#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 1 กันยายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 1 ? 6 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยคลื่นสูง 1-2 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ชายหาดพัทยาพังซ้ำซาก กรมเจ้าท่าเร่งแก้ปัญหา เล็งสร้างอุโมงค์รับน้ำขนาดใหญ่ กรมเจ้าท่าลงพื้นที่หารือเมืองพัทยาเร่งแก้ปัญหาทรายชายหาดพัทยาเสียหาย จากกรณีน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดแล้วไหลระบาย ชะล้างทรายชายหาดได้รับความเสียหายซ้ำซาก เล็งสร้างอุโมงค์น้ำเป็นจุดรับน้ำ และระบายน้ำขนาดใหญ่เป็นแผนระยะยาว วันนี้ (31 ส.ค.) นายสมพงษ์ จิรศิริเลิศ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า (ด้านปฏิบัติการ) พร้อมด้วย นายพิสุทธิ์ อมรยุทธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 6 นายเอกราช คันธโร ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพัทยา ลงตรวจพื้นที่ชายหาดพัทยา และร่วมหารือกับ นายพัฒนา บุญสวัสดิ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองพัทยา, รองปลัดเมืองพัทยา และผู้อำนวยการกองช่างเมืองพัทยา เกี่ยวกับปัญหาพื้นที่ชายหาดพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นชายหาดทราย แหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกที่สำคัญของประเทศไทย ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยาแล้วไหลระบายลงสู่ชายหาด ชะล้างทรายชายหาดได้รับความเสียหายซ้ำซากในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้จ้างสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาออกแบบก่อสร้างเสริมทรายชายหาดตามแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองพัทยาในรูปแบบการเสริมทราย (BEACHNOURISHMENT) โดยการนำทรายจากแหล่งอื่นมาถมชายหาดที่หายไปเพื่อเสริมส่วนที่ถูกกัดเซาะให้กลับมามีสภาพเดิม ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายหาดทราย เพื่อใช้ประโยชน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวและสันทนาการที่สำคัญของจังหวัดชลบุรีและของประเทศไทย มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวชายหาดพัทยาปีละ 9 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่จังหวัดชลบุรี กรมเจ้าท่าได้ก่อสร้างด้วยการเสริมทรายชายหาดพัทยากว้าง 35 เมตร ความยาวประมาณ 2,800 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดพัทยาเหนือตั้งแต่โรงแรมดุสิตถึงชายหาดพัทยาใต้ รวมระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ใช้งบประมาณค่าก่อสร้าง 429 ล้านบาท จนแล้วเสร็จส่งมอบให้เมืองพัทยาเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 สามารถช่วยกระตุ้นและส่งเสริมเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของชายหาดพัทยาและของประเทศให้กลับมาคึกคัก สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนชายหาดพัทยาจะประสบปัญหาน้ำท่วมเมืองพัทยา และไหลระบายลงสู่ชายหาดพัทยา ทำให้หาดทรายได้รับความเสียหายซ้ำซาก และจากการตรวจสอบพบความเสียหายตลอดแนวชายหาดพัทยา ได้แก่ 1. บริเวณพัทยาเหนือ ซอย 5 ความเสียหายความกว้างประมาณ 10 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร 2. บริเวณพัทยาเหนือ ซอย 6 ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร 3. บริเวณพัทยากลาง ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร 4. บริเวณพัทยากลาง ซอย 9 (หน้า Central) ความเสียหายความกว้างประมาณ 15 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 3 เมตร+ 5. บริเวณพัทยากลาง ซอย 10 ความเสียหายความกว้างประมาณ 8 เมตร เป็นร่องลึกประมาณ 2 เมตร จากปัญหาดังกล่าว รองอธิบดีกรมเจ้าท่าได้มีการหารือแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับรองนายกเมืองพัทยา โดยทางเมืองพัทยาจะเร่งเสริมทรายในจุดที่เสียหายให้กลับสู่สภาพชายหาด และในระยะสั้นทางเมืองพัทยาจะป้องกันชายหาดด้วยการนำวัสดุ (แผ่นยาง/แผ่น Geotextile) คลุมชายหาดบริเวณจุดระบายน้ำล้นขณะฝนตกหนักเพื่อป้องกันกระแสน้ำชะล้างทรายบริเวณชายหาด และจัดเก็บเมื่อระดับน้ำกลับสู่สภาวะปกติ ส่วนในระยะยาวจะหาแนวทางไม่ให้เกิดน้ำท่วมถนนเลียบชายหาดพัทยา เช่น สร้างอุโมงค์น้ำที่ถนนเลียบชายหาดเป็นจุดรับน้ำไปสู่จุดระบายน้ำขนาดใหญ่ของเมืองพัทยา นอกจากนี้ จะมีการหารือการบริหารจัดการน้ำกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เนื่องจากพัทยาเป็นจุดต่ำที่น้ำฝนไหลมาจากเขตพื้นที่อื่นมาที่เมืองพัทยา ทั้งนี้ เป็นการร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยว พลิกฟื้นหาดทรายให้กลับคืนสภาพสวยงามดังเดิมอย่างยั่งยืน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่จากทั่วทุกมุมโลก https://mgronline.com/business/detail/9640000086099
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
งานวิจัยใหม่เผย 'หมึก' ตัวเมีย จะขว้างเปลือกหอยใส่ ตัวผู้ หากไม่อยากผสมพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์พบ 'หมึก' ตัวเมีย จะพ่นและขว้างตะกอน เปลือกหอย และสาหร่ายใส่หมึกตัวผู้ หากพวกมันไม่มีความต้องการที่จะผสมพันธุ์ ตั้งแต่ปี 2558 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ได้ศึกษาหมึกในอ่าวเจอร์วิสบนชายฝั่งทางใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย จนเมื่อไม่นานมานี้พวกเขาได้ค้นพบว่าหมึกตัวเมีย นั้นจะโยนเปลือกหอยและตะกอน ใส่หมึกตัวอื่น ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการบันทึกว่าหมึกพ่นและขว้างเศษหมึกใส่กัน ที่อาจบ่งชี้ว่าพวกมันกำลังพยายามใช้อาวุธในการต่อสู้ อาทิ ในเหตุการณ์หนึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 2559 ที่พบว่าหมึกตัวเมียตัวหนึ่ง ได้โยนของไป 10 ครั้ง โดยห้าครั้งจะโยนใส่หมึกตัวผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้ ๆ ที่พยายามจะหาคู่และเข้ามาผสมพันธุ์กับมันหลายครั้ง ทั้งยังมีการอ้างว่าในบางครั้งปลาก็จะถูกขว้างของใส่ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การขว้างสิ่งของไม่ใช่พฤติกรรมทั่วไปในสัตว์ แม้ว่าลิงชิมแปนซีและคาปูชิน ช้าง พังพอน และนกจะทำเช่นนั้น ทั้งการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการขว้างปายังพบเห็นได้ในสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ อาทิ การสะบัดขนของแมงมุม และการพ่นน้ำของปลาอาร์เชอร์ฟิช เพราะโดยทั่วไปแล้วการขว้างปาจะถูกมองว่าเป็นการกระทำของมนุษย์โดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการของมนุษย์ โดยนักวิจัยได้กล่าวว่าการขว้างปานั้นเป็นเรื่องปกติในหมึก "การขว้างสิ่งของของหมึกตามธรรมชาตินั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างน้อยก็ในสถานที่ที่ได้ระบุไว้ ซึ่งการขว้างปาเหล่านี้จะทำได้โดย การโดยการรวบรวมวัสดุและถือไว้ในอ้อมแขน ก่อนจะขว้างออกไปภายใต้แรงดัน" ซึ่งแรงที่ใช่ส่งของออกไปนั้นจะไม่ได้ส่งมาจากแขนเหมือนในการขว้างของมนุษย์ แต่แขนจะจัดการสิ่งของเหล่านั้นก่อนที่ส่งวัตถุพุ่งออกไป ทั้งยังพบว่าการขว้างของเหล่านี้ก็เกิดในหมึกตัวผู้ด้วยเช่นกัน จากกรณีหนึ่ง หลังจากที่หมึกตัวผู้ถูกปฏิเสธ มันก็โยนเปลือกหอยไปในทิศทางแบบสุ่มและเปลี่ยนสีด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นการระบายความหงุดหงิดของพวกมัน https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_6594335
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก โพสต์ทูเดย์
โลกร้อนทำอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น มนุษย์จะเดือดร้อนหนัก นักวิทย์เผยโลกร้อนจะทำให้คลื่นความร้อน น้ำท่วม พายุรุนแรงขึ้น และเรามาถึงจุดที่ย้อนกลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาโลกของเราเผชิญกับภัยธรรมชาติมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนในแคนาดา ไฟไหม้ในแคลิฟอร์เนีย น้ำท่วมในเยอรมนี น้ำท่วมในจีน ภัยแล้งในภาคกลางของบราซิล หรือล่าสุดคือเฮอร์ริเคนไอดาที่ถล่มตอนใต้ของสหรัฐ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างหนัก เฮอร์ริเคนไอดาขึ้นฝั่งที่รัฐลุยเซียนาของสหรัฐด้วยความเร็วลม 240 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 16 ปีที่เฮอร์ริเคนแคทรีนาถล่มสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ทำให้พายุเฮอร์ริเคน หรือไซโคลน หรือไต้ฝุ่นที่เรียกในพื้นที่อื่น มีความรุนแรงขึ้น ทำให้ฝนตกมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลงหลังจากพัดขึ้นฝั่งแล้ว และยังก่อให้เกิด storm surges หรือคลืนพายุซัดฝั่ง รุนแรงขึ้น เฮอร์ริเคนไอดาซึ่งสะสมความรุนแรงจากน้ำในอ่าวเม็กซิโกที่อุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติคือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ และนักวิทยาศาสตร์ยังบอกว่าพายุแบบนี้จะเกิดบ่อยขึ้น เนื่องจากโลกร้อนขึ้น พายุเฮอร์ริเคน ไซโคลน หรือไต้ฝุ่นจะทวีความรุนแรงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น ซึ่งการศึกษาวิจัยพบว่ามหาสมุทรดูดซับความร้อนส่วนเกินของโลกที่ถูกก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ปล่อยออกมากักไว้ไม่ให้สะท้อนกลับออกไปนอกชั้นบรรยากาศของโลกไว้ถึง 90% และงานวิจัยล่าสุดยังพบว่าโลกเรากักความร้อนไว้มากกว่าเมื่อ 15 ปีที่แล้วราว 2 เท่า และเมื่อโลกร้อนขึ้น พายุก็ยิ่งรุนแรงขึ้น นอกจากนี้ รายงานว่าด้วยสภาพอากาศของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) พบว่า พายุไซโคลนระดับ 3-5 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงที่สุดเกิดถี่ขึ้นกว่าช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่อุ่นขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยทุกๆ 1 องศาเซลเซียสที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงส่งผลให้เกิดพายุไซโคลนรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดฝนตกหนักรุนแรงขึ้นอีก 7% ก่อนจะพัดขึ้นฝั่งเฮอร์ริเคนไอดามีความเร็วลมสูงสุดเพิ่มขึ้นรวดเร็วจนน่าตกใจคือ ภายในเวลา 24 ชั่วโมงความเร็วลมก็เพิ่มขึ้นถึง 104.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่นักวิทยาศาสตร์นิยามคำว่า "การทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็ว" ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ไว้ที่การเพิ่มขึ้น 56.3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เท่ากับว่าความเร็วลมสูงสุดของเฮอร์ริเคนไอดาสูงกว่าที่กำหนดไว้เกือบ 2 เท่า การที่พายุจะทวีกำลังขึ้นอย่างรวดเร็วจะเกิดได้นั้น อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้นจะต้องเกิดขึ้นในระดับลึกกว่าพื้นผิวหลายร้อยฟุต เพื่อให้เฮอร์ริเคนสะสมพลังได้มากขึ้น สิ่งนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามหาสมุทรที่อุ่นขึ้นทำให้พายุมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้น พายุก่อฝนมากขึ้น เคลื่อนที่ช้าลง พายุยังทำให้ฝนตกมากขึ้นด้วย โดยทุกๆ 1 องศาที่โลกร้อนขึ้นชั้นบรรยากาศจะกักเก็บไอน้ำที่จะตกลงมาเป็นฝนเพิ่มขึ้น 7% และหลังจากพายุเฮอร์ริเคนฮาร์วีทำให้น้ำท่วมเมืองฮุสตัน รัฐเทกซัสของสหรัฐเมื่อปี 2017 นักวิทยาศาสตร์พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากน้ำมือมนุษย์ทำให้ฝนจากพายุเพิ่มขึ้น 15% ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยให้เห็นว่า หลังจากพายุพัดขึ้นฝั่งแล้วจะเคลื่อนตัวช้าลงและลูกใหญ่ขึ้น ซึ่งหมายความว่าพายุนี้จะครอบคลุมพื้นที่ในวงกว้างขึ้นและปล่อยน้ำฝนลงมามากขึ้นในช่วงเวลาที่กำลังเคลื่อนตัว สอดคล้องกับผลการศึกษาเมื่อปี 2020 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ที่พบว่า พายุทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวอยู่บนฝั่งมากกว่าเมื่อ 50 ปีก่อน และเนื่องจากเฮอร์ริเคนสะสมพลังงานจากน้ำในมหาสมุทรที่อุ่นขึ้น เมื่อขึ้นฝั่งก็มีแนวโน้มจะอ่อนกำลังลง ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพายุแผลงฤทธิ์นานขึ้นหลังจากพัดขึ้นฝั่ง งานวิจัยชิ้นนี้จึงสรุปว่า อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรที่สูงขึ้นทำให้พายุสลายตัวช้าลงด้วยการเพิ่มปริมาณความชื้นที่พายุเฮอร์ริเคนสะสมไว้ ฝนตกครั้งแรกที่กรีนแลนด์ นอกจากนี้ วันที่ 14-16 ส.ค. เกิดฝนตกบนยอดพืดน้ำแข็ง (ice cap) ที่สูงที่สุดของกรีนแลนด์เป็นครั้งแรกในรอบ 71 ปี และมีปริมาณฝนมากที่สุดถึง 7,000 ตัน ช่วง 3 วันที่ฝนตกตรงกับช่วงที่อุณหภูมิของกรีนแลนด์สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยถึง 18 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายกินพื้นที่ใหญ่กว่าอังกฤษ 4 เท่า หรือ 7 เท่าของค่าเฉลี่ยรายวันของปีนี้ ที่น่าตกใจไม่แพ้กันคือ เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา น้ำแข็งของกรีนแลนด์ยังเกิดการละลายเป็นวงกว้างคือ สูญเสียน้ำแข็งพื้นผิวไปถึง 8,500 ตันภายในวันเดียว (เพียงพอที่จะทำให้ฟลอริดาน้ำท่วมสูง 5 เซนติเมตร) ส่งผลให้ปี 2021 เป็นหนึ่งใน 4 ปีในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาที่นำแข็งละลายเป็นวงกว้างต่อจากปี 2019, 2012 และ 1995 น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายเมื่อเดือน ก.ค.และ ส.ค. เกิดจากสาเหตุเดียวกันคือ อากาศอบอุ่นถูกผลักดันขึ้นมาลอยอยู่เหนือกรีนแลนด์และค้างอยู่อย่างนั้น แม้กระแสลมนี้จะไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบว่ามันมีความรุนแรงขึ้น หากมีเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้นน้ำแข็งกรีนแลนด์ก็ละลายอยู่แล้ว แต่ฝนที่ตกลงมายิ่งเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้ให้เกิดเร็วขึ้นอีก คือ เมื่อฝนตก ความอุ่นของฝนจะทำให้หิมะละลาย ทำให้น้ำแข็งที่อยู่ด้านล่างโผล่ขึ้นมาดูดซับความร้อนมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวของหิมะสูงขึ้น นำมาสู่การละลายเพิ่มขึ้น และวนเป็นลูกโซ่อยู่เช่นนี้ ที่น่าห่วงไม่แพ้กันคือ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งบางลง ก็จะมีน้ำแข็งแตกออกมาแล้วไหลลงทะเลเพิ่มขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ทำให้ธารน้ำแข็งไหลลงทะเลเร็วขึ้น และยังส่งผลให้พื้นผิวน้ำแข็งบางลงจนสัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้มากขึ้น สุดท้ายน้ำแข็งเหล่านี้จะละลายเพิ่มขึ้นอีก น้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายฟังดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมนุษย์ใกล้ตัวคนไทยมากกว่าที่คิด นักวิทยาศาสตร์ประเมินว่า น้ำแข็งของกรีนแลนด์ละลายเร็วที่สุดในช่วง 12,000 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2019 อัตราการละลายของน้ำแข็งอยู่ที่นาทีละ 1 ล้านตัน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) เผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นราว 20 เซนติเมตร และภายในปี 2100 อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 28-100 เซนติเมตร หรืออาจจะ 200 เซนติเมตร และหากน้ำแข็งกรีนแลนด์ละลายทั้งหมด ซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายร้อยหรือหลายพันปี น้ำทะเลจะสูงขึ้นราว 6 เมตร แต่ขณะนี้น้ำแข็งกรีนแลนด์ที่หายไปนับล้านล้านตันตั้งแต่ปี 1994 ก็ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นและกำลังคุกคามเมืองตามชายฝั่งทั่วโลก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร หลายพื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัย Deltares ของเนเธอร์แลนด์ พบว่า ประเทศในแถบพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพื้นดินมีแนวโน้มที่จะจมเนื่องจากการทรุดตัว อาทิ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งหมายความว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศเหล่านี้อาจต้องเผชิญภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ซึ่งมีแนวโน้มเลวร้ายลงอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทีมวิจัยประเมินว่า ขณะนี้ประชากร 157 ล้านคนในเขตร้อนของเอเชียอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่า 2 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นระดับที่มีการทำนายว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด และตัวเลขนี้จะเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้ ภายใต้สมมติฐานว่าน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปี 2100 ชาวไทย 23 ล้านคน, ชาวเวียดนาม 38 ล้านคน และชาวอินโดนีเซีย 28 ล้านคนจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงที่น้ำจะท่วมชายฝั่งบ่อยขึ้น หรือเพิ่มขึ้นจากตัวเลขขณะนี้ถึง 21% ผลกระทบอาจร้ายแรงในเมืองใหญ่ๆ ชุมชนชายฝั่ง และพื้นที่เกษตรกรรม โดยพื้นที่ขนาดใหญ่อาจไม่สามารถอาศัยอยู่ได้อีกหรือสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปเลย ขณะที่รายงานของ Greenpeace ซึ่งใช้ข้อมูลจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของ Climate Central เพื่อคำนวณความเสียหายทางเศรษฐกิจของ 7 เมืองใหญ่ที่สุดของเอเชียอันเนื่องมาจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2030 ประเมินว่า อาจเกิดความเสียหาย (เฉพาะในชุมชนเมือง) ราว 724,000 ล้านเหรียญสหรัฐในกรุงเทพฯ จาการ์ตา มะนิลา ไทเป โซล โตเกียว และฮ่องกง ข่าวร้ายก็คือ IPCC บอกว่า ผลกระทบบางอย่างจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถย้อนกลับไปได้แล้ว อย่างเช่นการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หรือการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก แม้ว่ามนุษย์จะพยายามควบคุมคาร์บอนไปนับร้อยหรือพันปีก็ไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ https://www.posttoday.com/world/661962
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก บ้านเมือง
ทม.หัวหินเตือนนทท.! ระวังแมงกะพรุนขณะลงเล่นน้ำ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม นายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นำเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตราความเรียบร้อยและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดตั้งแต่ศาลเจ้าแม่ทับทิมหัวหินไปตลอดแนวหมู่บ้านเขาตะเกียบ ให้ระมัดระวังแมงกะพรุนโดยเฉพาะแมงกะพรุนกล่องขณะลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากช่วงนี้เกิดมรสุมมีฝนตกหนักและคลื่นลมแรงทำให้มีแมงกระพรุนบางส่วนว่ายเข้าชายฝั่งพร้อมตรวจตราทุ่นป้องกันแมงกะพรุนซึ่งอยู่ในสภาพดี นายจีรวัฒน์ กล่าวว่าจากกรณีที่ จ.พังงา มีเด็กต่างชาติโดนพิษแมงกะพรุนกล่องจนเสียชีวิตนั้น ทางหัวหินเราก็มีการเตรียมพร้อมเช่นเดียวกัน โดยทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.)ได้มีการสร้างแนวทุ่นป้องกันแมงกะพรุนเอาไว้สำหรับประชาชนนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำบริเวณชายหาดไว้ 2 จุด คือที่บริเวณหน้าโรงแรมบ้านลักษสุภา รีสอร์ท หัวหิน และชายหาดหัวดอน เขาตะเกียบ พร้อมตั้งป้ายการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากถูกแมงกะพรุน ในช่วงนี้ที่มีลมมรสุมและฝนตกหนักอาจจะมีแมงกะพรุนกล่องมาบ้างแต่ไม่มากนัก ทางเราก็มีการเตรียมพร้อมในการป้องกัน อยากให้ประชาชนลงเล่นน้ำในโซนที่มีแนวป้องกันไว้ให้ หากฝนตกหนักก็ควรหลีกเลี่ยงลงเล่นน้ำ หรือถ้าจะเล่นน้ำอยากให้ถามทางผู้ประกอบการร้านค้าหรือทางโรงแรมว่าช่วงนี้มีแมงกะพรุนเยอะหรือไม่ สามารถเล่นน้ำได้หรือไม่ "ทุ่นป้องกันแมงกะพรุนนี้เราได้วางไว้นานหลายเดือนแล้วมีระยะห่างจากชายฝั่งประมาณ 100 เมตร ก็จะวางไว้แบบนี้ตลอดซึ่งถือว่าเป็นจุดที่ปลอดภัยจุดหนึ่ง ถ้าหากประชาชนเล่นน้ำแล้วเกิดพบแมงกะพรุนหรือโดนแมงกะพรุน เราจะมีน้ำส้มสายชูซึ่งทางเทศบาลและ ทช.ได้เตรียมเอาไว้ให้ที่ชายหาดนำมาราดบริเวณที่โดนแมงกะพรุน ราดทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาทีเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อไม่ให้ลุกลามไปที่บริเวณอื่น จากนั้นรีบแจ้งเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำอยู่ชายฝั่งหรือทางผู้ประกอบการชายหาดเพื่อช่วยเหลือต่อไป" นายจีรวัฒน์ กล่าว. https://www.banmuang.co.th/news/region/248477
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|