เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า 25-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


จับตาประเทศไทย...กับวิกฤติการณ์ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น


อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นเป็นตัวเร่งเร้าให้ธารน้ำแข็งจากขั้วโลกละลายอย่างรวดเร็ว ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง แผ่นดินที่อยู่ริมทะเลหายไปในทะเล ประชาชนที่อยู่ริมทะเลนานาประเทศประสบปัญหาเดียวกัน ประเทศไทยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งปรากฏภาพให้เห็นชัดในพื้นที่บ้านขุนสมุทร จีน จ.สมุทรปราการ ชายฝั่งทะเลเขตบางขุนเทียน ที่ปรากฏภาพของหลักเขตกรุงเทพจมอยู่กลางทะเล นอกจากนี้ยังมีปัญหากัดเซาะบริเวณ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จากผลการศึกษา 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสูญเสียแผ่นดินไปกว่า 1 แสนไร่ จุดวิกฤติคือในบริเวณชายฝั่งทะเลสมุทรปราการ และชายทะเลเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งทั้งสองแห่งมีอัตรากัดเซาะ เฉลี่ย 20-25 เมตรต่อปี

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ต้องเร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนคือบริเวณอ่าวไทยตอน บน ที่มีแนวชายทะเลและอยู่ในเขตที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร ได้แก่ จ.สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา รวมทั้ง กรุงเทพมหานคร

ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในเวทีเสวนา “จับตาประเทศไทยกับวิกฤติการณ์ ภัยน้ำทะเลสูงขึ้น” ที่จัดโดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นทั่วทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ สร้างปัญหาและความเดือดร้อนให้คนชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กม. กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลหายไปกว่า 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลด้วย ทำให้สูญเสียหาดโคลนทุกวินาที

จากการศึกษาวิจัยพบว่าแผ่นดินใต้ทะเลที่เป็นหาดโคลนหายไปประมาณ 180,000 ไร่ นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตรถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีต 40 ปีที่แล้วเมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลได้โผล่พ้นน้ำกว้างกว่า 5 กิโลเมตรจากแผ่นดิน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 1 กม. ขณะที่พื้นที่ในเขตมหาชัย จ.สมุทรสาคร เคยมีหาดโคลน 1.5 กม. แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

เหล่านี้คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งไม่เพียงแต่กัดเซาะชายฝั่งแต่ยังกัดเซาะไปถึงท้องทะเลด้วย ล่าสุดงานวิจัยด้านการกัดเซาะชายฝั่งของอาจารย์ธนวัฒน์ ที่เก็บข้อมูลมายาวนาน 20 ปี ฉายภาพของปัญหากัดเซาะให้ชัดขึ้นอีกว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการสร้างเขื่อนที่ทำให้ตะกอนดินหายไปไม่ก่อให้เกิดการงอกของแผ่นดิน สาเหตุเกิดจากการสร้างเขื่อนสำคัญ ได้แก่ เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนภูมิพล หลัง 40 ปีที่ผ่านมาพบการงอกของแผ่นดินปลายแม่น้ำเหลือ 4.5 เมตรต่อปี จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี (สภาพพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน) นอกจากนี้ยังมีปัญหาแผ่นดินทรุด มีสาเหตุมาจากการใช้น้ำบาดาล เป็นผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าแผ่นดิน ที่เรียกว่าระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ เป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ อาจยังไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองชายฝั่งในประเทศไทย แต่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในกรุงจาการ์ตา ที่อยู่ติดริมทะเล มีระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลให้เมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามปรับตัวไม่ทิ้งพื้นที่

ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ประเทศไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตรต่อปี นับได้ว่าเป็นอัตราที่มากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏน้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่าง สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ที่จะเผชิญปัญหาสภาพนี้ จะเตรียมรับมืออย่างไร”

ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับวิธีการป้องกันน้ำทะเลท่วมนั้นควรมีการสร้างเขื่อนแต่ไม่ใช่เขื่อนป้องกันน้ำทะเล แบบเดียวกับในประเทศเนเธอร์แลนด์แต่เป็นเขื่อนป้องกันน้ำท่วม และต้องสร้างป่าชายเลนเทียมในทะเลป้องกันอีกชั้นหนึ่ง สร้างหาดเทียมขนาด 500 เมตร ถึง 1 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้สร้างหาดเทียม ทดลองในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ได้เห็นปรากฏการณ์การกัดเซาะลดลงจากเดิมเกิดการกัดเซาะ 30 ซม.ใน 1 ปีแต่หลังจากสร้างเขื่อนการกัดเซาะไม่มี

นอกจากนี้ยังมีตะกอนเพิ่มขึ้น 20-30 เซนติ เมตร ซึ่งกำลังติดตามงานวิจัยต่อไปว่าตะกอนที่เพิ่มขึ้นหากปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ตะกอนจะเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จ จากงานวิจัยไทยจะเป็นประเทศแรกๆในโลกที่จะสร้างป่าชายเลนเทียมขึ้นมาเพื่อป้องกันระดับน้ำทะเลขึ้นมาบนชายฝั่ง

อีกข้อเสนอแนะของการป้องกันปัญหา นักวิชาการแนะด้วยว่า 4 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพมหานครควรหยุดใช้น้ำบาดาลตั้งแต่บัดนี้ ภาครัฐต้องหันมาหาแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคของคนในพื้นที่ดังกล่าวใหม่ ไม่เช่นนั้นจะเร่งให้แผ่นดินทรุดกระทบต่อเนื่องก่อให้เกิดปรากฏการณ์แผ่นดินหายและน้ำท่วมกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑลดังกล่าวในอนาคต... ประเทศไทยจะเสียผืนแผ่นดินที่ไม่ได้เกิดจากการสู้รบอย่างจริงๆ.




จาก : เดลินิวส์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า 25-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


นักวิชาการย้ำปัญหาแผ่นน้ำทะเลสูง หวั่นอีก 10 ปี แผ่นดินหายกว่า 1 กม.



บรรยากาศแถววัดขุนสมุทรจีนในอดีต



วัดขุนสมุทรจีนปัจจุบัน


น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น หนึ่งในผลพวงจากภัยคุกคามของภาวะโลกร้อน จากข้อมูลวิชาการบ่งชี้ชัดเจนว่า เรากำลังเผชิญอยู่กับปัญหาสำคัญนี้ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแผ่กระจายไปในพื้นที่ชายฝั่งเกือบทั่วประเทศ โดยเฉพาะความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่อ่าวไทยตอนบนต่อปัญหาวิกฤติด้านการกัดเซาะชายฝั่ง

ความเสียหายของบ้านเรือนริมชายฝั่งที่เพิ่มขึ้น คือกรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า เกิดผลกระทบอย่างไรต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิต ขณะที่ข่าวคราวของนักวิชาการที่ออกมาเตือนน้ำจะท่วมกรุงเทพฯจากภาวะโลกร้อน หรือกรุงเทพฯในอนาคตจะจมใต้บาดาล ก็สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนที่อยู่อาศัยในเมืองกรุงมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้จัดงานเสวนา “จับตาประเทศไทยกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำทะเลเพิ่มสูง” ขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมี รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา และหัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมเสวนา

รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า สภาพพื้นที่อ่าวไทยตอนบนมีแม่น้ำสำคัญ 4 สายไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง บางปะกง เจ้าพระยา และท่าจีน มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของอ่าวไทยตอนบนในปัจจุบันจากการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างละเอียดนั้น ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทุกขณะ

เมื่อได้ตรวจวัดระดับน้ำทะเลที่สถานีปากแม่น้ำท่าจีน พบว่า ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 42 มิลลิเมตรต่อปี สถานีป้อมพระจุลจอมเกล้า 20.5 มิลลิเมตรต่อปี สถานีปากแม่น้ำเจ้าพระยา 15 มิลลิเมตรต่อปี สถานีบางปะกง 4 มิลลิเมตรต่อปี ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่สูงกว่าการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอดีตมาก เมื่อ 150 ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 1.2-1.8 มิลลิเมตรต่อปี แต่จากรายงานของไอพีซีซี ปี 2550 พบว่า ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปีแล้ว ขณะที่ในประเทศไทยมีตัวเลขจากรายงานของกรมทรัพยากรธรณี ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 4.1 มิลลิเมตรต่อปี (DMR 2010) ส่วนระดับน้ำทะเลในพื้นที่ชายฝั่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีการเก็บบันทึกการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเอาไว้ เช่น มาเลเซีย 2.4 มิลลิเมตรต่อปี เวียดนาม 2.56 มิลลิเมตรต่อปี บังกลาเทศ 7.8 มิลลิเมตรต่อปี มัลดีฟส์ 4.1 มิลลิเมตรต่อปี

“จากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทั่วทั้งชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งการทำลายพื้นที่ ก่อปัญหาและสร้างความเดือดร้อนให้คนในชายฝั่งซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ โดยพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกงถึงจังหวัดเพชรบุรี มีชายฝั่งยาวกว่า 120 กิโลเมตร กำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง โดย 30 ปีที่ผ่านมา ที่ดินชายฝั่งทะเลของอ่าวไทยหายไป 18,000 ไร่ ยิ่งไปกว่านั้น การกัดเซาะไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะชายฝั่งเท่านั้น แต่กัดเซาะลึกลงไปในพื้นที่ท้องทะเลด้วย ทำให้สูญเสียชายหาดโคลนทุกวินาที ทั้งนี้พบว่า 30 ปีที่ผ่านมา แผ่นดินใต้ทะเลที่เป็นหาดโคลนหายไปประมาณ 180,000 ไร่" รศ.ดร.ธนวัฒน์ เผยข้อมูล

นอกจากนั้น ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยตลอด 2,600 กิโลเมตร ถูกกัดเซาะไปแล้วถึง 600 กิโลเมตรหรือคิดเป็นประมาณ 22% ซึ่งถือว่าผิดปกติมาก และจากการสำรวจติดตามผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลและผลกระทบที่เกิดขึ้น พบว่าพื้นที่บางปู จ.สมุทรปราการ ในอดีต 40 ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมีหาดโคลน ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลทรัพยากรสัตว์น้ำชายฝั่งทะเลได้โผล่พ้นน้ำกว้างกว่า 5 กิโลเมตรจากแผ่นดิน แต่ในปัจจุบันเหลือเพียง 1 กิโลเมตรเท่านั้น ในกรณีเดียวกันที่บ้านขุนสมุทรจีน มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม 2.5 กิโลเมตร เหลือเพียง 1 กิโลเมตร ขณะที่พื้นที่มหาชัย เคยมีหาดโคลน 1.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น

การศึกษาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอนาคตพบว่า พื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑลจะมีอัตราการกัดเซาะเพิ่มเป็น 65 เมตรต่อปี ถ้าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า 2.3 กิโลเมตร และในอีก 100 ปีข้างหน้าประมาณ 6 กิโลเมตร

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เปลี่ยนแปลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น คือปัญหาแผ่นดินทรุดของประเทศไทย มีผลกระทบ 70-80% ที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของประเทศไทยสูงขึ้น โดยปัญหาที่เห็นได้ชัดคือบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2527 มีอัตราการทรุดของแผ่นดินมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่เมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการป้องกันต่างๆ ในปัจจุบันนี้อัตราการทรุดเหลือประมาณ 1-4 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งถือเป็นข่าวดี

ส่วนที่เป็นข่าวร้ายก็คือจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวเปลี่ยนอยู่ใกล้พื้นที่ชายฝั่ง มีผลให้ได้รับความเดือดร้อนจากระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ที่สูงขึ้นอยู่แล้ว ทุกวันนี้ผลกระทบปรากฎแล้วที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย แผ่นดินทรุดไปแล้วราว 55 เซนติเมตร

ปัจจัยที่เหลือคือ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็ง และธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายรวดเร็วกว่าในอดีต ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งมีการคำนวณแล้วว่ามีอัตราเฉลี่ยทั่วโลกประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี นอกจากนี้ การก่อสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ ซึ่งส่งผลให้ตะกอนไหลลงสู่พื้นที่ชายฝั่งน้อยลง เช่น เขื่อนเจ้าพระยา, เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิติ์ หลังสร้างเขื่อนที่ต้นน้ำทำให้อัตราการงอกของแผ่นดินเหลือ 4.5 เมตรต่อปีเท่านั้น จากเดิมที่มีการงอก 60 เมตรต่อปี ตะกอนที่หายไปเพราะเขื่อนกักเก็บไว้ ส่งผลกัดเซาะหนักกว่าเดิม

ในส่วนของความรุนแรงของปัญหาการเปลี่ยนแปลง “ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์” นั้น รศ.ดร.ธนวัฒน์ ระบุว่าอาจเกิดปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับเมืองชายฝั่งของบ้านเรา โดยยกตัวอย่าง กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากแผ่นดินทรุดและภาวะโลกร้อน ส่งผลต่อเมืองใหญ่แห่งนี้ เกิดปรากฏการณ์น้ำหนุนสูง มีน้ำทะเลเข้าท่วมถึงระดับหน้าอก ชาวบ้านในพื้นที่ก็พยายามปรับตัวไม่ทิ้งพื้นที่

“ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 มิลลิเมตรต่อปี แต่จาการ์ตา 8 มิลลิเมตรต่อปี ขณะที่ประเทศไทยระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มขึ้น 40 มิลลิเมตรต่อปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นอัตราที่มากสุดในโลกแห่งหนึ่ง ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงแบบนี้จะเห็นบ่อยขึ้นในบ้านเรา ขณะนี้แถบสมุทรปราการเจอปัญหาเดียวกัน แต่ยังไม่รุนแรงเท่าจาการ์ตา ซึ่งชุมชนริมชายฝั่งอย่างจังหวัดสมุทรสงครามและสมุทรสาคร ที่จะเผชิญสภาพอย่างนี้ จะเตรียมรับมือยังไง”

ทุกวันนี้ผลกระทบหลายอย่างปรากฏจากวิกฤติระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง ขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงมากในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน ทุกหน่วยงาน นักวิชาการ ตลอดจนชุมชนพยายามหามาตรการ และวิธีการที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดโครงการรูปแบบต่างๆหลั่งไหลลงสู่พื้นที่

เมื่อเร็วๆนี้ มีแนวคิดจะก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแบบประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยใช้ข้อมูลสตรอมเสิร์ช (Strom Surge) ที่จะพัดเข้ากรุงเทพฯ ทำให้น้ำทะเลท่วมเข้ามา 30 กิโลเมตร และข้อมูลระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นของแผนที่นาซา ที่จะทำให้น้ำทะเลท่วมตั้งแต่ 4-12 เมตร โดยประเด็นนี้ในทัศนะของ รศ.ดร.ธนวัฒน์ ให้ความเห็นว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่แบบเนเธอร์แลนด์ นอกจากจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อพื้นที่ชายฝั่งที่มีความอ่อนไหวสูงแล้ว เขื่อนยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของหาดโคลน ทำให้หาดโคลนหายไป ซึ่งหาดโคลนถือเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์วัยอ่อนที่สำคัญที่สุดของอ่าวไทย เพราะมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีความสำคัญเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล

อีกทั้งยังเป็นที่ทำมาหากินของชุมชนประมงพื้นบ้านไม่น้อยกว่า 1 ล้านคนที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและจับสัตว์น้ำตามชายฝั่งทะเล รวมไปถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายถิ่นของปลาทู ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ที่จัดโดยชุมชนและวิถีชุมชนประมงพื้นบ้าน นับเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ฉะนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในการป้องกันปัญหาคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะลงไปพัฒนาต้องมีความเข้าใจในพื้นที่ และเชื่อมโยงระบบนิเวศกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยใช้ข้อมูลที่ต้องทำการศึกษาอย่างจริงจัง

"ผลกระทบจากความผิดปกติของระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น เริ่มปรากฏให้เห็นในพื้นที่ชายฝั่งแล้ว และสิ่งที่นักวิชาการคาดการณ์ถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 10 - 20 ปีข้างหน้า ภาคประชาชนจะแตกตื่นหรือเตรียมรับมือก่อนสถานการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้นจริง ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกหน่วยงานต้องตระหนัก แม้หลายคนจะมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่การรู้เท่าทันทำให้เราปรับตัวและวางแผนเพื่อความอยู่รอดได้ เพราะภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป" รศ.ดร.ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 กรกฎาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า 27-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"น้ำทะเล" กลืนกิน แผ่นดินไทยหายสาบสูญ!





มีข่าวคราวเป็นระยะๆ จากนักวิชาการหลายท่านที่ออกมาเตือนว่า "ภาวะโลกร้อน" อาจทำให้พื้นที่ชายฝั่งเกือบทั้งประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ

โดยเฉพาะพื้นที่อ่าวไทยตอนบนอย่าง "กรุงเทพมหานคร" นั้นมีความเสี่ยงสูง ถึงขนาดเกรงกันว่า

วันหนึ่งน้ำจะท่วมทั้งกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้บาดาล

สิ่งที่เราหลายคนตื่นตระหนกนี้จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด?

รศ.ดร.ธนวัฒ น์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ติดตามศึกษาเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปี นำผลการศึกษาที่ได้มาเผยแพร่ให้ความรู้ พร้อมๆกับเตือนสังคมไทยในเวทีเสวนา "จับตาประเทศไทยกับวิกฤตการณ์ภัยน้ำทะเลหนุนเพิ่มสูง" ซึ่งจัดขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ธนวัฒน์ เริ่มต้นการเสวนาว่า การศึกษาการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ของอ่าวไทยตอนบน โดยการตรวจวัดระดับน้ำเฉลี่ยรายปีอย่างละเอียดนั้น แสดงให้เห็นว่า

เกิดความเปลี่ยน แปลงของ "ระดับน้ำทะเล" สูงขึ้นทุกขณะ

จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลของไทยสูงขึ้น 4.1 มิลลิ เมตรต่อปี

ในขณะที่รายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ "ไอพีซีซี" เมื่อปี 2550 ระบุว่า

ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 มิลลิเมตรต่อปี สูงกว่าเมื่อ 150 ปีก่อน ซึ่งสูงขึ้นปีละ 1.2-1.8 มิลลิเมตร


1.พระในวัดขุนสมุทรจีนต้องเอาตุ่มน้ำมายกสูงทำเป็นทางเดินเวลาน้ำทะเลหนุน
2.-3.ชาวบ้านขุนสมุทรจีน แสดงหลักฐานชายฝั่งที่ถูกน้ำกัดเซาะ
4.รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล


การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์นี้ ทำให้การเกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างร้ายแรง

โดยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชายฝั่งของอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง ถึงจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีความยาวกว่า 120 กิโลเมตร มีถึง 82 กิโลเมตร ที่ถูกกัดเซาะอย่างหนัก มีพื้นดินหายไปแล้วถึง 18,000 ไร่

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ ยังมีผลต่อการคงอยู่ของ "หาดโคลน" ซึ่งเป็นแหล่งห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศบกและทะเล รวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้านด้วยเช่นกัน โดยย้อนกลับไป 40 ปีที่แล้ว เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำสุด หาดโคลนที่ "บางปู" จะโผล่ขึ้นมาประมาณ 5 กิโลเมตร แต่จากการตรวจวัดเมื่อปีที่ผ่านมาพบว่า บริเวณเดียวกันนี้ มีหาดโคลนเหลืออยู่เพียง 1 กิโลเมตร หดสั้นไปถึง 4 กิโลเมตร

ส่วนที่ "ขุนสมุทรจีน" จ.สมุทรปราการ ซึ่งเคยมีหาดโคลนอยู่ 2.5 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ประมาณ 1.1 กิโลเมตร

และ ที่ "มหาชัย" ซึ่งในอดีตเคยมีหาดโคลนอยู่ 2 กิโลเมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 250 เมตรเท่านั้น รวมทั้งหมดแล้ว ปัจจุบันเราสูญเสียหาดโคลนไปแล้วถึง 180,000 ไร่

รศ.ดร.ธนวัฒน์ ยังเปิดเผยข้อมูลว่า การศึกษาผลกระทบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์ในอนาคตพบว่า

พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลจะมีอัตราการกัดเซาะเพิ่มขึ้นเป็น 65 เมตรต่อปี

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป โดยไม่มีมาตรการใดๆมาป้องกัน อีก 10 ปีข้างหน้า แผ่นดินจะหายไป 1.3 กิโลเมตร อีก 50 ปีข้างหน้า จะหายไป 2.3 กิโลเมตร และภายใน 100 ปี แผ่นดินมีโอกาสหายไปถึง 8 กิโลเมตร

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่มสูงขึ้น มีด้วยกัน 3 อย่าง คือ

1.ปัญหาแผ่นดินทรุด
2.การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และ
3.การลดลงของตะกอนชายฝั่ง อันเกิดมาจากการสร้างเขื่อนบริเวณต้นน้ำ

"ในอดีตแผ่นดินของกรุงเทพฯ มีอัตราการทรุดมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี แต่หลังจากมีการควบคุมน้ำบาดาลแล้ว อัตราการทรุดลดลง เหลือประมาณ 1-3 เซนติเมตรต่อปี แต่ข้อเสีย คือจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวย้ายไปอยู่ใกล้ชายฝั่ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งยิ่งรุนแรงมากขึ้น" รศ.ดร.ธนวัฒน์ แสดงความกังวล แล้วอธิบายต่อว่า การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสำคัญ 4 สาย ก่อนไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำท่าจีน ทำให้ตะกอนดินจากแม่น้ำต้นสายไม่สามารถไหลลงสู่ชายฝั่งได้ เพราะถูกเขื่อนเหล่านี้ขวางกั้นไว้

"เราติดตามสถานีวัดระดับน้ำที่ จ.พระนครศรีอยุธยา พบว่า หลังจากมีการสร้างเขื่อนเจ้าพระยา ในปี 2500 เขื่อนภูมิพล ปี 2507 เขื่อนสิริกิติ์ ปี 2514 ระดับน้ำที่ผ่าน จ.พระนครศรีอยุธยา ลดลงอย่างเห็นได้ชัด การลดลงนี้จะส่งผลให้มี ตะกอนมาสู่ชายฝั่งน้อยลง ทำให้เกิดการท่วมของระดับน้ำทะเลได้ในอนาคต"

อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาฯ ชี้ด้วยว่า การสร้าง "เขื่อน" ทำให้ตะกอนที่เคยไหลลงสู่อ่าวไทยในปริมาณ 25 ล้านตันต่อปี ลดลงเหลือเพียง 6.6 ล้านตันต่อปี คือหายไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนตะกอนที่หายไปนี้ มีผลทำให้น้ำทะเลท่วมสูงขึ้นได้อีกถึง 2.5-3.5 เมตรต่อปี

ที่ผ่านมา เราอาจเข้าใจว่า ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นหลัก

แต่ รศ.ดร.ธนวัฒน์ บอกว่า จากการศึกษาพบว่า ระดับน้ำทะเลส่งผลกระทบเพียง 9.6 เปอร์เซ็นต์ อีก 8 เปอร์เซ็นต์ มีที่มาจากตะกอนชายฝั่งที่ลดลง แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด และส่งผลกระทบถึง 82.5 เปอร์เซ็นต์ คือการทรุดตัวของพื้นดิน ซึ่งมีที่มาจากการขุดเจาะน้ำบาดาลเป็นหลัก

ทั้ง นี้ 5 จังหวัด ที่มีอัตราการทรุดตัวของพื้นดินมากที่สุด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และกรุงเทพมหานคร ผลจากการสูบน้ำบาดาลไปใช้เป็นจำนวนมาก มีผลให้พื้นดินทรุดตัวถึง 1-3 เซนติเมตรต่อปี ในขณะที่อัตราการทรุดตัวตามธรรมชาติโดยมากจะอยู่ที่ปีละ 0.5 มิลลิเมตรเท่านั้น

ส่วนอนาคตกรุงเทพฯ และแถบปริมณฑลจะจมทะเล กลายเป็นเมืองบาดาลหรือไม่ในวันข้างหน้านั้น รศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวว่า

วิธีป้องกันต้องควบคุมทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นไปพร้อมๆกัน

หากหน่วยงานหรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยังมองว่าเป็นเรื่องไกลตัวและไม่พยายามปรับตัว หรือวางแผนรับมือ...

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเผชิญกับปัญหาจริงๆ ก็อาจสายเกินไปเสียแล้ว




จาก : ข่าวสด วันที่ 27 กรกฎาคม 2553
ภาพจาก ... khunsamut.com

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า 29-07-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


จับตาเปลือกโลก...แผ่นดินทรุด! น้ำทะเลเพิ่มสูง...ไทยเสี่ยงท่วม!?


หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันที่เกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2547 ครั้งนั้นหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเผชิญกับคลื่นยักษ์สึนามิภัยทางธรรมชาติซึ่งไม่เพียงสร้างความสูญเสียในชีวิตทรัพย์สิน ทางด้านธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมต่างก็ได้รับผลกระทบมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน!!

ภาวะโลกร้อน สถานการณ์ที่กล่าวขานส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงแปรปรวนของฝนฟ้าอากาศ รวมถึงพิบัติภัยทางธรรมชาติที่ปรากฏให้สัมผัสใกล้ชิดขึ้น การศึกษาวิจัยเชิงลึกติดตามความเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงมีความหมายความจำเป็น

โครงการวิจัยร่วมไทย-ยุโรป GEO2TECDI ซึ่งเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปซึ่งคณะนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมแผนที่ทหาร กรมอุทกศาสตร์ โรงเรียน นายเรือ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสาร สนเทศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยในยุโรป ได้แก่ TUDelft, TUDarmstadt และ ENS ได้ใช้ข้อมูลจากดาวเทียม จีพีเอส ดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเล และดาวเทียม SAR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอวกาศ Space-geodetic ตรวจวัดและติด ตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเล การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกและการทรุดตัวของแผ่นดิน

งานวิจัยไม่เพียงพบการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกประมาณ 2 เท่า หากแต่พบการลดระดับของเปลือกโลกในบริเวณประเทศไทยที่น่าเป็นห่วง!!

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลเป็นตัวชี้วัดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศของโลกซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยก็มีการศึกษาเรื่องดังกล่าวแต่อาจมี ข้อมูลที่ต่างกันไป จากผลวิจัยของโครงการฯ ประมวลผลข้อมูลระดับน้ำทะเลเฉลี่ยรายปีจากสถานีวัดระดับน้ำของกรมอุทกศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2483 และจากข้อมูลกรมแผนที่ทหาร ซึ่งให้ข้อสรุปถึงระดับน้ำทะเลเฉลี่ยในอ่าวไทยกำลังเพิ่มระดับขึ้น โดยบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตกระดับน้ำทะเลเฉลี่ยกำลังเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณ 3 มิลลิเมตรต่อปี

นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมวัดระดับน้ำทะเลในช่วงปี 2536-2551 บริเวณห่างจากชายฝั่งออกไปแสดงให้เห็นว่าระดับน้ำทั่วอ่าวไทยกำลังเพิ่มขึ้นเช่นกัน อีกทั้งงานวิจัยได้ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกซึ่งข้อมูลจากการวัด ด้วยสัญญาณดาวเทียมจีพีเอสในบริเวณเกาะภูเก็ต ชุมพร และชลบุรีตั้งแต่ปี 2537 แสดงให้เห็นว่า ก่อนเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่สุมาตรา-อันดามันในปี 2547 แผ่นเปลือกโลกยกตัวอย่างช้าๆ 2-3 มิลลิเมตรต่อปี แต่หลังแผ่นดินไหวมีทิศทางลดระดับลงอย่างรวดเร็วด้วยความเร็ว ที่ตรวจวัดได้ประมาณ 10 มิลลิเมตรต่อปี ขณะเดียวกันได้ตรวจวัดการทรุดตัวของชั้นดินชั้นทรายในบริเวณกรุงเทพมหานคร

ขณะที่การลดระดับของเปลือกโลกและการทรุดตัวของชั้นดินชั้นทรายทำให้การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อกรุงเทพฯ และจังหวัดชายฝั่งใกล้เคียงโดยมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเกิดน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่ง การรุกของน้ำเค็มเข้าไปในแหล่งน้ำจืดตลอดจนการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมชายฝั่ง รศ.ดร.อิทธิ ตริสิริสัตยวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมสำรวจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ว่า โครงการนี้เราศึกษาทั้งสองส่วนทั้งเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินซึ่งบนชั้นหินมีชั้นตะกอนเป็นพวกดิน ทราย หิน ฯลฯ

การทรุดตัวคงต้องแยกว่าเป็นชั้นดินชั้นทรายหรือชั้นตะกอนที่อยู่ชั้นบนหรือชั้นหิน ส่วนที่เป็นประเด็นมีการพูดถึงเปลือกโลกทรุดตัวส่งผลต่อน้ำท่วมนั้น แผ่นเปลือกโลกโดยทั่วไปมองกันว่าค่อนข้างเสถียรแต่ในความเป็นจริงนั้นยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ซึ่งการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกในประเทศไทยก็มีผู้ศึกษาติดตามเรื่องแผ่นดินไหวอยู่โดยการศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามการเคลื่อนตัวในทางราบ แต่โครงการฯศึกษาวิจัยในทางดิ่งร่วมด้วยและก็ทำให้พบว่า บริเวณประเทศไทยพบการลดระดับแผ่นเปลือกโลกกำลังเคลื่อนตัวลง

“ตัวเลขที่มีได้แก่ ที่ จ.ชุมพร ภูเก็ตและ อ.สัตหีบ หากพิจารณาจากอนุกรมเวลาของค่าพิกัดทางดิ่งที่แสดงในรูปกราฟจะเห็นว่าเส้นกราฟลดระดับลงซึ่งก็เป็นประเด็นที่คาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ ก็น่าจะเคลื่อนตัวลง แต่ก็ยังไม่แจ้งชัดว่าลงไปที่อัตราเท่าไหร่เหตุผลก็คือกรุงเทพฯ มีลักษณะพิเศษด้วยที่ว่าชั้นดินตะกอนหนามากต้องเจาะลึกลงไปมากจึงจะเจอชั้นหิน

อีกทั้งจุดตรวจวัดทั้งหมดของกรุงเทพฯที่มีอยู่ก็จะอยู่ตามตึก ค่าการเคลื่อนตัวในทางดิ่งที่ได้จากจีพีเอสก็จะมีส่วนที่เป็นชั้นหินปนอยู่กับส่วนที่เป็นชั้นดินชั้นตะกอนแยกได้ยากว่าเป็นอย่างไร แต่อย่างไรแล้วก็เชื่อว่ามีการลดระดับลงเพราะจากการศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงอื่นที่ตั้งอยู่บนชั้นหินก็มีระดับลดลง”

ในกรุงเทพฯ ประเด็นใหญ่ที่เราห่วงกันก็คือ ในเรื่องของน้ำท่วม เรื่องของการกัดเซาะชายฝั่ง การรุกเข้ามาของน้ำเค็มซึ่งที่ผ่านมาก็เจอปัญหาเหล่านี้อยู่แล้วเพียงแต่ว่า ประเด็นนั้นเกิดจากอะไร ถ้ามองต่อไปในระยะยาวในอนาคตจะมีผลอย่างไร หากไม่มีการแยกแยะอะไรให้ชัดเจนในแต่ละประเด็นก็ไม่สามารถตอบได้

จากการศึกษาวิจัยที่เสนอพบข้อมูลที่กล่าวมาทุกเรื่องมีความน่าเป็นห่วง อย่างเรื่องของเปลือกโลกที่เป็นชั้นหินทรุดตัวลง การที่เปลือกโลกที่เป็นชั้นหินลดระดับลงก็จะส่งผลต่อทุกสิ่งบนผิวโลก ด้วยเพราะเราอยู่บนชั้นดินเมื่อชั้นหินลดระดับลง ชั้นตะกอนก็จะลดลงตาม

“การสำรวจครั้งนี้จึงเป็นการศึกษาที่ลึกลงไปถึงชั้นเปลือกโลกและเมื่อชั้นหินเปลือกโลกทรุดตัวก็จะส่งผลต่อสิ่งต่างๆ การลดระดับลงทีละน้อยเหล่านี้อาจเป็นการลดระดับโดยที่ไม่รู้ตัวแต่จากการศึกษาก็ทำให้เตรียมความพร้อมล่วงหน้าได้อย่างทันท่วงที”

การที่เปลือกโลกลดระดับลงก็มีผลมาจากแผ่นดินไหวเมื่อปีค.ศ. 2004 ที่เกิดสึนามิซึ่งก็มักจะพูดกันถึงเรื่องพิบัติภัยสึนามิกัน แต่อาจลืมนึกถึงผลกระทบในสิ่งเหล่านี้ซึ่งถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องมา ในการศึกษาครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ

ส่วนการศึกษาจากจีพีเอสเป็นการวัดระยะทางจากดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศ หากพูดในหลักการที่เข้าใจได้ง่ายคือ ค่าความสูงของตำแหน่งเดิมเมื่อเวลาผ่านไปมีความคงที่หรือไม่ ถ้ามีความคงที่ก็ไม่มีการทรุดตัวซึ่งในระดับชั้นหินส่วนที่เป็นเปลือกโลกคงไม่สามารถทำอะไรได้ในการที่จะหยุดยั้ง

แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ เมื่อทราบผลจากการศึกษา มีข้อมูลเหล่านี้คงต้องเร่งตระหนักซึ่งในความรุนแรงของน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งจะมากกว่าที่เราคิดและอาจจะแตกต่างจากเดิมที่ได้มีการศึกษา ดังนั้นต่อไปในอนาคต ในการวางแผนแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดจะเป็นน้ำท่วม การกัดเซาะชายฝั่งหรือน้ำเค็ม ฯลฯ คงต้องนำข้อเท็จจริงร่วมวางแผน โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ผ่านมาก็เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมสิ่งที่มีความห่วงใยกันคือ ปัจจุบันพื้นที่กรุงเทพฯ ผิวดินอยู่ในระดับต่ำอยู่ใกล้กับระดับน้ำทะเลมาก

อีกทั้งในระหว่างทางสิ่งที่กำลังลดระดับลงแน่นอนว่าการกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้น น้ำเค็มทะลักเข้าไปก็ง่ายขึ้น อีกทั้งยังอาจพบเจอปัญหาในช่วงที่น้ำทะเลหนุนมากในช่วงปลายปี น้ำทะเลก็จะทะลักเข้าไปลึกขึ้นก็แน่นอนว่าย่อมสร้างความเสียหาย

ส่วนในเรื่องของน้ำท่วมก็อาจพบได้บ่อยขึ้น นานขึ้นเนื่องจากแผ่นดินทรุดลงการระบายน้ำก็จะยากขึ้น แต่อย่างไรแล้วในแง่ของปัญหาที่เกิดนั้นคงไม่เกิดฉับพลัน แต่จะค่อยเป็นค่อยไปและจะทวีความรุนแรงขึ้น การวางแผนเพื่อแก้ไขหรือป้องกันปัญหาเหล่านี้ในอนาคตต้องเผื่อตัวเลขเหล่านี้ไว้ด้วยและต้องมีการศึกษาติดตามต่อไปเนื่องจากการเคลื่อนตัวเหล่านี้มีค่าไม่คงที่

จากผลวิจัยที่มีความหมาย การตระหนักโดยไม่ตื่นตระหนกร่วมรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมให้คงความสมบูรณ์อย่างจริงจังและยั่งยืนก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ละเลยมองข้ามเช่นกัน.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 29 กรกฎาคม 2553
รูป
 
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า 09-08-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สัญญาณเตือนภัย.. 'ปาย' วันเดียว "ดินไหว" 30 ครั้ง


เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ชาวบ้านใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หลายกลุ่มถกเถียงกันในหัวข้อที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เนื่องจากหลายคนรู้สึกเหมือนมีใครมาเขย่าตัวเป็นระยะๆ ตั้งแต่บ่ายจนถึงเย็น เมื่อหันไปมองรอบๆ ก็ไม่เห็นอะไรผิดปกติ เล่าให้คนในครอบครัวหรือเพื่อนฝูงฟังกลับถูกมองว่า เป็นพวกละเมอกลางวัน เมาค้าง คิดมาก เพ้อเจ้อ ฯลฯ ความจริงแล้ววันนั้นอาจเป็นบันทึกใหม่ของสถิติ "แผ่นดินไหว" สำหรับชาวปายเลยทีเดียว ?!!

เริ่มตั้งแต่ตี 5 กับ 27 นาที 28 วินาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.6 ริกเตอร์ ที่ประเทศพม่า บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ วัดระยะห่างจากไทยได้ 115 กิโลเมตร ผ่านไปราว 10 ชั่วโมง กรมอุตุนิยมวิทยาได้รับรายงานเกิดแผ่นดินไหวที่ภาคเหนือของไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ อ.ปาย แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ตั้งแต่เวลา 15.43-21.50 น. มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดมากถึง 14 ครั้งด้วยกัน ขนาดตั้งแต่ 2.0-3.2 ริกเตอร์ ช่วง 6 โมงเย็นเป็นต้นไป

เวลา 18.07 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.1 ริกเตอร์ พอถึงเวลา 18.35 น. ความรุนแรงเพิ่มเป็น 3.0 ริกเตอร์ เวลา 18.45 น. วัดได้ 2.2 ริกเตอร์ จากนั้นเวลา 19.17 น. เพิ่มเป็น 2.5 ริกเตอร์ ผ่านไปอีก 22 นาที เกิดแผ่นดินไหวขนาด 2.0 ริกเตอร์ จนล่วงเข้าเช้าตรู่ของอีกวันก็ยังวัดระดับแผ่นดินไหวได้อีก ฯลฯ

วันถัดมา "อดิศร ฟุ้งขจร" ผู้อำนวยการสถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ อธิบายให้สื่อมวลชนฟังว่า แผ่นดินไหวที่ภาคเหนือเกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ คาดว่าเป็นการปลดปล่อยพลังของรอยเลื่อนกลุ่มแผ่นดินไหว ในเชิงเทคนิคถือเป็นลักษณะที่สื่อถึงพฤติกรรมของรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าจับตา เพราะยังไม่รู้ว่ากลุ่มแผ่นดินไหวจะเลื่อนเข้าสู่ภาคเหนือของไทยหรือไม่ แต่ยอมรับว่ามีโอกาส แม้จะไม่สามารถคาดเดาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

โดยภาคเหนือตอนบนมี 14 รอยเลื่อนที่ยังมีพลัง คงต้องเฝ้าจับตาดูทั้ง 14 รอยเลื่อนว่า ทำไมถึงเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างถี่ในช่วงนี้ อาจเป็นการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างหรือไม่ ที่สำคัญรอยเลื่อนในกลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงกับรอยเลื่อนที่เกิดแผ่นดินไหวในพม่า ลาว และจีนทั้งหมด

"รอยเลื่อนมีพลัง" (active fault) หมายถึง รอยเลื่อนที่จะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต และต้องมีการเคลื่อนตัวอย่างน้อย 1 ครั้งภายในระยะเวลา 1 หมื่นปี

แต่ที่สร้างความกังวลให้ชาวปายมาก ก็คือ คำพูดส่งท้ายของอดิศรที่เตือนว่า ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในภาคเหนือหรือไม่ หากเตรียมตัวพร้อมไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย โดยเฉพาะการตรวจสอบอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในตัวบ้าน ที่อาจเป็นอันตรายหากเกิดแผ่นดินไหว ตรวจสอบโครงสร้างอาคารว่ายังแข็งแรงหรือไม่ ที่สำคัญคือควรมีการซ้อมหนีภัยแผ่นดินไหว เพราะถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จริงจะได้หนีทัน

"รพีภูมิพัฒน์ เสมอภพ" นักธรณีวิทยา สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า วันที่ 26 กรกฎาคม 2553 เครื่องคอมพิวเตอร์ของศูนย์เตือนภัยพิบัติแผ่นดินไหวส่งเสียงร้องเตือนตลอดเวลาและแจ้งเหตุแผ่นดินไหวที่ อ.ปาย คาดว่าเฉพาะวันนั้นที่ปายอาจมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นมากกว่า 30 ครั้งด้วยกัน แต่เป็นขนาดเล็กไม่เกิน 3.0 ริกเตอร์ บางคนอาจรู้สึกได้ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยรู้สึกว่ามีแผ่นดินไหว

"เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะเท่าที่ศึกษาสถิติย้อนหลังไม่พบบันทึกว่า อ.ปาย เคยเกิดแผ่นดินไหวถี่ขนาดนี้มาก่อน ภายในวันเดียวไหวต่อเนื่องกว่า 30 ครั้ง ตรวจสอบพบว่าศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ ต.ทุ่งยาว อ.ปาย หากดูในแผนที่แล้วแผ่นดินไหวทั้งหมดเกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกัน มีชาวบ้าวโทรแจ้งเหตุเข้ามาหลายราย แต่ยังไม่ได้ประกาศเตือนภัยทางทีวี เพราะเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก" นักธรณีวิทยากล่าว

ด้าน ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์วิจัยภัยพิบัติแผ่นดินไหว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าว่า บริเวณภาคเหนือตอนบนมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่บริเวณ "รอยเลื่อนแม่จัน" กับ "รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน" แต่แผ่นดินไหวที่เกิดใน จ.แม่ฮ่องสอนไม่น่าเป็นห่วงเท่า อ.แม่จัน จ.เชียงราย เพราะมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า เป็นเมืองใหญ่มีชุมชนหนาแน่น สถิติเก่าบันทึกว่ารอยเลื่อนแม่จันเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ส่วน อ.ปาย เคยเกิดสูงสุดประมาณ 5.0 ริกเตอร์

สิ่งที่ต้องระวังคือแม้แผ่นดินไหวจะขนาดไม่ใหญ่ แต่เคยทำให้เกิดดินถล่มสร้างความเสียหายมหาศาลมาแล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เขตดินถล่ม ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูฝนด้วย !?!

คำเตือนนี้สร้างความหวาดผวาให้ชาวปายพอสมควร เพราะเคยมีประสบการณ์โดนน้ำท่วมดินถล่มอย่างหนักเมื่อปี 2548 ทั้งดินโคลนและท่อนซุงนับหมื่นท่อนไหลมาตามกระแสน้ำพัดให้เมืองท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองสามหมอกแทบกลายเป็นเมืองร้างภายในค่ำคืนเดียว

ขณะนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแม่ฮ่องสอนแจ้งเตือนไปยังทุก อำเภอให้เฝ้าระวังและเตรียมรับมือภาวะน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มช่วงหน้า ฝนนี้ โดยเฉพาะ อ.ปาย ซึ่งเป็น 1 ใน 89 พื้นที่สีแดงของ จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากมีข้อมูลว่าป่าต้นน้ำถูกทำลายไป สิ้นเสียงเตือนภัยได้ไม่กี่ชั่วโมง เวลา 07.30 น. วันที่ 3 สิงหาคม ที่ผ่านมา น้ำป่าก็พัดพาดินโคลนและเศษไม้จากลำห้วยแม่ฮี้เข้าท่วมบ้านเรือนใน ต.แม่ฮี้ อ.ปาย เสียหายไปกว่า 70 หลังคาเรือน


หลายคนสงสัยว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นถี่หลายระลอกใน อ.ปาย ที่ผ่านมาจะทำให้รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนฉีกขยายจากเดิมหรือไม่ ?!!

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่มีส่วนทำให้รอยแยกของแผ่นเปลือกโลกขยายออกมากกว่าเดิม เนื่องจากกระบวนการขยับตัวของแผ่นเปลือกโลก หากจะแยกออกจากกันหรือบิดเบี้ยวไปต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 ล้านปี

ตามปกติแล้วก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กเตือนก่อน หรือที่เรียกว่า "ฟอร์ช็อก" (Foreshock) และเมื่อแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สิ้นสุดลงก็จะมี "อาฟเตอร์ช็อก" (Aftershock) ตามมาอีกหลายระลอก

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ปายยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นฟอร์ช็อกหรืออาฟเตอร์ช็อก เพราะวันนั้นอาจไหวสูงสุดแค่ระดับ 3.0 ริกเตอร์ก็ได้ รศ.ดร.เป็นหนึ่งย้ำว่า แผ่นดินไหวเป็นภัยธรรมชาติที่ยังไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดวันไหน สิ่งเดียวที่ชาวบ้านทำได้คือระมัดระวังตัว และถ้าเกิดหายนะขึ้นมาก็ต้องอพยพให้เร็วที่สุด



จาก .......... คม ชัด ลึก วันที่ 9 สิงหาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า 09-08-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



ทราบมาครั้งล่าสุด แผ่นดินไหวที่ปาย 10 กว่าครั้งเอง....


แล้วนี่ว่าเคยไหวตั้ง 30 ครั้งติดกันเชียวหรือคะ....

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า 09-09-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สบว.หวั่น 30 ปี น้ำท่วมกรุง เตือนเฝ้าระวังโรคระบาดจี้รัฐเตรียมแก้ปัญหา




สบว.เตือนอีก 30 ปี ไทยมีแนวโน้มเกิดปัญหาน้ำท่วมแผ่นดินทรุด น้ำทะเลสูงสลับแล้ง ชี้โรคอุบัติใหม่ระบาด หวั่นอหิวาต์กลับมา เชื้อรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ แนะรัฐเตรียมการแก้ปัญหาล่วงหน้า

วันนี้ (8 ก.ย.) รร.สยามซิตี้ สำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ในกำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ร่วมกับศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานสถานภาพด้านสภาพภูมิอากาศในอนาคตของไทย ในหัวข้อ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2588-2608” โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ขันทปราบ ผู้ อำนวยการ สบว.กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทยในช่วงดังกล่าว มีแนวโน้มแปรปรวนเพิ่มมากขึ้น อากาศจะร้อนขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส ระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้นถึง 14-15 เซนติเมตร ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แผ่นดินทรุด เมื่อสภาพอากาศแปรปรวนอาจส่งผลกระทบให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามหัวเมืองใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวและเขตเศรษฐกิจต่างๆ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเสริมว่า เชื่อว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจ อย่างแน่นอน ส่วนระดับความรุนแรงมากน้อยเพียงใดยังบอกชัดๆ ไม่ได้ อย่างอากาศร้อน แล้ง ยาวนาน มีผลต่อการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ รวมถึงการคาดการณ์ว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล จะเกิดน้ำท่วม ปัญหาข้างต้นกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ เช่น พืชที่เพาะปลูกเสียหาย ผลผลิตที่เพาะปลูกไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ส่วนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล พื้นที่บางจังหวัดของภาคใต้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยวของประเทศและแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ดังนั้น ผู้บริหารประเทศต้องเตรียมการแก้ปัญหาแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วมาตามแก้ หากถึงเวลานั้นจะเสียค่าใช้จ่ายสูง

“มีงานวิจัยหลายสถาบันออกมาตรงกันว่า อีก 10 ปี 20 ปี กรุงเทพฯ จังหวัดรอบๆกรุงเทพฯ จะถูกน้ำท่วม เพราะแผ่นดินทรุด ปริมาณน้ำทะเลสูงขึ้น พร้อมกันนี้ ภูมิอากาศจะแปรปรวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะมีผลกระทบต่อการเพาะปลูก ดังนั้น จะใช้วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆคงไม่พอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจับมือกันร่วมวางแผนแก้ปัญหาล่วงหน้า เช่น ศึกษาพันธุ์พืชให้ทนสภาพอากาศร้อน ผลผลิตมีปริมาณมากขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ กล่าว

ด้าน ศ.นพ.สมชัย บวรกิตติ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอนามัยและโรคอุบัติใหม่ขึ้น โดยเชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์และเชื้อจะรุนแรงขึ้น อย่างที่ผ่านมา เกิดปัญหาโรคซาร์ส นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังโรคอหิวาต์จะกลับมาระบาดอีก ซึ่งแนวโน้มการเกิดโรคต่างๆ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด และรายงานให้กระทรวงสาธารณสุข

“แนวโน้มปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โรคอุบัติใหม่ คาดว่าจะติดจากสัตว์มาสู่คน คนสู่คน สิ่งแวดล้อมมาสู่คน ยังบอกไม่ได้ว่าจะรุนแรงแค่ไหน อีกทั้งไม่อาจผลิตตัวยาไว้ล่วงหน้าได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเชื้อชนิดไหน” ศ.นพ.สมชัยกล่าว



จาก .............. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 กันยายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า 13-09-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ภัยธรรมชาติที่พึงระวัง


ปรากฏการณ์ภัยธรรมชาติของประเทศไทย ไม่ได้อยู่แค่ฝนแล้งขาดแคลนน้ำ กับน้ำท่วมเท่านั้น หากยังมีภัยธรรมชาติหลากหลายรูปแบบที่ประทุในประเทศอื่น และอาจขยายผลเกิดขึ้นในประเทศไทย

แต่ก่อนคนไทยไม่รู้จักคลื่นยักษ์สึนามิ อย่างเก่งเคยอ่าน เคยได้ยินคนอื่นพูด แล้วคนไทยก็ประจักษ์สึนามิของจริงในบริเวณชายหาดทะเลอันดามันภาคใต้เมื่อร่วม 7 ปีก่อน ยังความวิบัติมหาศาล เพราะเราไม่เคยรู้จักมัน ไม่รู้จักพิษสง และไม่มีการเตรียมตัวรับมือ

แผ่นดินถล่มเป็นภัยธรรมชาติที่เริ่มปรากฏชัดขึ้นในต่างประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชียของไทยและในประเทศไทยเอง แม้จะมีปรากฏการณ์นี้บ้าง แต่ยังเป็นแค่กระสาย อย่างเก่งดินภูเขาค่อยๆสไลด์เคลื่อนตัวลงมาปิดกั้นถนน เส้นทางสัญจร โดยที่ผู้คนยังปลอดภัย

แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะทางกายภาพ พื้นที่ภูเขาในเขตภาคเหนือ กระทั่งภาคใต้ที่มีการรุกขึ้นทำกินอย่างมโหฬาร ดินเหล่านี้มีขีดความสามารถจำกัดในการอุ้มน้ำ ลำพังฝนธรรมดาไม่เป็นไร เจอฝนโปรโมชั่นตกหนัก แถมตกไม่หยุดสะสมยาวนาน เมื่อนั้นดินก็พร้อมจะถล่มลงมา

อย่าไปนึกแค่ว่าก้อนดินธรรมดา จงนึกถึงดินบนภูเขาสูงที่โล่งเตียน ปราศจากไม้ใหญ่ อาการถล่มนั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง พร้อมที่จะเล่นงานสิ่งที่ขวางหน้าราวกับพิโรธโกรธเกรี้ยวมานาน

ที่น่าห่วง ประเทศไทยไม่มีประสบการณ์ช่วยเหลือกู้ภัยผู้ประสบภัยธรรมชาติในลักษณะนี้ ประสบการณ์ที่บ้านกระทูน จ.นครศรีธรรมราช กับ ห้วยน้ำริน จ. เพชรบูรณ์ ยังคงตรึงตาตรึงใจอยู่ไม่หาย แต่มีใครบ้างคิดว่า หากมันจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต เราจะทำประการใด

ทุกวันนี้ทุกภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น คนที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงทีกลับเป็นองค์กรเอกชน อย่างมูลนิธิป่อเต๊กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิในจังหวัดต่างๆ ซึ่งพอมีกำลังคนบ้าง แต่อุปกรณ์เครื่องมือก็เป็นอุปกรณ์พื้นฐาน และไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเขาอยู่แล้ว ทุกวันนี้ที่เขาทำอยู่ก็ต้องขอแสดงความนับถืออย่างมากมา ณ ที่นี้

จะไปพึ่งกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ผมคิดว่า พอพึ่งได้น้อยนิด จนแทบลืมไปได้เลย ตรงข้ามก่อนถึงปัญหาที่จะเกิด หากเราสามารถเตือนภัยให้ประชาชนในพื้นที่ได้พึงรู้จะทำได้ประการใด

กรมอุตุนิยมวิทยา ออกข่าวเตือนให้เห็นบ่อยครั้ง แต่เป็นไปอย่างกว้างๆ ชาวบ้านฟังแล้วก็ไม่รู้จะสังเกตอย่างไร หน่วยงานที่น่าจะทำหน้าที่ได้ดีควรจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน ค่าที่รู้จักดินทุกตารางนิ้วในประเทศไทย รู้จักคุณสมบัติดิน ปัญหาดิน การทำลายดิน และฯลฯ

น่าจะทำหน้าที่เฝ้าเตือนให้ระมัดระวังในพื้นที่ใดบ้าง วิธีการสังเกตอาการของดินถล่ม และประสานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

ผมเขียนเรื่องนี้ไม่ได้ต้องการให้มีการลุกขึ้นมาซื้อเครื่องมือนะครับ ไปๆมาๆเครื่องมือกลายเป็นเรื่องการผลาญงบประมาณเหมือนที่เราเห็นได้ในหลายพื้นที่ มีอยู่จริง แต่ใช้การไม่ได้ ไม่ว่าเครื่องวัดระดับน้ำฝนเตือนภัยที่ไม่เคยส่งเสียงเตือน กระทั่งกล้องวงจรปิดที่ทำงานได้บางจุด และหลายจุดไม่ทำงาน กระทั่งต้องขอยืมดูในกล้องของหน่วยงานเอกชน หรือเรือเหาะ และฯลฯ

สุดท้าย อุปกรณ์บุโรทั่งเหล่านี้ กลับมาเล่นงานประชาชนผู้เสียภาษีให้ช้ำหัวใจเล่นซะงั้น




จาก ......... คอลัมน์เกษตรสร้างสรรค์ แนวหน้า วันที่ 13 กันยายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #19  
เก่า 15-09-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุ อีก 30 ปี อุณหภูมโลกจะเพิ่มขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส น้ำบริเวณอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้นส่งผลกระทบรุนแรง


ผศ.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (sea start rc) กล่าวว่า จากรายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2588-2608 ได้มีการวิเคราะห์ตามลักษณะของสภาพทางธรณีวิทยาและภูมิประเทศในขอบเขต 8 พื้นที่ พบว่าอีก 30 ปี ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น 3-4 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะพื้นที่เทือกเขาทางภาคเหนือ และไม่ว่าจะเป็นฤดูฝนหรือฤดูหนาว อุณหภูมิก็ยังจะสูงขึ้นเช่นเดียวกับฤดูร้อน อุณหภูมิในฤดูร้อนกับฤดูหนาวของประเทศไทยจะแตกต่างกันไม่มาก ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันตก จะลดลงถึง 70-100 มิลลิเมตรต่อปี ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ส่วนพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่อปีสูงขึ้นถึง 300 มิลลิเมตร จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมตามหัวเมืองใหญ่และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์แบบจำลอง ยังได้คาดการณ์ว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 14-15 เซนติเมตร ส่งผลให้ชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตั้งแต่กรุงเทพมหานคร บริเวณใกล้เคียงที่ตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ชายฝั่งจังหวัดระยอง เพชรบุรีจนถึงจังหวัดนราธิวาส




จาก ........... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 15 กันยายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #20  
เก่า 27-12-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


นักวิชาการแนะทุกฝ่ายรับมือกับภัยธรรมชาติ



นายอาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา อดีตนักวิทยาศาสตร์ ผู้คิดค้นระบบการลงจอดยานอวกาศบนดาวอังคารร่วมกับองค์การนาซ่า กล่าวในงานสัมมนา “วิจัยนำการพัฒนา..เพื่อเกษตรกรไทย” ว่า จากภาวะโลกร้อนได้ทำให้อุณหภูมิบนโลกร้อนขึ้น จนน้ำแข็งขั้วโลกเหนือเกิดละลายมาต่อเนื่อง ปริมาณน้ำทะเลจึงเพิ่มขึ้นมาก น้ำหนักโลกจึงเกิดการเอียงจากปริมาณน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จึงเกิดภาวะความโน้มเอียงเพราะการถ่วงน้ำหนักจากปริมาณน้ำมาอยู่ขั้วโลกใต้ จึงทำให้เปลือกโลกเคลื่อนตัวและจะเคลื่อนตัวเร็วขึ้นอาจทำให้เกิด จนเกิดปัญหาภัยธรรมชาติจากสึนามิตามมา

“ปัญหาสินามิในประเทศไทยรุนแรงซ้ำอีก และอาจจะมาทั้งทางอ่าวไทยและฝั่งตะวันตก แต่หากมาจากฟิลิปปินส์ เมื่อติดตั้งระบบเตือนภัยแล้วยังสามารถอพยพประชาชนหนีได้ทัน ปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่รุนแรงยังเกิดขึ้นอีกหลายอย่างจึงต้องหาทางป้องกันทั้งน้ำทะเลหนุนสูงจนกรุงเทพฯจมหายใต้ท้องทะเล ดังนั้นทุกคนต้องช่วยลดปัญหาโลกร้อนไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปอีก” นายอาจองกล่าว

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันมีความผันผวนสูงมาก และขณะนี้ไทยยังต้องเจอกับกระแสน้ำอุ่นไหลทางทะเลเข้ามาในแถบนี้ จึงต้องเผชิญกับพายุฝนตกหนักในปีหน้า และอาจมีความรุนแรงมากกว่าในปีนี้ โดยเฉพาะในแถบภาคใต้ เนื่องจากเป็นการเคลื่อนเข้าฝั่งแบบพายุที่รุนแรง ทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมรับมือ สิ่งเหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งนั้นไม่ใช่มาจากธรรมชาติ

ที่สำคัญใต้ท้องทะเลได้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งเป็นการตายของปะการังจำนวนมากใต้ท้องทะเลในพื้นที่ทะเลแถบเอเชียในรอบตลอดชั่วอายุคนที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ยได้สูงขึ้นจาก 26-27 องศาเซลเซียส เพิ่มเป็น 32 องศาเซลเซียส เป็นสัญญาณปรากฏการลานิญญ่าและภาระโลกร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้น้ำทะเลระเหยเป็นน้ำฝนง่ายขึ้น ฝนจะตกหนักและอากาศมีความผันผวนมาก ภัยธรรมชาติจะรุนแรงเพิ่มขึ้นอีกจากที่ผ่านมา

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถิติการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย ส่วนใหญ่มาจากการใช้พลังงานน้ำมันจากเครื่องยนต์และส่วนต่างๆ โดยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ (CO2) 193 ล้านตันต่อปี หรือมีสัดส่วนร้อยละ 56 รองลงมาคือภาคการเกษตร ปล่อยก๊าซมีเทน 83 ล้านตันต่อปี สัดส่วนร้อยละ 24 ส่วนที่เหลือเป็นภาคอุตสาหกรรมและอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 5-6 และภาคอุตสาหกรรมจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในส่วนของ ธ.ก.ส.ได้มีโครงการรณรงค์ให้ประชาชนสร้างสิ่งที่ดูดก๊าซ (CO2) ที่ลอยอยู่ในอากาศ ด้วยการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่เพราะเป็นพืชดูด CO2 มาใช้สังเคราะห์แสง ด้วยโครงการธนาคารต้นไม้ แต่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้กับเกษตรกรด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูกบางส่วนมาใช้ปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ปกติปลูกข้าวโพด 20 ไร่ ก็จะให้ลดเหลือ 15 ไร่ โดยจะช่วยแนะนำพัฒนาเพิ่มผลผลิตให้ได้เพิ่มเติมหรือมากกว่าที่ผ่านมา สำหรับพื้นที่เหลืออีก 5 ไร่จะปลูกต้นไม่ขนาดใหญ่ โดยจะชักชวนบริษัทขนาดใหญ่ช่วยแนะนำการปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่ ที่สำคัญงานวิจัยของ ธ.ก.ส. พบว่าการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ พืชดังกล่าวจะช่วยดูดซับก๊าซ (CO2)ได้สูงมาก ขณะที่พืชที่ใช้ปุ๋ยเคมีจะไม่ดูดซับก๊าซเรือนกระจก ภาคเกษตรจึงมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง



จาก .................. ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 26 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 09:01


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger