "คัมภีร์กันน้ำ" เล่มไหนจะการันตี

ที่สำคัญกว่านั้น หนึ่งในปัจจัยสี่ อย่าง "อาหาร" คงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

หวั่นน้ำท่วม สินค้าขาดตลาด แห่กักตุนข้าว

มาม่าหมดสต็อกหลังเกิดน้ำท่วม

วิตกคนกรุง กักตุนน้ำดื่ม มาม่า ปลากระป๋อง ขาดตลาด

พาดหัวข่าวต่างๆ สะท้อนถึงความกังวลเรื่องปากท้องของคนเมือง ตั้งแต่ "น้องน้ำ" ยังเดินทางมาไม่ถึง

คำถามคือ เราจะดูแล "ปากท้อง" ตัวเองได้อย่างไร เมื่อน้ำกำลังทั้ง "รุก-รุม-ล้อม" อยู่ตอนนี้


เตรียม-ตุนให้ท้องอิ่ม

"เป็นคนกินยากค่ะ เลยยังไม่ได้คิดอะไรเท่าไหร่" เป็นคำสารภาพจาก อ้อม-เพ็ญสิริ เกษมสุข ถึงการเตรียมตัวรับสถานการณ์น้ำที่กำลัง "งวด" เข้ามาทุกขณะ

ปกติชีวิตสาวออฟฟิศที่ต้องเดินทางเข้ามาทำงานในเมือง ทำให้หอพักของเธอแถวๆโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) ซอยรามอินทรา 109 ถนนพระยาสุเรนทร์ มักมีอาหารสำเร็จรูปติดห้องเอาไว้อยู่บ้าง หรือไม่ก็เป็นของขบเคี้ยวเล็กๆน้อยๆ เอาไว้แก้เหงาปาก

ข่าวน้ำท่วมบนหน้าจอทีวี ทำให้อ้อมเป็นกังวลอยู่พอสมควร เพราะห้องที่เธอพักอยู่ทุกวันนี้นั้น อยู่ชั้น 1 และตัวอาคารก็สูงจากถนนไม่มากเท่าไหร่ ก่อนจะออกมาทำงานเท่าที่รู้ เมื่อคืนน้ำก็ล้นท่อระบายน้ำขึ้นมาแล้ว

"ซอยข้างๆ ก็มีน้ำท่วมขังตั้งแต่สองวันก่อนแล้วค่ะ"

นอกจากเก็บของบางอย่างขึ้นที่สูง น้ำดื่ม นม และอะไรที่คิดว่าน่าจะ "กินง่าย" สำหรับตัวเองคือเสบียงที่เธอเตรียมเอาไว้รับน้ำเหนือตอนนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเป็นคนที่กินอะไรยากมาเป็นทุนเดิม ที่สำคัญ หากท่วมขึ้นมาจริงๆ อ้อมเองก็ไม่คิดแช่น้ำอยู่เป็นสัปดาห์อยู่แล้ว

"กาแฟ นม บิสกิต เลย์ โจ๊ก แอปเปิ้ล ฝรั่งค่ะ" ที่นี่คือลิสต์เมนูในดวงใจ

แน่นอน ตอนนี้ เธอย้ายตัวเองไปพักบ้านญาติที่ต่างจังหวัดเรียบร้อย

ส่วน แจน - วรรณวิสา ฤทธิ์สกุลวงษ์ ตั้งหลักรับน้ำอยู่กับครอบครัวที่บ้าน ย่านลาดพร้าว 101 ตอนนี้อยู่ในขั้นเตรียมความพร้อมรับมือด้วยการ ก่อปูนกั้นประตูทางเข้าบ้าน และขนของขึ้นข้างบนเรียบร้อยหมดทุกอย่างแล้ว

"ทำตั้งแต่ท่วมบางบัวทองแล้วค่ะ" เธอยืนยัน

ไม่ได้โอเวอร์เกินเหตุ แต่ด้วยประสบการณ์จากตาและยายที่เคยผ่านน้ำท่วมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2526 ทำให้ที่บ้านค่อนข้างพร้อมพอสมควร

"แค่เดือนเดียวค่ะ" คือระยะเวลาที่ให้โอกาสตัวเองเดือดร้อนกับน้ำท่วม พอๆ กับบริมาณเสบียงที่มี

"ส่วนใหญ่เป็นพวกปลากระป๋อง หรือ อาหารกระป๋องน่ะค่ะ เพราะที่บ้านก็เป็นร้านขายของชำด้วย" เธอบอก

ขณะที่ แตง - พิริยา ยงเพชร กับพ่อ และแม่ของเธอเตรียมตัวเพียงทำรั้วกันน้ำเท่านั้น แต่ไม่ได้ย้ายของขึ้นที่สูง เพราะที่บริเวณบ้านค่อนข้างสูงพอสมควร

"เตรียมเสบียงไว้บ้าง แต่ไม่เยอะ เอาแค่พอสมควร ซื้อน้ำเป็นส่วนใหญ่ แล้วก็เป็นพวกอาหารแห้งเป็นบางส่วน ปลากระป๋อง, ข้าวสาร, มาม่า, น้ำพริกแบบแห้ง" เธออธิบาย

เหตุผลหลักที่ทั้ง 3 คนเลือกใช้อาหารแห้ง เครื่องกระป๋องก็เพราะ ความสะดวก และที่สำคัญยังสามารถเก็บได้นานด้วย

"ไม่มีไฟฟ้าใช้ อย่างน้อยปลากระป๋องก็ยังเปิดกินได้แหละค่ะ เพราะกว่าจะรอความช่วยเหลือจะเข้ามาถึงเรา เราก็คงเกือบตายก่อน" อ้อมออกความเห็น

แต่ถ้าถามถึงเรื่องสารอาหาร

"ชั่วโมงนี้ขอแค่พออิ่มก่อนดีกว่าคะ ยังไม่ต้องคิดว่าจะได้สารอาหารครบหรือไม่ครบหรอก" ทั้ง 3 สาวต่างยืนยันเป็นเสียงเดียว


น้ำนอง ท้องอิ่ม (+ครบ 5 หมู่)

เปรียบเทียบสภาพน้ำล้อมบ้าน อย่กว่าแต่จะหาซื้ออะไรกินเลย แค่คิดจะฝ่าระดับน้ำเหนือเข่าขึ้นไปก็ลำบากแล้ว หากย้อนมองสภาพความเป็นอยู่ท่ามกลางมวลน้ำที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะลดง่ายๆ เช่นนี้ ถ้าไม่หาพื้นที่ลี้ภัยชั่วคราวรอน้ำลด การทำใจยอมรับสภาพ และปรับตัวดูจะเป็นทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การหุงหาอาหารในสถานการณ์ดังกล่าว คำตอบของทั้ง แตง อ้อม และแจน ดูเหมือนจะเป็นคำตอบที่อยู่ในใจของหลายๆ คน แต่สำหรับนักโภชนาการชำนาญการพิเศษ อย่าง ณัฏฐิรา ทองบัวศิริไล จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เธอกังวลถึงสุขภาพในระยะยาว หากต้องพึงพาของกินเฉพาะอย่างเป็นเวลานานเกินไป

"คนเราต้องการสารอาหารต่างกันนะคะ" เธอตั้งข้อสังเกต

เพราะในจำนวนผู้ประสบภัยมีผู้คนหลากหลาย ทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ คนท้อง หรือคนป่วย ซึ่งต้องการสารอาหารเพื่อบำรุงร่างกายแตกต่างกัน การเอาใจใส่กับอาหารการกินโดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมอย่างนี้ แม้จะดูเป็นการเรียกร้องที่ "เกินไป" แต่ก็ไม่ควร "ละเลย"

"คุณอาจจะทานผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ แต่ก็น่าจะดูด้วยว่ามีอะไรสามารถแทนแป้ง หรือแทนโปรตีนได้บ้าง"

เธอยกตัวอย่างกรณีที่ของกินยอดนิยมอย่าง "บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป" หรือ "ปลากระป๋อง" ขาดตลาด ผู้บริโภคก็ยังมี ขนมปังกรอบ ขนมเปี๊ยะ หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ แทนได้อยู่ แต่ข้อควรระวังเป็นพิเศษในช่วงนี้ คือเชื้อโรคที่อาจ "แถม" มากับน้ำ

"ช่วงน้ำท่วม หมู หรือไก่ อาจติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ เหมือนกับของกินที่มีส่วนประกอบของกะทิ หรือยำที่นำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็อาจเสียได้ง่าย อาหารที่ต้องใช้มือสัมผัสโดยตรงก็อาจจะติดเชื้อโรคได้ง่าย"

"กล้วยน้ำว้า" และ "ส้ม" เป็นผลไม้ 2 ชนิดที่เธอคิดว่าน่าจะเหมาะกับสถานการณ์แบบนี้ เพราะผักใบเขียวดูจะเป็นอะไรที่ถือว่ายากพอควร ที่สำคัญ วิตามินพวกนี้ล้วนแต่ต้อง "ปรุงเพิ่ม"

แต่หากเป็นของขบเคี้ยว หรืออาหารแห้ง คุกกี้ แคร็กเกอร์ อาหารเช้าจำพวกซีเรียล กินคู่กับนมยูเอชที (นมที่ผ่านการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิเกิน 135 องศาเซลเซียส) ก็เป็นตัวเลือกที่ทดแทนสารอาหารได้ค่อนข้างครอบคลุมเหมือนกัน

แต่ถ้าเด็กเล็กที่ต้องให้การดูแลเป็นพิเศษ

"โดยเฉพาะเด็กแรกเกิด - 3 เดือนแรก แนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียว เพราะนมผงจะทำให้ท้องร่วงได้ง่าย" เธอยืนยัน

แม้เด็กจะหย่านม หรือตัวแม่ไม่มีน้ำนมแล้วก็ตาม ณัฏฐิรา อธิบายว่าสามารถกระตุ้นน้ำนมได้ ด้วยการให้ลูกดูดบ่อยๆ แต่ตัวแม่เองก็ต้องดื่มน้ำให้มากกว่าปกติด้วยเหมือนกัน

สำหรับคนทั่วไป อาหารกระป๋องจำพวกข้าวกระป๋องที่สามารถกินได้เลย หรืออาหารปรุงสำเร็จบรรจุกระป๋องต่างๆ อาจมีราคาสูง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวเลือกสำหรับสารอาหารยามยากจะขีดวงจำกัดอยู่เพียงเท่านั้น ถั่วตัด กระยาสารท หมูหยอง ไก่หยอง เนื้อสวรรค์ ไข่เค็ม เนื้อแดดเดียว ปลาแห้ง หรือปลาเล็กปลาน้อย ก็ล้วนแต่เป็นตัวเลือกที่ไม่น่ายากเกินความสามารถ

เพื่อให้ท้องอิ่ม และไม่ต้องพึ่งโรงหมอ หลังน้ำลดนั่นเอง.


จัดชุด (อาหาร) ลุยน้ำ

"เพราะนิสัยคนไทยยังไงก็ต้องกินข้าว" บางสุ้มเสียงจากฟากนักวิชาการเปรียบเทียบถึงผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วงน้ำท่วมที่แม้จะอัดแน่นไปด้วยสารอาหาร และการคำนวณแคลอรี่มาให้ตรงเป๊ะสักเพียงใด ถ้าลอง "สวยแต่รูป จูบไม่หอม" แม้จะถูกส่งให้ถึงมือผู้ประสบภัย แต่ก็มักจะได้รับการหยิบเป็นลำดับท้ายๆอยู่ดี

เมนูน้ำท่วม จึงค่อนข้างมีรายละเอียดมากกว่าแค่ตาเห็น

ทางศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยกรมอนามัย จึงได้ เซตเมนู "ชุดอาหารอิ่มท้อง" ขึ้นมาสำหรับเป็นทางเลือก ทั้งผู้ช่วยเหลือ และผู้รับการช่วยเหลือจะสามารถนำไปประยุตก์ใช้เพื่อให้มากกว่าอิ่มท้องรอน้ำลดได้

แน่นอนว่า นอกจากจะถูกหลักโภชนาการ ยังสามารถเก็บเอาไว้ได้นานเกินกว่า 3 วัน โดยอาหารภายในชุดประกอบไปด้วย

กลุ่มข้าว-แป้ง ได้แก่ ขนมปังกรอบคุ กกี้ แคร็กเกอร์ ขนมเปี๊ยะไส ถั่ว ขนมปังไส้ สับปะรด ข้าวแต๋น ซีเรียล ข้าวตังหน้าธัญพืช ข้าวตู มันฉาบ เผือกฉาบ

กลุ่มถั่วและธัญพืช ได้แก่ ถั่วลิสงคั่ว ถั่วกรอบแกว ถั่วทองทอด ถั่วปากอ้า กระยาสารท ถั่วตัด งาตัด

กลุ่มผลไม้แห้ง ได้ แก่ กล้วยตาก กล้วยอบ กล้วยฉาบ เป็นต้น

กลุ่มน้ำพริก ได้แก่ น้ำพริกเผา น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาปน น้ำพริกปลาสลิด น้ำพริกปลาย่าง

กลุ่มปลาและเนื้อสัตว์ ได้แก่ ปลานิลแดดเดียว ทอดหมูแดดเดียวทอด ไข่เค็ม ปลาหวาน หมู/เนื้อทุบ ปลาฉิ้งฉ้างอบกรอบ ไก่/หมู/ปลาหยองหมูแผ่น หมูยอ หมู/เนื้อสวรรค์

อาหารกระป๋องสำเร็จรูปต่างๆ ได้แก่ ปลากระป๋อง หัวไชโป๊ว ผักกาดกระป๋อง เป็นต้น

อื่นๆ ได้แก่ น้ำดื่ม นมถั่วเหลือง นมสด UHT น้ำผลไม้


ตัวอย่างชุดอาหารอิ่มท้อง

แบบที่ 1 ประกอบด้วย ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว คุ๊กกี้ ข้าวตู กล้วยตาก มันฉาบ น้ำพริกตาแดง หมูแดดเดียว ปลากระป๋อง ไก่หยอง ผักกาดกระป๋อง น้ำดื่ม นมถั่วเหลือง/นมสดUHT

แบบที่ 2 ประกอบด้วย ขนมปังกรอบ ข้าวแต๋น กล้วยฉาบ ถั่วทองทอด น้ำพริกปลาย่าง ปลาแดดเดียว ปลากระป๋อง ไข่ เค็มหมูยอ ซีเรียล น้ำดื่ม นมถั่วเหลือง/นมสดUHT

แบบที่ 3 (สำหรับชาวมุสลิม) ประกอบ ด้วยขนมปังกรอบ กล้วยตาก น้ำพริกเผา ปลานิลแดดเดียวทอด ไข่เค็ม ปลาหวาน ปลากระป๋อง ซีเรียล หัวไชโป้ว น้ำดื่ม น้ำผลไม้ นมถั่วเหลือง/นมสดUHT




จาก .................. กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Life Style วันที่ 9 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #103  
เก่า 11-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


แปลงเรือหางยาวเป็นเครื่องดันน้ำ ภูมิปัญญาชาวบ้านระบายน้ำฝั่งธนฯ ..................... โดย สุรัตน์ อัตตะ



จากความพยายามร่วมกันของเครือข่ายชุมชนย่านฝั่งธนบุรี ที่จะไม่ยอมนั่งรอเป็นผู้ประสบภัยจากวิกฤติอุทกภัย มูลนิธิซิเมนต์ไทยและกรมอู่ทหารเรือ จึงได้สนับสนุนให้ชุมชนเอาภูมิปัญญาริมคลองฝั่งธนฯ มาใช้ คือเครื่องผลักดันน้ำ ด้วยเป็นแนวคิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่เรียกว่าการเป่าฟอง โดยใช้ถังขนาด 200 ลิตรมาเชื่อมต่อกัน 2-3 ถัง เพื่อสร้างอุโมงค์หรือท่อส่งน้ำ แล้วนำไปติดตั้งบนแพไม้ไผ่ ซึ่งมีใบพัดและเครื่องยนต์ของเรือหางยาวติดตั้งอยู่ โดยใบพัดจะทำหน้าที่ดึงน้ำเข้าไปในอุโมงค์ ทำให้มีแรงดันใต้น้ำที่จะช่วยผลักน้ำออกไปเร็วขึ้น

"ที่จริงมันเป็นเครื่องที่ชาวบ้านที่เขาใช้กันมานานแล้ว แต่ใช้ในนากุ้งคือใช้เครื่องนี้ดันน้ำเข้านากุ้งหรือเรือสวนไร่นา เพียงแต่เรานำมาดัดแปลงให้เครื่องมีกำลังส่งเพิ่มขึ้น อุปกรณ์การประดิษฐ์ก็มีเครื่องยนต์เรือหางยาว ถังน้ำมัน 200 ลิตร ไม้ไผ่มาผูกติดกัน ถ้ามีเครื่องยนต์เรือหางหางยาวแล้วก็ซื้อวัสดุอื่นๆเพิ่มเติมก็ไม่เกิน 5,000 บาท ข้อดีไม่ใช่ดันน้ำแค่ผิวน้ำ แต่สามารถดันน้ำข้างล่างด้วย"

สุพจน์ ภูมิใจกุลวัฒน์ ประธานสภาพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร แกนนำเครือข่ายชาวบ้านย่านฝั่งธนบุรี ผู้จุดประกายให้ชาวบ้านนำเครื่องผลักดันน้ำเผยถึงจุดเด่นเครื่องผลักดันน้ำ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมบริเวณย่านฝั่งธนบุรีในขณะนี้ โดยเครื่องดังกล่าวนั้นไม่ใช่ของใหม่ แต่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งใช้ในการผลักดันน้ำในนากุ้ง ตลอดจนเรือกสวนไร่นาอยู่แล้ว เพียงแต่มาดัดแปลง โดยการเพิ่มกำลังเข้าไปเพื่อให้สามารถผลักดันน้ำได้มากขึ้นเพื่อระบายน้ำท่วมขังลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็ว

สำหรับเครื่องผลักดันน้ำจากแนวคิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ผลิตจากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตรมาเชื่อมต่อกันประมาณ 2-3 ถัง เพื่อสร้างอุโมงค์หรือท่อส่งน้ำ แล้วนำไปติดตั้งบนแพไม้ไผ่ ซึ่งมีใบพัดและเครื่องยนต์ของเรือหางยาวติดตั้งอยู่ โดยใบพัดจะทำหน้าที่ดึงน้ำเข้าไปในอุโมงค์ ทำให้มีแรงดันใต้น้ำที่จะช่วยผลักน้ำออกไปเร็วขึ้น ขณะเดียวกันแรงผลักดังกล่าวจะช่วยให้ขี้เลนที่ตกตะกอนฟุ้งกระจาย ผลคือคลองจะลึกขึ้น และน้ำเคลื่อนได้เร็วขึ้น ช่วยดันน้ำให้ออกอ่าวไทยในระยะทางที่สั้นที่สุด แบ่งเบาภาระของเจ้าพระยาได้อีกทางหนึ่ง



สุรนุช ธงศิลา ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG) กล่าวเสริมว่าเครื่องแรกลองวางที่คลองราชมนตรีตรง ถ.เอกชัยบางบอน เครื่องผลักดันน้ำภูมิปัญญาชาวบ้านตัวแรก วางที่คลองราชมนตรีที่ ถ.เอกชัย-บางบอน ซึ่งขณะนี้ทำงานได้ดีมาก โดยชาวบ้านนำเครื่องเรือหางยาวที่ปรับจากเครื่องยนต์ 4 สูบ และใช้ถังน้ำมัน 200 เปล่ามาเชื่อมต่อกันเป็นท่อเพื่อใช้เป็นอุโมงค์น้ำ นำหางเรือที่มีใบพัดแหย่ที่ปากท่อที่วางไว้ใต้น้ำ ชาวบ้านผลักดันน้ำจากข้างใต้ ในขณะที่รัฐบาลใช้เรือผลักน้ำบนผิวน้ำ

ผู้จัดการมูลนิธิซิเมนต์ไทย (SCG) ระบุอีกว่า คลองราชมนตรีเป็นอีกคลองหนึ่งที่จะสามารถช่วยชาวฝั่งธนฯ ให้ผ่อนหนักเป็นเบา เนื่องจากเป็นคลองที่รับน้ำจากคลองเล็กคลองน้อยรวมทั้งคลองทวีวัฒนาและคลองภาษีเจริญให้ไหลลงอ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว แทนที่จะดึงน้ำไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียว ซึ่งไกลกว่าในขณะที่คลองราชมนตรียังแห้งขอดและยังความสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก รวมทั้งยังเดินทางไปสู่อ่าวไทยในระยะทางที่สั้นกว่าด้วย

"วิธีนี้อาจจะไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่อย่างน้อยก็จะทำให้ปริมาณน้ำและระยะเวลาที่น้ำท่วมขังน้อยลงและเรายังได้รับความร่วมมือจากกรมอู่ทหารเรือเข้ามาช่วยผลิตเครื่องผลักดันน้ำดังกล่าว ทำให้ขณะนี้มีเครื่องผลักดันน้ำภูมิปัญญาชาวบ้าน 4 ชุด และเครื่องผลักดันน้ำจากกรมอู่ทหารเรืออีก 2 เครื่อง วางตามจุดต่างๆในคลองราชมนตรี เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยผลักดันน้ำที่ท่วมขังทางด้านฝั่งธนฯ ให้ลงอ่าวไทยได้เร็วขึ้น" สุรนุชกล่าวทิ้งท้าย

นับเป็นนวัตกรรมที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน แม้จะผลักดันน้ำได้ปริมาณไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็เป็นแรงเสริมหน่วยงานภาครัฐในการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วขึ้น




จาก .................. คม ชัด ลึก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #104  
เก่า 14-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


มองดูให้รู้ทันน้ำ สีไหนปลอดภัย สีไหน "เน่า"!?!



เพราะผู้คนในหลายพื้นที่ยังต้องใช้ชีวิตอยู่กับมวลน้ำที่เคลื่อนตัวเอ่อล้นคู คลอง ผุดจากท่อเข้าท่วมบ้าน ท่วมถนน วิถีชีวิตคนเมืองจากที่เคยขึ้นรถไฟฟ้าต่อรถยนต์ จำต้องเปลี่ยนเป็นขึ้นรถลงเรือ บ้างต้องเดินลุยน้ำเป็นบางช่วง จึงไม่แปลกที่ความกังวลเกี่ยวกับน้ำซึ่งต้องสัมผัสจะผุดขึ้นในหัวเหมือนกับน้ำผุดท่อ

ต่อข้อสงสัยดังกล่าว ทีมเดลินิวส์ออนไลน์ได้รับคำตอบจาก นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ รักษาการอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ยืนยันว่า มวลน้ำมหาศาลถึงเพียงนี้ไม่ทำให้สารพิษไหลเวียนไปยังบริเวณต่างๆได้ อีกทั้งสารเคมีอันตรายของโรงงงานอุตสาหกรรมก็มีหลักเกณฑ์การจัดการเป็นอย่างดีไม่ให้มีการปล่อยทิ้งออกภายนอก ประกอบกับกรมควบคุมมลพิษส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณรอบๆโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ไม่พบการปนเปื้อนแต่อย่างใด

ขณะที่ลักษณะของน้ำ การจะรู้ได้ว่าสกปรกหรือไม่? นายวรศาสน์ ชี้แจงว่า ประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า หากเป็นน้ำที่มีสภาพดีตามธรรมชาติต้องไม่ขุ่นจนเกินไป มีสีออกน้ำตาล ในทางตรงกันข้าม น้ำที่สกปรกจะขุ่นมาก มีตะกอน น้ำดำ มีกลิ่้นไม่พึงประสงค์ คล้ายกลิ่นแก๊สไขเน่า กลิ่นเปรี้ยว สัตว์น้ำอาศัยอยู่ไม่ได้

ดังนั้น หลังจากสัมผัสกับน้ำสกปรกตามลักษณะข้างต้น ควรล้างผิวหนังให้สะอาด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากเชื้อโรคในน้ำ ที่อาจทำให้เป็นโรคผิวหนัง โรคอหิวาตกโรค ท้องร่วง ไทฟอยด์ โรคฉี่หนู ส่วนผู้ที่วิตกกลัวจะได้รับอันตรายจากสารพิษและโลหะหนัก เช่น แคดเมียม สารหนู ยาฆ่าแมลง สารปรอท แล้วจะป่วยเป็นอิไต อิไต มะเร็ง มินามาตะ และท้องร่วงนั้น นายวรศาสน์ ระบุว่า หากไม่ดื่มลงท้องไป ของแถมที่แฝงในน้ำเหล่านี้จะไม่มีกับสุขภาพ เพราะเพียงแค่สัมผัสถูกผิวหนังไม่ก่อให้เกิดโรค

ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษ มีข้อคำเตือนฝากถึงประชาชนที่มีบุตรหลาน โดยนายวรศาสน์ ขอให้หลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำที่มีความสกปรกมากหรือเน่าเสีย เพราะเด็กอาจสำลักน้ำ กลืนเอาเชื้อราที่ปะปนอยู่ในน้ำเข้าไปสู่ร่างกาย หากเคราะห์ร้าย เชื้อราอาจเข้าไปเจริญเติบโตในสมอง

ดังเช่นกรณีของอดีตนักร้องหนุ่ม ‘บิ๊ก วงดีทูบี’ ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ตกคูน้ำและสำลักเอาน้ำสกปรกเข้าไป เป็นผลให้ติดเชื้อราซูดาเลสชีเรียบอยดิไอ เชื้อราเข้าไปกัดกินเส้นเลือดแดงในสมอง แพทย์พบเลือดออกในสมอง และสมองบวม เป็นอันตรายต่อสมองอย่างมาก อีกทั้งเชื้อราเจริญเติบโตเร็ว และยาฆ่าเชื้อรามีราคาแพง

ทว่าเด็กบังเอิญลงเล่นน้ำแล้วเกิดสำลักน้ำที่มีสภาพไม่น่าไว้วางใจ ให้พยายามบ้วนทิ้งหรืออาเจียนออกมาให้ได้ หลังจากนั้นหากมีอาการผิดปกติ มีไข้สูงไม่ลด ต้องรีบพาตัวส่งโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจหาความผิดปกติ

และเพื่อลดมลภาวะทางน้ำในช่วงที่มวลน้ำสกัดการคมนาคมทางบกตามวิถีปกติ เจ้าหน้าที่รักษาความสะอาดบ้านเมืองไม่สามารถออกเก็บกวาดขยะไปกำจัดได้อย่างที่ควรเป็น นายวรศาสน์ ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านการควบคุมมลพิษ แนะให้ประชาชนจัดการกับขยะมูลฝอยบริเวณที่อยู่อาศัยของตนเอง โดยอย่าทิ้งลงน้ำ ให้รวบรวมและบรรจุขยะใส่ถุงมัดปากให้มิดชิดเก็บใส่ถังขยะให้พ้นน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากมีสภาพเช่นนั้นแล้ว สามาถใช้น้ำชีวภาพหรืออีเอ็มบอล แก้ปัญหาได้ในเบื้องต้น ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ หากลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้วพบว่าบริเวณใดมีค่าออกซิเจนละลายในน้ำต่ำกว่า 2 มิลลิกรัมต่อลิตร จะใช้น้ำจุลินทรีย์ราดเพื่อบรรเทาน้ำเน่าเสีย

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมมลพิษ ยังจัดกิจกรรมขยะโฟมแลกไข่ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันเก็บโฟมเหลือใช้ ขยะที่ก่อมลพิษและใช้เวลาย่อยสลายยาวนานกว่าขยะชนิดอื่นๆ โดยขยะโฟมจำนวน 20 ชิ้น สามารถแลกไข่ไก่ได้ 1 ฟอง สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กรมควบคุมมลพิษ 0 2298-2000 หรือ www.pcd.go.th




จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #105  
เก่า 14-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


'เครื่องกรองน้ำฉุกเฉิน' เน้นวัสดุท้องถิ่น ต้นทุนต่ำ ใช้งานง่ายทำได้จริง !?



ในสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างอย่างนี้ นอกจากจะสร้างความเดือดร้อนในเรื่องของที่อยู่อาศัยแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบาธารณูปโภคพื้นฐานอย่าง “น้ำ” ที่ใช้สำหรับดื่มกิน และชำระล้างร่างกายอีกด้วย!!

หลายฝ่าย หลายหน่วยงาน ต่างร่วมแรงร่วมใจระดมความคิด ความสามารถในด้านต่างๆ สร้างสำนึกจิตอาสาขึ้นมาช่วยเหลือสังคม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประสบภัยน้ำท่วมในยามคับขัน

ขณะที่หลายพื้นที่กำลังประสบปัญหามีแต่น้ำท่วมขัง...และน้ำที่มีอยู่ก็เริ่มใช้ไม่ได้ บ้างมีสี มีกลิ่น จากน้ำที่เคยใสเปลี่ยนเป็นสีขุ่น ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคได้ ด้วยเหตุนี้ บุคลากรที่มีจิตอาสาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร จึงได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า “เครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉิน” ขึ้น

เครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉิน เป็นผลงานของ นายวาสนิธิ์ พญาปุโรหิต นายธีรภัทร์ ฉัตรทอง นายวรนล กิติสาธร นายอภิชัจ เจียรวิริยะนาถ 4 หัวเรือใหญ่ของทีมวิจัย และกลุ่มเพื่อนนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จาก ศูนย์วิจัยส่วนนวัตกรรมเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ (Applied Innovation Division : AID) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร โดยมี ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม และ รศ.ดร.วิษณุ มีอยู่ เป็นที่ปรึกษาของโครงการ

“จริง ๆ แล้วการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะน้ำท่วมที่ขาดแคลนน้ำใช้ น้ำเพื่อชำระล้างสิ่งต่าง ๆ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้น้ำไม่มีกลิ่น ไม่มีสี มีความสะอาดเพียงพอและสกปรกน้อยที่สุด เพราะหากผู้ประสบภัยน้ำท่วมใช้น้ำที่มีเชื้อโรคหรือสารปนเปื้อนบ่อยครั้ง อาจไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้” ทีมวิจัย เกริ่นนำ ก่อนช่วยกันอธิบายถึงขั้นตอนการทำงานของเครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉินให้ฟังว่า

เครื่องกรองน้ำฉุกเฉินนี้ถูกออกแบบไว้ให้มีความสะดวกในการทำใช้ได้เอง ไม่ต้องมีเครื่องมือพิเศษอะไร ขนาดเล็กหรือใหญ่ก็แล้วแต่วัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ ที่ประดิษฐ์ขึ้นมานั้นเป็นขนาดเล็กน้ำหนัก 1.5 กิโลกรัม เพื่อความสะดวกแก่การเคลื่อนย้าย ติดตั้งและซ่อมบำรุง สามารถกรองน้ำได้ครั้งละ 5 ลิตร ภายในครึ่งนาที

หลักการทำงานไม่สลับซับซ้อน อุปกรณ์แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ เครื่องทรงกระบอก ความสูง 45 เซนติเมตร ขนาดบรรจุน้ำได้ 5 ลิตร อีกส่วนหนึ่งคือ กระบอก ความสูง 70 เซนติเมตร เพื่อบรรจุชุดกรองที่ได้ประยุกต์โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาพัฒนาไว้ในตัวกระบอก ซึ่งชั้นกรองแต่ละชั้นทำจากวัสดุที่สามารถหาได้ในพื้นที่ ประกอบด้วย หิน กรวด ชั้นทรายละเอียด และทรายหยาบ เพื่อทำการกรองสารแขวนลอยที่มีอยู่ในน้ำ และก่อนที่อินทรีย์สารจะทำให้เกิดสีจะถูกดูดซับโดยถ่านกัมมันต์

“ถ่านกัมมันต์จริงๆแล้ว ไม่ได้แตกต่างจากถ่านที่เรารู้จักกันมากนัก เพียงแต่ถูกกระตุ้นหรือปรับเปลี่ยนคุณสมบัติให้มีศักยภาพในการดูดซับสารเจือปนต่างๆที่อยู่ในน้ำได้ ซึ่งชั้นกรองทั้งหลายเหล่านี้จะทำหน้าที่กรอง ดูดซับกลิ่น และปรับสภาพน้ำขุ่นให้กลายเป็นน้ำใสได้”

อุปกรณ์ชุดนี้ ถูกออกแบบให้สามารถถอดทำความสะอาดล้างเองได้บ่อยครั้งเท่าที่ต้องการ เนื่องจากน้ำที่ใช้มีความขุ่นไม่เท่ากัน โดยผู้ใช้ต้องสังเกต หากปริมาณน้ำไหลออกมาช้ากว่าปกติ ก็สามารถถอดอุปกรณ์ล้างทำความสะอาดได้ทันที

ดร.ภานวีย์ โภไคยอุดม กล่าวเสริมว่า เครื่องกรองน้ำประเภทนี้ น้ำจะไหลผ่านชั้นกรองด้วยการอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ส่งผลให้อัตราการผลิตน้ำได้ไม่สูงนัก ดังนั้น ปั๊มน้ำ จึงมีความจำเป็นในการเสริมเข้ามาในระบบ เพื่อใช้เป็นตัวส่งน้ำเข้าสู่ระบบและทำให้อัตราการผลิตน้ำด้วยเครื่องกรองน้ำนั้นสูงขึ้น

โดยจะเห็นได้ชัดว่า ถ้ายังมีกระแสไฟฟ้าใช้อยู่ในพื้นที่คงไม่ใช่เรื่องลำบากที่จะติดตั้งระบบเครื่องกรองน้ำเดิมที่มีอยู่ แต่ในเวลานี้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ประสบอุทกภัยจะไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ดังนั้น จำเป็นต้องหากลไกอื่นในการปั๊มน้ำส่งเข้าสู่ระบบเครื่องกรองน้ำที่จะต้องไม่อาศัยกระแสไฟฟ้า เครื่องกรองน้ำที่ถูกจัดทำขึ้นนั้น จึงใช้ แรงลมที่มีอยู่ในกระบอกสูบลม ไปดันน้ำให้เข้าสู่เครื่องกรองน้ำด้วยอัตราการไหลที่เหมาะสมสำหรับการกรอง

“หลักการทำงานจะอาศัยหลักการแทนที่น้ำของอากาศ ซึ่งเป็นหลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานไม่ได้มีความสลับซับซ้อน เพียงแต่ต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยตัวเครื่องกรองน้ำจะประกอบไปด้วยชั้นกรองต่างๆ เช่น ทรายหยาบ ทรายละเอียด และถ่านกัมมันต์ รวมถึงใยกรองต่างๆ ส่วนที่สอง เป็นส่วนของอุปกรณ์ส่งน้ำซึ่งประกอบไปด้วยปั๊มลมที่ต่อเข้ากับภาชนะบรรจุน้ำขนาด 5 ลิตร โดยการใช้งานนั้นสามารถทำได้โดยการปั๊มลมเข้าสู่ภาชนะที่บรรจุน้ำอยู่ โดยการปั๊มลมนี้ไม่ต่างอะไรจากการสูบลมเข้าจักรยานนั่นเอง”

น้ำที่ถูกแทนที่ด้วยอากาศจะไหลผ่านถังกรองน้ำด้วยอัตราการไหลที่เหมาะสม น้ำที่ผ่านเครื่องกรองนี้จะไม่มีสีและสามารถนำไปใช้อาบและชำระล้างได้ แต่ยังไม่เหมาะสำหรับการนำไปบริโภค ทางทีมงานวิจัยจึงได้พัฒนาอุปกรณ์เสริมขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง สำหรับในกรณีจำเป็นที่ต้องนำน้ำนั้นไปดื่ม โดยชุดกรองชุดนี้จะประกอบขึ้นแบบง่ายๆ โดยเพิ่มไส้กรองเซรามิกส์ ฟิลเตอร์ ขนาดรูพรุน 0.3 ไมครอน ที่ใช้ในเครื่องกรองน้ำทั่ว ๆ ไป และมีจำหน่ายในร้านค้าและซุูเปอร์มาร์เกต ราคาตั้งแต่ 150-500 บาท แล้วแต่คุณภาพ ทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับเชื้อโรคในน้ำ เพื่อให้น้ำมีสภาพที่ดียิ่งขึ้นต่อการนำมาใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งสามารถกรองจุลินทรีย์บางชนิดออกได้

อย่างไรก็ตาม การจะนำน้ำที่ผ่านเครื่องกรองน้ำฉุกเฉินไปบริโภคนั้นควรมีการฆ่าเชื้อ ด้วยการเติมคลอรีนหรือนำไปต้มเสียก่อน ทั้งนี้ ทีมงานวิจัยภายใต้การนำ รศ.ดร.วิษณุ มีอยู่ กำลังทำการพัฒนาถ่านกัมมันต์ชนิดพิเศษที่สามารถใช้กำจัดเชื้อแบคทีเรียได้อยู่

“ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร พร้อมจิตอาสาบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง จะเริ่มผลิตเครื่องกรองน้ำแบบฉุกเฉินนี้ คาดว่าจะผลิตได้วันละ 35 เครื่อง และจะมอบเครื่องกรองน้ำให้แก่ ชุมชน หรือในศูนย์พักพิงที่ประสบปัญหาในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งนี้ หากชุมชนใดสนใจนำไปพัฒนาใช้ต่อสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2988-3655 ต่อ 1105-7 สายตรง 0-2988-4023 สำนักประชาสัมพันธ์และบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร”

สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมสมทบทุนสามารถร่วมบริจาคเงินได้ที่ บัญชีเงินฝากสะสมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ สาขาหนองจอก ชื่อบัญชี ม.มหานครผลิตเครื่องกรองน้ำเพื่อช่วยผู้ประสบอุทกภัย เลขที่ 217-4-11111-8

นับเป็นอีกหนึ่งหนทางของการอยู่รอดในสภาวะที่น้ำท่วมหนักเช่นนี้.




จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์วาไรตี้ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #106  
เก่า 14-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทำน้ำใช้จากน้ำท่วม



ทางศปภ.เตือนชาวกรุงเทพฯ ว่าอาจต้องทนกับสภาพน้ำท่วมขังนานนับเดือน ดังนั้น ความรู้ในการเตรียมน้ำใช้ช่วงน้ำท่วมจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรเรียนรู้ไว้

โดยเริ่มต้นจากการเตรียมอุปกรณ์ ได้แก่
1.โอ่ง ถังพลาสติก หรือภาชนะรองรับน้ำ จำนวน 2 ใบ
2.สารส้มก้อน
3.สารฆ่าเชื้อโรค คลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)

ด้านขั้นตอนการผลิตน้ำสะอาด ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอน คือ

1.เตรียมน้ำลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 1 โดยเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณที่สะอาด ห่างจากแหล่งสุขาหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ

2.แกว่งสารส้มในน้ำจนกระทั่งสังเกตเห็นตะกอนเริ่มจับตัว ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันไปตามปริมาตรและลักษณะของน้ำ โดยแกว่งที่ความลึกประมาณ 2/3 ส่วนของความลึกน้ำจากผิวน้ำ

3.หลังจากแกว่งสารส้ม จะต้องทิ้งน้ำไว้จนกระทั่งตะกอนตกลงสู่ก้นถัง ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรืออาจตั้งทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นจึงตักหรือถ่ายน้ำส่วนใสเข้าสู่ภาชนะบรรจุใบที่ 2 น้ำที่ผ่านขั้นตอนนี้จะมีลักษณะใสแต่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค

4.การเติมสารเพื่อฆ่าเชื้อโรคลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 2 โดยเติมสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ในปริมาณ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร กวนผสมและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สารฆ่าเชื้อโรคออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม น้ำใสที่ได้อาจยังไม่เหมาะสมต่อการบริโภคเนื่อง จากน้ำที่ผ่านการผลิตขึ้นเองอาจไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดีเพียงพอ

ส่วนคำเตือนสำหรับน้ำยาหยดทิพย์คือ เก็บให้พ้นมือเด็ก อย่าให้เข้าตาและสัมผัสผิวหนัง ห้ามรับประทานโดยตรง หากสารละลายหยดทิพย์ถูกมือให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าสารละลายหยดทิพย์เข้าตาต้องรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งแล้วรีบไปพบแพทย์ และเก็บรักษาสารละลายหยดทิพย์ในที่มืด

ขอขอบคุณข้อมูลจากกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




จาก ....................... ข่าวสด คอลัมน์หมุนก่อนโลก วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #107  
เก่า 16-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทำกิจกรรมอะไรดีกับลูกในช่วงน้ำท่วม ....................... โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ



ช่วงนี้ไม่เพียงแต่คุณแม่คุณพ่อต้องเครียดกับภาวะน้ำท่วม เด็กๆก็เกิดความเครียดด้วยเช่นเดียวกัน การให้โอกาสเด็กๆได้แสดงออกและระบายความรู้สึกออกมาจะช่วยบรรเทาอาการเครียดของเด็กได้ ด้วยเหตุผลดังนี้

• การให้เด็กได้เล่าเรื่องหรือพูดเรื่องที่เกิดขึ้นหลายๆครั้ง จะช่วยให้เด็กได้เรียงลำดับเหตุการณ์ ได้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น หรือคิดหาทางควบคุมต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ในภาวะที่สับสน และหาทางออกไม่ได้

• การได้ระบายความกลัว หรือความเครียดออกมาบางครั้งจะช่วยลดความวิตกกังวลและลดความไม่สบายใจได้

• การได้ยินเรื่องราวจากเพื่อนคนอื่นๆ จะช่วยให้เด็กๆรู้ว่ามีเพื่อนคนอื่นตกอยู่ในสภาพเดียวกับเรา ไม่ว่าจะเป็นความกลัวหรือความวิตกกังวล

• การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆกับเพื่อนๆกับคุณพ่อคุณแม่ หรือกับคุณครู เด็กๆจะเป็นการได้แบ่งปันเรื่องราว และความรู้สึก


กิจกรรมที่จะช่วยลดความเครียดให้เด็กๆได้มีดังนี้

เด็กอนุบาลและเด็กประถม

1. หาอุปกรณ์หรือของเล่นที่ให้เด็กได้มีโอกาสได้เล่นบทบาทสมมติในสภาวะน้ำท่วมจะช่วยให้เด็กๆมีประสบการณ์และมีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์น้ำท่วมมากขึ้น อุปกรณ์ดังกล่าวคือ ไม้บล็อก ถุงจำลองทราย รถตักทราย รถพยาบาล รถทหาร เรือ ถุงยังชีพ ยา อาหารแห้ง เป็นต้น การให้เด็กๆได้เล่นหุ่นมือ ตุ๊กตา หรือเล่นบทบาทสมมติจะช่วยให้เด็กได้มีโอกาสพูดและระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นอีกด้วย

2. กิจกรรมการให้เด็กได้ออกกำลังทางด้านร่างกายถือว่าเป็นวิธีช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลได้

3. ทำงานศิลปะ ให้เด็กๆวาดภาพน้ำท่วม งานศิลปะถือเป็นงานสร้างสรรค์ที่ให้เด็กๆได้แสดงออก ให้เด็กๆวาดภาพอะไรก็ได้ที่อยู่ในใจและอยากวาด อาจตั้งหัวข้อ หรือตั้งคำถามให้เด็กๆเป็นแนวทางให้เด็กๆมีโอกาสพูดคุยถึงรูปที่วาด จัดเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆ เปิดโอกาสให้ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน การได้พูดคุยถึงความรู้สึกกลัวที่เกิดขึ้นจะช่วยให้เด็กๆได้ระบายออกถึงความเครียดและความกลัว

4. เล่านิทานหรือเรื่องสั้นเกี่ยวกับภาวะน้ำท่วมให้เด็กๆฟัง

5. จัดทำโครงงานในหัวข้อ มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านของเรา ที่โรงเรียน ในชุมชนของเรา หรือเราจะทำอย่างไรเมื่อมวลน้ำใหญ่ไหลมา ภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปส่งผลอย่างไรต่อโลก เป็นต้น

6. เด็กๆสามารถวาดรูป เขียน หรือเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่พวกเขาจำได้ดี และตอบคำถาม เช่น มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อฝนตกหนัก มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเขื่อนมีน้ำมากเกินกำหนด เราจะช่วยครอบครัว คนเฒ่า คนแก่ เด็กและคนเจ็บได้อย่างไร เมื่อน้ำท่วมบ้าน การจัดเตรียมอาหารและเครื่องใช้ในระหว่างเกิดอุทกภัย โรคและอันตรายต่างๆเมื่อเกิดเมื่อน้ำท่วม พร้อมทั้งการระวังตัวและการป้องกัน เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากการเกิดอุทกภัยครั้งนี้ มีอะไรที่เป็นข้อดีที่เราได้เรียนรู้ในการเกิดน้ำท่วมคราวนี้บ้าง

การพูดคุยสนทนา การฟังคำตอบและคำถามของเด็กๆ จะช่วยในการประเมินความเข้าใจและความรู้สึกของเด็กๆได้ สิ่งที่สำคัญคือจบบทสนทนาด้วยความคิดทางบวก เสริมแรงให้กำลังใจ และให้สัมผัสแห่งความปลอดภัย และการเตรียมตัวในครั้งต่อไป ให้เด็กๆสรุปเองโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้เสริมแรง และตะล่อมให้ตรงประเด็น ตัวอย่างความคิดทางบวก เช่น

• ความรู้สึกที่ได้มีความใกล้ชิดกับครอบครัว
• ได้พบเพื่อนใหม่ และผู้ที่ตกสถานการณ์เดียวกัน
• เรียนรู้ทักษะใหม่ สัมผัสแห่งความรับผิดชอบ การแก้ปัญหาอย่างฉลาด
• การผนึกกำลังของชุมชนในการช่วยกันแก้ปัญหา
• การให้ความช่วยเหลือดูแลแก่ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก


ชั้นประถมปลาย

1. ทำสมุดภาพโครงงาน ให้เด็กๆได้มีโอกาสได้รวบรวมความคิดและข้อมูลต่างๆ จัดหาวิธีแก้ไขอย่างเป็นระเบียบ

2. ให้เด็กๆได้เล่นเกมอุทกภัย โดยคิดกฎกติกาเอง คิดวิธีการจบเกมเอง เพื่อพัฒนาสัมผัสในการแก้ปัญหาและความรู้สึกปลอดภัย

3. ใช้หนังสือภาพระบายสี หรือหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวกับอุทกภัย เสริมแรงให้เด็กวาดรูป เขียน หรือพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์


กิจกรรมสำหรับชั้นมัธยม

เราอาจใช้หลักการพื้นฐานเดียวกันและต่อยอดความคิดสำหรับใช้กับเด็กโต เช่น

1. ใช้ศิลปะ ดนตรี คำกลอน ในการบรรยายความรู้สึกและประสบการณ์ เด็กอาจจะทำเป็น Power Point สมุดภาพ สมุกบันทึกความทรงจำ เล่นเป็นละคร หรืออัดวีดีทัศน์ไว้ สะสมผลงานต่างๆของเด็ก อาจจัดพิมพ์ หรือจัดแสดงกันในชั้นเรียน ที่งานโรงเรียน หรือที่ชุมชน เป็นต้น

2. จัดกลุ่มสนทนา อภิปรายความคิด โต้วาที ให้เด็กได้แสดงความคิดเห็นได้แสดงออกถึงความรู้สึก ให้เด็กรู้ว่าความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คำว่าอุทกภัยและ วาทภัยมีความหมายว่าอย่างไร สิ่งที่สำคัญคือให้เราได้รับบทเรียนอะไรบ้างโดยที่ไม่ว่าเรื่องจะจบลงด้วยความคิดทางบวกหรือเป็นความคิดทางลบก็ตาม

กิจกรรมต่างๆเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูสามารถทำร่วมกับเด็กๆได้ จะช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลรวมทั้งความกลัวของลูกได้ สิ่งที่สำคัญคือการให้ความรักและความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อช่วยให้ทุกคนผ่านวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปได้ด้วยดี




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #108  
เก่า 17-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ธรรมชาติของไฟฟ้า รู้ไว้ไม่ตาย



ในภาวะน้ำท่วมอันตรายหนึ่งที่มองไม่เห็นและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตคือ อันตรายจากไฟฟ้าโดยเฉพาะไฟฟ้าที่รั่วไหลอยู่ใต้ผิวน้ำ

ในภาวะน้ำท่วมอันตรายหนึ่งที่มองไม่เห็นและอาจนำไปสู่การเสียชีวิตคือ อันตรายจากไฟฟ้าโดยเฉพาะไฟฟ้าที่รั่วไหลอยู่ใต้ผิวน้ำ

รายงานการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากน้ำท่วมของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในภาวะน้ำท่วมของคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมาจากไฟฟ้าดูด ซึ่งต่างจากต่างจังหวัดที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ

ผศ.พงษ์ ทรงพงษ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า แต่ละคนมีการตอบสนองต่อกระแสไฟฟ้าต่างกัน ขึ้นกับสาเหตุหลายอย่าง เช่น เพศ วัยการฝึกฝน และประสบการณ์ที่เคยได้รับ อย่างไรก็ตาม เราอาจกำหนดเป็นช่วงของความรู้สึกได้โดยประมาณดังนี้

1 มิลลิแอมป์ (1 ใน 1000 แอมแปร์) เริ่มรู้สึก อาจรู้สึกจั๊กจี้ หรือรู้สึกเหมือนโดนเข็มเล็กๆ สะกิด โดยทั่วไปไม่เป็นอันตราย ยกเว้นคนที่มีภาวะหัวใจผิดปกติอยู่แล้ว

5 มิลลิแอมป์ เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นกระแสที่ยังปลอดภัยอยู่ หากสูงกว่านี้จะเริ่มอันตราย แทบทุกคนจะรู้สึกอย่างชัดเจนว่ามีกระแสไฟ อาจรู้สึกชาๆ แต่ยังคงควบคุมอวัยวะได้

10-20 มิลลิแอมป์ กล้ามเนื้อที่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน จะเกิดการหดตัวแบบควบคุมไม่ได้ นั่นคือถ้ากำมือจับวัตถุที่ไฟรั่ว ก็จะไม่สามารถปล่อยมือได้นั่นเอง

100-300 มิลลิแอมป์ กล้ามเนื้อจะหดตัวอย่างแรงถึงฉีกขาดได้ ถ้าอยู่ในภาวะนี้นานจะเป็นอันตรายถึงชีวิต

6 แอมแปร์ กล้ามเนื้อจะหดตัวสุด หากสัมผัสชั่วขณะจะกลับสู่สภาพเดิม เหมือนถูก reset จึงใช้ในการกระตุ้นหัวใจให้กลับมาเต้นอีกครั้งในคนไข้ที่หัวใจหยุดเต้น

"หากใช้กระแสไฟฟ้าขนาดนี้กับคนใกล้ตายหัวใจหยุดเต้น ก็อาจปลุกให้ฟื้นได้ หรือในทางกลับกัน หากใช้กับคนที่ปกติ ก็อาจจะทำให้ตายได้นั่นเอง" ผศ.พงษ์ อธิบายเพิ่ม

สิ่งที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมเกี่ยวกับไฟฟ้าคือตัวกระแสไฟฟ้า จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้าผ่านร่างกาย ดังนี้

1. สังเกตบริเวณที่จะเข้าไป ว่ามีสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำอยู่หรือไม่ ถ้ามีหรือไม่แน่ใจให้ตัดกระแสไฟบริเวณนั้น แต่มีข้อสังเกตว่า ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่รั่วในน้ำ หรือที่ทำอันตรายต่อร่างกายได้นั้นเป็นปริมาณที่ไม่มากเลย ดังนั้น เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าทั่วไปที่ไม่ใช่เครื่องตัดไฟรั่วจะไม่ตัดกระแสโดยอัตโนมัติ จึงอย่าหวังว่าเครื่องตัดไฟจะทำงาน ให้ตัดด้วยมือเพื่อความแน่ใจเสมอ

2. ถ้าไม่แน่ใจ ให้ทดสอบด้วยเครื่องตรวจวัดไฟรั่ว ซึ่งมีอยู่ 2 ลักษณะ คือตรวจวัดแบบทุ่นลอยน้ำ และตรวจโดยใช้ไม้แหย่ เครื่องตรวจที่เป็นแบบทุ่นลอยน้ำจะสามารถตรวจไฟรั่วจากสายไฟหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่แช่อยู่ในน้ำได้ แต่ถ้าขั้วไฟฟ้าที่รั่วจมอยู่ลึกๆ เช่น ปลั๊กตัวเมียที่จมอยู่ในน้ำ อาจไม่สามารถตรวจได้ เพราะกระแสไฟฟ้าที่รั่วจะวนอยู่รอบๆขั้วเท่านั้น ต้องใช้แบบไม้แหย่

ถ้าเป็นไม้ที่สร้างจากไขควงวัดไฟ ต้องระวังว่าไฟอาจไม่สว่างเพราะบริเวณที่เป็นอันตรายจะอยู่ใกล้ๆขั้วไฟฟ้าเท่านั้น ประกอบกับมีน้ำล้อมรอบ อาจจะทำให้ไขควงสว่างได้ยาก

3. กรณีที่เครื่องใช้ไฟฟ้าจมน้ำ และต้องการทดสอบว่าไฟรั่วหรือไม่ ไขควงวัดไฟเป็นตัวเลือกที่ดี และถ้าพบว่ามีไฟรั่ว ควรติดป้ายเตือนและหลีกเลี่ยงบริเวณรอบๆ

4. ถ้าน้ำไม่ลึกมาก รองเท้าบูตยางจะช่วยได้มาก เพราะยางเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี ไฟฟ้าผ่านได้ยาก การนั่งเรือที่เป็นฉนวน เช่น เรือไฟเบอร์หรือเรือไม้ก็ช่วยได้มากเช่นกัน ตรงข้ามกับเรือที่เป็นโลหะก็ปลอดภัยสำหรับคนที่อยู่บนเรือ แต่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนที่อยู่ในน้ำและจับหรือเข็นเรืออยู่

5. ถ้าต้องการสัมผัสโลหะที่แช่น้ำอยู่ แต่กลัวว่าจะมีไฟรั่วโดยที่มองไม่เห็นหรือตรวจไม่พบ เช่น ลูกบิดประตูที่เป็นโลหะ หรือกรอบประตูหน้าต่างอะลูมิเนียม ให้ใช้หลังมือสัมผัสก่อน เพราะตามธรรมชาติเมื่อกล้ามเนื้อได้รับกระแสไฟฟ้า จะเกิดการหดตัว เมื่อเราใช้หลังมือสัมผัสและเกิดไฟฟ้ารั่วผ่าน ก็จะเป็นการชักมือหนีออกจากแหล่งที่ไฟรั่วนั้น แต่หากใช้ด้านหน้ามือไปสัมผัส เมื่อกล้ามเนื้อมือหดตัวก็จะกำแน่นขึ้น และอาจทำให้เสียชีวิตได้

ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องตรวจวัดไฟรั่วหลายแบบที่นำมาแจกจ่าย แต่เครื่องวัดทุกแบบก็มีข้อจำกัด ควรทำความเข้าใจการใช้งานก่อน และใช้ด้วยความระมัดระวัง

ขอให้ทุกท่านโชคดี และขอเป็นกำลังใจให้ผ่านพ้นภัยจากไฟฟ้าและน้ำท่วมไปโดยเร็ว




จาก ....................... กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์สุขภาพ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #109  
เก่า 17-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


กปน.จัดทำคู่มือ "ข้อแนะนำการใช้น้ำประปาในภาวะน้ำท่วม"


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประปานครหลวง (กปน.) ห่วงใยผู้ใช้น้ำที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ใช้น้ำประสบปัญหาในการใช้น้ำประปา กปน. จึงมีข้อแนะนำ ดังนี้

1. กรณีที่พักอาศัยของท่าน มีถังพักน้ำใต้ดินและถูกน้ำท่วม ควรหยุดใช้น้ำจากถังพักน้ำชั่วคราว แล้วเปลี่ยนไปใช้น้ำประปาจากท่อภายในที่ต่อตรงจากหลังมาตรวัดน้ำแทน เนื่องจากน้ำที่ท่วมขังอาจไหลลงไปปะปน หรือซึมเข้าไปในถังพักน้ำ ทำให้น้ำมีสภาพไม่เหมาะสมต่อการใช้ หากน้ำยังท่วมไม่ถึงถังพักน้ำของท่าน ควรเตรียมป้องกันถังพักน้ำไว้ล่วงหน้า

2. ควรระมัดระวังไม่ใช้เครื่องสูบน้ำ (ปั๊มน้ำ) จากระบบท่อที่จมอยู่ใต้น้ำเพราะหากมีท่อแตกรั่วซึ่งมองไม่เห็น เครื่องสูบน้ำ (ปั๊มน้ำ) จะดูดสิ่งสกปรกเข้าสู่ระบบท่อได้

3. กรณีก๊อกจมอยู่ในน้ำ สามารถใช้สายยางที่สะอาดต่อจากก๊อกแล้วยกแขวนให้สูงขึ้น จะสามารถใช้น้ำได้ตามปกติ

4. น้ำประปาที่ กปน.ผลิตและสูบจ่ายเข้าสู่ระบบท่อประปา ได้ผ่านการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ของ กปน. และสถาบันที่เชื่อถือได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตน้ำท่วม หน่วยงานด้านสาธารณสุข อาทิ กรมอนามัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบและน้ำประปา และยืนยันว่าน้ำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก ไม่เป็นอันตรายเพราะไม่มีสารพิษและเชื้อโรค

5. ขณะนี้ กปน. ได้เพิ่มปริมาณคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค จึงอาจมีกลิ่นคลอรีนในน้ำประปาที่บ้าน ท่านสามารถลดกลิ่นคลอรีนได้โดยรองน้ำประปาใส่ภาชนะเปิดฝาและตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที กลิ่นคลอรีนจะระเหยไป หรืออาจนำไปต้มก่อนดื่ม

6. กรณีจำเป็นต้องอพยพออกจากที่พักอาศัย โปรดปิดประตูน้ำ (วาล์ว) ที่มาตรวัดน้ำเพื่อป้องกันกรณีท่อรั่วภายในบ้าน ทำให้สูญเสียน้ำประปาโดยไม่จำเป็น

7. ท่านสามารถแจ้งและขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ "ศูนย์บริการประชาชน" โทร.1125 ตลอด 24 ชั่วโมง




จาก ....................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #110  
เก่า 19-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


น้ำท่วมนาน อาหาร เรื่องสำคัญสำหรับเด็ก


วิกฤติมหาอุทกภัยครั้งนี้กินเวลากลับเรามานานเกือบ 3 เดือน ปัญหาที่ตามมานอกจากชาวบ้านจะต้องอพยพไม่มีที่อยู่อาศัย การเดินทางต่างๆก็ถูกตัดขาด โชคดีหน่อยที่ในช่วงนี้ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างๆ ขยายวันเปิดเรียน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

อีกปัญหาที่ตามมาระหว่างน้ำท่วมคือในเรื่องของโรคที่มากับน้ำและอาหาร โดยเริ่มต้นไปที่เรื่องโรคซึ่งคนทุกเพศทุกวัยต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็ก ที่ไม่มีความรู้ในการป้องกันและดูแลรักษาตัวเอง เป็นหน้าที่ผู้ปกครองจะต้องใส่ใจดูแล คือเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกิน

โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคที่มีความเสี่ยงการเกิดโรคสูงที่สุดขณะน้ำท่วมรวมไปถึงหลังน้ำลดด้วย คือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และปัญหาด้านสุขอนามัยสิ่งแวดล้อมจากของเสียต่างๆ ดังนั้นชุมชนและประชาชนควรมีความรู้ในการป้องกันโรคอย่างถูกวิธี มิฉะนั้นจะส่งผลต่อการเกิดโรคระบาดต่างๆตามมาได้ง่าย

ทั้งนี้ จากรายงานเฝ้าระวังพิเศษโรคจากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศในสถานการณ์อุทกภัย พบอัตราป่วยของประชาชนอันดับแรก คือ โรคอุจจาระร่วงถึง 3,146 ราย สาเหตุสำคัญมาจากโรคอาหารเป็นพิษที่เป็นโรคติดต่อทางอาหาร น้ำ ที่พบได้บ่อย เพราะประชาชนไปรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป

ในอาหารที่ปรุงสุกๆดิบๆจากเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนเชื้อ เช่น เนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว และไข่เป็ด ไข่ไก่ รวมทั้งอาหารกระป๋อง อาหารทะเล และน้ำนมที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ

นอกจากนี้อาจพบในอาหารที่ทำไว้ล่วงหน้านานๆ แล้วไม่ได้แช่เย็นไว้ หรือไม่ได้อุ่นให้ร้อนเพียงพอก่อนรับประทาน สาเหตุของอาหารเป็นพิษมีมากมาย และอาการของอาหารเป็นพิษก็มีหลากหลายตามไปด้วย อาจแบ่งชนิดของอาหารเป็นพิษได้หลายแบบ เช่น ตามชนิดของเชื้อ ตามสารพิษ หรือพิษในอาหาร หรือตามอาการเจ็บป่วย

ภาวะอาหารเป็นพิษมักจะไม่มีอาการรุนแรง และอาการจะเป็นไม่นาน ผู้ป่วยอาจมีเพียงอาการท้องเสียแค่สอง-สามวัน อาจมีไข้ต่ำๆ หรือบางคนไม่มีไข้เลยก็ได้ อาจเพียงรู้สึกปวดมวนท้องบ้างเล็กน้อย หากติดเชื้อบางชนิดทำให้เกิดการอักเสบที่กระเพาะอาหารและลำไส้ ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ซึ่งถ้าถ่ายมากจะเกิดอาการขาดน้ำและเกลือแร่ได้ และบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อและกระดูก ถุงน้ำดี กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด ไต เยื่อหุ้มสมอง และเมื่อเชื้อเข้าสู่กระแสโลหิตจะทำให้เกิดโลหิตเป็นพิษ

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการถ่ายเหลวเป็นเนื้อปนน้ำไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อทันที แต่หากมีอาการถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป หรือมีถ่ายเป็นน้ำ 1 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน ให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ โออาร์เอส จะช่วยป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำ แต่เมื่อถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดจะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

โรคอาหารเป็นพิษเป็นโรคที่ประชาชนสามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร การเก็บอาหาร และการปรุงอาหาร รวมทั้งล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง จึงขอแนะนำง่ายๆ เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ คือ เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย เช่น นมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรซ์ ผักผลไม้ควรล้างด้วยน้ำปริมาณมากๆให้สะอาดทั่วถึง ปรุงอาหารให้สุกทั่วถึงก่อนรับประทาน และรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ

รวมทั้งล้างมือให้สะอาด ไม่ว่าจะเป็นก่อนการปรุงอาหาร ก่อนรับประทาน และโดยเฉพาะหลังการเข้าห้องน้ำ ดูแลความสะอาดของพื้นที่สำหรับเตรียมอาหาร ล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทุกครั้ง เก็บอาหารให้ปลอดภัยจากแมลง หนู หรือสัตว์อื่นๆ ใช้น้ำสะอาดในการปรุงอาหาร

นอกจากนี้ยังมีความเป็นห่วงสำหรับกรณีเด็กว่าจะขาดอาหารช่วงน้ำท่วมที่กินระยะเวลานานหรือไม่ โดยอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ผู้จัดการแผนงานโภชนาการเชิงรุก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยังออกมาเตือนพ่อแม่ในภาวะน้ำท่วมให้ดูแลเด็กด้านอาหารและโภชนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หากประสบภัยน้ำท่วมในระยะยาวนานจะมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ในระยะยาว และยากที่จะฟื้นกลับคืนปกติได้

นายสง่ากล่าวว่า ในภาวะน้ำท่วมติดต่อกันยาวนาน กลุ่มเด็กอายุแรกเกิด-5 ขวบ เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพและภาวะโภชนาการมากที่สุด เพราะเป็นกลุ่มที่ร่างกายและสมองมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจำเป็นต้องได้รับสารอาหารจากอาหารที่มีคุณค่าครบถ้วน เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทุกมื้อ และการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกเซลล์ เม็ดเลือด กระดูกและกล้ามเนื้อของเด็กไม่สามารถจะหยุดยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วมหรือภาวะวิกฤติใดๆ

การที่เด็กเล็กได้รับอาหารไม่เพียงพอทั้งปริมาณและคุณภาพติดต่อกันเพียง 2-4 สัปดาห์ ก็จะมีผลทำให้ร่างกายเด็กพร่องสารอาหารที่สำคัญหลายตัว ไม่ว่าจะเป็นโปรตีน วิตามินและแร่ธาตุ จะนำไปสู่การขาดสารอาหาร อาการที่แสดงออกมาให้เห็นในระยะสั้นคือ การเจริญเติบโตของร่างกายไม่เต็มตามศักยภาพ น้ำหนัก ส่วนสูง ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน รูปร่างผอมใน ที่สุดภูมิต้านทานก็จะต่ำ เจ็บป่วยง่าย

โดยเฉพาะโรคติดเชื้อทั้งหลาย หากไม่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดและปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไข จะเพิ่มความรุนแรงและเกิดผลเสียต่อการเจริญเติบโตทั้งทางด้านร่างกายและสติปัญญาเด็กในอนาคต กล่าวคือเด็กจะตัวเตี้ย ผอม และไอคิวต่ำ

นายสง่าแนะต่อไปอีกว่า แม่ที่มีลูกอายุต่ำกว่า 6 เดือน และกำลังให้ลูกกินนมแม่อยู่ นับว่าลูกโชคดีมากในภาวะวิกฤติเช่นนี้ จงให้ลูกกินนมแม่ต่อไปเป็นปกติ แต่แม่ต้องพยายามหลีกเลี่ยงความกังวล ความเครียด เพราะหากแม่เครียดอย่างต่อเนื่องจะทำให้ฮอร์โมนที่สร้างน้ำนมหลั่งออกมาน้อย จะมีผลทำให้น้ำนมไหลน้อยหรือหยุดไหลได้

ส่วนแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตนเองต้องพึ่งนมผสมนั้น ต้องรีบเคลื่อนย้ายทั้งแม่และลูกให้มาอยู่ในสถานที่ที่สามารถเข้าถึงนมผสมสำหรับทารกให้ได้ ไม่แนะนำให้นั่งรอขอความช่วยเหลือจากภายนอก ถ้าชุมชนใดมีแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองหลายๆ คนอาจรวมกลุ่มกัน แบ่งปันนมตนเองให้ลูกเพื่อนบ้านในลักษณะเป็นแม่นม แต่ต้องมั่นใจว่าแม่นมเหล่านั้นต้องไม่ติดเชื้อเอชไอวี

สำหรับเด็กเล็กถึง 1 ขวบ เป็นวัยที่ต้องได้รับอาหารอื่นนอกจากนมแม่เสริมอีกทางหนึ่ง เพราะลำพังนมแม่แม้ว่าคุณค่าทางโภชนาการจะยังพร้อมมูลอยู่ แต่ปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเด็กที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จึงต้องเริ่มให้ข้าวบดผสมน้ำแกงจืด ไข่แดงต้มสุกสลับกับเนื้อปลา หมู ไก่และตับสัตว์ และผสมผักใบเขียว ฟักทอง แครอต มะเขือเทศต้มสุกผสมลงไป โดยเด็กอายุ 6-8 เดือน กินอาหารเหล่านี้ทดแทนนมแม่ได้ 1 มื้อ

ส่วนเด็ก 8-10 เดือน กินทดแทนนมแม่ได้ 2 มื้อ พอครบ 11-12 เดือน กินทดแทนนมแม่ได้ 3 มื้อ หากแม่มีความจำเป็นต้องใช้อาหารทารกกึ่งสำเร็จรูปต้องมั่นใจว่าเด็กได้โปรตีน วิตามิน แร่ธาตุ จากผักและเนื้อสัตว์พอ ควรบดผสมลงไปด้วย แต่อย่าลืมให้ลูกกินนมแม่ควบคู่กันไปจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น

ส่วนเด็กอายุ 1-5 ขวบ นับเป็นกลุ่มที่น่าห่วงเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่าเด็กวัยนี้ร่างกายและสติปัญญายังต้องการสารอาหารที่มีคุณค่าไปหล่อเลี้ยงให้เติบโตสมวัย แต่เด็กเหล่านี้มักจะถูกละเลย เพราะพ่อแม่คิดว่าเขาโตแล้ว และช่วยเหลือตนเองได้ ประกอบกับพ่อแม่ไม่มีเวลา มัวแต่ไปแก้ปัญหาน้ำท่วมและสาระวนอยู่กับลูกคนเล็ก จึงปล่อยให้ลูกกินตามมีตามเกิด

ดังนั้นพ่อแม่ต้องใส่ใจดูแลอาหารลูกเป็นพิเศษ ต้องแบ่งปันอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เด็กเล็กกินก่อน อาหารที่มีคุณค่าในภาวะน้ำท่วมคงหนีไม่พ้นไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่เจียว ไข่น้ำ หมูทอด ไก่ทอด ปลาทูนึ่งและปลากระป๋อง สามารถดัดแปลงปรุงได้สารพัดเมนู เมนูเหล่านี้ควรปรุงด้วยเกลือและน้ำปลาเสริมไอโอดีน แต่อย่าลืมต้องให้เด็กดื่มนมรสจืดวันละ 2-3 กล่อง เป็นอาหารเสริม ต้องดูแลอาหารว่างของเด็ก ไม่ควรปล่อยให้ลูกกินแต่น้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบทั้งวัน

ในภาวะน้ำท่วม พ่อแม่เครียดจัด ไม่มีเวลาเล่นกับลูก จึงพลอยทำให้ลูกเครียดไปด้วย จงตั้งสติและหาเวลาโอบกอดลูก นั่งเล่านิทานให้ลูกฟัง พูดคุยเรื่องที่เกี่ยวกับน้ำท่วม การเล่นกับลูก เสียงหัวเราะของลูก เป็นการผ่อนคลายความเครียดในบ้านได้ในระดับหนึ่ง และช่วยพัฒนาการของลูกได้ด้วย

"น้ำท่วมบ้าน แต่อย่าให้น้ำท่วมสติ ถ้ามีสติจะเกิดปัญญาที่จะดูแลบุตรหลานด้านอาหารและโภชนาการ อย่าให้น้ำท่วมไปสร้างตราบาปโดยปล่อยให้ลูกหลานขาดสารอาหารซึ่งยากที่จะฟื้นกลับคืนสู่ภาวะปกติได้" นายสง่ากล่าวทิ้งท้าย.




จาก ....................... ไทยโพสต์ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger