#71
|
||||
|
||||
“น้ำเลี้ยงข้อเข่า” สำคัญอย่างไร ข้อเข่าของเรา มีลักษณะคล้ายกับข้อต่อ (Joint) ของเครื่องยนต์ ประกอบด้วย กระดูกผิวข้อ ซึ่งมีลักษณะเรียบลื่น เป็นมันวาว มีสี และลักษณะคล้ายกับผิวของงาช้าง ภายในมีส่วนสำคัญมากอย่างหนึ่งก็คือ “น้ำเลี้ยงข้อ” มีลักษณะเป็นของเหลวใสอยู่ภายในช่องว่างของข้อเข่า มีลักษณะพิเศษ คือมีความเหนียว และยืดหยุ่นได้ เหมือนไข่ขาว ทำหน้าที่ช่วยลดหรือดูดซับแรงกระแทกต่อเข่า จะว่าไปแล้วทำหน้าที่คล้ายๆโช้กอัพ และช่วยหล่อลื่น ลดแรงเสียดทานของผิวข้อเหมือนกับน้ำมันหล่อลื่น หรือน้ำมันจาระบี ลองคิดเล่นๆดูว่า เราใช้เครื่องยนต์ (ข้อเข่า) ของเราคู่นี้มาครึ่งชีวิตย่อมมีการสึกหรอ จากการศึกษาพบว่าเมื่อเราอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป น้ำเลี้ยงข้อเข่าจะมีปริมาณลดลง และเริ่มสูญเสียคุณสมบัติในการทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทก และการหล่อลื่น อันเนื่องมาจากสารตัวหนึ่งชื่อ ไฮยาลูโรนิก (Hyaluronic) ซึ่งเป็นสารสำคัญในน้ำเลี้ยงข้อมีปริมาณลดลง.....ก่อให้เกิดการสัมผัส เสียดสีกันโดยตรงของกระดูกผิวข้อ เกิดเสียงดังเวลาขยับข้อเข่า โดยเฉพาะเวลาลุกขึ้นจากที่นั่ง หากปล่อยทิ้งไว้ กระดูกผิวข้อก็จะสึกกร่อนไปเรื่อยๆ จนผิวข้อบางลง มีอาการอักเสบ เจ็บบริเวณหัวเข่า โดยเฉพาะบริเวณกระดูกสะบ้า (กระดูกรูปสามเหลี่ยมส่วนหน้าหัวเข่า) นานวันเข้าเกิดเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมตามมาในที่สุด นอกจากนี้ยังพบอีกว่า หากปล่อยให้ข้อเข่าเสื่อม จะมีการเปลี่ยนแปลงความสมดุลของน้ำเลี้ยงข้อ จากภาวะความเป็นกลางไปเป็นภาวะความเป็นกรด (pH 7.4 – pH 6.85) ถ้าค่า pH ยิ่งต่ำจะแสดงถึงภาวะความเป็นกรด ซึ่งจะเป็นตัวเร่งการทำลายความสมบูรณ์ของผิวข้อมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะข้อเสื่อมก็จะเป็นมาก และเป็นเร็วยิ่งขึ้น ทุกคนคงไม่อยากให้ข้อเข่าเสื่อม ดังนั้นการหมั่นดูแลรักษาสุขภาพของข้อเข่าให้ถูกต้องแต่แรก จะช่วยยืดอายุการใช้งานของข้อเข่าให้ทำหน้าที่รับใช้เราได้ยาวนานขึ้น คนที่มีน้ำหนักมากและมีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25 ถ้าควบคุมหรือลดน้ำหนักได้ ก็จะช่วยลดแรงกระแทกต่อผิวข้อ ทำให้อาการปวดเข่าหายไปได้ คนที่นั่งงอเข่าเป็นระยะเวลาต่อเนื่องนานๆ ต้องฝึกเหยียดเข่าบ่อยๆ เพื่อลดแรงกดของกระดูกสะบ้ากับกระดูกปลายเข่า ร่วมกับการฝึกออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบๆเข่าและต้นขา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกล้ามเนื้อให้ทำงานแบ่งเบาภาระการทำงานของข้อต่อ แต่ถ้าหากอยากป้องกันภาวะข้อเข่าเสื่อม หรือเริ่มเสื่อมไปบ้างแล้ว จะทำอย่างไร ในปัจจุบันมีวิธีเติมน้ำเลี้ยงข้อเข่า เพื่อทดแทนน้ำเลี้ยงข้อที่มีการลดลง โดยการนำน้ำเลี้ยงข้อสังเคราะห์ซึ่งมีลักษณะและคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำเลี้ยงข้อปกติ มาช่วยในการป้องกันและรักษา โดยการฉีดเข้าไปในข้อเข่าที่มีอาการ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์ ซึ่งมีผลการรักษาอยู่ได้นานประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับสภาวะข้อที่เสื่อม จุดประสงค์เพื่อช่วยหล่อลื่นและกระตุ้นเซลล์เยื่อบุข้อให้ทำการสร้างน้ำเลี้ยงเข่าที่ปกติขึ้นมาทดแทน เป็นวิธีที่ปลอดภัย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเลือกให้น้ำเลี้ยงข้อเข่านี้กับผู้ที่ได้รับการรักษาโดยการรับประทานยา ออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักมาแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์จิระเดช ตุงคะเศรณี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญประจำศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com จาก ...................... บ้านเมือง คอลัมน์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 11 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#72
|
||||
|
||||
'กล้ามเนื้ออักเสบ' เกิดง่ายกว่าที่คิด!!! พบคนสองกลุ่มมักปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการอักเสบ แพทย์เผยสาเหตุใกล้ตัวทำให้เกิดอาการ พร้อมแนะเคล็ดลับสำคัญใช้รักษาเบื้องต้น เกือบทุกคนต้องเคยเผชิญกับอาการปวด บวม เคล็ดขัดยอกของกล้ามเนื้อ ข้อและเส้นเอ็น ซึ่งพบเห็นได้ไม่ยาก โดยคนที่เป็นมักต้องอุทาน "โอ้ย..โอ้ย.." เพราะรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อขณะเปลี่ยนอิริยาบถ ในกิจกรรมเสวนาปัญหาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยนูโรเฟนเจลนั้น ‘นายแพทย์พันธศักดิ์ ตันสกุล’ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เผยสาเหตุของอาการกล้ามเนื้อและเอ็นอักเสบว่า เกิดจากออกแรงกล้ามเนื้อเกินกำลังหรือออกแรงกล้ามเนื้อบริเวณเดิมติดต่อกันนานเกินไป หรือบาดเจ็บจากการยืดกล้ามเนื้อหรือเอ็นไปในทิศทางหรือระยะทางที่มากเกินไป เช่น การนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน, การเล่นกีฬาขณะร่างกายไม่ฟิตหรือเล่นอย่างหักโหมเกินไป, อิริยาบถในการเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม, และการก้มหยิบหรือยกของผิดท่า ทว่ามีอาการปวดหรืออักเสบกล้ามเนื้อย่างเฉียบพลัน คุณหมอพันธศักดิ์ แนะให้หยุดการออกแรงกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆไปก่อน และใช้น้ำแข็งหรือน้ำเย็นประคบตรงตำแหน่งที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบภายใน 24 ชั่วโมงหลังมีการบาดเจ็บ รวมถึงอาจจะใช้ยาทาชนิดที่มีส่วนประกอบของยาลดการอักเสบ (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวดและอักเสบกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน โดยไม่แนะนำให้ใช้ยาทาสูตรร้อน เนื่องจากจะยิ่งกระตุ้นอาการอักเสบให้รุนแรงขึ้น อย่างไรก็ตาม อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการอักเสบเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มคน 2 กลุ่ม ซึ่งคุณหมอพันธศักดิ์บอกไว้ในคลิปเสริมบทความ รวมถึงลักษณะอาการปวดและการลุกลาม พร้อมแนะเคล็ดลับบรรเทาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อด้วยตนเอง. จาก ........................ เดลินิวส์ วันที่ 20 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#73
|
||||
|
||||
ทำอย่างไร คนสายตาสั้น ยาว เอียง จะมองได้ชัดเจน จาก ........................ ไทยรัฐ วันที่ 21 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#74
|
||||
|
||||
ข้อมูลวิทยาศาสตร์ชี้ “มะรุม” ลดน้ำตาล-คอเลสเตอรอลในเลือด ใบมะรุม อาจารย์จุฬาฯ ทดสอบสารออกฤทธิ์ “มะรุม” เพื่อหาข้อมูลวิทยาศาสตร์หนุนสรรพคุณไพรไทย พบสารสกัดจากพืชชนิดนี้ช่วยยับยั้งการย่อยน้ำตาลเป็นแป้งในลำไส้เล็ก และยังขัดขวางการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย แต่ข้อมูลยังไม่แน่ชัดพอที่จะยืนยัน พร้อมหากใช้ยาแผนปัจจุบันควบคุมน้ำตาลให้ระวังในการใช้มะรุมเพราะระดับน้ำตาลในเลือดอาจต่ำเฉียบพลัน ผศ.ดร.สิริชัย อดิศักดิ์วัฒนา อาจารย์ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาและวิจัยเรื่องฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อัลฟา-กลุโคซิเดสและกลไกการลดไขมันของสารสกัดใบมะรุม ด้วยเหตุผลว่าใบมะรุมเป้นสมุนไพรที่คนนิยมใช้มานาน และมีร้านค้านิยมนำใบมะรุมแห้งมาบรรจุเป็นแคปซูล และเชื่อกันว่ามีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต รักษามะเร็งและอีกหลายสรรพคุณ แต่ยังขาดข้อมูลวิทยาศาสตร์ยืนยัน จึงต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนทราบถึงข้อดี ข้อเสีย และข้อควรระวังในการใช้ ใบมะรุมแห้ง อาจารย์จากคณะสหเวชศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของมะรุมในการลดน้ำตาลและไขมันในเลือด โดยได้รับการสนับสนุนวิจัยจากมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งในเบื้องต้นพบข้อมุลงานวิจัยของต่างชาติ โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นแหล่งเพาะปลูกมะรุมมากที่สุด พบว่ามีงานวิจัยที่กล่าวถึงการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากมะรุมในการลดระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองที่ถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน ซึ่งหนูเบาหวานที่ได้รับสารสกัดจากใบมะรุม 1-2 เดือน มีระดับไขมันและน้ำตาลในเลือดลดลง แต่ยังไม่มีผู้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของใบมะรุมมากนัก ทาง ผศ.ดร.สิริชัยจึงได้ศึกษาในเรื่องกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดจากใบมะรุมเพิ่ม ซึ่งการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ใช้ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลในลำไลส้เล็ก ทำให้การย่อยแป้งเป็นน้ำตาลช้าลง จึงเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยเบาหวานที่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลภายหลังรับประทานอาหาร นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าสารสกัดจากใบมะรุมมีฤทธิ์ในการขัดขวางการดูดซึมไขมันกลุ่มคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย ทำให้คอเลสเตอรอลเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง “งานวิจัยนี้นับเป็นก้าวแรกที่จะตอบได้ว่ากลไกในการออกฤทธิ์ของใมะรุมเป็นอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลที่มีนั้นยังไม่มากพอที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่าสารสกัดจากใบมะรุมสามารถลดระดับน้ำตาลหรือไขมันในเลือดในคนได้ รวมทั้งต้องศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องพิษหรืออาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งหากใช้ไปนานๆ บางคนอาจจะเกิดอาการแพ้หรือมีพิษเรื้อรังได้” ข้อมูลจากศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ ระบุ ขณะนี้งานวิจัยของ ผศ.ดร.สิริชัยอยู่ระหว่างการศึกษาในคนปกติ โดยใชสารสกัดจากใบมะรุมรูปแบบผงแห้งในรูปชาใบมะรุม และให้กลุ่มตัวอย่างดื่มประมาณ 1-2 แก้ว หลังรับประทานอาหาร เพื่อศึกษาว่าสามารถชะลอการย่อยแป้งและไขมันจากอาหารได้หรือไม่ และส่งผลต่อระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดอย่างไร ซึ่งในอนาคตจะได้ปรับปรุงสารสกัดใบมะรุมให้เหมาะแก่การรับประทาน ทั้งในด้านรสชาติ และรูปแบบโดยอาจจะมีการพัฒนาให้เป็นผงในการประกอบอาหาร เช่น เครื่องแกง ผงปรุงรส เป็นต้น หรือประยุกต์เป็นอาห่ารควบคุมน้ำหนักและอาหารควบคุมแคลอรีสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ผงสกัดจากมะรุม (ภาพทั้งหมดจากศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาฯ) สำหรับข้อควรระวังในการรับปรัทานใบมะรุมแห้งนั้น ผศ.ดร.สิริชัย กล่าวว่า ควรพิจารณาตัวเองว่าเป็นผู้มีสุขภาพดีอยู่แล้วหรือไม่ หากใช่ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานใบมะรุมแห้งในปริมาณสูงเพื่อป้องกันโรค เพราะการรับประทานอาหารจำพวกผักและผลไม้เป็นประจำก็ทำให้มีสุขภาพที่ดีเช่นกัน แต่หากต้องการใช้เป็นทางเลือกในการรักษาก็ต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับใบมะรุมเพิ่มเติมหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น แพทย์ เภสัชกร บคุลากรทางการแพทย์ ก่อนตัดสินใจใช้ “หากรับประทานในรูปแคปซูลแล้วเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทาน คันตามผิวหนัง ร่างกายอ่อนเพลีย หรือพบน้ำหนักตัวลดลงในกรณีที่ใช้ต่อเนื่องยาวนาน มีอาการต่อเหลืองซึ่งอาจมาจากภาวะตับอักเสบ ต้องหยุดรับประทานและปรึกษาแพทย์ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีไขมันในเลือดสูงที่รับประทานยาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว ควรระมัดระวังในการใช้ใบมะรุม และควรหลีกเลี่ยงการรับประทานใบมะรุมในปริมาณมากพร้อมกับยาแผนปัจจุบัน เพราะสารสกัดจากใบมะรุมอาจรบกวนการดูดซึมยาแผนปัจจุบัน หรืออาจเสริมฤทธิ์กับยาลดระดับน้ำตาลในเลือดจนระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเฉียบพลัน” คำแนะนำจาก ผศ.ดร.สิริชัย จาก ........................ ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 20 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#75
|
||||
|
||||
"นอนไม่หลับ" เป็นเรื่องธรรมดา และผลดีต่อ "สุขภาพจิต" เมื่อคุณ "อดนอน"
เดลิเมล์เปิดเผยผลวิจัยความจำเป็นในการนอนไม่หลับ ของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ว่า อาการนอนไม่หลับอาจเป็นสิ่งที่เราต้องการก็เป็นไปได้ ด้วยเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าการนอนจะทำให้เราเก็บความทรงจำที่เจ็บปวดที่ทำให้เรารู้สึกผิด จากการทดลองของนักวิจัยพบว่า คนที่ว้าวุ้นใจหรือบอบช้ำทางใจความรู้สึกเหล่านี้จะน้อยลง หากพวกเขายังคงตื่นอยู่หลังจากพบเหตุการณ์สะเทือนใจ คำอธิบายจากนักประสาทวิทยากล่าวว่านี้เป็นวิวัฒนาการด้านความรู้สึกเพื่อให้บรรพบุรุษของเราดำรงอยู่ได้ โดยการจดจำสถานการณ์อันตรายได้ชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงได้ในอนาคต จากการทดลองชายและหญิงจำนวน 106 คน ของนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ โดยให้ทั้งหมดดูภาพสะเทือนอารมณ์ เช่นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงอุบัติเหตุรถยนต์ และอื่นๆ และถามถึงความรู้สึกหลังจากดูภาพเหตุการเหล่านั้นภายในเวลา 1-9 นาที หลังจากนั้นอีก 12 ชั่วโมง ได้ให้ผู้ถูกทดลองดูภาพชุดใหม่โดยมีภาพเก่าที่พวกเขาได้ดูก่อนหน้านี้ปะปนอยู่ และถามความรู้สึกหลังจากดูภาพทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มในจำนวนคนเท่าๆกัน ซึ่งกลุ่มหนึ่งให้นอนตามปกติ อีกกลุ่มให้อดนอน แล้วจึงให้ทั้งสองกลุ่มดูภาพเดิมในตอนเช้าและตอนเย็น พบว่าผู้ที่ได้นอนหลับจะมีความรู้สึกโศกเศร้าไม่ต่างจากครั้งแรกที่เห็น แต่ผู้ที่ไม่ได้นอนกลับมีความรู้สึกหม่นหมองใจน้อยกว่า แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ได้นอนหลับหลังจากพบเรื่องเจ็บปวดหรือเรื่องทำลายจิตใจ จะจดจำความรู้สึกเจ็บปวดได้แม่นยำกว่าผู้ที่อดนอน ดร.รีเบคก้า สเปนเซอร์ กล่าวว่า การนอนหลับไม่เพียงจะปกป้องความทรงจำเราเท่านั้น มันยังรักษาอารมณ์ที่เรามีระหว่างช่วงเวลาต่างๆไว้อีกด้วย เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าการนอนไม่หลับเป็นสิ่งธรรมดาเมื่อเราต้องพบเจอกับความไม่สบายใจ เพราะสมองไม่ต้องการและอาจเป็นอาการสนองตอบทางชีวภาพที่ดี ผลการวิจัยตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยา ว่าการจดจำเรื่องพวกนี้มีความสำคัญแก่ผู้ที่เป็นพยานเห็นเหตุการณ์ในการเกิดอุบัติเหตุหรืออาชญากรรม แต่อย่างไรก็ตามทีมวิจัยเห็นว่าการนอนไม่หลับเป็นสิ่งจำเป็นที่ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ความเจ็บปวดที่ได้เผชิญมา ข้อมูลจาก...ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555
__________________
Saaychol |
#76
|
||||
|
||||
แปรงฟันก่อนนอน ตื่นเช้าปากยังเหม็นเพราะอะไร ทันตแพทย์เผยสาเหตุมีกลิ่นปากหลังตื่นนอน ทั้งๆที่ก่อนเข้านอนไม่ลืมสีฟัน พร้อมเคล็ดลับ '3F' ดูแลช่องปาก แม้ก่อนเข้านอนจะทำความสะอาดฟันและช่องปากอย่างเรียบร้อย แต่ทุกเช้าหลังตื่นกลับถูกทักท้วงจากคนที่นอนข้างกายว่า "คุณมีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ อย่าพูดอะไรจนกว่าจะไปแปรงฟัน"!!! ปัญหาข้างต้น นอกจากจะสร้างความคับข้องใจ ยังทำให้ขาดความมั่นใจด้วย กรณีนี้ ทันตแพทย์หญิง นิราภร ชุติวงศ์ ไขความกระจ่างระหว่างร่วมงานแถลงข่าวแคมเปญ "เดนทิสเต้ แฮปปี้ คัปเปิ้ล สไมล์ ชวนคู่รักส่งยิ้มให้กัน" ว่า กลิ่นปากในตอนเช้า เกิดจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรคในช่องปากระหว่างที่เรากำลังหลับ ประกอบกับช่องปากที่หยุดนิ่ง และน้ำลายน้อยลง หรืออาจมีฟันผุ ปัญหาเหงือกอักเสบ ส่วนวิธีแก้ไขทำได้ด้วยการดื่มน้ำเปล่าก่อนเข้านอน และหลังตื่นนอน รวมทั้งแปรงฟันและขัดฟันให้สะอาด นอกจากนี้ ทพญ.นิราภร ยังแนะนำเคล็ดลับรักษาสุขภาพช่องปากด้วยหลัก 3F ประกอบด้วย Floss- ขัดฟัน Food-อาหารที่ควรเลี่ยง และ Frequence-ความถี่ในการพบทันตแพทย์ ซึ่ง ทพญ.นิราภร ได้ขยายความให้กระจ่าง ทั้งปัญหากลิ่นปากหลังตื่นนอนและหลัก 3F ต้องทำอย่างไรไว้ในคลิปวิดีโอประกอบบทความสุขภาพชิ้นนี้. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#77
|
||||
|
||||
ข้อเท้าแพลง บทความที่นักกีฬาทุกคนต้องอ่าน (1) สัปดาห์นี้ คอลัมน์ “คุยกันวันเสาร์กับหมอไพศาล” ขอนำเสนอเรื่องราวที่ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องพื้นๆ ที่ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักกีฬา ถือเป็นเรื่องปกติที่ได้พบเห็นบ่อย รวมทั้งมีประสบการณ์ข้อเท้าแพลงด้วยตนเองมาแล้วในอดีต แต่ท่านเชื่อหรือไม่ว่า แม้แต่นักกีฬาในระดับสุดยอดของประเทศ เช่น นักกีฬาทีมชาติในบางประเภทกีฬา ยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันไม่ได้เกิดข้อเท้าแพลง ก็ไม่ได้มีการทำการป้องกันตามมาตรฐานที่ควรจะทำ ดังนั้นจึงนำมาซึ่งการบาดเจ็บ ต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป ต้องเสียโอกาสของตนเอง หากเป็นตัวจริงของทีมที่จะลงสนามแสดงความสามารถ หรือเลวร้ายที่สุด ต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็นยึดข้อเท้า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 4-5 เดือนขึ้นไปกว่าจะเริ่มลงมือซ่อมได้ แล้วอะไรจะเกิดขึ้นอีกกับนักกีฬาที่ได้รับบาดเจ็บนั้น ท่านลองนึกเอาเองดูก็แล้วกัน สำหรับบทความใดที่นักกีฬาต้องอ่านเพราะเป็นประโยชน์ ผมจะขอใส่หมายเหตุต่อท้ายชื่อเรื่องไปเรื่อย ๆและกำกับด้วยเลขเอาไว้ เพราะผมทราบว่ามีนักกีฬาและผู้ที่ออกกำลังกาย สนใจที่หาความรู้จากบทความของเดลินิวส์เป็นจำนวนมาก ส่วนประกอบของข้อเท้า ข้อเท้ามีกระดูก 3 ชิ้นหลักมาประกอบกันเป็นข้อเท้า จากส่วนล่างของกระดูกขาและหน้าแข้งลงมา คือกระดูกทิเบีย (TIBIA) ลงมาเป็นตาตุ่มด้านในและกระดูกฟิบูล่า (FIBULA) ลงมาเป็นตาตุ่มด้านนอก มาประกอบกันเป็นข้อต่อกับกระดูกทาลัส (TALUS) เป็นข้อเท้า (ANKLE JOINT) ดูภาพเอกซเรย์ประกอบและรอบ ๆ ข้อต่อทั้งด้านตาตุ่มในและตาตุ่มนอก จะมีเอ็น (LIGAMENT) ยึดกระดูกเหล่านี้ให้แข็งแรง ไม่หลุดออกจากกัน แต่ถ้าหากเกิดการพลิกเกิดขึ้นอย่างรุนแรง เอ็นที่ยึดกระดูกเหล่านี้ จะมีการฉีกขาด (TEAR OF LIGAMENT) มีเลือดไหลออกมา เกิดอาการบวม ฟกช้ำ เจ็บปวดจนเดินไม่ปกติ ฉีกขาดมากบวมมาก ฉีกขาดน้อยบวมน้อย ใช้เวลารักษามากน้อยแตกต่างกันออกไป บางรายต้องเข้าเฝือก บางรายใช้เทปยึด บางรายต้องผ่าตัดเย็บซ่อมเอ็น การรักษาเบื้องต้น ใช้หลักการของ R.I.C.E. ดังนี้ 1. R = REST หยุดเล่นกีฬานั้น อย่าฝืนเล่นต่อไปถ้าหากมีอาการเจ็บปวด 2. I = ICE ใช้ความเย็นประคบตำแหน่งที่ปวด เพื่อให้เลือดออก หรือบวมน้อยที่สุด โดยเฉพาะในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังบาดเจ็บ 3. C = COMPRESSION ใช้ผ้ายึดพันข้อเท้า เพื่อลดการออกของเลือด ลดความเจ็บปวดเวลาขยับข้อเท้า ทำให้เท้าบวมน้อยลง หายได้ไวขึ้น 4. E = Elevation ยกปลายเท้าให้สูงขึ้น วางบนหมอน เพื่อให้การไหลเวียนของเลือดของเท้าดีขึ้น จะทำให้การบวมของเท้าลดน้อยลง หากมีอาการรุนแรง ปวดมาก บวมมาก ฟกช้ำจนผิวหนังเขียวคล้ำมาก ๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป การป้องกัน (สำคัญมากๆ) ตามที่ผมเกริ่นเอาไว้ว่า ข้อเท้าแพลงนั้นท่านสามารถป้องกันได้ แม้นว่าจะไม่ 100% แต่ก็จะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา วิธีการป้องกันก็คือการล็อกข้อเท้าด้วยเทป (ANKLE TAPING) ซึ่งต้องทำให้ถูกต้องตามหลักการ มีนักกีฬาชั้นนำระดับทีมชาติหลายท่าน ที่ทำการล็อกข้อเท้าด้วยวิธีของตนเอง ซึ่งเมื่อดูแล้วไม่เพียงพอที่จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ ตามรูปที่แสดงไว้ เป็นเพียง 1 วิธีเท่านั้นที่ท่านอาจเลือกใช้ได้ โดยพันเทปรอบ ๆ ขา เหนือข้อเท้าประมาณ 3-4 นิ้วก่อน แล้วให้ข้อเท้าอยู่ในแนวตั้งฉาก พันเทปล็อกข้อเท้าให้อยู่ในตำแหน่งนี้ 1 ครั้ง ตามรูป แล้วทำตามรูป 1-5 ต่อไปใช้เทปล็อกข้อเท้าให้เหลื่อมกับเทปชุดแรกด้านหน้าครึ่งหนึ่งจนครบรอบ แล้วเหลื่อมเทปชุดแรกไปทางด้านหลังครึ่งหนึ่ง ก็จะได้การล็อกครบถ้วนรอบข้อเท้าพอดี ผมไม่หวังว่าท่านผู้อ่านจะทำได้คล่องจากการอ่านและดูรูปจากบทความนี้เท่านั้น ผมต้องการเพียง 2 ประการ จากการที่ท่านได้อ่านบทความมาจนถึงตรงนี้ คือ 1.ท่านเห็นความสำคัญของการป้องกันข้อเท้าแพลง เพราะการบาดเจ็บจากข้อเท้าแพลง ส่งผลเสียอย่างมากแก่ชีวิตการเล่นกีฬา 2. ท่านสนใจที่จะเริ่มล็อกข้อเท้าของท่านอย่างถูกวิธี โดยท่านสามารถสอบถามจากผู้รู้ที่อยู่ใกล้ตัวท่าน และฝึกปฏิบัติจนเป็นนิสัยก่อนการฝึกซ้อมและเล่นกีฬาที่ท่านชื่นชอบ. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 28 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#78
|
||||
|
||||
"แมงมุม" กัดคนตายจริงหรือ? - คุณหมอขอบอก จากกรณีข่าวหนุ่มวัย 30 ปี เจ้าของร้านชำ ที่ จ.ภูเก็ต เสียชีวิต โดยภรรยาให้ข้อมูลว่าเห็นแมงมุมสีดำขนาดเท่าหัวแม่มือเกาะอยู่ที่ตัวสามี หลังจากได้ยินเสียงร้องของสามีขณะกำลังอาบน้ำ แล้วบังเอิญที่ไหล่ขวาของผู้เสียชีวิตมีรูขนาดเล็ก 1 รูเหมือนถูกสัตว์บางอย่างกัด ทำให้ชาวภูเก็ตเกิดความกังวลกลัวว่าจะเป็นแมงมุมซึ่งมีพิษร้ายแรงกัดนั้น ข่าวดังกล่าวทำเอาหลายคนหวาดผวาแมงมุมไปตามๆกัน แต่ข้อเท็จจริงแล้วแมงมุมที่มีอยู่ในบ้านเรากัดคนแล้วทำให้เสียชีวิตได้หรือไม่มาฟังคำตอบกัน นายประสิทธิ์ วงษ์พรหม ผู้อำนวยการศูนย์ธรรมชาติศึกษาไทย ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับแมงมุม ให้ข้อมูลว่า ทั่วโลกมีแมงมุมไม่น้อยกว่า 4 หมื่นชนิด สำหรับประเทศไทยมีแมงมุมไม่น้อยกว่า 600 ชนิด ส่วนใหญ่มีพิษน้อยถึงปานกลาง คือ ถ้ากัดก็แค่เจ็บปวด ไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต ทั้งนี้มีแมงมุมมีพิษที่รวบรวมได้มีประมาณ 17 ชนิดที่กัดคนแล้วทำให้อาการเจ็บปวด อาทิ แมงมุมแม่ม่ายน้ำตาล กลุ่มบึ้ง 9 ชนิด แมงมุมใยกลม แมงมุมใยทอง แมงมุมสวนท้องสามเหลี่ยม แมงมุมถุง เป็นต้น ในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการถูกแมงมุมกัด แต่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกบึ้งกัดประมาณ 7-8 รายเท่านั้น โดยธรรมชาติของบึ้งจะอาศัยอยู่ในป่าธรรมชาติ คนที่โดนมันกัดส่วนใหญ่จะขุดจับมันมากินเป็นอาหารพอจับพลาดเลยทำให้ถูกกัด บึ้งพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ตามป่าธรรมชาติ แต่ภาคที่นิยมนำมารับประทานคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกบางจังหวัด และภาคเหนือบางจังหวัด ส่วนภาคใต้นิยมกินไข่ของบึ้ง เหตุผลที่คนนิยมกินบึ้ง คงเป็นเพราะมีโปรตีนสูง พอย่างกับไฟจะมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ทำให้ชาวบ้านนิยมนำมารับประทานกัน สำหรับคนที่โดนบึ้งกัดจะมีอาการชาที่ปลายประสาท เสียวแปลบๆ แผลจะมีลักษณะคล้ำดำ ในบางรายแม้แผลจะหายแล้วแต่สีเนื้อบริเวณที่โดนกัดอาจมีสีคล้ำดำไม่จางหายไป ข้อแนะนำสำหรับคนที่โดนบึ้งกัด คือ ควรไปพบแพทย์เพื่อเอาเขี้ยวมันออก เพราะเวลาบึ้งกัดจะปล่อยเขี้ยวไว้ เมื่อเอาเขี้ยวออกแล้ว จะทำความสะอาดแผลให้สะอาด บางรายอาจต้องฉีดยาแก้ปวด หรือฉีดยากันบาดทะยักร่วมด้วยแล้วแต่กรณี สำหรับกรณีที่เป็นข่าว เมื่อยังไม่แน่ใจว่าโดนแมงมุมกัดจริงหรือไม่ ดังนั้นอย่าเพิ่งไปเชื่อว่าการเสียชีวิตเกิดจากแมงมุมกัด และไม่ควรตื่นตระหนก แต่ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแมงมุมทุกชนิดเพราะเราไม่รู้ว่าแมงมุมที่เราเจอนั้นมีพิษหรือไม่ เมื่อถามว่า คนที่โดนแมงมุมกัดจะแพ้จนหายใจไม่ออกเหมือนโดนต่อ ผึ้ง หรือ แตนต่อยหรือไม่? นายประสิทธิ์ กล่าวว่า คนที่เสียชีวิตจากการโดนต่อ ผึ้ง ต่อย เพราะมีอาการบวมรุนแรงและเกิดภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ แต่กรณีของแมงมุมกัดอาการจะไม่เหมือนกัน สรุปว่า แมงมุมในบ้านเราพิษน้อยถึงปานกลาง กัดคนแล้วไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ดังนั้นไม่ควรตื่นตระหนกจนเกินเหตุ. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 29 มกราคม 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#79
|
||||
|
||||
ผ่อนคลายสายตา แก้ปัญหาตาแห้ง ....................... โดย ผศ.พญ.สุมาลี หวังวีรวงศ์ ภาควิชาจักษุวิทยา การผ่อนคลายสายตา เป็นการป้องกันโรคตาแห้งที่ได้ผลดี เพื่อให้ดวงตาสดใสอยู่เสมอ เรามีวิธีป้องกันตาแห้งและถนอมดวงตามาฝากค่ะ น้ำตาของคนเรานั้น มีประโยชน์ในการช่วยเคลือบและคลุมผิวตาไม่ให้แห้ง หล่อลื่นดวงตาให้เกิดความสบายตา ลดการระคายเคืองทุกครั้งที่เรากะพริบตา และที่สำคัญคือ มีสารซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรค หากน้ำตาน้อยจะทำให้เกิดภาวะตาแห้ง ส่งผลให้เกิดความไม่สบายตาและตามัว อาการตาแห้งมีหลายสาเหตุ แต่ที่พบบ่อย คือ มีการสร้างน้ำตาลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีอายุมากขึ้น การรับประทานยาบางอย่าง เช่น ยาแก้แพ้ ยาคลายเครียด การใส่คอนแทกต์เลนส์ที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ถูกวิธี ภูมิแพ้ที่ตาหนังตาหรือเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่เคยทำเลสิก ผ่าตัดตา ผู้มีปัญหาหลับตาไม่สนิท ตลอดจนช่วงหน้าหนาวที่อากาศแห้ง ลมแรง ดื่มน้ำน้อย การอ่านหนังสือหรือใช้คอมพิวเตอร์นานๆ ก็สามารถทำให้น้ำตาระเหยไปได้เช่นกัน ดังนั้น การดูแลและป้องกันตาแห้ง ควรดูตามสาเหตุค่ะ - หากต้องใช้สายตาหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ควรพักสายตาทุก 30-60 นาที ด้วยการหลับตา 1-2 นาที กะพริบตาบ่อยๆ - ผู้ที่ใส่คอนแทกต์เลนส์ก็ไม่ควรใส่นานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน - ผู้ที่ต้องรับประทานยาที่แก้แพ้เป็นประจำ อาจจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมช่วย ดื่มน้ำมากๆ - หลีกเลี่ยงที่ที่มีลมแรง แต่ถ้าต้องอยู่ในที่ที่อากาศแห้ง ร้อน หรือมีลมพัด ควรสวมแว่นเพื่อกันแดดและลมที่เป็นสาเหตุทำให้ตาแห้งได้ นอกจากนี้ การรับประทานอาหารที่ช่วยบำรุงสายตา พวกผัก ผลไม้ ปลา หรืออาหารทะเลที่มีกรดไขมันที่จำเป็น หรือโอเมก้า-3 จะช่วยให้น้ำตาระเหยช้าลง อย่างไรก็ตาม เราควรทะนุถนอมดวงตาด้วยการพักสายตาเป็นระยะๆ ไม่ใช้สายตาติดต่อกันนานๆหลายชั่วโมง และกะพริบตาบ่อยๆ ให้มีน้ำตาเคลือบตาตลอดเวลา เพราะถ้าเราปล่อยให้ตาแห้งมากๆ จะทำให้กระจกตาไม่เรียบใส ผิวกระจกตาอักเสบ จะทำให้มีอาการระคายเคืองและตาพร่ามัวได้ค่ะ จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 08-02-2012 เมื่อ 08:13 |
#80
|
||||
|
||||
"เตรียมรับมือ....โรคกระดูกพรุนด้วยตัวท่านเอง" โรคกระดูกพรุนหรือ โรคกระดูกผุ, โปร่งบาง จัดเป็นปัญหาที่เราทุกคนต้องเผชิญในอนาคตข้างหน้าไม่ว่าตัวเราเอง คนใกล้ตัว รวมถึง คุณพ่อ คุณแม่ พี่ป้าน้าอา อันเนื่องมาจากสังคมอนาคตจะเป็นสังคมของผู้สูงอายุหรือผู้มีอายุยืน โดยผู้ชายและผู้หญิงอายุเฉลี่ยประมาณ 70 และ 75 ปี ตามลำดับ ความสำคัญของโรคนี้ คือเป็นโรคที่ไม่มีอาการแสดงที่เด่นชัด คนเป็นโรคไม่มีอาการปวด จึงทำให้ละเลย เพิกเฉยในการไปพบแพทย์เกิดอุปสรรคต่อการวินิจฉัยและทำการรักษา นานวันเข้ากระดูกที่พรุนนั้นมีความผุกร่อนรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดเกิดผลที่ทุกคนไม่อยากเจอ นั่นคือ “กระดูกหัก” ที่พบบ่อยได้แก่ การหักที่กระดูกสันหลัง ตะโพก และข้อมือ การหักที่ตะโพกค่อนข้างวิกฤติ เนื่องจาก • ผู้ป่วยตะโพกหักไม่สามารถเดินหรือช่วยเหลือตนเองได้ การดูแลสุขอนามัยกระทำได้เฉพาะแต่บนเตียงนอนเท่านั้น ซึ่งยากลำบากมากแก่ผู้ดูแล • ตัวเลขทางสถิติที่น่าตกใจพบว่าผู้ที่ตะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตถึง 1 ใน 5 นั่นคือ ผู้สูงอายุตะโพกหัก 5 คน 1 คนจะเสียชีวิต ภายในระยะ 1 ปี ซึ่งสาเหตุของการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากโรคแทรกซ้อน อันได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดบวม แผลกดทับ เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นต้น และมักมีโรคเดิมอยู่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดตีบ ไขมันในเลือดสูง ข้อเสื่อมแต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเสียชีวิต • 1 ใน 2 ของผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาเดินได้เหมือนปกติ และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ในการช่วยเดิน เช่น ไม้ค้ำยัน ไม้เท้า เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องมีค่าใช้จ่ายจากการผ่าตัดและต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามไม่มีใครอยากให้เกิดเหตุการณ์ดังที่กล่าวมา ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันความสูญเสียจึงจำเป็นต้องมีการตรวจหาความเสี่ยงของการหัก นับเป็นข่าวดีที่การตรวจหาความเสี่ยงสามารถกระทำได้ง่ายดายเหมือนกับการเอกซเรย์ทรวงอก ไม่เจ็บตัว ไม่ต้องตรวจเลือด เรียกการตรวจความหนาแน่นของกระดูกหรือการตรวจมวลกระดูก เพื่อเป็นการเอกซเรย์หาความแข็งแรงของกระดูก ภาษาแพทย์เรียก B.M.D. หรือ Bone Mineral Density เรียกสั้น ๆ ว่า Bone Density โดยค่าที่ตรวจพบสามารถบอกได้เลยว่ามีความสูญเสียของเนื้อกระดูกไปมากน้อยเพียงใดเป็นค่าร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ โดยที่ค่ามวลกระดูกน้อยกว่า หรือติดลบตั้งแต่ 2.5 จากค่ามาตรฐานลงไป บ่งบอกว่าเนื้อกระดูกหรือมวลกระดูกหายไปประมาณร้อยละ 30 อีกนัยหนึ่งเนื้อกระดูกจากเดิม 100 ส่วนเหลือเนื้อกระดูกเพียง 70 ส่วน จัดว่ามีภาวะกระดูกพรุนต้องให้การรักษา และการรักษาเพื่อให้กระดูกแข็งแรงไม่สามารถทำได้แบบทันทีทันใด ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาเพิ่มการสะสมของแร่ธาตุ แคลเซียม ฟอสเฟต ในเนื้อกระดูก และลดการทำลายหรือสูญสลายของกระดูกที่มากขึ้นตามอายุสูงวัย และกิจกรรมที่ถดถอยน้อยลง ดังนั้นหากพบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนแล้วอย่าเพิ่งตกใจ สามารถทำการรักษาให้มีภาวะกระดูกหนาแน่นสมบูรณ์ได้อีกอย่างแน่นอน แต่ทว่า การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วย แร่ธาตุ แคลเซียม หรือการรับประทานยาแคลเซียมเสริมในผู้สูงอายุที่มีกระดูกพรุนมักไม่เพียงพอ ต้องให้ยาเสริมการดูดซึมแคลเซียม เช่นวิตามินดี และยาช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูก โดยให้ลดการสูญสลายเนื้อกระดูกร่วมกับการทำกิจกรรมกลางแจ้งบ่อยขึ้น ส่วนยารักษาโรคกระดูกพรุนนั้นมีหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ฮอร์โมน เอสโตรเจน พาราไทรอยด์ แคลซิโตนิน วิตามินเค บิสฟอสโฟเนต เป็นต้น แต่กลุ่มหลักที่ใช้รักษา คือ บิสฟอสโฟเนต มีทั้งแบบรับประทานสัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง และปัจจุบันมีแบบฉีดปีละครั้งด้วย - ยาชนิดรับประทาน เหมาะกับผู้ป่วยที่กินยาสม่ำเสมอ มีวินัย เพราะหากลืมกินยาจะทำให้ได้รับประสิทธิภาพไม่เต็มที่ ผู้ป่วยบางรายกินบ้างลืมบ้างเพราะต้องทานยาหลายขนานรักษาหลายโรค อีกทั้งผู้ป่วยต้องสามารถนั่งหรือยืนตัวตรงได้อย่างน้อย - 1 ชม. เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร โดยมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีระดับแคลเซียมในกระแสเลือดต่ำ - ยาฉีดปีละครั้ง เหมาะกับผู้ป่วยที่ไม่สามารถนั่งหรือยืนตัวตรงได้นาน ๆ ผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านความจำ หรือต้องรับประทานยาหลาย ๆชนิด เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องปฏิกิริยาของยาต่างชนิดกัน ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร อีกทั้งยาฉีดปีละครั้งยังเป็นตัวยาเดียวในกลุ่มบิสฟอสโฟเนต ที่มีการศึกษาถึงการลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกระดูกตะโพกหักได้ถึง 28% ด้วย แต่มีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยเด็ก สตรีมีครรภ์และผู้ให้นมบุตร รวมถึงผู้แพ้ยากลุ่มนี้กล่าวโดยสรุป โรคกระดูกพรุนนับเป็นภยันตรายที่ร้ายแรงถึงแก่ชีวิต แต่สามารถป้องกันและรักษาได้ โดยการตรวจวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรก ๆ ข้อมูลจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันเอก นายแพทย์จิระเดช ตุงคะเศรณี ศูนย์กล้ามเนื้อ กระดูกและข้อ โรงพยาบาลพญาไท 2 http://www.phyathai.com จาก ...................... เดลินิวส์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 08-02-2012 เมื่อ 08:13 |
|
|