เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > เรื่องเล่าชาวทะเล

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 11-05-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

นั่นน่ะสิคะน้องปี๊บ...งงไหมคะ


ทั้งอาจารย์ธรณ์และพี่สองสายก็ยังงงๆเลย ว่าเขาทำงานอย่างไรกัน...ดีว่าทางอาจารย์ธรณ์ก็ไม่หยุดนิ่ง พี่เองก็ตามเรื่องโดยตลอด รู้แต่ก็ไม่อยากจะก้าวก่าย กับงานที่ไม่ได้รับมอบหมาย มีน้องๆชาว sos รุ่นแรก มีเส้นสายทั้งทางทหารเรือและ ปตท. มาเสนอให้ไปดูเรือที่กำลังถูกขัดสีฉวีวรรณอยู่ที่ท่าเรือ เพื่อศึกษาโครงสร้างภายใน ก่อนที่จะนำไปลงน้ำ พี่สองสายก็ยังไม่กล้าจะไป ต้องทำเฉยๆไว้ ทั้งที่อยากไปดูใจจะขาด...


ทำงานกับทางการก็ต้องทำใจ (ให้สงบ)ค่ะ...บางทีก็ต้องใช้สุภาษิตสอนใจ..พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทองนะคะ


ส่วนเรื่องดินฟ้าอากาศนั้น ช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ พี่ติดตามมาโดยตลอด ภาวนาว่าขอให้ดินฟ้าเป็นใจ ให้เราได้ไปทำงานที่โลซิน ตู้รถไฟแลรถถังอย่างราบรื่น ไร้อุปสรรคค่ะ...


ยังมีเวลาอีก 2 วัน ค่ะ....เพี้ยง ! ฟ้าโปร่งโล่งแจ้ง ไร้คลื่นลม และฝนฟ้าคะนอง...

__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 12-05-2011 เมื่อ 00:03
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 20-05-2011
Wobbegong Wobbegong is offline
Junior Member
 
วันที่สมัคร: Jan 2010
ข้อความ: 3
Default

อย่างงเลยครับ พี่สองสาย... ผมก็เจออย่างนี้บ่อยๆ

วันนี้ เอาพิกัดที่ตั้งเรือมาฝากพี่ (ไม่แน่ใจว่าพี่ทราบอยู่แล้วหรือเปล่า)

ละติจูด 10 องศา 29.013 ลิปดาเหนือ ลองติจูด 99 องศา 25.167 ลิปดาตะวันออก

พอดีว่ามีงานต้องติดต่อกับหลายหน่วยงานในชุมพรอยู่ครับ เลยแวะไปขอเขามา..

ปล. ทาง ทร. เอง ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะให้นักดำน้ำทั่วไปลงดำเมื่อไรเหมือนกัน
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 20-05-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



ขอบคุณค่ะน้องขวัญ...พี่สองสายได้ไปชมการนำเรือปราบลงสู่ใต้ท้องทะเลและได้ลงดำน้ำสำรวจไป 2 ไดฟ์ ปรากฏว่าเรือนอนตะแคงอยู่บนพื้นทราย ไม่ได้ตั้งแท่นเหมือนเรือครามหรือกูด แต่ก็แปลกไปอีกแบบ ดำไปก็คิดถึงฮาร์ดีฟไปค่ะ

เย็นๆจะลงภาพให้ชมนะคะ
__________________
Saaychol

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 31-07-2011 เมื่อ 21:55
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 23-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Mission Gunship (2) ....................... โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



หย่อนลงไป ลงไปอีก โอเค ! ผมร้องบอกลูกศิษย์ผู้ยืนอยู่บนดาดฟ้าเรือเพื่อปล่อยสายวัดลงมา แม้มีตัวเลขคร่าวๆ ว่าเรือหลวงสัตกูดและเรือหลวงปราบยาวเกือบ 49 เมตร กว้างเกือบ 8 เมตร แต่ผมอยากรู้ความสูงของเรือในแต่ละชั้นเพื่อคำนวณหาความลึกของน้ำในจุดวางเรือ โอกาสดังกล่าวเป็นไปไม่ได้หากเรือลอยอยู่ในน้ำ แต่เป็นไปได้แน่นอนเมื่อเรืออยู่บนแท่นในอู่แห้งขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมได้ตัวเลขดาดฟ้าชั้นบนและหอบังคับการที่ความสูง 6-10 เมตรจากพื้นท้องเรือ หากเรานำเรือลำนี้วางลงที่ความลึกไม่เกิน 25 เมตร (จาก Chart Datum หรือระดับน้ำลงต่ำสุด) หอบังคับการและบางส่วนของดาดฟ้าจะอยู่ในขอบเขตที่นักดำน้ำแบบ Open Water สามารถลงมาได้ (18 เมตร) สำหรับนักดำน้ำแบบ Advance ที่ดำได้ลึก 30 เมตร ย่อมมีสิทธิไปเที่ยวทั่วลำเรือ และถ้าผ่านหลักสูตร Wreck Dive หรือการดำน้ำในเรือจม นักดำน้ำอาจตระเวนเข้าไปในลำเรือที่พวกเราช่วยกันขบคิดเค้นสมองในการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการดำน้ำ

ห้องนี้เอาไงครับอาจารย์ ลูกศิษย์ผู้เคยเป็นผู้จัดการเรือทัวร์ดำน้ำมาแล้วสิบห้าปีตั้งคำถามเช่นนี้ ผมแยกเขี้ยวอยากจะตอบไปว่าคิดเองสิวุ้ย เราพาคนลงไปดำน้ำมาตั้งเป็นหมื่นครั้งแล้วยังต้องถาม แต่เรื่องไอเดียบรรเจิดลูกศิษย์คงมิอาจหักล้างอาจารย์ ผมปิ๊งว่าหากเราปิดทางเข้าแต่เปิดช่องด้านนอกไว้พอให้นักดำน้ำมองผ่านช่องหน้าต่างกลมดิก พอส่องไฟฉายว่อบแว่บเข้ามาคงให้อารมณ์พิลึก ยิ่งมีปลาว่ายไปมาเป็นเงาวูบวาบยิ่งเร้าใจใฝ่ฝัน

ตรงนี้ปิดครับ ผมขอให้ทีมงานจากอู่ช่วยกันติดเหล็กเส้นกันคนลงไปส่วนล่างสุดของเรือ เพราะตามหลักของการดำน้ำในเรือควรมีทางออกสองทาง ไม่ใช่เข้าแล้วไปอัดกันเป็นปลากระป๋องอยู่ที่ความกดดันเกือบสี่บรรยากาศ ผมเคยเจอเหตุการณ์แบบนั้นแล้วและไม่หวังอยากเจออีก นี่ไม่ใช่การสร้างฉากภาพยนตร์สยองขวัญ แต่เป็นเรือจริงที่นักดำน้ำควรมีความปลอดภัยในการเข้าชมตามระดับความสามารถของตน

เจ้าหน้าที่จากปตท.สผ. แจ้งว่า เราได้ปืนมาแล้วค่ะ เป็นป้อมปืนดั้งเดิมที่ถูกถอดออกไป แต่นี่คือ Mission Gunship มีแต่เรือไม่มีปืนแล้วจะเป็นเรือปืนได้ไงหนอ เราจึงประสานงานกับกองทัพเรือจนได้รับความกรุณามอบป้อมปืนกลับมาให้เรือทั้งสองลำ แต่ละลำจะมีทั้งป้อมหัวและป้อมท้าย มีป้ายทองเหลืองเล็กๆ แปะไว้ว่าปืนกระบอกนี้สร้างมาตั้งแต่ค.ศ.1949 มีเก้าอี้ขนาบสองข้างสำหรับพลปืนคอยนั่งเล็งนั่งหมุนปืนเสร็จสรรพ ผมเชื่อว่าป้อมปืนจะเป็นจุดเด่นประจำเรือ ใครดำน้ำลงมาคงว่ายเข้าไปแอ็คท่าให้ถ่ายภาพอยู่ข้างป้อม สำหรับของอื่นๆ ผมขอให้ทางอู่ถอดเก็บไว้ ทั้งกรอบหน้าต่างทองเหลือง ตราครุฑ หรือใดๆก็ตามที่ดูแล้วเหมือนของที่ระลึก เราจะนำไปใส่ไว้ในพิพิธภัณฑ์ที่จะจัดทำขึ้นที่เกาะเต่า สุราษฎร์ธานี และหาดทรายรี ชุมพร แต่ถ้าคุณอยากเห็นเร็วหน่อย ปตท.สผ.ร่วมมือกับคณะผู้จัดงาน Thailand Diving EXpo เปิดบู๊ทส์ในงาน TDEX ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ในงานยังมีบู๊ทส์ต่างๆเกี่ยวกับการดำน้ำ กีฬากอล์ฟ และการท่องเที่ยวผจญภัยที่ไม่น่าพลาดครับ

การปรับปรุงเรือดำเนินต่อไปแบบไม่ค่อยน่ากังวล แต่ที่เหนื่อยแน่คือการนำเรือลงในจุดที่เหมาะสม ด้วยเหตุนี้ ผมกับทีมงานเกือบยี่สิบคนจึงมุ่งหน้าไปเกาะเต่าและหมู่เกาะง่าม เพื่อกำหนดพิกัดให้แน่นอน รวมถึงการสำรวจวิจัยที่แทบขนอุปกรณ์ไปหมดภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ แต่อันดับแรกก่อนการสำรวจ ผมต้องหาจุดลงเรือให้สำเร็จ

ทิ้งทุ่นนนน... ! ผมตะโกนใส่ไมค์เกิดเสียงดังลั่นสนั่นทั่วลำเรือ ระหว่างลูกศิษย์โยนปี๊บใส่ซีเมนต์ผูกมัดกันเป็นพวงลงสู่พื้นทะเลเพื่อเป็นหมายแรก หลังจากวนเรือใหญ่และเรือเล็กมาหลายรอบ เราได้ข้อมูลความลึกของน้ำว่าอยู่ในระดับ 25 เมตรจาก Chart Datum เป็นจุดที่อยู่ห่างจากแนวปะการังเกาะเต่ามากกว่าหนึ่งกิโลเมตร ยังห่างจาก “หินขาว” อันเป็นแหล่งดำน้ำและที่อยู่อาศัยของสรรพสัตว์ในบริเวณนั้น ออกมาทางใต้ไม่ต่ำกว่า 300 เมตร อันเป็นเส้นตายของระยะห่างจากเรือและระบบนิเวศที่สำคัญ ผมยังลองตรวจสอบกระแสน้ำจนมั่นใจว่าน่าจะไหลจากแนวปะการังมายังเรือ กระแสน้ำเช่นนี้จะช่วยพาตัวอ่อนสัตว์เกาะติดมาที่เรือ อีกทั้งยังไม่ก่อปัญหาหากนักดำน้ำลงไปแถวเรือแล้วทำให้ตะกอนฟุ้งกระจาย เพราะน้ำจะช่วยพาตะกอนออกไปสู่ทะเลเปิด

เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆที่ต้องคิดถึงมากเหลือเกิน เรือของเราจึงวิ่งวนเวียนอยู่หน้าเกาะเต่าสองสามชั่วโมงก่อนผมจะได้หมายที่ชอบ แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่ม ผมส่งทีมป๋า 1 อันประกอบด้วยลูกศิษย์ผู้เป็นครูสอนดำน้ำกว่าสิบปีลงสู่พื้นท้องทะเล ทั้งคู่หายไปราวห้านาที ไม่มีสัญญาณที่ตกลงกันล่วงหน้าว่า หากทีมสำรวจลงไปเจอพื้นทะเลมีระบบนิเวศสำคัญ เจอปะการังอ่อน ปะการังดำ หรือกัลปังหา ให้ปล่อยทุ่นลอยขึ้นมา ทีมอื่นจะได้ไม่ต้องลงไปให้เปลืองคน (ระดับความลึกที่พื้นเกือบ 30 เมตร นักดำน้ำอยู่ได้ไม่ถึง 20 นาที เสร็จแล้วต้องพักนาน ผมจึงต้องทยอยส่งทีมลงน้ำเพื่อประหยัดคน)

ทีมป๋า 2 พุ่งตามลงไป ทั้งหมดจะช่วยกันสำรวจแบบ Target & Radial สร้างแผนที่ใต้น้ำในรูปแบบคล้ายเป้ายิงปืน พวกทีมป๋าจะว่ายน้ำลากเส้นสำรวจออกไปทั้งสี่ทิศ ระยะทางร่วมร้อยเมตร เพื่อตรวจสอบความลึก ลักษณะพื้นและดินตะกอน ตลอดจนสัตว์ที่พบอย่างคร่าวๆ ขณะที่ทีมไม่ป๋าอันประกอบด้วยนักวิจัยที่เป็นลูกศิษย์ของผมรุ่นปัจจุบันจะโดดตามไปเพื่อสำรวจป็นวงกลม รัศมีตั้งแต่ 60 เมตรเรื่อยมาจนถึงทุ่น เว้นระยะห่างทีละ 10 เมตร ข้อมูลที่ได้จะช่วยยืนยันว่าพื้นบริเวณนี้เรียบหรือลาดชันต่ำ ไม่มีสัตว์หายากหรือระบบนิเวศสำคัญ ว่าง่ายๆ คือเรือจะลงไปอยู่บนพื้นทะเลที่เกือบจะว่างเปล่า (มีปลากระเบนกับปลาลิ้นหมาที่สามารถว่ายน้ำหนีเรือที่กำลังจมลงมาได้ สัตว์บนพื้นทั้งหมดคือดอกไม้ทะเลท่อสามสี่กอ)

บนเรือมีงานทำอีกเยอะ พวกเราช่วยกันลากแพลงก์ตอนเพื่อดูตัวอ่อนสัตว์น้ำ เก็บดินตะกอนเก็บน้ำตามระดับความลึกต่างๆ วิเคราะห์หาคุณภาพน้ำ ฯลฯ ระหว่างที่ทีมดำน้ำทยอยขึ้นมาจนครบ ทุกคนมีความเห็นตรงกัน ที่นี่น่าจะเป็นจุดเหมาะสม แต่ที่สงสัยคือเมื่อนำเรือลงไปแล้วจะมีสัตว์ใดมาอาศัยบ้าง มิใช่มีแต่เพรียงเต็มลำ พวกเราจึงไปสำรวจหินขาวอันเป็นแนวปะการังอ้างอิง พบทั้งปะการังดำ กัลปังหา ฟองน้ำครกขนาดใหญ่ และฝูงปลามากมาย หมายความว่าแถวนี้เป็นที่ลงเกาะของตัวอ่อนสัตว์น้ำหลากหลาย เมื่อเรานำเรือลงไปสู่พื้นทะเล ทิ้งไว้ไม่นานย่อมมีทั้งสัตว์เกาะติดทั้งปลามาอยู่เพียบ ตรงตามเจตนาที่เราอยากสร้างแหล่งที่อยู่ให้สัตว์เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ทะเล อีกทั้งยังเป็นแหล่งดำน้ำที่น่าตื่นตาตื่นใจในอนาคตอันใกล้

เรากลับมาที่จุดวางเรืออีกที มีงานต้องทำต่อ ทั้งการวางทุ่นสมอทรายที่จะอยู่ถาวรมากกว่าทุ่นปี๊บ ตรวจสอบร่องรอยการทำประมงว่าเราจะไปรบกวนชาวบ้านหรือไม่ (คำตอบคือไม่) ทิ้งเครื่องตรวจสอบสภาพแวดล้อมในระยะยาวและการติดตามสัตว์เกาะติดและปลา ทิ้งเครื่องวัดอัตราตกตะกอนในบริเวณต่างๆ เพื่อดูว่าเรือจะไปขัดขวางกระแสน้ำทำให้เกิดการตกตะกอนและพื้นท้องทะเลเปลี่ยนสภาพหรือเปล่า ? ต้องขอบคุณ ปตท.สผ. ที่กรุณาสนับสนุนภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลอย่างเต็มที่ พวกเราจึงมีโอกาสทำทุกงานตามเกณฑ์ที่วางไว้

เวลาผ่านไปแทบไม่รู้ตัว เงยหน้าอีกทีตะวันกำลังจะตกลับทะเลเกาะเต่า ผมต้องรีบไปประชุมแล้วครับ การนำเรือสัตกูดไปที่เกาะเต่าเป็นโครงการของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วม เราจึงไปประชุมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องบนเกาะเต่า ผมอธิบายวิธีการและแนวคิดในการเลือกจุดวางเรือ ตลอดจนข้อมูลต่าง ๆ ที่เราได้มา เพื่อให้ที่ประชุมตัดสินใจ หลายท่านกรุณาให้ความคิดดีๆมากมายครับ ก่อนลงความเห็นว่าจุดนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด ถือเป็นข้อสรุปจากทั้งตัวแทนชาวบ้าน อบต. ท่านกำนัน ตลอดจนผู้ประกอบการในท้องถิ่นและชมรมรักษ์เกาะเต่า ทุกคนตื่นเต้นเมื่อทราบว่า ในวันที่ 18 มิถุนายน อันเป็นวันคล้ายวันที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเกาะเต่า เราถือเอาวันนั้นเป็นวันมหาฤกษ์ในการนำเรือสัตกูดมาอยู่คู่เกาะเต่าตลอดไป

ก่อนอำลาเกาะเต่า ผมพาทีมงานไปสำรวจจุดดำน้ำต่างๆรอบเกาะเพื่อดูสภาพแหล่งดำน้ำและปริมาณนักดำน้ำในบริเวณนี้ ผลคือเกาะเต่ามีนักท่องเที่ยวดำน้ำหนาแน่นที่สุดแห่งหนึ่งของไทยและของโลกก็ว่าได้ แนวปะการังบางแห่งมีคนลงน้ำนับร้อยในแต่ละชั่วโมง เกือบทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะฉะนั้น ผมมั่นใจว่าหากนำเรือสัตกูดมาที่นี่ จะมีนักดำน้ำหลายคนย้ายมาดำน้ำที่เรือ ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแนวปะการังธรรมชาติ อีกทั้งยังกลายเป็นเอกลักษณ์แห่งใหม่ที่ใครต่อใครน่าจะบอกต่อ

Mission Gunship ใกล้ถึงเวลาดำเนินการ สัปดาห์หน้าผมจะพาพวกเราไปร่วมระทึกกับการนำเรือหลวงปราบลงสู่ใต้ทะเลชุมพรครับ




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 30-05-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Mission Gunship (3) ................... ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



วันที่ 19 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ “เสด็จเตี่ย” หลังจากที่พระองค์กราบบังคมลาราชการออกไปตากอากาศเพื่อรักษาพระองค์ที่ตำบลหาดทรายรี บริเวณที่พระองค์ทรงจองที่ไว้จะทำสวน แต่พระองค์ประชวรด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่จนสิ้นพระชนม์ในพ.ศ.2466 สิริพระชันษา 44 ปี วันนี้จึงกลายเป็น “วันอาภากร” สืบต่อมา

19 พฤษภาคม 2554 งาน “อาภากร” จัดขึ้นที่ศาลบนยอดเนินเหนือหาดทรายรีดังเช่นทุกปี ผิดตรงที่ในทะเลปีนี้มีเรือรบลำหนึ่งกำลังเคลื่อนที่เข้ามาอย่างแช่มช้า แสงแดดเจิดจ้าส่องลงมาอาบเรือที่เพิ่งทาสีใหม่ไร้สารตะกั่ว หัวเรือมีตัวเลข 741 เรียกเสียงฮือฮาจากคนรอบด้าน (ฮือฮาทำไม ? ลองดูหวยวันที่ 16 พฤษภาคมสิครับ)

เรือลำนั้นจอดนิ่งอยู่ห่างจากฝั่งราว 3 กิโลเมตร ช่างภาพหมุนกล้องบนขาตั้งเล็งไปทางนั้นก่อนฉายภาพขึ้นจอใหญ่บนเวที เสียงบรรเลงเพลงจากวงดุริยางค์ทหารเรือดังลั่น “สยามเป็นชาติของเรา ธงทุกเสาชักขึ้นทุกลำ ถึงเรือจะจมในน้ำ ธงไม่ต่ำลงมา” (เพลง “ดอกประดู่” พลเรือเอกพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ - แต่งก่อนพ.ศ.2452)

ทุกคนประจำที่เรียบร้อย ท่านผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 นั่งเคียงข้างท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เลยไปนิดคือท่านผู้บริหารจากปตท.สผ. เสียงคุณพิธีกรประกาศ เราจะเริ่มพิธีแล้วครับ ขอเชิญหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ขึ้นกล่าวนำเสนอโครงการ

ผมกลืนน้ำลายเอื๊อก แม้ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการขึ้นไปพูดบนเวทีก็จริง แต่หลายวันที่ผ่านมางานเพียบ ผมแทบไม่มีเวลาเตรียมตัว เมื่อขึ้นไปบนเวที ผมยกมือทำความเคารพเสด็จเตี่ยก่อนเกริ่นนำด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของเรือที่ลอยลำอยู่ห่างจากเวทีไปไม่กี่มากน้อย นี่ไม่ใช่เป็นแค่เรือลำหนึ่ง แต่เรือหมายเลข LSIL-741 ถือเป็นเรือยกพลขึ้นบกที่ร่วมปฏิบัติงานในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในสมรภูมิสำคัญในเขตแปซิฟิก แม้เป็นฟันเฟืองตัวเล็กไม่มีชื่อเสียงระบือลือลั่นในครานั้น แต่ฟันเฟืองเช่นนี้แหละที่ทำให้โลกเป็นโลกอย่างที่เราเห็นกันในทุกวันนี้ (ข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูดคงตามมาในไม่ช้า รุ่นพี่ที่เคารพของผมท่านหนึ่งกำลังค้นคว้าอยู่ครับ)



ฟันเฟืองตัวเล็กเปลี่ยนเป็นฟันเฟืองตัวใหญ่ เมื่อเรือถูกส่งมอบให้ราชนาวีไทยเพื่อทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยและเอกราชของชาติ “เรือหลวงปราบ” ขึ้นระวางประจำการในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ก่อนปฏิบัติหน้าที่ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเที่ยว สอนคนให้เป็นทหารเรือไทยนับพันนับหมื่นนาย ก่อนที่ครูเริ่มชราภาพจนปลดประจำการในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2549 เรือครูจอดทอดสมออยู่ที่ท่ากรมอู่ทหารเรืออย่างเงียบเหงา แทบไม่มีใครทราบว่า เรือเหล็กลำนี้เคยมีประวัติเกริกเกียรติเพียงใด

แต่ครูไม่ได้หมดสภาพไปตามกาลเวลา ภารกิจของครูมาถึงเมื่อจังหวัดชุมพรร่วมมือกับหน่วยงานหลายแห่ง ด้วยความสนับสนุนจากปตท.สผ. ทำให้ครูคืนชีพมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย หลังจากครูเคยปกป้องสันติภาพของโลก เคยปกป้องอธิปไตยของชาติไทยมาตลอดระยะเวลาร่วม 70 ปี บัดนี้ครูจะลงไปทำหน้าที่ปกป้องแนวปะการังอันเป็นสมบัติล้ำค่าของบ้านเมืองเรา ครูจะทำหน้าที่ดังกล่าวต่อไปอีกอย่างน้อย 60 ปี เมื่อรวมช่วงเวลาทั้งหมดเข้าด้วยกัน ผมยังคิดไม่ออกว่าจะมีเรือลำไหนทำหน้าที่เพื่อชาติและเพื่อโลกยาวนานถึง 130 ปี !

การดำน้ำลงไปดูเรือปราบจึงไม่ใช่เป็นเพียงการลงไปดูเรือจมลำหนึ่ง แต่นั่นคือการลงไปหา “ครู” ผู้ทำคุณประโยชน์เหลือประมาณ โครงการนี้จึงไม่เน้นแค่การท่องเที่ยว จุดประสงค์อันดับแรกคือการลดผลกระทบจากการดำน้ำในแนวปะการังที่กำลังฟื้นตัวจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว อย่างอื่นถือเป็นผลพลอยได้

ผมสรุปคำพูดในวันนั้น บางครั้งคนเราจะประสบเหตุการณ์ละม้ายคล้ายปาฏิหาริย์ การสร้างแหล่งดำน้ำมิใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการนำเรือรบหลวงมาเป็นแหล่งดำน้ำ แต่โครงการนี้กลับสำเร็จใน 4 เดือน อย่างไรก็ตาม ปาฏิหาริย์จะไม่มีต่อไปหากคนชุมพรและคนไทยไม่ร่วมใจกันปกป้องครูผู้กำลังปฏิบัติภารกิจพิทักษ์ทะเลไทยให้งดงามชั่วลูกชั่วหลาน

งานในวันที่ 19 จบลงด้วยดี ถึงเวลางานจริงในวันรุ่งขึ้น พิกัดนำเรือลงมีความเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุผลบางประการ ผมจึงขอทำหน้าที่เฉพาะการศึกษาผลกระทบ ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเลือกจุดและการนำเรือลงสู่พื้นทะเล ผมใช้เวลาในตอนบ่ายและตอนค่ำพูดคุยกับเพื่อนๆที่ขอแรงมาช่วยงานวิจัย อันได้แก่ คุณนัท สุมนเตมีย์ และคุณบารมี เต็มบุญเกียรติ สองช่างภาพใต้น้ำระดับป๋า ยังมีคุณครูสอนดำน้ำที่คุ้นเคยอีกหลายท่านร่วมคณะไปเพื่อช่วยทำงานวิจัยในครั้งนี้ รวมแล้วเรามีทีมงานกว่า 20 ชีวิต



คณะทำงานของเราพากันขึ้นเรือ MV1 ของชุมพรคาบาน่าระหว่างไก่กำลังขัน เราต้องรีบออกเดินทางจากหาดทุ่งวัวแล่นไปเกาะง่ามน้อย เพราะเราจะนำอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์บางอย่างขึ้นไปติดตั้งบนเรือ รวมถึงกล้องถ่ายวีดิทัศน์แบบพิเศษที่จะช่วยบันทึกภาพระหว่างเรือลงสู่พื้น เมื่อเราไปถึง เรือหลวงปราบอยู่ประจำพิกัดใหม่เรียบร้อย มีเรือลากจูงจอดเทียบข้าง ผมรีบปีนป่ายขึ้นเรือไปติดตั้งอุปกรณ์ตามที่วางแผนไว้

แปดโมงเช้า เสียงประกาศดังลั่นทั่วท้องทะเล ขอให้ทุกคนออกจากเรือหลวงปราบ ปฏิบัติการจะเริ่มต้น ผมเผ่นออกมาจากห้องใต้ท้องเรือ แวะเรียกลูกศิษย์ผู้กำลังติดกล้องกับป้อมปืน ก่อนปีนป่ายกึ่งกระโจนลงเรือยางที่รอรับอยู่เบื้องล่าง เราต้องนำเรือ MV1 ออกห่างในรัศมี 100 เมตรด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ต่อจากนั้นคือการรอ เฮลิคอปเตอร์จากกองทัพเรือบินวนอยู่บนฟ้า ขณะที่เรือใหญ่น้อยรายล้อมเรือปราบเป็นรูปวงกลม ทุกคนต่างจรดจ้องรอดูวินาทีสำคัญ เรือปราบเอียงลงทีละน้อย โดยเอากราบขวาลงสู่ท้องทะเล จวบจนเวลาผ่านไปร่วม 2 ชั่วโมง กราบขวาด้านท้ายเอียงจนปริ่มน้ำ ภาพจากกล้องที่ผมติดตั้งไว้ 2 ตัวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ระลอกคลื่นเริ่มซัดเข้ามา เรือเริ่มเอียงมากขึ้น ก่อนส่วนหัวยกขึ้นสูงพ้นน้ำจนเกือบเป็นแนวดิ่ง หอบังคับการเริ่มจมน้ำ หลังจากนั้นเป็นเวลา 45 วินาที หัวเรือจมลงสู่พื้นน้ำ ฟองอากาศจำนวนมหาศาลผุดออกมาจากรอบด้าน เรือปราบลงสู่พื้นทะเลในลักษณะตะแคง ใช้เวลาเพียง 35 วินาที กราบขวาของเรือกระแทกพื้นที่ความลึก 20 เมตร วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ตามกระแสน้ำ กราบซ้ายคือส่วนสูงสุดของเรือ อยู่ที่ระดับความลึก 15 เมตรตลอดทั้งลำ

พี่ๆทหารเรือลงดำน้ำสำรวจเป็นอันดับแรก จนเห็นว่าทุกอย่างปลอดภัย พี่ส่งสัญญาณให้เหล่านักวิจัยลงน้ำได้ครับ เนื่องจากเรืออยู่ในสภาพตะแคง ผมจึงต้องนั่งหัวปั่นวางแผนใหม่เพราะอุปกรณ์เดิมติดไว้อยู่ในสภาพเรือตั้งปรกติ ยังรวมถึงเครื่องมือบางประการที่ถูกเรือทับแบนไปหมดแล้ว เคราะห์ดีที่ผมนำอุปกรณ์เผื่อมา เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิและแสงสว่าง เครื่องมือติดตามการลงเกาะของสัตว์น้ำ เราจึงยังพอทำงานวิจัยต่อไปได้แม้จะขลุกขลักบ้าง

ผมเป็นห่วงเรื่องระยะห่างระหว่างเรือกับแนวปะการัง เราวัดได้ใกล้กว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สิ่งเดียวที่ทำได้คือการติดตั้งสายวัดจากเรือไปสู่แนวปะการังที่ใกล้ที่สุด (ความลึก 14 เมตร) ก่อนติดตั้งอุปกรณ์เก็บตะกอนไว้เป็นระยะ เรายังต้องสำรวจสภาพแนวปะการังบริเวณหัวเกาะเพื่อวางแผนในการศึกษาทั้งระยะสั้นและระยะยาว

กลุ่มสัตว์เกาะติดกับเรืออาจเปลี่ยนไปตามระดับความลึกของน้ำ เราอาจเห็นปะการังขึ้นอยู่บนกราบเรือด้านซ้ายที่หงายขึ้น เพราะปะการังบางชนิดอยู่ได้ที่ความลึก 15 เมตรในเขตน้ำใส ผมค่อนข้างเชื่อว่าจะมีเห็ดทะเลกับดอกไม้ทะเลมาอยู่แถวนี้เพียบ เพราะในบริเวณใกล้เคียงกันมีสัตว์กลุ่มนี้อาศัยอยู่มาก ยังหมายถึงปะการังอ่อนบางสกุล แต่ใครหวังอยากเห็นปะการังดำต้นใหญ่หรือฟองน้ำครกขนาดยักษ์ ผมไม่ค่อยมั่นใจว่าจะมี อย่างเก่งก็คงเป็นแส้ทะเล (ลองไปเรือสัตกูดสิครับ ในไม่ช้าน่าจะมีทั้งปะการังดำทั้งฟองน้ำยักษ์)

สิ่งมีชีวิตอีกกลุ่มที่จะเข้ามาแน่คือปลาทั้งหลาย แค่เรือลงไปในน้ำได้ไม่เท่าไหร่ สลิดทะเลฝูงใหญ่ก็ว่ายเข้ามาแล้วครับ ยังหมายถึงปลามงและปลากลางน้ำอื่นๆ หากลงไปตามลำเรือ เราคงพบปลาไหลมอเรย์ตาขาว ปลาผีเสื้อเหลืองชุมพร (พบเฉพาะอ่าวไทย ที่ชุมพรเยอะสุด) ปลาสินสมุทรลายฟ้า และปลาอื่น ๆ อีกหลายสิบชนิด ข้อมูลที่เราสำรวจเกาะง่ามน้อยระบุว่า แถวนี้มีปลาไม่ต่ำกว่า 100 ชนิดครับ แต่ถ้าเอาให้เจ๋ง เราอาจมีสิทธิเจอฉลามวาฬว่ายข้ามเรือ (มีรายงานว่าเจอประจำโดยเฉพาะช่วงสงกรานต์และหลังจากนั้นนิดหน่อย)



มาถึงเรื่องการดำน้ำ เรืออยู่ในระดับความลึกเพียง 20 เมตร นักดำน้ำขั้นต้นสามารถลงไปดูได้ตลอดทั้งลำ แต่คงต้องระวังอย่าเตะขาไปโดนตะกอนบนพื้นทรายเพราะบางเวลากระแสน้ำอาจไหลเข้าหาเกาะ นอกจากนี้ การพักน้ำอาจทำได้ยากหน่อยเพราะจุดที่ตื้นสุดของเรือคือกราบซ้ายที่ความลึก 15 เมตร ผมไม่เห็นทุ่นในบริเวณนั้น แต่ในอนาคตคงมีการวางทุ่นที่จะช่วยทั้งการจอดเรือและการพักน้ำของเหล่ามนุษย์กบ

จุดน่าสนใจอันดับแรกคือหมายเลข 741 ที่หัวเรือ ถัดจากนั้นคือป้อมปืนหน้า แม้จะสวยสู้ป้อมปืนหลังไม่ได้ แต่ผมเชื่อว่าหลายคนคงหยุดถ่ายภาพแถวนี้ เลยต่อไปคือดาดฟ้าและหอบังคับการ นักดำน้ำอาจโผล่หน้าเข้าไปดูข้างใน (แต่ไม่มีอะไรเหลือ เราเก็บขึ้นใส่พิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างบริเวณหาดทรายรีครับ) บนหลังคาหอยังมีธงชาติไทยเด่นสง่า ถัดไปอีกนิดคือป้ายชื่อเรือพร้อมรายละเอียด มาถึงป้อมปืนท้ายอันเป็นจุดน่าสนใจที่สุดของเรือลำนี้ หากผมเข้าใจไม่ผิด ใต้ทะเลไทยไม่มีเรือลำใดที่มีป้อมปืนเหลืออยู่ (ในอนาคตจะมีอีกลำ เรือหลวงสัตกูดแห่งเกาะเต่า)

ผลจากเรือตะแคงทำให้การปรับปรุงเรือก่อนหน้ามีปัญหาบ้าง เดิมทีเราขอให้ช่างช่วยถอดประตูหน้าต่างรวมถึงการเจาะช่องแสงเพื่อช่วยให้นักดำน้ำที่มีประสบการณ์สามารถเข้าไปภายในเรือได้ แต่เมื่อเรือตะแคง แสงก็เลยเข้าช่องน้อยลง ข้างในค่อนข้างมืด อีกทั้งทางเดินหรือใดๆก็ตามอยู่ในสภาพพิสดาร เหมือนเอาห้องตะแคงข้าง 90 องศา ผมจึงไม่แนะนำให้เข้าไปข้างในลำเรือยกเว้นผู้เชี่ยวชาญในด้านการดำน้ำในเรือจม

ทั้งหมดนั้นเป็นข้อมูลขั้นต้นเกี่ยวกับเรือหลวงปราบเท่าที่ผมปั่นต้นฉบับทัน หากท่านใดสนใจ ในงานมหกรรมดำน้ำ TDEX ที่จะจัดในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ ระหว่างวันที่ 26-29 พฤษภาคม เรามีบู๊ทเกี่ยวกับเรือปราบและเรือสัตกูดโดยเฉพาะ ผมเตรียมแผนผังเรือและภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวไว้เรียบร้อย รวมถึงคลิปเร้าใจช่วงเรือปราบกำลังลงสู่ท้องทะเล (เคราะห์ดีที่กล้องของเราไม่โดนทับจนแบน) ขอเชิญไปพูดคุยไถ่ถามกันได้ครับ เค้าว่า MC สวยเฉียบเนี๊ยบอย่าบอกใคร

Mission Gunship ยังไม่จบง่ายๆ ผมจะมารายงานความคืบหน้าของเรือปราบต่อไป รวมทั้งการนำเรือหลวงสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเลเกาะเต่าครับ




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 29 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 06-06-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Mission Gunship (4) ........................ ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



ในช่วงมหกรรมดำน้ำ TDEX ที่ผ่านมา ปตท.สผ.เปิดบู๊ทโครงการวางเรือหลวงสัตกูดและเรือหลวงปราบให้เป็นแหล่งดำน้ำที่ทะเลสุราษฎร์ธานีและทะเลชุมพร ตลอดงาน 4 วัน มีนักดำน้ำจำนวนมากเข้ามาถามไถ่ดูภาพดูวิดีโอพร้อมขอรับโบรชัวร์กลับไปศึกษา ส่วนใหญ่บอกว่าอยากลองไปสักครั้ง ยิ่งได้ทราบว่าเรือทั้งสองลำยังมีป้อมปืนเหลืออยู่ยิ่งอยากเห็น เพราะเรือจมทุกลำในเมืองไทยไม่มีลำไหนมีป้อมปืนเหลืออยู่เลยครับ เคราะห์ดีที่พวกเราคิดเช่นนั้นและรีบขอปืนจากกองทัพเรือกลับมาติดไว้ครบครันทั้งสองลำ เป็นปืนต่อสู้อากาศยานขนาดใหญ่พร้อมป้ายบอกความโบราณระดับรุ่นคุณปู่คุณย่า

คุณครูสอนดำน้ำบางท่านบอกกับผมว่า เรือทั้งสองลำจะช่วยลดปริมาณนักดำน้ำในแนวปะการังได้แน่นอน อย่างน้อยกลุ่มของครูพาลูกศิษย์ไปสอนดำน้ำระดับ Advance ที่ชุมพรเป็นประจำ เดิมทีเคยวนเวียนอยู่ในแนวปะการังรอบแล้วรอบเล่าจนนักดำน้ำเริ่มเบื่อ เมื่อมีเรือปราบมาอยู่ที่นี่ย่อมเป็นทางเลือกชั้นยอด นอกจากช่วยธรรมชาติแล้ว ยังสามารถใช้เป็นที่เรียนวิชา Wreck Dive หรือเทคนิคการดำน้ำแบบเรือจมอีกด้วย

พอผมลองคุยกับเพื่อนๆ ผู้ประกอบการโรงแรมและร้านดำน้ำที่เกาะเต่า ทั้งหมดดีใจที่จะมีเรือสัตกูดมาอยู่ที่นี่และจะไปดำน้ำดูแน่นอน ผมเชื่อว่าในแต่ละวันคงมีมนุษย์กบไปเยี่ยมเยียนเรือสัตกูดหลายสิบคน และค่อนข้างมั่นใจว่าอีกไม่นานเรือลำนี้จะกลายเป็นแหล่งดำน้ำเรือจมที่มีคนไปเที่ยวมากสุดในเมืองไทยหรือแม้กระทั่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องนี้ไม่ได้เว่อร์นะครับ เพราะปัจจุบันเกาะเต่าเป็นบริเวณที่มีการเรียนการสอนดำน้ำติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกมานานแล้ว มีมนุษย์กบไปดำน้ำรอบเกาะเต่าวันละหลายร้อยคน เรือสัตกูดอยู่กลางอ่าวทางทิศตะวันตกของเกาะเต่า เป็นจุดที่เข้าถึงแสนง่ายแถมยังดำน้ำได้เกือบทุกฤดูกาล ปีแรกคงมีการดำน้ำไม่ต่ำกว่าหมื่นครั้ง ส่วนปีถัดไป อาจมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ เนื่องจากพอมีปะการังดำมีฟองน้ำครกมีฝูงปลามาอาศัย เรือย่อมน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

ผมยังมีโอกาสพบปะกับเหล่ามนุษย์กบทั้งไทยทั้งฝรั่งที่กำลังวางแผนสร้างแหล่งดำน้ำใหม่ด้วยแนวคิดคล้ายคลึงกัน ส่วนใหญ่จะอยู่ในฝั่งอันดามันครับ เพราะจังหวัดที่เป็นแหล่งดำน้ำหลักๆของเราในอ่าวไทยก็มีแค่ ชลบุรี (พัทยา) ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ทั้งสามล้วนมีแหล่งดำน้ำแบบเรือรบ (เรือหลวงครามและกูดที่พัทยา เรือปราบที่ชุมพร และเรือสัตกูดที่เกาะเต่า) เท่าที่ทราบ คนกระบี่ก็อยากได้ คนภูเก็ตก็สนใจ คนตรังก็ต้องการ แต่ปัญหาสำคัญคือเรือรบปลดระวางล้วนอยู่ในฝั่งอ่าวไทย เราจะนำเรือรบขนาดใหญ่อ้อมแหลมมลายูไปทะเลอันดามันได้อย่างไร เพราะเรือพวกนี้ต้องถูกลากจูงไป ค่าใช้จ่ายคงสูงมากอีกทั้งยังต้องทำเรื่องผ่านแดนยุ่งยากไม่น้อยแน่ แต่ถ้ามีสปอนเซอร์รายใดใจป้ำสนับสนุนโครงการแถวนั้น เชื่อว่าคนอันดามันคงดีใจครับ

ก่อนจากกัน ผมทำตารางสรุปข้อมูลในแหล่งดำน้ำทั้งสองแห่งเพื่อเป็นไกด์ไลน์สำหรับคุณๆที่สนใจไปดำน้ำที่เรือปราบและเรือสัตกูด แล้วจะพา Mission Gunship มาพบกับพวกเราอีกครั้งเมื่อเรานำเรือสัตกูดไปลงสู่พื้นทะเลเกาะเต่าครับ

ตารางสรุปผลของแหล่งดำน้ำเรือหลวงปราบและเรือหลวงสัตกูด





จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 5 มิถุนายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #27  
เก่า 27-06-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Mission Gunship (The End) ................. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์



เรือของเราเดินทางจากหาดทุ่งวัวแล่น ชุมพร ตั้งแต่เช้าตรู่ ทีมงานที่เพิ่งออกจากกรุงเทพเมื่อตอนกลางดึกทำท่างัวเงีย เมื่อขึ้นเรือได้ก็ล้มลงนอนคนละตึงสองตึง ผิดกับผมผู้เดินทางโดย Solar Air มาถึงชุมพรตั้งแต่เมื่อวาน จึงมีเวลาพักผ่อนเต็มที่ แม้สายการบินใหม่เอี่ยมจะสร้างความรู้สึกเร้าใจด้วยเครื่องบินใบพัดรุ่นไม่ธรรมดา คุณแอร์ต้องค้อมตัวเดินไปมาเพราะเพดานเครื่องบินเตี้ยกว่าความสูงมนุษย์ แต่หากตัดความหวาดเสียวในเรื่องนั้น ผมชอบโซล่าร์แอร์เพราะบินสูงเพียง 10,000 ฟุตเหนือระดับน้ำทะเล แค่มองออกนอกหน้าต่างก็เห็นพื้นเบื้องล่างชัดเจน พอเลยหัวหินไปนิด ผมรีบชะโงกหน้าหาเป้าหมายอันเกี่ยวพันถึง Mission Gunship เกาะหินปูนสูงชันที่อยู่เกือบติดชายฝั่งสามร้อยยอดปรากฏอยู่เหนือผิวน้ำสีเขียวมรกต นั่นคือ “เกาะสัตกูด” ชื่อของเกาะกลายเป็นชื่อของเรือรบหลวงที่กำลังจะปฏิบัติภารกิจสุดท้ายใต้ทะเลเกาะเต่า เป้าหมายของเราในวันนี้

แต่ก่อนถึงเกาะเต่า เรือแล่นผ่านเกาะง่าม เมื่อเดือนก่อนผมเพิ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ในปฏิบัติการนำเรือหลวงปราบลงสู่พื้นท้องทะเล แม้เรือจะตะแคงข้าง แต่นักดำน้ำยังให้ความสนใจมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย ผมจึงถือโอกาสพาทีมแวะเข้าไปติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เราแบ่งงานเป็น 4 ส่วน เริ่มจากการตรวจสอบสภาพเรือ หนึ่งเดือนที่ผ่านไปไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากนัก ตัวเรือมีสภาพคล้ายตอนแรก สำหรับข่าวโคมลอยในอินเตอร์เน็ตบอกว่าปืนใหญ่หายไปแล้ว ยืนยันว่าไม่เป็นจริงแน่นอน ปืนทั้งสองกระบอกยังอยู่ดี ภาพนักดำน้ำถือเลื่อยที่ปรากฏอยู่ในบางเว็บเป็นภาพของไดฟ์ลีดเดอร์ที่ถือเลื่อยลงไปตัดเชือก มิใช่ไปเลื่อยปืนครับ

ตามลำเรือมีผลึกสารสีขาวอยู่บ้าง ดูแล้วลักษณะคล้ายผลึกสารพวกซิลิเกตหรือฟอสเฟต แต่เพื่อให้ชัวร์ ผมเก็บใส่ถุงมาวิเคราะห์ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล ม.เกษตรศาสตร์ เสร็จจากนั้นเราลงไปดูสภาพพื้นท้องทะเลว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตะกอนสองด้านของเรือแตกต่างกัน ฝั่งด้านท้องเรือเป็นตะกอนหยาบ ด้านตัวเรือเป็นตะกอนละเอียด ลักษณะเช่นนี้ไม่แปลกเพราะกระแสน้ำจะพัดมาชนท้องเรือก่อนลอยข้ามลำเรือ บางส่วนจะวกกลับมาในตัวเรือทำให้ตะกอนละเอียดตกบริเวณนั้น

งานส่วนที่ 2 และที่ 3 คือการศึกษาสัตว์ที่พบตามเรือ แบ่งเป็นสัตว์เกาะติดและปลา เราพบไบรโอซัวหรือสัตว์เกาะติดที่มีลักษณะคล้ายฝ้าสีขาวอยู่ตามผิวเรือ ไบรโอซัวมักเป็นสิ่งมีชีวิตกลุ่มแรกที่ลงเกาะบนพื้นผิวแข็งใต้ทะเลเสมอ แต่คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จักสัตว์กลุ่มนี้

ตามพื้นทะเลรอบเรือเต็มไปด้วยปลิงหนามที่เข้ามากินตะกอน ยังมีปูเสฉวนอยู่ทั่วไป รวมทั้งหอยเต้าปูนสามสี่ตัวที่ผมยังสงสัยว่าทำไมโผล่มา เมื่อลองมองดูปลา เราพบปลาไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นลูกปลาสลิดหินเป็นฝูงเล็กบ้างใหญ่บ้าง มีปลาอื่นแอบตามจุดต่าง ๆ เช่น ปลาดุกทะเลในห้องเคบิน ปลาสิงโตรายแรกที่เข้ามาปักหลักพักอาศัย ยังมีฝูงปลาสากและปลากะรังเมือกเหลืองดำจำนวนหลายสิบตัว ลูกศิษย์ของผมกลุ่มหนึ่งเจอเต่าพุ่งเข้าใส่ เรายังเจอกระเบนหลังดำกว้างราว 1 เมตร ว่ายเข้ามาหากินบริเวณปลายแหลมใกล้ตัวเรือ

งานส่วนสุดท้ายคือการตรวจสอบสภาพแนวปะการังในจุดที่ใกล้ตัวเรือมากที่สุด เราพบปะการังและดอกไม้ทะเลบนก้อนหินความลึกตั้งแต่ 2-14 เมตร ทีมงานจึงช่วยกันติดตั้งจุดสำรวจถาวรเกือบ 50 จุดในทุกระดับความลึก อีกทีมติดตามดูปลาในแนวปะการังได้มากว่า 50 ชนิด เมื่อเทียบกับปลาที่พบในเรือแล้ว ถือว่าปลาที่เรือยังมีน้อย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะเรือปราบเพิ่งอยู่ใต้ทะเลมาแค่ 1 เดือน จากข้อมูลที่ผมเคยศึกษาปะการังเทียม คงต้องใช้เวลาประมาณ 4 เดือนกว่าปลาที่เรือจะมีปริมาณและจำนวนชนิดเพิ่มขึ้นชัดเจนครับ

เราเสร็จภารกิจยามบ่าย ผมสบายใจเมื่อเห็นเรือปราบอยู่ในสภาพดี แถมยังมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเรือพานักดำน้ำแวะเวียนมาเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ฝั่งอันดามันมีคลื่นลมแรง เรือทัวร์ดำน้ำจะข้ามมาฝั่งอ่าวไทย เรือปราบจึงกลายเป็นแหล่งดำน้ำทางเลือกของเหล่ามนุษย์กบ ช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการังแถวนี้อย่างทันตาเห็น

จากเกาะง่ามไปเกาะเต่าใช้เวลานั่งเรือเกือบสี่ชั่วโมง พอเข้าไปในอ่าวหาดทรายรี ผมเห็นเรือสัตกูดลอยเด่นเป็นสง่า แต่ดูแล้วว่าน่าจะอยู่ในที่ลึกเกินไป ผมจึงแวะเข้าไปพูดคุยกับทีมงานนำเรือลงสู่พื้นทะเล ขอให้เขาเขยิบเรือเข้ามาสู่ความลึก 28 เมตรตามที่วางแผนไว้ โดยยังรักษาระยะห่างจากแนวปะการังบริเวณหินขาวและหินพีวีอย่างน้อย 400 เมตร เสร็จแล้วผมก็ขึ้นไปบนเกาะเพื่อร่วมงานต้อนรับเรือสัตกูด มีผู้คนมาร่วมงานบริเวณท่าเรือหลายร้อยคน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งไทยทั้งฝรั่งต่างเข้ามาถามไถ่ ผมลองแจกแบบสอบถามปรากฏว่ามีไม่ต่ำกว่า 20 ร้าน เมื่อดูจากผู้ประกอบการทั้งเหาะที่มีราว 40 ร้าน (ข้อมูลจากท่านผู้ใหญ่บ้าน) ถือว่าเป็นงานเปิดตัวที่มีผู้เข้าร่วมเยอะใช้ได้ ผมยังทำโปสเตอร์มาให้ปตท.สผ.เพื่อแจกกับผู้เกี่ยวข้องอีก 100 ชุด เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างโดยเฉพาะข้อควรปฏิบัติในการดำน้ำบริเวณเรือจมครับ

คืนแรกบนเกาะเต่าผ่านไป เช้าวันใหม่มาเยือนพร้อมกับสายลมที่ทวีกำลังแรงขึ้นจนกลายเป็นคลื่นพัดสู่ริมหาด แม้จะเป็นอุปสรรคอยู่บ้างแต่เชื่อว่าคงไม่ถึงขั้นนำเรือลงไม่ได้ ชาวเกาะเต่าพากันแห่แหนลงไปทะเล บ้างก็ไปร่วมงานที่ริมหาด อีกหลายคนลงเรือไปลอยลำอยู่รอบสัตกูด เมื่อถึงเวลาราวสิบโมงเช้า ผมนับเรือใหญ่น้อยได้ 28 ลำ มีคนอยู่ไม่ต่ำกว่าสี่ห้าร้อยคนที่รอดูสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเล

สิบโมงเช้าคือเวลาที่ทีมงานจากอู่กรุงเทพเริ่มปล่อยน้ำเข้าเรือ ครั้งก่อนตอนเรือปราบใช้เวลาไม่ถึงสองชั่วโมง แต่เรือเอียงขวาจนลงสู่พื้นทะเลในลักษณะตะแคงข้าง ครั้งนี้ผมได้แต่ภาวนาว่าสัตกูดจะลงสู่พื้นในลักษณะตั้งตรง แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล เรือเริ่มเอียงขวาในลักษณะคล้ายกับเรือปราบ ผมส่องกล้องจากเรือวิจัยเห็นทีมงานพยายามแก้ไข แต่ผมคงบอกรายละเอียดไม่ได้ว่าเขาทำยังไงบ้าง เพราะข้าพเจ้าไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ สิ่งเดียวที่ผมทำได้คือติดตั้งกล้อง GoPro ไว้บนเรือเพื่อบันทึกภาพขณะเรือสัตกูดลงสู่พื้นท้องทะเล

ในครั้งที่เรือปราบลงทะเล เราได้ภาพดี ๆ มาทั้งสองมุมมอง นอกจากนำมาเผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์หลายช่องแล้ว วิดีทัศน์ชุดนั้นช่วยให้เราศึกษาผลกระทบจากตะกอนที่ฟุ้งกระจายหรือสิ่งอื่น ๆ บนเรือที่อาจหลุดลอยออกมา ผมลองดูทุกมุมแล้วพบว่ามีตะกอนไม่มาก อีกทั้งยังไม่พบคราบน้ำมันใด ๆ ถือว่าการทำความสะอาดเรือได้ผล มาครั้งนี้ผมได้รับความสนับสนุนจากบริษัท GoPro โดยตรงจึงเพิ่มจำนวนกล้องเป็น 5 ชุด หวังว่าจะได้ภาพดี ๆ เพิ่มขึ้น หรืออย่างเลวร้ายก็ขอแค่เรือไม่ลงไปในมุมที่ทับกล้องพวกนั้นบี้แบน ไม่งั้นเป็นเรื่องแน่ครับ (เฉพาะค่ากล้องบวกกล่องกันน้ำก็เกือบแสนห้าแล้วจ้ะ)

เวลาผ่านไปตามลำดับ จากสิบโมงเป็นเที่ยงเป็นบ่าย เรือยังเอียงเหมือนเดิม ทะเลยังมีคลื่นเช่นเดิม แต่ครั้งนี้เริ่มมีกลุ่มเมฆดำลอยมาจากฝั่งชุมพร เป็นอิทธิพลของลมตะวันตก จากนั้นฝนก็กระหน่ำลงจากฟากฟ้าห่าใหญ่ ผมมองแทบไม่เห็นเรือสัตกูดที่อยู่ห่างไปเพียงสองสามร้อยเมตร เรือหลายลำที่เฝ้าตั้งแต่เช้าเริ่มทยอยกลับเข้าสู่ฝั่ง แต่มาถึงขั้นนี้ข้าพเจ้าไม่หนีอยู่แล้ว ผมตัดสินใจตั้งป้อมอยู่ท่ามกลางพายุฝน สิ่งที่กลัวมากสุดคือเรือสัตกูดจะลงสู่พื้นท้องทะเลในช่วงนั้นแล้วเราจะไม่เห็นภาพเหตุการณ์ตอนลง แต่เมื่อฝนเริ่มซาราวบ่ายโมงครึ่ง เรือสัตกูดยังลอยลำอยู่ที่เดิม ในสภาพเอียงขวาคล้ายเดิม

เวลาผ่านไปสี่ชั่วโมง เรือยังคงไม่ลงสู่พื้นทะเล ถึงตอนนี้ผมแทบหมดหวังกับภาพจากกล้องโกโปร เพราะแบตเตอรี่จะอยู่ได้แค่ 2 ชั่วโมงเศษ ไม่นับการ์ดที่ความจุคงไม่พอบันทึกข้อมูลต่อเนื่องยาวนานขนาดนั้น เคราะห์ดีที่ผมส่งลูกศิษย์ขึ้นไปบนเรือเพื่อปิดกล้องชั่วคราว แต่เนื่องจากเราไม่แน่ใจว่าเรือจะลงสู่ทะเลเมื่อไหร่ เราจึงปิดได้แป๊บเดียวก่อนเปิดใหม่ แล้วมันจะเวิร์คไหมหนอ

บ่ายสองโมงเศษ ฟ้ายังมืดครึ้มแต่คลื่นไม่แรง เรือเริ่มตะแคงขวาจนน้ำท่วมกราบ พวกเราที่อยู่บนเรือวิจัยพยายามเชียร์ให้เรือลงไปในสภาพตั้ง แต่พลังใจคงส่งไปไม่ถึง เรือเอียงขวามากขึ้นจนตะแคงลำบนผิวน้ำ จากนั้นจึงลงในลักษณะกึ่งคว่ำโดยท้ายเรือเอียงลงไปก่อน สภาพเช่นนี้ต่างจากเรือปราบที่หัวเรือเชิดสูงเหนือพื้นน้ำ ผมนำภาพต่อเนื่องมาให้พวกเราลองชมกันครับ

เรือลงสู่พื้นแล้ว ฟองอากาศยังพรั่งพรูอยู่นานพอควร พวกเรารีบใส่ชุดเพื่อลงดำน้ำให้เร็วที่สุด เนื่องจากผมไม่ไว้ใจว่าเรือลงในสภาพนี้ กล้องที่ติดตั้งอยู่จะเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ฟ้าที่มืดครึ้มทำให้ใต้ทะเลแทบไร้แสง ขืนรอไปถึงช่วงเย็นย่ำ มีหวังเราต้องคลำหากล้อง จะทิ้งไว้ข้ามคืนก็ใช่ที่ พวกเราจึงรีบดำดิ่งตามเรือลงไปในเวลาคล้อยหลังเพียงไม่กี่นาที ยังคงเห็นฟองอากาศผุดออกมาจากเรือเป็นสายพรั่งพรู มองลึกไปอีกนิด เห็นกราบเรือสัตกูดพร้อมตัวเลข 742 ชัดเจน แต่พอลงไปถึงกราบเรือ ปรากฏว่าเรืออยู่ในสภาพเอียงกว่าปรกติเล็กน้อย ส่วนท้องอยู่ที่ความลึกราว 22 เมตร ถือเป็นจุดที่ตื้นสุดของเรือสัตกูด ส่วนอื่น ๆ จะลึกกว่านั้น ที่สำคัญคือตะกอนยังคงฟุ้งกระจาย ทำให้ทีมงานมองไม่เห็นแม้กระทั่งมือตัวเอง ต้องใช้วิธีค่อย ๆ คลำเพื่อตามหากล้องที่ติดตั้งไว้

หนึ่งตัวครับ ! ลูกศิษย์ผมตอบด้วยเสียงแหบแห้งหลังจากนับจำนวนกล้องที่เราสามารถนำขึ้นมาได้ ผมกลืนน้ำลายเอื๊อก ติดลงไปห้าตัวได้คืนมาหนึ่งตัว งานนี้มีแต่เจ๊งกับเจ๊ง Mission Gunship จึงต้องเปลี่ยนเป็น Mission เอากล้องข้อยคืนมา แต่ผมยังไม่ห้าวพอส่งทีมงานที่เหลือลงน้ำ แม้พวกนั้นจะเคยดำน้ำศึกษาวิจัยมานับร้อยครั้ง แต่การลงไปคลำหากล้องในเรือที่อยู่สภาพตะแคงจนเกือบคว่ำที่ความลึกร่วม 30 เมตร ในทะเลที่แทบไม่มีแสงเหลือ แถมยังมีแต่ตะกอนเต็มไปหมด งานนี้เสี่ยงเกินไป เราจึงจำเป็นต้องปล่อยให้กล้องสี่ตัวมูลค่าราคาแสนกว่าแช่อยู่ในน้ำตลอดคืน พอตื่นเช้าปุ๊บ เราลงไปในน้ำอีกครั้ง ตะกอนมีน้อยลง เราวางแผนดียิ่งขึ้น จึงสามารถกู้กล้องทั้งสี่ตัวคืนมาได้ทั้งหมด แม้จะไม่สามารถบันทึกภาพไว้เนื่องจากการ์ดเต็มเสียก่อน อย่างน้อยก็มีภาพจากกล้องตัวแรกที่ไส่การ์ดความจุเยอะกว่ากล้องอื่น สามารถบันทึกเหตุการณ์ระหว่างเรือลงสู่ท้องทะเล

(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #28  
เก่า 27-06-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


Mission Gunship (The End) ............. (ต่อ)


กลับมาดูที่เรือสัตกูด ผมไม่สามารถบอกได้ว่า ทำไมเรือถึงตะแคงลงพื้น นั่นเป็นส่วนที่อยู่นอกเหนือความรู้ความชำนาญของผม แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมต้องคิดหนัก เริ่มจากอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งไว้ ในครั้งเรือปราบก็หนหนึ่งแล้ว พวกเราต้องไปปรับไปแก้เครื่องมือต่าง ๆ จากสภาพตั้งตรงเป็นสภาพตะแคง มาถึงเรือสัตกูด เราเดินทางไปติดตั้งอุปกรณ์และจัดเตรียมพื้นที่ศึกษาบนเรือทุกจุดทุกระดับความลึก แต่เรือก็ดันอยู่ในสภาพตะแคงหนักกว่าเรือปราบด้วยซ้ำ ทุกจุดศึกษาจึงต้องปรับเปลี่ยนหมด อีกทั้งผมคงต้องตัดบางจุดทิ้งเพราะอยู่ในระดับความลึกมากเกินไปและแสงน้อยเกินไป โดยเฉพาะในห้องต่าง ๆ ตามลำเรือที่คงไม่สามารถเข้าไปข้างในได้ยกเว้นจะฝึกฝนมาพิเศษสุด ๆ (พิเศษมากขนาดครูสอนดำน้ำยังไม่กล้าเข้าครับ)

เรื่องดำเนินมาถึงตอนนี้ แม้ Mission Gunship จะไม่สำเร็จเรียบร้อยทุกประการ แต่อย่างน้อยเรือทั้งสองลำก็ลงไปอยู่ที่พื้นท้องทะเล ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ ผมให้ความสนใจในเรือปราบมากกว่า เนื่องจากอยู่ในระดับความลึกที่เหมาะสม นักวิทยาศาสตร์สามารถทำงานได้ เรือลำนี้จะเป็นแหล่งศึกษาใต้ทะเลไทยไปอีกนานแสนนาน สำหรับเรือสัตกูด ผมคงได้แต่รอว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจะหารือกันว่าอย่างไร แต่อย่างน้อยผมก็เห็นความตั้งใจจริงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะปตท.สผ.และผู้คนในท้องถิ่นที่ทุ่มเทกันสุด ๆ

นี่ไม่ใช่จุดจบ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ผมเคยเห็นประโยคนี้ในหนังสือหรือในภาพยนตร์หลายเรื่อง แต่ที่ผมยกมาปิดท้ายซีรี่ส์ Mission Gunship ไม่ใช่เพราะเท่ดี แต่ผมเชื่อว่าประโยคนี้เป็นจริงสำหรับโครงการเรือปราบและเรือสัตกูด เพราะยังมีเรื่องอีกมากมายรอให้เรากระทำ ยังมีเวลาอีกยาวนานที่จะท้าทายความมุ่งมั่นที่เราตั้งใจไว้ ผลสำเร็จจะมาช้าทว่ามาแน่หากคุณไม่แปรเปลี่ยนไป ขอเพียงเราเชื่อใจซึ่งกันและกัน เชื่อมั่น และอดทนพยายามครับ




จาก ................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 มิถุนายน 2554


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #29  
เก่า 27-06-2011
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



หุๆ....น้องแจ้ที่ถือเลื่อยลงไปตัดเชือก ที่ภาพปรากฏในบ้าน sos เกือบจะได้กลายเป็นผู้ร้ายไปซะแล้ว เพราะคนปากเสียนะคะ


การวางเรือปราบและเรือสัตกูตที่เป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอย นอนคะแคงข้างเหมือนๆกัน จะมีเบื้องหลังอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไปนะคะ

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 02:35


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger