เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง

อนึ่ง พายุโซนร้อนกำลังแรง "ตาลิม" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18-19 ก.ค. 66


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 17 - 20 ก.ค. 66 ร่องมรสุมกำลังแรงจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางตอนบนของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทยมีกำลังแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 22 ก.ค. 66 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และ อ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังค่อนข้างแรง โดยมีคลื่นสูง 2 ? 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ตาลิม" มีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำเข้าสู่ประเทศเวียดนามตอนบน ในช่วงวันที่ 18 ? 19 ก.ค. 66


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรงดออกจากฝั่ง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


โลมาดุ ทำร้ายนักท่องเที่ยวเจ็บ 4 ราย คาหาดญี่ปุ่น



เกิดเหตุโลมาทำร้ายนักท่องเที่ยวที่กำลังเล่นน้ำบริเวณชายหาดในจังหวัดตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น จนได้บาดเจ็บวันเดียวถึง 4 ราย

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 16 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา เกิดเหตุโลมาตัวหนึ่งไล่ทำร้ายนักท่องเที่ยวที่มาว่ายน้ำเล่นนอกชายหาดซุยโชฮามะ ในเมืองมิฮามะ จังหวัดฟุคุอิ ตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 4 ราย

ชายวัยประมาณ 60 ปีคนหนึ่งถูกโลมาตัวดังกล่าวพุ่งชนจนซี่โครงหักหลายซี่ และถูกกัดจะเป็นแผลที่แขนในช่วงเช้าวันอาทิตย์ ก่อนที่ชายวัย 40 ปี ก็ถูกกัดที่แขนในเช้าวันเดียวกัน จากนั้นลายชั่วโมงต่อมา โลมาซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าเป็นตัวเดิมหรือไม่ ก็ทำร้ายนักท่องเที่ยวบาดเจ็บอีก 2 คน

นี่นับเป็นเหตุโลมาทำร้ายคนครั้งที่ 6 ที่เกิดขึ้นในจังหวัดฟุคุอิในปีนี้ จนทำให้เจ้าหน้าที่ต้องติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยว ไม่ให้เข้าใกล้หรือสัมผัสตัวพวกมันหากพบเจอขณะเล่นน้ำ

อนึ่ง แม้ตามปกติแล้วโลมาจะไม่ค่อยก้าวร้าวกับมนุษย์ แต่เหตุโลมาทำร้ายคนก็เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า สำหรับโลมาปากขวดในธรรมชาติ การว่ายน้ำเคียงข้างมนุษย์นั้นทำให้เกิดความเครียดอย่างมาก เพราะเป็นการรบกวนพฤติกรรมอันเป็นกิจวัตรของพวกมัน

นอกจากนั้น บางครั้งโลมาก็มีพฤติกรรมรุนแรงอย่างมากต่อสัตว์น้ำอื่นๆ เช่นเหตุการณ์ที่เมืองคอร์นวอลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ เมื่อปี 2559 โลมาปากขวดงัด 'เพอร์พอยส์' หรือโลมาขนาดเล็กจนลอยขึ้นฟ้า โดยองค์กร Cornwall Wildlife Trust ระบุว่า การโจมตีของโลมาจะทำให้เพอร์พอยส์ตายเฉลี่ยปีละ 1 ตัว


https://www.thairath.co.th/news/foreign/2710078

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


วาฬหลังค่อมปกป้องนักชีววิทยาจากฉลามเสือ



เผยภาพอันเหลือเชื่อเมื่อวาฬหลังค่อม (humpback whale) หนักมากกว่า 22,600 กิโลกรัม ช่วยชีวิต แนน เฮาเซอร์ นักชีววิทยาทางทะเลวัย 69 ปี จากฉลามตัวใหญ่ ที่มูริ บีช ( Muri Beach) ของเกาะราโรตองกา ของหมู่เกาะคุก
ภาพอันเหลือเชื่อที่เผยแพร่โดย แนน เฮาเซอร์ นักชีววิทยาทางทะเลวัย 69 ปี ที่แสดงให้เห็นว่าวาฬหลังค่อม (humpback whale) หนักมากกว่า 22,600 กิโลกรัม ช่วยชีวิตเธอจากฉลามตัวใหญ่ ที่มูริ บีช ( Muri Beach) ของเกาะราโรตองกา ของหมู่เกาะคุก โดยเป็นส่วนหนึ่งของรายการประจำปี "ชาร์คเฟสต์" (Sharkfest) ของเนชันแนล จีโอกราฟฟิก (National Geographic)

เฮาเซอร์บอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 โดยตอนแรกเธอคิดว่าเจ้าปลายักษ์อย่างวาฬหลังค่อมจะฆ่าเธอ ก่อนจะตระหนักในเวลาต่อมาว่าแท้จริงแล้วมันช่วยชีวิตเธอต่างหาก ในคลิปวิดีโอจะเห็นว่า เฮาเซอร์พยายามหลบไม่ให้ไปโดนครีบขนาดใหญ่ของมัน ซึ่งมันทำให้เธอเห็นว่าฉลามเสือ (tiger shark) ขนาดใหญ่ลำตัวยาว 15 ฟุต กำลังมุ่งหน้าเข้ามาและวาฬได้เอาตัวบังเธอไว้ ซึ่งฉลามเสือขึ้นชื่อเรื่องการโจมตีมนุษย์

การช่วยกำบังของวาฬทำให้เฮาเซอร์สามารถเกาะส่วนหัวของมันขึ้นสู่ผิวน้ำ และกลับไปขึ้นเรือได้โดยปลอดภัย เธอบอกว่าเธอรู้สึกได้ว่ามันปกป้องเธอ ทำให้เธอถึงกับร้องไห้ นักชีววิทยาทางทะเลหลายคนก็มองว่า พฤติกรรมของวาฬหลังค่อมเหมือนแม่ปกป้องลูก และมันไม่ได้ทำกับเฉพาะกับมนุษย์แต่ยังทำกับสายพันธุ์อื่นด้วย


https://www.nationtv.tv/foreign/378923514

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


"62% หูฉลามที่ขายในไทย มาจากฉลามสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์" ผลวิจัยเผย



องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม WildAid เผยผลการวิจัย ?ตรวจสอบสายพันธุ์หูฉลามในท้องตลาดไทย? พบกว่า 60% เป็นสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List

"พบเป็นหูจากฉลามหางจุดมากที่สุด ส่อเป็นหูจากฉลามวัยอ่อน จากหลายแหล่ง สะท้อนภาพการเป็นศูนย์กลางนำเข้า?ส่งออกหูฉลามของไทย" งานวิจัยระบุ

"ประมงมากเกินขนาด?ค่านิยมฉลองด้วยหูฉลามคนไทย? ปัจจัยส่งเสริมความเสี่ยงสูญพันธุ์ฉลามโลก ไวล์เอดเผย พร้อมเรียกร้องคนไทยร่วมรณรงค์ ?#ฉลองไม่ฉลาม ในทุกโอกาส" ในวาระ "วันรู้จักฉลาม" 14 ก.ค. 2566


กว่า 60% เป็นหูจากฉลาม "สายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์"

"จากการเก็บตัวอย่างครีบปลาฉลาม 206 ตัวอย่างจากแหล่งค้าในหลายจังหวัด และทำการตรวจสอบชนิดพันธุ์โดยใช้เทคนิคชีวโมเลกุล พบว่า ชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามที่พบค้าขายอยู่ในไทย มีอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ และ 62% เป็นชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคามจากการจัดสถานภาพความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ตามบัญชีแดงของ IUCN Red List" องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไวล์เอด (WildAid) เปิดเผยวันนี้ (14 ก.ค. 2566) เนื่องในวาระ "วันรู้จักฉลาม" 14 กรกฎาคมของทุกปี

ผลวิจัยดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างไวล์เอดกับทีมนักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กรมประมง และนักวิจัยอิสระ

"งานวิจัยครั้งนี้ ถือเป็นการศึกษาที่ระบุชนิดพันธุ์ปลาฉลามจากผลิตภัณฑ์หูฉลามครั้งแรกในประเทศไทย และได้รับการเผยแพร่ใน วารสาร Conservation Genetics" ไวล์เอด ระบุ


เป็นหูจากฉลามหางจุดมากที่สุด

"ฉลามหางจุด หรือ Spottail Shark (Carcharhinus sorrah) พบในตัวอย่างหูฉลามเป็นสัดส่วนมากที่สุด มีสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (NT) ในระดับโลก แต่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจากน่านน้ำไทย จากการประเมินใน Thailand Red Data

นอกจากนี้พบปลาฉลามหัวค้อน 2 ชนิดพันธุ์ คือฉลามหัวค้อนสีน้ำเงิน หรือ Scalloped Hammerhead Shark (Sphyrna lewini) และ ฉลามหัวค้อนใหญ่ หรือ Great Hammerhead Shark (Sphyrna mokarran) ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (CR) จากการประเมินสถานภาพในระดับโลก และในไทย ซึ่งทั้ง 2 ชนิดพันธุ์อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย" งานวิจัยระบุ


เป็นหูจากฉลามวัยอ่อน?จากหลายแหล่ง?ไทยศูนย์กลางนำเข้า

ทีมนักวิจัยเปิดเผยว่าผลการศึกษาตอกย้ำว่าหูฉลามในถ้วยซุปอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์และยังสะท้อนว่าตลาดค้าครีบฉลามในประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการนําเข้าผลิตภัณฑ์ครีบฉลามมาจากหลายแหล่ง

นอกจากนี้พบปลาฉลามที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ใกล้สูญพันธุ์ และมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในครีบที่มีขนาดเล็กซึ่งมีโอกาสเป็นครีบจากฉลามวัยอ่อนอีกด้วย

"การพบชนิดพันธุ์ฉลามที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ไปจนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์หูฉลามที่ขายอยู่ในไทยสะท้อนให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากฉลามโดยเฉพาะชนิดพันธุ์ที่ต้องการการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน

และการพบชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพถูกคุกคาม ตาม IUCN Red List ในครีบขนาดเล็ก ทำให้ต้องมีการศึกษาการใช้ประโยชน์จากฉลามวัยอ่อนต่อไป เนื่องจากปลาฉลามวัยอ่อนจะเป็นกลุ่มประชากรที่สำคัญในการฟื้นตัวของประชากรปลาฉลามในอนาคต" ผศ.ดร.วัลย์ลดา กลางนุรักษ์ ผู้วิจัยและอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สจล. หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว


"ประมงมากเกินขนาด" ปัจจัยความเสี่ยงสูญพันธุ์

"ปัจจุบัน 1 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงมากเกินขนาด เพราะความต้องการนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค สอดคล้องกับการลดลงของประชากรฉลามในหลายส่วนทั่วโลก" ไวล์เอดระบุ

"ในช่วง 20ปี มานี้ งานวิจัยหลายชิ้นเห็นตรงกันว่าประชากรฉลามหลายชนิดลดลงอย่างมากทั่วโลกรวมถึงในไทย จากอัตราการจับและการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามที่มากเกินกว่าความสามารถในการฟื้นตัวของประชากรพวกมันในท้องทะเล" ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสื่อมวลชน นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และทีมนักวิจัย กล่าว


ไทย : ศูนย์กลางการค้าหูฉลามโลก?

"ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทยโดยองค์กรไวล์ดเอดปีพ.ศ. 2560 พบคนไทยในเขตเมืองทั่วประเทศมากกว่า 60% ต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต เพราะความอยากรู้ อยากลอง และค่านิยมเดิม ๆ ของการบริโภคเมนูจากฉลามในงานฉลอง

ผลของงานวิจัยชิ้นนี้ยังช่วยยืนยันว่า ประเทศไทยเป็น 1 ในผู้เล่นสำคัญในการนำเข้าและส่งออกหูฉลามในภูมิภาค สอดคล้องกับรายงานฉบับอื่นที่พูดถึงบทบาทการกระจายผลิตภัณฑ์หูฉลามของไทยในท้องตลาดในระดับสากล

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันการจับฉลามมาตัดครีบเป็น ๆ ก่อนทิ้งร่างกายที่เหลือลงทะเลจะลดน้อยลงมากแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่หูฉลามจำนวนมากมาจากฉลามที่ถูกจับจากเครื่องมือประมงทั่วไปก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธได้ยากถึงบทบาทของอุตสาหกรรมหูฉลามที่ส่งผลต่อประชากรปลาฉลามหลายชนิดที่ถูกคุกคามจนเสี่ยงต่อการสูญพันธ์และกระทบโครงสร้างของประชากรปลาฉลามไปแล้วหลายชนิดในอดีตรอบโลก" ศิรชัย กล่าว


ความท้าทายสู่ "การบริโภคที่ยั่งยืน"

"ผลวิจัยสะท้อนชัดเจนว่าซุปหูฉลามที่ถูกเสิร์ฟนั้นอาจมาจากฉลามที่กำลังเสี่ยงสูญพันธุ์แถมอาจจะเป็นฉลามวัยเด็กอีกด้วยถ้าให้เปรียบก็เหมือนกับเรากำลังกินเสือหรือแม้แต่ลูกเสือที่มีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของป่าการบริโภคของเราทุกคนจึงมีส่วนกำหนดชะตากรรมของฉลามหลายชนิดและย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงความสมดุลของท้องทะเลในที่สุด

จริงๆแล้วการบริโภคที่ยั่งยืนเริ่มต้นได้ง่ายที่สุดด้วยการหยุดบริโภคฉลามโดยเด็ดขาด" ดร. เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ที่ปรึกษาองค์กรไวล์ดเอด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยกล่าว

"ฉลามเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญอย่างมากในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล กรมประมงตระหนักถึงความสำคัญนี้ และเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำและขับเคลื่อน แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลาม ของประเทศไทย (NPOA-Sharks) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านบริหารจัดการทรัพยากรและการอนุรักษ์ฉลามร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลฉลามจากการส่งออกและนำเข้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฉลาม

กรมประมงยืนยันว่าจะให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อควบคุมติดตามและตรวจสอบการค้าฉลามชนิดพันธุ์ที่อยู่ในบัญชีของอนุสัญญาไซเตสเพื่อการใช้ประโยชน์จากฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป" นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าว

"องค์กรไวล์ดเอดเตรียมดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างความตระหนักต่อผู้บริโภคถึงผลกระทบจากการบริโภคเมนูจากฉลามจากผลการศึกษาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดประชุมเสริมสร้างศักยภาพของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์ฉลามฯ อาทิ กลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมง และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมและผลักดันการอนุรักษ์ฉลามอย่างยั่งยืนต่อไป" ไวล์เอดเปิดเผย


https://greennews.agency/?p=34979

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


เผยชัดขึ้นตามลำดับ ผลกระทบเอลนีโญในไทย "ฝนน้อย-แล้งยาว-ทะเลอ่าวไทย"



เกิดขึ้นแล้ว "2566 เป็นมิถุนายนที่ร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี? คาด ?แล้งลากยาวถึงเม.ย. 67 ? ฝนปี 66 ส่อน้อยกว่าปี 65 มาก" ชี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร รศ.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการม.เกษตรฯ เผย

ด้านนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผย "น้ำทะเลโลกเขียวบ่อยขึ้นจากโลกร้อน ? มวลน้ำร้อนใหญ่จ่ออ่าวไทยแล้ว ? คาดกระทบหนัก ปะการัง แพลงค์ตอนบลูม พายุ ? เตือนเร่งรับมือ?ปรับตัวเป็นระบบ" ชี้แค่ตั้งกรมโลกร้อน "อาจไม่พอ"

การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกจากค่าเฉลี่ยปี 1985-1993 (พ.ศ. 2528-2536) ถึงเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา แสดงว่าผิวน้ำทะเลร้อนขึ้นจากค่าเฉลี่ยเป็นส่วนใหญ่ในระดับที่แตกต่างกัน โดยจะเห็นได้ชัดเจนว่า พื้นที่ทะเลส่วนใหญ่มีสีเฉดแดง สีเฉดแดงแสดงระดับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ ขณะที่เฉดสีน้ำเงินแสดงระดับการลดลงของอุณหภูมิ


"2566" มิถุนายนที่ร้อนที่สุด ในรอบ 174 ปี

"องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า มิ.ย. 2566 เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกอยู่ที่ 1.05?C สูงกว่าค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ที่ 15.5?C และเป็นครั้งแรกที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงเกินค่าเฉลี่ยในศตวรรษที่ 20 ถึง 1.0?C

(ภาพที่ 2) และอุณหภูมิผิวน้ำทะเล (Ocean) ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. ด้วยกันในรอบ 174 ปี! โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 0.92?C ส่วนอุณหภูมิพื้นดิน (Land) ก็ร้อนที่สุดเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ด้วยกันในรอบ 174 ปี โดยเพิ่มขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 1.35?C"

รศ.วิษณุ อรรถวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและไทยอย่างต่อเนื่อง และอาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยวันนี้ (16 ก.ค. 2566) ผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Witsanu Attavanich

ก.ค. 2566 โมเดลคาดการณ์สภาพภูมิอากาศสำหรับเอลนีโญ แสดงการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ไม่ปกติในปี 2566 จาก North American Multi-Model Ensemble (NMME) เส้นสีดำแสดงค่าเฉลี่ยการคาดการณ์ของโมเดล พื้นที่สีเทาเข้มแสดง 68% จากทุกโมเดลคาดการณ์ ส่วนพื้นที่สีเทาอ่อนแสดง 95% จากทุกโมเดลคาดการณ์ (ภาพนี้ของ NOAA climate.gov จัดทำบนกราฟของ Emily Becker)


คาด "แล้งลากยาวถึงเม.ย. 67"

"องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) (ภาพที่ 3) รายงานว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเอลนีโญเพิ่มขึ้นเฉียด 100% ตามที่คาดไว้ และจะลากยาวถึงอย่างน้อย เม.ย. 67 (ภาพซ้ายแท่งสีแดง)

และงานวิจัยจาก CPC (NOAA) คาดว่ากำลังของเอลนีโญระดับปานกลางขึ้นไป (>1.0 ?C) มีความน่าจะเป็นเกิน 70% ขึ้นไป ตั้งแต่ช่วง ส.ค.66-ม.ค.67 (ภาพขวาแท่งสีม่วง) และกำลังของเอลนีโญระดับรุนแรง (>1.5 ?C) มีความน่าจะเป็นสูงสุดเท่ากับ 52% ช่วง ก.ย. ? พ.ย. 66 (ภาพขวาแท่งสีแดงเข้ม)" รศ.วิษณุ กล่าว


ส่อ "ฝนปี 66 จะน้อยกว่าปี 65 มาก"

"ล่าสุด (15 ก.ค. 66) International Research Institute for Climate Society (IRI) มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (ภาพที่ 4) ได้พยากรณ์ว่าฤดูฝนปี 66 ปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 65 อย่างมาก

โดยช่วง ส.ค.-ต.ค.66 ภาคใต้และตะวันออกตอนล่าง (ตราด ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทราตอนล่าง สระแก้วตอนล่าง) ปริมาณฝนจะลดลงเป็นเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติจากเดิมที่คาดว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ

และปริมาณฝนจะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย (พื้นที่สีเขียว) ในภาคเหนือตอนบน (เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา) อีสานบางพื้นที่ (บึงกาฬ หนองคาย อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์) และภาคตะวันออก (ปราจีนบุรี สระแก้วตอนบน ฉะเชิงเทราตอนบน) ภาคกลาง (สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ปทุมธานี)" รศ.วิษณุ กล่าว


เริ่มชัด "สัญญาณแล้งปลายปีนี้?ยาวถึงต้นปีหน้า"

"ช่วง ก.ย.-พ.ย.66 ประจวบคีรีขันธ์ตอนล่าง ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราชตอนบน ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ (พื้นที่สีน้ำตาลและเหลือง) หลายพื้นที่ประสบภัยแล้งเดิมในต้นปีนี้มีโอกาสกลับมาเผชิญกับฝนน้อยกว่าปกติและภัยแล้งปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าต้องระวังให้มาก

ขณะที่ช่วง ต.ค.-ธ.ค.66 ปริมาณฝนจะเท่ากับค่าเฉลี่ยปกติในทุกภูมิภาค และท้ายสุดช่วง พ.ย.66-ม.ค.67 ปริมาณฝนจะมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติในภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่นครศรีธรรมชาติลงมา และภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน (พื้นที่สีเหลือง)

สำหรับสถานการณ์น้ำในประเทศ พบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อน/อ่างเก็บน้ำที่ใช้การได้จริงเหลือเพียง 17% ของความจุ เขื่อนหลักน้ำเหลือน้อยมากจนน่าเป็นห่วง (เขื่อนภูมิพล 17% เขื่อนสิริกิติ์ 8%เขื่อนสิรินธร 12% เขื่อนอุบลรัตน์ 10% เขื่อนศรีนครินทร์ 12% เขื่อนวชิราลงกรณ 11%) ด้วยปริมาณฝนที่คาดว่าจะตกไม่เยอะมากในฤดูฝนปีนี้ ดังนั้น ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดสุดๆ ไม่งั้นปี 1-2 ข้างหน้าวิกฤติแน่ ต้องลุ้นให้ฝนตกเหนือเขื่อนให้มากที่สุดก่อนเผชิญภัยแล้งที่รุนแรงและยืดเยื้อ" รศ.วิษณุ เปิดเผย


ชี้ต้องเตรียมรับมือให้ดี โดยเฉพาะภาคเกษตร

"เตรียมรับมือกับเอลนีโญในระดับรุนแรงด้วยความไม่ประมาทกันนะครับอากาศจะร้อนกว่าปกติต้องระวังโรคฮีตสโตรกหรือโรคลมแดดกันด้วยนะครับ

ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันกักเก็บน้ำในฤดูฝนนี้ให้มากที่สุดทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานกันนะครับเรามีน้ำเหลือน้อยมากแต่ต้องเผชิญกับภัยแล้งที่คาดว่าจะไม่ธรรมดาและอาจยาวนานขุดบ่อจิ๋วและสระสาธารณะใหม่เพิ่มขุดลอกคูคลองและสระสาธารณะที่ตื้นเขินเพื่อเพิ่มการกักเก็บน้ำและช่วยลดน้ำท่วมได้อย่าให้น้ำฝนไหลลงทะเลโดยเปล่าประโยชน์

ต้องลดการปลูกข้าวนาปรังอย่างจริงจัง เกษตรกรต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอ ปลูกพืชที่เหมาะสมกับน้ำที่มีและทนร้อนและแล้งได้ดี ต้องระวังผลผลิตเสียหายจากแมลงที่คาดว่าจะมากกว่าปกติและโรคในพืชและปศุสัตว์เพราะอากาศที่ร้อนอาจทำให้พืชและสัตว์อ่อนแอ" รศ.วิษณุ กล่าว


กว่าครึ่งมหาสมุทรโลกมีแนวโน้ม "น้ำเขียวบ่อยขึ้น?สาเหตุโลกร้อน"

"นักวิทยาศาสตร์พบว่าทะเลในเขตร้อนเกิดปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เป็นการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมและวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 20 ปี พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของมหาสมุทรโลกมีแนวโน้มที่น้ำจะเขียวบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในเขตร้อน" ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลระดับแนวหน้า และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยวานนี้ (15 ก.ค. 2566) ผ่านโพสต์เฟสบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat


"แพลงก์ตอนบลูมกำลังเพิ่ม" ทะเลอ่าวไทย

"แพลงก์ตอนบลูมกำลังมีมากขึ้นในอ่าวไทยเมื่อแพลงก์ตอนมีมากเกินไปมันส่งผลกระทบด้านต่างๆโดยเฉพาะออกซิเจนในน้ำเกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำโดยตรงภาพที่เราใช้โดรนถ่ายมาในบริเวณอ่าวไทยตอนในคงบอกได้ดีว่าเขียวแล้วเป็นไง

แพหอยแถวนั้นจะรอดมั้ย แม้ไม่ใช่แพลงก์ตอนพิษ แต่หอยอาจโตช้า ขายไม่ได้ราคา หนักหน่อยก็ตายเลย เป็นผลกระทบซ้ำซ้อนที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของพี่น้องคนชายฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ

และดูเหมือนจะไม่มีวี่แววว่าจะลด เพราะโลกยังไม่หยุดร้อน อีกทั้งผลกระทบจากมนุษย์โดยตรงก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะน้อยลงอย่างมีนัยยะ

ผมนำภาพโมเดลจากงานวิจัยมาให้ดู เห็นชัดว่าจุดแดงส่วนหนึ่งอยู่ในอ่าวไทย ไม่อยากนำเรื่องเศร้าๆ มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันหนักหน่วง WMO เตือนทุกประเทศเรื่องเอลนีโญ งานวิจัยก็ชี้ชัดว่าทะเลเรากำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวบ่อยขึ้นอย่างรวดเร็ว" ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว


แค่ตั้งกรมโลกร้อน อาจไม่พอ

"หลายฝ่ายก็พยายามครับ เราตั้งกรมโลกร้อน วันนี้ท่านรมต./ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรก็ไปเปิดศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

แต่ในฐานะคนที่ตามเรื่องนี้มาตลอด บอกได้ว่าโลกแปรปรวนเร็วและแรง เราทำดีแล้ว แต่แค่นี้อาจไม่เพียงพอ

ก็หวังเพียงว่าเมื่อทุกอย่างลงตัว เราจะเร่งเครื่องให้ทัน เพราะโลกร้อนไม่หยุดรอเราครับ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


"มวลน้ำร้อนใหญ่จ่ออ่าวไทยแล้ว"

"อุณหภูมิผิวหน้าน้ำทะเลเกี่ยวข้องโดยตรงกับเอลนีโญ ภาพนี้แสดงน้ำร้อนผิดปรกติที่เคลื่อนเข้ามาจ่อปากอ่าวไทยแล้วครับ สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก NOAA แสดงกราฟอุณหภูมิน้ำทะเลที่ทำให้เราเห็นว่า เราทะลุเข้าเอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเร่งตัวขึ้น

เอลนีโญจะแรงสุดช่วงเดือนพฤศจิกายน?มกราคม มีโอกาสที่น้ำทะเลร้อนเพิ่มขึ้นเกิน 1 องศา (80%) เกิน 1.5 องศา (50%) และเกิน 2 องศา (20%) ตัวเลข % อาจเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะแม่นยำเพิ่มขึ้นเมื่อใกล้ขึ้น

เมื่อดูกราฟในอดีต ส่วนใหญ่เอลนีโญจะจบลงเดือนมีนาคม?พฤษภาคม ปีหน้า แต่มีอยู่บ้างที่จะลากยาวไปไกลกว่านั้น กลายเป็นดับเบิ้ลเอลนีโญ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวในโพสต์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา


เตือน 3 ผลกระทบ "ปะการัง?สาหร่ายทะเล?พายุ"

"เรามาดูว่าน้ำร้อนส่งผลอย่างไร ? ผมสรุปให้เพื่อนธรณ์ 3 เรื่อง

ผลกระทบต่อปะการังแม้เป็นช่วงฤดูฝนที่น้ำควรจะเย็นแต่ปะการังบางแห่งยังสีซีดไปจนถึงฟอกขาวน้อยๆไม่แข็งแรงอย่างที่ควรเป็นหากเอลนีโญลากยาวไปถึงฤดูร้อนปีหน้ามันเป็นเรื่องน่าสะพรึง

ผลกระทบต่อแพลงก์ตอนบลูม/น้ำเปลี่ยนสี ช่วงนี้ฝนตกแดดออกสลับกันไป แพลงก์ตอนพืชชอบมาก เพราะมีทั้งธาตุอาหารทั้งแสงแดด จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำเขียวเป็นระยะ มวลน้ำที่ร้อนกว่าปรกติ ทำให้น้ำแบ่งชั้น น้ำร้อนอยู่ข้างบน น้ำเย็นอยู่ข้างล่าง ออกซิเจนจากน้ำด้านบนมาไม่ถึงน้ำชั้นล่าง หากเกิดแพลงก์ตอนบลูม สัตว์น้ำตามพื้นจะตายง่าย

ผลกระทบต่อพายุ อันนี้ต้องออกไปดูมวลน้ำร้อนในแปซิฟิก น้ำยิ่งร้อนยิ่งถ่ายทอดพลังงานให้พายุหมุนได้มากขึ้น ต้องจับตาดูไต้ฝุ่นปีนี้ว่าจะเป็นอย่างไร" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


ชี้ "ต้องรีบรับมือ?ปรับตัว"

"พื้นที่ได้รับผลกระทบคืออ่าวไทย โดยเฉพาะอ่าวไทยตอนในและภาคตะวันออก ซึ่งบริเวณนั้นเป็นที่คนอยู่หนาแน่นและมีกิจกรรมทางทะเลมากสุดในไทย แล้วเราทำอะไรได้บ้าง ?

คำตอบคือ "รับมือ" ด้วยการยกระดับติดตามผลกระทบในทะเลอย่างจริงจัง เพิ่มการสำรวจคุณภาพน้ำ สมุทรศาสตร์ และระบบนิเวศให้ทันท่วงที

"ปรับตัว" ด้วยการลดผลกระทบจากมนุษย์ให้น้อยที่สุด อย่าซ้ำเติมทะเลตอนที่เธอกำลังแย่ มองไปข้างหน้าหาทางหนีทีไล่ เช่น หากต้องปิดจุดดำน้ำในแนวปะการังหากฟอกขาวปีหน้า เราจะต้องทำอย่างไรเมื่อการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

ปรับตัวกับโลกร้อนไม่ใช่อะไรที่จะทำได้ในพริบตา เราต้องคิดและวางแผนล่วงหน้าครับ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกบอกไว้ โลกเปลี่ยนไป เอลนีโญ+โลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เราต้องเผชิญอีกเรื่อยๆ หนนี้เป็นแค่ชิมลางก่อนเข้าสู่ยุคธรรมชาติแปรปรวนอย่างแท้จริง เราควรต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด คิดหาหนทางไว้ในขณะที่ยังพอมีเวลา

จะมารายงานเพื่อนธรณ์เรื่อยๆ ส่วนที่ว่าทำได้แค่ไหน ก็จะพยายามสุดแรง โดยมีความหวังเล็กๆ ว่าที่พูดไปจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เปลี่ยนเร็วๆ หน่อยก็ดีนะ เพราะมวลน้ำร้อนใหญ่มาจ่อไทยแล้วครับ" ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าว


https://greennews.agency/?p=34988

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 17-07-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก BBCThai


น้ำทะเลครึ่งโลกเปลี่ยนไป กลายเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ



ทีมนักสมุทรศาสตร์จากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร เปิดเผยข้อมูลความเปลี่ยนแปลงของน้ำทะเลทั่วโลกที่น่าตกใจว่า พื้นที่ราวครึ่งหนึ่งของผืนมหาสมุทรทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบใกล้เส้นศูนย์สูตร กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ทำให้สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในน้ำทะเลอย่างไฟโตแพลงก์ตอน (phytoplankton) ซึ่งใช้สารคลอโรฟิลล์สีเขียวและกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงผลิตพลังงานให้กับตัวเอง ต่างเติบโตและเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศในมหาสมุทรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ฉบับล่าสุด ระบุว่าแม้ปรากฏการณ์นี้จะทำให้โลกดูเป็นสีเขียวมากขึ้น ทว่ากลับไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด เนื่องจากการเติบโตเกินขีดจำกัดของประชากรแพลงก์ตอน จะทำให้ผืนน้ำโดยรอบขาดออกซิเจนจนกลายเป็นเขตมรณะ (hypoxic dead zone) ซึ่งยากที่สิ่งมีชีวิตจะเหลือรอดและอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้

ทีมผู้วิจัยซึ่งนำโดยนักวิทยาศาสตร์จากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติ (NOC) ในเมืองเซาแทมป์ตันของสหราชอาณาจักร ชี้ว่าผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมที่รวบรวมมาเป็นเวลานานถึง 20 ปีนั้น เพียงพอที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศผิวน้ำในมหาสมุทรได้

ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวเป็นภาพจากการสะท้อนแสงของผิวมหาสมุทร ซึ่งบันทึกไว้โดยดาวเทียม MODIS-Aqua โดยสีของน้ำทะเลที่ตรวจจับได้จากการสะท้อนแสงดังกล่าว บ่งบอกถึงจำนวนประชากรของไฟโตแพลงก์ตอนได้แม่นยำกว่าวิธีดั้งเดิมอื่น ๆ อย่างเช่นค่าประมาณการของระดับสารคลอโรฟิลล์ในผิวน้ำ

ความเปลี่ยนแปลงที่พบคือผืนมหาสมุทรบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตร ซึ่งกินบริเวณกว้างเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่มหาสมุทรทั่วโลก กำลังเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แสดงถึงการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วโดยไม่หยุดยั้งของประชากรไฟโตแพลงก์ตอน

เมื่อนำแบบแผนการขยายตัวของน้ำทะเลสีเขียวนี้ไปตรวจสอบ โดยเปรียบเทียบกับข้อมูลในแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ทีมผู้วิจัยพบว่ามันสอดคล้องกันพอดีกับแบบแผนความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าอุณหภูมิผิวน้ำที่สูงขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน คือปัจจัยสำคัญที่เร่งให้น้ำทะเลเปลี่ยนสีและมีออกซิเจนลดลง

แม้ไฟโตแพลงก์ตอนจะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และช่วยให้เกิดการจมคาร์บอนลงสู่ก้นมหาสมุทรได้มากขึ้น แต่การเพิ่มจำนวนประชากรอย่างเกินขีดจำกัดของมัน ไม่ได้ทำให้ภาวะโลกร้อนชะลอตัวหรือบรรเทาความรุนแรงลง เนื่องจากการที่น้ำทะเลเน่าเสียขาดออกซิเจน จะส่งผลให้ห่วงโซ่อาหารหลักของท้องทะเลถูกทำลายไปด้วย


https://www.bbc.com/thai/articles/c1d755j1dppo

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:34


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger