เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #61  
เก่า 11-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


อีก 5 ปี โลกเสี่ยงร้อนขึ้นถาวร ระวัง 'น้ำท่วม' ใหญ่กว่าเดิม!?



ผู้เชี่ยวชาญชี้โลกถึงขั้นวิกฤติ หากไม่ลดการใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์อย่างรวดเร็วใน 5 ปี สภาพอากาศจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

สถานการณ์โลกในปัจจุบัน อากาศตามภูมิภาคต่างๆของโลกเกิดความแปรปรวน เป็นเหตุให้ดินฟ้าอากาศทุกมุมโลกวิปริตผิดจากเดิมและทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงเล่นงานมนุษยชาติหนักหน่วงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในโลกยุคดิจิตอล ทุกประเทศทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศของโลกทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่กำลังเผชิญมหาอุทกภัยในเวลานี้

อย่างไรก็ดี ดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปและสาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นถึงขั้นวิกฤติที่อาจส่งผลให้ความร้ายแรงของภัยธรรมชาติเพิ่มมากขึ้นเกิดจากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นมาจากการที่ทั่วโลกใช้เชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์อย่างไม่บันยะบันยัง ซึ่งจะทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล

นายฟาติธ์ บิโรล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ(ไออีเอ)เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์ของไออีเอพบว่า หากทั่วโลกไม่ลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ เช่น น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ และถ่านหินอย่างสิ้นเปลืองในภาคส่วนต่างๆภายใน 5 ปี จะเป็นการปิดกั้นความเป็นไปได้ที่จะหยุดภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย และหากไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานอย่างรวดเร็วจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกตลอดไปและไม่สามารถแก้ไขได้

นายฟาติธ์ เปิดเผยอีกว่า หากโลกยังคงมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่แต่เกิน 2 องศาเซลเซียส ยังจัดอยู่ในระดับปลอดภัย เพราะการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศต้องไม่เกิน 450 ส่วนในล้านส่วน ซึ่งในปัจจุบันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศอยู่ที่ 390 ส่วนในล้านส่วน หรือร้อยละ 80 ของจำนวนคาร์บอนที่ปล่อยในชั้นบรรยากาศได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อโลก และในอนาคตก็จะมีใช้พลังงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไออีเอคำนวณว่าในปี 2015 จะมีการปล่อยคาร์บอนอย่างน้อยร้อยละ 90 จากการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ และโรงงานอุตสาหกรรม และในปี 2017 ทั่วโลกจะปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจนถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อโลกและทำให้โลกร้อนขึ้น

“อนุสัญญาเกียวโตซึ่งเป็นข้อตกลงให้ประเทศที่ร่ำรวยยอมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะสิ้นสุดในปี 2012 แม้ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นต่างมีข้อตกลงกันเมื่อเร็วๆ นี้ ที่จะทำข้อตกลงเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2018หรือ2020 แต่จะช้าเกินไป หากไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศในเร็วๆ นี้ ผลกระทบจากการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศมากเกินไปจะเกิดขึ้นในปี 2017 และเราจะหมดโอกาสในการกลับมาเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกตลอดไป” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ไออีเอกล่าว




จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #62  
เก่า 19-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ธารน้ำแข็งที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต หดปีละ 7.8 เมตร


ทิวทัศน์ธารน้ำแข็ง Karuola Glacier

ซินหวาเน็ต--หน่วยงานวิทยาศาสตร์ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งประเทศจีน แถลงเมื่อวันที่ 16 พ.ย. เผยรายงานการประเมิน 'การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศครั้งที่สอง' ระบุจากช่วงปี 2494 ถึงปี 2552 อุณหภูมิเหนือพื้นดินประเทศจีน โดยเฉลี่ย เพิ่มสูง 1.38 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิสูงขึ้นในอัตรา 0.23 องศาเซลเซียสในทุก 10 ปี

นอกจากนี้ ในแต่ปี ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต หดหายไป 7.8 เมตร

ระดับน้ำทะเลที่ชายฝั่งสูงขึ้นในอัตราปีละ 2.5 มิลลิเมตร

ทศวรรษที่ 90 ของศตวรตวรรษที่ 20 การสะสมของหิมะในแต่ละวันระหว่างช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิมีแนวโน้มลดลง และในช่วงหลังๆมานี้ ยังพบว่าธารน้ำแข็งบนNyainqentanglha Range หนึ่งในเทือกเขาสำคัญที่ตั้งอยู่ตอนกลางของภาคตะวันออกทิเบต เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก ธารน้ำแข็งในเขต Naimona Nyi บนเทือกเขาหิมาลัยก็กำลังละลายตัวอย่างรวดเร็ว ระหว่างปี 2519-2549 ปลายธารน้ำแข็ง หดในอัตราโดยเฉลี่ยต่อปี ที่ประมาณ 5 เมตร โดยระหว่างปี 2547-2549 อัตราการหดตัวของธารน้ำแข็งเป็นไปอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ยปีละ 7.8 เมตร แสดงถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้นในระยะหลังมานี้



นักวิจัยศูนย์วิจัยสภาพภฒิอากาศแห่งประเทศจีน นาย หลัว หย่ง กล่าวว่า จากปี 2494 เป็นต้นมา สภาพอุณหภูมิสูง อุณหภูมิต่ำ ระดับน้ำลด และการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ตลอดจนสภาพอากาศที่รุนแรงอื่นๆ ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและมีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญยังได้ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทำให้เกิดกรณีสภาพอากาศที่รุนแรงบ่อยครั้งขึ้นนั้น ยังส่งผลต่อสุขภาพผู้คน และผลกระทบในด้านลบ และควรมีการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาสนใจลดการแพร่กระจายความร้อน ร่วมมือในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ( low-carbon life)

เนื่องจากภาวะโลกร้อน สภาพที่ธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตกำลังละลายอย่างรวดเร็ว

จากการสำรวจ บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเนือ ภาคกลาง และภูมิภาคอื่นๆในประเทศจีน ในช่วงเกือบ 50 ปี มานี้ มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ส่งผลกระมบต่อผลผลิตการเกษตร พื้นดินเสียหายทำประโยชน์ไม่ได้และกลายสภาพเป็นดินเค็ม ทำให้เกิดการระบาดโรคพญาธิใบไม้ในเลือด โรคทางเดินลมหายใจและโรคระบาดอื่นๆ โดยอัตราการระบาดสูงมากขึ้น


ธารน้ำแข็งในเขต Nyinchi อำเภอ Bowo ตั้งอยู่ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของทิเบต (บันทึกภาพเมื่อวันที่ 20 กันยายน)

บริเวณภาคใต้ ระดับผิวน้ำทะเลในทะเลใต้ สูงขึ้น จากปี 2536 ถึง 2549 ระดับผิวน้ำทะเลในทะเลใต้สูงขึ้นในอัตราเฉลี่ย 3.9 มิลลิเมตรต่อปี าสำหรับภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ ช่วง 40 ปี สุดท้ายของศตวรรษที่ 20 บนที่ราบสูงซื่อชวน (หรือเสฉวน) ที่ราบสูงอวิ๋นกุ้ย มีแนวโน้มอุณหภูมิสูงขึ้นๆอย่างชัดเจน อุณหภูมิในบริเวณที่ราบลุ่มเสฉวนมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน ปริมาณฝนตกในแต่ละวันก็น้อยลง

ห้าปีมานี้ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1,460 ล้านตัน

จากปี 2549 ถึงปี 2553 ระดับการบริโภคพลังงานต่อหน่วยจีดีพี (energy consumption per unit GDP) ลดลง 19.1 เปอร์เซนต์ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดลง 1,460 ล้านตัน

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า กองหินที่เชิงเขา Naimona Nyi ที่ทอดตัวต่อเนื่องยาวนับสิบกิโลเมตร เคยเป็นตะกอนที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต (Sediment)ในธารน้ำแข็ง

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะเวลา 5 ปี ฉบับที่ 11 การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด ปลายปี 2553 ปริมาณการใช้พลังงานหมุนเวียน เท่ากับ 300 ล้านตัน Standard coal คิดเป็นสัดส่วน 9.6 เปอร์เซนต์ ของปริมาณการบริโภคพลังงานทั้งหมด


ที่นี่เคยเป็นปลายธารน้ำแข็ง ขณะนี้เหลือเพียงตะกอนหลังจากที่ธารน้ำแข็งละลายหมดแล้ว กลายเป็นก้อนหินที่ไร้ประโยชน์ทอดยาว





จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2554

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #63  
เก่า 22-11-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ก๊าซเรือนกระจกพุ่งทุบสถิติ เลยสถานการณ์เลวร้ายสุด


จาก ..................... ไทยรัฐ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2554
รูป
 
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #64  
เก่า 04-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน



นอกจากหน่วยงานภาครัฐจะเข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว “สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน” ในฐานะองค์กรเอกชน ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดเป็นตัวแทนภาคประชาชนยื่นฟ้อง “ผู้บริหารภาครัฐ” เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับประชาชน กรณีได้รับผลกระทบจาก “มหาอุทกภัย”

สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนประกอบด้วย

1. ติดตาม ตรวจสอบ แหล่งกำเนิดมลพิษที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสภาวะโลกร้อน และเหตุภาวะมลพิษต่างๆ ที่ก่อความเสียหายต่อบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์สิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

2. เผยแพร่ความรู้กฎหมายเกี่ยวกับมลพิษและสิ่งแวดล้อมแก่ประชาชนหรือกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจได้รับอันตรายหรือความเสียหายจากภาวะมลพิษจากแหล่งกำเนิดมลพิษต่างๆ รวมทั้งเป็นผู้แทนในการฟ้องร้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ค่าเสียหาย ค่าชดเชยให้แก่ประชาชน ชุมชน และสาธารณชน

3. ส่งเสริมสิทธิและหน้าที่ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ในการจัดการด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างสมดุล ยั่งยืน และเกิดความมั่นคงทางนิเวศ

4. ส่งเสริมการปลูกและรักษาป่า รักษาน้ำและลุ่มน้ำ รักษาสัตว์ป่า ให้สังคมตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบจากสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในเมืองและชนบท

5. รณรงค์และสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พิทักษ์ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการัง พืชและสัตว์ทะเลทุกประเภท.




จาก ..................... เดลินิวส์ วันที่ 22 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #65  
เก่า 12-01-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ทางเลือกใหม่ของคนไทย ฉลากคาร์บอน ช่วยลดโลกร้อน



จากปัญหาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ หันมาให้ความสนใจและให้ความตระหนักถึงภัยพิบัติของโลกร้อนและวิธีการลดโลกร้อน ซึ่งการลดความรุนแรงของปัญหาโลกร้อนที่สามารถทำได้ คือ การร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต ภาคบริการในฐานะผู้ขับเคลื่อนกิจกรรม รวมทั้ง ประชาชนในฐานะผู้บริโภค

การดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในส่วนผู้บริโภคนั้นสามารถเชื่อมโยงกับส่วนผู้ผลิต คือ การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ห่วงใยรักษาสิ่งแวดล้อม หรือมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย และการที่ผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย จำเป็นต้องมีข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อ

ดังนั้น องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จึงร่วมมือกันจัดทำ “โครงการการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักให้ฉลากคาร์บอนแสดงว่า กระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ นอกจากนี้ ฉลากคาร์บอนยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตสินค้าพัฒนากระบวนการผลิตและการขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การนำระบบฉลากคาร์บอนมาใช้ จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ และมีการออกแบบระบบการพิจารณาการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลนั้นในการเลือกซื้อและพัฒนาสินค้าตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างแท้จริง

ฉลากคาร์บอน คืออะไร ? : ฉลากคาร์บอน คือฉลากที่แสดงว่าการผลิตสินค้าหรือการให้บริการนั้นมีการลดการปล่อยก๊าซเรือกระจก หรือการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจกในระดับต่ำ เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อสินค้า

ฉลากคาร์บอนในประเทศไทย : อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย ถ้าจะเอ่ยคำว่า “ฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Reduction Label” ซึ่งเป็นฉลากรับรองมาตรฐาน ที่แสดงว่าการผลิตสินค้า หรือการให้บริการนั้น มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ที่ดำเนินการโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อสนับสนุนให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีส่วนในการช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนในประเทศไทย ใช้แนวคิดการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life cycle Assessment; LCA) เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent) ก่อนนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประกอบการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนต่อไป

ฉลากคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์” ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การขนส่ง การผลิต การบรรจุหีบห่อ การใช้งาน จนกระทั่งการกำจัดของเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินงานจะใช้เวลาค่อนข้างมากเนื่องจากมีกระบวนการประเมินซับซ้อน และ “ฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต” ซึ่งฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะใช้เวลาในการดำเนินงานน้อยกว่าแบบแรก

ในช่วงแรกของการดำเนินงานจะมุ่งเน้นการขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนประเภทพิจารณากระบวนการผลิต เพื่อให้การดำเนินการขึ้นทะเบียนฉลากกระทำได้รวดเร็ว เพื่อรองรับกระแสของผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ จะถูกดำเนินการในลำดับถัดไป การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ พิจารณาจากการใช้ไฟฟ้า เชื้อเพลิงฟอสซิล วัตถุดิบ และการจัดการของเสีย โดยแสดงผลในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2 equivalent)

ผลการประเมินจะถูกนำมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์กลางที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กำหนด กล่าวคือสินค้าและบริการจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอน โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน ต่อไปนี้

1. กระบวนการผลิตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเฉลี่ยตั้งแต่ร้อยละ 10 ขึ้นไป ระหว่างปี พ.ศ. 2545 ถึงปีล่าสุดที่ครบ 12 เดือน

หรือ 2. กระบวนการผลิตมีระบบผลิตไฟฟ้าจากวัสดุชีวมวลหรือจากของเสียเพื่อใช้ภายในโรงงาน โดยอาจซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตภายนอกได้ แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตสินค้า ทั้งนี้ จะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต (ยกเว้นเพื่อการเริ่มต้นเดินระบบผลิตไฟฟ้าและเพื่อการเคลื่อนย้ายสิ่งของภายในพื้นที่สถานประกอบการเท่านั้น) และไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากของเสีย (น้ำเสีย หรือ กากของเสีย/ขยะมูลฝอย)

หรือ 3. กรณีที่กระบวนการผลิตมีการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในภาคอุตสาหกรรมประเภทนั้นๆ คณะทำงานส่งเสริมการใช้ฉลากคาร์บอนจะพิจารณาเป็นกรณีไป หากผ่านเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งที่กำหนด สินค้าหรือบริการดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติเพื่อขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลของภาครัฐเป็นผู้รับรองการขึ้นทะเบียนฉลากดังกล่าว โดยในช่วงต้นของโครงการฯ ฉลากคาร์บอนมีเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นการสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนและผู้ประกอบการเรื่องการมีส่วนร่วมในการบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องการชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ

ทั้งนี้ ฉลากคาร์บอนจะแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบว่า สินค้าหรือบริการที่ได้รับการติดฉลากคาร์บอนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศน้อย หรืออีกนัยหนึ่ง คือสินค้าหรือบริการนั้นมีความเป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ (Climate friendly) และสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อนได้ ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนฉลากคาร์บอนโดยใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 2 เดือน หลังจากที่ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (เลขานุการโครงการฯ) ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนจากผู้ประกอบการ



ข้อดีสำหรับสินค้าที่ได้รับฉลากคาร์บอน : ก่อให้เกิดประโยชน์ใน 3 ภาคส่วนใหญ่ คือ

1. ภาคส่วนของผู้บริโภค จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้ประชาชนผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสภาพภูมิอากาศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

2. ภาคธุรกิจ จะได้รับประโยชน์ในมิติที่ว่า การลดก๊าซเรือนกระจกเป็นการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการต้องพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยลดการใช้ฟอสซิล เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งยังเป็นการแสดงภาพลักษณ์และเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม

3. ภาคสังคม หากผู้บริโภค ซึ่งเป็นภาคประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจ และสนับสนุนสินค้าหรือบริการที่ได้รับฉลากคาร์บอน ก็จะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตตระหนักและพิจารณาปรับปรุงกระบวนการผลิต รวมถึงการเข้าร่วมกับโครงการฉลากคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพของประเทศลดต่ำลง

ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการอนุมัติฉลากคาร์บอน : ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติฉลากคาร์บอนมีทั้งสิ้น 151 ผลิตภัณฑ์ จาก 37 บริษัท และยังมีหน่วยงานและบริษัทต่างๆ อีกหลายหน่วยงานที่ยื่นเสนอขอรับฉลากคาร์บอน และทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก็กำลังอยู่ในช่วงการประเมิน

แนวโน้มอนาคตตลาดฉลากคาร์บอนในประเทศไทย นับเป็นความโชคดีที่มีบริษัทต่างๆ ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก จึงเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการผลิตอาหาร และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของประเทศไทยอีกประเภทหนึ่ง ดังนั้น เราจึงมีตัวเลขที่ชัดเจนในกาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และต่อไปในอนาคตเราจะนำเสนอโครงการฉลากคาร์บอนออกสู่ต่างประเทศเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในระดับต่างประเทศด้วย




จาก ...................... ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ วันที่ 9 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #66  
เก่า 16-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


โลกร้อนเป็นเหตุ “น้ำท่วมใหญ่” ในรอบศตวรรษเกิดถี่ทุก 3-20 ปี


ภาพพายุเฮอร์ริเคนกำลังเข้าถล่มฝั่งตะวันออกของอเมริกาเมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา (NOAA/PhyOrg)

เมื่อเดือน ส.ค.ปีที่ผ่านมาเฮอร์ริเคน “ไอรีน” ได้พัดถล่มในแถบแคริบเบียนจนถึงฝั่งตะวันออกของอเมริกา ความรุนแรงจัดอยู่ในอันดับ 3 ที่พัดตีระดับน้ำจนสูงขึ้นและก่อให้เกิดพายุซัดเข้าสู่ฝั่งและท่วมข้ามกำแพงกั้นฝั่งลึกเข้าสู่พื้นที่ด้านในห่างจากชายฝั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านพายุหลายคนระบุว่า ผลกระทบที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้างนี้ทำให้เฮอร์ริเคนดังกล่าวเป็นภัยพิบัติในรอบ 100 ปี ที่ภายในหนึ่งศตวรษจะเกิดขึ้นเพียง 1 ครั้ง

หากแต่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) สหรัฐฯ และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตต์หรือเอ็มไอที (MIT)พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) จะทำให้เกิดพายุที่รุนแรงดังกล่าวจนเป็นเหตุดินถล่มถี่ขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เกิดพายุซัดเข้าสู่ฝั่งหรือสตอร์มเซิร์จ (storm surge) ที่รุนแรงทุกๆ 3-20 ปี

ทาง PhysOrg.com ระบุว่า ทางกลุ่มวิจัยได้จำลองพายุนับหมื่อลูกภายใต้สภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน และพบว่าน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นทุก 500 ปี นั้นจะเกิดถี่ขึ้นทุก 25-240 ปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพวกเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยนี้ลงวารสารเนเจอร์ไคลเมตแชงจ์ (Nature Climate Change)

ทางด้าน ดร.นิง ลิน (Ning Lin) นักวิจัยหลังปริญญาเอกของเอ็มไอทีซึ่งเป็นหัวหน้าทีมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า การทราบถึงความถี่ของสตอร์มเซิร์จอาจช่วยนักวางแผนเมืองและชายฝั่งในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันภัยธรรมชาตดังกล่าวที่จะเกิดขึ้น ซึ่งในการออกแบบเขื่อนหรือกำแพงป้องกันนั้นจำเป็นต้องทราบว่าเราควรจะสร้างให้มีความสูงเท่าไรเพื่อป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นทุกๆ 20 ปี

ทั้งนี้ ดร.ลินและทีมวิจัยได้ใช้เหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กเป็นกรณีศึกษา โดยพวกเขาได้ศึกษาแบบจำลองภูมิอากาศ 2 แบบ คือ การศึกษาภายใต้เงื่อนไขของภูมิอากาศปัจจุบันระหว่างปี 1981-2000 และเงื่อนไขของภูมิอากศในอนาคตระหว่างปี 2081-2100 ซึ่งเป็นการทำนายภายใต้การคาดการณ์ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือไอพีซีซี (IPCC) ซึ่งพวกได้พบว่ามีความถี่ที่จะเกิดพายุรุนแรงเพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สำหรับน้ำท่วมรุนแรงในรอบ 100 ปี คือ น้ำท่วมจากพายุที่สูงเฉลี่ย 2 เมตร ส่วนพายุรุนแรงในรอบ 500 ปีคือน้ำท่วมจากพายุซัดสูง 3 เมตร แต่เมื่อทีมวิจัยเพิ่มปัจจัยเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแบบจำลองแล้วพบว่า น้ำท่วมจากการซัดของพายุสูง 2 เมตรจะเกิดถี่ขึ้นทุกๆ 3-20 ปี ส่วนน้ำท่วมสูง 3 เมตรจะเกิดถี่ขึ้นทุก 25-240 ปี ซึ่ง ดร.ลินกล่าวว่า ในปี 1821 เกิดน้ำท่วมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐฯ โดยท่วมสูงถึง 3.2 เมตร และปัจจุบันยังเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบ 500 ปี




จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #67  
เก่า 21-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"อาเซียน"เดือดขึ้น 4 องศา ไทย-เพื่อนบ้านสาหัส!




ด้วยอากาศร้อนๆหนาวๆ แบบภาวะโลกไร้สมดุลที่บังเอิญเกิดขึ้นพอดิบพอดีในปี 2012 เล่นเอาคนทั่วโลกหวั่นวิตก

กลัวว่าคำทำนายของชนเผ่ามายันโบราณจะกลายเป็นจริงขึ้นมา

ต่อให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยชั้นนำออกมาระบุว่าโลกไม่ได้แตกง่ายๆ อย่างที่คิด

แต่มันก็น่าสงสัยอยู่ไม่ใช่น้อยว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากโลกกลมๆใบนี้ ต้องถึงกาลอวสานจริงๆ?

จากข้อกังขากระหึ่มโลกดังกล่าว ทำให้กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กรมอุตุนิยมวิทยาสหราชอาณาจักร และ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์" ได้ไอเดียตอบโจทย์ของคำถามคาใจให้ชัดๆกันไปเลย

วิธีการก็คือ จัดทำแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" (แผนที่ 4 องศาเซลเซียส) แบบอินเตอร์แอ๊กทีฟ เพื่อแสดงผลกระทบซึ่งจะเกิดขึ้นบนโลก หากอุณหภูมิเดือดไต่ระดับขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส เกินค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

โดยเน้นเจาะลึกถึงความเปลี่ยนแปลงบนทวีป "เอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ของเรา

ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตอาหารระดับครัวโลก

นายจอห์น เพียร์สัน หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อธิบายระหว่างงานเปิดตัว "4 ดีกรี แม็ป" ณ สถานเอกอัครราช ทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ว่า

"จากแผนที่นี้ จะเห็นได้ว่ามีวงแหวนหลากสีหลายขนาดล้อมอยู่รอบๆ พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแบ่งแยกปัญหาที่อาจตามมาจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในแต่ละพื้นที่ ซึ่งประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงพม่า กัมพูชา ลาวและเวียดนาม มีแนวโน้มว่าจะร้อนขึ้นสูงสุด ที่ 5 องศาเซลเซียส

"ขณะที่ภาคกลางตอนล่างของไทยเรื่อยไปจนถึงภาคตะวันตกบริเวณอ่าวไทย จะเพิ่มขึ้น 4 องศาเซลเซียส ประเทศมาเลเซียโดยรวมจะอยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส อินโดนี เซียและบรูไน จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 5-6 องศาเซลเซียส ส่วนฟิลิปปินส์จะเฉลี่ย ราว 3 องศาเซลเซียส" เพียร์สันกล่าว

เรียกได้ว่าถ้าเกิดอุณหภูมิสูงขึ้นขนาดนั้นจริง จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูก การประมง แหล่งน้ำและการใช้ชีวิตของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!

เพียร์สันระบุว่า เมื่อคลิกดูตาม "ไอคอน" ในแผนที่ สิ่งแรกซึ่งเราจะต้องเจอเลย คือ

การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและปริมาณน้ำฝน

รวมถึงพายุฤดูร้อน พายุไซโคลนและไต้ฝุ่น ที่จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

โดยฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะถูกพายุพัดกระหน่ำแบบทั่วถึงทั้งเกาะตลอดปี

แถมด้วยปรากฏการณ์ "เอลนิโญ่" และ "ลานิญ่า" ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของพายุหลงฤดู ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงไปตามสภาพอากาศที่ปรวนแปร ส่งผลให้บางประเทศมีฝนตกชุกและพายุเข้า

ขณะที่อีกประเทศแทบจะไม่มีฝนและร้อนแห้งแล้ง กลายเป็นภาวะน้ำท่วมน้ำขาดแบบไม่รู้จบ

ผลลัพธ์ที่ตามมาติดๆ เมื่ออุณหภูมิโซนอาเซียนพุ่งสูงขึ้น ก็คือข้อจำกัดในการประกอบอาชีพ

โดยเฉพาะพืชผลทางการเกษตรที่ไม่สามารถทนต่ออุณหภูมิของ "น้ำ" ซึ่งร้อนขึ้น

ประกอบกับความเป็นไปได้ของอุณหภูมิโดยรวมที่จะสูงเกินกว่า 35 องศาเซลเซียส ในช่วงฤดูร้อนและปลายฝน ทำให้ผลผลิตแห้งตายและไม่เพียงพอต่อการบริโภค กระทบต่อความสามารถในการส่งออกข้าวของประเทศไทย ที่ไม่เพียงบั่นทอนเศรษฐกิจภายใน แต่อาจนำไปสู่ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของคนทั่วโลกได้

นั่นยังไม่รวมถึงปัญหาขาดแคลน "ที่ทำกิน" เนื่องจากพื้นที่ราบลุ่มบางส่วนมีโอกาสถูกน้ำท่วมจนมิด

ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ ถ้าดูจาก "แผนที่ 4 องศา" จะพบว่า ในปี 2654 จะกลายสภาพเป็นเมืองบาดาล เพราะถูกน้ำทะเลซึ่งสูงขึ้นราว 65 เซนติเมตร ไหลเข้าท่วมทั่วทั้งกรุงที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร

เช่นเดียวกับชะตากรรมของกรุงมะนิลา จาการ์ตา โฮจิมินห์ซิตี้และชายฝั่งติดทะเลของสิงคโปร์

ขณะที่ผลกระทบด้าน "การประมง" ก็มีปัญหาไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะน้ำทะเล น้ำจืดและน้ำกร่อย ต่างก็มีจุดเดือดและความเป็นกรดเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

จนทำให้สัตว์น้ำและพืช ซึ่งไวต่อการเปลี่ยนแปลง ส่อเค้าล้มตายและเสี่ยงสูญพันธุ์เป็นวงกว้าง

กลายเป็นวิกฤตล้มละลายของการประมง ซึ่งยากจะแก้ให้กลับมาเหมือนเดิม!

นอกจากนี้ สุขภาพของมนุษย์ก็จะย่ำแย่ลง เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมีผลต่อคุณภาพของอากาศ

โดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ อย่างกรุงเทพฯ จาการ์ตาและมะนิลา ที่มีมลพิษมากอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าขั้นอันตรายจนมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตในเมืองได้อีก

สภาพอากาศร้อนผิดธรรมชาติ ยังสามารถเป็นต้นเหตุก่อโรคภัยไข้เจ็บ ทั้งลมแดด ความเครียด ระบบไหลเวียนเลือดบกพร่องและโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ

เนื่องจากความร้อนเอื้อประโยชน์ต่อการขยายพันธุ์ของแมลง ทำให้โรคมาลาเรียและไข้เลือดออกมีโอกาสแพร่กระจายไปทั่วภูมิภาค

"ดังนั้นหากจะพูดว่าภาวะโลกร้อนขึ้น คือ จุดจบของโลก ส่วนตัวขอบอกเลยว่าเห็นด้วย เพราะผลกระทบของมันสร้างความเดือดร้อนต่อเนื่องเป็นห่วงโซ่ไม่มีที่สิ้นสุด เรียกได้ว่าถึงโลกจะไม่แตก แต่ความเป็นจริงมันก็เลวร้ายพอๆ กับความรู้สึกของการตกอยู่ในสภาวะจำยอมและไร้ทางออก

"แต่ผมไม่ได้บอกว่าโลกจะต้องร้อนขึ้น 4 องศาเซลเซียสและทุกประเทศจะลงเอยที่ความแร้นแค้นเหมือนกัน หรือโลกต้องแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" คือการรวบรวมข้อมูลทางสภาพอากาศและการเปลี่ยนแปลง จากการจำลองความน่าจะเป็นทั้ง 34 รูปแบบ แล้วจึงนำทฤษฎีเหล่านี้ไปทดสอบหาผลลัพธ์ถึง 24 ครั้ง จนเราสามารถระบุปัญหาที่คาดว่าจะตามมากับความร้อนเฉลี่ย ที่ 4 องศาเซลเซียส เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนได้เห็นผลจากการกระทำของพวกเราทุกๆคน และตระหนักว่ามันถึงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเสียที

"หลายคนถามผมว่าทำไมโลกถึงร้อนขึ้นแต่กลับไม่เย็นลง ทั้งที่เราเคยผ่านช่วงเวลาใน "ยุคน้ำแข็ง" มาแล้ว อย่างที่ผมกล่าวคือข้อมูลของโลกในยุคหลัง แสดงให้เห็นวิถีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่อากาศจะร้อนขึ้นมากกว่า แต่ไม่ใช่ว่ายุคน้ำแข็งจะไม่มีโอกาสกลับมาอีกครั้ง ตราบใดที่โลกของเราหมุนรอบตัวเอง รอบดวงอาทิตย์และวัฏจักรของจักรวาลยังวนเวียนอยู่ในลักษณะนี้ ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ทั้งดิน น้ำ ฟ้าและอากาศ ก็ย่อมไม่สามารถทำนายทายถูกได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์เป๊ะๆ

"ผมว่าเราน่าจะกังวลกับปัจจุบันและอนาคตอันใกล้มากกว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือเชื่อทฤษฎีสร้างความแตกตื่นที่เน้นทำให้คนกลัวโดยไม่มีเหตุผล จนกลายเป็นกระแสโลกแตกไร้สาระอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นต้นตอสร้างความแตกแยกของกลุ่มคนที่เห็นด้วยและอีกพวกที่เมินเฉย

"ทั้งที่เราทุกคนรู้อยู่แล้วว่าโลกนี้มันร้อนขึ้นได้อย่างไร เราแค่ต้องเปิดใจและแก้ไข ไม่ใช่รู้แต่ไม่ทำ"

เพียร์สัน เตือนอย่างดุดันว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งตัวเราเองไล่ขึ้นไปถึงระดับรัฐบาลและประชาคมโลก ต้องลงมือแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง!

หัวหน้าเครือข่ายงานด้านการเปลี่ยน แปลงภูมิอากาศของรัฐบาลอังกฤษ ประจำภูมิภาคอาเซียน กล่าวด้วยว่า

ทุกวันนี้เรามีความร่วมมือว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

แต่ประเทศที่ยังห่วงอุตสาหกรรมกลัวว่าเศรษฐกิจจะมีผลกระทบก็ยังมีให้เห็นอยู่มาก

จริงๆ แล้วการแก้ไขเรื่องนี้นั้นง่ายที่สุด เพราะเครื่องมือที่เราทุกๆ คน มีอยู่แล้ว คือ "คอมมอนเซนส์" (สามัญสำนึก) ในการพิจารณาเอาเองว่าอะไรคือการเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ อะไรคือการกระทำที่จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของภาวะโลกร้อน สิ่งไหนดี ไม่ดี เราตอบได้หมด

เหลือแค่ว่าเมื่อไหร่จะลงมือทำอย่างจริงจังเสียที

อยากให้ทุกคนได้ใช้แผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" เพื่อหาคำตอบให้ตัวคุณเองว่าพร้อมหรือยังที่จะรับมือกับผลกระทบของอุณหภูมิซึ่งจะร้อนขึ้น อีก 4 องศา

ลองไปอ่านดูว่าโลกของเราจะเป็นอย่างไร

จุดไหนที่มี "ไอคอน" บอกความเสี่ยง ก็ลองคลิกเพื่อศึกษาข้อมูลลิงก์จากเว็บไซต์ของ "ฮาร์ดลีย์ เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีคลิปวิดีโอประกอบข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มีข้อมูลของโครงการป้องกันและรู้ทันปัญหาโลกร้อน มีผลวิจัยและรายละเอียด แบบเจาะลึก

"ถ้าศึกษาแล้วคิดว่ารับไม่ได้ ก็เปลี่ยนการใช้ชีวิต เริ่มจากสิ่งเล็กๆที่ทำได้ ก่อนจะเดินหน้าช่วยกันเปลี่ยนแปลงระดับโลก แน่นอนว่ามันเป็นโครงการระยะยาว ต้องใช้เวลานานกว่าจะโน้มน้าวคนทั้งโลกได้ อาจจะเป็นสิบๆ ปี หรือเป็นศตวรรษ เราอาจทำสำเร็จ หรือทำไม่ได้เลย แต่การได้ลองเสี่ยงดูสักตั้ง ก็ยังดีกว่าตื่นมาเจอกับวิกฤต แล้วนั่งโทษตัวเองว่าทำไมถึงไม่ทำ" เพียร์สัน อธิบายทิ้งท้าย

สำหรับแผนที่ "4 ดีกรี แม็ป" รับข้อมูลได้ผ่านเว็บไซต์ของสถานทูตอังกฤษ http:// ukinthailand.fco.gov.uk/en/news/?view= PressR&id=723765782




จาก ........................ ข่าวสด วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #68  
เก่า 21-02-2012
สายชล's Avatar
สายชล สายชล is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
สถานที่: Bangkok
ข้อความ: 9,160
Default



ลดโลกร้อน...เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชาวโลกแล้ว ก่อนที่จะสายเกินไป โดยให้เริ่มที่ตัวเราก่อน อย่าง "สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า 'รักษ์' ที่พวกเราชาว sos ได้เริ่มกันไว้แล้ว

__________________
Saaychol
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #69  
เก่า 29-02-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"แรงลม" ผลพวงโลกร้อน เรียนรู้เข้าใจ...ลดภัยพิบัติ



หลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนคนไทยเริ่มตื่นตัวกับปัญหาภัยธรรมชาติ บทเรียนครั้งนั้นสร้างความเสียหายมากมายต่อสภาพจิตใจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนหลายคน น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้อง เรียนรู้เพื่ออยู่กับธรรมชาติอันแปรเปลี่ยนอย่างเข้าใจ ซึ่ง ’ลม” ถือเป็นหนึ่งในทรัพยากร ธรรมชาติที่ถูกมองข้าม ทั้งๆที่ความจริงแล้วมีผลต่อการกินอยู่หลับนอน จนถึงการทำเกษตรกรรม

สมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ความเห็นว่า ลมเป็นสิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจ หลายครั้งเมื่อมีการพยากรณ์อากาศเกี่ยวกับลมหลายคนยังไม่เข้าใจ และตื่นกลัวกับข่าวลือต่างๆ ก่อนอื่นต้องเข้าใจถึงการเกิดลมซึ่งลม เกิดจากการเคลื่อนตัวของอากาศโดยนำมวลอากาศจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ในลักษณะของความกดอากาศสูงเข้าหาพื้นที่ความกดอากาศต่ำ โดยทางอุตุนิยมวิทยาพิจารณาว่า ลมที่พัดมาจากทางไหน นำอะไรมากับลม และจะทำให้พื้นที่เกิดอะไรขึ้น!

โดยธรรมชาติลักษณะลมทั่วโลกจะหมุนตามเข็มนาฬิกาคือ เมื่อเกิดลมเหนือต่อมาก็จะเกิดลมตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือหมุนไปอย่างนี้ทำให้เกิดสภาพอากาศและฤดูต่าง ๆ สิ่งที่คนไทยควรทำความเข้าใจคือ ลมประจำฤดูเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดสภาพอากาศต่างๆ โดย

1. ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ กำเนิดจากเขาสูงในประเทศจีนซึ่งหนาวตลอดปี เมื่อมาถึงไทยทำให้เกิดฤดูหนาวช่วงกลางเดือนตุลาคม–กลางเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี

2. ลมตะวันออกเฉียงใต้ แหล่งกำเนิดจากทะเลจีนใต้ตอนล่าง เกิดจากลมสามกระแสทำให้แปรปรวนไม่ชัดเจนในบางครั้ง ขณะเดียวกันช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะหันเข้าหาพระอาทิตย์ ทำให้เกิดอากาศร้อนในกลางเดือนกุมภาพันธ์–กลางเดือนพฤษภาคม

3. ลมตะวันตกเฉียงใต้ แหล่งกำเนิดมาจากซีกโลกใต้ทางออสเตรเลีย และมหาสมุทรอินเดียทำให้เกิดฝน

จะเห็นได้ว่าลมที่เกิดและผ่านพื้นที่ต่างๆ ย่อมนำพาสภาพอากาศแตกต่างกัน โดยลมที่มาจากทะเลจะทำให้มีอากาศอุ่นชื้น ส่วนลมที่มาจากพื้นดินจะเย็นและแห้ง ขณะเดียวกันการเกิดลมจะแรงหรือเบาเกิดจากความกดอากาศที่ถ้าแตกต่างกันมากลมจะพัดรุนแรง แต่ถ้าความกดอากาศไม่ต่างกันมากลมจะพัดเบาๆ

ภาวะโลกร้อน เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อลมประจำถิ่น อย่างปีที่ผ่านมามีลมตะวันออกเฉียงใต้มากกว่าปกติซึ่งนำพาความชื้นเข้ามา เหตุจากแหล่งกำเนิดได้รับผลกระทบอย่างธารน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือและทะเลต่างๆ ปกติพลังงานแสงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลก 100 เปอร์เซ็นต์ จะสะท้อนกลับไปยังชั้นบรรยากาศ 53 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 47 เปอร์เซ็นต์ ส่องมาถึงพื้นที่โลกและพอกลางคืนเปลี่ยนเป็นคลื่นยาวเพื่อคลายตัวออกสู่ชั้นบรรยากาศนอกโลก แต่ด้วยสภาวะปัจจุบันที่ชั้นบรรยากาศมีคาร์บอนมากจากการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ทำให้คลื่นยาวเหล่านั้นออกไปยังนอกโลกไม่ได้ ทำให้โลกเกิดสะสมพลังงานความร้อนขึ้นเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อพื้นดินและน้ำอันเป็นแหล่งกำเนิดของลม ตอนนี้มีผลกระทบแค่ลมประจำถิ่นซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ยังไม่กระทบร้ายแรงถึงขั้นที่มนุษย์ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง

“ปีนี้คาดว่าลมปกติดีในภาพรวม อาจมีเปลี่ยนแปลงบ้างบางช่วงเวลา เช่น ปีก่อนลมตะวันออกเฉียงเหนือที่นำอากาศหนาวมาเร็วกว่าปกติและอยู่นานอย่างที่หลายคนไม่คาดคิด ปกติลมประจำถิ่นพวกลมบก, ลมทะเลหรือลมภูเขา ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นมีการสังเกตและรู้ถึงทิศทางลมที่เปลี่ยนไปจึงไม่น่าห่วง สำหรับลมประจำฤดูเป็นลมภาพรวมใหญ่อนาคตอาจมีเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามภาวะผลกระทบที่เกิดขึ้น”



คนทั่วไปจะดูทิศทางลมเพื่อทำนายการเกิดอากาศสามารถทำได้ แต่ต้องเข้าใจภูมิศาสตร์ที่ตรงนั้นว่าทิศที่ลมพัดมาผ่านภูเขาหรือทะเลอย่างไร โดยดูจากยอดไม้ขนาดสูงในที่โล่งซึ่งไม่มีตึกสูงบัง การคาดเดาลมส่วนใหญ่ถ้าอยู่ในเมืองตึกสูงหนาแน่นไม่สามารถคาดเดาได้อย่างชัดเจน ถ้าอยู่บนเขาหรือในทะเลสามารถคาดเดาได้ดีกว่า ขณะเดียวกันลมที่พัดแรงไม่สามารถบอกได้ว่าฝนกำลังจะตกแรงหรือเบาเพราะขึ้นอยู่กับความกดอากาศ เวลาฟังกรมอุตุฯ บอกเรื่องลมส่วนใหญ่จะเน้นบอกสำหรับคนที่เดินเรือ โดยลมที่เริ่มมีความรุนแรงอยู่ที่ 20–40 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป

อยากฝากถึงประชาชนว่าถ้า หากมีความเข้าใจถึงการเกิดลมและจะนำสิ่งใดมาย่อมทำให้ท่านสามารถเตรียมตัวพร้อมรับมือได้อย่างไม่วิตกกังวล การศึกษาสามารถเรียนได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์กรมอุตุฯ หรือจากการฟังพยากรณ์อากาศและสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น

ลมค่อนข้างไกลตัวในการดูแลรักษา และจะมองในส่วนของการนำลมมาเป็นพลังงานเพื่อใช้ไฟฟ้ามากกว่า เพราะต่อไปพลังงานที่นำมาผลิตไฟฟ้าจะลดลง ซึ่งลมเป็นพลังงานสะอาดที่ต้องเร่งศึกษานำมาทดแทนสิ่งที่กำลังหมดไป นอกจากนี้ครอบครัวสามารถให้เด็กเรียนรู้ผ่านสภาพอากาศได้ โดยพ่อแม่เองต้องมีความเข้าใจก่อน แล้วให้ลูกสังเกตสภาพต้นไม้ในฤดูต่างๆ หรือพฤติกรรมสัตว์ พอเด็กจดจำไปเรื่อยๆ จะเกิดการเรียนรู้และคาดเดาได้ถึงสภาพอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปนั่งเรียนในห้องเลยก็ได้

ลมเป็นอีกธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเร่งทำความเข้าใจ เพื่อไม่ปล่อยให้ข่าวลือทำลายความเชื่อมั่นในจิตใจของคนในสังคม.


.................................................................................





รอบรู้เรื่องลมประจำถิ่นที่เปลี่ยนแปลง

1. ลมภูเขา บริเวณภูเขาในขณะที่มีระบบลมอ่อน ลมมักพัดลงตามลาดของภูเขาในเวลากลางคืน และพัดขึ้นลาดภูเขาในเวลากลางวัน เพราะเวลากลางคืนตามบริเวณภูเขาที่ระดับสูง มีอากาศเย็นกว่าตามที่ต่ำ ความแน่นของอากาศในที่สูงจึงมีมากกว่าในระดับต่ำลมจึงพัดลงตามเขาเราเรียกลมนี้ว่า ลมภูเขา

ลมหุบเขา เวลากลางวันดวงอาทิตย์แผ่รังสีให้แก่ภูเขา และหุบเขาทำให้อุณหภูมิมีระดับสูง โดยเฉพาะยอดเขาจะสูงกว่า อุณหภูมิตามที่ต่ำ หรือหุบเขา ความแน่นของอากาศในระดับสูงจึงน้อยกว่า และลอยตัวสูงขึ้น ฉะนั้นอากาศจากที่ต่ำหรือหุบเขา จึงพัดขึ้นไปแทนที่เราเรียกว่า ลมหุบเขา

ลมหุบเขา จะเกิดขึ้นในเวลากลางวัน โดยอากาศตามภูเขาและลาดเขาจะร้อน เพราะได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์เต็มที่อากาศบริเวณใกล้ภูเขาระดับความสูงเดียวกัน ซึ่งมีความเย็นกว่าจึงเคลื่อนไปเข้าแทนที่ทำให้มีลมพัดไปตามลาดเขาขึ้นสู่เบื้องบน ส่วนลมภูเขา เกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยอากาศตามภูเขาและลาดเขาจะเย็นลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการถ่ายโอนความร้อนออก อากาศตามลาดเขาที่เย็นและหนักกว่าอากาศบริเวณใกล้เคียงจึงเคลื่อนไปตามลาดเขาสู่หุบเขาเบื้องล่าง


2. ลมทะเล ในเวลากลางวันพื้นดินรับความร้อนได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศเหนือพื้นดิน มีอุณหภูมิสูงกว่า อากาศเหนือพื้นน้ำ เป็นผลให้อากาศเหนือพื้นน้ำมีความกดอากาศสูงกว่าเคลื่อนที่เข้าหาบริเวณพื้นดิน ที่มีความกดอากาศต่ำกว่าหรือเกิดลมพัดจากทะเลเข้าหาฝั่งในเวลากลางวัน

ลมบก ในเวลากลางคืนพื้นดินคลายได้เร็วกว่าพื้นน้ำ ทำให้อากาศเหนือพื้นดินมีอุณหภูมิต่ำกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ หรืออากาศเหนือพื้นดินมีความกดอากาศสูงกว่าอากาศเหนือพื้นน้ำ เป็นผลให้อากาศเหนือพื้นดินที่มีความกดอากาศสูงกว่าเคลื่อนที่เข้าหาพื้นน้ำที่มีความกดอากาศต่ำกว่า หรือเกิดลมพัดจากบนบกออกสู่ฝั่งทะเลในเวลากลางคืนนั่นเอง.




จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #70  
เก่า 26-07-2012
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


“น้ำแข็งกรีนแลนด์” ละลายฉับพลันรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี


ภาพภูเขาน้ำแข็งแตกตัวจากธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ของกรีนแลนด์เมื่อ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา (นาซา/บีบีซีนิวส์)

นาซาระบุแผ่นน้ำแข็งยักษ์ของกรีนแลนด์ที่ละลายฉับพลันในเดือนนี้กินพื้นที่ใหญ่กว่าปกติ ด้านนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การละลายน้ำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งกินพื้นที่กว้างที่สุดเท่าที่มีการบันทึกโดยการสำรวจผ่านดาวเทียมในช่วง 3 ทศวรรรษที่ผ่านมา

เหตุแผ่นน้ำแข็งยักษ์ละลายนี้เกิดขึ้นที่ “ฐานซัมมิท” (Summit station) ซึ่งเป็นจุดสูงสุดและหนาวเย็นที่สุดของกรีนแลนด์ โดยการละลายของแผ่นน้ำแข็งพุ่งจาก 40% เป็น 97% ในเวลาเพียง 4 วันนับจากวันที่ 8 ก.ค.2012 ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าทุกฤดูร้อนแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์กว่าครึ่งจะละลายเป็นปกติอยู่แล้ว

หากแต่บีบีซีนิวส์รายงานว่าทั้งความเร็วและขนาดของการละลายที่พุ่งพรวดในปีนี้ก็สร้างความประหลาดใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้นิยามปรากฏการณ์นี้ว่า “ไม่ปกติ” อย่างมาก โดยองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ (นาซา) กล่าวว่าน้ำแข็งเกือบทั้งหมดที่ปกคลุมกรีนแลนด์ครอบคลุมตั้งแต่บริเวณที่มีน้ำแข็งบางที่สุดบริเวณชายฝั่งไปถึงศูนย์กลางของเกาะซึ่งหนา 3 กิโลเมตรเกิดการละลายที่ชั้นผิว

วาลีด อับดาลาติ ( Waleed Abdalati) นักวิทยาศาสตร์อาวุโสของนาซา กล่าวว่าเมื่อเราได้เห็นการละลายในจุดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรืออย่างน้อยก็นานแล้วที่ไม่ได้เห็นเช่นนี้ ทำให้เราต้องลุกข้นมาถามว่า “เกิดอะไรขึ้น?” ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นสัญญาณสำคัญ เพราะน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเป็นวงกว้างเช่นนี้ เกิดขึ้นโดยที่เรายังไม่สามารถประเมินได้ว่าเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติแต่นานเกิดขึ้นที หรือเป็นผลพวงจากภาวะโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น


ภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาเผยน้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายอย่างรวดเร็ว โดยในภาพซ้ายยังมีน้ำแข็งให้เห็นอยู่ในวันที่ 8 ก.ค. แต่หลังจากนั้นเพียง 4 วัน น้ำแข้งก็ละลายหมด (รอยเตอร์/บีบีซีนิวส์)

นักวิทยาศาสตร์เชื่อน้ำแข็งของกรีนแลนด์จำนวนมากจะกลับมาแข็งตัวอีกครั้ง และหากไม่นับเหตุการณ์นี้ข้อมูลที่ดาวเทียมสำรวจไว้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้น พบว่ามีน้ำแข็งละลายมากที่สุด 55% ของพื้นที่น้ำแข็งทั้งหมด ส่วนข้อมูลจากแกนน้ำแข็งยังเผยด้วยว่าครั้งล่าสุดที่น้ำแข็งละลายที่ฐานซัมมิทคือเมื่อปี 1889

ข่าวนี้ตามหลังการเผยภาพถ่ายดาวเทียมของนาซาที่แสดงให้เห็นภูเขาน้ำแข็งที่มีขนาดใหญ่กว่าเมืองแมนฮัตตันถึง 2 เท่า แตกออกจากธารน้ำในกรีนแลนด์ไม่กี่วัน ซึ่ง ทอม แวกเนอร์ (Tom Wagner) จากนาซากล่าวว่า เหตุการณ์น้ำแข็งละลายฉับพลันนี้ยังรวมเข้ากับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่ปกติอื่นๆ อีก อย่างเช่นเหตุการแตกของธารน้ำแข็งปีเตอร์มันน์ (Petermann Glacier) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่ซับซ้อน



จาก ..................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:27


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger