#61
|
||||
|
||||
7 ข้อตีแตกทุกปัญหาสิว ข้อแรก หาสาเหตุของการเกิดสิวให้ได้ ไม่ต้องแปลกใจที่ทำตามวิธีการรักษาสิวที่คนอื่นใช้ได้ผลแต่วิธีนั้นกลับไม่ได้ผลกับเรา เพราะสิวที่เกิดจากต่างสาเหตุก็ต้องรักษาต่างวิธี เช่นสิวที่เกิดจากการอุดตันของรูขุมขนสามารถรักษาได้ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือโลชั่นที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก แต่หากเกิดสิวแบบเป็นตุ่มแดงและอักเสบ ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีตัวยาแรงขึ้น เช่น ยาทาที่มีส่วนผสมของเบนซิลเปอร์ออกไซด์ ที่จะช่วยลดปริมาณไขมันที่ผิวหนัง และละลายสิ่งสกปรกอุดตันตามรูขุมขนแต่ไม่ควรทายามากไปหรือโปะหนาๆ ลงบนบริเวณที่เป็นสิว เนื่องจากจะทำให้ผิวแห้ง วิธีทายาที่จะช่วยรักษาสิวและไม่ทำร้ายผิวคือทาบางๆ บริเวณที่เป็นสิวเท่านั้น ข้อต่อมาคือ ปฏิบัติตามคำแนะนำข้างฉลาก หากซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อรักษาสิวเองโดยที่ไม่ได้ไปพบแพทย์ผิวหนังโดยตรง ต้องอดทนทำตามคำแนะนำข้างฉลากอย่างเคร่งครัด เพราะอาจไม่เห็นผลทันทีที่ใช้เหมือนยารักษาสิวที่ออกให้โดยแพทย์ แต่จะให้ผลแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวที่วางขายตามเคาน์เตอร์จะเห็นผลชัดเจนเมื่อใช้ 6-8 สัปดาห์ หากเกินกว่านี้แล้วไม่เห็นผลจึงควรเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ใหม่ ข้อที่สาม ตรวจสอบให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆที่ใช้กับผิวหน้าหรือใกล้ๆผิวหน้าเป็นออยล์-ฟรีและนอน-คอมิโดเจนิคหรือไม่ทำให้เกิดการอุดตันของรูขุมขน ซึ่งอาจเกิดเพราะการแต่งหน้าโดยใช้รองพื้นหนาๆ หรือกลบด้วยคอนซีลเลอร์มากๆ ผลิตภัณฑ์บำรุงผมเช่น ครีมนวดผมที่มีส่วนผสมของน้ำมันก็อาจทำให้เกิดสิวได้ ดังนั้นจึงควรชโลมครีมลงบนปลายผมเท่านั้น ข้อสี่ หากรักษาสิวด้วยตัวเองแล้วไม่หายผลสักที ควรไปพบแพทย์ผิวหนัง เพราะจะประหยัดเงินและเวลามากกว่า เนื่องจากแพทย์จะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องถึงสาเหตุแห่งการเกิดสิวและให้ตัวยาที่รักษาสิวได้อย่างตรงจุด รวมถึงให้คำแนะนำในการใช้ยาที่ไม่ทำร้ายผิวด้วย ข้อที่ห้า หากเป็นสิวที่เกิดจากฮอร์โมน ซึ่งสังเกตง่ายๆ คือมักเป็นสิวช่วงมีประจำเดือน สามารถรักษาได้โดยการทานยาคุมกำเนิด หรือยาที่ควบคุมระดับฮอร์โมน แต่ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ข้อหก สิวแบบซีสติค ซึ่งมีลักษณะเป็นถุงภายในมีหนอง และมักจะทิ้งรอยแผลเป็น หากรักษาแล้วไม่ได้ผลไม่ว่าจะทานยาแก้อักเสบหรือฉีดยา การทานโรแอคคิวเทน 6-8 สัปดาห์สามารถแก้ปัญหาสิวชนิดนี้ได้ แต่ควรทานภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรอย่างใกล้ชิด เพราะยาชนิดนี้มีผลข้างเคียงคืออาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหรืออาจทำให้ทารกพิการได้ หากใช้ในหญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์ ข้อสุดท้าย ขจัดสิวบริเวณอกและแผ่นหลังด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายหรือครีมที่มีส่วนผสมของเบนซิลเปอร์ออกไซด์ แต่มีข้อเสียคือมักจะทำให้เสื้อผ้าเป็นรอยด่าง หรืออาจรักษาสิวบนใบหน้า แผ่นอกหรือหลังด้วยการทำเลเซอร์ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาสิวได้ดี แต่ข้อเสียคือราคาแพง จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 28 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#62
|
||||
|
||||
หยุดไวรัสตับอักเสบบี ตรวจหาเชื้อฟรี-สกัดมะเร็ง ไวรัสตับอักเสบ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ จากสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังกว่า 350 ล้านคน และมีผู้ได้รับเชื้อชนิดนี้กว่า 2,000 ล้านคน ส่วนในประเทศไทยพบว่ามีผู้เป็นพาหะไวรัสตับอักเสบบีกว่า 3.5 ล้านคน ซึ่งมีสถิติพบว่าทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ไม่ได้รับการรักษา 1 ล้านคนต่อปี รศ.น.พ.ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย อธิบายว่า อาการทั่วไปของโรคไวรัสตับอักเสบ เกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ 1.ระยะเฉียบพลัน จะมีอาการเบื่ออาหาร อ่อน เพลีย ปวดชายโครง ตาเหลือง โดยจะมีอาการประมาณ 6 เดือน 2.ระยะเรื้อรัง จะอ่อนเพลีย มีอาการต่อมน้ำลายโต และตับแข็ง ซึ่งแพทย์จะต้องตัดชิ้นเนื้อหรือเอกซเรย์ดู จึงจะทราบอาการและส่วนมากหากเป็นขั้นรุนแรงก็จะมีชีวิตอยู่ได้แค่ 4-6 เดือน หากได้รับการรักษาส่วนมากจะเป็นอยู่ประมาณ 10-20 ปี หลังจากนั้นจะเข้าสู่อาการต่อไป คือ ตับแข็ง ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เรื้อรังให้หายขาด แต่มีการรักษา 2 แบบ ซึ่งเป็นการป้องกันไม่ให้โรคเลวร้ายลงและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยลดปริมาณไวรัสให้ต่ำลงเพื่อไม่ให้ทำลายเซลล์ การติดเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่เกิดจากแม่สู่ลูก ไม่ใช่กรรมพันธุ์ แต่เป็นเพราะทารกได้รับเชื้อจากเลือดของมารดา ซึ่งปัจจุบันเด็กแรกเกิดจะได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันขึ้น ส่วนคนทั่วไปในปัจจุบันที่ไม่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด ส่วนใหญ่จะไม่มีภูมิคุ้มกัน และจะได้รับเชื้อจากช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ ที่น่าเป็นห่วง คือ ไวรัสตับอักเสบส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการจนกว่าจะเข้าถึงระยะรุนแรงแล้ว โดยผู้ที่เป็นพาหะโรคไวรัสตับอักเสบบีมีความ เสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูงถึงร้อยละ 80 การตรวจหาเชื้อ ถือเป็นมาตรการสำคัญ ที่จะทำให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ จึงควรตรวจหาเชื้อว่า ติดเชื้อหรือไม่ แล้วรีบรักษา และควรตรวจเพื่อหาภูมิคุ้มกันไปพร้อมกัน หากทราบว่า ไม่มีภูมิคุ้มกัน ก็ควรรับวัคซีนเพื่อป้องกันไปตลอดชีวิต สมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และมูลนิธิโรคตับ ได้จัดโครงการ "หยุดไวรัสตับอักเสบบี ต้านภัยมะเร็งตับ เฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา" รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชนรู้วิธีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีที่ถูกต้องเหมาะสม โดยในปี 2555 นี้จะจัดกิจกรรมตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีฟรี 8,400 ราย ทั่วประเทศ จาก .................... ข่าวสด คอลัมน์ รายงานพิเศษ วันที่ 28 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#63
|
||||
|
||||
แพทย์แนะกินปลา เพิ่มโอเมก้า 3 จากวิถีชีวิต ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ที่แสดงถึงความสงบสุขทั้งกายและใจ ที่สมัยนี้เริ่มเลือนหายไปตามนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนที่ จึงเป็นสาเหตุที่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบลคมอร์ส จากประเทศออสเตรเลีย จัดงาน "แบลคมอร์ส ฟู้ด ฟอร์ ทรู" เพื่อหวังส่งเสริมให้คนไทยเห็นประโยชน์ของโอเมก้า-3 ที่มีอยู่ในปลามากที่สุด โดยเฉพาะเด็กในวัยเรียนซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบความจำและการเรียนรู้เป็นอย่างมาก ภายในงานได้รับเกียรติจาก พญ.อรพิชญา ไกรฤทธิ์ หน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับคุณประโยชน์ว่า โอเมก้า-3 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย เพราะมีสารอีพีเอ ที่ช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองสะอาด เมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองดี เซลล์สมองก็จะแข็งแรง และสารดีเอชเอ อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์สมอง ถ้ารับประทานเข้าไปจะสามารถซ่อมแซมส่วนสึกหรอของร่างกายได้ด้วย ทั้งนี้ สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา แนะนำให้รับประทานปลา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพราะในปลาอุดมไปด้วยโอเมก้า-3 ซึ่งคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจควรได้รับโอเมก้า-3 ประมาณ 300 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะต้องการปริมาณโอเมก้า-3 ที่มากกว่านั้น และอาจสูงถึง 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไขมันในเลือดสูง "นอกจากปลาทะเลที่ให้โอเมก้า-3 แล้วยังสามารถหาแหล่งโอเมก้า-3 ได้จากธัญพืชต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง เมล็ดถั่วต่างๆ พืชตระกูลน้ำเต้าได้อีกด้วย สำหรับผู้ที่ไม่สามารถได้รับโอเมก้า-3 เพียงพอจากแหล่งอาหารข้างต้น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจเป็นอีกตัวช่วยที่สะดวกขึ้น แต่ต้องเลือกผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ผ่านการตรวจสอบปริมาณสารปรอทและตะกั่วซึ่งมักปนเปื้อนได้ง่ายในน้ำมันปลาที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงควรระบุปริมาณอีพีเอและดีเอชเอที่ฉลากให้ชัดเจนด้วย" พญ.อรพิชญา ให้คำแนะนำ คุณหมอยังเสริมอีกว่า ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และมีความหลากหลาย เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณสารที่จำเป็น ใส่ใจกับการฝึกสมาธิ การคิดในแง่บวก และเมื่อเกิดความเครียดให้หันไปออกกำลังกาย เพียงแคนี้ก็จะมีสุขภาพที่ดีได้ง่ายๆ จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 28 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#64
|
||||
|
||||
เตือนทุกบ้านรู้เท่าทัน 5 โรคที่มากับสายลมหนาว ภาพประกอบจาก hometestingblog.testcountry.com หนาวๆแบบนี้ นอกจากอากาศจะน่านอน และทำให้หลับสบายภายใต้ผ้านวมอุ่นๆกันแล้ว หากละเลยไม่ใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดี โรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายก็มีสิทธิ์จะมาเยือนแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะโรคที่มากับฤดูหนาวซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพลูกน้อยได้ ในวันนี้ ทีมงาน Life & Family มีข้อมูลดีๆจากศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพมาเตือนให้ทุกบ้านที่มีลูกเล็ก และผู้สูงอายุได้รู้เท่าทันโรคที่มากับอากาศหนาว ๆ กัน ซึ่งมีอยู่ 5 โรคที่พ่อแม่ควรเฝ้าระวัง ดังรายละเอียดต่อไปนี้ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ ชื่อนี้ฟังแล้วอาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่จริงๆแล้ว มีอาการรุนแรงและมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้มากกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ และไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์บี ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ซีนั้นมีความรุนแรงน้อยและเกิดการระบาดเฉพาะในวงจำกัด สามารถติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม หรือหายใจรดกันในที่ที่มีคนอยู่แออัด เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่ระบาดได้ทั่วโลก โดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว โดยกลุ่มอายุที่พบการติดเชื้อมากที่สุดคือกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี และกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อไข้หวัดใหญ่คือกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ดังนั้นบ้านที่มีเด็กเล็กในช่วงนี้มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย รวมไปถึงผู้สูงอายุซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วอาจมีอาการรุนแรงจึงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับอาการของโรคจะรุนแรงและป่วยนานกว่าโรคไข้หวัดทั่วไป หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายประมาณ 1 ถึง 4 วัน ก็จะเริ่มแสดงอาการ ที่พบบ่อยคือ ไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก และอาจมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ ถ้าป่วยอยู่นานอาจมีอาการไอเนื่องจากหลอดลมอักเสบ แต่โดยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติได้ภายใน 1 ถึง 2 สัปดาห์ แต่รายที่มีโรคแทรกซ้อนเช่นโรคปอดอักเสบก็อาจมีอาการรุนแรงจนทำอันต่อสุขภาพได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่ มีแนวทางช่วยลดความเสี่ยงง่าย ๆ ดังต่อไปนี้ - หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่ป่วยเป็นไข้หวัด - ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ - หลีกเลี่ยงให้เด็กใช้มือสัมผัสใบหน้าของตนเองโดยไม่จำเป็น - ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกหลักอนามัย และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ - โรคไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ปัจจุบันแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หากบ้านไหนที่มีลูกเป็นไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ มีหลักการดูแลเบื้องต้นดังต่อไปนี้ - นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป - ดูแลร่างกายให้อบอุ่นเสมอด้วยการสวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝนหรืออยู่ในที่อากาศเย็น และไม่ควรอาบน้ำเย็น - อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี - ควรดื่มน้ำมากๆ และหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็น ควรดื่มน้ำอุ่นเพื่อสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและช่วยลดไข้ รวมถึงช่วยทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากไข้สูง - ควรรับประทานอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ - ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น - เช็ดตัวลดไข้บ่อยๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กเพราะไข้อาจกระตุ้นให้ชักได้ ควรใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็งเช็ดตัว - สวมผ้าปิดปากและจมูก เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และหมั่นล้างมือให้สะอาด - กลั้วคอบ่อยๆด้วยน้ำสะอาด - หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ที่ภูมิต้านทานโรคน้อย เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่กินยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ไข้หวัดหมูไอโอวา เชื้อหวัดสายพันธุ์ใหม่ ไม่เพียงแต่ไข้หวัดใหญ่ในข้างต้นแล้ว "ไข้หวัดหมูสายพันธุ์ S-OtrH3N2" เป็นอีกหนึ่งโรคที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) ประเทศสหรัฐอเมริกา แจ้งเตือนทั่วโลกให้ระวัง เพราะสามารถติดต่อสู่คนได้ เนื่องจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อทั้งหมด 7 รายโดยพบที่มลรัฐเพนซิลวาเนีย 3 ราย มลรัฐเมน 2 ราย และมลรัฐอินเดียนา 2 ราย ผู้ป่วยทุกรายเคยสัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดหมูก่อนที่จะป่วย และเมื่อเดือนพฤศจิกายนพบเด็กที่ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 รายที่มลรัฐไอโอวา โดยเด็กทั้งสามไม่เคยสัมผัสกับหมูมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ นอกจากนี้มีแนวโน้มที่จะพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดหมูไอโอวาเพิ่มขึ้น สำหรับเชื้อไข้หวัดหมูไอโอวา หรือไข้หวัดหมูสายพันธุ์ใหม่ เกิดจากการรวมตัวของไวรัสไข้หวัดสองสายพันธุ์ คือสายพันธุ์ Influenza H3N2 ที่ทำให้เกิดโรคหวัดในหมู กับสายพันธุ์ Influenza H1N1 ที่ทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในคนและเคยแพร่ระบาดมาแล้วทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา จากการรวมตัวของไวรัสสองสายพันธุ์นี้ ทำให้เกิดการกลายพันธุ์เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดใหม่คือสายพันธุ์ S-OtrH3N2 ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันเชื้อโรคนี้มาก่อน ทำให้เสี่ยงที่จะป่วยจากเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ โดยรายละเอียดอาการของเด็กทั้งสามคนที่ติดเชื้อไข้หวัดหมูไอโอวา มีดังนี้ รายที่ 1 เป็นเด็กผู้หญิงที่แข็งแรงมาตลอด ไม่เคยมีโรคประจำตัว เริ่มมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ รายที่ 2 เป็นเด็กผู้ชาย เริ่มมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หลังจากที่เด็กรายที่ 1 ป่วยได้สองวัน รายที่ 3 เป็นพี่ชายของเด็กรายที่ 2 เริ่มมีอาการหลังจากน้องชายป่วยได้หนึ่งวัน โดยผลการตรวจเสมหะทั้งสามรายพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ S-OtrH3N2 เหมือนกัน ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ติดเชื้อ น่าจะเกิดจากการที่เด็กทั้งสามคนเคยไปร่วมงานเลี้ยงเดียวกัน และอยู่ใกล้ชิดกัน ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงที่เด็กรายที่ 1 เริ่มมีอาการนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กทั้งสามคนรวมถึงสมาชิกทุกคนในครอบครัวไม่เคยมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับหมูมาก่อน จึงเป็นไปได้ว่าเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้น่าจะแพร่ติดต่อจากคนสู่คนได้ อย่างไรก็ดี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ในเด็กได้ แต่สามารถป้องกันการติดเชื้อในผู้ใหญ่ได้บางส่วนเท่านั้น ขณะนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค ประเทศสหรัฐอเมริกา เตรียมมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสไข้หวัดหมูไอโอวา และกำลังผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์ S-OtrH3N2 นี้โดยตรง แต่ที่น่าห่วงคือ เชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ดื้อต่อยาต้านไวรัสที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หากสงสัยการติดเชื้อไข้หวัดหมูหรือไข้หวัดหมูไอโอวา ให้ส่งเสมหะตรวจเพื่อยืนยันสายพันธุ์ของเชื้อไวรัส และพิจารณารักษาด้วยยาโอเซลทามิเวียร์ตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา และต้องรายงานจำนวนผู้ป่วยไปยังศูนย์ควบคุมโรคทุกราย นอกจากนี้ยังแนะนำให้ประชาชนที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ชิดหมู เมื่อมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันการติดเชื้อทุกราย สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมยาต้านไวรัสให้เพียงพอในกรณีที่เกิดการระบาด ดังนั้นพ่อแม่ไม่ควรตื่นตระหนก และลดความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงให้ลูกเดินลุยน้ำหรือแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน และควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น ไม่สวมเสื้อผ้าที่เปียกชื้น รับประทานอาหารที่สุกสะอาด ล้างมือเป็นประจำก่อนที่จะรับประทานอาหาร ตามแนวทางป้องกันโรคด้วยวิธี “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” อยู่เสมอ โรคปอดบวม หนาวๆแบบนี้ อีกหนึ่งโรคที่เด็กเป็นกันบ่อยคือ "ปอดบวม" หรือหรือโรคนิวโมเนีย เป็นโรคติดเชื้อที่ปอดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดอื่นๆได้อีกด้วย เช่น เชื้อไมโคพลาสมา และเชื้อรา เมื่อปอดติดเชื้อ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะส่งเม็ดเลือดขาวมาที่เซลล์ปอด และเกิดปฏิกิริยาจากการทำลายเชื้อโรค ทำให้เซลล์ปอดบวมใหญ่ขึ้น เมื่อเชื้อโรคถูกทำลายแล้วจะทำให้เกิดหนองหรือของเหลวท่วมขังอยู่ภายในถุงลมปอด ทำให้เกิดอาการไอ หายใจลำบาก และหอบเหนื่อย โรคนี้พบบ่อยช่วงระหว่างฤดูฝนและฤดูหนาว หรือตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนมีนาคม และจากข้อมูลย้อนหลังตั้งแต่ พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ. 2553 พบว่ามีผู้ป่วยโรคปอดอักเสบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 4 ปี รองลงมาคือกลุ่มผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ดังนั้นเด็กเล็กและผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อาการของโรคปอดบวมนั้น จะพบอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม และถ้าเกิดหลอดลมภายในปอดตีบก็อาจได้เกิดเสียงหายใจวี๊ด ส่วนรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจทำให้ภาวะหัวใจล้มเหลว และถ้าหายใจลำบากอยู่นาน จะทำให้ขาดออกซิเจน ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการหงุดหงิดง่าย หรือซึมลง หรือหมดสติในที่สุด ทางที่ดี พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงพาลูกไปยังสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็น ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีและผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย ที่สำคัญควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับตัววัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#65
|
||||
|
||||
เตือนทุกบ้านรู้เท่าทัน 5 โรคที่มากับสายลมหนาว ....... (ต่อ) ภาพประกอบจาก besteducationpossible.blogspot.com โรคหัด เป็นอีกโรคที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกันกับ "โรคหัด" เกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา ซึ่งพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรค ซึ่งติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมากด้วยการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โรคหัดเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2 ถึง 14 ปี และพบได้ตลอดปี ส่วนมากเกิดในช่วงฤดูหนาวจนถึงต้นฤดูร้อน สำหรับอาการ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคหัดเข้าไปประมาณ 7 วันจึงจะเริ่มมีอาการช่วงแรกคล้ายไข้หวัด และมีไข้สูงตลอดเวลา รับประทานยาลดไข้แล้วไข้ก็ไม่ลด อ่อนเพลีย ซึมลงหรือกระสับกระส่าย ร้องกวน เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้ง น้ำตาไหล ไม่สู้แสง หนังตาบวม บางรายอาจถ่ายเหลวบ่อยเหมือนท้องเดิน หรืออาจชักจากไข้ ต่อมาผื่นจะเริ่มขึ้น โดยลักษณะผื่นนั้น เป็นจุดแดงเล็กๆ ขนาดเท่าหัวเข็มหมุด และเริ่มเห็นผื่นขึ้นที่บริเวณตีนผมและซอกคอก่อนเป็นอันดับแรกแล้วลามไปตามใบหน้า ลำตัวและแขนขา ผิวหนังโดยรอบอาจเป็นสีแดงระเรื่อ บางครั้งอาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นจะไม่จางหายไปทันทีแต่จะใช้เวลาประมาณ 2 ถึง 3 วันนับจากวันแรกที่ผื่นเริ่มขึ้น หลังจากผื่นจางลง มักเปลี่ยนเป็นสีคล้ำในช่วงแรก โรคหัดส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย แต่เมื่อเป็นแล้ว ควรรักษาและปฏิบัติตัวเหมือนโรคไข้หวัดทั่วไป คือ พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ เช็ดตัวลดไข้ ไม่อาบน้ำเย็น ควรกินยารักษาตามอาการ เช่นยาลดไข้ ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะในช่วงแรก เพราะถ้าแพ้ยาจะทำให้บอกความแตกต่างระหว่างผื่นแพ้ยากับผื่นโรคหัดได้ยาก ถ้ามีอาการไอ เสมหะเริ่มข้นหรือเขียว หรือหายใจมีเสียงวี๊ด (Wheeze) เนื่องจากหลอดลมตีบ ควรพบแพทย์ โรคไข้สุกใส ปิดท้ายกันที่ "โรคอีสุกอีใส" หรือไข้สุกใส ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กเล็ก วัยรุ่น ไปจนถึงวัยหนุ่มสาว โดยการระบาดมักพบในช่วงต้นปีตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ วาริเซลลา หรือฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยการหายใจ ไอ จามรดกัน หรือการสัมผัสถูกตุ่มแผลสุกใสหรืองูสวัดโดยตรง หรือสัมผัสถูกของใช้ เช่น ที่นอน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่เปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วย สำหรับอาการในเบื้องต้น เมื่อเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายแล้วจะใช้เวลาประมาณ 10 ถึง 20 วันจึงจะเริ่มมีอาการ เช่น ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่นำมาก่อน ต่อมาจึงเริ่มมีผื่นแดงที่อาจเกิดขึ้นพร้อมกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ จะเป็นผื่นแดงราบก่อนแล้วจึงเปลี่ยนกลายเป็นตุ่มนูนมีน้ำใสอยู่ภายในและมีอาการคัน โดยตุ่มน้ำใสนี้ มักเริ่มขึ้นที่หนังศีรษะตามไรผมก่อนแล้วจึงลามไปที่ใบหน้า แผ่นหลัง ลำตัว แขนและขา ทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนอาจมีตุ่มแผลขึ้นในช่องปาก ทำให้เจ็บคอ ลิ้นเปื่อย ปากเปื่อย อีกลักษณะที่สำคัญคือตุ่มนูนใสนี้มักจะไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วร่างกาย ดั้งนั้นจึงพบว่าบางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ ในขณะที่อวัยวะส่วนอื่นขึ้นเป็นตุ่มนูนใส หรือบางที่เป็นตุ่มหนอง หรือบางที่ผื่นสุกที่เริ่มตกสะเก็ด เด็กที่เป็นโรคไข้สุกใสส่วนมากจะหายเองได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เกิดโรคแทรกซ้อน และที่สำคัญ ไม่มียาต้านไวรัส ดังนั้นการดูแลรักษาจึงเป็นการรักษาตามอาการ เช่น เช็ดตัวลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอกินยาลดไข้เฉพาะพาราเซตามอลเท่านั้น ห้ามกินยาลดไข้ชนิดแอสไพริน เนื่องจากทำให้ตับอักเสบรุนแรงได้ นอกจากนั้นควรตัดเล็บให้สั้น หลีกเลี่ยงการแกะเกาตุ่มคันสุกใส เพราะนอกจากจะกลายเป็นแผลเป็นที่รักษายากแล้ว ยังทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในเล็บและผิวหนังจนเกิดโรคผิวหนังแทรกซ้อนได้ นอกจากนี้เชื้อแบคทีเรียดังกล่าวอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ เช่นที่ปอดจนเกิดฝีในปอดได้ อย่างไรก็ดี อาการไข้สุกใสจะค่อยๆทุเลาได้เองภายใน 1 ถึง 3 อาทิตย์ ในระยะนี้ให้ระวังโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เช่น แก้วหูอักเสบ ปอดอักเสบ ตับอักเสบ หรือ ติดเชื้อในสมอง ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดหู หรือไอ หายใจเหนื่อย เจ็บหน้าอก หรือ ตาเหลืองตัวเหลือง (ดีซ่าน) หรือ ปวดศีรษะมาก ซึมลง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเพิ่มเติม ในด้านของการป้องกัน คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงให้ลูกสัมผัสกับผู้ป่วยโรคสุกใสโดยตรง ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ช้อน จาน ชาม ฯลฯ ควรทำร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคสุกใส โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และฉีดกระตุ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อเด็กอายุ 4 ถึง 6 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมของสุกใสและหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR) ทำให้ถูกฉีดวัคซีนน้อยครั้งลง รู้แบบนี้แล้ว เรามาป้องกันตัวเองและลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภัยที่มากับสายลมหนาวกันดีกว่าครับ จาก .................... ผู้จัดการออนไลน์ คอลัมน์ Life & Family วันที่ 28 ธันวาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#66
|
||||
|
||||
12 วลีฮิต ติดปากหมอ ที่ต้องขอแปล คุณหมอพร้อมขยายความ วลียอดฮิตหมอใช้พูดกับคนไข้ ฟังแล้วอาจสับสน ขนหัวลุกกันเป็นแถว สวัสดีปีใหม่ผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับ ‘มุมสุขภาพ’ ครั้งแรกของปี พ.ศ.2555 นี้ พร้อมเรื่องราวสุขภาพน่ารู้ที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม ประเดิมตะลุยโรงหมอ กับ ‘นพ.กฤษดา ศิรามพุช’ ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ร่วมไขความกระจ่างวลีฮิตๆที่คุณหมออาจทำให้คนไข้สับสน นพ.กฤษดา เล่าว่า บุคคลแต่ละวิชาชีพมักจะมีลีลาการใช้ภาษาไทยที่เฉพาะตัว อย่างคำพูดของคุณหมอกับคนไข้มักมีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งคือ “สั้นๆ” แต่บางทีชวนให้คนไข้คิดไปไกล ดังที่เคยมีคนไข้ท่านหนึ่งไปตรวจมะเร็งปากมดลูกมาแล้วคุณหมอบอกว่าผลเป็น “เซลล์ผิดปกติ”…แค่นี้คนไข้ก็ขนหัวลุกแล้ว เพราะคำอย่างนี้ในภาษาไทยเขาเรียกว่า “คำเปิด” ครับ คือความหมายกว้างมาก อย่างน้อยก็ 2 แง่ ผิดปกติแต่ไม่ใช่มะเร็ง กับผิดปกติแบบมะเร็ง หรืออย่างคนไข้ถูกบอกว่าพบ “เนื้องอก” พอบอกแล้วคุณหมอก็ไป ทิ้งหน้าที่กังวลไปทั้งวันให้กับคนไข้ที่ไม่ได้ความกระจ่าง จนบางครั้งร่ำๆจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ คนไข้บางท่านอาจคิดว่า เซลล์ผิดปกติหรือเนื้องอกก็เท่ากับ “มะเร็ง” แล้ว น้อยคนที่จะคิดว่า เซลล์ผิดปกติ คือ เซลล์ที่มันเปลี่ยนแปลงไปจากการอักเสบหรือติดเชื้อ ซึ่งรักษาได้พอหายก็จะกลับมาเป็น “เซลล์ปกติ” ได้ในสามวันเจ็ดวัน เพื่อป้องกันปรากฏการณ์ช็อค!!! เมื่อรับฟังคำพูดจากคุณหมอนั้น นพ.กฤษดา อยากขอนำคำพูดติดปากแบบ “หมอๆ” มาแปลให้ฟังกัน ซึ่งก็อาจไม่เป็นดังนั้นเสมอไป เริ่มที่วลีว่า "ต้องผ่าตัด" เมื่อใดที่พูดถึงผ่าๆ เฉือนๆ ขอเตือนไว้ว่าให้ขอ “ความเห็นอื่น” จากผู้เชี่ยวชาญด้วยจะช่วยได้มาก หากไม่จำเป็นท่านก็ไม่ต้องเอาตัวไปรองเขียงให้เขาสับไม่ดีหรือ ความลับก็คือถ้าไปโรงพยาบาลเอกชนแล้วถูกพิพากษาให้ผ่า ขอให้ถนอมตัวไว้มาหาความเห็นกับหมอที่โรงพยาบาลรัฐอีกทีก็ดี ต่อมา "เจ็บนิดเดียว" คำนี้สร้างความเสียวได้มาก เพราะถ้าหมอบอกว่าเจ็บนิดเดียวส่วนใหญ่จะเจ็บเยอะ แต่ก็ไม่แน่เสมอไป บางท่านที่มีขีดความอดทนสูงก็อาจบอกว่าจริงแล้วไม่เจ็บเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าให้ดี ท่านก็ถามไปตรงๆเลยว่าถ้าเจ็บมากคุณหมอจะฉีดยาชาหรือดมยาสลบให้ไหม? "โรคนี้ไม่หาย" คนป่วยไม่อยากได้ยินคำนี้จากปากหมอเป็นที่สุด ทั้งที่จริงคำนี้หมายความว่า ไม่หายแต่ดีเป็นปกติได้ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเองที่ไม่มีวันหายแต่ก็มีช่วง “อาการสงบ (Remission)” ที่คนไข้ใช้ชีวิตได้อย่างปกติ หรืออย่าง เบาหวาน, ความดันสูง และมะเร็ง ที่ไม่หายแต่ก็ต้องรักษาและคุมอาหาร อย่าไปคิดว่าอย่างไรก็ไม่หาย จะกินอะไรก็ได้ตามใจปาก มันจะทำให้ทั้งไม่หายและเพิ่มความทรมานขึ้นมาได้ "รอแป๊บเดียว" ตะเภาเดียวกับเจ็บนิดเดียวแหละครับให้รอแป๊บแต่นานเหมือนชั่วกัลป์ อย่าไปคิดเสมอว่าถ้าแป๊บเดียวของหมอจะสั้นเท่ากับเวลาเราทานข้าวกับแฟน ไม่เลย แป๊บเดียวในเคสผ่าตัดบางรายนานนับชั่วโมงหรือเป็นวัน ถ้าเป็นหมอที่นั่งตรวจก็ขึ้นกับชนิดโรคคนไข้ บอกไม่ได้ว่าจะใช้เวลา 15 นาทีเท่ากันหมดเหมือนสั่งไก่ทอด "ต้องใช้เวลา" ถ้าโดนคำนี้ก็ให้บวกเผื่อ(ใจ)ไว้ด้วย จะได้ไม่เครียดจนจิตตก เพราะบางโรคต้องรักษากันเป็นมหากาพย์ อย่างภูมิแพ้ที่เป็นโรครักษาไม่หาย แต่จะมีช่วงที่สบายดีเป็นปกติด้วย หรือว่าโรคผิวหนังบางอย่างก็กินเวลานานในการรักษา ถ้ากังวลใจจริงอาจถามให้คุณหมอช่วยประมาณเวลาให้ด้วยก็จะช่วยลดแรงกดดันได้ "เซลล์ผิดปกติ" ท่านที่ไปตรวจชิ้นเนื้อตามองคาพยพต่างๆ ทั้งเต้านม, เนื้องอก, ปากมดลูก ถ้าคุณหมอบอกผลมาว่า เซลล์ผิดปกติอย่าเพิ่งตกตื่นใจไปครับ แม้บางครั้ง worst case จะมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายได้ แต่คำว่าเซลล์ผิดปกติก็แค่จำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจขึ้นเท่านั้นเอง "โรคยังหาสาเหตุไม่ได้" มาจากภาษาฝรั่งว่า “Idiopathic” วลีนี้พบบ่อยเป็นข้อพิสูจน์ว่าใครว่าการแพทย์ฝรั่งเจริญที่สุด ท้าพิสูจน์ให้ไปเปิดตำราแพทย์หาสมุฏฐานแต่ละโรคเลยครับท่าน จะพบคำว่ายังหาสาเหตุไม่พบนี้จนลายตาเลย คุณหมอไทยเลยเคยชินนำมาใช้บ้างเผยแพร่ความไม่กระจ่างออกไปให้ฝรั่งบ้างไทยบ้างงงกัน ถ้าท่านได้ยินคำนี้ ก็ยังไม่ต้องหัวเสีย บางทีตัวท่านเองจะมีคำอธิบายได้ดีกว่า "นอนโรงพยาบาล" ได้ยินคำนี้จากโรงพยาบาลเอกชนอย่าเพิ่งยิ้มกริ่มเตรียมนอนเสมอไป ถ้าท่านยังไม่อยากนอนหรือยังสงสัยก็ยังไม่ต้องนอน เพราะยุคนี้เป็นนิดหน่อยก็ “เชียร์” ให้นอนกันจัง คนไข้ที่น่าสงสารก็ไม่รู้เลยว่าเป็นการรับเชื้อแบบเน้นๆในการนอนโรงพยาบาลแต่ละครั้ง เพราะโรงพยาบาลเขาฉลาด แต่งให้เหมือนโรงแรมแต่เรื่องเชื้อโรคภัยไข้เจ็บน่ามีมากกว่าอยู่แล้ว "ไม่ร้อยเปอร์เซนต์" คุณหมอส่วนใหญ่ไม่ฟันธงครับเพราะไม่มีอะไรร้อยเปอร์เซนต์ทางการแพทย์อยู่แล้ว ปาฏิหาริย์บางครั้งก็เกิดได้ คนที่นอนนิ่งเป็นอัมพาตยังกลับลุกขึ้นมาใหม่ได้เฉย ในทางตรงข้ามคนดีๆก็อาจฟุบไปได้เหมือนกัน ฉะนั้นการได้ยินคุณหมอบอกว่า “คุณปกติ” ไม่ได้แปลว่า “สุขภาพดี” "เป็นพันธุกรรม" คำที่ถูกใช้กับบางโรค เช่น ความผิดปกติแต่แรกเกิด, เบาหวาน, แพ้ภูมิตัวเอง, มะเร็ง คำนี้ถ้าท่านได้ยินเข้าอย่าเข้าใจผิดว่าพันธุ์เราไม่ดีหรือต้องมีพ่อแม่ปู่ย่าป่วยด้วยโรคเดียวกัน เพราะมันอาจหมายถึงได้ว่า อณูที่ผลิตเซลล์ในตัวเราไม่ดีเลยสร้างความผิดปกติขึ้นมาเวลาเรายิ่งโตขึ้น เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล "ทานยาให้ครบ" คำนี้มักใช้พูดกับยาประเภทฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะครับ คุณหมอพูดทีคุณเภสัชพูดอีกทีย้ำจนเข้าไปก้านสมอง เป็นคำพูดที่ถูกต้องแล้วครับแต่ถ้าท่านทานแล้วเกิดอาการแพ้และไม่แน่ใจให้หยุดทานได้ แล้วรีบกลับมาถามหมอ อย่ารอทานจนครบ หรือแค่อาการไม่ดีขึ้นท่านก็กลับมาให้คุณหมอดูใหม่ และวลีสุดท้าย "อดอาหารก่อนเจาะเลือด" คำนี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่มักพูดก่อนถูกนัดเจาะเลือด หัวใจสำคัญคือไม่อยากให้น้ำตาล, ไขมันและสารในอาหารอื่นๆเข้าไปกวนเลือด แต่ไม่จำเป็นต้อง “งดน้ำเปล่า” ดื่มได้ถ้าเป็นการเจาะเลือดตรวจสุขภาพธรรมดา อย่าเป็นน้ำหวานก็แล้วกัน ปัญหาสำคัญสุดที่น่าเห็นใจคนไข้คือ “ไม่กล้าถาม” ครับเพราะอาจเคยมีประสบการณ์โดนดุมา เมื่อความสงสัยมากเข้าก็ไปเปิดฉากถามเอากับคุณพยาบาล, คุณเภสัชกรและคนอื่นที่ไม่ใช่หมอ ดังนั้นสิ่งที่ผมคุยกับนิสิตเสมอก็คือคุณหมอต้องเป็น “นักสื่อสารมวลชน” กลายๆไปด้วย พูดยังไงไม่ให้คนไข้ป๊อด หรือคุยกับญาติอย่างไรด้วยภาษาง่ายๆ. จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 2 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#67
|
||||
|
||||
บำรุงให้ถูกหลักห่างไกล “สมองเสื่อม” คิดๆเท่าไรคิดไม่ออกสักที เชื่อว่าหลายคนเคยประสบกับปัญหาเหล่านี้ ยามสมองมึนๆตื้อ คิดไม่ออก นั่นก็เพราะสมองขาดการบำรุงดูแลเอาใส่ใจนั่นเอง ทั้งที่ “สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าส่วนไหนๆ ด้วยเหตุนี้ ซาน โบเวอร์แมน นักโภชนาการที่ปรึกษาเฮอร์บาไลฟ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด จึงแนะเคล็ด (ไม่) ลับ บำรุงให้สมองแล่น แบบง่ายๆใกล้ตัวให้คงสมรรถภาพดีเยี่ยมแข็งแรงตลอดชั่วอายุ เอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่กัน “ผัก ผลไม้ ออกกำลังกาย ดีต่อความทรงจำ” สิ่งที่ดีต่อร่างกายคือ สิ่งที่ดีต่อสมองเช่นเดียวกัน อาหารที่ทำให้สมองแข็งแรง จึงเป็นอาหารชนิดเดียวกับกลุ่มอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและโรคเบาหวาน อาหารจำพวกนี้ได้แก่ ผักและผลไม้, “โฮลเกรน” ธัญพืชเต็มเมล็ดไม่ผ่านการขัดสี หรือขัดสีน้อยที่สุด, ไขมันดี และอาหารที่ให้โปรตีนแต่ไขมันต่ำ นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะส่งเสริมให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น เติมพลังงานให้สมอง ด้วย “กลูโคส” ซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากการย่อยของอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง การมีกลูโคสในเลือดปริมาณเหมาะสม มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างพลังงานแก่สมอง สังเกตได้จากการที่เรารู้สึกเหน็ดเหนื่อยหรือเวียนศีรษะ หากต้องทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยไม่มีอาหารตกถึงท้อง เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดตกฮวบลงอย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบทำให้สมองไม่สามารถคิดอย่างมีประสิทธิภาพได้ ด้าน คาร์โบไฮเดรต ควรเลือกรับประทานชนิดดี พบในผัก, ผลไม้, ธัญพืชโฮลเกรน ถั่ว และน้ำตาลธรรมชาติในผลิตภัณฑ์นม ส่วนขนมหวานและลูกกวาด ไม่ใช่อาหารที่เสริมสร้างร่างกายและจิตใจให้มีสุขภาพดี เพราะไม่มีวิตามิน, เกลือแร่ และสารอื่นๆ จากพืช “ไขมันและกรดไขมัน” น้ำหนักของสมองประกอบด้วยไขมันร้อยละ 70 ล้วนถูกหุ้มด้วยปลอกที่เป็นไขมัน ดังนั้นร่างกายจึงต้องการไขมันดี เพื่อทำให้โครงสร้างของสมองแข็งแรง การบริโภคเนื้อปลาและอาหารเสริมพวกน้ำมันปลา ซึ่งเป็นแหล่งให้ “ดีเอชเอ” ดีที่สุดแหล่งหนึ่งอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ยังพบในถั่วล้วนอุดมด้วยไขมันไม่อิ่มตัวและมีวิตามินอี ทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ด้าน โปรตีน ก็เป็นอีกปัจจัย เนื่องจากกรดอะมิโนจากโปรตีน ถูกนำไปใช้สร้าง “สารสื่อประสาท” สารเคมีพิเศษที่เซลล์สมอง ใช้ในการรับและส่งสัญญาณต่างๆ พบได้ใน ถั่วชนิดต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง, ถั่วลันเตา และถั่วเมล็ดแบน โปรตีนจากสัตว์ เช่น อาหารทะเล, เป็ด, ไก่, เนื้อไร้มัน และผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำ การบริโภค ผักและผลไม้หลากสี ช่วยลดผลกระทบอันไม่พึงประสงค์จากอนุมูลอิสระต่อสมอง พร้อมยังเป็นแหล่งอุดมด้วยวิตามิน เกลือแร่ เช่น กรดโฟลิก ซึ่งเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ต้องมีปริมาณมากเพียงพอ เพื่อช่วยให้การทำงานของสมองมีประสิทธิภาพ พบมากในผักใบเขียว อาทิ ผักขม ในสมุนไพรและเครื่องเทศ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สอดคล้องกับการบริโภคอาหารแบบ “เมดิเตอร์เรเนียน” เน้นการกินผัก ผลไม้ อาหารทะเล ธัญพืชแบบโฮเกรน ถั่ว ไขมันดีหรือไขมันเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยเรื่องสุขภาพสมองเป็นเพราะอาหารรูปแบบนี้ ช่วยควบคุมน้ำหนักตัว ความดันโลหิต และปริมาณคอเลสเตอรอลให้อยู่ในระดับปกติ การมีน้ำหนักเกินมาตรฐานและโรคอ้วนที่พบในประชากรวัยกลางคน จะก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงขึ้นต่อการเป็นโรคสมองเสื่อม ความเสี่ยงดังกล่าวจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามค่าของความดันโลหิตที่เพิ่มขึ้น และระดับคลอเรสเตอรอลในเส้นเลือดที่สูงขึ้น. จาก ....................... เดลินิวส์ วันที่ 7 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#68
|
||||
|
||||
“เวียนศีรษะ” (Vertigo) (ตอน 1) การเวียนศีรษะเป็นภาวะที่พบได้บ่อยมาก ส่วนใหญ่สาเหตุมักไม่ร้ายแรงแต่บางรายอาจจะเกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตันหรือแตก บางรายอาจจะเป็นอาการของเนื้องอกในสมอง แพทย์ที่มีความชำนาญร่วมกับการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถหาสาเหตุของการเวียนศีรษะได้ การเวียนศีรษะเป็นอาการที่ผู้ป่วยเห็นภาพรอบตัวเองหมุนไปในทิศทางเดียวกัน แต่บางครั้งผู้ป่วยอาจจะรู้สึกว่าของรอบตัวเองหมุนเมื่อหลับตา ผู้ป่วยบางรายอาจจะใช้คำว่า “บ้านหมุน” “เป็นลม” “หน้ามืด” “วิงเวียน” “มึนศีรษะ” หรือ “ตาลาย” ทำไมจึงเวียนศีรษะและอาการที่พบร่วม หูซึ่งมี 3 ชั้น ชั้นในสุดมีอวัยวะสำหรับการทรงตัวเป็นท่อครึ่งวงกลม 3 ท่อ มีน้ำไหลเวียนภายใน เวลาน้ำเคลื่อนไหว จะมีการส่งสัญญาณประสาทไปที่ก้านสมอง สมองน้อย และลูกตา ถ้าการส่งสัญญาณไปสมองไม่เท่ากันด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม จะทำให้เกิดการเวียนศีรษะ บ้านหมุน ผู้ป่วยมักจะมีการคลื่นไส้ อาเจียน น้ำมูก น้ำตาไหล ความดันขึ้นสูง ใจสั่นและหน้าซีดร่วมด้วย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหลับตาช่วยเหลือตัวเองไม่ให้เห็นสิ่งแวดล้อมหมุน สามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ สาเหตุของการเวียนศีรษะที่พบบ่อย 1.โรคน้ำในหูหมุนไม่เท่ากัน หรือโรคบ้านหมุนเวลาเปลี่ยนท่าทาง (Benign paroxysmal position vertigo หรือ BPPV) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเวียนศีรษะ เกิดจากการที่ฝุ่นหินปูนขนาดเล็กมากๆ หลุดเข้าในท่อครึ่งวงกลม ทำให้เวลาหันศีรษะไปมาหรือล้มตัวนอนน้ำในท่อ 2 ข้างหมุนไม่เท่ากัน เกิดการเวียนศีรษะครั้งละไม่ถึงนาทีเป็นพักๆ เวลาเปลี่ยนท่าทาง การรักษาที่ได้ผลดีที่สุด คือ การหมุนศีรษะ 4 ทิศทางให้ฝุ่นหินปูนหลุดออกจากท่อวงกลม โดยวิธีของหมอเอปเลย์ (Epley’s maneuver) ได้ผลประมาณ 70% ในการรักษาครั้งแรก และเพิ่มเป็น 90% ในการรักษาครั้งที่สอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา 2.โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เกิดได้จากโรคหลอดเลือดสมองทั้งชนิดสมองขาดเลือดไปเลี้ยง หรือมีเลือดออกในเนื้อสมองมักพบในผู้สูงอายุเกิน 50 ปี ถ้าร่วมกับการมีปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง (ความดันโลหิตสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ ไขมันในเลือดสูง และหัวใจเต้นพลิ้ว) มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้น อาการเวียนศีรษะเป็นอยู่นานหลายนาทีหรือหลายชั่วโมง อาจจะนานเป็นวันก็ได้ ไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนท่าทาง และไม่เป็นพักๆ วินิจฉัยได้จากการถ่ายภาพสมองด้วยเครื่อง CT หรือ MRI การรักษาขึ้นกับสาเหตุว่าเป็นจากสมองขาดเลือดหรือมีเลือดออกในสมอง ข้อมูลจากศูนย์สมองและไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 1 http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 9 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#69
|
||||
|
||||
“เวียนศีรษะ” (Vertigo) (ตอน 2) 3.เส้นประสาททรงตัวอักเสบ (Vestibular neuritis) เกิดจากเส้นประสาทสมองการทรงตัวอักเสบ ทำให้สัญญาณประมาณการทรงตัวจากท่อครึ่งวงกลมส่งไปสู่สมองสองข้างไม่เท่ากัน การเวียนศีรษะมักเกิดขึ้นนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวันๆ บางรายอาจจะมีไข้ และอาจมีปัญหาการได้ยินหรือเสียงในหู พบในทุกอายุ ส่วนใหญ่มักเป็นวัยรุ่นถึงวัยกลางคน เชื่อว่าเป็นจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรงต่อเส้นประสาท หรือเป็นจากการที่แพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่มักหายเอง โดยอาการค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 2-3 สัปดาห์ การใช้ยาสเตียรอยด์ระยะสั้นๆ อาจจะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว 4.โรคน้ำคั่งในหู หรือ โรคมีเนียร์ (Menier’s disease) เกิดจากการที่มีน้ำในอวัยวะก้นหอย (cochlea) มากเกินไป มีอาการเวียนศีรษะเป็นพักๆ นานหลายนาทีหรืออาจจะเป็นชั่วโมงๆ แต่ไม่ควรเกิน 1 วัน ผู้ป่วยอาจจะมีอาการเวียนศีรษะทุก 2-3 วัน หรือทุกสัปดาห์ บางรายอาจจะห่างเป็นเดือน มีเสียงดังในหูข้างใดข้างหนึ่ง นานเข้าหูข้างที่มีปัญหาจะได้ยินน้อยลง มักเป็นเสียงต่ำและในที่สุดอาจไม่ได้ยินเลย สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด บางรายพบร่วมกับการติดเชื้อในหูส่วนกลางหรืออุบัติเหตุที่ศีรษะ เป็นหวัด คออักเสบ การใช้ยาแอสไพริน สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มาก พบว่าการรับประทานเค็มมากอาจจะกระตุ้นให้อาการเป็นมากขึ้นได้ การรักษาโรคนี้จะรักษาให้หายขาดไม่ได้ ผู้ป่วยที่เวียนศีรษะมาก อาจจะต้องทำลายเซลล์รับความรู้สึกทรงตัวให้เสียไปโดยการฉีดยาเข้าหูหรือการผ่าตัด และการรักษาโดยกายภาพบำบัดเพื่อฝึกสมองให้เคยชินกับสภาพของหูชั้นในที่เสียไป สาเหตุอื่นๆ ของการเวียนศีรษะที่พบได้ไม่บ่อย โรคไมเกรน โรคหลอดเลือดที่เลี้ยงเส้นประสาทการทรงตัวอุดตัน (Vestibular nerve ischemia) โรคผนังระหว่างหูชั้นกลางและชั้นในบางกว่าปกติ (Superior canal dehiscence syndrome) โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) โรคสมองน้อยผื่นลงในช่องกระดูกต้นคอ (Arnold-Chiari malformation) การเวียนศีรษะบ้านหมุนมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต จำเป็นต้องมีการหาสาเหตุที่ถูกต้องโดยแพทย์ผู้ชำนาญเพื่อการรักษาให้ถูกจุด ป้องกันการเป็นซ้ำหรือเกิดภาวะเรื้อรังซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากศูนย์สมองและไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 1 http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 10 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#70
|
||||
|
||||
โอโฮ ! โรค Vertigo มีสาเหตุมากมายกว่าที่ได้เรียนรู้มา เป็นมากๆ ก็จะดำน้ำไม่ได้นะคะ ระวังๆกันหน่อย...
__________________
Saaychol |
|
|