เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #111  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


สำนักข่าวอิศรา
19-07-15

นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ชี้ยกเลิกอวนรุนสัตว์น้ำทะเลกลับมาถึง 50%



นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เผยยกเลิกใช้ 'อวนรุน' สัตว์น้ำทะเลกลับมาสมบูรณ์ 50% ขอบคุณรัฐบาลกล้าตัดสินใจ พร้อมตั้งข้อสงสัยไม่ยกเลิกอวนลากเพราะเชื่อมโยงธุรกิจอาหารสัตว์หรือไม่

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) มีการประชุมการติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาตามข้อสังเกตในการตรวจเยี่ยมของคณะสหภาพยุโรป ครั้งที่ 11โดยในการประชุมดังกล่าวมีมติให้ยกเลิกอวนรุนในการทำประมง

นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา หลังศปมผ. มีมติให้ยกเลิกอวนรุนในการใช้เป็นเครื่องมือทำประมง ว่า การที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจยกเลิกอวนรุนถือว่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่หากจะให้พอใจที่สุดจะต้องยกเลิกอวนลากด้วยต้องทำแบบที่ประเทศอินโดนีเซียทำ พันธุ์สัตว์น้ำทะเลต่างๆจะกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง อย่างไรก็ตามเพียงแค่ยกเลิกอวนรุน โพงพาง เรือปั่นไฟ ก็สามารถช่วยเรียกคืนพันธุ์สัตว์น้ำทะเลได้ถึง 50% แล้ว ส่วนอีก 50% ที่จะต้องทำต่อไปคือการยกเลิกอวนลาก แต่ในการประชุมไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องของอวนลากเลยสักนิด

นายบรรจง กล่าวถึงการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวนั้นเข้าไปในฐานะผู้ให้ข้อมูลไม่ใช่คณะกรรมการ คนที่เคาะมติที่ประชุมคือพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งยกเลิกอวนรุนให้ ส่วนในเรื่องของอวนลากได้พยายามอธิบายและยกข้อมูลงานวิจัยจากกรมประมงว่า อวนลากทำลายสัตว์น้ำอย่างรุนแรง สัตว์ที่จับมาได้จากอวนลากสามารถนำมาบริโภคได้เพียง 30% ส่วน70% คือนำไปทำอาหารสัตว์

“ดังนั้นจึงตั้งข้อสังเกตว่า ที่ไม่กล้าเคาะอาจจะเป็นเพราะอวนลากเชื่อมโยงกับธุรกิจประเภทอาหารสัตว์ ฉะนั้นหากอยากให้การยกเลิกอวนลากสำเร็จสังคมอาจจะต้องช่วยกันกดดันให้มากกว่านี้”

สำหรับปริมาณอวนรุนกับอวนลากในขณะนี้มีอวนประเภทไหนมากกว่ากัน นายบรรจง กล่าวว่า ถ้าดูทั้งหมดไม่นับเฉพาะลงทะเบียนอวนรุนจะมากกว่ามีอยู่เป็นหมื่นลำ ส่วนอวนลากมีน้อยกว่าก็จริง แต่ถุงอวนมีขนาดที่แน่นมากแม้แต่นิ้วก้อยยังออกไม่ได้หากติดอยู่ในอวนลาก ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่อนาคตจะต้องผลักดันให้มีการยกเลิกเนื่องจากอวนลากเป็นสาเหตุให้ชุมชนประมงพื้นบ้านล่มสลาย แต่ก็ขอบคุณที่รัฐบาลกล้าตัดสินใจสำหรับการยกเลิกอวนรุน



ด้านแหล่งข่าวจากกรมประมง ให้ข้อมูลว่า สำหรับการยกเลิกเครื่องมือประเภทอวนรุนนั้น ทางพล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้พยายามเร่งเพื่อที่จะประกาศใช้อย่างเร็วที่สุด ส่วนกรอบกำหนดระยะเวลาว่าจะมีการประกาศใช้เมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่พยายามจะทำให้เร็วที่สุด ส่วนเครื่องมือประเภทอวนลากสำหรับการประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ค.คือไม่มีการนำเข้าประชุม แต่ก็มีการพูดคุยกันอยู่

เมื่อถามว่าประชุมในครั้งต่อไปจะมีการนำเรื่องอวนลากเข้าที่ประชุมหรือไม่ แหล่งข่าวจากกรมประมง กล่าวว่า ไม่ทราบขึ้นอยู่กับประธานศปมผ.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #112  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


GREENPEACE
19-07-15


การให้อาหารปลาในแนวปะการัง อย่าคิดว่าไม่มีผลกระทบ!!



เมื่อวันหยุดยาวมาถึง จุดมุ่งหมายของคนเมืองหรือมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆ น่าจะเป็นการนอนชิลริมทะเลหรือดำน้ำเพื่อคลายร้อนและชื่นชมแนวปะการังและฝูงปลาที่ทะเลสวยๆสักแห่งหนึ่ง

กระแสข่าวที่มีการถกเถียงกันเรื่องการให้อาหารปลาในแนวปะการังเพื่อหลอกล่อให้เจ้าฝูงปลาสีสวยในแนวปะการังมารวมฝูงเพื่อถ่ายรูปด้วยความภาคภูมิใจถึงความสวยงามของทะเลไทย แต่เขาเหล่านั้นกลับทำร้ายทะเลและระบบนิเวศโดยไม่รู้ตัว เรามาดูกันว่าพฤติกรรมเช่นนี้ทำร้ายหรือสร้างผลกระทบอะไรบ้าง

1. สัญชาติญาณในการระวังภัยตามธรรมชาติหายไป ทำให้เสี่ยงต่อการถูกทำร้ายจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ เช่นการว่ายน้ำเข้าหาเรืออาจจะมีความเสี่ยงถูกใบพัดเรือบาดได้

2. พฤติกรรมสัตว์น้ำเปลี่ยนไปเมื่อมีการให้อาหาร พฤติกรรมการกินของปลาจึงเปลี่ยนไป เนื่องจากเมื่อมันกินขนมปังหรืออาหารอื่นที่นักท่องเที่ยวให้จนอิ่ม มันจึงไม่กินอาหารตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการขาดสารอาหาร สุขภาพสัตว์น้ำอ่อนแอและตายในที่สุด

3. ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อมีการให้อาหารในบริเวณนั้นๆปลาจะมารวมฝูง โดยเฉพาะ เจ้าสลิดหินเมื่อมันรวมฝูงใหญ่จะมีนิสัยก้าวร้าวและมันจะมาไล่ปลาอื่น ๆ ออกจากบริเวณนั้น ในที่สุดปลาที่มีนิสัยสุภาพเรียบร้อย เช่น ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ก็จะลดจำนวนลง และต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่น ทำให้ระบบนิเวศบริเวณนั้นเสียความสมดุล

4. แนวปะการังเสียหาย สิ่งปฏิกูลที่เกิดจากการย่อยสลายของเศษอาหารและการขับถ่ายของปลาส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตของสาหร่ายบางชนิดอย่างรวดเร็วและไปปกคลุมบริเวณปะการังส่งผลให้แนวปะการังเสื่อมโทรมและตายในที่สุด

5. เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหาร ขนมปังที่นำมาใช้เป็นอาหารปลาโดยส่วนใหญ่จะเป็นขนมปังที่หมดอายุซึ่งอาจจะมีเชื้อราและสารอะฟลาทอกซิน (Aflatoxin) ซึ่งมีความเป็นพิษสูงปนเปื้อนอยู่ เมื่อปลากินเข้าไปก็จะไปสะสมและเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารในที่สุด เช่นเดียวกับการให้อาหารปลารอบๆเรือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีคราบน้ำมันบริเวณผิวน้ำโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีเรือท่องเที่ยวจอดรวมกัน คราบน้ำมันเหล่านี้จะซึมเข้าสู่อาหารที่ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ เมื่อปลาตัวเล็กกินอาหารเหล่านี้เข้าไปสารพิษในน้ำมันก็จะสะสมในตัวปลาและส่งต่อสู่สายอาหารต่อกันไปเป็นทอดๆและผู้บริโภคสูงสุดในห่วงโซ่อาหารคือมนุษย์นั่นเอง



ให้อาหารปลาผิดกฎหมาย!

กรมอุทยานแห่งชาติทางทะเลได้มีประกาศ ห้ามให้อาหารปลาในเขตอุทยานฯ อย่างเด็ดขาด หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2555 โดยมีโทษจับและปรับ 500-10,000 บาท ส่วนการให้อาหารปลานอกเขตอุทยานฯ ขณะนี้ยังไม่ผิด แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็จะผิดแน่นอน ทางที่ดีก็คือไม่ควรให้อาหารปลาไม่ว่าจะกรณีใดๆทั้งสิ้น


อ้างอิง: Feeding or Harassing Marine Mammals in the Wild is Illegal and Harmful to the Animalslink: http://www.nmfs.noaa.gov/pr/dontfeedorharass.htm

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #113  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


คม ชัด ลึก
21-07-15


กวาดล้างเครื่องมือประมงทำลายสัตว์น้ำ เสียงสะท้อนบวก-ลบ ต่อนโยบายรัฐ ............................ โดย ทีมข่าวภูมิภาค



ผลจากการประชุมติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหา ตามข้อสังเกตในการตรวจเยี่ยมของคณะสหภาพยุโรป ของศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ที่มี พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการ ผบ.ศปมผ. เป็นประธาน ณ ห้องประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ตัวแทนจากกองทัพเรือ, จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง, ธงชัย พงษ์วิชัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานเรือ กรมเจ้าท่า รวมทั้งผู้แทนจากสมาคมประมงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนกลุ่มประมงพื้นบ้าน

ในมติที่ออกมารวม 5 เรื่อง น่าสนใจว่า มีการพาดพิงไปถึงเรื่องการควบคุมเครื่องมือการทำประมงประกอบด้วย ให้ส่วนกฎหมายและจัดระเบียบเรือประมง ในสังกัด ศปมผ. ออกประกาศยกเลิกเครื่องมือทำการประมงที่ทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำได้แก่ อวนรุน (ยกเว้นอวนรุนเคย), ไอ้โง่, อวนล้อมปลากระตักปั่นไฟ และโพงพาง, ให้กรมประมงกำหนดจำนวน และขนาดเครื่องมือทำการประมง ที่ใช้กับเรือประมงแต่ละประเภท โดยรายงานให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาในการกระชุมครั้งต่อไป ให้สำนักงานเลขานุการ ศปมผ. ร่วมกับกรมประมง และกรมเจ้าท่า ดำเนินการกำหนดพื้นที่ทำการประมงของเรือประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ ให้มีความชัดเจน และรายงานให้ที่ประชุมร่วมพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

ทั้งนี้ โพงพาง, ลอบไอ้โง่ หรือลอบรถไฟ, อวนล้อมปลากะตัก และอวนรุน เครื่องมือเหล่านี้ ถือเป็นอุปกรณ์ประมงที่มีส่วนต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลให้สัตว์น้ำชายฝั่งลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากลักษณะของการจับสัตว์น้ำ คือการจับเอาตัวอ่อนหรือตัวเจริญพันธุ์ไปด้วย ทั้งนี้ปัญหาการทำลายล้างทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยไร้การควบคุม จากการลักลอบใช้เครื่ิองมือทำประมง ที่่ไม่ได้รับอนุญาต เป็นอีกประเด็นที่รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญ ต่อการที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง ดังนั้นการยกเลิกเครื่องมือทำประมงข้างต้น หากบังคับใช้ได้จริง จึงหมายถึงการที่จะฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ เอื้ิอต่อการทำประมงทุกส่วน ทั้งประมงพื้นบ้าน และประมงพาณิชย์ เป็นการลดความขัดแย้งระหว่างประมง 2 ฝ่ายที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว "อำนาจ ศิริเพชร นักวิชาการประมง สำนักงานประมง นครศรีธรรมราช แสดงความคิดเห็นว่า หากยุติเครื่องมือทำลายล้างเหล่านี้ จะมีส่วนต่อการสร้างงานสร้างรายได้ให้คนไทยในภาคประมงพื้นบ้านได้มากกว่า 2 แสนคน กระจายไปทั้ง 22 จังหวัดชายฝั่ง เป็นการกลับมาสร้างความมั่นคงให้แก่ภาคการประมงได้ทันที และถ้ายกเลิกอวนลากได้ ปะการังเทียมที่ทำมาแล้ว 37 ปี จะกลับมาทำหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรให้แหล่งประมงชายฝั่งทันที ทุกวันนี้ อวนลากและปั่นไฟล่อปลาออกมาจากปะการังเทียมแล้วล้อมจับ มีส่วนต่อการทำลายพันธุ์สัตว์น้ำแบบล้างผลาญ

ขณะที่ สุกิจ รัตนวินิจกุล ประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครื่องมือทำลายล้างที่เป็นปัญหาของนครศรีธรรมราชมากที่สุดคือ “ไอ้โง่” ที่ระบาดอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในแถบอ่าวปากพนัง และอ่าวท่าซัก สำหรับ “ไอ้โง่” หรือ “คอนโดดักปลา” เป็นอุปกรณ์ดักปลา ใช้วางดักปลา มีลักษณะเป็นโครงเหล็ก หุ้มด้วยตาข่ายไนลอนคล้ายๆ ลอบดักปลา แต่เอาหลายๆ อันมาวางเรียงกลับหัวกลับหาง ความยาวของ “ไอ้โง่” หรือ “คอนโดดักปลา” อยู่ที่ขนาดและจำนวนลอบที่ใช้ทำ โดย “ไอ้โง่” จะใช้วางตามร่องน้ำ สามารถดักสัตว์น้ำได้ทุกชนิด ที่ผ่านมาการใช้ “ไอ้โง่”ได้รับความนิยม เพราะลงทุนและใช้แรงงานน้อย เพียงเอาไปวางไว้ตามร่องน้ำ ถึงเวลาก็ไปเก็บกู้ เช่นเดียวกับโพงพาง ที่มีปัญหาอยู่ในร่องน้ำที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ก็จะนำเรือออกไปรื้อถอน แต่ชาวประมงก็จะกลับมาติดตั้งใหม่ แต่หลังจากนี้ไป หากมีบทลงโทษที่ชัดเจน ก็น่าจะควบคุมได้

สุพร โต๊ะเส็น นายกสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราข กล่าวว่า เห็นด้วยกับการประกาศควบคุมเครื่องมือประมงทำลายล้าง ประมงพื้นบ้าน พร้อมที่จะส่งเสริมแนวทางนี้ของกรมประมงอย่าง "ผมอยากให้กลุ่มประมงพาณิชย์เปิดใจ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่ิองมือเหล่านี้ สัตว์น้ำที่ได้ไปนั้นล้วนเป็นสัตว์วัยอ่อน วัยเจริญพันธุ์ ทั้งที่ควรจะอนุรักษ์และจับเมื่อถึงเวลาที่แท้จริง ที่ผ่านมาภาครัฐมีความอ่อนแอในเรื่องเวลาและกำลังคน ขณะที่กฎหมายล้าสมัยไม่ทันกับวิธีการประมง การพัฒนาเครื่องมือแบบทำลายล้างจึงเกิดขึ้น การที่รัฐจะมาบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงเป็นความหวังว่าจะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์เกิดการกระจายทรัพยากรในรูปของการแบ่งปัน" สุพร กล่าว

ขณะเดียวกันในส่วนของประมงพาณิชย์ กลับมองต่างมุมกันอย่างสิ้นเชิง

พงศธร ชัยวัฒน์ นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าวว่า การยกเลิกเครื่องมือทำประมงประเภทอวนรุน อวนล้อมปลากะตักปั่นไฟ ไอ้โง่ และโพงพาง แนวทางนี้ ไม่เห็นด้วยเพราะในทางปฏิบัติแล้ว มีวิธีบริหารจัดการที่ชาวประมงไม่ต้องเดือดร้อนได้ เช่นการขยายขนาดตาอวน การจำกัดพื้นที่ทำการประมง หรือจำกัดโควตาการจับปลา โดยเฉพาะปลากะตัก เพราะต่างประเทศก็จับปลากะตักเหมือนกัน ทั้งนี้ เครื่องมือทำประมง 4 ประเภท ประกอบด้วยอวนลากคู่ อวนลากเดี่ยว อวนรุน และอวนล้อมปลากะตักปั่นไฟ ควรให้อยู่เหมือนเดิมเพียงแต่ต้องมีการบริหารจัดการว่าเครื่องมือประมงทั้ง 4 ประเภทจะจัดการอย่างไร เช่นอวนปลากะตัก กำหนดให้ว่าทั่วประเทศสามารถจับได้เท่าไรต่อปี เมื่อจับได้ครบก็หยุดจับ การไม่ให้จับปลากะตักคงทำไม่ได้เพราะอย่างไรคนไทยก็ยังบริโภคปลากะตักอยู่ ส่วนเรืออวนรุนควรไปบริหารจัดการตาอวน ระยะเวลาการทำประมง หรือพื้นที่การทำประมง

"หากยกเลิกชาวประมงคงเดือดร้อน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องประมงตั้งหลักไม่ทัน ต่างประเทศไม่ได้หักดิบอย่างนี้ เขาเอาวิธีบริหารจัดการมาแก้ปัญหา เพื่อให้ทรัพยากรคงอยู่ คนคงอยู่ และวิถีชีวิตคงอยู่ การยกเลิกเลย ภาครัฐมีแผนรองรับแก้ไขความเดือดร้อนให้เขาหรือยัง ที่สำคัญกลุ่มประเทศยุโรปไม่ได้บอกให้ยกเลิกเครื่องมือประมง แต่ให้บริหารจัดการทรัพยากรให้ดี” นายกสมาคมประมงสมุทรสงคราม กล่าว

บุญยืน ศิริธรรม ที่ปรึกษาเครือข่ายอนุรักษ์พิทักษ์ดอนหอยหลอด ต.บางแก้ว จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า คำถามที่ต้องการคำตอบคือ เมื่อมีการยกเลิกเครื่องมือทำการประมงแล้วจะเยียวยาชาวประมงที่ได้รับผลกระทบอย่างไร "อวนรุนใน จ.สมุทรสงคราม ส่วนใหญ่ถูกกฎหมาย มีใบอนุญาตถูกต้อง มีอาชญาบัตร เท่าที่ฟังมาจะมีการยกเลิกกลุ่มที่ผิดกฎหมายก่อน แต่ต้องมาดูกลุ่มที่ถูกกฎหมายว่ายกเลิกแล้วจะเยียวยาอย่างไร ที่คิดว่าจะเลิกเครื่องมือประมง คิดอย่างไรก็ได้เพราะนั่งในห้องแอร์ ในฐานะนักอนุรักษ์คิดว่าต้องให้คนอยู่ได้ และปลาอยู่ได้” บุญยืน กล่าว

บุญยง นิ่วบุตร นายกสมาคมชาวประมง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี กล่าวว่า การเลิกเครื่องมือทำประมงแบบล้างผลาญเป็นการดี เพราะทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างรุนแรง “การยกเลิกเครื่องมือประมงบางประเภทมีทั้งผลดี และผลเสีย ซึ่งหากเป็นเครื่องมือล้างผลาญทรัพยากรสัตว์น้ำก็ต้องเลิก แต่ภาครัฐต้องมาช่วยเหลือเยียวยาแก้ปัญหาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบ เพราะชาวประมงบางคนไม่ใช่คนรวย ทำประมงแล้วเป็นหนี้ บางรายเป็นหนี้เยอะมาก เพราะการทำประมงลงทุนสูง ทั้งเรือประมง เครื่องมือทำประมง ค่าน้ำมัน ค่าแรงงาน ต้องใช้เงินทุนทั้งนั้น" บุญยง กล่าว

สุชาติ เสือนาค สมาชิกเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการยกเลิกเครื่องมือประมงล้างผลาญ ทั้งไอ้โง่ อวนล้อมปลากะตักปั่นไฟ และอวนรุน โดยไอ้โง่เป็นเครื่องมือล้างผลาญเพราะจับสัตว์น้ำหมดไม่เว้นสัตว์น้ำวัยอ่อน เรือปลากะตักปั่นไฟเมื่อไม่ได้ปลากะตัก ก็จับลูกปลาทูวัยอ่อนขนาดประมาณ 1 นิ้ว หรือ 1 นิ้วเศษๆ มาแทน เอาขึ้นจากทะเลมาครั้งละ 1-3 ตัน เป็นการล้างผลาญเผ่าพันธุ์ปลาทู ส่วนอวนรุน ก็จับปลาทุกชนิดทั้งปลาหน้าดิน ปลากลางน้ำ และปลาผิวน้ำ

"ที่่ผมไม่อยากให้ยกเลิกคือโพงพาง เพราะเป็นเครื่องมือทำการประมงอยู่กับที่ ไม่ได้เคลื่อนที่ไปหาสัตว์น้ำ เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณ อวนลากก็เลียนแบบโพงพาง แต่อวนลาก ลากออกไปหาปลาจับสัตว์น้ำได้เยอะ ส่วนโพงพางจับสัตว์น้ำได้น้อย ไม่ใช่อุปกรณ์การประมงที่ล้างผลาญ รัฐต้องรอบคอบ" สุชาติ กล่าว

นี่เป็นเสียงสะท้อนต่อแนวทางที่รัฐจะเข้าบริหารจัดการภาคประมง

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 21-07-2015 เมื่อ 21:36
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #114  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ประชาชาติธุรกิจ
21-07-15


"ส่วย" อีกหนึ่งต้นเหตุ ปลาอ่าวไทยลดวูบ



นายพงษ์ธร ชัยวัฒน์ รองประธานกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นภาครัฐจัดระเบียบไม่ให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ว่า เรือประมงกว่า 40% ต้องหยุดหาปลา แม้ว่าศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) จะผ่อนผันกฎระเบียบลดลงจาก 15 ข้อเหลือ 8 ข้อ แต่ปลาหน้าดินหายไปกว่า 40% ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ตลาดปลาแม่กลองที่เปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา รถบรรทุกขนาดใหญ่เคยวิ่งเข้าตลาดวันละ 40-50 ตู้ เหลือเพียง 2-3 ตู้ต่อวัน รถบรรทุกขนาดเล็กที่วิ่งเข้าวันละ 100 กว่าตู้ เหลือเพียง 10 ตู้ ทำให้แพปลาต้องคัดคนงานออก ขณะที่เรือประมงต้องวิ่งเคลียร์หนี้สินทั้งในและนอกระบบ

"ที่ระนองเรือที่มีอาชญาบัตรเครื่องมือจับปลาถูกต้อง มีเรืออวนลากเพียง 2 คู่ จากปกติมีมากกว่า 100 ลำ เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์การสะพานปลา (อสป.) จะรับมือกับผลกระทบอย่างไร เพราะรายได้จะลดลงจากที่เคยได้ค่าธรรมเนียมเรือประมงเทียบท่า 1% ของมูลค่าปลา การขายน้ำแข็ง ค่าจอดรถ"

ปลาในทะเลอ่าวไทยขณะนี้ การปิดอ่าวเพื่อให้ปลาวางไข่เริ่มล้มเหลว ทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร มีระบบส่วย เรือประมงที่ต้องการละเมิดกฎหมายจับปลา 30-50 ลำ จ่ายค่าส่วยลำละ 3-5 แสนบาท กำไรยังเหลือลำละเป็นล้านบาท มาปีนี้ปิดอ่าวไทยอีก มีเรือจ่ายส่วย 100 กว่าลำเข้าไปจับปลาในเขตห้าม โดยเก็บลำละ 5 แสนบาท ฉะนั้นการปิดอ่าวตัว ก.ในอ่าวไทยจะล้มเหลวอีก เพราะวงจรปลาถูกตัดไปตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ นายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย กล่าวถึงแผนการนำเข้าปลาจากต่างประเทศมาชดเชยปลาที่ขาดแคลนในไทยว่า คงต้องรออีกประมาณ 1 เดือนให้คณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียปรับ ครม.ก่อน การเจรจาให้อินโดฯเปิดน่านน้ำจับปลาน่าจะสะดวกขึ้น เท่าที่ดูจากเงื่อนไขให้เรือประมงต่างชาติต้องลงทุนหรือร่วมทุนแปรรูปสัตว์ น้ำเบื้องต้น ก็คงจะมีการลงหุ้นกับคู่ค้าในอินโดฯต่อไป เช่น การร่วมหุ้นในโรงงานทำเนื้อปลาบดหรือซูริมิเพื่อส่งออกมาไทยอีกทอดหนึ่ง

เรือประมงนอกน่านน้ำของไทย จับปลาที่อินโดนีเซียมากที่สุด แต่หยุดหาปลามา 8 เดือนแล้ว เนื่องจากทางรัฐมนตรีกระทรวงการประมง ต้องการตรวจสอบความถูกต้องของเรือว่าทำประมงถูกกฎหมายหรือไม่ ต้องยอมรับว่า เขตอินโดฯเหนือที่อยู่ใกล้ไทย ตั๋วปลอมหรือใบอนุญาตจับปลาไม่ถูกกฎหมายมีมาก ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงแช่น้ำแข็งจากปัตตานี สงขลา และนครศรีธรรมราช จับปลาได้ประมาณ 3-4 แสนตัน/ปี เมื่ออินโดฯจะตรวจสอบ เรือเหล่านี้จะวิ่งกลับไทยหมด เหลือแต่เรือประมงที่ถูกต้องให้อินโดฯตรวจสอบ

ในส่วนการประมงเขตอินโดฯใต้ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสมาคม จับปลาโดยถูกต้องตามกฎหมาย จับได้ปีละประมาณ 3-4 แสนตัน

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #115  
เก่า 21-07-2015
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default


ประชาชาติธุรกิจ
21-07-15


จัดระเบียบ "ประมงถูกกม." อวนลาก-รุน ไต๋ต่างด้าวหมดสิทธิ์ลุ้น



ใกล้เข้ามาทุกขณะ เพราะปลายเดือนนี้รัฐขีดเส้นตายให้เรือประมงที่ล่องหน ต้องมารายงานตัว มิเช่นนั้นจะถูกตัดสิทธิ์ไม่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุน อาทิ การได้รับใบอาชญาบัตรใหม่จับปลาประเภทต่าง ๆ ภายหลังจากทราบจำนวนเรือประมงที่ชัดเจนในสิ้นเดือนนี้แล้วนำมาคำนวณกับจำนวน ทรัพยากรสัตว์น้ำ ทั้งประเภทผิวน้ำ หน้าดิน และปลากะตัก หากทรัพยากรมีมากพอ ก็อาจจะออกใบอาชญาบัตรให้ หากมีน้อยแต่เรือมีมาก

รัฐจะช่วยเยียวยา หาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพให้ใหม่หรือปรับเปลี่ยนเครื่อง มือทำประมงใหม่ ซึ่งตัวเลขของกรมเจ้าท่าล่าสุดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีเรือประมงทุกประเภท 42,051 ลำ มารายงานตัวต่อภาครัฐประมาณ 2.8 หมื่นลำ ยังเหลือ 1 หมื่นกว่าลำไม่มารายงานตัว

"เราต้องการข้อมูลที่ชัดเจน รถโมบายเคลื่อนที่ของกรมประมงและกรมเจ้าท่าจึงได้ขยายเวลารับจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ อาชญาบัตร ที่เดียวเบ็ดเสร็จใน 22 จังหวัดติดชายทะเลจากวันที่ 15 ก.ค.นี้ ไปสิ้นสุดในปลายเดือน ก.ค.นี้แทน" นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2558 ได้พิจารณาในกรอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) โดยมอบหมายให้กรมประมง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องไม่ผิดระเบียบของ IUU และไม่กระทบกับการทำประมงพื้นบ้าน

ส่วนการดำเนินมาตรการคุมเข้มทาง กฎหมายสำหรับการทำประมงของเรือประเภทต่าง ๆ ที่เสนอ ครม. ได้แก่ 1.ทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ ใบอนุญาตทำการประมง (อาชญาบัตร) และสมุดบันทึกการทำประมง (Fishing Logbook) ไม่สามารถผ่อนผันได้

แต่ให้ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) กรมประมง และกรมเจ้าท่า ออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ร่วมกันรับจดทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือ อาชญาบัตร ที่เดียวเบ็ดเสร็จในระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค. 2558 ก็ขยายเวลาออกไปถึงปลายเดือน ก.ค.นี้

2.บุคลากรในเรือ ทั้งไต๋เรือ นายท้ายเรือ ช่างเครื่อง จะต้องมีบัตรประชาชน และนายท้ายเรือและนายช่างเครื่องจะต้องมีใบประกาศ อีกทั้งในเรือยังต้องมีทะเบียนลูกจ้าง ใบอนุญาตทำงาน สัญญาจ้างของแรงงานบนเรือ ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายบังคับไว้ อย่างไรก็ตาม ไต๋เรือและนายท้ายเรือ จะต้องเป็นคนไทยเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.สิทธิการทำประมงในเขตน่านน้ำไทย พ.ศ. 2482 และเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ส่วนช่างเครื่อง ให้ผ่อนผันเป็นคนต่างด้าวได้ แต่ต้องไปแก้ไขกฎระเบียบแรงงานตาม MOU ที่กำหนดไว้ว่าคนต่างด้าวต้องเป็นกรรมกรหรือแม่บ้านเท่านั้น นอกจากนี้ ในเรือประมงพื้นบ้าน ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ผ่อนผันให้นายท้ายเรือและนายช่างเครื่องเป็นคนเดียวกันได้ แต่ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น

3.มอบหมายกรมประมงหาแนวทางในการออกอาชญาบัตรแบบใบเดียวหลายเครื่องมือ และลดค่าอากรอาชญาบัตรให้เรือประมงพื้นบ้าน อีกทั้งให้เร่งดำเนินการจัดฝึกอบรมความรู้เรื่องการเขียน Fishing Logbook ให้กับผู้ประกอบการเรือประมงขนาด 30 ตันกรอส ตลอดจนหามาตรการบรรเทาผลกระทบที่เหมาะสมด้วย ทั้งหมด ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอกรอบการดำเนินงานมา

สำหรับ สถานการณ์ทางการประมงล่าสุดนั้น นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โดยทั่วไปเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เรือประมงออกทำการประมงมากขึ้น ยกเว้นในพื้นที่ที่ทะเลมีคลื่นลมแรงจัด เรือขนาดเล็กหยุดออกทำการประมง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น สตูล ตรัง กระบี่ เป็นต้น ในพื้นที่อื่น ๆ เรือประมงออกทำการประมงตามปกติ ส่วนการแจ้งเข้าออกเรือประมง ณ ศูนย์ PIPO 28 แห่ง พบว่าเรือประมงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไปมีการแจ้งเข้าออกมากขึ้น เรือประมงที่หยุดทำการประมงมีจำนวนลดลง ส่วนใหญ่เป็นเรือประมงที่ยังไม่มีใบอนุญาตทำการประมงหรือใบอนุญาตอื่นยังไม่ ครบถ้วน โดยพบว่าส่วนมากเป็นเรือที่ใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน และเครื่องมือทำการประมงปลากะตัก

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 27-03-2017
moon1245
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายน้ำ.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:29


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger