เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 02-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


จากเฮติ ไปชิลี จากญี่ปุ่น ถึงประเทศไทย



วันที่ 12 ม.ค. 2553 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7 ริกเตอร์ ที่ประเทศเฮติ ยังผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และชีวิตผู้คนมากมายเหลือคณานับ...

เสียงกู่ร้องและคราบน้ำตายังไม่ทันเหือดหาย วันที่ 27 ก.พ. 2553 ธรณีพิโรธอีกครั้ง วัดระดับความรุนแรงได้ 8.8 ริกเตอร์ ที่ประเทศชิลี ทั้งยังเกิดแผ่นดินไหวต่อเนื่องหรือ “อาฟเตอร์ช็อค” ตามมากว่า 50 ครั้ง ครั้งรุนแรงที่สุดวัดได้ 6.9 ริกเตอร์ ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดคลื่นยักษ์ซัดถล่มชายฝั่งชิลี สร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินและชีวิตผู้คนมากมายเป็นประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่ปี 1900 เป็นต้นมา ขณะท่ี 53 ประเทศและดินแดนทั้งในและรอบๆมหาสมุทรแปซิฟิก ไล่ตั้งแต่ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮาวาย จนถึงรัสเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ประกาศเตือนภัยจากคลื่นยักษ์ “สึนามิ” กันอย่างโกลาหล

จากเหตุการณ์ร้ายแรงข้างต้น ดร.สมิทธ ธรรมสโรช อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ บอกว่าหลายคนคิดว่าเหมือนจะไม่เกี่ยวอะไรกับคนไทย เพราะดูเหมือนว่าห่างไกลเหลือเกิน ไทยรัฐออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษเพื่อให้รู้เท่าทันกับธรรมชาติพิโรธที่คนไทยและผู้เกี่ยวข้องทุกๆคนควรรู้



Q : เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เฮติ แผ่นดินไหว, อาฟเตอร์ช็อค และสึนามิ ที่ชิลี 8.8 ริกเตอร์ คำถามคือ พิบัติภัยร้ายแรงดังกล่าว สะท้อนอะไรกับเราที่อยู่ในประเทศไทยได้บ้าง?

A : มันก็ไม่ได้สะท้อนอะไร นี่เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกตามธรรมชาติของเขา ซึ่งมันเป็นคนละแผ่นกับเมื่อครั้งที่เกาะสุมาตรา วันที่ 26 ธ.ค. 2547 เป็นผลให้เกิดสึนามิและประเทศไทยมีคนตายมากมาย แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือมันไม่จำเป็นต้องแผ่นเดียวก็ได้ คราวที่แล้วเกิดที่เฮติมันก็เป็นคนละแผ่นกัน การเคลื่อนตัวของเปลือกโลกที่มีอยู่อีกประมาณ 20 แผ่น แบ่งเป็นแผ่นเล็กแผ่นใหญ่อยู่ทั่วโลก คือเหมือนกับเวลาเราปอกเปลือกส้ม มันก็มีแผ่นๆที่คลุมโลกอยู่ ซึ่งพอมันชนกันแต่ละที แต่ละแผ่น แน่นอนว่ามันก็จะกระทบกระเทือนไปถึงแผ่นอื่นๆด้วย แต่ความกระทบกระเทือนมันจะมีมาก-น้อยไม่หมือนกัน ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 ที่เกาะสุมาตรามันมีการเคลื่อนตัวของเปลือกโลกแถวนั้น ทำให้รอยเลื่อนที่อยู่ในประเทศไทยที่ภาคเหนือ เชียงราย-เชียงใหม่ ซึ่งมีอยู่หลายจุดเกิดอาการมีการเคลื่อนตัวผิดปกติด้วย


Q : เหล่านักวิชาการจากจุฬาฯ การันตีว่าเหตุการณ์สึนามิจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน เมื่อพลังงานของโลกที่สะสมจนเกิดแผ่นดินไหวได้ถูกปลดปล่อยไปหมดแล้ว จะไม่เกิดแผ่นดินไหวซ้ำรอยเดิม?

A : เขาก็พูดได้ เพราะว่าเขาตายไปแล้วน่ะ อีก 600 ปี ซึ่งข้อเท็จจริง ผมมีสถิติที่เกิดขึ้นมาตั้ง 8 ครั้งแล้ว ผมส่งสถิติไปให้ท่านอาจารย์ทั้งหลายท่านดู นี่ไงมันเกิดขึ้นแล้ว ประเด็นก็คือพวกนี้ไม่มีการศึกษากันมากแล้วก็พูดๆไปอย่างนั้น แต่ข้อมูลไม่มี ทำให้คนเชื่อว่าไม่มี ก็เลยไม่มีการระวังตัว หรืออย่างเรื่องแผ่นดินไหวที่ประเทศไทย ผมทำสถิติไว้หมด จากเมื่อก่อนภาคเหนือโดยเฉพาะเชียงใหม่-เชียงรายเกิดแผ่นดินไหว 1-2 ครั้ง แต่ระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ภาคเหนือเกิดแผ่นดินไหวเป็นสิบครั้ง แต่ละครั้งก็มีความแรง 5-6-7 ริกเตอร์เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้การเกิดรอยเลื่อนในมหาสมุทรอินเดียเริ่มมีมากขึ้น แม้จะไม่มากพอที่จะทำให้เกิดสึนามิเท่านั้นเอง

ทั้งนี้ เราก็ต้องระวังเอาไว้ เพราะการเคลื่อนของเปลือกโลกใหญ่ๆ เช่นอย่างที่เกิดที่ประเทศชิลี ก่อนหน้านั้นมันก็เกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ฉะนั้น ธรรมชาติเรายังไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่สามารถรู้ล่วงหน้าว่ามันจะเกิดเมื่อไหร่ หากเกิดขึ้นจะรุนแรงมาก-น้อยแค่ไหนก็ไม่มีทางรู้


Q : รอยเลื่อนในประเทศไทยที่อันตรายมากๆ ที่จะทำให้แผ่นดินไหววันนี้มีอยู่ทั้งหมดกี่รอย?

A : เรามีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด 13 รอย ส่วนใหญ่อยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก ที่ จ.กาญจนบุรี มีอยู่ 2 รอย ซึ่งอันตรายพอสมควร แล้วก็ภาคใต้ 2 รอย เหล่านี้ก็ต้องระวัง แต่ที่ผมว่าน่าระวังมากที่สุดก็คือ รอยเลื่อนในมหาสมุทรอินเดีย แถวหมู่เกาะนิโคบา และหมู่เกาะอันดามัน เลื่อนลงไปทางใต้ไปจนถึงเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นรอยเลื่อนใหญ่ ที่มันเคยเกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2547 น่าเป็นห่วง


Q : แสดงว่ามีความเป็นไปได้มากที่จะเกิด เหมือนกับที่นักวิชาการจากสถาบันนิเวศวิทยาจากไอร์แลนด์เหนือ ที่ขึ้นชื่อว่าทำนายเหตุการณ์สึนามิได้แม่นยำมากที่สุด ส่งจดหมายเตือนภัยว่าอาจจะเกิดคลื่นยักษ์ที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวถล่ม ชายฝั่งเกาะสุมาตราในอนาคตอันใกล้?

A : ใช่ครับ ซึ่งผมก็เห็นด้วยกับเขา แต่ก็มีคนมาต่อว่าผมว่าพูดอะไรทำให้คนตกใจ เจตนาของผมก็คือต้องการให้พวกคุณระวังเอาไว้ เพราะรอยเลื่อนนี้มันมี เขามีการวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก ญี่ปุ่นเขาก็มีการวิจัยว่าในอนาคตมันจะเกิด แต่เกิดเมื่อไหร่ไม่ทราบเท่านั้นเอง พอพูดไปคนก็ต่อว่าว่าผมทำลายเศรษฐกิจ จริงๆ ญี่ปุ่นก็เห็นด้วยว่ารอยเลื่อนนี้ มันมีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหว เพราะคราวที่แล้วมันเกิดเฉพาะที่อยู่ทางใต้เท่านั้นเอง ระหว่างหัวเกาะสุมาตราไปทางใต้ เพราะฉะนั้นผลกระทบมันจะไปตกอยู่ที่อินโดนีเชียมาก แต่ถ้ามันเกิดระหว่างหัวเกาะสุมาตราขึ้นมาถึงหัวเกาะอันดามัน มันอยู่ตรงข้ามชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของประเทศไทยเลย แบบที่ผมบอก จ.ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ สตูล อันตราย



Q : ถ้ามันเกิดขึ้นแบบที่ว่าจริงๆ จินตนาการความเสียหายเอาไว้ไหมว่าจะมหาศาลแค่ไหน?

A: คำนวณง่ายๆ ว่าสึนามิครั้งที่แล้วมันไกลจาก 6 จังหวัดภาคใต้ถึง 1,200 กิโลเมตร แต่รอยเลื่อนอีกเศษ 3 ส่วน 4 มันอยู่ใกล้ประเทศไทยเพียง 300-400 กิโลเมตร ดังนั้นถ้าเกิดสึนามิขึ้น ไม่ว่าจะกี่ริกเตอร์ ประเทศไทยจะได้รับความเสียหายมากกว่าครั้งที่แล้วแน่นอน


Q : ตอนนี้เห็นข่าวว่า ศูนย์พิบัติภัยแห่งชาติ ซื้อทุ่นเตือนภัยเตรียมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว?

A : ซื้อแล้วก็จริง แต่ที่สำคัญแถวนี้เรายังไม่ได้วางทุ่นเอาไว้เลย ซึ่งจะวางทุ่นเตือนภัยได้ก็ต้องรอเดือนธันวาคมโน่นเลย ในปีหนึ่งเราจะสามารถวางทุ่นได้ครั้งเดียว คือในเดือนธันวาคมเพราะว่าเป็นเดือนที่มีคลื่นลมมันสงบ ก่อนหน้าเดือนธันวาคมนั้นก็ลำบากหน่อยเพราะว่าไม่มีใครเดาใจแผ่นดินไหวได้ ดังนั้นถ้าเกิดวันนี้พรุ่งนี้เกิดแผ่นดินไหวความเสียหายจะมากกว่าสึนามิครั้งที่แล้วมหาศาลมาก ใช่ครับ พูดไปแล้วผมก็โดนด่าอีก


Q : วันนี้เราพร้อมแค่ไหนที่จะเผชิญกับแผ่นดินไหวและสึนามิที่จะเกิดขึ้น?

A : วิจารณ์พวกเขาเดี๋ยวผมโดนฟ้องอีก นี่อาทิตย์หน้าผมก็ต้องไปขึ้นศาลคดีหมิ่นประมาทที่เขาหาว่าผมให้ไปทำลายชื่อเสียงเขา แต่ถามว่า วันนี้ถ้าติดตั้งทุ่นได้ในเดือนธันวาคมให้เรียบร้อยแล้วอย่างน้อยๆก็ 45 นาทีเราก็รู้ว่ามันจะเกิดสึนามิขึ้นหรือไม่ ประเทศต่างๆอย่าง พม่า อินโดนีเซีย บังกลาเทศ สิงคโปร์ ก็จะได้ประโยชน์ ถึงจะช้าแต่ก็ขอให้ติดเถอะ


Q : ก่อนหน้าเดือนธันวาคมที่เราจะไปติดตั้งทุ่นเตือนภัยที่จุดนั้น ถ้าวันนี้พรุ่งนี้เกิดสึนามิขึ้นเราจะมีวิธีการสังเกตและเอาตัวรอดจากสึนามิได้อย่างไร?

A : ตอนนี้รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเท่าที่ควร มีมูลนิธิโดยผมก่อตั้งได้ 6 เดือนแล้ว ซึ่งเราก็อปปี้ระบบของศูนย์พิบัติภัยแห่งชาติ ทำงานคู่ขนานออกไปให้ความรู้กับประชาชนเรื่องสึนามิ ซึ่งเราสามารถออกไปไหนก็ได้ไม่ต้องรอคำสั่งรัฐบาล แต่ตอนนี้ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติมันไม่มีคนทำแล้ว ไม่มีข่าวหรือคำเตือนออกมาเลย ซึ่งอันตรายมากๆ

ทุกๆครั้งที่ผมไปบรรยาย ผมจะบอกว่าให้คุณใช้วิธีสังเกตเหมือนชาวมอร์แกนเมื่อเกิดสึนามิ คือ ถ้ายืนอยู่บนชายฝั่งทะเลหรืออยู่ใกล้ชายฝั่ง รู้สึกถึงการเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง หลังจากนั้น 5-10 นาที ให้สังเกตดู ถ้าน้ำลดลงลึกจากชายฝั่ง 50 เมตรก็ให้รีบหาที่สูงเพราะหลังจากนั้นไม่กี่นาที มันจะมีคลื่นลูกแรกมา แค่นี้ก็รอดตาย


Q : ในวัย 73 ปี เหนื่อยและลำบากกับการทำเพื่อคนอื่นไหม?

A : เหนื่อยและก็ลำบากครับ นอกจากจะต้องสู้รบกับพวกนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วย ว่าเราอยากดังบ้าง แต่ถามว่าจะหยุดเมื่อไหร่ ไม่หยุดครับ ครั้งที่แล้วผมหยุดคนตายเยอะ ซึ่งพอมีคนมาค้าน ผมก็ไม่ไปภูเก็ต แต่ตอนนี้ถ้ามีคนมาค้านผมจะไม่หยุด ด่าก็ด่าไปให้คนเขารู้กันบ้างว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมจะทำเพื่อคนส่วนใหญ่ แต่คนที่เขาเสียผลประโยชน์ก็ด่าผม ซึ่งผมก็ไม่แคร์


Q : เมื่อเหนื่อย ลำบาก คิดบ้างไหมว่าจะปลดระวางหน้าที่นี้เมื่อไร?

A : ผมทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่มีแรง สุขภาพมันก็เริ่มแย่ลงไปทุกทีๆ เดินไปไหนมาไหนก็เริ่มเหนื่อย ถามว่าอายุ 80 ปีผมจะหยุดไหม (หัวเราะ) ก็ทำไปเรื่อยๆจนกว่าเราจะไม่มีแรงไม่มีงบประมาณ.

(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 02-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default






รวบรวมเหตุการณ์สำคัญของการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโลก

- ภูเขาไฟพีนาตูโบ ( Pinatubo ) อยู่ทางใต้ของเกาะลูซอน อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงมะนิลา เกิดระเบิดเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2534 (ค.ศ. 1991) หลังการระเบิดครั้งล่าสุดเป็นร้อยปี

- แผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดในโลก คือ แผ่นดินไหวที่ประเทศชิลี (The Great Chile Earthquake) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2503 (ค.ศ. 1960) มีความรุนแรง 9.5 ริคเตอร์ ประชาชนเสียชีวิต 5,700 คน สูญหาย 717 คน และทำให้เกิดคลื่นสึนามิไปถึงเกาะฮาวายและประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไกลถึง 6,600 ไมล์ มีคนเสียชีวิตหลายร้อยคน มูลค่าความเสียหาย 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คลื่นสึนามิยังข้ามไปถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์ ชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย

นอกจากนี้แผ่นดินไหวในประเทศชิลียังเกิดขึ้นต่อมาอีกในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2528 (ค.ศ. 1995) การเกิดแผ่นดินไหวทั้งสองครั้งเกิดมีคลื่นสึนามิตามมาด้วย ระยะห่างครั้งที่ 1 กับ 2 เป็นเวลา 25 ปี, ครั้งที่ 2 กับ 3 เป็นเวลา 10 ปี ครั้งต่อไปจะอยู่ในระหว่าง 2005 - 2015

- การเกิดระเบิดของภูเขาไฟเซนท์เฮเลนส์ ( Eruption of Mount Saint Helens ) เมื่อ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2523 ( ค.ศ. 1980 ) หลังจากที่เคยระเบิดเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2374 และ 2400 (ค.ศ. 1831 และ 1875 ) การระเบิดครั้งล่าสุด ได้พ่นเถ้าถ่านถึง 550 ล้านตัน กระจายครอบคลุมถึง 22,000 ตารางไมล์ ระยะห่างจากการระเบิดครั้งที่ 1 กับ 2 เป็นเวลา 20 ปี และระหว่างครั้งที่ 2 กับ 3 เป็นเวลา 29 ปี 8 เดือน ครั้งต่อไปจะเกิดประมาณ ปี 2009


การเกิดคลื่นสึนามิครั้งสำคัญของโลก

- ปี ค.ศ. 1929 ที่แกรนแบงค์ ประเทศแคนาดา จากการเกิด แผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ ความเสียหาย 400,000 เหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1946 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 7.8 ริกเตอร์ ความเสียหาย 24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1952 ที่รัสเซีย ความเสียหาย เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว 8.2 ริกเตอร์ ความเสียหาย 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1957 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 8.3 ริกเตอร์ความเสียหาย 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1960 ที่ประเทศชิลี จากการเกิดแผ่นดินไหว 9.6 ริกเตอร์ ความเสียหาย 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

- ปี ค.ศ. 1964 ที่อลาสกา จากการเกิดแผ่นดินไหว 8.4 ริกเตอร์ ความสียหาย 106 ล้านเหรียญสหรัฐฯ


การเกิดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียในอดีต

สึนามิ ได้เคยเกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคนี้ ( เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ) หลายครั้งในอดีต จากบันทึกที่เก่าแก่ที่สุด หรือก่อน ค.ศ. 326 เกิดแผ่นดินไหวใกล้สามเหลี่ยมปากแม่น้ำสินธุ อินเดีย ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ ทำลายกองเรืออันเกรียงไกรของอาณาจักรมาซิโดเนีย ของกษัตริย์ อเล็กซานเดอร์มหาราช ซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินทางกลับประเทศกรีก หลังจากเสร็จสิ้นสงครามขยายอาณาจักร ( Lietzin 1974 )

ค.ศ. 1524 แผ่นดินไหวไม่ทราบจุดศูนย์กลางที่ชัดเจน ทำให้เกิดสึนามิที่ใกล้เมือง Dabhol รัฐ Maharashtra ประเทศอินเดีย เมษายน 1762 แผ่นดินไหวที่ชายฝั่งอารากัน ประเทศพม่า ส่งผลให้เกิดสึนามิทำความเสียหายกับชายฝั่งทะเลอ่าวเบงกอล

ค.ศ. 1797 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.4 บริเวณตอนกลางของเกาะสุมาตราทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ท่วมเมือง Padang มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 300 คน

ค.ศ. 1883 แผ่นดินไหวขนาด 8.7 ตอนใต้ของเกาะสมาตราทางทิศตะวันตก ส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่ดังกล่าวและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ค.ศ. 1843 ไม่ปรากฏบันทึกการเกิดแผ่นดินไหว แต่มีคลื่นขนาดใหญ่ เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งเกาะ Nias และมีรายงานการสูญเสียชีวิตจำนวนมาก

ค.ศ. 1861 แผ่นดินไหวขนาด 8.5 ส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตรา ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

ค.ศ. 1881 แผ่นดินไหวขนาด 7.9 ที่บริเวณหมู่เกาะอันดามัน ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์สูง 1 เมตร กระแทกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรอินเดีย

27 สิงหาคม ค.ศ. 1883 เวลาเช้าตรู่เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa ที่ประเทศอินโดนีเซีย การระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องกันถึง 3 ครั้ง เป็นผลให้ปากปล่องภูเขาไฟ Krakatoa ถูกทำลายยังผลให้เกิดคลื่นยักษ์ทั่วบริเวณมหาสมุทรอินเดีย ความสูงของคลื่นที่เกาะชวาและสุมาตรา มีความสูงถึง 15-42 เมตร และมียอดผู้เสียชีวิตกว่า 36,000 คน.



จาก : ไทยรัฐ วันที่ 2 มีนาคม 2553

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 25-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รู้ได้อย่างไรเมื่อ “ภูเขาไฟ” จะระเบิด?


นักท่องเที่ยวแห่ชมการประทุลาวาของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “ฟิมม์วอร์ดูฮอลส์” (Fimmvorduhals) ในไอซ์แลนด์เมื่อเดือน มี.ค. (เอเอฟพี)

แม้การประทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์จะไม่คร่าชีวิตผู้คนโดยตรง แต่ได้สร้างความเดือดร้อนไปทั่วโลก โดยเฉพาะการสัญจรทางอากาศในยุโรปต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากเถ้าถ่านที่พวยพุ่งออกมาอาจสร้างความเสียหายต่อเครื่องบินได้ หากแต่ภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ยังส่งสัญญาณเตือนให้คนเราเตรียมรับมือได้ทัน

เราไม่อาจคาดการณ์แผ่นดินไหวได้ล่วงหน้า แต่สำหรับภูเขาไฟแล้ว ความคุกรุ่นที่ก่อตัวอยู่ภายในได้ส่งสัญญาณให้เรารู้ล่วงหน้า ว่าจะเกิดการระเบิดขึ้นหรือไม่ บางครั้งความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นล่วงหน้านานเป็นปี ซึ่งเพียงพอที่จะอพยพผู้คนให้หลบออกมาอยู่ในสถานที่อันปลอดภัย โดยวิธีกว้างๆ ในการเฝ้าระวังการระทุของภูเขาไฟ คือการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยารอบๆภูเขาไฟ


ชายในภาพบันทึกเถ้าจากการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “เอยาฟยาลาเยอคูล” - เอเอฟพี


แรงสั่นสะเทือนสัญญาณเตือน ภูเขาไฟระเบิด

การสั่นสะเทือนรอบภูเขาไฟนั้น มักเกิดขึ้นเมื่อภูเขาไฟตื่นจากความสงบและเตรียมที่จะปะทุ ภูเขาไฟบางลูกมีการสั่นสะเทือนเล็กน้อยเป็นปกติ แต่การสั่นสะเทือนที่เพิ่มขึ้นนั้นอาจเป็นสัญญาณของการระเบิดที่รุนแรง อีกทั้งประเภทของแผ่นดินไหว จุดกำเนิดกับจุดสุดท้ายของแผ่นดินไหวยังเป็นสัญญาณบ่งบอกการประทุของภูเขาไฟเช่นกัน

ทั้งนี้ การสั่นสะเทือนของภูเขาไฟนั้นมี 3 รูปแบบหลักๆ คือ

1. แผ่นดินไหวคาบสั้น (short-period earthquake) ซึ่งคล้ายกับแผ่นดินไหวทั่วไปที่เกิดการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก โดยการสั่นสะเทือนนี้เกิดจากการแตกหักของหินเปราะเนื่องจากการเคลื่อนตัวสู่ด้านบนของหินหนืดแมกมา (magma) และยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการขยายตัวของแมกมาใกล้ๆพื้นผิวโลก

2. แผ่นดินไหวคาบยาว (long-period earthquake) เชื่อว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงแรงดันก๊าซที่เพิ่มขึ้นในปล่องภูเขาไฟ ซึ่งการสั่นนี้เทียบเท่ากับการสั่นไหวของเสียงในปล่องที่เต็มไปด้วยแมกมา และ

3.แผ่นดินไหวแบบสอดประสาน (harmonic tremor) ซึ่งมักเกิดจากแมกมาดันหินจำนวนมากที่อยู่ใต้พ้นผิวโลก และบางครั้งการสั่นสะเทือนนั้นรุนแรงพอที่คนและสัตว์จะได้ยินเสียงฮัมหรือเสียงหึ่งๆ


ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง “เอยาฟยาลาเยอคูล” ประทุพ่นเถ้าภูเขาไฟสู่บรรยากาศ (เอเอฟพี)

แม้รูปแบบของการสั่นสะเทือนจะซับซ้อนและบางครั้งอธิบายได้ยาก แต่การสั่นสะเทือนที่มากขึ้นนั้นเป็นสัญญาณที่ดีในการบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ภูเขาไฟจะระเบิดมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดการสั่นสะเทือนแบบแผ่นไหวคาบยาว อย่างเด่นชัดและมีแผ่นดินไหวแบบสอดประสานร่วมด้วย


นักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างเถ้าภูเขาไฟไปวิเคราะห์ (เอเอฟพี)

(มีต่อ)

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 25-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รู้ได้อย่างไรเมื่อ “ภูเขาไฟ” จะระเบิด? (ต่อ)



ฟ้าผ่าระหว่างการประทุของเถ้า ภูเขาไฟ “เอยาฟยาลาเยอคูล” (เอพี)


วัดการปลดปล่อย “ซัลเฟอร์ไดออกไซด์”

การปลดปล่อยของก๊าซบางชนิด ยังเป็นสัญญาณเตือนก่อนภูเขาไฟระเบิด เนื่องจากเมื่อแมกมาเข้าใกล้พื้นผิวโลกมากขึ้นจะมีก๊าซออกมา ซึ่งก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (sulphur dioxide) เป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของก๊าซภูเขาไฟ และเป็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของแมกมาใกล้ๆพื้นผิว

ตัวอย่างเช่น ภูเขาไฟพินาตูโบ (Mount Pinatubo) ในฟิลิปปินส์ ได้เริ่มปลดปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค.1991 จากนั้นอีกเพียง 2 สัปดาห์ปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาได้เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ตัน หรือ 10 เท่าของปริมาณที่ปลดปล่อยออกมาในช่วงแรก และในวันที่ 12 มิ.ย.ปีเดียวกันภูเขาไฟจริงระเบิดออกมา


ภาพจากดาวเทียม MODIS เผยให้เห็นเถ้าภูเขาไฟสีน้ำตาลพวยพุ่งสู่บรรยากาศ (เอเอฟพี/นาซา)

อย่างไรก็ดี ยังมีหลักฐานหลายครั้งที่แสดงให้เห็นว่า ปริมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ลดลงนั้นป็นสัญญาณก่อนที่ภูเขาไฟจะระเบิด เช่น กรณีการระเบิดของภูเขาไฟกาเลรัส (Galeras) ในโคลัมเบีย เมื่อปี 1993 โดยนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าปริมาณก๊าซที่ลดลงนั้นมีสาเหตุจากแมกมาที่แข็งตัวกักเส้นทางออกของก๊าซไว้ และทำให้ความดันปล่องภูเขาไฟเพิ่มขึ้นจนนำไปสู่การระเบิดที่รุนแรง

นอกจากการตรวจวัดแผ่นดินไหวและการเฝ้าสังเกตก๊าซที่ถูกพ่นออกมาแล้ว ยังมีการตรวจวัดอื่นๆที่นำไปสู่การพยากรณ์การระเบิดของภูเขาไฟ เช่น การศึกษาการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของภูเขาไฟ ทั้งการพองตัวขึ้นหรือการยุบตัวลง การศึกษาทางอุทกวิทยา โดยตรวจวัดการไหลของลาฮาร์ (lahar) ซึ่งเป็นของเหลวและโคลนที่ไหลมาตามความลาดชันของภูเขาไฟ เป็นต้น.


ภาพเรดาร์เผยให้เห็นปล่องภูเขาไฟ “เอยาฟยาลาเยอคูล” 3 ปล่อง (เอเอฟพี)



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 25-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทำไมเครื่องบินเฉียดใกล้เถ้าภูเขาไฟไม่ได้?



เครื่องบินจอดนิ่งอยู่ที่สนามบินในลอนดอน (เอเอฟพี)

จากเหตุประทุของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งในไอซ์แลนด์ ซึ่งมีเถ้าถ่านปริมาณมากพวยพุ่งสู่ชั้นบรรยากาศด้วยความสูงหลายกิโลเมตร และพัดสู่น่านฟ้าของหลายประเทศในแถบยุโรป จนสายการบินต่างๆต้องหยุดให้บริการ กระทบต่อผู้โดยสารหลายหมื่นราย หลายคนอาจสงสัยว่าอนุภาคจิ๋วๆจากปล่องภูเขาไฟนั้นจะส่งผลกระทบต่อเครื่องบินลำใหญ่ได้จริงหรือ

แกรนท์ มาร์ติน (Grant Martin) บลอกเกอร์ชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินและการขนส่งและเป็นวิศวกรวัสดุด้วยนั้น ได้ไขข้อข้องใจดังกล่าวผ่านเว็บไซต์ Gadling.com ที่เขาเป็นบรรณาธิการว่า เถ้าภูเขาไฟปริมาณมหาศาลนั้น ส่งผลอย่างชัดเจนต่อสมรรถนะการบินของเครื่องบิน หากอนุภาคขนาดเล็กจากภูเขาไฟนี้หลุดเข้าสู่รูระบายความร้อนแล้ว จะเป็นเหตุให้ความดันและอุณหภูมิของเครื่องยนต์สูงขึ้นและกลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อเครื่องยนต์ภายในได้

ดังนั้น สายการบินต่างๆจึงพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์เริ่มต้นอันจะนำไปสู่กลไกการทำงานของเครื่องยนต์ที่ผิดพลาด ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างใหญ่หลวงต่อเครื่องยนต์ในทันที และจะคุกคามความปลอดภัยของเครื่องบินด้วย ขณะที่เถ้าภูเขาไฟปริมาณน้อยๆจะส่งผลเสียระยะยาวต่อสมรรถนะของเครื่องยนต์


ผู้โดยสารตกค้างจากการปิดน่านฟ้าในยุโรปเนื่องจากเถ้าภูเขาไฟเป็นอันตรายต่อการบิน (เอเอฟพี)

มาร์ตินยกตัวอย่างเครื่องยนต์เผาไหม้ ซึ่งถูกใช้ที่อุณหภูมิสูงมากพอที่จะละลายโลหะส่วนใหญ่ ดังนั้นวัสดุที่จะนำมาประกอบเครื่องยนต์นี้จึงได้รับการออกแบบให้ทนทานต่อความร้อนได้เป็นพิเศษ และใบพัดเครื่องยนต์ซึ่งมักได้รับความร้อนเกินกว่า 1,400 องศาเซลเซียสนั้นจะถูกเคลือบด้วยสารพิเศษที่เรียกว่า TBC (Thermal Barrier Coating) เพื่อป้องกันความร้อนที่สูงเกิน กล่าวโดยย่อคือ TBC ป้องกันไม่ให้ใบพัดละลายนั่นเอง

TBC ปกป้องใบพัดไม่ให้ละลายได้เพราะโครงสร้างเล็กๆของสารเคลือบที่มีรูพรุนและมีความหนาแน่นน้อย เพื่อป้องกันการถ่ายเทความร้อนมากเกินไป แต่ด้วยลักษณะดังกล่าวทำให้สารเคลือบมีแนวโน้มที่จะถูกอนุภาคแปลกปลอม อย่างอนุภาคแคลเซียมแมกนีเชียมอะลูมิโนซิลิเกต (CMAS) ซึ่งมีคล้ายกับเม็ดทราย หรือเถ้าภูเขาไฟแทรกซึมสารเคลือบกันความร้อนนี้ได้

เมื่อเวลาล่วงไปอนุภาคเหล่านั้นจะฝังตัวอยู่ในรูพรุนของสารเคลือบ TBC และคงอยู่โดยที่เครื่องยนต์ได้รับความร้อนสลับกับความเย็นซ้ำไปซ้ำมา ทุกครั้งที่เครื่องยนต์ร้อนและเย็นสลับไปมาเป็นวัฏจักรนี้จะสร้างความเครียด (strain) ระหว่างวัสดุทั้งสอง คล้ายกับการแช่แข็งขวดที่ปิดผนึกแน่นซึ่งมีโอกาสระเบิดได้ และหากสารเคลือบเสียหาย ความร้อนจะไหลเข้าสู่ใบพัดได้อย่างอิสระ ซึ่งจะทำให้วัสดุละลายและเป็นสาเหตุหายนะได้

ด้วยปริมาณเถ้าภูเขาไฟมหาศาลทำให้เกิดความเสียหายได้เร็วขึ้น แต่สารเคลือบ TBC ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความเสียหายระยะยาวเท่านั้น อีกทั้งเรายังไม่ทราบว่าเถ้าภูเขาไฟจะส่งผลระยะยาวอะไรบ้าง มีเพียงการทดสอบผลกระทบทั้งหมดที่ต้องใช้เวลาหลายอาทิตย์เท่านั้นที่จะให้คำตอบได้



จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 23 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 26-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ภูเขาไฟ


การระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟแต่ละครั้ง นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่อมวลมนุษยชาติ และธรณีวิทยาโลกที่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานนับล้านล้านปี

ภูเขาไฟที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในโลก น่าจะเป็นภูเขาไฟวิสุเวียส (Mount Vesuvius) ในอิตาลี ซึ่งระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อปี ค.ศ.79 กลืนเมืองปอมเปอีไปทั้งเมือง มีผู้เสียชีวิต 10,000 คน

การระเบิดของภูเขาไฟแทมโบรา (Tamboea) ที่อินโดนีเซีย เมื่อเดือน เม.ย.ปี 1816 ก็รุนแรงไม่แพ้กัน มีคนตายไปถึง 92,000 คน เสียงการระเบิดได้ยินไปไกลหลายพันไมล์ และที่ลืมไม่ได้ คือแทมโบรา ทำให้สภาพอากาศของยุโรปสมัยนั้นแปรปรวนอย่างหนัก ปี 1816 ของยุโรปกลายเป็นปีที่ไม่มีฤดูร้อน เพราะการระเบิดปล่อยเถ้าถ่านจำนวนมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้แสงอาทิตย์สาดส่องลงมายังโลกได้น้อยลง นำมาซึ่งโรคระบาด ความอดอยาก และความยากจน แพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกาเหนือ

เช่นเดียวกับการระเบิดของภูเขาไฟปินาตูโบ (Pinatubo) ในปี 1991 ที่ปล่อยเถ้าถ่านมหาศาลปกคลุมทั่วท้องฟ้า ทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลงอยู่นานหลายเดือน

ขณะที่การระเบิดของภูเขาไฟกรากาตัว (Mount Krakatoa) ในอินโดนีเซีย ปี 1883 รุนแรงขนาดได้ยินเสียงระเบิดไปไกลถึงออสเตรเลีย มีคนตายราว 36,000 คน คาดว่าส่วนใหญ่เสียชีวิตจากคลื่นยักษ์สึนามิ

ส่วนภูเขาไฟปีลี (Mount Pelee) ของมาร์ตินีก ประเทศในหมู่เกาะเวสต์อินดีส์ ระเบิดเมื่อปี 1902 มีคนตายกว่า 29,000 คน

ย้อนไปช่วงปี 1783-1784 เกิดการระเบิดของภูเขาไฟลากี (Laki) ในไอซ์แลนด์ พ่นเถ้าควันพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมหาศาลกว่า 120 ล้านตัน ทำให้มีคนตายหลายพันคนทั่วยุโรป

แต่การระเบิดของซูเปอร์ภูเขาไฟที่ว่ากันว่ารุนแรงสุดในประวัติศาสตร์โลก คือเมื่อประมาณ 71,000 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์ประเมินกันว่าการระเบิดของภูเขาไฟโทบา (Toba) บนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย น่าจะปล่อยเถ้าถ่านออกมากว่า 2,800 ลูกบาศก์กิโลเมตร แรงดันมหาศาลจากการระเบิดทำให้ลาวาพุ่งไปไกลถึงภาคใต้ของอินเดีย ที่อยู่ห่างออกไป 3,000 กิโลเมตร และต้องใช้เวลานาน 6 ปี กว่าลาวาทั้งหมดที่พ่นออกมาจากปากปล่องจะมอดดับ

จากการศึกษาพบว่า การระเบิดของภูเขาไฟยักษ์ลูกนี้ ทำให้อุณหภูมิโลกลดลง 3-3.5 องศาเซลเซียส และสันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็ง.



จาก : ไทยโพสต์ คอลัมน์ โลกน่ารู้ วันที่ 26 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #27  
เก่า 27-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ภูเขาไฟฯ ปะทุ... ธารน้ำแข็งละลาย!! จับตาอุทกภัย...ไทยเสี่ยง?



ช่วงนี้ภัยธรรมชาติบนโลกมนุษย์เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหวที่ประเทศจีน หรือล่าสุดเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูล ทางตอนใต้ของเกาะไอซ์แลนด์ระเบิดปะทุเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันและเถ้าละอองปลิวฟุ้งขึ้นเต็มท้องฟ้าก่อให้เกิดอันตรายกับเครื่องยนต์ไอพ่นของเครื่องบินโดยสารจนประเทศในแถบยุโรปประกาศปิดน่านฟ้า สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการบินจำนวนมากจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

การปะทุของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ครั้งนี้ เกิดห่างจากเมืองเรคยาวิกไปทางตะวันออกราว 120 กม. ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึงหนึ่งเดือนจากการปะทุเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมา หลังเคยสงบเงียบมานานเกือบ 200 ปี โดยปรากฏการณ์ครั้งนี้นอกจากจะสร้างความเสียหายต่อการสัญจรทางอากาศครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่เหตุวินาศกรรมปี 2544 เป็นต้นมาแล้ว หลายคนยังกังวลว่าการเกิดเหตุดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณเตือนถึงการเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรง อันเนื่องมาจากความร้อนของลาวาที่ปะทุจะส่งผลให้ธารน้ำแข็งละลาย!!

สาเหตุหลักของการเกิดระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งที่ไอซ์แลนด์บ่อยครั้งมี 2 สาเหตุ โดย รศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้าน ฟิสิกส์ ให้ความรู้ว่า สาเหตุที่หนึ่งเกิดจากการที่เกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนจุดที่เรียก ว่า “จุดร้อน” (Hot Spot) ซึ่งเป็นบริเวณที่แมกมาจากที่ ลึกลงไปจากพื้นโลกมากกว่า 2,000 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาที่พื้นผิวและผลักดันให้พื้นดินบริเวณนั้นสูงขึ้นเป็นภูเขาไฟ คล้ายคลึงกับการเกิดที่เกาะฮาวาย แต่มีความแตกต่างกันตรงที่เกาะไอซ์แลนด์ไม่มีร่องรอยของเกาะภูเขาไฟโบราณปรากฏหลงเหลือให้เห็น ในขณะที่แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่ไป

สาเหตุที่สองคือเกาะไอซ์แลนด์ตั้งอยู่บนขอบของแผ่นเปลือกโลกที่แยกออกจากกัน คือแผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย และแผ่นเปลือกโลก อเมริกาเหนือ เมื่อทั้งสองแผ่นแยกออกจากกันจะทำให้แมกมาที่กักอยู่ใต้พื้นโลกลึกไม่เกิน 20 กิโลเมตร ผุดขึ้นมาปรากฏที่พื้นโลก ซึ่งโดยปกติแล้วการแยกออกจากกันของแผ่นเปลือกโลกจะทำให้เกิดเป็นแนวเทือกเขา ภูเขาไฟใต้น้ำที่ไม่ค่อยโผล่พ้นผิวน้ำมากเท่าไหร่ การปะทุมักจะไม่รุนแรง

ความสลับซับซ้อนทางธรณีของพื้นผิวบริเวณนี้ทำให้พื้นที่บริเวณเกาะไอซ์แลนด์ มีภูเขาไฟมากถึง 130 ลูก และได้ปะทุไปแล้ว 18 ลูก การปะทุของภูเขาไฟบริเวณนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องมีการประมาณกันว่าประมาณ 1 ใน 3 ของลาวาที่ออกมาที่ผิวโลกอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้

นอกจากบริเวณเกาะไอซ์แลนด์แล้วยังมีพื้นที่เสี่ยงที่มีความเป็นไปได้อีก เนื่องจากภูเขาไฟมีอยู่หลายแห่งทั่วโลก โดยที่บริเวณวงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการปะทุของภูเขาไฟบ่อยครั้ง และอยู่ทางภาคใต้ไม่ห่างจากประเทศไทยมากเท่าใด ซึ่งในปี ค.ศ.1991 การระเบิดของภูเขาไฟพินาทุโบ (Pinatubo) ในประเทศฟิลิปปินส์ ก็เป็นการระเบิดที่รุนแรงและส่งผลต่อสภาพอากาศในประเทศไทยด้วยเช่นกัน ซึ่งประเทศอินโดนีเซียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีภูเขาไฟอยู่มาก

อย่างไรก็ตามภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็งมีความรุนแรงมากกว่าลักษณะอื่นหรือ ไม่ รศ.ดร.วีระชัย ให้ความเห็นว่า ความจริงแล้วการระเบิดของภูเขาไฟมีความรุนแรงด้วยกันทั้งนั้น การระเบิดของภูเขาไฟมีสองชนิดหลักด้วยกัน คือ การระเบิดที่รุนแรงที่พ่นเอาเถ้า ควัน ฝุ่นต่างๆ ขึ้นไปในอากาศ กับอีกประเภทหนึ่งคือปล่อยเอาเฉพาะลาวาออกมา พวกนี้จะไม่ส่งผลต่อชั้นบรรยากาศมากเท่ากับชนิดแรก อาจจะดูเป็นแสงไฟสวยงามในตอนกลางคืน

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็งไอย์ยาฟยัลลาโยกูลครั้งนี้ถือเป็นการระเบิดที่รุนแรงอยู่แล้วและรุนแรงมากขึ้น เพราะมีธารน้ำแข็งขนาดใหญ่ไปอุดช่องปะทุของมัน ทำให้ความดันที่สะสมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงในเรื่องน้ำท่วมจากธารน้ำแข็งละลายอีกด้วย

ดังนั้นจึงต้องรอลุ้นเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต่างให้ความสำคัญและศึกษาค้นคว้ากันอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศไทยเราจะมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหนขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป.


ผลกระทบจาก 'เถ้าภูเขาไฟ'

วเรศ วีระสัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการระเบิดของภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง และการฟุ้งกระจายของเถ้าภูเขาไฟว่า เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางเคมีฟิสิกส์ที่ซับซ้อนรุนแรง โดยเถ้าภูเขาไฟเกิดจากการที่ลาวาปลดปล่อยก๊าซออกมา เมื่อลาวาร้อนไปสัมผัสกับน้ำจึงทำให้น้ำกลายเป็นไอน้ำอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟปะทุพ่นฝุ่นควันภูเขาไฟออกมาเป็นจำนวนมาก ลาวาร้อนที่พ่นขึ้นมา เมื่อสัมผัสกับความเย็นจะกลายเป็นเศษหินและเศษแก้ว ส่วนฝุ่นควันที่พวยพุ่งขึ้นมาส่วนใหญ่จะเป็นขี้เถ้ากับไอน้ำ

ลักษณะการฟุ้งกระจายและการคงอยู่ในชั้นบรรยากาศของเถ้าภูเขาไฟ จะขึ้นอยู่กับลักษณะการประทุ ทิศทางลมที่ชั้นความสูงต่างๆ สภาพทางอุตุนิยมวิทยา แรงโน้มถ่วงของโลก และที่สำคัญคือ ขนาดของมวลสารและความหนาแน่น ซึ่งถ้าเป็นเถ้าภูเขาไฟที่มีขนาดใหญ่ก็จะฟุ้งกระจายไม่นาน และจะตกลงสู่พื้นดินหรือมหาสมุทร แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เถ้าภูเขาไฟมีขนาดเล็กประกอบกับอิทธิพลของลมที่เคลื่อน ที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทั่ว ส่งผลให้หลายประเทศในทวีปยุโรปได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

สำหรับสาเหตุที่เถ้าภูเขาไฟส่งผลกระทบต่อการบิน เนื่องมาจากเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้สามารถลอยตัวสู่ชั้นบรรยากาศที่สูง ซึ่งเป็นชั้นที่การบินใช้เป็นเส้นทางจราจร เมื่อเครื่องบินบินผ่านเถ้าภูเขาไฟเหล่านี้ เครื่องบินจึงเปรียบเสมือนถูกทรายพ่นใส่ส่งผลให้ลำตัวเครื่องบินและเครื่องจักรเกิดความเสียหาย



จาก : เดลินิวส์ วันที่ 27 เมษายน 2553
รูป
   
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #28  
เก่า 27-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ภูเขาไฟระเบิดและภัย "โลกร้อน"



การระเบิดของภูเขาไฟ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า การระเบิดของ "ภูเขาไฟ" ได้เพิ่ม "คาร์บอนไดออกไซด์" ในชั้นบรรยากาศ

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ ผลกระทบจากระเบิดของภูเขาไฟต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือว่าน้อยมาก

กล่าวคือ การระเบิดของภูเขาไฟปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศราว 110-250 ตันต่อปี

ในขณะที่กิจกรรมของมนุษย์นั้นปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่านั้นเป็นร้อยเท่า

การระเบิดของภูเขาไฟจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของโลก เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น หรือจะมีส่วนต่อความแปรปรวนตามธรรมชาติของสภาพภูมิอากาศหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หากการระเบิดรุนแรงมากพอ ก็จะทำให้ฝุ่นละอองก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือก๊าซที่เป็นกรดชนิดต่างๆกระจายขึ้นสู่บรรยากาศชั้น "สตราโตสเฟียร์" และแผ่ปกคลุมโลกภายในไม่กี่สัปดาห์ และคงอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี

"ละออง เถ้า" ขนาดเล็กที่อยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์จะสะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์บางส่วนกลับออกสู่อวกาศแทนที่จะลงสู่พื้นผิวโลก ก๊าซที่เป็นกรดซัลเฟอร์เมื่อรวมตัวกับน้ำในชั้นบรรยากาศกลายเป็นละอองลอย (aerosols) ที่ดูดซับรังสีความร้อนของดวงอาทิตย์และสะท้อนรังสีเหล่านั้นกลับออกสู่อวกาศ การสะท้อนของรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่มายังพื้นผิวโลกนี้เป็นผลทำให้ อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลง



ข้อมูลทางประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า การระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงเพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลงชั่วคราวนั้นได้เกิดขึ้นในหลายๆโอกาสด้วยกันในช่วง 600 ปีที่ผ่านมา

เหตุการณ์ที่รู้จักกันมากที่สุดและเกิดขึ้นในปี 2534 คือ การระเบิดอย่างรุนแรงของภูเขาไฟ "พินาตูโบ" ในฟิลิปปินส์ ที่ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ราว 17 ล้านตัน และละอองเถ้าขนาดเล็กขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูง 40 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลกภายใน 3 สัปดาห์ กลุ่มควันภูเขาไฟก็ได้แผ่ปกคลุมชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกลดลง 0.4 องศาเซลเซียส การลดลงของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกดังกล่าวมีต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี

ล่าสุดกลุ่มควันที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ "Eyjafjallajokull" (เอยาฟยาลาโยกูล) ในประเทศไอซ์แลนด์ที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง ยังลอยขึ้นไปไม่ถึงชั้นบรรยากาศสตราโตสเฟียร์

นอกจากนี้ การระเบิดที่เกิดขึ้นมิได้ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล ดังนั้น อาจมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับท้องถิ่นอยู่บ้าง แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับโลก ยกเว้นเสียแต่ว่าการระเบิดจะรุนแรงมากขึ้น หรือมีช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น ผลกระทบทางด้านสภาพภูมิอากาศอาจเกิดในวงที่กว้างขึ้นได้

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นการลดลงของอุณภูมิผิวโลกจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และไม่อาจชดเชยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นที่การกระทำของมนุษย์ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์และการทำลายป่าไม้



จาก : ข่าวสด (ข้อมูล : ธารา บัวคำศรี "กรีนพีซ"เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) วันที่ 27 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #29  
เก่า 28-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"สมิทธ"เผยจุดจบโลกใกล้มาถึง หลังเผชิญสารพัดภัยพิบัติ โอกาสล่มสลายเร็วกว่าคาด เตือนไทยสึนามิเข้าอีก


ดร.สมิทธ ธรรมสโรช

ที่โรงแรมดุสิต ปริ้นเซส อ.เมือง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 27 เม.ย. นายวิทยา กามนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ "เติมน้ำ ต้านแล้ง" ที่จัดขึ้นโดยหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนักธุรกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ประกอบการและประชาชนในจังหวัดนครราชสีมา จำนวนกว่า 200 คน เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ โดยทางหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้เชิญ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ , อาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยากรมชลประทาน มาเป็นผู้บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุของการเกิดภัยแล้งในประเทศ รวมถึงแนวทางในการรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ดร.สมิทธ เปิดเผยว่า จากสภาพภมิอากาศขณะนี้ สถานการณ์น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะในบางจังหวัดโดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย อย่างเช่นที่จังหวัดลำปาง อุณภูมิสูงถึง 43 องศาเซลเชียส เมื่อ 2 - 3 อาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็อุณหภูมิที่สูงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นในอนาคตว่า สภาพอากาศต่อจากนี้ไปของประเทศจะมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นอีก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะการที่อุณภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไปนั้น ตามหลักวิชาการจะทำให้เกิดคลื่นความร้อน หรือที่เรียกว่า ฮีทเวฟ ซึ่งคลื่นความร้อนดังกล่าวสามารถทำให้คนที่ได้รับคลื่นความร้อนนี้ถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตบ้างแล้ว

ประธานกรรมการมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวต่อว่า หากสภาพอากาศยังมีลักษณะเช่นนี้ยาวไปถึงปีหน้า ก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่พลเมืองโลกและการเจริญเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นไปในชั้นบรรยาการศมากเกินไป ไม่เฉพาะในประเทศไทยแต่เป็นอย่างนี้ทั่วโลกส่งผลให้อุณหภูมิที่ห่อหุ้มโลกสูงขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้อันดับแรกทุกคนจะต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาให้ได้มากที่สุด และช่วยกันปลูกต้นไม้ให้มากขึ้นเพื่อใช้เป็นตัวดูดทรัพย์ก๊าซเรือนกระจกเหล่านั้น หากทุกคนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้แนวโน้มความรุนแรงของสภาพอากาศจะยิ่งสูงขึ้นอีกในปีต่อๆไป โดยเฉพาะในปี 2554 ที่กำลังจะมาถึงจะมีปรากฏการเอลนินโญ่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก ก็ยิ่งจะทำให้สภาพอากาศเลวร้ายและประชาชนจะต้องประสบกับปัญหาภัยแล้งและเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้นอีก นอกจากนี้ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในหลายประเทศที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากสภาวะโลกร้อน แต่ก็มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน เนื่องจากมีการพยากรณ์ว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะเกิดการเคลื่อนตัวของเปลือก โลกในมหาสมุทรอินเดียและทะเลอันดามัน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็อาจจะเกิดคลื่นสึนามิในบริเวณภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยขึ้นได้ ดังนั้นการจัดทำระบบเตือนภัยต่างๆจึงต้องมีการเตรียมพร้อมไว้อย่างดีและประชาชนเองก็ต้องมีความตื่นตัวที่จะเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจะเกิดขึ้น

ดร.สมิทธฯ กล่าวอีกว่า เหตุการที่เกิด ขึ้นทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในหลายประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าจุดจบของโลกใกล้เข้ามามากขึ้นทุกที ซึ่งมีสถาบันต่างๆจากหลายประเทศคาดการณ์ว่าโอกาสที่จะเกิดการล่มสลายของโลกจะเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้นใกล้กับประเทศไทยอาจจะทำให้รอยเลื่อนที่มีอยู่ในไทยจำนวน 13 แห่งโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ จังหวัดกาญจนบุรีซึ่งเคยมีการเคลื่อนตัวจนทำให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในอดีต ก็อาจจะได้รับผลกระทบและเกิดขึ้นซ้ำอีกได้



จาก : มติชน วันที่ 28 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #30  
เก่า 18-05-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ที่มา"ภูเขาไฟระเบิด" ไทยรอดตัว-จับตาอินโดฯ




จากเหตุการณ์ภูเขาไฟระเบิดในประเทศไอซ์แลนด์และปะทุต่อเนื่อง ทำให้เกิดเถ้าภูเขาไฟฟุ้งกระจายเป็นบริเวณกว้างในแถบยุโรปตะวันตก สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและธุรกิจการบินอย่างมากช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น

รศ.ดร.ปัญญา จารุศิริ หัวหน้าหน่วยวิจัยธรณีวิทยาแผ่นดินไหวและธรณีแปรสัณฐาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงปรากฏ การณ์ภัยธรรมชาติดังกล่าวว่า ตามหลักทฤษฎีทางธรณีวิทยา โดยเฉพาะการแปรสัณฐานเปลือกโลกแล้วภูเขาไฟในบริเวณไอซ์แลนด์ไม่ควรระเบิดรุนแรงขนาดนี้ แต่ว่าในกรณีนี้เป็น "ภูเขาไฟใต้ธารน้ำแข็ง" คือมีชั้นน้ำแข็งหนาปิดทับอยู่ด้านบน ทำให้เกิดการสะสมของพลังงานมาก จึงระเบิดอย่างรุนแรง

"ภูเขาไฟแบ่งได้ง่ายๆ 2 แบบ คือ

1.ภูเขาไฟที่ระเบิดรุนแรง เช่น ภูเขาไฟกรากะตัว ประเทศอินโดนีเซีย ภูเขาไฟเซนต์เฮเลนในอเมริกา ซึ่งเป็นภูเขาไฟที่เกิดจากแผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่มาชนกันหรือมุดเข้าหากัน และ

2.ภูเขาไฟที่ระเบิดไม่รุนแรง เช่น ภูเขาไฟไอซ์แลนด์ เพราะเกิดในบริเวณที่แผ่นเปลือกโลกแยกตัวออกจากกัน หรือเกิดจากการปะทุขึ้นมาของจุดร้อน (hot spot) ใต้โลก เช่น ภูเขาไฟฮาวาย



แต่สำหรับการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศไอซ์แลนด์ครั้งนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ คือเป็นภูเขาไฟที่อยู่ใต้ธารน้ำแข็ง "ไอย์ยาฟยัลลาโยกูล" มีชั้นน้ำแข็งที่หนามากมาปิดทับปล่องด้านบนอยู่ จึงทำให้เกิดการสะสมพลังงานความร้อนและแรงดันจำนวนมหาศาลอยู่ภายใน กระทั่งวันหนึ่งเมื่อพลังงานที่สะสมใต้โลกมีมากจนเกินรับไหว จึงเกิดแรงดันจนน้ำแข็งที่ปิดทับอยู่ถูกดันให้แตกออกจนเกิดการระเบิดอย่างรุนแรง เถ้าถ่านร้อนที่อยู่ในหินละลายลาวาก็ฟุ้งกระจายไปทั่ว

นอกจากนี้ แรงดันและพลังงานความร้อนที่ปะทุออกมายังมีผลทำให้น้ำแข็งบริเวณรอยแยกกลางเกาะไอซ์แลนด์ละลายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว

เมื่อน้ำแข็งและน้ำเย็นไหลมาผสมกับหินละลายก่อให้เกิดเถ้าภูเขาไฟจำนวนมาก โดยเถ้าภูเขาไฟขนาดใหญ่จะฟุ้งกระจายไม่นานและตกลงในมหาสมุทร ขณะที่เถ้าภูเขาไฟขนาดเล็กจะฟุ้งและเคลื่อนตัวไปได้ไกลมาก

การระเบิดของภูเขาไฟในไอซ์แลนด์ด้วยอิทธิพลของ "ลม" ที่เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกทำให้เถ้าภูเขาไฟถูกพัดฟุ้งกระจายไปทางทิศตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เป็นเหตุให้หลายประเทศในแถบยุโรปตะวันตกได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบิน เพราะเถ้าเหล่านี้ไม่เพียงทำลายทัศนวิสัย แต่ยังมีผลให้เครื่องจักรต่างๆในเครื่องบินเสียหายด้วย"



รศ.ดร.ปัญญา กล่าวว่า ปัจจุบันนักธรณีวิทยาบอกได้เพียงว่ามีภูเขาไฟที่ยังปะทุอยู่บริเวณใดบ้าง แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะสามารถทำนายถูกต้องแม่นยำว่าภูเขาไฟจะระเบิดเมื่อใด ส่วนภูเขาไฟในประเทศไทยเป็นชนิดที่ดับสนิทตั้งแต่เมื่อห้าแสนปีที่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลใจ

แต่สิ่งที่ต้องพึงระวังไว้ คือภัยจากแผ่นดินไหวและฝุ่นควันฟุ้งกระจาย เช่น ภูเขาไฟละแวกใกล้เคียงที่ต้องจับตามอง อาทิ ภูเขาไฟกรากะตัวของอินโดนีเซีย ที่เคยระเบิดเมื่อ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2426 ซึ่งครั้งนั้นไทยได้รับผลกระทบจากเถ้าถ่านภูเขาไฟที่ปะทุออกมาด้วยเช่นกัน



จาก : ข่าวสด วันที่ 18 พฤษภาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 22:21


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger