#31
|
||||
|
||||
ความเข้าใจผิดที่พบเสมอเกี่ยวกับหาดทราย บทนำ ความสัมพันธ์ระหว่างทะเลและชายหาด มีความซับซ้อน ทำให้มักเข้าใจกันผิดอยู่บ่อยๆ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดูแล ต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ชุมชน เนื่องจากหลายๆครั้ง ความเข้าใจผิดนี้เอง เป็นสิ่งที่ขัดขวางความสำเร็จของการดูแลชายฝั่ง บทความนี้จึงได้ถูกเขียนขึ้นเพื่อพิสูจน์ และแก้ใขความเข้าใจผิดต่างๆ ความเข้าใจผิด การกัดเซาะชายฝั่งเป็นปัญหา และจะต้องมีการป้องกัน แท้จริง การกัดเซาะชายฝั่ง เป็นกระบวนการตามปกติของธรรมชาติ เนื่องจากชายหาดประกอบด้วยเม็ดทราย ซึ่งเคลื่อนที่ตามแรงพัดพาของกระแสคลื่นและลม ทำให้เกิดความสมดุลของชายหาด แต่ขณะเดียวกันก็ไม่เคยหยุดนิ่ง การกัดเซาะของชายหาดในช่วงฤดูมรสุม จะถูกทดแทนด้วยเม็ดทรายที่ถูกพัดคืนกลับมาทับถมกันตามเดิมในฤดูที่ลมสงบ ชายหาดนั้นจะได้รับการปกป้องอย่างสูงสุด ถ้าเรายอมรับกระบวนการตามธรรมชาติของการกัดเซาะ และการทับถมกลับคืน โดยไม่เข้าไปรบกวนสมดุลนี้ ความเข้าใจผิด กำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันการกัดเซาะได้ แท้จริง ชายหาดตามธรรมชาติมักแผ่ขยายหรือร่น ตามอิทธิพลของคลื่นและกระแสน้ำ โดยในฤดูมรสุม คลื่นจะพัดพาทรายออกไปจากชายหาด และคลื่นก็จะนำทรายกลับมาที่หาดตามเดิมในช่วงฤดูที่ลมสงบ การสร้างกำแพงกันคลื่นจะแยกทรายให้อยู่เฉพาะด้านบนของกำแพง ทำให้ปริมาณทรายในระบบตามปกติลดลง ด้วยเหตุนี้ในช่วงฤดูมรสุมชายหาดที่อยู่ด้านล่างของกำแพง อาจถูกกัดเซาะอย่างรุนแรงจนหมดสภาพ กล่าวคือ กำแพงกันคลื่นสามารถป้องกันพื้นที่ด้านบนของกำแพงได้จริง แต่จะเพิ่มการกัดเซาะให้กับชายหาดด้านล่าง ยิ่งสร้างกำแพงกันคลื่นมากขึ้นเท่าใด ทรายที่ถูกแยกออกจากระบบก็จะมากขึ้น ทำให้ชายหาดยิ่งยากจะคงสภาพอยู่ได้ จนในที่สุดอาจไม่เหลือชายหาดบริเวณด้านล่างของกำแพงเลย ซึ่งชายหาดก็จะไม่สามารถใช้ประโยชน์และท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้ดังเดิมอีกต่อไป ในทางกลับกัน ถ้ายอมให้ชายหาดมีการกัดเซาะตามฤดูกาลธรรมชาติ ไม่ถูกกึดขวางด้วยกำแพงกันคลื่น ชายหาดก็จะยังเป็นชายหาดอยู่เสมอ กำแพงกันคลื่นที่ Machans Beach in Mulgrave Shire ถูกสร้างขึ้นเพื่อยับยั้งการกัดเซาะอาคารบ้านเรือน แต่ผลคือทำให้ไม่เหลือชายหาดที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป ที่ Burleigh Heads บน Gold Coast ลานจอดรถและสาธารณูปโภคอื่นๆถูกสร้างบนเนินทรายชายฝั่ง แม้จะปรากฏร่องรอยเพียงเล็กน้อยของการกัดเซาะต่อสาธารณูปโภค แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการซ่อมแซมแก้ไข และมีโอกาสมากที่จะเกิดการกัดเซาะชายหาดอย่างรุนแรงตามมา ความเข้าใจผิด การปรับเปลี่ยนรูปร่างของเนินทรายด้านบนของชายหาด ไม่ส่งผลกระทบต่อชายหาด แท้จริง เนินทรายด้านบนของชายหาด เป็นที่เก็บสำรองทราบของชายหาดไว้ใช้ในฤดูมรสุม ที่ทรายด้านล่างถูกพัดพาออกไป สิ่งปลูกสร้างที่สร้างใกล้ชายหาดมากเกินไป หรือแม้แต่การจอดรถบนเนินทรายริมชายหาดก็เป็นสิ่งที่ไม่ควร โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างที่สร้างใกล้ชายหาดมากเกินไป เมื่อมีปัญหาการกัดเซาะ ก็อาจใช้วิธีการสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งจะยิ่งเป็นตัวเร่งให้การกัดเซาะชายหาดด้านล่างของกำแพง และพื้นที่ใกล้เคียงรุนแรงขึ้น ดังที่ได้บรรยายข้างต้น เพราะฉะนั้นสิ่งปลูกสร้างใดๆควรสร้างให้ห่างจากชายหาดให้มากเท่าที่จะทำได้ Bokarina on the Sunshine Coast การพัฒนาพื้นที่ถูกจัดให้อยู่ห่างจากชายหาดอย่างเหมาะสม จึงไม่ทำให้เกิดปัญหาใดๆ (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 21-02-2011 เมื่อ 07:25 |
#32
|
||||
|
||||
ความเข้าใจผิดที่พบเสมอเกี่ยวกับหาดทราย (ต่อ) ความเข้าใจผิด การมีต้นไม้และพืชต่างๆขึ้นปกคลุมชายหาด จะสามารถป้องกันการกัดเซาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ แท้จริง การปกคลุมของพืชบริเวณชายหาดและเนินทราย สามารถช่วยเก็บรักษาเม็ดทรายจากแรงลมทะเล และทำให้หาดแผ่ขยายขึ้นตามปริมาณทรายและตามการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ที่พืชขึ้นปกคลุม ในช่วงฤดูมรสุม เมื่อทรายถูกพัดพาออกไป ทำให้ชายหาดหดสั้นลงไปจนถึงเนินทรายที่มีพืชขึ้นปกคลุม เนินทรายก็จะสลายตัวเป็นเม็ดทรายเพิ่มให้กับชายหาด ซึ่งจะช่วยลดอัตราการกัดเซาะของหาดได้ ยิ่งเนินทรายมีขนาดใหญ่มากเท่าใด ประสิทธิภาพในการในการทดแทนเม็ดทรายให้กับชายหาดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้นด้วย เหตุนี้การทำลายพืชที่ขึ้นปกคลุมเนินทรายจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้ชายหาดถูกกัดเซาะได้ง่ายขึ้น การปกคลุมของพืชช่วยรักษาเนินทรายจากแรงของลมทะเล แต่ช่วยต้านทานแรงกัดเซาะของกระแสคลื่นได้เพียงเล็กน้อย เนื่องจากรากของพืชเหล่านี้ไม่สามารถเก็บรักษาเม็ดทรายเอาไว้ได้เมื่อถูกคลื่นที่รุนแรงถล่ม นั่นคือช่วยได้ในแง่ป้องกันการกัดเซาะจากลมทะเลเป็นหลัก ดังนั้นแม้ว่าการปกคลุมของพืชบนเนินทรายจะมีความสำคัญตามธรรมชาติต่อชายหาด แต่เราก็ควรเข้าใจถึงของจำกัดของมันด้วย North Stradbroke Island จากการรุกล้ำของรถยนต์ทำให้พืชที่เคยขึ้นปกคลุมเนินทรายหายไป เนินทรายจึงมีความเสี่ยงต่อการถูกกัดเซาะมากขึ้น ความเข้าใจผิด การเติมทราย (sand nourishment) ช่วยป้องกันชายหาดได้เพียงแค่ชั่วคราว เมื่อฤดูมรสุมทรายส่วนใหญ่ก็จะถูกพัดหาดไป แท้จริง การเติมทราย เป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูชายหาดจากปัญหาการกัดเซาะรุนแรง การเติมทรายนอกจากจะทำให้หาดแผ่ขยายกว้างขึ้นแล้วยังช่วยปรับให้ชายหาดเข้าสู่ความสมดุลขึ้นด้วย วิธีการที่เหมาะสมในการเติมทรายคือ ควรใช้ทรายที่มาจากพื้นที่อื่นที่ไม่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณทรายในระบบ ดีกว่าการนำทรายที่จัดว่าอยู่ในระบบเดียวกัน หรือพื้นที่ใกล้เคียงกันมาเติม ขนาดของเม็ดทรายที่จะเติมก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาให้มีขนาดใกล้เคียงกันของเดิม เพื่อที่จะได้แน่ใจว่าลักษณะความลาดของหาดจะคงเดิม และมีผลกระทบกับสมดุลเดิมตามธรรมชาติน้อยที่สุด โดยปกติการเติมทรายสามารถเติมเพียงแค่บางจุดของพื้นที่ที่ประสบปัญหา หลังจากนั้นทรายจะกระจายออกไปปกคลุมทั่วระบบของชายหาดนั้น ทรายไม่ได้สูญหายไปแต่ยังคงอยู่ในระบบ ซึ่งอาจทำให้ผลลัพธ์ของการเติมทรายในจุดที่ต้องการน้อยลง เนื่องจากได้เฉลี่ยไปเพิ่มในพื้นที่อื่นๆแทน ดังนั้น เพื่อที่จะฟื้นฟูชายหาดให้เป็นผลสำเร็จ ปริมาณทรายที่จะเติมและความรุนแรงของปัญหา ต้องถูกพิจารณาอย่างรอบคอบ หลายคนเข้าใจอย่างผิดๆเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายตามธรรมชาติของทราย จากหาดหนึ่งไปสู่หาดอื่นๆว่าเป็นการสูญเสียอย่างถาวร ซึ่งแท้จริงแล้วทรายเพียงแต่เคลื่อนย้ายไปชั่วคราว และพร้อมจะกลับมาทับถมกันเป็นหาดทรายกว้างตามเดิมในฤดูลมสงบ Surfers Paradise Beach ได้รับการเติมทราย 1.4 ล้านคิวบิกเมตร ในปี 1974 หลังจากนั้นแม้จะโดนพายุและมรสุม หาดทรายก็ยังสามารถปรับตัวกลับมาอยู่ในสภาพที่ดีได้ ในภาพคือปี 1983 ชายหาดมีสภาพสมดุลและบางที่มีพืชขึ้นปกคลุม ความเข้าใจผิด การขุดลอกทรายจากปากแม่น้ำในพื้นที่ใกล้เคียง ไปเติมในบริเวณที่มีปัญหาเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายหาด แท้จริง ปริมาณทรายจำนวนมากบริเวณปากแม่น้ำ มักจะถูกเข้าใจว่าเป็นแหล่งทรายสำหรับการเติมทราย อย่างไรก็ตาม ทรายในชายหาดหรือปากแม่น้ำ จะมีการเคลื่อนย้ายไปมาซึ่งกันและกันในระบบอยู่แล้ว การขุดลอกทรายจากปากแม่น้ำมาเติมในชายหาดใกล้เคียงจะช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น หลังจากนั้นทรายก็จะเคลื่อนย้ายไปสู่จุดสมดุลตามเดิม ทรายบริเวณปากแม่น้ำจะสะสมและถูกพัดพาไปยังชายหาดต่างๆในช่วงฤดูน้ำหลาก การขุดลอกทรายบริเวณนี้ไปเติมยังชายหาดจะเป็นการรบกวนความสมดุลนี้ และปากแม่น้ำที่ถูกขุดลอกทรายออกไป ก็จะได้รับการแทนที่ด้วยทรายที่จะพัดพามาจากหาดใกล้เคียงเพื่อรักษาความสมดุลของระบบไว้ ทำให้ชายหาดข้างเคียงสูญเสียปริมาณทรายไปจากเดิม ผลคือไม่เกิดการได้-เสียอะไรในภาพรวม Gold Coast ภาพที่ 1 ปี 1981 ทรายบริเวณปากแม่น้ำถูกขุดลอกออกเพื่อนำไปเติมที่หาดอื่น ภาพที่ 2 ปี 1984 ทรายที่ถูกขุดลอกออกไปกลับมาทับถมกันตามเดิม สรุป หนึ่งในหน้าที่สำคัญของผู้ที่มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชายฝั่ง คือ การให้ความเข้าใจและข้อมูลที่ถูกต้องแก้ประชาชน เนื่องจากความเข้าใจผิดทั้งหลายจะเป็นอุปสรรคต่อการดูแลรักษาชายหาดให้คงสภาพดีอยู่เสมอ และประชาชนก็ควรตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจทฤษฏีเกี่ยวกับชายหาด อย่างถูกต้อง วิศวกรและนักวิชาการผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดูแลชายหาดควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เค้าเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการใดๆเกี่ยวกับชายหาดจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมตามทฤษฏีและข้อมูลที่ถูกต้อง ผู้เขียน : Carter , T. Common Misconceptions About Beaches. IN: “Beach Conservation”,Issue No.63 May 1986, Beach Protection Authority of Queenland. ผู้แปล : นายดนุชัย สุรางค์ศรีรัฐ (ผู้ช่วยวิจัยโครงการ “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ : กรณีการใช้ประโยชน์หาดทรายและการอนุรักษ์”) จาก ....................... http://beachconservation.wordpress.com
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 21-02-2011 เมื่อ 07:26 |
#33
|
||||
|
||||
แผ่นดินที่หายไป ........................... โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ในสมัยสุโขทัยมีตำนานเรื่องพระร่วง หรือเรื่องราวของขุนศรีอินทราทิตย์ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย ซึ่งเป็นนิทานปรัมปรา หรือ Mythology ที่คนอายุ 60 ปีขึ้นไป อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เล่าปากเปล่าให้ฟัง ต่อมาคนรุ่นอายุ 30-40 ปีก็เริ่มได้เรียนจากบทเรียนหรือจากการอ่านพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 6 เรื่องตำนานพระร่วง แต่คนรุ่นปัจจุบันดูเหมือนจะโชคร้ายไปหน่อยที่นิทานปรัมปราไม่ได้รับความสำคัญให้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาประวัติศาสตร์เสียแล้ว ความสำคัญจากตำนานพระร่วงที่น่าจะหยิบยกมาเป็นข้อคิดให้กับวิธีการแก้ปัญหาการเสียดินแดน ณ บริเวณชายฝั่งของประเทศไทย มาจากความสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องราวในตำนานที่เล่ากันว่าพระร่วงเป็นคนฉลาด มีวาจาสิทธิ์ และรู้จักแก้ปัญหาที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนให้กับคนจำนวนมาก ในยุคนั้นไทยต้องส่งส่วยให้ขอมในสมัยก่อน เป็นส่วยที่แปลกมากคือ “ส่วยน้ำ” ที่ต้องขนจากลพบุรีไปเมืองขอม ด้วยการบรรทุกใส่โอ่งขนเดินเท้าไป เมื่อต้องใส่โอ่งระยะทางไกล กว่าจะไปถึงก็ลำบาก หนักก็หนัก เจอปัญหาโอ่งแตกก็ต้องเสียเวลามาเอาน้ำใหม่ จากปัญหาที่คนในชุมชนต้องเจอ ทำให้นายร่วงผู้ฉลาด คิดประดิษฐ์ไม้ไผ่สาน รูปทรงเหมือนตะกร้าใบใหญ่เท่าโอ่งแล้วเอาชันมายาไม่ให้น้ำรั่ว แต่สมัยโบราณอาจจะไม่รู้จัก ก็เล่าไปว่าเป็นวาจาสิทธิ์ของ พระร่วงที่บอกไม่ให้น้ำรั่ว ไม้ไผ่สานเลยบรรทุกน้ำได้ ก็บรรทุกไปส่งขอมที่นครธม คราวนี้การบรรทุกน้ำก็สะดวกขึ้นเพราะเบากว่าโอ่ง ขอมเห็นก็ทึ่งว่าคิดได้อย่างไร และคิดไปถึงว่าผู้นำไทยอาจจะฉลาดเกินไป ถ้าขืนปล่อยไว้อาจจะเป็นปัญหาในภายหลัง ควรจะรีบกำจัดเสีย พระร่วงรู้ข่าวก็หนีภัยไปบวช ขอมก็ส่งพระยาเดโชมาตาม แต่ก็โดนวาจาสิทธิ์ ของพระร่วงที่ออกอุบายให้นั่งรอว่าจะไปตามพระร่วงมาให้ตอนเจอหน้ากันโดยที่ พระยาเดโชไม่รู้ว่าคือพระร่วง จนเกิดเป็นตำนานขอมดำดินกลายเป็นหินอยู่ที่สุโขทัย การหยิบยกตำนานพระร่วงมาบอกเล่าครั้งนี้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือกรณีพิพาทชายแดน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นคือ การแก้ปัญหาที่ดีจากตัวอย่างของภาชนะบรรจุน้ำ ซึ่งไม่ต่างจากเทคนิควิธีการแก้ปัญหาการเสียแผ่นดินจากการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของหลายชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่ง สิ่งที่ชาวบ้านคิดและทำแล้วในหลายพื้นที่ อาจจะเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ไม่ใช่ระดับนโยบายที่ยกขึ้นเป็นความสำคัญระดับประเทศ แต่พวกเขาทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจากการปฏิบัติจริง จนบางเรื่องพัฒนาไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น นำไปสู่การสร้างและฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนที่จะให้ประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศ ไม่ต่าง จากกรณีของพระร่วงที่เริ่มต้นจากนำความสามารถที่มีมาใช้แก้ปัญหาเล็กๆ จนพัฒนาไปสู่การกอบกู้อิสรภาพจากขอม และก่อตั้งเป็นอาณาจักรสุโขทัยขึ้นมาได้ในที่สุด การเสียดินแดนของไทยในทุกวันนี้นั้น ไม่ได้มีเพียงพื้นที่ทับซ้อนบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา 4.6 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น และข้อแตกต่างอีกประเด็นก็คือพื้นที่พิพาทตลอด ชายแดนไทยกัมพูชาความยาว 798 กิโลเมตร แม้จะยังตกลงกันไม่ได้ แต่ก็ยังคงเป็นพื้นที่ที่ยังคงอยู่ไม่สูญหายไปไหน แต่พื้นที่ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยความยาว 2,815 กิโลเมตร มีเนื้อที่ถึง 20.54 ล้านไร่ กินพื้นที่ 807 ตำบล 136 อำเภอ 24 จังหวัด มีประชากรอาศัยมากกว่า 13 ล้านคน และพวกเขามีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งและทะเลโดยตรง พื้นที่ตรงนี้กำลังวิกฤติ ทุกปีประเทศไทยต้องเสียพื้นดินไปเพราะการกัดเซาะชายฝั่ง ทะเลตลอดแนวนี้ โดยมีอัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะชายฝั่งประมาณ 5-6 เมตรต่อปี บางพื้นที่ถูกกัดเซาะไม่ถึงเมตร แต่บางพื้นที่ถูกกัดเซาะเกินค่าเฉลี่ยและมีอัตราการกัดเซาะสูงกว่า 10 เมตรต่อปีก็มี แต่ถ้าอ้างอิงตัวเลขจากโครงการการป้องกันแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแบบบูรณาการ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำไว้ในการประชุมโครงการด้านวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อปี 2551 บางพื้นที่มีอัตราการกัดเซาะสูงจนน่ากลัวถึง 25 เมตรต่อปีก็ยังมี ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่มีแนวโน้มความถี่และทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัจจุบัน ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลจึงถูกบรรจุให้เป็นปัญหาภัยพิบัติระดับชาติ ตัวอย่างอัตราการกัดเซาะที่ผ่านมา จากพื้นที่ชายฝั่งบริเวณคลองด่าน สมุทรปราการ ที่โด่งดังจากโครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย ถูกกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่าปีละ 10 เมตร เช่นเดียวกับที่บ้านขุนสมุทรจีน อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดเดียวกัน ที่ยกมาเป็นกรณีศึกษาในครั้งนี้ เขตบางขุนเทียนทะเลกรุงเทพฯ ก็มีอัตราการกัดเซาะมากกว่า 10 เมตรต่อปีเช่นกัน ขณะที่บ้านโคกขาม สมุทรสาคร บางพื้นที่มีการกัดเซาะ บางพื้นที่มีดินงอก แต่อัตราการ งอกของแผ่นดินก็ต่ำลงทุกปีจนตัวเลขแทบจะเป็นศูนย์ ซึ่งชุมชนเหล่านี้เริ่มหาวิธีป้องกันการกัดเซาะ และสร้างแนวป้องกันด้วยตัวเองแล้ว (อ่าน “เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน”) แต่ที่สรุปปัญหาได้ตรงกันสำหรับภาพรวมของชายฝั่งทะเลก็คือเรากำลังเสียดินแดนทุกนาที และหากไม่มีมาตรการหยุดยั้งหรือหันมาใส่ใจ อัตราการสูญเสียก็จะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สรุปข้อมูลไว้ว่า ในช่วง 100 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2449-2549 พื้นที่ชายฝั่งทะเลสูญหายไปทั้งสิ้น 16,760 ไร่ และในพื้นที่ 5 จังหวัดที่อยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นจุดที่อยู่ใกล้เขตเมืองและเป็นจุดวิกฤติในด้านนี้ กรมทรัพยากรฯ ยังคาดการณ์ด้วยว่า หากไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ อีก 20 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะต้องสูญเสียพื้นที่ ชายฝั่งอีกอย่างน้อย 5,290 ไร่ ซึ่งเป็น ตัวเลขที่สูงถึง 1 ใน 3 ของสถิติ 100 ปีที่ผ่านมาทีเดียว ในฝั่งประชาชนที่อยู่ตามชายฝั่งจึงรอความช่วยเหลือไม่ไหว อะไรที่คิดว่าจะป้องกันแผ่นดินตัวเองได้ ชาวบ้านก็ลงมือทำไปก่อนตามกำลังความคิดและความสามารถที่มี ขณะที่หน่วยงานรัฐแม้จะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาการกัดเซาะคือภัยพิบัติระดับชาติ แต่ในเมื่อยังไม่มีเหตุการณ์กัดเซาะรุนแรง เว้นเสียแต่เป็นเหตุการณ์จากพายุซึ่งก็ผ่านไปหลายปีจนลืมกันไปแล้วนั้น ก็มีเพียงหน่วยงานอย่างกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลำดับ ความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะไว้ ซึ่งเป็นแง่มุมจากหน่วยงานรัฐที่จะว่ากันจริงๆแล้วก็ไม่มีผลต่อความหวังของชาวบ้านเท่าไรนัก เพราะข้อมูลเหล่านี้จะมีบทบาทต่อการตัดสินใจในการจัดสรรงบประมาณเสียมากกว่า และเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆของการตัดสินใจเท่านั้น การลำดับความสำคัญของปัญหาในส่วนของภาครัฐโดยกรมทรัพยากรฯ ซึ่งได้จากการพิจารณาความสำคัญของปัญหาการกัดเซาะร่วมกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขึ้นกับองค์ประกอบ 7 ประการ ดังนี้ หนึ่ง-อัตราเฉลี่ยของการกัดเซาะ หรืออัตราการถดถอยของเส้นขอบชายฝั่งขึ้นไปบนฝั่งเนื่องจากการกัดเซาะพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยสูง จะสูญเสียพื้นที่มาก กว่าพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะในอัตราเฉลี่ยต่ำกว่า ในระยะเวลาที่เท่ากัน สอง-ระยะทางของการกัดเซาะ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับข้อแรก แต่แตกต่างกันคือขณะที่ข้อแรกพิจารณาการกัดเซาะตามความลึก แต่ข้อนี้พิจารณาการสูญเสียพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง สาม-การประเมินค่าทรัพยากรสิ่งแวดล้อม จะประเมินคุณค่าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ส่วนการจัดลำดับความสำคัญจะประเมินผลเสียหายต่อทรัพยากรดังกล่าว หากพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข สี่-ผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งจะพิจารณาถึงจำนวนของประชาชนหรือครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อน ห้า-การร้องเรียนหรือร้องขอให้มีการแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐ ในข้อนี้แสดงให้เห็นถึงความเร่งด่วนของปัญหาในแต่ละพื้นที่ หก-โครงสร้างป้องกันชายฝั่งที่พบอยู่ในปัจจุบัน การจัดลำดับความสำคัญ ของการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพของชายฝั่งในปัจจุบัน และแผนพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวในอนาคต พื้นที่ที่มีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างป้องกันชายฝั่งไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชนหรือรัฐบาลก็ตาม หากโครงสร้างที่สร้างไว้ทำงานได้ผลดีแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาก่อสร้างอีก ฯลฯ และ เจ็ด-มูลค่าความเสียหายขั้นต่ำที่เกิดขึ้น สุดท้ายนี้ หากจะถามว่าแล้วปัญหาการกัดเซาะมีผลอะไรต่อคนเมืองที่เป็นพื้นที่ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากกว่าหรือคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ตอบแบบไม่ต้องคิดได้ว่า ไม่ใช่แค่คนที่อาศัยในประเทศไทยด้วยกัน แต่ทุกคนและทุกสิ่งที่อยู่บนโลกใบเดียวกันนี้ล้วนโยงใยถึงกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งไม่ก็เร็วก็ช้า เหมือนกับที่น้ำแข็งขั้วโลกเหนือละลายคนอยู่เกาะแถวทะเลใต้ก็ได้รับผลกระทบ เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมอาจจะถมที่ดินก่อสร้างโรงงานไว้สูงเพื่อหนีน้ำท่วม ต่อท่อปล่อยน้ำเสียออกไปไกลจากโรงงาน ไหลเรื่อยไปสู่ทะเล แล้ววันหนึ่งกุ้งหอยปูปลาที่เขาสั่งมารับประทาน บนโต๊ะในเหลาชั้นดีก็ซ่อนเอาสารพิษที่เขาเป็นต้นเหตุผสมมาด้วย เป็นสิ่งยืนยันว่าทุกคนในโลกอยู่ในวัฏจักรเดียวกันนี้เอง ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจึงเป็นเพียงแค่ภาพสะท้อนหนึ่งของปัญหาการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นรูปธรรมเห็นได้ชัด คนนอกพื้นที่ที่เห็นอาจจะคิดว่าไกลตัวเพราะยังไม่ได้รับความเดือดร้อน แต่ถ้าบอกว่าสิ่งที่คุณเห็นอยู่นี้คือจุดเริ่มต้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนของพื้นที่กรุงเทพฯ มากกว่า 55% ที่จะต้องเจอกับภาวะน้ำท่วมหากน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอีกแค่ 50 เซนติเมตร หรือจะท่วมถึง 72% ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 100 เซนติเมตร การทรุดตัวของแผ่นดินผสมด้วยการกัดเซาะที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องไม่หยุดนี้ คือสัญญาณเตือนว่ากรุงเทพฯ อาจจะตกอยู่ใต้น้ำ 50-100 เซนติเมตร ภายในปี 2568 (2025) ไม่รวมถึงภัยพิบัติจากอุทกภัยฉับพลันที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นก็ได้ โดยสรุปแล้ว ภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จึงเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้ทุกคนตระหนักร่วมกันว่า ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากสภาวะ อากาศโลกเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจงใช้ปัญหาเล็กๆที่เกิดขึ้นนี้ เริ่มต้นวางแผนรับมืออย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้ จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#34
|
||||
|
||||
“เสียดินแดน” และ “แนวป้องกัน” กรณีศึกษา: “โคกขาม” “บางขุนเทียน” และ “ขุนสมุทรจีน” ........................ โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา ถ้าพูดถึงการสูญเสียแผ่นดินของประเทศไทย คนส่วนใหญ่ก็มักจะมองถึงการบุกรุก ยึดครองหรือข้อพิพาททางชายแดนระหว่างประเทศเท่านั้น แต่จะมีสักกี่คนที่ได้รับรู้ถึงการสูญเสียดินแดนหรือแผ่นดินตามแนวชายฝั่งทะเล ซึ่งนั่นรวมถึงการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆด้วย เหมือนเหตุการณ์การสูญเสียดินแดนในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน หรือที่รู้จักในเชิงสัญลักษณ์ว่า “อ่าว ก.ไก่” ปัญหาของการสูญเสียดินแดนทำให้ชุมชนในพื้นที่นี้ ต้องเรียนรู้วิธีการป้องกันและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และเป็นการต่อสู้กับการเปลี่ยน แปลงสภาพอากาศโลกหรือธรรมชาติผู้กำหนดชะตาชีวิตมนุษย์อย่างน่าสนใจ เริ่มต้นจาก 3 พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน หรือส่วนหัวของตัว ก. ในอ่าว ก.ไก่ ฝั่งหนึ่งอยู่เลียบไปทางชายฝั่งด้านขวาของทะเลกรุงเทพฯ (เมื่อเราหันหน้าไปทางอ่าวไทย) หรือพื้นที่หมู่ที่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทร สาคร และอีกฝั่งเลียบไปทางชายฝั่งซ้าย คือพื้นที่หมู่ที่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัด สมุทรปราการ ตรงกลางคือบางขุนเทียน แนวกันชนของคนกรุงเทพฯ ทั้ง 3 พื้นที่เป็นชุมชนชายฝั่งที่มีวิถีชีวิตแบบประมงน้ำเค็มธรรมชาติและประมงพื้น บ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สะสมและสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงมีวิถีชีวิตที่คล้ายกัน แต่สภาพทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งกลับแตกต่างกัน ส่งผลให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละชุมชนแตกต่างกัน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งที่เหมือนกันก็คือปัญหาแผ่นดินถูกกัดเซาะจากคลื่นน้ำทะเล สิ่งสำคัญที่เหมือนกันของทั้ง 3 พื้นที่ก็คือ ชาวบ้านยังมีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด ทำให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนของชุมชนเพื่อที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและผืนแผ่นดินของตนเอง แต่ละพื้นที่ต่างก็มีวิธีแก้ไขปัญหาของตนเอง แม้ว่าจะมีเป้าหมายที่เหมือนกัน โดยหลักการว่าการแก้ไขนั้นๆ จะต้องช่วยลดการกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นทะเลและช่วยเพิ่มตะกอนดินเลนเพื่อใช้ เป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลนขึ้นมาใหม่แทนที่ป่าชายเลนเดิมที่หายไป โดยหวังว่าป่าชายเลนรุ่นใหม่นี้จะเป็นแนวป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่ยั่งยืนและให้ประโยชน์แก่วิถีชีวิตชุมชนให้กลับมาสมบูรณ์ได้ดังเดิม จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#35
|
||||
|
||||
คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม ............................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย “สมัยก่อนแมงดาจานในพื้นที่มีเยอะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว” คำบอกเล่าของ วรพล ดวงล้อมจันทร์ อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร หรือที่รู้จักกันในนาม ผู้ใหญ่หมู ผู้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่งในพื้นที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และยังเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโครงการศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออก ศูนย์เรียนรู้ฯดังกล่าวเกิดขึ้นจากความคิดของผู้ใหญ่หมูที่เริ่มเห็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ที่เคยมีอยู่อย่างสมบูรณ์ในธรรมชาติให้ชาวบ้านจับได้มาก มายลดน้อยลงไป จึงเกิดความสงสัยว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไร เขาเริ่มต้นศึกษาจาก ตำราต่างๆ สำรวจพื้นที่และจัดทำข้อมูล จนกระทั่งพบว่าสาเหตุที่สัตว์น้ำพวกนี้ลดน้อยลงหรือหายไปจากพื้นที่ เกิดจากฝีมือของมนุษย์ที่แข่งขันกันใช้ทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำหรือป่าชายเลนนั่นเอง “เมื่อปี 2525 รัฐบาลส่งเสริมการส่งออกกุ้งกุลาดำทำให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงกุ้งกันเยอะ ในยุคนั้นมีการทำลายป่าชายเลนกันในทุกพื้นที่ที่สามารถทำบ่อกุ้งได้ ซึ่งรัฐก็สนับสนุน แต่รัฐไม่ได้มองกลับว่าธรรมชาติต้องหายไป รัฐมองเห็นอย่างเดียวคือ GDP และตัวเลขส่งออก” นี่คือหนึ่งในสาเหตุเริ่มต้นของการสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำตามธรรมชาติและแผ่นดินชายฝั่งทะเลของพื้นที่นี้ โดยสรุปก็คือ มนุษย์ใช้ธรรมชาติมากเกินไป ซึ่งผู้ใหญ่หมูบอกว่า แม้ทุกคนจะเริ่ม มองปัญหาออก แต่ก็ยังมีปัญหาว่าจะหาวิธีการอะไรฟื้นฟูธรรมชาติกลับมาและแก้ไขข้อผิดพลาดของมนุษย์ที่ทำลงไปอย่างไร ท่วมกลางหมู่คนที่มองไปทางไหนก็มีแต่นักพูดที่รู้ปัญหา แต่แทบจะหานักปฏิบัติไม่เจอ เขาสรุปว่า คนแรกที่ต้องลงมือทำก็คือคนในพื้นที่ เพราะหนึ่ง-เป็นคนที่มีส่วนทำลาย สอง-เป็นคนที่อยู่กับพื้นที่ สาม-เป็นคนที่เดือดร้อนจากทรัพยากรที่หายไป “บทเรียนของเราคือมนุษย์ใช้และทำลายทรัพยากรได้ ก็ต้องสร้างและฟื้นฟูทรัพยากรได้ด้วย แต่ถ้าไม่ทำอะไรเสียเลย แล้วเราจะเหลืออะไรให้ลูกหลาน” นี่คือแนวคิดที่เป็นที่มาของศูนย์เรียนรู้ฯ ผู้ใหญ่หมูจึงร่วมกับคนในชุมชนทำตามแนวคิดของตนเอง แม้ในช่วงแรกจะมีข้อถกเถียงกันว่า ทำกันแค่ 2-3 คนจะไหวหรือ แต่ด้วยแนวคิดที่ว่า อย่างน้อยการก่อตั้งศูนย์ฯ ก็จะทำให้พวกเขารู้ว่าสาเหตุของปัญหาในพื้นที่ที่พบเกิดจากอะไร เวลาจะต้องพูดคุยหรือถูกใครถามจะได้มีคำตอบมาอธิบายได้ถูกต้อง แต่โดยส่วนตัวแล้วแรงบันดาลใจที่ทำให้ผู้ใหญ่หมูหันมาเป็นแนวหน้าในการปฏิบัติอย่างจริงจัง เกิดจากการท้าทายของบุคคลรอบข้าง ที่บางคนหาว่าเขาบ้า ที่วันๆ เอาแต่นั่งมองทะเล “ช่วงก่อนนั้นเวลาน้ำขึ้นผมจะรีบเข้ามาดู พร้อมด้วยสมุดพกเล่มหนึ่ง จดการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งไปเรื่อยๆ มีน้องคนหนึ่งเห็นผมมานั่งบ่อยๆ ก็ทำแคร่ไม้ไผ่มาให้นั่ง เขาพูดเล่นๆว่าเราก็ได้แต่คิดเท่านั้น คิดจนแคร่พังก็ทำอะไรไม่ได้ มานั่งดูธรรมชาติแล้วจะทำอย่างไรให้ธรรมชาติกลับคืน นั่นคือความท้าทาย จากตรงนี้ทำให้เรามีมานะว่าเราต้องทำได้ ส่วนปรัชญาการทำงานนั้นก็คือถ้าคิดแล้วต้องเริ่มต้นทำ อย่าคิดแล้วพูด เพราะเอาแต่พูด แล้วมันจะไม่ได้ลงมือปฏิบัติ” จากการเฝ้าสังเกต จนเกิดเป็นศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมหาชัยฝั่งตะวันออกขึ้นในปี 2546 “ศูนย์ฯนี้สร้างขึ้นโดยฝีมือของพวกเรา ไม่ได้ใช้งบประมาณของราชการเลย ที่ดิน 5 ไร่ของศูนย์ก็ได้มาจากการบริจาคของพ่อ เป็นการบริจาคให้ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) อาคารสมัยก่อนก็ไปขอบริจาคบ้านไม้ของชาวบ้านที่เขาขายที่ไปแล้ว แล้วก็มีคนโน้นคนนี้บริจาคเงินให้บ้าง รวมเป็นก้อนแล้วค่อยๆขยาย เพราะฉะนั้นที่นี่เราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค” ผู้ใหญ่หมูเล่าประวัติความเป็นมาของศูนย์ฯที่ก่อตั้งมากับมือ ทุกวันนี้หน้าที่ของศูนย์ฯ มีเป้าหมายให้คนที่มาเรียนรู้ได้คิดว่า ถ้าไม่ฟื้นป่าชายเลน แล้วจะมีที่ให้สัตว์น้ำที่ไหนหลบภัยเป็นแหล่งอาหาร พร้อมกับเป็นสถานที่ถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้ของคนในชุมชนให้กับกลุ่มคนที่เข้ามาร่วมทำกิจกรรมในพื้นที่ เมื่อเป็นศูนย์ฯที่ชาวบ้านทำเอง จึงไม่ได้อิงหลักการใดๆของกฎหมาย หน่วยงานรัฐที่เข้ามาช่วยเหลือบ้างในช่วงเริ่มต้น มีเพียงกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่บริเวณนั้นอยู่เท่านั้น สิ่งที่ชุมชนมีอยู่จริงเป็นแค่กฎเกณฑ์ ซึ่งก็มีทั้งกลุ่มชาวบ้านที่เชื่อและไม่เชื่อ ดังนั้น เพื่อจะให้กฎเกณฑ์ที่ตั้งมาได้ผลในเชิงปฏิบัติ กลุ่มผู้นำการอนุรักษ์ ณ บ้านโคกขาม จึงต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐมากขึ้นในระยะต่อมา “ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 สมุทรสาคร หรือหน่วยเฉพาะกิจนี้ มาทำงานร่วมกับเราตามแผนงานที่เราคุยกัน ชาวบ้านก็ร่วมมือด้วย มีการอบรมอาสาสมัคร เป็นการร่วมมือระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อย่างแท้จริง ชาวบ้านที่เข้ามาทำงาน เขาก็ภูมิใจว่าตัวเขาไม่ได้ทำลายอย่างเดียวแล้ว แต่เขายังมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูทรัพยากร โดยเฉพาะเมื่อเราทำเรื่องปักไม้ไผ่ ไม้ไผ่ที่ปักลงไปเวลาน้ำขึ้นมันจะมีตะไคร่น้ำขึ้นมาเกาะ แล้วปลากระบอกก็ขึ้นมากินตะไคร่เยอะมาก แล้วพอน้ำเริ่มจะลง ปลากระบอกก็จะออกไป ทำให้มีปลาโลมาเข้ามาตามแนวไม้ไผ่เพื่อกินปลากระบอก ตอนนี้จังหวัดก็เข้ามาสนับสนุน โดยให้เครดิตว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ผมว่ามันดูง่าย แต่ได้ผล” “การปักไม้ไผ่” ที่ผู้ใหญ่หมูพูดถึง เป็นวิธีการป้องกันและรักษาพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะของคลื่นทะเลและเป็นการอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนที่ต้นไม้ถูกตัดไปจำนวนมากไม่ให้ถอยร่นหายไปมากขึ้นและเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งที่ชุมชนถือว่าเป็นปัญหาอันดับหนึ่ง ที่เดือดร้อนมากกว่า การที่ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลหายไปที่ชุมชนมองว่าเป็นปัญหาหลักในช่วงแรก การปักไม้ไผ่ถือเป็นผลงานที่เกิดจากการวิจัยเชิงปฏิบัติการผสมผสานภูมิปัญญา ชาวบ้านขนานแท้ เพราะก่อนจะเป็นแนวไม้ไผ่กั้นการกัดเซาะที่รู้จักกันไปถึงนักวิจัยทั้งในไทยและประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ หรือทีมงานจากเยอรมนี แนวไม้ไผ่นี้เกิดจากความคิดง่ายๆของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งเริ่ม จากการนำไม้เก่าๆมาปักไว้ตามแนวชายฝั่ง เพื่อค้นหาวิธีการและรูปแบบที่จะช่วยชะลอคลื่นและกันดินตะกอนไม่ให้หลุดไหลลงทะเล ก่อนจะมาเป็นแนวไม้ไผ่ที่พัฒนาเป็นระบบเหมือนในปัจจุบัน การใช้ไม้ไผ่แก้ปัญหาการกัดเซาะ มีจุดเริ่มที่ผู้ใหญ่หมูมองว่าตัวแปรสำคัญของการกัดเซาะคือน้ำ ซึ่งเมื่ออยู่นิ่งๆ มันไม่เกิดพลังงาน แต่เมื่อไรที่ขยับก็จะเกิดพลังงาน และเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่สิ้นสุดด้วย แต่พลังงานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งนั้นจะเกิดผลต่อสิ่งที่น้ำไปกระทบ จะให้ประโยชน์หรือสร้างความเสียหายก็ได้ “ในทะเลก็ต้องจบที่ชายฝั่ง คลื่นมาไกลมันก็แรง ถ้าเราตั้งรับหรือชะลอได้ก่อน ก็จะทำให้พลังงานของน้ำเบาลงก่อนจะไปจบที่ชายฝั่ง” ผู้ใหญ่หมูเล่าข้อมูลจากการสังเกต ซึ่งเป็นเหตุผลที่ไม่ได้ต่างจากหลักวิชาการซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่คุ้นเคย จากนั้นเขาก็เริ่มคิดง่ายๆว่า เมื่อแรงปะทะหนักถ้าหากแนวกั้นที่เป็นแนวระนาบก็จะเกิดการกระทบรุนแรง แต่ถ้าเป็นรูปทรงกลมก็น่าจะทำให้น้ำไหลลื่นไปได้ รูปทรงกระบอกของไม้ไผ่จึงถูกเลือกมาเป็นตัวตั้งรับ ลดพลังงานน้ำที่วิ่งเข้ามา ลำเดียวไม่พอก็ต้องตั้งลำเป็นแผงทิ้งระยะอย่างเหมาะสม “คิดง่ายๆ จากแรง 100 มันก็จะเหลือข้างละ 50 จาก 50 มันก็จะเหลือข้างละ 25 ระหว่าง 25 เมื่อมันแตกออกมันก็วิ่งมาปะทะกันเองอยู่ในกลุ่มไม้ไผ่ แรงก็สลายลง นี่คือแนวคิด เดิมเลยเราใช้ท่อ PVC ทดลอง แต่ท่อ PVC ทำงานยาก แพงและโดนขโมย ผมมีโอกาสไปที่จังหวัดปราจีนบุรี ไปเจอเขาตัดไผ่ทิ้ง เขาบอกว่าถ้าไม่ตัด หน่อไม้จะไม่โต ทีนี้ก็เลยสนใจว่ามันเป็นวัสดุเหลือใช้ก็เลยคิดว่า ถ้าทำโครงการแล้วไปซื้อไม้ไผ่เขา ชาวบ้าน ทางโน้นก็ได้สตางค์ เมื่อเอามาปักก็ต้องจ้างแรงงานในท้องถิ่น ชาวบ้านที่นี่ก็ได้สตางค์ มันเป็นโครงการที่น่าสนใจก็เลยเริ่มทดลอง เอามาปักหลายๆ รูปแบบ จนท้ายที่สุดเราได้ รูปแบบที่หยุดคลื่นได้ อย่างปีที่แล้วเราไปช่วยทำโครงการที่หมู่ 6 บางหญ้าแพรก เดือนพฤษภาคม พอถึงเดือนสิงหาคมสามารถปลูกป่าได้เลย เพราะตะกอนมันสะสมตัวเร็วมาก ขออย่างเดียวหลังไม้ไผ่อย่าให้กระแสน้ำมันกระเพื่อมเอาตะกอนเลนออกไปได้” ลักษณะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่ผู้มาเยือนจะได้พบเห็นคือแนวเสาไม้ไผ่ขนาดเส้น ผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ความยาว 6 เมตร ปักตรงลงพื้นทะเล จัดวางให้เป็นรูปทรงสามเหลี่ยม หันด้านแหลมของสามเหลี่ยมเข้าหาหน้าคลื่น ปักเป็นแนวสลับกัน 4 แถว เพียงเท่านี้ก็จะได้หลักการทำงานของกลุ่มไม้ไผ่ที่ทำให้คลื่นที่พัดเข้ามาลดความแรงเมื่อปะทะกับแนวไม้ไผ่ ส่วนน้ำที่ทะลักผ่านไปได้ก็จะลดความแรงลงเมื่อผ่านไปยังไม้ไผ่แถวต่อๆไป จนไม่มีแรงเหลือพอจะไปกระแทกหรือกัดเซาะแนวชายฝั่งให้หน้าดินพังทลาย ขณะที่คลื่นม้วนตัวกลับสู่ทะเลโดยธรรมชาติก็จะหอบเอาทรายหรือดินเลนม้วน กลับลงทะเลไปด้วย แต่แนวไม้ไผ่ก็จะดักตะกอนไว้เหมือนกับที่ลดแรงของคลื่นตอนขาพัดเข้าฝั่ง เมื่อดินตะกอนถูกสะสมมากเข้าหลังแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านก็จะลงไม้แสม ลำพู โกงกาง ไม้ท้องถิ่นในป่าชายเลน เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่า เนื้อดิน และห้องอนุบาลสัตว์น้ำธรรมชาติ การเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาและการที่ชาวบ้านเริ่มเข้าใจว่าธรรมชาติจะกลับมาดีได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้างแบบนี้ ถือเป็นการทำงานประสานกันอย่างเข้าใจระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ จากจุดเล็กๆที่คนในท้องถิ่นสัมผัสได้ และถ้าหากสังเกตแนวไม้ไผ่ของพวกเขา ก็จะยิ่งเห็นว่านอกจากพวกเขาจะเข้าใจธรรมชาติแล้ว เขายังเข้าใจวิถีชีวิตท้องถิ่น ดีไซน์แนวไม้ไผ่จึงดูสวยงามด้วยการแบ่งเป็นช่องเพื่อให้เรือหาปลาสัญจรเข้าออกได้ด้วย (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#36
|
||||
|
||||
คนเฝ้าแผ่นดินที่โคกขาม .... (ต่อ) ไม้ไผ่ชะลอคลื่นของบ้านโคกขามเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550 และทำแนวขยายไปแล้ว กว่า 3 กิโลเมตร ทุกวันนี้ชุมชนมีกิจกรรมเพิ่มในเรื่องของการปลูกป่าชายเลน และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ตัวเลขที่วัดผลได้อาจจะไม่มาก แต่เป็นตัวเลขที่เป็นกำลังใจและ เป็นความหวังในอนาคตของคนท้องถิ่น ที่จะได้เห็นการสะสมของตะกอนดินหลังแนวไม้ไผ่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 1.50 เมตร ขณะเดียวกันก็ยังมีปลาโลมาอิรวดี แม้แต่ปลาวาฬบลูด้า แวะกลับมาเยี่ยมเยียนให้เห็นในช่วงฤดูหนาวหรือตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีอีกด้วย พื้นที่คุ้มครอง 5 กิโลเมตรจากชายฝั่งบริเวณโคกขาม คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 10.45 ตารางกิโลเมตร อาจจะยังตัดสินได้ไม่ชัดเจนว่าสิ่งที่ชาวบ้านทำจะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวให้กับพื้นที่ได้ไหม แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่หมูมั่นใจคือ การเริ่มต้นแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงนี้เป็นการสร้างจิตสำนึกในระยะยาวให้กับคนในชุมชนได้ เพียงแต่เริ่มต้น กลุ่มผู้ดำเนินงานต้องใช้ความอดทนสูงต่อเสียงที่ไม่เข้าใจของชาวบ้านบางกลุ่ม “แรกๆชาวบ้านก็ด่า ทำไมเคยใช้อวนรุนได้แต่ห้ามเข้ามาลาก พวกเราก็ได้แต่บอกว่าไม่เป็นไรอดทนไว้ สักวันเขาจะเข้าใจ พอทรัพยากรเริ่มฟื้นฟู เขาก็ได้เห็นด้วยตัวเอง ลูกหอยแครงเกิดเต็มพื้นที่ เมื่อปี 2552 ชาวบ้านเก็บหอยได้ทั้งปี” เทียบกับช่วงก่อนที่ทำโครงการแนวไม้ไผ่ ชาวบ้านหาหอยแครงขายได้ไม่เกินวันละ 200 บาท แต่ตอนนี้แค่ 2-3 ชั่วโมงก็ได้ถึง 700-800 บาท ช่วงที่หาดโคลนสมบูรณ์มากๆ บางครอบครัวสามารถทำรายได้จากการหาหอยแครงถึง 3,500-4,000 บาทเลยทีเดียว แค่ 2 ปี ธรรมชาติก็ฟื้นตัวเองได้แล้ว ผู้ใหญ่หมูได้แต่หวังว่า บทเรียนนี้จะทำให้ชาวประมงเข้าใจกลไกที่ตัวเองกระทำกับธรรมชาติ เช่น รู้ว่าใบพัดที่ขับเคลื่อนเรือเมื่อไปปั่นหน้าเลนจะทำให้แก๊สกระจายไปทั่ว สัตว์น้ำก็อยู่ไม่ได้ และเครื่องมือประมงบางชนิดก็ทำลายสัตว์น้ำมากเกิน เมื่อทุกคนเข้าใจก็เริ่มรู้จักรักษาสิ่งที่ได้กลับมา อีกทั้งยังทำให้พวกเขาประกอบอาชีพได้มากกว่าเดิม เพราะเมื่อมีแนวกั้นคลื่นชายฝั่งมีดินเลนสะสม แผ่นดินที่ยังเหลือก็ไม่เสี่ยงต่อการสูญหาย ชาวบ้านก็เริ่มทำกระชังปูในลำคลอง เพื่อใช้กระชังเป็นที่พักปูไข่นอกกระดอง “ปูไข่นอกกระดองมันวางใจอุ้มลูกมาฝากเลี้ยงไว้ตรงนี้ ถ้าคนไปจับ มันจะขยายพันธุ์อย่างไร ดังนั้นถ้าทุกคนเคารพกฎเกณฑ์ธรรมชาติก็จะดีและสัตว์น้ำก็จะมีมากขึ้น” ตัวอย่างจากปูชายฝั่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อชาวบ้านเริ่มเข้าใจ ก็จะมีผลต่อธรรมชาติเพิ่มขึ้นเพราะพวกเขาสามารถขยายขอบเขตความเข้าใจจากพื้นที่ชายฝั่งออกไปจากการตามติดชีวิตปูทะเลอีกด้วย เมื่อปูเดินทางออกทะเล จากเดิมพวกมันต้องฝ่าด่านโพงพางที่มีอยู่เต็มไปหมดในคลอง ถ้าโชคดีหลุดไปได้ก็ยังต้องเจอกับอวนลอย อวนรุน เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับความยากลำบากที่มนุษย์ต้องเจอ ซึ่งทำให้พวกเขาเริ่มเข้าใจวิถีชีวิตสัตว์น้ำชายฝั่งเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อมนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ มีสมองคิดได้ จึงควรจะเป็นผู้ “หยุด” เสียก่อน “เราต้องหยุดก่อน แค่เราหยุดมาไม่กี่ปี ผลลัพธ์ที่โคกขามได้ทุกวันนี้ เรามีดินพอ ที่จะปลูกป่าชายเลนหลังจากมันเคยหายจากฝั่งไปเป็นกิโล เราลดแรงคลื่น ลดการกัดเซาะ เราจับได้ถึง 3 หอย หน้าแล้งเก็บหอยแครง หน้าหนาวเก็บหอยแมลงภู่ และเก็บหอยดินในหน้าฝน แค่นี้ชาวบ้านก็มีรายได้ ถือว่าคุ้ม แม้ว่าเขาจะต้องใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ถึง 3-4 ปี” คนโคกขามดูเหมือนจะไม่หวงทรัพยากรที่พวกเขาทำให้กลับคืนมายังท้องถิ่นได้ เพราะหากคนถิ่นอื่นจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ก็ทำได้ เพียงแต่พวกเขาต้องเคารพกติกาเดียวกัน นั่นคือต้องจับด้วยมือ หากจะย้อนไปก่อนหน้าที่บ้านโคกขามจะจัดการชายฝั่งและทรัพยากรได้เข้ารูปเข้ารอย ทั้งป่าชายเลนและแผ่นดินก็หายไปมากแล้ว พวกเขาไม่รู้ว่าสาเหตุที่แท้คืออะไร แต่เท่าที่เห็นด้วยตาในพื้นที่และคิดง่ายๆ ก็คือน้ำทะเลเซาะเอาแผ่นดินไป โดยที่ลืมคิดไปว่าแล้วตะกอนที่มาตกเป็นดินเลนสะสมนั้นเดิมมันมาจากไหน “ช่วงแรกเขาบอกว่าตะกอนถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนต่างๆที่อยู่ตอนต้นน้ำ ทำให้ไม่มีตะกอนดินมาสะสมที่ชายฝั่งเหมือนในอดีต ชายฝั่งก็เลยไม่มีตะกอนมาเสริมเพิ่มเติม อันนี้เป็นข้อมูลของนักวิชาการซึ่งเราไม่รู้” เรียกว่าคนในพื้นที่รับรู้สาเหตุที่เกิดปัญหาแต่เพียงด้านเดียว นั่นคือคลื่นลมกัดเซาะ ยิ่งพอช่วงที่การเลี้ยงกุ้งกุลาดำฮิต มีการทำประตูปิดกั้นน้ำที่บ่อกุ้ง การตัดไม้ป่าชายเลนเพื่อทำบ่อกุ้งก็ยิ่งถูกรุกหนัก มีการดึงน้ำทะเลเข้ามาในบ่อกุ้ง ช่วงเปิดน้ำเข้าก็เอาตะกอนจากชายฝั่งเข้ามาด้วย แต่พอบ่อกุ้ง ตื้นเขิน เจ้าของบ่อก็หาประโยชน์แม้แต่กับ ตะกอนก้นบ่อ โดยขุดดินขายเพื่อให้บ่อกุ้งลึกขึ้น จึงเหมือนกับขุดตะกอนจากชายฝั่งไปถมที่อื่น แถมทุกวันนี้ถนนแถวชายฝั่งทะเลก็ยังคงมีรถบรรทุกดินให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตะกอนเก่าก็เดินผิดที่ผิดทางไปแล้ว แผ่นดินก็ร่นเข้ามา ตะกอนที่พอมีก็ยังถูกขน ออกไปนอกพื้นที่อีก ทั้งหมดล้วนเป็นการทำงานบนความโลภของมนุษย์ที่ไม่มีใครห้ามไหว เพราะที่ดินมีผู้ครอบครองเป็นผู้ครอบครองที่มีอำนาจจะจัดการอย่างไรกับพื้นที่ตัวเองก็ได้ “เราทำงานกับความโลภของมนุษย์ ขณะที่คนหากินชายฝั่งหรือชุมชนชายฝั่งรับฟังพวกเรา แต่กลุ่มคนทำอาชีพเพาะเลี้ยงชายฝั่งกลับแค่เข้ามาใช้ประโยชน์และ มักจะเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยฟัง เพราะไม่เดือดร้อนจากฐานทรัพยากรที่เสียหาย เราก็ต้องอาศัยคนในพื้นที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปกป้อง” วิธีง่ายๆ ถ้าผู้ใหญ่หมูและชุมชนจะทำให้คนนอกพื้นที่ชายฝั่งรู้สึกตระหนักกับปัญหาการเสียแผ่นดินก็ทำได้ เพียงแค่พวกเขาไม่เข้าไปป้องกันแล้วปล่อยให้วันหนึ่งการกัดเซาะลามจากชายฝั่งร่นเข้าไปถึงถนน เขาเชื่อว่าระยะแค่หนึ่งกิโลเมตรก็ใช้เวลาแค่แป๊บเดียว แต่พวกเขาก็เลือกที่จะปกป้องและเสริมสร้างพื้นดินเพื่อคนส่วนรวมและเพื่ออนาคตชุมชน แม้ว่าจะมีคนบางกลุ่มเมินเฉยต่อปัญหาเหล่านี้อยู่ก็ตาม “ก่อนไม้ไผ่จะพังเราได้ดินตะกอนพอปลูกป่าได้ เมื่อไรได้ตะกอนเลนต้องรีบปลูกป่า มีเสียงสะท้อนว่าไม้ไผ่มันไม่ถาวร มันผุ ผมก็บอกว่าผมไม่ต้องการความถาวร ในป่า ไม่ต้องการอะไรที่ถาวร ผมต้องการให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ แต่สิ่งที่ผมต้องการมากๆ คือ เมื่อไรคนชายฝั่งจะมีจิตสำนึกในการรักษาป่า มันเป็นกุศโลบายว่าถ้าคุณไม่ทำ คุณไม่ต่อสู้ คุณก็อยู่กับไม้ไผ่ต่อไป” กว่าชาวบ้านจะคิดได้ว่าจะจัดการกับธรรมชาติที่มาเอาแผ่นดินไปอย่างไร อุปสรรคที่พบอีกประการคือต้องทำให้นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมหรือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหายอมรับวิธีการนี้ด้วย เพราะถึงพวกเขาจะอยู่กับชายฝั่ง แต่ชายฝั่งก็เป็นสิทธิ์ของคนไทยทุกคนเช่นกัน ช่วงก่อนที่โครงการแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นจะเริ่มขึ้น ผู้ใหญ่หมูต้องเดินสายเสวนากับนักวิชาการ เหตุการณ์หนึ่งในปี 2549 คือตัวอย่างที่ชาวบ้านอย่างเขาต้องเจออยู่เสมอ ครั้งนั้นเขาขอเวลาเพียงแค่ครึ่งชั่วโมงเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกับกลุ่มนัก วิชาการ แต่เขาได้สิทธิ์แค่ 3 นาที และไม่มีใครยอมรับหรือตั้งคำถามกับเขา “เขาถามแต่พวกอาจารย์” เหตุการณ์ที่ผู้ใหญ่หมูจำได้แม่น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาท้อ แต่กลับมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าทำให้สิ่งที่ไม่มีทฤษฎีหรือตำราไหนเขียนระบุไว้ก่อนหน้านั้นว่า ลำไม้ไผ่สามารถทำให้พลังงานเปลี่ยนทางได้ มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเป็นที่ยอมรับ ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต ผู้ใหญ่หมูเก็บเทคนิคที่นักวิชาการใช้ในการนำเสนอผลงาน กลับมาประยุกต์ใช้กับการทำงานของตัวเอง เขาเก็บข้อมูล ทำแผนผัง ทำเอกสาร นำเสนอ มีภาพเปรียบเทียบให้ดูก่อนและหลังปักไม้ไผ่ว่าผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชุมชนเริ่มปลูกป่าได้อย่างไร ข้อมูลที่นำเสนอแบบนักวิชาการโดยฝีมือชาวบ้านธรรมดาสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงสนทนาทันที “พวกเขาก็ถึงบางอ้อกัน เริ่มมีนักวิชาการเข้ามา ถึงผมจะทำเป็นเอกสารแต่ก็ขาด ข้อมูลด้านวิชาการ เลยขอให้กรมทรัพยากรฯ เชิญนักวิชาการจากจุฬาฯ มาเก็บข้อมูลหลังไม้ไผ่ ได้อาจารย์สมภพ รุ่งสุภา ซึ่งหลังจากเก็บข้อมูลท่านบอกว่าตะกอนสะสมเพิ่มขึ้นเร็วมาก พอเรารู้ก็คิดว่าจะทำอย่างไรต่อ” แนวไม้ไผ่ถูกนำมาออกแบบใหม่ เพื่อให้ได้รูปแบบของการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แล้วหลังจากนั้นทุกครั้งที่ผู้ใหญ่หมูนำเสนอผลงานเขาจะนำผลงานของนักวิชาการหรืออาจารย์สมภพร่วมนำเสนอด้วย “เพื่อให้เห็นว่าเราก็มีวิชาการเหมือนกัน ที่เราทำงานไม่เก็บข้อมูลของเราก็เพราะเดี๋ยวมันจะเหมือนยอตัวเอง เลยต้องให้เป็นงานของคนกลางเข้ามาเก็บ ซึ่งหลังจากนั้นก็เป็นที่ยอมรับ” แนวไม้ไผ่กันคลื่นกลายเป็นองค์ความรู้หนึ่งของบ้านโคกขามที่สร้างเป็นบทเรียนให้ กับเครือข่ายชุมชนอ่าวไทยตอนบนหรืออ่าว ก.ไก่ และหลายพื้นที่นำไปเป็นแบบอย่างปรับ ใช้ในพื้นที่ของตัวเองต่อๆไป มีทั้งในกรุงเทพฯ สมุทรปราการ เพชรบุรี ฯลฯ ซึ่งรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เครือข่ายเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ราว 2-3 ปี พอๆ กับการเกิดขึ้นของการทำแนวไม้ไผ่ การเกิดเครือข่ายทำให้ทุกคนได้หันกลับไปถอดบทเรียนจากพื้นที่หน้าบ้านตัวเอง การถอดบทเรียนทำให้ชุมชนเกิดคำถามและการค้นหาคำตอบว่าปัญหาของพวกเขาคืออะไร “การค้นหาปัญหาและคำตอบทำให้ชุมชนรู้ลึกไปเรื่อยๆ ป่าหายไม่ใช่แค่คนตัดไม้ แต่ลึกกว่านั้นเขาต้องเข้าใจถึงทรัพยากรของเขาว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จะฟื้นฟูอย่างไร” สิ่งที่ต้องทำต่อเนื่องต่อจากโครงการแนวไม้ไผ่ที่ชุมชนต้องการ คือการสร้างแนว ป่าเพื่อป้องกันแผ่นดินเป็นแนวคิดของการย้อนสู่อดีต ที่คนในชุมชนเพิ่งเริ่มตระหนักได้ว่า สิ่งที่จะเป็นตัวดูดซับคลื่นได้ดีจริง คือแนวป่าชายเลนซึ่งเคยมีอยู่หนาทึบในพื้นที่ในอดีต ดังนั้นเมื่อได้ดิน พวกเขาจึงรีบปลูกป่าซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการการสนับสนุนจากหลายฝ่าย โดยเชื่อว่าป่าเท่านั้นที่จะรักษาพื้นดินได้ถาวรและยาวนานกว่าเสาไม้ไผ่หรือ เสาปูนซึ่งอยู่ได้เต็มที่ก็ไม่เกิน 5-20 ปี และมีเพียงเงื่อนไขเดียวที่จะให้มีป่าอยู่ได้ถาวรคือคน ซึ่งจะต้องเป็นผู้นำป่ากลับมาและรักษาไว้ “ในระยะยาว เราคาดหวังว่าจะขยับพื้นที่ป่าออกไปเพื่อสร้างสมดุลในพื้นที่มาก ขึ้น แนวไม้ไผ่ที่เราทำกันน่าจะช่วยเพิ่มตะกอนขึ้นมาในระนาบของฝั่ง ไม่เกิน 10 องศาก็น่าจะป้องกันแผ่นดินได้แล้ว แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแผ่นดินที่ได้กลับมานี้ไม่ตายตัว เพราะชายฝั่งมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามธรรมชาติด้วย ไม่ใช่เปลี่ยน เพราะฝีมือมนุษย์เพียงอย่างเดียว” อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาทำอยู่ในพื้นที่ทุกวันนี้ เมื่อมองจากภาพใหญ่ระดับประเทศ ก็เป็นเพียงผลงานชิ้นจ้อย ที่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและยังไม่ใช่แนวทางแก้ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะเป็นผลงานที่ให้ผลหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาหวังว่า ดินตะกอนที่สะสมจะช่วยให้เขาสร้างผืนป่าชายเลนกลับมาอีกครั้งพร้อมๆกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรในทะเล แม้ทรัพยากรเหล่านี้จะไม่คงทนถาวรโดยธรรมชาติ แต่ถ้ามันจะเป็นสิ่งที่สร้างความถาวรด้านจิตสำนึกรักษาป่าและเข้าใจธรรมชาติ ผู้ใหญ่หมูก็จะถือว่าเป็นผลสำเร็จที่พวกเขาทำให้มนุษย์ได้กลับมาเรียนรู้ที่จะอยู่อย่างสันติกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้แล้ว จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#37
|
||||
|
||||
บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน ................ โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย คนกรุงเทพฯโชคดีที่มีทะเลบางขุนเทียน เป็นทั้งพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อน แหล่งเรียนรู้ และเป็นแผ่นดินหน้าด่านที่ปกป้องกรุงเทพฯ ชั้นในไว้จากการรุกดินแดนโดยเงื้อมมือธรรมชาติ อีกด้านหนึ่งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งจับสัตว์น้ำทางทะเลที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้สูงไม่แพ้พื้นที่ชายฝั่งที่เป็นหาดทรายสวยชื่อดังในจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งเป็นแหล่งจับกุ้ง หอย ปลา ปู จากธรรมชาติเกรดเอที่คนทั่วไปมักจะนึกว่ามีแหล่งมาจากชายฝั่งนอกกรุงเทพฯ ไม่ว่าชายทะเลบางขุนเทียนจะมีความหลากหลายทางธรรมชาติที่มีคุณค่าซ่อนอยู่มากเพียงใด แต่ชื่อเสียงที่คนส่วนใหญ่รู้จักก็แค่เพียงทะเลกรุงเทพฯที่มีแต่หาดเลน เป็นแหล่งร้านอาหารทะเล และจุดชมวิวสำหรับพาครอบครัวมาทานอาหาร ในวันหยุดสุดสัปดาห์ และบางขุนเทียน ไม่ได้มีความสำคัญใดๆกับชีวิตคนกรุงเทพฯ ชั้นในไปมากกว่านี้ ลึกๆแล้ว คนในพื้นที่นี้เป็นอย่างไร พวกเขาต้องเผชิญปัญหาอะไร อยู่อย่างไร ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจเท่าไรนัก คงศักดิ์ ฤกษ์งาม ผู้นำเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียน หรือชื่อที่ชาวบ้านแถวชายทะเลบางขุนเทียนเรียกขานว่า “หมอโต” มีอาชีพหลักรับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประจำอยู่ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข ชุมชนคลองพิทยาลงกรณ์ ซึ่งตั้งอยู่ติดถนนเส้นสุดท้ายด้านใต้สุดของกรุงเทพฯ ถนนที่เปรียบเหมือนแนวเขื่อนถาวรกั้นพื้นที่กรุงเทพฯ ออกจากชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เขารับนัดกับผู้จัดการ 360 ํ เมื่อเราต้องการเข้ามาศึกษาว่าปัญหาการกัดเซาะของชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนสาหัสแค่ไหน ถึงจะรับราชการ แต่ภารกิจของคงศักดิ์ไม่ได้จบแค่ศูนย์บริการสาธารณสุข และเลือกที่จะแบกภาระของพื้นที่ 3,000 ไร่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะหายไปไว้บนบ่า ร่วมกับชาวชุมชนชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งเป็นบ้านเกิดและที่ที่เขาเติบโตมา “ผมอยู่ตรงนี้ เกิดที่นี่ ไม่เคยย้ายไปที่อื่น จนกระทั่งผันตัวเองลงพัฒนาท้องที่ เพราะ ตลอดเวลาที่ผมทำงานก็จะอยู่กับชาวบ้าน ซึ่งแต่ละคนก็จะเข้ามาระบายมานั่งคุยให้ฟังอยู่เสมอเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในพื้นที่ ก็เริ่มจากแนะนำพูดคุยกับชาวบ้าน เมื่อเขาเชื่อเรา ก็เลยทำงานด้วยกัน” สิ่งที่คงศักดิ์แนะนำให้ชาวบ้านตระหนักก็คือ ไม่ว่าชาวบ้านจะเดือดร้อนเรื่องอะไร อย่างไร เสียงของชาวบ้านก็เป็นแค่เสียงที่ตะโกนเท่าไรก็ไม่มีใครได้ยิน เพราะปัญหาของชาวบ้านไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของคนนอกพื้นที่ เขาแนะนำให้ชาวบ้านรวมตัวเป็นเครือข่ายเริ่มจากในชุมชนก่อนขยับไปชุมชนใกล้เคียง เพื่อให้เกิดพลัง จากนั้นต้องเข้าหาสื่อ ใช้สื่อเป็นตัวกระตุ้นความสนใจด้วยการกระจายข่าวปัญหาผ่านสื่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “ประสบการณ์จากการเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค ทำให้ผมรู้ว่าเวลามีปัญหาอะไร คุณพูดไปเถอะไม่มีใครฟังหรอก แต่ถ้าออกสื่อเมื่อไรดังเป็นพลุแตกเลย” เพราะเชื่อในพลังของสื่อ ปัจจุบันคงศักดิ์ยังทำหน้าที่เป็นนักข่าวพลเมืองของทีวีไทยของเขตกรุงเทพฯอีกตำแหน่ง ปัจจุบันทั้งกรุงเทพฯ มีเขาเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่เพียงคนเดียว โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2551 และกะจะทำต่อเนื่องไปเพื่อแก้เหงาหลังจากเกษียณอายุราชการด้วยเลย การก่อตั้งเครือข่ายของคงศักดิ์ เริ่มต้นจากชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนภายใต้ชื่อเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนในช่วงหลังเมื่อมีสมาชิกจากชุมชนที่อยู่ติดกันเข้ามาเป็นภาคีเพิ่มรวมเป็น 6 ชุมชน ปัญหาอย่างแรกที่คนพื้นที่นี้มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดคือ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งกลืนกินแผ่นดินหายไปหลายพันไร่ แล้วกว่าพวกเขาจะหาทางหยุดปัญหาได้ก็ต้องลองผิดมาหลายครั้ง กว่าจะลองได้ถูกและมีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือก็เพิ่งจะราว 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง “เราอยู่ เราหากินกับชายฝั่ง ทั้งคนบางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรปราการ เมื่อแผ่นดินถูกทะเลตีร่นเข้ามา พื้นที่ประมงน้ำเค็มและทรัพยากรน้อยลง มันเป็นปัญหาใหญ่ สำหรับเราที่ต้องแก้ไขเพื่อความอยู่รอด มีคนบอกว่าปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่นี่เรื่องเล็กเพราะไม่ใช่พื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่เหมือนชายฝั่งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ของเรามันแค่หลังฉาก แต่ผมแย้งนักวิชาการว่า กล้าพนันกับผมไหมว่าพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียนมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า เมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นในอ่าวไทยตั้งแต่ภาคกลางไปถึงสงขลาเลย” คงศักดิ์ยืนยันว่า จริงๆแล้วกรุงเทพฯและชายฝั่งทะเลบริเวณส่วนหัวของอ่าว ก.ไก่ เป็นแหล่งทำประมงน้ำเค็มที่สำคัญของประเทศ เฉพาะกรุงเทพฯ มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจากประมงน้ำเค็มคิดแล้วสูงถึง 84% ของประมงน้ำเค็มทั้งหมด ถ้าจะเทียบรายได้กันวันต่อวันกับแหล่งท่องเที่ยวว่าเศรษฐกิจใครดีกว่ากัน เขาจึงรับประกันว่าพื้นที่แห่งนี้ทำรายได้ไม่แพ้ใคร “เรามีรายได้จากการขายสินค้าประมงทุกวัน เป็นรายได้จาก การทำงานแค่ช่วง 3-4 ชั่วโมงต่อวัน แต่แหล่งท่องเที่ยววันหนึ่งมีนักท่องเที่ยวลงเท่าไร วันต่อวันเขาสู้เราไม่ได้หรอก ผมเคยนำข้อมูล นี้ไปแย้งในที่ประชุมเพื่อให้นักวิชาการเห็นความสำคัญของพื้นที่ ก็เป็นที่ฮือฮาในที่ประชุมเลย” คงศักดิ์นัดทีมงานผู้จัดการ 360 ํ มาพบที่ริมคลองพิทยาลงกรณ์ราว 7 โมงเช้า เพื่อต้องการให้เห็นสภาพเศรษฐกิจประจำวันในพื้นที่ ซึ่งจะมีชาวบ้านขนสัตว์น้ำที่จับได้จากชายฝั่งใส่เรือมาขายผู้ค้าส่งที่ท่าเรือ ซึ่งมีกันอยู่หลายรายตามแนวคลอง เป็นผู้รับซื้อมือหนึ่งซึ่งจะแยกประเภทสินค้าคัดขนาดจากที่นี่ ก่อนจะลำเลียงส่งสินค้าไปยังมหาชัย ซึ่งถือเป็นผู้ค้ามือที่สองไม่ใช่มือหนึ่งอย่างที่ผู้นิยมอาหารทะเลส่วนใหญ่เข้าใจกัน ความหลากหลายของสัตว์น้ำที่นำมาขายสะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ได้อย่างดี สินค้าจากชายทะเลบางขุนเทียนยังมีจุดเด่นของความเป็นสินค้าธรรมชาติสูง แม้ส่วนหนึ่งจะได้มาจากรูปแบบของการทำประมงน้ำเค็ม ทำให้มีรสชาติอร่อยกว่าสัตว์น้ำจากแหล่งอื่น สินค้าที่จับมาขายกันมีทั้งกุ้งแช่บ๊วย กุ้งกุลาดำตัวโตจากนากุ้งธรรมชาติ ปลากุเลา ปลากะพงขาวตัวใหญ่ ปลาดุกทะเล ปลากระบอก ปลาบู่ที่ปรับตัวมาเป็นสัตว์น้ำเค็มไปแล้ว ปูม้า ปูทะเล และหอยหลากชนิด อาทิ หอยพิม หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภาพที่ปรากฏทุกวันนี้ เพิ่งกลับมาดีขึ้นหลังจากที่ชุมชนผ่านการเผชิญปัญหาในพื้นที่และแก้ไขมาแล้วเปลาะหนึ่ง ตอนนี้สภาพชายทะเลบางขุนเทียนเมื่อมองจากด้านบน นับจากคลองพิทยาลงกรณ์ไล่ลงไปถึงชายทะเล ด่านแรกจะเห็นป่าชายเลนชั้นที่หนึ่ง ต่อด้วยนากุ้งธรรมชาติ ตามด้วยป่าชายเลนชั้นที่สอง และเลยไปจากนั้นก็เป็นทะเล ทุกวันนี้พวกเขายังคงเดินหน้าแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ ที่เชื่อว่าได้ผลตามเป้าหมายของชุมชน แม้ว่าจะมีหน่วยงานระดับประเทศที่นำทีมงานจัดการแก้ปัญหา เรื่องน้ำและชายฝั่งจากเนเธอร์แลนด์เข้ามาศึกษาหาข้อมูลในพื้นที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ตาม เพราะชาวบ้านเชื่อว่าอนาคตคนกลุ่มนี้อาจจะมีผลงานดีๆมาช่วยชาวบ้าน แต่ถ้าให้รอคงต้องรออีกนาน ดังนั้นระหว่างนี้พวกเขาก็จะไม่วางมือในสิ่งที่ทำอยู่และจะทำต่อเนื่องไป คงศักดิ์เล่าว่า แนวไม้ไผ่ชะลอคลื่นชุดแรกเกิดขึ้นเมื่อชุมชนบางขุนเทียนเห็นหมู่บ้านโคกขามทำไป 6 เดือนเริ่มได้ผล ก็คิดจะทำกันบ้าง แต่กรุงเทพฯเป็นเขตปกครองพิเศษจะทำเรื่องของบประมาณจะต้องใช้เวลาอีกนาน “จุดเริ่มต้นที่รวบรวมชาวบ้านในชุมชนตั้งเป็นเครือข่ายรักทะเลและสิ่งแวดล้อมขึ้นก็ตอนนั้นแหละ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายสิ่งแวดล้อมคูคลองและทะเลบางขุนเทียนทีหลัง เมื่อมีภาคีจาก 6 ชุมชน คือเราสู้กันมานาน ตอนแรกมีแค่บางขุนเทียนกับเสาธง จะทำให้ได้ผลเร็วต้องใช้มวลชนเข้าสู้ ถ้าสู้ตามลำพังไม่ผ่านหรอก” เครือข่ายรักทะเลฯ ใช้วิธีของบประมาณด้านภัยพิบัติของสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน ซึ่งเหลือจากนำไปช่วยในเหตุการณ์สึนามึในภาคใต้ประมาณ 3 ล้าน กว่าบาทมาเป็นทุนเริ่มต้น หลังจากแนวไม้ไผ่รุ่นปี 2552 ชุมชนก็เริ่มปลูกป่าเสริมหลังในแนวไม้ไผ่ได้แล้ว “ก่อนจะเริ่มชวนชาวบ้านมาทำ รัฐบาลแทบไม่ได้เข้ามาทำอะไรกับการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเลย มีแค่สมัยท่านผู้ว่าฯ พลตรีจำลอง (ศรีเมือง) ที่ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลงมาศึกษาอยู่ 7 เดือน เข้าเดือนที่ 8 บอกวิธีนี้คงช่วยได้ระยะหนึ่ง ก็ได้งบมาทิ้งหินวางไว้หน้าทะเล 800 เมตร” จาก 800 เมตร ในปีแรก เมื่อชาวบ้านยังไม่มีวิธีอื่นและ กทม.แบ่งงบมาทิ้งหินให้ทุกปี แนวกองหินก็ยาวขึ้นเพิ่มเป็น 4.7 กิโลเมตร ทิ้งกันปีเว้นปี แต่ก็ไม่สามารถหยุดปัญหาการกัดเซาะได้ เพราะเนื้อดินอ่อน หินก็จบหายไป ปี 2538 กทม.ก็หยุดให้งบ โดยให้เหตุผลว่าไม่คุ้มกับการลงทุนในการขนหินมาทิ้งในแต่ละปี “พอหยุดทิ้งพื้นที่ก็ถูกกัดเซาะเข้ามาอีก 405 ไร่ ไม่คุ้มกันเลย พื้นที่ขนาดนี้เราสามารถสร้างผลผลิตส่งเลี้ยงชุมชนเมืองได้อีกเท่าไร แต่ถ้าเอาแผ่นดินกลับมาใช้ประโยชน์ ได้อีกครั้งคงจะคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม นั่นแหละเหตุการณ์ก็เป็นอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปลายปี 2550 ผมเริ่มตั้งเครือข่ายแล้วก็ของบได้มาในปี 2551” นักวิชาการส่วนใหญ่อาจจะมองว่า การแก้ปัญหาของพื้นที่บางขุนเทียนไม่ใช่การปรับแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อปัญหาของน้ำทั้งระบบ รวมถึงน้ำที่กัดเซาะชายฝั่งนี้ด้วย ในความเห็นของคงศักดิ์ เขาเห็นว่านี่คือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชุมชนซึ่งต้องเริ่มจาก ช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ตัวเองยืนหยัดได้ด้วยตัวเองให้ได้เสียก่อน อะไรก็ได้ที่ได้ผลเกิดขึ้นในท้องถิ่น จากนั้นจึงนำโครงการที่เกิดขึ้นไปกระทุ้งหน่วยงานรัฐให้เข้ามาร่วมแก้ปัญหาร่วมกับชาวบ้านอีกต่อหนึ่ง “เมื่อเราทำแล้วได้ผลก็ต้องพยายามทำให้หน่วยงานภาครัฐมาดู เพราะเราก็เสียภาษี เราเริ่มช่วยตัวเองไปแล้วคุณมาช่วยต่อหน่อยได้ไหม นี่คือเทคนิคของชุมชน เป็นหลักการที่เหมือนการใช้ภาพหนึ่งภาพแทนคำพันคำ โครงการของเราคือภาพที่ใช้แทนคำ อธิบายกับหน่วยงานรัฐว่า เราต้องการอะไรและอยากให้เขาช่วยเราสานต่อในเรื่องงบประมาณ” (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#38
|
||||
|
||||
บางขุนเทียน: ด่านหน้ารักษาดินแดน .... (ต่อ) คงศักดิ์บอกว่าทุกวันนี้ปัญหาการกัดเซาะของพื้นที่สามารถควบคุมอยู่ในวงจำกัดแล้ว อย่างน้อยก็ไม่โดนกัดเซาะเพิ่ม ได้งบประมาณจากหน่วยงานราชการปีละ 10 ล้านบาท เป็นงบที่ให้มาเพื่อรอจนกว่าโครงการใหญ่ๆของนักวิชาการหรือของภาคราชการจะทำแล้วเสร็จ เงินงบประมาณปีละ 10 ล้านบาทนี้เป็นสิ่งที่คงศักดิ์และชุมชนร้องขอ เพื่อปักแนวไม้ไผ่ให้ได้ตลอดแนว 4.7 กิโลเมตรตามแนวชายทะเลของในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ “ถือว่า กทม.ตอบสนองค่อนข้างดีในการให้งบ ถ้าไม่ทำเลยชาวบ้านจะเสียแผ่นดิน อย่างน้อยปีละ 6 เมตรทุกปี คิดแล้วงบประมาณแค่นี้เพื่อรักษาแผ่นดินถูกมาก แต่ถ้าจะมีโครงการใหญ่ต้องใช้งบเยอะและขั้นตอนก็ตั้งแต่ทำประชาพิจารณ์กว่าจะจบก็ใช้เวลานาน ชาวบ้านคงรอไม่ได้” ส่วนไม้ไผ่ที่ได้งบจัดซื้อเอามาทำแนวชะลอคลื่นก็มีบางหน่วยงานที่โจมตีว่า ไม้ไผ่เยอะขนาดนี้แล้วไม่เป็น การตัดไม้ทำลายป่าจากที่หนึ่งมาไว้อีกที่หนึ่งหรือ “ไม้ไผ่ที่เราเอามาเป็นผลดีกับเจ้าของป่าไผ่เสียอีก เพราะต้องตัดลำไผ่แก่เพื่อเลี้ยงหน่อแทนที่จะตัดทิ้งก็เอามาขายเรา ก็จองป่าซื้อล่วงหน้ากันเลย ได้ขนาดก็ตัดมาให้เราที่บางขุนเทียนเราจะใช้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 5 นิ้ว ใหญ่กว่าของผู้ใหญ่หมูที่โคกขาม ไม้ที่เราปักรุ่นแรกตั้งแต่ปี 2534 ก็ยังมีให้เห็นอยู่เลยแต่ดำปี๊ดแสดงว่า ไม้ไผ่ทนอยู่ได้นาน แต่ตอนนั้นปักสองข้างแล้วใช้ทิ้งหินลงไปไม่ใช่เอามาทำแบบนี้” การปักแนวไม้ไผ่ที่บางขุนเทียนจะต่างจากที่โคกขามเล็กน้อย ที่โคกขามจะปักในช่วงน้ำลด แต่บางขุนเทียนค่อนข้างเร่งงานน้ำไม่ลดก็ต้องลงไปทำเพื่อแข่งกับเวลา ช่วงงานเร่งก็ใช้รถแบ็กโฮลงช่วยปักไม้ไผ่ร่วมกับแรงงานคน ซึ่งต้องใช้คนจำนวนไม่น้อยสำหรับการปักไม้ไผ่ความยาวขนาด 5 เมตร วิธีการปักที่บางขุนเทียนจะปักไม้ไผ่เป็นแนวตรงทั้งหมดเพราะจะง่ายกว่าแบบสามเหลี่ยมแบบที่โคกขาม ไม้ไผ่ที่จะปักไม่ต้องทำให้แหลมเพราะดินอ่อนปักง่าย มีเทคนิคนิดเดียวแค่เอาส่วนปลายปักลงดิน ส่วนที่อยู่ในดินจะไม่ค่อยผุแล้วเอา โคนต้นซึ่งใหญ่กว่ามาสู้กับน้ำ วันหนึ่งปักได้สัก 50 เมตรก็ถือว่าเต็มที่ ปักเสร็จตะกอนเลนก็จะเข้ามาตามช่องไม้ไผ่ซึ่งมีลำคดงอเป็นช่องให้น้ำไหลเข้าได้ แต่ถ้ามองแนวเฉียงจะดูเหมือนเป็นกำแพงหนาและถี่มาก จริงๆจะว่าไปแนวไม้ไผ่ก็เป็นสิ่งที่อยู่ในชุมชนและเห็นกันมานานในฟาร์มหอยแมลงภู่ แต่การเลี้ยงหอยใช้ไม้รวกลำเล็กปักให้หอยแมลงภู่เกาะ พอหอยโต ในฟาร์มหอยก็มักจะมีตะกอนดินขึ้นสูงในก่ำหรือในกลุ่มไม้รวกที่ปักไว้ และมักพบเนินดินขึ้นหลังฟาร์มหอย คนเลี้ยงต้องถอนเอาไม้สลับข้างบนลงล่างเพื่อหนีตะกอนเลน ฟาร์มหอยจึงเป็นตัวช่วยที่ดึงตะกอนเลนและชะลอคลื่นได้ชุดหนึ่ง แต่ที่ใช้ทำแนวสร้างดินไม่ได้เพราะฟาร์มหอยต้องทำในทะเลห่างจากฝั่งไปอีก 3 กิโลเมตร ภูมิปัญญาชาวบ้านจากฟาร์มหอยแมลงภู่เป็นหัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกมา แลกเปลี่ยนพูดคุยกันในชุมชน เป็นส่วนหนึ่งที่สรุปออกมาเป็นแนวไม้ไผ่นี้นี่เอง “เราใช้คำว่าแนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น เคยเรียกว่าเขื่อนไม้ไผ่ แต่เป็นเขื่อน เดี๋ยวต้องทำประชาพิจารณ์ แต่ถ้าพูดว่าเป็นแนวไม้ไผ่มันเป็นโครงสร้างอ่อนไม่ต้องรอ ทำได้เลย เราเลือกทำจุดแรกตรงด้านหน้าที่ราชพัสดุเพราะเป็นที่ไม่มีเจ้าของและเว้าลึกที่สุด” น่าดีใจว่า คนในชุมชนบางขุนเทียนที่ออกมาช่วยกันทำแนวไม้ไผ่ มีตั้งแต่ชาวบ้านวัย 50 ปีไล่ลงมาถึงวัยรุ่นอายุ 17-18 ปี ซึ่งหมอโตเชื่อว่าการที่คนหลายรุ่นในชุมชนหันมาทำงานเพื่อส่วนรวม เป็นการสะท้อนถึงอนาคตของชุมชนที่คงทำให้มีคนเสียสละทำงานเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป เมื่อแนวไม้ไผ่ขยายถึงแนวที่ดินที่เป็นเอกสารสิทธิของเอกชน พวกเขามีกฎเกณฑ์อะไรที่จะไม่ทำให้เจ้าของที่ดินใช้สิทธิ์ในพื้นที่ตนเองเมื่อได้แผ่นดินและป่ากลับมา “พอเราสามารถทวงพื้นดินคืนมาได้ เราบอกเจ้าของที่ว่าขอให้ชุมชนนะ อย่าไปรุกล้ำ อย่าไปแผ้วถางที่จะทำนากุ้งต่อ เราจะปลูกป่าเพิ่มให้หนาขึ้น โฉนดยังเป็นชื่อของคุณ เราขอแค่สิทธิ์ เป็นข้อตกลงปากเปล่า คงบังคับไม่ได้ แต่ขอและให้กันด้วยใจ เป็นเรื่องของจิตอาสามากกว่า เพื่อช่วยกันป้องกันการกัดเซาะแล้วระบบนิเวศก็จะกลับมา เชื่อว่าเขาน่าจะรักษาคำพูด และรู้ดีว่าถ้าเราไม่ทำ ที่ของเขาก็จะหายไปเรื่อยๆ แต่เมื่อชุมชนทวงที่ดินคุณกลับมา คุณก็ควรจะให้อะไรกับชุมชน” ไม้ชายเลนที่ชุมชนนำมาปลูก ที่นิยมเห็นกันบ่อยคือต้นโกงกาง เป็นไม้ที่เข้ามาทีหลัง ไม้ท้องถิ่นที่มีอยู่มากในพื้นนี้คือต้นแสม ซึ่งเมื่อปลูกมากขึ้น ก็เริ่มเห็นเม็ดแสมลอยในผืนป่ามากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่แหล่งศึกษาธรรมชาติ ซึ่ง กทม.เข้าไปทำทางเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติความยาว 1,300 เมตรไว้แล้วในพื้นที่ สำหรับพื้นที่บางขุนเทียน คงศักดิ์บอกว่า ถ้าบริษัทไหนทำกิจกรรมซีเอสอาร์แล้วอยากเข้ามาปลูกป่า คงจะลำบากหน่อย เพราะต้องเดินเท้าเข้ามา และจุดที่ปลูกจะต้องเป็นหลังแนวไม้ไผ่หรือพื้นที่ที่อยู่ลึกบริเวณที่มีป่าอยู่บ้างต้นไม้ถึงจะอยู่รอด เพราะถ้าเลือกปลูกง่ายๆในตะกอนเลนที่เกิดใหม่หรือใกล้ชายฝั่งเกินไป กล้าไม้เล็กๆจะไม่มีแรงยึดเกาะที่ทนต่อกระแสน้ำได้ แค่คนปลูกคล้อยหลัง คลื่นก็ซัดกล้าไม้ลอยตามกลับไปแล้ว แม้จะต้องเจอปัญหาการการกัดเซาะ แต่ทะเลบางขุนเทียนก็นับว่าโชคดีอยู่บ้างในบางเรื่อง ถ้าเทียบกับพื้นที่ชายฝั่งระหว่างชายฝั่งกรุงเทพฯที่บางขุนเทียนกับชายฝั่งแถวจังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งอยู่ขนาบทะเลบางขุนเทียน ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่ปากอ่าวทำประมงน้ำเค็มเป็นหลักเหมือนกัน และเป็นปลายทางของแม่น้ำสายต่างๆที่ไหลลงอ่าวไทยทั้งท่าจีน เจ้าพระยา บางปะกง แถมด้วยการเป็นแหล่งระบายน้ำของคูคลองอีกหลายสาย เฉพาะบางขุนเทียนก็มีคลองหลักๆในพื้นที่ ได้แก่ คลองสนามชัย คลองหัวกระบือ/คลองขุนราชพินิจใจ คลองพิทยาลงกรณ์ และคลองแสมดำ “ของกรุงเทพฯ ตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียว ทำให้เราโชคดีที่ไม่มีโรงงาน แต่ฝั่งสมุทรปราการและสมุทรสาครจะเจอหนักกว่าเรื่องสารพิษจากน้ำเสียที่ตกตะกอนอยู่ในสัตว์น้ำ แต่ระยะหลังเราก็เริ่มได้ผลกระทบเรื่องน้ำเสียเพิ่มขึ้นผลผลิตเริ่มลดน้อยลง เพราะ กทม.ในเขตฝั่งธนบุรีมีการปล่อยน้ำเสียลงทะเล ซึ่งภาคีเครือข่ายที่ตั้งขึ้นกำลังเฝ้าระวังกัน คาดว่าเขาจะทำให้ดีเหมือนฝั่งพระนครที่บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย” ถ้าไม่เป็นอย่างที่คงศักดิ์คาดการณ์ น้ำเสียจะกลายเป็นอีกปัญหาที่เข้ามาซ้ำเติมปัญหาในพื้นที่ เพราะเขาบอกว่าตอนนี้ทุกปีในพื้นที่ ก็มีเทศกาลน้ำเสียประจำปีอยู่แล้ว โดยจะเกิดขึ้นราวช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่ลมจากทุกทิศทางพัดปะทะกันจนปั้นน้ำเสียเป็นก้อนและไม่กระจายไปในทะเล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ปลาตายลอยให้ชาวบ้านมาช้อนไปขายเป็นประจำทุกปี หลังทีมงานเรื่องน้ำจากเนเธอร์แลนด์ลงมาฟังข้อมูลสรุปจากคงศักดิ์พร้อมบินดูพื้นที่ เขาก็ไม่ได้หวังว่าระดับนโยบายจะเดินหน้าไปอย่างไร เพราะทุกวันนี้เขาและชุมชนยังคงทำงานอยู่ตลอดเวลาในพื้นที่ “ผมก็จะยังเขย่าข่าวหรือสร้างความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ก็ผลักดันจนการกัดเซาะถูกยกเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แต่พอเป็นวาระแห่งชาติแล้วนี่แหละอันตรายที่สุด เพราะวาระแห่งชาติคือเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะที่จะกลายเป็นเรื่องนิ่ง” ดังนั้นระหว่างวาระแห่งชาติเดินไปตามเส้นทางของมัน คงศักดิ์ก็จะยังคงเดินหน้าขยายเครือข่ายภาคประชาชนต่อไป จาก 1 ชุมชนเป็น 6 ชุมชน ตอนนี้เครือข่ายของเขาขยายข้ามจังหวัดกลายเป็นเครือข่ายรักอ่าวไทย โดยรวมตัวกันตั้งแต่ชุมชนในจังหวัดเพชรบุรีเลียบชายฝั่งทะเลไปถึงจังหวัดตราด “หน่วยงานรัฐมีขอบเขตของจังหวัด เป็นตัวแบ่งแยก แต่ภาคประชาชนของเรา เราเชื่อมชายฝั่งถึงตราดแล้วมาสุดทางภาคตะวันตกที่เพชรบุรี จากเพชรบุรีลงไปใต้ทั้งอันดามันทั้งอ่าวไทยเขาจะมีคณะกรรมการเขาอยู่แล้ว เหมือนที่ผมทำ แต่แบ่งเป็นท่อนๆ พอระยะสักปีหรือครึ่งปี เรามาประชุมกันที สุดแท้แต่เขาจะจัดที่ไหน ประชุมในเครือข่าย กลุ่มย่อยก็จะมีประชุม กันสองเดือนต่อหนึ่งครั้ง แต่ถ้าเรื่องด่วนเราจะเรียกเลย เร็วอาจจะเดือนละครั้งเวลามีอะไรเข้ามา” คงศักดิ์อธิบายการทำงานของเครือ ข่ายที่ดูเหมือนจะรวดเร็ว ทันสมัยและเข้าใจการทำงานที่ไม่ใช้เส้นแบ่งพื้นที่หรือเขตแดนเป็นข้อจำกัดได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐที่มีอยู่เสียอีก จากเครือข่ายที่ขยายตัวจับกลุ่มกันแน่นขึ้นในภาคประชาชน คนในชุมชนแห่งนี้ก็ได้แต่หวังว่า ในอนาคตพื้นที่ดินและป่าในชุมชนชายทะเลบางขุนเทียนก็จะจับกลุ่มกันแน่นขึ้นๆ เหมือนเครือข่ายและภาพอดีตในวัยเด็กของคงศักดิ์ที่ยังจดจำได้ดีว่า สมัยนั้นกว่าที่เขาจะพาตัวเอง ออกไปเห็นทะเลบางขุนเทียนได้ จะต้องเดินเลาะคันนากุ้งและแทบจะต้องมุดผ่านป่าแสมที่แน่นทึบ เจอทั้งตัวนาก เสือปลา สัตว์เล็กสัตว์น้อย เพื่อออกไปงมกุ้งและจับปลาในวันหยุดกับเพื่อนๆอย่างสนุกสนาน กลับมาเป็นแบบเดิมได้อีกครั้ง เพราะปฏิบัติการทวงคืนแผ่นดินของพวกเขาเห็นผลมากขึ้นทุกวัน ที่สำคัญพวกเขาจะไม่ปล่อยปละละเลยให้คลื่นลมและทะเลเอาป่าและแผ่นดินไปจากชุมชนเหมือนเมื่อช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาอีก จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 23-03-2011 เมื่อ 08:06 |
#39
|
||||
|
||||
แผ่นดินที่หายไปที่ “ขุนสมุทรจีน” .................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา การแก้ปัญหาการกัดเซาะของชุมชนชายฝั่งหลายพื้นที่เริ่มตั้งหลักได้ คือความหวังที่ทำให้ชาวชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ เชื่อว่าพวกเขาก็น่าจะมีวิธีหยุดการกัดเซาะชายฝั่งได้เช่นกัน อีกทั้งพื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่ของเขื่อนป้องกันการกัดเซาะต้นแบบที่เป็นงานวิจัยของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อโครงการเขื่อนกั้นคลื่น 49A2 อีกด้วย “ในอดีตบริเวณนี้มีแผ่นดินเต็มไปหมด ปัจจุบันทะเลรุกเข้ามาหลายกิโลเมตร ที่น่ากลัวที่สุดก็คือ หมู่ 8 หายไปจากแผนที่ประเทศไทยแล้ว” ผู้ใหญ่สมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ตำบลแหลมฟ้าผ่าบอกกับทีมงานผู้จัดการ 360 ํ ในอดีตชุมชนบ้านขุนสมุทรจีนเป็นชุมชนชายฝั่งที่หากินกับทะเล พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์น้ำ ทุกคนจึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีที่ทำกินเป็นของตนเอง มีเพียงที่ปลูกบ้านที่อยู่อาศัยก็เพียงพอแล้ว “ผู้คนที่นี่มีแต่ที่อยู่อาศัย ไม่มีที่ทำกิน ซึ่งก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรเพราะแค่ออกไปหาหอย หาปู ก็พออยู่พอกินซึ่งถือว่าพอเพียงแล้ว ได้วันละ 200-300 บาท วันไหนได้น้อย 50-60 บาทก็ไม่ขาดทุนเพราะเราไม่มีต้นทุน ไม่ได้ใช้เครื่องมือที่ต้องใช้น้ำมัน พูดง่ายๆ คือใช้มือเก็บสัตว์น้ำนั่นเอง” ผู้ใหญ่สมรบอกกับทีมงานด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม แต่ปัญหาใหญ่สุดที่ชาวบ้านและผู้ใหญ่สมรต้องเผชิญอยู่ก็คือปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่นับวันยิ่งจะรุนแรงขึ้นทุกที เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ของชายฝั่งซึ่งมีระนาบขององศาที่อยู่ในเกณฑ์ชันมาก เมื่อถามว่าปัญหาการกัดเซาะได้เริ่มขึ้นเมื่อใด ผู้ใหญ่สมรบอกว่า เริ่มมาตั้งแต่อดีตแล้ว เป็นภัยธรรมชาติ โดยดูได้จากลึกลงไปในทะเล 2-3 เมตรมีการขุดพบชุมชนโบราณชุมชนหนึ่งซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า มีการกัดเซาะชายฝั่งหรือแผ่นดินมาตั้งแต่ครั้งโบราณเลยทีเดียว อีกทั้งภาพถ่ายในอดีตสมัยที่ผู้ใหญ่สมรยังสาวๆ เธอหยิบมาโชว์กับผู้จัดการ 360 ํ แสดงให้เห็นว่าชายฝั่งทะเลอยู่ห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 2 กิโลเมตร กว่า หลังหมู่บ้านก็จะเป็นวัดขุนสมุทรจีน ซึ่งห่างจากหมู่บ้านประมาณกิโลเมตรกว่าๆ และจากหมู่บ้านนั้นก็ห่างจากชายฝั่งปัจจุบันอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันวัดขุนสมุทรจีนถูกน้ำกัดเซาะจนกลายเป็นเกาะไปแล้ว จากเนื้อที่วัดเป็น 100 ไร่ตอนนี้เหลืออยู่แค่ 5-6 ไร่ เมื่อรวมระยะการกัดเซาะเปรียบเทียบพื้นที่จากอดีตที่มีหลักฐานภาพถ่ายก็พบว่า น้ำทะเลกัดเซาะเข้ามาเป็นระยะกว่า 5 กิโลเมตรแล้ว นี่ยังไม่รวมข้อมูลจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่บอกว่าเคยมีการกัดเซาะมากกว่า 10 กิโลเมตรในอดีต “นี่มันไม่ใช่เรื่องปกติแล้วนะ จะเห็นว่าแนวเสาไฟฟ้าที่อยู่ไกลๆในทะเลนั่น เมื่อก่อนปักบนดิน ตอนนี้แผ่นดินหายหมด แล้วเหลือแต่เสาไฟฟ้าซึ่งห่างจากตลิ่งตั้ง 2 กิโลเมตร” ผู้ใหญ่สมรเปรียบเทียบระยะการกัดเซาะ ผู้ใหญ่สมรเชื่อว่าสาเหตุหลักของการกัดเซาะส่วนใหญ่แล้วเกิดจากธรรมชาติและ ภูมิศาสตร์ของชายฝั่งเอง ส่วนที่มีผู้บอกว่าเกิดจากการตัดไม้ทำลายป่าและทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ในพื้นที่นั้นเป็นความจริงเพียงบางส่วน เพราะว่าการตัดไม้ในพื้นที่นั้นเป็นการใช้ภูมิปัญญาของชาวบ้านซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่สั่งสอนไว้ว่าเวลาตัดไม้ไปใช้ให้แบ่งป่าไม้ออกเป็นแปลงๆ อย่าตัดทีเดียวหมด เมื่อตัดแปลงที่หนึ่งแล้วให้ปลูกเสริมรอโต ในขณะที่ตัดแปลงที่สองและที่สามในระยะต่อมา แปลงที่หนึ่งก็จะโตให้หมุนเวียนมาตัดใหม่ได้อีก และอีกอย่างหนึ่งก็คือป่าถูกทำลายโดยน้ำทะเลกัดเซาะเข้ามา ชาวบ้านถึงไปตัดไม้ที่มันล้มอยู่ ส่วนการทำนากุ้งนั้น อย่าลืมว่าชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน ดังนั้นการทำบ่อเลี้ยงกุ้งจึงเป็นของนายทุนซึ่งชุมชนไม่สามารถไปยับยั้งได้ แต่ปัจจุบันนี้นากุ้งก็ไม่มีแล้วเนื่องจากพื้นที่ถูกกัดเซาะไปหมด ภูมิปัญญาชาวบ้านเรื่องการตัดไม้ของขุนสมุทรจีนไม่ต่างจากหลักการทำป่าไม้ที่ใช้กันในยุโรปหรือประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ซึ่งถือเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน มีการใช้แบบหมุนเวียน เพราะโดยหลักวิชาการแล้วไม้ที่โตเต็มที่จะมีปริมาณการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในต้นไม้ได้ต่ำกว่าไม้ที่อยู่ระหว่างเติบโต การตัดทิ้งแล้วให้ไม้รุ่นใหม่เติบโตจะเป็นผลดีต่อโลกมากกว่า แต่ด้วยความไม่เข้าใจบวกกับความโลภของมนุษย์ จึงนิยมที่จะฆ่าห่านทองคำไปเป็นอาหารมากกว่าจะรอเก็บไข่ไปขาย การแก้ปัญหาของพื้นที่ขุนสมุทรจีนในช่วงแรกๆ เป็นการนำหินไปถมบริเวณชายฝั่ง เพื่อป้องกันการกัดเซาะ และยังคงทำต่อเนื่องแม้ในปัจจุบัน รอบวัดขุนสมุทรจีนที่มีกำแพงหินล้อมรอบ “พวกเราทอดผ้าป่า ทอดกฐินที่วัด ได้เงินมาเท่าไหร่ก็ไปซื้อหินมาลงหมด เพราะเราต้องการรักษาพื้นที่วัดตรงนี้ไว้” ผู้ใหญ่สมรพูดด้วยแววตาที่มีความวิตกกังวล ระยะหลังบ้านขุนสมุทรจีนจึงเริ่มปักแนวไม้ไผ่ ตามอย่างชุมชนชายฝั่งในเครือข่าย แต่สำหรับที่นี่ไม้ไผ่ไม่สามารถป้องกันคลื่นที่ความแรงมากกว่า โดยเฉพาะคลื่นลมในฤดูที่พัดจากฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดเข้าปะทะพื้นที่เต็มๆ ไม้ไผ่ที่ปักไว้ถึงกับหลุดไปตามกระแสน้ำ อย่างไรก็ตาม ทางชุมชนได้ขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานราชการและเอกชนต่างๆ ผลที่ได้กลับมาก็คือ บางหน่วยงานก็ไม่สนใจ หน่วยงานที่สนใจก็ไม่ได้ทำตามความต้องการของชาวบ้าน ยกตัวอย่างเช่น ไส้กรอกทราย ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เท่าที่ควร เวลาไส้กรอกทรายแตกจะทำให้ทรายในถุงไหลออกมาปนเปื้อนกับหาดโคลนทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป รวมไปถึงเศษถุงที่ห่อหุ้มทรายก็กลายเป็นขยะในทะเล ในความคิดของผู้ใหญ่สมรบอกว่า สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้แล้ว เพื่อนำมาปักไว้เป็นเขื่อนชะลอคลื่น การปักเสาไฟเป็นความคิดของชาวบ้านที่เชื่อว่าสามารถจะต้านทานคลื่นได้ แต่จากที่นักวิชาการนำโดย รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้ามาศึกษาวิจัย ออกแบบเขื่อนสลายกำลังคลื่นที่มีชื่อว่า “ขุนสมุทรจีน 49A2” ก็เป็นผลงานที่ชาวบ้านตอบรับว่าใช้ได้ผล ขุนสมุทรจีน 49A2 ทำให้ชั้นตะกอนหลังเขื่อนเพิ่มขึ้น ให้ชาวบ้านเพิ่มพื้นที่ป่าได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่น่าเสียดายที่งบประมาณสำหรับงานวิจัยนี้หมดแล้ว ทั้งๆที่เพิ่งเริ่มดำเนินการเป็นระยะทางของเขื่อนแค่ 250 เมตรเท่านั้น ขณะที่สภาพปัญหาในพื้นที่ยังไม่หมดไป เนื่องจากความยาวของบ้านขุนสมุทรจีน มีมากกว่า 2 กิโลเมตร ดังนั้นชาวชุมชนเลยช่วยตัวเองด้วยการขอการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างๆ ซึ่งชาวชุมชนก็ยังรองบประมาณนี้ด้วยจิตใจที่มีความหวังว่าจะหยุดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งในขณะเดียวกันก็เพิ่มแผ่นดินและป่าชายเลนให้กับประเทศชาติ “หลายคนมาทำงานวิจัยที่นี่แล้วก็เงียบไป มีแต่ความคิดในอนาคต แต่เราอยู่กับพื้นที่เรารอพวกนี้ไม่ได้ นักวิจัยบางท่านกล่าวว่า ถ้าจะแก้ไขที่นี่ต้องอีกประมาณ 50 ปี แต่ผมว่าถ้ารออีก 50 ปี รับรองว่าบ้านขุนสมุทรจีนหายไปจากแผนที่ประเทศไทยแน่นอน” วิษณุ เข่งสมุทร ลูกชายของผู้ใหญ่สมรและนักวิจัยชุมชนท้องถิ่นกล่าวกับผู้จัดการ 360 ํ แนวคิดของวิษณุก็คือ แทนที่จะเสียงบวิจัยเพื่อขุนสมุทรจีน สู้เอางบตัวนี้มาทำเขื่อนสลายคลื่นดีกว่า แล้วทยอยปลูกป่าชายเลนที่หลังเขื่อน ผู้ใหญ่สมรและลูกชายค่อนข้างเชื่อในประสิทธิภาพของขุนสมุทรจีน 49A2 เพราะ เห็นว่าไม้ไผ่ที่ใช้ได้ผลในพื้นที่อื่น แต่ต้านทานแรงลมในพื้นที่นี้ไม่ได้ “บางครั้งถ้าจะแก้ไขปัญหาในชุมชน ต้องให้ชุมชุนเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาด้วย แม้เราจะมีคนนอกเข้ามาช่วยทำเขื่อนสลายคลื่น ซึ่งต้องขอบคุณทั้ง สกว.และจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยที่ส่งบุคลากรเข้ามาช่วยพร้อมกับทุนในการทำเขื่อน โครงการของเรายังจะช่วยไม่ให้กรุงเทพฯกลายเป็นเมืองบาดาลดังคำนาย เราขอแค่แผ่นดินบ้านขุนสมุทรจีนนี้เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่ถูกผลพวงของภัย ธรรมชาติและการถูกกัดเซาะจากน้ำทะเล แผ่นดินที่เหลือนี้เราจะรักษาไว้ให้ชาติ และจะช่วยกันปลูกป่าเพื่อตอบโจทย์และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้ลูกหลานของเราได้มีใช้กันต่อไป” วิษณุกล่าวทิ้งท้าย แนวคิดและวิธีการแก้ปัญหาของบ้านขุนสมุทรจีน โคกขาม และบางขุนเทียนต่างก็ได้จากการเรียนรู้ธรรมชาติและทดลองปฏิบัติจริงในแต่ละพื้นที่ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ชายฝั่งที่แตกต่างกัน มีการลองผิดและลองถูก ประโยชน์ที่พวกเขาได้รับจากการเรียนรู้จนเข้าใจธรรมชาติ จนกระทั่งรู้ว่าต้องจัดการแก้ไขปัญหาในธรรมชาติเพื่อชุมชนอย่างไรนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ปลายเหตุ ซึ่งไม่สามารถตามทันการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่แปรปรวนมากขึ้นและยังไม่สิ้นสุด พวกเขาก็ได้แต่หวังว่าต่อจากนี้ไปอีก 50 ปี 100 ปีข้างหน้า ผู้มีความรู้และมีอำนาจมากกว่าเขาจะมีส่วนช่วยเข้ามาวางแผนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนของชุมชนเหล่านี้ให้คงอยู่กับผืนแผ่นดินไทยไปตราบนานเท่านาน แทนที่จะปล่อยพวกเขาอยู่กับการแก้ปัญหาไปวันๆ หรือซ้ำร้ายอาจจะต้องรอเผชิญกับภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่หวั่นกลัวกันเช่นนี้ต่อไป จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#40
|
||||
|
||||
ผลลัพธ์ของขุนสมุทรจีน 49A2 .................. โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย ชัชวัสส์ คติพิพัฒน์พร วรรณวณัช สุดจินดา สำหรับผลลัพธ์ที่นักวิชาการคำนวณไว้สำหรับการสลายพลังงานคลื่นขุนสมุทรจีน 49A2 มีค่าอยู่ระหว่าง 0.6-0.7 (ค่ายิ่งน้อยแสดงว่าโครงสร้างยิ่งลดพลังงานคลื่นได้มาก) ซึ่งหลักการทำงานของขุนสมุทรจีน 49A2 สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า โครงสร้างแบบทึบน้ำสามารถสลายพลังงานคลื่นได้ดีกว่าโครงสร้างแบบโปร่งเช่นเดียวกับเสาเข็ม นอกจากนี้จากการศึกษาพบว่า โครงสร้างแบบโปร่งนี้จะมีความสามารถในการลดหรือสลายพลังคลื่นลดลงเมื่อคลื่นที่มีความสูงมากขึ้น (คาบเวลามากขึ้น) อย่างไรก็ตาม ในการเลือกโครงสร้างที่เหมาะสมนั้น ปัจจัยเรื่องการสลายพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เสาเข็มสลายพลังงานคลื่นช่วยให้ตกตะกอน เพิ่มความหนาของตะกอนดินให้กับชายฝั่งได้ดีกว่าโครงสร้างทึบ ส่วนเขื่อนกันคลื่น ไส้กรอกทรายใช้วัสดุสังเคราะห์เป็นเปลือกหุ้มทรายไว้ เมื่อแตกออก ทรายจะปนกับดินเลน ทำให้มีผลต่อระบบนิเวศได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบ ที่มา: โครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล บริเวณอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรฯ จาก ..................... นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา เดือนมีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|