เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #121  
เก่า 28-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ดูแล 'บ้านน้ำท่วม' นานาเคล็ดลับปลอดภัยประหยัดเงิน



การดูแลบ้านก่อนและหลังน้ำท่วมเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้เจ้าของบ้านได้ซ่อมแซมกันได้อย่างถูกวิธี โดย เจือ คุปติทัฬหิ โซลูชั่นแม็กซีไมซ์เซอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด ให้ความเห็นว่า บ้านไม้ค่อนข้างมีปัญหาหลังน้ำลดเพราะเนื้อไม้มีการพองตัว ซึ่งควรให้แห้งแล้วทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ป้องกันความชื้น สำหรับไม้สักไม่ค่อยมีปัญหามากนัก แต่ถ้าไม้แดงเวลาแห้งเนื้อไม้อาจมีการปริแตกได้

สิ่งที่สำคัญเวลาเข้าไปตรวจบ้านที่ประตูและวงกบเป็นไม้ อาจเจอปัญหาปิดประตูไม่ได้ ไม่ควรใช้กบไสไม้เพราะหลังจากไม้แห้งอาจเข้ารูปเหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นปัญหาให้ปิดประตูไม่สนิท ขณะเดียวกันตัวโครงสร้างบ้านไม้ถ้ามีปัญหาให้ติดต่อวิศวกรเพราะช่วงน้ำท่วมอาจมีขอนไม้ที่มากับน้ำเชี่ยวพัดมาทำลายโครงสร้างได้

ส่วน บ้านปูน ตัวโครงสร้างมีปัญหาน้อย แต่สำหรับกำแพงที่มีรอยร้าวและน้ำซึมผ่านเข้าไปได้อาจมีฝุ่นผงอยู่ด้านใน ควรทำความสะอาดโดยกวาดฝุ่นไว้กองรวมกันแล้วค่อยตักใส่ถังขยะ เพราะถ้าใช้น้ำจากสายยางฉีดอาจทำให้ฝุ่นต่างๆ ไหลไปตามท่อและทำให้อุดตัน กำแพงปูนควรทิ้งให้แห้งประมาณ 7–14 วัน ซึ่ง สีที่เหมาะกับการทนน้ำจะเป็นสีพลาสติก ด้านบ้านที่ปูพื้นจากหินธรรมชาติเมื่อน้ำท่วมนานอาจมีรูพรุน แม้น้ำจะเลิกท่วมแต่ขอบโดยรอบยังมีน้ำซึมควรติดต่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ

“เมื่อน้ำแห้งและเข้าบ้านควรเปิดประตูหน้าต่างทุกบานเพื่อให้ลมเข้า และควรมีถุงมือและไม้ที่ใช้ในการทำความสะอาด หากส่วนใดเป็นมุมอับที่สัตว์มีพิษอาจซ่อนตัวได้ให้ลองฉีดยาฆ่าแมลงนำไปก่อนแล้วค่อยใช้ไม้เขี่ย”

พงศ์เทพ ตั้งประเสริฐกิจ โซลูชั่นพาร์ทเนอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด ให้ความรู้ว่าต้องทำความเข้าใจว่า น้ำที่ท่วมนั้นมักไม่ทำความเสียหายในระดับโครงสร้างกับตัวบ้าน แต่มักทำความเสียหายกับวัสดุตกแต่งต่างๆ เช่น พื้นผนัง ดังนั้นการดูแลจึงทำอะไรมากไม่ได้ในช่วงเวลาน้ำท่วม และอาจไม่ต้องกังวลมากนัก เนื่องจากทั้งพื้นและผนังคงรื้อออกก่อนขณะน้ำท่วมไม่ได้ ในช่วงเวลาน้ำท่วมจึงควรให้ความสนใจกับชีวิต และทรัพย์สินมีค่าชิ้นเล็กๆจะดีกว่า เช่น เรื่องความปลอดภัยจากไฟช็อต ไฟรั่ว ซึ่งควรตรวจสอบว่าไฟฟ้าได้ตัดดีแล้วหรือไม่

สิ่งอื่นๆ จะเป็นความเสียหายจากของที่ยกขึ้นสูง หรือของที่ยกหนีน้ำไม่ทัน เช่นตู้เย็น เครื่องซักผ้า สิ่งที่ต้องระวังคือของที่ยกขึ้นสูงนั้นยกไปตั้งไว้บนอะไร มีความแข็งแรงขนาดไหน หลายคนมักวางบนตู้ ชั้น เฟอร์นิเจอร์ หากเฟอร์นิเจอร์นั้นเป็นไม้ก็ต้องระวังการล้มลงมา เนื่องจากไม้ไม่ถูกกับน้ำ โดยเฉพาะไม้อัดเมื่อแช่น้ำนานๆ จะพอง เสียหาย แล้วรับน้ำหนักของที่เรายกไปวางไว้ไม่ได้ จะทำให้ของเหล่านั้นล้มตกลงมาเสียหายได้

สำหรับผนังบ้านที่ตกแต่งด้วยวอลเปเปอร์ หากน้ำเพิ่งท่วมเข้ามาใหม่ๆ หรือท่วมไม่นาน สามารถป้องกันความเสียหายได้ โดยการกรีดตัดวอลเปเปอร์ในส่วนที่โดนน้ำออก ส่วนที่ยังไม่โดนน้ำก็จะยังไม่เสียหายมากนัก เนื่องจากเป็นกระดาษน้ำสามารถซึมขึ้นสูงกว่าระดับน้ำที่ท่วมได้ การกรีดตัดก่อนจะช่วยเก็บรักษาส่วนที่อยู่เหนือน้ำได้ แต่หากบ้านแช่น้ำหลายวันแล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องทำเพราะอาจเสียหายจากน้ำไปแล้ว

หากที่บ้านมีประตูหรือบานกระจก จะต้องระมัดระวัง เพราะอาจเกิดแตกเสียหายได้ เมื่อเกิดแรงดันน้ำมากๆ ทั้งมาจากการเปิดปิดใช้งาน การเดินไปจนทำให้เกิดคลื่นไปกระแทกกับกระจก หรือประตูกระจก ก็จะทำให้เกิดความเสียหาย แตกร้าว หรือประตู หน้าต่าง หลุดออกจากรางได้เช่นกัน

การดูแลบ้านไม้กับบ้านปูนหลังจากน้ำลดจะต่างกันตรงที่ไม้จะเกิดปัญหามากหากเจอน้ำเพราะไม้จะบวมพอง หลังจากน้ำลดจึงอาจต้องรื้อไม้ที่แช่น้ำออกมาทิ้งไว้ให้แห้ง หากไม่เสียหายมาก ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่สำหรับบ้านปูนนั้นจะไม่ค่อยเกิดปัญหา

ในแง่ของโครงสร้างหากบ้านตั้งอยู่บนเสาเข็มลึก จะไม่ต้องกังวลในเรื่องบ้านทรุดเท่าใดนัก แต่หากบ้านตั้งอยู่บนเสาเข็มสั้น (เสาเข็มยาว 4-12 เมตร) อาจจะเกิดปัญหาการทรุดตัวได้

เมื่อน้ำลดแล้วการดูแลบ้านหลักๆ คงจะเป็นเรื่องการทำความสะอาดและตรวจสอบความเสียหาย ในการทำความสะอาดนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือ ท่อน้ำรอบบ้าน ให้ขุดลอกให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากน้ำที่ท่วมมักจะนำดินโคลนมาด้วยจะทำให้ท่อน้ำหรือคูระบายน้ำอุดตันตื้นเขินได้

การทำความสะอาดเบื้องต้น อาจทำความสะอาดที่พื้นคร่าวๆ เพื่อให้เดินได้สะดวก แต่ต้องระวังไม่ให้พื้นลื่น เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ หลังจากนั้นให้ทำความสะอาดจากส่วนบนลงมาด้านล่าง สิ่งของต่างๆที่อมน้ำให้ย้ายออกมาไว้นอกบ้าน เช่น เครื่องไม้ โซฟา กระดาษ เพื่อลดปัญหาเรื่องกลิ่นอับชื้นเน่าเหม็น เช่น ผนังติดวอลเปเปอร์ให้ทำการลอกออกแล้วนำไปทิ้งนอกบ้าน ชุดโซฟาเครื่องเรือนต่างๆ ให้นำออกไปตากแดด ไล่ความชื้น หากเป็นพื้นไม้ปาร์เกต์ ให้ทำการรื้อไม้ปาร์เกต์ออก นำไปผึ่งตากแดดไว้

หลังจากนั้นพยายามเปิดผิวพื้น และผนังให้ระบายอากาศ ระบายความชื้นออกมาได้สะดวก รอให้พื้นผนังแห้งอย่างน้อย 7 วันหลังน้ำแห้ง แล้วจึงทำการซ่อมแซม

ตรวจสอบงานระบบต่างๆ ทั้งไฟฟ้าและประปา การตรวจสอบระบบไฟฟ้าต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะอันตรายถึงชีวิตได้ ควรทำการปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งไม่ต่ำกว่า 7 วัน แล้วทำการสับคัตเอาต์ ปล่อยกระแสไฟเข้า หากยังมีการช็อตอยู่ให้ทิ้งไว้ให้แห้งต่อหรือตามช่างไฟมาทำการตรวจสอบ

ระบบประปาให้ทำการตรวจสอบถังน้ำทั้ง ถังบำบัด ถังเก็บน้ำ และถังดักไขมัน ให้ทำความสะอาดให้เรียบร้อย เอาดินโคลนออกจากถัง สำหรับถังบำบัด ให้นำเชื้อแบคทีเรียเติมลงในระบบฝั่งช่องที่มีลูกบอลพลาสติกเล็กๆ ก็จะกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ถังน้ำหากเป็นบนดินให้ตรวจสอบความเสียหาย และทำความสะอาดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่หากเป็นถังน้ำใต้ดินจะลำบากในการทำความสะอาดเพราะหากทำไม่ถูกต้องอาจทำให้ถังแตกเสียหาย

การเตรียมรับมือน้ำท่วมในอนาคต เนื่องจากเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าน้ำจะท่วมอีกเมื่อใด สิ่งที่ต้องเตรียมตัวคือเรื่องของสิ่งของต่างๆ ที่จะต้องพร้อมในการใช้งานเมื่อเกิดน้ำท่วม เช่น อาหารสำรอง ไฟฉาย ยารักษาโรค น้ำดื่ม น้ำใช้ หรืออุปกรณ์บำบัดน้ำเพื่อใช้สอยหรือระบายทิ้ง

ขณะเดียวกันอาจทำการตรวจสอบว่าน้ำเข้าบ้านมาจากที่ใดบ้าง พื้นที่ใดของบ้านจะมีน้ำเข้ามาก่อนหลัง แล้วสามารถวางแผนในการป้องกัน หรือชะลอให้น้ำเข้าบ้านเราได้ช้าลง หรือแจ้งเตือนการมาถึงของน้ำเพื่อที่จะเตรียมพร้อมและควรประเมินความยอมรับน้ำที่เข้าท่วมเสียก่อนว่าจะยอมให้เข้ามาได้ขนาดไหน เช่น ยอมให้เข้าได้ในระดับไม่เกิน 1 เมตร แสดงว่า ตั้งแต่ระดับพื้นจนถึง 1 เมตร จะต้องตั้งหรือวางสิ่งของที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย ไม่หนัก และเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ ที่อยู่ในระดับดังกล่าวจะต้องคงทนต่อการจมน้ำ และแข็งแรงเพียงพอในการรับน้ำหนัก

พีระพงษ์ บุญรังสี โซลูชั่นพาร์ทเนอร์ (หมอบ้าน) บริษัท เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ จำกัด เล่าว่า บ้านในเขตเมืองส่วนใหญ่มักเป็นบ้านปูน ขณะที่น้ำกำลังจะท่วม สิ่งที่ควรประเมินก่อน คือระดับความสูงของน้ำและความรุนแรงของสถานการณ์ ควรประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าแต่เนิ่นๆ จากนั้นจะได้วางแผนป้องกัน สิ่งที่ตามมาคือ การจัดเตรียมข้าวของต่างๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต และการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์เพื่อสร้างแนวป้องกันน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้น คือวัสดุอุปกรณ์ที่จะนำมาป้องกันน้ำท่วมนั้นค่อนข้างหาซื้อยากและมีราคาสูงกว่าปกติ รวมทั้งตัวช่างก็หาได้ยากด้วย ถ้าเป็นไปได้ควรเตรียมตัวล่วงหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ แนวทางในการปฏิบัตินั้นแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ เช่น ถ้าน้ำแค่ไหลผ่านระดับน้ำไม่สูงกว่า 20 เซนติเมตร การทำเพียงแผงกั้นน้ำบริเวณทางเข้าบ้านน่าจะเพียงพอ เพราะแรงดันและน้ำหนักของมวลน้ำนั้นไม่มากพอที่จะสร้างความเสียหาย วัสดุที่นำมาใช้ก็เป็นเพียงวัสดุชั่วคราวรื้อถอนได้ง่าย

แต่ถ้าระดับน้ำสูงประมาณครึ่งเมตรจำเป็นต้องทำแผงกั้นที่แข็งแรงถาวรมากขึ้น อุดปิดท่อระบายน้ำ โถชักโครก เนื่องจากน้ำจะพยายามรักษาระดับแรงดันให้สมดุล และจำเป็นต้องตัดกระแสไฟฟ้าที่ชั้นล่าง เนื่องจากปลั๊กไฟส่วนใหญ่มักติดตั้งสูงจากระดับพื้นชั้นล่างประมาณ 30 เซนติเมตร ในกรณีที่ระดับน้ำสูงเกินกว่าครึ่งเมตรควรจะอพยพออกจากบ้าน

ลองนึกดูว่าน้ำ 1 ลูกบาศก์เมตร มีน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ถ้าเกิดน้ำท่วมขังที่บ้านเป็นเวลานาน น้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม ที่กดทับลงบนพื้นบ้านขนาด 1 ตารางเมตร หรือซัดกระแทกแนวรั้วบ้านเป็นระยะ ๆ จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านได้มากแค่ไหน นอกจากนี้น้ำยังสามารถดันตัวเองผ่านเข้ามาทางรอยต่อ รอยแยก ตามพื้น ผนัง วงกบ ช่องเปิดซึ่งถ้าบ้านปูนก่อสร้างพื้นด้วยแผ่นพื้นสำเร็จน้ำสามารถซึมขึ้นตามรอยต่อแผ่นได้ ถ้าบ้านปลูกสร้างมานานแล้วน้ำสามารถซึมผ่านรอยต่อผนังกับวงกบ รอยแตกร้าวช่วงต่อพื้นกับผนัง ยาแนวกระเบื้องที่พื้น แม้จะมีการป้องกันน้ำเข้าทางประตูแล้วก็ตาม อาจจะพบน้ำซึมเอ่อบนพื้นบ้านอยู่บ้างก็ถือว่าเป็นปกติ

เมื่อน้ำลดแล้วสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจซ่อมแซมบ้าน ได้แก่ งบประมาณที่มี และรายการงานซึ่งควรตรวจสอบจากความเสียหายเริ่มจากแนวรั้วภายนอกไล่เข้ามาที่พื้น ผนัง เพดาน งานระบบไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล โครงสร้างเสาคานภายในตัวบ้าน จนถึงข้าวของเครื่องใช้ เครื่องเรือน ซึ่งควรซ่อมแซมตามลำดับความจำเป็นในการใช้งาน หลังจากล้างทำความสะอาดบ้านเสร็จแล้วควรรอจนกว่าตัวบ้านจะแห้งสนิทก่อนทำการซ่อมแซมซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาถึง 2 สัปดาห์

สำหรับการเตรียมบ้านรับน้ำท่วมในครั้งต่อไป สิ่งที่ควรใส่ใจได้แก่ ระบบท่อระบายน้ำไม่ให้อุดตัน พื้นบ้านชั้นล่างควรปรับเปลี่ยนใช้วัสดุปูพื้นที่ดูแลทำความสะอาดได้ง่าย เช่น กระเบื้องเซรามิก หรือซีเมนต์ขัด ควรจัดให้มีเบรกเกอร์ควบคุมปลั๊กไฟที่ระดับน้ำท่วมถึงแยกออกมาต่างหาก อาจออกแบบวิธีการติดตั้งแผงกั้นน้ำให้สามารถติดตั้งได้โดยสะดวกรวดเร็ว.




จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์วาไรตี้ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #122  
เก่า 28-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เทคนิคกำจัดเชื้อโรค สารเคมี สัตว์มีพิษที่มากับน้ำ และยังค้างอยู่ในบ้านหลังน้ำลด


น้ำท่วม พัดพาเชื้อโรคหลากหลายชนิดที่ปกติไม่ได้อยู่ในบ้าน หรือทำให้เชื้อโรคบางชนิดที่มีอยู่แล้วเจริญเติบโตมากขึ้น สารเคมีที่เคยนอนนิ่งอยู่ในซอกตู้ ใต้พื้นก็ลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ และเป็นคราบติดกระจายเป็นบริเวณกว้างหลังน้ำลด สัตว์มีพิษชนิดต่างๆ ก็ย้ายที่อาศัยจากนอกบ้านมาอยู่ตามซอกตู้ ใต้พื้น ใต้บันไดของบ้านของเราแทน

เพื่อป้องกันการเกิดโรคต่างๆที่มาจากเชื้อโรค, สารเคมี และสัตว์มีพิษ เมื่อน้ำลด เราคงต้องยอมเสียเวลาทำความสะอาด สำรวจตามจุดต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในบ้านกลับมามีบ้านที่อบอุ่น, ปลอดภัยอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านที่มีคุณตา คุณยาย และเด็กเล็กอยู่ในบ้านควรยิ่งต้องใส่ใจเป็นพิเศษ

น.พ.อิทธิชัย วัชรีคุปต์ แพทย์สาขาอายุรกรรมทั่วไป รพ.กล้วยน้ำไท (แผนกผู้สูงอายุ) กล่าวว่า ผู้สูงอายุและเด็กเล็กต้องเผชิญความเครียดจากสภาพน้ำท่วมขังหรือย้ายบ้านอยู่แล้ว เมื่อต้องกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค สารพิษ และสัตว์มีพิษจะยิ่งทำให้ร่างกายอ่อนแอลง และพร้อมจะเกิดโรคต่างๆได้ง่าย

“ความเครียด” ทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และ DHEA ที่หลั่งจากต่อมอาดรีนัลเสียสมดุลและมีส่วนทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดต่ำลง เสี่ยงทำให้เกิดโรคต่างๆได้ง่ายกว่าปกติ

ณัฐนันท์ ปัญญาโกศา นักสุขศึกษา กล่าวว่า สิ่งแรกที่เราสามารถทำได้อย่างง่ายๆ คือก่อนย้ายกลับเข้าไปในบ้าน เราควรสำรวจสิ่งต่างๆให้ทั่ว ก่อนจะเดินเข้าไปในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ควรสับคัตเอาท์ในบ้านลงก่อนที่จะเดินเข้าไปในบริเวณบ้านที่มีน้ำท่วมขังเพื่อป้องกันไฟดูด ควรเปิดประตู หน้าต่างให้รับแสงแดดจัดๆหลายๆวันเพื่อฆ่าเชื้อ และให้ลมโกรกเพื่อระบายอากาศ และความอับชื้น รวมทั้งเก็บกวาดกิ่งไม้ ทำความสะอาดตะกอน และคราบต่างๆที่มากับน้ำ โดยไล่ทำความสะอาดส่วนอื่นๆ อย่างละเอียด และควรนำผ้าที่อยู่ในที่อับมาซัก,ตากแดดจัดเพื่อฆ่าเชื้อ รวมทั้งต้องดูแลร่างกายทุกคนในบ้านให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่สุก และน้ำดื่มที่สะอาด หลังน้ำลดอาจเสี่ยงต่อการมีเชื้อโรค, สารพิษ และสัตว์มีพิษ

สำหรับเชื้อโรค เช่น เชื้อรา เราสามารถได้รับเชื้อจากการสัมผัสเชื้อราที่อยู่บนผนังที่อาจมีคราบเปียกชื้น, ใต้ตู้ที่อับชื้น, ผ้าม่าน, ในท่อแอร์, ด้านหลังวอลล์เปเปอร์, ในฉนวนกันความร้อนชนิดเส้นใย ใต้พื้นพรมที่ด้านบนอาจจะดูแห้ง, เสื้อผ้า และชุดชั้นในที่อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่อับ

เชื้อรามีหลายชนิด แต่ละชนิดทำให้เกิดโรคต่างกันไป ตัวที่ควรต้องระวังคือเชื้อราเดอร์มาโตไฟต์ซึ่งทำให้เกิดกลาก, เชื้อ Pityrosporum Ocbiculare และเชื้อ Malassezia Furfur ก่อให้เกิดโรคเกลื้อน, เชื้อ Tinea Nigra ทำให้เกิดโรคด่างดำ และเชื้อ Candida ที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด


วิธีกำจัดเชื้อรา

1.ทิ้ง ถ้าเป็นของไม่มีค่าควรนำไปทิ้ง

2.ทำให้แห้งก่อนฆ่าเชื้อ พรม ผนัง วอลล์เปเปอร์ เสื่อน้ำมัน พื้นไม้ กระเบื้องยาง สำรวจดูข้างใต้ว่าเปียกหรือไม่ ถ้าเปียกให้ทำให้แห้ง อาจใช้พัดลมเป่า หรือใช้เครื่องดูดน้ำออก เปิดห้องให้อากาศถ่ายเท และเพื่อลดความชื้นของห้อง

3.เปลี่ยนใหม่ เช่น ฝ้า, ฉนวนหุ้มท่อแอร์

4.ถอดซัก และตากแดดจัดๆ จนกว่าจะแห้งสนิท เช่น ผ้าม่าน, ผ้าปูที่นอน, ผ้าห่ม ฯลฯ ถอดออกไปซักและตากแดดจัดๆ ให้แห้งสนิท

5.เปิดขึ้นไปดูและทำให้แห้งก่อนฆ่าเชื้อ เช่น เส้นใยลดความร้อนที่อยู่ในฝ้าควรเจาะขึ้นไปดู ถ้าพบเชื้อราให้กำจัดส่วนที่มีเชื้อราทิ้ง ส่วนที่ไม่พบเชื้อราให้ทำให้แห้งแล้วใส่น้ำยาฆ่าเชื้อในบริเวณใกล้เคียง


ส่วนเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อเลปโตสไปร่าที่ก่อให้เกิดโรคฉี่หนู โรคนี้มาได้จากทั้งหนูและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ มักจะพบในบริเวณที่น้ำท่วมขัง หรือบริเวณที่ชื้นแฉะ เกิดจากการที่สัตว์ เช่น หนู, สุนัข, แมว, วัว ฯลฯ ปัสสาวะลงในน้ำหรือดิน สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีบาดแผลเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น และยังเข้าสู่ร่างกายได้ทาง หู จมูก และปาก เชื้อจะสามารถอยู่ในธรรมชาติได้นานถึง 30-45 วัน

วิธีทำความสะอาด กำจัดบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง หรือชื้นแฉะโดยการทำให้แห้ง แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด


เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร เช่น อหิวาตกโรค, โรคบิด, โรคไทฟอยด์

วิธีทำความสะอาด กำจัดบริเวณขยะสด และบริเวณที่แมลงวันตอม ทำความสะอาดพื้นผิวบริเวณที่คาดว่าอาจจะมีอุจจาระปนเปื้อน


เชื้อปรสิต เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือน ยุง ฯลฯ
วิธีทำความสะอาด ทำความสะอาดคราบดินทรายต่างๆ ที่อาจมีไข่พยาธิติดมา และถ้ามีเด็กเล็กควรล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร และระวังไม่ให้เด็กเอามือเข้าปากหลังจากคลานบนพื้น รวมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง


สารพิษ สารพิษในบ้านที่อาจยังหลงเหลืออยู่บนพื้นบ้านหลังน้ำท่วม

1.ยาฆ่าหนูชนิดก้อน ถ้าซึมเข้าผิวหนังอาจส่งผลต่อระบบประสาททำให้เกิดอาการงุนงง อาเจียน ควรรีบพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ

2.ยาฆ่าปลวก ถ้าซึมเข้าผิวหนังอาจทำให้เป็นผื่นแดง ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการ

วิธีทำความสะอาด ควรใช้น้ำเปล่าล้างให้สะอาด ถ้าใช้น้ำยาสารเคมีในน้ำยาอาจทำปฏิกิริยากับสารที่ตกค้างได้


สัตว์มีพิษ

1.งู มีงูหลายชนิดที่อาจเข้ามาอาศัยในบ้านเราได้เนื่องจากงูชอบที่แห้ง เช่น งูเหลือม งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ งูแมวเซา งูกะปะ ฯลฯ โดยปกติแล้วเมื่อเราย้ายกลับเข้ามาในบ้าน ถ้าไม่มีอาหาร และมีคนอยู่ในบ้านเกิดเสียง งูมักจะย้ายออกไปเองเพราะงูชอบอยู่ในที่เงียบ

วิธีกำจัด หลีกเลี่ยงการมีพื้นที่รกไม่ได้ใช้งานในบ้าน และไม่ให้มีหนูในบ้าน เพราะหนูเป็นอาหารของงู

2.ตะขาบ

วิธีกำจัด กำจัดบริเวณที่รกและแดดส่องไม่ถึง

3.ยุง

วิธีกำจัด กำจัดแหล่งน้ำที่นิ่งขังอยู่ในบ้าน

4.แมงป่อง

วิธีกำจัด กำจัดเศษใบไม้ใบหญ้าที่กองสุมอยู่รอบบ้านออก เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของแมงป่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้ำท่วมจะทิ้งความเสียหายไว้มากมาย แต่ทุกคนทุกครอบครัวก็ไม่ควรท้อแท้หรือสิ้นหวังไปกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ควรคิดในแง่บวกและให้กำลังใจกัน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ท่านอาจยังรู้สึกสูญเสียที่เห็นบ้านที่อยู่มานานต้องเสียหาย ลูกหลานและคนใกล้ชิดควรช่วยกันดูแลและวางแผนช่วยกันทำความสะอาด กำจัดสัตว์พิษและสิ่งสกปรกอย่างจริงจัง เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติเหมือนเดิม




จาก ....................... บ้านเมือง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 29-11-2011 เมื่อ 10:53
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #123  
เก่า 29-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


'คู่มือประชาชน' ป้องกันโรคร้ายแฝงน้ำท่วม



มือสะอาด-ร่างกายสะอาดป้องกันโรค

'มือ' เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สัมผัสกับร่างกายของตนเอง และสิ่งแวดล้อมทั่วๆไป ถ้ามือสกปรกก็จะเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคได้ โดยมืออาจเปรอะเปื้อนสิ่งสกปรก เช่น ขยะมูลฝอย อาหารดิบ ฯลฯ

ผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจมีโอกาสที่จะใช้มือสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของตัวเอง และเชื้อจะไปปนเปื้อนกับสิ่งของรอบๆตัว ทำให้คนอื่นๆที่ใช้มือหยิบจับสิ่งของเหล่านั้นได้รับเชื้อโรคแล้วนำเข้าสู่ร่างกายเมื่อใช้มือมาจับ ดังนั้นจึงต้องดูแลรักษาให้ "มือสะอาดและมีสุขภาพดี" ตัดเล็บมือให้สั้นอยู่เสมอ กรณีมีแผลที่มือและนิ้วมือต้องรักษาให้หายหรือใส่ยา ปิดปลาสเตอร์ไว้ และล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล ทำความสะอาดมือทุกครั้ง

- หลังไอ จาม หรือสั่งน้ำมูก

- ก่อนและหลังจากสัมผัสผู้ป่วย

- ก่อนรับประทานอาหาร

-ก่อนและหลังการเตรียม และป้อนอาหารให้

วิธีที่ง่ายสะดวก และประหยัดที่สุดคือ การล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด โดยถูซอกนิ้วมือ ฝ่ามือ หลังมือ และรอบข้อมือให้ทั่วถึง แล้วเช็ดมือให้แห้งด้วยผ้าสะอาด


การดูแลบาดแผล

บาดแผลที่ดูแลไม่ดี อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น แผลติดเชื้อจากแบคทีเรีย เกิดหนอง เป็นแผลเรื้อรัง เกิดการเน่าของเนื้อเยื่อ จนบางครั้งอาจทำให้ต้องตัดอวัยวะส่วนนั้นทิ้งไป หรือเสียชีวิตได้ การปฏิบัติเมื่อเกิดบาดแผลมีดังนี้

- แผลข่วน แผลถลอก หรือแผลแยกของผิวหนังที่ไม่ลึก จะมีเลือดออกเล็กน้อย และหยุดเองได้ แผลพวกนี้ไม่ค่อยมีอันตราย ให้ทำความสะอาดบาดแผล โดยใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และปิดปากแผล แผลก็จะหายเอง

- แผลฉีกขาด เป็นแผลที่เกิดจากแรงกระแทก หากเป็นวัสดุที่ไม่มีคม แผลมักฉีกขาดขอบกะรุ่งกะริ่ง แผลชนิดนี้เนื้อเยื่อถูกทำลายและมีโอกาสติดเชื้อมาก ควรทำความสะอาดบาดแผลให้สะอาด ถ้าบาดแผลลึกมากควรนำส่งโรงพยาบาล เพราะผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายจากการติดเชื้อโรค


การปฏิบัติตัวเมื่อถูกสัตว์ แมลงมีพิษกัด

'งูกัด' เป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจพบได้กรณีน้ำท่วม ผู้ถูกงูกัดควรดูแลรักษาตนเองเบื้องต้น ดังนี้

- ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัดบางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่ได้รับพิษ เพราะบางครั้งงูพิษกัด แต่ไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีที่ได้รับพิษงู ผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรงทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง

- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด (ถ้ามี) ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ คือ กรีดแผล ดูดแผล ใช้ไฟ/ไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน การกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษาผู้ถูกงูกัด แต่จะมีผลเสีย และที่สำคัญทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาล

- เคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด การเคลื่อนไหวร่างกายมากๆ อาจจะทำให้มีการดูดซึมพิษงูจากบริเวณที่ถูกกัดเข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือดมากขึ้น และถ้าทำได้ให้ใช้ไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดและใช้ผ้าพันยึดหรือผ้าสะอาดพันทับให้แน่นพอประมาณ คล้ายการปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหัก หรือข้อมือ ข้อเท้าซ้น

- ไม่ควรขันชะเนาะ อาจทำให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเป็นเนื้อตาย

- นำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เร็วที่สุด

- ระหว่างการนำส่ง ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ช่วยให้หายใจ เช่น การช่วยหายใจแบบปากต่อปาก จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอที่จะไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางอย่าง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา มีพิษทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ



โรคติดต่อที่พบบ่อย ช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด

'โรคผิวหนัง' ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคน้ำกัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็น เวลานาน

อาการในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริ่มมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้า และผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก อาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้

การดูแลตนเองเบื้องต้น ควรหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำโดยไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องย่ำน้ำ ควรใส่รองเท้าบู๊ตกันน้ำ และเมื่อกลับเข้าบ้าน ควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วเช็ดเท้าให้แห้ง สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น หลังย่ำน้ำใช้น้ำสะอาดใส่ถัง เกลือแกง 1-2 ช้อนชา แช่เท้า 10 นาที เช็ดให้แห้ง และหากมีอาการเท้าเปื่อย คัน ให้ทายารักษาตามอาการ

หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน

ถ้าป่วยเป็น 'โรคตาแดง' การดูแลตนเองเบื้องต้นนั้นเมื่อมีอาการของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา หรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยใช้ติดต่อกันประมาณ 7 วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆร่วมกัน และไม่ควรไปในที่มีคนมาก เพื่อไม่ให้โรคแพร่

ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลาภายใน 1 สัปดาห์ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง

สำหรับ 'โรคอุจจาระร่วง' หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมต่อได้ตามปกติ พร้อมป้อนสารละลายน้ำตาลเกลือแร่บ่อยๆ

หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมผงชง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่สลับกันไป

ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทำให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น

ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ (โออาร์เอส) หรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยผสมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในน้ำต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวดกลม หรือ 750 ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ ทดแทนน้ำและเกลือแร่ หากดื่มไม่หมดใน 1 วัน ให้เททิ้ง

หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชักหรือซึมมาก ต้องไปพบแพทย์โดยเร็ว

ข้อมูลจาก : คู่มือประชาชนสำหรับป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม, สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข



น้ำดื่ม-น้ำใช้สะอาด

วิธีการทำน้ำดื่ม-น้ำใช้ให้สะอาด

1. ต้มให้เดือดนาน 5 นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคในน้ำ และช่วยทำลายความกระด้างของน้ำได้ น้ำที่นำมาต้มควรเป็นน้ำที่ใสสะอาดผ่านการกรองหรือทำให้ตกตะกอนแล้ว

2. ใช้สารส้มกวนในน้ำ สังเกตตะกอนในน้ำเริ่มจับตัว นำสารส้มออกใช้มือเปล่ากวนน้ำต่ออีก 1-2 นาที ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน ใช้สายยางจุ่มไปที่ก้นภาชนะบริเวณที่เกิดตะกอน ดูดตะกอนออกจนหมด เหลือแต่น้ำใส เติมคลอรีนตามปริมาณและวิธีการที่กำหนดก่อนการนำไปใช้

3. การใช้คลอรีน เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ทำได้โดย

- คลอรีนชนิดผง ผสมผงปูนคลอรีน 60% ในอัตราส่วนคลอรีน 1/2 ช้อนชาในน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันทิ้งไว้ให้ตกตะกอน รินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำใสผสมในน้ำสะอาด 10 ปี๊บ ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีก่อนนำไปใช้

- คลอรีนชนิดเม็ด มีหลายขนาด เช่น ขนาด 2.5 กรัม 3 กรัม หรือ 5 กรัมต่อเม็ด ให้ผสมน้ำในสัดส่วนตามฉลากที่ระบุไว้ข้างกระป๋อง

- คลอรีนชนิดน้ำ ใช้หยดลงในน้ำ 1-2 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร

4. ปิดฝาภาชนะใส่น้ำให้มิดชิด และจัดให้มีภาชนะที่สะอาดสำหรับตักน้ำ ในกรณีใช้น้ำดื่มบรรจุขวด จะต้องดูตราเครื่องหมาย อย. (ก่อนดื่มให้สังเกตความสะอาดของน้ำภายในขวดว่ามีสิ่งปลอม ปนหรือไม่) ควรทำลายขวด ภาชนะบรรจุโดยทุบบีบให้เล็กลง ก่อนนำไปทิ้งในถุงดำ เพื่อง่ายและสะดวกต่อการนำไปกำจัด


อาหารสุก-สะอาดปลอดภัย

การใส่ใจอาหารที่รับประทาน ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องปรุง ภาชนะที่ใช้ในการประกอบอาหาร ภาชนะใส่อาหาร ต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ เก็บรักษาอาหารให้มิดชิดปลอดภัยจากแมลงวันและสัตว์นำโรคเป็นสิ่งสำคัญ ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่เน่าเสียได้ง่าย เพื่อป้องกันการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร ต้องมีพฤติกรรมอนามัยที่ถูกต้อง คือ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหารและหลังขับถ่าย

ในสถานการณ์น้ำท่วม หากได้รับอาหารกล่อง หรืออาหารบรรจุถุงพร้อมบริโภค ควรกินภายใน 2-4 ชั่วโมง ไม่ควรเก็บอาหารไว้นานๆ ข้ามมื้ออาหาร สังเกตลักษณะสภาพ สี กลิ่นของอาหารว่า บูด เสีย หรือไม่ หากอาหารมีลักษณะผิดปกติ ห้ามชิมหรือกิน ให้ทิ้งในถุงดำ และนำไปกำจัดต่อไป หากต้องนำอาหารค้างมื้อมากินควรอุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อน

อาหารจากการบริจาค เช่น อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องกระป๋อง ก่อนจะบริโภค ควรตรวจวันหมดอายุ หรือดูสภาพ สี กลิ่นและภาชนะบรรจุ หากหมดอายุหรือมีลักษณะผิดปกติให้ทิ้งทันที




จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #124  
เก่า 30-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ปฏิบัติการตรวจสอบไฟฟ้า!! รู้ระวังก่อนใช้หลังน้ำลด



ภาวะน้ำท่วมขณะนี้แม้จะยังไม่สิ้นสุด บางพื้นที่ยังคงมีระดับน้ำสูงแต่ทว่าบางพื้นที่น้ำเริ่มลดระดับลง ขณะที่บางบ้านเรือนเร่งทำความสะอาดเตรียมขนย้ายสัมภาระกลับเข้าที่พักดังเดิม

ช่วงน้ำท่วมนอกเหนือจากอันตรายจากสัตว์มีพิษ การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ คงต้องยิ่งเพิ่มความระมัดระวัง เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลาย

ทวายุทธ เรืองมาลัย ผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบำรุงรักษาระบบจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวงเขตบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ให้ความรู้แนะนำถึง การใช้ไฟฟ้าหลังน้ำท่วม พร้อมเล่าถึงปฏิบัติการไฟฟ้าของเจ้าหน้าที่ช่วงวิกฤติน้ำท่วมว่า การใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ใดๆ ควรต้องมีความรู้ความเข้าใจ โดยเฉพาะช่วงน้ำท่วมไม่ว่าจะเป็นช่วงที่น้ำมาใหม่ๆ กำลังเริ่มท่วม หรือแม้แต่สถานการณ์ขณะนี้ที่ระดับน้ำเริ่มลดลง

“ช่วงแรกที่น้ำกำลังท่วม เวลานั้นมีความโกลาหลเกิดขึ้นไม่น้อย ทั้งเรื่องการอพยพ ขนย้ายสิ่งของไว้ในที่สูงเพื่อให้พ้นจากน้ำฯลฯ ปัญหาที่เกิดกับไฟฟ้าที่พบเวลาที่น้ำท่วมเพิ่มสูงขึ้นมากๆ มีทั้งเรื่องของมิเตอร์ไฟฟ้า อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ปลั๊กไฟที่น้ำท่วมถึงจมน้ำฯลฯ ก็จะมีผู้โทรฯ เข้ามาแจ้งขอให้เจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยแก้ไขอย่างต่อเนื่องซึ่งพวกเราก็เร่งเข้าไปดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เกิดความปลอดภัย”

อย่างกรณีการเลื่อนมิเตอร์ไฟให้พ้นจากน้ำท่วม ต้องทำงานแข่งกับเวลาที่มีอย่างจำกัดทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับประชาชน อุปสรรคก็มีอยู่ไม่น้อยทั้งเรื่องการเดินทาง โดยช่วงน้ำท่วมซึ่งไม่สามารถเดินทางได้เหมือนในยามปกติต้องใช้เวลา ถนนหลายสายน้ำท่วมสูงก็ต้องใช้เรือเป็นพาหนะเพื่อเข้าไปในพื้นที่ ขณะที่รถก็วิ่งได้ตามเส้นทางที่ยังผ่านไปได้เท่านั้น

“ช่วงน้ำท่วมปัญหาที่เกิดขึ้นกับไฟฟ้าพบหลายส่วน บางบ้านน้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน ขณะที่บางบ้านน้ำเข้าไปในบ้านท่วมปลั๊กไฟฯลฯ อย่างในเขตพื้นที่บางใหญ่ บางบัวทองซึ่งที่นี่มีน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ภาคสนามที่ปฏิบัติงานเร่งระดมสรรพกำลังแก้ไขให้บริการแก่ประชาชนซึ่งนาทีการปฏิบัติงานเป็นเหมือนนาทีชีวิตที่เราจะต้องเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อน ดูแลให้เกิดความปลอดภัยอย่างที่สุด”

จากที่กล่าวในเรื่องของไฟฟ้าต้องมีความรู้ความเข้าใจ ถึงแม้เราจะเป็นช่างเป็นเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมมาแล้วก็ตามก็ไม่อาจประมาทได้ ยิ่งภาวะนี้ที่น้ำท่วมขังต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้การทำงานทางน้ำอาจมีอันตรายรอบด้านที่อาจคาดไม่ถึงเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นพาหนะที่เปลี่ยนจากรถมาเป็นเรืออันตรายจากสัตว์มีพิษหรือสัตว์เลื้อยคลานที่หนีน้ำขึ้นมาบนต้นไม้ หรือเสาไฟฟ้าฯลฯ

“การปฏิบัติงานในสถานการณ์ดังกล่าว ความแห้งถือเป็นสิ่งสำคัญ และแม้เจ้าหน้าที่จะมีอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็น หมวก ถุงมือ เสื้อผ้าที่ออกแบบสำหรับป้องกันไฟฯลฯ ช่วยป้องกันภัยระดับหนึ่ง แต่อย่างไรแล้วในภาวะน้ำท่วมจำเป็นจะต้องป้องกันตนเองไม่ให้ร่างกายเปียกชื้นและต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น”

ส่วนเวลานี้ที่หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดระดับลง การจะใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ไฟ ต้องไม่ประมาทควรตรวจสอบให้พร้อม โดยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญและการที่มีน้ำอยู่ในบ้านไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตามนั้นไม่ควรใช้ไฟฟ้าและอาศัยอยู่

อย่างไรก็แล้วแต่ก็เข้าใจดีว่าผู้ที่จากบ้านไปนานย่อมมีความเป็นห่วงบ้าน ดังนั้นการจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้านอย่างปลอดภัย ถ้ามีน้ำท่วมขังในบ้านต้องตัดไฟยกเมนเบรกเกอร์ลงตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีไฟฟ้า หากมีความกังวลควรติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วซึ่งเครื่องมือดังกล่าวจะช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นไฟรั่วเล็กๆน้อยๆ หรือกรณีที่ยกเบรกเกอร์ลงแล้วแต่พบว่ายังมีไฟฟ้าอยู่ควรแจ้งเจ้าหน้าที่มาตัดไฟและระหว่างรอพยายามอยู่ให้ห่างจากบริเวณที่มีไฟฟ้า

“กรณีที่บ้านพักอาศัยเริ่มคืนกลับสู่ภาวะปกติ บ้านควรต้องแห้งสนิทไม่ควรมีน้ำท่วมขังอยู่ แต่หากมีความจำเป็นจะกลับเข้ามาอยู่อาศัยก็ควรให้ผู้ที่มีความชำนาญมาตรวจสอบให้แน่ใจก่อน ส่วนการจะใช้ไฟฟ้าต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งการใช้ไฟฟ้าตัวต้องไม่เปียกชื้นต้องแห้งห้ามสัมผัสน้ำฯลฯ ซึ่งสิ่งที่มักเป็นปัญหาคือ ไฟดูด ไฟรั่ว”

สำหรับ ปลั๊กที่น้ำท่วมถึงจมอยู่ในน้ำแนะนำว่าควรเปลี่ยนใหม่ ทั้งนี้เพราะด้านในปลั๊กซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ทองเหลือง ทองแดง เมื่อแช่น้ำอยู่นานอาจมีคราบสกปรกหรือมีสนิม คราบดิน คราบน้ำอยู่ในนั้นอาจทำให้ไฟฟ้าลัดวงจร เกิดความร้อนขึ้นโดยง่าย

นอกจากนี้ยังมีคำถามพบบ่อยกรณี ระยะปลอดภัยจากจุดเกิดเหตุหรือสงสัยว่ามีไฟฟ้ารั่วอยู่ในน้ำ สิ่งนี้คงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกัน ทั้งนี้เพราะเพียงแค่น้ำสะอาด น้ำสกปรกการนำไฟฟ้าก็มีความต่างกัน ยิ่งบริเวณนั้นมีโลหะอยู่ใกล้ๆ ยิ่งมีความอันตราย ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงควรหลีกเลี่ยงและออกห่างจากจุดที่สงสัยว่าจะมีไฟรั่ว สังเกตจากบริเวณที่มีน้ำท่วมอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการต่อหรือเสียบปลั๊กใช้อยู่ นอกจากนี้ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าหรือช่างไฟให้ทำการตัดไฟทันที หรือหาวิธีปลดเมนสวิตช์หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์โดยเร็ว เป็นต้น

อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆที่แช่น้ำอยู่นาน หากเปลี่ยนได้ก็ควรเปลี่ยน แต่หากมีความประสงค์ใช้งานควรให้ช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความชำนาญตรวจสอบก่อนว่าสามารถนำกลับมาใช้ได้หรือไม่ ทั้งนี้การนำมาใช้โดยทันทีอาจทำให้เกิดอันตรายไฟฟ้าลัดวงจร ไฟลุกไหม้ ฯลฯ

“การตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ให้มีความพร้อมก่อนนำมาใช้นั้นมีความสำคัญ และไม่ควรแก้ไขด้วยตนเอง ควรให้ช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความชำนาญเป็นผู้ตรวจสอบ นอกจากนี้หลังน้ำลด ควรตรวจสอบสภาพสายไฟฟ้า โดยสายไฟควรมีสภาพสมบูรณ์ไม่แตกร้าว ไม่บวม ไม่เปียกชื้น เช่นเดียวกับ เต้ารับ สวิตช์ ชนิดติดตั้งบนผนังต้องมีสภาพสมบูรณ์ไม่เปียกชื้นหรือแตกเสียหายและแห้งสนิทไม่มีน้ำขังในรูปลั๊ก”

การใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นในสถานการณ์ใดผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบำรุงรักษาระบบจำหน่ายฯ แนะนำฝากทิ้งท้ายอีกว่า สิ่งที่ต้องเน้นย้ำคือ ความไม่ประมาทและหากพบเห็นสิ่งใดที่ผิดปกติเกี่ยวกับไฟฟ้า ควรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าเพื่อเข้าไปดำเนินการแก้ไขให้เกิดความปลอดภัย

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมคงต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น เพราะน้ำกับไฟเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน และก่อนจะกลับเข้าพักอาศัยในบ้านช่วงเวลานี้ที่น้ำเริ่มลดระดับลงควรวางแผนเตรียมความพร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ สำหรับการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ทั้งนี้จะได้เกิดความแน่ใจ ความปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้า.


..............................................................................................


ข้อควรปฏิบัติห่างไกลอันตรายไฟฟ้าดูด

ไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะช่วงหน้าฝนหรือคราวเกิดอุทกภัย น้ำท่วมขังภายในบ้าน หากไม่มีการป้องกัน ตรวจสอบบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าก็อาจเป็นต้นเหตุให้เกิด ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าลัดวงจรก่อเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินได้

ส่วนหนึ่งจาก คู่มือข้อควรปฏิบัติการใช้ไฟฟ้าก่อนและหลังน้ำท่วมที่การไฟฟ้านครหลวง เผยแพร่แนะนำการป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูดว่าควรหลีกเลี่ยง สังเกต และเพิ่มความระมัดระวังในสิ่งต่อไปนี้

1. กิ่งไม้ใกล้แนวสายไฟฟ้า กิ่งไม้อาจถูกลมพัดไปแตะสายไฟฟ้าแรงสูงจึงไม่ควรเข้าใกล้หรือจับต้องต้นไม้เพราะอาจถูกไฟฟ้าดูดได้

2. สายไฟขาด หากพบสายไฟฟ้าขาดห้อยลงมาอย่าเข้าไปใกล้เป็นอันขาดเพราะอาจจะมีกระแสไฟฟ้าอยู่

3. เสาโคมไฟสาธารณะ ที่เป็นเสาเหล็กอย่าเข้าไปแตะหรือจับเสาเพราะอาจจะมีกระแสไฟฟ้ารั่ว




จาก ....................... เดลินิวส์ คอลัมน์วาไรตี้ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #125  
เก่า 30-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รา...ไม่ได้รับเชิญ



ตู้ โต๊ะ เตียง โซฟา ผ้าม่าน พรมตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ ที่จมน้ำอยู่นานร่วมเดือน ดูดซับความชื้นไว้เต็มทุกอณู อัดแน่นด้วยเชื้อรา แบคทีเรียและรา

ตู้ โต๊ะ เตียง โซฟา ผ้าม่าน พรมตลอดจนเครื่องใช้อื่นๆ ที่จมน้ำอยู่นานร่วมเดือน ดูดซับความชื้นไว้เต็มทุกอณู อัดแน่นด้วยเชื้อรา แบคทีเรียและสารพัดเชื้อโรค

การทำความสะอาดหลังน้ำท่วม ซึ่งผนังบ้านและสิ่งของเครื่องใช้ต่างมีคราบเชื้อราเกาะติด ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์สว่าง แสงหิรัญวัฒนา หัวหน้าศูนย์ระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือยางและรองเท้าบูต เพื่อลดโอกาสการสัมผัสและสูดดมเชื้อรา ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบตามมาได้

"ความเสี่ยงของการทำความสะอาดบ้านที่ถูกน้ำท่วม ประเด็นแรกที่ต้องระวังคือไฟฟ้า ต้องแน่ใจว่าบ้านเราหรือละแวกใกล้เคียงไม่มีปัญหาเรื่องไฟรั่ว เพราะจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้ ไฟฟ้าเป็นสาเหตุการเสียชีวิตผู้คนจำนวนมาก จากนั้นจึงมองมาที่เรื่องของการทำความสะอาดบ้านที่มีเชื้อราในบ้าน" คุณหมอแนะนำ

วิธีทำความสะอาดบ้านแบบเสี่ยงน้อยที่สุด ควรเลือกทำในช่วงที่ยังมีน้ำอยู่ ไม่ควรรอจนน้ำแห้ง เพราะจะทำให้สปอร์ของราหรือคราบน้ำท่วมแห้งจนเกิดเป็นฝุ่น เมื่อลงมือปัดกวาดแล้วจะฟุ้งกระจายไปทั่ว จนเข้าจมูกลงสู่ปอด ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อได้

ผู้ที่มีโรคประจำตัวต้องระวังตัวเองเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อราด้วยมือเปล่า เพราะเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบต่อโรคที่เป็นอยู่มากกว่าคนปกติ ควรสวมเสื้อผ้า หน้ากากอนามัยให้มิดชิด โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นปอดอักเสบ ผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยหอบหืด โรคภูมิแพ้ตัวเอง (เอสแอลอี) หรือโรคพุ่มพวง โรคไต มะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งต้องรับเคมีบำบัด รวมทั้งผู้ที่ป่วยเรื้อรังซึ่งต้องรับยากดภูมิต้านทาน

เครื่องใช้อย่างตู้ เตียง โต๊ะ โซฟา ผ้าม่าน หากเกิดเชื้อราหลังน้ำท่วม คุณหมอย้ำว่า ต้องโละทิ้ง อย่าเสียดาย เพื่อกำจัดแหล่งสะสมของเชื้อราในบ้าน เพราะการทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพิ่มความเสี่ยงในการสะสมเชื้อราไว้ในบ้าน และเมื่ออากาศแห้ง สปอร์ราจะฟุ้งกระจายจนเข้าทางเดินหายใจ จนทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดได้

เครื่องปรับอากาศเป็นเครื่องใช้อีกชิ้นหนึ่ง ที่ควรเรียกช่างเฉพาะทางมาล้างทำความสะอาด เพราะความชื้นที่เกิดจากน้ำท่วมอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา เจริญเติบโตจนเป็นแหล่งเพาะเชื้อได้

อีกปัญหาที่หลายคนอาจพบคือ น้ำท่วมรถยนต์คันโปรดจนเกิดคราบตะไคร้และเชื้อราภายใน สิ่งแรกคือควรเปลี่ยนเบาะใหม่ เพราะการตากแดด ผึ่งลมไม่ทำให้เชื้อราตายจากรถไปได้ รวมถึงควรมีการล้างระบบทำความเย็นของตัวรถใหม่ทั้งหมด ก่อนที่จะนำกลับมาใช้งานใหม่ เนื่องจากสปอร์เชื้อรามีความทนต่อสภาพอากาศ และสามารถฟุ้งกระจายในอากาศได้ตลอดเวลา

นายแพทย์สว่าง กล่าวต่อว่า ไม่ว่าเด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำที่ท่วมขัง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงรับเชื้อโรคในน้ำได้ อาการที่สังเกตได้เองว่าติดเชื้อจากการสำลักน้ำจากแหล่งน้ำท่วมขังเข้าไป เช่น ไอ มีไข้ เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก

"อาการของปอดติดเชื้อจากการสำลักน้ำ แม้การจะคล้ายกับโรคหวัดตรงที่มีอาการไอ มีไข้เหมือนกัน แต่มีจุดที่ต่างกันคือ การติดเชื้อจากน้ำนั้นจะไม่มีอาการปวดเมื่อยและไม่มีน้ำมูก อาการรุนแรงกว่าหวัดทั่วไปและเรื้อรังนานกว่า อาจใช้เวลารักษานานถึง 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นก็ได้"

การรักษาผู้ที่มีประวัติเคยสำลักน้ำและปอดติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลไม่ใช่แค่คลินิกใกล้บ้าน เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอย่างละเอียด รวมถึงวางแผนรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อ บางรายอาจต้องได้ให้ออกซิเจนเพื่อทำให้ระบบทางเดินหายใจคล่องขึ้น

เหล่านี้เป็นเพียงวิธีป้องกันตัวเองแบบเบื้องต้นที่หลายคนควรรู้ ก่อนที่จะปฏิบัติการล้างบ้านหลังน้ำลด เพื่อรู้จักป้องกันตัวเองจากเชื้อโรคที่คาดไม่ถึง

"หากเกิดอาการผิดปกติที่กล่าวมา โดยเฉพาะในเด็กซึ่งโรงเรียนยังไม่เปิดหรือจะพบในผู้ใหญ่ ล้วนต้องพบแพทย์ทันที เพราะการติดเชื้อในปอดไม่สามารถหายได้เอง แต่ต้องได้รับการรักษาเท่านั้น" แพทย์สมิติเวช สุขุมวิท กล่าว




จาก ...................... กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ สุขภาพ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #126  
เก่า 30-11-2011
Kungkings Kungkings is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 436
Default

แค่คิด...นู๋ก็รู้สึกเหนื่อยแล้วละคะ ไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนดี หากน้ำแห้ง
__________________
คิดดี ทำดี ชีวีเป็นสุข
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #127  
เก่า 01-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เช็กอาการ... เยียวยา 'เฟอร์นิเจอร์จมน้ำ'



ได้เวลาล้างบ้าน หลังปลาวาฬลงทะเล ไม่ว่าใครก็อยากได้บ้านหลังเก่ากลับคืนมาเหมือนเดิม โดยเฉพาะกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นโปรดที่อยู่ด้วยกันจนเข้าใจ Taste มีเคล็ดลับชุบชีวิตเฟอร์นิเจอร์ให้กลับมาเคียงข้างคุณอีกครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญด้านเฟอร์นิเจอร์ พิริยะ บุญกิตติวัฒนา บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด แนะว่า การดูแลรักษาในภาวะปกติอาจทำได้ง่ายๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์จากไม้ อาจใช้แค่ผ้านุ่ม ไม้ขนไก่ปัดฝุ่นเท่านั้นก็เพียงพอ แต่สำหรับเฟอร์นิเจอร์หรือของตกแต่งบ้านที่เสียหายหลังจากน้ำท่วม ที่สภาพยังสามารถนำมาใช้งานได้ มีหลักการทั่วไปในการทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ คือ ต้องพยายามเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้



1.เฟอร์นิเจอร์ไม้

หากทำจากไม้จริง (Solid Wood) ให้ทำความสะอาดคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ โดยใช้แปรงขนอ่อนชุบด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาล้างจาน จากนั้นเช็ดให้แห้ง และวางไว้ในร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้ไม้คายความชื้นออกไป

ห้ามนำเฟอร์นิเจอร์ไม้ตากแดดโดยเด็ดขาด เพราะไม้อาจแตกหรือคดงอได้ เมื่อความชื้นหมดแล้ว อาจใช้สี หรือแลกเกอร์ทาเพิ่มเติม เพื่อความเงางามขึ้นก็ได้ (วิธีการทดสอบความชื้นแบบง่ายๆ ใช้แผ่นพลาสติกขนาดพอประมาณ ใช้เทปกาวแปะติดผิวบนเฟอร์นิเจอร์ ทิ้งไว้ 1-2 วัน สังเกตหากมีไอน้ำขึ้นที่พลาสติกแสดงว่ายังคงมีความชื้นหลงเหลืออยู่)

ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากชิ้นไม้อัด (Particle Board ) ในกรณีที่โดนความชื้นจากน้ำเพียงเล็กน้อยอาจนำมาวางในที่ร่ม เพื่อไล่ความชื้น ถ้ากังวลเรื่องการเกิดเชื้อราหรือกลิ่นอับ อาจใช้ Nonoclean by Nanoyo ฉีดพ่นเพื่อลดการเกิดเชื้อราและกลิ่นอับชื้นต่างๆได้


2.เฟอร์นิเจอร์โลหะ

โลหะมีทั้งประเภทที่เป็นสนิม เหล็ก,ทองแดง,ทองเหลือง เป็นต้น และประเภทปลอดสนิม เช่น สเตนเลส อะลูมิเนียม หากถูกความชื้นสูง หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดสนิมหรือเป็นคราบหมองได้ วิธีแก้ไขเบื้องต้น คือ ใช้แปรงขนนุ่มขัดสนิมออก โดยอาจใช้น้ำยาขัดสนิมเพื่อทุ่นแรงในการขัดถูได้ดีกว่า เช็ดล้างทำความสะอาด อย่าให้มีรอยเปื้อนค้างอยู่

จากนั้นทิ้งไว้ให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทดีแล้ว ป้องกันการเกิดสนิมอีกขั้น ด้วยการทาสีทับ ซึ่งจะช่วยทำให้เฟอร์นิเจอร์ดูใหม่ขึ้น หากเป็นโลหะประเภทสเตนเลสซึ่งปลอดสนิมใช้แค่แปรงขนนุ่มชุบด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ เช็ดทำความสะอาด สำหรับ บานพับ ลูกบิด และรูกุญแจ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากโลหะ ให้เช็ดให้แห้งสนิท ขัดส่วนที่เป็นสนิมออกให้หมด ใช้พวกน้ำยาหล่อลื่นชโลมตามจุดรอยต่อและรูต่างๆให้ทั่ว ห้ามใช้จาระบี หรือพวกขี้ผึ้งทา เพราะจะทำให้ความชื้นระเหยออกไม่ได้จะทำให้ฝังอยู่ข้างในและจะเป็นปัญหาในภายหลัง


3.เฟอร์นิเจอร์หนัง

ใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของมอยซ์เจอไรเซอร์ เทลงบนแปรงขนนุ่ม หรือผ้าที่เปียกหมาดๆ ทำให้เกิดฟองเล็กน้อย นำไปเช็ดถู เครื่องหนังที่ต้องการทำความสะอาด โดยอย่าให้เปียกน้ำมากเกินไป เช็ดฟองสบู่ออก ด้วยผ้าที่เปียกหมาดๆอีกผืน จากนั้นใช้ผ้าขนหนูแห้งเช็ดอีกครั้ง และอาจใช้น้ำยา แวกซ์ หรือ ครีมบำรุงรักษาเพิ่มความเงางามอีกครั้ง ไม่ควรนำเฟอร์นิเจอร์หนังไปตากแดดเพราะอาจทำให้หนังแตกและสีซีดจางได้



4.เฟอร์นิเจอร์ผ้า

เฟอร์นิเจอร์ที่มีส่วนประกอบจากผ้า หากโดนน้ำขังเป็นเวลานานๆ จะสกปรกมีคราบเลอะ อาจก่อให้เกิดเชื้อโรคสะสมและมีกลิ่นเหม็นอับ หากเป็นเฟอร์นิเจอร์ ที่สามารถแกะมาทำความสะอาดได้ ก็สามารถนำออกมาล้างน้ำทำความสะอาด และตากให้แห้งสนิท หากเป็นแบบสำเร็จรูป ที่ไม่สามารถแกะมาได้ ควรทิ้งในทันทีเพราะหากนำมาใช้จะกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และมีผลเสียต่อสุขภาพ ในกรณีที่เกิดรอยเปื้อนเพียงเล็กน้อยอาจหาผ้ามาหุ้มใหม่ได้ และหากต้องการยับยั้งการเกิดเชื้อราและลดกลิ่นอับของผ้า อาจใช้ Nonoclean by Nanoyo ฉีดพ่นเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวได้


5.เฟอร์นิเจอร์หินหรือกระจก

หินหรือกระจก เป็นวัสดุที่ทนแดด ทนน้ำ แต่หากโดนน้ำท่วมขังนานๆ ก็จะก่อให้เกิดคราบสกปรกได้ เพียงแค่ใช้น้ำยาทำความสะอาด ใช้ผ้าหรือแปรงที่มี ขนอ่อนนุ่ม ขัดถูให้สะอาด ก็สามารถนำมาใช้งานต่อได้แล้ว

หลังทำความสะอาดและซ่อมแซม เฟอร์นิเจอร์ ที่โดนน้ำท่วมให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้แล้ว อย่าลืมว่าการดูแลรักษาบ้านให้สะอาด มีอากาศถ่ายเทสะดวกก็จะเป็นตัวช่วยให้เฟอร์นิเจอร์คงสภาพการใช้งานได้นานยิ่งขึ้นเช่นกัน




จาก ........................ ผู้จัดการรายสัปดาห์ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #128  
เก่า 02-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


น้ำแห้งน้ำลดยังมีอยู่! ระวังภัย 'งู' เสาวภาย้ำให้รู้เท่าทัน



แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายแล้ว หลายพื้นที่น้ำแห้งแล้ว หลายพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลายๆพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วมขัง ซึ่งบางพื้นที่ทั้งยังท่วมสูงและน้ำเน่า โดยพื้นที่ที่น้ำยังท่วมนี้ทางผู้บริหารบ้านเมืองทั้งระดับจังหวัดหรือมหานครและระดับประเทศ ต้องเลิกต่างคนต่างทำ โยนกันไปมา เลิกหน่อมแน้มกันเสียที!!

ร่วมกันช่วยประชาชนไม่ได้...ก็ควรพิจารณาตัวเอง

ส่วนประชาชนเอง...ก็ ’อย่าละเลยภัยที่ยังมีอยู่!!!“

ทั้งนี้ กับภัยที่อาจจะมีแฝงอยู่ในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม หรือแม้

แต่ตอนที่น้ำลดน้ำแห้งแล้ว ภัยจาก “สัตว์อันตราย” ก็เป็นหนึ่งในภัยที่ไม่ระวังไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น “จระเข้” หรือ ’สัตว์พิษ“ ต่างๆ โดยเฉพาะ ’งูพิษ“ ซึ่งในส่วนของงูนั้นทาง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.วิศิษฏ์ สิตปรีชา ผู้อำนวยการสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ก็ได้จัดส่ง “คู่มือป้องกันงูพิษในสถานการณ์ฉุกเฉิน” มาให้ทาง “เดลินิวส์” ช่วยแจ้งข่าวเน้นย้ำต่อประชาชน

เนื้อหาโดยสรุปคือ... สำหรับ งูมีพิษ ก็เช่น... งูเห่า พิษร้ายแรง พบได้ทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะเด่นคือการแผ่แม่เบี้ยเมื่อถูกรบกวน บริเวณด้านหลังคอของงูเห่าไทยจะมีลายดอกจันเป็นวง ส่วน งูเห่าพ่นพิษ มีลายดอกจันเป็นรูปตัว V หรือ U หรือไม่มีลายดอกจันเลย, งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา ลักษณะเด่นคือแนวกระดูกสันหลังยกตัวสูง และเกล็ดตามแนวสันหลังมีขนาดใหญ่, งูจงอาง ลักษณะเด่นของงูจงอางคือเกล็ดท้ายทอย 1 คู่, งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ตาโต ข้อพึงสังเกตในกลุ่มงูเขียวหางไหม้คือ อวัยวะรับความร้อน ซึ่งเป็นร่องลึกอยู่ระหว่างรูจมูกและตาทั้งสองข้าง, งูกะปะ งูลายสาบคอแดง งูแมวเซา ข้อพึงสังเกตสำหรับงูแมวเซา เมื่อถูกรบกวนในระยะกระชั้นจะขดตัวเป็นวงกลมพร้อมกับการส่งเสียงขู่ฟ่อ ๆ คล้ายเสียงแมวขู่ และทำตัวพองขึ้นลงเพื่อให้ดูน่ากลัว ซึ่งงูแมวเซานี้แม้ขดเป็นวงกลมก็สามารถฉกได้อย่างว่องไว

ในส่วนของ งูไม่มีพิษ ก็เช่น... งูเหลือม, งูหลาม, งูสิงหางลาย, งูทางมะพร้าว, งูเขียวพระอินทร์, งูเขียวปากจิ้งจก, งูก้นขบ, งูแสงอาทิตย์, งูลายสอ, งูงวงช้าง, งูปี่แก้วลายแต้ม, งูปล้องฉนวนสร้อยเหลือง

กับรูปร่างหน้าตาของงูต่างๆนั้น ถ้าใช้คอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ต ลองคลิกเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ของสถานเสาวภา สภากาชาดไทย ในเว็บไซต์ www.saovabha.com อย่างไรก็ตามทางสถานเสาวภาระบุไว้ว่า...

กรณีที่ถูกงูกัด มีข้อควรพึงระลึกไว้ว่า ถึงแม้ว่างูไม่มีพิษจะมีหลากหลายชนิดกว่างูมีพิษ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ลำบาก ขอให้พิจารณาว่างูทุกชนิดมีอันตรายไว้ก่อน ให้รีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นในทุกรายที่ถูกงูกัด ก่อนจะรีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ส่วนในกรณีที่ถูกงูพิษกัดแน่นอน โดยมีรอยเขี้ยวให้เห็นอย่างชัดเจน ในความโชคร้าย ผู้ที่ถูกกัดอาจจะโชคดีถ้างูพิษกัดโดยไม่ได้ปล่อยน้ำพิษออกมา อย่างไรก็ดี ควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเช่นกัน

สำหรับลักษณะบาดแผลจากการที่ถูกงูไม่มีพิษกัดนั้น งูไม่มีพิษจะไม่มีเขี้ยวพิษ จึงปรากฏแต่รอยฟันให้เห็น อาจมีเลือดออกจากบาดแผลมากเนื่องจากฟันที่แหลมคมของงู และขึ้นอยู่กับความลึกของแผลด้วย

ทั้งนี้ กับเรื่อง “การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกงูกัด” นั้น เริ่มจาก...

1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลือทันที ใช้ผ้าพันแผลหรือผ้าพันเคล็ดชนิดยืดหยุ่นได้เริ่มพันจากรอยแผลถูกกัดแล้วพันต่อจนถึงข้อต่อหรือสูงเหนือแผลให้มากที่สุด

2. หาไม้หรือวัสดุที่แข็งมาดามแล้วพันด้วยผ้าพันแผลทับอีกครั้ง เพื่อให้อวัยวะส่วนที่ถูกกัดเคลื่อนไหวน้อยที่สุด

3. นำผู้ถูกงูกัดส่งโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้โดยเร็วที่สุด เพื่อรับการรักษาด้วยเซรุ่มแก้พิษงู

สิ่งที่ไม่ควรทำกับบาดแผลงูกัด… ไม่ควรใช้ไฟจี้หรือใช้มีดกรีดบาดแผล เพราะจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดพลาด, ไม่ควรใช้การขันชะเนาะ เพราะอาจทำให้อวัยวะขาดเลือดได้, ไม่ควรใช้ปากดูดแผล, ไม่ควรให้ผู้ป่วยดื่มสุรา, ไม่ควรให้ยากระตุ้นหัวใจ มอร์ฟีน ยาระเหย หรือยาแก้แพ้ต่างๆ เพราะจะทำให้สับสนถึงอาการของพิษงูทางระบบประสาท ในรายที่ปวดบาดแผลมาก แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลได้

ปิดท้ายด้วย “วิธีหลีกเลี่ยงการถูกงูกัด” ซึ่งสถานเสาวภาแนะนำไว้ดังนี้คือ... ตรวจเช็กบริเวณที่นอน กองผ้าต่างๆก่อนทุกครั้ง เพราะงูมักจะหาที่อบอุ่นตามกองผ้า ที่นอน หมอน มุ้ง เพื่อหลบซ่อนตัว, หลีกเลี่ยงการเดินทางในเวลากลางคืน หากจำเป็น ควรมีไฟฉายส่องสว่างนำทาง, หากจำเป็นต้องเดินเข้าไปในพื้นที่ที่อาจจะมีงู ให้สวมรองเท้าบู๊ตยาวเพื่อป้องกัน และใช้ไม้ยาวๆเคาะไปตามพื้นหรือพื้นที่ด้านหน้าเพื่อไล่ให้งูหนีไปก่อน หรือเพื่อตรวจดูว่ามีงูอยู่หรือไม่, หากพบเห็นงูพยายามควบคุมสติไม่ให้ตกใจจนเกินไป, ถ้าพบงูในระยะห่าง อย่าเข้าใกล้งู เพราะงูก็จะไม่พยายามเข้ามาทำร้ายมนุษย์เช่นกัน, ถ้าพบงูในระยะใกล้ ให้อยู่นิ่ง ๆ รอให้งูเลื้อยหนีไป เพราะงูส่วนใหญ่สายตาไม่ดี มักจะฉกกัดสิ่งที่เคลื่อนไหวเพื่อป้องกันตัวเองจากศัตรู, ถ้างูไม่ยอมเลื้อยหนี ให้ก้าวถอยหลังช้าๆจนพ้นระยะประมาณ 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะพ้นจากการฉกกัด

และทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของงู...การ ’ระวังภัยงู“

เน้นย้ำกันไว้...ถึงน้ำแห้งน้ำลดภัยนี้ก็ยังมีอยู่!!!.





จาก ....................... เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #129  
เก่า 05-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


10 แนวทางซ่อมบ้าน หลังการจากไปของน้องน้ำ



SCG จัดทำ คู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับ เอสซีจี' รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่เป็นประโยชน์สำหรับการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

ปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ในการใช้ชีวิต สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและสภาพจิตใจของผู้ประสบภัย เมื่อน้ำลด สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ก็คือ การเร่งฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เอสซีจี (SCG) จัดทำ คู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับ เอสซีจี' รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการฟื้นฟูบ้าน โดยทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุก่อสร้าง วิศวกร สถาปนิก จากตราช้างและคอตโต้ เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างง่าย 10 ข้อเบื้องต้น ดังนี้


1. การตรวจสอบสภาพก่อนเข้าบ้าน

ก่อนเข้าสำรวจบ้านที่พักอาศัย ต้องสอบถามการไฟฟ้าในพื้นที่เรื่องการจ่ายไฟ (Call Center การไฟฟ้านครหลวง โทร.1130, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โทร.1129) หากขณะนั้นมีการจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่ ต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ

ควรสวมใส่รองเท้ายาง ถุงมือยาง หรือสวมถุงพลาสติกแห้งหลายๆ ชั้น เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด

ตรวจสอบแผงไฟฟ้าหลักให้มั่นใจก่อนว่า ได้ปิดคัตเอาท์ หรือ เบรกเกอร์หลักที่จ่ายไฟฟ้าเข้าสู่บ้านก่อนอพยพออกจากบ้านแล้วหรือไม่


2. การตรวจสอบระบบไฟฟ้า

ปลดเครื่องใช้ไฟฟ้า ดึงปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าออกทั้งหมด และปิดสวิตช์ไฟฟ้าทั้งหมด

ตรวจสอบ 'เต้ารับ' และสวิตช์ที่ติดตั้งบนผนังในส่วนที่โดนน้ำท่วมขัง ตรวจสอบหลอดไฟฟ้าและสายไฟฟ้าว่ามีสภาพสมบูรณ์หรือไม่ จากนั้นให้ลองเปิด 'คัตเอาท์' หรือ 'เบรกเกอร์' ดูมิเตอร์ไฟหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ ทดลองเปิดหลอดไฟฟ้าทีละจุด


3. การตรวจสอบระบบน้ำประปา

ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง ให้ตรวจสอบว่ามีการทรุดตัว-รั่วซึมของน้ำจากภายนอกเข้าไปหรือไม่

ตรวจสอบลูกลอยภายในถังเก็บน้ำใต้ดิน ว่ามีการงอเสียหายหรือไม่
บ้านที่มีระบบปั๊มน้ำ หากถูกน้ำท่วม ควรเรียกหาช่างมาดำเนินการ หรือหากปั๊มน้ำอยู่ในที่สูง ไม่ถูกน้ำท่วม หลังจากเปิดใช้งานแล้ว ให้สังเกตเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติ ควรตรวจสอบด้วยการเปิดทำความสะอาด นำเศษผง สิ่งสกปรกที่เข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์ออกมา


4. การตรวจสอบระบบท่อน้ำและสุขภัณฑ์

ก่อนอื่นควรดูว่า มีวัสดุต่างๆเข้าไปอุดท่อระบายน้ำ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน รวมถึงสุขภัณฑ์หรือไม่ จากนั้นตรวจสอบระบบระบายน้ำทิ้งในห้องน้ำ หากน้ำไหลช้าผิดปกติ ให้ใช้น้ำ หรือลมแรงดันสูง อัดดันให้สิ่งที่อุดตันหลุดออกจากท่อ

ส้วมแบบบ่อเกรอะ หรือ มีถังบำบัด ควรเปิดปากบ่อเกรอะหรือบ่อซึมเพื่อดูระดับน้ำ หากระดับน้ำสูงกว่าปกติให้ดูดน้ำออก

ควรตรวจสอบใต้ฐานโถสุขภัณฑ์ว่ามีน้ำรั่วซึมหรือไม่ ถ้าพบเห็นการรั่วซึม แนะนำให้รื้อติดตั้งสุขภัณฑ์ใหม่


5. การซ่อมแซมประตู หน้าต่าง

หากประตูทำมาจากไม้จริง และเกิดอาการบวมจากการแช่น้ำ ให้ทิ้งไว้จนแห้งสนิท หากโก่งงอ แนะนำให้ถอดออกมาผึ่งลมและกดทับด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดและหาวัสดุหนักๆ ทับทิ้งไว้จนแห้งสนิท จากนั้นจึงให้ช่างปรับแต่งขนาดให้ได้พอกับวงกบ และเก็บงานสีให้เรียบร้อย

ประตูไม้อัด มักจะเสียหายมากกว่าประตูไม้จริง เพราะวัสดุจะมีกาวและรังผึ้งกระดาษหรือโครงไม้อยู่ด้านใน ควรเปลี่ยนใหม่

ประตูเหล็ก อะลูมิเนียม ต้องตรวจสอบการเสียรูปและการบิดงอตัวบานประตู


6. การบำรุงรักษาพื้น

พื้นบ้านที่เป็นคอนกรีต หากมีรอยแตกร้าวมาก แนะนำให้หาช่างมาทุบและรื้อพื้นเดิมทิ้ง ถมดินหรือทราย บดอัด และเทคอนกรีตใหม่ หากเป็นลานนอกบ้านที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาซ้ำจากแรงดันน้ำดันคอนกรีตจนแตกอีก อาจเปลี่ยนเป็นการปู 'บล็อก' แทน หากพบว่าเกิดความเสียหายไม่มาก อาจทำความสะอาดและซ่อมแซมเป็นจุดๆก็ได้

พื้นในบ้านที่เป็นแผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูป และตกแต่งด้วยวัสดุประเภทต่างๆ เช่น เซรามิค หินอ่อน แกรนิต วัสดุกลุ่มไม้ทั้งลามิเนตและไม้จริง วัสดุกรุผิวต่างๆ อาจเกิดความเสียหายได้ง่าย ควรเรียกช่างเข้ามาซ่อมแซม


7. การดูแลผนัง ฝา และ ฝ้าเพดาน

บ้านที่มีผนังหรือฝาแบบก่ออิฐ ถ้าเป็นรอยแตกร้าวที่ขยายอย่างต่อเนื่อง อาจเกิดจากปัญหาทางโครงสร้าง ให้ซ่อมแซมตามคำแนะนำของวิศวกร

บ้านที่มี 'ผนังเบา' หรือฝาทำจากวัสดุประเภทสมาร์ทบอร์ด ไม้อัดซีเมนต์ ไม้อัด สามารถซ่อมแซมเฉพาะจุดได้ หรือรื้อติดตั้งใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีฝ้าระแนงภายนอก ตรวจสอบได้โดยการปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งสนิท และดูด้วยสายตาว่ามีการโก่ง บิดงอ หรือเสียรูปหรือไม่

กรณีฝ้าภายใน ซึ่งมักจะใช้เป็นฝ้ายิปซัม หากถูกน้ำจะเกิดความเสียหายจากการเสียรูป แนะนำให้รื้อและติดตั้งด้วยของใหม่ทั้งหมด


8. การตรวจสอบกำแพงรั้วบ้าน

กำแพงรั้วบ้าน อาจเกิดปัญหาดินที่ฐานรั้วอ่อนตัวลง ให้สังเกตที่ความเอียงของรั้ว หากพบรั้วเอียงเพียงเล็กน้อย หาวัสดุมาค้ำยันไว้ก่อนได้ และติดต่อช่างมาปรับปรุงแก้ไขเมื่อพร้อม แต่หากรั้วเอียงมากเห็นได้ชัด หรือกำแพงรั้วล้มไปแล้ว ให้สกัดช่วงของกำแพงรั้วที่ล้มออกเสียก่อน เพื่อป้องกันการดึงให้กำแพงที่ยังสมบูรณ์เสียหายตามไปด้วย และติดต่อช่างเข้ามาปรับปรุงแก้ไขต่อไป


9. การดูแลเฟอร์นิเจอร์

เร่งเอาความชื้นออกจากเฟอร์นิเจอร์ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถดูดซับน้ำไว้ภายในได้ หากไม่จำเป็น อย่านำกลับมาใช้อีก เพราะขณะที่นํ้าท่วมอาจดูดซับเชื้อโรคและสิ่งไม่พึงประสงค์เข้าไปเป็นจำนวนมาก

เฟอร์นิเจอร์ประเภทติดกับที่ (Built In Furniture) ให้พิจารณาจากชนิด ประเภทของวัสดุที่ใช้ หากทำด้วย 'ไม้' ไม่ควรนำไปตากแดดโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการโก่งตัว บิดเบี้ยว หรือ แตกเสียหายได้ หากเฟอร์นิเจอร์เกิดเชื้อราหรือรอย สามารถเช็ดหรือล้างออกด้วยผ้าชุบน้ำสบู่อ่อนๆ


10. การดูแลตรวจสอบเรื่องอื่นๆ

ขยะ วางแผนแบ่งชนิดและประเภทของขยะให้ชัดเจน และวางแผนแนวทางการจัดเก็บและกำจัด โดยแยกประเภทของขยะ

ต้นไม้ตกแต่งบ้าน สำหรับต้นไม้ขนาดเล็กที่จมน้ำ อาจต้องปลูกใหม่ หากเป็นไม้ยืนต้น รากจะอ่อนแอ ต้องใช้เวลาฟื้นตัว จึงไม่ควรให้ปุ๋ยในช่วงนี้

สัตว์เลี้ยง หากจำเป็นต้องทิ้งไว้ที่บ้าน ให้ปล่อยไว้ในบ้านโดยมีอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ ติดป้ายหน้าบ้านให้เห็นชัดเจนว่ามีสัตว์เลี้ยงอะไรอยู่ในบ้านและอยู่ที่บริเวณไหน พร้อมทั้งชื่อและเบอร์โทรที่ติดต่อได้

ชาวชุมชนออนไลน์ดาวน์โหลดคู่มือ 'ซ่อมบ้าน สร้างสุข กับเอสซีจี' ฉบับพกพา ได้ที่ www.scg.co.th และเริ่มแจกฟรีตั้งแต่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไปที่สำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี และร้านโฮมมาร์ทที่ร่วมโครงการ สอบถามโทร.0 2586 4141

ภาพประกอบ SCG, 'กรุงเทพวันอาทิตย์' ฉ.4 ธันวาคม 2554, แฟนเพจ http://www.facebook.com/sundaybkk






จาก ...................... กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ Art & Living วันที่ 5 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #130  
เก่า 07-12-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


พลาสติก ผ้า ไฟเบอร์ หนัง…ทำความสะอาดอย่างไรหลังโดนน้ำท่วม???


จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 7 ธันวาคม 2554
รูปขนาดเล็ก
คลิ๊กเพื่อดูภาพขนาดใหญ่

Name:	111207_Thairath_Plastic-Fiber02.jpg
Views:	0
Size:	113.3 KB
ID:	12625  
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 20:04


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger