#51
|
||||
|
||||
3 วิธีง่ายๆ แก้อาการปวดต่างๆ ........................... โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ โอ๊ย ปวดหลัง ปวดคอ ปวดหัว ทั้ง 3 อาการปวดนี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่มักเป็นกัน จากสถิติพบว่าคนเรา 80% มักมีอาการปวดต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งช่วงใดของชีวิต ผู้คนจำนวนหลายล้านคนในอเมริกาต้องเผชิญกับการปวดขั้นรุนแรง ประมาณ 27% ปวดหลัง 15% บ่นปวดหัวหรือไมเกรน อีก 15% ปวดคอ จากการศึกษาในเวปสุขภาพของแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา มีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ อาการปวดบางประเภทอาจต้องพึ่งยาหรือแพทย์ในการดูแลรักษา แต่อาการปวดบางอย่างสามารถหายได้โดยการเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัวง่ายๆในชีวิตประจำวัน ท่านั่ง วิธีง่ายๆวิธีหนึ่งในการในการแก้ปัญหาการปวดคือการเปลี่ยนท่านั่งให้ถูกวิธี ร่างกายของคนเราถูกออกแบบมาเพื่อการเดินรับอากาศบริสุทธิ์ในสวน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ใช่ถูกออกแบบมาเพื่อการนั่งทำงานที่โต๊ะทำงาน จ้องจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลา 8-12 ชั่วโมงต่อวัน นักกายภาพบำบัดทางด้านกีฬาใน Nashville กล่าว แต่ในสภาพความเป็นจริงแล้วผู้คนหลายล้านคนต้องตกอยู่ในสภาพนี้ เนื่องจากไม่สามารถเปลี่ยนงานเปลี่ยนอาชีพใหม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือการเปลี่ยนวิธีการนั่ง คนทั่วไปมักนั่งทับกระดูกเชิงกราน ซึ่งทำให้เกิดอาการตึงบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่าง อาการปวดหลังจึงเกิดขึ้น นอกจากนั้นแล้วเรายังชอบนั่งโดยการยื่นแขนและศีรษะไปข้างหน้า ท่านั่งที่ผิดท่านี้จะเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อตึงในช่วงบ่าและคอ และท่าที่ศีรษะยื่นออกไปทำให้เกิดอาการปวดศีรษะได้ แล้วเราควรจะนั่งอย่างไรดี งานวิจัยกล่าวว่าไม่มีเก้าอี้ที่ออกแบบมาอย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นวิธีที่ทำได้คือการหาตำแหน่งท่านั่งที่รองรับกระดูกของเราได้อย่างเหมาะสม ดังนี้ • นั่งและให้กระดูกเชิงกรานรับน้ำหนักไปข้างหน้าทั้งหมด งุ้มหลังลง • ทำอีกครั้งหนึ่งแต่คราวนี้ยกหลัง และยืดอกขึ้น ให้กระดูกสันหลังได้เคลื่อนไหว • ทำกลับไปกลับมาในระหว่าง 2 ท่านี้หลายๆครั้ง ทำจนกระทั่งหาตำแหน่งตรงกลางที่เหมาะสมได้ อีกวิธีหนึ่งที่ทำได้คือการจัดที่ทำงานที่เอื้อและลดสภาวการณ์ปวดหลังแบบง่ายๆ ลอเรน พอไลท์ก้า นักกายภาพบำบัดจากมหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน กล่าวว่า • อย่าทำงานโดยใช้ Laptop • ให้จัดคอมพิวเตอร์ในตำแหน่งที่ไม่ใช่ลักษณะการมองตรงไปข้างหน้าแบบตั้งฉาก แต่ให้จัดตั้งจอคอมพิวเตอร์ในลักษณะที่มองลงประมาณ 10 ดีกรี ไม่ควรก้มตัว โก่งหลังโค้งลงไป • จัดที่วางเท้าใต้โต๊ะเพื่อให้ข้อเท้าได้รับการผ่อนคลายและยืดหยุ่น สิ่งนี้จะช่วยผ่อนน้ำหนักของร่างกายส่วนล่าง วางน้ำหนักลงบนสะโพก ลงน้ำหนักส่วนน้อยที่บริเวณหลัง • ทุกๆชั่วโมงให้ยืนขึ้น 2-3 นาที และบิดขี้เกียจ หรืออาจใช้วิธีให้หลังนอนราบแบนลงกับพื้น ด้านหลังของโต๊ะทำงาน พยายามยืดตัวไปมา • ใช้ผ้าขนหนูผืนเล็กๆ ทำเป็นกระบอกกรวยทรงตัน • วางผ้าขนหนูบริเวณบ่ากดลงให้หลังชิดกับพนักเก้าอี้ • เลื่อนบ่าให้ผ้าขนหนูกลิ้งไปมา อย่าทำแรงเกินไป แต่ให้ผ้าขนหนูกลิ้งไปมาได้สะดวก การนอนหลับพักผ่อน มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่ใช้เวลานอน 39% คือในแต่ละคืนจะใช้เวลานอนประมาณ 7 ชั่วโมง และนั่นอาจเป็นสาเหตุของการปวดเมื่อย การนอนเป็นเหมือนยารักษาสุขภาพ เมื่อเรามีเวลานอนไม่พอจะทำให้กล้ามเนื้อไม่กระฉับกระเฉง ทำให้อารมณ์หงุดหงิด และไม่ร่าเริง ในทางตรงกันข้ามเมื่อเราได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอร่างกายจะรู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า กล้ามเนื้อตื่นตัวพร้อมที่ในการทำงาน 2 สิ่งที่ควรพิจารณาคือ ท่านอนและที่นอน เราควรหาที่นอนที่เหมาะสมสำหรับหลังของเรา คราวนี้มาถึงคำถามที่ว่า ที่นอนแบบไหนดีที่เราควรเลือก สรีระของร่างกายคนเรามีความแตกต่างกัน บางคนชอบที่นอนแข็ง บางคนชอบนิ่ม ไม่เหมือนกันแต่ที่สำคัญต้องไม่นิ่มจนตัวจมเข้าไปที่ที่นอน ร่างกายของเราต้องการที่นอนที่สามารถรองรับกระดูกสันหลังในท่าที่เหมาะสมและสบาย อีกอย่างที่ควรคำนึงถึงคือหมอน เราต้องการหมอนหนุนที่ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในท่าที่เหมาะสม หากเรานอนตะแคงให้ใช้หมอนวางไว้ระหว่างขา หากเรานอนราบให้วางหมอนไว้ใต้เข่า ท่านอนและหมอนที่เหมาะสมจะทำให้นอนหลับสบายและไม่ไปกดทับกระดูกสันหลัง การออกกำลัง เราอาจเคยได้ยินว่าการออกกำลังกายทำให้เกิดการปวดเมื่อย ดังนั้นจึงเป็นข้ออ้างของหลายคนในการไม่ออกกำลังกายแต่แท้ที่จริงแล้ว เราจะปวดเมื่อยมากยิ่งขึ้นหากไม่ได้รับการขยับเขยื้อน หากเราเคลื่อนไหวร่างกายและออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานอย่างสมดุล และไม่ปวดเมื่อยง่ายๆ คนส่วนใหญ่มักใช้การเดินในการออกกำลังกาย แต่พอไลท์ก้า นักกายภาพบำบัดผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าเราอาจเดินผิดวิธี หลายคนใช้วิธีการเดินด้วยหัวเข่า ไม่ใช่สะโพก วิธีแนะนำง่ายๆ คือ • เหยียดปลายเท้าทั้ง 2 ข้างออก • แกว่งแขน • ก้าวเท้ายาวๆ ไม่ใช่ก้าวสั้นๆ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยให้มีความยืดหยุ่นและมีกำลัง ทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง กระชับ อย่าใช้แต่เพียงข้อต่อ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้แล้วการออกกำลังกายยังจะช่วยลดน้ำหนัก ซึ่งหากมีน้ำหนักมากเกินไปจะนำมาซึ่งความปวดเมื่อยต่างๆ ทั้งข้อต่อ สะโพก ข้อเท้า และส่วนล่างของหลังอีกด้วย คำแนะนำเหล่านี้อาจไม่ช่วยให้อาการปวดต่างๆหายหมดไปจนหมดสิ้น แต่หากเราลองพยายามทำสัก 2-3 อาทิตย์แล้ว จะทำให้ร่างกายเริ่มรู้สึกผ่อนคลายและที่สำคัญทำให้เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาที่อาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพตามมาอีกด้วย จาก .................. ผู้จัดการออนไลน์ Life & Family วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#52
|
||||
|
||||
โรคเบาหวานท่ามกลางน้ำท่วม พึงดูแลเพื่อป้องกันอาการแทรก ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ออกโรงแนะนำการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานในช่วงน้ำท่วม โดยระบุว่า ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมนี้ ดังนั้นจึงควรมีความรู้เบื้องต้นในการดูแลรักษาสุขภาพของตน เพื่อรับมือไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาในช่วงนี้ ในภาวะที่เต็มไปด้วยความเครียดเช่นนี้ ร่างกายของมนุษย์จะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยเบาหวานจึงไม่ควรหยุดทานยารักษาเบาหวานเด็ดขาด เพราะการหยุดยาอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นจนถึงระดับอันตรายได้ แต่ถ้าท่านทานอาหารไม่ได้หรือทานได้น้อย อาจต้องระวังภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ซึ่งจะมีอาการเตือนคือ ใจสั่น มือสั่น หน้ามืด บ่นหิว จะเป็นลม หากเกิดอาการเหล่านี้ให้หยุดยาเบาหวานชั่วคราวก่อน และควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และให้แพทย์ปรับขนาดยาให้เหมาะสม ที่สำคัญคือห้ามใช้ยาเบาหวานของผู้อื่น แม้เม็ดยาจะดูคล้ายกันแต่อาจเป็นยาคนละชนิด ในกรณีผู้ป่วยที่รักษาด้วยการฉีดยาอินซูลิน ไม่ควรอดอาหารเด็ดขาด และก่อนฉีดยาทุกครั้งต้องแน่ใจว่ามีอาหารรับประทานเพียงพอ โดยฉีดยาตามขนาดที่เคยฉีดทั้งหมดต่อวัน กรณีรับประทานอาหารได้น้อยลงอาจต้องมีการปรับลดปริมาณยาฉีดลงเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ห้ามหยุดฉีดอินซูลินเอง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ต้องพึ่งอินซูลิน (เบาหวานชนิดที่ 1) เพราะอาจเกิดเลือดเป็นกรดจากสารคีโตนคั่งทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ และไม่แนะนำให้ปรับเพิ่มขนาดยาฉีดอินซูลินด้วยตัวเอง เว้นแต่ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าสูง และต้องเคยได้รับคำแนะนำเรื่องการปรับขนาดยาจากแพทย์แล้วเท่านั้น ควรเก็บยาอินซูลินไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา แต่ถ้าใช้ตู้เย็นไม่ได้เนื่องจากถูกตัดไฟฟ้าก็สามารถเก็บยาฉีดอินซูลินได้ที่อุณหภูมิห้องนาน 1 เดือน โดยอย่าให้ถูกแสงแดด ความร้อน หรือความเย็นจัด นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาอินซูลินที่มีลักษณะผิดไปจากเดิม เช่น ยาจับตัวเป็นก้อน สีของยาเปลี่ยน และไม่ควรใช้หัวเข็มฉีดยาหรือยาฉีดร่วมกับผู้อื่น ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงต่อทั้งภาวะน้ำตาลในเลือดสูงและน้ำตาลในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ถ้ามีเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลจากเลือดปลายนิ้ว จะช่วยในการวินิจฉัยภาวะดังกล่าวและเฝ้าระวังได้ง่ายขึ้น อาการระดับน้ำตาลในเลือดสูง มักเกิดจากการขาดยารักษาเบาหวาน หรือหยุดฉีดยาอินซูลิน หรือทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลมาก เช่น น้ำอัดลม น้ำหวาน เมื่อน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น และมีการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ไปทางปัสสาวะมากขึ้น ผู้ป่วยจะกระหายน้ำ ริมฝีปากแห้ง หากได้รับน้ำและเกลือแร่ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ มีอาการอ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ไตวาย ซึมลงหรือหมดสติได้ หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน แล้วได้รับอินซูลินไม่เพียงพอ ร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ จึงต้องสลายไขมันมาใช้แทน ทำให้เกิดสารคีโตนคั่งในเลือด ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ถ้ารุนแรงมากขึ้นจนเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยจะหายใจเร็วและลึก อาจมีไข้หรือปวดท้องร่วมด้วย ถ้าไปรับการรักษาไม่ทันอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูง คือ หิวน้ำบ่อย ปากแห้ง คอแห้ง ปัสสาวะมาก ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น และแก้ไขสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ต้องพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด อาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำได้แก่ ผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานอายุน้อย ทานอาหารได้น้อยกว่าปกติ หรือมื้ออาหารถูกงดหรือเลื่อนเวลาออกไปจากเวลาปกติ ในขณะที่ยังทานยารักษาเบาหวานหรือฉีดยาอินซูลินปริมาณเท่าเดิม เวลาเดิม ออกกำลังกาย หรือมีการใช้พลังงานมากขึ้น การทำงานของตับและไตเสื่อมลง อาการเตือนของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้แก่ เหงื่อแตก ใจสั่น มือสั่น คลื่นไส้ เหงื่อออก รู้สึกหิว กระสับกระส่าย หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้สมองขาดน้ำตาลไปเลี้ยง จนทำให้เกิดอาการมึนงง ปวดศีรษะ สับสน ตาพร่ามัว ง่วงซึม หมดสติหรือชักได้ หากสงสัยว่าผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้ายังรู้สึกตัวดี ให้ผู้ป่วยกินน้ำหวานหรือน้ำอัดลม 1 แก้วหรือน้ำผลไม้ 1 กล่อง หรือน้ำตาลก้อน 2 ก้อน หรือทานผลไม้ เช่น ส้มหรือกล้วย 1-2 ผล หรือลูกอมหวาน 3 เม็ด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 15 นาที หรือผู้ป่วยหมดสติ ให้รีบไปพบแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุด -------- วิธีป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลและโรคแทรก 1.สวมเสื้อผ้าที่มิดชิดและป้องกันน้ำได้ ไม่ควรสวมเสื้อผ้าที่หนาเกินไป แต่ควรจะระบายความร้อนได้ดีเพื่อลดความอับชื้น และควรเป็นชุดสีสว่างเพื่อไม่ให้เก็บความร้อน 2.หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ตยางกันน้ำทุกครั้ง อาจสวมถุงเท้าเพื่อป้องกันการเสียดสีที่อาจทำให้เกิดบาดแผลบริเวณเท้า เมื่อลุยน้ำเสร็จแล้วให้รีบล้างเท้าด้วยสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง 3.หมั่นสำรวจเท้าทุกวัน โดยเฉพาะซอกนิ้วเท้าและฝ่าเท้า เพื่อดูว่ามีแผลรอยถลอก หรือแผลพุพองหรือไม่ ทำความสะอาดเท้าทุกวันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และทันทีเมื่อเท้าสกปรก ด้วยน้ำสบู่อ่อนและน้ำสะอาด (ไม่ควรใช้น้ำร้อน) และใช้ผ้าเช็ดเท้าและซอกนิ้วให้แห้งทุกครั้ง ถ้ามี 4.บาดแผลควรรีบทำแผลด้วยทิงเจอร์ไอโอดีน และพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะตามความเหมาะสม กรณีบาดแผลสกปรกอาจต้องฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักด้วย ถ้ามีแผลน้ำกัดเท้าซึ่งมักเกิดบริเวณง่ามนิ้วเท้า และเกิดจากเชื้อรา ทำให้มีอาการคัน แสบ แตก ผิวหนังลอก การรักษาต้องทาด้วยยาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องระยะหนึ่ง ร่วมกับดูแลเท้าให้แห้งสะอาด. จาก .................. ไทยโพสต์ คอลัมน์ สุขภาพ วันที่ 1 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#53
|
||||
|
||||
'ไข้เลือดออก' ภัยร้ายน้ำท่วมขัง! เร่งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ป้องกันได้ สถานการณ์อุทกภัยขณะนี้เริ่มอยู่ในสภาวะทรงตัว บางพื้นที่น้ำเริ่มลดแล้ว ซึ่งหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ภัยของน้ำที่นิ่งเฉย นี้มีอะไรบ้าง โดยน้ำท่วมขังมีลักษณะคล้ายกับสภาพที่เกิดขึ้นหลังฝนตก ถือเป็นที่อยู่อาศัยชั้นดีของเหล่าเชื้อโรคต่างๆที่เป็นภัยร้ายต่อเรา อีกทั้ง น้ำท่วมขังยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุง โดยเฉพาะยุงลายทำให้ใครที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังเสี่ยงเป็นโรค “ไข้เลือดออก” โดยเฉพาะเด็กอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านบริหารความเสี่ยง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความรู้ว่า ยุงลายมักจะชอบวางไข่ในน้ำที่นิ่งสะอาดและชอบกัดคนในเวลากลางวัน ทำให้หลังจากเกิดน้ำท่วมขังสักระยะหนึ่งเราจะพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นและอาจมีการแพร่ระบาดของโรคขยายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในชุมชนที่แออัด เช่น ศูนย์ผู้อพยพ ถ้ายิ่งขาดสุขอนามัยที่ดีและขาดการควบคุมประชากรยุงที่มีประสิทธิภาพจะยิ่งทำให้พบผู้ป่วยไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นได้หลังเกิดอุทกภัยน้ำท่วม โรคไข้เลือดออกมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 ชนิด คือ เดงกี-1 ถึงเดงกี-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค สามารถแพร่เชื้อไวรัสเดงกีไปยังผู้อื่นได้หลังจากยุงลายดูดเลือดของผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสและไปกัดคนอื่นต่อ โดยอาการของผู้ป่วยไข้เลือดออกมี 3 ระยะ คือ 1.ระยะไข้สูง ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงนานประมาณ 3-7 วัน และมักไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ พบอาการชักได้ในเด็กเล็ก ซึ่งอาการไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน มักไม่มีอาการของหวัดชัดเจน มีอาการปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา ตับโตและกดเจ็บ มีจุดเลือดออกบริเวณผิวหนัง เลือดออกบริเวณเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน และอาจพบเลือดออกในกระเพาะอาหารด้วย 2. ระยะวิกฤติ เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีอาการไข้ลดลง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจะมีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสมาออกจากเส้นเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดข้น และอาจมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยมีภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยที่มีภาวะช็อกจะมีอาการที่สังเกตได้คือ อาการกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็ว และเบาลง มีความดันโลหิตต่ำ ถ้าหากมีอาการเช่นนี้ต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และ 3.ระยะพักฟื้น เป็นระยะที่ผู้ป่วยหายจากโรค อาการทั่วไปดีขึ้น เริ่มอยากรับประทานอาหาร ปัสสาวะเพิ่มขึ้น อัตราการเต้นของหัวใจลดลง อาจมีผื่นแดงขึ้น โดยเฉพาะที่ขาทั้งสองข้าง การวินิจฉัยไข้เลือดออกแพทย์จะอาศัยอาการของผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือด ซึ่งหลังจากการตรวจเลือดจะพบว่าจำนวนเม็ดเลือดขาวและจำนวนเกล็ดเลือดลดลง กรณีที่มีการรั่วของน้ำเหลืองหรือพลาสมาจะมีความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นและตรวจพบน้ำในเยื่อหุ้มช่องปอด อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออกจริงนั้นมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางราย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ส่วนการรักษาโดยทั่วไปมักไม่จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลทุกราย โดยเฉพาะในระยะแรกของโรค หากผู้ป่วยเป็นไข้เลือดออกในระยะแรก การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการรักษาตามอาการ คือมีไข้ขึ้นสูงควรเช็ดตัวบ่อยๆ รวมทั้งรับประทานยาลดไข้พาราเซตามอล และหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้กลุ่มแอสไพริน นอกจากนี้ยังแนะนำให้ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย โดยสารน้ำที่แนะนำ ได้แก่ น้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้ ไม่แนะนำให้ดื่มน้ำที่มีสีแดงหรือสีดำ เนื่องจากกรณีผู้ป่วยอาเจียนออกมาอาจทำให้เข้าใจผิดว่ามีเลือดออกจากในกระเพาะอาหารได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำอย่างมากรวมทั้งมีภาวะช็อกซึ่งจะมีอาการมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบา ความดันโลหิตต่ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงของระดับความรู้สึกตัว ควรรับไว้รักษาในโรงพยาบาลโดยเร็ว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอายุของผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กโตและผู้ใหญ่ที่อายุไม่มากนัก ดังนั้นการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเดงกีทำได้โดยการปราบยุงและลูกน้ำยุงลาย หลีกเลี่ยงไม่ให้ยุงกัดด้วยการสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด และใช้ยากันยุงหรือนอนในมุง ทั้งนี้ควรมีการรณรงค์ให้ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและลูกน้ำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือหากพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะใส่น้ำให้กำจัดโดยการใส่ทรายอะเบตลงไป และที่สำคัญคือการกำจัดหรือทิ้งทำลายภาชนะขังน้ำที่ไม่ได้ใช้แล้วไป เช่น ยางรถยนต์เก่า กระถางต้นไม้ที่แตกหัก และเปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่ขังน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกัน เลี้ยงปลากินลูกน้ำในอ่างบัวหรือแหล่งน้ำอื่นๆ ปิดฝาโอ่งหรือภาชนะอื่นๆให้มิดชิด ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูลงในจานรองขาตู้กับข้าว ส่วนวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นอีกทางออกหนึ่งในการควบคุมและป้องกันไข้เลือดออก แต่ปัจจุบันวัคซีนยังอยู่ในขั้นทดลองใช้ โดยพบว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง คาดการณ์ว่าจะสามารถนำวัคซีนมาใช้อย่างแพร่หลายได้ในอนาคตอันใกล้นี้ โรคไข้เลือดออกเป็นภัยร้ายที่มากับน้ำท่วมขังอย่างคาดไม่ถึง เพราะหากเป็นในระยะรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น การป้องกันควรเริ่มต้นที่ต้นตอด้วยการทำลายภาชนะขังน้ำ จึงถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสเดงกีได้ เพียงแค่นี้ตัวเราและคนที่เรารักก็จะห่างไกลจากโรคร้ายอย่างไข้เลือดออกไปได้ท่ามกลางวิกฤติอุทกภัยครั้งนี้. จาก .................... เดลินิวส์ หน้าวาไรตี้ วันที่ 4 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#54
|
||||
|
||||
ป.ปลา กันภูมิแพ้ เพราะเด็กเล็กกับเสียงหายใจดัง "วีซๆ" เป็นอาการปกติที่พบได้บ่อย จนพ่อแม่ส่วนใหญ่ละเลย คิดว่าไม่มีอันตรายในภายหลัง แต่รู้ไหมว่า นั่นคือสัญญาณเริ่มต้นของโรคภูมิแพ้เรื้อรังที่น่ากลัว ดร.เอมม่า กอก ซอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก สวีเดน ทดสอบทารก 4,171 คน ด้วยการเปรียบเทียบประวัติโภชนา การของเด็กๆ กับผลการตรวจสุข ภาพ ในวัย 6 เดือน 12 เดือน และ 4 ขวบครึ่ง ปรากฏว่า ทารกที่เริ่มกินปลาเนื้อขาว จำพวกปลากะพง และปลาเก๋า หรือสุดยอดปลาทะเล อย่าง แซลมอน ก่อนอายุครบ 9 เดือน จะมีแนวโน้มปลอดภัยต่อภาวะ "วีซซิ่ง" หรือ อาการ "หายใจเสียงดัง" ได้มากถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว แถมเมนูปลาจานเด็ดเหล่านี้ ยังมีสรรพคุณช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ และโรคหอบหืดได้อีกต่างหาก เพราะเนื้อปลาเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม ซึ่งอุดมด้วยวิตามิน กรดไขมันโอเมก้า-3 ทั้งยังมีกรดอะมิโนจำนวนมาก ช่วยเสริมให้โปรตีนทำหน้าที่สร้างอวัยวะ และกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ได้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง จาก .................... ข่าวสด คอลัมน์ เจ๊าะแจ๊ะวิทยาศาสตร์ วันที่ 4 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#55
|
||||
|
||||
คัน 'หู' คู่โรค อาการคันหูไม่เข้าใครออกใคร ความทรมานขึ้นอยู่กับคันมากคันน้อย ถ้าคันพอสังเขปเป็นรสชาติชีวิต แต่ถ้าคันยิกลิงเข้าก็เอาเรื่อง “มุมสุขภาพ” วันนี้ “นพ.กฤษดา ศิรามพุช” ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ บอกเล่าถึง อาการ “คัน” ยิ่งถ้าเป็นอวัยวะที่มีซอกหลืบเยอะอย่าง “หู” ก็มักตีคู่มากับการเกา และขั้นกว่าคือมีเครื่องมือช่วย นั่นคือ “ไม้แคะหู” อุปกรณ์คู่มือยิ่งเกายิ่งมัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา และยิ่งเละ เพราะการลากไม้แคะไปในท่อหูอ่อนๆ แต่ละครั้งจะทำให้เกิดรอยแผลเล็กๆ ขึ้นมากมายโดยเราไม่รู้ตัว ปรากฏการณ์เจ็บๆคันๆยันหูอื้อจำต้องมีผู้ร้ายที่ต้องหาให้เจอ เพราะบางทีถ้าเผลอไปคันเอาสุ่มๆจะเป็นเรื่องเนื่องด้วยหูเป็นอวัยวะซับซ้อนไม่ได้ใช้กั้นสมองอย่างเดียว หากแต่ช่วยในการทรงตัวให้เรายืนอยู่ติดพื้นได้ ถ้าเกิด “หูพัง” หรือ “หูดับ” จากเส้นประสาทขึ้นมาแล้วจะมีผลต่อการเดินดินของเรามากเลย ซึ่งนับไปมาแล้วก็มีผู้ร้ายใกล้หูอยู่มากพอดู เริ่มจาก “แคะหูถี่” มีตัวช่วยเร่งปฏิกิริยาคือ “ไม้แคะหู” ถ้าเป็นไม้ธรรมดาก็ยังพอว่า แต่ถ้าหาไม้ไม่ได้แล้วจำต้องใช้ของใกล้ตัวอย่าง “เส้นผม” หรือ “ไม้จิ้มฟัน” แล้วละก็มีสิทธิ์ “หูป่วย” ได้เร็วขึ้น โดยเป็นได้ตั้งแต่รูหูอักเสบไปจนถึงแก้วหูทะลุหนองทะลัก วิธีแก้คืออย่าแคะหูถี่ไป โดยเฉพาะหลังอาบน้ำหูแฉะใหม่ๆ ไม่ควรแคะทันทีและถ้ามีอาการเจ็บๆคันๆ ก็อาจต้องให้คุณหมอช่วยส่องดูสักนิด เพราะอาจมีเชื้อราแพร่พันธุ์อยู่ “มีอุบัติเหตุ” นอกจากการถูกกระทบกระแทกหูอย่างแรงจากการตกตึก, รถชน, ถูกสัมผัสบ้องหูด้วยหลังมือ แล้วอุบัติเหตุร้ายที่ทำลายหูที่สำคัญคือ “เสียง” ครับ เสียงที่ดังเกิน 70 เดซิเบล (บ้านอยู่ติดถนนก็ใช่แล้ว) ก็เริ่มทำลายการได้ยินของหู ถ้าดังมากเกิน 100 เดซิเบลจะทำลายประสาทหูชั้นในจนทำให้หูดับอย่างถาวรได้ การใช้หูฟังก็มีส่วนสำคัญ โดยเฉพาะหูฟังชนิดเสียบเข้าไปลึกล้ำแทบถึงก้านสมอง ต้องพักหูบ้าง “ว่ายน้ำบ่อย” ฉลามน้อยฉลามใหญ่แต่ไม่ใช่ฉลามบกมักมีปัญหา “หูแฉะ” เพราะแคะหูหลังว่ายน้ำ และน้ำนั่นเองที่เป็นตัวทำให้ “หูเปื่อย” โดยเฉพาะท่อหูส่วนนอก นักว่ายน้ำเป็นกันมาก เรื่อง “หูส่วนนอกอักเสบ (External Otitis)” จนฝรั่งตั้งชื่อให้โรคนี้ว่าเป็นโรคหูนักว่ายน้ำ(Swimmer’s ear) อาการที่ว่าอาจเป็นในคนที่เพิ่งว่ายน้ำใหม่ๆก็ได้ เกิดจากหูเปียกแล้วมือไม่อยู่สุขไปแคะเข้า และ “ร้อยภูมิแพ้” แก้ไม่ยากหาก “คุมแพ้” ให้อยู่หมัด อาการภูมิแพ้สามารถขึ้นไปจมูก, ลูกตา และหูได้ทำให้คันยุบยิบเชียว ท่านที่ขึ้นเครื่องบินจะสังเกตได้ว่าเวลาเครื่องขึ้นหรือลงจะมีเสียงเด็กร้องฟีเจอริ่งเข้ามาด้วยเสมอ เพราะอาการตันที่ท่อหูจากภูมิแพ้ทำให้เจ็บปวดมากเวลาเครื่องบินเปลี่ยนระดับจากความดันอากาศข้างใน ให้คุมโรคแพ้ด้วยการออกกำลังกับกินอาหารต้านแพ้จะช่วยได้มาก ที่สำคัญการ “แก้ด้วยยา” ยาไม่ใช่ทางออกของร้อยโรคเสมอไป ยากินหลายอย่างที่ทำลายหูโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อกลุ่มแบคทีเรียทางเดินปัสสาวะและทางเดินอาหาร หรืออย่างยาฆ่าเชื้อ “วัณโรค” อย่างสเตร็ปโตมัยซินฉีดแล้วก็ทำให้ประสาทหูเสียได้ บางรายมีเสียงวิ้งๆหึ่งๆ น่ารำคาญเหมือนมีสถานีวิทยุหรือวงมโหรีไม่ได้รับเชิญอยู่ในหัว ฟังมากๆ พาลจะเป็นโรคประสาทเอา บางครั้งแม้หยุดยาแล้วอาการก็ยังไม่หายเพราะประสาทหูเสียถาวรไปแล้ว อยากขอวอนให้ใช้ยาตามความจำเป็น. จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 5 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#56
|
||||
|
||||
หายปวดฟันทันใจ 'เกลือสมุทร-สารส้ม' สูตรสามัญประจำบ้านบรรเทาอาการปวดฟันทุเลาลงในเวลาไม่ช้า ทำอย่างไรให้เกลือสมุทรกับสารส้มให้สรรพคุณแก้ปวดฟัน? เวลามีอาการปวดฟัน ทรมานอย่าบอกใคร ผู้ที่เคยมีประสบการณ์คงเข้าใจความรู้สึกนั้นดี 'มุมสุขภาพ' สรรหาสูตรยาภูมิปัญหาชาวบ้าน เสมือนเป็นยาแก้ปวดฟันแบบเฉพาะหน้ายามที่ยังไม่สามารถพบทันตแพทย์ได้ สูตรนี้ให้เตรียมเกลือสมุทรเอาไปตำให้ละเอียด 1/2 ช้อนชา และสารส้มที่นำไปตำละเอียดเช่นเดียวกันอีก 1/2 ช้อนชา ได้แล้วใส่ถ้วยเพื่อผสมให้เข้ากัน จากนั้นล้างมือให้สะอาด ก่อนใช้นิ้วป้ายส่วนผสมแล้วทาเข้าไปในช่องปากตรงบริเวณที่รู้สึกปวดฟัน ช่วยลดอาการปวดฟันได้ในไม่ช้า หากเกรงว่าส่วนผสมจะกระจายตัวเร็วเกินไป ให้ห่อเกลือสมุทรและสารส้มละเอียดนั้นด้วยสำลีแผ่นบางหุ้มผ้าก๊อส เอาใส่ปากกัดเบาๆไว้ให้ตรงบริเวณที่ปวดฟันก็ได้เช่นกัน แม้สารส้มจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะส่วนใหญ่ก็นิยมใช้สารส้มแกว่งน้ำเพื่อให้สิ่งสกปรกตกตะกอน แล้วนำนำมาไปดื่มไปใช้ แต่หากกินสารส้มในปริมาณมากเกินไป อาจทำให้บางคนเกิดแพ้พิษของสารส้ม ซึ่งจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ซึม อย่างไรก็ตาม หลังบรรเทาอาการปวดด้วยสูตรเกลือสมุทรกับสารส้มแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์ตรวจหาสาเหตุของการปวดฟันและรับการรักษาให้ตรงจุด. จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 21 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#57
|
||||
|
||||
จะทำอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย (ตอน 1) โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย คือ โรคพันธุกรรมระบบเลือดที่พบบ่อยในประเทศไทย เกิดความผิดปกติในการสังเคราะห์โปรตีนโกลบิน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงเปราะแตกง่าย โดยปกติเม็ดเลือดแดงจะทำหน้าที่นำออกซิเจนที่ได้รับจากการหายใจไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น หัวใจ สมอง ไต กล้ามเนื้อ ทำให้ร่างกายอยู่ในสมดุลปกติ ดังนั้น เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะส่งผลให้ร่างกายซีด เนื่องจากสารเหลืองจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงจะออกมาในกระแสเลือด ทำให้ตัวเหลือง ตาเหลือง ร่างกายอ่อนเพลีย ถ้าเป็นมาก ตับ ม้าม จะทำงานหนักมากขึ้นในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงทดแทนที่ขาดไป และอาจมีภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ โรคธาลัสซีเมียถือได้ว่าเป็น “โรคประจำถิ่น” เป็นได้ทั้งเพศหญิงและเพศชาย สามารถ่ายทอดต่อกันได้ภายในครอบครัวโดยทั่วไป ผู้ที่มีพันธุกรรมของโรคธาลัสซีเมียแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ 1.ผู้ที่มียีนแฝง (พาหะ) ผู้ที่มีพันธุ์ (ยีน) ของโรคธาลัสซีเมียแฝงอยู่จะไม่แสดงอาการ ดังนั้นผู้ที่เป็นพาหะจะมียีนผิดปกติเพียงข้างเดียว และยังคงมียีนที่ปกติเหลือเพียงพอที่จะทำหน้าที่ทดแทนยีนที่ผิดปกติได้ สามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานได้ ซึ่งคนที่มียีนแฝงจะมีลักษณะหน้าตาปกติ และมีสุขภาพปกติเหมือนบุคคลทั่วๆ ไป ในประเทศไทยพบได้ประมาณร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด หมายความว่าประชากรไทย 60 ล้านคน จะมีผู้ที่มียีนผิดปกติเหล่านี้ถึง 24 ล้านคน 2.ผู้ที่เป็นโรคธาลัสซีเมีย โรคธาลัสซีเมียมีระดับความรุนแรงที่หลากหลาย ตั้งแต่ซีดเล็กน้อยหรือปานกลาง จนกระทั่งซีดมากและเรื้อรัง ตับและม้ามโต ต้องรับเลือดเป็นประจำ บางรายไม่เคยมีอาการเลย แต่เมื่อต้องประสบภาวะเจ็บป่วย มีไข้ติดเชื้อ บุคคลเหล่านี้จะมีอาการซีดลง ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ในขณะที่บางชนิดทารกที่เป็นโรคนี้อาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือตั้งแต่แรกเกิดไม่เกิน 1 วัน ในประเทศไทยพบผู้เป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร หรือประมาณ 6 แสนคน โอกาสเสี่ยงและการถ่ายทอดของโรคธาลัสซีเมีย โรคธาลัสซีเมียถ่ายทอดแบบพันธุ์ด้อย กล่าวคือ หากมีความผิดปกติเพียงยีนเดียวจะไม่ปรากฏอาการ แต่หากมีความผิดปกติของยีนทั้ง 2 ข้าง จึงจะแสดงอาการ ซึ่งมีโอกาสเกิดโรคได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายเท่าๆ กัน แบ่งได้เป็น 4 กรณี ดังต่อไปนี้ กรณีที่ 1 ถ้าท่านและคู่ของท่านเป็นพาหะหรือมียีนแฝงทั้ง 2 คน ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 25, มียีนแฝงร้อยละ 50 และเป็นปกติร้อยละ 25 กรณีที่ 2 ถ้าท่านหรือคู่ของท่านมียีนแฝงคนใดคนหนึ่งและอีกคนปกติ ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสมียีนแฝงร้อยละ 50 และเป็นปกติร้อยละ 50 กรณีที่ 3 ถ้าท่านหรือคู่ของท่านเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียคนใดคนหนึ่งและอีกคนปกติ ในการตั้งครรภ์ทุกครั้ง ลูกของท่านทุกคนมีโอกาสมียีนแฝง หรือเท่ากับร้อยละ 100 กรณีที่ 4 ถ้าท่านหรือคู่ของท่านเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียคนใดคนหนึ่งและอีกคนมียีนแฝง ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง ลูกของท่านมีโอกาสเป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียร้อยละ 50 และมียีนแฝงร้อยละ 50 ข้อมูลจาก ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพันธุกรรมและมะเร็งในครอบครัว โรงพยาบาลพญาไท 1 http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 23 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#58
|
||||
|
||||
ตาบวมทำไงดี มีหลายคนสงสัยว่าทำไมบางวันตื่นนอนขึ้นมาตาถึงบวม หรือบางทีร้องไห้มากๆ ก็ตาบวมเหมือนกัน จะเป็นสัญญาณอันตรายอะไรหรือไม่ แล้วจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร เผื่อต้องออกจากบ้านไปทำธุระข้างนอกจะได้ไม่อายใคร เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า อาการตาบวมเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย เกิดจากน้ำที่เป็นส่วนประกอบของเลือดซึมออกมาคั่งที่บริเวณเนื้อเยื่อรอบเปลือกตา เป็นอาการที่ไม่รุนแรง และเป็นความผิดปกติของแต่ละบุคคลซึ่งไม่เหมือนกัน คนที่มีอาการดังกล่าวควรได้รับการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากอะไร สาเหตุของตาบวมที่พบบ่อย เช่น 1. ภูมิแพ้ แพ้ฝุ่น แพ้อาหารทะเล แพ้เกสรดอกไม้ อาจทำให้ตาบวมได้ โดยในคนที่เป็นภูมิแพ้นั้นมักจะมีอาการตาบวมในตอนเช้า 2. อาการตาบวมอาจมีสาเหตุมาจากไตทำงานบกพร่อง หรือหัวใจบีบตัวไม่เต็มที่ ทำให้เกิดการบวมบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ในตอนเช้าจะบวมที่หน้า ตอนเย็นบวมที่ขา หรือตอนนอนหน้าบวม ตาบวม กรณีเช่นนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดหาสาเหตุที่แท้จริง 3. อาจเป็นธรรมชาติของคนๆนั้นที่ตาบวมง่าย ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการตาบวม เช่น การนอนดึก การร้องไห้ เป็นต้น การดื่มน้ำมากๆ ไม่มีผลทำให้ตาบวมแต่อย่างใด วิธีแก้ปัญหาอาการตาบวม ถ้าอาการบวมเกิดจากภูมิแพ้ หรือการแพ้ ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดการแพ้ กรณีนี้แพทย์อาจให้ยาแก้แพ้คนไข้ไปรับประทานด้วย ส่วนอาการบวมจากไตทำงานบกพร่อง หรือหัวใจทำงานไม่เต็มที่ก็ต้องไปรักษาที่ต้นเหตุ ปกติอาการตาบวมมักจะเป็น 2 ข้าง แต่ถ้าตาบวมข้างเดียวร่วมกับการอักเสบส่วนใหญ่จะเป็นตากุ้งยิง ทั้งนี้แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้ประคบด้วยความเย็นเพื่อลดอาการตาบวม ด้วยการใช้เจลแช่เย็นประคบรอบดวงตา ซึ่งความเย็นจะดึงน้ำกลับเข้าสู่เส้นเลือด ทำให้อาการบวมลดลง นอกจากนี้อาจแนะนำการนอน เช่น ไม่นอนหัวราบ เวลานอนควรหนุนหมอนให้ศีรษะสูงขึ้นกว่าปกติ ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตว่า ให้ใช้แตงกวาแช่เย็นหั่นเป็นแว่นๆ วางที่เปลือกตา หรือนำถุงชาที่ชงรับประทานแล้วไปแช่เย็นแล้วนำถุงชานั้นมาวางทาบบนเปลือกตา หรือ นำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็น มาวางทาบที่บริเวณดวงตานั้น รศ.นพ.ศักดิ์ชัย บอกว่า หลักสำคัญคือ เป็นการใช้ความเย็นลดอาการบวมจากเปลือกตานั่นเอง สรุปว่าตาบวมนอกจากจะเป็นธรรมชาติของแต่ละคนแล้ว อาจเกิดจากภูมิแพ้ ไตหรือหัวใจทำงานผิดปกติก็ได้ ดังนั้นหากใครที่มีอาการตาบวมเป็นประจำไม่ควรนิ่งนอนใจควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง จะได้รักษาตรงจุด. จาก .................... เดลินิวส์ คอลัมน์ x-ray สุขภาพ วันที่ 25 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#59
|
||||
|
||||
จะทำอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยงเป็นโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย (ตอน 2) ท่านจะทราบได้อย่างไรว่า "มียีนแฝง (เป็นพาหะ)" หรือเป็น “โรคธาลัสซีเมีย” 1. การซักประวัติครอบครัว 2. การวินิจฉัยโดยการเจาะเลือด ซึ่งเป็นการตรวจเลือดพิเศษที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องโรคธาลัสซีเมีย คำแนะนำสำหรับผู้ที่มียีนส์แฝง (เป็นพาหะ) ของโรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย มีโอกาสจะถ่ายทอดโรคไปสู่ลูกหลานได้ จึงควรวางแผนก่อนมีบุตรเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการมีลูกเป็นโรคนี้ ดังนั้น จึงควรพาคู่สมรสไปรับการตรวจเลือดก่อนจะมีบุตร ถ้าคู่สามีภรรยามียีนส์แฝงทั้งคู่ ไม่ได้มีข้อห้ามในการแต่งงานกันหรือมีบุตร คู่สมรสสามารถที่จะมีครอบครัวได้ตามปกติ แต่ก่อนตั้งครรภ์ ต้องทำการปรึกษาแพทย์ให้เรียบร้อย เพื่อทำการวินิจฉัยและคัดเลือกบุตรที่ความเป็นปกติมากที่สุด คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย สำหรับผู้ที่เป็นธาลัสซีเมียแล้ว การดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนของโรคได้ ภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยได้แก่ ซีดมาก อ่อนเพลีย ติดเชื้อง่าย หัวใจทำงานหนัก เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ม้ามโต และการดูแลรักษาสามารถทำได้โดยการรับเลือดเมื่อมีอาการซีดมาก และใช้ยาขับเหล็กในกรณีที่เหล็กในเม็ดเลือดแดงแตกออกมามีปริมาณมากและจับกับอวัยวะต่างๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของธาลัสซีเมียที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคลด้วย การรักษาให้หายขาดทำได้วิธีเดียว คือ การเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก ในกรณีนี้ควรทำในผู้ป่วยที่อายุยังน้อย ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย 1.ควรรับประทานผักสด ไข นม หรือนมถั่วเหลืองเป็นประจำ 2.ดื่มน้ำชาหลังอาหารเพื่อลดการดูดซึมธาตุเหล็ก 3.ควรตรวจฟันทุก 6 เดือนเนื่องจากฟันจะผุง่าย 4.งดการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา 5.หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและการเล่นกีฬาที่รุนแรง 6.ถ้ามีอาการปวดท้องที่บริเวณชายโครงขวารุนแรง มีไข้และเหลืองมากขึ้น อาจเกิดจากถุงน้ำดีอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ 7.ในรายที่ตัดม้ามแล้วจะมีการติดเชื้อได้ง่าย เมื่อมีไข้สูงต้องทานยาลดไข้และยาปฏิชีวนะทันที แล้วรีบพบแพทย์ ดังนั้น กล่าวโดยสรุป คือ เมื่อมีความเข้าใจเรื่องโรคธาลัสซีเมียเป็นอย่างดี การเป็นพาหะหรือเป็นโรคไม่ใช่สิ่งน่ากลัวหรืออันตรายอีกต่อไป ถ้ายังมีข้อสงสัยกับเรื่องเหล่านี้ การขอรับคำปรึกษาทางพันธุกรรมจากแพทย์ที่เชี่ยวชาญเป็นหนทางที่ดีที่สุด ความตระหนักในเรื่องการวางแผนครอบครัวของคู่สมรสที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคธาลัสซีเมียใหม่ในประชากรไทย และทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าต่อไป ข้อมูลจาก ดร.นพ.โอบจุฬ ตราชู อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคพันธุกรรมและมะเร็งในครอบครัว โรงพยาบาลพญาไท 1 http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 26 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#60
|
||||
|
||||
ผิวคล้ำใช่ว่าจะรอด (ยูวี) รังสียูวีจากแสงแดด ตัวการเร่งการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นของผิวสาว แต่จะจริงแค่ไหนที่ว่า รังสียูวีแผลงฤทธิ์ทำร้ายสาวผิวขาวมากกว่าสาวผิวคล้ำ รังสียูวีในแสงแดดแบ่งเป็น "ยูวีเอ" และ "ยูวีบี" โดยยูวีเอพบมากในแสงแดดช่วงเช้าและเย็น ส่วนยูวีบีจะพบมากในช่วงแดดจัดระหว่างวัน รังสียูวีบีจะทำให้ผิวแสบร้อนและไหม้ เป็นรอยแดง ขณะที่ยูวีเอจะส่งผลต่อเม็ดสี (Pigmentation) เป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนัง โรคแพ้แดด และอาจทำลายลึกถึงระดับดีเอ็นเอ "40 ปีก่อน นักวิทยาศาสตร์มองเพียงแค่ยูวีบี เพราะเห็นผลที่เกิดกับผิวหนังได้ชัดและทันตา" โดมินิค โมยาล ผู้เชี่ยวชาญด้านยูวีและการปกป้องผิวจากแสงแดด ศูนย์วิจัยลอรีอัล ประเทศฝรั่งเศส และประธานคณะผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากแสงแดด ของสมาคมผู้ผลิตเครื่องสำอางแห่งภูมิภาคยุโรป กล่าว ผลจากการวิจัยล่าสุดกลับชี้ชัดว่า รังสียูวีเอ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนในแสงแดดมีมากถึง 95% ให้ผลเสียต่อผิวหนังที่รุนแรง หยั่งรากลึกกว่ารังสียูวีบีหลายเท่า โดยจะทำร้ายเซลล์ผิวทีละน้อย อย่างสะสมไปเรื่อยๆ ที่สำคัญ สำหรับคนผิวคล้ำ ที่มักคิดว่า แสงแดดและรังสียูวีที่ทำให้ผิวคล้ำ ไม่มีผลต่อพวกเธอนั้น คงต้องคิดใหม่ เพราะยิ่งผิวคล้ำ ความชะล่าใจที่จะอยู่กลางแดดมีมาก โอกาสที่รังสียูวีเอจะทำลายผิวให้เกิดร่องริ้วรอย ตลอดจนมะเร็งผิวหนังในระยะยาวย่อมมากตาม "คนที่มีสีผิวคล้ำ จะมีเซลล์เม็ดสีเมลานินมาก ยูวีเอก็จะยิ่งกระตุ้นให้เม็ดสีเหล่านั้นทำงานมากขึ้น ความคล้ำยิ่งมากและคงอยู่นานกว่าเดิม และยูวีเอยังทำลายภูมิคุ้มกันของผิว เพิ่มโอกาสให้แพ้แสงแดดอีกด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านยูวีกล่าว ผู้เชี่ยวชาญมีคำเตือนให้กับสาวเอเชียว่า โซนเอเชียมีรังสียูวีเอที่เข้มข้นกว่าโซนยุโรป 2 เท่าในช่วงฤดูหนาว และจะมากกว่าเป็น 4 เท่าในช่วงฤดูร้อน ดังนั้น สาวเอเชียจึงต้องการการปกป้องจากรังสียูวีเอมากกว่า สำหรับการปกป้องผิวจากรังสียูวี ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ แต่จะเลือกอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เลือกโดยอ่านข้อมูลจากฉลากหรือบรรจุภัณฑ์ โดยให้ความสำคัญกับค่าเอสพีเอฟ (SPF) ที่เป็นสัญลักษณ์ของประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีบี ร่วมกับค่าพีพีดี (ppd) ที่เป็นสัญลักษณ์ของประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเอ การป้องกันรังสียูวี สัดส่วนระหว่างค่าพีพีดีและเอสพีเอฟต้องไม่ต่ำกว่า 1:3 เช่น หากครีมกันแดดเอสพีเอฟ 60 ต้องมีค่าพีพีดีไม่ต่ำกว่า 20 โดยทั่วไปผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับค่าเอสพีเอฟ ยิ่งสูงยิ่งดี โดยไม่สนใจค่าพีพีดี ทั้งๆ ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โมยาล อธิบายว่า มีการวิจัยทดสอบเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟเท่ากัน 2 ชิ้น แต่ชิ้นแรกมีค่าพีพีดีมากกว่า 1 ใน 3 ของค่าเอสพีเอฟ และชิ้นที่ 2 มีค่าพีพีดีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าเอสพีเอฟ นำไปทาบนผิว แล้วใช้แสงยูวีในความเข้มข้นระดับต่างๆ ผลปรากฏชัดว่า ผิวที่ทาผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่าพีพีดีน้อยกว่า 1 ใน 3 ของค่าเอสพีเอฟ ปรากฏรอยดำคล้ำได้เร็วกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีค่าพีพีดีมากกว่า 1 ใน 3 ของค่าเอสพีเอฟ "แม้ยูวีบีจะทำให้ผิวไหม้เป็นรอยแดงทันทีเมื่อสัมผัสแดดนาน แต่ยูวีเอสามารถแสดงผลทันทีเมื่อผิวสัมผัสรังสียูวีเป็นเวลา 1-1.30 ชั่วโมง โดยผิวจะคล้ำลงเพราะยูวีเอกระตุ้นการทำงานของเมลานินที่ทำให้เกิดสีผิวคล้ำลง และความคล้ำจากยูวีเอยังคงอยู่นานถึง 4-12 เดือน ขณะที่ผิวไหม้แดงจากยูวีบีคงอยู่เพียง 1-2 วันเท่านั้น" ฉะนั้น การเลือกผลิตภัณฑ์ป้องกันรังสียูวีจากแสงแดด จึงต้องเลือกให้เหมาะกับสภาพผิวและกิจกรรมระหว่างวันที่แตกต่างออกไป หากเป็นหน้าหนาวควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าพีพีดี 12-13 แต่หากเป็นหน้าร้อนต้องมีค่าพีพีดีอยู่ที่ 25-28 แต่หากเป็นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับแสงแดด ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าพีพีดีสูงที่สุดที่มีจำหน่ายอยู่คือ 42 "แม้จะอยู่ในอาคาร อาจจะเลี่ยงยูวีบีได้ แต่หากอยู่ใกล้กระจกหรือหน้าต่าง หรือแม้กระทั่งขับรถ คงหนียูวีเอไม่พ้น เพราะรังสียูวีเอสามารถทะลุกระจกเข้ามาได้ ดังนั้น การป้องกันผิวด้วยผลิตภัณฑ์กันแดดจึงจำเป็น เพื่อผิวที่สดใส สุขภาพดี" คำแนะนำทิ้งท้ายจากผู้เชี่ยวชาญด้านรังสียูวี จาก ...................... กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ สุขภาพ วันที่ 27 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|