เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 09-08-2010
หอยกะทิ's Avatar
หอยกะทิ หอยกะทิ is offline
Member
 
วันที่สมัคร: Jul 2009
ข้อความ: 80
Default

ปลงๆๆๆครับ
__________________
จงกลายเป็นวงๆๆ ปุ๋งๆๆๆๆๆ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 16-08-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


ปะการังเทียมจากรถขยะ กทม.


แนวปะการังใต้ท้องทะเลของประเทศไทยเป็นมรดกทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่า และมีความงดงามมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่วันนี้ชายฝั่งทะเลและแนวปะการังใต้ทะเลกำลังถูกทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ได้สร้างความเสียหายทั้งในระยะสั้นและระยะยาวส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวไทยและเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมไม่เพียงเฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งเน้นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จากการที่กรุงเทพฯมีซากรถเก็บขนมูลฝอยเก่าซึ่งหมดสภาพการใช้งานเป็นจำนวนมาก และต้องการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงได้จัดทำ “โครงการน้อมเกล้าถวายรถยนต์เก่า เพื่อทำเป็นปะการังเทียม” ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา กรุงเทพฯได้น้อมเกล้าฯถวายซากรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อใช้เป็นปะการังเทียมในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถเก็บขนมูลฝอยเพื่อทำปะการังเทียมจำนวน 189 คัน และในปี 2550 จำนวน 200 คัน

ในปี 2553 เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้สานต่อโครงการน้อมเกล้าฯถวายรถยนต์เก่าเพื่อทำเป็นปะการังเทียม (ครั้งที่ 3) อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายวากรถเก็บขนมูลฝอยแบบอัด ขนาด 5 ตัน จำนวน 198 คัน เป็นรถขยะเก่าที่หมดสภาพการใช้งานมานานกว่า 9 ปีขึ้นไปโดยได้ทำการล้างทำความสะอาด ตัดล้อ รวมทั้งตัดวัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่เกี่ยวกับน้ำมันออกทั้งหมดและส่งมอบรถยนต์ดังกล่าวให้กรมประมง สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะกรรมการประสานงานโครงการอันเนื่องมากจากพระราชดำริ (กปร.) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ก.ค.53 และทำพิธีส่งมอบในวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทย เขตคลองเตย และได้มีการจัดวางปะการังเทียมในทะเลเขตอำเภอปะนาเระ สายบุรี และไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และเขตอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปแล้วเมื่อวันที่ 9 ส.ค.ที่ผ่าน

สำหรับการสร้างปะการังเทียมจะดึงดูดให้ปลามาอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก และหลากหลายชนิด ทำให้เกิดระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารของปลาที่เพิ่มมากขึ้นและไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นมลพิษกับสิ่งแวดล้อม เพราะซากรถจะถูกกัดกร่อนย่อยสลายไปโดยธรรมชาติไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางทะเล อีกทั้งประโยชน์ที่มองเห็นของแนวปะการังซึ่งมีลักษณะเป็นเขื่อน ถ้าไม่มีแนวปะการังคลื่นจะซัดเข้าชนชายหาดกัดเซาะแนวชายฝั่ง แนวปะการังจึงมีประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม การดำเนินการดังกล่าวนอกจากเป็นการฟื้นคืนความสมบูรณ์ของท้องทะเลแล้ว ยังก่อให้เกิดภูมิปัญญาอาชีพใหม่ทำให้คนในท้องถิ่นกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน




จาก ............... บ้านเมือง วันที่ 15 สิงหาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 24-08-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


ภารกิจ 'รถถัง' ใต้ทะเล





เชื่อไหมว่ารถถังปลดระวางยังมีประโยชน์ ถึงรบไม่ได้ แต่กินได้! แม้กระทั่งรถขนขยะ หรือจะใหญ่ยักษ์ขนาดรถไฟ ก็กินได้ทั้งนั้น

ปล่า... เราไม่ได้ให้คุณๆ ผู้อ่านหันมาบริโภคเหล็ก แต่ที่บอกว่ากินได้ ก็เพราะวันนี้เจ้าพี่ยักษ์จักรกลปลดเกษียณเหล่านี้ได้รับมอบหมายภารกิจใหม่ ดิ่งลงสู่ใต้ทะเล เพื่อรอวันที่จะเกิดใหม่ในชื่อ "ปะการังเทียม" ความหวังของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ใต้ทะเลที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนี้มาแต่อ้อนแต่ออก

เมื่อบ้านพังเสียหาย แน่นอนว่าผู้อาศัยย่อมลำบาก ปะการังไม่มี ปลาก็ไม่มา จนกระทั่งวันนี้ ใครๆ ก็รู้ว่าชาวเลต้องออกเรือหาปลาไกลบ้านขนาดไหน ถึงจะจับปลาได้มากพอที่จะคุ้มค่าเหนื่อย

อย่างนี้แล้ว ยังมีใครเถียงอีกไหมว่า รถถังกินไม่ได้?

หลายคนอาจไม่ทราบว่าทะเลไทยบ้านเราจัดว่ามีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะการัง ที่มีอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลด้านอันดามัน แต่สถานการณ์ของปะการังในปัจจุบันพบว่ามีความเสื่อมโทรมลงอย่างมาก โดยเกิดขึ้นทั้งจากภัยธรรมชาติและด้วยน้ำมือมนุษย์ ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ข้อมูลของกรมประมงพบว่า ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยมีพื้นที่ปะการัง 74.9 ตารางกิโลเมตร แต่มีสภาพสมบูรณ์ดีมากและสภาพสมบูรณ์ดีไม่ถึงครึ่งมีเพียงร้อยละ 45.5 และที่สำคัญมีมากถึงร้อยละ 23.7 ที่พบว่ามีสภาพเสื่อมโทรมสาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากพายุ การพัฒนาแนวปะการังเป็นแหล่งท่องเที่ยว และผลกระทบจากการทำประมง

จึงต้องเรียกว่าเป็นภาวะเร่งด่วนจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาแก้ปัญหากันอย่างจริงจัง ทั้งการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชน จนถึงการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้นมาเพื่อช่วยย่นเวลาในการนำความสมดุลกลับคืนสู่ท้องทะเล





"เทียม" แต่ "แท้"

ก่อนอื่นขออธิบายถึงวิธีการสร้าง "ปะการังเทียม" ที่ถูกต้องเสียก่อนว่า ไม่ใช่อะไรๆก็สามารถโยนลงทะเลแล้วจะเรียกว่าปะการังเทียมได้ เพราะหากเป็นเช่นนั้น เปลี่ยนคำเรียกให้ใหม่ว่า "ทิ้งขยะในทะเล" เสียยังจะเหมาะกว่า โดยหลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่า ซากตึก เศษปูน หรืออะไรก็ตามแต่ที่สิ่งมีชีวิตอย่าง หอยนางรม เพรียง ฟองน้ำสามารถเกาะได้ ก็จะถือว่าช่วยสร้างสมดุลแก่ธรรมชาติได้แล้ว

อย่าลืมว่าเป้าหมายสำคัญของการทำปะการังเทียม ก็คือ เพื่อทำให้กุ้งหอยปูปลากลับมาอยู่กันอย่างคึกคักเหมือนแต่ก่อน ฉะนั้น หากว่าสิ่งที่คนโยนลงไปไม่มีช่องว่างภายในให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นเข้าไปอาศัยได้ ก็เหมือนกับบ้านไม่มีประตู แล้วจะยังมีประโยชน์อยู่หรือ?

ข้อมูลจากกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้คำนิยามของปะการังเทียม ไว้ว่า

"แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (Artificial Habitats) หรือ ปะการังเทียม (Artificial Reefs) เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อดัดแปลงสภาพพื้นทะเล โดยการนำวัสดุที่แข็งแรงทนทานต้านกระแสน้ำได้และค่าใช้จ่ายคุ้มทุน ไปจัดวางที่พื้นทะเล เพื่อดึงดูดสัตว์น้ำให้เข้ามาอยู่อาศัย เป็นที่หลบภัย รวมทั้งเป็นแหล่งอาหาร และแหล่งสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำ เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ เสริมมาตรการควบคุมและบริหารจัดการทรัพยากรประมง"

เกณฑ์ในการเลือกสถานที่สร้างบ้านให้ปลานั้น กรมประมงกำหนดให้ต้องเป็นสถานที่ที่มีความลึกของน้ำทะเล 6 ม.ขึ้นไป พื้นทะเลไม่เป็นโคลนเหลว ไม่อยู่ใกล้ปากแม่น้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำทะเลอย่างรวดเร็วในฤดูน้ำหลาก ไม่เป็นพื้นที่ซึ่งมีตะกอนแขวนลอยในน้ำมาก ไม่กีดขวางการสัญจรทางน้ำ ไม่เป็นที่หวงห้ามเพื่อการใช้ประโยชน์อื่นๆทางทะเล เช่น เขตร่องน้ำเดินเรือ เขตจอดเรือ เขตพื้นที่ท่าเรือ เขตสัมปทานขุดแร่และแก๊สธรรมชาติ เขตสัมปทานรังนก เป็นต้น

ส่วนเรื่องวัสดุที่จะนำมาใช้ทำเป็นปะการังเทียมนั้น ได้มีการวิจัยและพัฒนาโดยกรมประมงต่อเนื่องมาหลายสิบปี โดยปะการังเทียมชุดแรก เกิดขึ้นในปี 2521 ทดลองจัดทำโดยสถานีประมงทะเลจังหวัดระยอง และเรียกว่า "มีนนิเวศน์" เป็นการใช้วัสดุแตกต่างกันหลายชนิด เช่น ยางรถยนต์เก่า ท่อคอนกรีต ผูกมัดเป็นรูปทรงต่างๆ กัน เพื่อศึกษาผลของการใช้วัสดุ และการดึงดูดสัตว์น้ำ โดยพบว่ามีสัตว์น้ำหลายชนิดเข้ามาอยู่อาศัย

นอกจากทดลองที่ชนิดของวัสดุแล้ว ก็ยังมีการทดสอบความแตกต่างของรูปทรงที่เหมาะสมด้วย ตัวอย่างเช่น พ.ศ.2526 สถาบันเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ได้ทดลองใช้วัสดุคอนกรีตเสริมเหล็กรูปสามเหลี่ยมพีระมิด ยาวด้านละ 80 ซม.จัดสร้างที่บริเวณชายฝั่งด้านหน้าของสถาบันฯ โดยเรียกว่า "แหล่งอาศัยสัตว์ทะเล" ขณะที่ทางฝั่งทะเลอันดามัน สถานีประมงทะเลจังหวัดภูเก็ต ได้จัดสร้างปะการังเทียมด้วยยางรถยนต์เก่า และคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดสี่เหลี่ยมที่บริเวณอ่าวพังงา ในปี พ.ศ.2525





บ้านเหล็กใต้ทะเล

แต่ที่แปลกใหม่และเป็นข่าวฮือฮาก็คือ ปะการังเทียมซึ่งเกิดขึ้นจากโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ โดยใช้ซากตู้รถไฟจำนวน 208 ตู้ทิ้งลงในทะเลลึกเขตจังหวัดปัตตานี เมื่อปี 2545 เพื่อฟื้นความสมบูรณ์ของธรรมชาติ

โดยก่อนที่รถไฟจะได้ย้ายบ้านสู่ก้นทะเลนั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัยในเรื่องอิทธิพลของกระแสน้ำว่าจะกระทบต่อกระแสน้ำหรือไม่ มีผลต่อชายฝั่งอย่างใดหรือไม่ และก็ได้รับทราบข้อมูลทางวิชาการว่า หากนำตู้รถไฟลงไปวางในระดับน้ำที่ลึกเกิน 20 เมตร จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชายฝั่งทะเล ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาด้านชีววิทยาและเคมีโดยกรมประมงได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของเหล็กที่มีต่อน้ำทะเล และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งได้รับคำตอบว่าไม่มีอันตราย

จากนั้นตู้สินค้าขนาดความยาว 6.5 เมตร กว้างและสูงเท่ากัน 2.18 เมตร น้ำหนัก 5.5 ตัน ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการถอดล้อ ทำความสะอาดตู้ให้ปราศจากคราบน้ำมัน เปิดประตูทั้งสองและเชื่อมไว้ให้ถาวร จึงได้มีโอกาสดำดิ่งสู่ทะเลลึก ก่อนจะตามด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น ท่อระบายน้ำ รถเก็บขยะมูลฝอย และแท่งคอนกรีต

จากการลงสำรวจของทีมนักดำน้ำในบริเวณที่เคยที่ปะการังเทียมเหล็ก ที่เคยวางไว้นั้น จากเดิมซึ่งเคยเป็นพื้นทรายกว้างสุดระยะสายตา พบว่า มีปลาทะเลหลายชนิดอาศัยอยู่ วนเวียนว่ายอยู่รอบรถขยะและในช่องโพรงของรถ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา เป็นที่หลบภัยของสัตว์น้ำได้ไม่ต่างจากปะการังธรรมชาติ ผลพลอยได้ที่ตามมา เมื่อปลาที่เคยหายไปกลับคืนมา ชาวประมงไม่ต้องออกเรือไปหาไกลจากชายฝั่ง ประหยัดค่าน้ำมัน มีรายจ่ายลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแนวกั้นให้กับเรือประมงพาณิชย์อวนลากได้อีกด้วย

มะรอฟี ลอตันหยง ประธานเครือข่ายประมงพื้นบ้าน ต.กะลุวอเหนือ ยืนยันชัดเจนว่า ปะการังเหล็กเหล่านี้ช่วยให้ปากท้องอิ่มขึ้นจริง

“หลังจากมีปะการังเทียม ปลากลับมาอาศัยอยู่มาก เราหาปลาได้ง่ายและมากขึ้น รายได้ก็เพิ่มขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำหลายชนิดที่เคยสูญหายไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา บางชนิดกลับมาอยู่ในปะการังเทียม ปลาที่เคยหายไปกลับมา ทั้งปลาหมอ ปลาสวยงาม ปลาหมอทะเล ปลาโทงเทง และสัตว์น้ำอีกหลายชนิด ก็กลับมา”

และเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78 พระชนมพรรษา ในปี 2553 นี้ กรมประมงได้สานต่อ "โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส" ขึ้นอีกครั้ง โดยวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้วจากกระทรวงคมนาคม

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทยสนับสนุน "ตู้รถสินค้า" จำนวน 273 ตู้ กรุงเทพมหานครสนับสนุน "รถเก็บขยะมูลฝอย" จำนวน 198 คัน กองทัพบกสนับสนุน "รถถัง รุ่น ที 69" จำนวน 25 คัน และกองทัพไทยสนับสนุน "รถยนต์" 3 คัน รวมทั้งสิ้น 499 คัน เพื่อทำเป็นปะการังเทียม และแนวกันคลื่น รวมทั้งสิ้น 15 จุด ในพื้นที่ อ.ปะนาเระ อ.สายบุรี อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี รวม 9 จุด และ อ.เมือง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส รวม 6 จุด ถือเป็นบิ๊กโปรเจคถึงขนาดที่ต้องใช้เรือบรรทุก สินค้าขนาดใหญ่ 2 ลำ ขนรถไปทิ้งโดยใช้เครนยก แล้วจึงใช้รถแบ็คโฮดันลงทะเล

ด้วยหวังจะให้ยักษ์เหล็กเหล่านี้สร้างความกินดีอยู่ดี ชาวบ้านได้อิ่มท้อง ทะเลได้อิ่มหนำ แล้วนักท่องเที่ยวยังจะได้อิ่มใจจากแนวปะการังน้องใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นอีกด้วย

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากมูลนิธิสวัสดี และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)



จาก ........... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 25-08-2010
หอยกะทิ's Avatar
หอยกะทิ หอยกะทิ is offline
Member
 
วันที่สมัคร: Jul 2009
ข้อความ: 80
Default

ยังคงตามอ่านอยู่ด้วยความกังวล แต่น่าจะไม่มีอะไร
__________________
จงกลายเป็นวงๆๆ ปุ๋งๆๆๆๆๆ
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 12-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


จมเรือสร้างปะการังเทียม คืนธรรมชาติสู่อ่าวมหาชัย


"เมืองแม่กลอง" จ.สมุทรสาคร ทุ่มงบ 19 ล้าน จัดทำโครงการสร้างปะการังเทียม คืนธรรมชาติสู่ทะเล ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม หวังใช้พื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ

ทั้งนี้ นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ส.ส. จังหวัดสมุทรสาคร ในนามภาคเอกชนและเป็นเจ้าของกิจการประมง ได้มอบเรือประมงชื่อ มณฑลชัยนาวี 1674 02751 ซึ่งเป็นเรืออวนล้อม ขนาดความยาว 23 เมตร กว้าง 10 วา ในการสร้างปะการังเทียมของ จ.สมุทรสาคร เพื่อคืนธรรมชาติสู่ทะเล

นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาและทิศทางการพัฒนา โดยจัดทำโครงการสร้างปะการังเทียมในครั้งนี้ขึ้น มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ
1.ทรัพยากรธรรมชาติ กุ้ง หอย ปู ปลา ขณะนี้น้อยลงมาก
2.ประมงชายฝั่ง มีเรือ 400-500 ลำ เริ่มหาปลาไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพ
3.กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4.เพื่อร่วมกันสร้างปะการังเทียมหรือสร้างบ้านปลาให้ปลาอยู่ และ
5.เพื่อเป็นแหล่งการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ตรงกับนโยบายจังหวัด

โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ด้วยงบประมาณของจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 19 ล้านบาท เริ่มสัญญาเดือนมกราคมด้วยการสร้างเป็นรูปบล็อกขนาด 1.5x1.5 เสร็จแล้วจะเอาไปทิ้งลงทะเลตามจุดที่กรมประมงอนุญาต พื้นที่ 25ตารางกิโลเมตร ณ ละติจูดที่ 13 องศา 18.320 ลิปดาเหนือและ ลองติจูดที่ 100 องศา 22.482 ลิปดาตะวันออก ส่วนภาคเอกชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ลักษณะให้ความร่วมมือระดมทุนจากภาคเอกชน

โดยจะมีการประเมินภายใน 3-5 เดือน เพื่อจะดูว่าจะมีปลาจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งภาคเอกชน ประชาชน สามารถร่วมสมทบทุนสร้างปะการังเทียมได้ในราคาบล็อกละ 5,000 บาท

สอบถามรายละเอียดการร่วมระดมทุนในการสร้างปะการังเทียมได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร หมายเลขโทรศัพท์ 034-411-846




จาก .............. แนวหน้า วันที่ 12 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 29-01-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


บ้านใหม่ใต้ท้องทะเล เพราะเหตุใดปลาน้อยใหญ่จึงหลงเสน่ห์ ซากเรือ รถถัง หรือแม้แต่ตู้รถไฟใต้ดิน ....................... เรื่องโดย สตีเฟน แฮร์ริแกน


เพียงสองนาทีเศษๆ เรือตรวจจับขีปนาวุธ เจเนอรัลฮอยต์ เอส. แวนเดนเบิร์ก ก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เช้าอันแจ่มใสวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ในน่านน้ำห่างจากชายฝั่งเมืองคีย์เวสต์ รัฐฟลอริดา ไป 11 กิโลเมตร เสียงระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภายในตัวเรือที่มีการฝังระเบิดไว้ 46 ลูกใต้เส้นแนวน้ำ กลิ่นฉุนของดินปืนโชยมาตามลม และกลุ่มควันสีดำทะมึนเริ่มลอยสูงขึ้น แต่กว่าที่แรงระเบิดจะสร้างความสะทกสะท้านแก่เรือลำนี้ก็กินเวลานานทีเดียว เรือปลดประจำการสนิมเขรอะความยาว 159 เมตร พร้อมจานเรดาร์ที่ใช้การไม่ได้สองจาน ยังคงลอยลำนิ่งราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาว

และแล้ว ขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินวนรายงานข่าวอยู่ด้านบน และท่ามกลางสายตาของสักขีพยานอีกนับพันที่จับจ้องจากเรือน้อยใหญ่ที่จอดลอยลำห่างจากรัศมีการระเบิด เรือแวนเดนเบิร์ก ก็ค่อยๆจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกโดยลำเรือยังคงทอดตัวขนานกับเส้นขอบฟ้า จนกระทั่งในที่สุดหัวเรือก็ดิ่งลงและท้ายเรือชี้ขึ้นฟ้า เหลือไว้เพียงพรายฟองสีขาวที่ผุดพลุ่งขึ้นมา "ฝูงปลาจะมาอาศัยอยู่ในซากเรือบ่ายวันนี้!" โจ เวเทอร์บี ประกาศ ชายผู้นี้เป็นหัวหอกของอภิมหาโครงการจมเรือแวนเดนเบิร์ก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นปะการังเทียมที่ดึงดูดนักดำน้ำและชาวประมงจากทั่วสารทิศให้มายังคีย์เวสต์

แน่นอนว่าเรือแวนเดนเบิร์ก ไม่ใช่เรือลำแรกที่ถูกจมเพื่อทำเป็นปะการังเทียม น่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะฟลอริดาคีส์กลายเป็นสุสานของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ดวนและบิบบ์ รวมถึงเรือยกพลขึ้นบก สปีเกิลโกรฟ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และบนพื้นทรายก้นสมุทรห่างออกไปราว 30 กิโลเมตรจากเมืองเพนซาโคลา เป็นที่จอดของเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งลำที่ชื่อ ยู.เอส.เอส. โอริสเคนี ซึ่งเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกจมลงเพื่อให้เป็นปะการังเทียม

ผู้คนทั่วโลกรู้กันมานานแล้วว่า ซากเรืออับปางเป็นแหล่งประมงชั้นยอด วัสดุที่นิยมใช้ในการทำปะการังเทียมมักได้แก่ของเหลือทิ้ง ตั้งแต่ตู้เย็นเก่า รถเข็นของในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงซากรถยนต์ และตู้ขายสินค้าแบบหยอดเหรียญที่เลิกใช้แล้ว พูดง่ายๆก็คือ อะไรที่จมน้ำได้ล้วนมีศักยภาพที่จะเป็นปะการังเทียมได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตู้รถไฟใต้ดินปลดประจำการ รถถังโบราณ รถหุ้มเกราะ หรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน รวมไปถึงมอดูลรูปร่างคล้ายรวงผึ้งซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษเรียกว่า รีฟบอล (Reef Ball)

ปะการังเทียมส่วนใหญ่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลโดยแบ่งเป็นระยะต่างๆที่ค่อนข้างคาดเดาได้ ในระยะแรกเมื่อกระแสน้ำปะทะกับโครงสร้างแนวตั้งอย่างเรือ แวนเดนเบิร์ก จะก่อให้เกิดการลอยตัวขึ้นของสารอาหารและแพลงก์ตอนที่เป็นแหล่งอาหารของปลาเล็กปลาน้อยอย่างซาร์ดีนและปลามินนาว ซึ่งจะล่อสัตว์นักล่าอย่างปลาทูน่าครีบน้ำเงินและฉลามเข้ามาอีกทอดหนึ่ง จากนั้นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่แสวงหาแหล่งหลบภัยกลางห้วงสมุทรจะพากันอพยพเข้ามา ได้แก่ปลาที่อาศัยในโพรงและรอยแยกอย่างปลากะรัง ปลากะพง ปลากระรอก ปลาไหล และปลาวัว ส่วนนักล่าจอมฉวยโอกาสอย่างปลาแจ็กและปลาสากก็รีบจับจองพื้นที่ในห้วงน้ำไว้ ดักรอเหยื่อที่เผยตัวออกมา และเมื่อเวลาผ่านไป โครงสร้างเหล็กกล้าแปลกปลอมขนาดมหึมาจะปกคลุมไปด้วยสาหร่าย ปะการังทั้งอ่อนและแข็ง เพรียงหัวหอม และฟองน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่สรรพชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้น

นักชีววิทยาบางคนกังวลว่าปะการังเทียมจะดึงดูดปลามาจากปะการังธรรมชาติ เจมส์ เอช. โคแวน จูเนียร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชายฝั่งที่มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตต ให้ความเห็นว่า "หากความสำเร็จตัดสินจากปริมาณปลาที่จับได้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ปะการังเทียมก็ถือว่าได้ผลพอใช้ครับ แต่หากโครงสร้างเหล่านั้นซึ่งมักมีการทิ้งลงในน่านน้ำตื้นเพื่อประโยชน์ในการทำประมง ดึงปลาจากปะการังธรรมชาติที่อยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป นั่นอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาการทำประมงเกินขนาดโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤติอยู่แล้ว"

ปะการังเทียมบางประเภทเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและก่อมลพิษให้มหาสมุทร โดยสิ่งปนเปื้อนจะค่อยๆรั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายปี มลพิษนี้เองเป็นเหตุผลที่งบประมาณเกือบร้อยละ 70 จากทั้งหมด 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการจมเรือแวนเดนเบิร์ก หมดไปกับการทำความสะอาด ซึ่งรวมถึงการนำแร่ใยหินหรือแอสเบสทอสกว่าสิบตันและสายไฟกว่า 243,000 เมตรออกจากตัวเรือ

ปะการังเทียมไม่ได้เป็นเพียงสุสานของยางรถยนต์และเรือเท่านั้น หลายบริษัทเริ่มให้บริการแก่ผู้ที่ปรารถนาจะอุทิศร่างกายตนเองเป็นปะการังเทียม แต่ธุรกิจสุสานปะการังยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กมาก เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ จิม ฮัตสลาร์ หนึ่งในสามหุ้นส่วนของบริษัทเนปจูนเมโมเรียลรีฟ ชวนผมดำน้ำลงไปชมการบำรุงรักษาสุสานใต้น้ำที่เขาสร้างขึ้นลึกลงไป 12 เมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองไมแอมีบีชไป 7 กิโลเมตร ขณะที่ฮัตสลาร์ง่วนกับการใช้มีดขูดสาหร่ายออกจากป้ายหลุมศพ ผมก็แหวกว่ายสำรวจโครงการระยะแรกของสวนอนุสรณ์สถานใต้น้ำที่เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะครอบคลุมพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร

สายน้ำขุ่นมัวช่วยสร้างบรรยากาศขรึมขลังให้การค้นพบโครงสร้างใต้น้ำอันน่าพิศวงนี้ได้เป็นอย่างดี ภาพที่ผมเห็นคือกลุ่มเสาแตกหักพร้อมด้วยเสาบริวารทอดตัวเป็นแนวออกไปทั้งสองข้าง และราชสีห์สำริดขนาดยักษ์สองตัวทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าประตูเหล็กอยู่

เดิมทีแนวปะการังเนปจูน (Neptune Reef) ตั้งใจให้เป็นงานศิลปะ ทว่าต่อมาธุรกิจบริการด้านหลุมศพได้กลายเป็นช่องทางหารายได้เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ และจนถึงปัจจุบันมี "หลุมศพ" อยู่ที่นั่นราว 200 หลุม

ผู้ที่ทอดร่างลง ณ แนวปะการังเนปจูนจะได้รับการฌาปนกิจ อัฐิของพวกเขาจะถูกนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ และถ้าไม่บรรจุไว้ในเสาหิน ก็อาจนำไปหล่อเป็นประติมากรรมรูปดาวทะเล ปะการังสมองหรือรูปทรงอื่นๆ ผมแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปลาสลิดหินบั้ง ปลาสร้อยนกเขา ปลานกแก้ว และปลาสินสมุทรฝรั่งเศส ขณะทำความเคารพและไว้อาลัยแด่ผู้อุทิศร่างเป็นแหล่งอาศัยของสรรพชีวิตใต้ ทะเล

ผมดำน้ำผ่านหน้าราชสีห์ยักษ์ตัวหนึ่งซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนแท่นสูงลิ่วกว่า 4.5 เมตร ภาพที่ผมเห็นนั้นพร่าเลือนเป็นช่วงๆ เพราะฝูงปลาที่ว่ายผ่านไปมา ราชสีห์ตัวนี้มาอยู่ที่นี่ได้เพียงหกปี แต่ดูราวกับว่ามันเร้นกายจากสายตามนุษย์มาหลายชั่วอายุคน สาหร่ายสีแดงงอกงามอยู่ตามกรงเล็บ ส่วนปะการังก็รุกคืบยึดครองทั่วแผงคอ จนดูประหนึ่งประจักษ์พยานแห่งพลานุภาพของมหาสมุทรที่สามารถกลืนกินวัสดุแทบทุกประเภท รวมถึงร่างกายมนุษย์ และเปลี่ยนสรรพสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นอุทยานแห่งชีวิต.




จาก .............. ไทยโพสต์ วันที่ 29 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 02-03-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


ภูเก็ตทุ่มงบ 7 ล้าน-สร้างปะการังเทียม สร้างคอนกรีต 1.6 พันแท่งกลางทะเลอ่าวบางเทา


ภูเก็ต - นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกอบจ.ภูเก็ต กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการจัดสร้างแนวปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2 บริเวณอ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และบริเวณอ่าวกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ ว่า อบจ.ภูเก็ตร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทัพเรือภาคที่ 3 กรมประมง กรมขนส่งทางน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการนี้ขึ้น ใช้งบประมาณ 7.9 ล้านบาทสร้างแท่งคอนกรีต 1,630 แท่งวางในเขตพื้นที่อ่าวบางเทา และอ่าวกมลา รอบแนวชายฝั่ง 3,000 เมตร เพื่อป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการังและระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประกอบอาชีพประมง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งดำน้ำของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต

นายไพบูลย์กล่าวว่า โครงการจัดวางแนวปะการังเทียมของอบจ.ภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นโครงการระยะที่ 2 ที่ทางอบจ.ภูเก็ตจัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันฟื้นฟูและรักษาแนวปะการังธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกจนได้รับสมญานามว่า "ไข่มุกอันดามัน" เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายหาดสวยงาม มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สัตว์สวยงาม และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมายังขาดการจัดการในการวางแผน ควบคุมอย่างเหมาะสม ทำให้การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวปะการังชายฝั่งทะเลที่ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ




จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 2 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 11-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


นราฯฟื้นฟูทะเล ทำปะการังเทียม


ปะการัง- จังหวัดนราธิวาสจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม หนึ่งในโครง การไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 3 จำนวน 1,100 แท่ง

นราธิวาส - นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียมว่า หนึ่งในโครงการไทย เข้มแข็ง 2555 เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 3 จำนวน 1,100 แท่ง

นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นรา ธิวาส เผยว่า เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็น การช่วยเหลือชาวประมงเรือเล็กในพื้นที่ เพราะไม่สามารถที่จะออกเดินเรือในระยะไกลได้ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 33,650,000 บาท จัดทำปะการังเทียมจำนวน 6,600 แท่ง

ด้านนายสันธนะ จันทร ผู้อำนวยการเจ้าท่าจังหวัดนราธิวาส เผยถึงบริเวณในการปล่อยปะการังเทียมดังกล่าวว่า มาจากการพิจารณาเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายแล้ว ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือของชาวประมง รวมถึงยุทธศาสตร์การเดินเรือของเจ้าหน้าที่ทหารเรือ



จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 11 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #9  
เก่า 04-07-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


สร้างบ้านหลังใหม่ใต้ทะเล


ปะการังเทียม- โครงการสร้างบ้านใหม่ใต้ทะเล ปล่อยปะการังเทียม จ.นครศรีธรรมราช ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ เป้าหมายจัดวางตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการสร้างแนวปะการังเทียมให้กับสัตว์น้ำได้อาศัยและหลบภัยจำนวน 99 ตู้ ระหว่างปี 2550-2555 ที่ชายหาดริมทะเลในบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม

นครศรีธรรมราช - นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยถึงโครงการสร้างบ้านใหม่ใต้ทะเล ปล่อยปะการังเทียมใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ว่า มีเป้าหมายจัดวางตู้คอนเทนเนอร์เป็นการสร้างแนวปะการังเทียมให้กับสัตว์น้ำได้อาศัยและหลบภัยจำนวน 99 ตู้ ระหว่างปี 2550-2555 สำหรับการจัดวางปะการังเทียมโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ได้ดำเนินการปีละ 18 ตู้ และในปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่มีการจัดวางปะการังเทียมตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 28 ตู้ กำหนดวางพิกัดบริเวณอ่าวขนอมห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร

วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติใต้ท้องทะเลขนอม เป็นแนวปะการังเทียมสำหรับเป็นบ้านใหม่ของสัตว์น้ำทางทะเล โดยเฉพาะปลาโลมาสีชมพู สัญลักษณ์ของอำเภอขนอม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมแหล่งประมงให้มีความอุดมสมบูรณ์พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์




จาก ............... ข่าวสด วันที่ 4 กรกฎาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #10  
เก่า 11-08-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,569
Default


โครงการพระราชดำริ ปะการังเทียม


จากการดำเนินการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นผลให้คนในชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตริมฝั่งชายทะเลอย่างมีความสุข และพร้อมถวายความจงรักภักดีในการรักษาความสมดุลของทะเลให้คงอยู่ต่อไป

เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่ชาวบ้านในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีชีวิตสุขสบายริมฝั่งทะเลที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อันเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่จับปลาและสัตว์ทะเลได้น้อยลง จากความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ก่อเกิดเป็นโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ที่เรียกว่า ปะการังเทียม โดยว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เล่าว่า นับจากปี 2545 เป็นต้นมา จังหวัดปัตตานี และกรมประมง ได้เริ่มนำปะการังเทียม ที่ได้จากซากโบกี้รถไฟ แท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมถึงซากรถยนต์มาทิ้งในท้องทะเล เป็นบ้านหลังน้อยให้ประชากรปลาได้อยู่อาศัย

"โครงการปะการังเทียมนี้ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทรัพยากรทางทะเล ต่อชาวบ้านชาวประมง ตลอดจนชาวปัตตานี ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการพัฒนาดีขึ้น จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่สิ่งที่รัฐบาลและพวกเราทุกคนมุ่งหวังคือคำว่าสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัด"

ผลดีจากการนำปะการังเทียมไปทิ้งยังท้องทะเลให้กับปลาและสัตว์น้ำ คุณลุงประเสริฐ เกียรติภักดี รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะลุบัน เล่าว่า ทุกวันนี้พบปลา และสัตว์น้ำน้อย-ใหญ่เพิ่มมากขึ้น บางพื้นที่สัตว์น้ำที่เคยหายไป อย่างเช่น ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อ ปลาโฉมงาม ก็กลับมาให้เห็นอีกครั้ง ชาวบ้านออกเรือไปไม่นานก็ได้ปลามาขายสร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี และทุกคนตั้งใจที่จะสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านปลาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน

“อยากจะสนองพระราชดำริที่ท่านได้มอบให้ชาวอำเภอสายบุรี โดยเฉพาะโครงการปะการังเทียม เราก็ได้ทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านด้วยการสร้างบ้านปลา ซึ่งบ้านปลานี้ ถ้าหากว่าเราไม่ดูแล มันก็จะมีพวกอุปสรรค ประมงที่ใหญ่ มีเครื่องมือที่ทันสมัย พวกอวนที่คลุมบ้านปลา ถ้าเราทำความสะอาดบ้านปลา จะทำให้บ้านปลาสะอาดปลาก็จะมาอยู่อาศัยมากขึ้นถือเป็นโครงการสานต่อพระองค์ท่าน ”

การก่อเกิดโครงการปะการังเทียม อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ใช่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประชากรสัตว์น้ำในผืนทะเลให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า พสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ พร้อมถวายความจงรักภักดีด้วยการดูแลรักษาทรัพยากรธรรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน




จาก ................ สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 10 สิงหาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 14:55


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger