#11
|
||||
|
||||
ปฏิบัติการพลิกฟื้น ปะการังไทยไม่ให้สูญพันธุ์ "ไทย" นับเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่มีแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์และงดงามอยู่หลายจุดทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน บรรดาสัตว์ทะเลต่างต้องพึ่งพาแนวปะการังเป็นที่หลบภัย เป็นแหล่งอาหาร และเป็นที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัจจัยสำคัญในระบบนิเวศอันซับซ้อนใต้ท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ เปรียบได้เช่นเดียวกัน กับตึกรามบ้านช่องในสังคมมนุษย์ หากจะกล่าวไปแล้วประเทศไทยนั้นมีรายได้หลักอันดับหนึ่งจากการท่องเที่ยว แนวปะการังจึงถือเป็นหนึ่งในสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ระบบนิเวศปะการังทั่วโลกเสื่อมโทรมลงในอัตราที่รวดเร็วจนน่าตกใจ โดยปะการังเกือบร้อยละ 60 ถูกคุกคามจากพฤติกรรมของมนุษย์ จนทำให้ปะการังกว่าร้อยละ 30 ถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการประมงแบบทำลายล้าง สารเคมีที่ปล่อยลงสู่ทะเลทั้งทางเรือและตามแนวชายฝั่ง รวมทั้งภาวะสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ย้อนกลับไปในปี 2553 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ได้ร่วมกันสำรวจสภาพการฟอกขาวของปะการัง รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากนักประดาน้ำในบริเวณต่างๆ พบว่า แนวปะการังในทุกจังหวัดของฝั่งทะเล "อันดามัน" เกิดการฟอกขาวมากกว่าร้อยละ 70 ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย พบว่ามีการฟอกขาวในปริมาณที่ต่ำกว่า โดยแนวปะการังที่ได้รับความเสียหายจากการฟอกขาวอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไปขึ้นกับสถานที่ สภาพสิ่งแวดล้อม และการรบกวนของกิจกรรมของมนุษย์ ในแนวปะการังที่มีปะการังเขากวาง หรือปะการังประเภทกิ่งก้าน และปะการังแผ่น เป็นชนิดเด่น มีการตายของปะการังเป็นจำนวนมาก เช่น แนวปะการังทางทิศตะวันออกของหมู่เกาะสิมิลัน แนวปะการังทุกบริเวณของหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา และในบางบริเวณของเกาะห้าใหญ่ หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ พบว่า ปะการังเขากวางประมาณราวร้อยละ 70-90 ตายและมีสาหร่ายขึ้นปกคลุม ส่วนบริเวณอ่าวไทย โดยเฉพาะแนวปะการังในจ.ระยอง และกลุ่มเกาะช้าง จ.ตราด อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมีปะการัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มปะการังเขากวางที่ตายจากการฟอกขาวราวร้อยละ 35-60 ทางสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ระบุว่า ปะการังได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง อันจะส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลลดลง ระบบนิเวศปะการังเสี่ยงต่อการถูกทำลายมากขึ้น ทั้งยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของชุมชนชายฝั่ง เช่น ชาวประมง และผู้ประกอบการท่องเที่ยว รวมทั้งต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ และภาพลักษณ์ของไทยในฐานะแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามติดอันดับโลก เพื่อเป็นการสนับสนุนการหามาตรการแก้ไขพลิกฟื้นวิกฤตการณ์ดังกล่าว ล่าสุด ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ "เนคเทค" ซึ่งจะมีอายุครบ 25 ปี ในเดือนก.ย.นี้ เป็นหน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโน โลยีแห่งชาติ หรือสวทช. ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงทำงานร่วมกับคณะนักวิจัยทางทะเลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐแห่งแรกของไทย ตั้งอยู่ที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ภายใต้โครงการ "เครือข่ายศูนย์ความรู้เฉพาะด้านนิเวศวิทยาพยากรณ์และการจัดการ" (Centre of Excellence for Eco-Informatics) เพื่อเดินหน้าโครงการวิจัยต้นแบบของการนำระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์มาใช้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะทางกายภาพของระบบนิเวศปะการังในไทย บริเวณรีสอร์ต บ้านรายา อ่าวขอนแค เกาะราชาใหญ่ ห่างจากฝั่ง จ.ภูเก็ต ไปราว 20 กิโลเมตร โดย "ไทย" ถือเป็นประเทศแรกในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศที่ 4 ของโลกที่มีระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ศึกษาลักษณะทางกายภาพทางทะเลของแนวปะการังที่ทันสมัย ถัดจากประเทศออสเตรเลีย ไต้หวัน และเกาะมูกิ ในมหาสมุทรแปซิฟิก ผศ.ดร.กฤษณะเดช เจริญสุธาสินี ผู้นำคณะนักวิจัยและอาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์เชิงคำนวณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า โครงการติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ใต้ทะเลริเริ่มมาเป็นเวลาราว 3 ปีครึ่ง เพื่อเก็บข้อมูลนำไปศึกษาหาสาเหตุของปะการังฟอกขาวเป็นเวลา 10 ปี ในระยะแรกใช้เซ็นเซอร์ชนิด HoBo จำนวน 10 ตัว ราคาตัวละ 3,000-4,000 บาท เป็นทุ่นขนาดเล็กนำไปผูกไว้กับเชือกใต้น้ำลึกลงไปราว 3-5 เมตร เพื่อวัดปริมาณแสงกับอุณหภูมิ ซึ่งเมื่อต้องการเก็บข้อมูลจะต้องประดาน้ำลงไปเพื่อนำเครื่องเก็บข้อมูลไปโหลดข้อมูลจากเซ็นเซอร์ดังกล่าว ส่งผลให้มีข้อเสียไม่สามารถวัดค่าต่างๆ ได้ในแบบต่อเนื่อง หรือเรียลไทม์ ทั้งยังมีปัญหาเพรียงเกาะเซ็นเซอร์ทำให้ขัดข้อง ผศ.ดร.กฤษณะเดช กล่าวว่า ต่อมาในเดือนต.ค.2553 เนคเทคได้สนับสนุนอุปกรณ์ตรวจวัดน้ำทะเล หรือ "ซีทีดี" (Conductivity Temperature and Depth Pressure Sensor) จากออสเตรเลีย จำนวน 2 เครื่อง ราคาประมาณ 500,000 บาทต่อเครื่อง ให้นำมาทดลองใช้ ทางคณะจึงได้นำลงไปติดตั้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียมาช่วยติดตั้ง เนื่องจากออสเตรเลียเป็นผู้นำการใช้เซ็นเซอร์ชนิด ซีทีดี บริเวณแนวปะการัง "เกรท แบริเออร์ รีฟ" ซึ่งซีทีดีสามารถวัดค่า หรือพารามิเตอร์ เพิ่มได้อีกหลักๆ 2 ตัว ได้แก่ ความดันซึ่งจะทำ ให้รู้ความลึก และความเค็มของน้ำทะเลผ่านกระบวนการทางไฟฟ้าเคมีในการหาความต่างศักย์ไฟฟ้าแปลงออกมาเป็นปริมาณเกลือแกงหรือโซเดียมไอออน ที่อยู่ในรูปของโซเดียมคลอไรด์ในน้ำทะเล นอกจากนั้น ในอนาคตจะหาเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่าความเป็นกรดด่าง หรือพีเอช มาติดตั้งด้วย เนื่องจากปริมาณก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ที่มีอยู่มากในชั้นบรรยากาศละลายลงในทะเล ทำให้มีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น (พีเอชลดลง) ซึ่งอาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อปะการังเสื่อมโทรม ผศ.ดร.กฤษณะเดช กล่าวอีกว่า เครื่องซีทีดีนั้นสามารถทำให้วัดค่าต่างๆ ได้แบบเรียลไทม์ โดยจะส่งข้อมูลผ่านสายเคเบิลขึ้นมายังสถานีวิจัยในบ้านรายา รีสอร์ท แอนด์ สปา ประกอบกับข้อมูลจากศูนย์ตรวจวัดสภาพอากาศบนบก ซึ่งติดตั้งไว้ที่อาคารระบบ "เซิร์ฟเวอร์" ของรีสอร์ต ส่งข้อมูลออกไปยังเนคเทค มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และมหา วิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสำรวจทรัพยากรแนวปะการัง หรือครีออน (CREON) ซึ่งข้อมูลนี้หน่วยงานทั่วโลกสามารถเข้ามาดูได้ผ่านโปรแกรมอาร์ดีวี คิดค้นโดยสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซ่า ในอนาคตมีแผนจะเพิ่มเซ็นเซอร์ และนำไปติดตั้งในพื้นที่อื่นด้วย เช่น เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีปะการังจำนวนมากและเริ่มถูกรบกวนโดยเรือประมง ด้านดร.ศรเทพ วรรณรัตน์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยการจำลองขนาดใหญ่ ของเนคเทค กล่าวว่า อุปกรณ์ซีทีดี ยังสามารถวัดพารามิเตอร์เกี่ยวกับเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงได้ด้วย อันจะมีประโยชน์ในแง่ของการเก็บข้อมูลไปออกแบบการจำลองสภาพการขึ้นลงของน้ำอันจะส่งผลอย่างมากต่อความถูกต้องในการหามาตรการรับมือปรากฏการณ์ "สตอร์ม เซิร์จ" ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งรุนแรง ขณะเดียวกัน นายปิยะวัฒน์ เสงี่ยมกุล ประธานผู้จัดการโรงแรมบ้านรายา รีสอร์ท แอนด์ สปา กล่าวถึงการตัดสินใจสนับสนุนคณะนักวิจัย ว่า เนื่องจากตนเป็นคนรักธรรมชาติและชื่นชอบการประดาน้ำ โดยได้มีโอกาสเข้ามาช่วยแม่บริหารรีสอร์ตหลังเรียนจบวิศว กรรมศาสตร์ไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยเทคโน โลยีมหานคร ซึ่งทุกวันตนจะดำน้ำลงไป เก็บขยะในอ่าวขอนแคของรีสอร์ต แต่ด้วยความที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการอนุรักษ์มากนักจึงรู้สึกยินดีต้อนรับนักวิทยาศาสตร์และทุกหน่วยงานที่จะเข้ามาดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่ไว้ นอกจากนี้ รีสอร์ตของตนยังมีความเพียบพร้อมด้านการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นระบบ 3จี ไว-ไฟ และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านสายเคเบิลใยแก้วนำแสง จึงคิดว่าเหมาะเป็นสถานที่สำหรับการทำวิจัยด้วย นายปิยะวัฒน์ ยังระบุด้วยว่า บ้านรายาเป็นรีสอร์ตแห่งเดียวบนเกาะราชาใหญ่ที่รอดพ้นจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2547 มาได้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแนวปะการังที่อุดมสมบูรณ์ในอ่าวของรีสอร์ตตนเชื่อว่า สามารถลดทอนความรุนแรงของคลื่นมรณะดังกล่าวได้ การสนับสนุนอาคารศูนย์วิจัยในรีสอร์ตเป็นเหมือนการทำธุรกิจแบบวิน-วิน ตนได้มีส่วนอนุรักษ์ธรรมชาติ ทางรีสอร์ตสามารถใช้ข้อมูลเป็นสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ให้ลูกค้าได้ทราบ กล้องที่ติดตั้งไว้ใต้ทะเลเพื่อติดตามดูปะการังก็สามารถถ่ายทอดมายังล็อบบี้ของโรงแรมได้ นับเป็นจุดขายที่โดดเด่นของรีสอร์ต นอกจากนี้ ประเทศชาติก็ยังได้ประโยชน์ด้วย ทุกคนได้ประโยชน์หมด "ผมเกิดที่ภูเก็ต ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ โดยเฉพาะปะการังว่ามันพังทลายไปรวดเร็วแค่ไหน นักท่องเที่ยวมาที่นี่มาเพราะต้องการธรรมชาติ ถ้าธรรมชาติพัง ผมก็พัง ชาวบ้านก็พัง ก็ต้องรีบป้องกันและแก้ไขกัน เพราะที่นี่เป็นเสมือนบ้าน ผมว่ายน้ำเป็นก็ที่อ่าวขอนแค ตอน 8 ขวบ มันอาศัยความผูกพันมากกว่า ผมแค่อยากได้ปะการังที่สวยงามในอ่าวนี้ไปนานๆ" ปิยะวัฒน์ กล่าว จาก ................... ข่าวสด วันที่ 24 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|