เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 03-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา" "ลานิญา" ยังอยู่ อย่าไว้ใจสภาพอากาศปี 54




จากอุบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นฝนตกผิดฤดู หิมะตกหนัก อากาศร้อนจัด ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

ไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบตลอดปี 2553 จากปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล นักวิชาการหลายสำนักมองว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติภัยทางธรรมชาติมาจาก "การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"

อย่างไรก็ตาม ตัวการที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพภูมิอากาศ ถึงมุมมองและความเห็นในเชิงวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยตลอด ปี 2553 ที่ผ่านมา พร้อมกับประเมินสภาพภูมิอากาศในปี 2554


ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในปี 2553

ตลอดปี 2553 สภาพอากาศมีความแปรปรวนค่อนข้างสูง ตั้งแต่ต้นปีเกิดปรากฏการณ์เอลนิโญ เกิดภาวะภัยแล้งทั่วประเทศ พอช่วงปลายปีเดือนสิงหาคม-ตุลาคมคาดว่าปรากฏการณ์เอลนิโญจะคลี่คลาย แต่กลับเกิดปรากฏการณ์ลานิญาเข้ามาแทนที่ ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่องมากกว่าทุกปี เกิดน้ำท่วมกระจายไปยังจังหวัดต่างๆหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้พื้นที่การเกษตร บ้านเรือนเสียหายประเมินมูลค่าหลายแสนล้านบาท มีผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมจากอุบัติที่เกิดขึ้นกว่า 200 คน

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะโทษปัจจัยภายนอก หรือโทษว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างเดียวคงไม่ใช่ ส่วนหนึ่งมาจากเราไม่ได้ตระหนักและเตรียมการรองรับ ทั้งยังไม่ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เป็นการประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป หรือไม่ได้ประเมินความเสี่ยงเลย เช่นที่โคราชน้ำท่วมหนักเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง เพราะไม่คิดว่าฝนจะตกหนัก เพราะช่วงเวลา 20-30 ปีไม่เคยตกหนักขนาดนี้ ผมคิดว่าประเมินระยะสั้นเกินไป ถ้ามองย้อนหลังไปอีกถึงปี 2520 คิดว่าน่าจะมีปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นบ้าง


สาเหตุหลักที่เกิดภัยธรรมชาติ

ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "การแปรปรวนสภาพอากาศ" เกิดจากการแกว่งตัวของมวลอากาศมาสู่แนวปะทะที่เส้นศูนย์สูตรแกว่งตัวมาเจอกัน ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด ประกอบกับร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่าน มีฝนตกหนัก เกิดปรากฏการณ์ลานิญาในช่วงเดือนกันยายน

เท่ากับปี 2553 เกิดขึ้นทั้ง 2 ปรากฏการณ์ เป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นแต่ก็เคยขึ้นมาแล้วไม่ใช่ไม่เคยเกิด ถ้ารัฐบาลประเมินย้อนหลังไปมากกว่า 30 ปี ก็คิดว่าจะเตรียมรับมือได้ทัน ผมคิดว่าการประเมินความเสี่ยงของการแปรปรวนสภาพอากาศในรอบ 60 ปีเหมาะสมที่สุด 20-30 ปีนั้นสั้นไป ประเมินได้แค่วงรอบเดียวเท่านั้น ข้อมูลย้อนหลังทำได้ไม่ครอบคลุม ถ้าประเมินระยะยาวคงจะดีกว่านี้ ทั้งหมดนี้ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น


ปี 2554 จะเกิดเหตุรุนแรงหรือไม่

นักวิชาการหลายสำนักมองในแง่ดีว่าสภาพอากาศประเทศไทยในปี 2554 จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ร้อน ฝนตก หนาวไม่รุนแรง แต่ผมยังไม่ปักใจเชื่อทั้งหมด เพราะจากการคาดการณ์โมเดลของปี 2553 ก็ผิดทั้งหมด จากที่ต้นปีเกิดภาวะภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิโญ และคิดว่าจะคลี่คลายช่วงปลายปีแต่ผลกลับไม่ใช่ มีฝนตกหนักทั่วประเทศ ดังนั้นสภาพอากาศในปีนี้จึงยังวางใจไม่ได้

เพราะสภาพหนาวช่วงปลายปี คล้ายกับช่วงปลายปี 2552 ประกอบกับปรากฏการณ์ลานิญายังไม่แกว่งตัวกลับ หรือยัง "ไม่คืนตัว" ดูได้จากการที่อุณหภูมิน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางอุณหภูมิน้ำทะเลยังเย็นอยู่ แสดงให้เห็นว่าลมตะวันออกที่พัดมาทางตะวันตกยังแรงอยู่ เพราะฉะนั้นจึงคาดการณ์ว่าฝนยังตกต่อเนื่องจากนี้ไปอีกประมาณ 2-3 เดือน ปริมาณฝนก็ยังมีมากพอสมควร แต่ปรากฏการณ์ของลานิญาจะค่อยๆเบาลงเรื่อยๆ คิดว่าจะคาดการณ์ได้ชัดเจนอีกทีในช่วงเดือนมกราคม


จะเตรียมรับมือได้อย่างไร

ถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่เรียกว่าคาดการณ์แต่เรียกว่าการสมมติ เพราะการคาดการณ์จะใช้หลักวิชาการ หลักฟิสิกส์มาประเมินพิสูจน์ได้ ซึ่งก็อาจจะผิดได้ แต่ไม่ใช่การ สมมติ เพราะการสมมติไม่จำเป็นต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ หรือหลักฟิสิกส์ใดๆมาประกอบการประเมินเลย

ปรากฏการณ์เอลนิโญ ลานิญาอาจไม่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นเพราะความแปรปรวนของสภาพอากาศ 2 คำนี้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงหมายถึงเหตุการณ์จะเกิดถี่ขึ้น 2 หรือ 3 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้ง แต่ถ้าแปรปรวนอาจจะมีระยะเวลานานมากกว่าจะย้อนกลับมาเกิดเหตุการณ์ ดังเช่นในปี 2553 ที่เกิดขึ้นปรากฏการณ์เอลนิโญและลานิญาในปีเดียวกัน ซึ่งอาจจะเป็นเหตุบังเอิญ นานๆเกิดขึ้นที แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ถ้าในปี 2554 เกิดขึ้นอีก ก็น่าจะเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ที่เป็นข้อสังเกตคือ สภาพอากาศในขณะนี้ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ อย่างในฤดูหนาวยังมีฝนตก ซึ่งคนทั่วไปอาจจะเห็นว่าไม่ได้รับผลกระทบและเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ถือเป็นเรื่องใหญ่ ที่ต้องจับตามองจากฤดูฝนไปสู่ฤดูหนาว เกิดการแกว่งตัว ลอยตัวของมวลอากาศมหาสมุทรอาร์กติก ใช้พลังงานมหาศาล ซึ่งเป็นเหตุชี้สัญญาณเบื้องต้นที่จะเกิดความรุนแรงในอนาคต


ความกังวลเกี่ยวกับประเมินความเสี่ยง

ผมเป็นห่วงมากที่หลายฝ่ายเอาเรื่องเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปผสมกับการแปรปรวนของสภาพอากาศ การรับมือจะไม่สอดคล้องกัน น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด ซึ่งทำให้หลงประเด็นหลัก ทุกสิ่งทุกอย่างอ่อนไหวไปกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ตัวชี้นำตัวหลักที่จะมากระทบยังมาไม่ถึง

ขนาดเรื่องของแปรปรวนเรายังรับมือไม่อยู่ ไม่มีจุดประเมินที่แท้จริงและนิ่งพอ ก็ฟุ้งซ่านไปเรื่อย ความเสียหายที่ผ่านมาประเทศไทยต้องจำไว้เป็นบทเรียน ปรับมาตรการรับมือให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพราะปัจจุบันการออกมาตรการบางทีก็ใหญ่ บางทีเล็กเกินไป จากประเมินความเสี่ยงคลาดเคลื่อน ซึ่งระยะสั้นในปัจจุบันยังพอมีมาตรการอยู่ ยังใช้ได้ ยังไม่มีความจำเป็นปรับเปลี่ยนอะไรมาก ที่ต้องทำมากกว่าเดิม คือ ต้องประเมินความเสี่ยงรอบการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติให้ยาวนานขึ้น

เพราะความเสี่ยงไม่ใช่แค่ทางกายภาพอย่างเดียว บางพื้นที่น้ำท่วมได้ บางพื้นที่แม้จะท่วมก็แค่ตาตุ่ม ท่วมแค่วันเดียว ก็ไม่ได้เอาปัจจัยมาดูทั้งพื้นที่ เพราะฉะนั้นต้องฉายให้เห็นภาพโดยรวมทั้งหมด นำมาเป็นหลักการในการตัดสินใจ เพื่อทำแผนปฏิบัติการ พยายามพลิกวิกฤตการณ์ต่างๆให้เป็นโอกาส ปรับตัวให้ได้ เมื่อน้ำท่วมก็คิดให้ได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง เป็นต้น อาจจะเป็นโจทย์ยาก แต่ก็ต้องค้นหาคำตอบ เพราะเราไม่สามารถเลือกได้ว่าปรากฏการณ์เอลนิโญ หรือลานิญาจะเกิดเมื่อใด อาจจะเกิดโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว จึงต้องเตรียมรับมือไว้เสมอ




จาก .................. ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 3 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 08-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ตามดูผลกระทบ 'แผ่นดินไหว' ยิ่งใกล้เพื่อนบ้าน...ไทยเสี่ยง?!?



ข่าวการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศนิวซีแลนด์ที่ผ่านมาสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ทำให้เกิดความเศร้าสลดไปทั่วโลก และต่อมาเพียงวันเดียวก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศลาว ซึ่งเรารับรู้ได้ถึงการไหวสะเทือนในหลายจังหวัด ถ้าดูเผินๆจะรู้สึกว่าพิบัติภัยแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นบ่อยและถี่ขึ้นทุกวันทั่วโลก เพราะล่าสุดก็ยังมีการเกิดอยู่อย่างต่อเนื่องที่ภาคเหนือของไทย ถึงแม้จะไม่รุนแรงแต่ก็สร้างความตื่นตระหนกได้ไม่น้อยว่าพิบัติภัยจะรุนแรงขึ้นในบ้านเราเมื่อใด...?!?

ดร.ปริญญา พุทธาภิบาล สาขาธรณีศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ความรู้ว่า ในเชิงสถิติอาจกล่าวได้ว่าแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีจำนวนครั้งที่ค่อนข้างคงที่ใกล้เคียงกันในแต่ละปี โดยแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรง 7-8-9 เกิดขึ้นเฉลี่ยประมาณปีละ 18 ครั้ง 3 ครั้งและน้อยกว่า 1 ครั้งตามลำดับ ส่วนแผ่นดินไหวที่มีขนาดความรุนแรงน้อยกว่านั้นเกิดขึ้นรวมกันทั่วโลกนับล้านครั้งในแต่ละปี

แม้เราจะทราบว่าแผ่นดินไหวรุนแรงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในบริเวณหรือใกล้เคียงรอย ต่อหรือรอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีและบริเวณรอยเลื่อนมีพลังที่เกี่ยวเนื่อง แผ่นดินไหวรุนแรงส่วนน้อยมากที่เกิดลึกเข้าไปในทวีป แต่ทั้งหมดก็สัมพันธ์กับแรงที่เกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ภูมิภาคที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวรุนแรงลำดับต้นๆของโลก ได้แก่ ประเทศที่ตั้งอยู่บริเวณขอบมหาสมุทรแปซิฟิก ที่เรารู้จักกันดีว่าเป็นแนววงแหวนไฟ เช่น ฝั่งตะวันตกของประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู ชิลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฯลฯ ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ เช่น ฟิจิ นิวซีแลนด์ ประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า บังกลาเทศ เนปาล อินเดีย จีน และประเทศในแถบทะเลเมดิเตอเรเนียน เช่น อิหร่าน ตุรกี ฯลฯ

สำหรับประเทศไทยเองเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินซุนด้าที่ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เกาะสุมาตรา ชวา บอร์เนียว และส่วนที่เป็นไหล่ทะเลตื้น ซึ่งแผ่นธรณีส่วนนี้อยู่ภายใต้แรงบีบอัดที่เกิดการเคลื่อนตัวของแผ่นธรณีรอบด้าน จึงทำให้มีความเสถียรสูง ซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ของแผ่นดินซุนด้าค่อนข้างปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ยกเว้นบริเวณขอบๆของแผ่นดินซุนด้าที่มีแรงเฉือนมาก เกิดรอยเลื่อนมีพลังแนวระดับและเกิดแผ่นดินไหวหนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นๆ จึงเห็นได้ชัดว่าในส่วนของประเทศไทยรอยเลื่อนมีพลังและพื้นที่ที่เคยเกิด แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงน้อยถึงปานกลางเกิดหนาแน่นในภาคเหนือ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกและภาคใต้

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีแหล่งน้ำพุร้อนที่พบแล้วกว่า 90 แห่ง ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตกและภาคใต้ แหล่งน้ำพุร้อนทั้งหมดเกิดในบริเวณรอยเลื่อนมีพลังหรือมีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อนมีพลังโดยตรง จากการศึกษาอุณหภูมิของน้ำพุร้อนที่ผิวดินพบว่า อุณหภูมิน้ำพุร้อนในแหล่งภาคเหนือและภาคใต้มีอุณหภูมิประมาณ 80-100 องศาเซลเซียส และ 60-79 องศาเซลเซียสตามลำดับ ส่วนน้ำพุร้อนภาคตะวันตกและภาคกลางมีอุณหภูมิต่ำกว่ามากประมาณ 37-59 องศาเซลเซียส ลักษณะที่ปรากฏนี้สะท้อนให้เห็นว่ารอยเลื่อนมีพลังที่สัมพันธ์กับน้ำพุร้อนในภาคเหนือและภาคใต้มีการขยับตัวบ่อยและรุนแรงมากกว่าส่วนของภาคตะวันตกและภาคกลาง

แต่สำหรับการศึกษาแนวการวางตัวของแหล่งน้ำพุร้อนตามแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์และตำแหน่งความร้อนใต้พิภพ จากข้อมูลของการสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยพบว่า แนวการวางตัวของรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์พาดลงอ่าวไทยผ่านบ้านเขาหลาว อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี โดยส่วนที่อาจต่อเนื่องยาวลงไปในอ่าวไทยมีลักษณะการเหลื่อมเหมือนถูกตัดผ่านด้วยรอยเลื่อนระนองที่วางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้ทำให้รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ถูกทอนพลังลงมามากไม่สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นข้อมูลธรณีฟิสิกส์ไม่แสดงว่ามีแนวรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซ่อนอยู่ใต้ผิวดินแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับชาวเมืองหลวง

การเปรียบเทียบสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณต่างๆของโลกกับประเทศไทย ถือว่าได้ประโยชน์เพื่อนำไปประเมินโอกาสการเกิดแผ่นดินไหวขนาดความรุนแรงต่างๆ แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือสภาพธรณีแปรสัณฐานของพื้นที่โครงสร้างทางธรณีวิทยา สถิติการเกิดแผ่นดินไหวในอดีต ทิศทางความเร็วการเคลื่อนที่ของแผ่นธรณีที่เกี่ยวข้อง โดยทั่วไปพื้นที่ที่มีสภาพธรณีแปรสัณฐานแบบเดียวกันหรือคล้ายกันมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงแบบเดียวกันก็เป็นไปได้มาก เช่น นิวซีแลนด์ แอลเอ ซาน ฟรานซิสโก หมู่เกาะอันดามัน-นิโคบาร์ และบริเวณแนวเลื่อนสะกาย (Sagiang) ในเมียนมาร์ เมื่อกลไกการเกิดแผ่นดินไหวเป็นเช่นนี้ ปัจจุบันแผ่นดินไหวที่ไทยเผชิญอยู่จึงมีขนาดรุนแรงต่ำถึงปานกลาง

อย่างไรก็ตามนอกจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ส่งผลกระทบโดย ตรงแล้วการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศข้างเคียงที่ไหวสะเทือนมีความรุนแรงพอก็ สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้ โดยสถิติการเกิดแผ่นดินไหวทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2455-2547 จำนวน 4,310 ครั้ง และระหว่างปี 2547-2549 จำนวน 5,799 ครั้ง แต่จำนวนครั้งของการเกิดแผ่นดินไหวแถบเกาะสุมาตราระหว่างปี 2547-2549 มีสัดส่วนสูงมากขึ้นภายหลังเกิดแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547

จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากได้แก่ แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงมากกว่า 7 ริคเตอร์ ที่เกิดตามแนวรอยตะเข็บระหว่างแผ่นธรณีอินเดีย-ออสเตรเลียและแผ่นซุนด้าในทะเลอันดามันและแนวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมาร์ที่ต่อเชื่อมกับรอยเลื่อนเกาะสุมาตราบนเกาะสุมาตราและแผ่นดินไหวรุนแรงที่เกิดบริเวณรอยต่อระหว่างเมียนมาร์และจีนและทางตอนใต้ของจีน ส่วนแผ่นดินไหวในประเทศลาวที่เชื่อมต่อกับรอยเลื่อนเดียนฟู และรอยเลื่อนแม่น้ำแดงมีแผ่นดินไหวขนาดปานกลางและเล็กที่อาจรู้สึกได้ในหลายพื้นที่และอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยตามจังหวัดชายแดน เช่น อุตรดิตถ์ น่าน และพื้นที่ข้างเคียงได้บ้าง

ดังนั้นเมื่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้านรอบๆประเทศไทยแม้จะมีขนาดความรุนแรงก็จะไม่ส่งผลกระทบถึงไทยได้ในวงจำกัด จากข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหวที่ได้ติดตามศึกษาในประเทศไทยเองในภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลางมีความเสี่ยงต่อพิบัติภัยแผ่นดินไหวน้อยลงตามลำดับ แต่ในส่วนของกรุงเทพมหานครเองนั้นแม้ว่าจะอยู่ไกลจากพื้นที่ที่มีการเกิดแผ่นดินไหวก็ตาม เนื่องจากสภาพดินเป็นดินอ่อนชั้นหนามากมนที่ราบภาคกลางตอนล่างอาจส่งผลให้เกิดการขยายคลื่นของแผ่นดินไหวเป็น 3 เท่าของการเกิดแผ่นดินไหว ฉะนั้นในการก่อสร้างอาคารหรือบ้านเรือนต่างๆในพื้นที่เสี่ยงภัยจะต้องปฏิบัติตามประกาศกรมโยธาธิการอย่างเคร่งครัดเพื่อ ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 8 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 24-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สภาพอากาศแปรปรวน!!สัญญาณวิกฤติ“สิ่งมีชีวิต”



หลายวันที่ผ่านมาสภาพอากาศบ้านเราเกิดความแปรปรวน มีฝนตกหนัก ทำให้อุณหภูมิลดลงอย่างรวดเร็ว สร้างความเย็นสบายให้ประชาชนทั่วกรุงเทพฯ แต่หนาวจัดสำหรับผู้คนในต่างจังหวัด ซึ่งการที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลานี้หลายคนยังคงตื่นตระหนกว่า สาเหตุเกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ และการระเบิดของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ประเทศญี่ปุ่นหรือเปล่า รวมทั้งจะมีผลกระทบรุนแรงที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราได้หรือไม่ อย่างไร...?!?

ต่อข้อซักถามข้างต้น ต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้บอกเล่าไขความกระจ่างว่า จากการที่สภาพอากาศในประเทศไทยเกิดความแปรปรวน มีฝนตก และมีอากาศเย็นลงนั้น สาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศทางธรรมชาติ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น หรือเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ หรือมีการระเบิดของนิวเคลียร์แต่อย่างใด

โดยสภาพอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้นในระลอกแรกที่ผ่านมามีตัวแปร 2 ตัวที่เกี่ยวข้องกันคือ คลื่นกระแสอากาศทางตะวันตกได้พัดเอาความชื้นจากทะเลอันดามันและเอาความเย็นจากภูเขาหิมาลัยมาสมทบกับมวลอากาศเย็นของประเทศจีนแผ่ตัวลงมาถึงประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิปรับลดลงอย่างรวดเร็วประมาณ 7-8 องศา ส่งผลให้ทั่วทั้งประเทศไทยมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและยังคงมีอากาศหนาวเย็นอีกระลอกหนึ่ง แต่ไม่หนาวเย็นเท่าระลอกแรก เพราะมีตัวการเดียวคือ มวลอากาศเย็นในประเทศจีนแผ่ตัวลงมา ทำให้สภาพอากาศไม่หนาวเท่ากับครั้งแรก ซึ่งการที่มวลอากาศเย็นที่ประเทศจีนเป็นรอบปกติอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันในอ่าวไทยจะมีคลื่นลมแรงอีกครั้งหนึ่งเช่นกัน เรือเล็กควรงดการเดินเรือ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาเคยเกิดสภาพอากาศแบบนี้มาแล้ว แต่ไม่ได้มีทุกปี หลายๆปีจะมีสักครั้งหนึ่ง อาจถือว่าเป็นความผิดปกติในรอบฤดูกาลของอากาศก็ได้ เพราะเป็นการเคลื่อนตัวของสภาพลมฟ้าอากาศโดยมีสภาพแวดล้อมต่างๆเป็นปัจจัยร่วมด้วย

เมื่อสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วฉับพลันเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อ สิ่งมีชีวิตตามมาอย่างแน่นอนไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ ซึ่งหากเตรียมสภาพร่างกายไม่พร้อมอาจเจ็บไข้ได้ป่วยถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุหรือเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยร่างกายอ่อนแอ จึงมีข่าวการเสียชีวิตเพราะอากาศหนาวให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง สำหรับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืชพรรณ ต้นไม้และสัตว์นั้นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดย รศ.สมโภชน์ ศรีโกสามาตร ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความรู้ว่า สภาพอากาศที่หนาวเย็นอย่างฉับพลันเป็นเหตุการณ์ที่ถือว่าไม่ปกติ โดยเกิดจากการที่มวลอากาศหนาวทางเหนือของทวีปเอเชียขยับเข้ามาทางใต้ชนกับมวลอากาศที่ร้อนกว่าทำให้ฝนตกอากาศเย็นลงบวกเข้ากับความเย็นของอากาศจากทางเหนือของทวีปทำให้อากาศหนาวเย็น

สภาพอากาศดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนเริ่มมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากอากาศ เปลี่ยนหรือแม้กระทั่งสัตว์ เช่น กระรอก หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปเริ่มไม่ออกหาอาหารกินถึงแม้ว่าจะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีลักษณะพิเศษคือมีขนอยู่รอบตัวสามารถเก็บกักความร้อน เพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในระดับที่ทำให้อวัยวะและการทำงานของเซลล์ต่างๆ สามารถดำเนินได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ก็ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของอากาศอย่างฉับพลันในระดับหนึ่งซึ่งไม่ถึงกับรุนแรงจนเสียชีวิต

ในขณะที่ทางตอนเหนือของประเทศ ไทยความหนาวเย็นได้มีผลกระทบทำให้นกในธรรมชาติอย่างน้อย 2 ชนิดเสียชีวิต คือ นกนางแอ่นตะโพกแดงและนกนางแอ่นพง ซึ่งความจริงนกทั้ง 2 ชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นนกนางแอ่นเหมือนกันแต่ในทางชีววิทยาถือว่าเป็นนกที่ไม่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน นกทั้งสองชนิดมีลักษณะร่วมกันก็คือ มีขนาดเล็กทำให้พื้นที่ผิวต่อมวลมีค่าสูง สูญเสียความร้อนได้ง่าย ต้องกินอาหารจำนวนมากเพื่อจะรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อบอุ่นทำให้ระบบต่างๆของร่างกายทุกระดับสามารถทำงานได้ ดังนั้นนกทั้ง 2 ชนิดจึงมีปัญหาร่วมกันคือสามารถเสียความร้อนได้เร็ว แต่ถ้าได้หาอาหารซึ่งเป็นแมลงมาเปลี่ยนเป็นความร้อนรักษาร่างกายไว้ได้ก็จะไม่มีปัญหา แต่อากาศเย็นอย่างฉับพลันเช่นนี้ทำให้แมลงตายไปเป็นจำนวนมากซึ่งหมายถึงอาหารของพวกมันก็ลดลงหายไปด้วย การจะจับกินแมลงให้เพียงพอเพื่อมาผ่านขบวนการเผาผลาญในร่างกายจึงมีปัญหามาก จนไม่เพียงพอและกระทบต่อชีวิตของพวกมันในที่สุด

นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงทำให้พวกมันสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้ ยิ่งเป็นสัตว์เลี้ยงด้วยแล้วยิ่งอ่อนแอ และหากยังมีอายุน้อยก็ยิ่งได้รับผลกระทบมาก การแก้ไขนอกจากทำให้พวกมันอบอุ่น เช่น การผิงไฟและให้อาหารก็อาจจะแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตามเมื่อสภาพอากาศกลับสู่สภาพปกติแล้วเราจะเห็นว่าไม่มีการปรากฏ การตายของพืชพรรณและต้นไม้เนื่องจากสรีรวิทยาของต้นไม้ไม่ไวต่อการเปลี่ยน แปลงของภูมิอากาศอย่างเช่นในสัตว์ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต้องยาวนานกว่านี้จึงกระทบต่อการอยู่รอดของพืชได้ และถ้าอากาศเปลี่ยนแปลงนานกว่า เช่น หนาวเย็นยาวนานกว่านี้แน่นอนสัตว์ต่างๆจะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรก ส่วนพืชอาจจะได้รับผลกระทบเนื่องจากเมื่อหนาวมาก ทำให้น้ำน้อยลงจะไม่สามารถอยู่รอดได้ และถ้ามีลมแรงด้วยก็จะพัดพาทำให้ต้นไม้ตายได้

โดยต้นไม้บางชนิดเท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ เช่น ต้นสนชนิดต่างๆ ดังจะเห็นได้จากผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในยุคน้ำแข็งสุดท้ายของโลกเมื่อหมื่นกว่าปีที่ผ่านมาทำให้มีการกระจายของสนสองใบและสนสามใบเข้ามาในประเทศไทยและยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่หลายๆแห่งรวมทั้งในภาคอีสาน เพราะเมื่อแพร่กระจายเข้ามาแล้วในที่สุดก็สามารถปรับตัวอยู่รอดถึงแม้ว่าอากาศจะอบอุ่นและร้อนขึ้นเรื่อยๆก็ตาม ดังนั้นจึงถือว่าโชคดีที่การเปลี่ยนแปลงของอากาศในช่วงที่ผ่านมาเป็นแค่ช่วงสั้นๆ มีผลกระทบต่อสัตว์อยู่บ้าง แต่ไม่ผลกระทบต่อพืชและระบบนิเวศทั่วไป ทำให้มีพืชพรรณดำรงอยู่เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถคาดเดาสภาพการเคลื่อนตัวของมวล ลม ฟ้า อากาศได้ อาจจะต้องประสบกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ทุกเมื่อ แต่หากเรารู้จักติดตามข่าวสารรอบๆตัวและเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก็จะไม่เจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งดูแลพืชพรรณและสัตว์ต่าง ๆ ด้วยเพื่อความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่จะต้องพึ่งพากันต่อไปในอนาคต.


“นอกจากบรรดานกแล้ว กลุ่มสัตว์ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจนถึงตายได้ ก็คือ สัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีขนมากนัก อย่างเช่น วัว เป็นต้น โดยวัวของไทยนอกจากไม่มีขนแล้วยังไม่ค่อยสะสมไขมันใต้ผิวหนังอีกด้วย อากาศที่หนาวลงจะทำให้วัวสูญเสียความร้อนจากร่างกายไปอย่างรวดเร็ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลง ส่งผลกระทบต่อการทำงานของร่างกายจนในที่สุดสามารถตายได้”


ความสัมพันธ์ระหว่างแผ่นดินไหวกับสภาพอากาศเปลี่ยน

สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดิน ไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและเกิดคลื่นยักษ์สึนามิหรือการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์แห่งประเทศไทย อธิบายว่า การเกิดแผ่นดินไหวนั้นเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงใต้พื้นดิน เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ เนื่องจากพลวัตใต้พื้นโลก ส่วนสภาพอากาศเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่อยู่เหนือโลก น้ำในทะเล น้ำแข็งขั้วโลก ความแห้งแล้งอื่นๆ ดังนั้นทั้งสองอย่างจึงไม่มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ซึ่งแผ่นดินไหวสามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดูกาลไม่ว่าจะฤดูร้อน ฤดูหนาว หรือฤดูอื่นๆ ทำนองเดียวกัน สภาพอากาศเองก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเช่นกัน.




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 24 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 31-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


หิมะตกในประเทศเวียดนามกับอากาศหนาวในประเทศไทย ............................... สุพจน์ เอี้ยงกุญชร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้



ช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย (กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม) ตามปกติจะมีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส แต่ช่วงระหว่างวันที่ 15-18 มีนาคม 2554 (ย่างเข้ากลางฤดูร้อนแล้ว) อุณหภูมิอากาศทั้งของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางได้ลดลงต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส

โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส เกือบทุกจังหวัด และหนาวเย็นตลอดทั้งวัน (ยิ่งกว่าฤดูหนาว) เพราะมีเมฆเต็มท้องฟ้าในหลายพื้นที่

ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันได้เกิดหิมะตกทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม สร้างความแปลกประหลาดใจให้กับผู้คนที่ได้รับฟังข่าวสารเป็นอันมาก

อันที่จริงการที่มีหิมะตกในประเทศเวียดนามและพม่านั้นไม่อาจถือเป็นเรื่องแปลกอย่างใด เพราะพื้นที่ตอนเหนือของประเทศทั้งสองสามารถเกิดหิมะตกได้ทุกปีในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัด

แต่ที่แปลกประหลาดเป็นอย่างยิ่งก็คือ หิมะที่ตกในประเทศพม่านั้น ตกหนักกว่าที่เคยตกในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา และหิมะที่ตกในประเทศเวียดนามในช่วงนี้นั้น เป็นเรื่องประหลาดที่มาตกในช่วงฤดูร้อน (เช่นเดียวกับเมื่อครั้งหิมะตกที่ประเทศออสเตรเลีย) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรเกิดหิมะตกเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับประเทศไทยคงจะไม่เกิดหิมะตกเหมือนประเทศเวียดนามและพม่า แม้ว่าอากาศจะหนาวจัดสักเพียงใด และในประวัติศาสตร์ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีหิมะตกในประเทศไทยมาก่อนเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศหนาวจัดถึง 0 องศาเซลเซียส หรือถึงขั้นติดลบก็ตาม

ที่เคยปรากฏก็เป็นเพียงแค่ลูกเห็บตกจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนเท่านั้น

ทั้งนี้ เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนไหนของประเทศไทยที่มีเงื่อนไขเพียงพอที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้

สำหรับเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เกิดหิมะตกได้นั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ ประการแรก ต้องมีเมฆผลึกน้ำแข็ง (Ice-crystal cloud) ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของผลึกหิมะ ประการที่สอง เมฆนั้นต้องอยู่ต่ำใกล้ชิดกับพื้นดินในระยะห่างไม่เกิน 300 เมตร (โดยประมาณ) และประการที่สาม อุณหภูมิอากาศเหนือพื้นดินต้องต่ำเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส หรือติดลบ ซึ่งพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศทั้งสองอยู่ที่ละติจูด (Latitude) ค่อนข้างสูง (ประมาณ 20-30ํN) จึงมีอากาศหนาวเย็นเป็นปกติและมีอุณหภูมิเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงจึงมีพื้นดินอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผนึกน้ำแข็งมากขึ้น

พื้นที่ส่วนนี้จึงมีโอกาสที่จะมีหิมะตกได้ตามเงื่อนไขดังกล่าวเสมอ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น โอกาสที่จะได้เห็นหิมะตกแทบจะไม่มีเลย เพราะประเทศไทยมีที่ตั้งอยู่ที่ละติจูดต่ำกว่า 20ํN อุณหภูมิอากาศตามปกติแทบไม่เคยเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส แม้ในช่วงฤดูหนาว อีกทั้งเมฆที่เห็นลอยอยู่บนท้องฟ้าก็ล้วนเป็นเมฆละอองน้ำ (Water-droplet cloud) ซึ่งไม่ใช่เมฆที่ให้กำเนิดหิมะ

พื้นที่ที่พอจะมีความเป็นไปได้ที่หิมะจะตกบ้าง (ซึ่งก็มีโอกาสน้อยมากๆ จนอาจจะกล่าวได้ว่า ไม่มีโอกาสเลย) ก็คงเป็นพื้นที่บนยอดเขาสูงใน จ.เชียงใหม่ อันได้แก่ ดอยอินทนนท์และดอยอ่างขาง เท่านั้น เพราะอุณหภูมิของอากาศที่นั่นเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ได้บ่อยครั้งในช่วงฤดูหนาว และพื้นที่เหล่านั้นอยู่ใกล้เมฆชั้นสูงที่เป็นเมฆผลึกน้ำแข็งมากกว่าพื้นที่ราบด้วย

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เคยปรากฏว่าจะมีหิมะตกในพื้นที่ดังกล่าวเลย แม้ในช่วงฤดูหนาวที่มีอุณหภูมิอากาศเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียส ก็ตาม อย่างเก่งก็เกิดแค่น้ำค้างแข็ง (Frost) ให้ได้ตื่นเต้นกันบ้างเท่านั้น

ทุกวันนี้สภาพอากาศมีความผันแปรมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ นักวิชาการและนักอุตุนิยมวิทยาต่างก็พยายามค้นหาคำตอบกันอยู่ แต่ก็ยังไม่มีคำตอบใดที่จะพิสูจน์ได้อย่างสมบูรณ์

ดังนั้น การคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าเป็นระยะเวลานานๆ จึงต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวังอย่างสูงในเรื่องความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้น เช่นเดียวกับผู้คนทั่วไปที่ติดตามสภาพอากาศที่จะต้องทำความเข้าใจสถานการณ์อย่างถูกต้อง

ความเห็นใดๆ ที่ขาดหลักการหรือขาดข้อมูลที่ชัดเจนย่อมเชื่อถือไม่ได้

แต่ดูเหมือนคนไทยมักจะตื่นเต้นและให้ความสนใจกันแต่เรื่องที่หวือหวาสุดโต่ง เช่น น้ำจะท่วมถึงนครสวรรค์ สึนามิจะเข้าอ่าวไทย และหิมะจะตกที่กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยไม่ได้สนใจถึงข้อมูลและหลักการที่เป็นจริง ทำให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกินเหตุ เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ทีแรกก็ตื่นไปกับความเห็นของนักวิชาการบางรายที่คาดว่าสึนามิจะมาถึงชายฝั่งอ่าวไทยตอนตีสี่ตีห้า ต่อมาก็เกรงจะได้รับกัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งๆที่ยังไม่มีคำเตือนใดๆจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงแต่ประการใด

ถึงตรงนี้จึงหวังว่า บทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านผู้ที่รอคอยให้หิมะตกในประเทศไทยหันมาไตร่ตรองและตรวจสอบความเห็นของนักวิชาการบางราย รวมทั้งข้อมูลข่าวสารจาก E-mail และข้อความสั้นจาก SMS ว่า มีอะไรที่ควรเชื่อและอะไรที่ไม่ควรเชื่อ มีอะไรที่เป็นไปได้บ้างและอะไรที่เป็นไปไม่ได้เลย



จาก ...................... มติชน วันที่ 30 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 01-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เตรียมพร้อมรับมือคลื่นสึนามิในประเทศไทย



ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ที่ระดับ 9.0 ริกเตอร์ ส่งผลทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ความสูงกว่า 10 เมตร พัดถล่มชายฝั่งตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น และส่งผลให้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นระเบิดตามมา ส่งผลให้มีระดับรังสีเพิ่มขึ้นผิดปกติ และมีสารไอโอดีน131 และสารซีเซี่ยม 137 แพร่กระจายออกมา รวมทั้งความสูญเสียที่ประเทศไทยได้รับจากคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 เป็นบทเรียนว่า ภัยจากสึนามิโดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชีวิต เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันหรือลดลงได้ หากมีการเตรียมพร้อม มีความรู้เกี่ยวกับคลื่นสึนามิและวิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิเหตุฉุกเฉิน ซึ่งจะสามารถลดความสูญเสียได้

สำนักงานบริการด้านภูมิอากาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ( Nation Weather Service) ได้ริเริ่มโครงการ “เตรียมพร้อมรับคลื่นสึนามิ ” ขึ้นมาเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลกลาง มลรัฐและหน่วยงานอำนวยการด้านอุบัติภัยท้องถิ่น รวมไปถึงสาธารณชน เพื่อทำงานร่วมกับระบบการเตือนภัยจากสึนามิ โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการ คือการเพิ่มความปลอดภัยของสาธารณชนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินจากคลื่นสึนามิ โดยโครงการดังกล่าวจัดทำขึ้นตามรูปแบบของการ เตรียมพร้อมรับพายุ ( StormReady ) ที่มีมาก่อน

สำหรับชุมชนในสหรัฐอเมริกาที่เตรียมพร้อมรับมือกับสึนามิจะต้องทำอะไรบ้าง

1. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยามฉุกเฉิน
2. สามารถส่งสัญญาณเตือนภัยถึงคนในชุมชนได้
3. ทำแผนรับมือกับภัยสึนามิ
4. จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักให้แก่ชุมชน
5. พร้อมรับสัญญาณเตือนจากศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ หรือใน ระดับภูมิภาค


สำหรับประเทศไทย การเตรียมการล่วงหน้าในด้านการออกแบบอาคาร สถานที่ การจัดทางเดิน การกำหนดบริเวณอันตรายและบริเวณปลอดภัย ทางขึ้นสู่ที่ปลอดภัย และการประกาศแจ้งเตือนต่อชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในราคาที่ไม่สูงมากนัก รวมทั้งเมื่อมีความพร้อมและสร้างความมั่นใจด้วยความไม่ประมาท จะทำให้พื้นที่ของประเทศไทยที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย กลับมาเป็นเมืองน่าอยู่กว่าเดิม

ในส่วนของภาครัฐมีหน้าที่ดังนี้

1. ประสานงานระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือในการจัดทำระบบเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่คลื่นสึนามิจะมาถึง
2. กำหนดช่องทางการสื่อสารเพื่อการแจ้งเตือนแก่ชุมชนในเขตที่มีความเสี่ยง
3. วางแผนเพื่อกำหนดพื้นที่ที่อันตรายและพื้นที่ปลอดภัยในบริเวณชายฝั่ง ( โอยอิงข้อมูลจากระบบแผนที่ที่แสดงระดับความสูงของพื้นดิน) ประกาศเขตที่เสี่ยงภัย วางโครงสร้างพื้นฐานในการอพยพคน หาที่ปลอดภัยหรือกำหนดให้สถานที่บางแห่งทำหน้าที่เป็นที่หลบภัย
4. สร้างระบบการประสานงานระหว่างบุคลากรจากฝ่ายต่างๆในการทำงานร่วมกันเมื่อเกิดภัย ฝึกคนให้รู้จักระบบการเตือนภัยและหนีภัย ประสานกับสถาบันวิจัย สถานศึกษาและชุมชน เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการเตือนภัยที่เหมาะสม ได้ผล เข้ากับท้องถิ่นและประหยัด
5.ให้ความรู้แก่ประชาชน ข้าราชการและเยาวชน เกี่ยวกับความปลอดภัยจากอุบัติเหตุต่างๆ ในโรงเรียนและด้วยสื่อที่เหมาะสม


สำหรับหน้าที่ของชุมชนและผู้นำชุมชน

1. จัดกิจกรรมที่สร้างความตระหนักเรื่องภัยธรรมชาติ
2. จัดตั้งคณะกรรมการด้านอุบัติภัยของชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานต่างๆและจัดผู้รับผิดชอบ
3. หลีกเลี่ยงการสร้างอาคารที่ไม่ปลอดภัยและเสริมสร้างสิ่งที่ช่วยในการลดภัยจากคลื่นสึนามิ เช่น แนวของพืชยืนต้น การพัฒนาป่าชายเลนให้มีแนวป้องกันธรรมชาติเพิ่มขึ้น
4. จัดทำทางเดินขึ้นสู่ที่สูงและคัดเลือกสถานที่ ซึ่งจัดให้เป็นที่ปลอดภัยจากสึนามิ ทั้งนี้อาจใช้ข้อมูลด้านความสูงจากระบบแผนที่ของทางการ พร้อมติดป้ายแสดงเส้นทาง
5. จัดรูปแบบอาคารและถนน เพื่อลดโอกาสความเสียหายจากสึนามิ
6. จัดทำระบบแจ้งเตือนแก่ชุมชนด้วยระบบเสียงและสื่อที่เหมาะสม เช่น ไซเรน กลอง หอกระจายข่าว วิทยุ โทรทัศน์ SMS
7. จัดบุคลากรให้มีความรับผิดชอบในการรับฟังข่าวสารจากส่วนกลางที่มีข้อมูลแจ้งภัยสึนามิ
8. จัดการฝึกซ้อมการแจ้งเตือนภัย รวมทั้งการอพยพอย่างเป็นระเบียบและปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ


ควรทำอย่างไรเมื่อเกิดคลื่นสึนามิ

1. หากอยู่ที่บ้านหรือสถานที่ต่างๆ และได้ยินประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิ ต้องแจ้งให้สมาชิกในครอบครัวทุกคนทราบ และถ้าอยู่ในเขตที่ต้องอพยพเมื่อเกิดสึนามิ ควรอพยพทันที โดยเคลื่อนย้ายด้วยความสงบ สุขุมและไม่เสี่ยงอันตรายไปยังสถานที่ปลอดภัย
2. หากอยู่ที่ชายหาด ใกล้มหาสมุทร ใกล้แม่น้ำหรือลำธารที่ไหลลงมหาสมุทรและรู้สึกว่าแผ่นดินสั่นสะเทือนให้รีบย้ายไปยังพื้นที่ที่สูงกว่าทันทีและหลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ต่ำใกล้ชายฝั่ง โดยไม่ต้องรอเสียงประกาศเตือนภัย เพราะคลื่นสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ สามารถเข้าถล่มบางพื้นที่ได้ก่อนที่จะมีการประกาศเตือน
3. หากอยู่ในเรือ อย่านำเรือกลับเข้าฝั่ง คลื่นสึนามิสามารถทำให้ระดับน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดกระแสน้ำแปรปรวนมากและเป็นอันตรายในบริเวณชายฝั่งและท่าเรือ
4. ท่าเรือขนาดใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ภายใต้อำนาจการควบคุมดูแลของหน่วยงานการท่าเรือ และ/หรือระบบควบคุมการจราจรทางน้ำ หน่วยงานดังกล่าวจะควบคุมและดำเนินการต่างๆเพื่อเพิ่มความพร้อมในการรับสถานการณ์ ซึ่งหากมีการเคลื่อนย้ายเรือ ควรจะติดต่อกับหน่วยงานที่มีอำนาจ

แม้ว่าคลื่นสึนามิจะมีอันตรายอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกกังวลจากภัยพิบัติธรรมชาติจนเกินไป แต่หากรู้สึกว่าเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่ยืนอยู่หรือได้ยินเสียงประกาศเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ ก็ขอให้รีบบอกต่อญาติและเพื่อนๆในบริเวณนั้นให้ทราบและรีบอพยพไปยังบริเวณที่สูงโดยเร็ว




จาก ..................... สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 31 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 04-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


บทเรียนความพร้อมรับมือภัยพิบัติ



19 23 21 27 29….. ไม่ได้มาใบ้หวย แต่ตัวเลขทั้งหมดเป็นตัวเลขของอุณหภูมิที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนกลายเป็นเรื่องที่สร้างความฮือฮาให้กับเมืองไทยอยู่มิใช่น้อย กับสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างผิดปกติมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมี.ค.54 ที่ผ่านมา วันหนึ่งมีถึงสามฤดู เช้ามืดมีฝนตกโปรยปราย สายหน่อยลมหนาวพัดโชย ช่วงบ่ายอากาศร้อนแดดแรงขึ้นมา ทำให้คนที่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อกันเลยทีเดียว ทั้งที่ประเทศไทยเราน่าจะเริ่มขยับเข้าสู่ฤดูร้อน เพราะใกล้เดือนเมษายนเต็มทน

สภาพอากาศจู่ๆ อุณหภูมิลดลงแบบเหลือเชื่อจนหลายจังหวัดเกิดอากาศหนาว เท่านั้นไม่พอยังเกิดพายุฝนกระหน่ำตกอย่างหนัก ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ฝนถล่มช่วงเช้ามืดจนทำให้หลายพื้นที่มีน้ำขังเจิ่งนอง ส่งผลกระทบการจราจรกลายเป็นอัมพาตเกือบทั้งวัน หลังฝนซาจากเมืองกรุง

แต่ทางภาคใต้ กลับกลายไปเกิดพายุฝนตกหนัก ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ทำให้หลายพื้นที่ในจังหวัดภาคใต้มีน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และนราธิวาส ฯลฯ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานเนื่องมาจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีน แพร่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนส่งผลให้ลมตะวันออกพัดปกคุมอ่าวไทยและภาคใต้กำลังแรง

อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.เป็นต้นมา หลายจังหวัดทางใต้ยังมีตกอย่างลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 4 จังหวัด ที่ต้องกลายเป็นเมืองบาดาลและอีกหลายจังหวัดมีดินถล่ม ทำให้หลายพื้นที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไล่ตั้งแต่ จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช สุราษฏร์ธานี และชุมพร

แทบไม่มีใครคาดคิดว่า เดือนเมษายน !! บ่งบอกถึงฤดูร้อนเริ่มต้นได้เพียงไม่กี่วัน แต่บางจังหวัดในภาคใต้กลับมีฝนตกแบบไม่ลืมหูลืมตา จนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน อย่างที่ จ.นครศรีธรรมราช น้ำป่าทะลักเข้าท่วมเมือง และท่าอากาศยานครศรีธรรมราช รวมไปถึงเส้นทางรถไฟบางช่วงต้องหยุดไปโดยปริยาย แถมยังมีเรื่องหวาดเสียวให้น่าตื่นเต้นเข้าอีก เพราะจระเข้ตัวเขื่องหลุดออกมาเพ่นพ่าน เส้นทางการจราจรหลายแห่งถูกตัดขาดแบบสิ้นเชิง

จากเดิมที่หลายคนเคยคาดการณ์ไว้ว่าเดือนเมษายนนี้จะลาพักร้อน เพื่อไปพักผ่อนกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามพื้นที่ท่องเที่ยว หมู่เกาะและชายหาดต่างๆ กลับต้องมาจมปลักอยู่ในห้องพักของโรงแรมด้วยสภาพฝนตกอย่างหนัก ไปท่องเที่ยวที่ไหนไม่ได้ หรือแย่ไปกว่านั้นต้องมาติดค้างที่เกาะต่างๆ เพราะคลื่นลมแรงเรือเล็กไม่สามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ยอดนิยมอย่างเกาะสมุย เกาะเต่า จังหวัดสุราษฏร์ธานี หรือแม้กระทั่งเขยิบขึ้นมาทางตอนบนอย่างจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่อำเภอหัวหินก็ตาม นอกจากนั้นหลายคนยังวิตกกังวลว่า “สงกรานต์” ปีนี้ถ้าสภาพอากาศยังแปรปรวนขนาดนี้ จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางกลับบ้านอย่างแน่นอน

กรมอุตุนิยมวิทยารายงาน“สภาวะน้ำท่วมในภาคใต้” ระบุสาเหตุจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงยังคงปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนกลาง ทำให้มีฝนตกชุกหนาแน่นและหนักมากในหลายพื้นที่ จึงให้ระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก หลังจากนั้นปริมาณฝนตกหนักจะลดลง ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยและทะเลอันดามันสูง 2-3 เมตร ขอให้ชาวเรือ เพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงนี้ไว้ด้วย

ในขณะที่ทางภาคใต้กำลังเกิดปัญหาอุทกภัยหนัก และก็เป็นเรื่องที่แปลกประหลาดอีกเช่นกัน ช่วงเช้าวันที่ 29 มี.ค. อากาศในเมืองกรุงและอีกหลายพื้นที่ได้เย็นลงราวกับฤดูหนาว เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากทางกรมอุตุนิยมวิทยา ยังระบุอีกว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานคร และ ภาคตะวันออก มีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป อุณหภูมิจะลดลงอีก และมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 13-14 องศา อุณหภูมิสูงสุด 22-25 องศา เรียกว่าสภาพร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่บางคนที่ปรับตัวไม่ทันมีอาการเป็นไข้ไอจามกันจำนวนมาก

คุณเคยคิดหรือไม่ว่ากรุงเทพจะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าจังหวัดเชียงใหม่ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนถึงกับอึ้งเมื่ออุณหภูมิที่กรุงเทพลดต่ำลงถึงขนาด 21 องศาเซลเซียสและเมื่อเดินทางขึ้นเครื่องบินเพื่อไปลงยังเชียงใหม่ เพียงแค่ลงสู่สนามบินอากาศร้อนจากภายนอกทำให้เรารู้สึกได้ทันทีว่าอุณหภูมิที่เชียงใหม่สูงกว่ากรุงเทพแน่นอน ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมาก น้อยมากที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

หากนำบทเรียนเหตุการณ์ในช่วงที่เกิดในเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่ 11 มี.ค. เหตุแผ่นดินไหวนิวซีแลนด์ จีน ญี่ปุ่น พม่า และอากาศแปรปรวน ฝนตก น้ำท่วมในภาคใต้มาเป็นบทเรียน ทุกหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบในเรื่องนี้ ถึงเวลาหรือยังกับความเตรียมพร้อมรับมือในเรื่องภัยพิบัติต่างๆ หรือจะต้องรอให้ธรรมชาติเป็นฝ่ายเริ่มต้นลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งก่อน เราทั้งหลายถึงค่อยยื่นมือช่วย ทำตั้งแต่วันนี้เถอะ ถ้าไม่อยากที่จะสูญเสียไปมากกว่านี้ในวันข้างหน้า

ในเรื่องราวของภัยพิบัติธรรมชาติ ที่เปรียบสมือนเป็นการส่งสัญญานเตือนล่วงหน้าให้บรรดามวลมนุษยชาติได้รับรู้กันแล้ว ว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ??.




จาก .................. เดลินิวส์ วันที่ 4 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #27  
เก่า 04-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เรียนรู้จากภัยพิบัติ


ผู้บริหารของกรมอุตุนิยมวิทยามีความเห็นต่อสภาพอากาศที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติร้ายแรงหลายจังหวัดภาคใต้ว่า เป็นความผิดปกติของฤดูกาล กล่าวคือความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนที่แผ่มาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอ่าวไทย ทำให้หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมภาคใต้ฝั่งตะวันออกและอ่าวไทยมีกำลังแรง มีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยฝนที่ตกในช่วง 28-30 มีนาคม มีปริมาณมากถึง 1,000 มม.เศษ อันเป็นระดับที่เกินขีดความสามารถของระบบระบายน้ำและแหล่งน้ำที่มีจะรองรับไหว พื้นแผ่นดินที่จะรองรับน้ำก็ลดลง เพราะถูกใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ พื้นที่ป่าโดนแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ขาดต้นไม้ใหญ่รากลึกที่จะช่วยซับน้ำและตรึงผืนดินไว้ จึงเกิดการถล่มทลายของหน้าดินหลายพื้นที่

ความผิดปกติที่เกิดขึ้น คงโทษสิ่งใดไม่ได้ นอกจากทบทวนและยอมรับว่า ความรู้ทางด้านอากาศของเรายังไม่พอ ประสบการณ์ต่อภัยธรรมชาติจากความผิดปกติที่นานครั้งจะเกิดยังน้อยจนขาดความตื่นตัว หรือคิดเอาเองว่าจะไม่เกิด ผลที่ตามมาก็คือเครื่องมือและการเตรียมการไม่พร้อม นับแต่เรือท้องแบนเพื่อสำรวจ นำความช่วยเหลือไปสู่แหล่งประสบภัยไม่พอ หน่วยบรรเทาสาธารณภัยพลเรือนมีขีดความสามารถไม่ถึง ต้องพึ่งพากำลังและยุทโธปกรณ์จากกองทัพ ตั้งแต่การนำเรือรบฝ่าคลื่นลมรับนักท่องเที่ยวที่ติดเกาะ การนำเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงพลมาอพยพราษฎรหนีน้ำป่า จึงควรพิจารณาด้วยว่าหากกองทัพถูกตัดงบประมาณและไม่สามารถช่วยเหลือได้ ราษฎรผู้ประสบภัยจะเป็นอย่างไร

สิ่งที่รัฐควรดำเนินการเร่งด่วน ควบคู่กับการบรรเทาภัยและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย ก็คือมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยเฝ้าระวัง เตือนภัยธรรมชาติ ศึกษาและประมวลข้อมูลทางวิชาการเพื่อสรุปสาเหตุ เสนอแนวทางการป้องกันในระยะต้นเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ และวางแผน จัดเตรียมอุปกรณ์ พร้อมกับฝึกซ้อมการหนีภัยให้ทั่วถึง พร้อมกันนั้นก็จัดสรรงบประมาณให้สถาบันการศึกษาทำวิจัยเพื่อรับมือหรือแก้ไขในระยะยาว

ที่จะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ความเสียหายและภัยร้ายแรงที่เกิดขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการขาดความจริงจังในการรักษาทรัพยากรป่า การละเลยต่อการขยายพื้นที่สวนยางพาราและสวนปาล์ม การยินยอมให้ขยายชุมชนรุกเข้าไปในพื้นที่ลาดเชิงเขา จนผืนแผ่นดินขาดคุณสมบัติในการรักษาสภาพหน้าดินจนถล่มทลายทำความเสียหาย การใช้มาตรการกำหนดพื้นที่ทางเกษตรกรรมมิให้ไปบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อรักษาธรรมชาติจึงต้องเคร่งครัด ทั้งนี้ ต้องดำเนินการก่อนที่ฤดูฝนจะมาถึง เพราะพื้นที่เสี่ยงภัยคล้ายภาคใต้ได้ขยายตัวไปสู่ภาคอื่นๆแล้ว.




จาก .................. เดลินิวส์ วันที่ 4 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #28  
เก่า 05-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รอยเลื่อนนครนายก


เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ ในเขตโทโฮกุ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะฮอนชู ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิโถมซัดเกาะญี่ปุ่น มียอดผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 28,000 ราย

เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เสียหาย สารกัมมันตรังสีชนิดพลูโทเนียมรั่วไหล กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง รวมทั้งประเทศในทวีปยุโรป และอเมริกา

ถ้าลมเปลี่ยนทิศมาทางตะวันตกเฉียงใต้ ก็อาจถึงประเทศไทยได้เช่นกัน!!

ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เกิดเหตุแผ่นดินไหวรอยเลื่อนน้ำมา ขนาด 6.7 ริกเตอร์ ระดับความลึก 10 ก.ม. ห่างจากเมืองเกงตุง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า

เป็นรอยเลื่อนเดียวกันกับรอยเลื่อนน้ำมาในประเทศลาว ซึ่งเคยเขยื้อนจนเกิดแผ่นดินไหวมาแล้วในปี 2550 หนังสือพิมพ์นิวไลต์ ออฟ เมียนมาร์ ยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิต 75 ราย บาดเจ็บ 125 ราย

ทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลต่อประเทศไทยเหมือนกัน คือ บ้านเรือน โบราณสถาน ถนน เสียหาย มีผู้เสียชีวิต

ทั้งหมดที่ยกมา เกิดจากรอยแตกในเปลือกโลก หรือรอยเลื่อน (faults) ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการเกิดแผ่นดินไหว

มีอานุภาพรุนแรงจนมวลมนุษย์ไม่อาจคาดเดาความเสียหายที่ตามมาได้

ยังไม่ทันเบาใจ ประเด็นรอยเลื่อนก็สร้างความหวาดหวั่นให้คนไทยอีกครั้ง และครั้งนี้ดูเหมือนภาคกลางโดยเฉพาะเมืองกรุงที่ตั้งอยู่บนชั้นดินอ่อน จะน่าวิตกกว่าภาคใดๆในประเทศ

เมื่อมีรายงานจาก นายปัญญา จารุศิริ หัวหน้าภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เปิดเผยหลังดูภาพถ่ายจากดาวเทียมว่า พบรอยเลื่อนใหม่ อยู่ไม่ห่างจากกรุงเทพฯ นั่นก็คือ รอยเลื่อนนครนายก

เป็นรอยเลื่อนที่พาดผ่าน จ.นครนายก ลงมากรุงเทพฯ ไปสุดที่จ.สมุทรปราการ มีความสัมพันธ์กับรอยเลื่อน แม่ปิง ที่พาดผ่าน จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร ในแนว ทิศตะวันตกเฉียงเหนือถึงตะวันออกเฉียงใต้ ยาว 50-100 ก.ม.

พร้อมระบุ ถ้าเกิดแผ่นดินไหวที่รอยเลื่อนนี้ จะกระทบภาคกลางทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี อุทัยธานี และลพบุรี เตรียมนำข้อมูลเสนอ ทส. เพื่อสำรวจและเพิ่มแนวรอยเลื่อนที่มีพลังของประเทศไทยจาก 13 จุด เป็น 14 จุด

กระทั่งล่าสุด นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผอ.สำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อมและธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากร ธรณี ทส. ต้องออกมายืนยันว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนเพียง 13 จุดเท่านั้น

ซึ่งรอยเลื่อนเหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดแผ่นดินไหวไม่เกิน 6.9 ริกเตอร์

ส่วนรอยเลื่อนนครนายก และรอยเลื่อนองครักษ์ หลังจากติดตามมา 3 ปี มั่นใจว่า รอยเลื่อนองครักษ์เป็นรอยเลื่อนที่ไม่มีพลัง ขณะที่รอยเลื่อนนครนายก มีความมั่นใจ 75 เปอร์เซ็นต์ ว่าเป็นรอยเลื่อนไม่มีพลัง

เนื่องจากไม่มีลักษณะเหมือนรอยเลื่อนที่มีพลัง เช่น ลักษณะแม่น้ำที่บิดเบี้ยว มีบ่อน้ำพุร้อนอยู่ใกล้รอยแตกร้าว

แต่ก็ต้องจับตาต่อไป


สำหรับรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย 13 กลุ่ม ประกอบด้วย

1.รอยเลื่อนแม่จันและแม่อิง
2.รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน
3.รอยเลื่อนเมย
4.รอยเลื่อนแม่ทา
5.รอยเลื่อนเถิน
6.รอยเลื่อนพะเยา
7.รอยเลื่อนปัว
8.รอยเลื่อนอุตรดิตถ์
9.รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์
10.รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์
11.รอยเลื่อนท่าแขก
12.รอยเลื่อนระนอง
13.รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย




จาก .................. ข่าวสด คอลัมน์ที่ 13 วันที่ 5 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #29  
เก่า 06-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ความจริงจากภัยพิบัติ ..... คนไทยทำกันเอง



จาก .................. ไทยรัฐ วันที่ 6 เมษายน 2544
รูป
  
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #30  
เก่า 06-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


วิกฤติกัมมันตภาพรังสีกับการเตรียมรับมือของไทย ........................ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัช ชิตตระการ


จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล อีกทั้งส่งผลกระทบให้เตาปฏิกรณ์ ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดทำให้สารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลและแพร่กระจายไปหลายพื้นที่นั้น ขอแยกแยะสถานการณ์ของสารกัมมันตภาพรังสีที่หลายคนกำลังวิตกกังวลอยู่ออกเป็น 6 ประเด็น ดังนี้


ประเด็นที่ 1 สารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีคืออะไร

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าสารกัมมันตรังสีและกัมมันตภาพรังสีที่รั่วออกมาจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นมีอะไรบ้าง ซึ่งกรณีนี้พบว่ากว่าที่จะได้พลังงานนิวเคลียร์ออกมานั้น เชื้อเพลิงนิวเคลียร์ (U-235) จะต้องจับเอาอนุภาคนิวตรอนเข้าไปรวมกับนิวเคลียสของ U-235 กลายไปเป็น U-236 ซึ่งในภาวการณ์ขณะนั้น U-236 ไม่เสถียรเอามากๆ ก็จะแตกตัวออกมาเป็นสองเสี่ยงใหญ่ๆ (เราเรียกว่าผลผลิตฟิสชัน) พร้อมกับปลดปล่อยพลังงานจลน์ออกมาประมาณ 200 MeV ต่อฟิสชัน พลังงานจลน์ส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อนที่นำเอาไปต้มน้ำ ให้เดือดกลายไปเป็นไอ แล้วไปหมุนกังหันในเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาให้เราได้ใช้กัน

นอกเหนือจากผลผลิตฟิสชันและพลังงานจลน์ที่ปลดปล่อยออกมาแล้ว ในแต่ละการแตกตัวยังได้อนุภาคนิวตรอนใหม่ออกมาเฉลี่ยประมาณ 2-3 ตัว อนุภาคแอลฟา อนุภาคบีตา และอนุภาคแกมมาที่ถูกปลดปล่อยพร้อมๆ กับการเกิดฟิสชันแล้ว พวกผลผลิตฟิสชันที่พวกเราคุ้นหู เช่น I-131, Cs-137, Co-60 และไอโซโทปรังสีอีกมากมายก็จะถูกปลดปล่อยออกมาด้วย ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีครึ่งชีวิตอายุตั้งแต่ไมโครวินาทีไปจนถึงหลายพันล้านปี โดยไอโซโทปรังสีที่เกิดมาหลังจากการเกิดฟิสชันนั้น ตามปกติแล้วจะยังคงปะปนอยู่ภายในแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งสามารถนำมาแยกเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ อุตสาหกรรม และการเกษตรได้อย่างดี และส่วนใหญ่ยังสามารถแยกเอา U-235 ไปใช้ประโยชน์ด้วยการไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงแท่งใหม่ได้อีก


ประเด็นที่ 2 ความสามารถในการแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศเป็นไปในลักษณะใด/ไกลเท่าไร

การแพร่กระจายในชั้นบรรยากาศนั้นขึ้นอยู่กับว่าแรงระเบิดของเตาปฏิกรณ์จะ รุนแรงมากเพียงใด ถ้ารุนแรงมากก็อาจจะส่งให้ไอน้ำและสารกัมมันตรังสีที่ปะปนออกมาขึ้นไปในชั้นบรรยากาศสูงได้ หลังจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับทิศทางและกระแสแรงลมที่จะพัดพามวลของฝุ่นกัมมันตรังสีเหล่านี้ไป ซึ่งจากแบบจำลองเบื้องต้นนั้นมีโอกาสที่จะพัดข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังฝั่งตะวันตกของรัฐแคลิฟอร์เนียของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ แต่ถ้าระยะยาวอาจจะแพร่ไปทั่วโลกได้


ประเด็นที่ 3 อันตรายจากสารกัมมันตรังสี แบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ

1. ถ้าร่างกายรับเอาสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย จะอันตรายมาก เพราะรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากสารกัมมันตรังสีที่ถูกปลดปล่อยออกมา จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อที่สารกัมมันตรังสีเหล่านั้นไปสะสมอยู่เช่น I-131 เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปสะสมอยู่ที่ต่อมไทรอยด์ (Thyroid gland) ซึ่งจะปลดปล่อยรังสีแกมมาออกมา ซึ่งเซลล์ของต่อมไทรอยด์จะถูกทำลายไปตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีสารกัมมันตรังสีบางตัวที่เป็นสารพิษเช่นพลูโทเนียม (Pu) ถ้าร่างกายรับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็อาจจะเสียชีวิตได้

2. ถ้าร่างกายรับรังสีจากภายนอกร่างกาย เนื้อเยื่อในแต่ละบริเวณของร่างกายจะได้รับผลกระทบแตกต่างกัน


ประเด็นที่ 4 ประชาชนทั่วไป (ในไทย) จะสังเกตได้อย่างไรว่าได้รับสารดังกล่าว/เตรียมป้องกันตัวเองอย่างไร

ประชาชนทั่วไป (ในไทย) โดยปกติก็จะได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ทุกวันอยู่แล้ว ก็ขอให้ติดตามข่าวสารจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งมีเครื่องมือวัดปริมาณรังสีในอากาศที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติติดตั้งตรวจสอบแบบ Real time ไว้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจำนวน 8 แห่ง


ประเด็นที่ 5 ถ้ามีความจำเป็นจะต้องไปในพื้นที่ ที่อาจมีการปนเปื้อนจริงๆ จะทำอย่างไร

ถ้ามีความจำเป็นจะต้องไปในพื้นที่ที่อาจมีการปนเปื้อนจริงๆแล้ว ควรจะพก Pocket dosimeter ติดตัวไปด้วย เพราะจะช่วยบอกว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเรารับโดนรังสีเข้าไปในร่างกายมากน้อยเพียงใด ใกล้กับระดับมาตรฐานที่ 50 mSv ต่อปีที่ยอมรับได้หรือยัง และเมื่อกลับมาที่เมืองไทยแล้วควรจะผ่านการวัดปริมาณรังสีทั้งร่างกาย เพื่อการเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ที่ตั้งเครื่องวัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ (Total count dose) และถ้าเราอยู่ในข่ายเสี่ยงที่ได้รับ I-131 เข้าไปในร่างกาย ก็ควรจะพักแยก และไม่ควรพบปะครอบครัวและญาติประมาณ 1-2 อาทิตย์


ประเด็นที่ 6 ความเป็นไปได้ที่อาหารนำเข้าจากญี่ปุ่นจะมีสารปนเปื้อนหรือไม่

เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องเชื่อระบบทั้งของญี่ปุ่นและฝ่ายไทยที่น่าจะมีมาตรฐานสูงพอที่จะตรวจวัดว่าจะมีสารอาหารถูกปนเปื้อนก่อนนำเข้าประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะนมผงเลี้ยงเด็กนั้นสำคัญที่สุด เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กเล็กจะน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก อย่างไรก็ตาม ถ้ามีข้อสงสัยก็น่าจะส่งให้หน่วยวิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์ ภาควิชาฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยหลักๆ ได้ช่วยตรวจสอบ ก็เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้




จาก .................. กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:41


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger