เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า 07-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

บ้านเมือง


พบฉลามวาฬยืนยันสมดุลสิ่งแวดล้อม เดินหน้าตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังสัตว์ทะเล

ประจวบคีรีขันธ์/ นายสมศักดิ์ ศิวะไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ จำกัด บริษัทในเครือสหวิริยา เปิดเผยกรณีพบฉลามวาฬ บริเวณบ้านหนองมงคล อำเภอบางสะพาน ว่า เป็นดัชนีชี้วัดว่าในขณะที่มีอุตสาหกรรมเหล็กอยู่ในพื้นที่มาเกือบ 20 ปี แต่ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลแถบนี้ก็ยังมีอยู่ ซึ่งความสมบูรณ์ของทะเลที่ อ.บางสะพาน มีการพูดถึงอยู่เสมอ แม้กระทั่งบริเวณหน้าท่าเรือประจวบฯ เอง ที่ชาวประมงก็สามารถจับปลาได้จำนวนมากเป็นประจำ เนื่องจากแหล่งอาหารที่หลากหลาย รวมทั้งแนวปะการังเทียม-เขื่อนกันคลื่นของท่าเรือก็น่าจะเป็นแรงดึงดูดที่ดีด้วย และจากผลการศึกษาของศูนย์วิจัยทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง พบว่าพื้นที่บริเวณอ่าวไทยในบริเวณ จ.ประจวบฯ เป็นจุดที่สามารถพบโลมาและวาฬได้ปกติ มีเปอร์เซ็นต์การพบโลมาถึง 63% และพบวาฬถึง 30%

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ กล่าวว่า ในกรณีที่จะมีโครงการท่าเรือส่วนขยายเกิดขึ้น รวมทั้งโครงการโรงถลุงเหล็กนั้น เชื่อมั่นว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อทะเลบางสะพานแน่นอน เนื่องจากตัวท่าเรือที่จะสร้างใหม่เป็นแบบโครงสร้างโปร่ง มีตัวอย่างท่าเรือขนส่งสินแร่ที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ที่สามารถอยู่ร่วมกับชาวประมงและสัตว์ทะเลได้เป็นอย่างดี รวมถึงเทคโนโลโลยีที่ใช้สำหรับโรงถลุงเหล็กเป็นเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ เทคโนโลยีน้ำเสียเป็นศูนย์ คือนำน้ำในการผลิตมาบำบัดและกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมด ไม่มีการปล่อยออกนอกโครงการ สำหรับในอนาคต การสนับสนุนหรือช่วยเหลือเรื่องสัตว์ทะเลหายาก ทั้งข้อมูล, กำลังคน หรือเครื่องมือนั้น กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท่าเรือประจวบ กล่าวว่า ยินดีและเต็มใจให้ความช่วยเหลือชุมชน โดยบริษัทฯ มีแนวคิดจัดตั้ง “เครือข่ายเฝ้าระวังและช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายาก” ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการหารือกับชุมชนและปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมเป็นภาคีกันต่อไป

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า 07-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ผู้จัดการออนไลน์


รวบ 9 ผู้ต้องหาลอบจับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามกลางทะเลกระบี่

กระบี่-เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ จับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.การประมง ในเขตหวงห้าม 1 ราย ได้ผู้ต้องหา 9 คน เป็นลูกเรือชาวพม่า 6 คน ส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

นายประเวช อวิรุทธพาณิชย์ เจ้าหน้าที่บริหารงานประมงอาวุโส พร้อมด้วย นายสุขเกษม ศรีงาม เจ้าหน้าที่ท้ายเรือกลชายทะเล ศูนย์ป้องกัน และปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 6 คน ทำการจับกุมผู้กระทำผิด พ.ร.บ.การประมง ในเขตหวงห้าม 1 ราย ได้ผู้ต้องหา 9 คน โดยมี นายวัชระ แก้วประเสริฐ เป็นไต๋ก๋งเรือ พร้อมลูกเรือรวม 9 คน มีนายพล ไชยวงค์ นายจุมพล จันทเวช และชาวพม่า อีก 6 คน พร้อมของกลางเรือประมงชื่อ “น.ชัยมงคล 1” และ “น ชัยมงคล 2” เครื่องมืออวนลากคู่ พร้อมอุปกรณ์ และสัตว์น้ำเบญจพรรณ ชนิดต่าง ๆ จำนวน 200 กิโลกรัม อยู่ในสภาพเน่าเสีย ซึ่งทำลายทิ้งไปแล้ว

ผู้ต้องหาทั้งหมดลักลอบทำการประมงในเขตหวงห้ามบริเวณ ใกล้แนวชายฝั่งห่างจากบริเวณเกาะหมา หมู่ 7 ตำบลอ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ อยู่ในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร เขตห้ามจับสัตว์น้ำด้วยเรืออวนลากคู่ ซึ่งนำตัวมาสอบสวนที่ศูนย์ป้องกัน และปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ เบื้องต้น ให้การรับสารภาพ จึงส่งตัวไปดำเนินคดีตามกฎหมาย.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า 07-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ผู้จัดการออนไลน์


ชาวประมงพื้นบ้านภูเก็ตวอนทุกหน่วยแก้ปัญหาระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ชาวประมงพื้นบ้านภูเก็ตระบุระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งถูกทำลาย เหตุเกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยว วอนทุกหน่วยร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

นายสุธา ประทีป ณ ถลาง ตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวถึงปัญหาการทำลายสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่งทะเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตว่า ปัจจุบันนี้บริเวณชายฝั่งทะเลทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายไปจำนวนมาก และที่ผ่านระบบนิเวศชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวซึ่งไม่สามารถที่จะจัดการได้ เช่น เรื่องของน้ำเสียที่มาจากทั้งครัวเรือน จากสถานประกอบ รวมทั้งเรื่องของการก่อสร้างเปิดหน้าดิน ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงทะเลลดน้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งเป็นอย่างมาก ส่งผลให้สัตว์น้ำวัยอ่อนในแนวปะการังลดลง เมื่อระบบนิเวศชายฝั่งมีปัญหาไม่ใช่เฉพาะผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านเท่านั้นที่มีปัญหาแต่รวมไปถึงประมงพาณิชย์ที่หากินนอกบริเวณชายฝั่งด้วย

“สำหรับระบบนิเวศบริเวณชายฝั่งของจังหวัดภูเก็ตนั้นถือว่าแย่มากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่การท่องเที่ยวจะเข้ามาก็คาดว่าน่าจะลดลงไปประมาณ 50% สัตว์น้ำบางชนิดก็สูญพันธ์ไป” นายสุธา กล่าวและว่า

เพื่อร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งให้กลับมามีสภาพดีขึ้น อยากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมมือกันในการดูแลและฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม เพราะการที่จะรอให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นผู้ดูแลเพียงหน่วยงานเดียวคิดว่าไม่น่าจะทำได้ คงจะต้องอาศัยความร่วมมือและบูรณาการในการดูแลให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากหน่วยงานราชการแล้วในส่วนของผู้ประกอบการก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องมานั่งคุยกันเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายสุธากล่าวต่อไปว่า การจะนำกฎหมายมาบังคับใช้เพียงอย่างเดียวคิดว่าไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณชายฝั่ง ทางออกที่ดีของการแก้ปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อมนั้น คิดว่าควรที่จะเริ่มจากการพูดคุยมากกว่าที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ เพราะเชื่อว่าทุกคนน่าจะให้ความร่วมมือและพูดคุยกันได้แต่จะต้องนำความจริงมาพูดคุยกัน ถ้าทำได้เชื่อว่าการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมบริเวณชายฝั่งน่าจะประสบความสำเร็จ


***************************************************************************************


ชาวแม่รำพึงพบฉลามวาฬหากินใกล้ฝั่ง

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 52 เวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณชายหาดระหว่างบ้านหนองมงคลกับหาดบ้านดอนสำราญ ต.แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฉลามวาฬ ขนาดใหญ่ 2 ตัว มีลำตัวยาวประมาณเกือบ 10 เมตร ส่วนอีกตัวมีความยาวประมาณ 6 เมตร เข้าหากินอาหาร ลูกปลาบริเวณหน้าหาดบ้านหนองมงคล ซึ่งเป็นหาดที่เชื่อมต่อระหว่างหาดบ้านดอนสำราญ และหาดบ้านกรูด ห่างจากฝั่งไม่ถึง 30 เมตรสามารถมองเห็นได้ด้วยตาจากชายหาด

นายนินทร์ ศรีเมือง อายุ 45 ปี ชาวประมงชายฝั่งที่อาศัยอยู่บริเวณดังกล่าว เล่าว่า ปกติจะพบเห็นฉลามวาฬเมื่อออกเรือไปหาปลาไกลฝั่ง แต่ช่วงนี้ฉลามวาฬเข้ามาหากินใกล้ฝั่งมาก

“วันนี้เป็นวันที่ที่ 3 แล้วที่เห็นฉลามวาฬคู่นี้เข้ามาหากินใกล้ฝั่งขนาดนี้ ผมจะเห็นมันว่ายหากินตรงหน้าหาดบ้านหนองมงคล แล้วก็ตรงหน้าหาดบ้านดอนสำราญซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน”

นายสุพจน์ ส่งเสียง รองประธานกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง ซึ่งลงเรือเพื่อบันทึกภาพฉลามวาฬในครั้งนี้ กล่าวว่า จากที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านทราบว่าปกติก็จะมีฉลามวาฬมาหากินบริเวณนี้เป็นประจำอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่จะเจอเวลาที่ออกเรือไปหาปลาซึ่งจะอยู่ห่างจากฝั่งมากกว่านี้ แต่ช่วงนี้ ฉลามวาฬได้เข้ามาใกล้ฝั่งมากจนสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องส่องกล้อง

“ธรรมชาติของสัตว์ตระลฉลามหรือวาฬ จะมาหากินในเฉพาะในทะเลที่มีความสมบูรณ์”

นายสุพจน์กล่าวต่อว่า เมื่อช่วงเช้าก็มีชาวประมงจาก อ.ทับสะแก แจ้งว่า เห็นฉลามวาฬเช่นกัน นั่นก็แสดงให้เห็นว่าชายหาดบริเวณนี้เป็นหาดที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก คงเป็นเพราะชายหาดบริเวณอ่าวแม่รำพึง มีปริมาณแพลงตอนสูงมากโดยไหลออกมาจากป่าพรุแม่รำพึง ซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำวัยอ่อนและลูกปลาเล็กปลาน้อย ลูกปลาเหล่านี้เป็นอาหารในอีกห่วงโซ่หนึ่งของปลาที่ใหญ่กว่า เช่นฉลามวาฬที่เราพบกันในวันนี้

“บริเวณที่พบฉลามวาฬนี้ก็อยู่ห่างจากที่ตั้งของโครงการโรงถลุงเหล็กที่ชาวบ้านคัดค้านการก่อสร้างไม่ถึง 1 กม. พวกเราจึงอยากให้กลุ่มทุนที่พยายามผลักดันโครงการนี้มองเห็นถึงความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลที่เรามีอยู่อย่าได้เอาอุตสาหกรรมที่มีมลพิษสูงอย่างโรงถลุงเหล็ก มาทำลายความสมบูรณ์และความสวยงามของบางสะพานเลย เราควรส่งเสริมการพัฒนาตามศักยภาพที่โดดเด่นในพื้นที่ของเรา เช่น เรื่องของการท่องเที่ยวและการเกษตรกรรมจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่า และยังเป็นการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย” นายสุพจน์ กล่าว

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า 29-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ผู้จัดการออนไลน์


กระบี่จับเรือประมงลากคู่จับปลาเขตหวงห้าม



กระบี่ - จนท.ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ จับเรือประมงอวนลากคู่ ในเขตหวงห้ามบริเวณหน้าอ่าวมาหยา ได้ผู้ต้องหา 20 คน เป็น พม่า 9 มอญ 9 พร้อมของกลางสัตว์น้ำเบญจพรรณ กว่า 400 กิโลกรัม

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 22 กรกฎาคม 2552 เจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชายฝั่งอันดามันจังหวัดกระบี่ โดย นายแสน สีงาม หัวหน้าศูนย์ป้องกันละปราบปรามประมงทะเลชายฝั่งอันดามันจังหวัดกระบี่ จ่าเอก อำพน คงแก้ว เจ้าพนักงานสื่อสารชำนาญงาน นายสุรีย์ สิงห์สถิตย์ เจ้าพนักงานเดินเรือชำนาญงาน และเจ้าหน้าที่ประจำเรือ 11 นาย ร่วมกันจับกุม เรือประมงอวนลากคู่ 4 ลำ ลักลอบจับปลา ในเขตหวงห้ามบริเวณ หน้าอ่าวมาหยา เกาะพีพี ม.7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่

จากการจับกุมได้ผู้ต้องหาจำนวน 20 คน ประกอบด้วย ผู้ควบคุมเรือ 2 คน ทราบชื่อ คือ นายวิจิตร หอมสมบัติ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59/111 ม.7 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต และ นายนิคม ศรีทำเลา อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 8 ม.2 ต.องมหาริน อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย เป็นไต๋กง พร้อมลูกเรือสัญชาติพม่า 9 คน และสัญชาติมอญ 9 คน

นอกจากนั้น ยังตรวจยึดของกลางไว้ได้รวม 8 รายการ ประกอบด้วย เรือประมง 4 ลำ ชื่อ ร.พัฒนาจำนวน 2 ลำ และ เรือ ส.พัฒนา จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือประมงอวนลากคู่ จำนวน 2 ปาก และสัตว์น้ำเบญจพรรณ จำนวนกว่า 400 กิโลกรัม

ก่อนจับกุมเจ้าหน้าที่ ได้รับแจ้งว่า มีเรือเรือประมงอวนลากคู่เข้าลักลอบทำการประมงในเขตหวงห้าม ระยะ 3,000 เมตร ที่บริเวณ ด้านทิศตะวันตกของเกาะพญานาค และเกาะปิด๊ะนอก ห่างจากอ่าวมายา ประมาณ 1 ไมล์ทะเล จึงพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนำเรือตรวจประมงทะเล 606 เข้าทำการตรวจสอบ พบผู้ต้องหาทั้งหมด กำลังทำการประมงอยู่ จึงเข้าจับกุม พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกันลักลอบทำการประมงอวนลากคู่ประกอบเรือยนต์ในเขตหวงห้าม 3,000 เมตร เบื้องต้นผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพ จึงนำส่งเจ้าพนักงานสอบสวนสภ.เมืองกระบี่ดำเนินคดีตามกฎหมาย

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า 29-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ผู้จัดการออนไลน์


ชาวประมงกระบี่แห่จับปลาทูได้จำนวนมากผลพ่วงจากการขยายเวลาปิดอ่าวห้ามจับปลา



ชาวกระบี่จับปลาทูได้จำนวนมาก จากการที่ปิด่อาวเป็นเวลานานทำให้ปลาทูขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก

กระบี่ - ชาวประมงชายฝั่งจังหวัดกระบี่ แห่จับปลาทูได้จำนวนมาก คนละไม่ต่ำกว่า 300-1,000 กิโลกรัมต่อวัน รายได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3,000-7,000 บาท เผยเป็นผลพวงมาจากการขยายเวลาปิดอ่าวห้ามจับปลาในฤดูวางไข่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำปริมาณมากเป็นประวัติการณ์

วันนี้ (27 ก.ค.) ที่บริเวณท่าเรือประมงพื้นบ้าน บ้านไหนหนัง หมู่ที่ 3 ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้นำลูกหลานช่วยกันเก็บอวน และช่วยกันสลัดปลาทูที่ติดอวนอยู่จำนวนนับพันกิโลกรัมมากองรวมกันบนพื้น ภายหลังจากที่นำเรือหางยาวออกไปทำการประมงที่บริเวณชายฝั่งทะเล บริเวณอ่าวบ้านไหนหนัง ซึ่งแต่ละลำได้ปลากลับมาเกือบเต็มลำเรือ ทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว

โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ชาวประมงบ้านไหนหนังมีรายได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3,000-7,000 บาทต่อวัน สร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงเพิ่มมากขึ้น

นายดลหล้อ เหมพิทักษ์ อายุ 50 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านบ้านไหนหนัง กล่าวว่า ตนทำอาชีพประมงมานานกว่า 30 ปี แต่ยังไม่เคยเห็นปลาทูขึ้นมากขนาดนี้มาก่อน ซึ่งในปีนี้ถือว่ามีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ เพราะทุกๆ ปีที่ผ่านมาชาวประมงนำเรือออกไปวางอวนจับปลาทู จะได้ปลาอย่างมากลำละไม่เกิน 50-100 กิโลกรัม แต่ในช่วงต้นเดือนกรกรกฎาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ชาวประมงหาปลาได้ปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว ได้อย่างน้อยลำละ 300-1,000 กิโลกรัมต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3,000-7,000 บาท

บางคนมีรายได้วันละ 10,000 บาท ก็ยังมีในบางวันบางช่วง แต่อย่างไรก็ตามราคาที่พ่อค้ามารับซื้อนั้นยังถูกมากไม่เป็นที่พอใจของชาวประมงมากนัก เพราะพ่อค้าจะมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7-10 บาท แต่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 25-30 บาท จึงถือว่าเป็นการกดราคากันเกินไป

นายแสน ศรีงาม หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชายฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งกระบี่ตั้งแต่เริ่มเปิดอ่าวในวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าชาวประมงในหลายพื้นที่สามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณมากขึ้นและปลามีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่แถบชายฝั่ง เช่น ในพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภอ อ่าวลึก อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา

ทั้งนี้ สาเหตุเนื่องมาจากในปีนี้มีการเพิ่มระยะเวลาปิดอ่าว ห้ามจับปลานานขึ้นกว่าเดิม จากเดิมจะปิดอ่าวเป็นเวลา 2 เดือน แต่ในปีนี้ขยายเวลาเพิ่มขึ้นเป็น 3 เดือน ทำให้สัตว์น้ำมีระยะเวลาขยายพันธุ์มากขึ้น และนอกจากนี้ยังมีการขยายเขตห้ามจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นด้วย

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า 29-07-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เนชั่นแชนแนล : เนชั่นทันข่าว


ผลขยายปิดอ่าวกระบี่ ทำประมงชายฝั่งมีรายได้เพียบ

วันที่ 27 ก.ค.52 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณท่าเรือประมงพื้นบ้าน บ้านไหนหนัง หมู่ที่ 3 ต.เขาคราม อ.เมือง จ.กระบี่ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านได้นำลูกหลานช่วยกันสาวอวน และช่วยกันสลัดปลาทูที่ติดอวนอยู่จำนวนนับพันกิโลกรัมมากองรวมกันบนพื้น

หลังจากที่นำเรือหางยาวออกไปทำการประมงที่บริเวณชายฝั่งทะเลบริเวณใกล้เคียงเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละลำได้ปลากลับมาเกือบเต็มลำเรือ ทำให้ชาวประมงมีรายได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา ชาวประมงบ้านไหนหนังมีรายได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า3,000-7,000 บาทต่อวัน สร้างความดีใจให้กับชาวประมงเป็นอย่างมาก

นายดลหล้อ เหมพิทักษ์ อายุ 50 ปี ตัวแทนกลุ่มชาวประมงบ้านไหนหนัง กล่าวว่า ตนทำอาชีพประมงมานานกว่า30 ปี แต่ยังไม่เคยเห็นปลาทูขึ้นมากขนาดนี้มาก่อน ซึ่งในปีนี้ถือว่ามีปริมาณมากเป็นประวัติการณ์ เพราะทุกๆปีที่ผ่านมาชาวประมงนำเรือออกไปวางอวนลอย จะได้ปลาอย่างมากลำละไม่เกิน 50-100 กิโลกรัมเท่านั้น

แต่ในช่วงต้นเดือน ก.ค.52 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ชาวประมงหาปลาได้ปริมาณมากขึ้นหลายเท่าตัว ได้อย่างน้อยลำละ 300-1,000 กิโลกรัมต่อวัน มีรายได้เฉลี่ยคนละไม่ต่ำกว่า 3,000-7,000 บาท บางคนได้วันละ 10,000 บาทก็ยังมี

แต่อย่างไรก็ตามราคาที่พ่อค้ามารับซื้อนั้นยังถูกมากไม่เป็นที่พอใจของชาวประมงมากนัก เพราะพ่อค้าจะมารับซื้อในราคากิโลกรัมละ 7-10 บาท แต่ราคาในท้องตลาดอยู่ที่กิโลกรัมละ 25- 30 บาท

นายแสน ศรีงาม หัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลชายฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณสัตว์น้ำในบริเวณชายฝั่งกระบี่ ตั้งแต่เริ่มเปิดอ่าวในวันที่1 กรกฎาคม2552ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พบว่าชาวประมงในหลายพื้นที่สามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณมากขึ้นและปลามีขนาดใหญ่ขึ้นโดยเฉพาะชาวประมงพื้นบ้านที่อยู่แถบชายฝั่ง เช่น ในพื้นที่ อำเภอเมือง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม และอำเภอเกาะลันตา

ทั้งนี้สาเหตุ เนื่องมาจากในปีนี้มีการเพิ่มระยะเวลาปิดอ่าว ห้ามจับปลานานขึ้นกว่าเดิม จากเดิมจะปิดอ่าวเป็นเวลา2 เดือน แต่ในปีนี้ขยายเวลาเพิ่มขึ้นเป็น3 เดือน ทำให้สัตว์น้ำมีระยะเวลาขยายพันธุ์มากขึ้น และนอกจากนี้ยังมีการขยายเขตห้ามจับสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นด้วย

ด้านนายมานิต ดำกุล นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า การที่ชาวประมงพื้นบ้านจับปลาออกมาขายได้ในปริมาณที่มากขึ้นเป็นสิ่งดี เนื่องจากทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณเพิ่มจำนวนมากขึ้น เนื่องจากนโยบายของกรมประมงที่มีการประกาศปิดอ่าว เพื่อมิให้มีการจับปลาในฤดูวางไข่ แต่เมื่อมีการเปิดอ่าวในวันที่ 1 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นที่บ้าน บ้านไหนหนัง หมู่ที่ 3 ต.เขาคราม อ.เมือง บ้านบางกัน ต.อ่าวลึกน้อย อ.อ่าวลึก และบ้านแหลมสัก ต.แหลมสัก อ.อ่าวลึก สามารถจับปลาทูบริเวณอ่าวปาเกาะ ซึ่งอยู่ระหว่างอำเภอเมืองกระบี่และอำเภออ่าวลึก วันละ 1 แสนกิโลกรัม ขายในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ส่งโรงงานแปรูปลาทูนึ่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดสงขลา ทำให้มีเงินหมุนเวียน 1 ล้านบาทต่อวัน

แต่สาเหตุที่ราคากิโลกรัมละ 7-10 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำ เนื่องจากการจับปลาของประมงพื้นบ้านไม่มีการเก็บไว้ในห้องเย็นเหมือนกับเรือพาณิชย์ทั่วไป ทำให้ปลานิ่ม คุณภาพต่ำ ราคาจึงแตกต่างถึง 10-20 บาท เพราะปลาทูที่ประมงพื้นบ้านจับมาได้นั้นส่งโรงงานปลาทูนึ่งและทำปลาเค็มได้เท่านั้น

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า 21-08-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เดลินิวส์


กรมประมงคุมเข้มการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น

สิ่งมีชีวิตประเภทหนึ่ง อาจเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตธรรมดา ๆ ที่ไม่อาจรุกรานใครได้ แต่เมื่อย้ายถิ่นฐานไปยังถิ่นอื่น จะเบียด บังสิ่งมีชีวิตอื่นที่อาศัยอยู่ก่อนแล้ว จนต้องถอย ร่นให้กับผู้มาใหม่ที่รุกราน สิ่งมีชีวิตประเภทนี้เรียกว่า “เอเลี่ยนสปีชีส์”

ภาวะคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ประเด็นหนึ่ง คือ การนำเข้าและการแพร่ระบาดของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน สำหรับประเทศไทยได้มีการนำเข้าชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นจากต่างประเทศมาก มายหลาย สายพันธุ์ ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันโดยอาจนำมาเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม จำหน่าย หรือนำมาพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อการบริโภค กิจกรรมมากมายของมนุษย์ได้ชักนำให้ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำต่างถิ่นเข้าสู่ พื้นที่ใหม่ที่ไม่อาจไปถึงได้โดยวิถีทางธรรมชาติ ซึ่งการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกรานก่อให้เกิดการสูญเสียต่อความหลาก หลายทางชีวภาพ โดยเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นสูญพันธุ์และยังมีผล กระทบเชื่อมโยงไป ถึงด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุข อนามัย

เมื่อสัตว์น้ำต่างถิ่นหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วจะสามารถ ปรับตัวและเจริญเติบโตหรือแทนที่ชนิดพันธุ์พื้นเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ได้ดี บางชนิดสามารถแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนได้รวดเร็วและแพร่กระจายไปได้ทั่ว อาจก่อให้เกิดผลกระทบในภาพรวม อาทิ การล่าปลาพื้นเมืองกินเป็นอาหาร เป็นตัวแก่งแย่งถิ่นที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร แหล่งวางไข่ของปลาพื้นเมืองเดิม และอาจนำโรคหรือปรสิตมาสู่คนได้

สำหรับสัตว์น้ำต่างถิ่นที่รุกรานแล้ว ตามทะเบียนชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่ควรป้องกัน ควบคุม และกำจัดของไทย ได้แก่ ปลาช่อนอเมซอน หอยเชอรี่ ปลาซัคเกอร์ ปลาดุกแอฟริกัน ปลาหมอเทศ เต่าญี่ปุ่น ตะพาบไต้หวัน และสัตว์น้ำต่างถิ่นที่มีแนวโน้มรุกราน ได้แก่ ปลาหมอสียักษ์ ปลาจะละเม็ดน้ำจืด ปลาคู้ดำ ปลาแกมบูเซีย ปลากดหลวง ปลาเรนโบว์เทร้าท์ ปลาหางนกยูง ปลามอลลี่ ปลาเซลฟิน กบ บลูฟร็อก และกุ้งเครย์ฟิช

ทั้งนี้ กรมประมงได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว ในส่วนของการควบคุมและกำกับดูแลได้ดำเนินการปรับปรุงพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้ นำสัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2547 และมีผลบังคับใช้แล้ว นอกจากนี้ ยังได้มีคณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัย และความหลากหลายทางชีวภาพของกรม ประมงคอยกำกับดูแลและพิจารณาอนุมัติการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ผู้นำเข้า เสนอขออนุญาตต่อกรมประมงอีกทางหนึ่ง เพื่อจะได้ควบคุมการนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมิให้มีผลกระทบต่อทรัพยากร ชีวภาพสัตว์น้ำของชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่การปฏิบัติอย่างได้ผลคงจะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้นำ เข้า ผู้เลี้ยง ตลอดจนประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการช่วยกันเฝ้าระวังการเพิ่มจำนวนของสัตว์น้ำต่างถิ่นในแหล่ง น้ำธรรมชาติ ทางกรมประมงแจ้งมาว่าอยาก ให้ผู้ที่มีสัตว์น้ำต่างถิ่นในครอบครอง ไม่ปล่อย สัตว์น้ำดังกล่าวลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยเด็ดขาด เพื่อรักษาระบบนิเวศให้คงอยู่ตลอดไป ในกรณีที่ไม่สามารถเลี้ยงและดูแลต่อไปได้ เช่น มีขนาดใหญ่กว่าภาชนะที่เลี้ยง หรือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ควรส่งมอบให้กับกรมประมงเพื่อดำเนินการบริหารจัดการต่อไป.


วันที่ 21 สิงหาคม 2552

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า 21-08-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

ข่าวสด


ประมงประจวบฯสนองพระราชดำริ เล็งฝึกเกษตรกรเพาะ"ปลานวลจันทร์"ในบ่อดิน

ประจวบ คีรีขันธ์ - นายฐานันดร์ ทัตตานนท์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรมประมงน้อมนำพระราชดำริศึกษาวิจัยปลานวลจันทร์ทะเล เพื่อเตรียมพร้อมขยายผลสู่เกษตรกรเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์มาดำเนินการ ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในบ่อดินได้สำเร็จ ซึ่งปลานวลจันทร์เลี้ยงง่ายโตไว รสชาติดี ถอดก้างแล่เนื้อ ทำอาหารได้หลายชนิด จากนั้นจะฝึกอบรมเกษตรกรที่สนใจตามโครงการศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนด้านประมงชายฝั่งให้มีความรู้ในเรื่องนี้ และจะมอบลูกปลาให้ไปทดลองเลี้ยงเป็นอาชีพต่อไป

นายฐานันดร์ กล่าวด้วยว่า การเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ทะเลนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยเมื่อครั้งเสด็จฯ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทอดพระเนตรปลานวลจันทร์ทะเลที่สถานีประมงคลองวาฬ เมื่อปี 2508 ซึ่งปรากฏในกระแสพระราชดำรัสวันที่ 4 ธ.ค. 2544

ด้าน น.ส.จินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบ คีรีขันธ์ กล่าวว่า หลังจากประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลานวลจันทร์ในบ่อดินได้นำผลผลิตมา แปรรูป เช่น ปลาต้มเค็ม ปลาส้ม ปลาแหนม ปลาร้า ทำทอดมันและเปาะ เปี๊ยะ เพิ่มเติมจากที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยสัตว์น้ำชายฝั่งที่มีความสำคัญทาง เศรษฐกิจมาแล้ว อาทิ งานอนุรักษ์หอยมือเสือ งานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชายฝั่ง เช่น หอยเป๋าฮื้อ ปลิงทะเล หอยหวาน หอยชักตีน การเพาะเลี้ยงแพลงตอนพืช และแพลงตอนสัตว์





..................................................................


แนวหน้า


กษ.เร่งสร้างปะการังเทียม ร่วมสนองพระราชเสาวนีย์

กษ.:ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ) เปิดเผยว่า ตามที่นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมประมง เร่งดำเนินการจัดสร้างปะการังเทียมให้แก่ชาวประมงพื้นบ้านในพื้นที่ จ.ปัตตานี และนราธิวาส ตามที่ได้เข้าชื่อร้องมา โดยได้ขอความร่วมมือไปยังกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับการสนับสนุนตู้รถไฟเก่าและรถขนขยะที่ไม่ใช้งานแล้ว ทั้งนี้เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรม ราชินีนาถ ที่ได้ทรงกล่าวในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2552

ดังนั้นจึงได้สั่งการให้ประมง จ.ปัตตานีและนราธิวาส รวจในพื้นที่จริงเพื่อดูความเหมาะ สมเชิงวิชาการด้านระบบนิเวศพร้อมทั้งลงจุดพิกัดให้แน่นอน โดยให้เร่งดำเนินการโดยด่วนและให้แล้วเสร็จภายใน 31 ส.ค. นี้ ซึ่งคาดว่าผลจากการสร้างปะการังเทียม จะช่วยทำให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ และยังช่วยในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้ได้ผลอย่างยั่งยืนอีกด้วย


วันที่ 21 สิงหาคม 2552
__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #19  
เก่า 04-11-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



ตัวอย่างการทำประมงแบบล้างผลาญ กับ การทำประมงแบบอนุรักษ์ ต่างกันอย่างไร ลองมาอ่านข้อพิพาทเรื่องนี้กันนะคะ....


ไทยรัฐ


เพชรบุรี-แม่กลอง เปิดศึกชิงหอย

"ถ้าเราไม่โพงหอย เราจะทำอะไรกิน"

เสียงยายม่วย พยุง อายุกว่า 70 ปี พึมพำ ท่ามกลางเสียงคลื่นอ่าวบ้านแหลม เบื้องหน้ายายเต็มไปด้วยหอยแครงตัวเล็กๆ ที่เพิ่งงมขึ้นมาจากทะเล เพื่อให้เห็นกันชัดๆว่า หอยแครงที่ชาวแม่กลองกับชาวบ้านอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี เปิดศึกชิงกันนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร

ริมอ่าวไทย บริเวณตั้งแต่ชลบุรี เลาะเลียบป่าชายเลนเรื่อยไปจนถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ละปีไม่บริเวณใดก็บริเวณหนึ่ง หรือไม่ก็หลายบริเวณจะมี "หอยเกิด"

คำว่า หอยเกิด ชาวประมงหมายถึง ไข่ของหอยแครงฟักเป็นตัวออกมาตัวเล็กๆ เริ่มจากขนาดเท่าเม็ดทราย ค่อยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามวงจรชีวิตของหอยแครง ช่วงเวลานี้เองคือ "วันที่รอคอย" ของชาวบ้านมงริมอ่าวไทย

ยายม่วยแม้จะชราภาพ แต่ด้วยความชำนาญในอาชีพ ประกอบกับฐานะยากจนจึงยึดอาชีพโพงหอยเลี้ยงชีพ หอยที่ได้ยายนำมาเลี้ยงและขาย

ยายบอกว่าทำมาตั้งแต่เยาว์วัยเรื่อยมาจนบัดนี้อายุกว่า 70 ปีแล้วก็ยังทำอยู่ และยืนยันว่าจะทำต่อไป

การโพงหอย หรือช้อนหอยแครงเล็กๆ จากทะเล ชาวประมงจะทำกันอย่างเอิกเกริกเมื่อรู้ว่าหอยเกิดในบริเวณใด และไม่ว่าจะเป็นอ่าวไหน แต่มาปีนี้ เมื่อหอยเกิดบริเวณอ่าวย่านตำบลบางขุนไทร อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ชาวแม่กลองและย่านอื่นๆจึงพากันไปจับเหมือนปฏิบัติกันมา แต่ปีนี้กลับถูกเจ้าถิ่นต่อต้าน

"ทำไมต้องมาหวงกันด้วย ในเมื่อหอยเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ และเราก็ทำมาหากินกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ" นายนิกรถาม

นายนิกร แก้วประสม อายุ 74 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ 4 ต.คลองโคน อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ยึดอาชีพโพงหอย

หลังตั้งคำถามแล้วยังบอกอีกว่า ชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นตำบลคลองโคน หรือถิ่นอื่นๆ พากันตระเวนหาโพงหอยกันทั้ง 5 จังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสุราษฎร์ธานี พอรู้ว่าหอยเกิดก็จะพากันไปจับกันเพื่อการดำรงชีพ

เครื่องมือประกอบอาชีพโพงหอยคือ เรือ 1 ลำ ชะเนาะสำหรับช้อน 1 อัน กะละมัง 1 ใบ และกระดานเลน 1 อัน ก็สามารถหากินได้แล้ว

วิธีการโพงหอยของชาวบ้านคือ พายเรือออกไปที่หอยเกิด ผูกกะละมังให้ลอยน้ำไว้กับเรือ แล้วดำลงไป ใช้ชะเนาะครูดผิวดินแผ่วๆแล้วโผล่ขึ้นมาเทสิ่งที่ครูดได้นั้นลงกะละมัง จากนั้นคัดแยกหอยตามต้องการ ส่วนปลอมปนใดๆที่ติดมาก็ปล่อยคืนทะเลไป

การเดินทางไปโพงหอยที่อ่าวบ้านแหลม นายสมพงษ์ สุดสนิท อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 33/1 หมู่ 4 ต.คลองโคน ฉายภาพชีวิตให้เห็นว่า แล่นเรือออกจากบ้านไปตั้งแต่เย็นย่ำ ระยะทางจากบ้านคลองโคนถึงอ่าวบ้านแหลมประมาณ 30 กม. ใช้เวลาประมาณ 1 ชม. เสียน้ำมันเครื่องเรือประมาณ 4 ลิตร ถ้าไปกลับก็ประมาณ 8 ลิตร

การช้อนหอยเริ่มประมาณ 20.00 น. เพราะน้ำทะเลเริ่มลง

ระดับน้ำที่ลงโพงหอย ตั้งแต่ระดับท่วมหัวลดลงมาเรื่อยๆ บ่า อก เอว และถ้าเป็นกลางวันก็ใช้กระดานเลนวางลงไป นั่งคุกเข่าบนกระดาน ใช้เท้าถีบลื่นไปบนเลน เก็บหอยขนาดต่างๆตามต้องการ

หอยแครงเล็กๆที่เก็บมาได้ ขายกิโลกรัมละ 30-100 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด ถ้าตัวหอยขนาดเล็กราคาก็จะแพงกว่า

หอยที่ได้มาส่วนหนึ่งขาย ส่วนหนึ่งใส่คอกเลี้ยง

คอกหอยแครงล้อมด้วยเฝือก ลักษณะเป็นไม้ไผ่ผ่าซี่ ถักออกมาเป็นแผงปักลงในน้ำ หอยในคอกใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1.5 ปีถึง 2 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของหอยที่ใส่คอกไปว่าเล็กหรือใหญ่

สมพงษ์บอกว่า ทำมาหากินกันอย่างนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่คราวนี้กลับมามีปัญหา และย้ำว่า "ที่หอยเกิดที่บ้านเรา หน้าอ่าวคลองโคนของเรา คนถิ่นอื่นๆเข้ามาจับพวกเขาก็เข้ามาจับ เราไม่เห็นว่าอะไรเลย เราไม่เห็นต้องไปหวงห้ามอะไรเขาเลย อย่างปี พ.ศ. 2550 นั่นก็เกิดมาก ทาง สกว.เขามาสำรวจแล้วบอกว่า ถ้าคิดเป็นเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 35 ล้านบาท"

สำหรับเหตุการณ์เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรณีข่าวว่าชาวบ้านล้อมประมงที่เข้าไปตรวจตรานั้น ผู้นำคนหนึ่งของตำบลคลองโคน บอกว่า จริงๆแล้ว ชาวบ้านไม่ได้ไปล้อมชาวประมง แต่ต้องการเข้าไปพูดจากันให้รู้เรื่อง

"เราต้องเข้าไปคุยไม่ได้ไปจับ เขา เพราะชาวบ้านที่ถูกจับไปต้องจ่ายค่าปรับ 5,000 บาท คิดดูสิครับ ถ้าจ่ายค่าปรับไปเราจะเอาอะไรกิน ต้องกู้หนี้ยืมสินเข้าไปจ่าย ข่าวที่ออกไปว่าเราไปล้อมจับนั้น ไม่เป็นความจริง"

ความจริงในวันนั้นคือ "เราเข้าไปล้อมเพื่อจะพูดคุยเท่านั้น เมื่อ เราเข้าไปประมงก็หนีเข้าแม่น้ำไป เลยไม่รู้เรื่องกัน แล้วเขาก็โทร.บอกตำรวจ" ผู้นำชาวบ้านคลองโคนยืนยัน

เหตุการณ์วันต่อมา "ตำรวจนัดไปคุยกันที่บ้านแหลม แต่เราตกลงกันไม่ได้ นายอำเภอก็จัดการไม่ได้ วันที่ 30 ที่ผ่านมา เราเลยจะไปกัน 4-5 คน แต่เราได้ยินว่าทางโน้น (คนบ้านแหลม) เขาให้คนมาด้วย พวกเรารู้กันก็เลยไปกัน 6-700 คน และยังมีชาวบ้านที่จับหอยจากที่อื่นๆมาสมทบอีก"

ชาวบ้านแหลมห้ามจับหอยด้วยเหตุผลอะไร

ผู้นำชาวบ้านคลองโคนบอกว่า ทางบ้านแหลมบอกว่าต้อง การอนุรักษ์ ถ้าจะไปจับต้องใช้มืออย่างเดียว ไม่ให้ใช้ชะเนาะ "เราถามหน่อยเถอะ ถ้าต้องการอนุรักษ์ ทำไมมีนายทุนหนุนหลัง ใช้เรือเครื่องคราดหอยได้"

" เมื่อทางโน้นเขาไม่ยอม อ้างว่าเป็นพื้นที่อนุรักษ์ เราก็ไม่ว่าล่ะ เอาอย่างนี้ได้ไหม ขอบางส่วนที่เข้าไปเก็บ ขอพื้นที่แค่ 1 ใน 3 ก็ได้" นายทศพลแนะทางออก

นายทศพล แดงชื่น อายุ 50 ปี อยู่บ้านเลขที่ 45 หมู่ 4 ตำบลคลองโคน เป็นหนึ่งในคนโพงหอย นอกจากแนะทางออกแล้วยังเปรยว่า หากินมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ หอยมันเกิดของมันแต่ละที ปีเว้นปี "ผมเกรงว่า เมื่อหอยโตเขาก็จะให้นายทุนเข้ามาลาก" นายทศพลบอก

และว่า "คนตำบลบางขุนไทร เมื่อก่อนเขามีอาชีพโพงหอยที่ไหน เขาทำหอยเสียบกัน เขาเพิ่งมารู้จักหอยแครง ก็ทำเป็นกลุ่มอนุรักษ์ขึ้นมา เมื่อเราเข้าไปโพงหอยก็โดนจับ" ทศพลยืนยัน

คนที่เคยถูกเจ้าหน้าที่จับ นายไพโรจน์ พยุง อายุ 40 ปี บ้านเลขที่ 44/3 หมู่ 4 ต.คลองโคน บอกว่า ถูกจับที่บางขุนไทร เขตอ่าวบ้านแหลม ขณะกำลังจับหอยอยู่มีชาวบ้านและประมงเข้ามาจับตัวไป

"เขาขังผมไว้ 1 คืน ปรับผมไป 5,000 บาท แล้วก็ปล่อยตัวมาครับ ตอนนี้ผมอยู่ในระหว่างภาคทัณฑ์ ถ้าโดนจับอีกจะต้องติดคุก 4 เดือน" นายไพโรจน์บอก

กลุ่มของไพโรจน์ถูกจับไป 4 คน ต้องจ่ายค่าปรับไป 20,000 บาท เงินจำนวนนี้แยกเป็นค่าปรับรายละ 4,000 บาท และค่าออกจับของเจ้าหน้าที่อีกรายละ 1,000 บาท

เสียงจากบ้านคลองโคน ฟังแล้วก็น่าเห็นใจ แต่อีกฟากฝั่งหนึ่งเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องฟังและต้องทำความเข้าใจร่วมกัน.


__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 04-11-2009 เมื่อ 11:44
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 04-11-2009
สายชล
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายชล.
  #20  
เก่า 04-11-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



ลองมาฟังเจ้าถิ่น นักอนุรักษ์พูดบ้างนะคะ....


ไทยรัฐ


คนหัวไทรเสียงแข็ง จับหอยได้ห้ามโพง

"ถ้าใช้มือจับเราไม่ว่า แต่นี่มาโพงเราไม่ยอม"

สมยศเสียงแข็ง

สม ยศ ภู่ระหงษ์ อายุ 43 ปี อยู่บ้านเลขที่ 113 หมู่ 3 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี หนึ่งในคนต่อต้านการมาจับหอยของชาวบ้าน ตำบลคลองโคน จังหวัดสมุทรสงคราม และชุมชนอื่นๆ ที่มาจับลูกหอยแครงในอ่าวบ้านแหลม

เมื่อคนถิ่นอื่นเข้ามาจับ เจ้าถิ่นจึงรวมตัวกันต่อต้าน โดยอาศัยกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ประมง ชาวบ้าน อาวุธสำคัญของชาวบ้านแหลมคือ ประกาศของจังหวัดเพชรบุรี เรื่องกำหนดห้ามทำการประมงหอยสองฝา

การ ผลักดันของเจ้าหน้าที่ราชการ และชาวบ้านที่เข้ามาจับหอยที่อ่าวบ้านแหลม ทำให้มีการกระทบกระทั่งกัน กลายเป็นศึก "ชิงหอยแครง" มาตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม

"ผมใช้มือเก็บ และเก็บตัวขนาดตั้งแต่ 6 มิลลิเมตรขึ้นไป ไม่ได้โพง"

สมยศยืนยันและบอกว่า ยึดอาชีพเก็บหอยขายมาตั้งแต่อายุ 21 ปี รายได้แต่ละวันเริ่มจาก 200 บาทเรื่อยไปจนถึงประมาณ 300 บาท

" ผมไม่เคยไปเก็บที่อื่น เครื่องมือผมมีแค่ใช้กระดานเลนวางลงไป แล้วเลื่อนไปเรื่อยๆ ใช้มือเก็บเอา ถ้าเขามาเก็บแล้วใช้มือผมไม่ว่าหรอก ต้องทำให้เหมือนกันสิ คนแถวบ้านผมเก็บหอยขนาด 6 มิลลิเมตรขึ้นไปเท่านั้น ไม่เก็บตัวเล็กลงมาหรอก" สมยศยืนยัน

และบอกว่า "หอยเล็กๆ 1 กิโลกรัม จะมีประมาณ 10,000 ตัว มันเล็กเกินไปครับ จับไปอย่างนี้เท่ากับตัดวงจรหอย"

การ ถีบกระดานเลนเก็บหอยแครงนี้ นายผิน อ้นเปี่ยม อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 155/1 หมู่ 10 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม เป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนยันว่า ชาวบ้านแหลมใช้วิธีถีบกระดานเก็บเท่านั้น ไม่ได้ใช้วิธีการอื่นๆ

"ผม มายึดอาชีพนี้ตั้งแต่ไล่ทหาร (อายุ 21 ปี) ตอนนี้อายุกว่า 60 แล้ว ทำมาตั้งกว่า 40 ปี รายได้วันหนึ่งตั้งแต่ 100 บาทเรื่อยไปจนถึง 300 บาท ได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับน้ำแห้งมากแห้งน้อย ถ้าแห้งมากก็จะได้มาก เพราะพื้นที่เก็บเยอะ" นายผินบอก

"ถ้าเขาเก็บเหมือนเรา ทำเหมือนเราละก็เข้ามาจับเลย เราไม่ว่าหรอก ไม่มีการหวงห้าม แต่นี่เขามาจับเอาตัวเล็กๆไป" ผู้ใหญ่จรรยงบอก

ผู้ใหญ่จรรยง พิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ต.บางขุนไทร อ.บ้านแหลม หนึ่งในผู้นำต่อต้านการเข้ามาจับหอยแครงของชาวบ้านถิ่นอื่นๆ

การกำหนดมาตรการดูแล ผู้ใหญ่บอกว่า เราให้เจ้าหน้าที่จัดการไปก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศของจังหวัด ถ้าใครทำผิดก็ต้องดำเนินไปตามกฎหมาย ประกาศของจังหวัดเพชรบุรีนั้น ออกเมื่อ พ.ศ.2551 สมัยผู้ว่าการการจังหวัด ชื่อนายสยุมพร ลิ่มไทย

เนื้อหาสำคัญคือ
1. ห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงทุกชนิด ทำการประมงหอยสองฝาในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลตำบลบ้านแหลม ตำบลบางขุนไทร และตำบลปากทะเล อำเภอบ้านแหลม ยกเว้นการทำประมงหอยสองฝาด้วยวิธีการจับหรือเก็บด้วยมือเท่านั้น

2. ประกาศนี้มิได้ใช้บังคับแก่การทำการประมงเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง และ

3. ประกาศนี้เมื่อมีผลบังคับใช้แล้ว ให้ยกเลิกประกาศอื่นที่มีข้อความขัดแย้งกับประกาศนี้ ลงวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2551

พื้นที่ห้ามในประกาศ หมายถึงพื้นที่ชายทะเล ตั้งแต่อ่าวบ้าน-แหลม ต.บ้านแหลม ลากยาวขนานทะเลไปจนถึงอ่าวปากทะเล ตำบลปากทะเล ใครจะมาจับหอยในพื้นที่เหล่านี้ ต้องใช้มือจับเท่านั้น ถ้ามีอุปกรณ์ช่วยจับใดๆ ถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น

ถ้าฝ่าฝืนจะถูกจับและปรับคนละ 4,000 บาท และค่าจับอีก 1,000 บาท อย่างที่ชาวคลองโคน จังหวัดสมุทรสงครามถูกจับและเสียค่าปรับไปแล้ว

ผู้ใหญ่จรรยงบอกว่า การห้ามเป็นเรื่องยาก "เพราะเขาไม่เคารพกติกาของบ้านเมือง เขามาเป็นม็อบตลอด ทุกครั้งเขาอยู่เหนือกฎหมายกันไปเสียหมด ถ้าเคารพกติกาของชุมชนเรา จะมาเก็บมาจับเอาไปเท่าไรก็ได้"
สาเหตุที่ต้องเก็บหอยไว้ "เพราะเราต้องการอนุรักษ์ไว้เพื่อลูกเพื่อหลานของเรารุ่นต่อๆไป..."

ผู้ใหญ่ยังเปรยเรื่องทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลว่า "นับจากแม่กลองมาถึงบ้านแหลม คุณลองไปดูสิ เขาให้สัมปทานใช้พื้นที่ชายทะเลกันหมด มีคอกหอยเต็มไปหมด เหลือพื้นที่ของเราที่บ้านแหลมที่เดียวที่เราไม่ยอมให้มีคอกหอย เมื่อหอยมาเกิดที่นี่ก็เลยเกิดปัญหาที่นี่"

พลางยืนยันเสียงแข็งว่า "พื้นที่นี้เป็นตายอย่างไรเราก็ไม่ให้หรอก เราไม่ทำ เพราะเราต้องการอนุรักษ์ไว้ คนเก็บหอยบ้านเราก็ไม่ได้ร่ำรวย พอกิน พอใช้ไปวันๆ แต่ชาวบ้านรักเพราะเป็นอาชีพอิสระ ออกไปหาหอยกลับมาอย่างไรก็มีกินแน่ๆ ขอให้ขยันอย่างเดียว" ผู้ใหญ่พิทักษ์บอก

พื้นที่เกิดหอยของอ่าวบ้านแหลม นายพัทยา เกษมรุ่ง อายุ 45 ปี บ้านเลขที่ 105/1 หมู่ 10 ต.บางขุนไทรบอกว่า อ่าวบ้านแหลมเป็นแหล่งพันธุ์หอยธรรมชาติที่ชุกชุมมาก อาจจะเป็นแหล่งเดียวของโลก

เพราะความอุดมสมบูรณ์นี้ ชาวบ้านจึงหวงแหนและเก็บหอยไป "ส่วนคนแม่กลองเขามาช้อนไปใส่คอก เขามีคอกเป็นส่วนตัวของเขา แต่พวกเราไม่มีคอก แค่จับหอยขายไปวันๆ และยึดอาชีพจับหอยขายอย่างเดียว จึงกลายเป็นเรื่องขัดแย้งกัน เพราะถ้าหอยที่นี่หมด พวกเราก็ไม่รู้จะไปจับที่ไหน" นายพัทยาบอก

เกี่ยวกับหอยแครง ชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Arca granulosa เป็นหอย จำพวกกาบคู่ อาศัยอยู่พื้นท้องทะเลชายฝั่งตื้นๆ ที่เป็นโคลนหรือโคลนเหลว พบมากที่จังหวัดที่มีชายทะเล เช่น สมุทรสงคราม จังหวัดชลบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และปัตตานี เป็นต้น
อาหารของหอยแคลงคือ พวกไดอะตอม แพลงก์ตอนพืช และแพลงก์-ตอนสัตว์

หอยแครงจะมีอุปนิสัยชอบฝังตัวอยู่ตามผิวดินโคลน ลึกตั้งแต่ 1-12 นิ้ว โดยเราจะสังเกตเห็นเป็นรูจำนวน 2 รูป ที่ผิวดินซึ่งเป็นช่องทางน้ำเข้า-ออก และสามารถเห็นรอยการเคลื่อนที่ของหอยเป็นร่องๆ โดยใช้เท้าในการเคลื่อนที่เพื่อหาอาหาร

หลบหลีกศัตรู และเพื่อหาสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม หอยแครงจะขึ้นมาที่ผิวดินเมื่อน้ำขึ้นเพื่อหาอาหาร และจะฝังตัวใต้ผิวดินเมื่อน้ำลงเพื่อป้องกันน้ำออกภายนอกตัวหอย แต่จะเปิดฝาทั้ง 2 เล็กน้อย

หอยแครงมีหลายชนิด เช่น หอยแครงเทศ หอยแครงขุ่ย หอยแครงปากมุ้ม หอยแครงมัน หรือหอยแครงเบี้ยว เป็นหอยที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ชนิดที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่จะเรียกหอยครางหรือหอยแครงขน

หอยแครงชนิดที่ชาวบ้านจับและมีปัญหากันอยู่ นายศรีเพชร สุ่มอ่ำ อายุ 40 ปี อบต.บางขุนไทร บอกว่า คือหอยแครงปากมุ้ม ถ้าจับตัวเล็กๆ ขนาดเม็ดทรายต้องใช้เวลาดูแลประมาณ 1 กว่าถึง 2 ปี

ถ้าจับตัวขนาด 6 มิลลิเมตร ใน 1 กิโลกรัม จะมีหอยประมาณ 3-400 ตัว อนุบาลไว้ประมาณ 7 เดือน น้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำนวนตัวหอยจะเหลือประมาณ 60-70 ตัวเท่านั้น และขนาดนี้ก็นำไปประกอบอาหารได้แล้ว

นายศรีเพชร สุ่มอ่ำ อบต.บางขุนไทร บอกว่า สาเหตุที่อนุรักษ์ไว้ นอกจากเป็นอาชีพของชาวบ้าน ต่อไปจะเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและที่สำคัญ "เด็กๆช่วงปิดเทอมก็สามารถมาจับหอย การทำอาชีพเก็บหอยไม่มีเกษียณอายุ ทำได้ตั้งแต่เด็กๆ เรื่อยไปจนถึงแก่เฒ่า ตราบใดที่ยังมีหอย ขอให้มีความขยันอย่างเดียว อย่างไรก็มีกิน" นายศรีเพชรบอก

ศึกชิงหอยแครงในอ่าวบ้านแหลม ระหว่างคนพื้นที่กับคนถิ่นอื่นๆ แม้จะไม่รุนแรงนัก แต่เป็นสัญญาณให้รู้ว่า การจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ เกิดปัญหาแล้ว.


__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 04-11-2009 เมื่อ 11:41
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:42


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger