#81
|
||||
|
||||
5 โรคอันตรายทำร้าย “ดวงตา” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หากพูดถึง “ดวงตา” คนส่วนใหญ่มักรู้จักเพียงหน้าที่ที่ใช้ในการมองเห็นเท่านั้น ทว่า น้อยคนนักที่จะรู้จักวิธีถนอมดวงตาอวัยวะอันสำคัญนี้ บางคนปล่อยปละละเลยจนสิ่งแปลกปลอมเข้าไปทำร้ายดวงตา บางคนใช้งานจนลืมพักผ่อน ฯลฯ กระทั่งรู้ตัวอีกที สายตาคู่สำคัญก็เสื่อมสภาพไปแล้ว รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัย จักษุแพทย์แห่งประเทศไทย หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ลำดับโรคที่สำคัญเกี่ยวกับดวงตาที่ต้องระวัง 5 โรค ประกอบด้วย 1.โรคต้อหิน 2.ต้อกระจก 3.กระจกตาติดเชื้อ 4.จอประสาทตาลอก และ 5.โรคตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ ต้อหิน 1. โรคต้อหินนั้น ถือว่าเป็นโรคที่เป็นสาเหตุของการตาบอดอันดับ 1 ในคนทั่วโลก สามารถเกิดได้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขั้นไป สาเหตุหลักมาจากการเกิดความดันในลูกตาสูงเกินไป ใช้ยาหยอดตาที่มีเสตียรอยด์ และบางรายเกิดจากกรรมพันธุ์ คือ มีญาติเป็นต้อหินมาก่อน ซึ่งหากเป็นแล้วแพทย์จะรักษาโดยการยิงเลเซอร์ และใช้ยาหยอดตาร่วม หากอาการรุนแรงก็จะใช้วิธีการผ่าตัด เพื่อเปิดทางระบายน้ำในตาให้ความดันตาลดลง เพื่อป้องกันตาบอด สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุดได้แก่การตรวจวัดความดันตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และพยายามหลีกเลี่ยงการซึ้อยาหยอดตามาใช้เองในกรณีเกิดอาการระคายเคืองลูกตา 2.สำหรับวัย 50 ขึ้นไป หากไม่มีประวัติการป่วยต้อหินแล้ว ก็ควรเฝ้าระวังโรคต้อกระจก เนื่องจากโรคนี้ถือได้ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะตามัวแบบถาวร เนื่องจากเลนส์ตาจะเสื่อมตาจึงพร่ามีหมอก มัวบริเวณตาดำ ซึ่งพบได้บ่อยในบุคคลที่ป่วยโรคเบาความ และความดัน การรักษาทำได้วิธีเดียวคือสลายเลนส์เสียทิ้งแล้วใส่แก้วตาเทียม เพื่อให้ดวงตาใสเป็นปกติ ซึ่งหากรักษาไม่ทันอาจเสี่ยงเกิดต้อหินแทรกซ้อนได้ วิธีการป้องกันต้อกระจกจะคล้ายๆกับต้อหิน คือ หลีกเลี่ยงการใช้ยาเสตียรอยด์ และต้องตรวจความดันตาปีละ 1-2 ครั้ง รวมทั้งป้องกันดวงตาไม่ไห้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงด้วย ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต 3.ใช่ว่าวัยสูงอายุเท่านั้นที่จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเกี่ยวกับดวงตาแต่วัยรุ่นที่นิยมใช้คอนแทคเลนส์ทั้งแบบแฟชั่น หรือแบบใช้แก้ปัญหาสายตาสั้นก็เสี่ยงที่จะเกิดภาวะกระจกตาติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการใช้คอนแทคเลนส์ที่ไม่สะอาด ฝุ่นเข้าตาบ่อย และการเกิดอุบัติเหตุเล็กน้อย เช่น การเกิดใบไม้ กระดาษบาดตา ทำให้ระคายเคือง แสบ และปวดเบ้าตา บางรายจะตาแฉะมีขี้ตาสีเขียวอม เหลือง เกิดขึ้นผิดปกติ หรือตาแดง หากเกิดอาการดังกล่าวหลายวันแนะนำว่าให้รีบไปพบจักษุแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และรับยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม ก่อนที่เชื้อแบคทีเรียและเชื้อราจะลามไปทำลายเนื้อเยื่อและประสาทตามากขึ้น ไม่เช่นนั้นอาจเสี่ยงตาบอดได้เช่นกัน 4.มาที่โรคจอประสาทตาลอก ซึ่งมักเกิดอาการตามัว พร่า คล้ายต้อกระจก พบมากในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนกับดวง ตา หรือคนที่มีสายตาสั้นมากๆ ตั้งแต่ 500-600 ขึ้นไป อาการ เตือนของโรคคือ มองเห็นเหมือนจุดหรือหยากไย่ลอยไปมา หรือเห็นเป็นแสงเหมือนฟ้าผ่า หากพบว่ามีอาการเช่นนี้แสดงว่า น้ำวุ้นลูกตาแห้ง จากนั้นวุ้นลูกตาจะเสื่อมสภาพ หากมีบริเวณที่วุ้นติดกับจอประสาทตามากกว่าปกติจะส่งผลทำให้เกิดการดึงรั้งจอประสาทตาเวลาที่วุ้นตาหดตัวและดึงรั้งจอประสาทตา เมื่อมีอาการเช่นนี้ควรไปพบจักษุแพทย์ เพราะถ้าปล่อยไปเรื่อยๆประสิทธิภาพในการมองเห็นจะลดลง เพราะจะเริ่มมีม่านดำเป็นบางบริเวณและจะเริ่มมองไม่เห็นในที่สุด ส่วนการรักษาหากอาการยังอยู่ในช่วงเตือน รักษาได้โดยการฉายแสงเลเซอร์ แต่หากอาการถือขั้นมองไม่เห็น ก็รักษาด้วยการผ่าตัดให้กลับมามองเห็นเหมือนเดิมได้ ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต 5.ขณะที่เด็ก เยาวชน และวัยทำงานนั้น มักพบปัญหาดวงตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ เช่น อาการปวด เมื่อยดวงตา เบ้าตา เนื่องจากการเพ่งมองนานเกินไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่พบในเด็กติดเกมและติดอินเทอร์เน็ตอีกอย่างที่สำคัญ คือ ภาวะสายตาสั้นเทียม อาการเริ่มจากการเมื่อยตา และตาพร่ามัว มองไม่ชัด อาการจะเกิดค้างนานเป็นวัน ดังนั้นข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์บ่อยๆ คือ การหยุดพักสายตาทุกๆ 30 นาที โดยพักนานประมาณ 4-5 นาทีและกระพริบตาให้สม่ำเสมอ ประมาณ 10-15 ครั้งต่อนาที เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง และจัดการสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ในที่ที่มีแสงไม่มืด หรือ สว่างจนเกินไป และพยายามหลักเลี่ยงพื้นที่ซึ่งลมโกรกแรง “ปัจจุบันนี้แม้จะมีคอมพิวเตอร์แบบพกพาที่ผู้ผลิตพัฒนาหน้าจอที่ถนอมสายตาเป็นอย่างดีแล้ว แต่หลายคนก็เสพติดการใช้ จนมากเกินที่สายตาจะได้พัก ดังนั้นจึงควรใช้แต่พอดี เพื่อป้องกันผลกระทบอาจเกิดขึ้น อย่างน้อยสายตาก็จะมีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดีและยาวนาน” รศ.นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวย้ำ จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#82
|
||||
|
||||
10 อาการปกติที่ไม่ปกติก่อนหัวใจวาย ......................... โดย ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ หัวใจของคนเราเป็นก้อนเนื้อเล็กๆที่ทำงานหนักตลอดชีวิต ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านงานวิจัยของสถาบัน National Institutes of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา พบว่า 95 % ของผู้หญิงที่มีประวัติหัวใจวายมีอาการที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นก่อนการเกิดหัวใจวายหลายสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือน ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่ใช่แค่การเจ็บหน้าอกอย่างที่เราเคยทราบกัน อยากให้มาดูอาการที่คาดไม่ถึงเหล่านี้กันว่ามันคืออะไร 1. อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อยากอาเจียน เป็นที่ทราบกันดีว่า หากคุณมีอาการที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวาย เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง สูบบุหรี่ หรือครอบครัวมีประวัติโรคหัวใจ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเพื่อการป้องกันได้ทันท่วงที แต่หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้อง ตั้งแต่ปวดน้อยจนถึงปวดมาก ปวดหน่วง และอาเจียน บางคนมีอาการปวดมวนบริเวณเหนือสะดือ เราอาจไม่ทราบว่านี่เป็นอาการผิดปกติของโรคหัวใจด้วย จากการศึกษาพบว่าทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่อายุเกิน 60 ปีที่มีอาการเหล่านี้ก่อน และไม่ได้เฉลียวใจว่าจะนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตได้ เพราะอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนโดยปกติแล้วไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคหัวใจวาย แต่หากเราเฝ้าสังเกตอาการเหล่านี้อย่างใกล้ชิด อาการต่าง ๆ ที่ผิดปกติไปจากเดิม เช่นปวดท้อง โดยไม่มีสาเหตุไม่ได้เป็นเพราะไวรัสลงกระเพาะ หรือทานอาหารเป็นพิษ แต่อาจเป็นเพราะอาการของโรคหัวใจกำลังคืบคลานเข้ามาก็เป็นได้ 2. ปวดกราม หู คอ หรือไหล่ อาการปวดแปลบ และมีอาการชาที่บริเวณ อก บ่า และแขน นั่นเป็นอาการบ่งบอกอย่างหนึ่งของโรคหัวใจที่ชัดเจน แต่หากมีอาการปวดบริเวณกราม หู คอ ไหล่ หรือรู้สึกปวดร้าวจากบริเวณกรามมาถึงคอ และหู นั่นคืออาการหนึ่งที่คาดไม่ถึงของโรคหัวใจ คนไข้ที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่รายงานว่าเคยมีอาการปวดบริเวณคอถึงหัวไหล่ อาการปวดเหล่านี้อาจเป็นๆหายๆ ทำให้มองข้ามอาการเหล่านี้ไป แต่หากเกิดอาการปวดคอวันหนึ่งและหายอีกวันหนึ่ง และปวดร้าวจาก กราม มาถึงหู และ คอ อีกวันหนึ่ง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที 3. มีอาการผิดปกติทางเพศ ในผู้ชาย อวัยวะเพศอาจไม่แข็งตัว และไม่สามารถประกอบกิจทางเพศได้เหมือนคนปกติ ดูเหมือนว่าอาการแข็งตัวของอวัยวะเพศไม่น่าจะมีอะไรเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ แต่จากการศึกษาผู้ชายยุโรปที่มาเข้าบำบัดเรื่องเพศ พบว่า 2 ใน 3 ที่ไม่สามารถประกอบกิจทางเพศมีเพราะมีปัญหาเรื่องโรคหัวใจด้วย 4. เหนื่อย อ่อนล้า ไม่มีแรง อาการอ่อนเพลียต้องพักเอาแรงหลายๆวัน อาจเป็นอีกอาการที่เราคาดไม่ถึง โดยเฉพาะผู้หญิงพบว่ามีอาการเหล่านี้ก่อนมีอาการของโรคหัวใจ จากการศึกษาของ NIH พบว่าผู้หญิง มากกว่า 70% มีอาการ อิดโรย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงก่อนเกิดอาการหัวใจวายเป็นเดือน หรือ 2 เดือน จริงอยู่ที่อาการเหนื่อยอ่อน ไม่มีกำลังเป็นอาการของคนปกติ แต่หากรู้สึกว่าจากคนที่เคยกระฉับกระเฉง แต่ต้องนอนอยู่บนเตียง เพราะเพลียหรือเหนื่อยอ่อนอย่างกะทันหัน ควรปรึกษาแพทย์โดยด่วน 5. เวียนศีรษะและหายใจไม่สะดวก เมื่อหัวใจไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ ออกซิเจนไม่สามารถสูบฉีดโลหิตได้ จึงทำให้เกิดอาการหายใจติดขัด ไม่ทั่วท้อง เหมือนเวลาอยู่ในที่สูงๆ อาจมีอาการปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะร่วมอยู่ด้วยบ้าง เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ได้ระวังถึงอาการเหล่านี้เพราะคิดว่าเราใช้ปอดในการหายใจไม่ใช่หัวใจ จากการศึกษาของ NIH อีกเช่นกันพบว่า มีหลายคนบอกว่าในขณะที่ขึ้นบันได มีอาการหายใจไม่สะดวก เกิดขึ้นก่อนเกิดหัวใจวาย 6. ปวดขาหรือบวม เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ โลหิตหรือน้ำจะไม่สามารถขับถ่ายได้เหมือนเดิมจึงเกิดอาการบวมน้ำขึ้น โดยปกติจะเริ่มจาก เท้า ข้อเท้า ขา เนื่องจากเป็นอวัยวะที่อยู่ห่างจากหัวใจ จึงมีการไหลเวียนไม่สะดวก การที่อวัยวะต่างๆมีเลือดไปหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จะทำให้เกิดอาการหลอดเลือดอุดตันขึ้น ดังนั้นหากเกิดอาการบวม หรือปวดขาควรปรึกษาแพทย์ด้วย 7. นอนไม่หลับ กระวนกระวาย หลับๆตื่นๆ อาการแปลกประหลาดนี้อาจทำให้เป็นการยากสำหรับแพทย์ที่จะวินิจฉัย แต่คนที่มีอาการก่อนหัวใจวายอาจมีอาการนอนไม่หลับ กระสับกระส่ายอยู่หลายสัปดาห์หรืออาจเป็นเดือนก็ได้ อาจเป็นการยากที่จะวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับนี้สำหรับคนที่เป็นโรคนอนไม่หลับอยู่แล้ว แต่หากเรามีอาการนอนไม่หลับ กระวนกระวายอย่างไม่ทราบสาเหตุควรปรึกษาแพทย์ด้วย 8. มีอาการเหมือนเป็น Flu หรือรู้สึกเหมือนเป็นหวัด มีอาการเหงื่อออก ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว เหมือนเป็น Flu หรือไข้หวัด อาจเป็นอาการที่ยากจะอธิบายว่านี่เป็นอาการของโรคหัวใจ ให้ระวังอาการไอต่อเนื่องที่ไม่สามารถหายเองได้ด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะปอดไม่มีการไหลเวียนของโลหิตที่ดี 9. หัวใจและชีพจรเต้นเร็ว อาการเล็กๆอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คืออาการที่หัวใจเต้นเร็ว คนไข้รายหนึ่งกล่าวว่ารู้สึกเหมือนวิ่งขึ้นภูเขา หัวใจต้องทำงานหนักและเต้นเร็วมาก อาจมีอาการเวียนหัว หรือไม่มีแรงร่วมด้วย 10. ไม่อยู่กับร่องกับรอย อาการหัวใจวายในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป อาจมีอาการหลายอย่างแทรกซ้อนทำให้ยากแก่การวิเคราะห์โรค แต่สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจหรือคนใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม เช่นจากคนที่แข็งแรง กระฉับกระเฉงกลายเป็นคนลืมง่าย คิดอ่านอะไรไม่คล่อง เหนื่อยง่าย ไม่เป็นตัวของตัวเอง อาจเป็นอาการหนึ่งของโรคหัวใจที่ไม่คาดคิดได้ อาการเหล่านี้เป็นอาการที่คาดไม่ถึง เราคงไม่อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนที่เรารัก เพราะการแก้ไขได้ทันท่วงทีอาจทำให้เรารักษาคนที่เรารักไว้ได้ ดีกว่าสายเกินแก้ ดังนั้นจึงควรตรวจสุขภาพของตัวเราเอง และคนที่อยู่รอบข้างอย่างสม่ำเสมอนะคะ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ จาก ....................... ผู้จัดการออนไลน์ Life & Family วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#83
|
||||
|
||||
วิธีบรรเทาปวดศีรษะจากความเครียด “ปวดศีรษะจากความเครียด” มักพบในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ คร่ำเคร่งกับการเรียน-ทำงานมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย เครียดง่าย รวมทั้งการนั่ง-ยืนผิดสุขลักษณะ โดยจะปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และรอบศีรษะ บางคนอาจมีอาการปวดคอ และไหล่ร่วมด้วย อาการดังกล่าว แม้ยังสามารถปฏิบัติกิจวัตรได้ปกติ แต่สร้างความรำคาญ และบั่นทอนประสิทธิภาพการเรียนรู้ ซึ่งวิธีบรรเทาอาการข้างต้นทำได้ง่ายๆ เพียงปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว เริ่มจาก “โต๊ะคอมพิวเตอร์ ควรเลือกระดับให้พอดีกับข้อศอก” โดยแขนท่อนปลายสามารถวางในแนวขนานกับพื้นได้ เพื่อกดแป้นคีย์บอร์ดอย่างถนัด ส่วนเก้าอี้ ควรปรับความสูงให้อยู่ในระดับที่สามารถวางเท้าราบกับพื้น อาจหาหมอนเล็กๆรองส่วนหลัง จะช่วยให้นั่งนานๆได้สบายขึ้น “ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น” บริเวณขมับ และด้านหลังต้นคอ หรือ “นวดกล้ามเนื้อไหล่ทั้งซ้าย และขวา” โดยบีบเบาๆ สลับกับการนวดด้านหลังต้นคอ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนจากไหล่ไปต้นคอ และศรีษะสะดวกขึ้น “พกน้ำดื่มประจำโต๊ะ” เนื่องจากภาวะร่างกายขาดน้ำ เป็นปัจจัยหนึ่งของอาการปวดศีรษะ ดังนั้น ลองสังเกตว่าในหนึ่งวันได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอแล้วหรือไม่ “สำรวจไฟในห้องเรียน-ทำงาน” ซึ่งแสงไฟที่ส่องสว่างน้อยนิด หรือ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องเพ่งสายตา และดวงตาต้องปรับม่านรับแสงตลอดเวลา จนก่อให้เกิดอาการแสบตา ปวดศรีษะได้ “ใช้กลิ่นจากธรรมชาติบำบัด” โดยกลิ่นลาเวนเดอร์ มะนาว และส้ม กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ช่วยลดความตึงเครียด วิตกกังวลน้อยลง ทำให้รู้สึกสบาย นอกจากนั้น ยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอร่วมด้วย เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพใจที่แจ่มใส. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#84
|
||||
|
||||
อย่าแค่กลัว-มัวฝืนทน ‘ข้อเข่าเสื่อม’ รักษาเร็วไม่เสี่ยงพิการ เป็นส่วนหนึ่งของโครงกระดูกร่างกายมนุษย์เราส่วนที่เรียกว่าโครงกระดูกรยางค์ เป็นกระดูก “ข้อต่อ” ที่มีลักษณะ “คล้ายบานพับ” ทำให้กระดูกร่างกายเคลื่อนไหวได้ 2 ทิศทางคืองอและเหยียด...นี่เป็นลักษณะจำเพาะอย่างคร่าวๆของส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์ที่เรียกว่า ’ข้อเข่า“ ซึ่งสำคัญต่อร่างกายไม่แพ้อวัยวะใดๆ สำคัญต่อการทรงตัว ต่อการยืน ต่อการเดิน หากข้อเข่าเกิดมีปัญหาก็จะเป็นเรื่องใหญ่!! และปัญหาที่อาจเกิดกับข้อเข่าก็คือ กระดูกอ่อนผิวข้อต่อของเข่าสึกกร่อน ถูกทำลายจากการใช้งานมาเป็นเวลานาน หรือจากอาการเสื่อมสภาพ หรือที่เรียกว่า ’โรคข้อเข่าเสื่อม“ ที่มิใช่เรื่องเล็กๆ อาจลุกลามบานปลายจนถึงขั้น “เดินไม่ได้!!” จากการที่ปัจจุบันสังคมไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุในจำนวนประชากรทั้งหมดนั้นมีจำนวนผู้สูงอายุในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ก็ส่งผลให้ตัวเลขคนไทยที่ป่วยด้วยโรคกระดูกและข้อ ซึ่งรวมถึง “ข้อเข่าเสื่อม” เพิ่มสูงขึ้น โดยย้อนไปเมื่อประมาณปีเศษๆ ทางกระทรวงสาธารณสุขเคยเปิดเผยไว้ว่า โรคกระดูก โดยเฉพาะโรคกระดูกพรุน และโรคข้อเสื่อม ที่รวมถึงข้อเข่าเสื่อม กำลังเป็น ’ภัยเงียบคุกคามคุณภาพชีวิตคนไทย“ ราว 7 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ซึ่งสร้างความทรมาน เมื่อจะลุก นั่ง เดิน ทางกระทรวงสาธารณสุขยังเคยระบุไว้ด้วยว่า...การเจ็บป่วยของคนไทยด้วยโรคในกลุ่มกระดูกและข้อนี้ แม้ว่าจะไม่ถึงกับทำให้เสียชีวิต แต่ก็สร้างความทุกข์ทรมานจากการเจ็บปวด โดยเฉพาะ “ข้อเข่าเสื่อม” ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะยิ่งเพิ่มระดับความอันตราย อาจลุกลามจนไม่สามารถลุกยืน ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นจากการที่ข้อเข่าเสื่อมนั้น ในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักคล้ายกัน เช่น มีอาการเข่ายึด ฝืด งอลำบาก มีเสียงดังก๊อบแก๊บที่เข่าขณะเคลื่อนไหว ปวดที่ข้อเข่าหรือขาเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได ในบางรายจะปวดเจ็บแปลบที่ข้อเข่าเวลาเดิน แต่บางรายอาจมีอาการปวดข้อเข่าเวลานอน ส่วนบางรายจะมีปัญหาปวดข้อเข่าเวลาใส่ถุงเท้า รองเท้า หรือขณะลุกนั่ง ซึ่งผู้ป่วยบางรายที่ไปพบแพทย์หลังเกิดอาการปวดบวมอักเสบที่ข้อเข่า จะแทบไม่สามารถเดินได้ปกติแล้ว อาจต้องเดินโยกตัวเพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวได้ “โรคข้อเข่าเสื่อม” แม้ส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่ก็มิใช่ว่าจะเกิดได้เฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ในกลุ่มคนวัยทำงานก็สามารถเกิดได้ และหากจะเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มชายและหญิง ในปัจจุบันส่วนใหญ่ของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมักเป็นกลุ่มผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเกิดได้จากรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลายที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น การเล่นกีฬาผิดท่า เดินขึ้นลงบันไดบ่อยๆ มีน้ำหนักตัวมาก เหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ และที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง ก็คือการมีความอดทนสูงกับอาการปวด ยอมทนต่อความปวดและปล่อยไปเรื่อยๆ จนอาการถึงขั้นรุนแรงจึงยอมรักษา ซึ่งหากรักษาไม่ทันการณ์ อาจจะถึงขั้นเดินไม่ได้ กับเรื่องของ ’โรคข้อเข่าเสื่อม“ นี้ นพ.ประภัทร จารุมนพร ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อประจำศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อ โรงพยาบาลสุขุมวิท ซึ่งมีประสบการณ์ผ่าตัดข้อเข่าผู้ป่วยมาแล้วกว่า 500 เข่า ให้ความรู้ความเข้าใจว่า...การที่ผู้ป่วยยอมทนอาการที่เกิดขึ้น ไม่ไปปรึกษาแพทย์หรือรับการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี ซึ่งอาจเพราะกลัวถูกผ่าตัด กังวลว่าจะเดินไม่ได้เป็นปกติหลังผ่าตัด นี่คือการเพิ่มปัญหา ’ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาจากการทนคือ เดินไม่ได้เหมือนปกติ จึงไม่ควรปล่อยให้ตนเองต้องเผชิญโรคนี้เป็นเวลานาน“...นพ.ประภัทร ระบุ พร้อมทั้งบอกว่า...วิธีรักษาโรคนี้มีทั้งการให้ยาแก้อักเสบ ฉีดยาเข้าข้อ ทำกายภาพบำบัด ผ่าตัด ซึ่งในส่วนของการใช้ยา บางรายอาจแพ้ยา เกิดผลข้างเคียงของยา เช่นเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดผื่นคัน อาจเสี่ยงต่อโรคไต ทางแพทย์ก็จะประเมินเพื่อเลือกใช้วิธีรักษาที่เหมาะสม สำหรับวิธีผ่าตัด ปัจจุบันพัฒนาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีก็ก้าวหน้ามาก กับโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น จากเดิมที่การผ่าตัดข้อเข่าต้องเปิดแผลขนาด 15-20 ซม.ที่หัวเข่า ทำให้เสียเลือดมากและเจ็บมาก ฟื้นตัวได้ช้า ปัจจุบันมีการผ่าตัดโดยวิธี ผ่าตัดแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery : MIS) ขนาดของแผลจะเพียง 8-10 ซม. แต่ก็ได้ผลดี ความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายในมีน้อย เสียเลือดน้อย ไม่มีโรคแทรกซ้อน และฟื้นตัวได้เร็ว ’การที่ผู้ป่วยฝืนทนต่ออาการนานๆ จะทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อเข่าลีบและกระดูกบาง ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในระยะที่ช้าเกินไปจะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร หรืออาจไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า”...แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูกและข้อ โรงพยาบาลสุขุมวิท ให้ความรู้ทิ้งท้าย ’ข้อเข่าเสื่อม“ จะยิ่งอันตรายถ้าเอาแต่กลัว-มัวฝืนทน โรคนี้ก็จำเป็นต้องรู้เท่าทัน-ต้องรีบรักษาให้ทันท่วงที เพื่อให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติดังเดิม!!!. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#85
|
||||
|
||||
รู้รักษา "ไทรอยด์เป็นพิษ” ปัญหาไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ได้เผยแพร่บทความเรื่องโรค “ไทรอยด์เป็นพิษ” ว่าอันตรายกว่าที่หลายคนเข้าใจ เพราะ “ไทรอยด์เป็นพิษ” เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงกว่าปกติ เนื่องจากต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้น หรือเกิดจากร่างกายสร้างสารแอนติบอดี (antibody) ไปกระตุ้นต่อมไทรอยด์ให้สร้างฮอร์โมนมากขึ้น หรือเกิดจากต่อมไทรอยด์อักเสบ ทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากกว่าปกติ หรือเกิดจากการได้รับฮอร์โมนไทรอยด์จากภายนอกเข้าสู่ร่างกายในขนาดที่มากเกินไป ซึ่งกรณีหลังนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่ได้รับยาฮอร์โมนไทรอยด์ เพื่อรักษาภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ หรือใช้เพื่อการลดน้ำหนักตัวแบบไม่ถูกวิธี ฮอร์โมนไทรอยด์เป็นฮอร์โมนสำคัญ ที่ช่วยควบคุมกระบวนการเผาผลาญและการใช้พลังงานต่างๆภายในร่างกาย ดังนั้นถ้าร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์สูงขึ้น จะทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญมากขึ้น เสมือนร่างกายทำงานหนักอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงแม้จะรับประทานอาหารได้ปริมาณเท่าเดิม หรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้นแม้จะรับประทานอาหารมากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้เกิดอาการใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว มือสั่น หงุดหงิดง่าย ตาโปน ผมร่วง ขี้ร้อน เหงื่อออกมาก ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น หรือบางครั้งอาจเกิดภาวะขาดประจำเดือน บางรายอาจสังเกตเห็นต่อมไทรอยด์ที่อยู่บริเวณลำคอด้านหน้ามีขนาดโตขึ้น หรืออาจมีอาการขาสองข้างอ่อนแรงจนถึงขั้นยกขาหรือยืนไม่ได้ สำหรับอาการขาอ่อนแรงนั้นพบได้ไม่บ่อย แต่อาจเป็นอาการแรกสุดที่เกิดขึ้นได้ และมักเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง โรคไทรอยด์เป็นพิษสามารถรักษาด้วยการรับประทานยา ประมาณ 12-24 เดือน ในกรณีของคุณปทุมวดี โสภาพรรณ ซึ่งทราบว่าเป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 แต่เนื่องจากเข้ารับการรักษาไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้อาการกำเริบจนถึงขั้นเป็นพิษชนิดรุนแรง ส่งผลให้การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายแปรปรวนอย่างมาก จนเกิดอาการทางระบบประสาท สับสน เพ้อ เห็นภาพหลอน จำใครไม่ได้ รวมทั้งอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ และหัวใจหยุดเต้นชั่วขณะ ซึ่งถ้าอาการเป็นมากอาจทำให้หัวใจล้มเหลวได้ นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว ยังอาจพบอาการทางระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการดีซ่าน ตับอักเสบ ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน การควบคุมอุณหภูมิร่างกายผิดปกติ ทำให้มีไข้สูง ชัก บางรายอาจเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้ โดยทั่วไปการรักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดโรคดังกล่าวข้างต้น กรณีที่เกิดจากต่อมไทรอยด์ทำงานผลิตฮอร์โมนออกมามากเกินไป มักมีอาการผิดปกติมานานหลายเดือน หรือบางครั้งอาจเป็นปี การรักษาหลักๆ ทำได้ 3 วิธี คือ 1.การใช้ยาชนิดรับประทาน เพื่อควบคุมการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ให้ปกติ 2.การกลืนแร่รังสีไอโอดีน และ 3.การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ การให้ยาชนิดรับประทานเพื่อควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เหมาะกับผู้ป่วยอายุน้อย อาการไม่มากและเป็นมาไม่นาน หรือต่อมไทรอยด์โตไม่มาก โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลา 12-24 เดือน ระหว่างการรักษาจะต้องมีการตรวจเลือดประเมินผลการรักษาเป็นระยะทุก 6-8 สัปดาห์ เพื่อปรับขนาดยาให้เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 6 เดือนแรกของการรักษา ส่วนการกลืนแร่รังสีไอโอดีนจะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการมาก ต่อมไทรอยด์โต หรือรักษาด้วยวิธีรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์นั้น ไม่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ยกเว้นกรณีต่อมไทรอยด์มีขนาดโตมากจนกดเบียดหลอดลมหรืออวัยวะข้างเคียง สำหรับโรคไทรอยด์เป็นพิษที่เกิดจากการอักเสบของต่อมไทรอยด์ จนทำให้มีการปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากผิดปกติ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ต่อมไทรอยด์อักเสบนั้น มักเกิดตามหลังจากการติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือการรับประทานยาบางประเภท เช่น ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือจากการที่ร่างกายสร้างสารแอนติบอดีบางชนิด แล้วทำปฏิกิริยากับต่อมไทรอยด์จนกระทั่งต่อมไทรอยด์อักเสบ การรักษาโรคไทรอยด์จากสาเหตุต่างๆ ในกลุ่มนี้จะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น การใช้ยาลดอาการใจสั่นถ้ามีอาการใจสั่นมาก หรือการใช้ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ สำหรับกรณีที่มีอาการปวดบริเวณต่อมไทรอยด์ แม้โรคไทรอยด์เป็นพิษจะเป็นโรคที่น่ากลัว อีกทั้งวินิจฉัยได้ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะถ้าอาการแสดงไม่ชัดเจน เช่น ต่อมไทรอยด์ไม่โต ตาไม่โปนจนผิดสังเกต หรือบางครั้งอาการของโรคนี้อาจแฝงมากับอาการของระบบอื่นๆ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ดีซ่าน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือแม้แต่อาการทางจิต ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้แพทย์ไม่คิดว่าเกิดจากโรคไทรอยด์เป็นพิษ จึงทำให้การวินิจฉัยโรคนี้ยากขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามโรคไทรอยด์เป็นพิษเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ดังนั้นการเป็นคนช่างสังเกตและใส่ใจสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นควรรีบปรึกษาแพทย์ รับรองว่า “โรคไทรอยด์เป็นพิษ” ก็จะไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอย่างที่คิดอีกต่อไป. จาก ...................... ไทยโพสต์ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#86
|
||||
|
||||
"ปวดศีรษะที่พบบ่อย - เครียดและไมเกรน" .................... โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของการ “ปวดศีรษะ” นับเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์เราได้บ่อยที่สุด และในขณะเดียวกันก็สร้างความทุกข์ทรมานให้ผู้ที่เป็นได้มากด้วยเช่นกัน อาการปวดศีรษะเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในสมองของผู้ป่วย และปัจจัยภายนอก แต่ละส่วนยังสามารถแยกออกเป็นโรคได้อีกหลายชนิด ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพ เราไปร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะที่พบได้บ่อย และทางเลือกในการรักษาว่าสามารถทำได้ด้วยวิธีใดบ้าง พร้อมทั้งแนวทางในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากอาการปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะ มีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน แนวทางการรักษาจึงสามารถจำแนกออกได้หลายส่วน ทั้งการรักษาด้วยยา การผ่าตัด และการรักษาโดยไม่ใช้ยา การพิจารณาวิธีในการรักษาแพทย์จะพิจารณาจากสาเหตุของการเกิดโรคและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายเป็นสำคัญ สำหรับสาเหตุของการปวดศีรษะที่เกี่ยวกับสมองและระบบประสาท สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การปวดศีรษะที่มีสาเหตุจากในสมอง (ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเนื้อสมอง) เช่น เนื้องอกในสมอง เลือดออกในสมอง ความดันสมองเพิ่มผิดปกติ ภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น โดยสามารถตรวจได้จากการตรวจร่างกายทางสมอง การซักประวัติผู้ป่วยรายละเอียดของการปวดศีรษะ ลักษณะการปวด ตำแหน่ง เวลาที่เกิดอาการ ระยะเวลาการปวด ความรุนแรง เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก และเมื่อพบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนจะตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging : MRI), การตรวจคอมพิวเตอร์สมอง (Computerized Tomography : CT Scan) หรือการเจาะหลังเพื่อหาสาเหตุของโรค การปวดศีรษะแบบไม่พบสาเหตุชัดเจน โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ ไมเกรน การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว ไมเกรน คือ โรคของระบบการรับความรู้สึกของเส้นเลือดไวผิดปกติ จึงส่งผลให้เกิดอาการปวดตุ๊บๆ ปวดศีรษะด้านใดด้านหนึ่ง ไมเกรนมีอาการเฉพาะตัวคือ ปวดตุ๊บๆ ปวดรุนแรง ปวดติดต่อกัน 4-72 ชม. ปวดข้างเดียว หรือย้ายข้างไปมาหรือย้ายตำแหน่ง เป็นๆหายๆ ซึ่งไมเกรนจะมีความสัมพันธ์กับสิ่งกระตุ้น เช่น รอบเดือน อาหารบางชนิดและอาจมีสัญญาณนำที่เรียกว่า “ออร่า” การปวดหัวจากกล้ามเนื้อเกร็งตัว (Tension-type headache) จะมีอาการปวดเป็นประจำ ปวดตื้อๆ หนักๆ ที่ขมับ หน้าผาก ทั่วศีรษะ ปวดช่วงที่อากาศร้อน บ่ายๆเย็นๆ หลังจากทำงานมานานๆ สาเหตุของโรคเกิดจากการใช้สายตามาก นั่งทำงานนานๆ เครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ แนวทางการรักษา เมื่อตรวจวินิจฉัยและทราบสาเหตุของการปวดศีรษะแล้ว แพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการ และสำหรับการรักษาการปวดศีรษะแบบไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การรักษาทางยา และการรักษาโดยไม่ใช้ยา มีดังนี้ -การทำกายภาพบำบัด สำหรับหลักการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัดกับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอ เพื่อช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อต้นคอ เพราะโดยปกติผู้ที่ปวดศีรษะบ่อย ๆ จะมีอาการปวดต้นคอทั้ง 2 ข้างร่วมด้วย โดยเครื่องมือทางกายภาพบำบัดส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องที่ให้ความร้อน เช่น การประคบแผ่นร้อน การนวดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ และการนวดด้วยมือตามตำแหน่งที่มีการเกร็งของกล้ามเนื้อ และเมื่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอมีการคลายตัวจะส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงเป็นการช่วยบรรเทาอาการปวดคอและผลพลอยได้ที่จะตามมาคือ อาจทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง แต่ทั้งนี้ผลที่ได้จะขึ้นกับโรคของผู้ป่วยเป็นสำคัญ สำหรับผู้ป่วยปวดศีรษะที่ไม่สามารถทำกายภาพบำบัดได้ คือ ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบสมอง และประสาท เช่น โรคเนื้องอกในสมอง การติดเชื้อของน้ำไขสันหลัง เป็นต้น ดังนั้นกลุ่มผู้ป่วยที่แพทย์จะส่งต่อให้รักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่มีอาการปวดศีรษะร่วมกับอาการปวดคอการประเมินอาการเพื่อการรักษาที่ตรงจุด เพื่อให้การทำกายภาพบำบัดเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยในแต่ละราย ขั้นตอนแรกในการรักษานักกายภาพบำบัดจะซักประวัติ ตรวจร่างกาย ประเมินอาการจากตำแหน่งของการปวด ลักษณะการเคลื่อนไหว อิริยาบถที่ทำให้เกิดอาการ และให้ทราบว่าอาการปวดคอมีความสัมพันธ์กับอาการปวดศีรษะอย่างไร เช่น มีอาการปวดศีรษะก่อนและจึงเกิดอาการปวดคอตามมา หรือมีอาการปวดคอขึ้นก่อนจึงค่อยมีการปวดศีรษะตามมา เป็นต้น เพื่อพิจารณาระยะของโรค ความรุนแรงและตำแหน่งของโรค ก่อนเลือกวิธีในการทำกายภาพบำบัดให้กับผู้ป่วยแต่ละราย ได้แก่ - แผ่นประคบร้อน (Hot Pack) เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ - การรักษานวดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound therapy) เป็นเครื่องรักษาด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ใช้ลดอาการปวด ลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อในชั้นลึก ลดอาการบวม และช่วยเร่งการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ รวมทั้งคลายการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ - การทำจิตบำบัดและการโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ สำหรับการรักษาผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดสามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ 1. การรักษาในระดับจิตรู้สำนึก Counseling หรือจิตบำบัด กรณีของผู้ที่ปวดศีรษะจากความเครียดด้วยปัญหาที่ระบุได้ชัดเจน เช่น ทำงานหนัก ปัญหาหนี้สิน ครอบครัว เรื่องส่วนตัว เรื่องสังคม เป็นต้น 2. การรักษาในระดับจิตใต้สำนึก ในกรณีของผู้ที่มีความฝังใจสะสมอยู่เดิม และส่งผลให้เกิดความเครียดในปัจจุบัน จึงต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy) เป็นลักษณะของการล้างใจ (Mental Detox) และสำหรับสะกดจิตบำบัดเป็นส่วนหนึ่งของศาสตร์ที่ในปัจจุบันเรียกได้อีกชื่อว่า การโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ (Neuro - Linguistic Programming : NLP) ด้วยการเคลียร์ ล้าง และโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ให้กับผู้ที่มีความเครียด นอนไม่หลับเรื้อรัง กลัวเกินเหตุ อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีเหตุผล มีปัญหาความสัมพันธ์กับผู้อื่น ผู้ที่คิดลบกับตนเองตลอด ซึ่งการรักษาจะใช้ภาษาและดนตรีบำบัดเข้ามามีส่วนร่วม โดยจะใช้เพลงที่มีท่วงทำนองเหมาะสมสื่อนำให้ผู้ป่วยเข้าสู่โหมดคลื่นสมองเทต้า (Theta Brainwave) เนื่องจากคลื่นสมองเทต้า เป็นภาวะที่มนุษย์เราจะอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีการสะกดจิตบำบัด เพื่อเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ สามารถดำเนินต่อไปสร้างผลดีให้กับชีวิต เพราะถ้าหากเกิดความเครียดในระดับจิตใต้สำนึกและไม่ได้รับการบำบัดที่ต้นตอ ปัญหานั้นอาจส่งผลมากกว่าแค่ความเครียด มีผลกระทบกับชีวิตเรื้อรังเป็นความกดดัน มีปัญหาสุขภาพ และทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ด้านอื่น ๆ ตามมาได้อีกด้วย การโปรแกรมจิตใต้สำนึกใหม่ นอกเหนือจากเพื่อบำบัดต้นตอของความเครียดที่ส่งผลกับปัญหาการปวดศีรษะแล้ว ยังสามารถทำเพื่อโปรแกรมชีวิตในมุมบวก ซึ่งจะมีผลอยู่ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น การพัฒนาศักยภาพการทำงาน, การสร้างความคิดให้เด็กรักในการเรียน แนวทางในการรักษาผู้ที่มีอาการปวดศีรษะทั้งในระดับจิตรู้สำนึกและระดับจิตใต้สำนึก สามารถนำ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาได้ โดยพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดนตรีบำบัด คือ การนำดนตรีหรือองค์ประกอบอื่น ๆ ทางดนตรี มาประยุกต์ใช้เพื่อปรับพัฒนา รักษา ด้านจิตใจ อารมณ์ ที่มีหลักการและหลักเกณฑ์ในแต่ละโหมดของสภาวะทางจิตใจ กับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะจากความเครียดโดยไม่ต้องใช้ยา เพราะดนตรีก็เป็นเสมือนยาที่ได้จากการฟังเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเลือกใช้ดนตรีบำบัดจากการฟังเพลงเพื่อรักษาผู้ป่วย เนื่องจากเป็นการบำบัดที่สามารถทำได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ต้องใช้เครื่องดนตรี สามารถปฏิบัติได้ง่าย แค่คัดสรรให้คลื่นเสียงไปปรับคลื่นสมองให้สมดุล สำหรับคลื่นสมองของคนเราสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ * คลื่นเบต้า (Beta Brainwave) อยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว แต่มีความเครียด หงุดหงิด *คลื่นอัลฟ่า (Alpha Brainwave) คืออยู่ในภาวะที่รู้สึกตัว ผ่อนคลาย สบายใจ เช่น ช่วงที่สวดมนต์ นั่งสมาธิ * คลื่นเทต้า (Theta Brainwave) เป็นช่วงที่อยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น เช่น เวลาที่นอนหลับไม่สนิทและฝัน ขณะขับรถและมีหลับใน เป็นต้น * คลื่นเดลต้า (Delta Brainwave) เป็นคลื่นสมองที่ช้าที่สุด เกิดขึ้นในขณะนอนหลับ เป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ หลับลึกโดยไม่มีความฝัน เพลงที่นำมาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นไปเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายและเพื่อให้นอนหลับได้สนิท แต่สิ่งสำคัญที่สุดของดนตรีบำบัดด้วยการฟังเพลง คือ การเลือกแนวเพลงจะต้องได้รับการคัดสรรจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คลื่นเสียงของเพลงตรงกับคลื่นสมองที่ต้องการบำบัดและถูกต้องกับช่วงเวลาในการใช้ชีวิต - การฝังเข็ม - การดูแลตนเอง สามารถทำได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การหาช่องทางบริหารและจัดการกับความเครียดด้วยตนเอง ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ปล่อยวาง นอนหลับให้สนิท หลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้ปวดศีรษะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลจาก ศูนย์สมองและระบบประสาท โรงพยาบาลพญาไท 2 / http://www.phyathai.com จาก ...................... เดลินิวส์ ชีวิตและสุขภาพ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#87
|
||||
|
||||
ติด "เทคโนโลยี" มีผลกระทบ ?! ปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์กันอย่างแพร่หลาย ทั้งเล่นเกม พิมพ์งาน เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง กิจกรรมข้างต้นสามารถทำผ่านช่องทางอื่นได้ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แน่นอนว่า อุปกรณ์ที่ทันสมัยหากใช้ไม่ถูกต้องเหมาะสม แทนที่จะเกิดประโยชน์ ก็อาจเกิดโทษได้ เริ่มจาก นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ รพ.พระนั่งเกล้า กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การทำกิจกรรมอะไรก็ตามเกี่ยวกับเทคโนโลยีจอใหญ่ จอเล็ก ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต การนั่งนานๆ จ้องนานๆ ไม่พ้นเป็นภาระดวงตา นิ้ว มือ แขน ไหล่ หลัง ก้น และขา ไม่ว่าเด็ก วัยรุ่น เยาวชน วัยกลางคน ผู้สูงอายุ หลายคนจะฝืนเพื่อความอยากรู้ อยากเห็น ด้วยความเพลิดเพลินทางอารมณ์ ต้องการรู้เหนือผู้อื่น ต้องการเป็นหนึ่งว่าข้าแน่ รู้ทุกอย่างที่คนอื่นไม่รู้ เพื่อจะเด่นในอาชีพ วิชาชีพของตนเอง จึงเป็นที่มาของโรคเงียบซึ่งเป็นภัยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ผลกระทบด้านร่างกาย คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นกับดวงตา และโรคทางกล้ามเนื้อ กระดูก ซึ่งจะทำให้มีโรคประจำตัวไปจนกระทั่งแก่เฒ่า และทำให้เป็นทุกข์ตลอดชีวิต โรคเกี่ยวกับดวงตา การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บ เล็ต เป็นเวลานาน ถ้าระดับที่วางความสว่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลกระทบต่อระบบของการกลอกตา ระบบกล้ามเนื้อและประสาท ซึ่งจะเกิดหลังจากใช้สายตานานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการดวงตาล้า ดวงตาตึงเครียด ตาช้ำ ตาแดง แสบ ข้อแนะนำ คือ ควรใช้เวลาทำงานหรือเล่นกับคอมพิวเตอร์ 25–30 นาที ในแต่ละช่วงและพัก 1–5 นาที จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น วางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตาประมาณ 20–26 นิ้ว วางคีย์บอร์ดและเมาส์ให้อยู่ต่ำกว่าศอก แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลัง ที่สำคัญไม่ควรส่องเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับความสว่างของห้อง ปรับความถี่ของคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70–80 เฮิรตซ์ หรือปรับให้สูงสุดเท่าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตา การใช้ตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ใช้แผ่นกรองแสง และดูแลหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้มีฝุ่นเกาะติด เพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจน ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือเล่นเกม ส่วน สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ก็ไม่ควรใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ควรพักสายตาเป็นระยะเช่นเดียวกัน พญ.ดารณี สุวพันธ์ ผอ.ศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคทางกล้ามเนื้อ กระดูกว่า การนั่งจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ หากนั่งในท่าไม่เหมาะสม หน้าจออยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ต้องก้มๆเงยๆ อาจทำให้กระดูกคอเสื่อม กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ปวดคอ ปวดบ่า ปวดข้อมือ ปวดนิ้วมือและปวดหลังได้ ที่พบบ่อย คือ อาการปวดคอ มีอาการตึงเมื่อย เพราะอยู่ในท่าเดียวนานๆ พบมากในคนที่ทำงานออฟฟิศต้องอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ดังนั้นท่านั่งจึงมีความสำคัญ เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ต้องไม่ก้มหน้ามาก หน้าจอควรอยู่ในระดับสายตา ไม่อยู่ไกลสายตาจนเกินไป คีย์บอร์ดต้องอยู่ในระดับพอดี สูงกว่าเข่านิดหน่อย เพราะถ้าคีย์บอร์ดอยู่สูงเกินไป ต้องยกไหล่ขึ้น อาจทำให้ปวดเมื่อยได้ ส่วนการเล่นเกม อัพเดทข้อมูล บนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หากอยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานอาจทำให้ปวดคอ ปวดหลังได้เช่นกัน ส่วนการใช้นิ้วมือเป็นเวลานาน อันตรายส่วนนี้คงไม่มาก คือ อาจทำให้ปวดเมื่อยข้อ นิ้วมือ เท่านั้น การรักษาคนไข้ที่มีอาการปวดหลัง ปวดคอ จะเริ่มจากซักประวัติซึ่งมักพบว่า สาเหตุมาจากท่านั่งไม่เหมาะสม ถ้าอาการไม่รุนแรงจะแนะนำวิธีปฏิบัติตัว ปรับเปลี่ยนท่านั่ง ไม่ควรนั่งนานเกิน 30 นาที ถ้าเกินกว่านี้ควรพักลุกขึ้นมายืน ขยับตัว ขยับเอว และหลัง ปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ในกรณีที่มีอาการปวดมาก ต้องให้ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาต้านการอักเสบ ถ้ากลับไปแล้วยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ เนื่องจากความเคยชิน หรือมีอาการมานาน อาจถึงขั้นต้องทำกายภาพบำบัด ซึ่งในคนมีอาการมานานแล้วการรักษาจะยุ่งยากขึ้น แต่ถ้าเพิ่งเริ่มมีอาการแล้วมาพบแพทย์เร็วการรักษาจะง่ายโดยแก้ที่ต้นเหตุ “คนอายุน้อยๆที่มาพบแพทย์ 20-30% มักมีปัญหาจากการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ส่วนใหญ่ถ้ามาพบแพทย์เร็วก็จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนท่าทาง ปรับเปลี่ยนนิสัย และจัดวางอุปกรณ์ให้เหมาะสม ด้าน พญ.สุธีรา ริ้วเหลือง จิตแพทย์ กลุ่มงานจิตเวช สาขาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น รพ.พระนั่งเกล้า กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลกระทบด้านจิตใจว่า การใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ท โฟน แท็บเล็ต มีทั้งด้านดีและไม่ดี ด้านดี คือ ได้เปิดความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น เกิดกระบวนพัฒนาได้อย่างรวดเร็วทันใจ สะดวกในการค้นคว้าข้อมูล ได้สังคมเพิ่มขึ้น ทำให้มีการพัฒนาของสมอง เกิดการแก้ไขปัญหา พัฒนากระบวนการเรียนรู้ ฝึกการแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วและมีมาตรฐาน ด้านไม่ดี คือ ใช้ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ควบคุมไม่ได้ ตัวหมอจะห่วงเด็กหลายคนที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เด็กจะใช้สิ่งเหล่านี้ในการเล่นเกม ค้นหาอะไรที่ไม่เหมาะสมกับวัย เช่น เรื่องเซ็กซ์ ที่สามารถรับรู้หรือเห็นข้อมูลได้ทันที หรือสามารถเห็นหน้ากันได้ แสดงออกได้เต็มที่ แบบไร้ขอบเขต ผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ สไกด์ นำไปสู่ปัญหาการมีเซ็กซ์ก่อนวัยอันควร และมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง คือเด็กที่ใช้บ่อยอาจจะเก่งคอมพิวเตอร์ เก่งเรื่องเทคโนโลยี แต่อาจจะมีปัญหา เรื่องอารมณ์ ความก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น ขาดการยับยั้งชั่งใจ เพราะไม่เคยถูกฝึก มีปัญหาติดเกม การเรียนตกต่ำ เล่นเกมมากก็มีอารมณ์ เล่นแพ้ก็หงุดหงิด ยิ่งในปัจจุบันเกมมีมากขึ้น รูปแบบค่อนข้างเหมือนจริง แม้จะมีการควบคุมแต่ระบบการควบคุมยังไม่ชัดเจน บางทีเด็กเล่นเกม พ่อแม่รู้ไม่เท่าทันก็ปล่อยลูก ซึ่งความจริงการเล่นเกมที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เด็กเป็นคนที่ไม่มีระเบียบวินัย ไม่มีความรับผิดชอบ เราไม่ได้ต่อต้านการเล่นเกม แต่การเล่นต้องมีกฎกติกา ก่อนที่พ่อแม่จะให้อะไรกับลูก ต้องรู้ว่าลูกรู้จักใช้สิ่งเหล่านั้นได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ มิฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะกลับมาทำร้ายตัวเด็กและครอบครัว ดังนั้น ก่อนซื้ออะไรให้ลูก ควรพูดคุยและทำข้อตกลงให้ชัดเจน เมื่อลูกทำผิดกฎกติกาที่คุยกันไว้ พ่อแม่จะต้องจริงจังกับกฎกติกาที่ตั้งไว้ ขณะเดียวกันก็ควรเป็นแบบอย่างสร้างวินัยในการเล่นเกมให้กับลูก ไม่ใช่ห้ามลูกเล่นแต่พ่อแม่เล่นเอง แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ กรณีที่เป็นผู้ใหญ่จะแตกต่างจากเด็ก เพราะผู้ใหญ่สามารถแบ่งเวลาได้ แต่เด็กไม่รู้จักการแบ่งเวลา เลิกเรียนก็จะเล่นเกมอย่างเดียว ดังนั้นการเล่นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เล่นเกม ของผู้ใหญ่ถ้าไม่เสียการเสียงานคงไม่เป็นไร ผลที่ตามมา คงเป็นเรื่องพฤติกรรม ที่บางคนอาจเข้าสังคมเกินไป ในขณะที่บางคนอาจแยกตัวออกมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัด คือ รูปแบบของสัมพันธภาพจากเดิม การพูดคุย แบ่งปันความรู้สึก ต้องเห็นหน้ากัน แสดงสีหน้าท่าทาง นับวันจะน้อยลง สรุปว่า คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ข้อดีก็มีมาก แต่หากหมกมุ่นกับมันจนเกินเหตุ อาจมีปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะเด็ก ๆ อนาคตของชาติ ถ้าใช้แค่เล่นเกม หาคู่ ดูแต่หนังเอ็กซ์ น่าห่วง !?. จาก ...................... เดลินิวส์ X-Ray สุขภาพ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#88
|
||||
|
||||
หยุดไวรัสอุจจาระร่วง 'คุ้มกันชีวิตเด็ก' อีกเรื่องไม่เล็กในไทย!! อากาศในเมืองไทยยามนี้แม้จะยังดูแปรปรวนอยู่บ้าง แต่กระนั้นก็เริ่มคลายความหนาวเย็น และเริ่มจะกลับมาร้อนอบอ้าวอีกแล้ว ซึ่งในช่วงที่อากาศร้อนนั้นก็เป็นอีกช่วงหนึ่งที่ ’โรคอุจจาระร่วง“ เกิดขึ้นได้ง่าย โดยโรคอุจจาระร่วงนั้นเกิดจากเชื้อโรคต่างๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และรวมถึงหนอนพยาธิ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะสามารถติดต่อได้โดยการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนเข้าไป ซึ่งอาการป่วยโรคอุจจาระร่วง โดยเฉพาะอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง รวดเร็ว ร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ผู้ป่วยจะอยู่ในภาวะช็อก หมดสติ เนื่องจากเสียน้ำมาก ในรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิต แม้แต่ผู้ใหญ่วัยแข็งแรงก็อาจเสียชีวิตด้วยโรคนี้ได้ หากเกิดกับเด็ก โดยเฉพาะ ’เด็กเล็ก“ ยิ่งน่าห่วง!! ทั้งนี้ จากงานประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 21 ของสมาคมไวรัสวิทยา (ประเทศไทย) ที่จัดไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ หนึ่งในหัวข้อที่มีการพูดคุยกันในงานนี้คือ “ข้อมูลล่าสุดในการป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า เพื่อให้เด็กไทยห่างไกลจากการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้” ซึ่งในงานนี้ก็มีประเด็นและมีเนื้อหาที่น่าพิจารณา กล่าวคือ..... จากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ระบุว่า เชื้อ “ไวรัสโรต้า” เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดใน “โรคอุจจาระร่วงในเด็กเล็ก” ทำให้เด็กเล็กทั่วโลก ’เสียชีวิต“ กว่า 500,000 รายต่อปี และสำหรับในไทยก็พบว่าไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุถึง 43% ของเด็กที่เป็นโรคอุจจาระร่วงที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ซึ่งก็ถือเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วง และหากจะโฟกัสกันที่ “ไวรัสโรต้า” นี่คือเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในทารกและเด็กเล็ก ก่อให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง เป็นไข้ และอาเจียน ส่วนใหญ่มักเกิดกับเด็กวัย 6 เดือน ถึง 5 ขวบ แต่ทารกในช่วงเดือนแรกๆ ก็มีโอกาสติดเชื้อเช่นกัน และจะยิ่งมีอาการหนักกว่าเด็กที่โตกว่า อีกทั้งยังอาจจะ ’ก่อให้เกิดผลกระทบด้านพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก“ ในช่วงนั้นๆได้ด้วย ซึ่งโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าพบได้ตลอดปี แม้ช่วงอากาศเย็นก็อาจพบผู้ป่วยจำนวนมาก โดยสายพันธุ์ที่ก่อโรคส่วนใหญ่เป็น “สายพันธุ์ จี 1” ไวรัสโรต้าสามารถติดต่อได้ง่ายทางการสัมผัส เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ที่ของเล่นสิ่งของต่างๆ เมื่อเด็กจับแล้วนำมือเข้าปากก็สามารถรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย และก็สามารถทำให้ติดต่อไปยังสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัวได้ด้วย ซึ่งในสถานที่ที่มีเด็กจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล โรงพยาบาล เชื้อจะยิ่งมีโอกาสติดต่อได้ง่าย ไวรัสโรต้าเป็นเชื้อที่ค่อนข้างทน มีชีวิตอยู่ได้หลายวัน ไม่สามารถทำลายได้ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทั่วไป “ท้องร่วงรุนแรง และถ่ายเป็นน้ำ อาจมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน, มีไข้ โดยไข้อาจสูงถึง 39 องศาเซลเซียส, อาเจียน อาจอาเจียนมากถึง 7-8 ครั้งต่อวัน ในเด็กบางรายอาจอาเจียนหรือท้องเสียได้มากกว่า 20 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง” ...นี่เป็นสัญญาณว่าอาจเป็น ’โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า“ ควรรีบนำบุตรหลานไปพบแพทย์โดยด่วน!! ทั้งนี้ แม้ไวรัสโรต้าจะร้ายแรง แต่ปัจจุบันก็มี “วัคซีน” ที่ป้องกันอันตรายจากไวรัสร้ายชนิดนี้ได้ โดยศาสตราจารย์เกียรติยศ นักจุลชีววิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ดร.รูธ เอฟ บิชอป ซึ่งได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาสาธารณสุข คนล่าสุด เป็นผู้ค้นพบไวรัสโรต้า และนำไปสู่การค้นพบวัคซีนป้องกัน โดยนักวิจัยรายนี้ระบุว่า... ไวรัสชนิดนี้ทำให้เด็กเล็กทั่วโลกเสียชีวิตกว่า 5 แสนรายต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่ากลัว ดังนั้นในแต่ละประเทศควรให้ความสำคัญกับข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายในการให้วัคซีน ว่าคุ้มกว่าค่าใช้จ่ายในการรักษามากน้อยเพียงใด ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ นายกสมาคมไวรัสวิทยา บอกว่า... แม้ว่าระบบสุขาภิบาลจะดีเพียงใด แต่ก็ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ดังนั้น การให้เด็กเล็กได้รับ ’วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า“ จึงน่าจะเป็นการดีที่สุด ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกคำแนะนำต่อประเทศที่มีการเสียชีวิตด้วยโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า ให้มีการบรรจุวัคซีนป้องกันไวรัสชนิดนี้เป็น ’วัคซีนพื้นฐานในแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค“ เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสชนิดนี้ กับประเด็นนี้ นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุไว้ว่า... ทางกรมฯก็ได้รับการเห็นชอบเรื่องการพิจารณานำวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ และก็ได้มีการจัดทำโครงการนำร่องให้บริการวัคซีนไวรัสนี้แล้วที่ จ.สุโขทัย ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 ซึ่งขั้นตอนต่อไปคือพิจารณาผลการดำเนินการ ความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติในการบรรจุวัคซีนนี้เข้าในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค และนำข้อมูลเสนอไปยังคณะกรรมการสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพิจารณาเรื่องการให้วัคซีนนี้แก่เด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งก็คาดว่าจะมีความเป็นไปได้ภายในอีก 2-3 ปีจากนี้ ระหว่างนี้ผู้ปกครองก็ยังต้องดูแลบุตรหลานให้ดีๆ เด็ก ’ท้องเสีย-ท้องร่วง“ อย่าประมาท ’ไวรัสโรต้า“. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#89
|
||||
|
||||
นั่งเก้าอี้อย่างไรไม่ปวดหลัง วัยเรียนที่ต้องนั่งเก้าอี้ทบทวนหนังสือ หาข้อมูล ทำการบ้าน หรือ พิมพ์รายงานผ่านคอมพิวเตอร์นานๆ หลายคนมักรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณเอว หลัง และต้นคอ สร้างความหงุดหงิดใจให้บ่อยครั้ง รู้หรือไม่? ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจาก “การนั่งเก้าอี้ที่ไม่ถูกต้อง” วิธีบรรเทาทำได้ เพียงพิจารณาเบาะเก้าอี้ ควรมีขนาดพอดี นั่งแล้วไม่อึดอัด หากเบาะใหญ่เกินไปควรหาหมอนมาหนุนหลัง จากนั้น นั่งให้เต็มก้น หลังพิงพนัก ช่วยลดอาการปวดคอ คอเกร็ง ส่วนเท้าวางราบสัมผัสพื้น สำหรับที่พักแขน ตรวจดูความแข็งแรงให้เหมาะสมสำหรับค้ำยันตัวขณะลุก และอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกะกะเวลาพิมพ์งาน นอกจากนี้ ข้อศอกควรวางอยู่ระดับเดียวกับพื้นโต๊ะ ป้องกันช่วงไหล่เกิดอาการเกร็ง กรณีโต๊ะต่ำกว่าเก้าอี้ เมื่ออ่านหนังสือควรหาอุปกรณ์มาเสริมให้หนังสือวางสูงระดับหน้าอก ป้องกันกล้ามเนื้อคอทำงานหนักจนเกิดอาการตึง และส่งผลให้ปวดหลัง อันเกิดจากการก้มโน้มตัวอ่านหนังสือมากเกินไป ทั้งนี้ ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆครึ่งชั่วโมง เพื่อยืดเส้นยืดสายให้เส้นเอ็นคลายตัว แต่เลี่ยงการก้ม หรือ เอี่ยวหลังแรงๆ เพราะจะทำให้เจ็บกล้ามเนื้อได้. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#90
|
||||
|
||||
ตั้งหลักป้องกันกระดูกพรุน วิจัยพบ การออกกำลังกายในบางช่วงวัยสุดสำคัญ เป็นกุญแจป้องกันกระดูกเปราะ และโรคกระดูกพรุนในอนาคต คงมีตัวอย่างให้เห็นไม่น้อยว่า คนแก่สูงวัยที่เป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกเปราะ ปฏิบัติกิจวัตรประจำค่อนข้างลำบาก บางรายอาจต้องมีคนคอยดูแล ดังนั้น ผู้ที่ไม่ต้องการให้ตนเองมีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกในตอนแก่ตัวไปแล้ว โปรดทราบ...คุณต้องออกกำลังตั้งแต่ตอนวัยรุ่น ผลวิจัยจากสถาบันกระดูกและข้อ ซาฮ์ลเกรนสก้า มหาวิทยาลัยโกเธนเบิร์ก ในสวีเดน เผยว่า หลังทำการศึกษากลุ่มวัยรุ่นชายชาวสวีเดน อายุระหว่าง 19-24 ปี ราว 800 ราย ซึ่งออกกำลังกายเป็นประจำ พบว่า กระดูกบริเวณสะโพก แขน และขาช่วงล่าง รวมถึงกระดูสันหลัง มีความหนาแน่นขึ้น ในทางตรงกันข้าม กลุ่มชายวัยเดียวกันที่ละเลยการออกกำลังกาย มีกระดูกที่เปราะบาง นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอและไม่ลดน้อยลง ส่งผลให้กระดูกมีพัฒนาการและเจริญเติบโตดี ใหญ่และหนา โดยเฉพาะกระดูกช่วงแขนกับขา แมทเทียส โลเรนท์สัน ผู้วิจัยจึงสรุปว่า การออกกำลังกายในช่วงวัยรุ่น สามารถพัฒนาการเจริญเติบโตของกระดูกให้แข็งแรง ลดปัญหากระดูกเปราะเสี่ยงหักง่าย และโรคกระกระดูกพรุนได้ในช่วงสูงวัย ทราบแล้ว ควรจัดเวลาออกกำลังกายให้เป็นนิจ รับรองอนาคตตอนสูงวัยสดใส ห่างไกลโรคกระดูก. จาก ...................... เดลินิวส์ วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|