#51
|
||||
|
||||
"โรคเครียด" จาก "น้ำท่วม" จิตแพทย์แนะ "ทำใจ" กว่า 2 สัปดาห์ที่อุทกภัยครั้งใหญ่พัดพาน้ำไหลบ่าเข้าท่วมเกือบทุกหัวระแหงของประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาถึงที่ราบลุ่มภาคกลาง มวลน้ำมุ่งเข้าโจมตีเมืองหลายแห่งจนฝาย เขื่อน คันกั้นน้ำพังทลาย น้ำก้อนใหญ่ทะลักเข้าท่วมตัวเมือง แผ่ขยายทั่วอาณาบริเวณ หลายพื้นที่กลายเป็นทะเลในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไปจนถึงร้านค้าขนาดเล็กและบ้านเรือนประชาชนล้วนได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า ไร้ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เครื่องอุปโภคบริโภค หยุดงาน ขาดรายได้ ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยไปจนถึงรายใหญ่แทบสิ้นเนื้อประดาตัวไปตามๆกัน เนื่องจากขนย้ายสิ่งของหนีน้ำไม่ทัน หรือย้ายทันแต่ไม่รู้จะขนไปเก็บไว้ที่ไหน ก็ได้แต่นั่งมองข้าวของค่อย ๆ จมน้ำ บางคนต้องสูญเสียคนที่รัก สัตว์ที่เลี้ยง เพราะกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากพรากพวกเขาจากไปอย่างไม่มีวันกลับมา ต่างกับกระแสน้ำที่ยังท่วมขังและไม่รู้ว่าน้ำจะกลับมาอีกเมื่อไหร่ หลายชีวิตต้องอาศัยพื้นถนนหลับนอน ศูนย์อพยพหลายแห่งมีผู้คนเข้าไปพักพิงจนแน่น นี่คือสภาพน้ำท่วมในเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2554 ผู้ประสบภัยย่อมเกิดความเครียด สิ้นหวัง หดหู่ จากการสูญเสียครั้งนี้ ยากที่จะทำใจรับได้ในทันทีทันใด ขณะที่ชาวเมืองหลวงผู้รับข่าวสารจากทุกทาง ตกอยู่ในภาวะตื่นตระหนก เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำที่กำลังมุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯแบบนาทีต่อนาที หลายครอบครัวเร่งกักตุนสินค้า วิ่งหาที่ปลอดภัยจอดรถกันให้วุ่น จนอาคารสูงหลายแห่งเต็มจนล้นเกือบทุกแห่ง ภาวะเช่นนี้ก่อให้เกิดความวิตกกังวลไปทุกหย่อมหญ้า เกิดความเครียดสะสม...จนถึงระดับคิด "ฆ่าตัวตาย" ทั้งหมดขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภัยพิบัติที่แต่ละคนได้รับและรับได้ ฉะนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะเกิดความเครียด จิตตก วิตก กังวล ซึ่งควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันเหตุที่ไม่คาดคิด กลุ่มเสี่ยง "วัยทำงาน-คนแก่" น.พ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า กลุ่มคนที่มีอาการเครียดเพราะน้ำท่วมเป็นกลุ่มคนที่กรมสุขภาพจิตเฝ้าระวังคือ คนที่เครียดมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีภาวะทางจิตเวชมาก่อน "สำหรับคนทั่วไปที่ประสบอุทกภัย ในเวลานี้ยังไม่ถึงเวลาที่เค้าอยากจะฆ่าตัวตาย แต่จะเกิดหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปซักระยะหนึ่งแล้ว ฉะนั้นเราต้องเฝ้าดูคนเหล่านั้น ถ้าเขาไม่สนุกสนาน ร่าเริง แยกตัว บางครั้งก็พูดเรื่องความตาย ฝากลูกฝากหลาน พูดทำนองที่ว่า ถ้าเขาไม่อยู่แล้วจะทำอย่างไร รวมทั้งคนที่พอเครียดแล้วก็ดื่มเหล้า เครียดแล้วก็ดื่มเหล้า คนเหล่านี้ก็อาจทำร้ายตัวเองได้" เจ้าหน้าที่จำต้องเข้าไปดูเป็นพิเศษในพื้นที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ทำแบบประเมินแนวโน้มการฆ่าตัวตาย และเจ้าหน้าที่ทุกคนมีแบบประเมินในพื้นที่มีปัญหาก็จะเลื่อนตามระดับน้ำลงมาเรื่อยๆ น.พ.อภิชัยบอกว่า โรคเครียดเกิดขึ้นได้กับหลายช่วงอายุ แต่ที่เฝ้าระวังคือ คนที่มีแนวโน้มฆ่าตัวตายแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุระหว่าง 75-85 ปี กับกลุ่มวัยแรงงานอายุ 25-45 ปี โดยกลุ่มผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ขณะที่คนวัยทำงานจะมีจำนวนการฆ่าตัวตายมากที่สุดจึงต้องดูแลกลุ่มนี้เป็นพิเศษ "ผู้สูงอายุจะเกิดอาการซึมเศร้า ห่วงบ้าน ห่วงข้าวของเครื่องใช้ ส่วนกลุ่มคนทำงานก็กังวลเรื่องรายได้ ครอบครัว อนาคตเพราะกำลังอยู่ในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว แต่ทุกอย่างต้องจมหายไปกับน้ำ ทำให้สองกลุ่มนี้อาจเกิดภาวะเครียดจนถึงขั้นฆ่าตัวตายได้" อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว ฉะนั้นขอให้ทุกคนมีความหวัง ให้เวลาเยียวยาทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น ขอเพียงแค่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ ทางบรรเทาทุกข์ น.พ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า ตอนนี้คนที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำท่วมต้องเผชิญปัญหาหลายด้านพร้อมกัน ความไม่สะดวกในการดำรงชีวิต ความเสียหายของบ้าน รถยนต์ และทรัพย์สินเงินทอง พื้นที่ทำการเกษตรที่เสียหาย มีภาระหนี้สิน หรือบางคนเกิดการเจ็บป่วย สูญเสียญาติพี่น้อง ทำให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง วิตกกังวล และป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ "แต่ละคนสามารถรับมือกับความเครียดได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับต้นทุนพื้นฐานด้านจิตใจแต่ละคนว่าแข็งแรงแค่ไหน" ความเครียดสามารถแสดงอาการออกมาได้หลายรูปแบบ เบื้องต้นมักแสดงออกมาในรูปของความไม่สบายทางกาย เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ใจสั่น หายใจไม่ออก ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน บางรายถ้าอาการรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้จะเกิดอาการกลัว วิตกกังวลอย่างรุนแรง มีอาการตื่นตระหนก หายใจเร็วกว่าปกติ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เกร็งตามมือและเท้า กลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย "แรงปะทะจากเหตุการณ์อันเดียวกันบางคนล้ม บางคนไม่ล้ม คนที่ไม่โดนน้ำท่วมก็อาจจะเอื้อเฟื้อให้เพื่อนบ้านที่เดือดร้อน มีบ้านชั้นเดียวมาอาศัยให้ใช้ห้องน้ำ ห้องครัว มีอะไรก็แบ่งปันกันไป หรือไม่ก็ให้เวลารับฟังปัญหา ความรู้สึก ความคับข้องใจและเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน เราทุกคนอยู่ในเรือลำเดียวกัน เป็นผู้ร่วมชะตากรรม จำเป็นต้องช่วยเหลือดูแลเอาใจใส่กัน" "ไม่ใช่เราคนเดียวที่ถูกน้ำท่วม ธรรมชาติไม่ได้คิดที่จะทำร้ายเราคนเดียว และทุกอย่างก็ต้องมีเวลาสิ้นสุด เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เมื่อเห็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เราจะเห็นว่าเขาได้รับทุกข์ที่ใหญ่กว่า" พ.ญ. ขนิษฐา อุดมพูนสิน แพทย์ประจำแผนกจิตเวช โรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล พหลโยธิน กล่าว 4 วิธีรับมือวิกฤต 1.ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ทำความเข้าใจและยอมรับ ภัยพิบัติไม่ได้เกิดกับเราคนเดียว แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่ว่าเราเป็นผู้เคราะห์ร้ายอยู่คนเดียว ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกมาก อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง "ท้อแท้ได้ แต่อย่านาน และต้องลุกขึ้นเดินต่อ" 2.จัดลำดับความสำคัญของปัญหา พยายามนั่งพักให้จิตใจนิ่งแล้วรวบรวมสติมองปัญหาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เช่น แก้ปัญหาเฉพาะหน้า การอยู่ การกิน การนอน เรื่องการขับถ่าย 3.พยายามใช้ชีวิตเรียบง่าย คนที่ประสบกับปัญหาจะต้องปรับวิธีคิด และปล่อยวางเรื่องทรัพย์สินสิ่งของนอกกาย อนาคตยังมีโอกาสหาใหม่ได้ พยายามใช้ชีวิตเรียบง่ายเพื่อลดความรู้สึกเครียดลงบ้าง บางคนห่วงทรัพย์สินจนไม่ยอมอพยพ ควรมีการชั่งน้ำหนัก "ชีวิตเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า" 4.เอาใจใส่ ดูแลกันและกัน คนที่แข็งแรงต้องช่วยคนที่อ่อนแอ ต้องคอยให้กำลังใจกับคนที่รู้สึกหมดแรง ท้อแท้ ได้ระบายความรู้สึก แล้วก็ให้กำลังใจกัน วิกฤตครั้งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่รุนแรงมากในประวัติศาสตร์ของประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านไปได้สำเร็จ ต้องใช้เวลายอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วก็ตั้งหลัก ตั้งสติให้ได้ "ทุกคนต้องร่วมมือกัน...เพื่อฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้" ระวังภัย 5 โรคที่มากับน้ำ กระทรวงสาธารณสุขแจ้งเตือนประชาชนเรื่องโรคระบาด ต้องเฝ้าระวังในเรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม คือเรื่องขยะ สิ่งขับถ่าย รวมถึงน้ำดื่มต้องสะอาด โรคระบาดที่มากับน้ำท่วมต้องเฝ้าระวัง 5 โรคหลัก ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู ไข้หวัด ตาแดง และไข้เลือดออก ส่วนโรคที่ป่วยกันมากคือ โรคน้ำกัดเท้า ให้ดูแลอย่าให้มีบาดแผลที่เท้า และให้ล้างเท้าให้สะอาดหลังจากลุยน้ำแล้วทุกครั้ง จาก ...................... ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 17 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#52
|
||||
|
||||
“จัดหนัก” ชักชวนทำถุงพลาสติกชีวภาพไว้ “อึ” ช่วงน้ำท่วม (ซ้าย) ต้นแบบถุงจัดหนักสำหรับถ่ายหนัก (ขวา) ภาพต้นแบบถุงจัดหนัก ที่มีรายละเอียดวิธีการใช้ การถ่ายหนักในช่วงน้ำท่วมเป็นอีกความลำบากของผู้ประสบอุทกภัย แม้ว่า “สุขาฉุกเฉิน” จากถุงดำจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบาแก่ผู้เดือดร้อนได้ แต่ในยามน้ำลดแล้วจะเหลือขยะปฏิกูลปริมาณมหาศาลที่จัดการยาก และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเกิดแฟนเพจ “ถุงจัดหนัก” ที่ส่งเสริมให้ใช้ “ถุงพลาสติกชีวภาพ” แทน พร้อมทั้งชักชวนให้โรงงานที่มีศักยภาพมาร่วมทำบุญด้วยการผลิตถุงบริจาค รายละเอียดวิธีการใช้ถุงจัดหนักซึ่งจะพิมพ์ไว้ข้างถุง แฟนเพจ “ถุงจัดหนัก” ในเฟซบุ๊ก เป็นโครงการที่ชักชวนชาวเครือข่ายสังคมออนไลน์รวมพลังสนับสนุนให้มีการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพเพื่อบริจาคแก่ผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งทางเพจได้ออกแบบถุงพลาสติกชีวภาพที่สามารถใช้ระหว่างถ่ายหนักได้ โดยไม่ต้องอาศัยเก้าอี้พลาสติกหรือสวมฉุกเฉินที่ต้องใช้ “ถุงดำ” รองรับของเสียจากร่างกาย ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการผลิตถุงพลาสติกดังกล่าวบริจาคสามารถนำแบบจากแฟนเพจไปใช้ได้โดยไม่สงวนสิทธิ อนุรักษ์ สุชาติ นักออกแบบผู้ชื่อเสียง และหนึ่งในผู้ก่อตั้งแฟนเพจให้สัมภาษณ์แก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงแนวคิดในการก่อตั้งแฟนเพจว่า ได้เห็นสหประชาชาตินำถุงลักษณะดังกล่าวไปใช้แก้ปัญหาห้องน้ำในแอฟริกา ซึ่งประชาชนขับถ่ายทิ้งเรี่ยราด จึงสนับสนุนให้ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับเก็บอุจจาระ เมื่อใช้เสร็จแล้วก็ฝังดิน ซึ่งช่วยให้ดินดีขึ้นด้วย และเห็นว่าถุงพลาสติกสำหรับขับถ่ายนี้เหมาะกับสถานการณ์ในเมืองไทยขณะนี้ อีกทั้งเหมาะแก่การใช้งานของคนหมู่มาก แม้ขาดเก้าอี้ก็สามารถใช้ได้โดยการตัดขวดน้ำมาใช้แทน และการเก็บอุจจาระไว้ในถุงนี้จะช่วยลดโรคระบาดได้ โดยเก็บรวบรวมแล้วฝังกลบหลังน้ำลด ขั้นตอนการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพและการจัดเก็บหลังถ่ายหนัก หลังจากอาศัยพลังของเครือขายสังคมออนไลน์ได้ 5 วัน เพื่อนของอนุรักษ์ซึ่งมีโรงงานผลิตพลาสติกได้ช่วยผลิต “ถุงจัดหนัก” จากเม็ดพลาสติกชีวภาพ 100 กิโลกรัม ซึ่งได้ถุงทั้งหมด 200,000 ใบ โดยการสนับสนุนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและบ้านอาสาใจดี ซึ่งจะรับถุงดังกล่าวไปแจกจ่าย และทางโครงการจะผลิตเพิ่มอีก 800 กิโลกรัมจึงอยากเผยแพร่โครงการนี้ให้มากที่สุด และอยากประชาสัมพันธ์ให้บริษัทใหญ่ๆ อย่าง ปตท.และ SCG ที่มีเม็ดพลาสติกชีวภาพมาร่วมโครงการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพสำหรับผู้ประสบอุทกภัย “อาทิตย์หน้าเราคงต้องใช้แน่นอน เพราะเมื่อเกิดน้ำท่วมเราจะกดชักโครกไม่ลง และคนกรุงเทพฯ อาศัยอยู่ในคอนโด 20-30 ชั้น หากติดอยู่อยู่ 2 อาทิตย์ จะเป็นเรื่องน่ากลัวมาก สถานการณ์บีบคั้นมาก เป็นอีกปัญหาที่คนมองไม่เห็น ตอนนี้ทุกคนบริจาคถุงดำซึ่งเป็นพลาสติก HBPE ที่ไม่ย่อยสลาย ต้องเผาอย่างเดียว ถ้าจะรีไซเคิลต้องแยกออกมา ซึ่งถ้าเป็นอึจะไม่มีคนแยกเลย จึงอยากให้คนหันมาใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ แม้ต้นทุนตกใบละ 50 สตางค์จะแพงกล่าวพลาสติกปกติ แต่ควรใช้ในกรณี และอนาคตเมื่อคนตระหนักตรงนี้และใช้กันมากขึ้น ราคาก็จะถูกลง” อนุรักษ์กล่าว ภาพสาธิตการใช้งานและการกำจัด ทั้งนี้ หลังจากโพสต์ข้อความในแฟนเพจแล้วมีผู้ติดต่อเข้ามาใน 2 ส่วน คือ ส่วนแรกคือผู้เสนอให้ทุน และอีกส่วนคือโรงงานผู้ผลิตพลาสติก โดยทางโครงการพยายามที่จับคู่ความต้องการทั้งสองส่วนให้ตรงกัน แต่สิ่งที่ทางแฟนเพจอยากจะเน้นคืออยากได้ผู้บริจาคเม็ดพลาสติกชีวภาพจากผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยก็จะมีการกระจายกันทางเฟซบุ๊กต่อไป โดยอาจช่วยเหลือในเรื่องเงินหรือนำไปบริจาคก็ได้ “ในอีก 1-2 อาทิตย์เราอาจต้องใช้เอง” อนุรักษ์ให้ความเห็น ติดตามความเคลื่อนไหวอื่นๆ ได้ที่ แฟนเพจ ถุง “จัดหนัก” http://www.facebook.com/judnakbag จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#53
|
||||
|
||||
คนมีเงินเขาเก็บรถหนีน้ำท่วมกันแบบนี้ครับพี่น้อง ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมเมืองหลวง มีประชาชนมากมายทยอยนำรถขึ้นไปจอดบนทางด่วนซึ่งบางแห่งจอดกีดขวางการจราจร ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องมายกไปเก็บที่สถานที่อื่น ลองมาดูที่ลานจอดรถแบบบ้านๆ ไม่น่าเชื่อว่าจะพบรถยนต์มินิคูเปอร์ และรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ ป้ายแดง 2 คันในสภาพหุ้มถุงพลาสติกผูกปากถุงแบบเดียวกับการบรรจุสิ่งของหลังจากซื้อของจากห้างสรรพสินค้าอย่างใดอย่างนั้น โดยรถทั้ง 2 คันถูกนำมาจอดเคียงคู่กันที่ลานจอดรถแห่งหนึ่งในย่านใจกลางเมือง ซึ่งเป็นลานแบบติดดินแท้ๆ เน้นว่าติดดิน เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ไม่รู้เจ้า 2 เครื่องจักรชื่อก้องราคารวมเฉียด 6 ล้านบาทจะรอดชะตาน้ำท่วมหรือไม่ แต่ดูแล้วไอเดียก็ไม่เลวเท่าไหร่สำหรับผู้ประสบภัยแบบย่อมๆ จาก ..................... มติชน วันที่ 22 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#54
|
||||
|
||||
คู่มือ 'ทำผ้าอนามัย ส้วม หุ้มรถ ขนตู้เย็น อุดบ้าน น้ำดื่ม' รอดตายน้ำท่วม http://www.thairath.co.th/content/life/210964 จาก ...................... ไทยรัฐ วันที่ 24 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#55
|
||||
|
||||
บัญญัติ 10 ประการ กันโรคน้ำท่วม กรมควบคุมโรคแนะประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมถึงข้อควรปฏิบัติ 10 ประการ เพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวแนะนำข้อควรปฏิบัติ 10 ประการ กับประชาชนพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อป้องกันโรคและภัยที่มากับน้ำท่วม ดังนี้ 1. สวมเสื้อชูชีพก่อนลงน้ำ ใส่รองเท้าบู๊ต หรือสวมถุงพลาสติกก่อนลุยน้ำ 2. ล้างมือ ไม่กินอาหารค้างมื้อ ดื่มน้ำสะอาด 3. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด 4. เก็บเศษอาหารและขยะใส่ถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่น 5. มีโรคเรื้อรังอย่าลืมรับประทานยาประจำตัว 6. หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด 7. ถ้ามีอาการป่วยแจ้งหน่วยแพทย์ อย่าปล่อยไว้เกิน 2 วัน 8. สวมหน้ากากอนามัยเวลาเป็นหวัด 9. ดื่ม ORS เมื่อมีอาการท้องเสีย และ 10.นำเด็กไปฉีดวัคซีนตามนัดหลังน้ำลด เนื่องจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเขตเมือง จะมีปัญหาเรื่องขยะจำนวนมาก หากไม่มีการจัดการที่ดีและถูกวิธีอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคท้องร่วง หรือเป็นแหล่งให้เกิดสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ เช่น แมลงวัน เป็นต้น ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือประชาชนสำหรับโรคที่มากับน้ำท่วมให้กับประชาชนได้เตรียมตัวและป้องกันตนเองจากโรคและภัยสุขภาพต่างๆ ทั้งก่อนน้ำท่วม ช่วงน้ำท่วม และหลังน้ำลด เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนตามหน่วยบริการสาธารณสุขในศูนย์พักพิงและประชาชนทั่วไป หรือสามารถดูได้ทางเว็บไซต์กรมควบคุมโรค www.ddc.moph.go.th หากมีข้อสงสัยติดต่อได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422 และศูนย์ปฏิบัติการกรมควบคุมโรค โทรศัพท์ 0-2590-3333, 0-2590-3333. จาก ..................... ไทยโพสต์ วันที่ 24 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#56
|
||||
|
||||
การป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน การป้องกันน้ำท่วมบ้านเรือน เป็นการลดความเสียหายจากน้ำท่วมสามารถทำได้โดยให้น้ำอยู่ห่างจากโครงสร้าง ให้น้ำหมดไปจากโครงสร้าง และให้โครงสร้างอยู่ห่างจากน้ำ การป้องกันน้ำท่วมคือการใช้เทคนิคต่างๆเพื่อป้องกันอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานต่างๆจากน้ำท่วม หรือเพื่อลดความเสียหายจากน้ำท่วม ความรุนแรงของน้ำท่วมขึ้นอยู่กับจำนวนของตัวแปรต่างๆดังต่อไปนี้ ความลึกของน้ำระยะเวลาของการท่วม ความเร็วในการไหลของน้ำ อัตราการสูงขึ้นของระดับน้ำในแม่น้ำ ความถี่ของการเกิดน้ำท่วม และระยะเวลาการตกของฝน การป้องกันน้ำท่วมที่ได้ผลจะช่วยลดการซ่อมแซมแก้ไขต่างๆของอาคารบ้านเรือนหลังน้ำท่วม การป้องกันน้ำท่วมสำหรับอาคารบ้านเรือน การพิจารณาจุดอ่อนของอาคารขึ้นอยู่กับลักษณะของอาคารชนิดต่างๆ รวมถึงความต้านทานต่อแรงดันน้ำ(แรงดันจากน้ำนิ่ง แรงยกของน้ำและแรงดันจากการไหลของน้ำ) และการเปลี่ยนแปลงของวัสดุเมื่อจมน้ำ(คุณภาพของปูน, พฤติกรรมของทรายและดินเหนียวใต้ฐานราก) อาคารสาธารณะที่ใช้สำหรับเป็นที่พักต้องยกระดับพื้นให้สูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุดซึ่งสามารถทำได้โดยก่อสร้างอาคารบนพื้นที่สูงหรือถมดินให้สูงขึ้น หรือสร้างอาคารโดยยกพื้นให้สูงขึ้น ในพื้นที่ที่น้ำไหลการกั้นกระสอบทรายก็อาจช่วยป้องกันตัวอาคารได้ การป้องกันน้ำท่วมสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานจากน้ำท่วมอาจมีสาเหตุจากแรงดันน้ำโดยตรงจากการกัดเซาะ หรือจากทั้งสองสาเหตุรวมกัน ความกว้างของช่องเปิดที่ไม่เพียงพอของแม่น้ำใต้สะพานจะทำให้ระดับน้ำเหนือน้ำสูงขึ้น ท้องน้ำที่จุดเหนือน้ำและท้ายน้ำของสะพานจึงควรเสริมเครื่องป้องกันการกัดเซาะด้วยส่วนมากการป้องกันการกัดเซาะของท้องน้ำจะเสริมท้องน้ำด้วยอิฐ หิน หรือปลูกพืชคลุมดินความเสียหายของระบบประปาคือการที่น้ำเข้าไปในท่อ ทำให้น้ำมีตะกอนและสารพิษปนเปื้อน ปัญหานี้แก้ไขได้โดยการวางแนวท่อให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม สำหรับระบบไฟฟ้า ระบบท่อต่างๆ และสายโทรศัพท์ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยหลักการเดียวกัน วิธีป้องกันความเสียหายจากน้ำไหลตามถนน น้ำท่วมที่มาจากรางน้ำที่ถนนหรือท่อระบายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถนนที่ลาดเอียง อาจจะไหลทะลุผ่านทรัพย์สินเข้าไปในทางถนนโล่งเข้าตัวอาคาร ทะลุผ่านที่ต่ำในท่อระบายน้ำหรือรางน้ำเหนือถนน น้ำอาจจะเปลี่ยนทิศทางอย่างเหมาะสมโดยกองถุงบรรจุทรายหรือแผ่นกระดาน หรือไม้หมอนทางรถไฟ อุปสรรคของน้ำนี้จะควบคุมทิศทางของน้ำให้ไกลจากทรัพย์สิน ดังนั้นป้องกันน้ำที่จะกัดกร่อนสวนและสนามหญ้า ถังน้ำไม่ลึก อุปสรรคก็จะป้องกันน้ำไม่ให้ไปถึงบ้าน ถุงทรายหรือ ฝายไม้แสดงในรูปที่ 1 ต้องถูกวางไว้ที่หัวมนและต้องมีความยาวเพียงพอที่จะเปลี่ยนทางน้ำให้ไหลไปตามถนน โดยจะมีน้ำบางส่วนเท่านั้นที่ผ่านฝายเข้ามา แต่น้ำส่วนที่ไหลแรงจะถูกตีกลับไปที่ถนน วิธีการใช้ถุงทรายเพื่อเปลี่ยนทางน้ำ ระดับของถุงทราย ที่ถูกวางอย่างเหมาะสมจะทำให้การไหลของน้ำไหลอ้อมทรัพย์สินแทนที่จะไหลผ่านทรัพย์สิน วิธีใช้แผ่นไม้หรือใช้หมอนเพื่อกำหนดทิศทางการไหลของน้ำ แผ่นไม้หรือไม้หมอนเมื่อวางไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมสามารถเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำได้ และให้ผลได้ดีกว่าการใช้ถุงทราย แต่ต้องใช้เวลาในการเตรียมและติดตั้งให้มากขึ้น แต่สามารถใช้คนเพียงแค่คนเดียวที่จะติดตั้งและถอนออกได้อย่างง่ายและรวดเร็ว (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#57
|
||||
|
||||
การป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน (2) วิธีป้องกันบ้านและสิ่งก่อสร้างโดยมีพื้นคอนกรีต ป้องกันน้ำท่วมได้โดยฉาบด้วยปูนหรือกำแพงอิฐที่ทาด้วยสีชนิดพิเศษ น้ำจำนวนมากที่อยู่ระหว่างฐานรากกับนอกกำแพง สามารถซึมผ่านพื้นเข้ามาภายในกำแพงได้ วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ 1. อัดรอยรั่วภายนอกบ้านทั้งหมด โดยใช้วัตถุกันน้ำทั่วไป 2. ทำความสะอาดกำแพงและรอยรั่ว รูรั่วอาจจะเกิดมาจากการก่อสร้างๆ แล้วสิ่งสกปรกอาจจะกลับเข้าไปติดในรูรั่ว 3. วิธีป้องกันกำแพงบ้านแบบชั่วคราว สามารถทำได้โดยหาแผ่นพลาสติกกันน้ำ หรือวัตถุที่คล้ายๆกันมาวางไว้ข้างกำแพง และปกคลุมขอบล่างของมันด้วยดิน และเอาแผ่นนี้ออกหลังจากที่น้ำหายท่วมแล้ว เพื่อป้องกันการผุพังและเชื้อราที่จะขึ้นบนไม้ (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#58
|
||||
|
||||
การป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน (3) การป้องกันบ้านและอาคารที่มีพื้นเป็นไม้โครงสร้าง น้ำสามารถไหลซึมและขังนองในช่องว่างหรือใต้ถุนผ่านรอยแตกของฐานราก รูรั่วของท่อช่องระบายอากาศและหน้าต่าง นอกจากนั้นน้ำยังสามารถซึมผ่านระหว่างผนังบ้านและฐานรากอีกด้วย เมื่อไหร่ก็ตามที่ช่องว่างหรือห้องใต้ถุนเต็มไปด้วยน้ำ น้ำจะเพิ่มระดับและไหลเข้าสู่สิ่งก่อสร้างผ่านพื้นและรอยต่อของผนังจนกระทั่งล้นและมีระดับเดียวกันกับน้ำภายนอก ขั้นตอนการปฏิบัติ 1. อุดช่องระบายอากาศและหน้าต่างด้วย แผงกั้นน้ำ ช่องระบายอากาศนั้นต้องสร้างให้ได้ตามมาตรฐานงานก่อสร้าง เพื่อป้องกันโรคราน้ำค้างและการผุเปื่อย ดังนั้น แผงกั้นน้ำ ทุกชิ้นต้องสามารถถอดย้ายออกได้ หลังจากอันตรายจากน้ำท่วมได้พ้นผ่านไปแล้ว 2. อุดรอยแตกร้าวของฐานรากและผนัง ด้วยคอนกรีตหรือวัตถุอื่นๆ ที่สามารถใช้อุดรอยแตกได้ 3. อุดรอยรั่วเล็กๆ รอบๆ ท่อด้วยคอนกรีต หรือสารประกอบที่ใช้อุดรูรั่วในเรือ กาวซิลิโคน 4. อุดรอยต่อระหว่างผนังกับฐานรากด้วยสารประกอบที่ใช้อุดรูรั่ว การทำแผงกั้นน้ำ เพื่อใช้อุดฐานราก ช่องระบายและหน้าต่าง 1. ใช้ไม้อัดขนาด ?” สำหรับทำแผงกั้นน้ำ คัดไม้อัดให้เหลื่อมกับหน้าต่าง 2. ติดแถบสักหลาด หรือยาง ด้วยกาวกันน้ำ ให้เหลื่อมกับผิวของแผงกั้นน้ำ ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายปะเก็นอุดรูรั่ว 3. ยึดแผงกั้นน้ำ ให้เข้าที่อย่างแน่นหนาด้วยตะปู ตะปูควงหรือสลักเกลียว 4. ยึดแผงกั้นน้ำ เข้ากับกรอบไม้ด้วยตะปู วิธีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำเข้าทางประตู วิธีที่ 1 : ใช้ดินน้ำมัน ดินปั้น ดินเหนียวตามธรรมชาติหรือวัสดุอื่นๆ ที่สามารถอุดรอยแตกและรอยต่อรอบๆประตู ธรณีประตู และกรอบประตู วัสดุดังกล่าวข้างต้นนั้นสามารถขูดออกได้อย่างสะดวก เมื่อน้ำท่วมได้บรรเทาลง วิธีที่ 2 : ใช้แผ่นพลาสติกหรือกระดาษกันน้ำที่ใช้ในงานก่อสร้าง ข้อควรจำ ทั้งวิธีที 1 และ 2 ข้างต้นนั้นมีข้อควรระวังคือ จะต้องทำการล็อคประตูจากด้านในเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเปิดประตูและยังช่วยป้องกันการแตกของสารกันน้ำที่ใช้อุด แม้ว่าวัสดุที่กล่าวมาเช่น ดินน้ำมัน และดินปั้นจะใช้อุดรอยแตกรอบประตูและกรอบประตูได้ก็จริง แต่ก็มีอายุการใช้งานเพียงระยะเวลาสั้น (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#59
|
||||
|
||||
การป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน (4) วิธีการใช้ แผงกั้นน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเข้าทางประตู สามารถป้องกันน้ำที่จะไหลเข้าสู่ประตูทางเข้าได้ด้วยการติดตั้งแผงกั้นน้ำ การเตรียมพร้อมติดตั้งแผงกั้นน้ำ เข้ากับประตูทางเข้า-ออก ในการติดตั้งแผงกั้นน้ำ เข้ากับประตูทางเข้า-ออกนั้น ก็คล้ายคลึงกับการติดตั้งหน้าต่าง หรือช่องระบายอากาศ ในกรณีพิเศษจะต้องใช้วัสดุทำเป็นประเก็นรอบๆขอบด้านล่างของแผ่นกระดาน เพื่อกันน้ำได้ดียิ่งขึ้น ขั้นตอนการปฏิบัติ 1. ใช้แผ่นกระดานหรือไม้อัดในการทำแผงกั้นน้ำ ดังแสดงในหน้าตรงข้าม 2. ตัดแถบยางหรือสักหลาดให้เหลี่ยมกับผิวของไม้กระดานให้กว้างประมาณ 8 เซนติเมตร เพื่อทำเป็นประเก็นแล้วยึดติดกับด้านล่างของไม้กระดานด้วยกาวกันน้ำ 3. อุดด้านล่างของธรณีประตู รอยแตก และรอยต่อ กรอบประตู โดยปกติแล้ว แผงกั้นน้ำจะไม่แนบสนิทกับประตูเลยทีเดียว ใช้สารอุดรอยต่อที่คุณภาพสูงจะทำให้มีระยะเวลาการใช้งานนานหลายปี ก็จะทำให้ไม่ต้องซ่อมแซมหรือซ่อมแซมเพียงเล็กๆน้อยๆ 4. หากจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายฉากประตู ก็ใช้สลักเกลียวหรือตะปูควงพร้อมด้วยแหวนรองสลักเกลียวยึดติดเข้ากับเสาด้านข้างประตูทั้งสองข้าง (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#60
|
||||
|
||||
การป้องกันน้ำไหลเข้าบ้าน (5) การเตรียมการกันน้ำสำหรับประตูโรงเก็บรถ 1. ใช้ไม้อัดที่มีความหนาที่เหมาะสมประมาณ 25 มม. สำหรับใช้อุดประตูตัดด้านล่างของแผงกั้นน้ำ ให้พอดีกับผิวของถนนเพื่อป้องกันน้ำด้านล่าง 2. สำหรับประตูบานพับ ใช้แผงกั้นน้ำ แยกกันอุดด้านข้างและตรงกลางของประตู โดยติดในแนวดิ่งให้สูงกว่าแผงกั้นน้ำที่อุดอยู่ด้านล่าง 3. อุดรอบๆบานพับด้วยดินน้ำมันหรือกาวจนมั่นใจว่าไม่มีการรั่วซึมอย่างแน่นอน การควบคุมการชะล้างพังทลายของเนินดิน 1. นำน้ำออกจากดิน น้ำไหลตามธรรมชาติ - ขุดคูน้ำเล็กๆให้รอบขอบบนของพื้นที่ ควรขุดขณะดินมีความชื้นสูงจะทำให้ขุดได้ง่าย โดยให้มีความเอียงเล็กน้อยเพื่อให้น้ำสามารถไหลได้ช้าๆ และขุดให้ปลายของคูน้ำ เชื่อมต่อกับทางระบายน้ำ น้ำจากน้ำฝน - ขุดคูน้ำเล็กๆในส่วนบนเนินดินนั้นไม่ควรขุดให้น้ำไหลมารวมกันทางเดียว ซึ่งจะทำให้ดินอ่อนแอและง่ายต่อการชะล้างพังทลาย เราสามารถเพิ่มความมั่นคงของดินได้คือ ใช้แผ่นพลาสติกราคาถูก ปูบนดินนั้น แผ่นพลาสติกจะทำหน้าที่คล้ายกรวด ทำให้น้ำส่วนใหญ่ไม่สามารถไหลลงสู่ดินนั้นได้ หรืออาจจะปลูกต้นไม้ทำเป็นรั่วก็ได้เพียงแค่ ตัดพลาสติกให้พอดีกับขนาดของหลุมต้นไม้ ก็จะเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงแก่ดิน 2. ทำให้น้ำไหลช้าลง เมื่อดินเกิดการชะล้าง เราสามารถควบคุมได้โดยการใช้กรวดหรือไม้แผ่นเล็กๆ มาทำหน้าที่คล้ายเขื่อนทำได้ง่ายๆ โดยการโรยกรวด หรือวางแผ่นไม้ข้ามส่วนที่เป็นลำธารเล็กๆ ซึ่งกรวดและแผ่นไม้จะทำหน้าที่เหมือนเขื่อนกันน้ำๆไว้ หากต้องการเพิ่มความมั่นคงยิ่งขึ้น ก็ควรฝังกรวดหรือแผ่นไม้ให้ลึกๆบนเนินที่มีความชันมากๆ แนะนำให้สร้างคูน้ำเป็นระยะห่างเป็นช่วงๆ และควรดูระดับความสูงของพื้นที่และสามารถปล่อยน้ำให้ไหลเข้าสู่ทางระบายน้ำ 3. เพิ่มความแข็งแรงของดินเพื่อป้องกันการพังทลาย ฟางหรือเศษไม้ก็ส่งผลต่อความมั่นคงในดินได้ และยังมีส่วนช่วยเพิ่มสารอินทรีย์ในดิน ใช้เศษไม้ปกคลุมดินด้วยความหนาประมาณ 3 เซนติเมตรหรือใช้ฟางปกคลุมดินด้วยความหนาประมาณ 30 เซนติเมตร จะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย คือ เพิ่มก๊าซไนไตรเจน 4. ปลูกพืชคลุมดิน วิธีนี้เกี่ยวข้องกับวิธีการข้างต้น ควรปลูกพืชก่อนฤดูแล้ง หญ้าที่ทนแล้งหรือปลูกพืชทนแล้งชนิดอื่นปกคลุม โดย: หน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จาก .................... เว็บไซท์ของ อาสาสมัครฟื้นฟูประเทศไทย http://www.siamarsa.org/profiles/blo...5:BlogPost:924
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|