#41
|
||||
|
||||
ยังคงตามอ่านอยู่ด้วยความกังวล แต่น่าจะไม่มีอะไร
__________________
จงกลายเป็นวงๆๆ ปุ๋งๆๆๆๆๆ |
#42
|
||||
|
||||
จมเรือสร้างปะการังเทียม คืนธรรมชาติสู่อ่าวมหาชัย "เมืองแม่กลอง" จ.สมุทรสาคร ทุ่มงบ 19 ล้าน จัดทำโครงการสร้างปะการังเทียม คืนธรรมชาติสู่ทะเล ร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม หวังใช้พื้นที่ 25 ตารางกิโลเมตร ให้เป็นที่อยู่อาศัยของพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลชนิดต่างๆ ทั้งนี้ นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ ส.ส. จังหวัดสมุทรสาคร ในนามภาคเอกชนและเป็นเจ้าของกิจการประมง ได้มอบเรือประมงชื่อ มณฑลชัยนาวี 1674 02751 ซึ่งเป็นเรืออวนล้อม ขนาดความยาว 23 เมตร กว้าง 10 วา ในการสร้างปะการังเทียมของ จ.สมุทรสาคร เพื่อคืนธรรมชาติสู่ทะเล นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จ.สมุทรสาคร ได้ร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาและทิศทางการพัฒนา โดยจัดทำโครงการสร้างปะการังเทียมในครั้งนี้ขึ้น มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ 1.ทรัพยากรธรรมชาติ กุ้ง หอย ปู ปลา ขณะนี้น้อยลงมาก 2.ประมงชายฝั่ง มีเรือ 400-500 ลำ เริ่มหาปลาไม่ได้ ต้องเลิกอาชีพ 3.กระแสอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.เพื่อร่วมกันสร้างปะการังเทียมหรือสร้างบ้านปลาให้ปลาอยู่ และ 5.เพื่อเป็นแหล่งการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่ ตรงกับนโยบายจังหวัด โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2554 ด้วยงบประมาณของจังหวัดสมุทรสาครจำนวน 19 ล้านบาท เริ่มสัญญาเดือนมกราคมด้วยการสร้างเป็นรูปบล็อกขนาด 1.5x1.5 เสร็จแล้วจะเอาไปทิ้งลงทะเลตามจุดที่กรมประมงอนุญาต พื้นที่ 25ตารางกิโลเมตร ณ ละติจูดที่ 13 องศา 18.320 ลิปดาเหนือและ ลองติจูดที่ 100 องศา 22.482 ลิปดาตะวันออก ส่วนภาคเอกชนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ลักษณะให้ความร่วมมือระดมทุนจากภาคเอกชน โดยจะมีการประเมินภายใน 3-5 เดือน เพื่อจะดูว่าจะมีปลาจำนวนมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งภาคเอกชน ประชาชน สามารถร่วมสมทบทุนสร้างปะการังเทียมได้ในราคาบล็อกละ 5,000 บาท สอบถามรายละเอียดการร่วมระดมทุนในการสร้างปะการังเทียมได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสาคร หมายเลขโทรศัพท์ 034-411-846 จาก .............. แนวหน้า วันที่ 12 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#43
|
||||
|
||||
บ้านใหม่ใต้ท้องทะเล เพราะเหตุใดปลาน้อยใหญ่จึงหลงเสน่ห์ ซากเรือ รถถัง หรือแม้แต่ตู้รถไฟใต้ดิน ....................... เรื่องโดย สตีเฟน แฮร์ริแกน เพียงสองนาทีเศษๆ เรือตรวจจับขีปนาวุธ เจเนอรัลฮอยต์ เอส. แวนเดนเบิร์ก ก็จมลงสู่ก้นมหาสมุทร เช้าอันแจ่มใสวันหนึ่งของเดือนพฤษภาคม ปี 2009 ในน่านน้ำห่างจากชายฝั่งเมืองคีย์เวสต์ รัฐฟลอริดา ไป 11 กิโลเมตร เสียงระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภายในตัวเรือที่มีการฝังระเบิดไว้ 46 ลูกใต้เส้นแนวน้ำ กลิ่นฉุนของดินปืนโชยมาตามลม และกลุ่มควันสีดำทะมึนเริ่มลอยสูงขึ้น แต่กว่าที่แรงระเบิดจะสร้างความสะทกสะท้านแก่เรือลำนี้ก็กินเวลานานทีเดียว เรือปลดประจำการสนิมเขรอะความยาว 159 เมตร พร้อมจานเรดาร์ที่ใช้การไม่ได้สองจาน ยังคงลอยลำนิ่งราวกับไม่รู้ร้อนรู้หนาว และแล้ว ขณะที่เฮลิคอปเตอร์บินวนรายงานข่าวอยู่ด้านบน และท่ามกลางสายตาของสักขีพยานอีกนับพันที่จับจ้องจากเรือน้อยใหญ่ที่จอดลอยลำห่างจากรัศมีการระเบิด เรือแวนเดนเบิร์ก ก็ค่อยๆจมลงสู่มหาสมุทรแอตแลนติกโดยลำเรือยังคงทอดตัวขนานกับเส้นขอบฟ้า จนกระทั่งในที่สุดหัวเรือก็ดิ่งลงและท้ายเรือชี้ขึ้นฟ้า เหลือไว้เพียงพรายฟองสีขาวที่ผุดพลุ่งขึ้นมา "ฝูงปลาจะมาอาศัยอยู่ในซากเรือบ่ายวันนี้!" โจ เวเทอร์บี ประกาศ ชายผู้นี้เป็นหัวหอกของอภิมหาโครงการจมเรือแวนเดนเบิร์ก ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปจะกลายเป็นปะการังเทียมที่ดึงดูดนักดำน้ำและชาวประมงจากทั่วสารทิศให้มายังคีย์เวสต์ แน่นอนว่าเรือแวนเดนเบิร์ก ไม่ใช่เรือลำแรกที่ถูกจมเพื่อทำเป็นปะการังเทียม น่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะฟลอริดาคีส์กลายเป็นสุสานของเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง ดวนและบิบบ์ รวมถึงเรือยกพลขึ้นบก สปีเกิลโกรฟ ของกองทัพเรือสหรัฐฯ และบนพื้นทรายก้นสมุทรห่างออกไปราว 30 กิโลเมตรจากเมืองเพนซาโคลา เป็นที่จอดของเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งลำที่ชื่อ ยู.เอส.เอส. โอริสเคนี ซึ่งเป็นเรือลำใหญ่ที่สุดในโลกที่ถูกจมลงเพื่อให้เป็นปะการังเทียม ผู้คนทั่วโลกรู้กันมานานแล้วว่า ซากเรืออับปางเป็นแหล่งประมงชั้นยอด วัสดุที่นิยมใช้ในการทำปะการังเทียมมักได้แก่ของเหลือทิ้ง ตั้งแต่ตู้เย็นเก่า รถเข็นของในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงซากรถยนต์ และตู้ขายสินค้าแบบหยอดเหรียญที่เลิกใช้แล้ว พูดง่ายๆก็คือ อะไรที่จมน้ำได้ล้วนมีศักยภาพที่จะเป็นปะการังเทียมได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นตู้รถไฟใต้ดินปลดประจำการ รถถังโบราณ รถหุ้มเกราะ หรือแท่นขุดเจาะน้ำมัน รวมไปถึงมอดูลรูปร่างคล้ายรวงผึ้งซึ่งออกแบบมาเป็นพิเศษเรียกว่า รีฟบอล (Reef Ball) ปะการังเทียมส่วนใหญ่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลโดยแบ่งเป็นระยะต่างๆที่ค่อนข้างคาดเดาได้ ในระยะแรกเมื่อกระแสน้ำปะทะกับโครงสร้างแนวตั้งอย่างเรือ แวนเดนเบิร์ก จะก่อให้เกิดการลอยตัวขึ้นของสารอาหารและแพลงก์ตอนที่เป็นแหล่งอาหารของปลาเล็กปลาน้อยอย่างซาร์ดีนและปลามินนาว ซึ่งจะล่อสัตว์นักล่าอย่างปลาทูน่าครีบน้ำเงินและฉลามเข้ามาอีกทอดหนึ่ง จากนั้นสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่แสวงหาแหล่งหลบภัยกลางห้วงสมุทรจะพากันอพยพเข้ามา ได้แก่ปลาที่อาศัยในโพรงและรอยแยกอย่างปลากะรัง ปลากะพง ปลากระรอก ปลาไหล และปลาวัว ส่วนนักล่าจอมฉวยโอกาสอย่างปลาแจ็กและปลาสากก็รีบจับจองพื้นที่ในห้วงน้ำไว้ ดักรอเหยื่อที่เผยตัวออกมา และเมื่อเวลาผ่านไป โครงสร้างเหล็กกล้าแปลกปลอมขนาดมหึมาจะปกคลุมไปด้วยสาหร่าย ปะการังทั้งอ่อนและแข็ง เพรียงหัวหอม และฟองน้ำ มองไปทางไหนก็มีแต่สรรพชีวิตที่ก่อกำเนิดขึ้น นักชีววิทยาบางคนกังวลว่าปะการังเทียมจะดึงดูดปลามาจากปะการังธรรมชาติ เจมส์ เอช. โคแวน จูเนียร์ อาจารย์ประจำภาควิชาสมุทรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ชายฝั่งที่มหาวิทยาลัยลุยเซียนาสเตต ให้ความเห็นว่า "หากความสำเร็จตัดสินจากปริมาณปลาที่จับได้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ปะการังเทียมก็ถือว่าได้ผลพอใช้ครับ แต่หากโครงสร้างเหล่านั้นซึ่งมักมีการทิ้งลงในน่านน้ำตื้นเพื่อประโยชน์ในการทำประมง ดึงปลาจากปะการังธรรมชาติที่อยู่ห่างจากชายฝั่งออกไป นั่นอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาการทำประมงเกินขนาดโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่อยู่ในภาวะวิกฤติอยู่แล้ว" ปะการังเทียมบางประเภทเป็นอันตรายต่อการเดินเรือและก่อมลพิษให้มหาสมุทร โดยสิ่งปนเปื้อนจะค่อยๆรั่วไหลออกมาเป็นเวลาหลายปี มลพิษนี้เองเป็นเหตุผลที่งบประมาณเกือบร้อยละ 70 จากทั้งหมด 8.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่ใช้ในการจมเรือแวนเดนเบิร์ก หมดไปกับการทำความสะอาด ซึ่งรวมถึงการนำแร่ใยหินหรือแอสเบสทอสกว่าสิบตันและสายไฟกว่า 243,000 เมตรออกจากตัวเรือ ปะการังเทียมไม่ได้เป็นเพียงสุสานของยางรถยนต์และเรือเท่านั้น หลายบริษัทเริ่มให้บริการแก่ผู้ที่ปรารถนาจะอุทิศร่างกายตนเองเป็นปะการังเทียม แต่ธุรกิจสุสานปะการังยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่มขนาดเล็กมาก เช้าวันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ จิม ฮัตสลาร์ หนึ่งในสามหุ้นส่วนของบริษัทเนปจูนเมโมเรียลรีฟ ชวนผมดำน้ำลงไปชมการบำรุงรักษาสุสานใต้น้ำที่เขาสร้างขึ้นลึกลงไป 12 เมตร ห่างจากชายฝั่งเมืองไมแอมีบีชไป 7 กิโลเมตร ขณะที่ฮัตสลาร์ง่วนกับการใช้มีดขูดสาหร่ายออกจากป้ายหลุมศพ ผมก็แหวกว่ายสำรวจโครงการระยะแรกของสวนอนุสรณ์สถานใต้น้ำที่เมื่อเสร็จสมบูรณ์จะครอบคลุมพื้นที่ 65,000 ตารางเมตร สายน้ำขุ่นมัวช่วยสร้างบรรยากาศขรึมขลังให้การค้นพบโครงสร้างใต้น้ำอันน่าพิศวงนี้ได้เป็นอย่างดี ภาพที่ผมเห็นคือกลุ่มเสาแตกหักพร้อมด้วยเสาบริวารทอดตัวเป็นแนวออกไปทั้งสองข้าง และราชสีห์สำริดขนาดยักษ์สองตัวทำหน้าที่ทวารบาลเฝ้าประตูเหล็กอยู่ เดิมทีแนวปะการังเนปจูน (Neptune Reef) ตั้งใจให้เป็นงานศิลปะ ทว่าต่อมาธุรกิจบริการด้านหลุมศพได้กลายเป็นช่องทางหารายได้เพื่อสนับสนุนโครงการนี้ และจนถึงปัจจุบันมี "หลุมศพ" อยู่ที่นั่นราว 200 หลุม ผู้ที่ทอดร่างลง ณ แนวปะการังเนปจูนจะได้รับการฌาปนกิจ อัฐิของพวกเขาจะถูกนำมาผสมกับปูนซีเมนต์ และถ้าไม่บรรจุไว้ในเสาหิน ก็อาจนำไปหล่อเป็นประติมากรรมรูปดาวทะเล ปะการังสมองหรือรูปทรงอื่นๆ ผมแหวกว่ายอยู่ท่ามกลางปลาสลิดหินบั้ง ปลาสร้อยนกเขา ปลานกแก้ว และปลาสินสมุทรฝรั่งเศส ขณะทำความเคารพและไว้อาลัยแด่ผู้อุทิศร่างเป็นแหล่งอาศัยของสรรพชีวิตใต้ ทะเล ผมดำน้ำผ่านหน้าราชสีห์ยักษ์ตัวหนึ่งซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บนแท่นสูงลิ่วกว่า 4.5 เมตร ภาพที่ผมเห็นนั้นพร่าเลือนเป็นช่วงๆ เพราะฝูงปลาที่ว่ายผ่านไปมา ราชสีห์ตัวนี้มาอยู่ที่นี่ได้เพียงหกปี แต่ดูราวกับว่ามันเร้นกายจากสายตามนุษย์มาหลายชั่วอายุคน สาหร่ายสีแดงงอกงามอยู่ตามกรงเล็บ ส่วนปะการังก็รุกคืบยึดครองทั่วแผงคอ จนดูประหนึ่งประจักษ์พยานแห่งพลานุภาพของมหาสมุทรที่สามารถกลืนกินวัสดุแทบทุกประเภท รวมถึงร่างกายมนุษย์ และเปลี่ยนสรรพสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นอุทยานแห่งชีวิต. จาก .............. ไทยโพสต์ วันที่ 29 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#44
|
||||
|
||||
ภูเก็ตทุ่มงบ 7 ล้าน-สร้างปะการังเทียม สร้างคอนกรีต 1.6 พันแท่งกลางทะเลอ่าวบางเทา ภูเก็ต - นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกอบจ.ภูเก็ต กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการจัดสร้างแนวปะการังเทียมเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 2 บริเวณอ่าวบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง และบริเวณอ่าวกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ ว่า อบจ.ภูเก็ตร่วมกับศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทัพเรือภาคที่ 3 กรมประมง กรมขนส่งทางน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำโครงการนี้ขึ้น ใช้งบประมาณ 7.9 ล้านบาทสร้างแท่งคอนกรีต 1,630 แท่งวางในเขตพื้นที่อ่าวบางเทา และอ่าวกมลา รอบแนวชายฝั่ง 3,000 เมตร เพื่อป้องกันและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการังและระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งประกอบอาชีพประมง อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นแหล่งดำน้ำของจังหวัดภูเก็ตในอนาคต นายไพบูลย์กล่าวว่า โครงการจัดวางแนวปะการังเทียมของอบจ.ภูเก็ตในครั้งนี้ เป็นโครงการระยะที่ 2 ที่ทางอบจ.ภูเก็ตจัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันฟื้นฟูและรักษาแนวปะการังธรรมชาติให้มีความสมบูรณ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกจนได้รับสมญานามว่า "ไข่มุกอันดามัน" เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีชายหาดสวยงาม มีน้ำทะเลที่ใสสะอาด ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย เพาะพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ สัตว์สวยงาม และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี แต่เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมายังขาดการจัดการในการวางแผน ควบคุมอย่างเหมาะสม ทำให้การรักษาความสมดุลทางธรรมชาติไม่ดีพอ จนส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแนวปะการังชายฝั่งทะเลที่ถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 2 มีนาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#45
|
||||
|
||||
นราฯฟื้นฟูทะเล ทำปะการังเทียม ปะการัง- จังหวัดนราธิวาสจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียม หนึ่งในโครง การไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 3 จำนวน 1,100 แท่ง นราธิวาส - นายสามารถ วราดิศัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล หรือปะการังเทียมว่า หนึ่งในโครงการไทย เข้มแข็ง 2555 เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาส ครั้งที่ 3 จำนวน 1,100 แท่ง นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นรา ธิวาส เผยว่า เพื่อเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และถือเป็น การช่วยเหลือชาวประมงเรือเล็กในพื้นที่ เพราะไม่สามารถที่จะออกเดินเรือในระยะไกลได้ โดยใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 33,650,000 บาท จัดทำปะการังเทียมจำนวน 6,600 แท่ง ด้านนายสันธนะ จันทร ผู้อำนวยการเจ้าท่าจังหวัดนราธิวาส เผยถึงบริเวณในการปล่อยปะการังเทียมดังกล่าวว่า มาจากการพิจารณาเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายแล้ว ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือของชาวประมง รวมถึงยุทธศาสตร์การเดินเรือของเจ้าหน้าที่ทหารเรือ จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 11 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#46
|
||||
|
||||
แหล่งปะการังเทียมสัตว์น้ำเพิ่ม ปี 54 เดินหน้าวางต่อเนื่อง ดร.สมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์แหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเล กรมประมงได้จัดทำโครงการจัดสร้างปะการังเทียมขึ้น เพื่อนำไปจัดวางในท้องทะเลไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2554 กรมประมงได้จัดวางปะการังเทียม หรือแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลครบจำนวน 377 แห่งแล้ว ประกอบด้วยแหล่งใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตรจำนวน 33 แห่ง และแหล่งเล็กครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ตารางกิโลเมตรจำนวน 344 แห่ง โดยใช้แท่งคอนกรีตรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาด 1.5X1.5X1.5 เมตร และ 2X2X2 เมตร เป็นวัสดุในการจัดทำปะการังเทียม ผลของการจัดสร้างปะการังเทียมตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี จวบจนถึงปัจจุบันได้ก่อให้เกิดผลดีต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ และระบบนิเวศในบริเวณที่มีการจัดวางปะการังเทียม และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำต่างๆ เช่น ฟองน้ำ เพรียง หนอนทะเล และหอย รวมทั้งแพลงก์ตอนและสาหร่าย ตลอดจนปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ปลากะพงแดง ปลาเหลืองขมิ้น ปลาสลิดหิน ปลากะรัง ปลานกแก้ว หมึก ปู และกุ้ง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าปลาที่หายากกลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เช่น ปลาจะละเม็ดเทา ปลาช่อนทะเล ปลากุเลา ปลาหมอทะเล และปลาตะลุมพุก เป็นต้น ทำให้ชาวประมงมีแหล่งทรัพยากรสัตว์น้ำสำหรับทำการประมงเพิ่มขึ้นและไม่ห่างจากฝั่ง เป็นผลดีต่อชาวประมงพื้นบ้าน ช่วยประหยัดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ร้อยละ 10-20 และมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20-30 นอกจากนี้ยังเป็นผลพลอยได้ในการป้องกันเครื่องมืออวนลากและอวนรุนไม่ให้เข้ามาทำการประมงในบริเวณใกล้ฝั่ง จึงช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงอีกทางหนึ่งด้วย และที่สำคัญคือกลายเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมทางทะเล อธิบดีกรมประมง ยังได้กล่าวถึงโครงการเกี่ยวกับการสร้างปะการังเทียมหรือแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลที่สำคัญยิ่งอีกโครงการหนึ่งภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปัตตานี และนราธิวาส โดยนำวัสดุเหลือใช้ ได้แก่ ตู้รถไฟ รถขนขยะ รถถัง รถยนต์ และท่อน้ำทิ้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทย กรุงเทพมหานคร กองทัพบก กองทัพไทย และกรมทางหลวง ในการสนับสนุนวัสดุที่ไม่ใช้งานแล้ว มาปล่อยวางในทะเลเพื่อสร้างปะการังเทียม โดยมีกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสนับสนุนการจัดวาง และสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงาน ผลของโครงการนี้ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ เป็นแหล่งประมงที่สำคัญของพี่น้องชาวประมงในพื้นที่จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และใกล้เคียง มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแผนจะจัดสร้างปะการังเทียมในปีงบประมาณ 2554 อีก 15 แห่ง ตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งคาดหวังว่าการสร้างปะการังเทียมจะช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลมีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นเพียงพอกับความต้องการของประชาชน สำหรับปะการังเทียมนั้นนับเป็นวัตกรรมอย่างหนึ่งที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อทดแทนปะการังแท้ที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักในขณะนี้ “ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำจะมีอยู่ได้นั้นก็คงต้องขึ้นอยู่กับพี่น้องชาวประมงและประชาชนในพื้นที่ ในการร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ และใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ปฏิบัติตามมาตรการและข้อกฎหมายต่างๆในการทำการประมงเพื่อให้มีสัตว์น้ำเหลือไว้สำหรับลูกหลานของเราในอนาคต” อธิบดีกรมประมงกล่าว. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#47
|
||||
|
||||
ตั้งหน้าตั้งตาทำแต่ปะการังเทียม....แต่ปะการังธรรมชาติ กลับไม่ดูแลรักษา ปล่อยให้ลากอวนและระเบิดปลา กันจนวินาศสันตะโร.... น่าเศร้าจริงๆค่ะ...
__________________
Saaychol |
#48
|
||||
|
||||
สร้างบ้านหลังใหม่ใต้ทะเล ปะการังเทียม- โครงการสร้างบ้านใหม่ใต้ทะเล ปล่อยปะการังเทียม จ.นครศรีธรรมราช ใช้ตู้คอนเทนเนอร์ เป้าหมายจัดวางตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการสร้างแนวปะการังเทียมให้กับสัตว์น้ำได้อาศัยและหลบภัยจำนวน 99 ตู้ ระหว่างปี 2550-2555 ที่ชายหาดริมทะเลในบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม นครศรีธรรมราช - นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยถึงโครงการสร้างบ้านใหม่ใต้ทะเล ปล่อยปะการังเทียมใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ว่า มีเป้าหมายจัดวางตู้คอนเทนเนอร์เป็นการสร้างแนวปะการังเทียมให้กับสัตว์น้ำได้อาศัยและหลบภัยจำนวน 99 ตู้ ระหว่างปี 2550-2555 สำหรับการจัดวางปะการังเทียมโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ได้ดำเนินการปีละ 18 ตู้ และในปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่มีการจัดวางปะการังเทียมตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 28 ตู้ กำหนดวางพิกัดบริเวณอ่าวขนอมห่างจากชายฝั่งประมาณ 3 กิโลเมตร วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติใต้ท้องทะเลขนอม เป็นแนวปะการังเทียมสำหรับเป็นบ้านใหม่ของสัตว์น้ำทางทะเล โดยเฉพาะปลาโลมาสีชมพู สัญลักษณ์ของอำเภอขนอม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมแหล่งประมงให้มีความอุดมสมบูรณ์พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จาก ............... ข่าวสด วันที่ 4 กรกฎาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#49
|
||||
|
||||
โครงการพระราชดำริ ปะการังเทียม จากการดำเนินการโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นผลให้คนในชุมชนแห่งนี้มีวิถีชีวิตริมฝั่งชายทะเลอย่างมีความสุข และพร้อมถวายความจงรักภักดีในการรักษาความสมดุลของทะเลให้คงอยู่ต่อไป เป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้วที่ชาวบ้านในอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีชีวิตสุขสบายริมฝั่งทะเลที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อันเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงห่วงใยชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเลอ่าวไทยที่จับปลาและสัตว์ทะเลได้น้อยลง จากความเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ก่อเกิดเป็นโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ที่เรียกว่า ปะการังเทียม โดยว่าที่ ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เล่าว่า นับจากปี 2545 เป็นต้นมา จังหวัดปัตตานี และกรมประมง ได้เริ่มนำปะการังเทียม ที่ได้จากซากโบกี้รถไฟ แท่งคอนกรีตเสริมเหล็ก รวมถึงซากรถยนต์มาทิ้งในท้องทะเล เป็นบ้านหลังน้อยให้ประชากรปลาได้อยู่อาศัย "โครงการปะการังเทียมนี้ ถือเป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อทรัพยากรทางทะเล ต่อชาวบ้านชาวประมง ตลอดจนชาวปัตตานี ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับการพัฒนาดีขึ้น จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่สิ่งที่รัฐบาลและพวกเราทุกคนมุ่งหวังคือคำว่าสันติสุขในพื้นที่ 3 จังหวัด" ผลดีจากการนำปะการังเทียมไปทิ้งยังท้องทะเลให้กับปลาและสัตว์น้ำ คุณลุงประเสริฐ เกียรติภักดี รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลตะลุบัน เล่าว่า ทุกวันนี้พบปลา และสัตว์น้ำน้อย-ใหญ่เพิ่มมากขึ้น บางพื้นที่สัตว์น้ำที่เคยหายไป อย่างเช่น ปลาช่อนทะเล ปลาผีเสื้อ ปลาโฉมงาม ก็กลับมาให้เห็นอีกครั้ง ชาวบ้านออกเรือไปไม่นานก็ได้ปลามาขายสร้างรายได้ให้คนในหมู่บ้านเป็นอย่างดี และทุกคนตั้งใจที่จะสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล และมีส่วนร่วมในการสร้างบ้านปลาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน “อยากจะสนองพระราชดำริที่ท่านได้มอบให้ชาวอำเภอสายบุรี โดยเฉพาะโครงการปะการังเทียม เราก็ได้ทำเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่านด้วยการสร้างบ้านปลา ซึ่งบ้านปลานี้ ถ้าหากว่าเราไม่ดูแล มันก็จะมีพวกอุปสรรค ประมงที่ใหญ่ มีเครื่องมือที่ทันสมัย พวกอวนที่คลุมบ้านปลา ถ้าเราทำความสะอาดบ้านปลา จะทำให้บ้านปลาสะอาดปลาก็จะมาอยู่อาศัยมากขึ้นถือเป็นโครงการสานต่อพระองค์ท่าน ” การก่อเกิดโครงการปะการังเทียม อันเนื่องมาจากพระราชดำรินี้ ใช่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประชากรสัตว์น้ำในผืนทะเลให้มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า พสกนิกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แห่งนี้ พร้อมถวายความจงรักภักดีด้วยการดูแลรักษาทรัพยากรธรรรมชาติเหล่านี้ให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน จาก ................ สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 10 สิงหาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#50
|
||||
|
||||
ได้รับทราบจากน้องโรจน์...ตากล้องช่อง 9 อสมท. ที่ได้ไปสำรวจรถถังปะการังเทียม เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ว่า รถถังมีเศษอวนคลุมอยู่มากมาย ไม่น่าดูเอาเสียเลย ไปโลซินเดือนกันยายนนี้...เราจะเลยไปช่วยกำจัดอวนที่รถถังให้ด้วยค่ะ..
__________________
Saaychol |
|
|