เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #41  
เก่า 24-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“ทำอย่างไรเมื่อลูกป่วยเป็นไข้”


สถานที่รับเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ผู้ปกครองต้องระวังบุตรหลานให้ดี หากมีไข้อาจเกิดจากโรคไข้หวัดใหญ่หรือไข้เลือดออก ศ.พญ.นวลอนงค์ วิศิษฎสุนทร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีวิธีสังเกตอาการมาฝาก

อาการของไข้หวัด ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ติดต่อกันทางน้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม หากอยู่ในที่มีเด็กอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก และอากาศถ่ายเทไม่สะดวก เด็กๆจะมีโอกาสติดหวัดได้ง่ายขึ้น แต่ไข้เลือดออก จะเป็นโรคติดต่อที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะของโรค ซึ่งลักษณะอาการจะแยกได้ดังนี้

เริ่มที่อาการของไข้หวัด อาจมีไข้ต่ำๆ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล ส่วนมากในช่วงแรกจะเป็นน้ำมูกใสๆ ถ้าเป็นหลายวันสีจะข้นขึ้น มีอาการคัดจมูก หายใจไม่ออก เบื่ออาหาร ในเด็กเล็กมีอาการกวนมากกว่าปกติได้ ไข้หวัดโดยทั่วๆไปอาการจะไม่รุนแรงและหายได้เอง ถ้าเป็นในเด็กที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคแทรกซ้อนอะไร ก็สามารถดูแลในเบื้องต้นได้ แต่ถ้าในกรณีเด็กเล็กมากหรือมีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด โรคหัวใจ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม

ส่วน ไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เด็กจะค่อนข้างซึมดูไม่สบาย ขณะที่เด็กเป็นไข้หวัดธรรมดา อาจกวนบ้างแต่ยังเล่นได้ แต่ถ้ามีไข้สูง เมื่อรับประทานยาลดไข้แล้ว ไข้ก็ไม่ลด มีอาการหน้าแดง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และมีจุดเลือดออกหลังจากมีไข้ 3-4 วัน จะเป็นอาการของไข้เลือดออก ซึ่งต้องพามาพบแพทย์เพื่อเจาะเลือด ตรวจวินิจฉัย และให้น้ำเกลือเพื่อรักษาต่อไป

สำหรับการดูแลในเบื้องต้น ถ้ามีไข้ต่ำๆ ให้เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา และถ้ายังมีไข้สูง ควรให้ยาลดไข้ขนาด 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง และดื่มน้ำอุ่นมากๆ หากมีเสมหะ ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมเกลือและน้ำผึ้ง เพื่อช่วยขับเสมหะและช่วยลดอาการไอได้ ในกรณีที่ดูแลเบื้องต้นแล้วยังมีน้ำมูกและมีอาการแน่นจมูก ให้รับประทานยาแก้หวัด เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้หยุดยาได้ แต่ต้องระวัง และดูว่าจะมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นหรือไม่ โดยทั่วไปอาการไข้จะหายภายใน 3-4 วัน

เพื่อป้องกันไม่ให้บุตรหลานป่วยเป็นไข้ ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด เพราะอาจมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสทำให้ติดหวัดได้ง่ายขึ้น รวมถึงระวังยุงลายกัด ซึ่งเป็นพาหะของไข้เลือดออก


ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




จาก ................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #42  
เก่า 25-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ดูแลตนเองเมื่อติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ


ในช่วงฤดูฝนหรือฤดูหนาว มักมีผู้ป่วยด้วยโรคจมูก คอ และหลอดลมกันมาก สาเหตุเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน เพื่อสุขภาพที่ดี เรามาเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองและป้องกันโรคกับ รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน มีอยู่หลายโรคด้วยกัน ตั้งแต่จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ โรคคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ รวมถึงโรคหลอดลมอักเสบ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งผู้ป่วยมักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยาต้านจุลชีพ ถ้าผู้ป่วยดูแลตัวเองอย่างถูกต้องและเหมาะสม

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ควรหลีกเลี่ยงอากาศเย็น โดยเฉพาะแอร์ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นหรืออาบน้ำเย็น เนื่องจากอากาศที่เย็นจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง ทั้งยังกระตุ้นเยื่อบุจมูกให้อักเสบมากขึ้น เกิดการคัดจมูก คัน จาม หรือมีน้ำมูกไหลมากขึ้น รวมทั้งยังกระตุ้นหลอดลม ทำให้หลอดลมหดตัว มีอาการไอและมีเสมหะได้ นอกจากนั้นควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจามด้วยผ้าเช็ดหน้า และดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ เนื่องจากน้ำเป็นยาละลายน้ำมูก หรือเสมหะที่ข้นเหนียวได้ดีที่สุด และถ้ามีอาการเจ็บคอ หรือระคายคอ ควรรับประทานอาหารอ่อนๆ เช่น โจ๊ก หรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือทอด และทำความสะอาดคอบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารด้วยการแปรงฟัน หรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ หรือน้ำเปล่าหลังอาหารทุกมื้อ เพราะแบคทีเรียที่เกิดจากเศษอาหารตกค้างในช่องปากและลำคอ อาจทำให้คออักเสบมากขึ้นได้ รวมถึงผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจด้วย เช่น ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การสัมผัสกับผู้ป่วย หรืออากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก พักผ่อนให้เพียงพอ และขยันออกกำลังกาย เพราะนอกจากจะทำให้อาการต่างๆดีขึ้นเร็วแล้ว ยังสามารถป้องกันไม่ให้การติดเชื้อนั้นเป็นซ้ำ หรือลุกลามแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นด้วย

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล




จาก ................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #43  
เก่า 25-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


แนะวิธีดูแลลูกน้อยให้ห่างไกล "ผื่นภูมิแพ้"


ขอบคุณภาพประกอบจาก happybaby.in.th

กล่าวได้ว่า "ผื่นภูมิแพ้" เป็นโรคที่ไม่มีพ่อแม่คนใดปรารถนาให้เกิดกับลูก เพราะทำให้เด็กที่อยู่ในช่วงวัย 5 ขวบ ป่วยและมีอาการได้ถึง 80 -90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นลูกรักของคุณอาจมีความเสี่ยงต่อผื่นภูมิแพ้ได้ หากไม่เตรียมความพร้อม และป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

ความสำคัญนี้ นพ.ธัญธรรศ โสเจยยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์ โรงพยาบาลวิภาวดี บอกว่า ด้วยชั้นผิวหนังของลูกรักที่มีความบอบบาง และละเอียดอ่อนมากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ผิวของเด็กเปิดรับต่อสิ่งเร้าทั้งรังสียูวี สารเคมีและสารก่ออาการแพ้ต่างๆได้ง่ายกว่าผุ้ใหญ่ถึง 3 เท่า ทำให้ผิวพรรณของเด็กเกิดอาการระคายเคืองและแพ้ง่าย โดยเฉพาะโรคผื่นแพ้ผิวหนัง โรคผิวหนังอักเสบ หรือโรคน้ำเหลืองไม่ดีที่ทำให้เด็กมีอาการเห่อครั้งแรกภายในช่วงวัย 1 ปีถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และเด็กในช่วงวัย 5 ขวบปีแรกจะมีอาการเห่อของผื่นภูมิแพ้ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

สำหรับสาเหตุของผื่นภูมิแพ้นั้น ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์หรือคนในครอบครัวของเด็กมีประวัติโรคภูมิแพ้ เช่น ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ แพ้อากาศ ไอจามบ่อย หรือเป็นหอบหืด และอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อกระตุ้นการเกิดผื่นภูมิแพ้ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม เช่น อาหาร ไรฝุ่น สารก่อการระคายเคือง สภาพอากาศที่ร้อนจนทำให้เหงื่อออก มีสารเคมีระคายเคืองผิวหนัง แมลง ขนสัตว์ และเชื้อโรค ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ลูกน้อยที่มีผิวบอบบางอยู่แล้ว เกิดอาการแพ้ได้ง่ายยิ่งขึ้น เริ่มจากผื่นแดงคัน มีตุ่มแดงและตุ่มน้ำใสเล็กๆ อยู่ในผื่นแดงนั้น ส่วนเด็กโตตุ่มจะนูนแดง มีขุยเล็กน้อย มักไม่พบตุ่มน้ำแตกแฉะเหมือนลูกวัยทารก แต่จะมีอาการคันทำให้เกาจนเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ ส่วนมากพบบริเวณรอบคอ ข้อพับ ด้านในของแขนและขา

"เราพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้จะมีอาการของโรคต่อเนื่องจนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเรียนและการทำงานในอนาคต โดย 50 เปอร์เซ็นค์ของเด็กที่เป็นผื่นภูมิแพ้ มีโอกาสเป็นโรคหอบหืด โดยเฉพาะเด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงกว่าเด็กโต และ 2 ใน 3 ของลูกที่ป่วยเป็นโรคผื่นภูมิแพ้ เมื่อโตขึ้นมีโอกาสป่วยเป็นโรคแพ้อากาศร่วมด้วย รวมทั้งมีปัญหาผิวพรรณ ผิวหนังอักเสบ และมีอาการคันเรื้อรัง" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังรายนี้เผย

ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงทำได้เพียงการบรรเทาผิวหนังที่อักเสบของลูกรักให้กลับมาเป็นผิวหนังปกติ ผิวหนังที่มีสุขภาพดี และป้องกันการเห่อซ้ำของผื่นภูมิแพ้เท่านั้น เช่น หากมีอาการผื่นรุนแรง อาจต้องใช้ยาทาทีมีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ ซึ่งไม่สามารถใช้ต่อเนื่องนานๆได้ เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่อลูก เช่น ทำให้ผิวหนังบาง ผิวหนังแตกลาย หรือมีผลต่อระบบต่างๆในร่างกาย

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่คือคนสำคัญที่จะช่วยปกป้องผิวพรรณที่แสนจะบอบบางของลูกน้อยจากโรคภูมิแพ้ ด้วยเคล็ดลับ Safety Baby ตามแนวทางง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

- รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนังลูก

- ไม่ควรอาบน้ำอุ่นบ่อยเกินไป เพราะจะทำให้ผิวลูกแห้ง และคันได้ง่าย

- เลือกผลิตภัณฑ์สำหรับผิวลูก และผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม หรือมีสารสังเคราะห์ที่ทำให้ผิวลูกระคายเคือง

- ดูแลผิวพรรณลูกให้สะอาด ป้องกันและรักษาผิวแห้งโดยการทามอยซ์เจอไรเซอร์ หรือโลชั่นที่ปราศจากสารเคมีอันตรายหลังอาบน้ำให้ลูก โดยเฉพาะวันที่อาบน้ำอุ่น เนื่องจากน้ำอุ่นจะทำให้ผิวขับไขมันออกมามาก ทำให้ผิวเด็กบางคนที่แห้งอยู่แล้วจะแห้งยิ่งขึ้น

- ทำความสะอาดเสื้อผ้า เครื่องนอนของลูกให้สะอาดอยู่เสมอ โดยทำการซักทุก 1-2 สัปดาห์ ด้วยน้ำร้อน 55-60 องศาเซลเซียส

- ไม่ควรมีสัตว์เลี้ยงอยู่ในบ้าน หรือให้สัตว์เลี้ยงอยู่ใกล้ชิดลูก

- หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการเห่อของผื่นภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง ไรฝุ่น ความเครียด ความร้อนหรือความเย็นมากเกินไป รวมทั้งอาหารบางชนิดที่คุณแม่สังเกตได้ว่าอาจทำให้ผื่นลูกเห่อมากขึ้น เช่น นม ไข่ หรือถั่วลิสง

- เลือกเสื้อผ้าที่ทำจากใยธรรมธาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าออร์แกนิก คอทตอน 100 % หรือเนื้อผ้าที่สัมผัสแล้วมีความเนียนนุ่มละเอียด รวมไปถึงเสื้อผ้าที่มีการตัดเย็บละเอียดเรียบร้อย ไม่มีตะเข็บ ขอบ หรือด้ายหลุดลุ่ยที่อาจเกี่ยวพันอวัยวะส่วนต่างๆ ของลูก ทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดการอับชื้น นำไปสู่ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังได้

เห็นได้ว่า ผื่นภูมิแพ้ผิวหนังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันและป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ โอกาสที่จะเกิดก็จะมีน้อยลงครับ




จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #44  
เก่า 25-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เต้าหู้ย่างเคล้างา อุดมโปรตีนย่อยง่าย



บางคนอยากลดเลี่ยงเนื้อสัตว์ เพราะห่วงเรื่องไขมันและคอเลสเตอรอลจะทำลายเส้นเลือด แต่ถ้ากินน้อยไปก็กังวลว่าร่างกายอาจขาดโปรตีน ทว่ายังมีอาหารอีกชนิดที่อุดมด้วยโปรตีนเช่นกัน นั่นคือ 'เต้าหู้'

วันนี้ 'มุมสุขภาพ' มีเมนู 'เต้าหู้ย่างเคล้างา' มาฝากผู้อ่าน เพราะเป็นเมนูที่อุดมไปด้วยโปรตีนและย่อยง่าย ทั้งยังช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกายด้วย

สำหรับ 'เต้าหู้' มีโปรตีนไม่น้อยไปกว่าเนื้อสัตว์ บางคนอาจเปรียบให้เป็นเนื้อไม่มีกระดูก นอกจากนี้โปรตีนที่มีในเต้าหู้ยังเป็นชนิดที่จำเป็นต่อร่างกาย มีวิตามินและเกลือแร่ ไม่มีคอเลสเตอรอล ดังนั้น เต้าหู้ จึงช่วยลดความเสี่ยงไขมันอุดตันเส้นเลือดได้

นอกจากนี้ ส่วนผสมอื่นในสูตรนี้ ต่างก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน อย่าง 'งา' ทั้งงาขาวและงาดำ สรรพคุณโดยรวม คือ ช่วยลดคลอเลสเตอรอล ป้องกันหลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ โดยเฉพาะงาดำ ช่วยให้การนอนหลับมีประสิทธิภาพ กระปรี้กระเปร่าขณะตื่น ป้องกันเหน็บชา บำรุงกระดูก ป้องกันท้องผูก และช่วยบำรุงรากผม ส่วน 'ขิง' ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ จุกเสียด แน่นท้องนั่นเอง

ส่วนผสมมีให้เตรียม ดังต่อไปนี้...
  • เต้าหู้อ่อนกึ่งแข็งหั่นชิ้นสี่เหลี่ยม 400 กรัม หรือประมาณ 2 ถ้วย
  • งาขาว 1 ช้อนชา
  • งาดำ 1 ช้อนชา
  • ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
  • ซอสหอยนางรมสูตรเจ-เห็ดหอม 4 ช้อนโต๊ะ
  • น้ำมันงา 4 ช้อนชา
  • น้ำตาลทราย 1+1/2 ช้อนชา
  • ขิงสับละเอียด 1 ช้อนชา
  • พริกไทยป่น 1/2 ช้อนชา


วิธีปรุง เริ่มจากผสมซีอิ๊วขาวกับซอสหอยนางรม น้ำมันงา น้ำตาลทราย ขิงสับละเอียด และพริกไทยป่น โดยคนให้ละลายเข้ากัน จากนั้นใส่เต้าหู้ลงไป โรยงาขาวและงาดำ คลุกเคล้าให้เข้ากันอย่างเบามือ อย่าให้เต้าหู้แตกเละ แล้วหมักทิ้งไว้นาน 20 นาที

ต่อมา ย่างเต้าหู้ที่หมักไว้จนสุกและมีกลิ่นหอมด้วยตะแกรงหรือกระทะ ระหว่างย่างให้ทาน้ำซอสที่ผสม ลงไปที่เต้าหู้ เสร็จแล้วจัดใส่จาน รับประทานได้ทันที และน้ำซอสที่เหลือจากการหมัก สามารถนำไปเคี้ยวให้พอเหนียวค้นแล้วใช้ราดลงบนเต้าหู้ย่างได้อีกด้วย.




จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์กินดี วันที่ 25 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #45  
เก่า 26-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เตือน! ยาพาราฯกินน้อยแต่นานอาจถึงตาย ..................... โดย วัจน พรหโมบล



นักวิจัยเตือนอันตรายยาแก้ปวดยอดฮิต กินน้อยแต่นานเกินขนาดไม่รู้ตัว เสี่ยงกว่าคนกินรวดเดียวเป็นแผง

นักวิจัยมหาวิทยาลัยเอดินเบรอะ ในสกอตแลนด์ เตือนผ่านวารสารเภสัชวิทยาอังกฤษ ถึงอันตรายจากการใช้ยาแก้ปวดพาราเซตามอลว่า แม้จะรับประทานไม่กี่เม็ดในแต่ละวัน แต่หากรับประทานเป็นประจำนานหลายวัน เป็นสัปดาห์ หรือเป็นปี ก็ถือเป็นการใช้ยาเกินขนาด แถมมีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าคนที่รับประทานยาเกินขนาดจำนวนมากในครั้งเดียว

นักวิจัยกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากแพทย์จะไม่สามารถตรวจพบปัญหาตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับคนที่ใช้ยาพาราฯเป็นเวลานานช่วงหนึ่งนั้น ผลตรวจเลือดจะไม่แสดงระดับพาราเซตามอลในระดับสูง แบบที่เห็นในกรณีใช้ยาเกินขนาดแบบปกติ หรือกรณีที่คนไข้กลืนยาเป็นกำมือหรือเป็นแผง เพื่อฆ่าตัวตาย และแม้ผลตรวจจะพบระดับยาพาราฯในระดับต่ำ แต่คนเหล่านั้นอาจยังมีความเสี่ยงต่ออวัยวะล้มเหลวหรือเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลผู้ป่วยที่มีปัญหาตับถูกทำลายอันเนื่องมาจากยาพาราเซตามอล จำนวน 663 คน ช่วงปี 2535-2551 พบว่า ในจำนวนนี้ 161 คนเกิดจากการใช้ยาพาราฯเป็นเวลานาน ส่วนใหญ่รับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะและปวดท้อง โดยไม่ได้ตระหนักว่ากำลังใช้ยามากเกินไป หรือรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นจากการใช้ยาเกินขนาด อีกทั้งเมื่อมีปัญหาที่ตับหรือสมองแล้ว ความเสี่ยงเสียชีวิตจากอาการแทรกซ้อน จะมากกว่าคนที่ใช้ยามากๆในคราวเดียว จึงเรียกร้องให้แพทย์หาหนทางใหม่ในการประเมินผู้ป่วย เพื่อความแน่ใจว่า ผู้ป่วยหายดีพอที่จะถูกส่งกลับบ้านหรือควรให้การรักษาเพิ่มเติม

นักวิจัยเตือนด้วยว่า ผู้ที่มีปัญหาเจ็บปวดและรู้สึกว่ายาพาราฯไม่ได้ผลแล้ว ควรปรึกษาเภสัชหาหนทางบรรเทาความเจ็บปวดอย่างอื่น หรือพึ่งแพทย์ให้ช่วยหาสาเหตุของอาการผิดปกตินั้น แทนที่จะคิดเพิ่มปริมาณยาด้วยตนเอง




จาก ..................... คม ชัด ลึก เวิลด์วาไรตี้ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #46  
เก่า 27-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


โรคไอบีเอส (IBS)หรือ 'โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน' ตอน 1



โรคไอบีเอส (IBS) หรือชื่อเต็มเป็นภาษา อังกฤษคือ โรค Irritable Bowel Syndrome หรือในชื่อไทยคือ โรคลำไส้ทำงานแปรปรวน โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคใหม่แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว เนื่องจากเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากเนื่องจากอาการของโรคไม่มีความเฉพาะเจาะจง แพทย์จึงไม่ได้มีการวินิจฉัยโรคนี้ ในปัจจุบันมีความรู้เกี่ยวกับโรคไอบีเอสเพิ่มมากขึ้นและมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในการวินิจฉัยโรคไอบีเอสให้ชัดเจนขึ้น จึงมีการวินิจฉัยโรคนี้เพิ่มมากขึ้น


โรคไอบีเอสคืออะไร

โรคไอบีเอสหรือโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน เป็นโรคของลำไส้ที่ทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดการปวดท้องร่วมกับมีอาการท้องเสียหรือท้องผูก หรือท้องเสียสลับกับท้องผูก โดยที่ตรวจไม่พบความผิดปกติทางพยาธิสภาพที่ลำไส้ เช่น ส่องกล้องตรวจลำไส้จะไม่มีการอักเสบ ไม่มีแผล ไม่มีเนื้องอกหรือมะเร็ง เป็นต้น และการตรวจเลือดต่างๆก็ไม่พบความผิดปกติ รวมทั้งไม่มีโรคของอวัยวะอื่นๆที่จะมีผลให้การทำงานของลำไส้ผิดปกติ เช่น โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคเบาหวาน เป็นต้น โรคไอบีเอสเป็นโรคเรื้อรังมักเป็นๆหายๆ หรืออาจเป็นตลอดชีวิต เป็นโรคที่ไม่ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมแม้จะเป็นมาหลายๆปี และไม่ทำอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่เป็นโรคที่สร้างความรำคาญและความทุกข์ทรมานให้ผู้ป่วยอย่างมากได้ เนื่องจากผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่าทำให้โรคไม่หายแม้ได้ยารักษา ทำให้มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยโรคจะรบกวนการดำรงชีวิตปกติของผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ มีการหยุดงานบ่อยและมีประสิทธิภาพของการทำงานลดลง


โรคไอบีเอสพบบ่อยหรือไม่

ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบร้อยละ 10-20 ของประชากร ในประเทศญี่ปุ่นพบร้อยละ 25 ของประชากร ในประเทศไทยมีข้อมูลค่อนข้างน้อยในการศึกษาเรื่องนี้ ข้อมูลที่มีอยู่คือ พบได้ประมาณร้อยละ 7 ของประชากร แต่ถ้าศึกษาเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ที่มีอาการท้องเสียเรื้อรังมาพบแพทย์จะพบว่าเป็นโรคไอบีเอสถึงร้อยละ 10-30 จากตัวเลขดังกล่าวในประเทศไทยจะมีผู้ป่วยไอบีเอส ประมาณไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ซึ่งอาจจะเป็นการประมาณที่ต่ำกว่าเป็นจริง เพราะว่าในรายที่มีอาการไม่มากอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นโรคนี้ พบว่ามีผู้ป่วยเพียงร้อยละ 15 เท่านั้นที่ไปพบแพทย์เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นโรคร้ายแรง เช่นกลัวเป็นมะเร็ง มากกว่าที่จะไปพบแพทย์เพราะความรุนแรงของโรค


โรคไอบีเอสพบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่

ในต่างประเทศในทั่วไปพบโรคไอบีเอสได้บ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 2:1 ถึง 4:1 สำหรับสาเหตุที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั้นยังไม่รู้ว่าสาเหตุที่แน่นอน สิ่งหนึ่งที่มีความแตกต่างกันคือ ผู้หญิงเมื่อมีอาการของโรคแม้จะไม่รุนแรงมักจะไปพบแพทย์มากกว่าผู้ชาย ส่วนข้อมูลในบ้านเราพบในผู้หญิงและผู้ชายในจำนวนใกล้เคียงกันหรือพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเล็กน้อย


โรคไอบีเอสพบบ่อยในวัยใด

โรคไอบีเอสพบได้ทุกวัยตั้งแต่ในวัยรุ่นจนถึงวัยสูงอายุ โดยพบได้บ่อยในคนวัยทำงานคือ อายุเริ่มต้นเฉลี่ยระหว่าง 20-30 ปี และจะพบได้บ่อยไปจนถึงอายุ 60 ปี หลังอายุ 60 ปี จะพบน้อยลง และพบว่าโรคไอบีเอสมักพบได้บ่อยในคนที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมชั้นกลางถึงชั้นสูง


จะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นโรคไอบีเอส

ในคนปกติการถ่ายอุจจาระของแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันมาก บางคนจะถ่ายอุจจาระทุกวัน บางคนถ่ายอุจจาระเป็นบางวัน โดยทั่วไปถือว่าการถ่ายอุจจาระที่ปกติคือการถ่ายอุจจาระ ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวันหรือไม่น้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ลักษณะอุจจาระที่ปกติจะต้องเป็นก้อนแต่ต้องไม่แข็งเป็นลูกกระสุนหรือเหลวมาก หรือเป็นน้ำ ต้องไม่มีเลือดปนและไม่มีปวดเกร็งท้องร่วมด้วยอาหารที่มีกากหรือเส้นใย (Fiber) จะช่วยลดอาการของไอบีเอสได้

อาการสำคัญของผู้ป่วยไอบีเอสคือปวดท้อง ส่วนใหญ่มักปวดท้องน้อย ลักษณะจะเป็นปวดเกร็ง อาการปวดจะดีขึ้นหลังถ่ายอุจจาระ พร้อม ๆ กับปวดท้องผู้ป่วยจะมีความปกติของการถ่ายอุจจาระร่วมด้วย อาจเป็นท้องเสียหรือท้องผูกก็ได้หรือเป็นท้องผูกสลับท้องเสีย ลักษณะอุจจาระจะเปลี่ยนไปเป็นก้อนแข็งหรือเหลวจนเป็นน้ำ ผู้ป่วยอาจถ่ายอุจจาระลำบากขึ้นต้องเบ่งมากหรืออาจรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระทันทีกลั้นไม่อยู่ผู้ป่วยจะรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยๆ แม้เพิ่งจะไปถ่ายอุจจาระมามีความรู้สึกถ่ายไม่สุด จะมีถ่ายเป็นมูกปนมากับอุจจาระมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีท้องอืดมีลมมากในท้อง เวลาถ่ายอุจจาระมักมีลมออกมาด้วย ผู้ป่วยมักมีอาการแบบนี้เป็นๆหายๆ รวมเวลาแล้วมักเป็นเกิน 3 เดือน ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่มักมีประวัติเป็นมานานหลายปี

ถ้าผู้ป่วยมีอาการถ่ายเป็นเลือด มีไข้ น้ำหนักลด ซีดลง มีอาการช่วงหลังเที่ยงคืน หรือมีอาการปวดเกร็งท้องมากตลอดเวลา อาการเหล่านี้บ่งชี้ว่าไม่ใช่โรคไอบีเอส


โรคไอบีเอสวินิจฉัยได้อย่างไร

โรคไอบีเอสจะได้รับการวินิจฉัยก็ต่อเมื่อแพทย์ได้วินิจฉัยแยกโรคอื่นๆแล้วหรือหาโรคอื่นที่จะอธิบายว่าเป็นสาเหตุของโรคไอบีเอสไม่ได้ ในวัยรุ่นหรือผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีแพทย์จะวินิจฉัยโรคไอบีเอส โดยอาศัยอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก และจะให้การรักษาไปก่อนโดยไม่จำเป็นต้องทำการสืบค้น สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 หรือ 50 ปี นอกจากแพทย์จะซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดและจะทำการสืบค้นได้แก่ตรวจเลือด ตรวจอุจจาระ ตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ ซึ่งผลการตรวจร่างกายและการสืบค้นต่างๆจะต้องอยู่ในเกณฑ์ปกติ

ข้อมูลจาก นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 2




จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #47  
เก่า 27-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ฝนตกน้ำท่วมเด็กเสี่ยง 'ปอดบวม' พ่อแม่ช่วยเสริมภูมิ...ป้องกันได้



ปอดบวมเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบทั่วโลก และในช่วงนี้เป็นช่วงฝนตกน้ำท่วมถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น!

เนื่องในโอกาส วันปอด บวมโลก (World Pneumonia Day) ที่เพิ่งผ่านพ้นไป อาทิตย์สุขภาพวันนี้ขอนำเสนอสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับ “โรคปอดบวม” พร้อมวิธีการป้องกันลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคดังกล่าวให้ผู้อ่านได้รับทราบกัน

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ว่า โรคปอดบวมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญที่คร่าชีวิตเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ทั่วโลกถึงปีละ 2 ล้านคนหรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิตของเด็กเล็ก 1 คนทุกๆ 20 วินาที ถึงแม้ว่าโรคปอดบวมจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนในปัจจุบัน แต่อุบัติการณ์การเสียชีวิตก็ยังคงสูงขึ้นจนน่ากลัว ดังนั้นองค์กรพันธมิตรวันปอดบวมโลกจึงร่วมกันรณรงค์วันปอดบวมโลกขึ้นเป็นปีที่ 3 ซึ่งตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคปอดบวมให้กว้างขวางยิ่งขึ้น พร้อมเร่งลดอุบัติการณ์การเสียชีวิตของเด็กเล็กอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

สำหรับในประเทศไทยจากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 9 พฤษภาคม 2554 พบผู้ป่วยโรคปอดบวม 54,705 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบมากที่สุดร้อยละ 40 รองลงมาเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปร้อยละ 29 ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพียงไม่กี่เดือนมีผู้เสียชีวิตมากถึงขนาดนี้และยิ่งในปัจจุบันเกิดมรสุมพัดผ่านประเทศไทยทำให้เกิดฝนตกหนัก อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย รวมทั้งเกิดสภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก ถ้าเด็กลงไปเล่นน้ำแล้วเกิดสำลักน้ำอาจทำให้มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดได้จึงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต่างๆได้มากขึ้น โดยโรคที่มากับฝน ได้แก่ โรคปอดบวม และโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ

ด้าน ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีรชัย ฉันทโรจน์ศิริ ที่ปรึกษาชมรมโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤติในเด็กแห่งประเทศไทย ให้ความรู้ถึงโรคปอดบวมว่า เกิดจากเชื้อหลายชนิด เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน โดยพบว่าโรคปอดอักเสบเกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัส เพราะอยู่ใกล้ตัวเรามาก คืออาศัยอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ เมื่อใดที่เยื่อบุถูกทำลายจากการเป็นหวัดเรื้อรังหรือมีน้ำมูกคั่งในโพรงจมูกเป็นเวลานานมีโอกาสที่เชื้อนิวโมคอคคัสจะหลุดเข้าสู่ร่างกายก่อให้เกิดโรคปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ และไอพีดีได้ นอกจากเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสแล้วพ่อแม่ยังต้องระวังเชื้อแบคทีเรียเอ็นทีเอชไอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อรุนแรงในหูชั้นกลางด้วย

“เชื้อนิวโมคอคคัส” อาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ และก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในอวัยวะนั้น ๆ ได้ และทำลายระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกายในเวลาไม่กี่วัน เช่น โรคปอดบวมหรือโรคปอดอักเสบ เมื่อเนื้อเยื่อถูกทำลายทำให้ไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ หากรุนแรงจะทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเสียชีวิต นอกจากนี้เชื้อดังกล่าวยังสามารถก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือฝีในสมอง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด โรคหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน (หูน้ำหนวก) ได้ ดังนั้นพ่อแม่ควรสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกไม่สบาย

โดยอาการของโรคปอด บวมในเด็ก เช่น มีไข้ ไอ จาม หายใจถี่และหอบ หายใจลำบากและมีเสียงดังวี้ดๆ หรือหายใจจนซี่โครงบุ๋ม ถ้าพบว่าเด็กมีไข้ ไอบ่อย หรือหายใจเร็ว ซึ่งพ่อแม่สามารถดูได้จากอัตราการหายใจ ซึ่งในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ขวบหายใจเร็วมากกว่า 50 ครั้งต่อนาทีและเด็กเล็กอายุมากกว่า 1 ขวบ หายใจเร็วมากกว่า 40 ครั้งต่อนาที ให้สงสัยว่าเด็กอาจเป็นโรคปอดอักเสบ ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยถือเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลลูกน้อยให้มีสุขภาพแข็งแรงด้วยการให้ทารกดูดนมแม่ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยควรทำร่างกายให้ลูกน้อยอบอุ่นอยู่เสมอและสอนให้เด็กรู้จักรักษาสุขอนามัยเป็นประจำ โดยเฉพาะการล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำจะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือรวมทั้งใส่หน้ากากอนามัย นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ หมั่นทำความสะอาดโพรงจมูกลูกน้อยอย่าให้มีน้ำมูกคั่งเป็นเวลานาน

ที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนไอพีดีพลัส ปอด-หูอักเสบ ที่นอกจากจะช่วยลดโอกาสเสี่ยงจากโรคปอดบวม ปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อนิวโมคอคคัสแล้วยังช่วยป้องกันโรคหูชั้นกลางอักเสบที่เกิดจากเชื้อนิวโมคอคคัสและเชื้อเอ็นทีเอชไอได้อีกด้วย

สุดท้ายการสังเกตอาการลูกน้อยยามเจ็บป่วยสำคัญยิ่งสำหรับพ่อแม่อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจนเด็กมีอาการหอบ หายใจลำบากและมีอาการรุนแรงมากขึ้นเพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้.




จาก .................... เดลินิวส์ หน้าวาไรตี้ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #48  
เก่า 27-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“ยุงรำคาญ” พาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบอื้อ / ปี 54 ป่วยไข้เลือดออกตาย 56 ราย

กรมควบคุมโรค พบยุงรำคาญมากสุด พาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ แต่ยืนยันไม่พบการระบาด มีวัคซีนป้องกันอยู่แล้ว ขณะที่ช่วงน้ำท่วมห่วงยุงลาย ก่อไข้เลือดออก พบผู้ป่วยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันรวม 6 หมื่น


ยุงรำคาญ

นพ.วิชัย สติมัย ผอ.สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สำหรับยุงที่พบในประเทศไทยนั้นมี 4 ชนิด ประกอบด้วย 1.ยุงรำคาญ ซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 80 เนื่องจากยุงชนิดนี้จะบินไกลถึง 1-2 กิโลเมตร ซึ่งสามารถจำแนกยุงรำคาญที่มักพบในไทยได้ 3 ชนิด คือ

1.ยุงรำคาญ (Culex gelidus) มักพบตามท่อน้ำ ชอบบินข้างหู กัดเจ็บ แต่ไม่นำโรค แม้ในบางประเทศเคยมีรายงานการติดเชื้อไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดดังกล่าวกัด แต่ในประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีผู้ป่วยเป็นไข้สมองอักเสบจากการโดนยุงชนิดนี้กัด 2.ยุงรำคาญ (Culex quiquefasciatus) เป็นพาหะนำโรคเท้าช้าง แต่พบว่ามีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 และ 3.ยุงรำคาญ (Culex Tritaeniorhynchus) ซึ่งพบว่ายุงชนิดนี้เป็นพาหะนำเชื้อไข้สมองอักเสบ เจอี แต่เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรการในการให้วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบชนิดนี้อยู่แล้ว จึงไม่พบการระบาดของโรคนี้ โดยยุงชนิดนี้มักพบตามฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู ม้า เป็นต้น


ยุงลาย

นพ.วิชัย กล่าวต่อว่า

2.ยุงลาย พบประมาณ 10% ซึ่งลูกน้ำยุงลายสามารถเติบโตได้ในแหล่งน้ำนิ่ง และเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก แต่ธรรมชาติของยุงลายจะบินไม่ไกล ประมาณ 100-200 ม.ดังนั้น จึงไม่ควรมีแหล่งน้ำขังอยู่ภายในบ้าน หากเลี่ยงไม่ได้ควรที่จะหาทางลดการสัมผัสกับยุงโดยการจุดยากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันยังเกิดปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนที่ประสบอุทกภัยต้องไปพักที่ศูนย์พักพิงจำนวนมาก ทำให้อาจจะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ ทางกรมควบคุมโรค โดยสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง จึงมีการเฝ้าระวังตามศูนย์พักพิงต่างๆ ซึ่งขณะนี้พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมากขึ้น แต่ยังอยู่ในจำนวนที่น้อย ซึ่งยังไม่ถือเป็นนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงยังต้องจำเป็นแนะนำวิธีการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามศูนย์พักพิงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

สำหรับยุงชนิดที่ 3 และ 4 คือ ยุงเสือ และยุงก้นป่อง โดยทั้งสองชนิดรวมกันมีรายงานการพบไม่10 % ซึ่งในส่วนของยุงเสือ จะพบตามผักตบชวา ซึ่งเป็นพาหะทำให้เกิดโรคเท้าช้าง ขณะที่ยุงก้นป่อง มีรายงานว่าพบตามแหล่งน้ำทิ้งบ้าง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการระบากของโรคมาลาเรีย เพราะการระบาดของโรคนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อยุงก้นป่องไปกัดคนที่เป็นมาลาเรียแล้วไปกัดคนอื่นต่อเท่านั้น

"สำหรับตัวเลขผู้ป่วยไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันพบ 64,000 ราย เสียชีวิต 56 ราย ขณะที่ปี 2553 พบผู้ป่วย 100,000 ราย เสียชีวิต 100 ราย ซึ่งไม่แตกต่างหรือน่ากังวลนัก” นพ.วิชัย กล่าว ว่าราย เสียชีวิตแล้ว 56 ราย




จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #49  
เก่า 30-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“การผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก”


ปัจจุบันพบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากมีมากขึ้น การเจาะเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือที่เรียกว่า psa นั้น รศ.นพ.ไชยยงค์ นวลยง ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยืนยันว่าสามารถช่วยให้ตรวจพบมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งมีโอกาสรักษาหายขาดได้ โดยวิธีผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกหรือการฉายรังสีรักษา ซึ่งในผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 70 ปี หรือยังมีสุขภาพแข็งแรง การผ่าตัดเพื่อเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดี มีประสิทธิภาพ และมีโอกาสหายจากมะเร็งได้สูง

การรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก ในปัจจุบันเราใช้การผ่าตัดด้วยกล้อง โดยเจาะผ่านช่องท้อง เพราะช่วยลดอาการเจ็บแผลหลังผ่าตัดลงไปมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดเป็นแผลเจาะรู ระยะเวลาฟื้นตัวหลังผ่าตัดสั้นลง หรือถ้าเป็นการรักษาทันยุค จะใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากเห็นเป็นภาพ 3 มิติ มีความแม่นยำในการผ่าตัดสูงมาก ทั้งนี้แพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ จะช่วยให้ผู้ป่วยกลั้นปัสสาวะได้ดี และคงสมรรถภาพทางเพศไว้ได้ดีกว่า เนื่องจากขณะผ่าตัดสามารถเห็นภาพขยายของท่อปัสสาวะและใยเส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของอวัยวะเพศได้ชัดเจนกว่า

มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะเริ่มต้น อาจจะไม่มีอาการ แต่ถ้ามีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะเวลากลางคืน ปัสสาวะลำบาก มีอาการปวดเวลาปัสสาวะ มีเลือดในน้ำเชื้อหรือปัสสาวะ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดในผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากโตหรือต่อมลูกหมากอักเสบ และอาจจะเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหากไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัย

ดังนั้นผู้ชายไทยอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป จึงควรได้รับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมากประจำปีแม้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ก็ตาม และหากพบว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น การผ่าตัดในปัจจุบันสามารถช่วยรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีผ่าตัดทั่วไป ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเจ็บตัวน้อยลง

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล






จาก ..................บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #50  
เก่า 30-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


หลากสูตรมะขามป้อม แก้ไอขับเสมหะ



เมื่อเจ็บคอก็มักมีอาการไอและมีเสมหะ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ ไอบ่อยๆ ก็ยิ่งเจ็บและระคายคอหนักขึ้น อีกทั้งอาจสร้างความรำคาญแก่คนรอบข้าง และขัดจังหวะการสนทนา

สำหรับผู้ที่ไม่ชอบการรับประทานยาเพื่อรักษาอาการ ก็มักจะใช้วิธีกินหรือจิบน้ำมะนาว และดื่มน้ำอุ่นมากๆ ช่วยบรรเทา แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่า 'มะขามป้อม' ที่รสฝาดเปรี้ยว ขมและอมหวาน ก็มีสรรพคุณแก้ไอ และขับเสมหะเช่นเดียวกัน โดยสูตรมะขามป้อมที่สามารถนำมาทำเป็นยาสามัญประจำบ้านนี้ ทำง่ายไม่มีพิษภัย

สูตรแรกอย่างเบสิก เมื่อมีอาการไอก็แค่เคี้ยวผลมะขามป้อมให้ละเอียด แล้วกลืนลงคอทั้งเนื้อและน้ำ หรืออาจค่อยๆเคี้ยวและดูดกลืนเอาเฉพาะน้ำก็ได้

ส่วนสูตรต่อมา คัดผลมะขามป้อมที่แก่จัด โขลกพอแหลก ผสมกับเกลือเล็กน้อย แล้วอมหรือเคี้ยวกลืนลงคอไป ขณะที่สูตรสุดท้าย ให้ใช้ผลมะขามป้อมไปตำให้ละเอียด จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำ ได้แล้วผสมเกลือเล็กน้อย ใช้จิบบ่อยๆ จะช่วยบรรเทาให้อาการไอและเสมหะเบาบางลง ทั้งนี้หากเป็นอยู่นานไม่หาย ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด.




จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์ สามัญประจำบ้าน วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 00:45


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger