เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 05-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทยเข้าขั้นวิกฤติ



กระทรวงทรัพย์ฯ 4 ก.พ.-สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยเข้าขั้นวิกฤติ และไทยอาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น 50 ซม.ในอีก 40 ปีข้างหน้า จากภาวะโลกร้อน

นายประวิม วุฒิสินธุ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลของไทยในขณะนี้ ว่ามีอัตราการกัดเซาะรุนแรงใน 23 จังหวัด อัตราการกัดเซาะเฉลี่ย 5-20 เมตร/ปี โดยพื้นที่วิกฤติฝั่งอ่าวไทยมี 13 จังหวัด เช่น ระยอง สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และนราธิวาส ส่วนปากแม่น้ำบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม ถูกกัดเซาะรุนแรงที่สุดในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้ว 16,700 ไร่

นอกจากนี้ ชายฝั่งทะเลของไทยยังจะเผชิญวิกฤติจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ตามที่นักวิชาการทั่วโลกทำการศึกษา ซึ่งได้ผลตรงกันว่าในอีก 40 ปีข้างหน้า หรือปี ค.ศ.2050 ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 50 เซนติเมตร โดยไทยมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่กรุงเทพมากเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยเฉพาะพื้นที่ที่อยู่ติดชายทะเลทั้งหมด ขณะนี้ทางการได้เตรียมพร้อมรับมือแล้ว โดยในวันที่ 11 ก.พ.ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ เพื่อร่วมรับทราบสถานการณ์และหาแนวทางแก้ปัญหา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน



จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 05-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน”

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน”

นายประวิม วุฒิสิทธุ์ รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เกี่ยวกับการกัดเซาะชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล เพื่อเป็นเวทีระดมสมองและนำข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศมาใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี มาตรการ และวิธีการที่เหมาะสมใหม่ๆในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะจัดการประชุมเชิงปฎิบัติการ เรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเล และเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ตึก สันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

รักษาการอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่วิกฤติหรือพื้นทีเร่งด่วนของชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีทั้งสิ้น 13 จังหวัด อาทิ จันทบุรี ระยอง สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร รวมระยะทางประมาณ 207.3 กิโลเมตร นอกจากนี้ วิกฤติระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1 เมตร มีเนื้อที่ประมาณ 2.5 ล้านไร่ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 3 ล้านล้านบาท



จาก : สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 12-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ประชุมวิกฤตกัดเซาะชายฝั่งเตรียมรับมือภัยโลกร้อน


กรุงเทพฯ 11 ก.พ. - จากข้อมูลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลพบว่า ในจุดที่รุนแรงชายฝั่งถูกกัดเซาะเฉลี่ยถึง 5 เมตรต่อปี

เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง สู้วิกฤติกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมพร้อมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน โดยยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติ และเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติในปัจจุบันรุนแรงกว่าในอดีตมาก เนื่องจากการพัฒนาชายฝั่งทะเลมีมากขึ้น แต่ขาดการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การใช้ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง 20 ปี ของรัฐบาล ดำเนินการสำเร็จไปแล้วกว่าครึ่ง แต่สิ่งสำคัญคือการบูรณาการให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ และความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ไม่ใช่ต่างคนต่างทำเหมือนในอดีต พร้อมย้ำว่า ขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมทั้งองค์กร ข้อมูล บุคลากรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่เกิดจากภาวะโลกร้อนไว้แล้ว

ด้าน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า ขณะนี้ พื้นที่ชายฝั่งที่มีปัญหาถูกกัดเซาะ มีพื้นที่กว่า 113,000 ไร่ สำหรับพื้นที่รุนแรงถูกกัดเซาะเฉลี่ยถึง 5 เมตรต่อปี ซึ่งวิกฤติใน 13 จังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทย.


จาก : ข่าว อสมท. MCOT News วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 15-02-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทส.ปลุกร่วมมือแก้ปัญหาชายฝั่ง ไทยสูญเสียพื้นที่ไปแล้วแสนไร่

นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 5-30 เมตร และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้พื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ipcc เมื่อปี 2007 พบว่าระดับน้ำทะเลของโลกจะมีอัตราการเพิ่มอยู่ที่ 9 เซนติเมตร - 88 เมตร ในช่วง 100 ปี คือ ในปี 2097 ซึ่งหากระดับน้ำทะเลในประเทศไทยสูงขึ้นอีก 1 เมตร ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีมูลค่าความเสียหายของสินทรัพย์จากผลกระทบดังกล่าวเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท และกรุงเทพมหานครจะเป็นเมืองใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ดังนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อให้เกิดการบูรณาการในการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาวิกฤติที่จะเกิดขึ้น

นายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยหรือราว 600 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งประเทศไทยสูญเสียพื้นที่จากปัญหานี้ไปแล้วกว่า 113,000 ไร่ โดยเฉพาะในช่วง 55 ปีที่ผ่านมานี้มีการกัดเซาะผืนดินไป 16,760 ไร่

"จังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่วิกฤติมี 13 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 207 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 12 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพื้นที่รูปตัว ก มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 - 20 เมตรต่อปี ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และหากระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร จ.พัทลุงจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน" นายประวิมกล่าว



จาก : สำนักข่าว inn วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 01-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ไทยเสียแผ่นดินกว่าแสนไร่


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนานและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรง ซึ่งขณะนี้อัตราการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ที่ระดับ 5-30 เมตร และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และนอกจากปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลแล้ว พื้นที่ชายฝั่งทะเลของไทยยังเป็นพื้นที่เสี่ยงอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่อาจเพิ่มขึ้น

ที่ผ่านมา ทส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะมาอย่างต่อเนื่อง มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 20 ปี จัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2551-2555 จัดตั้งหน่วยงานเพื่อจัดการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล และการวิจัยทางด้านสมุทรศาสตร์ อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาในบางพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่อื่นหรือยังไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์

ด้านนายประวิม วุฒิสินธุ์ รักษาการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ร้อยละ 23 ของแนวชายฝั่งทะเลของไทยหรือราว 600 กิโลเมตรกำลังประสบปัญหาการกัดเซาะ และจังหวัดที่จัดว่าเป็นพื้นที่วิกฤติมีทั้งสิ้น 12 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ระยะทางรวม 207 กิโลเมตรหรือประมาณร้อยละ 12 ของแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย โดยพื้นที่รูปตัว ก มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10-20 เมตรต่อปี ในส่วนพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีอัตราการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปีใน 5 จังหวัด คือ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และหากระดับน้ำทะเลสูงเพิ่มขึ้นอีก 1 เมตร จังหวัดพัทลุงจะโดนผลกระทบด้วยเช่นกัน นายประวิมกล่าว.



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 1 มีนาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 24-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


พัทยาชายหาดหาย คาดอีก 5 ปี ไม่มีเหลือ!


นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้อีก 5 ปี พัทยาจะไม่มีหาดทรายเหลือ เหตุปัญหากัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขั้นวิกฤติ เผยข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศในปี 2495 ชายหาดกว้าง 35.6 เมตร ส่วนปี 2553 เหลือเพียง 4-5 เมตร เมื่อระดับน้ำทะเลขึ้นสูงพื้นที่หน้าหาดจมมิด เตรียมใช้วิธีเติมทรายชายหาดตามหลักวิชาการแก้ปัญหาระยะยาว

ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศน์เชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมทรายชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุุบันชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างหนักทำให้เหลือพื้นที่หาดทรายแคบมาก โดยเฉพาะเวลาที่มีน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่หน้าหาดเกือบทั้งหมดจมน้ำทะเล ทำให้ไม่มีพื้นที่ว่างริมชายหาดเหลืออยู่เลย ดังนั้นจึงมีการศึกษาแนวทางแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยา ซึ่งจากการใช้เทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อมูลระยะไกล พร้อมกับตรวจสอบข้อมูลจากภาคสนามและภาพถ่ายเก่าๆในช่วงเวลาที่ต่างกัน พบว่าหาดพัทยามีการกัดเซาะที่รุนแรงขั้นวิกฤติในบริเวณตั้งแต่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้

ศ.ดร.ธนวัฒน์ระบุว่า จากข้อมูลการแปลภาพถ่ายทางอากาศ พบว่าในปี พ.ศ.2495 บ่งชี้ว่าหาดพัทยาในอดีตมีความสวยงามมาก มีพื้นที่หน้าหาด 60 ไร่ ความกว้างหน้าหาดอยู่ที่ 35.6 เมตร ในปี พ.ศ.2510 หน้าหาดพัทยาถูกกัดเซาะจนเหลือเนื้อที่เพียง 34 ไร่ ความกว้างหน้าหาดเหลือ เพียง 20.6 เมตร ในปี พ.ศ.2517 หน้าหาดพัทยาถูกกัดเซาะเหลือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างหน้าหาดลดลงเหลือแค่ 18.5 เมตรเท่านั้น

"อัตราการกัดเซาะชายหาดพัทยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2495-2517 มีอัตราการกัดเซาะ เฉลี่ยที่ 0.78 เมตรต่อปี การกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงและวิกฤติที่สุดในช่วงปี พ.ศ.2535-2536 ขณะนั้นพบว่าชายหาดแทบไม่เหลือพื้นที่หน้าหาด โดยเฉพาะช่วงน้ำทะเลขึ้นสูง ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีหาดไว้ใช้พักผ่อน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงมาก"

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศในปี พ.ศ.2539 กลับพบว่าชายหาดพัทยามีความกว้างหาดประมาณ 30.3 เมตร มีพื้นที่หน้าหาดคิดเป็น 51 ไร่ ซึ่งสามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าชายหาดพัทยามีการถมทะเลเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการนำทรายมาถมโดยหน่วยงานท้องถิ่น และเมื่อเปรียบเทียบกับชายหาดพัทยาในปี พ.ศ.2545 พบว่าชายหาดพัทยาถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงด้วยอัตราประมาณ 1.8 เมตรต่อปี ทำให้หน้าหาดพัทยาเหลือความกว้างเพียง 31 ไร่

ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจในภาคสนาม พบว่าในปี พ.ศ.2553 ความกว้างของชายหาดพัทยาเหลือเพียง 4-5 เมตรเท่านั้น โดยเฉพาะในขณะที่มีระดับน้ำทะเลขึ้นสูงสุด ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม แทบจะไม่เหลือพื้นที่หาดให้นักท่องเที่ยวใช้พักผ่อน หากไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จากข้อมูลอัตราการกัดเซาะดังกล่าว ชี้ว่าอีกไม่เกิน 5 ปี หาดพัทยาจะไม่มีหาดทรายเหลือ

"ปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยาเป็นภัยพิบัติเงียบและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันแก้ไข การที่ผู้ประกอบการธุรกิจชายหาดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามลำพัง โดยใช้วิธีโกยทรายในช่วงระดับน้ำทะเลลงต่ำสุดมาพอกเป็นชายหาดที่อยู่หน้าเขื่อนเพื่อใช้ประกอบกิจการธุรกิจชายหาด เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้ผลในระยะสั้น แต่ไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดที่มีความรุนแรงได้ตลอดไป"

นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งว่า มี 2 วิธีหลัก คือ
1.การใช้โครงสร้างแก้ไขปัญหากัดเซาะชายหาด เช่น กำแพงกันคลื่น การใช้หินทิ้ง เป็นต้น แม้จะสามารถรักษาชายฝั่งไว้ได้ แต่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ทัศนียภาพของชายหาดเปลี่ยนไป ขาดความสวยงามและความเป็นธรรมชาติของชายหาด และ
2.การเติมทรายให้ชาดหาดที่ถูกกัดเซาะและพยายามรักษาสมดุลของหาดทรายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม วิธีนี้มีหลายประเทศกำลังให้ความสนใจและดำเนินการอยู่ ทั้งบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย หาดแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และหมู่เกาะมัลดีฟส์

"วิธีแรกใช้โครงสร้างแบบแข็ง ซึ่งในเมืองไทยนำมาใช้แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งหลายพื้นที่ ส่วนวิธีที่สอง คือ การเติมทรายนั้นบ้านเรายังไม่เคยใช้มาก่อน ดังนั้นการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของหาดพัทยาจะใช้วิธีเติมทรายคืนชายหาด หากทำสำเร็จจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการปัญหากัดเซาะอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะกับชายหาดท่องเที่ยวอื่นๆของประเทศ ทั้งนี้ คนในชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต้องเห็นตรงกัน และเป็นผู้เลือกวิธีการแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนของตนเอง" ศ.ดร.ธนวัฒน์กล่าว.




จาก ................... ไทยโพสต์ วันที่ 24 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #27  
เก่า 27-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


บางขุนเทียนอึ้ง 10 ปีดินหาย 50 ม. แก้ได้แค่ปักไม้กั้น


ชายทะเลบางขุนเทียนถูกน้ำกัดเซาะกลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังพบสถิติย้อนหลังแค่ 10 ปีพื้นดินหายระยะทางยาว 1 ก.ม.แล้ว ศูนย์วิจัยธรรมชาติ ม.รังสิต ระบุซ้ำ ถ้าเพิกเฉย อีก 10 ปีข้างหน้า ดินจะหายไปอีก 50 เมตร สำนักระบายน้ำทำได้เพียงสร้างแนว "คันไม้ไผ่" ป้องกันแนวคลื่นและน้ำกัดเซาะ เผยแก้ปัญหาถาวรต้องใช้งบฯ 600 ล้านบาท ข้าราชการ กทม.ท้อใจผู้บริหารไม่ยอมอัดฉีดงบประมาณให้

จากการที่มีนักวิชาการเสนอแนะให้รัฐบาลย้ายเมืองหลวงจาก "กรุงเทพมหานคร" ไปยังพื้นที่ "อีสานใต้" เพื่อหลีกหนีปัญหาน้ำท่วมที่คาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ เนื่องจากประเมินสภาพพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่มต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ดินมีการทรุดตัวเฉลี่ย 1 เซนติเมตร/ปี


พื้นที่เสี่ยงจมน้ำ

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า กรุงเทพฯมีพื้นที่ 1,500 ตารางกิโลเมตร ทุกตารางนิ้วสุ่มเสี่ยงถูกน้ำท่วมหมด เพราะเป็นที่ราบลุ่มต่ำ ส่วนใหญ่อยู่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ อาทิ คลองสามวา ลาดกระบัง หนองจอก มีนบุรี ร่มเกล้า กิ่งแก้ว ศรีนครินทร์ บางนา ประเวศ

ขณะที่ "ฝั่งตะวันตก" ย่านตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ถูกกำหนดเป็นโซนผังเมืองสีเขียวและเขียวลายเช่นกัน แต่มีแนวคันกั้นน้ำเป็นเกราะกำบัง ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่า ส่วน "พื้นที่ใจกลางเมือง" เช่น สุขุมวิท รัชดาฯ จะเกิดน้ำท่วมช่วงฝนตกหนัก เพราะระบายไม่ทัน จุดนี้จะได้รับการแก้ไขเมื่อโครงการอุโมงค์ยักษ์ของ กทม.แล้วเสร็จในปี 2558


"ทะเลบางขุนเทียน" น่าห่วง

"บางขุนเทียน" เขตติดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน ระยะทาง 4.7 กิโลเมตร ซึ่งถูกน้ำทะเลกัดเซาะเฉลี่ย 1.4-4.5 เมตร/ปี ที่น่าวิตกคือสถิติ 10 ปีย้อนหลัง พื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้ว 800-1,000 เมตร หรือ 1 กิโลเมตร นับจากหลักเขตกรุงเทพฯ คำนวณเป็นที่ดินที่หายไปมากกว่า 2,000 ไร่ ทางศูนย์วิจัยธรรมชาติ ม.รังสิต ได้คาดการณ์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า ชายฝั่งทะเลจะถูกกัดเซาะต่อไปอีกอย่างน้อย 50 เมตร


กทม.แก้ปัญหาไม่ตก

แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อปี 2548 สำนักผังเมือง กทม.ใช้งบฯ 29 ล้านบาท จัดจ้างที่ปรึกษาทำผลศึกษาการป้องกันและแก้ไขปัญหา รายงานชิ้นนี้แล้วเสร็จเมื่อปี 2550 ระบุแนวทางแก้ไขปัญหาไว้ คือ
1.ก่อสร้างไส้กรอกทรายรอดักตะกอนรูปตัวที (T-Groins) หรือทีกรอยน์ เพื่อยับยั้งการกัดเซาะชายฝั่งและดักจับดินตะกอน
2.ปลูกป่าไม้ชายเลนเพิ่มเป็นแนวกันชน (Buffer Zone) 100-300 เมตร แต่เนื่องจากมีประชาชนในพื้นที่บางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับทีกรอยน์ โครงการนี้จึงถูกชะลอไว้ก่อน

ปัจจุบัน สำนักการระบายน้ำของ กทม. ได้มีมาตรการชั่วคราว คือก่อสร้างแนว "คันไม้ไผ่" ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน งบฯ 5.8 ล้านบาท จะแล้วเสร็จเมษายนนี้ และระยะที่ 2 ได้งบฯปีนี้อีก 10 ล้านบาท เริ่มกุมภาพันธ์ถึงสิงหาคม 2554


งบฯ 600 ล. แก้ปัญหาถาวร

ส่วนมาตรการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน กำลังสำรวจ ออกแบบ ทำรายละเอียด และประมาณค่าก่อสร้างคันหินรอดักตะกอนรูปตัวที ความยาว 6,970 เมตร ติดตั้งเสาและป้ายเครื่องหมายเดินเรือ 176 แห่ง ใช้งบฯ 500-600 ล้านบาท และต้องใช้เวลาจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาพื้นที่อีก 2 ปี นั่นหมายความว่า กว่าจะลงมือตอกเสาเข็มก่อสร้างได้จริง ต้องรอไปถึงเดือนมิถุนายน 2556 แต่ความสำเร็จของโครงการยังขึ้นกับผู้บริหาร กทม.ด้วยว่าจะจัดสรรงบประมาณให้หรือไม่




จาก ................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #28  
เก่า 27-01-2011
ลูกปูกะตอย ลูกปูกะตอย is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: Mar 2010
ข้อความ: 209
Default

ขอบคุณสำหรับข่าวค่ะ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #29  
เก่า 30-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


วิกฤติพัทยาหวั่น 5 ปีชายหาดหาย เร่งแก้เติมทราย 200,000 ตัน



ชายหาด “พัทยา” มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวติดอันดับหนึ่งในเอเชียถึงขั้นเป็นความใฝ่ฝันของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียยกย่องให้พัทยาเป็นสถานที่ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปเยือน มุมหนึ่งของพัทยานอกจากโรงแรมรีสอร์ท สถานบันเทิงพร้อมสรรพ พัทยายังมีหาดทรายกินอาณาบริเวณกว้างขวาง เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติที่นิยมมาอาบแดดเล่นน้ำทะเล

ย้อนไปเมื่อ 60 ปีก่อน “พัทยา” คือหมู่บ้านชาวประมงขนาดเล็ก เต็มไปด้วยป่ารกทึบ แต่มีชายหาดสวยและน้ำทะเลสวย ว่ากันว่าขนาดยืนในทะเลน้ำลึกระดับหน้าอกยังสามารถมองเห็นเท้าตัวเอง พัทยาเริ่มเป็นที่รู้จักจากคนภายนอกเมื่อปี พ.ศ. 2502 เมื่อทหารอเมริกันจากฐานทัพนครราชสีมาเดินทางมาพักผ่อน ต่อมาได้พัฒนาและเติบโตเป็นแหล่งท่องเที่ยวตากอากาศของทหารอเมริกันที่มาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา อ.สัตหีบ สมัยสงครามอินโดจีน จากนั้นพัทยาก็เจริญขึ้นตามลำดับ จนรัฐบาลต้องตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2551 ขึ้น

การเติบโตด้านการท่องเที่ยวของเมืองไม่หยุดยั้ง ทำให้พัทยาต้องเผชิญปัญหานานัปการ ทั้งการวางผังเมืองที่ไม่ถูกต้อง ปัญหาขยะ ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปัญหาการรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ น้ำเสีย และปัญหาชายหาดถูกกัดเซาะอย่างหนักทำให้หาดแคบลง โดยเฉพาะเวลาน้ำทะเลขึ้นสูงสุด พื้นที่หน้าหาดเกือบทั้งหมดจมน้ำ

ก่อนหน้าที่พัทยาจะเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว มีพื้นที่ขนาดความกว้างถึง 96,128.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 60 ไร่ หน้าหาดอยู่ที่ 35.6 เมตร แต่ปัจจุบันด้วยระบบธรรมชาติการกัดเซาะของคลื่นทะเล ส่งผลให้ปี พ.ศ. 2545– 2553 เหลือบริเวณความกว้างของชายหาดเพียง 4–5 เมตร เท่านั้น เฉลี่ยเกิดการกัดเซาะของชายหาด 1.80 เมตรต่อปี

ทั้งนี้จากการสำรวจของหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการเปลี่ยนแปลงของภาพถ่ายทางอากาศ พ.ศ. 2495–2545 หาดพัทยามีการกัดเซาะอย่างรุนแรงในบริเวณพื้นที่พัทยาเหนือจนถึงพัทยาใต้ ระยะทางทั้งสิ้น 2.7 กิโลเมตร พ.ศ.2510 หน้าหาดมีการกัดเซาะเหลือเพียง 55,818.3 ตารางเมตร หรือ ประมาณ 34 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดเพียง 20.6 เมตร ปี พ.ศ. 2517 หน้าหาดถูกกัดเซาะเหลือเพียง 49,191.4 ตารางเมตร หรือประมาณ 31 ไร่ ความกว้างของหน้าหาดลดลง เหลือเพียง 18.5 เมตร โดยรวมแล้วอัตราการกัดเซาะชายหาดพัทยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2495–2517 เฉลี่ยอยู่ที่ 0.78 เมตรต่อปี ขณะที่พบว่าปัญหาการกัดเซาะชายหาดพัทยารุนแรงและวิกฤติสุดในราวปี พ.ศ. 2535-2536 ขณะนั้นพบว่า ชายหาดแทบไม่เหลือโดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลขึ้นสูง (พ.ย.-ม.ค.)

สืบเนื่องจากสาเหตุของปัญหาดังกล่าวจึงได้มีการจัดโครงการศึกษาวางแผนแม่บทและสำรวจออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยา โดยความร่วมมือระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหาระยะยาว

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล หัวหน้าหน่วยศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ได้ศึกษาการวางแผนแม่บทออกแบบเพื่อเสริมชายหาดพัทยาครอบคลุมพื้นที่ 3 ช่วง ได้แก่
ช่วงที่ 1. บริเวณชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตรีสอร์ท ถึงชายหาดพัทยากลางระยะทาง 1, 300 เมตร
ช่วงที่ 2 เริ่มจากชายหาดพัทยากลางถึงชายหาดพัทยาใต้ ระยะทาง 1,400 เมตร และ
ช่วงที่ 3 ได้แก่ ตั้งแต่ชายหาดพัทยาใต้ถึงบริเวณแหลมบาลีฮายมีระยะทาง 1,780 เมตร รวมแนวชายฝั่งพื้นที่ศึกษาทั้งสิ้น 4.48 กิโลเมตร

จากการศึกษาพบว่า สาเหตุการกัดเซาะเกิดจากตะกอนทรายที่คอยเติมให้กับอ่าวพัทยาจากตอนบนของลำน้ำและน้ำท่วมไหลหลากจากพื้นที่ชายฝั่งลงสู่อ่าวพัทยาลดน้อยลง การนำพาตะกอนของคลื่นมีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งการใช้ประโยชน์หรือกิจกรรมชายหาดที่เปลี่ยนไปในอ่าวพื้นที่พัทยา ล้วนส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายหาดพัทยาอย่างรุนแรง รวมทั้ง ทางระบายน้ำระบายไม่สะดวก คลื่นลมแรงขึ้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาด้วยการนำทรายมาเติมชายหาด

“กระบวนการดังกล่าวแก้ไขด้วยระบบธรรมชาติแบบพ่นทราย โดยศึกษาทิศทางของลม ว่าช่วงไหนลมอยู่ทางทิศใด เพราะคลื่นจะพัดเอาทรายไปไว้ในบริเวณชายหาดด้วย อย่างเช่น ฤดูหนาวเราก็นำมาปล่อยตรงหาดพัทยาเหนือ หน้าร้อนก็นำมาปล่อยที่หาดพัทยาใต้ ในขณะที่ระยะหาดประมาณ 30 เมตร จะต้องนำทรายมาเติมประมาณ 200,000 คิว หาดทรายจะอยู่ได้ประมาณ 15 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ในออพชั่นแรก 30 เมตร ออพชั่นสองที่วางแผนว่าจะทำ 40 เมตร ส่วนทางภูมิสถาปัตย์จะมีการออกแบบทางเดิน เต็นท์ผ้าใบ ถือได้ว่าเป็นการจำลองธรรมชาติ” หัวหน้าศึกษาพิบัติภัยและข้อสนเทศเชิงพื้นที่อธิบายถึงลักษณะการเติมทราย

ศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะนำทรายมาเติมได้มีการทำประชาพิจารณ์ ศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าผลการทำอีไอเอและประชาพิจารณ์ผ่านก็จะดำเนินการ ซึ่งระหว่างการเติมทรายนักท่องเที่ยวยังสามารถเที่ยวได้

“หากไม่มีการเติมทรายเชื่อว่าภายในระยะเวลาอีก 5 ปี พัทยาจะไม่มีชายหาดเหลือ ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงรอผลการทำประชาพิจารณ์จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้สำรวจ” นักวิชการจากจุฬาฯระบุ

อนุ นุชผ่อง ผู้ประกอบการร้านค้าร่มเตียงบริเวณชายหาดพัทยากล่าวว่า ได้ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่มาประมาณ 40 กว่าปีแล้ว ย้อนไปเมื่ออดีตชายหาดมีขนาดกว้างและสวยงาม หาดทรายมีสีขาว ขยะมีปริมาณน้อย นักท่องเที่ยวเยอะรายได้เฉลี่ยต่อวันหลายพันบาท จนมาถึงปัจจุบันความกว้างของหน้าหาดแทบจะไม่มีเลย

“ถ้าผู้ที่มีความรู้ด้านการเติมชายหาดทำแล้วสามารถเห็นผลได้จริงก็ทำเลย เพราะตอนนี้ไม่มีอะไรจะเหลือแล้ว จากที่เคยมีรายได้วันละพันบาท ปัจจุบันแทบจะไม่ถึง 400 บาทต่อวันด้วยซ้ำ และหวังว่าถ้าเติมแล้วชายหาดพัทยาจะกลับมาสวยเหมือนเดิม ที่สำคัญรายได้ก็อาจจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกด้วย” ผู้คุ้นเคยต่อหาดพัทยาบอกเล่าถึงผลกระทบในวันที่ชายหาดเหลือน้อย

ดร.เจิดจินดา โชติยะปุตตะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทางทะเล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ให้แนวคิดจากเรื่องนี้ว่า ในส่วนของชายหาดพัทยาถือได้ว่าได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะของคลื่นทะเล การกัดเซาะชายหาดมีหลายสาเหตุทั้งจากธรรมชาติด้วย อาทิ ลม พายุ คลื่น รวมไปถึงฝีมือมนุษย์ เช่น การขุดลอก การทำนากุ้ง การตัดป่าชายเลน ซึ่งป่าชายเลนถือเป็นตัวหลักในการบังคลื่น ลม ถ้ามีต้นไม้จะสามารถชะลอความเร็วของลมได้ ไม่ทำให้คลื่นลมแรงและลดการกัดเซาะได้ ด้านการสร้างเขื่อนเวลาฝนตกจะมีการชะล้างตะกอนจากหุบเขาลงมายังแม่น้ำ ในขณะที่มีการสร้างเขื่อน ตะกอนก็ไหลลงมายังทะเลหรือแม่น้ำมีจำนวนน้อย รวมไปถึงการดูดทราย การสร้างถนนใกล้ชายหาด

วันนี้หากไม่มีการตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อการกัดเซาะชายฝั่ง อนาคต “หาดทราย” อาจไม่อยู่คู่กับท้องทะเลไทย.



จาก ................... เดลินิวส์ วันที่ 30 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #30  
เก่า 16-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สรุปบทเรียนจากปัญหาการกัดเซาะหาดทรายของไทย


ข้อสังเกตุเกี่ยวกับกฎหมายไทยที่ควรปรับปรุง

จากการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดูแลควบคุมการใช้ประโยชน์ชายฝั่งของไทยนั้น พบว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงดังนี้

1) กฎเกณฑ์การควบคุมดูแลและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางน้ำของไทยเป็นกฎเกณฑ์กว้างเกินไป เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้ร่วมกันทุกพื้นที่ทั้งประเทศ และทุกประเภทของทรัพยากร (เช่น แม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทะเล หรือชายหาด) ซึ่งหากพิจารณาโดยละเอียดจะพบว่าทรัพยากรมีความแตกต่างกันทั้งพื้นที่ และประเภทของทรัพยากร เช่น กายภาพของทะเล และแม่น้ำจะมีความแตกต่างกันอย่างมาก กฎเกณฑ์ต่างๆที่กำหนดขึ้นใช้อาจเหมาะสมสำหรับแม่น้ำแต่อาจจะไม่หมาะสมสำหรับทะเล

2) การไม่มีมาตราการทางกฎหมายการจัดการ การสงวน การอนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ในส่วนของปากแม่น้ำ สันทราย ซึ่งเป็นรอยต่อทางธรรมชาติระหว่างแม่น้ำและทะเล ระหว่างทะเลและแผ่นดินที่มีความสำคัญมาก และไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นระบบ ปัจจุบันมีแต่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเท่านั้นที่เข้มงวด

3) การอนุญาตสิ่งปลูกสร้างที่มิได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ผลการศึกษาความเหมาะสมอย่างเป็นวิชาการประกอบการพิจารณา เช่น จาก พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 5. ที่กำหนดว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นใดที่ล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ ให้ผ่านการอนุญาตโดยกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี จากนั้นให้ประกาศลักษณะของอาคารหรือลักษณะของการล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นในราชกิจจานุเบกษาและให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไปได้ โดยมิได้ระบุถึงมาตราการการส่งเสริมการใช้กระบวนการทางวิชาการประกอบการตัดสินใจ

4) ความไม่เหมาะสมของข้อกำหนดในบางกรณี เช่น โครงสร้างที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างล่วงล้ำเข้าชายฝั่งได้บางประเภทที่ระบุใน พรบ. การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 ข้อ 4 เป็นโครงสร้างที่กระตุ้นการกัดเซาะชายฝั่ง กรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (5) ที่ว่า “การสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะ ต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรง” จากการทบทวนเอกสารพบว่า โครงสร้างแข็งจะเป็นสิ่งแปลกปลอมที่แทรกแซงระบบธรรมชาติ และเป็นสาเหตุหลักของการกัดเซาะ ชึ่งพบได้ตลอดแนวชายฝั่งทะเลของไทย ในทางวิชาการนั้น การป้องกันน้ำเซาะมีวิธีการหลากหลายวิธี วิธีการสร้างเขื่อนกันน้ำเซาะด้วยโครงสร้างแข็งแรง เป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลกระทบบริเวณข้างเคียงรุนแรงต่อเนื่องยากที่จะสิ้นสุดและจะยิ่งรุนแรงขึ้นมากในกรณีของชายฝั่งทะเล

อีกกรณีตัวอย่างเช่น ข้อกำหนดที่ระบุไว้ใน ข้อ 4 (7) ที่ว่า “โรงที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำต้องอยู่บนฝั่งหรืออยู่ใกล้ฝั่งมากที่สุด” จากข้อกำหนดนี้ โรงติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่สร้างขึ้นจะเป็นโครงสร้างที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะรุนแรงได้ เพราะการอยู่ใกล้ฝั่งมากก็จะล่วงล้ำแนวถอยร่นของชายหาดและเกิดปัญหาการกัดเซาะตามมา ดังปัญหาที่เกิดขึ้นที่ ตำบลเก้าเส้ง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่มีโรงสูบน้ำเสียตั้งอยู่ชายฝังบนหาดเก้าเส้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดปัญหาการกัดเซาะที่หาดเก้าเส้งอย่างรุนแรงเนื่องจากโรงสูบน้ำเสีย เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ลุกล้ำแนวถอยร่น จึงแทรกแซงระบบของธรรมชาติ

5) การกำหนดโทษปรับต่ำมากเกินไป เช่น โทษปรับห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท กรณีการกระทำใดๆ ที่เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงร่องน้ำ ทางเดินเรือ โทษปรับดังกล่าวจะไม่มีผลยับยั้งการสร้างปัญหา โทษปรับควรจะครอบคลุมถึงการสูญเสียดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมด้วย





จุดอ่อนในการบริหารจัดการอนุรักษ์หาดทรายของไทย

ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของไทยมีความเสียหายรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ดังนี้

1) การมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการเกี่ยวกับระบบนิเวศหาดทรายและชายฝั่ง อาจเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญ ทำให้การใช้ประโยชน์และการแก้ปัญหาการกัดเซาะที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความไม่เข้าใจไม่สอดคล้องกับระบบทางธรรมชาติของชายฝั่ง ทำให้กิจกรรมต่างๆของมนุษย์เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการพังทลายของหาดทราย

2) กฎหมายที่มีอยู่ไม่เป็นปัจจุบัน กฎหมายที่มีอยู่ให้อำนาจในการก่อสร้างที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2453 โดยมีกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีเป็นผู้รับผิดชอบ ทำให้มีการก่อสร้างที่เป็นการแทรกแซงระบบทางธรรมชาติของชายหาดมาตลอด ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งจัดตั้งขึ้นภายหลังและมีอำนาจหน้าที่ในการดูแล ฟื้นฟู ซึ่งพบว่าแผนงานส่วนใหญ่ยังคงใช้แนวคิดการใช้สิ่งก่อสร้างเข้าแก้ปัญหาการกัดเซาะเช่นเดียวกับกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวี

3) กฎหมายในการอนุรักษ์ชายหาดและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งยังไม่ครอบคลุมชัดเจน กฎหมายที่มีอยู่กว้างเกินไป มีความไม่เหมาะสมในบางกฎเกณฑ์ และการไม่มีการกำหนดแนวถอยร่นอย่างชัดเจนในแต่ละพื้นที่อย่างเป็นวิชาการและ เป็นปัจจุบันเพียงพอ ตลอดจนการขาดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย เช่นทำให้มีการลักลอบดูดทรายเกิดขึ้นเสมอ

4) ขาดผู้รับผิดชอบโดยตรงในการบังคับใช้กฎหมาย และยังมีความเห็นไม่ตรงกันในแนวคิดการสงวน อนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชายหาดและชายฝั่งของประเทศ

5) การไม่มีวิธีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การไม่ประสานงานกันระหว่างหน่วยงาน ทำให้มีการทำงานทั้งส่วนที่ซ้ำซ้อนกันและส่วนที่ขัดแย้งกัน

6) การมองข้ามความสำคัญในการกำหนดทิศทางการใช้ประโยชน์ทรัพยากรชายฝั่งอย่างชัดเจน ทำให้มีการใช้ประโยชน์ไปอย่างไร้ทิศทาง และทำให้เสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ศักยภาพของหาดทรายในอนาคต เช่น กรมเจ้าท่า (หรือกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชนาวีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบดูแลชายฝั่งในอดีต ได้ใช้ประโยชน์ชายฝั่งไปในด้านการขนส่งทางน้ำเป็นหลัก โดยมิได้คำนึงถึงศักยภาพหรือคุณค่าชายหาดในด้านอื่นๆ เช่น การเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิตสัตว์นานาชนิดและคุณค่าด้านนันทนาการ ทำให้การแก้ปัญหาที่ผ่านมาส่งผลให้เสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรชายฝั่งในด้านอื่นๆ

7) การไม่มีกระบวนการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนในทุกระดับ


ภัยคุกคามต่อหาดทรายธรรมชาติของไทย

1) สังคมขาดความเข้าใจที่ถูกต้องในระบบนิเวศของหาดทรายตามธรรมชาติ ข่าวสารที่ระบุสาเหตุปัญหาการกัดเซาะหาดทรายที่ไม่ถูกต้อง ได้รับการเผยแพร่ต่อสารธารณะอยู่เสมออย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดทั่วไปและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ผิดทาง ตัวอย่างเช่น คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการกัดเซาะหาดทรายเกิดจากคลื่น ซึ่งความเป็นจริงแล้วทรายจะเคลื่อนที่มาและเคลื่อนไปตามธรรมชาติโดยคลื่น การเคลื่อนที่ไปอาจจะมากในฤดูมรสุมและคลื่นจะช่วยซ่อมแซมในช่วงคลื่นลมสงบ ที่ชาวบ้านเรียกว่าคลื่นแต่งหาด

2) ไม่มีการควบคุมการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลอย่างเหมาะสม เช่น การกำหนดแนวการใช้ประโยชน์ที่ไม่รุกล้ำระบบธรรมชาติ ประกอบกับการมองข้ามองค์ความรู้ทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้การใช้ประโยชน์พื้นที่ชายทะเลทั้งของโครงการของรัฐบาลและประชาชน แทรกแซงระบบของธรรมชาติทั้งโดยเจตนาและการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปัญหาการกัดเซาะจึงรุกลามไปเป็นลูกโซ่ในทุกวันนี้

3) ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง เช่น การกัดเซาะชายฝั่งมักจะสร้างความกังวลให้กับชุมชนชายฝั่ง ดังนั้นเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้งบประมาณไปกับการใช้โครงสร้างแข็งเพื่อแก้ปัญหา โดยไม่คำนึงถึงขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะใช้กระบวนการทำความเข้าใจอย่างเป็นวิชาการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแทรกแซงธรรมชาติโดยไม่จำเป็น และเกิดการกัดเซาะหาดทรายในพื้นที่ถัดไปโดยไม่ทราบจุดสิ้นสุด เป็นการเลือกวิธีแก้ที่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในพื้นที่ข้างเคียง

4) การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงทำให้เกิดช่องทางแสวงหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ตลอดจนการใช้โอกาสในฤดูมรสุมลมแรงและการอ้างกระแสข่าวภาวะโลกร้อนในการเสนอโครงการก่อสร้างป้องกันชายฝั่ง โดยขาดการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเพิ่มสิ่งแปลกปลอมแทรกแซงระบบธรรมชาติ ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างไม่สิ้นสุด

ที่มา www.bwn.psu.ac.th





จาก ....................... http://beachconservation.wordpress.com
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 12:37


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger