เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #11  
เก่า 28-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ลุยน้ำเกิดแผลระวังไว้'ภัยบาดทะยัก' 'ถึงตาย' ถ้าประมาท



นอกจากภัยไฟช็อต-ไฟดูด ภัยสัตว์มีพิษ ภัยอื่นๆ ที่ “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ได้เตือนไปแล้ว ในช่วงที่เกิด ’น้ำท่วม“ ผู้คนต้องเดินลุยน้ำที่ท่วมขัง อีกหนึ่งภัยซ้อนภัยที่ต้องระวังด้วยก็คือการ ’เกิดบาดแผล“ ยิ่งในพื้นที่เขตเมืองยิ่งมีเศษสิ่งมีคมลักษณะต่างๆอยู่ตามพื้นมาก โอกาสที่จะบาดจะทิ่มให้เกิดบาดแผลก็ยิ่งมีมาก

จากแผลธรรมดาที่แค่เจ็บ ก็อาจเป็น ’แผลติดเชื้อ“

และหากกลายเป็น “บาดทะยัก” ก็จะยิ่งไปกันใหญ่

การถูกสิ่งมีคมทิ่มแทงหรือบาดนั้น ถ้าเกิดเป็นแผลลึกและยาวมากกว่า 1 นิ้ว ทางที่ดีควรต้องรีบพบแพทย์ อาจจะต้องมีการเย็บแผล แต่ถ้าเป็นแค่แผลเล็กๆตื้นๆ แผลไม่ยาว ส่วนใหญ่แล้วก็สามารถจะดูแลรักษาได้เองด้วยวิธีที่ไม่ซับซ้อน คือล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ล้างแผล น้ำยาล้างแผล ใส่ยารักษาแผล ปิดพลาสเตอร์หรือผ้าปิดแผล อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแผลใหญ่-แผลเล็ก หากมีอาการที่ไม่ปกติอย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด

หากบาดแผลนั้นมีลักษณะ เช่น มีเศษสิ่งมีคมหรือสิ่งสกปรกติดอยู่โดยไม่สามารถนำออกมาได้ เลือดไม่ยอมหยุดไหล ชาหรือขยับร่างกายส่วนที่เกิดแผลไม่ได้ตามปกติ เป็นแผลเรื้อรังไม่ยอมหายภายใน 3 สัปดาห์ แผลเกิดรอยฉีกแยก แดง บวม ปวด มีอาการไข้ ควรต้องรีบไปพบแพทย์!!

แผลอาจเกิดการ “ติดเชื้อ” และอาจเป็นเชื้อร้ายแรง

ทั้งนี้ ถ้าจำเป็นต้องลุยน้ำท่วม ทางที่ดีควรต้องสวมรองเท้าที่ป้องกันสิ่งมีคมได้ เพราะใต้น้ำที่มองไม่เห็น ที่ต้องเดินลุยไปนั้น อาจมีเศษกระเบื้อง สังกะสี ตะปู สิ่งมีคมต่างๆอยู่ และถ้าพลาดพลั้งเกิดเป็นแผลขึ้นมา ก็ต้องรีบดูแลรักษาให้ดี อย่าประมาท โดยเฉพาะถ้าไม่แน่ใจว่าตนเองเคยได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยักหรือเปล่า?

กล่าวสำหรับ “บาดทะยัก” นั้น ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ว่าไว้ว่า... เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย คลอสตริเดียม เททานิ (Clostridium tetani) ซึ่งจะผลิตสิ่งที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเริ่มแรกกล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีอีกชื่อเรียกคือ โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) ผู้ป่วยจะมีอาการ คอแข็ง หลังแข็ง และต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว

และทำให้มีอาการ ’ชัก“ ได้!!

ในทางระบาดวิทยา โรคบาดทะยักพบได้ทั่วไปทุกแห่ง เชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะในรูปแบบของสปอร์ สามารถพบติดตามพื้นหญ้าทั่วไป และอยู่ได้นานเป็นเดือนๆหรืออาจเป็นปี อีกทั้งเชื้อนี้ยังพบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนด้วยมูลสัตว์ ซึ่ง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลจะเกิดโรคบาดทะยัก

เชื้อบาดทะยักจะเจริญแบ่งตัวได้ดีในแผลที่ลึก อากาศเข้าไปไม่ได้ดี เช่น บาดแผลจากการถูกตะปูตำ หรือแผลไฟไหม้ แผลน้ำร้อนลวก ผิวหนังถลอกบริเวณกว้าง บาดแผลในปาก ฟันผุ หรือหูอักเสบติดเชื้อ

หลังจากได้รับเชื้อบาดทะยักแล้ว สปอร์ที่เข้าไปตามบาดแผลจะแตกตัว แล้วก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนและผลิตสิ่งที่มีพิษ ซึ่งจะกระจายจากส่วนที่เป็นแผลไปยังปลายประสาทที่แผ่กระจายอยู่ในกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดความผิดปกติในการควบคุมการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ โดยระยะจากที่เชื้อเข้าร่างกาย จนเกิดอาการเริ่มแรก คือมีอาการขากรรไกรแข็ง ที่เรียกว่าระยะฟักตัวของโรค จะอยู่ที่ประมาณ 3-28 วัน หรือเฉลี่ยแล้วราวๆ 8 วัน

หากเด็กทารกเป็นบาดทะยัก นี่ยิ่งต้องระวังให้มาก ซึ่งอาการที่จะสังเกตได้คือเด็กจะดูดนมลำบาก หรือไม่ค่อยดูดนม หรือดูดนมไม่ได้ เพราะขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ ส่วนกับคนโต หากเชื้อบาดทะยักเข้าทางบาดแผล ระยะฟักตัวของโรคก่อนที่จะมีอาการ อาจจะประมาณ 5-14 วันก็ได้ หรือบางรายอาจนานถึง 1 เดือน หรือนานกว่านั้นก็ได้ จนบาดแผลที่เป็นทางเข้าของเชื้ออาจหายแล้วก็ได้ แผลหาย...แต่เชื้อบาดทะยักยังอยู่!!

ถ้าเคยเป็นแผล แล้วต่อมามีอาการขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ต้องคิดถึง ’ภัยบาดทะยัก“ ซึ่งถ้าใช่...หลังจากนั้นอีก 1-2 วันจะเริ่มมีอาการเกร็งแข็งส่วนอื่นๆ คือหลัง แขน ขา ยืนและเดินแบบหลังแข็ง แขนเหยียดเกร็ง การก้มหลังทำไม่ได้ ใบหน้าจะมีลักษณะเฉพาะคล้ายยิ้มแสยะ และระยะต่อไปอาจมีอาการกระตุก ถ้ามีเสียงดังหรือถูกจับต้องตัว จะเกร็งและกระตุกมากขึ้น จะมีอาการหลังแอ่น หน้าเขียว บางครั้งอาการอาจรุนแรงมาก อาจทำให้หายใจลำบาก และ ’ถึงตาย“ ได้!!

ทั้งนี้ ยุคน้ำท่วมที่ต้องลุยน้ำกันนี้ ยิ่งต้องพึงระลึกไว้ว่า เมื่อเกิดบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกสบู่ ล้างน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งใส่ยารักษาที่รักษาการติดเชื้อด้วย และถ้ารักษาเอง มิได้ไปพบแพทย์ อย่าชะล่าใจ อย่าประมาทอาการที่ผิดปกติ

“น้ำท่วม” ต้องกลัว “ภัยบาดทะยัก” ที่ “รุนแรงถึงตายได้”

และคนไทยยังต้องจำ ’พฤติกรรมแย่ๆของบางคน“ ไว้

ใคร ’ทำตัวน่าเกลียด-ซ้ำเติมทุกข์น้ำท่วม“ จำให้แม่น!!!.




จาก ..................... เดลินิวส์ คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 28 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #12  
เก่า 30-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


โรคผิวหนัง หลังน้ำท่วมดูแลป้องกันก่อนเรื้อรัง...!!



โรคผิวหนังเป็นโรคที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยมักจะพบเสมอหลังเกิดภาวะน้ำท่วม แต่หลายคนมักไม่ค่อยใส่ใจดูแลเท่าที่ควรจนทำให้เกิดปัญหาเรื่องเท้าเปื่อย เป็นแผล ลอก คันและเจ็บแสบ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องอาจจะกลายเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นๆหายๆ และรักษาไม่หายขาด ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

แพทย์หญิงวลัยอร ปรัชญพฤทธิ์ สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้ความรู้ว่า หลังจากเกิดภาวะน้ำท่วมทำให้ผู้ประสบภัยต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพหลากหลายด้าน เนื่องจากเมื่อเกิดน้ำท่วมแล้วจะส่งผลให้แหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคปนเปื้อนกระแสน้ำที่พัดพาสิ่งสกปรก เชื้อโรค ของเสียที่เคยถูกเก็บไว้ในที่มิดชิดหรือสารเคมีกระจายออกเป็นวงกว้างทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป สัตว์และแมลงไม่มีที่อยู่อาศัยจึงออกจากถิ่นที่อยู่เพ่นพ่านทั่วไปและกลายเป็นพาหะนำเชื้อโรคในที่สุด ที่สำคัญพาหะนำโรคต่างๆ ยังสามารถเจริญเติบโตได้ดี ส่งผลให้ปริมาณเชื้อโรคมีจำนวนเพิ่มขึ้นและแพร่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมีโอกาสเกิดโรคระบาดได้ง่าย โดยสภาพผิวดินหลังน้ำท่วมมีความเหมาะสมสำหรับการแพร่พันธุ์ของยุง ซึ่งโรคหลายชนิดที่เกิดจากยุงเป็นพาหะจึงมีโอกาสระบาดสูงขึ้นหลังน้ำท่วม

ปัญหาด้านสุขภาพที่จะเกิดหลังน้ำท่วมนั้นมีทั้งอาการเจ็บป่วยในระยะแรกและระยะยาว ได้แก่ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วงจากการติดเชื้อจากอาหารเป็นพิษ โรคเลปโตสไปโรซิส (หรือโรคฉี่หนู) โรคผิวหนังจากการสัมผัสกับสารเคมีสิ่งสกปรกหรือติดเชื้อที่ผิวหนังไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราหรือหนอนพยาธิ โรคผิวหนังจากแมลง สัตว์มีพิษกัดต่อยซึ่งนอกจากจะทำให้ไม่สบายจากการถูกกัดต่อยแล้ว ในภายหลังหากได้รับเชื้อโรคเข้าไปด้วยอาจทำให้ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้สมองอักเสบ หรือติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น

โรคผิวหนังมักพบหลังน้ำท่วม เรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า” เนื่องจากเราเดินย่ำน้ำบ่อยๆ หรือยืนแช่น้ำนานๆจนเท้าเปื่อย โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าบริเวณที่ผิวหนังเปื่อยนี้เป็นจุดอ่อนทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ดังนั้นหลังเสร็จกิจธุระนอกบ้านแล้วควรรีบล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดและสบู่แล้วเช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า หากเท้ามีบาดแผลควรชะล้างด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ซึ่งโรคน้ำกัดเท้าในระยะแรกนี้ยังไม่มีเชื้อรา เป็นเพียงอาการระคายเคืองจากความเปียกชื้นและสิ่งสกปรกในน้ำ ทำให้เท้าเปื่อย ลอก แดง คันและแสบ การรักษาในระยะนี้ควรใช้ยาทาสเตียรอยด์อ่อนๆ เช่น 0.02 Triamcinolone cream หรือ 3% vioform in 0.02% Triamcinolone cream ไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อรา เพราะยาเชื้อราบางชนิดจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและแสบมากขึ้น

สำหรับผิวที่เปื่อยเป็นแผล เมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกที่เจือปนอยู่ในน้ำจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อมีการติดเชื้อ แบคทีเรียจะทำให้เกิดอาการอักเสบ บวมแดง เป็นหนองและปวด ต้องให้การรักษาโดยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมกับการชะล้างบริเวณแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น น้ำด่างทับทิม แล้วทายาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ หากปล่อยให้มีอาการโรคน้ำกัดเท้าอยู่นาน ผิวที่ลอกเปื่อยและชื้นจะติดเชื้อรา ทำให้เป็นโรคเชื้อราที่ซอกเท้ามีอาการบวมแดง มีขุยขาวเปียก มีกลิ่นเหม็นและถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นเรื้อรัง เชื้อราจะเข้าไปฝังตัวอยู่ในผิวหนังรักษาหายยาก ถึงแม้จะใช้ยาทาจนอาการดีขึ้นดูเหมือนหายดีแล้ว แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใดก็จะเกิดเชื้อราลุกลาม ขึ้นมาใหม่ทำให้เกิดอาการเป็นๆหายๆเป็นประจำ ไม่หายขาด

ดังนั้นการดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำอีกต้องรักษาความสะอาดให้เท้าแห้งอยู่เสมอเป็นหลักปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรคนี้ และควรให้ความสนใจเป็นพิเศษที่บริเวณซอกนิ้วเท้า เมื่อเช็ดให้แห้งแล้วให้ทายารักษาโรคเชื้อรา แต่ถ้ามีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ทายาไม่ได้ผลควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง ซึ่งอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับและไต ควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดยาเองแม้ว่าจะดีขึ้นแล้วก็ตาม การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมดก็มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย นอกจากนี้ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมควรระมัดระวังเมื่อเดินลุยน้ำเพราะอาจถูกของมีคมทิ่มตำ ทำให้เกิดบาดแผลและติดเชื้อโรคต่างๆได้เช่นกัน รวมทั้งอาจติดเชื้อบาดทะยักตามมาได้ เมื่อประสบเหตุดังกล่าวควรไปทำแผลที่หน่วยบริการสาธารณสุขทันที และยิ่งถ้าไม่เคยฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันเชื้อบาดทะยักมาก่อนควรปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตามการป้องกันมักดีกว่าและมีประสิทธิภาพที่สุด ด้วยการหลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำนานๆ หากจำเป็นต้องลุยน้ำให้สวมรองเท้าบู๊ต กันน้ำสกปรกกัดเท้า อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันของมีคมในน้ำทิ่มตำเท้าหรือสัตว์มีพิษกัดต่อย หลังจากลุยน้ำให้รีบทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ เช็ดเท้าให้แห้ง หากมีบาดแผลที่ผิวหนังไม่ควรสัมผัสถูกน้ำสกปรก หากลุยน้ำแล้วเกิดผื่นที่ผิวหนังควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาและทายาหรือรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดเพื่อให้อาการโรคผิวหนังหายขาด ไม่เป็นเรื้อรังสร้างความรำคาญเจ็บปวดและเสียเวลาในการรักษาในภายหลัง.


**********************************************


แนะวิธีปรุงอาหารลดเสี่ยงโรคขณะน้ำท่วม

ในช่วงวิกฤติน้ำท่วมสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สำคัญยามคับขันเช่นนี้ คือ การปรุงอาหาร เพราะหากเราประกอบอาหารไม่สะอาดจะยิ่งส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้นใครที่ต้องการจะไปตั้งศูนย์ปรุงประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือปรุงอาหารรับประทานเองเคล็ดลับสุขภาพดีวันนี้มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการปรุงอาหารให้สะอาดถูกหลักอนามัยเพื่อป้องกันโรคมาฝากกันค่ะ

ดร.นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย ให้ความรู้ว่า การประกอบอาหารในจุดที่ให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมจะต้องเน้นที่ความสะอาดปลอดภัยซึ่งทางกรมอนามัยได้มอบให้ศูนย์อนามัยเขตในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมให้การสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการและคำแนะนำที่ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการเพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือประชาชนที่รับผิดชอบจัดเตรียมและปรุงอาหารในพื้นที่ได้อย่างสะอาด ปลอดภัย และได้คุณค่าทางโภชนาการ โดยยึดตามเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดตั้งแต่อาหารสดต้องไม่มีกลิ่น อาหารแห้งต้องไม่มีเชื้อราและไม่นำอาหารกระป๋องที่บุบ บวม หมดอายุมาปรุงอาหาร

สำหรับพื้นที่ที่เราจะเลือกประกอบอาหารนั้นต้องเป็นพื้นที่หรือสถานที่ทำครัวที่ให้ไกลห้องส้วมและที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสียหรือที่เก็บสารเคมี โดยหลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น ควรมีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้นป้องกันการปนเปื้อน ต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหาร เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียงควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผักและอาหารปรุงสุก โดยเฉพาะเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะเป็นสื่อที่นำเชื้อโรคมาปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้

“ก่อนปรุงอาหารควรมีการล้างวัตถุดิบที่จะนำมาปรุงทุกครั้ง โดยเฉพาะผักซึ่งอาจมีการปนเปื้อนคราบดินที่เกิดจากน้ำท่วมต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ส่วนผักบางอย่าง เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆครั้งหรือแช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาดก่อนจะนำไปปรุงประกอบอาหาร ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนเองให้ถูกสุขลักษณะด้วย เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำและหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหารโดยตรง”

ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วเพื่อส่งต่อให้ผู้ประสบภัยรับประทานนั้นควรใส่ในภาชนะที่สะอาด ไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2-4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหาร ควรระบุวันและเวลาในการรับประทานให้ชัดเจนก่อนส่งให้กับผู้ประสบภัย เพราะหากเก็บนานเกินไปอาจทำให้อาหารบูดและเสียได้ โดยอาหารที่ปรุงควรเป็นอาหารประเภททอดหรือผัดเพราะไม่บูดและเสียง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ลาบ ยำ พล่าต่างๆ

นอกจากนี้การกำจัดขยะในจุดปรุงอาหารจะต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม เช่น พลาสติก หากใช้ปี๊บควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง ถังขยะต้องมีฝาปิดและมีการแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียกและถังขยะแห้งเพื่อง่ายต่อการกำจัด ทั้งนี้สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การใช้ส้วมเนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงมีจำนวนมาก ผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งวัสดุอื่นนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อสุขอนามัยที่ดีและป้องกันโรคในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ อุจจาระร่วง บิด เป็นต้น

เมื่อทราบแบบนี้แล้ว อย่าลืมดูแลเรื่องความสะอาดในการปรุงอาหารที่เราจะรับประทานหรืออาหารที่ปรุงให้แก่ผู้ประสบภัยให้มีความปลอดภัยด้วยนะคะ เพราะจะได้ไม่เป็นการซ้ำเติมสุขภาพของตัวเองและผู้ประสบอุทกภัยนั่นเอง.




จาก ..................... เดลินิวส์ วาไรตี้ วันที่ 30 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #13  
เก่า 30-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ภัยผิวในภาวะน้ำท่วม


ปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของประเทศไทยในขณะนี้ นอก จากจะส่งผลเสียขั้นวิกฤติต่อสภาพสังคม และเศรษฐกิจแล้ว ยังมีผลร้ายต่อสุขภาพทั้งทางด้านจิตใจ และร่างกายอย่างมหาศาล ผลเสียต่อสุขภาพที่พบบ่อยมากและเห็นได้ชัดเจนอย่างหนึ่งคือปัญหาผิวหนัง

นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง อธิบายว่า โรคผิวหนังที่พบบ่อยในภาวะน้ำท่วม คือ โรคน้ำกัดเท้าหรือเชื้อราที่เท้า ซึ่งบางครั้งมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนทำให้เกิดปวดแสบปวดร้อนหรือถึงกับมีหนองไหล

โรคนี้พบบ่อยเมื่อต้องเดินย่ำน้ำไปมาจนเท้าชื้นแฉะ ทำให้เชื้อราของผิวหนังที่ชอบเจริญเติบโตในบริเวณที่อับชื้น ขยายตัวแพร่พันธุ์จนเกิดโรคเชื้อราที่เท้าได้

อาการของการติดเชื้อราที่เท้ามักเห็นเป็นผื่นเปียกยุ่ยสีขาวที่ง่ามนิ้วเท้า บางทีก็เป็นที่ฝ่าเท้า หากติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนก็จะเกิดเป็นหนอง บางคนเป็นเชื้อราที่เท้า แต่จะเกิดภูมิแพ้เป็นผื่นคันหรือเห่อเป็นตุ่มน้ำที่มือหรือที่ตำแหน่งอื่นๆของร่างกาย ยังพบโรคติดเชื้อราที่ขาหนีบ หรือ “สังคัง” มักติดเชื้อมาจากที่เท้า เมื่อสวมกางเกงในจะทำให้ติดเชื้อจากเท้าไปขาหนีบ มีอาการคันมาก

ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับป้องกันเชื้อราที่เท้า คือ ไม่ควรสวมถุงเท้าหนาและคับเกินไป หากไปย่ำน้ำสกปรกมาควรล้างเท้าด้วยสบู่และน้ำเปล่าจนสะอาด ซับเท้าให้แห้ง หรือก่อนไปย่ำน้ำอาจทาขี้ผึ้งขาวเคลือบบริเวณเท้า

ก่อนย่ำน้ำให้ใช้ขี้ผึ้งวาสลินซึ่งเป็นขี้ผึ้งสีขาวขุ่นๆ เป็นมัน ทาที่เท้า และตามง่ามนิ้วเท้า จะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวเปียกน้ำ ลดน้ำกัดเท้าได้

หลังย่ำน้ำ ถ้ามีผิวหนังเปื่อย โดยเฉพาะที่ง่ามนิ้วเท้า อาจเป็นเชื้อราที่เท้า ให้ใช้ขี้ผึ้งขจัดเชื้อรา เช่นขี้ผึ้งวิทฟิลด์ ซึ่งมีตัวยาคือ กรดซาลิไซลิก และกรดเบนโซอิก ส่วนยาฆ่าเชื้อราตัวอื่นเช่นที่มีสารออกฤทธิ์คือ โคลไตรมาโซล, คีโตโคนาโซล, ไมโคนาโซลครีม, และทอลนาฟเทต ยาฆ่าเชื้อราอาจต้องทาต่อเนื่องนานเป็นเดือน ยาทารักษาเชื้อราหลายชนิด เช่น ขี้ผึ้งวิทฟิลด์ มีฤทธิ์ทำให้ผิวลอก หากนำมาใช้ขณะน้ำกัดเท้าอาจยิ่งก่อให้เกิดการระคายเคือง เจ็บแสบ และผิวถลอกมากขึ้น

ในกรณีที่แผลน้ำกัดเท้าลอกมาก มีการอักเสบ มีน้ำเหลืองไหล อาจต้องล้างแผลหรือแช่แผลไปพลางๆก่อน โดยอาจใช้วิธีการแช่เท้าโดยใช้น้ำด่างทับทิม โดยใช้เกร็ดด่างทับทิม 2-3 เกร็ดละลายน้ำให้ได้สีชมพูจาง ๆ แช่อย่างน้อย 15 นาที หรือใช้ยาใส่แผลโพวิโดน ไอโอดีน 8 หยด ผสมน้ำประมาณ 1 ลิตร หรือใช้การประคบเท้าที่มีแผล โดยใช้ผ้าก๊อซหรือผ้าสะอาดชุบน้ำด่างทับทิมหรือน้ำเกลืออ่อนๆ โปะทิ้งไว้ตั้งแต่ผ้ายังเปียกทิ้งไว้นานจนผ้าหมาดหรือใกล้จะแห้งจึงเอาผ้าออก ทำเช่นนี้ซ้ำบ่อยๆ จะช่วยลดอาการอักเสบน้ำเหลืองไหลลงได้ การทำน้ำเกลือง่าย ๆ คือใช้เกลือ 1/2 ช้อนชาผสมในน้ำอุ่น 1 ถ้วย คือใส่เกลือ 2.5 กรัมลงในน้ำอุ่น 1/4 ลิตร แล้วคนให้เกลือละลาย

กรณีที่แผลน้ำกัดเท้ากำเริบมาก มีอาการอักเสบ ปวด กดเจ็บมาก บวม แดงร้อน มีน้ำเหลืองน้ำหนองไหลมาก หรือมีผิวแดงลุกลามแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ไข่ดันบวมมาก หรือมีไข้สูง อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ควรต้องไปพบแพทย์ เพราะอาจต้องได้ยารับประทานปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือในรายที่เป็นมากอาจต้องได้ยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ

ส่วนการป้องกันโรคเชื้อราที่ขาหนีบ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “สังคัง” นั้น ไม่ควรสวมใส่กางเกงหนา บางคนชอบนุ่งกางเกงยีน ผ้ายีนจะแห้งยากมากทำให้เกิดความอับชื้นง่าย และหากน้ำหลากมาเร็วอาจทำให้ไม่คล่องตัวหนีน้ำได้ลำบาก หากเป็นเชื้อราที่เท้าหรือที่ขาหนีบแล้วใช้ยาทาฆ่าเชื้อราไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพราะอาจต้องรับประทานยาแทน

นอกจากนี้ยังอาจพบโรคเท้าเหม็นซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดรูพรุนเล็กๆที่เท้า มีกลิ่นเหม็นมาก ยามน้ำท่วมต้องเดินย่ำน้ำบางครั้งเกิดบาดแผลสกปรกอาจติดเชื้อแบคทีเรียได้

ที่พบบ่อยและอาจมีอันตรายถึงชีวิตคือ “โรคบาดทะยัก” หากเกิดบาดแผลอาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ และยังอาจพบ “โรคไฟลามทุ่ง” ซึ่งเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดตื้นของผิวหนังชั้นหนังแท้ ที่รวมถึงหลอดน้ำเหลืองด้วย ลักษณะเฉพาะ คือ มีอาการเจ็บ ผื่นแดงมีขอบเขตชัดเจนที่ขยายขนาดอย่างรวดเร็ว “โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ” เป็นการอักเสบลุกลามของชั้นหนังแท้ส่วนลึก และชั้นไขมันใต้ผิวหนัง โรคติดเชื้อแบคทีเรียบางโรคอาจลุกลามรวดเร็ว ต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสมทันที ในกรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ คือ ปวด บวม แดง ร้อน มีไข้ ไข่ดันบวม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจต้องใช้ยาปฏิชีวะเฉพาะหรือใช้ยาฉีดเพื่อรักษา นอกจากนั้นยังอาจพบแผลพุพองเป็นตุ่มหนอง ฝี โรคฉี่หนู เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียจากฉี่หนู ทำให้เป็นไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด

ในช่วงน้ำท่วมยังอาจพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส เช่น อีสุกอีใส หัด หัดเยอรมัน ส่วนที่แสดงอาการที่ผิวหนังโดยตรงเช่น หูด หูดข้าวสุก และโรคเริม ซึ่งเป็นผื่นแดง มีหย่อมของตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง มีอาการเจ็บร่วมด้วย อาจมีไข้ และมีต่อมน้ำเหลืองโต พบบ่อยที่ริมฝีปาก อวัยวะเพศ และผิวหนังส่วนอื่นๆของร่างกาย

เริมนั้นส่วนใหญ่ไม่ร้ายแรง อาจเพียงทำให้ครั่นเนื้อครั่นตัว เสียบุคลิกภาพ แต่ก็มีบางรายที่โชคร้ายเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่สมองทำให้เป็นโรคสมองอักเสบได้ คือ ตอนนี้แม้จะยังไม่มีการรายงานตัวเลขที่ชัดเจนว่ามีผู้ป่วยกี่ราย แต่จากข้อมูลน้ำท่วมในต่างประเทศ ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะหลายคนเครียด อากาศเปลี่ยนแปลง โดนแดดจัด พักผ่อนไม่เพียงพอ ภูมิต้านทานต่ำ ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเริมได้

การที่ต้องอพยพมาอยู่ร่วมกันอาจเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดของหิดและเหา เพราะหลายคนต้องอพยพมาอยู่ในศูนย์พักพิงร่วมกันจำนวนมากและต้องอยู่ใกล้ชิดกัน ขณะเดียวกันอาจพบโรคพยาธิปากขอ เป็นการติดเชื้อพยาธิจากการเดินผ่านน้ำท่วมขัง พยาธินี้จะดูดเลือด และอาจทำให้เกิดโรคเลือดจางได้ และปัญหาแมลง สัตว์กัดต่อยเช่น งู แมงป่อง ตะขาบ

ท้ายนี้ขอเอาใจช่วยและเป็นกำลังใจให้ผู้ประสบอุทกภัยทุกท่านฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้!!??.




จาก ..................... เดลินิวส์ คอลัมน์ x-ray สุขภาพ วันที่ 30 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #14  
เก่า 01-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สาวออฟฟิศกินจุบจิบ เสี่ยงเบาหวาน



ขนมเค้ก คุ้กกี้ ขนมปัง ขนมถุง มันฝรั่งทอดกรอบฯลฯ ที่สาวๆ ออฟฟิศส่วนใหญ่มีติดโต๊ะไว้แก้หิว เพราะตอนเช้าที่ต้องรีบตื่นแต่งตัวรีบเร่งไปทำงานให้ทัน...แม้จะดื่มกาแฟแก้วเดียวก็แทบจะไม่มีเวลา แต่พอสายๆ ท้องก็เริ่มหิว เริ่มควานหาขนมที่วางไว้บนโต๊ะ หรือแซนด์วิชที่ร้านสะดวกซื้อมารองท้อง

ศุภลักษณ์ ทองนุ่น นักโภชนาการ โรงพยาบาลกล้วยน้ำไท ( แผนกผู้สูงอายุ ) จึงได้อธิบายการกินของผู้หญิงว่า งานออฟฟิศส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้เวลานั่งทำอยู่กับโต๊ะและหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทั้งเครียดและยุ่งแทบไม่ค่อยมีเวลากินข้าว แต่ชอบกินจุบกินจิบแทน พอตกบ่ายก็เริ่มง่วงจนต้องหากาแฟอีกแก้วพร้อมกับขนมขบเคี้ยวที่ซื้อติดมือมาตอนกลางวัน สาวออฟฟิศส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยมีเวลาไปออกกำลังกาย น้ำหนักตัว จึงยิ่งเพิ่ม พฤติกรรมซ้ำๆ เหล่านี้ทำให้ สาวๆ ออฟฟิศ เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน โดยไม่รู้ตัว



"ตามหลักโภชนาการ กำหนดให้ผู้ที่มีสุขภาพปกติ บริโภคน้ำตาลได้ไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา แต่สาวออฟฟิศที่ห่วงสวยจะเลี่ยงมารับประทานผลไม้เป็นของว่าง และได้รับน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา ส่วนกลุ่มที่ชอบกินขนมกรุบกรอบได้รับน้ำตาลวันละประมาณ 18 ช้อนชา และถ้าร่างกายได้รับปริมาณน้ำตาลและแป้งล้นเกินเป็นประจำ จะทำให้ตับอ่อนทำงานหนักจากการผลิตอินซูลิน ยิ่งคนที่มีปริมาณไขมันมากก็จะยิ่งทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี ทำให้มีน้ำตาลอยู่ในกระแสเลือดสูง และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นโรคเบาหวานได้ ส่วนจะเป็นโรคเบาหวานเร็วหรือช้านั้นขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของตับอ่อนของแต่ละคน" ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ชี้แจง

พร้อมกันนี้ยังให้คำแนะนำถึงวิธีการเลี่ยงการเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานของผู้หญิงว่า ไม่ควรรับประทานน้ำตาลเกินวันละ 6 ช้อนชา และแป้ง ( ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง เค้ก ฯลฯ ) ไม่เกิน 8 - 12 ทัพพี ควรจดบันทึกปริมาณพลังงานที่ได้รับ / วัน หรือนับการรับประทานอาหารกลุ่มแป้ง น้ำตาล และไขมัน เช่น มื้อกลางวันทานสับปะรดไปแล้วมื้อเย็นก็ไม่ควรทานอาหารที่มีน้ำตาลแฝงอยู่ เช่น แกงเขียวหวาน ควรเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีน้ำตาลแทน เช่น ปลาย่างทานกับผักสด



อย่าซื้อขนมหวานที่ชอบติดบ้าน เวลาเบื่อ หรือนั่งดูทีวี เรามักจะรับประทานขนมได้มากโดยไม่รู้ตัว ถ้าเบื่อควรเลือกทานผลไม้ที่ไม่หวานแทน เช่น ฝรั่ง, มันแกว ฯลฯ รับประทานให้ช้าลง ร่างกายจะรับรู้ถึงสัญญาณความอิ่มหลังรับประทานอาหารประมาณ 15 - 20 นาที ถ้าเรารับประทานช้าลงเราก็จะรู้สึกอิ่มโดยที่ไม่ได้รับประทานเกินความต้องการของร่างกาย เคี้ยวให้นานขึ้น ยิ่งเคี้ยวนานเราก็จะทานช้าลง และอิ่มเร็วขึ้น สุดท้ายคือ ออกกำลังกายอาทิตย์ละ 3 ครั้งเพื่อลดปริมาณไขมันในร่างกายเพื่อช่วยให้อินซูลินทำงานได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามโรคเบาหวาน เป็นโรคที่ใช้เวลาในการเกิดโรคนาน และเป็นโรคที่มาจากพฤติกรรมในการกิน เป็นโรคเรื้อรัง ที่ต้องรักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต ดังนั้นถ้าสาวๆที่มีพฤติกรรมชอบกินจุบจิบ กินตามใจปาก และมักจะระวังการบริโภคแป้งแต่ไม่ค่อยระวังเรื่องน้ำตาลโดยเฉพาะน้ำตาลแฝง จึงควรปรับพฤติกรรมการกินใหม่ ใส่ใจในการเลือกอาหารในแต่ละมื้อ จะทำให้ไม่อ้วนและไม่เสี่ยงเป็นโรคเบาหวานด้วย




จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #15  
เก่า 01-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


พิษบ้าจากสัตว์ตื่นน้ำ



แม้มนุษย์จะรู้จักโรคพิษสุนัขบ้ามานานกว่า 500 ปี แต่ถึงทุกวันนี้เรายังไม่มียาใดรักษาได้ ผู้ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิต 100%

แต่ที่น่าเป็นกังวลมากกว่าคือ ท่ามกลางวิกฤติน้ำท่วมนี้ นอกจากคนจะตื่นตระหนกและเครียดแล้ว สัตว์เลี้ยงก็เผชิญชะตากรรมไม่ต่างจากเจ้าของ แถมความเครียดของมันยังมีสูงกว่า และพร้อมที่จะกัดทุกคน ไม่เว้นกระทั่งเจ้าของที่คุ้นเคย

ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้าเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะพุ่งตรงไปยังแขนงประสาทและระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อทุกส่วนของร่างกายเต็มไปด้วยระบบประสาท จึงเป็นเหตุให้การรักษาหรือหยุดยั้งเชื้อไวรัสทำได้ยาก ฉะนั้น ในปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้ ผู้ที่ติดเชื้อมีอัตราการเสียชีวิต 100% แต่อย่างไรก็ดีโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน

"ตำแหน่งที่ได้รับบาดแผลจากสัตว์ ถือว่ามีความสำคัญต่อการกระจายของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอย่างมาก หากได้รับบาดแผลในตำแหน่งที่ใกล้สมอง เชื้อเรบีส์ยิ่งเดินทางไปทำลายระบบสมองได้เร็ว ยิ่งต้องรีบพบแพทย์ให้ด่วนที่สุด" นสพ.สนธยา มานะวัฒนา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

สัตว์เลี้ยงแสนรักในกลุ่มเลี้ยงลูกด้วยนม ไม่ว่าจะเป็น แมว สุนัข กระรอก หนู กระต่าย รวมถึง ลิง ชะนี และค้างคาว ล้วนควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกตัว เพราะโรคพิษสุนัขบ้าที่อยู่ในสัตว์เลี้ยงแสนรักเหล่านั้น สามารถถ่ายทอดเชื้อมาสู่คนและคร่าชีวิตเราหรือคนในครอบครัวได้โดยไม่รู้ตัว

โรคพิษสุนัขบ้า หรือ โรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาทจากสัตว์มาสู่คน โดยมีเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า เรบีส์ เป็นตัวการที่ทำให้เกิดโรคและอาการในสัตว์กลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด

คนรักสัตว์จำนวนมากมักสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าเราติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า ทุกครั้งหลังถูกสัตว์เลี้ยงหรือที่สัตว์เราไปเล่นด้วยกัด ข่วน หรือร่างกายเรามีแผลแล้วถูกสัตว์เลีย ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า สัตว์ตัวนั้นมีเชื้อพิษสุนัขบ้า ยิ่งไม่เคยรับวัคซีนยิ่งต้องสงสัยมากเป็นพิเศษ

สมัยนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าก็เช่นกัน ฉีดแค่ 3-5 เข็มหลังจากเกิดบาดแผลจากสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ก็สามารถป้องกันโรคได้แล้ว ไม่ได้ฉีดรอบสะดือ 14-21 เข็มเหมือนสมัยก่อน อย่างที่หลายคนเข้าใจหรือกลัวจนไม่กล้ามาหาหมอ

อาการของสัตว์ที่ติดเชื้อจะแสดงออก 2 รูปแบบคือ หงุดหงิด วิ่งพล่าน ดุร้าย โดยจะแสดงอาการ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย เดินโซเซและตายในที่สุด ส่วนอีกแบบที่จะพบได้คือ เซื่องซึม ลิ้นห้อย ปากอ้าหุบไม่ได้ ตัวแข็ง เป็นอัมพาต หรือในบางตัวอาจมีอาการชักและตายในที่สุด อย่างไรก็ตาม อาการในกลุ่มนี้จะสังเกตได้ยาก เพราะอาการใกล้เคียงกับการเป็นโรคไข้หวัดหรือหัด

แต่หากไม่แน่ใจก็ให้พาไปพบแพทย์ หรือหากสัตว์ตายก็ให้เอาซากสัตว์ไปตรวจ จึงจะปลอดภัยที่สุด

คุณหมอสนธยา แนะนำวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ เจ้าของควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี รวมถึงทุกคนในบ้านก็ควรไปรับวัคซีนด้วยเช่นกัน รวมถึงกรณีคนที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์แต่ต้องเดินทางผ่านบริเวณที่มีสุนัขจรจัด หรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความเสี่ยง ก็ควรฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค

เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่า สัตว์ตัวไหนมีไวรัสพิษสุนัขบ้า


ปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อถูก 'กัด'

1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่หลายๆครั้ง ถ้าแผลลึกให้ล้างถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้แผลช้ำ ห้ามทาครีมใดๆ ถ้ามีเลือดออกควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

2. เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ควรใช้โพวีโดนไอโอดีน หรือ ฮิบิเทนในน้ำ ถ้าไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือ ทิงเจอร์ไอโอดีน ไม่ควรปิดปากแผลยกเว้นว่าเลือดออกมากหรือแผลใหญ่มาก

3. รับการฉีดวัคซีน ฉีดป้องกันบาดทะยักและยาแก้ปวดตามอาการ

4. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า หากสัตว์มีอาการปกติตลอดระยะเวลาที่กักเพื่อดูอาการ สามารถหยุดฉีดวัคซีนได้




จาก .................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #16  
เก่า 02-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


แผนฟื้นฟูผิว 7 ขั้นตอน



ปฏิบัติเพียง 7 ขั้นตอนในชีวิตประจำวันเพื่อลดความตึงเครียดซึ่งจะทำให้คุณดูอ่อนกว่าวัย พร้อมฟื้นฟูผิวให้สุขภาพดี

ขั้นตอนแรก เริ่มจากเครื่องสำอางที่ใช้ ถ้าลองไปค้นกระเป๋าเครื่องสำอางของผู้หญิงส่วนใหญ่จะพบว่าภายในเต็มไปด้วยของที่ไม่จำเป็นและบางทีอาจไม่เคยใช้เลยซะส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้ว มีแค่ 3 อย่างก็เพียงพอ คือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยน มอยเจอร์ไรเซอร์ที่ผสมสารแอนติออกซิแดนท์ และผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่มีส่วนผสมของซิงค์ ออกไซด์และไทเทเนียมไดออกไซด์

ชั้นตอนต่อมาคือ การผ่อนคลายจิตใจด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การนวด เล่นโยคะ หรือรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนดีๆ เพราะเพื่อนที่ดีจะคอยช่วยสนับสนุนและให้กำลังใจในวันที่คุณเหนื่อยและเครียด หาเวลาไปพบปะกับเพื่อนบ้าง ไม่เฉพาะคุยกันในเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ หรืออีเมลเท่านั้น แต่ต้องได้เจอตัวจริง อาจไปกินข้าวสักมื้อ หรือดื่มกาแฟสักถ้วยก็ได้ เพราะไม่ว่าจะสนิทกันแค่ไหน หากไม่ได้เจอกันนานๆ ความสนิทสนมก็จะลดลง และการได้คุยกับเพื่อนที่รู้ใจอาจช่วยแก้ปัญหาที่คุณคิดไม่ตกก็ได้

ขั้นตอนที่สาม สัมผัสธรรมชาติ โดยระหว่างทำงานลองหาเวลาเดินออกมาจากออฟฟิซ แล้วลองมองท้องฟ้าและต้นไม้แค่วันละ 10 นาทีเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียด เพราะมีผลการวิจัยทางจิตวิทยาชี้ว่า ระดับฮอร์โมนความเครียดจะลดลงถ้าได้เดินออกมาจากออฟฟิซบ้าง

“กินอาหารที่มีประโยชน์” คือขั้นตอนที่สี่ เพราะในช่วงที่เกิดความเครียด เรามักจะทานอาหารมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งมาก ไขมันสูงและอาหารทอดชนิดต่างๆ ทำให้เสียสุขภาพ หากเปลี่ยนไปทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จำพวกผัก ผลไม้ นอกจากจะลดความเครียดแล้ว ยังทำให้สุขภาพดีด้วย

ขั้นตอนต่อมาคือ การออกกำลังกาย โดยพยายามหาเวลาออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที บางคนอาจบอกว่าไม่มีเวลา ซึ่งที่จริงแล้วการออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องไปฟิตเนสหรือไปสวนสาธารณะเพื่อออกกำลังกายอย่างจริงจัง เพียงแค่ขยับร่างกาย เดินไปเดินมาบ้าง ก็ถือเป็นการออกกำลังกายแล้ว

ขั้นตอนที่หก นอนพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อหลับ ฮอร์โมนต่างๆจะทำงานได้ดี และร่างกายจะซ่อมแซมตัวเองเมื่อหลับ ซึ่งเป็นเหตุผลที่มักจะมีคนแนะนำว่าหากรู้สึกแย่หรือไม่สบายให้นอนพักผ่อน เมื่อตื่นมาจะรู้สึกดีขึ้น ถ้ามีเวลานอนน้อยแล้วง่วงจนทำงานต่อไม่ไหว ลองงีบสัก 20 นาที จะรู้สึกดีขึ้น

ขั้นตอนสุดท้าย “ปรนนิบัติตัวเอง” อาจไม่ต้องไปทำสปาหรูๆ หรือไปนวดตามร้าน แค่ดูแลผิวที่บ้าน ด้วยการมาส์กหน้าหรือขัดผิวตามสูตรต่างๆ ที่สามารถทำเองได้ เช่น มาส์กหน้าเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น โดยผสมน้ำผึ้งกับนมเข้าด้วยกัน แล้วทาทิ้งไว้บนหน้าสักครู่ แค่นี้ก็จะทำให้ผิวดีขึ้นและสภาพจิตใจดีขึ้นด้วย




จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #17  
เก่า 02-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


'คีโม' กลัวได้แต่อย่าถอย



การแพทย์สมัยใหม่ทำให้ล่วงรู้โอกาสการเกิดโรคหรือพบโรคตั้งแต่ระยะต้นๆ และรักษาให้หายขาดได้ ก่อนที่จะสายเกินแก้ ไม่เว้นแม้แต่มะเร็งเต้านม

"ผู้หญิงสมัยนี้เป็นมะเร็งเต้านมกันมาก เพราะอาหารการกินที่เปลี่ยนไปนิยมของปิ้ง ย่าง ทอด และส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหญิงไทยกล้าที่จะทิ้งความอาย เพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพเต้านมมากขึ้น" พญ.ธิติยา สิริสิงห แพทย์หน่วยมะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมแทบไม่ต่างจากมะเร็งส่วนอื่นของร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรม อายุ และการกินฮอร์โมนเสริมหลังหมดประจำเดือน รวมถึงยาคุมกำเนิดที่กินติดต่อเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบอาหารไขมันสูง ปิ้ง ย่าง ทอด ยิ่งเสี่ยงมากกว่าหญิงที่ดูแลสุขภาพเรื่องการกินการอยู่หลายเท่าตัว

คุณหมอย้ำชัดว่า ยาฮอร์โมนทดแทนและยาคุมกำเนิด หากกินต่อเนื่องเกินความจำเป็น จะเพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไป แต่โอกาสของโรคในตอนนี้ก็ยังพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายแต่ใจหญิงที่กินฮอร์โมนเพื่อให้มีหน้าอก

ส่วนคำแนะนำถึงวิธีการกินยาคุมให้ปลอดภัยในผู้หญิง ก็เพียงแค่ไม่กินต่อเนื่องนานเกิน 2-3 ปี หรือหาวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยวิธีอื่นแทน อาจเลือกการทำหมันชั่วคราวด้วยการให้ฝ่ายชายเป็นคนรับภาระก็ได้

หญิงที่มีญาติในสายเลือดเป็นมะเร็งเต้านม จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตรวจร่างกายตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ด้วยเทคนิคพื้นฐานคือ การคลำหาก้อนเนื้อบริเวณเต้านมทุกเดือน หรือแม้แต่หญิงที่ไม่มีประวัติดังกล่าวก็ควรไปตรวจเมื่ออายุเข้าสู่วัย 40 ปี

ผู้ที่พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น ไม่ต้องตกใจเพราะสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการผ่าตัดคว้านเอาก้อนเนื้อร้ายออก เสริมด้วยเคมีบำบัด เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่ยังเล็ดลอดจากการผ่าตัดรักษา

คุณหมอเพิ่มเติมว่า มะเร็งเต้านมที่รักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด หรือที่เรียกกันว่าคีโม วิธีการไม่ได้ยุ่งยากหรือน่ากลัวอย่างที่ใครหลายคนกังวล เหมือนการนอนให้น้ำเกลืออยู่บนเตียง ตัวยาเคมีที่นำมาใช้รักษาก็มีหลากหลายให้เลือกและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นก็แตกต่างกันไป เช่น อาการผมร่วง ซึ่งความรุนแรงขึ้นอยู่กับยาที่แพทย์เลือกใช้แต่ละชนิดก็มีอาการต่างกันไป หรืออาการคลื่นไส้อาเจียน ซึ่งจะมีอาการไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ก็มีตัวยาช่วยลดอาการข้างเคียงหลายชนิดด้วยกัน

นอกจากนี้หลังได้รับเคมีบำบัด ผู้ป่วยยังอาจเกิดอาการปวดเมื่อยได้ด้วย โดยสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ ภาวะนี้มักเกิดหลังให้ยาไปแล้ว 10-14 วัน ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ญาติจึงควรดูแลเป็นพิเศษ ให้กินอาหารปรุงสุกเท่านั้น งดผักผลไม้สด ของสุกๆดิบๆ ไปสักระยะหนึ่ง รวมถึงไม่พาผู้ป่วยไปในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือเข้าใกล้คนที่ป่วย

"การรักษาเสริมด้วยเคมีบำบัด คนไข้จะต้องรับยาต่อเนื่อง 3-6 เดือนตามการวินิจฉัยของแพทย์ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้ช่วงที่รับการรักษาคือ การเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่เดิมหรือส่วนอื่นของร่างกายได้ทุกเมื่อ ฉะนั้น ควรพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ" ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคมะเร็งด้วยเคมีบำบัด โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว



ซีส : มะเร็ง แตกต่างอย่างไร

พญ.ดลฤดี สองทิศ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (องครักษ์) บอกว่า การมีก้อนบริเวณเต้านม อาจมองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าก็ได้ สามารถคลำได้ แต่ซีสไม่ใช่เนื้องอก ส่วนใหญ่ไม่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง ซีส โดยทั่วไปเป็นถุงน้ำ สามารถโตและยุบจนหายสนิทได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปมักเรียกไปก่อนว่า ซีส แต่หากไม่ได้รับการยืนยันจากแพทย์ ก็อย่าเพิ่งชะล่าใจไป เพราะอาจไม่ใช่แค่ "ซีส" อาจจะร้ายแรงถึงขั้นเป็น เนื้องอกหรือ มะเร็งได้

ซีสเต้านม เกิดจากภาวะที่น้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านมเป็นหย่อมๆ ทำให้เวลาตรวจดูจะพบเป็นถุงน้ำ เมื่อใช้มือคลำจากภายนอก จะพบเป็นก้อนในเนื้อนม อาจมีอาการปวดบริเวณเต้านม เนื่องจากน้ำในซีสดันเนื้อนมรอบข้าง ทำให้เต้านมตึงเกิดอาการปวด เวลาคลำจะพบก้อนที่เต้านมด้วยก็ได้ และสามารถพบได้ในหลายตำแหน่ง

ซีสเต้านมจะโตๆยุบๆ ตามรอบเดือนและเจ็บ ผิดกลับมะเร็งที่จะโตขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่เจ็บ ซีสมักจะนุ่มๆ หยุ่นๆ แต่มะเร็งจะมีลักษณะแข็ง

การตรวจด้วยอัลตราซาวด์จะทำให้รู้ว่าเป็นซีสหรือเป็นมะเร็ง ส่วนอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้เข็มฉีดยาเจาะดู หากเป็นซีสน้ำจะได้น้ำออกมา และก้อนก็จะยุบหายไป ทางที่ดีหากตรวจพบก้อนอะไรก็ตามที่เต้านม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคที่แท้จริงจะปลอดภัยมากกว่า




จาก .................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #18  
เก่า 02-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เมื่อถูก 'ตะขาบ' กัดต้องทำอย่างไร



น้ำท่วม ใช่ว่าคนเท่านั้นที่ต้องหาพื้นแห้งๆ อยู่เพื่อความปลอดภัย สัตว์มีพิษอย่าง 'ตะขาบ' ก็เช่นกัน แม้ในยามปกติมันจะซ่อนตัวอยู่ใต้ก้อนหิน บริเวณที่มีสภาพเย็นชื้น แล้วออกหาแมลงกินในตอนกลางคืน แต่เมื่อน้ำเอ่อท่วม ตะขาบก็ต้องหนีน้ำขึ้นมาเป็นธรรมดา หลายๆคนจึงมักได้เห็นตะขาบกันได้บ่อยในช่วงนี้

ทว่าบังเอิญถูกตะขาบกัดเข้าก็ต้องปฐมพยาบาล เนื่องจากพิษของตะขาบจะทำให้ผิวหนังบริเวณที่ถูกกัดนั้นบวมแดง รู้สึกปวด และอาจชา บางคนหากแพ้พิษมากยังจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และซึมลง แต่พิษของตะขาบในบ้านเรามักไม่สามารถทำให้เสียชีวิตได้โดยตรง

วิธีการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น หากถูกกัดบริเวณแขนและขา พยายามห้อยส่วนดังกล่าวให้อยู่ต่ำ กรณีโดนกัดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า แนะนำให้หาเชือกหรือผ้ามารัดที่ข้อนิ้วเอาไว้ เป็นการป้องกันพิษกระจายตัว

จากนั้นให้เช็ดแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือล้างด้วยน้ำด่างทับทิมช่วยฆ่าเชื้อโรค ตามด้วยการประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัดเพื่อลดปวดบวม และกินยาแก้ปวด


ขณะที่การปฐมพยาบาลแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน มีการแนะนำให้แช่แผลที่ถูกกัดลงในน้ำส้มสายชู หรือใช้ยางมะละกอดิบป้ายแผล จะช่วยบรรเทาอาการปวดลงได้

อย่างไรก็ตาม หลังดูแลแผลเพื่อลดความเจ็บปวดแล้ว ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อดูแลรักษาทันที บางรายที่ปล่อยไว้ อาจเสี่ยงต่อการอักเสบติดเชื้อ ปวดบวมมีหนอง เนื้อตายจนต้องตัดเฉือนทิ้ง.




จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #19  
เก่า 04-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


กินแอปเปิ้ล ลดไข้



บางคนพอร่างกายอ่อนแอ ก็เป็นไข้ ปวดหัว ตัวร้อน ทว่าป่วยอย่างนี้บ่อยๆ แล้วจะต้องกินยาเรื่อยๆ คงไม่ดีนัก อีกทั้งคนกินยายากก็ยิ่งลำบากใจ วันนี้ 'มุมสุขภาพ' ภูมิใจแนะนำผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณลดไข้ได้ นั่นคือ 'แอปเปิ้ล'

ในแอปเปิ้ล อุดมด้วยสารอาหารมากมาย ทั้งวิตามินบี1 บี2 บี6 โพแทสเซียม กำมะถัน เหล็ก และแมกนีเซียม ช่วยคลายเครียด ล้างพิษในไตและตับ / วิตามินซี เบต้าแคโรทีน ไฟโตเคมิคอลเควอเซติน กรดมาลิก และเส้นใยแพ็กติน ให้สรรพคุณช่วยย่อย ล้างกระเพาะและลำไส้ ที่สำคัญน้ำซึ่งสกัดจากแอปเปิ้ล ดื่มแล้วช่วยลดไข้ได้

เพื่อความอร่อย และเพิ่มคุณค่า ยังสามารถผสมน้ำแอปเปิ้ลรวมกับน้ำที่สกัดจากแครอต เป็นการเติมสรรพคุณกระตุ้นภูมิคุ้มกันอีกด้วย

หากต้องการทำเป็นดื่มน้ำแอปเปิ้ลและแครอต มีส่วนผสมที่ต้องเตรียม ประกอบด้วย...

แอปเปิ้ลเขียว 1 ถ้วย
แครอต 1 ถ้วย
น้ำแข็งป่น 1 ถ้วย


ขั้นตอนในการทำ ให้ล้างทำความสะอาดแอปเปิ้ลเขียวและแครอต จากนั้นขูดแครอตเป็นเส้นๆ ส่วนแอปเปิ้ลเขียวหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าขนาดเล็ก ได้แล้วนำส่วนผสมไปสกัดพร้อมกันด้วยเครื่องสกัดน้ำผักและผลไม้ เสร็จแล้วเติมน้ำแข็งป่นช่วยเพิ่มรสชาติ และควรดื่มทันที.




จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #20  
เก่า 08-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“อย่าประมาท!...โรคมือ เท้า ปาก วายร้ายใกล้ตัว” (ตอน 1)

จากสถานการณ์การระบาดของโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา พบผู้ป่วยทั่วประเทศจำนวน 12,155 คน : ตั้งแต่ 1 ม.ค.-22 ก.ย.54 อัตราป่วยคิดเป็น 19.13 ต่อประชาการแสนคน มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มักระบาดในช่วงหน้าฝน

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสติดต่อทางปาก ไอ จามรดกัน แม้ความรุนแรงของโรคไม่สูง แต่เนื่องจากติดกันง่ายจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่าต้นเหตุน่าจะเป็นเพราะเด็กเล่นคลุกคลีกันและติดเชื้อ เมื่อเด็กติดเชื้อผู้ปกครองก็ไม่ได้แจ้งให้ทางโรงเรียนทราบ เด็กจึงนำเชื้อไปติดเด็กคนอื่น ดังนั้น ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย อาหาร ให้มีสุขอนามัยที่ดีเพราะเป็นวิธีการป้องกันโรคนี้ดีที่สุด

1.โรคมือ เท้า ปาก (Hand, Foot and Mouth Disease) คือโรคอะไร

โรคมือ เท้า ปาก เป็นกลุ่มอาการหนึ่งซึ่งมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสที่สามารถเจริญเติบโตได้ในลำไส้ ที่เรียกว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) ซึ่งพบเฉพาะในคนเท่านั้น และมีหลากหลายสายพันธุ์ สำหรับสายพันธุ์ที่ก่อโรคมือ เท้า ปาก ได้แก่ คอกแซกกีไวรัสกรุ๊ป เอ และบี (Coxsackie virus group A, B) และที่ก่อโรครุนแรงที่สุด คือ เชื้อเอนเทอโรไวรัส 71

เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่ามีรายงานผู้ป่วยสูงกว่าเกือบ 3 เท่า และมักเกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเฉพาะเด็กเล็กที่มีอายุระหว่าง 2 สัปดาห์ ถึง 3 ปี โรคนี้ไม่เป็นปัญหาในผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ


2.โรคนี้พบที่ใดบ้าง

โรคนี้พบผู้ป่วยและการระบาดได้ทั่วโลก มีรายงานการระบาดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเอนเทอโรไวรัส 71 ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น ประเทศเวียดนาม มีข้อมูลล่าสุดพบผู้ป่วยกว่า 42,673 ราย เสียชีวิตกว่า 98 ราย ในขณะที่ประเทศมาเลเซีย พบผู้ป่วยในปีนี้ 2,919 คน ลดลงจากปีที่แล้ว (2553) ที่พบผู้ป่วยถึง 8,769 คน โดยในปีนี้ยังไม่พบผู้เสียชีวิต

แหล่งที่มา : http://outbreaknews.com /04 September 2011


3.โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อได้อย่างไร

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อโดยตรงทางปาก ซึ่งเชื้อจะติดมากับมือ ภาชนะที่ใช้ร่วมกัน เช่น ช้อน แก้วน้ำ หรือของเล่นที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพอง แผลในปาก หรืออุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสอยู่ เชื้อจะผ่านเข้าไปที่ลำคอ และลงไปที่ลำไส้ โดยเชื้อจะเพิ่มจำนวนที่ต่อมน้ำเหลืองที่คอ รวมทั้งทอนซิล และเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลือง สำหรับเชื้อไวรัสที่อยู่ในลำไส้ จะถูกขับถ่ายปนมากับอุจจาระเป็นระยะๆ ได้นานถึง 6-8 สัปดาห์ แม้อาการจะทุเลาลงแล้วก็อาจแพร่เชื้อได้ การติดต่อมักเกิดได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย ซึ่งมีเชื้อไวรัสออกมามาก

การแพร่กระจายเชื้อจะเกิดได้ง่ายมากในเด็กเล็ก ที่ชอบเล่นคลุกคลีใกล้ชิดกันในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือญาติพี่น้องที่อยู่รวมกัน

ข้อมูลจาก แผนกควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com




จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 07:11


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger