เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก อสมท.


เปิดที่มา "เกาะกูด" อันดามันตะวันออกของไทย



"เกาะกูด" แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของไทย ที่สวยจนได้รับฉายาอันดามันตะวันออก อยู่ดีๆกลับกลายเป็นประเด็นข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลขึ้นมา เมื่อกัมพูชาได้ลากเส้นเขตแดนผ่านเกาะกูด เพื่ออ้างสิทธิทางทะเล เราเลยขอพาไปดูความเป็นมาของเกาะกูดกัน ว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้พื้นที่นี้เป็นของใครกันแน่

สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับเกาะกูด ไว้ว่า เกาะกูดปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน นักวิชาการให้ความเห็นว่าเกาะกูดซึ่งอยู่ในจังหวัดตราด ดินแดนทางภาคตะวันออกสุดเมื่อราว 65 ล้านปี ได้แยกตัวออกมาจากส่วนปลายทิวเขาบรรทัดที่เป็นหินทราย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกาะกูดปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปีพุทธศักราช 2325 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อองค์เชียงสือ เจ้าเมืองญวณ และครอบครัวได้หลบหนีกองทัพขององค์ไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินที่ยกมาตีเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปีจุลศักราช 11 (พ.ศ.๒๓๒๙) องค์เชียงสือคิดกอบกู้บ้านเมืองคืน ครั้นจะกราบทูลลาออกไปก็เกรงพระอาญา ด้วยการศึกพม่ายังรบพุ่งติดพันกันอยู่จึงเขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาแล้วหนีออกมาพร้อมด้วยองญวณอีกหลายคน หนีออกจากรุงเทพฯ มาลงเรือที่เกาะสีชัง แล่นเรือชักใบมา 7 วัน จึงถึงเกาะกูดที่ไม่มีคนอยู่เลย ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2447 มีหมู่บ้านคลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด

เดิมเกาะกูดเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเกาะกูด เมื่อปี พ.ศ.2523 ตัวเกาะกูดมีระยะห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ 40 กิโลเมตร ประชาชนชาวเกาะกูดมีความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ ประกอบกับเกาะกูดอยู่ใกล้ดินแดนประเทศกัมพูชาด้านเกาะกงมากกว่าฝั่งไทย ทางราชการจึงมีนโยบายเพื่อความมั่นคงและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยได้ยกฐานะเกาะกูดและเกาะข้างเคียงขึ้นเป็น กิ่งอำเภอเกาะกูด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 19 มกราคม 2533 โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 ต่อมาได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเกาะกูดเป็น อำเภอเกาะกูด ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 124 ตอนที่ 46ก ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2550 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2550


นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจโบราณนานมา ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และข้อมูล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเกาะกูด ว่า นอกจากกัมพูชาจะไม่มีวันได้ครอบครอง "เกาะกูด" แล้ว กัมพูชาควรคืน "ประจันตคีรีเขตร (เกาะกง)" อดีตเมืองคู่แฝดประจวบคีรีขันธ์ ให้ประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ 2 เมืองที่อยู่ในเส้นรุ้ง (ละติจูด : latitude) เดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งอ่าวไทยให้เป็นเมืองคู่กัน คือ "เมืองนางรมย์" เป็น "ประจวบคีรีขันธ์" ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกกับ "เกาะกง" เป็น "ประจันตคีรีเขตร" ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก ให้มีชื่อคล้องจองกัน โดยมีประกาศ เมื่อวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2398

ในสมัยนั้นเมื่อฝรั่งเศสยึดญวน (เวียดนาม) และเขมร (กัมพูชา) ได้แล้ว ก็พยายามรุกเข้าลาว ซึ่งอยู่ในความปกครองของสยาม และพยายามบีบสยามทุกวิถีทาง โดยถือว่ามีอาวุธที่เหนือกว่า เมื่อเกิดกบฏฮ่อขึ้นในแคว้นสิบสองจุไท และสยามกำลังจะยกกำลังไปปราบ ฝรั่งเศสก็ชิงส่งทหารเข้าไปปราบเสียก่อน อ้างว่าเพื่อช่วยสยาม แต่เมื่อปราบฮ่อได้แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารออก ถือโอกาสยึดครอง เพราะมีเป้าหมายจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด

ในที่สุดวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะต้องจดจำก็คือ 13 กรกฎาคม 2436 ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้ากงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และยังเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนอีก 10 ลำมาร่วมปิดอ่าวไทย ต่อมาได้ส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม จนการค้าขายต้องหยุดชะงักหมด ยื่นเงื่อนไขให้สยามถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดภายใน 1 เดือน ให้วางเงินทันที 3 ล้านฟรังก์ ยื่นข้อเรียกร้องให้สยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง

รัฐบาลสยามรู้ดีว่าข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ พยายามต่อรองบ่ายเบี่ยงแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องยอมลงนามในสัญญาข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในวันที่ 3 ตุลาคม

ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายออกสำรวจปักปันเขตแดนนั้น ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน เพื่อให้สยามปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าจันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งสยามก็ต้องยอมอีก

ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีตั้งแต่ปี 2436 แต่เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ฝรั่งเศสกลับหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลา และบีบคั้นให้สยามเซ็นสัญญาอีกฉบับ ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ โดยฝรั่งเศสจะยอมผ่อนคลายสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้หมายถึงยกให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส

สยามในเวลานั้นก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2446 เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน


แต่แล้วชั้นเชิงแบบหมาป่าก็ยังไม่สิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้สยามปฏิบัติตามสัญญานี้ ฝรั่งเศสขอยึดจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมสิงห์ในอำเภอแหลมงอบ รวมทั้งเกาะกงซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดประจันตคีรีเขตของสยาม ให้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจเส้นพรมแดนตามสัญญานี้ให้ฝรั่งเศสเสร็จเสียก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี

สยามก็ต้องยอมเช่นเคย การสำรวจเสร็จสิ้นลงในวันที่ 9 ธันวาคม 2447 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีในวันที่ 12 มกราคมต่อมา

ความอยากได้ดินแดนสยามของฝรั่งเศสยังไม่จบ มีจิตรกรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อองรี อูโมต์ ได้เขียนรูปนครวัดนครธมไปเผยแพร่ ฝรั่งเศสเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยอยากได้ไว้เป็นสมบัติของตัว รวมทั้งอยากได้ทะเลสาบเสียมราฐอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเสนอแลกตราดกับเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณซึ่งเป็นมณฑลบูรพาของสยาม สยามอยากได้ตราด ซึ่งมีคนไทยอยู่คืนมาจึงยอมอีก

ในสัญญาฉบับใหม่ที่ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2449 ไทยต้องยกมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับ อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดตราด ตั้งแต่แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูด แต่ไม่ยอมคืนจังหวัดประจันตคีรีเขตด้วย

เป็นอันว่า "จังหวัดประจันตคีรีเขตร" หรือ เกาะกง จึงต้องหลุดไปอยู่กับฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นส่วนหนึ่งของเขมรในขณะนี้ ตอนนั้นมีคนไทยที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้สละบ้านช่องย้ายมาอยู่เกาะกูดและจันทบุรีเป็นจำนวนมาก คนเขมรจากเมืองต่าง ๆ จึงย้ายเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันในเกาะกง ปรากฏว่ามีชาวไทย เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น

ชาวไทยในเกาะกง จะมีสำเนียงแบบเดียวกับที่จังหวัดตราด แต่เดิมเกาะกงในปี 2506 ได้มีการออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย โดยจะปรับเป็นคำละ 25 เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี 2507 ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียล แม้ชาวไทยเกาะกงจะถูกจำกัดสิทธิ์ทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณีแต่ก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังรักษาประเพณี และเอกลักษณ์ การใช้ภาษาไทย

"ประจันตคีรีเขตร" เมืองคู่แฝดของ "ประจวบคีรีขันธ์" เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น


https://www.mcot.net/view/5yrVJg6N

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


โลกร้อนทำพิษ ไทยเผชิญวิกฤต "ภัยแล้ง" วงกว้างนานกว่า 10 ปี



"ภัยแล้ง" หนึ่งในภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบนโลก ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และยังทำลายระบบนิเวศทั้งสัตว์ป่า ป่าไม้ แหล่งน้ำ เป็นบริเวณกว้าง ปี 2557-2558 เป็นช่วงที่ไทยประสบภัยแล้งหนักทั่วประเทศ จากผลกระทบของเอลนิโญ

ภัยแล้งคืออะไร

คือภัยธรรมชาติที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำในพื้นใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดความแห้งแล้งและส่งผลกระทบต่อชุมชน ภัยแล้งไม่เหมือนกับภัยธรรมชาติรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน เช่น พายุเฮอร์ริเคน หรือ ภูเขาไฟระเบิด แต่ภัยแล้งในบางพื้นที่สามารถคงอยู่ได้นานนับสิบปี และยังสามารถสร้างความเสียหายต่อผู้คนและระบบนิเวศในระยะยาว มีสาเหตุ 2 อย่าง ได้แก่

1. สาเหตุจากธรรมชาติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของ อุณหภูมิโลก สภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลเช่น วาตภัย แผ่นดินไหว

2. สาหตุจากมนุษย์ ได้แก่ การทำลายชั้นโอโซน ผลกระทบของภาวะเรือนกระจก การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการตัดไม้ทำลายป่า

สำหรับภัยแล้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่เกิดจาก ฝนแล้งและฝนทิ้งช่วง
ฝนแล้งเป็นภาวะปริมาณฝนตกน้อยกว่าปกติหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ฝนทิ้งช่วงคือ ช่วงที่มีปริมาณฝนตกไม่ถึงวันละ 1 มม.ติดต่อกันเกิน 15 วัน ในช่วงฤดูฝนเดือนที่มีโอกาสเกิดฝนทิ้งช่วงสูงคือ เดือน มิ.ย. และ ก.ค.


ช่วงเวลาเกิดภัยแล้งในไทย

- ช่วงฤดูหนาวต่อเนื่องฤดูร้อน โดยเริ่มจากครึ่งหลังของเดือน ต.ค. เป็นต้นไป บริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีปริมาณฝนลดลงเป็นลำดับ จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงเดือน พ.ค. ของปีถัดไป ซึ่งภัยแล้งลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

- ช่วงกลางฤดูฝน ช่วงปลายเดือน มิ.ย. - ก.ค. จะมีฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้น ภัยแล้งลักษณะนี้เกิดขึ้นเฉพาะท้องถิ่นหรือบางบริเวณ แต่อาจครอบคุลมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างเกือบทั่วประเทศ


ผลกระทบเมื่อเกิดภัยแล้ง

ภัยแล้งในประเทศไทยส่วนใหญ่มีผลกระทบต่อการเกษตรกรรม พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมาก ได้แก่ บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เพราะเป็นบริเวณที่อิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปไม่ถึง และถ้าปีใดไม่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านในแนวดังกล่าว จะก่อให้เกิดภัยแล้งรุนแรงมากขึ้น

1. ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผลผลิตด้านเกษตรกรรมลดลง ไม่เพียงพอต่อการบริโภคและการเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองและสูญเสียผลผลิตด้านเกษตร ปศุสัตว์ ป่าไม้ ประมง รวมทั้งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

2. ด้านสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติรวมถึงผลกระทบด้านอุทกวิทยา ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติตื้นเขิน ระดับน้ำใต้ดินเปลี่ยนแปลงทำให้ปริมาณและระดับน้ำลดลง ทำให้ขาดแคลนน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำลดลง พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณเกิดความแห้งแล้งส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคกับสัตว์จนอาจถึงสูญเสียความหลากหลายพันธุ์ ทำให้ระดับน้ำในดินและคุณภาพน้ำเปลี่ยนแปลง

3. ด้านสังคม ประชาชนเกิดความอดอยากเนื่องจากขาดน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค การจัดการคุณภาพชีวิตแย่ลง เกิดความขัดแย้งในการใช้น้ำ เกิดการละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมืองใหญ่ ปัญหาด้านอนามัยและโรคระบาด ปัญหาการว่างงานด้านอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม ส่งผลให้ให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่สังคมเมือง ทำให้เกิดปัญหาสังคมเมือง

4. ด้านสาธารณสุข เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพอนามัย เช่น เกิดภาวะขาดน้ำขาดสารอาหาร และเพิ่มโอกาสการเกิดโรคระบาด เนื่องจากในภาวะภัยแล้งอาจจำเป็นต้องมีการอนุรักษ์น้ำทำให้ประชาชนอาจลดการล้างมือและการปฏิบัติด้านสุขอนามัยอื่นๆ เพื่อประหยัดน้ำ จึงทำให้มีการแพร่เชื้อโรคได้ง่าย

นอกจากนี้ ผลกระทบจากภัยแล้งยังเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขในวงกว้างอีกด้วย เช่น ทำให้ปริมาณและคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคลดลง อาหารและโภชนาการที่ด้อยคุณภาพ สภาพความเป็นอยู่ของประชากรแย่ลง ผลกระทบด้านสุขภาพกาย-สุขภาพจิต อุบัติการณ์การเกิดโรค เป็นต้น


ปี 2557-2558 แล้งหนักทั่วประเทศ

ในปี 2557 เกิดสถานการณ์ฝนตกน้อยผิดปกติต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดภัยแล้งรุนแรงทั่วประเทศขึ้น โดยเฉพาะปี 2558 ปริมาณฝนรายปี อยู่ที่ 1,247 มม. ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังแรงมาก (Very Strong Elnino/Super Elnino) แม่น้ำสำคัญหลายสายอย่างแม่น้ำปิงแห้งจนเดินข้ามได้

ปีนั้นกรมชลประทานประกาศงดปลูกพืชฤดูแล้ง 1,590,000 ไร่ แต่มีการปลูกจริงถึง 4,000,000 ไร่ ซึ่งเกินจากแผนไปมาก จึงมีการห้ามสูบน้ำจากคลองส่งน้ำต่างๆ เพื่อจัดสรรให้เพียงพอ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรเสียหาย 1,650,000 ไร่ เกษตรกรประสบภัยกว่า 170,000 คน หลายพื้นที่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างผู้ใช้น้ำ เช่น ที่คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชาวนาแย่งน้ำทำนาจนเกิดการกระทบกระทั่งกัน


ข้อมูลภัยแล้งในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโดยกรมชลประทาน วิเคราะห์ถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งได้ถึง 3 ระดับ ได้แก่

- พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับต่ำ (0 - 2 ครั้ง)

- พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับกลาง (3 - 4 ครั้ง)

- พื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับสูง (5 - 6 ครั้ง)


โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระดับสูงในประเทศไทยถึง 24 จังหวัด แบ่งเป็น

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ หนองคาย สกลนคร เลย ขอนแก่น มหาสารคาม มุกดาหาร นครพนม และ ศรีสะเกษ

- ภาคเหนือมี 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา และ อุตรดิตถ์

- ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี อุทัยธานี เพชรบูรณ์ และ กาญจนบุรี


มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67

ตามมติการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 2/2566 เมื่อวันที่ 26 ต.ค.2566 เห็นชอบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ ดังนี้


1. เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)

- คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เฝ้าระวัง เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค การเกษตร และ คุณภาพน้ำ (ช่วงก่อนและระหว่างฤดูพร้อมทั้งติดตาม เฝ้าระวัง และประเมินสถานการณ์ตลอดฤดูแล้ง)

- สำรวจ ตรวจสอบ พื้นที่แหล่งเก็บกักน้ำสำรอง และจัดทำแผนปฏิบัติการสำรองน้ำในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตร

- เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเข้าช่วยเหลือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำได้ทันสถานการณ์

- จัดทำระบบฐานข้อมูลกลางที่มีมาตรฐานเพื่อใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่เสี่ยง-พื้นที่เกิดเหตุ (บ่อบาดาล)


2. ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

- จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวงรองรับพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ และปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำพื้นที่เกษตรและพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม

- จัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิบัติการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ที่มีศักยภาพ

- จัดทำแผนปฏิบัติการและปฏิบัติการสูบผันน้ำในพื้นที่ที่มีศักยภาพ


3. กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

- กำหนดแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และสถานการณ์เอลนีโญ พร้อมแจ้งแผนให้กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับทราบและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

- กำหนดแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้งและขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยระบุพื้นที่คาดการณ์เพาะปลูก และแหล่งน้ำที่นำมาใช้ให้ชัดเจน ในรูปแบบแผนที่เพื่อให้การเพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขการเพาะปลูกพืชพื้นที่นอกแผนและพื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้ โดยมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง

- ควบคุมการใช้น้ำของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนให้เป็นไปตามแผน และมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคของพื้นที่ลุ่มน้ำตอนล่างและมอบหมายกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้กับประชาชนในพื้นที่เพื่อควบคุมการส่งน้ำให้ตรงตามวัตถุประสงค์

- เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง โดยการสนับสนุนจัดสรรน้ำ เตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)

- สำรวจ ตรวจสอบ คันคลอง เขื่อน ป้องกันตลิ่ง ถนนที่เชื่อมต่อกับทางน้ำในพื้นที่ที่อาจจะเกิดการทรุดตัว เนื่องจากระดับน้ำในทางน้ำที่อาจจะลดต่ำกว่าปกติ


4. บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง) จัดสรรน้ำตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำกำหนดเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ


5. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน

- สนับสนุนข้อมูลทางวิชาการถ่ายทอด เผยแพร่ผลการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำภาคการเกษตร และส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชเพื่อลดความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ และเพิ่มรายได้ในพื้นที่

- การประหยัดน้ำของหน่วยงานภาครัฐเอกชน และประชาชน

- ลดการสูญเสียน้ำในระบบประปาและระบบชลประทาน


6. เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) เฝ้าระวัง ตรวจวัด ควบคุม และแก้ไขคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำสายรอง รวมถึงแหล่งน้ำที่รับน้ำจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร และชุมชน รวมทั้งเตรียมแผนปฏิบัติการรองรับกรณีเกิดปัญหาและแจ้งเตือนพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งรายงานผลการแก้ไขคุณภาพน้ำ


7. เสริมสร้างความเข้มแข็ง การบริหารจัดการน้ำของชุมชน องค์กรผู้ใช้น้ำ (ตลอดฤดูแล้ง) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชนและองค์ผู้ใช้น้ำที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการวางแผนการใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีอยู่ การเตรียมจัดหาน้ำสำรอง และการกักเก็บให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและ/หรือการเกษตรตลอดฤดูแล้ง รวมทั้งพัฒนา/เพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชน


8. สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด


9. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน

- ติดตามผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผน รายงานผลการให้ความช่วยเหลือ และหากพบการขาดแคลนน้ำหรือภัยแล้ง ให้รายงานมายังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ

- ประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรการ พร้อมสรุปบทเรียน

ที่มา : กรมประมง, กรมอนามัย, กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สทนช., กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


สถิติ "หญ้าทะเล" ตรัง เสื่อมโทรม เปิด 2 สาเหตุทำลดฮวบ 1 หมื่นไร่



"หญ้าทะเล" คือแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลนานาชนิด ทั้งขนาดเล็ก และสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างพะยูน และเต๋าทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อนสัตว์น้ำ

จ.ตรัง นับว่าเป็นพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลเป็นจำนวนมาก ที่กระจายตัวอยู่ตามแนวชายฝั่งและบริเวณเกาะในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น เกาะลิบง เกาะมุกด์ แหลมหยงหลำ บ้านปากคลอง-เกาะผี บ้านแหลมไทร อ่าวบุญคง เกาะค้างคาว เกาะสุกร และ อ่าวขาม

สำหรับพื้นที่เกาะลิบง มีความอุดมสมบูรณ์สูง มีความหลากหลายของสัตว์น้ำ ได้แก่ หอยชักตีน หอยซองพลู หอยหลอด ปูม้า กุ้งทะเล กั้ง ปลา กะรัง ปลิงทะเล และดาวทะเล เป็นต้น

หญ้าทะเลใน จ.ตรัง พบเริ่มเสื่อมโทรมมาตั้งแต่ปี 2562 ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสัตว์ใต้ท้องทะเลเป็นอย่างมาก และในอนาคตอาจส่งผลต่อพฤติกรรมการหากินของพะยูน ที่จะอพยพย้ายถิ่นอาศัย หรือวงจรชีวิตเมื่อแหล่งอาหารลดลง

ผลกระทบของจากความเสื่อมโทรมของหญ้าทะเล ยังเกิดขึ้นกับอาชีพประมงชายฝั่ง เพราะหญ้าทะเล เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ชาวบ้านอนุรักษ์ไว้ แหล่งยังเป็นแหล่งอาศัยของหอยชักตีน สัตว์ทะเลราคาสูงสร้างรายได้ให้ชาวบ้านทั้งเกาะลิบงและเกาะมุกต์

จากฐานข้อมูลทรัพยากรหญ้าทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ปี พ.ศ. 2563 สรุปขอบเขตพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล ทั้งหมดมีพื้นที่ประมาณ 160,628 ไร่ ใน 17 จังหวัดชายฝั่ง โดยฝั่งอ่าวไทย 11 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมด 54,148 ไร่ ฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด มีพื้นที่ 106,480 ไร่

โดย จ.ตรัง ครอบคลุมพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลรวม 34,869.5 ไร่ ใน 8 พื้นที่ พบหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด ได้แก่

หญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia : Hp)
หญ้ากุยช่ายทะเล (Halodule uninervis : Hu)
หญ้าคาทะเล (Enhalus acoroides : Ea)
หญ้าเงาใบ เล็ก (Halophila minor : Hm)
หญ้าเงาใบใหญ่ (Halophila major : Hj)
หญ้าเงาใส (Halophila decipiens : Hd)
หญ้าชะเงาเต่า (Thalassia hemprichii : Th)
หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย (Cymodocea serrulata : Cs)
หญ้าชะเงาใบมน (Cymodocea rotundata : Cr)
หญ้าใบพาย (Halophila beccarii : Hb)
หญ้าใบมะกรูด (Halophila ovalis : Ho)
หญ้าต้นหอมทะเล (Syringodium isoetifolium: Si)


และปี พ.ศ. 2564 รายงานพบหญ้าทะเลมีพื้นที่ รวม 99,325 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 62 ของพื้นที่ที่มีศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเลของประเทศ (160,628 ไร่) จ.ตรัง ลดลงเหลือ 25,767 ไร่

การก่อตัวของแหล่งหญ้าทะเลเขต จ.ตรัง ในแต่ละบริเวณ ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมแตกต่าง กันไป ทั้งนี้ เนื่องจากอิทธิพลของคลื่นลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และปริมาณตะกอนบนพื้นทะเล รวมถึงในมวลน้ำทะเลเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่ควบคุมพัฒนาการของแหล่งหญ้าทะเล ทำให้แหล่งหญ้าทะเลในแต่ละ พื้นที่มีลักษณะโดดเด่นแตกต่าง

พื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล คือ พื้นที่ที่มีและเคยมีรายงานการพบหญ้าทะเล และมีปัจจัย สิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล ซึ่งพื้นที่ของหญ้าทะเลในแต่ละแหล่ง สามารถ เคลื่อนย้ายไปมาตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมได้ตลอด หากพื้นที่ใดสำรวจไม่พบหญ้าทะเลใน 2 วงรอบการสำรวจ (มากกว่า 8 ปี) จะตัดออกจากการเป็นพื้นที่ศักยภาพเป็นแหล่งหญ้าทะเล

เนื่องจากปัจจัยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ความรุนแรงของคลื่นลม ลักษณะพื้นทะเล การผึ่งแห้งและ ฤดูกาล มีผลสำคัญต่อการแพร่กระจายของชนิดและปริมาณของหญ้าทะเลในแต่ละพื้นที่


การติดตามสถานภาพแหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง กำหนดแหล่งหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และ บริเวณใกล้เคียงเป็นตัวแทนของแหล่งหญ้าทะเลของจังหวัด โดยพิจารณาจากเกณฑ์เป็นแหล่งหญ้าทะเลที่มี ความเปราะบางจากภัยคุกคามต่าง ๆ เช่น มลภาวะ ตะกอน และผลกระทบจากการประมง โดย ในปีงบประมาณ 2565 ได้ดำเนินการติดตามสถานภาพหญ้าทะเลบริเวณเกาะลิบง และบริเวณใกล้เคียง (บริเวณทิศเหนือของเกาะลิบง อ่าวทุ่งจีน เกาะนก แหลมพระม่วง และปากคลองเจ้าไหม) ในพื้นที่เดิมรวม 20,835.7 ไร่ พบพื้นที่หญ้าทะเลแพร่กระจายลดลงเหลือ 15,238 ไร่ มีหญ้าทะเลรวม 12 ชนิด

คือ หญ้ากุยช่าย เข็มหญ้ากุยช่ายทะเล หญ้าคาทะเล หญ้าเงาใบเล็ก หญ้าเงาใบใหญ่ หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย หญ้าชะเงาใบมน หญ้าใบพาย หญ้าใบมะกรูด หญ้าเงาใส และต้นหอมทะเล มีการปกคลุมของหญ้าทะเลเฉลี่ย ร้อยละ 21.26 สถานภาพสมบูรณ์เล็กน้อย หญ้าชนิดเด่น ได้แก่ หญ้าใบมะกรูด หญ้าคาทะเล และหญ้าชะเงา ใบมน

เมื่อทำการเปรียบเทียบข้อมูลสถานภาพหญ้าทะเลกับข้อมูลใน ปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่าหญ้าทะเลมีการแพร่กระจายเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ภาพรวมของแหล่งหญ้าทะเล จ.ตรัง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาคงที่

อย่างไรก็ตาม หญ้าคาทะเลบริเวณอ่าวทุ่งจีนยังคงมีสภาพ เสื่อมโทรม ลักษณะต้นเล็ก ใบขาดสั้น ไม่สมบูรณ์ มีสีเขียวและสีน้ำตาลปะปนกันมีตะกอนปกคลุมใบหญ้า ทะเลค่อนข้างมาก และบางส่วนมีลักษณะยืนต้นตาย รากเน่าเปื่อย แต่บางส่วนเริ่มมีการฟื้นตัวมีการแตกตัว ของต้นอ่อนจากเหง้าหญ้าคาทะเลเดิม และเมื่อทำการขุดลึกลงไปด้านล่างของต้นหญ้าคาทะเลบางส่วนยังพบ เหง้าของหญ้าคาทะเลที่มีชีวิตและมีใบอ่อนของหญ้าคาทะเลขึ้นอยู่ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นประเภทหญ้าทะเลมีชีวิต สามารถเจริญเติบโตและฟื้นตัวกลับได้ หากไม่มีปัจจัยหรือภัยคุกคามอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล

ขณะเดียวกันก็พบว่าหญ้าทะเลใบขนาดเล็กและใบขนาดกลาง เช่น หญ้าใบมะกรูด หญ้าชะเงาใบมน และหญ้า ชะเงาใบฟันเลื่อยเข้าปกคลุมพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการแพร่กระจายของหญ้าทะเลเพิ่มขึ้น

ปัจจุบันทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีแนวโน้มเสื่อมโทรมลงมาก โดยระบบนิเวศหญ้าทะเลเป็นระบบนิเวศแรก ๆ ที่ได้รับกระทบจากกิจกรรมต่างๆและการพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นเดียวกับป่าชายเลนและแนวปะการังทั้งนี้ การเสื่อมโทรมของแหล่งหญ้าทะเลนั้นเกิดได้ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติและปัจจัยจากสิ่งที่กระทำโดยมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม


สาเหตุที่ทำให้หญ้าทะเลเสื่อมโทรม หรือลดพื้นที่ลง

1) ภาวะโลกร้อน ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของอากาศใกล้พื้นผิวโลกและน้ำในมหาสมุทรตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นด้วย โดยอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงมากกว่าภาวะปกติของแหล่งหญ้าทะเลนั้นๆ จะมีผลต่อวงจรชีวิตของหญ้าทะเล มีผลต่อการเจริญเติบโต นอกจากนี้ การโผล่พ้นน้ำทะเลนานๆ อุณหภูมิและแสงแดดที่เพิ่มขึ้นทำให้หญ้าแห้งความร้อนมีผลทำให้หญ้าตายได้

2) การเปลี่ยนแปลงจากกิจกรรมมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นท้องทะเลต่างๆ เช่น การขุดลอกร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และการก่อสร้างท่าเรือ การพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดตะกอนชะล้างลงสู่ทะเล การเดินเรือ และการสัญจรทางน้ำ ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อแหล่งหญ้าทะเล ทำให้ใบหญ้าทะเลถูกตัดขาด หน้าดินถูกคุ้ย เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนในน้ำ การทำประมงบางประเภท เช่น คราดหอย เรืออวนลากขนาดเล็ก เรืออวนรุน รวมถึงน้ำเสียตามชายฝั่งทะเล ที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล


https://www.thaipbs.or.th/news/content/337581

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


ตะลุยพังงา สัมผัส "ทะเลแหวกสันหลังมังกร" เกาะยาวน้อย จุดท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาด!



สุด Amazing "ทะเลแหวกสันหลังมังกร" ยาวคดเคี้ยวจากเกาะพลอง ทอดไปหาเกาะยาวน้อย ระยะทางกว่า 2 กม. ถือเป็นอีกหนึ่ง UNSEEN ของ จ.พังงา ที่นักท่องเที่ยวต้องห้ามพลาด

ช่วงนี้สภาพอากาศเกือบทั่วทั้งประเทศไทย มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเข้าสู่ "ฤดูร้อน" ไปแล้วก่อนหน้านี้ ด้วยอากาศแบบนี้ สถานที่ท่องเที่ยวที่มักเป็นที่นิยม หลายคนคงนึกถึงทะเล และเกาะต่างๆ

"Nation STORY" ขอพาไปรู้จักกับแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถเล่นน้ำ หรือจะทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม แถมยังมีความสวยงามแปลกตา ที่นั่นคือ "เกาะยาวน้อย" อ.เกาะยาว จ.พังงา

ที่นี่มีจุดท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาด ถือเป็น "อันซีน" เกาะยาว จนเป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวพักผ่อนบนเกาะยาว จะต้องมาสัมผัสให้ได้ นั่นก็คือ "ทะเลแหวกสันหลังมังกร เกาะพลอง" ซึ่งมีความสวยงามแปลกตาสุดอเมซิ่งของสันดอนทรายในช่วงน้ำทะเลลด มีความยาวคดเคี้ยวจากตัวเกาะพลองทอดยาวไปหาเกาะยาวน้อยในระยะทางความยาวกว่า 2 กิโลเมตร ในช่วงวันที่น้ำลดต่ำสุด

โดยนักท่องเที่ยวต้องเช่าเหมาเรือนำเที่ยวท้องถิ่นเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งคนขับเรือจะรู้เวลาน้ำทะเลขึ้นลงและเวลาที่เหมาะสมในการมาเที่ยวชม และเมื่อมาถึงก็จะพบกับความมหัศจรรย์ของทะเลแหวก ที่นิยมเรียกกันว่า "สันหลังมังกร" ที่มีความยาวเป็นกิโลเมตร เมื่อได้เดินบนสันดอนทรายจากจุดจอดเรือมุ่งหน้าไปยังตัวเกาะพลอง ก็มีความรู้สึกเหมือนกับเดินอยู่บนถนนกลางทะเล ห้อมล้อมด้วยหมู่เกาะใหญ่น้อย ช่างเป็นบรรยากาศที่มหัศจรรย์แบบสุดๆ

ทั้งนี้ ในระหว่างทางจะพบเห็นวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่มาหาหอยแถวนั้น ทำให้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาดอีกแห่งหนึ่งของอำเภอเกาะยาว เป็นสวรรค์ของเหล่าบรรดาช่างภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น

นายมนต์ชัย การเรียบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยาวน้อย เปิดเผยว่า เกาะพลองเป็นเกาะเล็กๆ อยู่ห่างจากเกาะยาวน้อยไปด้านทิศเหนือประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัย อยู่ในเขต ต.เกาะยาวน้อย อ.เกาะยาว จ.พังงา นับเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติได้สรรค์สร้างทะเลแหวกแห่งนี้ขึ้นมา จนเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวที่ต้องห้ามพลาดของอำเภอเกาะยาวและจังหวัดพังงา

จากข้อมูลในเว็บไซต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ระบุเกี่ยวกับ เกาะยาวน้อย ไว้ว่า เป็นเกาะที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะยาวใหญ่ มีพื้นที่รวมประมาณ 47.1575 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 28,456.97 ไร่ ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาทอดตัวตามความยาวของเกาะจากทิศเหนือลงไปทิศใต้ มีป่าไม้ปกคลุม ทางด้านตะวันออกมีที่ราบชายฝั่งทะเลและที่ราบตามหุบเขา เป็นพื้นที่การเกษตร

ส่วนพื้นที่ชายฝั่งรอบเกาะมีชายหาดที่สวยงามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะห้องของจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว จึงสามารถเดินทางแบบเชื่อมโยงได้ บนเกาะยาวน้อยแบ่งออกเป็น 13 หมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เลี้ยงกุ้งมังกรและปลาในกระชัง รวมทั้งทำการเกษตร เช่น สวนยางพารา ทำนา เลี้ยงสัตว์

นอกจากนี้ ชาวบ้านเกาะยาวน้อย ได้ทำธุรกิจการท่องเที่ยว มีการรวมกลุ่มเป็น "ชมรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์" ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม จนได้รับรางวัลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ


กิจกรรมท่องเที่ยวบนเกาะยาวน้อย

นักท่องเที่ยวสามารถเช่ารถ หรือ ปั่นจักรยานเที่ยวรอบเกาะ ชมวิถีชีวิตชาวบ้าน การทำนา ทำเครื่องมือประมง ทดลองทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว นั่งเรือออกทะเลชมวิธีการทำประมงพื้นบ้าน การเลี้ยงกุ้งมังกรและปลาในกระชัง เล่นน้ำ ดำน้ำชมปะการัง ตลอดจน เดินเล่นที่หาดป่าทรายที่มีทรายขาวสะอาดยาวถึง 400 เมตร

ทางเหนือของหาดป่าทราย คือ หาดคลองชักและหาดท่าเขา ซึ่งเป็นหาดที่เต็มไปด้วยหินมากมายและเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น ทางเหนือของเกาะยาวน้อยเป็นอ่าวเคียน ซึ่งมีลักษณะเป็นชายหาดแนวโค้งเว้า มีความยาวประมาณ 50 เมตร เหมาะแก่การว่ายน้ำเล่น พายเรือแคนูชมป่าชายเลน ปลูกป่าชายเลน ชมทิวทัศน์ของเกาะผักเบี้ย และเกาะห้อง บนเกาะยาวน้อย ยังมีที่พักรองรับนักท่องเที่ยวทั้งแบบโฮมสเตย์ของชาวบ้าน และรีสอร์ทของเอกชน


สถานที่สำคัญบนเกาะยาวน้อย

เกาะยาวน้อย มีสถานที่สำคัญ นอกจากหาดป่าทราย สถานที่ขึ้นชื่อของเกาะที่สุดแล้ว ยังมี หาดท่าเขา ตั้งอยู่ในหุบอ่าวลึกเข้ามาในแผ่นดิน บนเกาะมีต้นโพธิ์ทะเลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 30 คนโอบ และพื้นที่ป่าในบริเวณนี้เป็นป่าดึกดำบรรพ์ หมู่บ้านอันเป้า , หาดโล๊ะหา ตั้งอยู่ทางทิศเหนือสุดของเกาะ บนเกาะยังมีผืนนาข้าว ซึ่งมีการทำนามานานร่วม 200 ปี ถือว่าเป็นเกาะเดียวในประเทศไทยที่มีการปลูกข้าวบนเกาะ

เกาะยาวน้อย มีนกหลากหลายสายพันธุ์มากกว่า 162 ชนิด โดยเฉพาะ "นกเงือก" จำนวนมากกว่า 200 ตัว มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ


มุ่งมั่นอนุรักษ์นกเงือก

นอกเหนือจากการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติดังที่กล่าวมาหาข้างต้นแล้ว ชาวเกาะยาวน้อยเริ่มมีการใช้พลังงานจาก "แสงอาทิตย์" และยังมุ่งมั่นในการอนุรักษ์ "นกเงือก" ที่ปัจจุบันมีกว่า 200 ตัว โดยการรักษาป่า และสร้างบ้านให้นกเงือกวางไข่ กลายเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งด้วย

สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถลงเรือโดยสารได้ที่ท่าเรือบ้านท่าด่าน อ.เมืองพังงา ท่าเรือท่าเลน จ.กระบี่ และท่าเรือบางโรง จ.ภูเก็ต เพื่อเดินทางมายังเกาะยาว จากนั้น ค่อยติดต่อเหมาเรือนำเที่ยวของชาวบ้านในพื้นที่ที่ท่าเรือขึ้นเกาะได้เลย หรืออาจจะติดต่อล่วงหน้ากับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนในพื้นที่เกาะยาวน้อยก่อนเดินทาง

อ้างอิงข้อมูลจาก : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย / วิกิพีเดีย


https://www.nationtv.tv/lifestyle/travel/378940908

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


บริษัทดัตช์ เจ๋ง ! ใช้ปั๊มน้ำผลิตน้ำแข็งเทียม หมดปัญหาน้ำแข็งขั้วโลกละลาย


SHORT CUT

- WWF เผยว่า น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเฉลี่ย 13% ในทุก ๆ 10 ปี และภายในปี 2050 ขั้วโลกอาจละลายเกลี้ยง

- Arctic Reflections บริษัทสัญชาติดัตช์ติดตั้งปั๊มผลิตน้ำแข็งเทียม ทดแทนน้ำแข็งที่ละลายจากโลกร้อน

- ผู้เชี่ยวชาญแย้ง ไอเดียดีจริง แต่คงช่วยอะไรไม่ได้มาก หากเทียบกับปัญหาสภาพอากาศ ณ ตอนนี้




จะเป็นอย่างไรหากมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตน้ำแข็งเทียมขึ้นมาได้ เพื่อมาทดแทนน้ำแข็งที่ละลายจากสภาพอากาศโลกที่สูงขึ้น ๆ เราขอแนะนำให้รู้จัก Arctic Reflections ผลิตปั๊มน้ำพลังงานไฮโดรเจน ช่วยสร้างน้ำแข็งได้หนาขึ้น 1 เมตร

"น้ำแข็งหมดแล้วไง สร้างใหม่เองได้" คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริง

ในยามที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากกิจกรรมของมนุษย์ น้ำแข็งขั้วโลกที่อยู่ไกลออกไปก็กำลังละลายลงทุกวัน ๆ ตามข้อมูลของ WWF เผยว่า น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเฉลี่ย 13% ในทุก ๆ 10 ปี และภายในปี 2050 ขั้วโลกใต้อาจเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดคือ "น้ำแข็งละลายเกลี้ยง"

เพื่อเป็นการอุดรอยรั่วในจุดนี้ ?Arctic Reflections? สตาร์ทอัพสัญชาติดัตช์จึงเกิดไอเดียที่จะสร้างน้ำแข็งเทียมเพื่อทดแทนปริมาณน้ำแข็งที่ละลายหายไปด้วยการติดตั้งปั๊มน้ำบริเวณผิวน้ำแข็ง โดยพวกเขาเริ่มทดลองติดตั้งปั๊มที่อ่าวเคมบริดจ์ในแคนาดา


รู้จักปั๊มผลิตน้ำแข็งเทียมพลังงานไฮโดรเจน

ปั๊มขับเคลื่อนด้วยพลังงานไอโดรเจน 600 วัตต์ โดยหลักการคือ พวกเขาต้องไปหาทำเลที่มีน้ำแข็งน้อย โดยมีเงื่อนไขว่าบริเวณนั้นต้องมีอากาศ -50 องศาเซลเซียส จากนั้นเจาะชั้นน้ำแข็งลงไปให้ถึงน้ำด้านล่าง แล้วติดตั้งปั๊มไว้บริเวณนั้น

จากนั้นปั๊มจะทำงานโดยการสูบน้ำจากใต้ชั้นน้ำแข็งขึ้นมา เมื่อเจออุณหภูมิติดลบน้ำจะเปลี่ยนกลายเป็นน้ำแข็ง ซึ่งหลังจากมีการทดสอบแบบจริงจัง บริษัท Arctic Reflections ระบุว่า ปั๊มดังกล่าวสามารถช่วยเพิ่มน้ำแข็งได้ 1 เมตร

ซึ่งบริษัท Arctic Reflections ประเมินว่าหากติดตั้งปั๊มน้ำได้ประมาณ 100 ? 1,000 เครื่อง จะสามารถช่วยเพิ่มน้ำแข็งได้ 100,000 ตารางกิโลเมตร

ฮาโย เฮนดริก ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟต์ กล่าวว่า "ปั๊มน้ำของพวกเขาสามารถสร้างที่อยู่ให้กับหมีและแมวน้ำได้ และจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน"


ไอเดียดี แต่อาจไม่ส่งผลอะไรต่อสภาพอากาศโลก

แม้เป็นไอเดียที่ฟังดูดี แต่กระแสอีกฝั่งก็คลางแคลงอยู่ จูเลียน สโตรฟ จาก University College London เผยว่า "มันเป็นไอเดียที่ดีก็จริง แต่คงไม่ช่วยอะไรได้มาก (พอ) ที่จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศโลกได้หรอก"

ทั้งนี้ เธอกล่าวเพิ่มว่า "น้ำแข็งขั้วโลกควรค่าต่อการปกป้อง มันช่วยให้โลกเราเย็นสบาย แต่มหาสมุทรอาร์กติกใหญ่ตั้ง 14 ล้านตารางกิโลเมตรนะ ถ้าไม่อยากให้น้ำแข็งละลาย ฉันคิดว่าทั่วโลกต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ครึ่งหนึ่งของที่ปล่อยอยู่ในปัจจุบัน"

ที่มา: The Guardian


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/848263

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


โลกร้อนทำน้ำแข็งขั้วโลกละลายต่อเนื่อง 3 ปีติด! เหลือไม่ถึง 2 ล้านตร.ม.


SHORT CUT

- น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายจนลดปริมาณต่ำกว่า 2 ตร.ม. ต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน

- รวมถึงสัตว์ทะเลหลายพันชีวิตต้องสังเวยชีวิตให้กับการละลายของน้ำแข็ง เมืองริมชายฝั่งอาจไม่รอด

- โลกคือบ้านหลังเดียวที่มนุษย์มี (ในตอนนี้) หากไม่เร่งทุเลาโลก ทุกอย่างอาจสายเกินแก้




การศึกษาพบ น้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลายเหลือไม่ถึง 2 ล้านตารางเมตร ติดต่อกัน 3 ปีติด สัญญาณอันตราย! หากมนุษย์ยังไม่เร่งแก้ไขการปล่อยมลพิษอันเป็นตัวการของปัญหาโลกร้อน

โดยปกติแล้ว เวลาสถิติอะไรถูกทำลายก็มักจะเป็นเรื่องดี แต่กับกรณีน้ำแข็งขั้วโลกใต้ละลาย จนลดปริมาณลงต่ำกว่า 2 ล้านตารางเมตร ทำสถิติ 3 ปีติดต่อกันคงไม่ใช่เรื่องดีแน่ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะวันหนึ่งบ้านที่คุณอาศัยอยู่อาจถูกน้ำท่วมก็ได้


น้ำแข็งละลายมากที่สุดในเดือนกุมพาพันธ์

ปกติแล้ว น้ำแข็งจะก่อตัวหนาเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึง ต.ค. จากนั้นก็จะค่อย ๆ ละลายลงเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน หรือตรงกับช่วงกุมภาพันธ์พอดี ซึ่งก็สอดรับกับการศึกษาของศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติสหรัฐ

โดยข้อมูลล่าสุด ชี้ว่า จากการที่ศูนย์ฯ เก็บข้อมูลมาทั้งปี พบว่า ปริมาณน้ำแข็งจะลายมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ แม้จะเข้าใจเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่าในเดือนกุมภาพันธ์น้ำแข็งจะลาย แต่สิ่งที่พบล่าสุดก็ยิ่งทำให้รู้ว่าน้ำแข็งละลายลงเร็วมาก

เอาแค่เฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ศูนย์ฯ เก็บข้อมูลมา พบว่า วันที่ 18 กุมภาพันธ์ น้ำแข็งหนาลดลงเหลือ 1.99 ล้านตารางเมตร ผ่าน 3 วัน ไปเก็บข้อมูลดูอีกที พบว่า ลดลงเหลือ 1.98 ล้านตารางเมตร และจนถึงตอนนี้ปริมาณน้ำแข็งลดลงเหลือแค่ 1.78 ล้านตารางเมตร

คำถามที่ถูกเพิ่มเติมจากเรื่องนี้คือ ปริมาณน้ำแข็งจะละลายและลดปริมาณลงมากกว่านี้อีกหรือไม่ ข่าวร้ายก็คือ ทางศูนย์ฯ ก็คาดเดาไม่ได้เช่นกัน


สาเหตุน้ำแข็งขั้วโลกละลาย?

เช่นเคยตัวการที่ทำให้น้ำแข็งละลายก็คือ "โลกร้อน" เป็นคำศัพท์ที่ถูกผลิตซ้ำมาหลายปี แต่เหมือนดูจะไม่มีน้ำหนักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์เท่าไร เพราะสถิติต่าง ๆ เรื่องการปล่อยมลพิษยังคงทำลายสถิติทุกปี

และถ้าจะพูดกันถึงเรื่องผลกระทบ แน่นอนว่ามีมากมายเกินนิ้วมือจะนับไหว ยกตัวอย่างเช่น เพนกวินจักรพรรดิหลายพันตัวจมน้ำและแข็งทื่อตายคามหาสมุทร เนื่องจากในบางพื้นที่ของขั้วโลกใต้ไม่มีน้ำแข็งให้พวกมันได้อาศัย

ผลกระทบในอนาคตล่ะ มีอะไรบ้าง? อย่างที่เกริ่นไปข้างต้น น้ำแข็งละลายจะส่งผลให้ปริมาณน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกหนุนสูงขึ้น เมืองริมชายฝั่งจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบ หรือไม่แน่ว่าอาจร้ายแรงถึงขั้นกลายเป็น "นครแอตแลนติส" ก็เป็นได้


โลกคือบ้านหลังเดียวที่เรามี

ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่เราในฐานะมนุษยชาติที่ต้องลงมือลดก่อปัญหาอันเป็นต้นเหตุของโลกร้อนไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในบทบาทใดก็ตาม ซึ่งหลายภาคส่วนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี Keep The World ก็ขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์เรื่องนี้ต่อไป

ที่มา: The Guardian


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/848181

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


รวมสัตว์ทะเลกู้โลก ช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาโลกร้อน


SHORT CUT

- จากการศึกษาสัตว์ทะเลมีกระดูกสันหลังสามารถช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ บรรเทาผลกระทบโลกร้อน

- ปี 2561 ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรต้องสูญเสียไป 532 ตันเนื่องจากการประมง

- สัตว์ทะเลที่มีความสามารถกักเก็บคาร์บอน เช่น วาฬ พะยูน ฉลาม เป็นต้น




รู้ไหมว่านอกจากต้นไม้ที่ทำหน้าที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรยังมีส่วนช่วยในการกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย

จากการศึกษาสัตว์ทะเลมีกระดูกสันหลังสามารถช่วยดักจับและแยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้


สัตว์ทะเล ฮีโร่กู้โลกร้อน

รู้ไหมว่าสัตว์ทะเลอันดับต้นๆ ที่ช่วยกู้โลกร้อน คือ วาฬ ซึ่งปลาวาฬจะสะสมคาร์บอนในร่างกายตลอดในช่วงชีวิตที่ยืนยาว บางตัวอาจมีอายุยาวนานถึง 200 ปี เมื่อวาฬตายพวกมันจะจมลงสู่ก้นมหาสมุทรและนำคาร์บอนลงไปด้วย และการวิจัยแสดงให้เห็นว่าวาฬยักษ์แต่ละตัวกักก๊าซเก็บคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยประมาณ 33 ตัน ขณะที่ต้นไม้ในช่วงเวลาเดียวกันมีส่วนช่วยในการดูดซับคาร์บอนเพียงร้อยละ 3 ของปลาวาฬเท่านั้น ซึ่งวาฬสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าต้นโอ๊กถึง 2 เท่า

ส่วนสัตว์มีกระดูกสันหลังในทะเลชนิดอื่นๆ กักเก็บคาร์บอนได้ในปริมาณที่น้อยกว่าด้วยระยะเวลาที่สั้นกว่า แต่ความจุรวมเรียกว่า "คาร์บอนชีวมวล" การปกป้องและเสริมสร้างการกักเก็บคาร์บอนสีน้ำเงินในมหาสมุทรในสัตว์ทะเลอาจนำไปสู่ประโยชน์ในการอนุรักษ์และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


อุตสาหกรรมประมงทำให้มหาสมุทรกักเก็บคาร์บอนน้อยลง

การศึกษานำร่องเชิงนวัตกรรมซึ่งดำเนินการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ช่วยให้เข้าใจศักยภาพของคาร์บอนสีน้ำเงินในมหาสมุทรในการจัดการกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และในการสนับสนุนการประมงที่ยั่งยืนและนโยบายทางทะเล

การประเมินแหล่งกักเก็บคาร์บอนชีวมวลของสัตว์กระดูกสันหลังในทะเล มุ่งเน้นไปที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อมูลอยู่แล้ว จากการศึกษาพบว่าปี 2561 ศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนในมหาสมุทรต้องสูญเสียไป 532 ตันเนื่องจากการประมง


เช็กลิสต์สัตว์ทะเลที่ช่วยกักเก็บคาร์บอน

- วาฬ 1 ตัว กักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 33 ตันตลอดอายุขัย มากกว่าต้นโอ๊ก 2 เท่า
- พะยูน กักเก็บคาร์บอน 51%
- เต่าทะเล กักเก็บคาร์บอน 24%
- โลมา กักเก็บคาร์บอน 19%
- ปลาฉลาม กักเก็บคาร์บอน 10-15%
- ปลาทูน่า กักเก็บคาร์บอน 10-15%
- นกทะเล กักเก็บคาร์บอน 6%


ที่มา : NOAA Fisheries / UN Environment Programmme


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/848215

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


กำแพงกันคลื่น จำเป็นหรือ? รับมือการกัดเซาะชายฝั่งแบบไหนไม่ทำร้ายธรรมชาติ


SHORT CUT

- จากการศึกษาพบว่าหาดทรายกำลังหายไปเรื่อยๆ จากโครงสร้างของกำแพงกันคลื่น

- บันไดหรือกำแแพงกันคลื่นอาจส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเล

- การป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ตั้งกำแพงกันคลื่นแบบทุ่นลอย หรือปลูกหญ้าทะเล




จากข่าวหาดวอนนภา บางแสนเปลี่ยนไปได้ถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นหรือบันได้กันคลื่น เพื่อกันน้ำทะเลเซาะตลิ่ง ทำให้ความสวยงามตามธรรมชาติหายไปและอาจเป็นอันตรายแต่นักท่องเที่ยวเพราะความลื่นที่อาจเกิดจากตะไคร่น้ำอีกด้วย

กำแพงกันคลื่นหรือบันไดกันคลื่นที่ชายหาดวอนนภา บางแสน และกำแพงกันคลื่นในอีกหลายที่กำลังถูกต้องข้อสงสัย ถึงความจำเป็น และอาจเป็นสิ่งก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย แล้วจะมีทางออกอื่นที่ดีกว่ามั้ยในการรับมือกับการกัดเซาะกับชายฝั่ง นอกจากกำแพงกันคลื่นที่อาจส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและอันเป็นอันตรายแก่นักท่องเที่ยว


หรืออนาคตชายหาดอาจถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่น?

หาดวอนนภา บางแสน ชายหาดอันสวยงามและเป็นที่นิยมกับนักท่องเที่ยว ตอนนี้หาดบางส่วนกำลังถูกแทนที่ด้วยกำแพงกันคลื่นหรือบันไดกันคลื่น ที่จะมาทำหน้าที่ป้องกันน้ำทะเลเซาะชายฝั่ง โดยจะมีการก่อสร้างเป็นแนวยาวตั้งแต่ช่วงต้นหาด ส่วนที่สร้างเสร็จแล้วจะมีลักษณะคล้ายขั้นบันได อาจทำให้ลงเล่นน้ำทะเลลำบาก อาจเกิดอุบัติเหตุจากลื่นล้มจากตะไคร่น้ำได้ นักท่องเที่ยวควรระวัง และในช่วงน้ำขึ้นจะมองไม่เห็นชายหาดต้องรอน้ำลด นอกจากนี้บันไดกันคลื่นอาจส่งผลกระทบกับระบบนิเวศทางทะเลได้


กำแพงกันคลื่นอาจทำให้ชายหาดหายไป

กำแพงกันคลื่นหรือบันไดกันคลื่น มีขึ้นเพื่อประโยชน์ในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ช่วยป้องกันที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยไม่ให้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ในบางประเทศอาจใช้กำแพงกันคลื่นในรูปแบบแนวหิน แต่จากการศึกษาพบว่าหาดทรายกำลังหายไปเรื่อยๆ จากโครงสร้างของกำแพงกันคลื่น

อธิบายได้จากปรากฏการณ์การเคลื่อนที่ของคลื่น เมื่อคลื่นเคลื่อนที่จากเขตน้ำลึกเข้าสู่เขตน้ำตื้น คลื่นจะสูญเสียพลังงานไประหว่างการเคลื่อนที่ เนื่องจากแรงเสียดทานของพื้นทราย ทำให้อัตราเร็วและยาวของคลื่นลดลง คลื่นจึงยกตัวขึ้นก่อนจะแตกสลายบริเวณหาดทราย แต่เมื่อมีโครงสร้างที่แข็งมาขวางกั้น คลื่นที่ซัดเข้ากับโครงสร้างแข็งจะเกิดการสะท้อนกลับ ทำให้ตะกอนที่ฐานของโครงสร้างถูกกัดเซาะออก


วิธีป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งส่งผลกระทบกับผู้คนในพื้นที่ และจริงอยู่ที่กำแพงกันคลื่น บันไดกันคลื่นเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ แต่ก็มีอีกหลายวิธีในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันมีวิธีรักษาหาดทรายที่เป็นมิตรขึ้นหลายวิธี เช่น

- กำหนดระยะถอยร่น (Setback) เพื่อแบ่งเขตชุมชนและเขตหาด
- ทำแนวรั้วดักทราย (Sand facing)
- ติดตั้งกำแพงกันคลื่นแบบทุ่นลอย (Floating breakwater)
- กำแพงกันคลื่นแบบรูพรุนเล็ก (Small porous breakwater)
- การปลูกหญ้าทะเล (Seagrass building)

นอกจากนี้ยังมีนักพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานคลื่น และพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง ได้คิดค้นการผสมผสานโครงสร้างบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งและเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเข้าด้วยกัน เป็นกำแพงกันคลื่นใต้น้ำติดตั้งใบพัดผลิตไฟฟ้าด้วย


ที่มา : คลังความรู้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง / Beach for life / นิตยสารสาระวิทย์


https://www.springnews.co.th/keep-th...ronment/848175

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #19  
เก่า 01-03-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


เมื่อโลกร้อนขึ้น ปลาจึงมีขนาดเล็กลง จริงหรือ ?


SHORT CUT

- ทฤษฎีวิวัฒนาการถูกท้าทายอีกครั้ง เมื่อการศึกษาพบว่า ปลาสามารถปรับตัวให้เล็กลงได้ (ใช้เวลาไม่นาน)

- "ปลาเทราต์" ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง จะปรับตัวให้เล็กลง ศึกษาจากลูกปลาเทราต์น้ำหนัก 1 - 2 กรัม

- "ปัญหาโลกร้อน" กับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ ควรมีการศึกษาอย่างจริงจังและแพร่หลาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับผลกระทบที่ตามมา



การศึกษาใหม่พบ ปลาเทราต์ในน้ำอุณหภูมิสูง ปรับลดขนาดตัวเองลง เพื่อให้อยู่รอดจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เรื่องราวเป็นอย่างไรติดตามได้ที่นี่

ได้ยินกันมาเนิ่นนานว่า สัตว์จะปรับเปลี่ยนร่างกายเพื่อให้อยู่รอดตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ซึ่งกินระยะเวลาหลายล้านปีจากระบบวิวัฒนาการ ทว่า แนวคิดนี้กำลังถูกท้าทายอีกครั้ง...


เมื่อโลกร้อนขึ้น ปลาจึงมีขนาดเล็กลง จริงหรือ?

เว็บไซต์ Earth นำเสนอการศึกษาเรื่องผลกระทบของโลกร้อน โดยเผยว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีส่วนทำให้มีขนาดเล็กลง โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการร่วมมือกันของนักวิจัย National Oceanic and Atmospheric Administration และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส

ปลาที่ว่านี้คือ "ปลาเทราต์" (Trout) โดยทีมผู้วิจัยทดลองข้อสันนิษฐานดังกล่าว ด้วยการศึกษาลูกปลาเทราต์ ซึ่งมีน้ำหนักตัวระหว่าง 1 ถึง 2 กรัม โดยถูกแช่อยู่ในถังน้ำที่มีอุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส และถังที่มีอุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส

หลังจากนั้นผู้วิจัยก็เริ่มเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงอย่างละเอียด การทดลองกินระยะเวลาเกือบครึ่งปี เฝ้าดูน้ำหนัก ขนาด ปริมาณออกซิเจน อัตราการเผาผลาญ จากนั้นนำมาเทียบกันว่าปลาเทราต์จากน้ำต่างอุณหภูมิมีการปรับตัวแตกต่างกันอย่างไร

ผลการศึกษาพบว่า ปลาเทราต์ที่อาศัยอยู่ในถังที่อุณหภูมิสูงกว่ามีขนาดเล็กลง ในความหมายคือโตช้ากว่าปลาที่อยู่อีกถัง ซึ่งการปรับตัวของปลาในลักษณะนี้ ชี้ให้เห็นว่า ปลาเทราต์มีการปรับขนาดตัวจริง ๆ ยามที่ต้องอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิสูง


ควรต่อยอดการศึกษาเพิ่มพูลความรู้โลกเดือด

ทั้งนี้ แม้แต่ Joshua Lonthair อาจารย์ด้านชีววิทยาและผู้ศึกษางานวิจัยชิ้นนี้ ก็ยังไม่มั่นใจนักเกี่ยวกับเกี่ยวปรับลดขนาดตัวของปลาและความเชื่อมโยงเรื่องอุณหภูมิน้ำ โดยเจ้าตัวเผยว่า

"เรา (ทั้งโลก) ทราบกันดีว่า โลกกำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ผืนน้ำกำลังระอุกว่าในอดีต สัตว์น้ำหลายชนิดลดขนาดลง แม้จะมีการวิจัยกันมาแล้วหลายสิบปี ทว่าเราก็ยังไม่เข้าใจขนาดนั้นว่าทำไมพวกมัน (สัตว์) ถึงลดขนาดตัวเองลง เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น"

"มีปัจจัย (ที่เป็นไปได้) หลายประการที่ส่งผลต่อการปรับขนาดตัวเองของปลา เราต้องช่วยกันทำการศึกษามากกว่านี้ เพื่อในที่สุดเราจะได้เข้าใจมากขึ้นว่า ปลามีวิธีปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นอย่างไรกันแน่" ลอนแฮร์ กล่าว

ทั้งนี้ นี่เป็นเพียงการศึกษาหนึ่งที่สนใจ ศึกษา และนำเสนอให้เห็นว่าอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้นส่งผลให้ปลาปรับลดขนาดตัวเองลงจริง ๆ แต่ก็มีคำถามอยู่ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นกับปลาชนิดอื่น ๆ หรือไม่ กระทั่งสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ

สำหรับใครที่สนใจ SUS-TREND เทรนด์ความยั่งยืนกู้โลก สามารถติดตามงาน Special Talk : Climate Action Trend 2024 การขับเคลื่อนนโยบาย สู้ภาวะโลกรวน อย่างยั่งยืน จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยากรระดับแถวหน้าแสดงวิสัยทัศน์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วันที่ 11 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท


ที่มา: Earth.com


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/848204

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 05:03


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger