#111
|
||||
|
||||
คู่มือคำนวณ "ค่าใช้จ่าย" วัสดุ-ค่าแรงฟื้นฟูบ้าน เป็นความเสียหายครั้งใหญ่จากมหาอุทกภัยที่ว่ากันว่าหนักที่สุดในรอบ 50 ปี เชื่อว่าภาพที่อยู่อาศัยและโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากต้องอยู่ในสภาพ จมบาดาล จะยังคงเป็นภาพติดตาคนไทยไปอีกพักใหญ่ แต่วิกฤตก็ย่อมมีวันจบ หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย กรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัด จะต้องเข้าสู่โหมด "ซ่อมแซม" ขนานใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ "อิสระ บุญยัง" นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรประเมินว่า น่าจะมีบ้านจัดสรรถูก น้ำท่วมกว่า 100,000 หลัง และถ้านับรวมถึงบ้านปลูกสร้างเอง (นอกหมู่บ้านจัดสรร) และตึกแถว น่าจะมีบ้านทั่วประเทศถูกน้ำท่วมสูงถึง 500,000 หลัง "ประชาชาติธุรกิจ" สำรวจราคาวัสดุหลัก-ค่าแรงที่จะต้องใช้ซ่อมแซมบ้าน หลังน้ำลด และนำมาประมาณการค่าใช้จ่ายซ่อมบ้าน โดยพบว่าในกรุงเทพฯ ปริมณฑลส่วนใหญ่ถูกน้ำท่วมสูงตั้งแต่ "หน้าแข้ง" จนถึง "หน้าอก" หรือตั้งแต่ระดับกว่า 0.30-2.00 เมตร ซึ่งกรณีที่ท่วมขังตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์ขึ้นไปก็มักจะสร้างความเสียหายให้กับส่วนต่าง ๆ อาทิ พื้น ผนัง ประตู หน้าต่าง สวิตช์ไฟ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งสนามหญ้าจึงควรสำรวจและเร่งซ่อมแซมทันที "พื้นไม้-สี-วอลเปเปอร์" ไม่สู้น้ำ "พื้น" ถือเป็นพื้นที่ส่วนแรกที่จะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ไม่ว่าน้ำจะท่วมแค่ไม่กี่เซนติเมตรก็ตาม วัสดุมักหนีไม่พ้น 1) กระเบื้อง 2) ไม้ลามิเนตหรือไม้ปาร์เกต์ และ 3) หินอ่อนหรือหินแกรนิต ในจำนวนวัสดุ 3 ตัวนี้ "กระเบื้อง" สามารถทนการแช่น้ำได้นาน แต่อาจเกิดความเสียหายได้กรณีที่มีน้ำท่วมขังใต้พื้นดินเป็นจำนวนมาก และเกิดแรงดันตามร่องจนทำให้แผ่นกระเบื้องล่อนเสียหายก็จำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ "ไม้ลามิเนต-ไม้ปาร์เกต์" ไม่สามารถ ทนน้ำได้ หากถูกน้ำท่วมไม่กี่ชั่วโมงมีโอกาสหลุดล่อนหรือเกิดเชื้อราภายใน เนื้อไม้ได้ จึงควรรื้อออกและปูใหม่ ส่วน "หินอ่อน-หินแกรนิต" สามารถทนน้ำได้ แต่หากแช่น้ำเป็นเวลานาน จะเกิดรอยด่าง สามารถแก้ไขโดยใช้เครื่องขัดซึ่งมีค่าแรงค่อนข้างสูง เฉลี่ยตารางเมตรละ 400-500 บาท ถัดมาคือ "ผนัง" วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่มี 2 แบบ 1) ทาสี และ 2) ติดวอลเปเปอร์ กรณีทาสีปัญหาที่ตามมาหลังน้ำท่วมประมาณ 2 สัปดาห์คือ คราบตะไคร่-เชื้อรา และสีหลุดล่อน การซ่อมแซมต้องใช้แปรงขัดตะไคร่และเชื้อราออก ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 3-4 สัปดาห์จึงทาสีใหม่ และควรจะต้องทาสีผนังภายในและเพดานทุกด้านเพื่อไม่ให้เกิดความแตกต่างระหว่างสีเก่าและใหม่ ส่วนผนังภายนอกหากน้ำไม่ได้ท่วมสูงอาจขัดตะไคร่และเชื้อราออกก็เพียงพอ ซึ่งกรณีที่จะซื้อสีมาทาเองในตลาดมีตั้งแต่ราคาถังละ 900-3,500 บาท (ขนาดถัง 5 แกลลอน) มีหลักการคำนวณคือ สีถังใหญ่ขนาด 5 แกลลอน จะทาได้พื้นที่ 30 ตารางเมตร และจะต้องทาทั้งหมด 2 ครั้ง ส่วนบ้านหลังไหนที่ติด "วอลเปเปอร์" ก็ต้องบอกว่า...งานเข้า เพราะนอกจากจะเป็นรอยด่างยังมีความเสี่ยงเกิดเชื้อราสูง จึงควรรื้อทิ้งทำความสะอาดทิ้งไว้ 3-4 สัปดาห์จึงค่อยทาน้ำยาฆ่าเชื้อราและปิดวอลเปเปอร์ใหม่ "ประตู-หน้าต่างไม้" เสี่ยงบวม นอกจากพื้นแล้ว รายการต่อมาคือ "ประตูไม้" เป็นวัสดุอีกตัวที่มีโอกาส เสียหายจากการบวมทำให้เปิด-ปิดลำบาก ถึงแม้มีน้ำท่วมขังภายในบ้านเพียงเล็กน้อย นอกจากการเปลี่ยนบานประตูใหม่ซึ่งมีราคาหลากหลาย ตั้งแต่ประตูไม้อัดเริ่มต้นบานละ 1,000 บาท ประตูไม้เต็งราคาประมาณบานละ 4,000 บาท ไปจนถึงประตูไม้สักราคาบานละ 10,000-15,000 บาท หากไม่เน้นเรื่องความสวยงามมากนักอาจใช้วิธีไสหรือเลื่อยไม้ส่วนที่บวมออกก็ได้ ส่วนถ้าระดับท่วมสูงเกินกว่า 0.80 เมตร "หน้าต่างไม้" ก็มีโอกาสถูกน้ำและบวมได้ การซ่อมแซมคือเปลี่ยนหรือไส-เลื่อยส่วนที่บวมออกเช่นเดียวกัน "สวิตช์ไฟ-สนามหญ้า" อย่าละเลย จากพื้นและผนัง หากบ้านถูกน้ำท่วมตั้งแต่ 0.80-1.00 เมตร สวิตช์ไฟมักเป็นจุดที่เสียหายถูกน้ำเข้า การแก้ไขเบื้องต้นให้สับคัตเอาต์ เปิดฝาครอบสวิตช์ออก และทำความสะอาดแผงสวิตช์ให้แห้งและทิ้งไว้ 3-5 วัน หากที่บ้านมีคัตเอาต์หรือเซฟ-ที-คัทให้ทดลองเปิด-ปิดสวิตช์ดู หากไม่สามารถใช้งานได้ก็ต้องเปลี่ยนแผงสวิตช์ใหม่ ซึ่งมีราคาตั้งแต่ชุดละ 100-500 บาทแล้วแต่ยี่ห้อ และค่าแรงอีกจุดละประมาณ 100 บาท ส่วนถ้าเป็นบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่สนามหญ้าในรั้วบ้าน หญ้าที่ถูกแช่น้ำนาน 2-4 สัปดาห์มีโอกาสจะตายได้ หากไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันก็จำเป็นต้องปูหญ้ากันใหม่ โดยเฉลี่ยการปูหญ้าจะเป็นการเหมาพร้อมค่าแรงเริ่มต้นตารางเมตรละ 100 บาทขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีงาน "รั้วไม้" ที่อาจจะเกิดสีลอกล่อนหรือเป็นตะไคร่สามารถ ขัดออกและซื้อสีทาไม้มาทาเองได้ มีราคาเริ่มต้นกระป๋องละ 300-1,000 บาท เบ็ดเสร็จหากน้ำท่วมบ้านในระดับ 0.30-0.50 เมตร ก็จะมีค่าใช้จ่ายซ่อมแซมเริ่มต้น 30,000-110,000 บาท (ขึ้นกับวัสดุที่เปลี่ยนใหม่) ส่วนถ้าท่วมระดับ 1.00-2.00 เมตร ก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 65,000-145,000 บาท จาก ....................... ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#112
|
||||
|
||||
เตือนรื้อหลังคา-ฝ้า ระวังรับแร่ใยหินแนะลดฝุ่นทำให้เปียกก่อนซ่อมบ้าน สสส.-คคส.เตือน รื้อกระเบื้องมุงหลังคาบ้าน ฝ้า เพดาน กระเบื้องปูพื้นหลังน้ำลด ระวังได้รับแร่ใยหิน เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมออกคู่มือให้ความรู้ แนะวิธีป้องกันลดฝุ่นด้วยการทำให้เปียก ใส่หน้ากากที่เหมาะสม แนะเลือกวัสดุใหม่ อย่าลืมดูคำเตือนบนสินค้า รศ.ดร วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบเกือบ 60 จังหวัดทั่วประเทศไทย น้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ ทำให้บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งหลังจากน้ำลดจะต้องมีการซ่อมแซม สิ่งที่ควรระวังนอกจากเรื่องโรคที่มากับน้ำ ยังต้องให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ที่ต้องซ่อมแซม โดยพบว่า กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้า และกระเบื้องปูพื้นจำนวนมาก มีส่วนผสมของแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส เป็นส่วนประกอบ การรื้อถอนทุบทำลาย และขนย้าย ทำให้ชิ้นส่วนเหล่านั้นแตกกระจาย ทำให้อนุภาคของแร่ใยหินที่อยู่ในวัสดุก่อสร้างฟุ้งกระจายเข้าสู่ปอดได้ ซึ่งเป็นสาเหตุเกิดโรคอันตรายร้ายแรง เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด หรือ เมโสเทลิโอมา รวมทั้งสามารถทำให้เกิดโรคผังผืดปอดอักเสบที่เรียกว่า แอสเบสโตซีสได้ “การรื้อถอน ซ่อมแซมบ้านเรือน อาคารสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ จำเป็นต้องมีวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้ผู้รื้อถอนได้รับอันตรายจากแร่ใยหิน หรือ แอสเบสตอส โดยมีมาตรการสำคัญ คือ 1.ผู้รื้อถอนต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันที่เหมาะสม เพราะละอองจากแร่ใยหินมีขนาดอนุภาคที่เล็กมาก หน้ากากโดยทั่วไปไม่สามาถป้องกันได้เพียงพอ 2.ป้องกันไม่ให้เกิดอนุภาคหรือฝุ่นละอองในระหว่างที่มีการรื้อถอน การทุบทำลาย หรือ การขนย้าย โดยอาจทำให้วัสดุที่ต้องรื้อถอนเปียกก่อนเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง และ 3.คัดแยกเศษวัสดุที่มีแร่ใยหินโดยใส่ถุงเฉพาะ ป้องกันไม่ให้เกิดการแตกหักที่จะทำให้ฟุ้งกระจายเป็นอันตรายและป้องกันไม่ ให้มีการนำมาใช้อีก” รศ.ดร.วิทยา กล่าว รศ.ดร.วิทยา กล่าวว่า สำหรับการเลือกซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้านเรือน ควรเลือกซื้อวัสดุที่ไม่มีแร่ใยหิน เช่น กระเบื้องหลังคา ฝ้า กระเบื้องปูพื้น ผู้ซื้อดูได้จากการที่กระเบื้องหลังคา ฝ้า กระเบื้องปูพื้น ที่มีแร่ใยหิน โดยจะต้องแสดงคำเตือนบนสินค้าว่า “ระวังอันตราย ผลิตภัณฑ์นี้มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ การได้รับสารนี้เข้าสู่ร่างกาย อาจก่อให้เกิดมะเร็งและโรคปอด” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. กำหนดไว้ หากผู้ขาย ไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ผลิต หรือ ผู้นำเข้า หากไม่ดำเนินการจะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำคู่มือให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการรื้อถอนกระเบื้องซีเมนต์มุงหลังคา ฝ้าเพดาน ฝากั้นห้อง กระเบื้องยางปูพื้น ที่มีวัสดุแร่ใยหินเป็นองค์ประกอบ ผู้ที่สนใจและประชาชนที่ต้องการรื้อถอนอาคาร หรือซ่อมแซมบ้านเรือน สามารถดูข้อมูลได้ที่ www.thaihealthconsumer.org/ และ www.noasbestos.org จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#113
|
||||
|
||||
เมื่อมือถือเปียกน้ำ คำเตือนเกี่ยวกับสุขภาพในช่วงน้ำท่วมมีเยอะแยะเลย วันนี้ขอแทรกบรรยากาศว่าด้วยกรณีมือถือตกน้ำป๋อมแป๋ม คุณก็ต้องรู้วิธีบริหารจัดการ เริ่มจากต้องปิดเครื่อง (ซึ่งในกรณีที่เปียกรุนแรงมาก มักจะเครื่องดับเองโดยอัตโนมัติ) จากนั้นให้แกะเครื่องออกเท่าที่จะสามารถใส่กลับเองได้ เช่น หน้ากาก แบตเตอรี่ ซึ่งจุดนี้ช่างระบุว่า หากไม่ถอดถ่านออก โอกาสเครื่องชอร์ตจะมีสูง เมื่อแกะเครื่องออกแล้วให้ใช้ผ้าเช็ด หรือใช้พัดลมเป่า ห้ามใช้ไดร์ร้อนเพราะอาจทำให้เป็นสนิมได้เร็ว และอุณหภูมิที่แปรปรวนมากๆ จะทำให้วงจรมีโอกาสเสียหาย หากเช็ดแห้งแล้วอย่าเพิ่งชาร์จแบตเตอรี่ทันที เนื่องจากวงจรภายในอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับกระแสไฟฟ้า กรณีที่เครื่องเปียกมาก เมื่อเป่าแห้งแล้วให้ส่งช่างซ่อมโดยทันที เพราะส่งซ่อมเร็วเท่าใด ความเสียหายก็จะน้อยลงเท่านั้น. จาก ....................... ไทยโพสต์ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#114
|
||||
|
||||
'ยังมีอยู่' แม้น้ำจะลด 'ภัยในบ้าน' ต้องระวัง 'ยังร้ายแรง' สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ตอนนี้พื้นที่ใดยังท่วมกันอยู่ ทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็ขอเอาใจช่วย ซึ่งเดลินิวส์เองเราก็ยังอยู่กับน้ำเช่นเดียวกัน ส่วนในพื้นที่ใดที่ท่วม แล้วตอนนี้น้ำเริ่มลดหรือน้ำแห้งแล้ว ก็ขอแสดงความยินดีด้วยที่ผ่านช่วงทุกข์ไปได้เปลาะหนึ่ง แต่แม้น้ำจะแห้งแล้ว “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ก็ต้องเตือนภัยกันต่อ ’น้ำลด-น้ำแห้ง“ ก็ ’ยังต้องระวัง“ เหมือนน้ำท่วม เพราะอาจจะ ’ยังมีภัย“ ไม่เว้น ’แม้แต่ในบ้าน“ ทั้งนี้ พูดถึงเรื่องอาคารบ้านเรือน กับสถานการณ์น้ำท่วม แม้จะอยู่ในพื้นที่ที่ภัยน้ำเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องระวัง ต้องตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย ทั้งกับภัยจากตัวอาคารบ้านเรือน และภัยที่อาจยังแฝงอยู่ กับ ’ภัยที่อาจยังแฝงอยู่“ ก็ได้แก่... สัตว์อันตราย สัตว์พิษต่างๆ เชื้อโรคต่างๆ อย่างเช่น... จระเข้ แม้ว่าน้ำลดแล้วก็อาจยังนอนแอ้งแม้งซุ่มอยู่บริเวณอาคารบ้านเรือนก็ได้ มิใช่เป็นไปไม่ได้, สัตว์กัดต่อยที่มีพิษแรงอย่าง ตะขาบ แมงป่อง ก็อาจซุกซ่อนอยู่ตามซอกตามหลืบต่างๆ เช่นเดียวกับ งู ที่ถ้าเป็นงูพิษร้ายแรงอย่าง งูเห่า งูจงอาง หรือ งูพิษนำเข้าจากต่างประเทศ อย่างที่เคยมีข่าว เหล่านี้เราระวังไว้ก่อนดีกว่า ส่วนเชื้อโรคต่างๆนั้น บางชนิดช่วงน้ำท่วมว่าต้องระวังแล้ว ช่วงน้ำลดเหลือแค่เฉอะแฉะซึ่งอาจทำให้เราเริ่มวางใจกับสารพัดภัย จริงๆแล้ว ยิ่งต้องระวัง ยิ่งอาจจะสร้างอันตรายให้ได้ง่ายๆ เช่นเชื้อที่ทำให้เกิด ’โรคฉี่หนู-โรคเลปโตสไปโรซิส“ เชื้อมักจะมากับน้ำ และยิ่งเมื่อน้ำลดแล้วยิ่งต้องระวังเพราะเชื้อร้ายนี้มักจะระบาดง่ายจากโคลนตมหรือดินที่ชื้นแฉะ ซึ่งหากใครมีอาการ... เป็นไข้เฉียบพลัน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ปวดที่น่องและโคนขา ปวดกล้ามเนื้อหลังและท้อง ตาแดง คอแข็ง เป็นไข้ติดต่อกันหลายวันสลับกับระยะไข้ลด มีผื่นที่เพดานปาก มีจุดเลือดออกตามผิวหนังและเยื่อบุ รู้สึกสับสน ซึม ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะพิษสงของมันนั้นถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้!! และแหล่งอันตรายก็อาจอยู่บริเวณบ้าน-ในบ้าน สำหรับกรณี “ภัยจากตัวอาคารบ้านเรือน” จากชุดข้อมูล “7 ประเด็นความปลอดภัยโครงสร้างอาคารหลังน้ำท่วม” โดย รศ.ดร.อมร พิมานมาศ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน ก็น่าสนใจ น่าคิดน่าพิจารณามากทีเดียว ซึ่งเนื้อหาเต็ม ๆ นั้นสามารถจะเสิร์ชดูจากในอินเทอร์เน็ตได้ตามหัวข้อที่ว่ามา ส่วน ณ ที่นี้ก็มาดูกันโดยสังเขป เช่น... อาคารบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วม น้ำนั้นมีแรงดัน แรงดันน้ำในระดับความสูงไม่เกิน 2 เมตร หากอาคารก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เช่น เสามีขนาดเล็กหรือเสริมเหล็กน้อยเกินไป ก็อาจเสียหายได้, ระดับน้ำท่วมที่สูง 1–2 เมตร อาจทำให้ผนังกำแพงแตกพังทลายได้, คาน เสา ที่มีขนาดเล็กเกินไป เช่น เล็กกว่า 20 ซม. อาจมีปัญหาที่รอยต่อระหว่างชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่นำมาประกอบกันเป็นโครงสร้าง, โครงสร้างที่แช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน เหล็กเสริมอาจเกิดสนิมขึ้นได้ ต้องรีบซ่อมแซม มิฉะนั้นสนิมอาจลามจนแก้ไขไม่ทัน จนเกิดอันตราย ฐานรากอาคารบ้านเรือนที่จมน้ำท่วมอยู่ใต้น้ำ 1-2 เมตร จะเกิดแรงดันน้ำยกบ้านให้ลอยขึ้น โดยเฉพาะหากเป็นบ้านชั้นเดียวที่มีน้ำหนักไม่มาก และไม่ได้ใส่เหล็กเดือยยึดเสาเข็มกับฐานรากเข้าไว้ด้วยกัน อาจทำให้ตัวบ้านลอยเคลื่อนออกจากฐานราก ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก!! ในกรณีที่ตัวบ้านหลุดหรือเคลื่อนจากฐานราก จะเป็นอันตรายต่อโครงสร้างมากเพราะเท่ากับว่าบ้านไม่ได้รองรับด้วยฐานรากอีกต่อไป จะต้องยกอาคารและทำฐานรากใหม่ ซึ่งทำเองไม่ได้ ต้องปรึกษาวิศวกรที่ชำนาญทางด้านนี้โดยตรง, หาก เสาหักหรือขาด ต้องรีบให้ช่างหาเสาเหล็กหรือเสาไม้มาตู๊โครงสร้างโดยด่วน เนื่องจากเสาที่หักจะรับน้ำหนักไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น โครงสร้างอาจจะถล่มได้ทุกเมื่อ!! จะต้องรีบปรึกษาวิศวกร การแก้ไขต้องทุบเสาทิ้งและหล่อเสาขึ้นใหม่ ...นี่ก็เป็นโดยสังเขปจากที่ รศ.ดร.อมร แนะนำไว้ ทั้งนี้ นอกจากที่ว่ามาแล้ว ’ภัยหลังน้ำท่วม“ อีกรูปแบบที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ต้องเตือน จากที่เคยเตือนช่วงก่อนน้ำท่วมหนักไปแล้วเป็นสื่อแรก ๆ และก็เตือนซ้ำอีกหลายครั้ง นั่นก็คือ ’ไฟดูด-ไฟช็อต“ ซึ่งใครจะเข้าไปดูบ้านเมื่อน้ำลด ก็ต้องระวังไฟฟ้าที่อาจรั่วอยู่ ทั้งในบ้านเราเอง บ้านใกล้เคียง และระหว่างทางเข้าไป ต้องระวังอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่บริเวณที่ชื้นแฉะ ต้องงดใช้งดสัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้าขณะที่ตัวเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ อย่าใช้เครื่องไฟฟ้าที่เสียหายจากน้ำท่วมโดยที่ยังไม่ได้ผ่านการซ่อมแซมจากช่างผู้ชำนาญ ถ้าเปิดใช้งานเครื่องไฟฟ้าแล้วพบว่าเหม็นไหม้ มีเสียงดัง ฯลฯ ให้หยุดใช้ทันที พึงตระหนักกันไว้ว่า น้ำท่วมปีนี้มีคนไทยเสียชีวิตเพราะไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก!! หากไม่ระวังกันให้ดี แม้น้ำจะลดแล้วแต่ตัวเลขก็อาจเพิ่มขึ้นอีก สรุปก็คือ ’น้ำลดแล้ว...แต่ก็ยังต้องระวังภัย“ ’แม้แต่ในบ้าน...ก็อาจจะยังมีภัย“ ต้องระวัง แค่ลื่นตะไคร่หัวฟาดพื้น..ก็อาจตายได้นะ!!!. จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์สกู๊ปหน้า1 วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#115
|
||||
|
||||
บทเรียนดี ๆ ที่สอนลูกจากเหตุการณ์น้ำท่วม .................... ดร.แพง ชินพงศ์ จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เราคนไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้คนไทยได้รับความเดือดร้อนนับหลายแสนครอบครัว บางครอบครัวต้องประสบกับปัญหาบ้านเรือนเสียหาย หลายคนหมดเนื้อหมดตัวสูญเสียทรัพย์สิน หลายครอบครัวต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย และกลายเป็นผู้อพยพในแผ่นดินบ้านเกิดของตนเอง และเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไปยิ่งกว่านั้นคือมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้กว่า 600 คน แต่ในวิกฤตการณ์เช่นนี้ ถ้าเราวิเคราะห์กันดีๆ แล้ว เราจะพบว่าในทุกวิกฤติปัญหานั้นมีหลายสิ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนสอนใจในเรื่องหลักการดำเนินชีวิตของตัวเราเองและลูกๆ อยู่หลายประการ ดังนี้ 1.การแสดงความเมตตาและความเสียสละต่อเพื่อนร่วมชาติ ท่ามกลางภาวะวิกฤติปัญหาที่มีผู้คนที่ต้องประสบกับความทุกข์ลำบากทั้งไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีอาหารประทังชีวิต สูญเสียทรัพย์สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจที่ได้เห็นการแสดงความเมตตาของคนไทยด้วยกันในการช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละต่อเพื่อนร่วมชาติ เช่น มีการบริจาคเงินช่วยเหลือ มีการนำของใช้และทำอาหารไปแจกแก่ผู้ประสบภัย มีบางกลุ่มออกไปช่วยคนและสัตว์ที่ติดอยู่ในบ้านให้สามารถออกมาได้ หรือตัวอย่างของมหาวิทยาลัยรังสิตร่วมกับชุมชนหมู่บ้านเมืองเอก และชุมชนหลักหกที่เสียสละช่วยปกป้องพื้นที่โดยรอบไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นแนวป้องกันน้ำด่านสุดท้ายก่อนถึงตัวเมืองกรุงเทพมหานคร และมีหลายหน่วยงานและหลายสถานที่ได้เปิดเป็นศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกด้วย ตัวอย่างดี ๆ เหล่านี้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำมาสอนลูกในเรื่องของการแสดงความเมตตาและเสียสละต่อผู้อื่น โดยทำให้เห็นเป็นแบบอย่างหรือพาลูกไปลงมือทำเองเลยได้ยิ่งดี 2.การดูแลรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลอง ผู้เขียนจำได้ว่าคุณครูเคยให้ท่องจำในวิชาสุขศึกษาเมื่อสมัยเด็ก ๆ ว่าห้ามทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะจะทำให้น้ำเน่าและเกิดมลพิษต่างๆต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้มีบทเรียนสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่ทุกคนควรสอน และย้ำเตือนกับเด็กๆทุกคนว่า อย่าทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง เพราะนอกจากจะทำให้น้ำสกปรกแล้ว หากเกิดภัยน้ำท่วมอย่างเช่นคราวนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ในการระบายน้ำได้ช้ากว่าปกติเพราะมีขยะไปอุดดันตามท่อระบายน้ำต่างๆ น้ำก็จะท่วมขังเป็นเวลานาน ซึ่งมีแต่ผลเสียทั้งต่อความเป็นอยู่ ต่อสุขภาพร่างกายที่พอน้ำขังนานๆ ก็เน่าเสียเป็นแหล่งเชื้อโรค ทั้งเป็นผลเสียต่อความเป็นอยู่ของสัตว์น้ำต่างๆด้วย ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดของแม่น้ำลำคลองกันให้มากยิ่งขึ้น ภาพจากเอเอฟพี 3.การนำสิ่งเหลือใช้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในภาวะวิกฤติน้ำท่วม เช่น เสื้อชูชีพ รองเท้ากันน้ำและเรือ ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นมากสำหรับผู้ประสบภัย เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนโดยเฉพาะผู้ประสบภัยต้องการ เข้าตำราว่ามีเอาไว้ให้อุ่นใจ ดังนั้นเมื่อมีความต้องการมากจึงทำให้หาซื้อได้ยากและที่สำคัญราคาสูงจนน่าตกใจ หลายคนเกิดความคิดสร้างสรรค์นำวัสดุเหลือใช้ต่างๆรอบตัวมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่น ทำเสื้อชูชีพจากขวดพลาสติกเปล่า การเอายางรถยนต์เก่ามาทำเป็นเรือ ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกๆให้เห็นประโยชน์ของสิ่งของเหลือใช้รอบตัว และหัดให้ลูกลองประดิษฐ์สิ่งของต่างๆที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จากวัสดุเหลือใช้ต่างๆดูและนำมาทดลองใช้จริง ก็จะสร้างความภาคภูมิใจให้กับลูกได้ด้วย 4.การใช้ชีวิตที่ไม่ตั้งอยู่บนความประมาท คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกได้เรียนรู้และยอมรับว่าชีวิตของมนุษย์นั้นไม่มีอะไรที่แน่นอน ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าอีก 1 วินาทีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นเราควรสอนลูกๆให้ดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังและรอบคอบอยู่เสมอ ทั้งสอนให้รู้จักการเตรียมพร้อมกับทุกๆเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นด้วย เช่น เมื่อทางการมีการประกาศว่าจะเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติขึ้นเป็นต้นว่าจะมีน้ำท่วมมาก สิ่งสำคัญที่เราต้องทำก็คือการจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็น เช่น น้ำดื่ม อาหารแห้ง ยารักษาโรค ไฟฉาย อุปกรณ์ที่จำเป็นต่างๆในการดำรงชีวิตให้พร้อมจะได้ดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยไม่ลำบากแก่ตนเองและไม่ต้องเป็นภาระแก่ผู้อื่น 5.การเรียนรู้ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นความสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนไทยมากขึ้น ทั้งความช่วยเหลือที่มีให้แก่กัน และจากเหตุการณ์นี้ทำให้หลายคนได้หันหน้ามาพูดคุยกันมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วละแวกบ้านของผู้เขียนจะเป็นลักษณะต่างคนต่างอยู่ แต่เพราะเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้ผู้เขียนต้องออกไปสังเกตดูปริมาณน้ำที่คลองใกล้บ้าน และไปในบริเวณพื้นที่น้ำท่วมทุกวัน วันละ2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อย จึงทำให้ได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนใหม่อีกหลายคน ซึ่งมีทั้งวัยเดียวกัน ต่างวัย ต่างอาชีพการงาน มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดรวมไปถึงการแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อกันใน สถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งสำหรับผู้เขียนแล้ว นี่นับเป็นสิ่งดีที่ทำให้คิดถึงวัฒนธรรมรากเหง้าดั้งเดิมของคนไทยที่มีความเป็นมิตร โอบอ้อมอารีต่อกันและกัน ซึ่งมิตรภาพที่ดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปสอนลูกได้ เหตุการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยครั้งนี้แม้จะไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นที่มีผู้เสียชีวิตและสูญหายนับหมื่นคน แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ยืดเยื้อและสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและคนไทยเป็นอย่างมาก ผู้เขียนจึงขอส่งกำลังใจให้กับพี่น้องเพื่อนผองชาวไทยทุกคนให้ผ่านพ้นภัย พิบัติในครั้งนี้ไปได้ด้วยความอดทนและอย่ากังวลถึงวันพรุ่งนี้ว่าจะเป็นเช่นไรเพราะแต่ละวันก็มีทุกข์พออยู่แล้ว... คนไทยสู้ๆ !!! จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ Life & Family วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#116
|
||||
|
||||
น้ำท่วมก็สวยได้แฟชั่นใหม่ "ถุงน่องลุยน้ำ"...ลืมไปเลย"ชุดหมี" แฟชั่นน้ำท่วมที่หลายคนคิดค้นประดิษฐ์ประดอยกันขึ้นมาเองบ้าง ซื้อหามาบ้าง ก็สุดแต่ใครจะไขว่คว้า หาชุดกันน้ำมาลุยน้ำท่วม หากสูงเกินเข่ารองเท้าบูท อาจจะกันได้ไม่ค่อยดี ดังนั้นจึงมีชุดกันน้ำที่คิดค้นกันขึ้นมาส่วมใส่ก่อนเดินลุยน้ำท่วมเสมอเอวหรือโค่นขา ฉะนั้นการลุยน้ำแต่ละครั้งก็ต้องเตรียมตัวกันให้พร้อมเสียก่อน เนื่องจากน้ำที่ขังเป็นเวลานานอาจจะเน่าและเหม็นการไปสัมผัสโดยตรงคงไม่ดีแน่ แต่ถ้ามีอะไรมากั้นมากันไว้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย แต่ชุดกันน้ำที่มีอยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นชุดหมี...ที่ฟูพองใส่แล้วดูอึดอัดเคลื่อนไหวลำบากน่าดู ดังนั้นจึงมีผู้คิดค้นประดิษฐ์ดัดแปลงชุดลุยน้ำขึ้นมาใหม่ โดยฝ่ายผลิตภัณฑ์เชอรีล่อน บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) แนะนำไอเดียสู้วิกฤติน้ำท่วมจากเชอรีล่อน เพื่อคุณสุภาพสตรีทั้งหลาย นอกจากสวยงามแล้วยังสามารถป้องกันเชื้อโรคและความสกปรกต่างๆที่มากับน้ำ อีกทั้งยังคล่องตัวอีกด้วย เริ่มจากการนำถุงพลาสติกยาวมาสวมเรียวขา จากนั้นเพิ่มความกระชับด้วยการสวมถุงน่องเต็มตัวทับอีกชั้น ซึ่งอาจจะเป็นถุงน่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว เนื้อถุงน่องทุกประเภทสามารถนำมาใช้งานได้หมด แต่ขอแนะนำให้ใช้เป็นแบบเนื้อซัพพอร์ทจะให้ผลดีที่สุด เพราะเป็นประเภทที่มีแรงกระชับสูงกว่าประเภทเนื้อเนียนธรรมดา เนื้อถุงน่องจะทำหน้าที่เก็บถุงพลาสติกที่สวมให้แนบเข้ารูปกับเรียวขา ช่วยให้เกิดความคล่องตัว ไม่เกิดแรงต้านขณะเดินลุยน้ำ ซึ่งจะต่างจากกางเกงพลาสติกกันน้ำ ที่จะดูเทอะทะขณะเดินฝ่าน้ำ และต้องออกแรงมากขึ้น ส่วนการลุยฝ่าน้ำในระดับความสูงได้เท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับถุงพลาสติกที่นำมาใช้สวม หากน้ำท่วมในระดับที่ไม่เกิน 30 – 40 เซนติเมตร การใช้ถุงพลาสติกหรือถุงก๊อบแก๊บทั่วๆไปที่หาได้ง่าย แล้วสวมทับด้วยถุงน่อง ก็สามารถใช้งานได้ดีเช่นกัน โดยถุงน่องที่ผ่านการใช้งานแล้ว มีการรันหรือขาดบ้าง ก็ไม่มีผลต่อการใช้งานแต่อย่างใด ไอเดียการใช้ถุงน่องลุยน้ำ ยังเหมาะอย่างยิ่งสำหรับช่วงน้ำลด และอยู่ในช่วงที่ต้องทำความสะอาดบ้านเรือน อาคาร ร้านค้า เนื่องจากยังมีสิ่งปฏิกูล หรือเชื้อโรคต่างๆ เช่น ฉี่หนู รวมถึงคราบน้ำมันที่ปนเปื้อนมากับน้ำ ช่วยให้ผิวขาไม่ต้องสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ควรสวมรองเท้าไว้ภายนอก ไม่ควรสวมรองเท้าก่อนสวมถุงพลาสติก เพราะอาจทำให้ถุงพลาสติกขาด และน้ำสกปรกเข้าไปสัมผัสเท้าได้ ฝ่ายผลิตภัณฑ์เชอรีล่อน บริษัท นิวซิตี้ (กรุงเทพฯ) จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำถุงน่องลุยน้ำ พร้อมถุงพลาสติกจัดเป็นชุดๆ เพื่อมอบให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่เคาน์เตอร์เชอรีล่อนเฉพาะ 5 จุด ดังนี้ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลลาดพร้าว, เซ็นทรัลพระราม 2, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และเดอะมอลล์บางกะปิ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02-294-6999 ต่อ 128, 119 จาก ....................... ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#117
|
||||
|
||||
น้ำลดแล้ว...ก็ 'สำคัญ' ฟื้นฟูสังคมไทย 'น้ำใจไทย' จำเป็น!! ประเทศไทยกำลังจะ ’ก้าวผ่านสถานการณ์มหาอุทกภัย“ ซึ่งหลายพื้นที่น้ำแห้งแล้ว หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่น้ำยังท่วมอยู่ และก็อาจจะมีบาง พื้นที่ในภาคใต้ที่น้ำเพิ่งจะท่วม ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใด สถานการณ์น้ำท่วมจะเป็นเช่นไร กับการจะก้าวผ่านสถานการณ์มหาอุทกภัยไปให้ได้จริง ๆ นั้น... มวลน้ำลด-ระดับน้ำลด...อาจมิใช่กุญแจก้าวผ่าน เข้าใจกัน-มีน้ำใจ...สำคัญเฉกเช่นตอนน้ำยังท่วม ทั้งนี้ กับการ “ฟื้นสังคมไทยจากภัยน้ำท่วม” การจะทำให้ “คนไทยหายป่วยจากวิกฤติอุทกภัย” ได้จริงๆนั้น ทางศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) โดย ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา ประธานศูนย์ฯ ก็มีข้อเสนอแนะไว้ให้ลองพิจารณา ซึ่งก็น่าสนใจ โดยสรุปคือ... จากภาวะวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การใช้ชีวิตของประชาชนคนไทยต้องอาศัย ’ความเข้าใจซึ่งกันและกัน“ ต้องอาศัยการ ’เอาใจเขามาใส่ใจเรา“ ให้มาก โดยขณะนี้บรรยากาศของภาวะอุทกภัยมีการเปลี่ยนแปลงไป คนที่ตอนนี้รู้สึกโล่งใจได้แล้วว่ายังไงก็ไม่ถูกน้ำท่วม คนกลุ่มนี้น่าจะแสดงน้ำใจต่อคนที่ยังต้องทำใจกันอยู่ ต่อคนที่ยังได้รับความเดือดร้อน ตอนที่ตนเองก็ยังต้องลุ้น...ตอนนั้นจะช่วยใครก็คงไม่ถนัด เมื่อชัวร์ว่าน้ำไม่ท่วมแน่แล้ว...ตอนนี้น่าจะช่วยๆกันได้... สำหรับการช่วย การแสดงน้ำใจนั้น ก็สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปลุยน้ำเสมอไป ซึ่งทางประธานศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มศว ระบุไว้ว่า... ในช่วงจังหวะวิกฤติอุทกภัยนั้น อาจสร้างโอกาสการทำมาหากินให้ใครหลายๆคน แต่ถ้าโอกาสนั้นเป็นการ “ฉกฉวย” เช่น ขึ้นราคาสินค้าอย่างไม่เป็นธรรม นั่นเป็นการ “ทำลายบรรยากาศการเกื้อหนุนและการแบ่งปัน” ซึ่งแน่นอนว่ามิใช่เรื่องดีต่อการฟื้นสังคมไทย หากมีการเกื้อหนุนกันแต่แรก...นี่ย่อมจะเป็นเรื่องดี ดีทั้งตอนน้ำท่วม...และตอนฟื้นสังคมหลังน้ำท่วม... ย้อนเวลาไปก่อนหน้านี้ ดร.จิตราระบุไว้ว่า... ในหลายพื้นที่เราจะเห็นเรื่องการกักตุนสิ่งต่างๆ เช่น ทราย ถุงทราย อาหาร ของแห้งต่าง ๆ ซึ่งการที่คนขายของได้กักตุนสิ่งของไว้ โดยใช้หลักอุปสงค์-อุปทาน เพื่อหวังจะหาทรัพย์ให้ได้มากๆจากโอกาสในช่วงวิกฤติน้ำท่วม แสดงว่าไม่ได้คิดให้ยาวๆ เพราะคนที่ต้องฝืนทนจ่ายแพงโดยไม่เป็นธรรม จะจดจำไปในระยะยาว ต่อไปก็จะไม่ซื้อสิ่งของจากคนขายที่เคยฉวยโอกาส เพราะ “เสียความรู้สึก” ไปแล้ว!! ต่อไปคนฉกฉวยขึ้นราคาก็จะขายสินค้าไม่ค่อยได้ ’การขายของให้ได้ใจคน ต้องช่วยกันยามตกทุกข์ได้ยาก และขายโดยมีกำไรตามสมควร เพื่อจะได้คบหา ซื้อขายกันได้อย่างยาวนาน ด้วยความรู้สึกดีต่อกัน“ ...ประธานศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ระบุ พร้อมทั้งยังบอกอีกว่า... การขายสินค้าในภาวะวิกฤติ คนขายควรต้องขายแบบได้กระจายสินค้าให้ลูกค้าหลายๆคน ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์ ได้เงินเร็ว-ได้เงินมาก ยอมให้ลูกค้าบางคนซื้อตุนเยอะๆ จนลูกค้าคนอื่นๆไม่มีโอกาส ในด้านของคนซื้อสินค้า ถึงตอนนี้หลายๆคนก็คงได้ “บทเรียน” จากการ “ซื้อตุนอย่างตื่นตระหนก” แล้วก็เสียเปล่า ไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่าคุ้มราคา ซึ่งที่เหมาะที่ควรนั้น แม้จะมีกำลังเงิน แต่การใช้เงินก็เป็นเรื่องที่ต้องรอบคอบ ใช้จ่ายให้คุ้มค่า ควรดู-ควรสำรวจก่อนว่าจำเป็นต้องซื้ออะไร จำเป็นต้องจัดการอะไร เครื่องมือเครื่องใช้ชิ้นใดที่จำเป็นต้องซื้อเข้าบ้าน หรือซื้อหาร่วมกัน แบ่งปันกันใช้ในชุมชนเดียวกันได้ หยิบยืมกันได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบต่างคนต่างซื้อต่างคนต่างจ่าย ซึ่งจะช่วยให้แต่ละคนในชุมชนไม่ต้องเสียเงินโดยใช่เหตุ ควรมีการแบ่งปันข้อมูล-แบ่งปันสิ่งของกันในชุมชน การจะซื้อข้าวของเครื่องใช้ทุกชิ้น ไม่ว่าจะก่อนน้ำท่วม ขณะน้ำกำลังท่วม หรือในยามที่น้ำเริ่มแห้ง ก็ต้องมีสติ ’อย่าใจร้อนหรือโหมไปตามกระแส“ ซึ่งจะ ’ช่วยลดการกักตุน-การขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผล“ ของร้านค้าได้ระดับหนึ่ง ถ้าตื่นตระหนก รีบกักตุน ก็ยิ่งเป็นเหยื่อผู้ฉวยโอกาส ประธานศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ มศว ระบุไว้อีกว่า... ตอนนี้การลดราคาสินค้า เช่น อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน อุปกรณ์ซ่อมแซมเครื่องมือการเกษตร ฯลฯ เป็นสิ่งที่ควรจะทำเพื่อช่วยผู้เดือดร้อนจากวิกฤติน้ำท่วม และในช่วงเวลาที่ประชาชนเดือดร้อนกันมาก องค์กร-หน่วยงานใหญ่ๆ ควรจะมีการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ กิจกรรมร่วมรับผิดชอบต่อสังคม โดยช่วยเหลือผู้เดือดร้อนจากวิกฤติน้ำท่วมกันให้มากๆ หรือมีการแข่งขันกันทำ ’การจะช่วยฟื้นฟูเยียวยาสังคมให้ดีขึ้น สังคมที่บอบช้ำ ผู้คนที่อ่อนล้าหมดสิ้นกำลังใจ จะฟื้นตัวขึ้นได้เร็ว ก็เพราะน้ำใจจากทุกส่วนช่วยกัน“ …เป็นทิ้งท้ายของข้อเสนอแนะ ซึ่งสรุปไว้ที่คำว่า ’น้ำใจ“ ’ฟื้นฟูสังคมจากภัยน้ำท่วม“ เมืองไทยจำเป็นต้องเร่งทำ และ ’น้ำใจไทย“ คือ ’กุญแจสำคัญ“ ที่ ’จำเป็นต้องมี!!“. จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์สกู๊ปหน้า1 วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#118
|
||||
|
||||
ตรวจสอบบ้านหลัง 'น้ำ' ลด ทำความสะอาดหรือต้อง รื้อ! หลังเกิดมหาอุทกภัย เป็นเหตุให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องอพยพออกจากบ้าน เนื่องด้วยมวลน้ำครั้งนี้ ไม่ได้ท่วมเพียงระดับพื้นชั้นล่างเท่านั้น หากยังเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งบางพื้นที่อ่วมตั้งแต่ชั้นหนึ่งกระทั่งเกือบถึงชั้นสอง คำถามที่ตามมาคือ บ้านที่ทิ้งไปในขณะน้ำท่วมเป็นเวลานานนั้น จะกลับเข้าไปอยู่ได้หรือไม่ และต้องถึงกับรื้อหรือเปล่า? วันนี้ Special Report จะพาไปไขคำตอบกับผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเรียนรู้ “วิธีตรวจสอบความผิดปกติของโครงสร้างหลักในบ้าน” รวมถึง “สิ่งที่ควรทำ และต้องห้าม! หลังน้ำลด” อาจารย์ธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท. และ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชนบท คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยกับเดลินิวส์ออนไลน์ว่า จากประสบการณ์การลงพื้นที่ตรวจสอบน้ำท่วมขังอาคารต่าง ๆ พบว่าอาคารไม้ หรือ อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กส่วนใหญ่ ไม่ได้รับความเสียหายถึงขนาดรื้อทิ้ง แต่ถามว่ามีหรือไม่ที่พบความเสียหายก็คือมี ดังนั้นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ หรือ วสท. จึงมีนโยบายที่จะใช้ความรู้ ความสามารถ และระดมวิศวกรอาสา ซึ่งปัจจุบันได้ 173 ท่านแล้ว เตรียมจะเข้าไปช่วยประชาชนตรวจบ้าน ทางด้านวิศวกรรม ไฟฟ้า สุขาภิบาล รวมทั้งโครงสร้าง ฐานราก เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจ หมดความกังวลใจ โดยจะบริการฟรี ตรวจฟรี ภายใต้ “ศูนย์ตรวจสอบอาคารด้านวิศวกรรมหลังอุทกภัย” ทั้งนี้ ขั้นตอนดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเวลา ให้เป็นไปตามลำดับ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ที่ 080-812-3733 หรือ 080-812-3743 และจะมีการเพิ่มหมายเลขในภายหลัง “สำหรับกรณีน้ำลดแล้ว มีคำแนะนำคือ ก่อนเข้าบ้านควรเตรียมถุงเท้า บู๊ทยาง ถุงมือยาง รวมทั้งหน้ากากป้องกันมลภาวะ เพราะน้ำท่วมขังจะมีการปนเปื้อน เตรียมแว่นตาในลักษณะป้องกันไว้ด้วย รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจวัดไฟ เช่น ไขควงวัดไฟ จากนั้น ทำความสะอาดรอบนอกบ้าน กำจัดตะไคร่ ส่วนน้ำที่ยังขังต้องหาทางระบายออก แม้จะเป็นลักษณะท่วมติดพื้น นอกจากนั้น สิ่งสำคัญคือ เมื่อเข้าไปในตัวบ้านแล้ว อย่าแตะสวิทซ์ไฟโดยเด็ดขาด ยังไม่ควรสับคัทเอาท์เชื่อมต่อแม้จะเห็นว่าแห้ง หรือ พยายามทำความสะอาดผิวภายนอกแล้วก็ตาม อย่ามั่นใจว่าข้างในไม่มีน้ำอยู่ ควรตามช่างมาถอดดู เช็ดทำความสะอาดเต้าปลั๊กไฟต่างๆ เพราะหากสับคัทเอาท์จะเกิดการลัดวงจร ทำให้ระบบไฟฟ้าเสียทั้งบ้าน” อาจารย์ธเนศ กล่าว อาจารย์ธเนศ กล่าวต่อถึง หลักทำความสะอาดห้องน้ำ โดยต้องตรวจดูการอุดตัน ล้างท่อระบายน้ำ กำจัดถุงขยะ เศษพลาสติก รวมถึงถุงทรายที่เคยอัดไว้ก่อนออกจากบ้าน จากนั้น กดชักโครกดูว่าน้ำไหลดีหรือไม่ ถัดมา เช็คมิเตอร์น้ำ หากปิดวาล์วแล้วมิเตอร์ยังหมุนแสดงว่าท่อรั่ว อาจมีอะไรกดทับทำให้แตกร้าว หรือ หากเปิดวาวว์แล้วมิเตอร์ไม่ทำงานก็ผิดปกติเช่นกัน พรม ผ้า หรือ โซฟาที่วางอยู่ชั้นล่างถูกน้ำท่วมถึง จะอุ้มน้ำ ต้องนำออกนอกบ้านผึ่งแดด แต่การทำความสะอาดพรมค่อนข้างลำบาก หากไม่มั่นใจควรทิ้ง อย่าปล่อยเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรค ต่อมา สังเกตการบวมตัวของฝ้าเพดาน หากบวมให้ตามช่างมาถอดออก ป้องกันเหตุร่วงหล่น จากนั้น ทำความสะอาดพื้น ผนัง เสา แล้วเช็ดให้แห้ง “อย่าลืมตรวจคาน พื้น และผนัง แอ่นหรือไม่ มีรอยร้าวที่ผิดปกติไปจากเดิมก่อนจะออกจากบ้านหรือเปล่า เสาโย้ไหม หากเป็นไม้อาจเกิดลักษณะบวม ปล่อยทิ้งไว้นานเสี่ยงแตกได้ ส่วนกรณีบ้านอยู่ริมแม่น้ำลำคลอง ให้สังเกตแนวรั้วด้านที่อยู่ชิดแม่น้ำลำคลองว่าโน้มเอียงเข้าหาบ้าน หรือ เอียงออกฝั่งลำคลองหรือไม่ เพราะรั้วมีแนวโน้มจะล้ม จากนั้น สังเกตว่ามีรอยแยกของดินขนานคลองหรือเปล่า เป็นข้อบ่งชี้ว่าดินอาจจะสไลด์ แต่ไม่เสมอไป สำหรับ กรณีบ้านวางอยู่บนเสาเข็ม ให้ตรวจว่าดินฐานรากยุบตัวลง หรือ มีรอยแตกไหม ถ้าไม่มีแสดงว่าเสาเข็มยังรับแรงได้ ดังนั้น หากพบสิ่งผิดปกติข้างต้น ควรติดต่อวิศวกรเข้าตรวจสอบ เพื่อความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน” อาจารย์ธเนศ ให้คำแนะนำ การตรวจสอบความผิดปกติหลังจากทิ้งบ้านไปนานช่วงน้ำท่วม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำเป็นอันดับต้นๆที่ทุกคนควรทำ เพราะโครงสร้างของบ้านอาจได้รับผลกระทบร้ายแรงกว่าที่เราคิดจากปัญหาน้ำท่วม การตรวจสอบอย่างจริงจังและไม่ประมาทจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อให้บ้านของทุกครอบครัวกลับมาอยู่ได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#119
|
||||
|
||||
ยาแนวบ้านด้วยตนเอง หลังน้ำท่วม หลังจากปัญหาน้ำท่วมค่อยๆลดลง เชื่อว่าหลายครอบครัวคงกำลังตรวจสอบความเสียหายที่บ้านของตนเองได้รับ ซึ่งบ้านหลายหลังที่พังยับเยินอาจต้องเสียเงินซ่อมมากมาย แต่สำหรับใครที่อยากประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการซ่อมบ้านเอง วันนี้ เดลินิวส์ออนไลน์ มีวิธียาแนวพื้นบ้านด้วยตนเองมาฝาก เริ่มต้นพยายามสำรวจยาแนวทั่วบริเวณบ้านว่ามีส่วนไหนชำรุดบ้าง จากนั้นพยายามขูดยาแนวเก่าหมดสภาพออกให้มากที่สุด ถ้าจะให้ดีต้องขูดลงลึกเท่ากับความหนากระเบื้อง หลังจากขูดแล้ว ล้างทำความสะอาด แล้วปล่อยให้แห้ง เตรียมตัวสู่ขั้นตอนต่อไป หลังจากทำความสะอาดของเก่าจนแห้งแล้ว ก็ไปซื้อยาแนวสำเร็จรูปมาใช้ซึ่งปัจจุบันจะเป็นรูปแบบกันเชื้อราเกือบทั้งหมด ขั้นตอนสำคัญอยู่ที่การผสม ต้องเคร่งครัดกับสัดส่วน และขั้นตอนตามรายละเอียดข้างถุง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพตามสรรพคุณของยาแนว วิธีการทำ ก็เริ่มจาก หาแผ่นยางขนาดเหมาะมือไว้ปาดยาแนวลงร่อง ลองนึกถึงรองเท้าแตะฟองน้ำ ตัดแต่งให้ใช้งานได้ ถ้าพื้นที่ไม่มากใช้มือปาดเอาก็ได้ แต่อย่าลืมใส่ถุงมือยางเพราะอาจดดนกัดจนมือแตกรอกได้ การปาดไล่ให้เต็มร่องเป็นแนวๆไป ยาแนวอย่างพิถีพิถันลงไปไล่อากาศแล้วล้นขึ้นมา จะได้เต็มร่องไม่โปร่งแล้วจะยุบทีหลัง จากนั้นปล่อยให้เซ็ทตัวรอบแรกประมาณหนึ่งชั่วโมง พอเริ่มแห้งหมาด เตรียมฟองน้ำหยาบชุบน้ำหมาดๆ เช็ดล้างอย่างรวดเร็วบริเวณที่เลอะล้นร่อง ลูบให้เรียบเนียน สม่ำเสมอกัน ทิ้งไว้ให้แห้งโดยใช้เวลาประมาณ2 ชั่วโมง ใช้ผ้าแห้งเช็ดทำความสะอาดอีกที สุดท้ายทิ้งไว้ให้เซ็ทตัวเต็มที่ 24 ชั่วโมง ก็จะสามารถใช้งานได้ จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์เกร็ดความรู้ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#120
|
||||
|
||||
กำจัดยุงตัวร้ายด้วย “ถุงดักยุง” น้ำท่วมขังแบบนี้ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงชั้นเยี่ยม วันนี้แนะนำอีกหนึ่งวิธีในการกำจัดยุงตัวจิ๊ดแต่ฤทธิ์เยอะ ช่วงนี้หลายพื้นที่น้ำท่วม ปัญหาหนึ่งที่แม้ว่าจะดูไม่ใหญ่โต แต่ก็ก่อให้เกิดความรำคาญอย่างใหญ่หลวง นั่นก็คือ ถูกยุงกัด เพราะแหล่งน้ำขังทั้งหลาย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ที่จะเจริญเติบโตต่อไปกลายเป็นยุงได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งยุงบางชนิดไม่เพียงแค่ทำให้เราแสบๆคันๆเท่านั้น แต่สามารถเป็นพาหะก่อให้เกิดโรคร้ายแล้วแต่ชนิดของยุง เช่น โรคไข้เลือดออก ไข้มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ โรคเท้าช้าง ฯลฯ เพื่อป้องกันตัวเองและคนที่คุณรักไว้แต่เนิ่นๆ “กรมควบคุมโรค” ได้แนะนำวิธีในการทำ “ถุงดักยุง” มาฝาก โดยอุปกรณ์ที่ใช้ทำ “ถุงดักยุง” นั้น มีไม่มากและหาได้ง่าย คือ ถุงดำ ขวดน้ำพลาสติก และเสื้อผ้าที่ใส่แล้ว ขั้นตอนแรกเป็นวิธีล่อยุง ให้นำเสื้อผ้าที่ใส่แล้ว ใส่ลงไปในถุงดำ แล้วยุงจะได้กลิ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ระเหยออกมาจากผิวหนังมนุษย์แล้วติดอยู่กับเสื้อผ้าเหล่านั้น เสร็จแล้วทำปากถุงให้เป็นลักษณะท่อ โดยใช้ขวดพลาสติกที่เตรียมไว้ หรืออาจจะใช้แกนทิชชู่ก็ได้ เนื่องจากพฤติกรรมโดยทั่วไปของยุงจะชอบบินเข้าที่แคบๆ ขั้นตอนต่อมา เป็นขั้นตอนสำคัญ นั่นก็คือ “การดักยุง” ให้นำถุงที่เตรียมไว้แล้วไปวางไว้ในบริเวณที่มืดๆ ไม่พลุกพล่าน เพียงเท่านี้ เจ้ายุงทั้งหลายก็จะบินเข้ามายังกับดักที่จัดไว้เอง วิธีสุดท้าย “การกำจัดยุง” เมื่อยุงเข้ามาสู่ “ถุงดักยุง” แล้ว ให้ปิดปากถุง แล้วนำไปวางกลางแดดสัก 1-2 ชั่วโมง แสงแดดจะช่วยแผดเผาจนยุงตาย เพียงแค่นี้ก็กำจัดยุงได้แล้ว แถมยังนำอุปกรณ์ทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ได้อีกต่างหาก เป็นวิธีที่สุดแสนประหยัดจริงๆ. จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์เกร็ดความรู้ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|