#1
|
||||
|
||||
งานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน”
โครงการ .......... งานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน” ผู้ดำเนินโครงการ ..... มูลนิธิเพื่อนชนเผ่า โครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และองค์การ ยูเนสโก ร่วมกับ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park สถานที่จัดงาน ..... ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone และ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ระยะเวลาของโครงการ งานเสวนา วันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2552 (ระหว่างเวลา 11.00 – 16.00 น.) งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมยิปซีทะเล วันอาทิตย์ ที่ 20 ธันวาคม 2552 (ระหว่างเวลา 11.00 – 16.00 น.) งานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม - 27 ธันวาคม 2552 ข้อมูลพื้นฐานและความเป็นมาของโครงการ คนไทยส่วนหนึ่งไม่เคยทราบว่ามีกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “ชาวเล” ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวิถีชีวิต ภาษา วัฒนธรรมที่ผูกพันกับทะเลมานับร้อยปี จนได้รับการขนานนามจากชาวต่างชาติว่า “ยิปซีทะเล” ชาวเลมีชื่อเฉพาะที่เรียกกลุ่มของตนเอง คือ “มอแกน” (ชาวเลที่เกาะเหลา เกาะช้าง และเกาะพยามในจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ ในจังหวัดพังงา และหมู่บ้านราไวย์ในจังหวัดภูเก็ต มีประชากรกว่า 800 คน) “มอแกลน” (ชาวเลที่เกาะพระทอง และหมู่บ้านชายฝั่งทะเลกว่าสิบหมู่บ้านในจังหวัดพังงา และภูเก็ต มีประชากรกว่า 3,000 คน) “อูรักลาโว้ย” (ชาวเลที่อาศัยอยู่บนเกาะต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรังและสตูล มีประชากรกว่า 5,000 คน) ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาพี่น้องชาวเลต้องประสบปัญหาไม่ต่างกันกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบอีกหลายกลุ่ม คือการขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม การขาดการสืบทอดความรู้พื้นบ้าน การถูกกีดกันออกจากสิทธิในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ และการถูกดูแคลนจากบุคคลที่ไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมแบบ “ชาวเล” ฯลฯ เหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้สร้างความเสียหายต่อ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และยังส่งผลกระทบต่อชุมชนชาวเลพื้นเมืองทั้งกลุ่มมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวด้วย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนและหน่วยงานภาครัฐได้รายงานในทำนองเดียวกันว่า ที่อยู่อาศัยของชาวเลพื้นเมืองในหลายชุมชนได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิอย่างรุนแรง เรือประมงพื้นบ้านเสียหาย ในบางพื้นที่หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านได้หายไปกับคลื่นยักษ์ และเนื่องจากชาวเลเดิมมีวิถีชีวิตกึ่งเร่ร่อน มีภาษาวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และมีบางกลุ่มที่ยังไม่มีบัตรประชาชน ชาวเลจึงไม่ได้มีส่วนร่วมกับองค์กรท้องถิ่นในการวางแผนการจัดการหรือการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้พื้นที่แถบชายฝั่งทะเลหลายแห่งที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลได้ถูกแปรไปเป็นพื้นที่เพื่อธุรกิจท่องเที่ยว บางส่วนได้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในอุทยานแห่งชาติ ข้อบังคับบางประการของพื้นที่อนุรักษ์จำกัดการทำมาหากินของพี่น้องชาวเลอย่างมาก การเกิดคลื่นสึนามิทำให้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ชัดเจนยิ่งขึ้นและยังแสดงให้เห็นว่าชุมชนชาวเลซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายในเรื่องความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรและการเข้าไปส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยและชุมชนหลังสึนามิ ทั้งหลายเหล่านี้จึงมีความจำเป็นสำคัญที่สาธารณชนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน สื่อมวลชน รวมถึงบริษัทธุรกิจเอกชน ที่จะรับรู้เรื่องคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยไม่แบ่งแยกเพศ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรม และร่วมกันเร่งดำเนินการผลักดันเชิงนโยบายควบคู่กับปฏิบัติการเพื่อเยียวยาปัญหาของพี่น้องชาวเลในพื้นที่ คณะผู้จัดเห็นว่างานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน” นี้จะเป็นวิถีทางสำคัญในการช่วยสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมอันหลากหลายของสังคมไทย เป็นการกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักคิดแก่เพื่อนในสังคม ให้แบ่งปันความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง อันจะนำมาซึ่งการอยู่ในสังคมแห่งความสงบสุข มีสันติภาพอย่างยั่งยืนต่อไป วัตถุประสงค์ 1. เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมอันหลากหลายของสังคมไทย ผ่านงานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน” 2. เพื่อจัดแสดงและเผยแพร่เอกสาร สิ่งพิมพ์ วีดีทัศน์ของโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และมูลนิธิเพื่อนชนเผ่ารวมทั้งองค์กรเครือข่ายภาควิชาการและภาคประชาสังคมให้เป็นที่รับรู้ในสังคมอย่างกว้างขวางมากขึ้น 3. เพื่อกระตุ้นเตือนและสร้างความตระหนักคิดแก่สังคม ในการมีส่วนร่วมแบ่งปันความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินผ่านกิจกรรมสะท้อนศิลปวัฒนธรรมมอแกน 4. เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาสังคมในการทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าไม่ถึงโอกาสทางสังคมให้มีพื้นที่และตัวตนอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รูปแบบกิจกรรม 1. กิจกรรมเสวนา ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม 2552 เวลา 11.00-16.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TKpark คณะผู้จัดงานได้เรียนเชิญและได้รับการตอบรับเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากท่านวิทยากรผู้ร่วมเสวนาที่มีชื่อเสียง โดยจะร่วมเสวนาในเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นคุณค่าทางวัฒนธรรมมอแกน หัวข้อ “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน” วิทยากรโดย - ผู้แทนชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา - ศ.กิตติคุณ ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานมูลนิธิเพื่อนชนเผ่า/ประธานกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ - Dr. Jacques Ivanoff ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มมอแกน จากหน่วยงานวิจัย IRASEC - Dr. Derek James Elias ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและวัฒนธรรม องค์การ UNESCO - คุณสราวุฒิ มาตรทอง ดาราศิลปิน ผู้ทำงานเพื่อสังคมและสนใจติดตามช่วยเหลือพี่น้องมอแกน ดำเนินรายการโดย ดร.นฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2. กิจกรรมนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน” เป็นงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย จำนวน 30 ภาพ โดยขอพระราชทานภาพถ่ายชาวเล จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 ภาพ และภาพถ่ายจากช่างภาพชื่อดังทั้งในและต่างประเทศ พร้อมด้วยภาพถ่ายจากนักวิจัยและเครือข่ายองค์กรที่ทำงานกับพี่น้องมอแกน ได้แก่ Cat Vinton Mr.Lunar วิจิตต์ แซ่เฮ้ง วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง จิตติมา ผลเสวก สนิทสุดา เอกชัย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์ อภิลักษณ์ พวงแก้ว Dr. Jacques Ivanoff นพ.มารุต เหล็กเพชร วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา วิโชติ ไกรเทพ และพลาเดช ณ ป้อมเพชร เป็นต้น ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวสภาพวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของ พี่น้องชาวเลมอแกนจากอดีตสู่ปัจจุบัน 3. งานมหกรรมศิลปวัฒนธรรมยิปซีทะเล วันเสาร์ที่ 19 และวันอาทิตย์ ที่ 20 ธันวาคม 2552 เวลา 11.00 – 16.00 น. ณ ลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park โดยมีกิจกรรมสะท้อนความรู้ความเข้าใจและกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลายเพื่อเป็นการแบ่งปันความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินได้แก่ การแสดงศิลปะการร้องรำเพลงของน้องๆ มอแกน จากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา กิจกรรม “มาทำความรู้จักชาวเลในเมืองไทยกันเถอะ” ซึ่งเป็นนิทรรศการให้ความรู้เรื่องวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของพี่น้องชาวเลในประเทศไทย กิจกรรมสาธิตการสานเสื่อ กระปุก กิจกรรมประดิษฐ์เรือมอแกนจำลอง กิจกรรมสานกำไลจากใบเตยหนามลวดลายลิ่นทะเล ซึ่งมีน้องๆ มอแกนเป็นผู้สอน และกิจกรรมวาดภาพเล่าเรื่อง “บ้านฉัน บ้านเธอ” ระหว่างเยาวชนมอแกนและเด็กๆในเมือง กิจกรรมเขียนส่งกำลังใจถึงน้องๆ มอแกนผ่านโปสการ์ด นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์และหัตถกรรมพื้นบ้าน ของที่ระลึกและงานฝีมือของน้องๆ ชาวเลมาจำหน่ายภายในงานด้วย และในวันที่ 20 ธันวาคม 2552 ยังมีกิจกรรมพิเศษให้เด็กในเมืองได้ ชมวีดิทัศน์พาโนราม่า สเปเชียล : Sea Series : ทะเลสีคราม ตอน ชีวิตที่แปรเปลี่ยน (มอแกน) และวีดิทัศน์ วิถีวัฒนธรรมมอแกน :ยิปซีทะเลกลุ่มสุดท้าย โดยภายหลังการชมวีดิทัศน์ ได้จัดกิจกรรมพูดคุยกับ ตัวแทนชาวมอแกน เกาะสุรินทร์ ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในวิถีวัฒนธรรมชาวเลมอแกน มาเป็นเวลากว่า 15 ปี จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณยูกิ ซูซูกิ นักศึกษาปริญญาเอกชาวญี่ปุ่น ผู้ศึกษาวิถีชีวิตชาวมอแกน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ดำเนินรายการโดย คุณพลาเดช ณ ป้อมเพชร นักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาวิถีวัฒนธรรมชาวมอแกน ของมูลนิธิเพื่อนชนเผ่า ผลที่คาดว่าจะได้รับ 1. ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีโอกาสเรียนรู้ เข้าใจวิถีชีวิตวัฒนธรรมมอแกน เกิดความตระหนักคิดและเข้าใจสถานการณ์ของชาวมอแกน รวมทั้งมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความห่วงใยต่อเพื่อนร่วมแผ่นดินได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น 2. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่ายภาคประชาสังคมในการทำงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและความภาคภูมิใจทางวัฒนธรรมแก่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล-มอแกน 3. จุดประกายและพัฒนาเครือข่ายที่ร่วมกันทำงานด้านสถานการณ์ของพี่น้องชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะจากเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อสังคม ในรูปแบบการทำกิจกรรมกับชุมชนมอแกนและให้ทุนสนับสนุนโครงการต่างๆ รวมถึงเครือข่ายภาคสื่อมวลชนที่สนใจในการติดตามสะท้อนความจริงของพี่น้องมอแกนอย่างต่อเนื่อง การประชาสัมพันธ์ คณะผู้จัดงานและเครือข่ายได้วางแผนในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ดังนี้ 1. ส่ง Calendar News ล่วงหน้าก่อนงานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย ประมาณ 1 เดือน 2. ส่งจดหมายเชิญทั้งทางไปรษณีย์และจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ล่วงหน้า ก่อนงานเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ ไปยังสื่อมวลชนและเครือข่ายผู้สนใจทั่วไป 3. ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์หลักของโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เว็บไซต์ขององค์การยูเนสโก และเครือข่ายสื่อมวลชน 4. จัดสายเดินทางพบสื่อมวลชน (Media Visit) โดยนำรถตู้พาตัวแทนเด็กๆ จากหมู่บ้านมอแกน เกาะสุรินทร์ ตระเวนพบรายการโทรทัศน์และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก่อนวันงาน 1-2 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้สัมภาษณ์เด็กๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ก่อนงานกิจกรรม (Pre-PR) 5. จัดทำแฟ้มสื่อมวลชน (Press Kit) และเอกสารประกอบการเสวนาเพื่อแจกผู้เข้าร่วม โดยรวมรวมข้อมูลต่างๆ ของกิจกรรมเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย สำหรับกิจกรรมครั้งนี้มีองค์ประกอบที่พร้อม ทั้งในส่วนขององค์กรผู้ดำเนินโครงการที่เป็นที่รู้จักและยอมรับ ผู้ร่วมเสวนาที่มีชื่อเสียง มีประเด็นของกิจกรรมในงานที่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ที่สะท้อนความหลากหลายในสังคม และมีจุดมุ่งหมายของกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้และความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมอันหลากหลายของสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มวัฒนธรรมของพี่น้องชาวเล ผ่านการเสวนา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างเด็กมอแกนและเด็กๆ ในเมือง และที่สำคัญคือนิทรรศการภาพถ่าย “ยิปซีทะเล : วิถีคนกล้าอันดามัน”
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
มีเวลาต้องหาโอกาสแวะไปฟัง น่าสนใจทีเดียว ..
ขอบคุณครับพี่สายน้ำ
__________________
If we see the hearts of others, peace will follow You may say I'm a dreamer .. but I'm not the only one: John Lennon |
#3
|
|||
|
|||
งานนี้ต้องเข้ากรุงเพื่อไปชมให้ได้ซะแล้ว เพราะกำลังเพลิดเพลินกับชีวิตหลังเลนส์ซะเหลือเกินอยากเห็นมุมมองที่แตกต่างกันไปหลายๆด้าน...ขอบคุณค๊าบ
|
#4
|
|||
|
|||
คงได้แวะไปชมแน่นอน TK park ที่ประจำ
ชอบนามสกุลของชาวมอแกนมากเลยค่ะ เท่ดี กล้าทะเล หาญทะเล ได้ความหมายตามวิถีชีวิตเค้าจริงๆ |
|
|