เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > Main Category > ห้องรับแขก

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #61  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


คู่มือรับวิกฤตอุทกภัย การปฏิบัติตัวหลังน้ำลด



วิกฤตอุทกภัยหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ไล่มาตั้งแต่ภาคเหนือ อีสาน กลาง และคาดว่าจะไล่ลุกลามเข้าสู่ภาคใต้ด้วยอิทธิพลของพายุต่างๆ

คนไทยต้องตั้งรับ รับมือ สู้กับมหาภัยน้ำท่วมครั้งนี้อย่างไร ข้อมูลจาก "คู่มือรับสถานการณ์น้ำท่วม" ซึ่งจัดทำโดยหน่วยวิจัยภัยพิบัติทางธรรมชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความรู้เอาไว้ดังนี้

เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่น้ำท่วม โดยทางรัฐและหน่วยงานที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องกระทำการป้องกันและฟื้นฟู ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญก่อน อาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนได้อย่างทันที ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีความพร้อมในการเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยที่จะเกิดขึ้นได้


การเตรียมการก่อนน้ำท่วม

การป้องกันตัวเองและความเสียหายจากน้ำท่วม ควรเตรียมการไว้ล่วงหน้า เพราะหากรอให้เตือนภัยเวลามักไม่เพียงพอ รู้จักกับภัยน้ำท่วมของคุณ สอบถามหน่วยงานที่มีการจัดการด้านน้ำท่วม ด้วยคำถามดังต่อไปนี้

- ภายในละแวกใกล้เคียงในรอบหลายปี เคยเกิดน้ำท่วมสูงที่สุดเท่าไร

- เราสามารถคาดคะเนความเร็วน้ำหรือโคลนได้หรือไม่

- เราจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนที่น้ำจะมาถึงเป็นเวลาเท่าไหร่

- เราจะได้รับการเตือนภัยอย่างไร

- ถนนเส้นใดบ้างในละแวกนี้ที่จะถูกน้ำท่วมหรือจะมีสิ่งกีดขวาง


การทำแผนรับมือน้ำท่วม

การจัดทำแผนรับมือน้ำท่วม จะช่วยให้คุณนึกถึงสิ่งต่างๆ ที่จะต้องทำหลังได้รับการเตือนภัยเดินสำรวจทั่วทั้งบ้านด้วยคำแนะนำที่กล่าวมา พร้อมทั้งจดบันทึกด้วยว่าจะจัดการคำแนะนำอย่างไร ในช่วงเวลาที่ทุกๆคนเร่งรีบและตื่นเต้นเนื่องจากภัยคุกคาม สิ่งที่สำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือ หมายเลขโทรศัพท์ต่างๆ ที่สำคัญไว้ในแผนด้วย

ถ้าคุณมีเวลาเล็กน้อยหลังการเตือนภัย สิ่งที่ต้องทำและมีในแผน คือ

- หาทางรับสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน และข้อมูลจากสถานีวิทยุ หรือสถานีโทรทัศน์ที่รายงานสถานการณ์

- จัดทำรายชื่อสถานที่ 2 แห่งที่สมาชิกในครอบครัวสามารถพบกันได้หลังจากพลัดหลงโดยสถานที่แรกให้อยู่ใกล้บริเวณบ้านและอีกสถานที่อยู่นอกพื้นที่ที่น้ำท่วมถึงระดับการเตือนภัยน้ำท่วม


สิ่งที่ควรทำหลังจากได้รับการเตือนภัยจากหน่วยงานด้านเตือนภัยน้ำท่วม

1.ติดตามการประกาศเตือนภัยจากสถานีวิทยุท้องถิ่น โทรทัศน์หรือรถแจ้งข่าว

2.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและคุณอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฏิบัติดังนี้

- ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

- อย่าพยายามนำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป ให้คิดว่าชีวิตสำคัญที่สุด

- อย่าพยายามวิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก

3.ดำเนินการตามแผนรับมือน้ำท่วมที่ได้วางแผนไว้แล้ว

4.ถ้ามีการเตือนภัยการเฝ้าระวังน้ำท่วมจะยังมีเวลาในการเตรียมแผนรับมือน้ำท่วม

5.ถ้ามีการเตือนภัยน้ำท่วมและคุณอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง ควรปฏิบัติดังนี้

- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊สถ้าจำเป็น

- อุดปิดช่องน้ำทิ้งอ่างล้างจาน

- ปิดพื้นที่ห้องน้ำและสุขภัณฑ์ที่น้ำสามารถไหลเข้าบ้าน

- ล็อกประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง

- ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงาน

6.หากบ้านพักอาศัยของคุณไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน

- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน

- ปิดแก๊สหากคาดว่าน้ำจะท่วมเตาแก๊ส

- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน

- ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน เมื่อมีน้ำท่วมถึงบ้าน


น้ำท่วมฉับพลันคือ น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากในบริเวณที่ลุ่มต่ำ ในแม่น้ำ ลำธารหรือร่องน้ำที่เกิดจากฝนที่ตกหนักมากติดต่อกันหรือจากพายุฝนที่เกิดซ้ำหลายครั้ง น้ำป่าอาจเกิดจากที่สิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์ เช่น เขื่อนหรือฝายพังทลาย

- ถ้าได้ยินการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันให้วิ่งไปบนที่สูงทันที

- ออกจากรถและที่อยู่ คิดอย่างเดียวว่าต้องหนี

- อย่าพยายามขับรถหรือวิ่งย้อนกลับไปทางที่ถูกน้ำท่วม


ปลอดภัยไว้ก่อนเมื่ออยู่นอกบ้าน

- ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหล

มีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตจากจมน้ำตายในขณะที่น้ำกำลังมา ความสูงของน้ำแค่ 15 ซ.ม. ก็ทำให้เสียหลักล้มได้ ดังนั้น ถ้ามีความจำเป็นต้องเดินผ่านที่น้ำไหลให้ลองนำไม้จุ่มเพื่อวัดระดับน้ำก่อนทุกครั้ง

- ห้ามขับรถในพื้นที่ที่กำลังโดนน้ำท่วม

การขับรถในพื้นที่ที่น้ำท่วมมีความเสี่ยงสูงมากที่จะจมน้ำ หากเห็นป้ายเตือนตามเส้นทางต่างๆ ห้ามขับรถเข้าไปเพราะอาจมีอันตรายข้างหน้า น้ำสูง 50 ซ.ม. พัดรถยนต์ จักรยานยนต์ให้ลอยได้

- ห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ

กระแสไฟฟ้าสามารถวิ่งผ่านได้ เมื่อเกิดน้ำท่วมแต่ละครั้งจะมีผู้เสียชีวิต เนื่องจากไฟดูดมากกว่าสาเหตุอื่นๆ เมื่อเห็นสายไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุดเสียหายกรุณาแจ้ง 191 หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


หลังน้ำท่วมผ่านพ้น

3 ขั้นตอนที่ควรทำในวันแรกๆ หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วม

ขั้นตอนที่ 1 : เอาใจใส่ตัวเอง

หลังผ่านเหตุการณ์น้ำท่วม คุณและครอบ ครัวอาจเกิดความซึมเศร้า และต้องใช้เวลากลับสู่ภาวะปกติ อย่าลืมว่าเหตุการณ์น้ำท่วมนั้นอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหาย คุณต้องดูแลตัวเองและครอบครัว พร้อมกับการบูรณะบ้านให้กลับมาเหมือนเดิม อุปสรรคที่สำคัญคือ ความเครียด รวมทั้งปัญหาอื่น เช่น นอนหลับยาก ฝันร้ายและปัญหาทางกาย โรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งคุณและครอบครัวควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

1.ให้เวลากับครอบครัวเพราะความอบอุ่นในครอบครัวอาจช่วยเยียวยารักษาได้ดี

2.พูดคุยปัญหากับเพื่อนและครอบครัว ร่วมแบ่งปันความกังวลจะช่วยให้ได้ระบายและผ่อนคลายความเครียด

3.พักผ่อนและกินอาหารที่เป็นประโยชน์ เพราะมีปัญหาทั้งความเครียดและทางกายเพิ่มขึ้นเมื่อร่างกายอ่อนแอ

4.จัดลำดับสิ่งที่จำเป็น ต้องทำตามลำดับก่อนหลังและค่อยๆทำ

5.ขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์เมื่อเกิดอาการซึมเศร้าจนที่จะรับมือได้

6.ดูแลเด็กๆให้ดี และโปรดเข้าใจเด็กมีความตื่นกลัวไม่แพ้กัน และอย่าตำหนิเด็กที่มีพฤติกรรมแปลกๆหลังจากน้ำท่วม เช่น ฉี่รดที่นอน ดูดนิ้วโป้งหรือเกาะคุณอยู่ตลอดเวลา จำไว้ว่าเด็กเพิ่งผ่านเหตุการณ์ที่รุนแรงในชีวิต

7.ระวังเรื่องสุขอนามัย เมื่ออยู่ในพื้นที่เคยน้ำท่วม


ขั้นตอนที่ 2 : การจัดการดูแลบ้านของคุณ

ที่ผ่านมามีผู้คนจำนวนมากเสียชีวิตเนื่องจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เกิดจากถูกไฟดูด หรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากน้ำลด สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อกลับบ้านคือ การตรวจสอบความปลอดภัย ก่อนเข้าบูรณะและอยู่อาศัย โดยมีขั้นตอนดังนี้

1.ปรับจูนคลื่นวิทยุโทรทัศน์ ฟังรายงานสถานการณ์

2.ติดต่อบริษัทประกันภัย เพื่อตรวจสอบความเสียหาย และซ่อมแซมทรัพย์สินต่างๆ

3.เดินตรวจตรารอบๆบ้าน และเช็กสายไฟฟ้า สายถังแก๊ส ถ้าหากเกิดแก๊สรั่วจะสามารถรู้ได้จากกลิ่นแก๊สให้ระวังและรีบโทร.แจ้งร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย

4.ตรวจสอบความเสียหายของโครงสร้าง ตัวบ้าน ระเบียง หลังคา ให้แน่ใจว่าโครงสร้างทุกอย่างปลอดภัย

5.ตัดระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าบ้าน

6.ปิดวาล์วแก๊สให้สนิท หากได้กลิ่นแก๊สรั่วไม่ควรเข้าใกล้บริเวณนั้น

7.เข้าไปในบ้านอย่างระมัดระวัง และอย่าใช้วัสดุที่ทำให้เกิดประกายไฟ

8.ถ่ายรูปความเสียหาย เพื่อเรียกร้องค่าชดเชยจากประกัน (ถ้ามี)

9.เก็บกู้สิ่งของที่มีค่า และห่อหุ้มรูปภาพหรือเอกสารสำคัญ

10.เก็บกวาดทำความสะอาดบ้าน เปิดหน้าต่างและประตู เพื่อระบายอากาศ และตรวจสอบความมั่นคงของโครงสร้างพื้นฐานของสิ่งก่อสร้างต่างๆ

11.ซ่อมแซมโครงสร้างที่เสียหาย

12.เก็บกวาดกิ่งไม้ หรือสิ่งปฏิกูลในบ้าน

13.ตรวจหารอยแตกหรือรั่วของท่อน้ำ ถ้าพบให้ปิดวาล์วตรงมิเตอร์น้ำ ไม่ควรดื่มและประกอบอาหารด้วยน้ำจากก๊อกน้ำ จนกว่าจะรู้ว่าสะอาดและปลอดภัย

14.ระบายน้ำออกจากห้องใต้ดินอย่างช้าๆ เนื่องจากแรงดันน้ำภายนอกอาจจะมากจนทำให้เกิดรอยแตกของผนังหรือพื้นห้องใต้ดิน

15.กำจัดตะกอนที่มาจากน้ำ เนื่องจากเชื้อโรคส่วนมากมักจะมาจากตะกอน


การรับมือเหตุน้ำท่วมครั้งต่อไป

1.คาดคะเนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของคุณเมื่อเกิดน้ำท่วม

2.ทำความคุ้นเคยกับระบบการเตือนภัยของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และขั้นตอนการอพยพ

3.เรียนรู้เส้นทางการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุด จากบ้านไปยังที่สูงหรือพื้นที่ปลอดภัย

4.เตรียมเครื่องมือรับวิทยุแบบพกพา อุปกรณ์ทำอาหารฉุกเฉินแหล่งอาหารและไฟฉาย รวมทั้งแบตเตอรี่สำรอง

5.ผู้คนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยน้ำท่วม ควรจะเตรียมวัสดุ เช่น กระสอบทราย แผ่นพลาสติก ไม้แผ่น ตะปู กาวซิลิโคน เพื่อใช้ป้องกันบ้านเรือน และควรทราบแหล่งวัตถุที่จะนำมาใช้

6.นำรถยนต์และพาหนะไปเก็บไว้ในพื้นที่ ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง

7.ปรึกษาและทำข้อตกลงกับบริษัทประกันภัย เกี่ยวกับการประกันความเสียหาย

8.บันทึกหมายเลขโทรศัพท์สำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินและเก็บไว้ตามที่จำง่าย

9.รวบรวมของใช้จำเป็นและเสบียงอาหารที่ต้องการใช้ ภายหลังน้ำท่วมไว้ในที่ปลอดภัยและสูงกว่าระดับที่คาดว่าน้ำจะท่วมถึง

10.ทำบันทึกรายการทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด ถ่ายรูปหรือวิดีโอเก็บไว้เป็นหลักฐาน

11.เก็บบันทึกรายการทรัพย์สิน เอกสารสำคัญและของมีค่าอื่นๆ ในสถานที่ปลอดภัยห่างจากบ้านหรือห่างไกลจากที่น้ำท่วมถึง เช่น ตู้เซฟที่ธนาคาร หรือไปรษณีย์

12.ทำแผนการรับมือน้ำท่วม และถ่ายเอกสารเก็บไว้เป็นหลักฐานที่สังเกตได้ง่าย และติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันน้ำท่วมที่เหมาะสมกับบ้านของคุณ

13.ถ้าคุณคือพ่อแม่ ซักซ้อมและให้ข้อมูลแก่บุตรหลานของคุณ ขณะเกิดน้ำท่วม เช่น ไม่สัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า ปลั๊กไฟ หลีกเลี่ยงการเล่นน้ำและอยู่ใกล้เส้นทางน้ำ




จาก .......................... ข่าวสด วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #62  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


น้ำที่ท่วม-ส้วมฉุกเฉิน 'ต้องรู้หลักใช้' มีภัยเชื้อโรคต้องกลัว!



สถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในไทยในยามนี้ นอกจากจะทำให้คนไทยจำนวนมากมายต้องเดือดร้อนในเรื่องการอยู่อาศัย อาหารการกิน การประกอบอาชีพ การเดินทางสัญจร หลายพื้นที่เรื่องการขาด ’น้ำใช้“ และการมีปัญหาเรื่องสุขา หรือ ’ส้วม“ ก็เป็นทุกข์เช่นกัน ซึ่งแม้รายรอบจะมีแต่ ’น้ำที่ท่วม“อยู่ และแม้จะได้รับแจก ’ส้วมฉุกเฉิน-ส้วมชั่วคราว“ แต่ก็ ’ใช่ว่าจะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย“

’ภัยเชื้อโรค“ จาก 2 เรื่องนี้...ก็ ’ควรต้องกลัว!!“

ทั้งนี้ กับ 2 เรื่องดังกล่าวนี้ ทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความห่วงใย พร้อมมีคำแนะนำที่น่าพิจารณา กล่าวคือ... ในภาวะอุทกภัยที่เกิดขึ้น การประยุกต์ใช้กรรมวิธีอย่างง่ายใน การผลิตน้ำสะอาดที่สามารถนำมาอุปโภคหรือเป็นน้ำใช้ (ไม่รวมถึงการเป็นน้ำดื่ม) ได้อย่างปลอดภัย นับว่ามีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งการผลิตน้ำสะอาดสำหรับเป็นน้ำใช้ด้วยตนเองนั้น อุปกรณ์ที่จำเป็นประกอบไปด้วย 3 ส่วน ได้แก่
1. โอ่ง ถังพลาสติก หรือภาชนะรองรับน้ำ จำนวน 2 ใบ
2. สารส้มก้อน
3. สารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)

ขั้นตอนการผลิตน้ำใช้เอง มี 4 ขั้นตอนคือ

1. เตรียมน้ำลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 1 โดยเลือกใช้น้ำจากแหล่งน้ำในบริเวณที่ห่างจากแหล่งสุขาหรือโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ตักใบไม้ เศษไม้ หรือเศษสิ่งอื่นๆ ที่อาจลอยอยู่บนผิวน้ำออก

2. แกว่งสารส้มในน้ำ แกว่งที่ความลึกประมาณ 2/3 ส่วนของความลึกน้ำจากผิวน้ำ แกว่งสารส้มจนสังเกตเห็นตะกอนเริ่มจับตัว ซึ่งอาจใช้เวลามากน้อยต่างกันไปตามปริมาตรและลักษณะน้ำ

3. หลังจากขั้นตอนการแกว่งสารส้ม จะต้องทิ้งน้ำไว้จนกระทั่งตะกอนตกลงสู่ก้นภาชนะ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรืออาจตั้งทิ้งไว้ข้ามคืน จากนั้นจึงตักหรือถ่ายน้ำส่วนที่ใสเข้าสู่ภาชนะบรรจุใบที่ 2 โดยน้ำที่ผ่านขั้นตอนนี้จะมีลักษณะใส แต่ก็ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค

4. เติมสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ลงในภาชนะรองรับน้ำใบที่ 2 ซึ่งควรจะรู้ปริมาตรน้ำโดยคร่าวๆ แล้วจึงเติมสารในปริมาณ 1 หยด ต่อน้ำ 1 ลิตร กวนผสมและปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สารฆ่าเชื้อโรคออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อผ่าน 4 ขั้นตอนแล้ว ก็จะได้น้ำที่ปลอดภัยเพื่อการเป็น ’น้ำใช้“ แต่อาจจะยังไม่เหมาะสมต่อการบริโภค เนื่องจากเป็นน้ำที่ผ่านการผลิตขึ้นเอง อาจไม่มีการควบคุมคุณภาพที่ดีเพียงพอ

และก็มีคำเตือนเกี่ยวกับสารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์) ด้วยว่า สารนี้ต้องเก็บรักษาในที่มืด ที่สำคัญต้องเก็บให้พ้นมือเด็ก ห้ามรับประทานโดยตรง อย่าให้สารเข้าตาและสัมผัสผิวหนัง ถ้าสารถูกมือให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด ถ้าสารเข้าตาต้องรีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

อีกเรื่องคือ การใช้ส้วมฉุกเฉิน-ส้วมชั่วคราวให้ปลอดภัย ซึ่งทางกลุ่มอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำไว้สรุปได้ว่า... การใช้จำเป็นต้องพึงระวังถึงการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น อหิวาตกโรค ที่อาจจะก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ซ้ำซ้อนขึ้นอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งการป้องกันมีวิธีปฏิบัติอย่างง่ายคือการเติมสารเคมีลงไปในส้วมชั่วคราว โดยเฉพาะ “ส้วมถุงดำ” เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อโรค และลดการแพร่กระจาย รวมถึงการสะสมตัวของเชื้อโรคในบริเวณน้ำท่วมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

การ ’ฆ่าเชื้อโรคสำหรับส้วมชั่วคราวแบบที่ใช้ถุงดำ“ ให้ ’เติมปูนขาว“ เพื่อปรับสภาพให้เป็นด่าง ซึ่งจุลินทรีย์ก่อโรคจะถูกกำจัดไปเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต

ปริมาณการเติมปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรค คร่าวๆคือ เติมปูนขาว 300 กรัม (1 ถ้วย) ต่อปริมาตรของเสียประมาณ 10 ลิตร หรือประมาณ 0.3 ลิตร ต่อปริมาตรของเสียประมาณ 10 ลิตร ดังนั้น การขับถ่ายใส่ถุงดำควรต้องเผื่อปริมาตรไว้สำหรับการเติมปูนขาวด้วย ในกรณีที่เลือกใช้ถุงดำขนาด 20 ลิตร ควรใส่ปูนขาวประมาณ 300 กรัม ซึ่งน่าจะใช้งานได้ประมาณ 5-10 ครั้ง (อาจใช้ได้ถึง 15 ครั้ง กรณีถ่ายหนักอย่างเดียว)

รูปแบบการเติมปูนขาวทำได้ 3 แบบ คือ
1. แบ่งเติมทุกครั้งที่ขับถ่าย ประมาณ 15 กรัม (2 ช้อนโต๊ะ) ต่อการขับถ่าย 1 ครั้ง ไม่ว่าจะอุจจาระหรือปัสสาวะ
2. เติมตอนเริ่มต้นใช้ครึ่งหนึ่ง (150 กรัม) หลังจากใช้งานเสร็จอีกครึ่งหนึ่ง (150 กรัม)
3. เติมตอนเริ่มต้นใช้ครั้งเดียว (300 กรัม) โดยรูปแบบที่ 1 จะดีที่สุด ซึ่ง ควรใช้ถุงดำ 2 ชั้นเพื่อความแข็งแรง และใช้งานแล้วต้องมัดให้ดีเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและง่ายต่อการนำไปกำจัด ส่วนการเติมอีเอ็ม (EM) ในการใช้ส้วมถุงดำ ช่วยเรื่องการย่อยสลายสูงในเวลาสั้นๆ แต่ไม่ได้ฆ่าเชื้อโรคโดยตรง

ทั้งนี้ คำแนะนำ 2 เรื่องนี้ นับว่ามีประโยชน์มาก ทั้งกับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม แล้วมีปัญหาขาดน้ำใช้-ขาดส้วมแบบปกติ และกับฝ่ายที่จะไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในการเตรียมปัจจัยเพื่อการนี้ คือเตรียม “สารส้มก้อน-สารฆ่าเชื้อโรคคลอรีนชนิดน้ำ 2% (หยดทิพย์)” และ “ปูนขาว” ไปให้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วมด้วย

’เชื้อโรค“ อาจจะมากับน้ำที่ท่วม-เกิดในส้วมฉุกเฉิน

ไม่กลัว-ไม่ป้องกัน ’ภัยซ้อนภัย“ อาจเกิดขึ้นได้!!!!!.




จาก .......................... เดลินิวส์ วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #63  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ไอเดียญี่ปุ่น "กระสอบน้ำเจล" ใช้แทนกระสอบทราย น้ำหนักเบา อายุใช้งาน 3 ปี



วันที่ 24 ต.ค.ที่ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) ดร.ณพงศ์ นพเกตุ ที่ปรึกษาสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เดินทางมาเสนอเทคโนโลยีใหม่ในการป้องกันน้ำท่วมต่อ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้แก่ กระสอบพองน้ำ (Hydro Bag) ที่จะนำมาใช้ในการป้องกันน้ำแทนกระสอบทราย โดย น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า ดร.ณพงศ์เป็นอดีตนักเรียนทุนญี่ปุ่นเห็นว่ากระสอบพองน้ำที่ญี่ปุ่นใช้ป้องกันน้ำท่วมนั้นน่าจะมีประโยชน์และประสิทธิภาพในการเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศไทย

กระสอบดังกล่าวในเวลาปกติจะคล้ายถุงผ้าหรือกระสิอบทั่วไป มีน้ำหนักเบาและพกพาสะดวก แต่เมื่อนำไปแช่น้ำเจลในกระสอบจะอมน้ำ ทำให้พองตัวมีคุณสมบัติคล้ายกระสอบทราย มีน้ำหนักและขนาดป้องกันน้ำได้ ซึ่งในญี่ปุ่นกระสอบพองน้ำนี้จะมีราคา 450 เยนหรือประมาณ 182 บาท แต่หากรัฐบาลไทยติดต่อขอเทคโนโลยีดังกล่าวจากรัฐบาลญี่ปุ่น ก็จะทำกระสอบพองน้ำได้ในราคาที่ถูกกว่า หรือหากเอกชนรายใดสนใจจะซื้อมาบริจาคก็สามารถทำได้

นอ.อนุดิษฐ์กล่าวอีกว่า หากเปรียบเทียบในเรื่องของราคา แม้จะสูงกว่าทราย แต่ก็สามารถนำกลับมาใช้ได้ถึง 3 ครั้ง มีอายุใช้งานถึง 3 ปี อีกทั้งสารที่ใช้ก็ไม่เป็นอันตรายต่อธรรมชาติ เมื่อเลิกใช้ก็จะมีสารที่ทำให้กระสอบน้ำยุบตัวลงเหมือนเดิม จึงน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งแม้น้ำท่วมครั้งนี้จะนำมาใช้ไม่ทัน แต่ในอนาคตก็น่าจะมีประโยชน์อย่างมาก




จาก .......................... ข่าวสด วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #64  
เก่า 25-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


ใช้ “ถุงยางอนามัย” ช่วยกันน้ำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์


ใช้ถุงยางอนามัยช่วยกันน้ำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (ภาพทั้งหมดจาก DIY Photography)

นอกจากรถยนต์ที่คนเมืองเป็นห่วงว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว มือถือ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นอีกปัจจัยที่หลายคนเป็นห่วงจะเสียหายจากการเปียกน้ำ หากไม่กระอักกระอวนใจกันจนเกินไป อุปกรณ์ใกล้ตัวอย่าง “ถุงยางอนามัย” ช่วยคลายกังวลเรื่องนี้ได้ ด้วยคุณสมบัติของถุงยางที่มีความยืดหยุ่นและกันน้ำได้อย่างดี

ในเว็บไซต์ DIY Photography ได้นำวิธีกันน้ำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นวัสดุหุ้ม ซึ่ง แซม โนยัน (Sam Noyoun) สมาชิกเว็บไซต์ผู้แนะนำเคล็ดลับดีๆนี้ ควรใช้ถุงยางอนามัยแบบไม่มีสารหล่อลื่น แต่ในกรณีที่หาไม่ได้ก็ใช้ถุงยางอนามัยที่มีขายอยู่ทั่วไป แล้วนำมาล้างน้ำเอาผงแป้งหรือสารหล่อลื่นออก เพียงแต่เมื่อใช้น้ำล้างแล้วจะทำให้คลี่ถุงยางได้ลำบาก

เมื่อสวมถุงยางอนามัยให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้ผูกปมและทากาวปิดรอยรั่ว โดยในกรณีของกล้องดิจิตัลนั้น ให้ใช้แกนกระดาษทิชชู หรืออุปกรณ์ที่สามารถครอบเลนส์ เพื่อปกป้องกลไกในการซูมเลนส์ และเพิ่มความมั่นใจด้วยซองกันชื้นที่หาได้ทั่วไป


หาอุปกรณ์มาครอบป้องกันเลนส์และกลไกซูม



ผูกปมและทากาวปิดรอยรั่ว



ได้อุปกรณ์กันน้ำ




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 24 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #65  
เก่า 26-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เปิด 10 บัญญัติสกัดโรค "ตามน้ำ"บวกสุดยอดเคล็ดลับ "อย่าลืมรัก"

โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช,พบ.(จุฬาฯ) ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ American Board of Anti-aging medicine


ตอนนี้ข่าวอะไรก็ไม่ถูกตามติดในเมืองไทยเท่ากับข่าวมวลน้ำมหาศาลที่ล้างผลาญไล่มาจากจังหวัดต่างๆลงมาจนถึงเมืองหลวงของประเทศ เหตุการณ์ใดๆก็เทียบไม่ได้ คนทั่วไปก็เครียดเพราะเสพข่าวน้ำท่วมทุกวัน พอลองนึกถึงใจกันแล้วสื่อมวลชนท่านก็เครียดไม่แพ้กันครับ และน่าจะเครียดกว่าด้วยซ้ำ เห็นจากพี่นักข่าวที่สนิทกันบ่นให้ฟังทุกวันอย่างน่าเห็นใจ ข่าวการตายของกาดาฟียังเป็นหัวข้อรองไปเลยเมื่อคิดถึงว่าน้ำจะบุกมาอย่างมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ธรรมชาติมีอำนาจเหนือมนุษย์ตัวน้อยเสมอ

อิทธิพลใดๆในทางการเมืองก็ไม่อาจบังคับ "น้ำ" ได้ นอกจากความมีคารวธรรมเท่านั้นที่น้อมรับธรรมชาติบัญชา ที่ผ่านมามีมนุษย์นับไม่ถ้วนคิดว่าแหล่งน้ำไม่ต่างจาก "ส้วม" คือเป็นที่ทิ้งปฏิกูลโสโครก การลอยกระทง ก็ทำไปเป็นพิธีอย่างนั้น เป็นความสุขสันทน์แล้วจากนั้นก็ลืมสิ้น

ปีนี้เลยมีกระทงหลายแห่งต้องลอยด้วยน้ำตาแทนความเดือดร้อนเหลือแสนในครั้งนี้มีผลมาจากความไม่รักน้ำ ไม่รักดิน ไม่รักป่า ที่เสมือนมารดาของเรา แม้กระนั้นมารดาก็ยังสู้อดทนเพื่อลูกเกเรนี้มานานจนทานไม่ไหวจึงได้ปล่อยวาง ลูกนั้นจึงต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอดกันเองเหมือนทุกอย่างถูกล้างไพ่หมด ถ้าสลดแล้วสำนึกได้ก็จะยังพอไม่สายที่จะคิดรักแม่อีกครั้ง


10 บัญญัติสกัดโรค "ตามน้ำ"

หากแม้นคันกั้นน้ำและประตูน้ำคือด่านป้องกันเมืองจากมวลน้ำมหาศาลแล้วไซร้ตัวท่านก็คือด่านกั้นโรคที่สำคัญที่จะป้องกันมวลเชื้อโรคจำนวนมหาศาลที่จ้องจะผ่านเข้าไปอยู่ทุกขณะถ้าได้ทำตามบัญญัติสกัดโรคน้ำท่วมต่อไปนี้

1) อย่าเพิ่งตัดเล็บเท้าหรือเล็บมือช่วงน้ำท่วม รวมถึงการตะไบเล็บด้วยในกรณีที่ต้องแช่น้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง เพราะจะเป็นการเปิดช่องให้เชื้อน้ำเน่าพากันแห่เข้าเท้าราวกับเป็นศูนย์อพยพชั้นดี

2) อย่าให้มีหวัดหรือรีบรักษาภูมิแพ้คัดจมูกให้หาย ไม่เช่นนั้นมีสิทธิกลายเป็น "ปอดบวม" ติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างได้ถ้าต้องเปียกติดน้ำอยู่นาน

3) เริ่มเป็นหวัด ให้กินยากันไว้ก่อน ใช้ยาสามัญอย่าง ยาแก้แพ้คลอเฟนิรามีนก็ได้ครับ ช่วยให้หลับได้แล้วหวัดที่เป็นน้อยอาจหายได้เลยครับ

4) เลี่ยงนอนทั้งหัวเปียก และเมื่อผมเปียกแล้วต้องสระผม เพราะความเย็นจากศีรษะส่งให้โพรงจมูกเย็นเป็นที่แบ่งตัวดีของไวรัสหวัด ให้สังเกตว่าเรามักเป็นหวัดเมื่อหัวเย็นครับ

5) ลดการนอนเปิดแอร์ บ้านเรามี "เด็กติดแอร์" เยอะครับ เพราะคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ต้องเปิดแอร์ให้ลูกนอน ตอนน้ำท่วมอากาศชื้นอยู่แล้ว การเปิดแอร์จะทำให้อุณหภูมิศีรษะต่ำลงเป็นที่อาศัยของเชื้อหวัดดีกว่าปกติ

6) ให้งีบหลับพักผ่อนบ้าง จะเป็นกลางคืนหรือกลางวันก็ได้ ให้พักกันเข้าไว้ถ้าไม่อยากพลาดข่าวด่วนอาจสลับเวรกันนอนได้ ขอให้คิดว่าจะได้ตื่นมามีแรงสู้ต่อในวันรุ่งขึ้นครับ

7) งดการกินมากสิ่ง ยิ่งกินหลากหลายมากในตอนน้ำท่วมก็ยิ่งเพิ่มสิทธิป่วยมากขึ้นเพราะความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียอย่าง อี.โคไล จากน้ำสกปรกมีมากในช่วงนี้ครับ

8) พักสมองด้วยการลองพักเสพสื่อน้ำท่วมเป็นระยะ กำหนดเวลารับข่าวต่อวันเป็นรายชั่วโมง เพื่อลดความ เครียดสะสมจากการจมอยู่กับข่าวที่น่าหดหู่

9) ล้างมือล้างเท้าเป็นประจำ เพราะเป็นทางด่วน นำเชื้อน้ำท่วมเข้าตัวที่สำคัญ แค่ล้างมือ-เท้าอย่างเดียว ยังไม่พอขอให้ซับแห้งทุกครั้ง จะได้ไม่ดูดเชื้อโรคเข้ามาเกาะง่าย

10) ล้างปากแปรงลิ้นและแปรงฟันทุกวัน ไม่ว่าจะติดน้ำนานแค่ไหนเพราะช่องปากเป็นปราการด่านสำคัญที่รับเชื้อเข้าทางเดินอาหาร,เข้าหลอดเลือดและเข้าหัวใจได้

ทิ้งท้ายแต่ไม่ท้ายสุดของบัญญัติ 10 ประการนี้คือ "อย่าลืมรัก" ครับ

เพราะที่สุดแล้วก็คงยังต้องมีเหตุ สุดวิสัยที่ไม่อาจป้องกันได้ไม่ว่าจะใช้โมเดลสุขภาพใดๆก็ตาม ธรรมชาติเป็นอำนาจที่ไม่อาจหยั่งรู้ครับแม้จะกับนักวิชาการเก่งกาจ แต่สิ่งที่ทำได้คือความเมตตาที่มีให้กัน แล้วท่านจะมีหัวใจที่หนักน้อยลงมาก หากมองตากันด้วย

สายตาแห่งรักที่คิดว่าจะช่วยอะไรกันได้บ้าง ท่านจะเห็นสายน้ำงามได้แม้ในห้วงทุกข์สาหัสครับ

ต้องเคยรับทุกข์จึงจะรู้สุขได้อย่างซึ้ง




จาก ..................... มติชน วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #66  
เก่า 26-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


มาดูไอเดียชาว" Gen-V" กับภารกิจผนึกกำลังทำ "เสื้อชูชีพ" อย่างง่ายกัน...



จากวิกฤตการณ์น้ำท่วมใหญ่หลวงที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับประเทศไทยขณะนี้ โดยเฉพาะในภาคกลาง อีสาน กรุงเทพฯ และปริมณฑลที่อาณาจักรของสายน้ำค่อยๆกระชับวงล้อมแผ่อาณิคมกินพื้นที่ต่างๆเข้ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้หลายคนตื่นตัว หวาดวิตก ขนข้าว อพยพของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น บ้างก็พาตัวเองยอมสละออกจากบ้านเพื่อความปลอดภัยของชีวิต บ้างก็ไม่อยากจากบ้านสุดที่รัก ที่กำลังจมจากไปต่อหน้าต่อตา

แต่ทว่า แล้วชีวิตของเราเอง สำคัญสุด!! โดยเฉพาะกับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ มีโรคประจำตัวฯลฯ น่าห่วงมากก! หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานต่างๆรวมถึงบรรดาจิตอาสาทั้งหลายไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทั่วถึง และกรณีที่เสื้อชูชีพ มีไม่เพียงพอ...



มติชนออนไลน์ ได้เข้าไปเห็นวิธีการทำเสื้อชูชีพอย่างง่ายๆ จากไอเดียเก๋ๆ และประหยัดกำลังทรัพย์ ในเฟซบุ๊กของ ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย (สวนโมกข์ กทม.) ซึ่งเขาได้ใช้ขวดน้ำ ถุงกระสอบ และปอฟางมาประดิษฐ์ทำเสื้อชูชีพแบบง่ายๆ และใช้ได้ในสถานการณ์จริงซะด้วย ในการประคองชีวิตให้กับเราๆในช่วงน้ำหลากเบื้องต้น จึงขออนุญาตนำวิธีการดังกล่าวมาเผยแพร่ ซึ่งตอนนี้ทางทีมงานเขากำลังเร่งระดมกำลังพลในการทำเสื้อชูชีพจากกระสอบที่ว่านี้อย่างแข็งขัน รวมถึงขอรับบริจาคอุปกรณ์ในการทำเสื้อชูชีพนี้ด้วย ได้แก่ 1.กระสอบพลาสติก 2.ขวดน้ำ 3.เชือกปอ หรือเชือกฟาง(ขออย่างเหนียว..)

ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย (สวนโมกข์ กทม.) ระบุไว้บนเฟซบุ๊กของพวกเขาไว้ดังนี้ ...

ภารกิจเร่งด่วน : ระดมขวดน้ำ, ถุงกระสอบ และปอฟาง(อย่างเหนียว) เพื่อนำไปผลิตเสื้อชูชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย..งานนี้ตั้งเป้าไว้ 500 ตัว..

ประกาศ! ท่านใดมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในมือแล้วล่ะก็ นำมาส่งให้ Gen-V (ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย..(สวนโมกข์กรุงเทพฯ)) ได้เลยนะคะ..ทีมงานคันไม้คันมืออยากทำกันเต็มที่แล้ว..ที่สำคัญผู้ประสบภัยก็ลอยคอ..รอคอย พวกเราอยู่ค่ะ..





ทำเสื้อชูชีพง่ายนิดเดียว....

ภารกิจ:ทำเสื้อชูชีพแบบลด cost! แต่ปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม..

ศูนย์คนรุ่นใหม่ใจอาสา เพื่อผู้ประสบภัย (สวนโมกข์กรุงเทพฯ) ต้องการรับบริจาคอุปกรณ์สำหรับทำเสื้อชูชีพ 500 ตัวดังนี้ (โดยสามารถนำมาสมทบได้เรื่อยๆ ไม่จำกัดจำนวน)

1. ขวดน้ำขนาด 1.5 ลิตรจำนวน 4,000 ขวด (ใช้ 8 ขวดต่อเสื้อชูชีพ 1 ตัว)
2. ถุงกระสอบขนาด 16.5 x 24 นิ้วจำนวน 1,000 ถุง (ดูภาพประกอบ)
3. ปอฟางหรือเชือกฟางไซซ์หนา จำนวน 250 ม้วนเล็ก

ทีมงานทดสอบแล้ว สามารถรับน้ำหนักผู้สวมใส่ได้ถึงส่วนสูง 180 cm น้ำหนักตัว 80 kg

สามารถบริจาคได้ด้วยตนเองที่ศูนย์ ติดต่อคุณบุ๋ม 081-763-5236, 088-097-9809






จาก .................... มติชน วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #67  
เก่า 26-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


8 ขั้นตอนช่วยเหลือเด็กจมน้ำ


เป็นเรื่องที่ต้องอ่านอีกเรื่องหนึ่งเลยทีเดียวค่ะสำหรับคนเป็นพ่อแม่ หรือผู้ที่มีเด็ก ๆ อยู่ในอุปการะ เพราะมวลน้ำขนาดใหญ่ที่ยึดครองพื้นที่ของประเทศไทยเอาไว้ในตอนนี้อาจคร่าชีวิตเด็กๆไปจากเราได้ทุกขณะ วันนี้เราจึงมีคำแนะนำดีๆ จาก รศ.นพ.วรการ พรหมพันธุ์ กุมารแพทย์โรคหัวใจ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาฝากกันถึงวิธีช่วยเหลือเด็กจากการจมน้ำ ดังนี้ค่ะ

1. รีบนำเด็กขึ้นจากน้ำให้เร็วที่สุด

2. แจ้ง 1669 หรือ หน่วยพยาบาลใกล้เคียงโดยเร็วที่สุด

3. ห้ามนำเด็กวิ่งอุ้มพาดบ่า เพราะนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้น้ำในปอดไหลออกมาแล้ว ยังทำให้การช่วยชีวิตเด็กช้าลงไปอีก

4. วางเด็กลงบนพื้นแห้ง แข็ง ถอดเสื้อที่เปียกออก เช็ดตัวเด็กให้แห้งเท่าที่จะทำได้

5. หากเด็กไม่รู้สึกตัว ให้คลำชีพจรบริเวณคอ (เด็กโต) หรือ บริเวณข้อศอก (เด็กเล็ก)

6. หากไม่พบว่ามีชีพจร หรือ ไม่แน่ใจว่ามีชีพจร ให้เริ่มนวดหัวใจ โดยวางสันมือบริเวณกลางหน้าอก ต่ำกว่าราวนมเล็กน้อย กดหน้าอกให้ยุบลงไปประมาณ 1 ใน 3 ของความหนาของหน้าอก ด้วยอัตราอย่างน้อย 100 ครั้ง/นาที ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง จากนั้นบีบจมูกและเป่าปากพอให้หน้าอกยกขึ้น 2 ครั้ง และรีบนวดหัวใจต่อ ทำสลับกันในอัตราส่วน 30:2 ติดต่อกัน 5 ชุด (หรือประมาณ 2 นาที)

7. เมื่อครบ 2 นาทีแล้ว ให้ตรวจคลำชีพจรอีกครั้ง หากมีชีพจร หรือ เริ่มหายใจได้เอง ให้หยุดนวดหัวใจ จัดท่านอนตะแคงเพื่อเปิดทางเดินหายใจ และรีบนำส่งโรงพยาบาล

8. หากยังไม่มีชีพจร หลังครบ 2 นาที ให้นวดหัวใจ สลับเป่าปาก ต่อไปเรื่อยๆ และตรวจชีพจรซ้ำอีกครั้ง เมื่อครบ 2 นาที ทำซ้ำไปจนกว่าจะมีทีมแพทย์มาช่วยเหลือ หรือ จนกว่าเด็กจะเริ่มรู้สึกตัว

นอกจากนั้นในภาวะวิกฤตน้ำท่วม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ได้เปิด สายด่วน Call Center ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพและอุบัติภัยในเด็กในภาวะวิกฤตน้ำท่วม โดยบุคลากรทางการแพทย์ อีกด้วยที่หมายเลข 0-2354-8346 ค่ะ




จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #68  
เก่า 26-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


รับมือ 6 โรคฮิตน้ำท่วม



น้ำที่ท่วมขังไม่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังนำโรคภัยไข้เจ็บมาด้วย ที่ฮิตและเป็นกันมาก คงไม่พ้น 'โรคน้ำกัดเท้า' เพราะติดเชื้อราชื่อ Dermatophytes เกิดจากความอับชื้นและสกปรก ย่ำน้ำไม่สะอาด อาการเริ่มจากคนตามซอกหรือง่ามนิ้ว ผิวลอกเป็นขุย เป็นผื่น หนักเข้าจะพุพอง เท้าเปื่อย มีหนอง เมื่อได้รับยาทาต้านเชื้อรา ผู้ป่วยต้องทาวันละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องไปถึง 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันติดเชื้อซ้ำ แต่ทางที่ดี หลังย่ำน้ำสกปรกมา ควรล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้ง ถ้าไม่จำเป็นอย่าแช่อยู่ในน้ำที่ท่วมนานๆ

ถัดมาเป็น 'โรคตาแดง' เนื่องจากน้ำสกปรกหรือฝุ่นละอองเข้าตา ถูกแมลงตอมตา ขยี้ตา หรือติดโรคตาแดงนี้มาจากผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง ขี้ตาออกมาก เปลือกตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง มักเป็นที่ตาข้างใดข้างหนึ่งก่อน จากนั้นจึงลามไปอีกข้าง วิธีป้องกันในเบื้องต้นก็คือ ไม่ขยี้ตา หากรู้สึกระคายเคืองหรือน้ำสกปรกเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดทันที และไม่เข้าใกล้ผู้ป่วยโรคตาแดง

ต่อด้วย 'โรคฉี่หนู' หรือเลปโตสไปโรซิส อาการบ่งบอก คือ ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะน่อง โคนขา และหลัง ทั้งยังมีไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว มีจุดเลือดออกตามผิว ไอมีเลือดปน ตัวและตาเหลือง ปัสสาวะน้อย เพลียซึม ซึ่งแนะนำให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ส่วนการป้องกันโรคฉี่หนู ไม่ควรเดินย่ำน้ำลุยโคลน ถ้ามีบาดแผลที่ผิวหนัง หากเลี่ยงไม่ได้ ต้องสวมรองเท้าบู้ท หรือล้างเท้าแล้วเช็ดให้แห้งสะอาดทันที

ในกลุ่มของ 'โรคทางเดินอาหาร' ก็พบได้บ่อย อาทิ ท้องร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรบิด หรือไทฟอยด์ อาการโดยรวมคือจะถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายมีมูกเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัวและปวดตามตัว เป็นไข้ เบื่ออาหาร ทางป้องกัน ก่อนกินข้าวหรือหลังจากขับถ่ายต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด กินอาหาและน้ำที่สะอาด ไม่บูดเสีย

และในช่วงน้ำท่วมน้ำขัง ลูกน้ำยุงลายชุกชุมกว่าปกติ ส่งผลให้เสี่ยงป่วยเป็น 'โรคไข้เลือดออก' อาการที่ปรากฎมีทั้งปวดศีรษะ ปวยเมื่อยตามตัว มีไข้สูง ใบหน้าแดง มีจุดเลือดออกตามลำตัว เห็นชัดที่ขาและแขน ป้องกันด้วยการทายากันยุงเอาไว้ หากมีอาการอย่างที่กล่าว หรือกินยาลดไข้แล้ว ไข้ไม่ลดไม่หายควรปรึษาแพทย์ตรวจอาการอย่างละเอียด

สุดท้าย 'กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ' ด้วยเหตุน้ำท่วมอาจทำให้หลายคนต้องอยู่ในสภาพตัวเปียกชื้น พักผ่อนไม่เพียงพอ จึงมักป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไซนัสอักเสบ โรคเยื่อจมูกอักเสบ โรคกล่องเสียงอักเสบ โรคคออักเสบ/ต่อมทอนซิลอักเสบ ในเบื้องต้นหากมีอาการป่วย เช่น ไข้ เจ็บคอ ไอ จาม คัดจมูก ให้พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำอุ่นมากๆ ดูแลร่างกายให้อบอุ่น เลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ สวมหน้ากากอนามัยป้องกันการแพร่เชื้อ และพบแพทย์เพื่อรักษาอาการป่วย.




จาก .......................... เดลินิวส์ วันที่ 26 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #69  
เก่า 27-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


"FLOOD_REST" ตัวช่วยประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมด้วยตัวเอง



ท่ามกลางวิกฤตน้ำท่วมที่ไหลหลากสร้างความเดือดร้อน และความเสียหายในหลายๆจังหวัด และค่อยๆทะลักเข้าท่วมแถบปริมณฑล บ้านเรือนในย่านปากเกร็ด บางบัวทอง จ.นนทบุรี หมู่บ้านในเขตคลองรังสิต จ.ปทุมธานี ได้รับผลกระทบสาหัส ขณะเดียวกัน น้ำก็รุกคืบเข้าบดขยี้ ไหลเข้าท่วมบางเขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทำให้หลายๆครอบครัวในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอกสั่นขวัญแขวนและเครียดกับการตั้งรับวิกฤตครั้งนี้เป็นอย่างมาก

ไม่เพียงแต่วิกฤตน้ำท่วมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยังเกิดวิกฤตสำลักข้อมูลข่าวสารที่สับสนปนเปเพราะได้รับข้อมูลเตือนภัยจากหลากหลายช่องทาง จนกระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำโดย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์ฯ ได้ทำการระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบและเครื่องมือสำหรับประชาชนได้ใช้ในยามฉุกเฉินออกมาเป็น "เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง" เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว รวมทั้งลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ทรัพย์สิน

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ "เครื่องมือช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมด้วยตัวเอง" รศ.ชัยยุทธ สุขศรี อาจารย์จากภาควิชาวิศกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายให้ฟังว่า เป็นส่วนหนึ่งของระบบประเมินความเสี่ยงน้ำท่วมด้วยตนเอง (Flood Risk Evaluation System for Thailand มีชื่อย่อว่า FLOOD_REST) โดยระบบนี้พัฒนาขึ้นจากข้อมูลและฐานข้อมูลที่เกิดจากการศึกษาวิจัยของจุฬาฯ และจากข้อมูลที่มีใช้งานอยู่แล้วในส่วนราชการ โดยข้อมูลที่นำเข้าในระบบปัจจุบัน ได้แก่

1. ค่าระดับพื้นดินบางส่วนของเขตประเวศ กรุงเทพมหานคร บางส่วนของอำเภอบางพลีและอำเภอเมืองสมุทรปราการ ข้อมูลจากโครงการศึกษาวิจัยการประยุกต์ใช้ไลดาร์สำหรับงานวิศวกรรม โครงการความร่วมมือระหว่างกรมทางหลวง กรมแผนที่ทหาร และแคนนาดา ข้อมูลบันทึกโดยเลเซอร์สแกนเนอร์ (ไลดาร์) ปี 2548

2. ค่าระดับของผิวถนนสายหลักของกรุงเทพมหานคร สำรวจเมื่อปี พ.ศ.2550

3. พื้นที่ปิดล้อมเพื่อการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ รศ.ชัยยุทธ กล่าวต่อไปว่า ระบบ FLOOD_REST เป็นแผนที่ออนไลน์ที่ทุกบ้านสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อให้รับรู้สภาพกายภาพที่ตั้งของที่อยู่อาศัย ทรัพย์สินของบุคคล และสถานประกอบการธุรกิจต่างๆ รวมทั้งเส้นทางน้ำ และระบบระบายน้ำ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลการป้องกัน (บรรเทา) และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วยระบบพื้นที่ปิดล้อมของกรุงเทพมหานครได้

ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นแผนที่ออนไลน์ ผู้ใช้แต่ละบ้านสามารถเข้าถึงได้สะดวกในรูปแบบโปรแกรมประยุกต์ที่แพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่ โปรแกรมกูเกิ้ลแมพ และกูเกิ้ลเอิร์ธ ที่เว็บไซต์ www.chula.ac.th/flood_rest/ ซึ่งมีขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงด้วยตัวเองง่ายๆ ดังต่อไปนี้

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ www.chula.ac.th/flood_rest/ เลือกระบบการเข้าใช้เพื่อประเมินระดับน้ำท่วม ซึ่งมีให้เลือกทั้งดูบนมือถือ และคอมพิวเตอร์

2. คลิกเลือกระบบใดระบบหนึ่ง

3. หลังจากคลิกเข้าไปแล้ว จะปรากฎแผนที่ขึ้นมา ให้มองหาตำแหน่งที่อยู่อาศัยของคุณ

4. เมื่อหาเจอแล้ว ด้านบนขวามือสุดจะมีเครื่องหมายบวกเล็กๆ ให้คลิกเข้าไปแล้วเลือกเครื่องหมายถูกที่ Google Hybrid เพื่อให้สามารถเห็นตำแหน่งบ้านของท่านได้ชัดเจนขึ้น


ตัวอย่างโปรแกรม Flood_REST ตัวช่วยประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วม

5. ขยายเข้าไปใกล้ๆบริเวณพื้นที่บ้านของท่านให้มากที่สุด

6. คลิกไปที่ตำแหน่งบริเวณใกล้ๆบ้าน ระบบจะปรากฎหน้าต่างแสดงค่าระดับพื้นผิวดินขึ้นมา จากนั้นป้อนค่าคาดการณ์ที่ทราบข่าวมา หรือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ระบบก็จะแสดงตัวเลขของระดับน้ำที่มีความเสี่ยงต่อการท่วมบ้านให้เตรียมการวางแผนในการตั้งรับต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ค่าระดับพื้นผิวดินอยู่ที่ 1 เมตร และค่าระดับน้ำคาดการณ์ว่าจะท่วมอยู่ที่ 2.50 เมตร ความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมก็อยู่ที่ 1.50 เมตร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สามารถใช้ระบบตรวจสอบได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีความแม่นยำระดับบวก-ลบ 30 เซนติเมตร และในพื้นที่เขตประเวศ กทม.และจ.สมุทรปราการ มีความแม่นยำระดับบวก-ลบ 10 เซนติเมตร

"ประชาชนสามารถใช้ FLOOD_REST ประเมินระดับน้ำที่กำลังคุกคามและประเมินผลกระทบเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากระบบเป็นแผนที่ออนไลน์ เพียงแค่ป้อนค่าข้อมูลคาดการณ์ระดับน้ำท่วมซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ โดยผลต่างระหว่างค่าระดับน้ำคาดการณ์และค่าระดับพื้นผิวดินที่มีความละเอียดถูกต้องสูงระดับ "เดซิเมตร" เลยทีเดียว นั่นจะเป็นประโยชน์ให้แต่ละบ้านสามารถประเมินความเสี่ยงภัยน้ำท่วมเพื่อใช้ในการเตรียมตัว เช่น กำหนดระดับการยกของขึ้นที่สูง ตำแหน่งที่ดอนที่อาจย้ายรถไปจอด ตลอดจนถึงความจำเป็นในการเตรียมการและตัดสินใจอพยพ" รศ.ชัยยุทธสรุปทิ้งท้าย

///////////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

สำหรับการพิจารณาค่าคาดการณ์น้ำท่วมเพื่อประเมินความเสี่ยง แต่ละบ้านสามารถเข้าไปดูเพิ่มเติมตามช่องทางดังต่อไปนี้

- ข้อมูลระดับตลิ่งคลอง หรือระดับน้ำในคลองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Canal/

- ข้อมูลระดับน้ำที่ประตูน้ำ และสถานีสูบน้ำต่างๆ ภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Scada/

- ข้อมูลปริมาณน้ำท่วมบนถนน ณ เวลาปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เว็บไซต์ dds.bangkok.go.th/Floodmon/

โดยข้อมูลส่วนนี้มีความจำเป็นต้องไปอ้างอิงกับระดับถนนที่อยู่ในโปรแกรม Flood_REST เพื่อให้สามารถเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ได้

นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลัก ยังสามารถพิจารณาข้อมูลระดับน้ำเจ้าพระยาประกอบการพิจารณาค่าคาดการณ์น้ำท่วม โดยข้อมูลระดับน้ำที่ตำแหน่งต่างๆตลอดลำน้ำเจ้าพระยา สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ของกรมชลประทาน www.rid.go.th ในรายงานการพยากรณ์สภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยเฉพาะส่วนที่ผ่านกรุงเทพมหานครอันได้แก่ สถานีปากเกร็ด (C.22A) สถานีสามเสน (C.12) สถานีสะพานพุทธ (C.4) และสถานีการท่าเรือ (C.53) ที่เว็บไซต์ water.rid.go.th/chao_scada/forecast

///////////////////////

หมายเหตุ

*** เนื่องจากตอนนี้มีผู้อ่านจำนวนมาก ไม่สามารถเข้าใช้ระบบ FLOOD_REST ได้ซึ่งทางผู้ดูแลระบบของจุฬาฯ ชี้แจงว่า ระบบพัฒนาบนฐาน Freeware เกื่อบทั้งหมด การรองรับเบื้องต้นจึงจำกัดต่อ Server ประมาณ 1,000 ผู้ใช้ ระบบจะตัดการเชื่อมต่อที่เกินอัตโนมัติ และเป็นระบบที่เตรียมการเพื่อการขยายระบบในอนาคต ดังนั้น ระหว่างนี้ ทางทีมงานกำลังกระจาย Load ไปที่ Server หลักอื่นๆ

ดังนั้น ในตอนนี้ท่านสามารถประเมิน "น้ำ" ที่อาจมีผลกระทบในเบื้องต้นไปก่อน โดยดูจากแผนที่ค่าระดับพื้นดินในพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการตามลิงค์นี้ http://www.chula.ac.th/flood_rest/co...ar_2548_hi.pdf

เมื่อคลิกเข้าไปแล้ว ให้ขยายเข้าไปดูว่าพื้นที่ของท่านอยู่ในสัญลักษณ์สีอะไร แล้วดูว่ามีค่าระดับพื้นดินเท่าไร จากนั้นนำมาหักลบกับค่าคาดการณ์น้ำท่วมที่ท่านได้ทราบข่าวมา หรือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ค่าระดับพื้นผิวดินในย่านอาศัยของท่านอยู่ที่ประมาณ 1 เมตร และค่าระดับน้ำคาดการณ์ว่าจะท่วมอยู่ที่ 2.50 เมตร ความสูงของระดับน้ำที่จะท่วมบ้านคุณก็จะอยู่ที่ 1.50 เมตร




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #70  
เก่า 27-10-2011
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default


เก็บของให้กินได้นานในช่วงน้ำท่วม



ช่วงน้ำท่วมแบบนี้ อาหารการกินก็เริ่มหายากขึ้นทุกที จะไปซื้อของแห้งมาตุนไว้ก็แทบจะหาซื้อไม่ได้แล้ว สำหรับคนที่น้ำยังไม่ท่วมบ้าน หรือยังพออาศัยในบ้านได้ มีน้ำมีไฟใช้อยู่ “108 เคล็ดกิน” ก็รวบรวมเอาวิธีเก็บของกินให้อยู่กับเราได้นานขึ้นมาฝากกัน

- เริ่มต้นที่ข้าวสวย คนไทยเราปกติก็กินข้าวเป็นอาหารหลักอยู่แล้ว ซึ่งข้าวสวยที่เราหุงมานั้น เก็บไว้นอกตู้เย็นได้สองวันเป็นอย่างมาก แต่สำหรับวิธีที่จะทำให้เก็บข้าวสวยไว้กินได้นานขึ้นก็คือ หลังจากซาวข้าวแล้ว ให้ใส่น้ำปริมาณพอเหมาะกับปริมาณข้าวที่ต้องการหุง จากนั้นให้ใส่น้ำส้มสายชูลงไปด้วย (ประมาณ 1 ช้อนชาต่อข้าว 3 กระป๋อง) จากนั้นก็หุงตามปกติ ข้าวสวยจะอยู่ได้ประมาณ 4-5 วัน เนื่องจากน้ำส้มสายชูจะปรับค่า Ph ให้ไม่เหมาะสมกับแบคทีเรียที่จะเจริญเติบโตในข้าวสวย แต่ก็ไม่ควรเก็บข้าวไว้นานเกินไปเพราะอาจมีแบคทีเรียกลุ่มอื่นเจริญเติบโตได้

- ผัก ผลไม้สดที่มีอยู่ ก็ควรล้างน้ำให้สะอาด เก็บไว้ในตู้เย็น หรืออาจเก็บผัก ผลไม้อบแห้งติดบ้านไว้บ้างก็ได้ เพราะจะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดวิตามินในช่วงน้ำท่วม

- ของสดที่มีอยู่ ควรนำไปประกอบอาหารเก็บไว้ (เท่าที่เวลายังพอมีเหลือและสามารถทำได้) เมื่อสุกแล้วก็เก็บไว้ในตู้เย็น ยังสามารถเก็บไว้กินได้อีก 1-2 วัน แทนที่จะต้องกินแต่ของแห้ง

- กรองน้ำสะอาดเก็บไว้มากเท่าที่จะทำได้ เพื่อใช้บริโภคในช่วงน้ำท่วม

- ซื้อน้ำแข็งมาใส่กระติกหรือคูลเลอร์ใหญ่ๆ สามารถแช่ของสดได้ ยืดอายุเก็บไว้กินได้นานขึ้น

ที่สำคัญ ควรดูแลเรื่องสุขอนามัย ความสะอาดปลอดภัยของอาหารการกิน จะได้ปลอดภัยจากโรคที่สามารถติดต่อกันได้ในช่วงน้ำท่วม




จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 11:16


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger