#61
|
||||
|
||||
มหันตภัยจากกัมมันตภาพรังสี จาก ................. ไทยรัฐ วันที่ 3 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 03-04-2011 เมื่อ 06:51 |
#62
|
||||
|
||||
ธรรมชาติดุ-คนเดือด 'โลกาวินาศ' เรื่องลือที่ใกล้จะจริง? เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์คือ “ดาวเสาร์” โคจรเข้าใกล้ “โลก” มากที่สุดในรอบปี 2554 นี้ โดยอยู่ห่างจากโลกประมาณ 1,288 ล้านกิโลเมตร และจะมีความสว่างมากขึ้น เพราะโคจรอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับ “ดวงอาทิตย์” ซึ่งนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติ แต่ถ้าดูกันในทางโหราศาสตร์ดวงดาว มีจุดที่ถือว่าไม่ปกติ โดย อ.เก่งกาจ จงใจพระ บอกว่า... ดาวเสาร์ในทางโหราศาสตร์ถือเป็นดาวแห่ง ความทุกข์ บาปเคราะห์ ให้โทษ และเป็นดาวที่เกี่ยวกับดิน เมื่อเข้าใกล้โลกก็ต้องระวังภัยพิบัติทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น แผ่นดินไหว ดินถล่ม ยิ่งดาวเสาร์ใกล้โลกมาก ภัยลักษณะนี้ก็ยิ่งแรง ยิ่งต้องระวัง สองศาสตร์ที่ต่างก็โยงกับดวงดาวยังมีมุมที่ต่างกันได้...ฉันใด ภัยต่างๆบนโลกที่สามารถจะเกิดขึ้นได้เป็นปกติก็มีคนคิดว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ ได้...ฉันนั้น ดังเช่นภัยที่เกิดขึ้นบนโลกในระยะนี้...ที่ทำให้ ’เรื่องลือ...โลกาวินาศ“ หวนกลับมาอยู่ในกระแสวิพากษ์อีก ซึ่งในเมืองไทยก็มีข่าวว่ามีกลุ่มคนที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ในต่างประเทศถึงขั้นมีการระบุเป็นเชิง “ทฤษฎี” ’ทฤษฎีสิ้นโลก“ ในโลกออนไลน์ระเบ็งเซ็งแซ่?? ทั้งนี้ กับทฤษฎีวันสิ้นโลก (Doomsday Theories) นั้น มีการระบุถึงปัจจัยที่อาจเป็นต้นเหตุ 10 ปัจจัย ซึ่งเมื่อโลกเกิดภัยธรรมชาติบ่อย และดูจะทวีความรุนแรง รวมถึงมีเรื่องร้าย ๆ ที่เกิดโดยน้ำมือมนุษย์เอง มีเรื่องการสู้รบในประเทศโลกอาหรับ ก็ยิ่งทำให้ทฤษฎีดังกล่าวนี้ถูกส่งต่อกันมากในสังคมออนไลน์-ไซเบอร์ ปัจจัยที่ว่านี้ โดยสังเขปคือ... ’ผึ้งสูญพันธุ์“ เชื่อว่าอีกไม่นานผึ้งจะสูญพันธุ์ไปจากโลก เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ยาฆ่าแมลง การตัดแต่งพันธุกรรมพืช คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืช ทำให้อาหารขาดแคลน, ’ขาดแคลนน้ำมัน“ เชื่อว่าโลกกำลังใกล้เข้าสู่ยุคขาดแคลนน้ำมันอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่าหากยังไม่มีการพัฒนาเชื้อเพลิงอื่นแทนน้ำมัน ไม่เกินปี ค.ศ. 2020 โลกจะไม่มีน้ำมันเหลืออยู่เลย จนเกิดกลียุค ’ก่อการร้ายทำลายโลก“ เป็นแนวคิดที่แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ก่อการร้ายครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เมื่อ 11 ก.ย. 2544, ’สงครามโลกครั้งที่ 3 - สงครามนิวเคลียร์“ เชื่อว่าหากเกิดขึ้นจะทำลายสภาพอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติ จนเกิดการแย่งชิงทรัพยากรครั้งใหญ่ และประชากรโลกจะเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก, ’ภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่“ เชื่อว่าทุก 5–6 หมื่นปี ลาวาใต้พิภพจะปะทุรุนแรงจนภูเขาไฟต่างๆเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนสิ่งมีชีวิตปรับตัวไม่ทัน ’สนามแม่เหล็กโลกเปลี่ยนขั้ว“ เชื่อว่าสนามแม่เหล็กโลกจะเปลี่ยนขั้วทุก 2.5 แสนปี เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแบบกลับด้าน ทำให้ประเทศเขตร้อนหนาวยะเยือก มีหิมะตก เกิดพายุหมุน แผ่นดินไหวรุนแรง, ’ภัยพิบัติจากดวงอาทิตย์“ เชื่อว่าหากดวงอาทิตย์เกิดการปะทุครั้งใหญ่ ความร้อนจะแผ่มาแผดเผาโลกจนหายนะ ซึ่งปัจจัยนี้โยงกับความเชื่อเรื่อง ค.ศ. 2012 เรื่องปีสิ้นโลกด้วย ’ดาวนิบิรุชนโลก“ เชื่อว่ามีดาวลึกลับในตำนาน มีขนาดใหญ่กว่าโลก และในปี ค.ศ. 2012 จะมีวงโคจรทับกับโลก จะพุ่งเข้าชนกับโลก ซึ่งนี่ก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับคำทำนายวันสิ้นโลก 21-12-2012 ด้วย, ’มนุษย์ต่างดาวบุกโลก“ เชื่อว่าอีกไม่เกิน 30 ปีจะมีมนุษย์ต่างดาวมาบุกโลก ซึ่งจะทำอะไรกับโลกและชาวโลกบ้างยังไม่รู้ และอีกปัจจัยคือ ’วิกฤติโลกร้อน“ เชื่อว่าภายในปี ค.ศ. 2100 สภาพอากาศจะยิ่งเปลี่ยนแปลงรุนแรงมากขึ้นเรื่อ ๆ โลกจะร้อนจนทำลายสมดุลธรรมชาติ คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงและแพร่กระจายไปทั่ว เกิดภัยพิบัติต่างๆ ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรรมชาติ ที่จำเป็นต่อมนุษย์ ชาวโลกต้องอพยพและแย่งชิงกัน “ทฤษฎีดังกล่าว หลายเรื่องมีการหยิบยก กล่าวอ้าง เชื่อมโยงกับเรื่องวาระสุดท้ายของโลกและมนุษย์ หรือคำทำนายวันสิ้นโลกอยู่เสมอ” ...นักวิทยาศาสตร์อิสระ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ระบุ พร้อมทั้งสะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” อีกว่า... ปัจจัยต่างๆที่ว่ามานั้น บางอย่างก็เป็นไปได้ยาก บางทฤษฎีก็เป็นเรื่องเกินจริง เช่น ดาวนิบิรุ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลย เพราะปัจจุบันยังไม่มีการตรวจพบดาวเคราะห์ขนาดใหญ่ที่ถูกร่ำลือ แต่บางอย่างก็มีความเป็นไปได้ ส่วนจะมากหรือน้อยนั้น ไม่อาจตอบได้แน่ชัด อย่างไรก็ตาม ที่รับรู้ได้ ที่จับต้องได้มากที่สุด คือ “วิกฤติโลกร้อน” ที่เริ่มมีตัวอย่างให้เห็น ซึ่งก็คงไม่ถึงกับทำให้โลกดับสูญ แต่ ’ทำให้เกิดผลกระทบกับมนุษย์บนโลกในวงกว้าง!!“ “ก็อย่าตระหนกตกใจกันเกินไป หลายอย่างเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงเพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ แต่ก็ต้องมีการเก็บข้อมูล ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อเนื่อง เพื่อหาข้อมูลให้มากขึ้น และเรื่องนี้ก็ช่วยทำให้เกิดความตระหนัก เกิดความสนใจและใส่ใจโลก ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตของโลกมากขึ้น” …รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ทิ้งท้าย ทั้งนี้ เรื่อง “โลกาวินาศ-สิ้นโลก...ยังยากจะชี้ชัด” แต่ที่ชี้ได้ชัดๆแล้วก็คือ ’มนุษย์ทำลายมนุษย์ด้วยกันเอง...ก็น่ากลัวมาก“ และ ’มนุษย์ทำลายโลก...โลกก็ทำลายมนุษย์“ นี่ก็ต้องสำนึกไว้ให้จงหนัก... ในเมืองไทยเราก็มี ’บทเรียน“ ให้เห็นกันอยู่?!?!?. จาก ................. เดลินิวส์ วันที่ 6 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#63
|
||||
|
||||
กัมมันตรังสี ป้องกันอย่างไร ป้องกันอย่างไรการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกูชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทยแล้ว แม้ประเทศไทยอยู่ไกลจากจุดเกิดเหตุ ไม่ได้รับรังสีโดยตรงก็จริง แต่ก็อาจจะปนเปื้อนมากับอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มาจากญี่ปุ่น ทางโครงการ "เปิดโลกลานเกียร์" ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย จึงสัมมนาเรื่อง "กัมมันตภาพรังสีคืออะไร ป้องกันได้อย่างไร" เพื่อนำเสนออย่างครอบคลุมความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับกัมมันตภาพรังสี ระบบเตือนภัยทางอากาศทางรังสีของประเทศไทย และบทบาทต่างๆของกระทรวงสาธารณสุข ในการช่วยเหลือ หากมีอุบัติภัยทางรังสีเกิดขึ้นในประเทศ จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ นำโดย รศ.นเรศร์ จันทน์ขาว ภาควิชานิวเคลียร์เทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายกิตติศักดิ์ ชินอุดมทรัพย์ ผอ.สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ, นายอรรถโกวิท สงวนสัตย์ ผอ.สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรม วิทยาศาสตร์การแพทย์ และ รศ.พ.ญ.ภาวนา ภูสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มาร่วมกันเผยแพร่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.นเรศร์กล่าวว่า กัมมันตภาพรังสีเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งของสารที่มีสมบัติในการแผ่รังสีออกมาได้เอง กัมมันตภาพรังสีที่แผ่ออกมามีอยู่ 3 ชนิดด้วยกัน คือ รังสีแอลฟา รังสีเบตา และรังสีแกมมา "โดยปกติแล้วรังสีเป็นสิ่งที่เราได้รับตลอดเวลาในชีวิตประจำวันจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นรังสีจากพื้นโลกหรือมาจากนอกโลก อากาศที่เราหายใจ อาหาร และน้ำที่บริโภค จากการดูโทรทัศน์ ผนังบ้าน โรงเรียน และที่ทำงานล้วนประกอบด้วยสารกัมมันตรังสีทั้งสิ้น หรือแม้แต่ในร่างกายของเราเอง ดังนั้น รังสีที่เราได้รับจากธรรมชาติ ถือว่ามีค่าต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์" นายกิตติศักดิ์กล่าวถึงการป้องกันว่า ปัจจุบันสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ กระจายอยู่ในจังหวัดตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 8 สถานี ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา (กำลังติดตั้ง) ขอนแก่น อุบลราชธานี ตราด ระนอง สงขลา และกรุงเทพฯ สำหรับประเทศไทย ถ้าตรวจพบปริมาณรังสีแพร่กระจายอยู่ในอากาศ มากกว่า 0.2 ไมโคร ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ที่สถานีใด ก็จะส่งสัญญาณเตือนมาที่ศูนย์เฝ้าระวังทาง ปส.จะสืบสวนหาสาเหตุของการแพร่กระจาย แต่ถ้าเมื่อใดที่มีปริมาณรังสีสูงกว่า 1 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ถือว่าเริ่มอยู่ในระดับเตือนภัย และเตรียมพร้อมดำเนินการตรวจสอบว่ามีการฟุ้งกระจายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือไม่ ถ้ามีการฟุ้งกระจายจะประกาศแจ้งเตือนประชาชนให้ระวังอันตรายจากรังสี โดยจะขอความร่วมมือให้อยู่แต่ในที่พักอาศัย ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออพยพออกจากบริเวณที่มีความเสี่ยงจะได้รับรังสีสูง แล้วติดตามคำแนะนำเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ต่อไป นายกิตติศักดิ์ชี้ว่า กัมมันตภาพรังสีทำอันตรายมนุษย์ได้หลายทาง แต่ส่วนใหญ่เป็นทางอากาศ ด้วยการสูดดม หรือหายใจฝุ่นกัมมันตรังสีเข้าไประบบทางเดินหายใจโดยตรง นอกจากนี้ ก็รับเข้ามาทางปาก หมายถึงการกินอาหารที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่สารเหล่านี้ไม่ดูดซึมผ่านทางผิวหนังโดยตรง แต่ถ้าปริมาณรังสีมากๆ จะทำลายผิวหนังไปเลย เหมือนร่างกายคนสมัยสงครามโลกที่โดนสะเก็ดระเบิดปรมาณู "ส่วนสถานการณ์ในญี่ปุ่น หลายหน่วยงานวิเคราะห์แล้วว่า แม้แท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเมืองฟูกูชิมะจะหลอมละลายจริง กัมมันตภาพรังสีที่แพร่กระจายออกมา จะไม่ส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ หรือทางอากาศ" นายกิตติศักดิ์กล่าว ขณะที่นายอรรถโกวิทเสริมถึงสถานการณ์นิวเคลียร์ในญี่ปุ่นด้วยว่า ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจของคนไทย ด้วยหวั่นวิตกจากรังสีว่าจะปนเปื้อนมาในชั้นบรรยากาศหรือไม่ ทางกระทรวงสาธารณสุขกังวลถึงเรื่องคนไทยในญี่ปุ่น ที่กำลังประสบปัญหาในตอนนี้ จึงส่งทีมแพทย์ไปช่วยดูแลทั้งในด้านสุขภาพจิตใจและการป้องกันรังสีในเบื้องต้น นอกจากนี้ คนไทยที่กลับมาจากญี่ปุ่นจะมีทีมแพทย์คอยให้คำปรึกษา หากมีอาการป่วยทางรังสีจะจัดส่งให้ไปรักษาตัวที่ร.พ.ราชวิถี ร.พ.นพรัตน์ฯ และร.พ.เลิดสิน ส่วนคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ทางทีมกรมควบคุมโรคจะให้คำปรึกษาเช่นเดียวกัน "ส่วนยาโพแทสเซียมไอโอดีน ที่เป็นเกลือชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติทำให้ต่อมไทรอยด์เกิดการอิ่มตัว เพื่อจะสามารถป้องกันไอโอดีนกัมมันตรังสี ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อในร่างกายนั้น ต้องกินก่อนได้รับรังสีจะเป็นผลดีที่สุด หรือหลังจากได้รับไม่ควรเกิน 6 ช.ม. ขนาดการรับยาก็ต้องขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับประทาน ส่วนความเชื่อที่ว่าการใช้เบตาดีนมาทาตามท้องแขนนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันได้" นายอรรถโกวิทกล่าวถึงวิธีป้องกัน รศ.พ.ญ.ภาวนา ร่วมให้ข้อมูลทางการแพทย์ว่า ปัจจุบันนำรังสีและสารกัมมันตรังสีมาใช้งานต่างๆ เช่น ในทางการแพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย และบำบัดอาการโรคของผู้เจ็บป่วยจากโรคร้ายต่างๆ เช่น การฉายรังสีเอ็กซ์ การตรวจสมอง การตรวจกระดูก และการบำบัดโรคมะเร็ง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้งานทางรังสีในกิจการอุตสาหกรรม การเกษตร และการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ อาทิ การใช้รังสีตรวจสอบรอยเชื่อม รอยร้าวในชิ้นส่วนโลหะต่างๆ การใช้ป้ายเรืองแสงในที่มืด การตรวจอายุวัตถุโบราณ การถนอมอาหารด้วยรังสี และการฆ่าเชื้อโรคในเครื่องมือแพทย์ "แม้รังสีจะมีอยู่ล้อมรอบตัวเรา และมนุษย์ทุกคนก็สามารถใช้ประโยชน์จากรังสีได้ แต่รังสีก็นับได้ว่ามีความเป็นพิษภัยในตัวเองเช่นกัน รังสีมีความสามารถก่อให้เกิดความเสียหายของเซลล์สิ่งมีชีวิต และถ้าได้รับรังสีสูงมาก อาจทำให้มีอาการป่วยทางรังสีได้" อาจารย์ภาวนากล่าว จากเวทีพูดคุยชี้ว่ารังสีมีทั้งโทษและประโยชน์ แต่ในทางปฏิบัติจะต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ มีมาตรฐานสูง หาไม่แล้วประโยชน์ของมันจะกลายเป็นโทษมหันต์ จาก ................. ข่าวสด วันที่ 10 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#64
|
||||
|
||||
7 ระดับความรุนแรงเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ แผ่นดินไหววัดความเสียหายได้เป็น “ริกเตอร์” ในกรณีเหตุการณ์นิวเคลียร์ก็มีการวัดระดับความเสียหายไว้เช่นกัน โดยความรุนแรงสูงสุดคือระดับ 7 ซึ่งนอกจากเหตุการณ์ร้ายแรงที่ “เชอร์โนบิล” ญี่ปุ่นยังยกระดับความรุนแรงที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะให้เป็น "ระดับสูงสุด" นี้ด้วย ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์นิวเคลียร์นั้น วัดตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ (INES: International Nuclear Event Scale) ซึ่งแบ่งออกเป็น 7 ระดับ ข้อมูลจากเว็บไซต์ทบวงการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ไอเออีเอ) และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) แจกแจงถึงระดับความรุนแรงไว้ดังนี้ ระดับ 1-3 จัดเป็นอุบัติการณ์ (incident) และระดับ 4-7 จัดเป็นอุบัติเหตุ (accident) ส่วนระดับ 0 ลงไปไม่มีนัยที่สำคัญ (no safety significance) มาตรวัดระดับความรุนแรงนี้ ใช้สำหรับประเมินเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์ที่ใช้ทั่วไป และเป็นเครื่องมือที่ใช้สื่อสารกับประชาชน ในเกณฑ์ที่สอดคล้องกับประเด็นความปลอดภัยของรายงานอุบัติการณ์และอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ โดยใช้กับเหตุการณ์ใดๆก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทางด้านนิวเคลียร์ ตั้งแต่การขนส่ง การจัดเก็บ และการใช้ประโยชน์จากสารรังสีและแหล่งกำเนิดรังสี แต่มาตรวัดนี้ไม่ใช้กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ อย่างเช่นการแผ่รังสีของก๊าซเรดอน (radon) เป็นต้น จากการจัดระดับความรุนแรงตามมาตราดังกล่าว ทำให้เหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด เป็นความรุนแรงที่สุดตามมาตรานี้ และล่าสุดสถานการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ (Fukuchi Daiichi) ได้ยกขึ้นเป็นระดับ 7 เทียบเท่าอุบัติเหตุนิวเคลียร์ร้ายแรงเมื่อ 25 ปีก่อน ส่วนเหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ (Three Mile Island) ของสหรัฐฯ ระเบิด จัดเป็นความรุนแรงระดับ 5 สภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลหมายเลข 4 ที่เกิดระเบิดเสียหาย (เอพี) สภาพอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ไดอิจิ ซึ่งบันทึกภาพถ่ายทางอากาศโดยเครื่องบินที-ฮอว์ก (T-Hawk) ซึ่งเผยให้เห็นความเสียหาย (รอยเตอร์) ภาพโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทรีไมล์ไอส์แลนด์ในยามค่ำคืนที่บันทึกเมื่อ 15 มี.ค.2011 ที่ผ่านมา (รอยเตอร์) สำหรับผลกระทบจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ 7 ระดับ ประเมินจากการประเมินผล 3 อย่าง ไล่จากการสูญเสียการป้องกันเชิงลึก (defence in depth degradation) ผลกระทบ ณ สถานที่ตั้งโรงงาน (on-site effect) และ ผลกระทบนอกสถานที่ตั้งโรงงาน (off-site effect) ระดับ 1 - เหตุผิดปกติ (Anomaly) ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีการได้รับรังสีเกินขีดจำกัดประจำปีตามกฎหมายกำหนด, มีปัญหาเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับองค์ประกอบความปลอดภัย แต่ยังมีความสามารถในการป้องกันเชิงลึก และมีการสูญหายหรือเกิดการขโมยอุปกรณ์รังสี ชุดรังสีสำหรับเดินทางหรือแหล่งกำเนิดรังสีในระดับที่ไม่สูงมาก หากแต่การจัดระดับความรุนแรงนี้ก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ ซึ่งยากที่จะวัดได้ตรงๆ ว่าเหตุผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่านั้นซึ่งไม่มีนัยสำคัญ ระดับ 2 - อุบัติการณ์ (Incident) ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - มีความผิดพลาดในการจัดเตรียมด้านความปลอดภัยอย่างมีนัยสำคัญ แต่ไม่มีสืบเนื่องตามมา, พบแหล่งกำเนิดรังสีสูงที่ไม่มีเจ้าของ แต่อุปกรณ์ห่อหุ้มไม่ได้รับความเสียหาย, การห่อหุ้มสำหรับวัสดุกำเนิดรังสีสูงไม่เพียงพอ ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - ระดับการแผ่รังสีในบริเวณปฏิบัติงานมากกว่า 50 มิลลิซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับรังสีเกิน 10 มิลลิซีเวิร์ต, ผู้ปฏิบัติงานด้านรังสีได้รับรังสีในปริมาณมากกว่าขีดกำจัดประจำปีที่กฎหมายกำหนด ระดับ 3 - อุบัติการณ์รุนแรง (Serious incident) ผลกระทบต่อการป้องกันเชิงลึก - เกิดอุบัติเหตุใกล้ๆโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยไม่มีมีการเตรียมระวังเรื่องความปลอดภัย, แหล่งกำเนิดรังสีที่ผนึกไว้อย่างดีสูญหายหรือถูกขโมย, ขนส่งแหล่งกำเนิดรังสีสูงผิดพลาด โดยไม่มีกระบวนการรับมือที่ดีพอ ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - มีการปลดปล่อยรังสีในพื้นที่ดำเนินงานมากกว่า 1 ซีเวิร์ตต่อชั่วโมง, มีการปนเปื้อนสูง ในบริเวณที่ไม่ควรจะมีการแผ่รังสี แต่มีโอกาสต่ำที่คนทั่วไปจะได้รับรังสีจากบริเวณดังกล่าว ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีระดับรังสีสูงกว่าที่ขีดจำกัดที่กฎหมายกำหนด สำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านรังสี 10 เท่า, การแผ่รังสีส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระดับที่ไม่ทำให้ถึงตาย ระดับ 4 - อุบัติเหตุที่มีผลกระทบในระดับท้องถิ่น (Accident with local consequences) ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - แท่งเชื้อเชื้อเพลิงหลอมละลายหรือแท่งเชื้อเพลิงได้รับความเสียหายและมีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณเล็กน้อย , มีการปลดปล่อยสารรังสีปริมาณสูงภายในพื้นที่และมีโอกาสสูงที่ประชาชนจะได้รับสารรังสีในปริมาณสูงด้วย ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีในระดับต่ำและต้องวางแผนรับมือ ,มีการควบคุมอาหารในพื้นที่, มีคนเสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย ระดับ 5 - อุบัติเหตุพร้อมผลกระทบในวงกว้าง (Accident with wider consequences) ผลกระทบ ณ ที่ตั้งโรงงาน - เกิดความเสียหายรุนแรงที่แกนปฏิกรณ์, สารรังสีปริมาณมากถูกปล่อยออกมา และมีโอกาสสูงที่จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชาชน และยกระดับความรุนแรงขึ้นไปอีกหากเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงมากขึ้นหรือเกิดเพลิงไหม้ ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - การจำกัดการปลดปล่อยวัสดุนิวเคลียร์ จำเป็นต้องมีการรับมือที่ได้รับการวางแผนอย่างดี, มีผู้เสียชีวิตหลายรายจากการได้รับรังสี ระดับ 6 - อุบัติเหตุรุนแรง (Serious accident) ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยสารรังสีออกมาจำนวนมาก และต้องบรรลุผลในการรับมือตามแผน อุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ระดับนี้ เคยเกิดขึ้นครึ่งหนึ่งกับโรงงานแปรสภาพเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว (nuclear waste reprocessing facility) สำหรับการทหาร ในเมืองมายัค (Mayak) ของอดีตสหภาพโซเวียต เมื่อ 29 ก.ย.1957 ซึ่งเกิดปัญหาระบบทำความเย็นล้มเหลวในโรงงาน ทำให้มีวัสดุรังสีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม 70-80 ตัน แต่ผลกระทบต่อประชากรในท้องถิ่นเป็นอย่างไรนั้น ไม่ทราบทั้งหมดแน่นชัด ระดับ 7 - อุบัติเหตุรุนแรงที่สุด (Major accident) ผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม - มีการปลดปล่อยวัสดุรังสี ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมออกไปเป็นวงกว้าง และต้องบรรลุผลในการรับมือซึ่งมีการวางแผนและจัดเตรียมไว้ หลังเหตุการณ์ที่เชอร์โนบิลและทรีไมลไอส์แลนด์ ทำให้เกิดแนวคิดในการพัฒนามาตรวัดความรุนแรงของอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ ซึ่งมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้ ได้รับการกำหนดขึ้นมาโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ ที่รวมตัวกันครั้งแรกเมื่อปี 1989 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างไอเออีเอและสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์หรือเอ็นอีเอ (Nuclear Energy Agency: NEA) ในสังกัดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาหรือโออีซีดี (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) นับแต่นั้น ทางไอเออีเอได้ร่วมมือกับสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ของเอ็นอีเอ พร้อมด้วยการสนับสนุนจากกว่า 70 ประเทศในการกำหนดมาตรานี้ขึ้นมา และมีการปรับปรุงมาตรานี้หลายครั้ง โดยมีประชุมเชิงเทคนิคทุก 2 ปี สำหรับการเข้าร่วมในระบบนี้เป็นไปโดยสมัครใจ ซึ่งตัวแทนประเทศต่างๆที่ร่วมกำหนดมาตราวัดความรุนแรงของเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์นี้จะร่วมถกเถียงและตัดสินใจในการประยุกต์ใช้มาตรานี้. จาก ................. ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 18 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#65
|
||||
|
||||
"คุ้มครองโลก" ก่อนไม่มี "โลก"ให้ครอบครอง ให้โลกเราสวย พวกเรามาช่วยกัน รับรู้ด้วยกัน แล้วทำให้โลกนี้สดใส อยากให้โลกน่าอยู่กว่านี้ เป็นโลกที่เราฝันใฝ่ จะสวยอย่างไร เป็นไปได้ด้วยมือของเรา ท่อนหนึ่งของเพลง "โลกสวยด้วยมือเรา" ทุ้มอยู่ในหูซ้ำไปซ้ำมา ท่ามกลางความครึ้มสลัวมัวด้วยเมฆฝน คลอเสียงฮึมฮำบนท้องฟ้าสีหม่นอย่างต่อเนื่อง กับเวลาบ่ายแก่ๆกลางเดือนเมษายน เป็นข้อสงสัยและคำถามของหลายคน ถึงสภาพอากาศของโลกเราที่เปลี่ยนไป(มาก) ไม่ต้องดูไกล แค่ประเทศไทยของเราก็อลหม่านกับการเปลี่ยนแปลง ร้อน หนาว ฝน ในหนึ่งฤดูที่เคยหมุนผ่านไปตามปกติ ทว่าตอนนี้ผิดสภาพเพี้ยนกันไปใหญ่ ไม่แพ้จิตใจของ "มนุษย์"ตัวการฉกาจสำคัญที่ทำให้วัฐจักรของธรรมชาติ ขาดความสมดุลจนต้องสำแดงฤทธิ์เดชออกมาในรูปของมหันตภัยต่างๆ นานา ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญของโลกต้องจัด วันคุ้มครองโลก หรือ เอิร์ธเดย์ ( Earth Day) ขึ้นทุกวันที่ 22 เมษายนของทุกปี ดำเนินมาเป็นปีที่ 41 แล้ว นับตั้งแต่มีการประกาศโดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNEP) แท้จริงแล้ว การริเริ่มก่อตั้งวันคุ้มครองโลกนั้น มีมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 ด้วยแนวคิดของ เกย์ลอร์ด เนลสัน (Gaylord Nelson) สมาชิกวุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ผู้ชงเรื่องให้ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (ปธน.สหรัฐขณะนั้น)ยกเรื่องสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ เมื่ออดีตผู้นำสหรัฐอเมริกาเห็นด้วย จึงได้ออกทัวร์ทั่วประเทศ 5 วัน 11 รัฐ ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2506 (ก่อนที่ประธานาธิบดีเคเนดีจะถูกลอบยิงเสียชีวิต) การทัวร์ครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการริเริ่ม วันคุ้มครองโลก ต่อมา ในปี พ.ศ. 2512 วุฒิสมาชิกเนลสันได้ผลักดันให้มีการจัดการชุมนุมประชาชนระดับรากหญ้าทั่วประเทศขึ้น เปิดเวทีแสดงความคิดเห็นในปัญหาสิ่งแวดล้อม พร้อมเชิญชวนให้ทุกๆ คนร่วมการชุมนุมเป็นจำนวนมาก ครั้งนั้นประชาชนอเมริกันที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมกว่า 20 ล้านคน ก็ตบเท้าพร้อมใจกันมาชุมนุม เพื่อประท้วงการเพิ่มขึ้นของมลภาวะ และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นโลก ผลจากการชุมนุมครั้งนั้นเอง ก่อให้เกิดการออกพระราชบัญญัติแก้ไขมลพิษในอากาศของสหรัฐอเมริกา และมีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อมแห่งชาติขึ้น จนในที่สุดก็มีการกำหนด วันคุ้มครองโลก หรือ"Earth Day" นับตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2513 เป็นต้นมา เป้าหมายของวันคุ้มครองโลก ประกอบด้วยลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่อย่างหนาแน่นในบรรยากาศ ,กำจัดคลอโรฟลูออโรคาร์บอนซึ่งเป็นตัวทำลายสภาพโอโซนและก่อให้เกิดการสะสมความร้อนให้หมดสิ้นไป , อนุรักษ์สภาพป่าที่เหลืออยู่ ทั้งที่เป็นป่าเบญจพรรณและป่าดงดิบ ,ห้ามซื้อ-ขายสิ่งมีชีวิตที่อาจทำให้ภาวะการเจริญพันธุ์ลดลงหรือหมดสิ้นไป , คงสภาพระดับประชากรไว้ให้อยู่ในสภาพที่สมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ,สร้างพลังอำนาจจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกให้ร่วมกันปกป้องบรรยากาศ น้ำ และสภาพอื่น ๆ ให้พ้นจากการกระทำที่มิชอบของมนุษย์ และที่สำคัญคือ สร้างสำนึกในอันที่จะรักษาโลกไว้ทั้งบุคคล ชุมชนและชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อมพ่วงด้วยจิตสำนึกที่ดีในการรักษาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติได้แพร่ขยายไปอย่างกว้างขวาง ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกจัดให้มีกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี เพื่อเรียกร้องให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์โลกใบสำคัญนี้เอาไว้ ด้วยผลกระทบอย่างไม่คาดฝันก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้กว่านับพัน หมื่นล้านชีวิตต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิษและวิกฤตของสภาพอากาศซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาน้ำเสีย อากาศเป็นพิษ หรือการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดวาตภัย หรืออุทกภัยอย่างฉับพลัน สร้างความเสียหายให้กับสรรพสิ่งอย่างใหญ่หลวง ทุกปีประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั่วทุกหนทุกแห่ง โดยเฉพาะแถบแอฟริกา เคนยา ไนจีเรีย และนามิเบีย เป็นต้น การอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในเมือง หมู่บ้าน และภูเขา รณรงค์ให้มีการอนุรักษ์ป่าธรรมชาติเพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เน้นการคุมกำเนิดเพื่อให้จำนวนประชากรได้คงอยู่ในระดับคงเดิม ให้การศึกษาแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึง ร่วมกันรักษาความสะอาดตามถนนหนทาง ชายหาด อุทยาน และสถานที่สาธารณะต่างๆ ในส่วนของประเทศไทย จัดให้มีการรณรงค์ วันคุ้มครองโลก ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปีเดียวกันนั้นก็ยังถือเป็นยุคเริ่มต้นของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลังจาก สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกระทำอัตวินิบาตกรรม ยิงตัวเองตายเสียชีวิต ส่งผลให้บรรดาอาจารย์และนักศึกษาร่วมกัน 16 สถาบัน จัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้น เพื่อรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่า และตระหนักถึงผลเสียของการทำลายป่าไม้ นอกจากนี้ยังมีการจัดงาน เพื่อหาทุนเข้ามูลนิธิสืบ นาคะเสถียร เพื่อใช้ปกป้องดูแลผืนป่าอีกด้วย ในเมื่อธรรมชาติ กับมนุษย์ เป็นสิ่งคู่กันอย่างแยกมิได้ นอกจาก 22 เม.ย. จะเป็นวันคุ้มครองโลกแล้ว ยังถูกตั้งให้เป็น "วันธรรมะคุ้มครองโลก" อีกด้วย ตามมติก่อตั้งโดยองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) หลังกลุ่มบุคคลต่างๆ ต้องร่วมกันผลักดันจนสัมฤทธิ์ผลเป็นเวลายาวนานถึง 8 ปี ภายใต้คำขวัญ Clean The World Clean the Mind หรือ โลกสะอาดได้ด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ โดยให้สมาชิกศูนย์ภาคีขององค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกจัดกิจกรรมในการรักษาสิ่งแวดล้อมและความสะอาดพร้อมกันการทำใจให้บริสุทธิ์ตามแนวแห่งพุทธวิธีด้วยการสวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา นับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญขององค์กรพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพราะนอกจากจะปกป้องเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางกายภาพแล้ว ก็ให้มาปกป้องสิ่งแวดล้อมทางด้านจิตใจ ตอนเช้ารักษาความสะอาดของสถานที่ ตอนสายๆ นั่งสมาธิรักษาความสะอาดของใจ รักษาศีล 5 ร่วมทำทาน นั่งสมาธิ เพื่อให้โลกสูงขึ้น เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากภายใน "ยังมีเวลาจะเปลี่ยนพรุ่งนี้ เพื่อโลกที่ดีเพื่อวันข้างหน้า ให้เด็กน้อยๆ ค่อยๆลืมตา มามองเห็นว่าโลกงามเพียงไหน ยังมีทะเล ยังมีภูเขา ยังมีเมฆขาว ยังมีดอกไม้ อากาศดีๆ ยังมีหายใจ มีโลกสดใสให้เล่นนานๆ" ท่อนเนื้อร้องจากเด็กๆที่ประสานเสียงในเพลง "โลกป่วย" ถูกกลบด้วยความดังสายฝนโถมกระหน่ำ เหลือให้ได้ยินเพียงแผ่วเบาอยู่ ณ เวลานี้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งได้แต่เฝ้าภาวนาให้ หยาดพิรุณกลางหน้าร้อนเป็นแค่กลไกของธรรมชาติธรรมดาๆ และหวังเพียงว่า ความผิดปกติ(อันน่าสะพรึงกลัว) จะปลูกสำนึกในจิตใจมนุษย์ให้ตระหนักถึงมหันตภัยที่รออยู่ข้างหน้าไม่มากก็น้อย ด้วยการตัดความเห็นแก่ตัวหันมารักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติกันให้มากขึ้น เรื่องใกล้ตัวง่ายๆ ที่ใครๆก็ทำได้ ว่าไหม ? " เราใช้โลกอยู่ และเรารู้โลกมีใบเดียว โลกตายทุกคนตาย..." จาก ................. มติชน วันที่ 22 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#66
|
||||
|
||||
ภัยภูเขาไฟ ภูเขาไฟในเอกวาดอร์ มนุษย์สนใจและสะพรึงกลัวภูเขาไฟมานานแล้ว จากการได้เห็นการระเบิดที่รุนแรง เห็นลาวาร้อนที่ไหลทำลายชีวิตและทรัพย์สินของคนจำนวนมาก มนุษย์โบราณจึงมีตำนานเกี่ยวกับสาเหตุการระเบิดของภูเขาไฟมากมาย เช่น คนกรีกโบราณเชื่อว่าอาณาจักร Atlantis ล่มสลายเพราะภูเขาไฟบนเกาะระเบิด และการที่ภูเขาไฟ Etna บนเกาะ Sicily พ่นไฟนั้นเพราะ Hephaistos เทพแห่งไฟ ผู้มีนิวาสสถานอยู่ใต้ภูเขาไฟ ประดิษฐ์อาวุธโดยการตีเหล็กจนไฟปะทุ คนโรมันโบราณเชื่อว่าเวลา Vulcan เทพเจ้าแห่งไฟ เขี่ยไฟในเตาเผาใต้ภูเขาไฟ ควันและไฟจะถูกพ่นออกมา ชนแอซเทกในเม็กซิโกและนิการากัวเชื่อว่าในภูเขาไฟทุกลูกมีเทพเจ้าสถิตอยู่ ดังนั้นจึงนิยมนำหญิงสาวสวยไปถวายให้เทพเจ้าภูเขาไฟโปรดปราน ส่วนชาวฮาวายเชื่อว่า ในภูเขาไฟ Kilauea มีเทพธิดาชื่อ Pelé ประทับอยู่ และเวลานางพิโรธ นางจะบันดาลให้ภูเขาไฟระเบิด พ่นลาวาไหลฆ่าคนที่พูดถึงนางในแง่ร้าย แต่ใครที่นับถือและสรรเสริญนาง ลาวาจะไหลเลี่ยงบ้านของเขา ชาวฮาวายบางคนเชื่อเทพธิดาภูเขาไฟ Pelé มาก จนถึงกับอ้างว่า ก่อนภูเขาไฟจะระเบิดเล็กน้อย เทพธิดา Pelé จะปรากฏตัวในร่างของหญิงชราทุกครั้งไป ทุกวันนี้ มนุษย์มีความรู้และความเข้าใจภูเขาไฟดีขึ้นมาก เพราะนักวิทยาศาสตร์ใช้หลักการทางฟิสิกส์และเคมี ศึกษาภูเขาไฟอย่างละเอียด ต่อเนื่อง และใกล้ชิด แต่ภูเขาไฟมิได้ระเบิดบ่อย ดังนั้นการจะรู้ธรรมชาติของภูเขาไฟแต่ละลูกอย่างสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องศึกษาชีวิตของมันตั้งแต่ในอดีต จนกระทั่งถึงปัจจุบันและอนาคต ลาวาร้อนที่ไหลออกจากภูเขาไฟ Kilauea บนเกาะฮาวาย โลกมีภูเขาไฟนับ 1,300 ลูก โดยแยกเป็น 700 ลูกที่ดับแล้ว และอีก 600 ลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่มีภูเขาไฟใดมีชื่อเสียงมากเท่าภูเขาไฟเวซูเวียส (Vesuvius) ซึ่งเคยระเบิดอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี 622 ดังที่ Pliny ผู้เยาว์ได้บันทึกไว้ว่า บริเวณโดยรอบภูเขาไฟลูกนี้เป็นป่าที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น และก่อนภูเขาไฟจะระเบิด 7 ปี Spartacus กับเหล่า gladiator ได้เคยมาพักผ่อนในพื้นที่แถบนี้ ในคืนเกิดเหตุขณะที่กำลังยืนอยู่ที่ชายฝั่งของเมือง Misernum ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเนเปิลส์ที่มีภูเขาไฟเวซูเวียสเด่นเป็นสง่าอยู่เบื้องหลัง เขาได้เห็นกลุ่มควันหนาทึบปรากฏเหนือยอดเขา และทะเลควันได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้บริเวณนั้นมืดสลัว จากนั้นได้ยินเสียงภูเขาไฟระเบิดพ่นหินเหลวและเถ้าถ่านเป็นลำสูงขึ้นไปในท้องฟ้า ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ทะเลควันและทะเลลาวาได้ไหลพุ่งกลบบ้านและกำแพงเมือง ฆ่าผู้คนทั้งหมดในเมืองปอมเปอี (Pompeii) กับ Herculaneum ทั้งเป็น ถึงกระนั้นภูเขาไฟก็ยังพ่นเถ้าถ่านออกมาตลอดเวลา จนฝุ่นและหินภูเขาไฟถมทับหลังคาของทุกบ้านเรือนอย่างสมบูรณ์ ตลอดระยะเวลาร่วม 1,000 ปีที่นครปอมเปอีถูกลบหายไปจากแผนที่โลก ไม่มีใครรู้ว่าวินาทีสุดท้ายของชีวิตผู้คนในนครนี้เป็นเช่นไร จนกระทั่ง J. Alcubiere ได้ขุดพบซากปรักหักพังและศพของชาวเมืองเมื่อ 250 ปีก่อนนี้ การวิเคราะห์หลักฐานทำให้เรารู้ว่า ชาวเมืองตายเพราะอากาศเป็นพิษ และบางคนตายเพราะถูกฝุ่นภูเขาไฟที่หนักถึง 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถล่มทับจนขาดอากาศหายใจ ส่วนการระเบิดของภูเขาไฟ Tambora ซึ่งสูง 4,300 เมตร และตั้งอยู่บนเกาะซุมบาวาที่อยู่ห่างจากเกาะชวาไปทางทิศตะวันออก 400 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 10 เมษายน ปี 2358 นั้น เป็นการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะผู้คนที่อยู่ไกลจากตำแหน่งระเบิด 1,600 กิโลเมตร สามารถได้ยินเสียงระเบิด พลังระเบิดทำให้ต้นไม้บริเวณภูเขาไฟล้มระเนระนาด และฝุ่นภูเขาไฟได้ลอยปกคลุมท้องฟ้าจนผู้คนไม่เห็นแสงอาทิตย์เป็นเวลา 3 วัน หลังจากการระเบิด คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้เข้าไปสำรวจพื้นที่และพบว่า ความสูงของยอดภูเขาไฟได้ลดลง 1,200 เมตร และภูเขาไฟมีปากปล่องที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวถึง 6 กิโลเมตร ลึก 1 กิโลเมตร อานุภาพการระเบิดนี้รุนแรงเทียบเท่ากับระเบิดปรมาณู 6 หมื่นลูก คนอินโดนีเซียนับหมื่นคนใน Bali, Lombok และซุมบาวาเสียชีวิต ในอังกฤษเองก็พบว่าฤดูร้อนปีนั้นมีฝนตกมากผิดปรกติ เป็นต้น ภาพการระเบิดของภูเขาไฟ Krakatoa เมื่อปี 1883 กรากะตัว (Krakatoa) เป็นภูเขาไฟตั้งอยู่บนเกาะกรากะตัวในช่องแคบซุนดาระหว่างเกาะชวากับสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งได้ระเบิดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ปี 2426 แม้แต่ชาวออสเตรเลียที่อยู่ห่างไกลก็ยังได้ยินเสียงระเบิด W.J. Watson ผู้อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 15 กิโลเมตร ได้รายงานการเห็นลำฝุ่นพุ่งขึ้นสูง 70 กิโลเมตร และเห็นคลื่นสึนามิสูง 45 เมตร พุ่งเข้าถล่มเมืองบนเกาะต่างๆ จนราบพณาสูร การระเบิดครั้งนั้นได้ทำให้ผู้คน 35,500 ชีวิต ใน 165 หมู่บ้านล้มตาย นอกจากนี้กระแสคลื่นยังได้พัดพาแพจากเกาะกรากะตัวไปไกลถึงเกาะ Zanzibar ในแอฟริกาตะวันออกที่อยู่ห่างไกลออกไปถึง 4,800 กิโลเมตรด้วย ในการอธิบายการเกิดภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาอธิบายว่า เพราะเปลือกโลกมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นพื้นทวีปกับส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร เปลือกโลกหนาไม่สม่ำเสมอ เช่นหนาตั้งแต่ 8-40 กิโลเมตร บริเวณใต้เปลือกโลกคือส่วนที่เรียกว่าเปลือกโลกชั้นใน และลึกลงไปอีกคือส่วนที่เป็นแก่นโลก แม้องค์ประกอบหลักของเปลือกโลกชั้นในจะเป็นหิน แต่อุณหภูมิใต้โลกสูงมาก ดังนั้นหินแข็งจึงละลายเป็นหินเหลวที่หนืดและไหลช้า คล้ายน้ำเชื่อม ส่วนแก่นโลกมีอุณหภูมิสูงยิ่งขึ้นไปอีก ความร้อนจึงถูกส่งกระทำต่อเปลือกโลกชั้นในได้ตลอดเวลา เช่นเดียวกับเตาที่ให้ความร้อนแก่น้ำ จะทำให้น้ำที่ก้นกาไหลวนพาความร้อนไปทั่วกา ด้วยกระบวนการเดียวกันนี้ เมื่อหินเหลวจากเปลือกชั้นในไหลผ่านรอยแยกของเปลือกโลก เราจะเห็นการระเบิดของภูเขาไฟที่พ่นหินเหลวร้อน (ลาวา) ก๊าซ ฝุ่น ดินและหินต่างๆ ออกมา ดังนั้นเราจึงเห็นได้ว่าการระเบิดของภูเขาไฟมีบทบาทในการกำหนดลักษณะของภูมิประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศและวิถีชีวิตของผู้คนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณภูเขาไฟ สถิติ ณ วันนี้แสดงให้เห็นว่าประชากรโลกราว 600 ล้านคนอาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟ เช่น ชาวเมืองเนเปิลส์อาศัยอยู่ใกล้ภูเขาไฟเวซูเวียสในอิตาลี ส่วนภูเขาไฟ Rainier นั้นตั้งอยู่ใกล้เมือง Seattle-Tacoma ในสหรัฐอเมริกา และภูเขาไฟ Popocatepetl ตั้งอยู่ใกล้เมืองเม็กซิโกซิตีที่มีประชากรมากถึง 15 ล้านคน เป็นต้น ในการจัดชนิดของภูเขาไฟ นักธรณีวิทยาแบ่งภูเขาไฟออกเป็นสามชนิด คือ ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นซึ่งเป็นพวกที่เคยระเบิดในช่วงเวลา 500 ปีที่ผ่านมา ส่วนพวกที่เคยระเบิดในช่วง 500-5,000 ปีก่อนนี้ ก็คือภูเขาไฟที่กำลังหลับ และถ้าการระเบิดครั้งสุดท้ายเกิดเมื่อกว่า 5,000 ปี ภูเขาไฟลูกนั้นก็ถือว่าดับแล้ว ในการวิจัยภูเขาไฟ นักภูเขาไฟวิทยามุ่งหมายจะศึกษาหลายเรื่อง เช่น โครงสร้างเชิงธรณีวิทยา องค์ประกอบของลาวาที่ไหลจากปล่อง ชนิดของก๊าซที่ถูกปลดปล่อยจากปล่อง รวมถึงปรากฏการณ์แผ่นดินไหว โดยใช้วิธีวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก สนามโน้มถ่วง และวิเคราะห์ลักษณะการไหลของลาวาซึ่งก็ได้พบว่า ลาวาภูเขาไฟมักมีหิน silica, feldspar, biotite, augite, hornblende, quartz, olivine และ nepheline ซึ่งอุณหภูมิของลาวานั้นก็สูงตั้งแต่ 900-1,300 องศาเซลเซียส ความหนืดในการไหลของลาวาขึ้นกับองค์ประกอบ อุณหภูมิ และปริมาณฟองอากาศที่ลาวามี เช่นถ้าลาวามีก๊าซมาก มันจะไหลได้เร็วและไกลด้วยอัตราความเร็วตั้งแต่ 1-10 เมตรต่อวินาทีและอาจไปไกลถึง 45 กิโลเมตร เวลาภูเขาไฟระเบิดก๊าซที่เล็ดลอดคือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ และไอน้ำ (มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#67
|
||||
|
||||
ภัยภูเขาไฟ ..... (ต่อ) ภูเขาไฟ Soufrière บนเกาะเซ็นต์วินเซ็นต์ ก่อนระเบิด ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาไฟ เพื่อสามารถทำนายเวลาที่มันจะระเบิดครั้งต่อไป และความรุนแรงของการระเบิดครั้งนั้นๆ ได้ และก็พบว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรู้เวลาระเบิดของภูเขาไฟ ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นเพื่อใช้ศึกษาภูเขาไฟ เช่น นำระบบ Global Positioning System (GPS) และ Envisat ซึ่งใช้เรดาร์วัดปริมาณการขยายตัวของผิวดินภูเขาไฟได้ละเอียดถึงระดับมิลลิเมตร เพราะเวลาภูเขาไฟจะระเบิด ขนาดภูเขาไฟจะเปลี่ยนแปลง หรือใช้อุปกรณ์ที่สามารถตรวจจับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในบรรยากาศเหนือภูเขาไฟได้ เพราะก่อนภูเขาไฟจะระเบิดจะมีก๊าซชนิดนี้เล็ดลอดออกมามาก หรือใช้ดาวเทียม Landsat-7 และ Terra ที่มีอุปกรณ์ไวรังสีอินฟราเรดวัดอุณหภูมิบริเวณส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟขณะใกล้ระเบิด เพราะความร้อนจะถูกปล่อยออกมามาก แต่ดาวเทียมก็มีข้อจำกัดที่ว่า มันโคจรเหนือภูเขาไฟลูกหนึ่งๆ ได้เพียงครั้งเดียวในทุก 15 วัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นานเกินไปสำหรับความละเอียดด้านเวลา ตามปรกติ เวลานักวิทยาศาสตร์ศึกษาเหตุการณ์ภายในภูเขาไฟ เขามักวางอุปกรณ์สำรวจที่ผิวภูเขาไฟ เพื่อดักฟังเสียงคำรามและการสั่นสะเทือนเบื้องล่างทำนองเดียวกับที่แพทย์วางหูฟัง (stethoscope) ที่หน้าอกคนไข้เพื่อฟังเสียงเต้นของหัวใจ แต่ในฤดูร้อนของปี 2548 คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติกลุ่มหนึ่งได้ศึกษาภูเขาไฟลึกยิ่งกว่านั้น คือได้เจาะภูเขาไฟลงไปเพื่อดูสภาพการเคลื่อนที่ของหินเหลว โดยหวังว่าข้อมูลที่ได้จะช่วยให้รู้เวลาและความรุนแรงของการระเบิดครั้งต่อไปได้ ภูเขาไฟ Unzen ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมือง Shimabara บนเกาะคิวชูในญี่ปุ่น คือภูเขาไฟที่คณะนักวิทยาศาสตร์โดยการนำของ S. Nakata แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียวเจาะ เพราะภูเขาไฟนี้เมื่อ 216 ปีก่อน เคยระเบิดทำให้ชาวบ้าน 15,000 คนเสียชีวิต ซึ่งนับว่ามากเป็นอันดับ 5 ของสถิติการสูญเสียชีวิตด้วยภัยภูเขาไฟระเบิดในญี่ปุ่น สภาพบ้านเรือนในบริเวณที่ภูเขาไฟระเบิด ข้อมูลที่ได้แสดงว่า อุปกรณ์ที่ใช้เจาะภูเขาไฟต้องสามารถทนทานอุณหภูมิที่สูงถึง 600 องศาเซลเซียสได้ และอุปกรณ์ต้องมีระบบทำความเย็นช่วยระบายความร้อน ตลอดเวลา นอกจากนี้อุปกรณ์เจาะจะต้องมีกล้องถ่ายภาพ และเทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิของหินเหลวและดินแข็งด้วย Nakata คาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของหินเหลวขณะไหลขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้รู้เวลาที่ภูเขาไฟจะระเบิดและทิศการไหลของลาวาได้ ข้อสรุปที่ได้จะช่วยให้สามารถปกป้องชีวิต และทรัพย์สินของผู้คนที่อาศัยในถิ่นภูเขาไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม การศึกษาวิธีนี้เป็นการศึกษาที่ระยะใกล้เพราะนักวิทยาศาสตร์ต้องสูดดมก๊าซภูเขาไฟตลอดเวลา ดังนั้นสุขภาพและชีวิตของนักสำรวจจึงเป็นเรื่องเสี่ยง แต่นั่นเป็นวิธีเดียวที่เขาจะได้ข้อมูลปฐมภูมิมาช่วยให้อพยพผู้คนได้ทันเวลา ก๊าซที่เล็ดลอดเวลาหินเหลวไหลขึ้นตามปล่องภูเขาไฟก็น่าสนใจ เพราะมีการพบว่า เมื่อหินเหลวไหลถึงพื้นผิวโลกความดันภายในหินเหลวจะลด มีผลทำให้ก๊าซภายในหินเหลวถูกปล่อยออกมา โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายในหินเหลวได้ดีจะออกมาก่อน ส่วนก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งละลายได้น้อยกว่า จะออกมาภายหลัง ในการหาปริมาณของ CO2 กับ SO2 นั้น นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีวัดสมบัติการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด และอัลตราไวโอเลตของก๊าซทั้งสอง ดังนั้นถ้านักวิทยาศาสตร์เห็นปริมาณ SO2 เพิ่มขึ้นตลอดเวลา นั่นแสดงว่าหินเหลวกำลังไหลขึ้นและภูเขาไฟกำลังจะระเบิด นอกจากภูเขาไฟจะฆ่าคนด้วยการระเบิดแล้ว มันยังพ่นควันพิษให้ผู้คนได้สูดดมจนสุขภาพเสียอีกด้วย P. Baxter แห่งมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ในประเทศอังกฤษ พบว่าการสูดดมควันอย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นโรคปอดและโรคหอบหืด โครงกระดูกของผู้เสียชีวิตที่ Herculaneum ทำให้ Baxter พบว่า ลาวาที่ฆ่าคนเหล่านี้มีอุณหภูมิสูงประมาณ 500 องศาเซลเซียส และผู้เคราะห์ร้ายเสียชีวิตเพราะถูกเผาทั้งเป็น หาใช่เพราะขาดอากาศหายใจ ควันที่มีผลึก silica ทำให้เขารู้อีกว่าถ้าสูดดมผลึกชนิดนี้มากจะทำให้ปอดเป็นแผล (silicosis) และมะเร็งปอดในที่สุด เวลาภูเขาไฟระเบิด มิเพียงแต่คนที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้นที่จะเป็นอันตราย เมื่อภูเขาไฟ Redoubt ในอะแลสการะเบิดในปี 2532 ฝุ่นและเถ้าถ่านที่ลอยในอากาศได้ทำให้เครื่องยนต์เจ็ตของเครื่องบินโบอิง 747 ทั้งสี่เครื่องขัดข้อง จนเครื่องบินลดระดับเพดานบินลงอย่างกะทันหันถึง 3,000 เมตรใน 1 นาที โชคดีที่กัปตันมีสติ จึงสามารถเดินเครื่องได้อีกก่อนที่เครื่องบินจะตก อุบัติเหตุนี้ทำให้องค์การบินนานาชาติสนใจติดตามการระเบิดและทิศการลอยของฝุ่นภูเขาไฟ เพื่อรายงานให้ศูนย์ควบคุมการบินนานาชาติทราบ เครื่องบินจะบินได้อย่างปลอดภัย ฝุ่นภูเขาไฟกับสภาพต้นไม้บริเวณรอบภูเขาไฟ ภัยภูเขาไฟเป็นภัยที่ต้องป้องกันด้วยทุนสูง ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรที่คนแอฟริกาไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้ ทั้งที่แอฟริกามีภูเขาไฟประมาณ 130 ลูก ทั้งนี้เพราะคนแถบนั้นยากจนและทุพภิกขภัยคือปัญหาชีวิตที่ยิ่งใหญ่กว่ามาก ทุกปีจะมีคนอดอาหารตายประมาณ 3.5 ล้านคน ในขณะที่จำนวนคนที่เสียชีวิตเพราะภูเขาไฟระเบิดมีไม่ถึง 1,000 คน ดังเช่นเมื่อภูเขาไฟ Nyiragongo ในคองโกระเบิดเมื่อปี 2548 มีคนเสียชีวิต 150 คน แต่ในอีก 15 ปี เมื่อภูเขาไฟ Cameroon ระเบิด ผู้คน 4 แสนคนอาจล้มตายถ้าไม่ได้รับการเตือนล่วงหน้านานๆ ส่วนในประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนา เช่น อิตาลี ที่ภูเขาไฟเวซูเวียสมีหอสังเกตการณ์เตือนภัยชื่อ Vesuvius Observatory ทำหน้าที่เฝ้าดูตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่ฮาวายก็มี Hawaiian Volcano Observatory (HVO) ทำหน้าที่สังเกตการณ์ภูเขาไฟ Kilauea ตลอดเวลาเช่นกัน หอสังเกตการณ์ (HVO) นี้ทันสมัยที่สุดในโลก เพราะมีคอมพิวเตอร์ที่สามารถแสดงภาพภายในของภูเขาไฟได้สามมิติ โดยใช้ซอฟต์แวร์ที่มีชื่อว่า Geowarn ทำหน้าที่แสดงอุณหภูมิหินเหลว ปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ในส่วนต่างๆ ของภูเขาไฟ เพื่อให้เห็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดอยู่ภายในภูเขาไฟ และมีอุปกรณ์ tiltmeter สำหรับวัดการบิดเอียงของผิวภูเขาไฟ รวมทั้งมีการใช้ระบบ GPS และดาวเทียมเพื่อวัดการขยายตัวของภูเขาไฟที่ละเอียดถึงระดับ 1-2 มิลลิเมตร นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังใช้ spectrometer วัดปริมาณก๊าซ SO2 ที่เล็ดลอดออกมาทุกๆ 2 นาที และใช้ seismometer วัดรูปแบบของคลื่นแผ่นดินไหวขณะหินเหลวเคลื่อนที่ใต้ภูเขาไฟด้วย เหล่านี้คือเทคโนโลยีที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการศึกษาภูเขาไฟที่เป็นภัย เพื่อในอนาคตภูเขาไฟจะไม่สามารถฆ่าคนได้มากเท่าอดีต แต่เราก็ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่ภูเขาไฟระเบิดทำลายภูมิประเทศ เศรษฐกิจของพื้นที่นั้นไม่มีใครช่วยได้ จาก ...................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 22 เมษายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#68
|
||||
|
||||
โลกาจะวินาศ หรือเพียงแค่ภัยธรรมชาติโหดกว่าเดิม?? ผ่านพ้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 หรือ ค.ศ.2011 ไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีเหตุโลกาวินาศ ตามความเชื่อของคนอเมริกันบางกลุ่ม ที่เชื่อว่า วันที่ 21 ที่ผ่านมา จะเป็นวันสุดท้ายของโลกที่ฝรั่งเรียกขานกันว่า Judgment Day โลกมนุษย์ก็ยังเป็นโลกที่อาศัยอยู่เหมือนเดิม แม้ว่าจะมีภัยธรรมชาติต่างๆ ที่หนักหน่วงรุนแรงขึ้นมาทำลายล้างชีวิตมนุษย์ให้ล้มหายตายจากไปจำนวนมาก ปรากฏการณ์ของภัยธรรมชาติที่มีฤทธิ์เดชโหดกว่าเดิมในปัจจุบันนี้ ที่ทำให้ชาวโลกได้เห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2553 หรือ ค.ศ.2010 เป็นต้นมาที่เป็นข่าวโด่งดังสะเทือนไปทั้งโลก นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเฮติ จนทำให้ผู้คนดับสูญสิ้นไปหลายหมื่นคน ติดตามมาด้วยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในหลายจุดของโลก เป็นผลทำให้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวตายกันไปเยอะ ภูเขาไฟระเบิด ฝนตกหนักทำให้น้ำท่วม ดินโคลนถล่มเมืองใหญ่ๆในหลายประเทศต้องจมบาดาลอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ต้นปี 2554 หรือ ค.ศ.2011 เหตุร้ายจากภัยธรรมชาติก็เล่นงานชาวโลกอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอากาศแปรปรวนทำให้ฤดูกาลเหมือนจะเปลี่ยนไป ฝนตกหนักหน่วงติดต่อกันหลายวัน ดินโคลนถล่ม น้ำท่วมเมืองใหญ่ๆในหลายประเทศ รวมทั้งแผ่นดินก็ไหวหลายครั้งหลายหนตามจุดต่างๆของโลก แต่ก็ไม่ถึงขั้นเป็นข่าวช็อกโลกทีเดียว จนกระทั้งมาเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงใต้ทะเลที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่มเมืองเซนไดราบเป็นหน้ากลอง บ้านเมืองเสียหายเป็นจำนวนมากรวมถึงคนญี่ปุ่นที่ต้องเสียชีวิตและสูญหายไปหลายหมื่นคน นอกจากนี้ยังส่งผลให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดระเบิด ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้ชาวโลกต่างผวากับภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงและรุนแรงทวีคูณมากกว่าเดิม หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิถล่มญี่ปุ่นแล้ว ก็มีเหตุร้ายๆของภัยธรรมชาติโจมตีทำลายมนุษย์ไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าภูมิอากาศวิปริตทำให้ฝนตกหนักอย่างไม่เคยพบเคยเห็นในชั่วชีวิตของผู้คนในปัจจุบันนี้ หรือเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นตามมาในหลาย ๆ แห่งของแต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรงที่ทำให้โลกต้องตะลึงเหมือนที่ญี่ปุ่น ด้วยความโหดร้ายของธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ทำให้ชาวโลกบางคนบางกลุ่มที่เป็นชาวคริสต์ถึงกับเชื่อว่า โลกจะถึงกาลอวสาน ตามคัมภีร์ไบเบิล แม้ว่าวันที่ 21 พฤษภาคม 2554 โลกจะปลอดภัยจากการที่ไม่ถึงวาระสุดท้าย แต่วันต่อมาคือวันที่ 22 พฤษภาคม ภัยธรรมชาติก็ได้แผลงฤทธิ์กันในหลายพื้นที่ของโลก ซึ่งจากข่าวคราวที่รับรู้แบบไร้พรมแดนก็คือข่าว ภูเขาไฟกริมส์โวตม์ใต้ธารน้ำแข็งวัตนาโยคุลล์ ทางภาคะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไอซ์แลนด์ ปะทุพ่นเถ้าถ่านขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากสงบเงียบมานานถึง 7 ปี ในวันเดียวกัน ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวมากกว่า 5.0 ริกเตอร์ 3 ครั้งของหมู่เกาะเคอร์มาเดดในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ไปตอนเหนือประมาณ 942 กิโลเมตร หลับจากนั้นอีก 1 ชั่วโมงต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวอีกที่ทะเลด้านตะวันออกของประเทศญี่ปุ่นลึกใต้พื้นพื้นดิน 34.5 กิโลเมตรห่างจากกรุงโตเกียวเพียง 89 กิโลเมตร โดยไม่มีรายงานของความเสียหายจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ อีก 3 ชั่วโมงต่อมา ก็เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เกาะใต้หวัน ศูนย์กลางห่างจากกรุงไทเปไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ 105 กิโลเมตร ระดับความลึกของธรณีพิโรธที่ 10.2 กิโลเมตร และก็ไม่มีรายงานความเสียหายเช่นกัน ถือได้ว่าเป็นการไหวของแผ่นดินแบบเล็กๆ ยังมิใช่ใหญ่ๆที่ช็อกโลก และในวันเดียวกันอีก รัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย ได้เกิดฝนตกอย่างหนัก ฟ้าผ่า ถล่มบ้านเรือนประชาชนและเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 50 ศพ นอกจากนี้ที่ประเทศมาเลเซียก็ได้เกิดฝนตกหนักเช่นกัน เป็นเหตุให้ดินภูเขาถล่มลงมาทับศูนย์เลี้ยงเด็กกำพร้าที่เมืองฮูลู รัฐเซลังงอร์ มีผู้ถูกดินถล่มทับเสียชีวิตอย่างน้อย 16 ศพ วันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ภัยธรรมชาติก็เล่นงานโจมตีโลกอย่างต่อเนื่องอีกวันหนึ่ง โดยเกิดเหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น 5.1 ริกเตอร์ ความแรงของธรณีไหวครั้งนี้สั่นสะเทือนไปถึงกรุงโตเกียว ทั้ง ๆ ที่มีระยะทางห่างกันถึง 417 กิโลเมตร แต่ก็ไม่มีรายงานความเสี่ยหายของชีวิตและทรัพย์สินแต่ประการใด วันเดียวกันนี้ พายุทอร์นาโดได้พัดถล่มรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เซ่นสังเวยชีวิตชาวอมริกันไปร้อยกว่าศพ ซึ่งเป็นฤทธิ์เดชของพายุที่หนักที่สุดในรอบ 60 ปี และก่อนหน้านี้หนึ่งเดือนที่ผ่านมาพายุทอร์นาโดก็ได้ถล่มสหรัฐอเมริกาถึง 7 รัฐ ตายไป 300 กว่าศพ ต่อมาอีกวันคือ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศอินโดนีเซีย ใกล้เกาะสุมาตรา 4.7 ริกเตอร์ โดยไหวถึง 2 ครั้งซ้อน โดยไม่มีรายงานถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้น เชื่อว่านับจากนี้ไปต้นไป ภัยพิบัติโลกก็คงจะได้สำแดงฤทธิ์เดชให้ชาวโลกได้รับรู้ทุกวันถึงเรื่องภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นมาโดยที่คนในโลกปัจจุบันนี้ไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนให้เป็นข่าวช็อกโลกอีก สำหรับประเทศไทยของเราก็เจอภัยธรรมชาติที่แปรปรวนเล่นงานเกือบทั่วทุกภูมิภาคที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หน้าร้อนกลับมีอากาศหนาวเย็นโชยมาให้ประชาขนได้รู้สึกแปลก ๆ ภาคใต้ก็อากาศวิปริตฝนตกหนักน้ำท่วมดินถล่มตอนต้นปี ทั้งๆที่เป็นเหตุการณ์ที่ปกติจะต้องเกิดขึ้นช่วงปลายปี ทางภาคเหนือช่วงต่อหน้าร้อนกับหน้าฝน ก็เจอฝนตกหนักเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมเมืองในหลายจังหวัด แม้ภัยธรรมชาติในไทยจะไม่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ระดับโลก แต่ก็เป็นเหตุให้ต้องระลึกอยู่เสมอว่าภัยธรรมชาติมีความไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาอย่างนึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นมาได้ เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และโหดร้ายต่อมนุษย์ชาติกว่าเดิมอย่างที่ไม่เคยเห็นไม่เคยปรากฏมาก่อน อาจจะทำให้มีชาวโลกบางกลุ่มเชื่อว่าโลกกำลังจะถึงวันสุดท้ายแล้ว อย่างไรก็ตามก็มีอีกบางส่วนของชาวโลกก็มองอย่างธรรมชาติว่า โลกคงจะไม่แตกสลายตามความเชื่อหรือคำทำนายของหมอดูทั้งหลายทั่วโลก เพราะธรรมชาติย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาซึ่งไม่มีผู้ใดสามารถห้ามการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้ เพราะฉะนั้นคนเราทุกคนควรจะต้องตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาทในการรับมือป้องกันภัยธรรมชาติเป็นดีที่สุด!! จาก .................... เดลินิวส์ วันที่ 24 พฤษภาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#69
|
||||
|
||||
เจาะข้อเท็จ-จริง ทฤษฎีวันโลกแตก! กระแสข่าวลือ-ข่าวลวง-ข่าวเขย่าขวัญ ทำนองว่า 'โลกมนุษย์' จะถึงคราวดับสูญไปในปีนั้น ปีนี้ หรืออนาคตอันใกล้อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ก็ยังคงมีให้ได้เห็นได้ยินอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 'โลกไซเบอร์' รวมถึงอีเมล์ลูกโซ่ ที่มีมือมืดพยายามปั่น 'ทฤษฎีโลกแตก' สารพัดชนิด ทั้งในแง่มุมวิทยาศาสตร์ เช่น สนามแม่เหล็กโลกกลับขั้ว มุมภูตผีปีศาจเหนือธรรม ชาติ หรือพยากรณ์กันตามปฏิทินมายา ออกมาเขย่าให้ผู้คนหวาดผวาอยู่เป็นระยะๆ อย่างล่าสุด ก็ลือกันทั่วอินเตอร์เน็ตว่า โลกอาจจะแตกในปี ค.ศ.2012 หรือพ.ศ. 2555!? ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่เมื่อปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา แวดวงวิชาการไทยได้ต้อนรับศาสตราจารย์ท่านผู้หญิง 'โจเซลิน เบล เบอร์เนล' นักดาราศาสตร์หญิงชั้นแนวหน้าชาวอังกฤษ สาขาดาราศาสตร์วิทยุ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ซึ่งเดินทางมาร่วมประชุมวิชาการสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (APRIM 2011) จัดโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และระหว่างร่วมงานดังกล่าว ศ.เบอร์เนลได้สละเวลาขึ้นเวทีอธิบายไขปริศนาโลกแตก ภายใต้หัวข้อ 'ฤๅโลกดับแน่แล้ว...ไม่แคล้วปีหน้า' ยกข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แบบชัดๆ ขึ้นมาอธิบายว่า ทฤษฎีโลกแตกต่างๆ มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ขอบอกว่าชื่อชั้นของ ศ.เบอร์เนล นั้นไม่ธรรมดา เพราะมีสถานะเป็นถึงผู้ค้นพบ 'พัลซาร์' หรือดาวนิวตรอนที่แผ่คลื่นวิทยุ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ได้รับการบันทึกเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของแวดวงดวงดาวระดับสากลกันเลยทีเดียว! เริ่มต้นกับการตั้งคำถามว่า ปัจจัยอะไรที่อยู่ดีๆ มนุษย์เราถึงพากันเชื่อว่าโลกจะแตก เป็นเพราะกระแสปฏิทินมายาโบราณ ซึ่งบังเอิญเวียนมาบรรจบครบรอบ ในปี 2555 หรือเพราะภาพยนตร์ที่โกยเงินจากการเกาะกระแสความกลัวของผู้คน กระทั่งตอกย้ำสร้างภาพความเชื่อผิดๆ ปลูกฝังจนเป็นค่านิยมความตื่นกลัว ผสมผสานกับทฤษฎีอีกสารพัดอย่างที่ฟังมาจากปากต่อปาก จากเว็บสู่เว็บ ศ.เบอร์เนล ให้คำตอบว่า "หนึ่งในประเด็นหลักเรื่องโลกแตกคงหนีไม่พ้นปรากฏการณ์ 'การกลับขั้วแม่เหล็กของดวงอาทิตย์' หรือกระบวนการที่ขั้วแม่เหล็กเหนือใต้สลับตำแหน่งกัน ผกผันไปตามจุดซันสปอต หรือจุดมืดบนดวงอาทิตย์ที่กระจายอย่างไม่เป็นระเบียบนั้น จริงๆแล้วมันเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี และเพิ่งจะเกิดขึ้นสดๆ ร้อนในปี 2552 ที่การวิจัยในครั้งนั้นได้ยืนยันแล้วว่า ไม่พบข้อมูลผลกระทบที่มนุษย์ได้รับจากปรากฏการณ์ดังกล่าว แถมต้องรออีกนานถึงปี 2564 กว่ากระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง" 1.โจเซลิน เบล เบอร์เนล 2.หลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก 3.สนามแม่เหล็กโลก 4.หลุมอุกกาบาตซิดซูลูป ประเทศเม็กซิโก 5.ซันสปอตบนผิวดวงอาทิตย์ 6.ภาพดาวนิบิรุในจินตนาการ 7.พายุสุริยะ และซันสปอต ขณะที่ "พายุสุริยะ" เปลวก๊าซร้อนๆที่พวยพุ่งออกมาจากพื้นผิวของดวงอาทิตย์นั้น ศ.เบอร์เนล กล่าวว่า "พายุนี้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่ากลัวก็จริง แต่น่ากลัวสำหรับนักบินอวกาศที่ออกไปทำงานนอกชั้นบรรยากาศเท่านั้น เพราะพวกเขาต้องสัมผัสกับรังสีและอนุภาคไฟฟ้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่วนที่เราพบเห็นพายุสุริยะมากขึ้น ก็ไม่ได้อ้างอิงความเกี่ยวข้องกับการสิ้นโลกแต่อย่างใด เพราะเปลวก๊าซเหล่านี้จะค่อยๆ พัฒนาเพิ่มขึ้นไปเรื่อย จนเข้าสู่จุดสูงสุดในปี 2013 หรือ 2556 ซึ่งก็ไม่ใช่ปี 2012 อย่างที่เข้าใจ และในครั้งนี้ก็จะมีปริมาณน้อยกว่าครั้งอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกว่าครึ่งหนึ่งอีกด้วย" นอกจากนั้น ศ.เบอร์เนล ยังขยายความถึงปรากฏการณ์ 'สนามแม่เหล็กโลก' ที่เชื่อว่าในอนาคตจะกลับทิศทางจนโลกหมุนสลับขั้ว สร้างความแปรปรวนในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เมืองร้อนมีหิมะตก เมืองหนาวกลายเป็นทะเลทราย ไม่ก็น้ำท่วมโลกหรือธรณีสูบ ด้วยว่า จริงๆแล้วสนามแม่เหล็กของโลกมีการกลับตัวทุกๆประมาณ 3 แสนปี มนุษยชาติเริ่มปรากฏขึ้นเมื่อราวๆ 2.5 ล้านปีมาแล้ว ดังนั้น จึงมีการกลับทิศลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้งในประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่พบว่ามีผลกระทบต่อผู้คนหรือโลกกลมๆใบนี้ การกลับทิศของสนามแม่เหล็ก เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลานานถึง 5,000 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์ในแต่ละครั้ง โดยเริ่มจากการลดลงอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไปของสนามแม่เหล็กโลก และที่มันกำลังอ่อนตัวลงในปัจจุบัน นั่นอาจหมายถึงการเข้าสู่ช่วงกลับทิศครั้งใหม่ แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทิศการหมุนของโลกด้วยซ้ำไป อีกหนึ่งทฤษฎีวันสิ้นโลกที่ร่ำลือติดอันดับฮิตไม่แพ้กัน ก็คือ ความหวาดวิตกปรากฏการณ์ 'การเรียงตัวของดาวเคราะห์ทั้งหมดในเอกภพ' ซึ่งศ.เบอร์เนล ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า 1.การเรียงตัวของดาวเคราะห์ในเอกภพ 2.ปฏิทินมายาโบราณ "ในปี ค.ศ.2012 (พ.ศ.2555) ที่จะถึงนี้ อย่างไรแล้วก็ไม่ใช่ปีที่จะมีการเรียงตัวของดาวทั้งหมดเกิดขึ้น เพราะจากข้อมูลกว่า 5 พันล้านปีที่ผ่านมา การเรียงตัวของดาวเคราะห์ที่มีมากที่สุด 5 ดวงตรงแนวโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์คือเมื่อ ก.พ.2505 และล่าสุดใน พ.ค.2534 ที่ดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์อีก 5 ดวงก็วนมาเจอกันอีกรอบ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าดาวเคราะห์ทั้งหมดจะมาเรียงเป็นระนาบเดียวกันเลย ส่วนการเรียงตัวลักษณะนี้ในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ.2583 และ พ.ศ. 3218 ไม่ใช่ปีหน้า แถมการเรียงตัวที่เกิดขึ้นมาตลอดเหล่านี้ยังไม่เคยส่งผลกระทบทั้งในด้านแรงโน้มถ่วง หรือแรงน้ำขึ้นน้ำลงของโลกอีกด้วย" ส่วนประเด็นความเชื่อตามเรื่องเล่าของ 'ดาวเคราะห์นิบิรุ' ที่เคยตกเป็นข่าวฮือฮาว่า มีความเป็นไปได้สูงจะพุ่งชนโลกเข้าสักวัน ศ.เบอร์เนล ชี้ว่า "ดาวเคราะห์ดวงนี้ถูกสังเกตโดยชาวสุเมเรียน เมื่อ 2,500 ก่อนคริสตกาล และอ้างว่าดาวดวงนี้แหละที่จะมีคาบการโคจรเป็นวงรีในระยะเวลา 3,600 ปี พร้อมจะพุ่งชนโลกในวันที่ 21 ธ.ค. 2555 ตามเวลาที่ค้นพบนั้น ถ้าวิเคราะห์ตามหลักดาราศาสตร์แล้ว นิบิรุอยู่ห่างออกไปกว่า 400 หน่วยดาราศาสตร์เอยู หรือหน่วยวัดระยะห่างเฉลี่ยของโลกและดวงอาทิตย์ หรือประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 10 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดาวพลูโต ซึ่งเราไม่สามารถเห็นมันได้ด้วยตาเปล่าตามที่ชาวสุเมเรียนระบุไว้ จึงสรุปได้ว่าดาวเคราะห์นิบิรุไม่มีอยู่จริงนั่นเอง" "ตามมาติดๆด้วยความกลัวของซีรีส์การถูกชนจากวัตถุนอกโลก อย่างดาวเคราะห์น้อยที่เคยสร้างความเสียหายให้แก่โลก จากการพุ่งชนของดวงดาวขนาดย่อมประมาณ 100 กิโลเมตร เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว จนเป็นหลุมอุกกาบาตชิก ซูลูปที่ประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน ซึ่งเชื่อว่าการชนในครั้งนั้นอาจเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ครั้งยิ่งใหญ่ยุคไดโนเสาร์ แต่จริงๆแล้วการชนแบบนี้ จะเกิดขึ้นทุกๆ 50-100 ล้านปี และมีผลกระทบทำให้เกิดฝุ่นละอองครอบคลุมชั้นบรรยากาศ พืชจึงไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ชีวิตความเป็นอยู่บนโลกจึงค่อยๆล้มตาย แต่เรามีโครงการเฝ้าระวังอวกาศที่คอยสังเกตท้องฟ้าอยู่แล้ว หากมีวัตถุขนาดใหญ่เคลื่อนที่มายังโลกจริง เราต้องรับรู้ถึงความคืบหน้าเป็นเวลาหลายปีก่อนที่มันจะพุ่งชนโลก และสามารถหาแนวทางกำจัดดวงดาวเหล่านั้นได้ทันท่วงที ซึ่งตอนนี้เราเหลือเวลาอีกแค่ปีครึ่งก็จะถึง ธ.ค. 2012 ยังไม่เห็นมีใครระบุว่าพบวัตถุต้องสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น" ศ.เบอร์เนลย้ำ ศ.เบอร์เนลกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีของ 'หลุมดำใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก' ที่คาดว่าโลก ดวงอาทิตย์ และหลุมดำ จะเรียงเป็นเส้นตรง ส่งผลให้โลกกับดวงอาทิตย์ตกลงสู่หลุมดำนั้น ปรากฏการณ์โคจรในระนาบเดียวกันนี้ เกิดขึ้นวันที่ 21 ธ.ค. ของทุกปี แต่หลุมดำซึ่งอยู่ห่างออกไปถึง 260,000 ปีแสง ทำให้สมมติฐานดังกล่าวไม่มีความน่าเชื่อถือเข้าไปใหญ่ เพราะการเคลื่อนที่เข้าสู่หลุมดำนี้โลกจะต้องใช้เวลานานกว่า 260,000 ปี แล้ววันหนึ่ง 'จักรวาล' ของเราจะดับสิ้นจริงหรือไม่นั้น ศ.เบอร์เนลให้แง่คิดว่า "แน่นอนว่าเอกภพและดวงอาทิตย์ย่อมต้องมีวันหมดอายุขัย แต่ไม่ใช่ดับวูบแล้วแตกออกเป็นเสี่ยงๆ วิวัฒนาการทางธรรมชาติมีความพอดีแบบค่อยเป็นค่อยไป อีกราวๆ 1 พันล้านปีข้างหน้าที่ดวงอาทิตย์จะเริ่มร้อนขึ้นจนเผาผลาญน้ำบนโลกและดาวดวงอื่นๆ ถ้าตอนนั้นเรายังอยู่กันได้ก็ไม่น่าจะมีปัญหามาเสียเวลากังวลกับอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้น เทคโนโลยีในอีก 1 พันล้านปีคงจะมีคำตอบหาทางออกที่ดีที่สุดได้ แต่ถ้าวันนั้นเกิดขึ้นจริงๆ ดิฉันว่าทางรอดทางเดียวคือหาดาวดวงใหม่เป็นที่อยู่อาศัยแทนโลก" ถามว่า ถ้าอย่างนั้นการที่เราพยายามรักษาสภาพแวดล้อมบนโลกใบนี้เอาไว้ จะกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ในอนาคตรึเปล่า? "ต้องบอกก่อนว่า ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในวันนี้มันเกี่ยวข้องกับจักรวาลน้อยมาก ที่เรากำลังเผชิญหน้ากับภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว หรือสึนามิก็เป็นผลกระทบจากภายในที่เราเอาแต่ใช้ประโยชน์จากโลกโดยไม่คิดถึงปัญหาที่ตามมา สิ่งที่เราพยายามรณรงค์ทั้งประหยัดพลังงาน หาวัสดุทดแทน ปลูกป่ารักษาต้นน้ำ ล้วนเป็นการแก้ไขปลายเหตุ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ฉุกคิดทำอะไรเพื่อโลก เราทำวันนี้ก็เพื่อให้ลูกหลานอยู่ต่อบนโลกได้อย่างปกติที่สุด แต่แน่นอนว่าเรายังทำไม่เพียงพอ" ศ.เบอร์เนล กล่าว จาก .................... ข่าวสด วันที่ 2 สิงหาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#70
|
||||
|
||||
แกนโลกสลับขั้ว...เริ่มวิกฤติ 'น้ำท่วมโลก' ช่วงนี้สมาชิกผู้เชื่อมั่นคำพยากรณ์ "วันน้ำท่วมโลก 2012" ต่างอยู่กันไม่เป็นสุข เพราะต้องช่วยกันเฝ้าจับตาดูเหตุการณ์พายุน้ำฝน น้ำป่า น้ำทะเล ไหลท่วมทะลักเข้าประเทศไทยทุกสารทิศ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สอดคล้องกับคำวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญอย่าง นายวีระ วงศ์แสงนาค ที่ปรึกษาอธิบดีกรมชลประทานประเมินว่า น้ำท่วมไทยปี 2554 ถือว่าเลวร้ายสุด และทำลายสถิติอุทกภัยที่เคยบันทึกมาทั้งหมด !! "ปกติแล้วกรมชลประทานจะใช้ตัวเลขปริมาณน้ำเมื่อปี 2538 และปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่น้ำท่วมมากสุดเป็นมาตรฐานวัดสถิติน้ำท่วม โดยระดับน้ำสูงสุดจากระดับน้ำทะเลปานกลางของปี 2538 บริเวณ จ.ปทุมธานี อยู่ที่ 3.17 เมตร แต่ปี 2554 สูงถึง 3.21 เมตร ส่วนระดับน้ำที่ จ.นนทบุรี ปี 2538 สูงที่ 2.33 เมตร แต่ปีนี้พุ่งสูงสุดที่ 2.56 เมตร..." นายวีระ ยกตัวอย่าง จนถึงวันนี้...ยังไม่มีใครวิเคราะห์ได้ว่า น้ำจะท่วมเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเท่าไร !?! หลายคนไม่เชื่อว่าคำพยากรณ์น้ำท่วมโลกจะเป็นเรื่องจริง อาจจะต้องคิดใหม่ เพราะแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ยังแปลกใจเมื่อเห็นสถิติพายุมรสุมในแต่ละปีมีจำนวนมากขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ บางคนเชื่อว่าเกิดจากภาวะภูมิอากาศแปรปรวน หรือ ภาวะโลกร้อน แต่หลายคนเชื่อว่ามหันตภัยน้ำท่วมปีนี้ คือ จุดเริ่มต้นของน้ำท่วมโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2012 หรือ พ.ศ. 2555 กลุ่มผู้เชื่อใน "วันน้ำท่วมโลก" อ้างอิงข้อมูลวิทยาศาสตร์ว่า ธารน้ำแข็งบริเวณหมู่เกาะกรีนแลนด์ ซึ่งตั้งในมหาสมุทรอาร์กติกทางเหนือกำลังละลาย ด้วยพื้นที่กว่า 2.2 ล้าน ตร.กม. มีน้ำแข็งกว่า 19 ร้อยล้านตัน น้ำแข็งกำลังละลายเป็นน้ำวันละ 1 ล้านตัน โดยจะไหลลงมาสะสมจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในปี 2012 ขณะที่คำทำนายจากกลุ่มนักวิจัยอวกาศอ้างว่า องค์การนาซา หรือองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์คำนวณได้ว่า "วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 2012 แกนโลกจะพลิกกลับขั้ว" หมายถึง ขั้วโลกเหนือจะพลิกมาอยู่ขั้วโลกใต้ ช่วงเวลานั้นโลกจะไม่มีพลังสนามแม่เหล็กออกมาป้องกันรังสีต่างๆ ทำให้พลังความร้อนสูง หรือ "เปลวสุริยะ" (solar flare) จากดวงอาทิตย์พุ่งตรงมายังโลก ทำให้ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลายฉับพลัน เกิดหายนะน้ำท่วมทั่วโลก "สุมิตร อิศรางกูร ณ อยุธยา" อดีตนักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซา ให้สัมภาษณ์ว่า น้ำท่วมไทยปีนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะมีการเตือนภัยมานานกว่า 10 ปีแล้ว เนื่องจากระหว่างที่แกนโลกเคลื่อนตัวพลิกกลับขั้วจากเหนือไปใต้นั้น ส่งผลให้พลังสนามแม่เหล็กเปลี่ยนแปลง แกนโลกเอียงจาก 23.5 องศาเป็น 24.5 องศา ภาวะแปรปรวนของจักรวาลทำให้โลกร้อนระอุอย่างรวดเร็ว น้ำแข็งจากทั่วโลกละลายเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังจะเกิดพายุลมมรสุมและภัยธรรมชาติด้านต่างๆ "เปรียบเทียบได้กับไฟฟ้าลัดวงจร ปกติไฟฟ้าจะวิ่งจากสูงลงต่ำ แต่พลิกกลับด้านเป็นวิ่งจากต่ำขึ้นสูง ภัยพิบัติธรรมชาติจะมีทั้ง ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ สังเกตไหมว่าช่วงปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวเรื่องดินถล่ม โคลนถล่ม ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จากนั้นก็เกิดคลื่นยักษ์สึนามิและน้ำท่วมในประเทศต่างๆ ต่อไปจะเกิดภัยธรรมชาติที่เกี่ยวกับลม เช่น พายุลมที่ปกติความเร็ว 40 กม.ต่อชม. จะเพิ่มเป็น 450 กม.ต่อชม. จากนั้นจะเกิดเป็นไฟป่าทั่วไป หน้าร้อนจะร้อนมากขึ้น" อ.สุมิตรกล่าววิเคราะห์ สำหรับนักวิทยาศาสตร์ไทยกลุ่มที่ไม่ปักใจเชื่อเรื่องน้ำท่วมโลกนั้น พวกเขาวิเคราะห์ว่า น้ำท่วมประเทศไทยหนักขึ้นทุกปี เพราะแผ่นดินทรุดตัวและมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ขวางทางน้ำไหล "ดร.เสรี ศุภราทิตย์" ผอ.ศูนย์วิจัยภัยธรรมชาติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า จากงานวิจัยเรื่อง "ผลกระทบและแนวทางการปรับตัวจากผลพวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล" พบว่า ปกติพื้นที่กรุงเทพฯ รับปริมาณน้ำฝนไหลผ่านได้ไม่เกิน 2,500 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่ปี 2554 มีน้ำไหลผ่าน 4,700 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้น้ำท่วมหนัก สาเหตุหลักเกิดจาก 1.พื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยหายไปปีละประมาณ 10 เมตร และพื้นดินเป็นดินอ่อนมีการทรุดตัวอยู่ตลอดเวลา อีก 40 ปีข้างหน้าจะทรุดต่ำลงไปอีกประมาณ 30 ซม.ทำให้น้ำท่วมง่าย และ 2. ผลจากภาวะโลกร้อนเมื่อน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นการระบายน้ำจึงไม่ทัน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่ตามแนวชายฝั่งมักจะมีการสร้างตึกสูงหรือสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำไหล ทำให้ไม่มีช่องทางระบายน้ำออก "องค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจสหภาพยุโรป (โออีซีดี)ใช้คอมพิวเตอร์วิเคราะห์น้ำท่วมในอนาคต มีผลยืนยันได้ว่าอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า คือ พ.ศ. 2563 จะเกิดน้ำท่วม 9 เมืองใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย หนึ่งในนั้นมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย คือ 1.เมืองโกลกาตา 2.เมืองมุมไบ อินเดีย 3.เมืองดักกา บังกลาเทศ 4.มณฑลกวางสี จีน 5.เมืองเซี่ยงไฮ้ จีน 6.นครโฮจิมินห์ เวียดนาม 7.เมืองไฮฟอง เวียดนาม 8.เมืองย่างกุ้ง พม่า และ 9.กรุงเทพมหานคร ตอนแรกคาดกันว่าน้ำจะเริ่มท่วมประมาณปี 2560 2561 2562 แต่ไม่รู้ว่า 2554 คือจุดเริ่มต้นหรือเปล่า วิธีแก้คือต้องปล่อยให้น้ำไหลไปตามทางธรรมชาติ อย่าสร้างสิ่งกีดขวาง" ดร.เสรีกล่าวแนะนำทิ้งท้าย จาก .................... คม ชัด ลึก วันที่ 8 ตุลาคม 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|