เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #21  
เก่า 04-11-2009
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



คงจำกันได้....พวกเราชาว SOS เพิ่งไปปล่อยปูม้าสองแสนตัว และหอยแครงล้านตัว ที่แหลมผักเบี้ย ที่ไม่ไกลจากอ่าวบ้านแหลม ที่กำลังมีเรื่องพิพาทเรื่องคนจากคลองโคน สมุทรสงคราม เข้าไป "โพงหอยแครง" ในเขตอนุรักษ์ของชาวบ้านแหลมนัก

เราได้เห็นภาพประทับใจว่าคนที่นั่น เขางมหอยแครงด้วยมือเปล่า โดยไม่ใช้เครื่องมืออื่นใดมาช่วย ตามแนวทางที่ชาวบ้านได้ร่วมกันตั้งกฎไว้ เพื่ออนุรักษ์หอยแครงและสัตว์น้ำอื่นๆในบริเวณนี้

แล้วมันผิดด้วยหรือ.....ถ้าเจ้าถิ่นที่เริ่มรู้จักคำว่า "อนุรักษ์" พากันจับกุ้งหอยปูปลาที่มีในท้องถิ่นของตนมากินมาขายกันแบบพอเพียงด้วยมือเปล่า เพื่อให้มีสัตว์น้ำเหลือไว้กินในวันข้างหน้า ถ้าคนถิ่นอื่นจะเข้าไปหากินในเขตอนุรักษ์ และทำตามกฎที่เขาวางไว้ ไม่ใช่ทำแบบกอบโกยอย่างนี้ เขาก็คงจะไม่ร่วมกันต่อต้านให้เดือดร้อนกันอย่างที่เป็นข่าวนะคะ

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #22  
เก่า 04-11-2009
milo15 milo15 is offline
Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: BANGKOK, THAILAND
ข้อความ: 82
Default

จริงๆแล้ว พวก"โพงหอยแครง" น่าจะตระหนักบ้างนะว่า วิธีการดังกล่าวนั้นทำให้ หอยแครงลดจำนวนลงแทบจะสูญพันธุ์ ในบริเวณที่เคยทำมาหากินกันมา เลยต้องตะเลิดเปิดเปิง ข้ามถิ่นมารุกล้ำที่ทำมาหากินของคนอื่นเขา เขาก็ไม่ว่า ยอมแบ่งบันให้ เพียงให้ใช้วิธีจับแบบของเขา คือ "ใช้มือจับ" พวก"โพงหอยแครง"ไม่พอใจ จะใช้วิธีของเขาให้ได้ คงเป็นเพราะความโลภฝังหัว ปัญหาจึงเกิด.... เรื่องคงยาวครับ อ.สองสาย คนเพชรบุรีบ้านผม ไม่ยอมใครหรอกครับ ถ้าไม่ผิด....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #23  
เก่า 18-03-2010
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default

เดลินิวส์


รองรับกฏระเบียบของสหภาพยุโรป ประมงไทยมีความคืบหน้า

สืบเนื่องจากสหภาพยุโรปได้ออก กฎระเบียบฉบับที่ 1005/2008 ลงวันที่ 29 กันยายน 2551 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือการทำการประมง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป กฎระเบียบดังกล่าวได้กำหนดให้สินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงซึ่งได้จากการทำประมง ทะเลที่จะส่งเข้าไปยังสหภาพยุโรป จะต้องมีเอกสารรับรองการจับ ว่าไม่ได้มาจากการทำประมง นอกจากนี้ จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับ ถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต อีกด้วย กฎระเบียบนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งสินค้าสัตว์น้ำของประเทศไทยไปยังประเทศ สหภาพยุโรป ซึ่งไทยส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปขายต่างประเทศทั้งในรูปสัตว์น้ำมีชีวิต สดแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์แปรรูป โดยในปี 2551 ที่ผ่านมาสินค้าสัตว์น้ำที่ส่งออกทั้งสิ้นมีปริมาณรวม 1,907,072 ตัน คิดเป็นมูลค่า 228,218 ล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งเข้าสหภาพยุโรป 268,806 ตัน คิดเป็นมูลค่า 36,232 ล้านบาท

ล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงได้ดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปไว้อย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยทางกรมประมงได้จัดประชุมสัมมนาในเรื่องของกฎระเบียบสหภาพยุโรปเกี่ยวกับ การประมงแบบป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเตรียมตัวรองรับกฎระเบียบดังกล่าว โดยมีวิทยากรจากสหภาพยุโรปมาชี้แจง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป ร่วมกันศึกษาผลที่เกิดแก่ประเทศไทยหลังกฎระเบียบนี้บังคับใช้แล้ว ซึ่งจากผลการศึกษาทราบว่าประเทศไทยมีศักยภาพและสามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบ ได้อย่างแน่นอน แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบของสหภาพยุโรป โดย กรมประมงได้จัดวางระบบการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ ระบบการตรวจสอบย้อนกลับโดยใช้ระบบการควบคุมการทำประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งมี การรายงานการทำการประมง และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กรมประมงเป็นหน่วยงาน ในการรับรองสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการทำการประมงที่ไม่ได้มาจากการทำประมงไอยูยู

พร้อมกันนี้ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในกฎระเบียบ เกี่ยวกับเรื่องของการทำการประมงไอยูยู เพื่อรองรับกฎระเบียบดังกล่าวแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ประกอบการเรือประมง และผู้ส่งออกสินค้า รวมทั้งเจ้าหน้าที่ ตลอดจนจัดพิมพ์สมุดบันทึกการทำการประมงแจกให้ชาวประมง เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกภาคส่วนได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียว กัน

มีการจัดทำกิจกรรมเร่งด่วน 6 กิจกรรม ได้แก่ การตรวจสอบรับรองสัตว์น้ำขึ้นท่าและการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ การควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบดังกล่าว การปรับปรุงสุข อนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมง จัดตั้งศูนย์ข้อมูลตรวจสอบรับรองการจับสัตว์น้ำ การประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามกฎระเบียบนี้ และตั้งศูนย์ประสานงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ

แจกสมุดบันทึกการทำการประมงไปแล้วจำนวน 2,242 เล่ม และมีผู้ส่งสำเนา คืน 1,383 แผ่น ร่วมกับกรมเจ้าท่าออกหน่วยบริการเคลื่อนที่ ให้บริการจดทะเบียน เรือ และออกใบอนุญาตใช้เรือ รวมทั้งออกอาชญาบัตรการทำการประมง ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล โดยเริ่มที่จังหวัดชลบุรี เป็นจังหวัดนำร่อง ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ และ ระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม ที่ผ่านมานี้ โดยมีชาวประมงมาใช้ บริการ 117 ราย และมีเป้าหมายรวม 7,000 ราย สำหรับปีงบประมาณ 2553 นี้

และเพื่อให้การประมงของไทยได้รับผลกระทบจากกฎระเบียบฉบับนี้น้อยที่สุด ทางกรมประมงจึงขอความร่วมมือจากพี่น้องชาวประมง ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ แพปลา ผู้รับซื้อสัตว์น้ำ และผู้ประกอบการโรงงานแปรรูป ได้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของระบบต่าง ๆ ที่กรมประมงได้วางไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์อันพึงได้ของส่วนที่เกี่ยวข้องต่องานด้านการประมงไทย นั้นเอง.

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #24  
เก่า 21-03-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


กระบี่ สั่งปิดอ่าวช่วงฤดูปลาวางไข่


กระบี่ - นายเจริญ โอมณี หน.ศูนย์ป้องกันและปราบปราม ประมงทะเลฝั่งอันดามัน จ.กระบี่ เปิดเผยว่า ตามที่กรมประมง กระทรวงเกษตรฯ ออกประกาศเรื่องกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ทำการประมงในฤดูปลาที่มีไข่ และวางไข่เลี้ยงลูก ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และตรัง เป็นประจำทุกปี ในปีนี้จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. รวมระยะเวลา 3 เดือน บริเวณที่มีการประกาศปิดอ่าว เริ่มตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถึงตะวันออกปลายแหลมหัวล้านเกาะยาวใหญ่ อ.เมือง จ.พังงา ถึงปลายแหลมเกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ถึงปลายแหลมเกาะลิบง จ.ตรัง ถึงเกาะสุกร ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

สำหรับเครื่องมือประมงที่ห้ามมีอยู่ 3 ชนิด คือ อวนลากทุกประเภท ทุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล อวนล้มจับทุกชนิด และอวนติดตา ขนาดช่องตาเล็กกว่า 4.7 ซ.ม. ทำการประมงในพื้นที่หวงห้าม ยกเว้นเครื่องมืออวนล้มจับปลากะตักในเวลากลางวัน เครื่องมืออวนลากคานถ่าง ที่ใช้ประกอบเรือกล เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้ มีคานถ่างหรืออวนลากที่ประกอบเรือกล ซึ่งใช้เชือกเส้นใย ประดิษฐ์เป็นสายลากอวน ฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับและมีการริบเครื่องมือทำการประมงด้วย



จาก : ข่าวสด วันที่ 21 มีนาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #25  
เก่า 23-03-2010
Super_Srinuanray's Avatar
Super_Srinuanray Super_Srinuanray is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Deep Blue Sea
ข้อความ: 1,073
Default

เมื่อ 4 วันที่ผ่านมา สังเกตุ เหมือนว่า ปลาที่สิมิลัน ก็ท้องป่อง เหมือนจะมีไข่ เหมือนกันนะคะ

ทำไม ไม่ปิดอ่าวที่ พังงา หรือจังหวัดชายทะเล บ้างคะ จะได้มีปลาไว้จับ ช่วงที่เค้าเจริญเติบโตเต็มที่
__________________
Superb_Sri_Nuan.Ray ณ SOS
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #26  
เก่า 03-04-2010
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ประกาศปิดอ่าวฝั่งอันดามัน3เดือน อนุรักษ์ปลาวางไข่-ห้ามเด็ดขาดเรือกลอวนลาก


กระบี่ - นายกมล จิตระวัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2553 อนุรักษ์สัตว์น้ำวางไข่ 3 เดือน โดยมีการบวงสรวง พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พร้อมปล่อยเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงาน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำพวก กุ้งทะเล 1 ล้านตัว ปลากะพงขาว 1 แสนตัว ปูม้า 1 แสนตัว และเต่าตนุ 5 ตัว

มีนายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ นายวิฑูร พ่วงทิพากร ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการด้านการประมง ข้าราชการ ประชาชนผู้ประกอบอาชีพทำการประมงและเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต กว่า 1,000 คน เข้าร่วมพิธี ซึ่งทุกปีในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการปิดอ่าว ทำให้พันธุ์สัตว์มีจำนวนเพิ่มขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ทำให้ประชากรชาวประมงสามารถจับสัตว์น้ำหลังจากพ้นระยะเวลาการปิดอ่าวได้เป็นจำนวนมาก และสร้างรายได้ ประชากรชาวประมงในพื้นที่ 4 จังหวัด มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นทุกปี

สำหรับการประกาศปิดอ่าว เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายนของทุกปี ในพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต และจังหวัดตรัง เริ่มตั้งแต่ปลายแหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ถึงตะวันออกปลายแหลมหัวล้านเกาะยาวใหญ่ อ.เมือง จ.พังงา ถึงปลายแหลมเกาะลันตาใหญ่ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ ถึงปลายแหลมเกาะลิบง จังหวัดตรัง ถึงเกาะสุกร ถึงปลายแหลมหยงสตาร์ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง รวมเนื้อที่ 4,696 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,935,000 ไร่

สำหรับเครื่องมือประมงที่ห้ามมีอยู่ 3 ชนิด คือ อวนลากทุกประเภท ทุกขนาดที่ใช้ประกอบเรือกล อวนล้อมจับทุกชนิด และอวนติดตาขนาดช่องตาเล็กกว่า 4.7 เซนติเมตร ทำการประมงในพื้นที่หวงห้าม ยกเว้นเครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางวัน เครื่องมืออวนลากคานถ่างที่ใช้ประกอบเรือกล เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเข้ มีคานถ่างหรืออวนลากที่ประกอบเรือกล ซึ่งใช้เชือกเส้นใย ประดิษฐ์เป็นสายลากอวน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีการริบเครื่องมือทำการประมงด้วย



จาก : ข่าวสด วันที่ 3 เมษายน 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #27  
เก่า 03-04-2010
Super_Srinuanray's Avatar
Super_Srinuanray Super_Srinuanray is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Deep Blue Sea
ข้อความ: 1,073
Default

ม่ายยยย พอค่ะ อยากให้ปิดไปถึงเขต ระนองเลย เริ่ม ตั้งแต่ นาใต้ ถึง ระนองเลย

นะคะ คุณผู้ว่าเจ้าขา.....
__________________
Superb_Sri_Nuan.Ray ณ SOS
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #28  
เก่า 15-02-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

แนวหน้า


กรมประมงประกาศปิดอ่าว ให้สัตว์น้ำวางไข่ขยายพันธุ์

ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมงเตรียมจัดพิธีประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ ในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ฝั่งทะเลอ่าวไทย (ปิดอ่าวฝั่งทะเลไทย) ประจำปี 2554 ในช่วงระหว่างวันที่ 15 ก.พ. - 15 พ.ค.2554 รวมระยะเวลา 3 เดือน มีผลบังคับใช้ในอาณาเขตพื้นที่ประมาณ 26,400 ตารางกิโลเมตรของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี โดยการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิด ที่อาจส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย

ทั้งนี้จากการศึกษาวิจัยยังคงพบว่าช่วงระหว่างวันที่ 15 ก.พ.- 15 พ.ค.ของทุกปี ในท้องทะเลบางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งวางไข่และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนของสัตว์น้ำหลายชนิด และจากการเก็บข้อมูลจำนวนประชากรสัตว์น้ำในช่วงหลังฤดูกาลปิดอ่าวฯ เมื่อปี 2553 พบว่าปริมาณการจับสัตว์น้ำได้มีจำนวนมากถึง 43,115.1 ตัน ซึ่งมากกว่าช่วงก่อนปิดอ่าวฯ กว่าเท่าตัว แสดงให้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวนี้สามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้ชาวประมงมีรายได้ในการประกอบอาชีพได้อย่างดี

หากมีชาวประมงรายใดฝ่าฝืนใช้เครื่องมือต้องห้ามทำการประมงในพื้นที่ที่ได้ ประกาศปิดอ่าวฯ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ


****************************************************


ประกาศปิดอ่าวไทย 3 เดือน เกษตรฯดีเดย์15กพ.-15พค. เข้มห้ามจับปลาช่วงวางไข่

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เดินทางไปยังท่าเทียบเรือ ต.ท่ายาง อ.เมือง จ.ชุมพร เพื่อเป็นประธานในพิธีประกาศปิดอ่าวฝั่งทะเลอ่าวไทยเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 พฤษภาคม

นายธีระ กล่าวว่า ในขณะที่ศักยภาพทางการประมงพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ประชากรสัตว์น้ำกลับลดน้อยลงไปทุกวัน ดังนั้นการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ จึงเป็นนโยบายหลักที่กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ โดยเฉพาะมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูปลาที่มีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนฝั่งทะเลอ่าวไทย หรือที่เรียกว่า "ปิดอ่าว" ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ - 15 พฤษภาคมของทุกปี คลุมพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี รวมอาณาเขต 26,400 ตารางกิโลเมตร

โดยมีการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงบางชนิดที่อาจส่งผลต่อการแพร่พันธุ์ของพ่อแม่พันธุ์และสัตว์น้ำวัยอ่อนในท้องทะเลอ่าวไทย โดยเฉพาะ "ปลาทู" สัตว์น้ำที่มีคุณค่าและความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ ตามประกาศกระทรวงเกษตรฯ สามารถที่จะช่วยสร้างความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้คืนกลับมาได้อย่างยั่งยืน

ด้านนางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุตามวัตถุประสงค์ จึงได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจฯ ขึ้นมา แบ่งตามภารกิจเป็น 4 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงและประชาชนเข้าใจถึงผลดีของการปิดอ่าวฯ
2.กลุ่มควบคุมดูแลปราบปราม รับผิดชอบการควบคุมตรวจปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมาย
3.กลุ่มติดตามผลการดำเนินคดี รับผิดชอบในการติดตามผลการดำเนินคดีในการจับกลุ่มผู้กระทำผิด และ
4.กลุ่มประเมินผลทางวิชาการ ทำหน้าที่สำรวจ รวบรวมข้อมูล ศึกษาและประเมินสภาวะทรัพยากรสัตว์น้ำ
ซึ่งทั้ง 4 กลุ่มได้ปฏิบัติงานร่วมกันอย่างบูรณาการ และเพื่อให้กลุ่มชาวประมงและชุมชนชาวประมงในท้องถิ่นเกิดความรู้ความเข้าใจในมาตรการปิดอ่าวฯ และตระหนักถึงความสำคัญต่อการอนุรักษ์สัตว์น้ำ

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #29  
เก่า 09-06-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน : อีกครั้งของความล้มเหลวในการจัดการประมงทะเลไทย ......................... โดย ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง



ในขณะนี้กรมประมงกำลังพิจารณาเสนอให้มีการ “นิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อนทั่วประเทศ” อีก 2,107 ลำ โดยให้เหตุผลว่าผลผลิตของเรืออวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งออกให้กับสหภาพยุโรปได้ เพราะการบังคับใช้มาตรการ IUU Fishing ในการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรป “IUU Fishing” มาจากคำว่า Illegal, Unreported and Unregulated Fishing ซึ่งแปลว่าการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งหมายความว่าสหภาพยุโรปจะไม่นำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฏหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงานแหล่งที่มาของสัตว์น้ำ และเป็นการทำประมงที่ไม่มีการควบคุม

เพื่อทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจในประเด็นนี้มากขึ้น เพื่อเกิดการวิพากษ์ในประเด็นอย่างกว้างขวาง ผู้เขียนจึงมขอเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการทำประมงอวนลากดังต่อไปนี้

ด้วยความช่วยเหลือของประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีทำให้การทำประมงอวนลากเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นระยะแรกเริ่มของการพัฒนาประมงทะเลของไทย ด้วยศักยภาพของเครื่องมืออวนลากทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรสัตว์น้ำหน้าดินสูงสุด

งานวิจัยชิ้นหนึ่งกล่าวไว้ว่า อ่าวไทยมีศักยภาพการผลิต (carrying capacity) ของสัตว์น้ำหน้าดินอยู่ที่ประมาณ 750,000 ตัน ซึ่งต้องการการลงแรงประมงอวนลาก (fishing effort) อยู่ที่ 8.6 ล้านชั่วโมง (Muntana, Somsak, 1982 อ้างโดย the Southeast Asian Fisheries Development Center, 1987) อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมาได้มีการจับสัตว์น้ำหน้าดินด้วยอวนลากเกินศักยภาพการผลิตของทะเล โดยที่ในปี พศ. 2525 ผลผลิตของประมงอวนลากอยู่ที่ 990,000 ตัน ซึ่งเกินกว่ากำลังการผลิตของทะเลกว่า 30% ซึ่งเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทะเล ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2529 ผลผลิตของเรือประมงอวนลากลดลงเหลือ 648,560 ตันแต่ต้องลงแรงทำการประมงถึง 11.9 ล้านชั่วโมง

จากสำรวจของกรมประมงพบว่า อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของการทำประมงอวนลากลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2504 อัตราการจับสัตว์น้ำของอวนลากอยู่ที่ 297.6 กก./ชม. ลดลงเหลือ 49.2 กก./ชม. ในปี พ.ศ. 2525 และ 22.78 กก./ชม. ในปี พ.ศ. 2534 (Phasuk, 1994) ในปี พ.ศ. 2549 อัตราการจับสัตว์น้ำเฉลี่ยของอ่าวไทยตอนบนเหลืออยู่เพียง 14.126 กก./ชม. (โอภาส ชามะสนธิ และ คณิต เชื้อพันธุ์, 2552)

ในขณะที่งานวิจัยเรื่ององค์ประกอบของผลผลิตอวนลากได้พบว่า สัดส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต้องการมีเพียงร้อยละ 33.3 ที่เหลือเป็นปลาเป็ดร้อยละ 66.7 และร้อยละ 30.1 ของปลาเป็ดเป็นสัตว์ส่วนของสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจวัยอ่อน (Chantawong, 1993)

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่นำเสนอโดย FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) ร่วมกับกรมประมงในปี พ.ศ. 2547 ได้กล่าวว่า เพื่อคงไว้ซึ่งศักยภาพการผลิตของทะเลสูงสุดของสัตว์หน้าดิน การทำประมงอวนลากในอ่าวไทยต้องลดลงอีก 40% แต่ถ้าต้องการทำให้เกิดผลทางเศรษฐกิจสูงสุดต้องลดลงอีก 50% ของการลงแรงประมงที่เป็นอยู่

นอกจากนี้แล้ว งานวิจัยทัศนคติของชาวประมงชายฝั่งต่อผลกระทบของการทำประมงอวนลาก พบว่า ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งได้รับความเดือดร้อนจากเรือประมงอวนลากอย่างหนักหนาสาหัสทั่วหน้ากัน อวนลากไม่เพียงแต่ทำลายสัตวน้ำเศรษฐกิจวัยอ่อน ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศสัตว์น้ำชายฝั่ง แต่ยังได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงพื้นบ้านที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับสัตว์น้ำให้เสียหายอีกด้วย

จึงกล่าวได้ว่าการทำประมงอวนลากส่งผลกระทบทางลบทั้งต่อตัวทรัพยากรทะเล และวิถีการทำประมงของชุมชนชายฝั่งซึ่งเป็นชาวประมงส่วนใหญ่ของประเทศ

ถึงแม้ว่าการทำประมงอวนลากจะถูกห้ามดำเนินการในเขตพื้นที่ชายฝั่ง 3,000 เมตรทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา แต่ด้วยข้อจำกัดหลายประการของกรมประมงทำให้การควบคุมการทำประมงอวนลากให้ปฏิบัติตามกฏหมายที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพและเป็นไปได้ยาก ความพยายามของกรมประมงในการควบคุมจำนวนเรือประมงอวนลากก็ไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติ

ในปี พ.ศ.2523 กรมประมงประกาศที่จะไม่ออกใบอนุญาติทำประมงให้กับเรือประมงอวนลากใหม่ เพื่อเป้าหมายในการลดจำนวนเรืออวนลากในระยะยาว แต่ด้วยการเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการและกลุ่มประมงอวนลากในขณะนั้น ทำให้กรมประมงอนุญาติให้เรืออวนลากผิดกฏหมายที่ไม่มีทะเบียนมาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย (ขออนุญาตเรียกว่า นิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อน) เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น 3 ครั้งด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2525 พ.ศ. 2532 และ พ.ศ.2539

ทำให้เห็นว่าการควบคุมจำนวนเรืออวนลากของกรมประมงที่ผ่านมา เป็นเพียงการควบคุมตัวเลขเรืออวนลากที่จดทะเบียนเท่านั้น แต่มีเรืออวนลากเถื่อนเต็มท้องทะเลที่กำลังรอวันนิรโทษกรรม

ดังนั้น การที่กรมประมงกำลังดำเนินการพิจารณานิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนอยู่ในขณะนี้ ด้วยเหตุผลเพื่อแก้ปัญหาการส่งสินค้าประมงของไทยเข้าสหภาพยุโรปตามมาตรการ IUU Fishing แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการเรื่องผลกระทบของการทำประมงอวนลากข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าการนิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนครั้งนี้เป็นการดำเนินการที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของมาตรการ IUU Fishing ของสหภาพยุโรป ที่ต่อต้านการประมงที่ผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ที่ถือว่าเป็นการทำประมงที่ส่งผลร้ายแรงต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมทางทะเล

ผู้เขียนคิดว่า บทบาทหน้าที่ของกรมประมงควรตั้งอยู่บนหลักการที่สำคัญสองประการ

- ประการแรกคือ การจัดการประมงให้เกิดการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อคงไว้ซึ่งการผลิตอาหารและการประกอบอาชีพของชาวประมงทั่วประเทศ และ

- ประการที่สองคือ การกระจายการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรมที่จะช่วยลดความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำในสังคม และเกิดธรรมมาภิบาลในการบริหารจัดการประมง ถ้ากรมประมงดำเนินงานอยู่บนหลักสองประการนี้ก็จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายอื่นๆของกรมประมงที่ได้ตั้งไว้




จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 พฤษภาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #30  
เก่า 14-06-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


การนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน : อีกครั้งของความล้มเหลวในการจัดการประมงทะเลไทย (2) ......................... โดย ดร.สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ นักวิจัยอิสระด้านการจัดการประมง



ลักษณะการทำงานของอวนลากบริเวณพื้นท้องทะเล

การทำประมงอวนลากเกิดขึ้นในประเทศไทยประมาณปี พ.ศ.2503 ซึ่งเป็นระยะแรกเริ่มของการพัฒนาประมงทะเลของไทย อวนลากมีศักยภาพสูงในการจับสัตว์น้ำ โดยเฉพาะสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณหน้าดินท้องทะเล (demersal fish) ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์ในปริมาณมากเกินศักยภาพการผลิต (carrying capacity) ของทะเล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2513 เป็นต้นมา ด้วยลักษณะของเครื่องมืออวนลากที่เป็นถุงอวนแข็งแรงขนาดใหญ่ มีโซ่ร้อยที่ปากอวนเพื่อถ่วงน้ำหนักให้ปากอวนเปิดกว้าง และกินน้ำได้ลึกในขณะทำการประมง และวิธีการทำประมงของอวนลากที่ลากครูดไปกับพื้นท้องทะเลได้ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ เช่น แหล่งปะการัง หน้าดินพื้นท้องทะเล เป็นต้น ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยและแพร่พันธุ์ของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่งเสื่อมโทรมลง

นอกจากนี้แล้ว การลากอวนขนาดใหญ่ไปตามพื้นท้องทะเลเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถเลือกจับทั้งชนิด และขนาดของสัตว์น้ำได้ จากผลงานวิจัยพบว่า สัดส่วนของสัตว์น้ำที่ได้แต่ละครั้งจะมีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ต้องการ (target species) อยู่เพียงหนึ่งในสามของสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมด ที่เหลืออีกสองในสามเป็นปลาเป็ด (trash fish) เพื่อขายให้แก่โรงงานปลาป่นผลิตอาหารสัตว์ และประมาณร้อยละสามสิบของปลาเป็ดเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจวัยอ่อนที่สามารถเจริญเติบโตมีมูลค่าสูงต่อไปได้

ข้อมูลวิชาการจำนวนมากได้พิสูจน์แล้วว่า อวนลากเป็นเครื่องมือประมงที่มีศักยภาพในการทำลายล้างสูง ถึงแม้ พ.ร.บ.ประมงจะห้ามทำการประมงอวนลากในเขต 3,000 เมตรจากชายฝั่ง และให้ควบคุมจำนวนเรืออวนลากไม่ให้มีเพิ่มขึ้นอีก แต่การบังคับควบคุมให้การทำประมงอวนลากเป็นไปตามกฏหมายของกรมประมงก็ดูเหมือนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงอวนลากมากที่สุดคือ ชาวประมงขนาดเล็กที่ทำมาหากินอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทุกจังหวัดของประเทศไทย

นอกเหนือจากการเผชิญกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรสัตว์น้ำอันเนื่องมาจากการทำประมงอวนลากแล้ว พวกเขายังต้องสูญเสียเครื่องมือประมงที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักจับสัตว์น้ำไปกับการทำประมงอวนลากอีกด้วย โดยเฉพาะชาวประมงอวนจมปู และชาวประมงลอบหมึก อวนจมปูหนึ่งชุดมีมูลค่าประมาณ 7,000-10,000 บาท หรือลอบหมึกหนึ่งชุดประมาณ 30-40 ลูก มีราคาประมาณ 3,000-5,000 บาท การสูญเสียเครื่องมือประมงไม่ได้หมายถึงแค่การสูญเสียเครื่องมือทำมาหากิน แต่พวกเขาได้สูญเสียรายได้ที่จะเลี้ยงครอบครัว และการมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ชาวประมงอวนจมปูรายหนึ่งที่อ่าวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า “ผมเพิ่งซื้ออวนปูชุดใหม่ เอาไปวางไว้ในทะเลเมื่อวานนี้ พอวันนี้อวนทั้งหมดหายไปกับอวนลาก ผมจะไปกู้ยืมเงินก้อนใหม่จากกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนประมงไม่ได้อีก เพราะว่ายังไม่ได้คืนเงินเก่า ทางเดียวที่ทำได้คือ กลับไปหาพ่อค้าคนกลางเพราะเค้ามีเงินให้ยืมเสมอสำหรับชาวประมงที่เป็นลูกหนี้ที่ดี” ในการลากอวนของเรืออวนลากแต่ละเที่ยวไม่ได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงขนาดเล็กเพียงแค่คนเดียว แต่ได้ทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงหลายคนที่วางไว้ในรัศมีการลากอวนของเรืออวนลากลำนั้นๆ

จากประสบการณ์ของผู้เขียนในการเก็บข้อมูลงานวิจัยเกือบทุกจังหวัดชายฝั่งทั่วประเทศตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี พบว่า ชุมชนประมงชายฝั่งทุกชุมชนที่ได้ให้สัมภาษณ์มีประสบการณ์ในทางลบกับเรือประมงอวนลากด้วยกันทั้งสิ้น ผลกระทบที่ได้รับหนักหนาสาหัสต่อการประกอบอาชีพประมงเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว พวกเขาได้เรียนรู้ว่า การพึ่งพาหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้ เป็นเวลาเกือบสองทศวรรษแล้วที่มีชุมชนชายฝั่งมากมายหลายชุมชนลุกขึ้นมาปกป้องพื้นที่ชายฝั่งหน้าหมู่บ้านของตนเองให้รอดพ้นจากการรุกล้ำของเรือประมงอวนลาก มีการตั้งกลุ่มอาสาสมัครอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งเพื่อสอดส่องดูแลการทำประมงที่ผิดกฏหมาย และเมื่อมีกรณีเกิดขึ้นก็จะขับไล่ให้พ้นไปจากพื้นที่ทะเลหน้าชุมชน หรือประสานงานกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการจับกุมผู้กระทำความผิด

นอกจากนี้ ชุมชนยังได้พยายามฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ดัง เดิมด้วยการจัดกิจกรรมอนุรักษ์ที่หลากหลาย เช่น การสร้างบ้านให้ปลาด้วยการทำซั้งกอ เพื่อให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย วางไข่ และขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ พร้อมด้วยมาตรการห้ามทำการประมงรอบซั้งที่สร้างไว้เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดระบบนิเวศที่สมบูรณ์ในบริเวณรอบซั้งเหล่านั้น มีการจัดตั้งธนาคารปู ธนาคารกุ้ง เพื่อให้แม่พันธุ์ที่มีไข่เต็มท้องที่ถูกจับได้มีโอกาสวางไข่ก่อนที่จะถูกนำไปขาย มีการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อนที่สำคัญ เป็นต้น


พื้นที่โครงการนำร่องการจัดการประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน

โครงการนำร่องการจัดการประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอีกความพยายามหนึ่งของชุมชนชายฝั่ง 9 ชุมชนในอ่าวบางสะพานร่วมกับเจ้าหน้าที่ประมงในท้องถิ่นดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบของการทำประมงอวนลาก ก่อนที่โครงการนำร่องการจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2542 ชาวประมงชาวขนาดเล็กในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำประมงอวนลากอย่างแสนสาหัส เรือประมงอวนลากจากจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และบางพื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้บุกรุกเข้ามาลากอวนในเขต 3,000 เมตร ของชายฝั่งอ่าวบางสะพาน

การรุกล้ำพื้นที่ชายฝั่งของอวนลาก ทำให้ชาวประมงในท้องถิ่นทำมาหากินได้อย่างยากลำบาก เพราะระบบนิเวศชายฝั่งถูกทำลาย ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง และทำลายเครื่องมือประมงของชาวประมงขนาดเล็กที่วางทิ้งไว้ในทะเลเพื่อดักสัตว์น้ำให้เสียหายอีกด้วย ผลกระทบจากการทำประมงอวนลากดังกล่าว ทำให้ชาวประมงท้องถิ่นส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง มีต้นทุนการทำประมงสูงขึ้น และมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้พวกเขาเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ ซึ่งได้ขยายไปสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่าย มีการต่อสู้ทั้งทางวาจา และการใช้กำลังทำให้ชาวประมงขนาดเล็กซึ่งมีสถานภาพทางสังคมที่ด้อยกว่า มีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตอีกด้วย

ด้วยการต่อสู้เรียกร้องของชาวประมงในพื้นที่ต่อปัญหาเรือประมงอวนลากอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้น ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนชาวประมงในอ่าวบางสะพาน และเจ้าหน้าที่ประมงในท้องถิ่นในการดำเนิน “โครงการนำร่องการจัดการประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน” ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ประกาศเขตพื้นที่โครงการนำร่อง: เส้นสีเหลือง (ดูภาพประกอบที่ 2) และห้ามอวนลากเข้ามาทำการประมงในพื้นที่โครงการ ทำให้เขตห้ามทำการประมงงอวนลากในอ่าวบางสะพาน ขยายจาก 3 กิโลเมตร หรือเขตเส้นสีแดงออกไปถึงประมาณ 10 กิโลเมตรจากชายฝั่ง หรือเขตเส้นสีเหลือง พร้อมทั้งมีการตั้งกลุ่มชาวประมงอาสาอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งดำเนินการตรวจจับการทำประมงผิดกฏหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่โครงการนำร่องอีกด้วย



ความสำเร็จที่สำคัญประการหนึ่งของ “โครงการนำร่องการจัดการประมงโดยชุมชนอ่าวบางสะพาน” ที่ดำเนินเนินการมาเป็นเวลาเกือบ 13 ปี คือ ชาวประมงในพื้นที่กว่า 400 ครัวเรือนยอมรับว่า โครงการนำร่องนี้เป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาเรืออวนลากให้พวกเขาได้อย่างแท้จริง เพราะเรือประมงอวนลากได้หายไปจากพื้นที่โครงการเกือบทั้งหมดตั้งแต่ปีแรกๆ ของการดำเนินโครงการ

นอกจากนี้แล้ว ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงาน และผู้สนใจทั่วไปที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพราะโครงการนำร่องอ่าวบางสะพานนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนท้องถิ่นมีศักยภาพเพียงพอในการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนทั้งต่อคนในท้องถิ่น และต่อประเทศโดยรวม ถ้าพวกเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอจากภาครัฐที่มีอำนาจ และทรัพยากรอยู่ในมือ เพราะโดยการจัดการเพียงลำพังของภาครัฐก็ยากที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้

กรมประมงกำลังดำเนินการพิจารณานิรโทษกรรมเรืออวนลากเถื่อนที่มีอยู่มากมายในท้องทะเลไทย ให้มาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฏหมายอีกกว่า 2,000 ลำ ด้วยเหตุผลว่า เรือประมงอวนลากเถื่อนเหล่านี้ไม่สามารถส่งสินค้าไปขายให้แก่สหภาพยุโรปได้ภายใต้มาตรการ IUU Fishing (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งเป็นมาตรการที่สหภาพยุโรปห้ามนำเข้าสินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฏหมาย (Illegal) ไม่มีการรายงานแหล่งที่มาของสินค้าสัตว์น้ำ (Unreported) และไม่มีการควบคุมการได้มาซึ่งสินค้านั้นๆ (Unregulated)

การที่กรมประมงจะทำให้เรืออวนลากเถื่อนที่ผิดกฏหมายกลายเป็นถูกกฏหมาย จึงเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการใช้มาตรการ IUU Fishing เพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และความยั่งยืนของการใช้ทรัพยากรทางทะเลของประเทศผู้ส่งออกสัตว์น้ำ ที่สำคัญ ยังเป็นการทำร้ายจิตใจชาวประมงขนาดเล็กชายฝั่งทั่วประเทศที่เฝ้าปก ป้องรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้รอดพ้นจากการทำร้ายของการประมงอวนลาก และรณรงค์ต่อสู้เพื่อให้เรือประมงอวนลากหมดไปจากท้องทะเลไทย

ดังนั้น ก่อนที่กรมประมงจะเดินหน้าตัดสินใจนิรโทษกรรมเรือประมงอวนลากเถื่อน กรมประมงน่าจะปรึกษาหารือกับพี่น้องชาวประมงชายฝั่งว่ามีความคิดเห็นอย่างไร ในฐานะที่พวกเขาได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขในการตรวจจับเรือประมงอวนลากผิดกฏหมาย และร่วมฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งกับกรมประมงมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลทั้งปวงที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทำให้ผู้เขียนมีความเชื่อว่า จะไม่มีชุมชนชาวประมงขนาดเล็กแม้เพียงชุมชนเดียวที่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของกรมประมงในครั้งนี้




จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 13 มิถุนายน 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 18:13


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger