#41
|
||||
|
||||
สุดเจ๋ง 'แอพพลิเคชั่น' ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม!!! จาก ................... ไทยรัฐ วันที่ 18 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#42
|
||||
|
||||
เปิดตัวนวัตกรรมไทย สู้ภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ นาทีนี้ คนไทยเกือบทั้งประเทศกำลังประสบกับมหันตภัยน้ำท่วมใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงกว่าทุกครั้ง ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 283 ราย สูญหาย 2 คน และอาจมียอดตัวเลขความสูญเสียพุ่งสูงขึ้นอีกเนื่องจากในหลายจังหวัดน้ำยังคงท่วมขังสูงกว่า 4 เมตร และมีแนวโน้มที่จะกักขังนานนับเดือน ดังนั้น วิทยาการความรู้ในการเอาตัวรอดระหว่างเกิดน้ำท่วมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในห้วงเวลาปัจจุบัน และเพื่อเตรียมรับมือกับเหตุอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในปีต่อๆ ไป! สำหรับการช่วยเหลือตัวเองขณะเกิดเหตุน้ำหลากไหลแรง สุ่มเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำและอาจจมน้ำเสียชีวิตได้นั้น สิ่งจำเป็นอันดับแรกที่ควรเตรียมพร้อมก็คือ อุปกรณ์ช่วยในการพยุงตัวขณะอยู่ในน้ำ อาจเป็นเสื้อชูชีพมาตรฐาน หรือจะประดิษฐ์เองจากขวดพลาสติกก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรทำความรู้จักไว้ก็คือ 'แรงลอยตัว' ในทางฟิสิกส์ แรงลอยตัวคือแรงกระทำในทิศทางพุ่งขึ้นที่น้ำต่อต้านต่อน้ำหนักของวัตถุ ดังนั้นวัตถุที่จมอยู่ในน้ำในระดับลึก จะพบกับความดันที่มากกว่าเมื่ออยู่ที่ระดับตื้น ด้วยเหตุนี้วัตถุที่มีความหนาแน่นมากกว่าน้ำจะมีแนวโน้มที่จะจมลงไป ถ้าวัตถุมีความหนาแน่นน้อยกว่า หรือมีรูปร่างที่เหมาะสม เช่น เรือ แรงนั้นจะสามารถทำให้วัตถุลอยตัวอยู่ได้นั่นเอง ด้านวงการผลิตอุปกรณ์ช่วยลอยตัวในปัจจุบัน แบ่งออกคร่าวๆ ได้เป็น เสื้อชูชีพ กับ เสื้อพยุงตัว โดยเสื้อพยุงตัว ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยพยุงร่างกายของผู้สวมใส่ให้ลอยอยู่ในน้ำได้ ส่วนเสื้อชูชีพนั้น ถ้าสวมใส่อย่างถูกต้องและอยู่ในสภาพดี จะช่วยให้ผู้สวมใส่ลอยตัวอยู่ในน้ำในตำแหน่งที่ปากและจมูกของผู้สวมใส่อยู่เหนือน้ำแม้ในขณะหมดสติ กล่าวคือ ออกแบบมาให้ช่วยพลิกตัวผู้ประสบภัยจมน้ำได้นั่นเอง เพราะฉะนั้น หากใครต้องการออกแบบเสื้อชูชีพเพื่อใช้เองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ควรพิจารณาเรื่องแรงลอยตัว และตำแหน่งด้านหน้าของผู้สวมใส่เป็นสำคัญ ประเภทของเสื้อชูชีพมาตรฐาน (Life Jacket) ก่อนจะไปดู เสื้อชูชีพทำเองจากขวดพลาสติกแบบต่างๆ ที่คิดขึ้นจากมันสมองของคนไทยล้วนๆ ก็ควรทราบเสียก่อนว่า เสื้อชูชีพมาตรฐานนั้นมีกี่ชนิด จากข้อมูลของ www.seaairthai.com อธิบายไว้ว่ามีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เสื้อชูชีพประเภทที่ 1 หรือที่เรียกกันว่า "เสื้อชูชีพสำหรับปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง" เป็นเสื้อชูชีพชิ้นเดียว ที่ใส่ได้ทั้ง 2 ด้าน ออกแบบสำหรับเจ้าหน้าที่หรือผู้โดยสารบนเรือ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ที่หมดสติมีโอกาสรอดในน้ำได้สูงสุด และจำเป็นจะต้องเป็นสีส้มสากล เสื้อชูชีพประเภทที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า "เสื้อชูชีพสำหรับปฏิบัติงานใกล้ชายฝั่ง" ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยลอยตัว ที่จะช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่ให้อยู่ในท่าหงายหน้า ได้ในบางกรณี เสื้อชูชีพประเภท 3 หรือที่เรียกกันว่า "อุปกรณ์ช่วยในการลอยตัว" ซึ่งเป็นเสื้อชูชีพที่ใช้ใส่ประจำเรือเมื่อต้องการการเคลื่อนไหวที่คล่องตัว ไม่ได้ถูกออกแบบ ให้ช่วยพลิกตัวผู้สวมใส่ มีอัตราการลอยตัวต่ำสุด เสื้อชูชีพขวดพลาสติกฝีมือคนไทย ปัจจุบันมีการประดิษฐ์ และเผยแพร่ต่อสาธารณชนด้วยกันหลายแบบ ทั้งจากภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นของใคร ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามความสะดวกของแต่ละบุคคลได้ดังนี้ ตัน ภาสกรนที จัดทำคลิปแนะนำการแปลงถุงยังชีพให้เป็นเสื้อชูชีพ สำหรับใช้ใส่ป้องกันน้ำท่วมได้อย่างรวดเร็ว โดยตัน กล่าวในคลิปวิดีโอว่า "น้ำท่วมปีนี้คนไทยต้องไม่จมน้ำครับ" สนใจรับชมพิมพ์คำว่า 'ทำถุงยังชีพเป็นเสื้อชูชีพ by ตัน' ได้ในเว็บไซต์ยูทูบ ด้านมูลนิธิกระจกเงา ระดมกำลังอาสาสมัครกว่า 200 คน เร่งทำเสื้อชูชีพจากขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ประสบอุทกภัย โดยแบ่งการทำงานออกเป็น 4 ส่วน เริ่มจากการคัดแยกขวดพลาสติกที่สมบูรณ์ คือไม่รั่วและมีฝาปิด นำขวดพลาสติกมามัดต่อกันด้วยเชือกให้เป็นแพ แพละ 4 ขวด และ 5 ขวด โดยจะต้องมัดติดกันให้แน่น จากนั้นนำแพมาวางซ้อนกันมัดด้วยเชือก ขั้นตอนสุดท้ายคือการประกอบเป็นเสื้อชูชีพ โดยนำเชือกถักมาทำเป็นที่คล้องไหล่ เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ทางมูลนิธิยืนยันว่า เสื้อชูชีพจากขวดน้ำพลาสติกสามารถใช้ลอยน้ำได้จริง หากเป็นขวดขนาดใหญ่สามารถรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 80 กิโลกรัม ส่วนขวดขนาดกลางรับน้ำหนักได้ไม่เกิน 60 กิโลกรัม ขณะนี้ยังต้องการขวดพลาสติกที่ใช้แล้ว เชือก กรรไกร และคัตเตอร์ ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือสามารถนำมาบริจาคได้ที่ ศปภ.ภาคประชาชน มูลนิธิกระจกเงา อาคารผู้โดยสารภายในประเทศชั้น 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#43
|
||||
|
||||
เปิดตัวนวัตกรรมไทย สู้ภัยน้ำท่วมทั่วประเทศ .... (ต่อ) หน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่นก็มีการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์สู้ภัยน้ำท่วมเช่นเดียวกัน คือที่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก กรมควบคุมโรค จึงได้คิดค้น 'นวัตกรรมกระเป๋าชูชีพอัจฉริยะช่วยป้องกันจมน้ำ' ขึ้น ลักษณะเหมือนกระเป๋านักเรียนทั่วไป ทำด้วยผ้า ภายในมีถุงลมพลาสติกหนา 2 ใบพับใส่ไว้ สามารถนำถุงลมออกมาเป่าด้วยปากให้ลมเต็มถุงจากนั้นปิดให้สนิท เท่านี้กระเป๋าชูชีพดังกล่าวก็จะสามารถรับน้ำหนักร่างกายพยุงตัวให้ลอยเหนือน้ำได้ สามารถรับน้ำหนักได้มากถึงประมาณ 100 กิโลกรัม นอกจากที่กล่าวมา ยังมีคนไทยที่มีความสามารถและอยากช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติอีกมาก เช่น เสื้อชูชีพต้นแบบช่วยเหลือนํ้าท่วม 'Thai Scrap' คิดค้นโดย คุณประเสริฐ มหคุณวรรณ หรือ เสื้อชูชีพจากขวดน้ำและถุงข้าวสาร ต้นทุน 50 บาท ของ ทีมชุดกู้ภัยสว่างวังสมบูรณ์ จ.สระแก้ว เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ เพราะแม้แต่กองทัพ ก็ยังออกมายอมรับว่าเสื้อชูชีพมาตรฐานอาจไม่เพียงพอสำหรับแจกประชาชนที่กำลังเดือดร้อนได้ครบทุกคน จึงเริ่มมีการระบุให้ทางกรมพลาธิการทหาร เริ่มออกแบบเสื้อกั๊กที่ใส่ขวดน้ำพลาสติกเช่นเดียวกัน นวัตกรรมชนิดอื่นๆ จากฝีมือคนไทย นอกจากเสื้อชูชีพทำจากขวดพลาสติกแล้ว ยังมีสิ่งประดิษฐ์อื่นๆที่น่าสนใจอีกสองชิ้น ได้แก่ - เรือจากวัสดุเหลือใช้ ฝีมือนักศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำโดย นายทวิช จิตรสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล ประดิษฐ์คิดค้นเรือท้องแบนจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเรือดังกล่าวจะใช้วัสดุอุปกรณ์เพียง 6 อย่าง ประกอบด้วย เหล็กเส้นความยาว 1.5 เมตร ผ้าใบคลุมสินค้ากว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร ลวดขนาดเล็ก ยางในรถจักรยานยนต์ เชือก และ ไม้อัด ส่วนวิธีการทำเรือจะนำเหล็กเส้นมาเชื่อมต่อเป็นโครง ก่อนใช้ยางในรถที่ตัดเป็นเส้นมาผูกยึดเหล็กให้ติดกัน จากนั้นนำผ้าใบมาผูกด้วยเชือกยึดติดกับโครงเรือและนำไม้อัดมาปูเป็นที่นั่งก็เป็นอันเสร็จสิ้น โดยใช้เวลาต่อเรือเพียง 2 ช.ม. และใช้งบประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น ซึ่งเรือดังกล่าวสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 3-4 คน และยังรองรับน้ำหนักสูงถึง 400 ก.ก. - ถุงคลุมรถกันน้ำท่วม โดย นายสันติประชา ดอนชุม อาจารย์ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพวังสะพุง จ.เลย คิดค้นถุงคลุมรถกันน้ำขึ้น โดยวัสดุที่ใช้ทำถุงคลุมรถกันน้ำมาจากพลาสติกที่คล้ายกับเรือยาง ซึ่งจะมีความทนทานกว่าพลาสติกทั่วไป สามารถทนต่อการอยู่กับน้ำได้นานถึง 3 เดือน และจะไม่ฉีกขาดง่าย รวมทั้งสามารถกันน้ำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งท้ายกันในเรื่องของการเตรียมความพร้อมให้กับครอบครัวและตัวบ้าน หากต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วมแน่ๆ อันดับแรกควรวางแผนเรื่องพื้นที่สูงสำหรับการอพยพหากจำเป็น และจัดเตรียมกระสอบทรายสำหรับกั้นน้ำในจำนวนที่พอเพียง เก็บทรัพย์สินมีค่า เอกสารสำคัญให้ปลอดภัยและควรอยู่ในที่เดียวกัน จากนั้นสำรองอาหารแห้งตลอดจนน้ำดื่มและภาชนะเท่าที่สมควร และจัดยารักษาโรค ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนเสื้อชูชีพ หรือแพยาง นกหวีด ไฟฉาย อุปกรณ์สื่อสาร เป็นต้น สุดท้ายคือเมื่อน้ำมา ต้องตัดไฟในตัวบ้านทันทีเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากไฟดูดนั่นเอง ญี่ปุ่นผุด'โนอาห์'ลูกบอลแกร่ง ช่วยหลบมหันตภัยดินไหว-สึนามิ นอกจากนวัตกรรมทำมือในภาวะฉุกเฉินของไทยแล้ว ลองไปดูสิ่งประดิษฐ์ระดับมืออาชีพทำขายจริงของญี่ปุ่นกันบ้าง โดยเดลี่เมล์ รายงานว่าบริษัทวิศวกรรม "คอสโม เพาเวอร์" เมืองฮิราสึกะ ประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ "โนอาห์" ซึ่งอ้างว่าเป็นนวัตกรรมหลบภัยพิบัติฉุกเฉิน และตั้งชื่อตาม "เรือโนอาห์" ที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิ้ลว่าเป็นเรือที่ช่วยให้มนุษย์และสัตว์โลกบางส่วนมีชีวิตรอดอยู่ได้ในวันที่พระเจ้าทรงทำให้น้ำท่วมโลก เพื่อชำระบาปของมนุษย์ นายโชจิ ทานากะ ประธานคอสโมฯ ระบุว่า "โนอาห์" มีลักษณะคล้ายลูกเทนนิสขนาดยักษ์สีเหลือง ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 ฟุต มีคุณสมบัติลอยน้ำได้ ติดตั้งกระจกและท่อรับอากาศจากภายนอก ผู้ใหญ่สามารถเข้าไปหลบภัยอยู่ได้ 4 คนพร้อมๆ กัน โครงสร้างทำจากไฟเบอร์กลาสเสริมแรงชนิดพิเศษ ซึ่งมีความแข็งแกร่งสูง ช่วยให้มนุษย์ที่หลบอยู่ข้างในรอดตายได้ถ้าต้องเผชิญกับมหันตภัยร้ายแรง อาทิ แผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่นยักษ์สึนามิ บริษัทคอสโมเปิดตัว "โนอาห์" เป็นครั้งแรกช่วงต้นเดือนก.ย.2554 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบันทางบริษัทอ้างว่ามีคำสั่งซื้อ "โนอาห์" เข้ามาถึง 600 ลูก นำส่งลูกค้าไปแล้ว 2 ลูก โดยนอกจากซื้อเก็บไว้ใช้ป้องกันพิบัติภัยแล้ว ยังซื้อเอาไว้ใช้เป็นเหมือน "บ้านของเล่น" สำหรับบุตรหลานได้อีกด้วย ราคาประมาณ 123,000 บาทต่อลูก จาก ....................... ข่าวสด วันที่ 18 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#44
|
||||
|
||||
20 บัญญัติ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม การติดตามข่าวสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ผู้รับข่าวสารเกิดความรู้สึกทุกข์ เพราะต้องลุ้นด้วยความระทึกว่า ที่อยู่อาศัยของตนจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ การเตรียมบ้านให้พร้อมรับภัยน้ำที่อาจมาถึงจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความทุกข์ลงได้ ซึ่ง 'ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์' สถาปนิกคนดัง แนะนำ “บัญญัติ 20 ประการ เตรียมบ้านก่อนน้ำท่วม” ดังต่อไปนี้ บัญญัติข้อ 1.ดูทางน้ำที่จะมาสู่บ้านเรา แล้วจะไปทางไหนได้บ้าง ขอให้คิดว่าเราเหมือนกำลังตั้งค่ายคูประตูหอรบอยู่ เราต้องรู้ว่าข้าศึกจะเข้ามาโจมตีเราทางทิศใดได้บ้าง แล้วเริ่มวางแผนที่จะ “หยุดน้ำ หยุดข้าศึกที่จะเข้ามาโจมตีเรา” มีหลายวิธีที่ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการ “สร้างเขื่อนชั่วคราว” ด้วยกระสอบทราย หรือเอาแผ่นวัสดุใดๆมากั้น 2.กำแพงบ้านไว้กันน้ำได้ แต่ต้องระวังรั้วพังนะครับ ทางป้องกันที่ง่ายที่สุดก็คือ เราหากระสอบทรายมาวางไว้อีกด้านหนึ่งของรั้วบ้านเรา (ในบ้านเรา) วางไว้ติดชิดกับรั้วไปเลย เพื่อช่วยรับน้ำหนัก ถ่ายแรงจากรั้วมา 3.น่าจะมี “ปืน” ไว้สู้ฝน สู้น้ำท่วม จัดการกับ “รูรั่ว” บ้านหลายหลังที่มีรู มีรอยแตกเล็กๆตามผนังหรือช่องหน้าต่าง ดังนั้น เราก็น่าจะมีวัสดุอุดประสานรอยจำพวก ซิลิโคน หรือ อะคริลิค หรือ โพลี่ยูริเทน เอาไว้ ซึ่งเราน่าจะทำได้ด้วยตัวเอง แต่การที่เราจะใช้วัสดุ ประสานที่มีความยืดหยุ่นและอยู่ในหลอดแข็งๆนี้ได้ เราจะต้องมีอุปกรณ์การ "ฉีด" ซึ่งภาษาช่างทั่วไปเขาเรียกกันว่า "ปืน" ซึ่งราคาไม่แพงเลยครับ 4.อย่าให้ต้นไม้ล้มทับบ้าน ยามน้ำท่วมและพายุมา เมื่อน้ำท่วม ระดับน้ำใต้ดินจะสูงมาก (หรือน้ำท่วมเข้ามาได้จริงๆ) รากของต้นไม้จะแช่น้ำเป็นเวลานาน รากต้นไม้จะเน่าได้ แล้วความสามารถในการยึดเกาะกับดินก็จะน้อยลง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ใหญ่ที่ไม่มีรากแก้ว) ต้นไม้ก็อาจจะล้มลงได้ ต้องทำการค้ำยันลำต้นเอาไว้ให้ดี ก่อนน้ำจะท่วมครับ ซึ่งตอนที่น้ำท่วมห้ามให้ปุ๋ยต้นไม้ครับ เพราะจะทำให้รากเน่าเร็วขึ้น (ต้นไม้ที่โดนน้ำท่วมก็เหมือนคนป่วย เขาไม่ต้องการอาหารดีๆ (แต่ย่อยยาก) ครับ ขอให้หายป่วยเสียก่อนค่อยกินอาหารดีๆเยอะๆได้ครับ) 5.ตรวจสอบถังน้ำใต้ดิน(ถ้ามี) ต้องตรวจสอบ “ฝา” ของถังน้ำให้ดีๆ เพราะเวลาน้ำท่วม ถังน้ำจะอยู่ใต้น้ำด้วย หากฝาของถังน้ำมีระบบป้องกันน้ำเข้าไม่ดี น้ำสกปรกที่ท่วมเข้ามา ก็จะไปปนกับน้ำสะอาดในถังน้ำของเรา หากเราไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องน้ำเล็ดลอดเข้ามาในถังของเราได้ ก็ขอให้ต่อท่อน้ำตรงจากท่อประปาหน้าบ้านเรา เข้ามาที่ตัวบ้านของเราเลย (โดยปกติแล้ว บ้านที่มีถังน้ำใต้ดินจะมีวาล์วหมุนเปิดทางให้น้ำประปาจากหน้าบ้านเรา วิ่งผ่านตรงเข้ามาในบ้านโดยไม่ลงไปที่ถังน้ำใต้ดินได้ ต้องหาวาล์วตัวนี้ให้เจอ แล้วต่อตรงเข้ามาเลยดีกว่า น้ำจะเบาลงหน่อย แต่ก็ยังเป็นน้ำสะอาดครับ) 6.ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้านอกบ้าน-ตัดกระแสไฟเสีย โดยภายนอกบ้านของเราจะมีอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายอย่าง เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องปรับอากาศ หรือแม้กระทั่งไฟสนาม และกริ่งหน้าบ้าน ต้องหาสวิตซ์ตัดไฟให้พบว่า จะต้องตัดไฟตรงไหนไม่ให้ไฟฟ้าวิ่งเข้าไปที่อุปกรณ์เหล่านั้นได้ ยามเมื่อน้ำท่วมเข้ามา ต้องทำการตัดไฟตรงนั้นเสีย ส่วนการย้ายเครื่องมือย้ายอุปกรณ์เหล่านั้นในตอนนี้ หากแน่ใจว่าน้ำท่วมแน่ และมีช่างมาช่วยย้าย ก็อาจจะย้ายได้ 7.ป้องกัน งู เงี้ยว เขี้ยว ขอ ตะกวด และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ ดังนั้นเราต้องมั่นใจว่า “รู” ต่างๆของบ้านเราจะต้องโดน “อุด” เอาไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รูจากท่อระบายน้ำ” ที่พื้นบ้านของเรา บางท่านอาจจะมีการโรย “ปูนขาว” ล้อมรอบบ้านเอาไว้ด้วยก็ได้ (แต่ต้องมั่นใจว่าโรยรอบบ้านจริงๆ และ ไม่ถูกน้ำท่วม หรือถูกฝนชะล้างจนหายไปหมดครับ) เพราะปูนขาวจะกันสัตว์เหล่านี้ได้ครับ นอกจากนี้ก็น่าจะเตรียมยาฉีดกันแมลงติดไว้ด้วย 8.เรื่องส้วม ส้วมที่เป็นระบบบ่อเกรอะ บ่อซึมแบบเดิม พอน้ำท่วม ส้วมก็จะเกิดอาการ “อืด และ ราดไม่ลง” หากน้ำจากภายนอกท่วมมาก มีแรงดันมาก ก็อาจจะเกิดอาการ “ระเบิด” ทำให้สิ่งปฏิกูลต่างๆพุ่งกลับมาที่โถส้วม กรณีนี้ต้องป้องกัน โดยปิดโถส้วมให้ดี หากเป็นโถส้วมนั่งราบที่มีฝาปิด ก็ต้องปิดฝาให้แน่น เอาเชือกผูกเอาไว้ กรณีที่เป็นบ่อบำบัดสำเร็จ ในเวลาปกติเขาจะบำบัดจนเสร็จภายในถังเอง แล้วก็จะระบายน้ำที่บำบัดเสร็จแล้วลงท่อระบายน้ำนอกบ้านของเรา ยามน้ำท่วม น้ำจากบ่อบำบัดจะไหลระบายออกไปไม่ได้ เพราะระดับน้ำที่ท่วมอยู่สูงกว่าบ่อบำบัด ซึ่งเป็นการแก้อะไรไม่ได้ ต้องปล่อยไว้อย่างนั้นครับ ถังบำบัดสำเร็จบางรุ่นจะมีมอเตอร์อัดอากาศเข้าไป (ซึ่งในบ้านส่วนใหญ่จะไม่ใช้รุ่นนี้) ก็ต้องตรวจดูว่ามอเตอร์อยู่ที่ไหน หากมอเตอร์น่าจะอยู่ในระดับที่น้ำท่วมถึง ก็ต้องตัดกระแสไฟไม่ให้เข้าไปสู่ตัวเครื่องกล ทั้งนี้สิ่งที่ต้องระวังก็คือ “ท่อหายใจ” ที่เป็นท่อระบายอากาศของระบบส้วมของเรา หากท่อหายใจของเราอยู่ระดับต่ำ ก็ต้อง “ต่อท่อ” ให้มีระดับสูงขึ้นให้ได้ จะต่อแบบถาวรก็ได้หรือจะต่อแบบท่อไม่ถาวร ก็คือเอาสายยางธรรมดา มาครอบท่อหายใจเดิม แล้วก็ยกให้ปลายท่อนั้นอยู่สูงขึ้นกว่าระดับน้ำที่คาดหมายว่าจะท่วม ท่อหายใจนี้จะเป็นอุปกรณ์สำคัญมากในการช่วยระบายความดันภายในระบบส้วมของเรา ไม่ให้สิ่งปฏิกูลมีแรงดันมากเกินไปครับ 9.ปลั๊กไฟ สวิตซ์ไฟ ตรวจสอบและแยกวงจร เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด หากบ้านของเรามีการแยกวงจรไฟฟ้าไว้ตั้งแต่แรก คือวงจรไฟฟ้านอกบ้าน วงจรไฟฟ้าชั้นล่าง และวงจรไฟฟ้าชั้นบน ก็ต้องปิดวงจรไฟฟ้านอกบ้านเมื่อน้ำท่วมนอกบ้าน หากน้ำสูงขึ้นมาจนเข้าในตัวบ้าน ก็ต้องปิดวงจรไฟฟ้าชั้นล่าง หากน้ำสูงขึ้นถึงชั้นสอง น่าจะหาทางออกจากบ้านเพื่อย้ายไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว เพราะสวิตซ์หลักของบ้านโดยทั่วไปจะอยู่ที่ชั้นล่างระดับประมาณ 1.8 เมตรจากพื้นห้องครับ กรณีที่บ้านไหนโชคดี วงจรไฟฟ้าชั้นล่างแยกวงจรออกมาเป็นระดับปลั๊กด้านล่างและระดับสวิตซ์บน ก็ค่อยๆ ตัดวงจรปลั๊กชุดล่างก่อนตามระดับน้ำที่ท่วมขึ้นมา 10.ตรวจสอบว่าประตูหน้าต่างแน่นหนาและแข็งแรง เพราะประตูและหน้าต่าง เป็นจุดหนึ่งที่ถือว่ามีความอ่อนแอมากที่สุด มีโอกาสที่จะบิด หรือเผยอตัว หรืออาจจะหลุดออกมาทั้งบาน หากมีแรงดันน้ำมากๆ ดันเข้ามา หากหนักหนาจริงๆ ให้เอาของหนักมาวางช่วยดันประตูไว้ 11.เตรียมระบบสื่อสารทุกประเภทเอาไว้ให้พร้อม ระบบสื่อสารทุกอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นระบบโทรศัพท์ปกติหรือโทรศัพท์มือถือ ระบบอินเตอร์เน็ตทั้งมีสายและไร้สาย วิทยุ โทรทัศน์ หรือ อุปกรณ์สื่อสารพิเศษอย่างอื่น (เช่นระบบดาวเทียม วอร์คกี้ทอร์คกี้ เป็นต้น) เพราะการรับข่าวสาร และการติดตามข่าวสารเรื่องภัยน้ำท่วมที่จะมาถึงตัวเราเป็นเรื่องสำคัญ 12.ชาร์จอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างเตรียมพร้อม 24 ชั่วโมง เพราะมีความจำเป็นยามเกิดภาวะฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย วิทยุ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ หรือแม้กระทั่งกล้องถ่ายภาพ ฯลฯ ยามน้ำท่วม ระบบไฟฟ้าทั้งหมดอาจติดขัดครับ และการใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเมื่อไฟฟ้าปกติไม่มา จะต้องประหยัดไฟด้วย เพื่อความมั่นใจว่าอุปกรณ์เหล่านั้นจะทำงานได้เต็มที่ยามฉุกเฉิน 13.ย้ายของทุกอย่างให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ตั้งแต่รถยนต์ ถังกาซ เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ของขวัญ รูปภาพ ฯลฯ มีข้อมูลว่า เมื่อน้ำท่วม หลายคนเป็นอันตรายอันเนื่องมาจากการ “ห่วงของ” ต้องลุยน้ำกลับไปกลับมาเพื่อขนของออกจากบ้าน และหลายครั้งที่ขนของออกมาแล้ว แต่ไม่มีที่วาง ก็จำต้องวางไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัย ปรากฏว่าของที่อุตส่าห์ขนออกมาด้วยความเสียดายหรือความผูกพันนั้น ถูกผู้ชั่วร้ายใจทรามขโมยต่อเอาไปอีกด้วย แต่ของที่เราจะย้ายนั้น ไม่ได้หมายความว่าเป็นของทุกอย่างไปเลย เลือกเฉพาะที่เราคิดว่าต้องย้ายเท่านั้น ของบางอย่างที่แช่น้ำได้ไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องขนย้ายก็ได้ 14.ใช้พลาสติกซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่กลัวน้ำให้เป็นประโยชน์ เช่นถังน้ำพลาสติก ท่อพลาสติก กระดานพลาสติก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ้าหรือแผ่นพลาสติก ที่เราจะเอาไว้ใช้หุ้มอุปกรณ์หรือส่วนต่างๆของบ้านเรา ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ หนังสือ ฯลฯ แม้กระทั่งการหุ้มป้องกันตัวเรา และที่สำคัญอีกอย่างก็คือ “ห่วงยาง” ครับ 15.เตรียมอาหาร น้ำดื่ม และยาให้พร้อม ประมาณ 3 วัน ยาหลักๆก็คือ ยาแก้ปวด ยากแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า ยาล้างแผล ยาแก้แพ้ ยากันแมลงและยาของโรคประจำตัวของทุกคน 16.บ้านชั้นเดียว ต้องตรวจสอบหลังคาด้วย น้ำอาจจะท่วมชั้นล่างของบ้านอย่างรวดเร็ว หลังคาหรือส่วนของหลังคาจึงเป็นพื้นที่หลบภัยได้ชั่วคราวพื้นที่หนึ่ง เราจึงต้องตรวจสอบทางหนีทีไล่ของเรา กรณีที่เราต้องขึ้นไปหนีภัยบนหลังคา ซึ่งเราอาจจะขึ้นไปทางฝ้าเพดานของเรา (กรุณาอย่าลืมตัดวงจรไฟฟ้าที่บ้านทั้งหมดก่อนจะขึ้นไปบนฝ้าเพดานสู่หลังคานะครับ) 17.ระวังโจร อย่าเก็บของมีค่าเอาไว้ในบ้านของเรา เอาไปฝากที่อื่นก่อนดีกว่า 18.เพื่อนบ้าน ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ในกรณีนี้ไม่ได้หมายถึงเรื่องของการต่อสู้ป้องกันโจรประการเดียว แต่หมายถึงในทุกๆกรณี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เรา “ขอความช่วยเหลือ” หรือเพื่อนบ้านขอความช่วยเหลือจากเรา 19.เตรียมทางหนีทีไล่เพื่อออกจากบ้าน อย่าคิดเพียงทางหนีออกจากบ้าน แต่ต้องคิดให้จบว่าหนีออกไปแล้ว จะหนีด้วยอะไร มีเรือหรือห่วงยางหรือไม่ มีเชือกสาวตัวเองหรือไม่ จะพกอะไรติดตัวไปบ้าง และจะมุ่งหน้าไปทางทิศใด มุ่งหน้าไปไหน พักที่ใด และสุดท้าย 20.ตั้งจิตให้มั่น ตอนนี้ “สติ” สำคัญที่สุด อย่าเสียเวลากับการเกรี้ยวโกรธ อย่าเพิ่งด่าอะไรใคร อย่าโทษฟ้าดิน โดยให้เตรียมการอย่างเป็นระบบ เราต้องรับรู้ข่าวสารต่างๆอย่างทันต่อเหตุการณ์จากคนที่เชื่อถือได้ เช่น http://www.thaiflood.com/ หรือ http://flood.gistda.or.th/ เป็นต้น. จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 18 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายชล : 25-10-2011 เมื่อ 09:53 |
#45
|
||||
|
||||
''สุขอนามัยช่วงน้ำท่วม'' รอบรู้ป้องกันก่อนเรื้อรัง จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ การดูแลสุขภาพเป็นเรื่องจำเป็นโดยเฉพาะอาหารการกิน ที่อาจมีผลร้ายระยะยาวต่อผู้ประสบภัยเอง เช่นเดียวกับสุขภาพที่อาจมีผลเรื้อรังต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน ดร.นพ.เกริกยศ ชลายนเดชะ ผู้อำนวยการแพทย์อาวุโส (กลุ่มการแพทย์ 1) รพ.พญาไท 1 กล่าวว่า การดูแลสุขภาพร่างกายของผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งอาจส่งผลทางร่างกายให้เกิด โรคผิวหนัง เช่น อาการแพ้, เชื้อราผิวหนัง และโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเเป็นผลมาจากการทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพ ขณะที่ผลทางด้านจิตใจเป็นอีกส่วนที่น่าห่วงไม่แพ้กัน เพราะหลายคนมีความวิตกกังวลและหวาดกลัวกับระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำความเข้าใจเพื่อสร้างความผ่อนคลายให้กับผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน สำหรับการเลือกทานอาหารสด อย่าง หมู ควรดูเนื้อที่เป็นสีชมพู ไม่มีกลิ่นเหม็น พอกดดูเนื้อแล้วจะไม่บุ๋มลงไป เช่นเดียวกับเนื้อวัวที่กดลงไปแล้วไม่บุ๋ม ส่วนปลาให้ดูเหงือกสีชมพู ด้านเนื้อไก่ต้องไม่มีรอยเป็นจ้ำบนผิวเนื้อ อาหารกระป๋องที่เก็บไว้หรือได้รับการช่วยเหลือต้องตรวจสอบว่ามีฉลากบริเวณกระป๋องติดไว้หรือไม่ รวมถึงต้องมีฉลากบอกวันผลิตและวันหมดอายุที่ชัดเจน กระป๋องต้องไม่มีรอยบุบ และเมื่อเปิดกระป๋องออกมาต้องไม่มีแรงลมออกมาด้วย เพราะถ้าอาหารกระป๋องมีปัญหาอย่างที่กล่าวมาอาจส่งผลอันตรายต่อสุขภาพควรหลีกเลี่ยงรับประทาน ในส่วนของน้ำที่จะนำมาใช้ล้างภาชนะต้องใช้สารส้มแกว่งก่อนนำมาใช้ เมื่อตกตะกอนจึงนำส่วนที่เป็นน้ำใสมาใช้ได้ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใส่ไว้ในภาชนะเพื่อให้ตกตะกอนก่อนแล้วตักน้ำส่วนบนมาใช้ แต่ถ้าหากจะใช้น้ำไปดื่มกินต้องใช้สารส้มแกว่งจนตกตะกอนแล้วตักน้ำส่วนที่เป็นน้ำใสไปต้มจนเดือดแล้วจึงนำมาดื่มได้ เสื้อผ้าของผู้ประสบภัยเป็นอีกส่วนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในเด็กและคนชรา เพราะจะทำให้เกิดโรคผิวหนังและเชื้อราได้ ถ้าไม่มีผงซักฟอกในการซักให้ผึ่งแดดเพื่อฆ่าเชื้อ อย่างน้อยๆ จะช่วยให้ปัญหาเชื้อราต่างๆลดลง อาการที่เกิดจากการทานอาหารที่ไม่มีคุณภาพจะมีอาการท้องเสียเนื่องจากอาหารเป็นพิษ โดยสามารถทำน้ำเกลือแร่ขึ้นเองในภาวะฉุกเฉินได้ โดยนำน้ำอัดลมมาผสมกับเกลือและดื่มแทนได้ หรือนำน้ำสะอาดมาใส่ในขวดขนาด 750 ซีซี ใส่น้ำตาลลงไป 2 ช้อนโต๊ะ ผสมกับเกลืออีกครึ่งช้อนชาแล้วทำให้เข้ากันจะได้น้ำเกลือแร่แบบง่าย ๆ ในภาวะฉุกเฉิน มือเป็นพาหะที่สำคัญซึ่งต้องระวังอย่างมาก โดยก่อนจะหยิบอาหารกินทุกครั้งต้องล้างมือด้วยน้ำสะอาดก่อนทุกครั้ง เพื่อฆ่าเชื้อที่อาจปนเปื้อนมากับมือและเข้าสู่ร่างกายส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารมีปัญหา “สิ่งที่ต้องระวังคือเด็กและคนชราที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้มีภูมิต้านทานที่อ่อน ดังนั้นเรื่องอาหารการกินและเสื้อผ้าควรให้ความสำคัญอย่างมากเช่นกัน” อนาคตการดูแลเรื่องอาหารและสุขภาพร่างกายเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้น่าจะทำให้รัฐมีการเตรียมแผนรองรับด้านอาหารและการรักษาพยาบาลในอนาคตหากมีเหตุน้ำท่วมใหญ่เหมือนครั้งนี้อีก สุรนุช ธงศิลา กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี ธนศักดิ์ สาคริกานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด และ มงคล ลีกำเนิดไทย ผู้จัดการ Solution Technology Development บริษัท สยามซานิทารีแวร์ จำกัด เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาที่เกิดอุทกภัยได้ผลิต สุขากระดาษ เพียงอย่างเดียวเพราะถึงแม้น้ำจะท่วมกินพื้นที่กว้างแต่ไม่นาน จึงไม่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้ความเดือดร้อนรุนแรงมากและสุขากระดาษก็เหมาะสำหรับการใช้ในครัวเรือนที่ยังพอมีสถานที่มิดชิด แต่ครั้งนี้เมื่อเดือดร้อนมากๆ มีการนำผู้ประสบภัยอพยพมาอยู่รวมกัน ทำให้สุขากระดาษไม่เพียงพอ จึงเกิดไอเดีย “สุขาลอยน้ำ” ขึ้นมาและคิดว่าน่าจะเหมาะสมกว่า จริงๆแล้ว สุขาลอยน้ำไม่ใช่ไอเดียใหม่ เพราะมีการทำกันออกมาเยอะ แต่ที่ผ่านมาเป็นการทำเฉพาะกิจทุกคนทำออกมาให้ลอยน้ำได้ซึ่งคิดว่าเป็นไอเดียที่ดี เช่น มีการนำถังน้ำมันมาประกอบให้ลอยน้ำได้ รวมทั้งนำสังกะสีมาล้อม และมีส้วมอยู่ด้านในเจาะรูแล้วถ่ายสิ่งปฏิกูลก็ลงไปในน้ำ ซึ่งเราต้องการมาตรฐานในเรื่องของสุขลักษณะและสุขอนามัย รวมทั้งความปลอดภัย ทำให้สุขาลอยน้ำที่เราทำขึ้นมาแตกต่างจากของหน่วยงานอื่น คือเรามีถังบำบัด เพราะสุขาลอยน้ำที่ทำกันส่วนใหญ่ไม่มีหรือถ้ามีก็เป็นถังเก็บปฏิกูล เมื่อเต็มก็ต้องเปลี่ยนหรือดูดออก แต่ของเราเป็นถังบำบัดที่เมื่อมีสิ่งปฏิกูลลงไปในถังจะมีจุลินทรีย์ในการย่อยสลายสิ่งปฏิกูล เมื่อย่อยสลายเสร็จแล้วสิ่งที่ปล่อยออกมาจากถังบำบัดจะได้มาตรฐานเหมือนกับถังบำบัดในบ้านเรือน การออกแบบสุขาลอยน้ำนี้เราคิดว่าทำอย่างไรให้สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้เร็วที่สุด จึงคิดที่จะนำสินค้าทุกตัวของเอสซีจีมาประกอบกันให้เป็นห้องน้ำและมีการบ้านที่ต้องคิดคือต้องเป็นส้วมลอยน้ำที่ถูกสุขลักษณะ โล่ง ปลอดภัย โดยสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าทำอย่างไรให้ลอยได้และเป็นถังบำบัดของเสียได้ด้วย จึงพบว่าถังน้ำขนาด 700 ลิตร สามารถดัดแปลงเป็นทุ่นลอยและเป็นถังบำบัดได้ด้วย การทำคือนำถังน้ำขนาด 700 ลิตร มาติดตั้งกับโครงเหล็กข้างละ 2 ถัง รวมเป็น 4 ถัง จึงมีทุ่นลอยทั้งหมด 4 ใบ เกิดแรงลอยตัวได้ถึง 2,800 กิโลกรัม สามารถรับน้ำหนักได้ประมาณ 8 คน จากนั้นออกแบบสุขาลอยน้ำให้มีขนาดความกว้าง 2.40 เมตร ยาว 3.60 เมตร สูง 3.20 เมตร และมี 2 แบบคือ นั่งราบและนั่งยอง ซึ่งชาวบ้านจะคุ้นเคยทั้ง 2 แบบโดยใช้น้ำราดเหมือนกัน สาเหตุที่ทำ 2 แบบ เพราะผู้สูงอายุเวลาใช้แบบนั่งยองนานๆ อาจจะนั่งไม่ไหว ถ้าใช้แบบนั่งราบจะสะดวกกว่า แต่บางคนที่ทนไหวก็สามารถนั่งได้ และถ้าทำแบบนั่งราบอย่างเดียวบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยก็จะทำให้ปีนขึ้นไปนั่งยองบนโถอาจเป็นอันตรายได้ จึงทำ 2 แบบให้เลือกตามความสะดวก อย่างไรก็ตามเรื่องเล็กๆน้อยๆ เราก็ไม่มองข้าม เช่น หลังคาที่ใช้เป็นหลังคาโปร่งแสง ในเวลากลางวันไม่ต้องมีไฟฟ้าก็ใช้ได้ และติดตั้งแผงระบายอากาศด้านข้าง แสงแดดสามารถเข้าได้ช่วยในการฆ่าเชื้อโรคและมีที่จับด้านในห้องน้ำและรอบๆทางเดินด้านนอกด้วย เพราะห้องสุขาลอยอยู่ในน้ำอาจมีโยกเยกบ้าง ผู้สูงอายุจะได้จับเพื่อความปลอดภัย เมื่อได้ตรงนี้แล้วเรามาคิดว่าถ้าคนเข้าห้องน้ำก็ต้องมีน้ำราด จึงคิดทำระบบน้ำด้วยการทำปั๊มมือเพื่อปั๊มน้ำที่ท่วมด้านล่างเข้ามาใส่ถังที่เราเตรียมไว้ให้ในห้องน้ำแล้วตักราด ซึ่งจะเหมือนก๊อกน้ำทั่วไปแต่ใช้มือปั๊ม โดยสุขาลอยน้ำนี้สามารถช่วยลดโรคระบาดได้ เพราะโรคระบาดส่วนใหญ่มากับการขับถ่าย ทางกระทรวงสาธารณสุขห่วงใยมาก เพราะเมื่อน้ำเริ่มนิ่งถ้าขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทางโรคระบาดก็จะตามมาได้ ทางมูลนิธิฯ จะผลิตสุขาลอยน้ำประมาณ 150 ชุด มอบให้ผ่านทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ดูแลจำนวน 100 ชุด เนื่องจากทาง ปภ.มีเครื่องมือในการดูแลรักษาและมีเกือบทุกจังหวัด เพราะเมื่อน้ำลดจะได้นำสุขามาทำความสะอาดและสามารถใช้งานบนพื้นดินต่อหรือจะเก็บไว้ใช้เมื่อเกิดอุทกภัยครั้งต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประสบภัยมีความต้องการสุขากระดาษหรือสุขาลอยน้ำ สามารถแจ้งความจำนงผ่านมูลนิธิฯ ได้โดยส่งแฟกซ์มาที่เบอร์ 0-2586-3910 พร้อมระบุจำนวน ชื่อผู้ติดต่อ สถานที่ที่ได้รับความเดือดร้อน และประสานงานต่อที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2586-5506 เพราะเราคนไทยย่อมไม่ทิ้งกัน. เตือนภัยเล่นน้ำท่วมขังระวังเป็นตาแดง พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานควรระมัดระวังอย่าปล่อยให้เล่นน้ำในที่น้ำท่วมขังเพราะเป็นน้ำสกปรก โดย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ความรู้ว่า โรคตาแดงเป็นโรคที่พบมากในช่วงน้ำท่วม ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับน้ำ จากการลงเล่นน้ำ น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา การใช้น้ำที่ไม่สะอาดล้างหน้า การใช้มือ แขน เสื้อผ้าที่สกปรกขยี้ตาหรือเช็ดตา อย่างไรก็ตามโรคนี้อาการไม่รุนแรง หลังจากติดเชื้อภายใน 2-14 วัน จะมีอาการเคืองตา คันตา ตาแดง น้ำตาไหล มีขี้ตามาก มักเริ่มจากตาข้างหนึ่งก่อน แล้วลามไปยังตาอีกข้างหนึ่งภายใน 2-3 วัน นอกจากนี้โรคตาแดงสามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก จากการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม สำหรับการป้องกันโรคมีข้อแนะนำดังนี้ 1. ถ้ามีน้ำสกปรกเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที 2. หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ห้ามใช้มือขยี้ตา 3. รักษาความสะอาดเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัว สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด 4. เมื่อเป็นหรือสงสัยว่าอาจเป็นโรคตาแดง ควรไปพบแพทย์ที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาตั้งแต่แรก สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคตาแดงแล้ว ควรปฏิบัติตัวดังนี้ ให้ใช้กระดาษนุ่มๆ ซับน้ำตาหรือใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดขี้ตาและบริเวณเปลือกตาแล้วทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดน้ำตา เนื่องจากเชื้อจะสะสมที่ผ้าเช็ดหน้า และติดต่อไปยังผู้อื่นได้ ไม่ควรใช้ผ้าปิดตาเพราะจะยิ่งทำให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้น งดใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าตาจะหายอักเสบ ใส่แว่นกันแดดเพื่อลดการระคายเคืองแสง ควรนอนแยกจากสมาชิกในครอบครัว และไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่นเพื่อป้องกันการระบาด สิ่งสำคัญคือ หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ เนื่องจากเชื้อไวรัสติดต่อโดยการสัมผัสมากที่สุด การล้างมือจะช่วยตัดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างดี ทั้งนี้หากมีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้ไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อรับการรักษา หรือ หากเจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถโทรฯ สายด่วน 1669 เพื่อรับความช่วยเหลือ. “น้ำที่จะนำมาใช้ล้างภาชนะต้องใช้สารส้มแกว่งก่อนนำมาใช้ เมื่อตกตะกอนจึงนำส่วนที่เป็นน้ำใสมาใช้ได้ หรือนำน้ำจากแหล่งน้ำมาใส่ไว้ในภาชนะเพื่อให้ตกตะกอนก่อนแล้วตักน้ำส่วนบนมาใช้ แต่ถ้าหากจะใช้น้ำไปดื่มกินต้องใช้สารส้มแกว่งจนตกตะกอนแล้วตักน้ำส่วนที่เป็นน้ำใสไปต้มจนเดือดแล้วจึงนำมาดื่มได้” จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 18 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#46
|
||||
|
||||
สอนลูกให้รู้จักพวกฉกฉวยสถานการณ์จากน้ำท่วม ........................... โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน สถานการณ์ช่วงนี้ไม่ชวนให้ผู้คนอยากทำอะไร เพราะจิตใจหดหู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสารของผู้ประสบอุทกภัยที่พบเห็นอยู่ทุกวี่วัน มีผู้คนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นทุกขณะ ภาพความเดือดร้อนของผู้คนที่ต้องอพยพ วิตกกังวล ทุกข์ร้อน หรือบางคนต้องสิ้นเนื้อประดาตัวก็มีไม่น้อย แต่ท่ามกลางความเดือดร้อน เราก็ยังเห็นน้ำใจของผู้คนมากมายที่อาสาสมัครหลั่งไหลจากทุกสารทิศ และพยายามหาทางช่วยเหลือผู้คนในหลากหลายพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยจากผู้คนในหน่วยงาน องค์กร และหลายภาคส่วน ซึ่งมักเกิดขึ้นทุกครั้งที่บ้านเมืองของเราประสบเหตุเภทภัยอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ นั่นคือความสวยงามของนิสัยคนไทยที่ไม่เคยทอดทิ้งกัน อย่างไรก็ดี เหรียญมีสองด้าน เรามีคนที่มีน้ำใจมากมาย แต่เราก็พบเห็นผู้คนไม่ดีก็มีจำนวนไม่น้อย ที่ฉกฉวยสถานการณ์จากความเดือดร้อนของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ข่าวคราวที่เกิดขึ้นทั้งจากภาพข่าว และจากคนที่รู้จักพบว่ามีหลายพื้นที่ที่ความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง เพราะอยู่ห่างไกลและยากต่อการเข้าถึง ทำให้มีผู้คนแย่ๆ ที่ฉกฉวยสถานการณ์ในการเข้าไปเสนอตัวช่วยเหลือด้วยการคิดเงินราคาแพง เช่น กรณีที่มีคนต้องการใช้เรือเพื่อออกจากบ้านเพราะไม่สามารถสัญจรได้ และความช่วยเหลือเข้าไปไม่ถึง เลยมีความจำเป็นต้องใช้เรือเดินทาง และต้องจ้างเรือรับจ้าง ปรากฏว่าผู้รับจ้างก็คิดราคาค่าจ้างสูงถึงหลักพันบาท เพราะรู้ว่าอย่างไรคนเหล่านั้นไม่มีทางเลือก ต้องใช้บริการอยู่ดี "ทำไมคนเหล่านั้นถึงทำอย่างนี้ล่ะครับ ทั้งที่คนเขากำลังเดือดร้อน" คำถามของลูกชายที่ดิฉันก็สะอึกเหมือนกัน เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ เป็นการซ้ำเติมผู้เดือดร้อนหนักเข้าไปอีก ไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจิตใจทำด้วยอะไร ตามมาด้วยหัวขโมยจำนวนมากที่ผู้คนต้องอพยพหนีภัยน้ำท่วม แต่ตัวเองกลับเข้าไปขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาหนักใจอย่างยิ่ง และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่ยอมเคลื่อนย้ายตัวเองออกจากพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย หรือแม้แต่สถานการณ์ล่าสุดที่ดิฉันไปซื้อของแล้วพบว่าสินค้าราคาสูงจนน่าตกใจ จนเกิดคำถามจากลูกชายอีกครั้งว่า "ทำไมสินค้าถึงราคาแพงขึ้นล่ะครับ ก็ผู้คนกำลังเดือดร้อนอยู่ แล้วเขาจะมีเงินซื้อของได้อย่างไร" และ…ก็ต้องอึ้งอีกครั้ง เพราะเป็นเรื่องจริงที่พวกเราคนไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมที่ยังคงสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินความเสียหายกันรายวัน แต่ความเสียหายที่ชัดเจนจะปรากฏอีกครั้งอย่างแท้จริงก็เมื่อหลังน้ำลด จริงอยู่ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับความเสียหายจากน้ำท่วมต้องมีราคาสูงอย่างแน่นอนก็ยังพอเข้าใจได้ แต่ก็มีสินค้าอีกจำนวนมากที่ฉวยสถานการณ์ขึ้นราคาล่วงหน้าซ้ำเติมสถานการณ์เข้าไปอีก ไหนๆลูกก็ตั้งคำถามแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสตั้งคำถามให้กับลูกๆ หรือกระตุ้นให้ลูกตั้งคำถามในสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่เลวนะคะ และถ้าจะให้ดีขึ้นไปอีกก็สอนลูกให้รู้ว่าท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมก็มีทั้งคนดีและไม่ดีได้ด้วยเช่นกัน สอนอะไรได้บ้าง ? หนึ่ง สอนให้ลูกรู้จักการให้ การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รวมไปถึงการสอนให้รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จากข่าวผู้ประสบอุทกภัยสถานการณ์จริง อาจจะชี้ให้เห็นถึงผู้คนที่อาสาสมัครไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาช่วยเหลือผู้อื่นชนิดที่ไม่หวังผลตอบแทน พ่อแม่ควรจะยกย่องคนเหล่านั้นให้ลูกฟังอย่างสม่ำเสมอ และอาจจะชักชวนให้ลูกร่วมเป็นอาสาสมัครด้วยก็ได้ สอง ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาจจะยกสถานการณ์ที่เห็นผู้คนฉกฉวยสถานการณ์และเอาเปรียบผู้อื่น ก็หยิบยกขึ้นมาพูดว่ามันไม่ดีอย่างไร และเป็นการซ้ำเติมผู้ที่เดือดร้อนขนาดไหน ถ้าเป็นเราเดือดร้อนจะทำอย่างไร สาม สอนให้มีความซื่อสัตย์ ไม่หลอกลวง ทั้งกาย วาจา และใจ อาจยกตัวอย่างเรื่องราคาสินค้าที่พบว่าราคาแพงและไม่สมเหตุผล หรือกักตุนสินค้า หรือโก่งราคาสินค้า จะนำไปสู่อะไร ผู้คนจะยิ่งเดือดร้อนขนาดไหน และถ้าลูกเติบโตมาในครอบครัวค้าขาย ก็ไม่ควรมีพฤติกรรมเหล่านั้น ต้องฝึกไม่ให้ลูกเห็นความสำคัญของเงินมากกว่าจิตใจ สี่ สอนให้มีอดทน ถ้าครอบครัวของคุณเป็นผู้ประสบภัยเสียเอง ก็ต้องฝึกให้ลูกมานะอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ท้อถอยแม้มีปัญหามากมายเข้ามาในชีวิต ต้องรู้จักต่อสู้กับอุปสรรคที่เกิดขึ้นให้ได้ ที่สำคัญต้องถูกต้องชอบธรรมโดยไม่ทำร้ายผู้อื่น ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างของการฝึกให้ลูกมีธรรมประจำใจ เป็นคนดีต่อไปในอนาคต ในเมื่อเราต้องเจอะเจอทั้งคนดีและไม่ดี ก็ควรสอนให้ลูกมีภูมิคุ้มกันในชีวิตที่ดีในการแยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี รวมถึงใครเป็นคนดีและคนไม่ดี และสุดท้าย ให้ลูกได้เลือกชีวิตที่จะเป็นคนดี จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ หมวด Life & Family วันที่ 19 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#47
|
||||
|
||||
อาหารปลอดภัยในช่วงน้ำท่วม จาก .................. ไทยรัฐ วันที่ 21 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#48
|
||||
|
||||
แผ่นโฟม ช่วยรถยนต์รอดน้ำได้อย่างไร ? มาดู.... ได้รับ Forword Mail รวมถึง เห็นการเผยแพร่ต่างๆถึงวิธีการรับมือน้ำท่วมมากมาย จากทางเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่มีการส่งต่อ เผยแพร่กันมากมาย ในโลกแห่งสังคมออนไลน์ คราวนี้ มติชนออนไลน์ จึงหยิบยกอีกหนึ่ง ภาพการแก้ไขรถจมน้ำ ด้วยแผ่นโฟม ซึ่งในข้อความดังกล่าว โดยผู้เขียนที่ ใช้ชื่อว่า "ป๋อ" ระบุว่า " บางท่านก็คงจะได้เห็นผ่านตามาแล้ว สำหรับคนที่ยังไม่เคยเห็น ผมขอนำเสนอภาพการแก้ไขรถจมน้ำ ด้วยแผ่นโฟม ผู้สนใจจะซื้อโฟมไปใช้ ลองสอบถามผู้ขายโฟมโดยตรง ผมลองหาใน net ได้มา 1 แห่ง คือ www.polyfoam.co.th ใครยังมีความสามารถในการคำนวณเรื่องแรงลอยตัว ก็ลองคำนวณดู ถ้าคิดไม่ออกให้ลูกหลานคิดให้แทน" ป๋อ เป็นอีกหนึ่งวิธีน่าสนใจ สำหรับการปกป้องรถยนต์แสนรัก ที่หลายคนกว่าจะเก็บตังค์ดาวน์ ผ่อนหรือใช้เงินสดซื้อมาได้แต่ละคัน เลือดตาแทบกระเด็นทีเดียว ถ้าปล่อยให้จมน้ำไปต่อหน้าต่อตา คงเสียดายแทบบ้าไม่เบา... จาก ..................... มติชน วันที่ 20 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#49
|
||||
|
||||
แก้ปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ รัฐบาลอย่าปล่อยให้เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ........................... ปิ่น บุตรี วิกฤตประเทศไทยกับเหตุการณ์อภิมหาน้ำท่วมใหญ่มโหฬารบานตะเกียงครั้งนี้ นอกจากรัฐบาลปูนิ่มและศปภ.จะต้องแก้ปัญหาให้พ้นตัวไปวันๆแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอดแล้ว หลังน้ำลดรัฐบาลยังจะต้องเผชิญกับปัญญาสารพัดสารพันที่ถาโถมเข้ามาจากวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ ให้ตามแก้กันอีกหลายเปลาะ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งด้านทรัพย์สินและด้านจิตใจ รวมไปถึงแรงงานจำนวนมากที่ต้องตกงานจากน้ำท่วมครั้งนี้,การฟื้นฟูประเทศ ซ่อมแซมถนนหนทาง อาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม สถานศึกษา สถานที่ราชการ เรือกสวนไร่นา และทรัพย์สินข้าวของที่เสียหายต่างๆจำนวนมาก การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศเยียวยาแก้ปัญหาในภาคเกษตร อุตสาหกรรม ภาคบริการ และอื่นๆที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม,การเร่งสร้างความเชื่อต่อนักลงทุนต่างชาติไม่ให้ย้ายฐานการผลิต เหล่านี้ถือเป็นปัญหาหลักๆ ทั้งปัญหาเร่งด่วนและปัญหาระยะสั้น ที่รัฐบาลต้องรีบเร่งดำเนินการแก้ไขหลังน้ำลดอย่างฉับพลันเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นการสอบซ่อมพิสูจน์กึ๋น พิสูจน์ฝีมือรัฐบาลอีกครั้งว่าจะสอบผ่านหรือสอบตกซ้ำซากเหมือนการแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมาหรือเปล่า ในขณะที่ปัญหาระยะกลางนั้นรัฐบาลต้องปรับปรุงและบริหารจัดการระบบด้านการเตือนภัย การรับมือกับภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ไม่ใช่ทำกันมั่วซั่วไม่เป็นมวยเหมือนที่ผ่านมา ส่วนปัญหาระยะยาว(ซึ่งอันที่จริงก็ต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วนควบคู่ไปกับปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง)ก็คือ การแก้ปัญหาและป้องกันเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในอนาคต ทั้งนี้มีเสียงบอกกล่าว เสียงสะท้อน จากประชาชนจำนวนมากว่า ต้องการให้รัฐบาล(ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้ รัฐบาลหน้า หรือรัฐบาลไหนๆก็ตาม) น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้แก้ปัญหาน้ำท่วม และบริหารจัดการเรื่องน้ำในเมืองไทยแบบ“บูรณาการ”อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่จัดการแบบ“ปูรณาการ”อย่างที่เป็นอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากแผนบริหารจัดการน้ำและการรับมือปัญหาน้ำท่วมตามแนวพระราชดำรินั้น มีการมองปัญหาและดำเนินการแบบเป็นองค์รวม ทั้งดิน ป่า น้ำ โดยเรื่องของน้ำได้มีแยกย่อยออกเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา น้ำแล้ง น้ำเสีย และน้ำท่วม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติมาเป็นเวลานับสิบปีแล้ว ดังกระแสพระราชดำรัสที่พระองค์ท่านได้พระราชทานไว้ในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ที่ว่า “...การพัฒนาแหล่งน้ำนั้น ในหลักใหญ่ก็คือการควบคุมน้ำให้ได้ดังประสงค์ ทั้งปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ เมื่อมีปริมาณน้ำมากเกินไป ก็ต้องหาทางระบายออกให้ทันการณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายได้ และในขณะที่เกิดภาวะขาดแคลน ก็จะต้องมีน้ำกักเก็บไว้ใช้อย่างเพียงพอ ทั้งมีคุณภาพเหมาะสมแก่การเกษตร การอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภค ปัญหาอยู่ที่ว่า การพัฒนาแหล่งน้ำนั้นอาจมีผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง แต่ถ้าไม่มีการควบคุมน้ำที่ดีพอแล้ว เมื่อเกิดภัยธรรมชาติขึ้น ก็จะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจและในชีวิตคามเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งส่งผลกระทบเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง” สำหรับหลักการดำเนินแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณา ดำเนินการแก้ไข ป้องกัน หรือช่วยบรรเทาปัญหา ในช่วงฤดูน้ำหลากไม่ให้น้ำไหลบ่าเข้าไปท่วมสร้างความเสียหายต่อชุมชน พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร(รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมดังที่ปรากฏในปีนี้ด้วย) ตลอดจนการเร่งระบายน้ำออกจากที่ลุ่ม ซึ่งแบ่งออกเป็นหลักใหญ่ๆ สรุปความได้ดังนี้ การก่อสร้างคันกั้นน้ำ : เพื่อกั้นน้ำที่มีระดับสูงกว่าตลิ่งไม่ให้ไหลบ่าเข้าไปท่วมพื้นที่ต่างๆให้ได้รับความเสียหาย วิธีนี้นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยการกั้นเป็นคันดิน(หรือคันกระสอบทรายที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้)กั้นน้ำขนาดเล็กที่มีความสูงไม่มากนัก ขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งเข้าไปเป็นระยะพอประมาณ วิธีนี้เคยสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำตามลำคลองต่างๆไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมพื้นที่กรุงเทพฯชั้นในและเขตเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำ : เป็นการปิดกั้นลำน้ำตามธรรมชาติ เพื่อกักเก็บน้ำที่ไหลลงมามากในฤดูน้ำหลาก จนเกิดเป็นเขื่อนหรือ“อ่างเก็บน้ำ”ขนาดต่างๆ ดังเช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี-สระบุรี เขื่อนคลองท่าด่าน จังหวัดนครนายก โดยน้ำที่เก็บกักไว้ในเขื่อนยามปกติจะระบายออกทีละน้อยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเพาะปลูกในยามน้ำแล้ง ซึ่งเขื่อนทั้งสองสามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างรวมถึง กทม.ได้ไม่น้อยเลย การก่อสร้างทางผันน้ำ : เป็นการผันน้ำในส่วนที่ล้นตลิ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมออกไปจากลำน้ำ และปล่อยให้น้ำส่วนใหญ่ที่ยังไม่ล้นตลิ่งไหลไปตามลำน้ำตามเดิม การสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม จะต้องสร้างอาคารเพื่อควบคุมและบังคับน้ำ หรือสร้างประตูระบายน้ำที่เปิด-ปิดได้ตามความเหมาะสม เพื่อเชื่อมกับลำน้ำสายเก่า(สายใหญ่)ให้ไหลเข้าลำน้ำสายใหม่ได้โดยอัตโนมัติ ดังตัวอย่าง ทางผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง ผันเข้าแม่น้ำท่าจีน แล้วผันลงสู่ทุ่งบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี ก่อนระบายออกสู่ทะเล การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม : พื้นที่ลุ่มที่มีน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ จำเป็นต้องทำการระบายน้ำออกด้วยการขุดคลองระบายน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม และให้สามารถเพาะปลูกได้ รวมถึงมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการกักเก็บน้ำ ในคลองและป้องกันน้ำจำด้านนอกไม่ให้ไหลย้อนกลับเข้าไปในพื้นที่ ตัวอย่างอันขึ้นชื่อของโครงการนี้ก็คือ โครงการแก้มลิงตามพระราชดำริ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำรัสอธิบายเกี่ยวกับแก้มลิงว่า “...ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกกล้วยแล้วเอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน แล้วจะนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง ด้วยพฤติกรรมการนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ จึงเป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณทิศตะวันออกและตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา...” แก้มลิง เป็นการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ท่วมขังในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ออกจากพื้นที่ตอนบน ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ แล้วปล่อยให้ไหลลงไปเก็บพื้นที่แก้มลิงหรือคลองพักน้ำขนาดใหญ่บริเวณชายทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดลงต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ให้ทำการระบายน้ำออกจากแก้มลิงทางประตูระบายน้ำ การปรับปรุงสภาพลำน้ำ : ทรงให้ขุดลอกคูคลอง ลำน้ำที่ตื้นเขิน และตกแต่งลำน้ำเพื่อช่วยให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้น นอกจากนี้ในกรณีที่ลำน้ำมีแนวโค้งมากและเป็นระยะไกล ก็ให้พิจารณาขุดคลองลัดเชื่อมระหว่างแม่น้ำสายใหญ่ ดังกรณีของการขุดคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ที่ช่วยย่นระยะทางการไหลของทางน้ำเดิมลงสู่ทะเลได้ถึง 17 กิโลเมตร การหาความสัมพันธ์ของระดับน้ำและปริมาณปากแม่น้ำเจ้าพระยา(Hydrodynamic Flow Measurement) : วิธีการนี้เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของน้ำทะเลหนุน และปริมาณน้ำเหนือหลาก ผ่านเขตกทม. แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปบริหารจัดการน้ำเหนือที่ไหลผ่านลงมายังเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และนั่นก็คือข้อมูลเบื้องต้นจาก 6 หลักใหญ่ๆในการป้องกัน แก้ปัญหา และบริหารจัดการเรื่องน้ำท่วมตามแนวพระราชดำริ ซึ่งนอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นๆอีก อย่าง การสร้างฝายชะลอน้ำและกักเก็บน้ำ การใช้วิธีธรรมชาติ อย่าง การปลูกหญ้าแฝก(หรือที่นายกฯปูนิ่มเข้าใจผิดคิดว่าเป็นหญ้าแพรกนะค๊า)ช่วยยึดคลุมดิน ลดการชะล้าง พังทลายของหน้าดิน การปลูกป่าและการรักษาป่าต้นน้ำ เพื่อช่วยดูดซับน้ำ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นต้น อย่างไรก็ดีในจะการดำเนินการโครงการใดโครงการหนึ่งหรือเชื่อมโยงกันหลายโครงการ พระองค์ท่านทรงให้แนวทางไว้ว่า จำเป็นต้องมีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ดูความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ ประโยชน์ที่ได้รับกลับมา และความคุ้มค่าในการลงทุน ก่อนที่จะตัดสินใจลงมือดำเนินการ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ และทรงดำเนินการก่อตั้งโครงการพระราชดำริต่างๆขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเสีย ดินเสีย และแก้ปัญหาความเดือดร้อนอื่นๆอีกมากมายของพสกนิกรชาวไทยมานับเป็นสิบๆแล้ว เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่ว่ากี่รัฐบาล นักการเมืองบ้านเรากับละเลย เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ไม่สนใจไยดี ทำให้ปัญหาต่างๆเกิดการสะสมกลายเป็นวิกฤติของประเทศชาติอยู่จนทุกวันนี้ จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#50
|
||||
|
||||
น้ำท่วมห่วงเด็ก วิธีป้องกันภัยจมน้ำ ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องดูแลเด็กๆให้ห่างไกลภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม โดยเฉพาะการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า โดยในแต่ละปีมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึงเกือบ 1,500 คนหรือเฉลี่ยวันละ 4 คน ซึ่งช่วงที่พบมากมักเป็นช่วงที่ตรงกับการปิดเทอมซึ่งตรงกับช่วงนี้ ร่วมกับการมีน้ำท่วม ทุกปีกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และมีคำขวัญว่า เด็กทั่วไทย ปลอดภัย ไม่จมน้ำ โดยมีนโยบายเร่งป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยจัดอบรมครูสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวางแผนจะเผยแพร่ไปทุกจังหวัด ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 10 ปี เด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไป ต้องว่ายน้ำเป็นครบ 100 เปอร์เซ็นต์ พญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า "จริงๆแล้วแค่เพียงระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กเล็กๆจมน้ำได้แล้ว และเด็กส่วนมากมักจมน้ำบริเวณแหล่งน้ำใกล้บ้าน ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเด็กๆอย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำ จับปลา พายเรือ หรือว่ายน้ำตามลำพัง และควรให้เด็กๆยืนห่างจากขอบแหล่งน้ำเพื่อป้องกันการลื่นตกด้วย รวมถึงไม่ควรให้อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะความเย็นของน้ำจะทำให้เด็กเป็นตะคริวจมน้ำได้ โดยเฉพาะในสถานการน้ำท่วมแบบนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ถ้าต้องเดินทางทางเรือก็ควรสวมเสื้อชูชีพให้เด็กๆตลอดเวลา" กรณีที่มีเหตุจมน้ำเกิดขึ้น พญ.พิมพ์ภัค ระบุว่า ควรสอนไม่ให้เด็กลงไปช่วยเหลือกันเอง ควรบอกให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงช่วยเหลือแทน ขณะที่วิธีการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ ถ้าเด็กรู้สึกตัวดี และหายใจเองได้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็ก และรีบเช็ดตัวเด็กให้แห้ง เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย แต่ถ้าเด็กหายใจเองไม่ได้หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น และรีบเปิดทางเดินหายใจ โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากและเชยคางขึ้นเบาๆ ถ้าเด็กยังไม่หายใจแต่ชีพจรยังเต้นอยู่ ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้ง/นาที และให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล ห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดด หรือวิ่งรอบสนาม เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น ที่สำคัญแม้ว่าเด็กๆจะว่ายน้ำเป็น ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กๆอยู่ตามลำพัง เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ และถ้าเกิดอันตรายในระหว่างการเล่นน้ำ เด็กจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที พญ.พิมพ์ภัค บอกด้วยว่า อุบัติเหตุอื่นๆที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด อุบัติเหตุจากการเหยียบของมีคม อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบในบริเวณบ้าน การป้องกันง่ายๆทำได้โดยไม่ให้เด็กๆเดินเท้าเปล่า ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้าน ก่อนที่น้ำจะท่วมถึง และเก็บกวาดขยะ วัตถุแหลมคม ในบริเวณบ้าน ถ้ามีบาดแผลที่เกิดจากของมีคม ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและต้องตรวจเช็คว่าเด็กได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบแล้วหรือยัง. จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 22 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|