#41
|
||||
|
||||
เชิญอ่านเรื่อง "โลกร้อน" จากบอร์ดเก่า ได้ที่ http://www.saveoursea.net/boardapr20...php?topic=27.0 โลกร้อนคร่าชีวิต หน่วยงานบรรเทาทุกข์ออกซ์แฟมบอกว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้มีประชาชนเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจำนวน 21,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัวจากปีที่แล้ว ขณะกำลังมีการเจรจาหาข้อตกลงเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก อยู่ในเวลานี้ รายงานได้บรรยายถึงเหตุการณ์น้ำท่วมในปากีสถาน ไฟป่าและคลื่นความร้อนในรัสเซีย น้ำทะเลสูงขึ้นที่ประเทศเกาะตูวาลูในมหาสมุทรแปซิฟิก การเจรจาเรื่องโลกร้อนของสหประชาชาติมีการต่อรองระหว่างประเทศร่ำรวยกับยากจนในเรื่องการจัดเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ป่าเขตร้อน การเตรียมการรับมือกับภาวะโลกร้อน และการตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเจรจาที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อปีที่แล้วจบลงด้วยการมีข้อตกลงระดับโลกซึ่งไม่มีผลผูกพัน ในปีนี้ไม่มีใครคาดหวังกับการเจรจานัก เพราะรู้อยู่แล้วว่าพวกสมาชิกรัฐสภาของสหรัฐไม่สนับสนุนการลดปริมาณการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น ทิม กอร์ ผู้เขียนรายงานบอกว่า ควรมีการเก็บภาษีการบินระหว่างประเทศและการเดินเรือเพิ่มเติม เพื่อนำเงินมาใช้ลดปัญหาโลกร้อน เหตุการณ์ ในปี 2010 สอดคล้องกับการคาดหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของยูเอ็น ซึ่งบอกไว้ว่า โลกจะเจอกับคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม และน้ำทะเลสูงขึ้น ปากีสถานได้ถูกน้ำท่วมราว 1 ใน 5 ของพื้นที่ประเทศ มีคนตาย 2,000 คน มีผู้เดือดร้อน 20 ล้านคน เกิดโรคระบาด บ้านเรือน พืชผล ถนน โรงเรียนพังหมด ความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 300 ล้านบาท ที่รัสเซีย อุณหภูมิได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวถึง 7.8 องศา อัตราการตายรายวันในมอสโกเพิ่มขึ้นเป็น 700 ไฟป่าได้เกิดขึ้น 26,000 ครั้ง ในตูวาลู น้ำทะเลได้สูงขึ้นปีละ 0.2 นิ้ว ไม่สามารถปลูกพืชอาหารได้เพราะน้ำเค็มหนุน จึงต้องนำเข้าอาหาร. จาก .............. ไทยโพสต์ คอลัมน์โลกน่ารู้ วันที่ 1 ธันวาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 22-01-2011 เมื่อ 12:55 |
#42
|
||||
|
||||
ผู้ดีเตือน 'โลกร้อน' เขย่าขั้วโลกเหนือ สัตว์ผสมข้ามชนิดเร่งสูญพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปัญหาหนักอกของนักสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมาโดยตลอด วารสารเนเจอร์ของอังกฤษรายงานว่า ความกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของโลกกำลังบังคับให้หมีขั้วโลก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทวีปอาร์กติก ขั้วโลกเหนือ ต้องไปจับคู่ผสมพันธุ์กับเพื่อนต่างสปีชีส์ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญพันธุ์ในไม่ช้า งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้เป็นของเบรนดัน เคลลี่ หน่วยงานบริหารแห่งมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือโนอา ระบุว่า ภาวะโลกร้อนจู่โจมทวีปอาร์กติกหนักกว่าส่วนอื่นๆของโลก 2-3 เท่า ทำให้สภาพแวดล้อมแห่งนี้ที่เป็นบ้านของสัตว์บกและสัตว์ทะเลหลายสิบชนิดเริ่มเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ธารน้ำแข็งที่ละลายรวดเร็วขึ้น หมายถึงการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัย บังคับให้สัตว์ชนิดต่างๆตกอยู่ในภาวะอันตรายของการผสมข้ามสายพันธุ์ เมื่อประชากรสัตว์ที่อยู่โดดเดี่ยวต้องถูกบีบให้มาอยู่รวมกัน มันจะผสมพันธุ์กันและเกิดเป็นลูกผสม สัตว์ที่หายากอยู่แล้วจะสูญพันธุ์ในที่สุด ธารน้ำแข็งเป็นเวทีล่าแมวน้ำ เหยื่อสุดโอชะของหมีขั้วโลก การละลายของธารน้ำแข็งอาร์กติก ที่คาดว่าจะหายไปหมดในสิ้นศตวรรษนี้ ถ้ายังไม่มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้หมีขั้วโลกต้องออกมาล่านอกเขตปกติ เมื่อปี 2549 นักชีววิทยาค้นพบหมีที่ชื่อ พิซลี่ ซึ่งเป็นลูกผสมของหมีกริซลี่ และหมีขั้วโลก และในปีนี้ หมีที่ถูกนายพรานยิงตายมีดีเอ็นเอ หรือรหัสพันธุกรรมที่ต่างไปจากเดิม ขณะที่ปีก่อนพบลูกผสมระหว่างวาฬหลังโหนกกับวาฬไรต์ในทะเลแบริ่ง ระหว่างอลาสก้ากับรัสเซีย ในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เหลือวาฬไรต์อยู่ไม่ถึง 200 ตัว และวาฬหลังโหนกอีกในสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่จากการผสมข้ามสายพันธุ์ จะทำให้ประชากรวาฬทั้ง 2 ชนิดสูญหายไปอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การผสมข้ามสายพันธุ์ไม่ได้ถือว่าเลวร้ายเสมอไป เพราะถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการ แต่เมื่อมีสาเหตุมาจากน้ำมือมนุษย์ ปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นช่วงสั้นๆ ซึ่งนำไปสู่การทำลายความหลากหลายทางพันธุกรรม ตัวอย่างเช่น เมื่อมีการนำเป็ดหัวเขียวเข้ามาในนิวซีแลนด์เมื่อศตวรรษที่ 19 มันผสมพันธุ์กับเป็ดสีเทาพันธุ์ท้องถิ่น จนถึงปัจจุบันนี้ เป็ดสีเทาสายพันธุ์บริสุทธิ์แทบไม่เหลืออยู่แล้ว จาก ............... ข่าวสด วันที่ 20 ธันวาคม 2553
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#43
|
||||
|
||||
"สหรัฐอเมริกาให้สัญญาลดโลกร้อน" ........................ โดย จูดิธ บ. เซฟคิน อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ ทั่วโลกต่างได้เห็นผลอันร้ายแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตั้งแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นและธารน้ำแข็งละลายไปจนถึงการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นและความแห้งแล้งมีระยะเวลานานขึ้น สถานการณ์โลกเราจะเลวร้ายลงหากประชาคมโลกไม่เพิ่มความพยายามในการแก้ปัญหานี้ การประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติที่เม็กซิโกจะเป็นการเปิดโอกาสให้เราก้าวไปข้างหน้า และเราทุกคนต้องฉวยโอกาสนี้ไว้ สหรัฐอเมริกามีพันธะสัญญาที่จะทำงานร่วมกับไทยและประเทศคู่ความร่วมมืออื่นๆ ในการรับมือกับปัญหาของโลกที่รุนแรงนี้ ที่เมือง Cancun พวกเราต้องทำงานสานต่อจากความสำเร็จที่เราบรรลุเมื่อปีที่แล้วที่กรุงโคเปนเฮเกนและเดินหน้าพิจารณาประเด็นเจรจาต่อรองที่สำคัญ เช่น การลดการปล่อยสารมลพิษ ความโปร่งใสของการดำเนินการ การจัดสรรงบประมาณ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการอนุรักษ์ป่าไม้ ในขณะที่เราดำเนินการเรื่องดังกล่าวและพยายามหาผลลัพธ์อันมีสมดุล เราต้องพยายามที่จะไม่ลดคุณค่าของสัมฤทธิผลอันเนื่องจากการประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกนซึ่งมีผู้นำทั่วโลกดำเนินการอย่างมีนัยสำคัญอันไม่เคยปรากฎมาก่อน ในการยึดมั่นต่อพันธกรณีของพวกเราที่จะรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ ความพยายามที่จะขอถอนตัวจากพันธกรณีต่อปฏิญญาโคเปนเฮเกนหรือต่อรองหลักการพื้นฐานรังแต่จะก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรงขึ้นต่อโลกรวมทั้งประชากรและอนาคตของเราด้วย ส่วนหนึ่งของปฏิญญาโคเปนเฮเกนนั้นคือ เป็นครั้งแรกที่ประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญมีพันธะสัญญาที่จะดำเนินการเพื่อจำกัดการลดการปล่อยสารมลพิษและจะดำเนินการดังกล่าวอย่างโปร่งใสในระดับสากล ข้อตกลงนี้ยังได้รวมถึงการจัดงบประมาณช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสะอาดและการอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศต่างๆ ที่มีความจำเป็นมากที่สุด การจัดหางบประมาณนี้รวมถึงปฏิญาณที่จะสนับสนุนเงินทุน "จุดประกายการเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว" ของกลุ่มประเทศพัฒนาซึ่งมีจำนวนสูงถึง 30,000,000,000 เหรียญสหรัฐสำหรับห้วงเวลาปีพ.ศ. 2553 - 2555 และพันธะสัญญาที่จะระดมทุนปีละ 100, 000,000,000 เหรียญสหรัฐจากแหล่งเงินทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนภายในปีพ.ศ. 2563 ในบริบทของการลดสารพิษอย่างมีนัยสำคัญและความโปร่งใสในการดำเนินการ สหรัฐอเมริกากำลังจัดส่งเงิน "จุดประกายการเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว" เพื่อช่วยประเทศกำลังพัฒนาลดการปล่อยสารมลพิษและปรับตัวเข้ากับผลกระทบเชิงลบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพียงปีนี้ปีเดียว สหรัฐฯก็ได้เพิ่มเงินอุดหนุนการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มเป็น 1,700,000,000 เหรียญสหรัฐ และเงินช่วยเหลือที่สภาคองเกรสจัดสรรงบประมาณให้เป็น1,300,000,000 เหรียญสหรัฐรวมทั้งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาและการให้เงินเชื่อสินค้าส่งออกอีก 400,000,000 เหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกากำลังทำงานอย่างหนักที่จะลดการปล่อยสารมลพิษและเตรียมพร้อมไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาด กฎหมาย Recovery ให้เงินงบประมาณกว่า 80,000,000,000 เหรียญสหรัฐสำหรับใช้เป็นเงินลงทุน เงินกู้และเงินจูงใจเพื่อสนับสนุนโครงการริเริ่มต่างๆที่สำคัญต่อวัตถุประสงค์นี้ เราได้กำหนดมาตรฐานที่สูงมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาสำหรับเศรษฐกิจพลังงานและการปล่อยควันจากยานยนต์ เรากำลังดำเนินมาตรการที่สำคัญในการลดการปล่อยสารมลพิษจากแหล่งมลพิษใหญ่ และประธานาธิบดีโอบามายังคงมุ่งมั่นที่จะออกกฎหมายว่าด้วยพลังงานภายในครัวเรือนและสภาพภูมิอากาศ จากการที่ผมได้เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆในประเทศไทย ดิฉันสังเกตเห็นความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งเป็นข้อกังวลที่ชาวอเมริกันรู้สึกเช่นเดียวกัน แต่ผมก็รู้สึกมีกำลังใจที่เห็นการดำเนินการต่างๆในประเทศไทยและทั่วโลกในการที่จะเดินทางไปสู่อนาคตแห่งการใช้พลังงานสะอาด ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนสำหรับทุกคน ไม่มีประเทศใดที่จะหลบผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้พ้น ในลักษณะเดียวกัน ไม่มีประเทศใดที่จะแก้ปัญหานี้ได้เพียงลำพัง ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยากลำบากในการจำกัดการขยายวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหากับทุกประเทศและพวกเราต้องฝ่าฟันอุปสรรคนี้ให้ได้ ความพยายามระหว่างประเทศในการสร้างเศรษฐกิจพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนจะช่วยให้ผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนและให้บริการพลังงานไปทั่วโลกพร้อมกับอนุรักษ์สมบัติทางสิ่งแวดล้อมอันมีค่ายิ่งของพวกเรา ปฏิญญาโคเปนเฮเกนรวมทั้งการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เมือง Cancun เป็นก้าวสำคัญของความพยายามร่วมระหว่างประเทศในการเร่งระยะการปรับเปลี่ยนนี้ให้เร็วขึ้น ซึ่งจะยังผลให้โลกเรามีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นและสะอาดมากขึ้นสำหรับมนุษย์ทุกคน จาก ....................... แนวหน้า วันที่ 3 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#44
|
||||
|
||||
ใส่เสื้อผ้าหนาๆ ไว้ โลกกำลังร้อน!?! ..................... โดย เกษียร เตชะพีระ ผมอยากเชิญชวนท่านผู้อ่านลองพิจารณาข้อมูลภูมิอากาศในรอบปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมาต่อไปนี้ดู: - พม่า : หน้าร้อนที่ผ่านมา อุณหภูมิในพม่าขึ้นสูงถึง 46.6 องศาเซลเชียส จีน : ภาคใต้ของจีนน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มเนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายสัปดาห์ บางท้องที่ในมณฑลเสฉวนเกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบกว่า 150 ปี ญี่ปุ่น : หน้าร้อนญี่ปุ่นปีที่แล้วร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์นับแต่หน่วยงานอุตุนิยม วิทยาของญี่ปุ่นเคยเก็บรวบรวมข้อมูลเริ่มจากปี ค.ศ.1898 เป็นต้นมา, ร้อนกว่าสถิติร้อนที่สุดของญี่ปุ่นครั้งก่อนในปี ค.ศ.1994, ในกรุงโตเกียว อุณหภูมิขึ้นสูงถึง 37 องศาเซลเชียส ปากีสถาน : อุณหภูมิหน้าร้อนขึ้นสูงถึง 53.6 องศาเซลเชียส ทำลายสถิติร้อนที่สุดในทวีปเอเชีย พายุฝนยังตกกระหน่ำทำให้น้ำท่วมพื้นที่ราว 1 ใน 5 ของประเทศ ชาวปากีสถาน 20 ล้านคนเดือดร้อนสาหัส ไนเจอร์ : แรกทีเดียวประสบภัยแล้งซึ่งอาจก่อทุพภิกขภัยกว้างขวาง แต่แล้วก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ตามมา ทำให้ชาวไนเจอร์แสนคนไร้ที่อยู่อาศัย รัสเซีย : กรุงมอสโกซึ่งแต่ไหนแต่ไรไม่เคยร้อนถึง 37.7 องศาเซลเชียสมาก่อนเลย ปรากฏว่าหน้าร้อนเดือนกรกฎาคมศกก่อน อุณหภูมิในมอสโกขึ้นไปแตะเพดาน 37.7 องศาเซลเชียส ถึง 5 ครั้ง หากเทียบสถิติอุณหภูมิมอสโกนับแต่ปี ค.ศ.1950 เป็นต้นมา เหตุที่เกิดขึ้นนับว่าหาได้ยากพอๆกับเรื่องราวที่แสนปีจะมีสักครั้ง คลื่นความร้อนที่รัสเซียไม่เคยประสบมาก่อนในรอบ 130 ปี ยังทำให้ไฟป่าปะทุไหม้ลามหลายพันแห่งทั่วประเทศชาวรัสเซียเสียชีวิตไป 15,000 คน เหตุเหล่านี้ส่งผลสะเทือนไปทั่วโลกในสภาพที่รัสเซียต้องหยุดส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากผลผลิตเสียหายเพราะอากาศร้อนผิดปกติราว 30% ค่าอุณหภูมิพื้นผิวโลกผิดปกติเป็นองศาเซลเชียส (a) ม.ค.-พ.ย.2010 (b) พ.ย.2010 ยุโรป : หิมะตกหนักและพายุหิมะทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินโกลาหลวุ่นวายไปทั่วทวีป สหรัฐอเมริกา : เกิดพายุฝนหนักตกกระหน่ำในหลายมลรัฐทางภาคตะวันออกของสหรัฐ เริ่มจากมลรัฐนิวอิงแลนด์ในเดือนมีนาคม, ตามมาด้วยฝนตกสูงถึง 13 นิ้วในชั่ว 2 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคมในมลรัฐเทนเนสซี ส่งผลให้น้ำท่วมใหญ่เมืองแนชวิลล์จมอยู่ใต้น้ำโดยพื้นฐานมีผู้เสียชีวิต 30 คน ต้องอพยพหนีอุทกภัยอีกหลายพัน ถือเป็นเหตุการณ์หาได้ยากประเภทพันปีมีหนในมลรัฐนี้และก่อภัยพิบัติร้ายแรงแก่เทนเนสซีชนิดที่ยากจะหากรณีอื่นใดเทียบได้นอกจากสงครามกลางเมือง เหนือ-ใต้ของอเมริกาเมื่อเกือบ 150 ปีก่อน, จากนั้นฝนก็ตกหนักเป็นประวัติการณ์ในเมืองโอคลาโฮมาซิตี้ในเดือนมิถุนายน, และพายุฝนกระหน่ำมลรัฐนอร์ทแคโรไลนาติดชายฝั่งในเดือนตุลาคม ในขอบเขตทั่วประเทศ นี่เป็นฤดูร้อนที่สุดอันดับ 4 ของสหรัฐ โดยรวมศูนย์แถบพื้นที่ติดมหาสมุทรแอตแลนติกตอนกลาง เช่นเขตเมืองหลวงวอชิงตัน ดี.ซี. แต่แล้วสภาพภูมิอากาศก็สวิงกลับไปกลับมาระหว่างร้อนตับแทบแตกกับพายุหิมะตก หนัก ลมโกรกแรง อากาศหนาวจัดอีกในช่วงปลายปี เมืองใหญ่น้อยหลายร้อยแห่งทางฝั่งตะวันออกถูกถล่มด้วยพายุหิมะใหญ่หลังคริสต์มาส หลายแห่งหิมะตกหนากว่า 2 ฟุต ลมแรงถึง 80 ไมล์ต่อชั่วโมง มลรัฐ 6 แห่งต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เที่ยวบิน รถไฟ รถโดยสารหลายพันเที่ยวต้องยกเลิกที่นิวยอร์ก หิมะตกกองพะเนินเทินทึกอากาศหนาวยะเยียบไม่ทันไร ปรากฏว่ากลับตาลปัตรอุ่นขึ้นเป็น 10 องศาเซลเชียส ช่วงวันสุกดิบก่อนขึ้นปีใหม่!?! ดัชนีอุณหภูมิแผ่นดิน-มหาสมุทรของโลก แสดงค่าอุณหภูมิผิดปกติเป็นองศาเซลเชียส ค.ศ.1880-ปัจจุบัน (a) ค่าเฉลี่ยรายปีและราย 5 ปี (b) ค่าเฉลี่ย 60 เดือน และ 132 เดือน ความผันผวนแปรปรวนสวิงสุดโต่งของภูมิอากาศในอเมริกา จะเห็นได้จากสถิติเปรียบเทียบระหว่างท้องที่ทั่วประเทศ ซึ่งรายงานว่ามีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์กับท้องที่ซึ่งรายงานว่ามีอุณหภูมิต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ 4,100 แห่ง ขณะที่หนาวเป็นประวัติการณ์ 1,500 แห่ง คิดเป็นอัตราส่วนร้อนสุดต่อหนาวสุดราว 2.5:1 ประเทศไทย, อินโดนีเซีย, อินเดีย, เวเนซุเอลา ฯลฯ : ฝนตกหนัก โคลนถล่มและเกิดน้ำท่วมกว้างขวาง มีผู้เสียชีวิตหลายพัน บ้านช่องทรัพย์สินเสียหายวอดวายนับล้านครอบครัว 18 ประเทศทั่วโลก : คิดเป็นเนื้อที่ 1 ใน 5 ของพื้นผิวโลกต่างรายงานว่ามีอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปีเดียวกัน ขณะที่หน้าพายุเฮอร์ริเคนของมหาสมุทรแอตแลนติกก็มีพายุชุกชุม ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิกก็เปลี่ยนจากภาวะกระแสน้ำอุ่นเอลนิโญ่ (El Nino) ไปเป็นภาวะกระแสน้ำเย็นลานีญ่า (La Nina) แทน โลก : องค์การนาซา (NASA - National Aeronautics and Space Administration) ของรัฐบาลสหรัฐรายงานเมื่อศุกร์ที่ 10 ธันวาคมศกก่อนว่าปีอุตุนิยมวิทยาที่ผ่านมา (นับจากธันวาคม ค.ศ.2009- พฤศจิกายน ค.ศ.2010) เป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 131 ปีเท่าที่องค์การนาซาเคยเก็บสถิติมา ที่น่าวิตกก็คือมันเป็นปีร้อนที่สุดทั้งๆ ที่มี 2 ปัจจัยคอยช่วยผ่อนคลายประทังให้โลกเย็นไว้ ได้แก่ 1) โลกกำลังอยู่ในช่วงความรับอาบรังสีจากดวงอาทิตย์ต่ำ (lower solar irradiance) ซึ่งช่วยให้ภูมิอากาศโลกเย็นลง และ 2) ยังมีปรากฏการณ์กระแสน้ำเย็นลานีญ่าซึ่งช่วยกดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำ ไว้นับแต่ปลายหน้าร้อนปีที่แล้วเป็นต้นมาด้วย ข่าวนี้ทำให้ ดอกเตอร์ เจมส์ ฮันเส็น ผู้อำนวยการ Goddard Institute for Space Studies และยอดนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศแห่งองค์การนาซา ชี้ไว้ในบทความที่เขียนร่วมกับเพื่อนร่วมงาน 3 คน ว่า : "อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ในปี ค.ศ.2010 มีความหมายสำคัญเป็นพิเศษเพราะมันเกิดขึ้นในระหว่างที่ความรับอาบรังสีจากดวงอาทิตย์ต่ำสุดเมื่อเร็วๆ นี้กำลังส่งผลผ่อนคลายโลกให้เย็นลงที่สุด" สรุป : ภัยพิบัติธรรมชาติในรอบปี ค.ศ.2010 ที่ผ่านมาคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปประมาณ 260,000 คน (ในจำนวนนี้มี 21,000 รายที่เสียชีวิตเนื่องจากภูมิอากาศโดยตรง) มากกว่ายอดผู้เสียชีวิตจากภัยก่อการร้าย 40 ปีที่ผ่านมารวมกัน (ไม่ถึง 115,000 คน), มันทำลายเศรษฐกิจโลกเสียหายไปทั้งสิ้นราว 222 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (มูลค่ามากกว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงทั้งเกาะ), บัญชีหัวข้อข่าวภัยพิบัติธรรมชาติรายวันตลอดปีที่แล้ว ซึ่งสำนักข่าวเอพีประมวลขึ้นยาวเหยียดถึง 64 หน้ากระดาษพิมพ์! คำถาม : แล้วอากาศสวิงสุดโต่ง (extreme weather) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปเรือนหมื่นเรือนแสนเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming & climate change) อย่างไร? จาก ....................... มติชน วันที่ 16 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#45
|
||||
|
||||
พื้นที่น้ำแข็งสะท้อนพลังงานแดดลดลง 0.45 วัตต์ กระตุ้นโลกร้อนขึ้นอีก ภูมิประเทศที่ปกคลุมไปด้วยน้ำแข็งในกรีนแลนด์เมื่อ 17 มี.ค.10 ที่ผ่านมา (รอยเตอร์) เผยผลการศึกษาการหดของพื้นที่น้ำแข็งและหิมะที่ปกคลุมซีกโลกทางเหนือ สะท้อนพลังงานแดดกลับสู่อวกาศได้น้อยกว่าเมื่อก่อน 0.45 วัตต์ กลายเป็นอีกปัจจัยของภาวะโลกร้อน และทุกองศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นหมายถึงการสะท้อนพลังงานที่ลดลง 0.3-1.1 วัตต์ จากรายงานของรอยเตอร์ระบุว่า ข้อมูลดาวเทียมบ่งชี้ว่าน้ำแข็ง ธารน้ำแข็งและหิมะในแถบอาร์กติกและน้ำแข็งของกรีนแลนด์ สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่อวกาศได้น้อยลง ตามข้อมูลที่รวบรวมระหว่างปี 1979-2008 ซึ่งการลดลงของพื้นที่สีขาวซึ่งช่วยปกป้องแสงแดดนี้ได้เพิ่มพื้นที่ของน้ำและพื้นดิน ซึ่งทั้งคู่มีสีที่เข้มกว่าและดูดกลืนความร้อนได้มากกว่าพื้นที่ขาวด้วย จากการศึกษาประมาณว่า น้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือขณะนี้ได้สะท้อนพลังงานจากดวงอาทิตย์กลับสู่ชั้นบรรยากาศด้านบนเพียงตารางเมตรละ 3.3 วัตต์ ซึ่งลดลงจากช่วงปลายทศวรรษ 1970 ประมาณตารางเมตรละ 0.45 วัตต์ “ปรากฏการณ์ความเย็นถูกลดลงและได้เพิ่มปริมาณพลังงานแสงอาทิตย์ที่ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนมากขึ้น ซึ่งค่าการลดลงของการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์นี้มากกว่าในแบบจำลองสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่ในปัจจุบัน” มาร์ก แฟลนเนอร์ (Mark Flanner) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) และเป็นหัวหน้าคณะในการศึกษาครั้งนี้กล่าว ซึ่งได้เผยแพร่ผลงานในวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience) แฟลนเนอร์กล่าวถึงบทสรุปของการศึกษาว่า บริเวณไครโอสเฟียร์ (cryosphere) หรือบริเวณที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งและหิมะนั้นมีผลกระทบต่อความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากกว่าที่เคยเข้าใจด้วย ทั้งนี้ ยิ่งมีพื้นดินและน้ำที่รับแสงแดดมากเท่าไร การดูดซับความร้อนยิ่งเร่งการละลายของหิมะและน้ำแข็งมากขึ้นและน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกที่ลดลงในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมานี้เป็นไปในทิศทางที่คณะนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศของสหประชาชาติกล่าวโทษว่า เป็นผลกระทบหลักๆจากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษยชาติได้เผาผลาญพลังงานฟอสซิลในโรงงาน โรงไฟฟ้าและรถยนต์ นอกจากนี้หลายๆการศึกษายังชี้ว่าน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกจะหายไปหมดในช่วงฤดูร้อนของศตวรรษนี้ ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวจะทำลายวัฒนธรรมการล่าของชนพื้นเมืองและคุกคามหมีขั้วโลกกับสัตว์ชนิดอื่นๆ ตลอดจนการเพิ่มปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี แฟลนเนอร์กล่าวว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะวาดข้อสรุปจากการศึกษาครั้งนี้ถึงอัตราการละลายของน้ำแข็งในอนาคต เพราะเป็นการศึกษาบนข้อมูลย้อนหลังกลับไปเพียง 30 ปีเท่านั้น และยังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากที่ทำลายสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปัจจัยอื่นนั้นรวมถึงเมฆที่จะมีมากขึ้นบนโลกที่ร้อนขึ้นและจะกลายเป็นหลังคาสีขาวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป หรืออาจจะมีไอน้ำที่ดักจับความร้อนมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ การศึกษาในครั้งนี้ประมาณว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส หมายถึงน้ำแข็งและหิมะในซีกโลกเหนือลดการสะท้อนพลังงานแสงอาทิตย์สู่อวกาศลงตารางเมตรละ 0.3-1.1 วัตต์ และในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมาอุณหภูมิในซีกโลกเหนือได้เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 0.75 องศาเซลเซียส แต่ทีมวิจัยไม่ได้ศึกษาในส่วนของซีกโลกใต้ที่ทวีปแอนตาร์กติกาที่มีปริมาณน้ำแข็งมากกว่า และยังหนาวจัดกว่า อีกทั้งแสดงสัญลักษณ์ของผลกระทบจากโลกร้อนน้อยกว่าด้วย “โดยภาพรวมระดับโลก ดาวเคราะห์ของเราดูดกลืนพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยทั้งปีในอัตราประมาณ 240 วัตต์ต่อตารางเมตร และโลกอาจเข้มขึ้นแล้วดูดกลืนพลังงานอีก 3.3 วัตต์เมื่อไม่มีพื้นที่น้ำแข็งในซีกโลกเหนือ” แฟลนเนอร์กล่าว. จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#46
|
||||
|
||||
จากโลกร้อนสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ..................... โดย เกษียร เตชะพีระ ดร.พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผมทิ้งคำถามไว้ท้ายสัปดาห์ก่อนว่า : แล้วอากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ที่คร่าชีวิตผู้คนไปนับแสนในปีร้อนที่สุดของโลกเมื่อปีที่แล้ว เกี่ยวพันเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (global warming & climate change) อย่างไร? ดอกเตอร์พอล เอพสไตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพและสิ่งแวดล้อมโลกแห่งวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ผู้เพิ่งร่วมเขียนหนังสือ Changing Planet, Changing Health: How the Climate Crisis Threatens Our Health and What We Can Do about It (กำหนด ออกโดย University of California Press ในเดือน เม.ย. ศกนี้) ช่วยอธิบายกลไกกระบวนการซึ่งภาวะโลกร้อน (global warming) นำไปสู่อากาศแปรปรวนสุดโต่ง (extreme weather) ว่า: ปมเงื่อนพื้นฐานของภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (ซึ่งก็คืออากาศมีแบบแผนที่ทั้งร้อนขึ้นและผันแปรไปพร้อมกัน) ก็คือความจริงที่ยังไม่มีใครพูดถึงกันนักว่าในรอบ 50 ปีหลังนี้ ห้วงมหาสมุทรได้ดูดซับความร้อนไว้ถึง 22 เท่าของบรรยากาศโลก! ความร้อนที่ก่อตัวสั่งสมสูงเป็นพิเศษในท้องมหาสมุทรรอบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาส่งผลต่อเนื่อง 2 ประการคือ ความผันแปรของอุณหภูมิพื้นผิวของโลกในรอบ 2 หมื่นปี โดยที่ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิพื้นผิวโลกรอบ 1 หมื่นปีหลังนี้ = 15 องศาเซลเชียส โปรดสังเกตเส้นกราฟความผันแปรของอุณหภูมิที่กำลังเชิดสูงขึ้นในปัจจุบัน น้ำมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นระเหยกลายเป็นไอน้ำด้วยอัตราเร่งสูงขึ้น ส่งผลให้ฝนตกหนัก บรรยากาศโลกที่อุ่นขึ้นยังโอบอุ้มไอน้ำไว้มากขึ้นด้วย กล่าวคือถ้าบรรยากาศร้อนขึ้น 1 องศาเซลเชียส มันจะอุ้มไอน้ำเพิ่มขึ้น 7% ในความหมายนี้ ห้วงมหาสมุทรของโลกจึงเสมือนหนึ่งเครื่องจักรที่เพิ่มพูนแรงขับดันจากภาวะโลกร้อนในชั้นบรรยากาศ ผ่านกลไกกระบวนการ 1) และ 2) ข้างต้น ส่งผลให้วงจรอุทกวิทยา (the hydrological cycle หรือวงจรน้ำของโลก) เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล จนกระทั่งแบบแผนอากาศผันผวนแปรปรวนในที่สุด บางที่ก็แล้งหนัก, บางที่กลับฝนตกไม่ลืมหูลืมตาอย่างไม่เคยเจอมาก่อน, และบางที่ก็หิมะตกหนา เป็นต้น พอเขียนเป็นสมการเหตุผลเชื่อมโยงได้ดังนี้: กลไกกระบวนการที่เกิดขึ้น: [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง] บางคนอาจสงสัยว่าจะบอกว่าโลกร้อนได้ยังไงในเมื่อหลายแห่งหลายที่ของโลกอากาศหนาวจัดเสียจนกระทั่งหิมะตกในที่ไม่เคยตกมาก่อนด้วยซ้ำ แบบนี้มันจะมิใช่เกิดภาวะโลกเย็น (global cooling) ดอกหรือ? ดร.เอพสไตน์แจกแจงว่า จะหยิบยกเอาเหตุการณ์หรือกรณีอันใดอันหนึ่งเพียงอันเดียวมาวินิจฉัยฟันธงว่าโลกร้อนขึ้นหรือไม่นั้นมิได้ ประเด็นคือปรากฏการณ์ต่างๆ นานาที่เราประสบเป็นผลมาจากปฏิสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่าง [ภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง] กับ [การเปลี่ยนแปรทางธรรมชาติ] ส่งผลให้แบบแผนอากาศของโลกแปรปรวนรวนเรไปหมด โดยผ่านผลกระทบสืบเนื่องจากท้องมหาสมุทรและแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุม ฉะนั้น จึงมิควรจดจ่ออยู่แต่กับเหตุการณ์หรือกรณีเฉพาะเรื่องเฉพาะรายแล้วด่วนสรุปโดยไม่จัดวางมันลงบนแบบแผนอากาศโดยรวม เขายกกรณีตัวอย่างของพลวัตที่ขับเคลื่อนอากาศแปรปรวนปัจจุบันมาสาธกว่า ภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งบนเกาะกรีนแลนด์และในทะเลอาร์กติกละลายมากเสียจน กระทั่งมันกลายเป็นแผ่นเกล็ดน้ำแข็งเย็นยะเยียบแผ่ไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือและก่อเกิดระบบความกดอากาศสูงขึ้นมา (ตามหลักที่ว่าอากาศร้อนย่อมลอยตัวขึ้นสูง ทำให้แรงกดอากาศต่ำ, ส่วนอากาศเย็นย่อมจมลงล่าง ทำให้แรงกดอากาศสูง) ภาวะความกดอากาศสูงในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ยืนนานเป็นประวัติการณ์ถึง 15 เดือนและก่อให้เกิดลมแรง อากาศหนาวจัดแผ่กระจายทั่วทวีปยุโรป จนไปจรดกับระบบความกดอากาศต่ำเหนือภูมิภาคตะวันออกกลางซึ่งร้อนระอุ การที่ภาวะโลกร้อนเหนือเกาะกรีนแลนด์และทะเลอาร์กติกตอนต้น โอละพ่อกลายสภาพมาเป็นอากาศหนาวจัดในยุโรปได้ โดยผ่านกลไกผลกระทบอันยอกย้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือนี้ สะท้อนให้เห็นพลวัตอันซับซ้อนพลิกผันของแบบแผนอากาศแปรปรวนสุดโต่งในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ไม่อาจมองปรากฏการณ์หนึ่งๆ อย่างฉาบฉวยผิวเผินหยาบง่ายตื้นเขินแล้วสรุปรวบรัดเพราะหนาวหิมะจนตัวสั่นว่า "โลกมันกำลังเย็นลงต่างหาก!" ได้ ดร.เอพสไตน์สรุปตามธรรมเนียมวิทยาศาสตร์ว่า ไม่ว่าจะพิจารณาโดย : 1) แบบจำลอง : [ภาวะโลกร้อน --> มหาสมุทรอุ่นขึ้น --> 1) & 2) --> อากาศแปรปรวนสุดโต่ง] ซึ่งบัดนี้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปในบรรดางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ 2) ข้อมูล : แสดงชัดว่ามหาสมุทรอุ่นขึ้น, ฝนตกหนักขึ้น, ภาวะแห้งแล้งเพิ่มขึ้น 3) หลักการขั้นมูลฐาน : ที่ว่าก๊าซเรือนกระจก - อันเกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล 80% และการตัดไม้ทำลายป่าอีกราว 20% - เป็นตัวกักความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศโลก ล้วนบ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนเป็นตัวการทำให้อากาศแปรปรวนสุดโต่ง ไม่ว่าหิมะตก ฝนหนักน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศร้อนจัดหรือหนาวจัดก็ตาม จาก ........................ มติชน วันที่ 22 มกราคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#47
|
||||
|
||||
'มะกัน' ชี้ลดคาร์บอนฯโลกไม่หายร้อน ก๊าซค้างในอากาศนับพันปี สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง หรือที่มักนิยมเรียกกันว่า โลกร้อน นั้นเกิดจากการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศในปริมาณมากทำให้เกิดเป็นม่านควันที่กักความร้อนในโลกไว้ไม่ให้ระบายออกไป เทรนด์การลดก๊าซโลกร้อนนี้จึงมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทว่า การวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา พบว่า ต่อให้ทั้งโลกหยุดปล่อยก๊าซเหล่านี้ทันที โลกก็จะยังคงร้อนต่อไป เนื่องด้วยก๊าซเหล่านี้จะยังคงอยู่ในชั้นบรรยากาศไปอีกนานหลายพันปี นายไคล์ อาร์เมอร์ นักศึกษาปริญญาเอก หนึ่งในคณะวิจัยดังกล่าว ระบุว่า อุณหภูมิทั่วโลกนั้นจะยังคงสูงต่อไป โดยค่าเฉลี่ยจะสูงกว่าสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรปในศตวรรษที่ 19 โดยตอนนี้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงกว่าสมัยดังกล่าวถึง 0.8 องศาเซลเซียส รวมทั้งเป็นไปได้ที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.9 องศาเซลเซียสด้วย ต่อให้โลกทั้งใบหยุดปลดปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันที ทั้งนี้ สาเหตุมาจากสารแอโรซอล คือละอองอนุภาคพิเศษที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งทำหน้าที่ต่อต้านปรากฏการณ์เรือนกระจกด้วยการสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไปไม่ให้แผดเผาเข้ายังผืนโลกมากเกินไปนั้นจะสูญสลายไปภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์หากเลิกปล่อยก๊าซโลกร้อนแบบทันที คงเหลือเพียงแต่ก๊าซโลกร้อนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ "แอโรซอลจะถูกชะ ล้างออกไปอย่างรวดเร็ว และพวกเราจะได้เห็นอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นอย่างท่วมท้นภายในเวลาเพียงไม่กี่ ทศวรรษ" นายอาร์เมอร์กล่าว นายอาร์เมอร์ระบุว่า หากมนุษย์สามารถยับยั้งวิกฤตการณ์โลกร้อนนี้ได้ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นนั้นจะเหลือเพียง 0.27 องศาเซลเซียส แต่ก็ยังจะมากกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรป และไม่มีวันที่จะกลับไปเหมือนเดิมได้ โดยคณะ นักวิจัยยืนยันถึงความถูกต้องของผลการศึกษาดังกล่าว แม้การตั้งสมมติฐานให้ทั่วโลกหยุดการปล่อยก๊าซโลกร้อนทั้งหมดในทันทีนั้น ตามความเป็นจริงแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทว่า ความเป็นไปได้กับสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นเป็นคนละเรื่องกัน "ผลการศึกษานี้ไม่ได้บอกว่า ต้องปล่อยก๊าซโลกร้อนเพื่อรักษาสารแอโรซอลไว้ แต่บอกให้เรารู้ว่า เราควรจะเลิกปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างฉลาดก็เท่านั้น" นายอาร์เมอร์กล่าว จาก .................. ข่าวสด วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#48
|
||||
|
||||
มหันตภัยน้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็ว 100 เท่า ดูเหมือนว่าพิบัติภัยธรรมชาติจะกระหน่ำซ้ำเติมชีวิตของมนุษยชาติบ่อยครั้งขึ้นในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดฝาผิดตัว ผิดฤดูกาล ฤดูร้อนกลายเป็นฤดูหนาวให้ต้องงัดเอาเสื้อกันหนาวออกจากตู้มาใส่แทบจะไม่ทัน หรือจะเป็นแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ ที่เพิ่งปะทุไปเมื่อเดือนที่แล้ว และยังคาดเดาไม่ได้ว่าแผ่นเปลือกโลกจะปั่นป่วนเคลื่อนตัวก่อให้เกิดแผ่นดินไหวให้ได้ลุ้นกันอีกเมื่อใด ราวกับธรรมชาติกำลังทิ้งระเบิดพิบัติภัยกระหน่ำซ้ำเติมมนุษย์ ที่ได้เอาเปรียบธรรมชาติมาโดยตลอดนับตั้งแต่มนุษย์เริ่มมีเทคโนโลยีระดับประถมในยุคหินเก่าเป็นต้นมา การทำลายธรรมชาติเท่ากับการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ลูกใหญ่ที่คอยวันระเบิดขึ้นมาเท่านั้น ซึ่งระเบิดนิวเคลียร์ของธรรมชาติที่ส่อแววว่าจะระเบิดขึ้นอีกลูกหนึ่งคือ การที่ชั้นโอโซนบริเวณขั้วโลกถูกทำลายหายไปอย่างเร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้ ยิ่งเมื่อนักวิทยาศาสตร์แห่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (ดับเบิลยูเอ็มโอ) ออกโรงเตือนว่าชั้นโอโซนขั้วโลกเหนือกำลังหายไปรวดเร็วยิ่งขึ้นจากระดับ 30% ตั้งแต่ช่วงต้นฤดูหนาวจนถึงปลายเดือนมีนาคมในปีก่อนๆ สู่ระดับการหดหายถึง 40% ในช่วงเดียวกันของปีนี้ นั่นหมายถึงว่าโลกกำลังสูญเสียเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตอย่างรวดเร็วอย่างน่าตกใจ นั่นหมายถึงว่าพลเมืองในประเทศแถบขั้วโลก ตั้งแต่กรีนแลนด์ จนถึงแถบสแกนดิเนเวีย จะได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออเบอรีสทวิท ได้ศึกษาแผ่นน้ำแข็งในเขตพาทาโกเนีย ประเทศอาร์เจนตินา บนทวีปอเมริกาใต้ ได้ออกคำเตือนมนุษยชาติให้รับรู้ว่าเวลานี้น้ำแข็งขั้วโลกใต้ กำลังเผชิญกับความร้อนในบรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้นจากสภาพบรรยากาศที่เต็มไปด้วยก๊าซเรือนกระจก ทำให้ก้อนน้ำแข็งละลายอย่างเร็วเป็นสถิติใหม่ในรอบ 350 ปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานี้ ก้อนน้ำแข็งในเขตพาทาโกเนียละลายอย่างรวดเร็วถึง 100 เท่า เมื่อเทียบกับประมาณการอัตราการละลายของก้อนน้ำแข็งขั้วโลกใต้เมื่อ 3 ศตวรรษครึ่งที่แล้ว ในช่วงปลายยุคน้ำแข็งช่วงกลางศตวรรษที่ 17 ก้อนน้ำแข็งพาทาโกเนียครอบคลุมพื้นที่ยอดเขา 270 แห่ง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 0.4 ตารางไมล์ แต่นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก้อนน้ำแข็งแห่งอเมริกาใต้ ได้ละลายหายไปแล้วอย่างน้อย 145 ลูกบาศก์ไมล์ คิดเป็นน้ำละลายไหลลงมาจากยอดเขาแล้ว 130 ลูกบาศก์ไมล์ ถ้าคิดง่ายๆ ก็เท่ากับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก 158,000 สระ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าอัตราการละลายของน้ำแข็งในพื้นที่ปลายติ่งของอเมริกาใต้ จะเร่งสปีดใส่เกียร์สูงขึ้นต่อไปในอนาคต ปี ้อนในบรรยากาศโลกที่เพิ่มขึ้นจากสภาพบรรยากาศที่เต็มอันใกล้ ทีนี้มนุษยชาติก็อาจจะต้องกลายเป็นมนุษย์เรือ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยน้ำเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง "วอเตอร์เวิลด์" ในไม่ช้า หากเราไม่ “เอาจริงเอาจัง” กับการฟื้นฟู เยียวยาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 9 เมษายน 2544
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#49
|
||||
|
||||
ละลายกันทั่วโลก “ธารน้ำแข็ง” ในชิลีลดฮวบ ทำ "น้ำทะเล" เพิ่มสูงสุดในรอบ 350 ปี ธารน้ำแข็งซาน ราฟาเอล (San Rafael Glacier) ในพาทาโกเนีย ซึ่งเป็น 1 ใน 270 ธารน้ำแข็งที่ทีมวิจัยศึกษานั้น หดลงไปถึง 8 กิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อยที่มีปริมาณน้ำแข็งสูงสุด (บีบีซีนิวส์) ทุบสถิติละลายกันทั่วโลก ล่าสุด “ธารน้ำแข็ง” ในชิลีละลาย จนทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นเร็วที่สุดในรอบ 350 ปี หลังนักวิทยาศาสตร์ศึกษาข้อมูลย้อนกลับไปถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย” นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในเมืองแอบเบอริสไทส์, เอกเซเตอร์ และสต็อคโฮล์ม สหราชอาณาจักร ศึกษาและทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงในธารน้ำแข็งใหญ่ๆ 270 แห่งในชิลีและอาร์เจนตินา ย้อนกลับไปจนถึง “ยุคน้ำแข็งย่อย” (Little Ice Age) ซึ่งบีบีซีนิวส์ระบุว่า เป็นการศึกษาที่มีกรอบเวลานานกว่าการศึกษาโดยปกติของพวกเขา การศึกษาของทีมวิจัย แสดงให้เห็นว่า ธารน้ำแข็งมีปริมาตรลดลงเร็วขึ้น 10-100 เท่า ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการละลายของน้ำแข็งที่เร็วขึ้นนี้ มีผลต่อระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับ “ค่าเฉลี่ย” ระยะยาวในรอบ 350 ปี ซึ่งงานวิจัยนี้ได้เผยแพร่ลงวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience) ทีมวิจัยให้ความสนใจกับภาพถ่ายระยะไกลหรือภาพรีโมตเซนซิง (remote sensing) ของธารน้ำแข็งที่คร่อมเทือกเขาแอนดีส (Andes) ตรงชายแดนระหว่างชิลีและอาร์เจนตินา โดยพื้นที่น้ำแข็งทางตอนเหนือเป็นระยะทางไกล 200 กิโลเมตร และกินพื้นที่ 4,200 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่น้ำแข็งทางตอนใต้เป็นระยะทางไกล 350 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 13,000 ตารางกิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อย ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทีมวิจัยทำแผนที่การเปลี่ยนแปลงของตำแหน่งธารน้ำแข็งนั้น พบว่า ครั้งสุดท้ายที่พื้นน้ำแข็งทางตอนเหนือของบริเวณดังกล่าว มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดคือในปี 1870 ส่วนพื้นที่ตอนใต้ มีน้ำแข็งปกคลุมสูงสุดครั้งสุดท้ายในปี 1650 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน ศ.นีล กลาสเซอร์ (Prof. Neil Glasser) จาก มหาวิทยาลัยแอบเบอรีสไทส์ (Aberystwyth University) ผู้เป็นหัวหน้าในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าการศึกษาระดับน้ำทะเลก่อนหน้านี้ที่อ้างอิงการละลายของธารน้ำแข็งนั้น เป็นการศึกษาที่ครอบคลุมช่วงเวลาสั้นๆ เพียงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา หรือเริ่มต้นในช่วงที่มีภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว เพื่อคำนวณหาการเปลี่ยนแปลงปริมาตรของธารน้ำแข็ง หากแต่ทีมของ ศ.กลาสเซอร์ ได้ใช้วิธีใหม่ที่ทำให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้น เขาว่า ทีมวิจัยทราบว่าธารน้ำแข็งทั้งหลายในทวีปอเมริกาใต้นั้น มีขนาดใหญ่มากในช่วงยุคน้ำแข็งย่อย ดังนั้น พวกเขาจึงทำแผนที่น้ำแข็งที่ขยายออกไปตามปริมาณน้ำแข็งในยุคนั้น แล้วจึงคำนวณหาว่า ธารน้ำแข็งได้สูญเสียปริมาณน้ำแข็งไปเท่าไร จากรายงานของบีบีซีนิวส์ ไม่ได้อธิบายรายละเอียดการคำนวณดังกล่าว แต่ระบุว่าการคำนวณของพวกเขานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ธารน้ำแข็งได้เพิ่มอัตราการละลายเร็วขึ้น และได้ส่งผลต่อระดับน้ำทะเลทั่วโลก ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่น้ำแข็งของธารน้ำแข็งอัพซาลา (Upsala) ในพาทาโกเนียที่หดลง 13 กิโลเมตร นับแต่ปี 1750 (บีบีซีนิวส์) การศึกษาของทีมวิจัยพบว่า ธารน้ำแข็งซาน ราฟาเอล (San Rafael Glacier) ในพาทาโกเนีย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 270 ธารน้ำแข็ง ที่ทีมวิจัยศึกษานั้น หดลงไปถึง 8 กิโลเมตร นับแต่ยุคน้ำแข็งย่อยที่มีปริมาณน้ำแข็งสูงสุด ดร.สตีเฟน แฮรริสัน (Dr.Stephen Harrison) จากมหาวิทยาลัยเอกเซเตอร์ (University of Exeter) เสริมว่า งานวิจัยนี้มีความสำคัญ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการประเมินระดับน้ำทะเลโดยตรง อันเกิดการละลายของธารน้ำแข็ง นับแต่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างหนักในช่วงปี 1750-1850 จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#50
|
||||
|
||||
เรื่องน้ำแข็งขั้วโลกละลายนี่ ไม่แน่ใจว่าจะทำให้น้ำทะเลสูงในไทยสูงขึ้นหรือไม่...แต่อาทิตย์ที่ผ่านมามองจากคอนโดที่พัทยาลงไปที่ชายหาด เห็นน้ำทะเลแถวหาดวงศ์อามาตย์ ท่วมหาดเกือบทั้งวัน ทั้งที่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่เคยเห็นอย่างนี้มาก่อนค่ะ...
__________________
Saaychol |
|
|