#31
|
||||
|
||||
รู้จัก 'hMPV' ไวรัสที่กำลังหวั่นระบาด หลังหลายคนพูดกันอย่างอื้ออึงถึงข่าว การพบเชื้อฮิวแมน เมทตะนิวโมไวรัส มีอาการคล้ายหวัดใหญ่และโรคปอดอักเสบ หากกินยาแก้หวัดใหญ่หลายวันไม่หายควรรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงตาย! ประกอบกับโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ในช่วงสิงหาคม-ตุลาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเพราะติดเชื้อดังกล่าวถึง 22 ราย เสียชีวิต 2 ราย หากย้อนดูสถิติเก่า กลับพบว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยเพียงไม่กี่ราย ที่จริงแล้ว เชื้อฮิวแมน เมทตะนิวโมไวรัส (Human metapneumovirus) หรือเรียกสั้นๆ ว่า 'hMPV' เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ เป็นที่รู้จักมานานราว 60 ปีแล้ว มักระบาดในช่วงหน้าฝนถึงหน้าหนาว ทุกเพศและทุกช่วงวัยมีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่มักพบในเด็กเล็ก และผู้ที่มีโรคประจำตัว ป่วยเบาหวาน โรคอ้วน ตั้งครรภ์ หรือผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดเข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อได้รับเชื้อ hMPV จะทำให้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง มีอาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสตัวอื่นๆ เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่มียารักษาตัวโรคโดยตรงเช่นเดียวกับโรคหวัดหรือไข้หวัด ซึ่งแพทย์จะใช้วิธีรักษาไปตามอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ขณะที่วัคซีนป้องกัน hMPV ยังอยู่ในขั้นทดลอง และเนื่องจากมีอาการคล้ายไข้หวัด ผู้ที่เป็นมักกินยาแก้หวัด แก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการ ทว่ากินยาไปแล้ว 2-3 วัน อาการที่เป็นทั้งหมดไม่ทุเลาลงลงเลย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ หากปล่อยไว้อาการอาจรุนแรงขึ้น เช่น หอบเหนื่อย ปอดบวม เลือดออกในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือหายใจไม่สะดวกเพราะหลอดลมบวมมาก และอาจติดเชื้ออื่นซ้ำ อย่างไรก็ตาม การพบแพทย์ในช่วงที่อาการรุนแรงอาจถูกนำตัวเข้ารักษาและติดตามอาการอย่างใกล้ชิดภายในห้องไอซียู บางรายที่หายใจติดขัด แพทย์อาจต้องเจาะคอ หรือใส่เครื่องช่วยหายใจรักษาไปตามอาการ ทั้งนี้ในผู้ที่มีอาการไม่มาก การนอนพักผ่อนเพียงพอ ร่วมกับการกินยารักษาอาการที่เป็น ก็สามารถหายได้เหมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป การติดเชื้อชนิดนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตน้อยมาก นอกเสียจากอาการไม่ดีขึ้นและทรุดหนักต้องพบแพทย์ อีกทั้งในช่วงที่เกิดภัยน้ำท่วมเช่นนี้ ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่รวมกันที่ศูนย์พักพิง ควรมีการแยกผู้ที่อาการป่วยออกเป็นสัดส่วน ผู้ที่มีอาการไอ เป็นหวัด ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ เพื่อลดการระบาดของโรค. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์สารพันวันละโรค วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#32
|
||||
|
||||
ฮ่องกงฟุต!!! สุดอันตราย จาก .................... ไทยรัฐ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#33
|
||||
|
||||
สะกดเบาหวานด้วย “สติ” สถิติคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นปีละ 30.5 กิโลกรัมต่อคนภายในระยะเวลา20ปี เห็นทีคงต้องหาวิธีทำให้คนใกล้ตัวเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร สถิติคนไทยบริโภคน้ำตาลเพิ่มขึ้นปีละ 30.5 กิโลกรัมต่อคนภายในระยะเวลา20ปี เห็นทีคงต้องหาวิธีทำให้คนใกล้ตัวเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารก่อนโรคเบาหวานจะถามหา ถ้าอยากให้คนที่เรารักไม่เป็นโรคเบาหวานควรทำอย่างไร กฤษฎี โพธิทัต นักกำหนดอาหาร เจ้าของงานเขียน“กินดี ได้สุขภาพดี” ในฐานะผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าหลายคนสงสัยว่า ทำไมเขาถึงเป็นเบาหวานทั้งๆที่ไม่ได้รับประทานอาหารหวานไม่ว่าจะเป็นขนม น้ำอัดลมเพราะความจริงโรคเบาหวานไม่ได้เกิดจากการบริโภคของหวานอย่างเดียว แต่เกิดจากรับประทานอาหารไม่สมดุล หลายคนรับประทานแต่แป้งไม่รับประทานเนื้อสัตว์และผักมาตั้งแต่เด็กจนโต บางคนชอบรับประทานอาหารแบบง่ายๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวเหนียวหมูทอด ข้าวไข่เจียว ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ ซึ่งเมนูเหล่านี้มีผักน้อยมากๆ หรือไม่มีเลย ซึ่งการกินอาหารที่ไม่สมดุลเช่นนี้ไปนานๆ อาจส่งผลให้ร่างกายขาดสารอาหารสำคัญที่ช่วยต้านโรคเบาหวาน “วันๆผ่านไปแทบไม่ได้แตะผักเลยไม่ได้มีเฉพาะเด็กเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็เช่นเดียวกันทั้งๆที่บ้านเรามีผักเยอะแยะที่สามารถนำปรุงเป็นอาหารน่ากินทั้งนั้นอันนี้เป็นสาเหตุหนึ่งของเบาหวาน พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรับประทานผัก ผลไม้จนติดเป็นนิสัย” วิถีการกินก่อโรคร้าย ยิ่งเมื่อเข้าสู่วัยทำงานการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยใช้พลังงานเยอะช่วงเรียนมหาวิทยาลัย พออายุมากขึ้นใช้พลังงานน้อยลง แต่บริโภคอาหารเพิ่มขึ้นทำให้เกิดการ“สะสม”ไขมันในช่องท้อง ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายต่างๆเปลี่ยนแปลง ถ้ามีไขมันในช่องท้องเยอะ จะเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคเบาหวาน วิธีตรวจง่ายๆคือใช้สายวัดวัดเอว ผู้หญิงที่มีเอวหนามากกว่า 80เซ็นติเมตรและผู้ชายที่มีเอวหนามากกว่า 90 เซ็นติเมตร ถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน ตัวฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งสร้างจากตับอ่อนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงมาจากตัวไขมันจะเป็นตัวที่ทำให้เกิดโรคเบาหวานกล่าวคือเวลารับประทานอาหารไม่ว่าเป็นผลไม้ นมหรือแป้งถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสเป็นหน่วยเล็กๆแล้วเข้าไปที่เซลล์กล้ามเนื้อและเซลล์ต่างๆเพื่อใช้เป็นพลังงาน แต่เมื่อมีไขมันมาสะสมฮอร์โมนอินซูลินที่เปลี่ยนแปลงตรงนี้ มันเข้าเซลล์ไม่ได้ เพราะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เซลล์ไม่ให้อินซูลินเข้าแล้ว น้ำตาลกลูโคสที่อยู่ในเลือดจะอยู่ในระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เพรินซูลินไม่สามารถเอาน้ำตาลเข้าเซลล์ได้ น้ำตาลในเลือดมี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับปกติ ระดับตรงกลางและระดับของโรคเบาหวาน คนที่น้ำตาลในเลือดอยู่ระดับตรงกลาง แม้ว่ายังไม่เป็นเบาหวานแต่ก็มีแนวโน้มจะเป็นเบาหวานสูงถ้าไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร "จริงๆค่าน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่อยู่ระดับกลาง มันจะเปลี่ยนไปทางไหนก็ได้ ไม่ว่าเป็นระดับปกติหรือระดับของโรคเบาหวาน ถ้ายังเฮฮาปาร์ตี้ โดยไม่ออกกำลังกาย ไม่ปล่อยวางความเครียด โอกาสจะเป็นเบาหวานสูงแต่ถ้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอาจอยู่ระดับนี้ไปเรื่อยๆ หรือถ้าคุมเข้มอาจ อยู่ในระดับปกติได้” หลายคนมักคิดว่าอะไรมันจะเกิดก็ต้องเกิด หรือ เกิดมาทั้งทีต้องสนุกสนานกับชีวิตเต็มที่ แต่ลืมคิดไปว่า ตนเองมีครอบครัว มีคนที่เรารักและคนที่รักเรา คุณจะสร้างภาระจากการเจ็บป่วยให้กับพวกเขาหรือแม้จะเป็นคนที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีใครที่ต้องเป็นห่วง แต่ก็อาจลืมนึกไปว่า ความทุกข์จากการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายในการรักษานั้นจะทำให้คุณภาพชีวิตลดลง แทนที่เกษียณแล้วจะมีความสุขในการใช้ชีวิต กลับต้องมาป่วย ยาไม่ใช่คำตอบสุดท้าย “คนที่เป็นเบาหวานไม่มีโอกาสหาย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ชีวิตด้วยความประมาท หลายคนมักคิดว่า กินยาแล้วจะดีขึ้นโดยไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นได้ต้องดูแลตัวเองทั้งด้านอาหาร ร่างกายและ อารมณ์ไม่ใช่ยาอย่างเดียว” โภชนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญ โภชนาการ ”ไม่ได้” เป็นการห้ามกินแต่เป็นการสอนให้รู้จักเลือกที่จะกินอะไรในปริมาณเท่าไร สำหรับญาติผู้ป่วยเบาหวานที่เขาไม่อยากให้คนที่รักเจ็บป่วยสามารถช่วยได้ด้วยการพยายามเลือกอาหาร เพื่อสุขภาพก่อนที่จะเลือกอาหารที่อยากรับประทาน เราไม่จำเป็นที่จะต้องงดอาหารที่ชอบโดยสิ้นเชิง สมมติไปรับประทานอาหารนอกบ้านควรเลือกสั่งอาหารให้มีความหลากหลาย เช่น ถ้ารับประทานในร้านอาหารจีนแทนที่จะสั่งเมนูของมันหรือของทอดอย่างเดียวก็หันมาสั่งเมนูผักให้เยอะหน่อย ถ้าร้านอาหารทะเลแทนที่จะสั่งแต่ปลาทอด กุ้งทอด ปูชุปแป้งทอด ทอดมันกุ้ง ข้าวผัดปูควรจะสั่งต้มยำกุ้ง ใส่เห็ดเยอะๆ แกงส้มทะเล หรือแกงส้มกุ้ง ถ้าเป็นร้านอาการอิตาเลี่ยน แนะนำให้สั่งสลัดเพราะมีให้เลือกหลากหลาย ส่วนเมนูสปาเกตตี้ที่มีไขมันสูง หากอยากบริโภคควรสั่งมาจานเดียวแล้วแบ่งกันรับประทาน “ คุณอาจตักอาหารได้หลายๆอย่าง อย่างละคำ 2 คำ วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลายแต่ไม่มากจนเกินไป” วิธีป้องกันไม่ให้รับประทานอาหารเกินความจำเป็นคือ ให้เคี้ยวอาหารช้าๆ ลิ้มรสชาติของอาหารทุกคำ จะช่วยทำให้คุณอิ่มเร็วและได้รับแคลอรีน้อยกว่ารับประทานเร็วๆ ซึ่งจะอิ่มช้าและได้รับแคลอรีจากอาหารมาก ส่วนการเลือกอาหารที่เป็นของว่างระหว่างมื้อนั้น ให้เลือกเป็นผลไม้ที่มีแป้งน้อย เช่น ส้ม ชมพู่ ฝรั่ง สับปะรด ทางที่ดีควรรับประทานอาหารมื้อหลักและมื้อว่างแบบเบาๆ โดยเลือก ผัก ผลไม้ แป้งไม่ขัดสี ข้าวกล้องข้าวซ้อมมือ หรือธัญพืช และโปรตีน ไขมันต่ำ เช่น ปลา เป็ดหรือไก่ไร้หนัง ไข่ เต้าหู้ ในปริมาณเล็กน้อยทุกมื้อ ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆตลอดทั้งวัน นอกจากนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ " สติ" เพราะการบริโภคอย่างมีสตินั้น สามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ส่วนวิธีการบริโภคอย่างมีสติให้ได้ผลดีที่สุดนั้น นักกำหนดอาหารมีข้อแนะนำว่า ควรเริ่มตั้งแต่การเลือกอาหารเพื่อคัดเลือกอาหารก่อนว่าอะไรดี อะไรไม่ดี เช่น หลายคนรู้ว่าของมันไม่ดี และรู้ว่าผักดี แต่ก็ยังไม่กินผัก กินแต่ของมันๆ ถัดมาต้อง ”หยุดคิด” ก่อนตัดสินใจซื้ออะไรมาบริโภคว่าหิวหรือเปล่า ? ถ้าไม่หิวอย่ากิน ! “ความหิวมันมีระดับ 1 -10 ระดับ 10 คืออิ่มจัด ระดับ 1 คือหิวจัด ไม่มีอะไรเหลือในท้องแล้ว แล้วระดับความหิวเราอยู่ตรงไหน ถ้าเราไม่หิว ไม่ต้องไปเพิ่มแคลอรีจากขนมหรืออาหารที่ซื้อมารับประทานเพราะความอยาก ” เห็นไหมว่า เรื่องง่ายๆ อย่างการรับประทานอาจ “ไม่ใช่”แค่เรื่องธรรมดาอย่างที่คิด เพราะมีผลกับชีวิตคุณและคนที่คุณรักโดยตรง จาก ................... กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#34
|
||||
|
||||
“แก้เจ็บคอ” อย่างได้ผลด้วยมะนาว-มะขาม ใช้ความเปรี้ยวซีดซ๊าดจากวิตามินธรรมชาติลดอาการเจ็บคอ กับ “สูตรปรุงยาขับเสมหะรสกลมกล่อม” สถานการณ์น้ำล้อมบ้านสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตเหลือหลาย โดยเฉพาะยามเจ็บไข้ จะออกไปพบแพทย์ก็ทุลักทุเล ยามนี้ลองหันเข้าครัว แล้วจะพบว่าวัตถุดิบภายในสามารถหยิบจับมาทำยาได้ อย่างสูตร “แก้เจ็บคอ” ง่ายๆมาดูกัน เริ่มสูตรแรกด้วย “มะนาว” มีกรดอินทรีย์หลายชนิด ทั้งซิตริก มาลิค วิตามินซี ใช้เป็นยาสมุนไพร ขับเสมหะ และแก้ไอได้ โดยล้างมะนาวให้สะอาด ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำอุ่น และเกลือเล็กน้อย หรือ ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง ค่อยๆจิบ นอกจากนั้น อาจฝานมะนาวเป็นชิ้นบาง หรือ หั่นเป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋าชิ้นเล็ก จิ้มเกลือ อมไว้สักครู่ แล้วเคี้ยวกลืน ส่วนสูตรที่สอง “มะขาม” อุดมด้วยกรดอินทรีย์ ทั้งซิตริค มาลิค ทาร์ทาริค และวิตามินเอ ซึ่งรสเปรี้ยวนี้จะกัดเสมหะให้ละลายได้ โดยนำมะขามเปียกต้มกับน้ำ เติมน้ำตาล และเกลือเล็กน้อย หรือ ใช้เนื้อในฝักแก่ (มะขามเปียก) ประมาณ 3 กรัม จิ้มเกลือรับประทาน จะได้ยาที่มีรสกลมกล่อม ทั้งนี้ มะนาว และมะขามเปียก มีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย จึงไม่ควรรับประทานมากเกินไป. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์เกร็ดความรู้ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#35
|
||||
|
||||
วิธีหยุด ‘สะอึก’ ‘สะอึก’ ทางการแพทย์อธิบายอาการไม่พึงประสงค์ไว้ว่า กล้ามเนื้อกะบังลมบริเวณรอยต่อระหว่างช่องปอดกับช่องท้องเกิดการหดเกร็งโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่อาจสันนิษฐานว่า มีสิ่งไปกระตุ้นเส้นประสาท 2 ตัว คือ Vagus nerve และ Phrenic nerve ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมระบบประสาทต่อกับระบบทางเดินอาหารส่วนต้น ส่วนเสียงสะอึกเกิดขึ้นจากการหายใจออกระหว่างที่กระบังลมกระตุกแบบปัจจุบันทันด่วนนั่นเอง สำหรับบางคนเวลาสะอึกถึงกับกลายเป็นจุดสนใจ เพราะเสียงสะอึกดังกึกก้อง แถมตัวก็กระตุก แม้พยายามเอามือปิดปาก และนั่งนิ่งๆ ก็ข่มอาการเอาไว้ไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่วิธียอดนิยมที่ใช้แก้อาการดังกล่าว คือ การดื่มน้ำ ทว่าในช่วงเวลานั้น ไม่สามารถหาน้ำดื่มได้ แนะนำให้ใช้วิธีกดจุด การกดจุดแก้สะอึก เป็นเคล็ดลับทางแพทย์แผนจีน โดยให้กดจุดจ่านจู๋ ที่อยู่ในตำแหน่งหัวคิ้วทั้งสองข้าง ก่อนกดจุดให้นั่งหลังตรงหรือนอนหงาย จากนั้นใช้นิ้วโป้งกดลงที่หัวคิ้วพร้อมกันทั้งสองข้าง ขณะกดให้ค่อยๆทิ้งน้ำหนักเบาแล้วแรง นิ้วที่เหลือให้ศีรษะไว้ โดยกดแบบเบาสลับหนักค้างไว้จนกว่าจะหายสะอึก ที่มักหายภายใน 2-3 นาที อย่างไรก็ตาม หากสะอึกนานกว่านั้นเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือมีอาการติดๆ กันเป็นประจำ ประกอบกับพบอาการอื่นๆร่วมด้วย เช่น หายใจติดขัด เวียนศีรษะ เจ็บหน้าอก ควรรีบไปพบแพทย์ เนื่องจากอาจเกิดความผิดปกติกับระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ หรือระบบสมองและเส้นประสาท. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์สามัญประจำบ้าน วันที่ 17 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#36
|
||||
|
||||
เราต้องใช้ "สติ" คุมเบาหวานให้ได้.... เอ้ออออ...เดี๋ยวไปหาเค๊กกับไอสครีมมาคุม "สติ" ดีกว่า...เอิ้กๆ
__________________
Saaychol |
#37
|
||||
|
||||
'หอยนางรม' บำรุงตับ-ไต สุขภาพเพศ หลังจากน้ำท่วมเริ่มลดลง ลมหนาวก็ตั้งท่าแวะมาเยือน 'มุมสุขภาพ' จึงแนะนำสูตรซุปร้อนๆ ทำกินกันให้เหมาะกับสภาพอากาศ สำหรับซุปสูตรนี้มี 'หอยนางรม' เป็นส่วนผสมหลัก โดยหอยนางรมนั้น อุดมด้วยวิตามินเอ บี1 บี2 บี3 ซี และดี มีแร่ธาตุหลายชนิด อย่างเหล็ก คอปเปอร์ ไอโอดีน แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลค์ แมงกานีส และฟอสฟอรัส ให้สรรพคุณเสริมการทำงานของตับและไต เพิ่มพละกำลัง เลือดลมไหวเวียนดี ลดความเสี่ยงโรคที่เกี่ยวกับต่อมน้ำเหลืองและวัณโรค บำรุงสุขภาพทางเพศ เช่น แก้ปัญหาประจำเดือนไม่สม่ำเสมอของผู้หญิง ส่วนผู้ชายการแก้การหลั่งโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้มีคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง เป็นโรคตับ และติดเชื้อเอชไอวี ไม่ควรกินหอยนางรมที่ไม่สุก เนื่องจากอาจมีเชื้อแบคทีเรียปะปนอยู่ ส่วนสูตรซุปหอยนางรม มีเครื่องปรุงที่ต้องเตรียมดังนี้...
วิธีทำ หอยนางรมล้างให้สะอาด ส่วนเนื้อไก่ต้มสุกแล้วฉีกเป็นเส้น หอมหัวใหญ่หั่นเป็นชิ้นแว่น จากนั้นตั้งน้ำประมาณครึ่งหม้อ แล้วใส่อบเชย กานพลู พริกไทยเม็ด(ทุบพอแหลก) กระทั่งน้ำเริ่มเดือดจึงใส่ไก่ฉีก หอมหัวใหญ่ พร้อมเติมเกลือ หันไปตักหอยนางรมใส่ถ้วยไว้ เมื่อซุปเดือดได้ที่ให้ตักน้ำซุปใส่ถ้วยที่มีหอยนางรมรองอยู่ หอยจะสุกจากความร้อนของซุป สุดท้ายเด็ดขึ้นฉ่ายโรยหน้า และควรกินตอนซุปกำลังร้อนๆ. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์กินดี วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#38
|
||||
|
||||
ป้องกัน 'โรคตาติดเชื้อ' ช่วงน้ำท่วม โรคตาติดเชื้อในสภาวะน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังและเฝ้าสังเกต ซึ่ง 'ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย' เผยว่า เชื้อโรคที่มากับน้ำมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย,ไวรัส,ปาราสิตและอมีบา ล้วนมีอันตรายต่อดวงตาและการมองเห็น โดยเชื้อโรคจะปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำต่างๆ โดยเฉพาะน้ำท่วม สำหรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพดวงตา คือ คอยสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณเตือนของความผิดปกติของดวงตา อาทิ ตาแดงหรืออาการระคายเคืองต่อดวงตา อาการปวดรอบๆดวงตา แพ้แสงหรือแสบตาผิดปกติ การมองเห็นลดลงหรือมัวลง และน้ำตาไหลหรือมีขี้ตาผิดปกติ ถ้ามีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อการวินิจฉัยอย่างถูกต้องและรับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด โดยการรักษาโรคตาติดเชื้อตั้งแต่แรกจะทำให้ผลการรักษาดีและมีประสิทธิภาพ ส่วนการรักษาที่ช้าเกินไปอาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ กรณีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดที่ปราศจากเชื้อโรค เช่น น้ำยาล้างตาหรือน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์ที่ได้มาตรฐาน การล้างตาด้วยน้ำประปาโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีปัญหาของคุณภาพ อาจทำให้ตาอักเสบมากขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกคนสามารถเกิดโรคตาติดเชื้อได้และจะพบมากขึ้นในกลุ่มประชาชนที่สวมคอนแทคเลนส์, หลังการผ่าตัดแก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น เลสิค (post-LASIK) และหลังการผ่าตัดในลูกตา เช่น ผ่าตัดต้อกระจก ต้อหินจอประสาทตา ซึ่งควรเฝ้าระวังอาการที่ผิดปกติเป็นพิเศษ สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติของสายตาและแก้ไขด้วยคอนแทคเลนส์หรือแว่นตา ในสภาวะน้ำท่วมอาจพบอุปสรรคของการสวมคอนแทคเลนส์ในสถานที่พักพิงหรือบ้านที่ถูกน้ำท่วม, การเดินทางไม่สะดวกในการทำแว่นตาหรือแว่นตาเกิดการสูญหายจากการประสบปัญหาน้ำท่วมของบ้านที่อยู่อาศัย ดังนั้นการเตรียมแว่นสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินจึงมีความจำเป็นมากขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ ดังนั้น ในช่วงน้ำท่วมควรระมัดระวังไม่ให้น้ำท่วมที่สกปรกกระเด็นเข้าตา ที่สำคัญเมื่อมีปัญหาตาอักเสบมีขี้ตาแล้ว ต้องระวังไม่ให้แพร่เชื้อในวงกว้างโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสตาที่อักเสหรือขี้ตา หากจำเป็นต้องสัมผัสขี้ตาต้องล้างมือทันที เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อสู่บุคคลอื่น. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์สารพันวันละโรค วันที่ 21 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#39
|
||||
|
||||
ใครไม่อยาก "กระดูกพรุน" ก่อนวัย โปรดอ่านทางนี้! เป็นอีกหนึ่งเรื่องสุขภาพที่หลายๆบ้านไม่ควรมองข้าม นั่นก็คือ "โรคกระดูกพรุน" ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัว ความน่าเป็นห่วงนี้ นพ.บุญวัฒน์ จะโนภาษ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ คลินิก ศูนย์แพทย์พัฒนา เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่เคยรู้ตัวเองเลยว่าป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน แต่เมื่อเกิดการหักของกระดูก หรือกระดูกยุบตัวจากอุบัติเหตุจึงได้รู้ความจริง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งการรักษาอาจทำได้ยากถึงแม้จะมีหลายวิธี แต่ก็ไม่หายขาดเหมือนเก่า โดยวิธีการรักษามีทั้งการรับยา การทานยาแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก การเข้าเฝือก การดามเหล็ก หรือการฉีดซีเมนต์เมื่อมีอาการกระดูกแตกหรือหักหรือยุบตัว สำหรับบุคคลในบ้านที่มีความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว คุณหมอบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน และชายที่มีอายุมากกว่า 60 ปี นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 45 กิโลกรัม ทำงานโดยไม่ได้รับแสงแดด หรือเลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมต่ำ และอาจเกิดขึ้นได้เช่นกันกับคนที่รับประทานทานยาขับปัสสาวะ ยาสเตียรอยด์ และยารักษาไทรอยด์ อันเป็นยาที่เพิ่มการสลายแคลเซียม รวมทั้งโรคไต ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมเสียไป "ผู้หญิงที่มีสิทธิ์เป็นโรคกระดูกพรุนได้ง่าย โดยมีข้อบ่งชี้ว่า จะต้องหมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี ถูกตัดรังไข่ 2 ข้างก่อนอายุ 45 ปี เกิดภาวะเอสโตรเจนต่ำก่อนหมดประจำเดือน มีภาวะเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุนก่อนอายุ 60 ปี ดังนั้นการป้องกันดีกว่าการรักษา เพื่อที่จะไม่เกิดเหตุการณ์กระดูกหักเอาง่าย ๆ ครับ" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้ออธิบายเสริม ดังนั้น การป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่ทุกบ้านควรให้ความสำคัญ ซึ่งบางทีด้วยอายุ หรือปัจจัยอื่นๆไม่สามารถไปปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ แต่อย่างไรก็ตามก็มีปัจจัยหลายๆอย่างที่สามารถเข้าไปปรับปรุงหรือลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อท่านนี้ให้คำแนะนำเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้ 1. ควรทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น กะปิ กุ้งแห้ง ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว รวมถึงนมเป็นประจำ 2. ออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกต่อร่างกายเบา ๆ เช่น การวิ่ง ยกน้ำหนัก รำกระบอง อย่างน้อย 20 นาทีต่อวันและการออกกำลังกายที่ช่วยการทรงตัวเพื่อลดความเสี่ยงต่อการล้ม 3. การโดนแสงแดดอ่อนๆ มากกว่า 15 นาทีต่อวัน ช่วยให้ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดี ซึ่งมีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ 4. เมื่อสงสัยว่าตัวเองหรือสมาชิกในบ้านมีภาวะกระดูกพรุน ควรป้องกันการเกิดอุบัติเหตุหกล้ม เช่นการจัดบ้านให้เรียบร้อย แสงสว่างพอเพียง ใช้พื้นที่ไม่ลื่น ระวังเรื่องน้ำที่หกบนพื้น มีราวจับช่วยการเดิน นอกจากนี้ต้องระมัดระวังการมีสัตว์เลี้ยงและเด็ก ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้บ่อยเช่นกัน อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงการยกของหนักในผู้สูงอายุ "เมื่อย่างเข้าสู่วัยทอง ควรปรึกษาแพทย์ โดยแพทย์อาจพิจารณาให้เอ็กซเรย์ หรือการวัดความหนาแน่นของกระดูก (BMD) โดยทั่วไปให้ทำในหญิงอายุมากกว่า 65 ปีและชายมากกว่า 70 ปี นอกจากมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นดังที่กล่าวมาแล้ว ซึ่งถ้าค่า BMD นี้น้อยกว่า -1 ถือว่ามีภาวะกระดูกบาง และถ้าต่ำกว่า -2.5 ถือว่าเป็นโรคกระดูกพรุน ควรทำการรักษาโดยการใช้ยาลดการทำลายและเพิ่มการสร้างของกระดูก" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อให้แนวทาง ส่วนถ้าใคร หรือครอบครัวใดมีคนในบ้านเป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้ด้วย ซึ่งยาเหล่านี้ คุณหมอบอกว่า ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในการดูแลของแพทย์ หากไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่องจะทำให้ประสิทธิผลของยาในการลดการหักของกระดูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร แต่ยังมียาอีกชนิดหนึ่งเป็นยาชนิดฉีด เป็นยาที่ใช้ในการรักษาโรคกระดูกพรุน ใช้ฉีดปีละ 1 ครั้งทางหลอดเลือดดำ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินอาหาร หรือมีปัญหารับประทานยาไม่สม่ำเสมอ และผู้ป่วยที่ลำบากในการเดินทางมาตรวจกับแพทย์ อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตน้ำท่วมแบบนี้ คุณหมอบอกว่า บ้านไหนที่มีผู้สูงอายุ ควรระวังอุบัติเหตุที่อาจทำให้กระดูกหัก หรือแตกได้ง่าย "ในช่วงภาวะน้ำท่วม ขณะนี้มีผู้สูงอายุ ได้รับอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บางคนถึงกับเกิดกระดูกสันหลังยุบตัว เพราะไปช่วยคนในครอบครัว ยกของหนัก เพื่อหนีน้ำ นำของขึ้นที่สูง บางคนเดินไปสะดุดล้ม หรือลื่นหกล้ม ซึ่งไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคนไข้ที่กระดูกมือกระดูกเท้าหักและมีคนไข้ที่กระดูกหลังยุบ เนื่องจากไปช่วยลูกหลานของตัวเองยกของ ซึ่งภายในไม่กี่วันที่ผ่านมามีคนไข้ ผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนสูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ นอกจากนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงผู้สูงอายุในขณะนี้ก็คือควรระมัดระวัง เรื่องของการดูแลเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง เนื่องจากบางทีเด็กเล็กมักจะเล่นกับคุณยาย คุณย่าแรงเกินไป หรือไปอุ้มผิดท่าผิดจังหวะ อาจทำให้บาดเจ็บ และเกิดอาการกระดูกสันหลังยุบตัว หรือข้อมือข้อเท้าหักได้ หรือบางครั้งผู้สูงอายุชอบเลี้ยงสัตว์ เช่น สุนัข เวลาจูงออกไปเดินเล่นอาจเกิดลื่นหรือหกล้ม ทำให้เกิดกระดูกหักได้" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อเผย ดังนั้น เมื่อกระดูกซึ่งเป็นโครงสร้างของร่างกายไม่แข็งแรง หรือมีความโปร่งบางและตัวเนื้อกระดูกก็ไม่แข็งแรงเท่าเดิม แม้สะดุดล้มเบาๆ ก็อาจเกิดกระดูกหักได้โดยง่าย ทางที่ดีเราควรเรียนรู้ และรู้ทันภาวะกระดูกพรุนก่อนที่จะสายเกินไปกันดีกว่าครับ จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#40
|
||||
|
||||
ถึงแม่บ้านและสาวๆ ... น้ำลดก็จริง แต่ยังมีความจริงซ่อนอยู่ "ใต้ร่มผ้า" คลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เตือนสตรีลุยน้ำท่วมระยะหนึ่งเสี่ยงเชื้อราในร่มผ้า ชี้สวนล้างช่องคลอดยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อโรค อั้นปัสสาวะมีผลกระเพาะปัสสาวะอักเสบ พญ.วนิชา ปัญญาคำเลิศ ผู้อำนวยการคลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่แม้หลายพื้นที่น้ำจะเริ่มลดแล้ว แต่ยังมีเรื่องเกี่ยวกับโรคที่ผู้หญิงต้องพึงระวังว่า ปัญหาใหญ่ที่พบมากในช่วงน้ำท่วมคือ ความอับชื้นในร่มผ้า ซึ่งเลี่ยงได้ยากสำหรับคนที่ต้องลุยน้ำเป็นประจำ ความอับชื้นของเสื้อผ้า กางเกงยีน ทำให้เกิดเชื้อราในร่มผ้า มีอาการคัน และตกขาวมากตามมา ถึงแม้ความรุนแรงของโรคติดเชื้อกับผู้หญิงอาจไม่มาก โอกาสลุกลามเข้าไปถึงมดลูก ปีกมดลูก ทำให้มีไข้สูงปวดท้องน้อยเป็นไปได้ยาก แต่การย่ำน้ำคลำเป็นเวลานานมีโอกาสเสี่ยงที่เชื้อโรคจะเข้าไปในช่องคลอดได้ หากภาวะสมดุลของกรด-ด่างในช่องคลอดไม่ดี การติดเชื้อก็จะง่ายขึ้นด้วย “ปัญหาของเชื้อราที่มากับน้ำท่วมก่อความรำคาญแต่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง” พญ.วนิชากล่าวและอธิบายว่าอาการตกขาวจากเชื้อราจะมีอาการคันเป็นหลัก โดยสังเกตได้ง่าย เช่น ตกขาวเริ่มมีสีเหลืองเหมือนนมบูด มีลักษณะเป็นก้อน เป็นแผ่น และมีกลิ่นไม่พึ่งประสงค์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงการลุยน้ำหรือลุยเท่าที่จำเป็น ทันทีที่กลับมาบ้านควรรีบถอดกางเกงล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง แม้จะเป็นกางเกงกันน้ำ ก็ทำให้อบเหงื่อ อับชื้นเป็นเชื้อราได้ง่ายขึ้น พญ.วนิชา แนะว่า การสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ง่าย จะช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ แต่หากพบอาหารบ่งบอกว่าเป็นเชื้อราในช่องคลอดให้ยาฆ่าเชื้อราเหน็บในช่องคลอด หรือ ใช้ยาทาภายนอกระงับอาการคัน กรณีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์เหน็บยาทางช่องคลอดไม่ได้ก็ใช้ยารับประทานฆ่าเชื้อราได้ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ เพราะตกขาวบางอย่างอาจไม่เกี่ยวกับเชื้อรา แต่มาจาก พยาธิ แบคทีเรียบางชนิด ปากมดลูกอักเสบ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน หรือติดเชื้อโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่เชื้อรา เช่นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงของบุคคลนั้น “ในคนที่จำเป็นต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นประจำ คนไข้เบาหวาน คนไข้ที่ต้องรับประทานยากดภูมิต้านทาน มีความเสี่ยงติดเชื้อราได้มากกว่าคนทั่วไป การรับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อมีผลทำลายแบคทีเรียปกติที่เป็นมิตรกับช่องคลอดของผู้หญิงแบคทีเรียเหล่านี้ช่วยรักษาภาวะกรดในช่องคลอดเพื่อป้องกันการติดเชื้อของแบคทีเรียก่อโรค จึงไม่ควรใช่ยาปฏิชีวนะบ่อยๆโดยไม่จำเป็น” พญ.วนิชากล่าว ปัญหาเรื่องตกขาว และอาการคัน เป็นเรื่องที่พบบ่อยมากขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการรักษาอนามัยของคนเปลี่ยนไป จากปกติช่องคลอดมีแบคทีเรียที่เป็นมิตรช่วยรักษาสภาพช่องคลอดให้เป็นกรด ป้องกันแบคทีเรียก่อโรค แต่พฤติกรรมของผู้หญิงรุ่นใหม่มักนิยม ใส่แผ่นรองอนามัยทุกวัน ด้วยเกรงว่ากางเกงในจะสกปรก แม้ทำให้รู้สึกแห้ง แต่ในความเป็นจริงทำให้อบ และเกิดการหมักหมมเป็นเหตุให้มีเชื้อราได้ง่ายขึ้นมากกว่าใส่กางเกงในผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียว ผู้หญิงบางคนชอบสวนล้างช่องคลอดเพราะคิดว่าสะอาดกว่า แต่ความจริงการสวนล้างช่องคลอดเป็นการทำลายแบคทีเรียปกติในช่องคลอด ทำให้สมดุลย์ของช่องคลอดเปลี่ยนไป ร่ายกายไม่สามารถต่อสู่กับแบคทีเรียแปลกปลอมได้ ทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบตกขาวเป็นสีเหลือง มีกลิ่น หรือคันบ่อยๆ ทั้งนี้นอกจากอาการคันจากเชื้อราในร่มผ้าแล้ว ในภาวะน้ำท่วมที่น้ำสะอาดมีน้อย น้ำใช้น้ำกินมีน้อย การเข้าห้องน้ำไม่สะดวก ทำให้คนดื่มน้ำน้อยและไม่ยอมปัสสาวะ ซึ่งเสี่ยงทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ จะมีอาการปัสสาวะแสบคัด ปัสสาวะบ่อยกระปริดประปรอยได้ “สถานการณ์แบบนี้ควรดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่ากลั้นปัสสาวะ อาจต้องยอมเข้าห้องน้ำที่ไม่สะอาดนัก ดีกว่ากลั้นปัสสาวะจนเทำให้เกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ปวดเวลาปัสสาวะและแสบขัดทรมานมากกว่า” ผู้อำนวยการคลินิกสูติ-นรีเวชกรุงเทพกล่าว และว่า การล้างทำความสะอาดอวัยวะในที่ร่มของผู้หญิงที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องใช้ แอลกอฮอล์ หรือสบู่อนามัย เพียงแค่ทำความสะอาดภายนอกด้วยน้ำสะอาดทั้งในซอกหลืบ แต่ไม่ต้องสวนล้างเข้าไปในช่องคลอดและเช็ดให้แห้งเท่านี้ก็เพียงพอ สำหรับคนที่มีปัญหาช่องคลอดอักเสบง่าย มีตกขาวเป็นประจำ และมีอาการคันช่องคลอดอยู่เรื่อยๆ แสดงว่าภาวะในช่องคลอดอาจไม่แข็งแรงพอ ทำให้ติดเชื้อง่าย เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวมถึงสตรีในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งเชื้อโรคเข้าไปได้ง่ายขึ้นเพราะปากมดลูกเปิด อีกทั้งเลือดเป็นอาหารที่ดีของเชื้อโรค ดังนั้นสตรีที่มีประจำเดือนควรเลี่ยงที่จะเดินลุยน้ำ ถ้าจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าที่กันน้ำได้ และหมั่นทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ คนที่มีแผลควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่แผลได้โดยตรง ผู้ป่วยเบาหวานมีแผลติดเชื้อง่าย คนไข้ภูมิต้านทานต่ำควรรักษาร่างกายให้แข็งแรง ดื่มน้ำมากๆ ไม่กลั้นปัสสาวะ และอย่าย่ำน้ำสกปรกเพราะเสี่ยงติดเชื้อโรคที่มากับน้ำ คุณหมอย้ำว่า ความต้านทานผิวหนังแต่ละคนต่างกัน บางคนย่ำน้ำไม่นานก็เกิดอาการคัน ผื่นขึ้น บางคนลุยน้ำทั้งวันได้โดยที่ไม่เป็นอะไรอย่างไรก็ตามเพื่อลดความเสี่ยงของโรคที่มาจากการย่ำน้ำกรณีที่เลี่ยงไม่ได้ ก็ควรป้องกันให้น้ำโดนผิวหนังน้อยที่สุด โดยสวมใส่รองเท้าบูท กางเกงพลาสติกที่ยาวมาถึงเอว ถึงอกในที่น้ำลึก เพื่อไม่ให้สัมผัสกับน้ำโดยตรง ซึ่งนอกจากจะป้องกันเชื้อราในร่มผ้าได้แล้วยังช่วยป้องกันโรคอื่นๆ ที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคเท้าเปื่อยจากการแช่น้ำเป็นเวลานาน โรคแผลพุพองเป็นต้น จาก ................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|