เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #31  
เก่า 12-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์




จากข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค.จนถึง 8 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว พบว่าอุทกภัยระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ทำให้หลายพื้นที่ใน 10 จังหวัดได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี ตรัง ชุมพร พังงา นราธิวาส สตูล สงขลา และ กระบี่ มีประชาชนเดือดร้อน 6 แสนกว่าครัวเรือน หรือ 2 ล้านกว่าคน เสียชีวิตประมาณ 60 ราย

สาเหตุของพายุฝน-อุทกภัยร้ายแรงในภาคใต้หนนี้ นักวิชาการชี้ว่า นอกจากปรากฏ การณ์ 'ลานิญ่า-โลกร้อน' จะมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงแล้ว การกระทำของมนุษย์เองก็มีส่วนทำให้ภัยน้ำท่วม-น้ำป่า-ดินถล่มภาคใต้รุนแรงกว่าปกติด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำลายป่าธรรมชาติ สร้างสิ่งกีด ขวางทางน้ำ ตัดถนน หรือใช้พื้นที่ผิด ประเภท!

นายธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนว่า สืบเนื่องจากปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" เมื่อปลายปีพ.ศ.2552 ถึงต้นปีพ.ศ.2553 ทำให้เกิดภัยแล้งอย่างหนักในขณะนั้น

ต่อมาเดือนก.ค.2553 ก็เริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์ "ลานิญ่า" ในระยะแรกยังไม่เห็นผลกระทบมากนัก จนเมื่อเข้าสู่เดือนต.ค.เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมในภาคกลาง และภาคอีสาน

เมื่อเข้าสู่เดือนพ.ย.-ธ.ค.2553 ปรากฏการณ์ลานิญ่าทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคใต้ และส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ภาคกลางหนาวเย็น ซึ่งการคาดการณ์ด้วยโมเดลพยากรณ์อากาศก่อนหน้านี้ปรากฏการณ์ลานิญ่า จะหมดลงในเดือนมี.ค.2554 แต่จากโมเดลล่าสุด ลานิญ่ามีผลต่อสภาพอากาศของประเทศไทยไปอีก 2 เดือน คือสิ้นสุดเดือนพ.ค.2554 หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลตามปกติ

นายธนวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า สภาพอากาศแปรปรวนเป็นผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในประเทศญี่ปุ่นนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวกัน เป็นเพียงการคาดการณ์ของแต่ละบุคคลมากกว่า



น้ำท่วมใหญ่ภาคใต้! ภัยจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์



อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปภัยพิบัติจะอยู่ใกล้ตัวมากขึ้น การเตรียมการแจ้งข้อมูลข่าวสารจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ขอให้ประชาชนติดตามคำแจ้งเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

ด้าน นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กลุ่มในภาคฐานทรัพยากร กล่าวว่า

จากการติดตามข่าวพบว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสาเหตุเป็น 2 กระแส

กระแสหนึ่งบอกว่าเกิดจากมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนพัดเข้าสู่ประเทศไทย เหมือนมรสุมทั่วไป ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนัก

อีกกระแสบอกว่าเป็นผลกระทบจากสึนามิในญี่ปุ่น ทำให้กระแสน้ำอุ่นเปลี่ยนทิศ

แต่ถ้าดูข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาและคำบอกเล่าของคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป พบว่า อากาศไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน ที่ผ่านมาในช่วงเม.ย.-พ.ค.จะพบเพียงพายุฤดูร้อนในแถบ จ.เชียงราย แต่ขณะนี้กลับมาเกิดที่ภาคใต้

ทั้งหมดนี้น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลง สภาพอากาศของโลก (โลกร้อน) ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร

อย่างไรก็ตาม "สิ่งกีดขวางทางน้ำ" เช่น ถนน สะพาน ก็ทำให้สถานการณ์ในบางพื้นที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

บางแห่งเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ลงทุน "ยกถนน" ให้สูงขึ้น แต่ไม่สนใจขยายความกว้างของสะพาน เพราะต้องการประหยัดงบฯ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ทั้งๆที่ถ้าคำนวณปริมาณน้ำในภาคใต้ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสั้นๆ น้ำน่าจะลดได้เองใน 1-2 วัน

แทนที่จะทุ่มงบฯ กับการยกระดับถนน น่าจะลงทุน "ขยายสะพาน" จะดีกว่า

ส่วนที่บางคนตกใจว่า ทำไมน้ำถึงท่วมสนามบิน ถ้าสังเกตจะเห็นว่า "สนามบินนครศรีธรรมราช" เป็น "หนองน้ำ" มาก่อน และบริเวณโดยรอบก็เป็นป่าเสม็ด รวมไปถึงบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ก็เป็นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสงวนไว้เป็นทุ่งเลี้ยงสัตว์ ไม่เหมาะแก่การทำการเกษตร

ส่วนกรณีศึกษาเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทั้งน้ำท่วม น้ำป่า และดินถล่ม ในพื้นที่ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.จนถึงช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่ผ่านมานั้น พล.ต.ดร.นพรัตน์ เศรษฐกุล อาจารย์ประจำสำนักวิศวกรรมศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญปฐพีธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อธิบายเจาะลึกถึงสาเหตุว่า

พื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเหมือนอยู่ในกระทะ โดยมีภูเขาล้อมรอบอยู่

ภูเขาเหล่านั้นเป็นหินแกรนิตและหินดินดานที่ผุแล้ว เนื่องจากพื้นที่ทางใต้จะมีฝนตกอยู่ตลอดเวลา และในบริเวณเทือกเขาหลวงมีความลาดชันสูง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเกิดฝนตกติดต่อกันและค่อนข้างหนัก ทำให้หินที่ผุพังที่อยู่ตามยอดเขาไม่สามารถที่จะอุ้มน้ำไว้ได้

จากนั้นเมื่อมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก จึงค่อยๆกัดเซาะเศษหินที่ผุพังที่อยู่ข้างบนยอดเขาลงมาก่อน จนเกิดการรวมตัวของน้ำ เศษหิน เศษดิน และต้นไม้ต่างๆ จากยอดภูเขาที่ได้ล้อมรอบพื้นที่นั้นไหลรวมกัน จนทำให้กระแสน้ำไหลทะลักเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ ต.กรุงชิง อย่างรุนแรงและรวดเร็ว

ปัจจัยอีกประการที่ทำให้น้ำท่วมหนักใน อ.นบพิตำ พล.ต.ดร. นพรัตน์ ชี้ว่า

ปัจจุบันต้นไม้ป่าธรรมชาติค่อนข้างจะเหลือน้อย เพราะส่วนใหญ่คนที่อยู่บริเวณนั้นจะโค่นป่าเพื่อเอาพื้นที่ไปใช้ปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น ต้นยางพารา และยังมีการใช้พื้นที่ในลำน้ำ ถมทางน้ำบ้าง ด้านข้างก็มีถนนยกระดับสูงขึ้นมา

ตามปกติแทนที่น้ำจะไหลตามธรรมชาติของมัน แต่การที่มีคนเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าวก็ทำให้การไหลของน้ำเผชิญกับอุปสรรคกีดขวาง เกิดดินถล่ม ส่งผลให้หลายหมู่บ้านในพื้นที่ประสบปัญหาภัยพิบัติ ทำให้สะพานขาด ชาวบ้านถูกตัดขาดจากพื้นที่รอบนอก

สําหรับแนวทางแก้ปัญหา พล.ต.ดร.นพรัตน์ ระบุว่า ปัญหาจากภัยธรรมชาติ เราไม่สามารถทราบได้ล่วงหน้า

แม้ตอนนี้จะมีหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องนำ "กระบอกตวงน้ำฝน" มาวัดไว้ว่า ถ้าหากปริมาณน้ำฝนมีมากกว่า 100 มิลลิเมตรภายใน 3 วัน จะต้องรายงานให้ศูนย์ป้องกันภัยพิบัติทราบ

แต่เนื่องจากชาวบ้านไม่ได้มีความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพื้นที่นั้นๆ วิธีที่จะช่วยได้ดี คือ เราต้องชี้แนะให้กับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านตามยอดเขา หรือหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณจุดเสี่ยง ให้ทราบว่าพื้นที่ที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงอย่างไรเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น มีวิธีการป้องกันอย่างไร ด้วยการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพาชาวบ้านขึ้นไปสำรวจบนเขาว่า หินที่อยู่บนยอดเขาต่างๆ นั้นผุพังในระดับใดแล้ว เสี่ยงอันตรายหรือไม่

รวมทั้งให้ศึกษาถึงความลาดชันของภูเขา หรือการเก็บตัวอย่างของหินและดินด้วยการทดสอบว่าปริมาณน้ำเท่าใด ที่จะทำให้เกิดการไหลของดินและหินเหล่านั้น โดยให้ชาวบ้านเป็นผู้เตือนตัวเองจะดีกว่าที่ต้องขึ้นอยู่กับส่วนกลาง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องคอยเป็นผู้เตือนภัยให้ชาวบ้านทราบ บางทีอาจจะสายเกินกว่าที่ชาวบ้านจะรับมือได้

"ทุกคนต้องตระหนักแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงผันผวนของภูมิอากาศโลกเป็นสัญญาณเตือนที่จะต้องปรับตัวพร้อมรับกับสถานการณ์ กรณีที่เกิดขึ้นในนครศรีธรรมราชเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในขณะนี้ ได้เข้าไปหาชุมชนพบว่ายังไม่มีความรู้พื้นฐานลักษณะทางธรณีที่ชุมชนอาศัยอยู่เลย ยังยึดอยู่กับปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก เพียงแค่รู้ว่าเมื่อฝนตกมากต้องอพยพ ชุมชนควรรู้ในเรื่องธรณีวิทยาของพื้นที่ด้วย" พล.ต.ดร.นพรัตน์ กล่าว


"ลานิญ่า" เป็นคำดั้งเดิมจากภาษาสเปน มีความหมายว่า "เด็กผู้หญิง" จัดเป็นปรากฏการณ์ตรงกันข้ามกับ "เอลนิโญ่" เกิดจากความผกผันของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตร เหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

เมื่อเกิดลานิญ่า อุณหภูมิบนผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกจะต่ำลงอย่างผิดปกติราว 3-5 องศาเซลเซียส ทำให้ความดันฝั่งตะวันตกต่ำกว่าความดันฝั่งตะวันออก เกิดลมพายุพัดเสริมลมสินค้าทิศตะวันออกพัดพาน้ำและอากาศที่หนาวเย็นไปยังทิศตะวันตก

ด้วยระดับน้ำทะเลซีกตะวันตกที่เพิ่มสูงกว่าสภาวะปกติ ประกอบกับลมสินค้าตะวันออกเฉียงใต้ที่หอบน้ำฝนพัดผ่านมา ทำให้ "ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ซึ่งประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคนี้ด้วย ต้องเผชิญกับฝนตกหนัก น้ำท่วม และหน้าดินพังทลายอยู่บ่อยครั้ง

แต่ข้อดีของลานิญ่า คือ น้ำเย็นใต้มหาสมุทรจะยกตัวขึ้นแทนที่กระแสน้ำอุ่นบนพื้นผิวน้ำ ทำให้เกิดธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ ฝูงปลาชุกชุม




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 12 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #32  
เก่า 22-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ยุค'ธรรมชาติเอาคืน' 'พายุฤดูร้อน' ภัยปกติที่จะไม่ปกติ!!



โลกยุคปัจจุบันกำลัง ’เอาคืนมนุษย์“ ที่ทำลายธรรมชาติ ทำลายโลก ’อย่างกราดเกรี้ยว“ ซึ่งแม้แต่ประเทศที่เจริญรุดหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ฯลฯ ต่างก็ไม่อาจต้านทานความกราดเกรี้ยวนี้ได้ และสำหรับประเทศไทยที่ก็มีการทำลายธรรมชาติไปไม่น้อย ทั้งจากการพัฒนาสังคมเมือง การทำธุรกิจระดับครัวเรือน บริษัท ประเทศ และการทำลายธรรมชาติเพื่อผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมาย ปัจจุบันก็เกิดภัยธรรมชาติระดับรุนแรงให้เห็นๆกันอยู่ ทั้ง ภัยน้ำท่วม ภัยดินถล่ม ภัยแล้ง ภัยพายุ

ล่าสุด ’พายุฤดูร้อนระดับรุนแรง“ ก็กำลังน่ากลัว

ถ้าไม่ระวังกันให้ดีคงต้องมีการสูญเสียกันมาก!!

ทั้งนี้ ว่ากันถึง “พายุฤดูร้อน” ที่ตอนนี้มีการประกาศเตือนให้คนไทยระวัง ทาง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารทางวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และประธานชมรมคนรักมวลเมฆ ให้ความรู้ความเข้าใจไว้ในเว็บไซต์ http://gotoknow.org/blog/weather/ และเว็บไซต์ http://cloudloverclub.com โดยสังเขปมีดังนี้คือ... ช่วงฤดูร้อนระหว่างที่อากาศบ้านเรากำลังร้อนอบอ้าว ถ้าบังเอิญความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมไทย ก็จะมีลมซึ่งแห้งและเย็นพัดเข้าสู่ไทย

’เนื่องจากอากาศผู้รุกรานซึ่งแห้งและเย็น มีลักษณะต่างจากอากาศเจ้าบ้านซึ่งร้อนและชื้นอย่างมาก จึงทำให้อากาศในบริเวณที่ปะทะกันแปรปรวนอย่างรุนแรงฉับพลัน เปรียบง่ายๆก็คือเมฆฝนฟ้าคะนองเสมือนม็อบขนาดใหญ่ซึ่งมีพลังกดดันรัฐบาลมหาศาล ถ้าเกิดที่ไหนก็มั่นใจได้เลยว่า ทั้งพายุ ฝนตกหนัก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จะกระหน่ำบริเวณนั้นแบบรวมมิตร เผลอๆ อาจมีลูกเห็บแถมด้วย“

ดร.บัญชา ยังระบุไว้อีกว่า.. อากาศเย็นซึ่งหนักกว่าอากาศร้อนและชื้น จะพยายามจมลงต่ำ แต่ไม่อาจทำได้อย่างทั่วถึง ผลก็คืออากาศเย็นนี้กดทับอยู่เหนืออากาศร้อน ซึ่งจะยกตัวหนีสูงขึ้นในบางบริเวณ มีผลทำให้เกิดเป็นเมฆฝนฟ้าคะนอง และเกิด “พายุฤดูร้อน” ซึ่งใกล้ๆพื้นดินนั้น เนื่องจากอากาศยกตัวขึ้นรุนแรง จึงมีอากาศไหลเข้าแทนที่อย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นพายุ ซึ่งอาจมีความเร็วลมถึง 149 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับ “ลางบอกเหตุก่อนเกิดพายุฤดูร้อน” นั้น ที่สังเกตได้ง่ายๆ คือ อากาศจะร้อนอบอ้าวขึ้นเรื่อยๆ โดยลมค่อนข้างสงบ ใบไม้ไม่ค่อยกระดิก แต่ถ้าแหงนดูท้องฟ้าจะมืดมัว ทัศนวิสัยไม่ดี และมีเมฆทวีขึ้น ต่อมาจะเริ่มโหมโรง คือลมจะเริ่มพัดแรงในทิศใดทิศหนึ่ง และมีลมกระโชกเป็นครั้งคราว พอท้องฟ้ามีเมฆเต็ม ก็จะตามด้วยฟ้าแลบ และฟ้าคะนองในระยะไกล และช่วงรุนแรงสุดก็จะกระหน่ำซัมเมอร์เซลแบบรวมมิตร ซึ่งโดยปกติจะกินเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง และถล่มในพื้นที่แคบๆ ราว 10-20 ตารางกิโลเมตร

“เมื่อพายุพัดผ่านไปแล้ว อากาศจะเย็นลงเพราะฝนตก และท้องฟ้าจะสุดแสนสดใส เรียกได้ว่าพายุฤดูร้อนนี่ก็มีนิสัยคล้ายๆกับคนโกรธง่ายหายเร็ว” ...ดร.บัญชา ระบุถึงอาการของพายุฤดูร้อน

ที่สำคัญคือตอน ’โกรธ“ ที่จะสร้างความเสียหาย

และพายุฤดูร้อนมักจะมี ’ฟ้าผ่า-ลูกเห็บ“ ด้วย!!

สำหรับ “ลูกเห็บ” นั้น ทำอันตรายคน สัตว์ พืช สิ่งของต่างๆได้ ลูกเห็บมักเกิดในสภาพอากาศที่มีเมฆฝนฟ้าคะนอง ในก้อนเมฆนี้จะมีกระแสอากาศที่ไหลเวียนอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งจากการที่เม็ดน้ำขนาดเล็กถูกกระแสอากาศไหลขึ้นพาขึ้นไป พอสูงใกล้ยอดเมฆก็จะพบอุณหภูมิที่ต่ำมากๆ ทำให้แข็งตัวเป็นก้อนน้ำแข็งขนาดเล็ก ซึ่งกระแสอากาศยังสามารถพยุงก้อนน้ำแข็งนี้ให้เคลื่อนขึ้นได้อีก และอาจจะพบหยดน้ำเย็นยิ่งยวด (supercooled droplet) ซึ่งจะเกาะผิวก้อนน้ำแข็งและแข็งตัวเคลือบก้อนน้ำแข็ง เกิดเป็นชั้นน้ำแข็ง เมื่อก้อนน้ำแข็งที่สะสมเคลือบน้ำแข็งนี้ถูกพัดขึ้นหมุนวนอยู่ในก้อนเมฆหลายๆรอบเข้า ก็จะเกิดการสะสมชั้นเคลือบน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดเมื่อมีน้ำหนักถึงจุดหนึ่ง กระแสอากาศไหลขึ้นพยุงไว้ไม่อยู่ ก็จะตกลงมา

’ลูกเห็บที่คนไทยรู้จักกันดีพอสมควรนั้น มีลักษณะเป็นก้อนน้ำแข็งขนาด 5-150 มิลลิเมตร หรือ 0.5-15 เซนติเมตร โดยลูกเห็บขนาด 150 มิลลิเมตรอาจมีน้ำหนักมากถึงราวครึ่งกิโลกรัม เจ้าลูกเห็บนี่ชอบมาพร้อมพายุฤดูร้อน เป็นผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆของพายุที่ควรรู้จักไว้“ ...ดร.บัญชา ระบุ

ทั้งนี้ กับการ “ป้องกันภัยพายุฤดูร้อน” ซึ่งจะมีทั้ง ฝนหนัก ลมแรง ฟ้าผ่า และอาจมี ลูกเห็บ ด้วยนั้น ที่มีการแนะนำกันไว้ก็คือ... ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนให้แข็งแรง เตรียมป้องกันภัยให้สัตว์เลี้ยงและพืชผลการเกษตร ติดตั้งสายล่อฟ้าสำหรับสิ่งปลูกสร้างสูงๆ ติดตามข่าว-คำเตือนสภาวะอากาศ งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดขณะมีพายุฝนฟ้าคะนอง ไม่ใส่เครื่องประดับโลหะและไม่อยู่กลางแจ้งขณะมีฝนฟ้าคะนอง

’พายุฤดูร้อน“ จริงๆก็เป็นเรื่องปกติทางธรรมชาติ

แต่ปัจจุบันเรื่องปกตินี้อาจ ’รุนแรงมาก-ไม่ปกติ“

ไม่กลัว-ไม่ป้องกัน...บ้านพังยับ หรือถึงตายได้!!.




จาก .................. เดลินิวส์ คอลัมน์ สกู๊ปหน้า 1 วันที่ 22 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #33  
เก่า 26-04-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ชี้ไทยพ้น 'ดินไหว'ใหญ่ ไม่ประมาท-เสริมแกร่งบ้านเมือง



แม้โศกนาฏกรรมแผ่นดินไหว-สึนามิใหญ่ถล่ม 'ญี่ปุ่น' จะผ่านพ้นมาเกือบ 2 เดือน

แต่หลังจากนั้นในทวีปเอเชียและเขตแปซิฟิกก็ยังเกิดแผ่นดินไหวเกิน 5-6 ริกเตอร์อยู่หลายจุด โดยครั้งล่าสุดวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมาเพียงแค่วันเดียว มีถึง 3 ประเทศ กับอีก 1 เกาะต้องเผชิญธรณีพิโรธ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาะไต้หวัน นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย

เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเหตุไม่คาดฝัน และรู้เท่าทันมหันตภัยธรรมชาติดังกล่าว คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดสัมมนาหัวข้อ 'เราพร้อมรับภัยแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร' ที่อาคารเจริญวิศวกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวและสึนามิพร้อมผู้สนใจเข้าร่วมคับคั่ง

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ 'ทส.' ให้คำจำกัดความ 'รอยเลื่อนมีพลัง' ว่า

เป็นการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งยังคงเคลื่อนตัวเข้าหากัน มุดซ้อนเกยกัน และบางแผ่นแยกออกจากกันตลอดเวลา การเคลื่อนไหวนี้จะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการสั่นไหว ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่า แผ่นดินไหว

"โชคดีของประเทศไทยที่รอยเลื่อนมีพลังของเราเป็นรอยเลื่อนแบบแขนง ซึ่งเป็นสาขาของรอยเลื่อนใหญ่อย่างรอยเลื่อนสะแกงในประเทศพม่า หรือรอยเลื่อนเทียนเมียนฟูในประเทศลาว ดังนั้น โอกาสเกิดแผ่นดินไหวจึงเป็นขนาดกลาง และมีโอกาสเกิดแค่ 5-6 ริกเตอร์เท่านั้น ไม่เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณรอยเลื่อนขนาดใหญ่ จึงทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ได้" นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์ระบุด้วยว่า ที่ระดับความแรง 5-6 ริกเตอร์ บ้านเมืองจะสั่นไหว อาคารที่ไม่ได้เตรียมการรับมือดีพออาจเกิดการแตกร้าว แต่หากเกิดบริเวณป่าเขาจะได้รับผลกระทบน้อย



สำหรับ 'รอยเลื่อนที่มีพลัง' ของไทยมีทั้งหมด 13 แห่ง ครอบคลุม 22 จังหวัด คือ

1.รอยเลื่อนแม่จัน 2.แม่ฮ่องสอน 3.พะเยา 4.แม่ทา 5.ปัว 6.เถิน 7.อุตรดิตถ์ 8.เมย 9.ท่าแขก 10.ศรีสวัสดิ์ 11.เจดีย์สามองค์ 12.ระนอง และ 13.คลองมะรุ่ย

ตำแหน่งที่เกิดในประเทศไทยส่วนมากอยู่บริเวณป่าเขาทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

"กรมทรัพยากรธรณีวิทยาศึกษาย้อนหลังไป 50 ปี พบว่า วันที่ 22 เม.ย.2526 เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดขนาด 5.9 ริกเตอร์ บริเวณ จ.กาญจนบุรี และรองลงมาคือ วันที่ 17 ก.พ. 2518 แผ่นดินไหวขนาด 5.6 ริกเตอร์ ที่ จ.ตาก" นายสุวิทย์กล่าว

ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณีฯ อธิบายต่อไปว่า รอยเลื่อนในประเทศไทยไม่แรงพอที่จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์ 'สึนามิ' เพราะอยู่บนพื้นดิน ไม่ได้อยู่ในพื้นทะเล

การเกิดสึนามิเกิดจากแผ่นเปลือกโลกมุดซ้อนเกยกันทำให้น้ำทะเลถูกแทนที่ด้วยแผ่นดิน ส่งผลให้เกิดคลื่นใต้น้ำ ซึ่งจะมาผุดสูงเมื่อใกล้ถึงฝั่งกลายเป็นภัยที่เตือนภัยยากและเกิดบ่อยครั้ง

คลื่นยักษ์สึนามิจึงมักเกิดบริเวณตะเข็บรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก เช่น รอยต่อของอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ หรือชิลี

"คาบเวลาการเกิดซ้ำของแผ่นดินไหวรุนแรงจากรอยเลื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมีระยะเวลายาวนานมาก ราว 1,000 ปี"

"ดังนั้น สำหรับประชาชนไทยจึงไม่ควรหวาดวิตกเกินเหตุ แต่หากเกิดการเคลื่อนของรอยเลื่อนบริเวณเกาะสุมาตรา หรือหมู่เกาะนิโคบาร์ มหาสมุทรอินเดีย อาจก่อให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงไทยได้ และจังหวัดที่น่าจะได้รับผลกระทบ คือ ภาคใต้ติดชายฝั่งอันดามัน" นายสุวิทย์ชี้

ขณะเดียวกัน นายบุรินทร์ เวชบันเทิง ผู้อำนวยการส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ 'ไอซีที' กล่าวว่า

ประเทศไทยมีสถานีเตือนภัยแผ่นดินไหวอยู่ 40 สถานีทั่วประเทศไทย

การวิเคราะห์ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ต้องใช้สถานีวัดไม่ต่ำกว่า 4 สถานี ซึ่งได้รับแรงสะเทือน จากนั้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์จะเลือกลักษณะของความสั่นสะเทือนนั้นๆ เพื่อคำนวณว่าตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ไหน

"เครื่องมือจะบันทึกตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ฉะนั้นเราจะทราบว่ามีการเกิดแผ่นดินไหวเมื่อไหร่ ศูนย์กลางอยู่ที่ไหน ลึกเท่าไหร่ ตำแหน่งที่อยู่บนระนาบของผิวโลกอยู่ตรงส่วนไหน" ผอ.ส่วนเฝ้าระวังและติดตามแผ่นดินไหวและสึนามิ อธิบาย และยืนยันว่า ความพร้อมในการตรวจวัดแผ่นดินไหวของไทยอยู่ในมาตรฐานโลก

ด้าน ศ.ดร.ปณิธาน ลักคุณะประสิทธิ์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยเตรียมพร้อมเสริมความแข็งแรงของอาคารสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน

โดยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องควรทยอยจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดให้มีการประเมินสภาพอาคาร

ทั้งนี้ สิ่งปลูกสร้างที่ควรรีบเสริมความแข็งแรงเป็นอันดับแรก คือ 'เส้นทางคมนาคม' เพราะถือเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ในการดำเนินชีวิต

รองลงมา คือ อาคารสำคัญๆ เช่น ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บัญชาการของตำรวจ และทหาร เนื่องจากหากเกิดภัยพิบัติและอาคารเหล่านี้ถล่มลงมาจะทำให้เกิดจลาจล เพราะไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบดูแล โรงเรียนและโรงพยาบาล เนื่องจากเป็นสถานหลบภัยขณะเกิดภัยธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงระบบสาธารณูปโภค ระบบการสื่อสาร

หนังสือ 'ข้อแนะนำสำหรับรูปแบบและการก่อสร้างอาคารทั่วไปที่เหมาะสมในเขตเสี่ยงภัยพิบัติสึนามิปานกลาง' ของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า

ตำแหน่งของอาคารที่ป้องกันภัยสึนามิไม่ควรอยู่ใกล้ชายหาด หรือร่องน้ำมาก

รูปทรงควรสมมาตรในแปลน ไม่มีช่องเว้าหักมุมที่ทำให้คลื่นสูงขึ้น

ผังอาคารรูปวงกลมหรือแปดเหลี่ยมจะสามารถลดแรงคลื่นได้ถึงร้อยละ 20

และควรหันอาคารด้านแคบเข้าหาแนวที่คลื่นสึนามิจะปะทะเพื่อก่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด

กำแพงของอาคารส่วนที่ปะทะคลื่นยักษ์ต้องมีช่องเปิดไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่กำแพง ก่อด้วยอิฐ หรือคอน กรีตบล็อก ความหนารวมปูนฉาบไม่เกิน 10 เซนติเมตร มีเหล็กเดือยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6 มิลลิเมตรยึดผนังกับเสาห่างกันไม่เกิน 40 เซนติเมตร เพื่อลดความเสียหายกับโครงสร้างตึก

ด้าน 'รากฐาน' ต้องหยั่งลึกลงในชั้นดินแน่น

หากเป็นรากฐานแบบแผ่ต้องฝังในชั้นดินที่แน่นและมั่นคงกว่าที่กระแสน้ำสามารถกัดเซาะได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร

และควรขยายตอม่อให้มีขนาดไม่เล็กกว่า 25 เซนติเมตร ขนาดเสาควรมีหน้าตัดด้านแคบไม่น้อยกว่า 20 เซนติ เมตร และระยะเรียงแนวดิ่งระหว่างเหล็กปลอกไม่ควรเกิน 15 เซน ติเมตร

สำหรับเสา 20x20 เซนติเมตร และส่วนปลายยื่นของเหล็กปลอกไม่ควรน้อยกว่า 6 เท่าของเส้นผ่านศูนย์กลาง

แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่ห่างไกลคนไทยอยู่บ้าง แต่การเตรียมพร้อมย่อมดีกว่าการแก้ปัญหายามเมื่อความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินมหาศาลไปแล้ว เพราะในอดีตมีนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าสึนามิใหญ่จะไม่มีทางถล่มประเทศไทย แต่สุดท้ายผลลัพธ์ออกมาเป็นอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาไม่กี่ปีคงให้คำตอบไว้แล้ว!




จาก .................. ข่าวสด วันที่ 26 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #34  
เก่า 07-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


นักวิทยาศาสตร์เตือนรับมือภัยพิบัติ 2012 'สึนามิ-พายุสุริยะ' ถล่ม-กทม.วิบัติแน่!



นักวิทยาศาสตร์เตือน “สึนามิ” เข้าอ่าวไทยปี 55 แนะซ้อมหนีภัยทุกชุมชน จับตา “พายุสุริยะ” ทำไฟดับ ระบบสื่อสารขัดข้อง แนะคนไทยเรียนรู้สู้ปัญหาจากอุทกภัยปี 54 เตือนชุมชนซ้อมหนีภัย ฝึกสติ มีปัญญาสู้ทุกภัย ชี้ 10 ปีเห็นชัด น้ำท่วมเมืองหลวงอยู่ไม่ได้ ต้องย้าย หรือสร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย

เข้าสู่ปี ค.ศ.2012 ซึ่งมีคำทำนายชะตากรรมธรรมชาติหลายกระแสทั่วโลก ทั้งในแง่วิทยาศาสตร์ และโหราศาสตร์ สำหรับประเทศไทยมีโหราจารย์และนักวิทยาศาสตร์หลายคนได้สังเกตการณ์ธรรมชาติและออกมาคาดการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้าเป็นเวลาหลายปี บางคนเชื่อ บางคนไม่เชื่อ แต่ทุกคนกำลังเฝ้าจับตาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือความแปรปรวนของธรรมชาติที่ปรากฎให้เห็นมากขึ้นทุกวัน

ปลายปี พ.ศ.2554 นักวิทยาศาสตร์หลายคนต่างพูดตรงกันว่า อุทกภัยของประเทศไทยในปีที่ผ่านมา เป็นเพียงแค่หนังตัวอย่าง ที่ธรรมชาติส่งมาให้คนไทยได้เตรียมใจและเรียนรู้ที่จะรับมือกับ “ของจริง” ที่กำลังจะมาเร็วๆ นี้!

ในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสัตยาไส หรืออดีตนักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นระบบควบคุมการลงจอดบนดาวอังคารของยานไวกิ้งร่วมกับองค์การนาซาที่คนไทยรู้จักกันดี เผยว่า ตนได้พูดมานานแล้วว่า อีกหน่อยน้ำจะต้องท่วมภาคกลาง แต่อุทกภัยใหญ่ปีที่ผ่านมายังไม่ใช่สาเหตุหลัก และยังไม่ถึงที่สุด

“ระดับน้ำทะเลค่อยๆ สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในช่วงชีวิตของผมน้ำทะเลขึ้นมาแล้วประมาณ 20 เซนติเมตร และตอนนี้ยิ่งเร่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะแก๊สมีเทนที่เริ่มขึ้นมาจากขั้วโลกเหนือ ทำให้โลกร้อนขึ้นทุกปี เมื่อความร้อนระเหยขึ้นจากมหาสมุทร เมฆจะมากขึ้น มีพายุมากขึ้น ฝนตกหนักขึ้น”


เฝ้าระวัง “สึนามิ” จ่ออ่าวไทย

ดร.อาจอง อธิบายว่า น้ำแข็งที่ละลายจากภูเขาทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และน้ำหนักในมหาสมุทรเพิ่มขึ้น ขณะที่น้ำหนักของแผ่นดินลดลง เช่น ภูเขาหิมาลัยมีน้ำหนักลดลงเพราะน้ำแข็งละลายไหลลงมา เมื่อน้ำหนักไม่สมดุลกันรอบๆ โลก ทำให้แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนไหวเพื่อปรับสมดุลขึ้นใหม่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วโลก หรือแผ่นดินไหวรุนแรง 9.0 ริกเตอร์ที่เกิดนอกชายฝั่งของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ก็เป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และชนกันของขอบแผ่นเปลือกโลกนี้เอง

“สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังคือ โอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่แถบประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจะทำให้เกิดสึนามิเข้ามาทางอ่าวไทยได้ เวียดนามและเขมรจะโดนหนัก รวมถึงภาคใต้ของเราด้วย แต่จะไม่หนักเท่าที่ญี่ปุ่น ประชาชนต้องเข้าใจและรู้ทัน ต้องมีการวางแผนในทุกจังหวัดว่าชุมชนต่างๆ ต้องหนีไปอยู่ตรงไหน”

ดร.อาจอง บอกอีกว่า หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น คนไทยจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้า 16 ชั่วโมง จึงสามารถหนีได้ทัน ไม่มีความเสียหายมาก แต่ทางราชการต้องมีการเตรียมพร้อม และซักซ้อมให้ประชาชนหนีขึ้นในพื้นที่สูง

โดยการเกิดสึนามิในอ่าวไทย มีแนวโน้มที่จะเกิดในระยะเวลาไม่นานหลังจากนี้ เพราะปัจจุบันเปลือกโลกมีการชนกันค่อนข้างมากบริเวณรอบมหาสมุทรแปซิฟิก จึงเกิดแผ่นดินไหวค่อนข้างบ่อย ซึ่งปี2555มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ๆ ที่ทำให้สึนามิเข้ามาในอ่าวไทย


แผ่นดินไหวไม่น่าเป็นห่วง

ดร.อาจอง บอกอีกว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่เริ่มแตกร้าวอยู่บ้าง จึงอาจเกิดแผ่นดินไหวขึ้นในหลายจุด แต่จะไม่รุนแรงมากนัก อย่างมากสุดประมาณ 5 ริกเตอร์ จึงไม่น่าเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ “เขื่อนแตก” เช่นที่กลัวกัน เพราะเขื่อนสามารถทนต่อแผ่นดินไหวได้ถึง 7.5 ริกเตอร์

อย่างไรก็ตาม คนไทยไม่ควรประมาท เพราะเขื่อนศรีนครินทร์มีรอยร้าวที่เชื่อมโยงไปถึงประเทศพม่า ดังนั้นหากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพม่าจะมีแรงสั่นสะเทือนเข้ามาในประเทศไทย ดังนั้นจึงควรวางแผนซ้อมอพยพหากเกิดสถานการณ์การณ์ฉุกเฉิน


“พายุสุริยะ”แรงสุดปีนี้-ทำระบบสื่อสารพังชั่วคราว

“อีกปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือ ดวงอาทิตย์ที่จะปะทุขึ้นแรงที่สุดในรอบหลายปี ซึ่งจะมีรังสีพุ่งเข้ามาที่โลกของเรา ทำให้ระบบสื่อสารพังชั่วคราว เราอาจจะโทรศัพท์คุยกันไม่ได้ เพราะสัญญาณพังหมด แม้กระทั่งไฟฟ้าก็อาจจะดับ เช่นเดียวกับที่ดับในอเมริกาในปีที่แล้ว”

ดร.อาจอง บอกด้วยว่า ผลกระทบจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ และจะรุนแรงมากที่สุดในปีนี้ สอดคล้องกับการศึกษาเรื่อง “พายุสุริยะ” ของ ดร.ก้องภพ อยู่เย็น นักวิทยาศาสตร์จากองค์การนาซ่า ซึ่งพบว่า เมื่อมีแรงระเบิดในดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีแผ่นดินไหวใหญ่ๆ เกิดขึ้นบนโลก แต่ประเทศไทยอาจจะได้รับผลกระทบจากสึนามิที่เป็นผลมาจากแผ่นดินไหวในประเทศฟิลิปปินส์มากกว่า เพราะเมืองไทยมีรอยเลื่อนไม่มากนัก


แนะเรียนรู้อยู่รอดจากปัญหา

แม้โลกกำลังเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นทุกที แต่ ดร.อาจอง มีแนวคิดว่า ไม่จำเป็นต้องเครียด หรือกลุ้มใจต่อความไม่แน่นอน ปัญหามีไว้เพื่อเรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนสัตยาไสของเขาเป็นตัวอย่างที่ดีจากการป้องกันน้ำท่วมได้สำเร็จในปีที่ผ่านมา

“ร.ร.สัตยาไสของเราตั้งอยู่เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ซึ่งปี 2553 น้ำท่วมโรงเรียนอย่างหนัก เพราะเขื่อนป่าสักกักเก็บน้ำเกินไป 25% เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งผมบอกให้ทุกคนสังเกตว่าน้ำไหลเข้ามาในโรงเรียนผ่านทางไหนบ้าง จุดไหนมีน้ำซึมเข้ามา และอุดทุกรูที่น้ำซึมเข้าได้ ดังนั้นในปี54น้ำจึงไม่ท่วมโรงเรียนแม้ว่าเขื่อนป่าสักฯ จะกักเก็บน้ำในเขื่อนเกินไปถึง 36%”

ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในประะเทศไทยก็ควรใช้วิธีเดียวกัน คือสังเกตดูว่า น้ำท่วมหนักปีที่ผ่านมาเกิดขึ้นเพราะอะไร น้ำไหลลงมาทางจุดไหนแล้วเราจึงไปแก้ไขตรงนั้นให้น้ำสามารถไหลผ่านลงสู่ทะเลได้อย่างรวดเร็ว ถ้าน้ำระบายได้เร็ว น้ำก็ไม่ท่วม


ย้ายเมืองหลวงดีหรือไม่

ดร.อาจอง ให้ความเห็นต่อการย้ายเมืองหลวงว่า ภายในไม่เกิน 10 ปี คนไทยจะเริ่มรู้แล้วว่ากรุงเทพฯ จะอยู่ไม่ได้ และภายใน 20 ปี น้ำทะเลจะท่วมกรุงเทพฯ ดังนั้นต้องวางแผนตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งมี 2 แนวทาง คือ 1.ย้ายเมืองหลวง 2.สร้างเขื่อนกั้นอ่าวไทย

“ประเทศฮอลแลนด์อยู่ใต้ทะเล แต่มีเขื่อน จึงสามารถอยู่ได้โดยไม่จม ทั้งที่เขาจะต้องจมไปนานแล้ว แต่ยังอยู่ได้ ดังนั้นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เราจะสามารถป้องกันอู่ข้าวอู่น้ำในประเทศของเราไว้ได้”


เตือนชุมชนฝึกสติ-ซ้อมหนีภัย

ด้าน ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ นักวางยุทธศาสตร์และนักบริหารองค์กรแนวพุทธ พูดว่า “ขณะนี้ภัยธรรมชาติเกิดที่หัวใจพวกเราเสียแล้ว ภัยพิบัติถูกหัวใจตั้งแต่ยังไม่มาจริงแล้ว ดังนั้นเราควรทำจิตใจให้สดใสไว้ ใจไม่ตื่นตูม กายก็พร้อม เราต้องเตรียมพร้อมเหมือนการใส่เข็มขัดนิรภัยหรือหมวกกันน็อก ไม่เกิดเรื่องก็แล้วไป แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงก็ไม่ถึงกับแย่

เขาคิดว่าภัยธรรมชาติไม่มีทางจะเบาลงนับจากนี้ เนื่องเพราะพฤติกรรมมนุษย์ที่ยังคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า เผาอ้อย รุกป่าสงวน กระทั่งพฤติกรรมการผลาญพลังงานที่ไม่รู้จักพอของมนุษย์

“เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติเหล่านี้ให้เห็นชัดๆ ภัยธรรมชาติก็ไม่มีทางเบาลงได้เลย และยังทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือแผ่นดินไหว จึงบอกไม่ได้ว่าจะทำอะไร”

โดยสิ่งแรกที่อยากให้คนไทยเตรียมตัวก็คือ เตรียมใจ และปล่อยวาง อุทกภัยในปีที่ผ่านมาเหมือนเราได้ซ้อมใหญ่ ได้ฝึกเรียนรู้ว่าสิ่งไหนจำเป็น-ไม่จำเป็น คนไหนเพื่อนแท้-เพื่อนเทียม คนไหนพึ่งได้-พึ่งไม่ได้ ความน่าไว้วางใจของหน่วยงานรัฐบาลมีมากแค่ไหน เราเริ่มรู้แล้วก็เริ่มทำใจได้ไง

วิธีเตรียมใจขั้นต่อมาที่เขาแนะนำคือ การปฏิบัติธรรม เพื่อทำให้ตั้งสติได้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสติมา ปัญญาย่อมเกิด

“วิกฤตน้ำท่วมทำให้คนเห็นธรรมะมากขึ้น คนฉลาดที่สุดคือคนเอาวิกฤตมาฝึกสติ เอาวิกฤตมาปฏิบัติธรรม ทำให้เกิดสติ เมื่อสติมา ใจจะโล่งสบาย ปัญญาก็ออก ไม่เหมือนเวลาเครียดเกร็ง คนจะไม่มีปัญญา มีแต่การเอาเปรียบ เอาตัวรอด จนอาจจะฆ่าคนข้างๆ ตายได้ หรือแย่งกันกิน เห็นแก่ตัว กักตุน ไม่มีความเมตตา ขณะที่คนมีสติ ถึงตายเขาก็ไม่กลัว”

สำหรับการเตรียมพร้อมทางโลก ดร.วรภัทร์ แสดงความเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการรองรับเรื่องแผ่นดินไหวเท่าที่ควร ซึ่งรัฐบาลควรบอกความจริงประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับรอยแยกรอยแตก หรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว นอกจากนั้นอาจจะมีการเปิดหลักสูตรสอนชัดเจนในแต่ละพื้นที่ของแต่ละชุมชน เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าเมื่อมีปัญหาจะรวมตัวกันที่ไหน อุปกรณ์ช่วยชีวิตมีอะไรบ้าง ศูนย์อุบัติเหตุจะอยู่ที่ไหน จะช่วยคนเจ็บอย่างไรไม่ให้เป็นเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาต การเตรียมแม่แรง การงัดตึก และน่าจะมีการซ้อมในชุมชน โดยการช่วยกันทำ และอาจเชิญคนที่เคยผ่านแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมาถ่ายทอดความรู้ให้เราว่า ถ้าแผ่นดินไหว ไฟไหม้ แก๊สรั่ว ต้องทำอย่างไร การเกิดอุบัติภัยหมู่ ทางโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยอาจจะเคยซ้อมกันบ้าง แต่ประชาชนกลับไม่เคยได้ซ้อมเลย

สถานการณ์อุทกภัยใหญ่ที่ผ่านมาจึงฉายภาพการแย่งกันกินแย่งกันใช้ น้ำดื่มขาดแคลน คนไม่รู้วิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติ “ประเทศไทยจะบอกว่าเป็นประเทศไม่มีภัยธรรมชาติไม่ได้อีกแล้ว เมื่อก่อนไม่มี แต่ตอนนี้ภัยธรรมชาติคุกคามเข้ามา ดังนั้นเราต้องให้งบประมาณกับหน่วยงานด้านภัยพิบัติ และสอนให้ประชาชนเรียนรู้วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ”

ดร.วรภัทร์ บอกอีกว่า หากเกิดน้ำท่วมโลกในปี ค.ศ.2012 ขึ้นจริง คนไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ แทบพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย ดังนั้นควรสอนเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ให้สามารถเอาตัวรอดได้ คนที่พักอาศัยในเมืองหากปลูกผักได้ก็ควรปลูกผักตามระเบียงหรือดาดฟ้าเพื่อรองรับวิกฤตการณ์ขาดแคลนอาหารจากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นอีก




จาก ...................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 5 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
เก่า 27-03-2017
moon1245
ข้อความนี้ถูกลบโดย สายน้ำ.
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 23:17


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger