#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2563
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง ส่วนภาคใต้ยังคงมีพื้นที่การกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่นๆ เนื่องจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง อนึ่ง พายุดีเปรสชันปกคลุมบริเวณประเทศฟิลิปปินส์ จะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนในวันนี้ (วันที่ 12 มิ.ย. 2563) คาดว่าจะเคลื่อนตัวไปทาง ประเทศจีนตอนใต้ ในช่วงวันที่ 13-16 มิ.ย. 2563 ทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-37 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 - 12 มิ.ย. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนลดลง ส่วนในช่วงวันที่ 13 - 17 มิ.ย. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 12- 14 มิ.ย.หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศฟิลิปปินส์คาดว่าจะเคลื่อนเข้ามาปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนบนและจะมีกำลังแรงขึ้น ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 14 - 17 มิ.ย. 63 ขอให้ประชาชนในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม ซึ่งอาจจะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับชาวเรือบริเวณอ่าวไทย และทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือและหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
อนาถใจ! ทช.โพสต์ภาพขยะเต็มท่าเรือแสมสาร วอนชาวบ้านช่วยกันดูแล ขยะเต็มทะเลแสมสาร (ภาพ : กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) เพจกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โพสต์ภาพขยะเต็มทะเลบริเวณท่าเรือแสมสาร พร้อมโพสต์ข้อความ "ไม่ช่วยกันวันนี้ ทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทะเลแสมสารเน่าแน่" โดยกล่าวว่าได้รับแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีทิ้งขยะลงในทะเล บริเวณท่าเรือแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และการตรวจสอบได้ข้อมูลว่า มีการทิ้งขยะประเภทถุงพลาสติกคลุมหมึกจากเรือประมงที่มีแรงงานต่างชาติลงทะเล ซึ่งเป็นสถานประกอบการสะพานปลาอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ อบต.แสมสาร "ไม่ช่วยกันวันนี้ ทิ้งขยะไม่เลือกที่ ทะเลแสมสารเน่าแน่" วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๖๓ กรม ทช. โดยสำนักงาน ทช.ที่๒ (ชลบุรี) รับแจ้งเรื่องร้องเรียนกรณีการทิ้งขยะลงในทะเล บริเวณท่าเรือแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ผลการตรวจสอบ ประสานหน่วยงาน และสอบถามชาวบ้านในพื้นที่ ได้ข้อมูลว่ามีการทิ้งขยะประเภทถุงพลาสติกคลุมหมึกจากเรือประมงที่มีแรงงานต่างชาติลงทะเล ซึ่งเป็นสถานประกอบการสะพานปลาอยู่ในเขตความรับผิดชอบของ อบต.แสมสาร จึงได้ประสานผ่านปลัด อบต.แสมสาร เพื่อให้ทราบถึงปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว โดยทาง อบต.แสมสาร แจ้งว่าจะให้กองสาธารณสุขตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ให้กับผู้เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่รับทราบถึงมาตรการจัดการขยะทะเล และขอความร่วมมือชาวบ้านช่วยกันสอดส่องดูแลในพื้นที่ต่อไป บริเวณท่าเรือแสมสารนี้เป็นชุมชนชาวประมงของสัตหีบ เป็นที่ตั้งของบ้านเรือนและเรือประมงอย่างหนาแน่น มีร้านอาหารทะเลไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังมีที่พักและรีสอร์ตตามแนวชายหาด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แสมสารเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนนิยมเดินทางมาเที่ยวกันไม่ได้ขาด อีกทั้งบริเวณใกล้เคียงกันยังเป็นที่ตั้งของ "เกาะแสมสาร" เกาะซึ่งอยู่ในการดูแลของกองทัพเรือ ที่นี่ถือเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล มีหาดทรายสวยใสและมีโลกใต้ทะเลที่ยังอุดมสมบูรณ์ ซึ่งหลังจากปิดเกาะเพราะเหตุโรคโควิด-19 ระบาดมานานหลายเดือน เกาะแสมสารก็เพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวได้กลับมาเที่ยวอีกครั้งในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่จะถึงนี้ (13-14 มิ.ย.) โดยต้องจองผ่านระบบออนไลน์วันละไม่เกิน 300 คน (คลิกอ่านข่าว "เกาะแสมสาร" ทดลองเปิดท่องเที่ยว 13-14 มิ.ย.นี้ จองผ่านออนไลน์-ไม่เกิน 300 คน/วัน) https://mgronline.com/travel/detail/9630000060555 ********************************************************************************************************************************************************* ฮือฮา! พบฟอสซิลสุสานหอยกาบตลอดลำห้วยปากหมาก จ.กระบี่ ยุคเพอร์เมียน อายุกว่า 270 ล้านปี กระบี่ - พบฟอสซิลสุสานหอยกาบจำนวนมากตลอดแนวลำห้วยปากหมาก บ้านบากัน ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ คาดเป็นฟอสซิลหอยน้ำเค็ม ยุคเพอร์เมียน อายุราว 270-290 ล้านปี เตรียมประสานกรมทรัพยากรธรณีวิทยาเข้าสำรวจ วันนี้ (11 มิ.ย.) นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.กระบี่ พร้อมด้วยทีมงานชมรมคนรักถ้ำกระบี่ เข้าตรวจสอบซากฟอสซิลหอยกาบจำนวนมาก บริเวณลำห้วยปากหมาก ภายในซอยสวนปาล์มมาเลย์ บ้านคลองยา ม.3 ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังจากรับแจ้งว่า พบฟอสซิลดังกล่าวจำนวนมากตลอดแนวลำห้วยระยะทางเกือบ 100 เมตร สร้างความตื่นเต้นแก่ทีมสำรวจเป็นอย่างมาก จากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า เป็นฟอสซิลหอยน้ำเค็ม อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ ยุคเพอร์เมียน คาดว่าอายุราว 270-290 ล้านปี จึงได้บันทึกภาพไว้ นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากบริเวณห้วยปากหมากอยู่ในเนินหุบเขาสูง มีลักษณะชั้นดิน ชั้นหินห่างจากทะเลหลายสิบกิโลเมตร แต่กลับพบเจอฟอสซิลหอยกาบ หรือหอยติบ จำนวนมาก ซึ่งเป็นหอยน้ำเค็ม อยู่ในจำพวกหอยสองฝา ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เป็นระยะเวลาหลายล้านปี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอนุรักษ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังให้สืบค้น ศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต และคาดว่าบริเวณดังกล่าวหากมีการสำรวจอย่างจริงจังอาจะมีจะมีฟอสซิลอื่นเพิ่มเติมด้วย นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจพบฟอสซิลหอยกาบไม่เคยพบมาก่อน นับเป็นครั้งแรกของจังหวัดกระบี่ ที่มีการพบฟอสซิล ซึ่งจะได้แจ้งให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับทราบ เพื่อจะได้หน่วยงานกรมทรัพยากรธรณีวิทยา เข้าสำรวจตรวจสอบอีกครั้ง https://mgronline.com/south/detail/9630000060503 ********************************************************************************************************************************************************* ทุบสถิติ! ยานดำน้ำไร้มนุษย์ของจีน ดำดิ่ง 10,907 เมตร สำรวจก้นสมุทรแปซิฟิก ปฏิบัติการสำรวจร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา มหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยยานดำน้ำไร้มนุษย์ไห่โต้ว-1 ของทีมสำรวจจีน สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการจีน รายงาน (10 มิ.ย.) ? ไห่โต้ว-1 (Haidou-1) ยานดำน้ำไร้มนุษย์ของจีน สร้างสถิติการดำน้ำลึกใต้ท้องทะเลครั้งใหม่ของประเทศ ณ ความลึก 10,907 เมตร บริเวณร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ของมหาสมุทรแปซิฟิก สมาชิกทีมสำรวจจากสถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่าไห่โต้ว-1 ได้ดำน้ำลึกเกิน 10,000 เมตร 4 ครั้ง ณ จุดชาเลนเจอร์ ดีป (Challenger Deep) ของร่องลึกฯ อนึ่ง ทีมสำรวจข้างต้นออกเดินทางเมื่อวันที่ 23 เม.ย. และกลับสู่มณฑลเหลียวหนิงทางจีนตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันจันทร์ (8 มิ.ย.) ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยได้ทดสอบการตรวจจับความลึกแบบแม่นยำสูง การทำงานของแขนกล การตรวจจับและการระบุตำแหน่งของเสียง และการส่งผ่านคลิปวิดีโอความละเอียดสูง ขณะปฏิบัติการดำน้ำลึกใต้ทะเล นอกจากนั้นไห่โต้ว-1 ยังเก็บรวบรวมตัวอย่างจากใต้ทะเลลึก และบันทึกภาพความละเอียดสูงของสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยาด้วย https://mgronline.com/china/detail/9630000060356
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
กระบี่พบฟอสซิลสุสานหอยน้ำเค็ม ยุคเพอร์เมียน อายุราว 270-290 ล้านปี 11 มิถุนายน 2563 นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น จ.กระบี่ พร้อมด้วยทีมงานชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ได้เข้าสำรวจซากฟอสซิลหอยจำนวนมาก ที่บริเวณลำห้วยปากหมาก ภายในซอยสวนปาล์มมาเลย์ บ้านคลองยา ม.3 ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังจากรับแจ้งว่า พบฟอสซิลดังกล่าวจำนวนมาก ตลอดแนวลำห้วยระยะทางเกือบ 100 เมตร สร้างความตื่นเต้นแก่ทีมสำรวจเป็นอย่างมาก จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าเป็นฟอสซิลหอยกาบ หรือหอบติบ ซึ่งเป็นหอยน้ำเค็ม อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ ยุคเพอร์เมียน คาดว่าอายุราว 270-290 ล้านปี จึงได้บันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน นายนิวัฒน์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แปลกมาก เนื่องจากบริเวณห้วยปากหมากอยู่ในเนินหุบเขาสูง มีลักษณะชั้นดิน ชั้นหิน ห่างจากทะเลหลายสิบกิโลเมตร แต่กลับพบเจอฟอสซิลหอยกาบ หรือ หอยติบจำนวนมาก ซึ่งเป็นหอยน้ำเค็มอยู่ในจำพวกหอยสองฝา ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เป็นระยะเวลาหลายล้านปี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอนุรักษ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังให้สืบค้น ศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต และคาดว่าบริเวณดังกล่าว หากมีการสำรวจอย่างจรองจังอาจะมีจะมีฟอสซิลอื่นเพิ่มเติมด้วย นายนิวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับการสำรวจพบฟอสซิลหอยกาบไม่เคยพบมาก่อน นับเป็นนครั้งแรกของจังหวัดกระบี่ ที่มีการพบฟอสซิล ซึ่งจะได้แจ้งให้ทางสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจ.กระบี่ ได้รับทราบ เพื่อจะได้หน่วยงานกรมทรัพยากรธรณีวิทยาเข้าสำรวจตรวจสอบอีกครั้ง https://www.naewna.com/likesara/498555
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
บทเรียนเขื่อนกั้นคลื่นม่วงงาม หลังจากปักหลักหน้าศาลากลางจังหวัดสงขลาเป็นเวลากว่า 4 คืน 5 วัน เพื่อเรียกร้องให้ทางจังหวัดและกรมโยธาธิการและผังเมือง ยกเลิกการก่อสร้างโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งหมู่ที่ 7 ตำบลม่วงงาม อ.สทิงพระ ความยาวกว่าครึ่งกิโลเมตร ประชาชนชาวม่วงงามและเครือข่ายประชาชนรักษ์หาดม่วงงามนับร้อยคนก็ได้รับข่าวดี หลังจากกรมโยธาธิการฯ ได้ประกาศชะลอโครงการออกไปก่อนในวันศุกร์ที่ผ่านมา อาจารย์ศักอนันต์ ปลาทอง ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ทางทะเล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในฐานะที่ปรึกษาของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) มองว่า โครงการเขื่อนกั้นคลื่นที่ม่วงงามนี้ ต่างออกไปจากโครงการเขื่อนกั้นคลื่นที่อื่นๆ ตรงที่มีประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการลักษณะนี้เป็นครั้งแรกๆ และอาจนำไปสู่จุดทบทวนการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่อาศัยสิ่งก่อสร้าง (hard structure) เป็นหลักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี และกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในเวลานี้ ทั้งนี้ โครงการเขื่อนกั้นคลื่นบริเวณหาดม่วงงาม ได้มีการเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ต้นปี 2561 โดยผู้แทนกรมโยธาธิการฯ เคยกล่าวถึงเหตุผลในที่ประชุมว่า จะสามารถช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปีและกินพื้นที่หาดเข้ามาเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังจะช่วยป้องกันอาคารบ้านเรือนและส่วนราชการที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว และช่วยเสริมให้ทัศนียภาพของหาดมีความสวยงามมากขึ้นเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จากข้อมูลของกรมฯ รูปแบบของการก่อสร้างเขื่อนกั้นคลื่นในบริเวณดังกล่าว จะเป็นเขื่อนคอนกรีตแบบขั้นบันไดเสริมเหล็กความยาว 630 เมตร โดยมีสันเขื่อนกว้าง 3.5 เมตร ซึ่งจะก่อสร้างบนชายฝั่งตลอดแนวชายหาดของพื้นที่หมู่ที่ 7 อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบและพบเห็นการก่อสร้างในพื้นที่โดยที่ยังไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนของโครงการ จึงทำให้เกิดการตั้งคำถาม อีกทั้งมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และปัญหาของโครงการในลักษณะคล้ายๆกันจากที่อื่นๆ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ออกมาคัดค้านในที่สุด "ในพื้นที่ม่วงงาม ประชาชนมีความผูกพันกับชายหาดค่อนข้างมาก มี story ของพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ในที่อื่นๆ เราจะไม่ค่อยเห็นใครลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะความเชื่อที่บอกกันมาว่า คลื่นแรงก็เอาหินถมสู้ ก็ถูกแล้ว มันเลยเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลว่า การคัดค้านโดยเฉพาะแค่นักวิชาการ เบรคโครงการไม่ได้ซักที" อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าว บทเรียน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นที่ม่วงงามกำลังนำมาสู่การตั้งคำถามถึงการจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งยังเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งและทรัพยากรชายฝั่งของประเทศในภาพรวม ซึ่งจากการศึกษาของนักวิชาการอย่างอาจารย์ศักดิ์อนันต์และ ทช. พบว่าโครงสร้างแข็งต่างๆ ที่ถูกสร้างเพื่อแก้ปัญหา กลับเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาเสียเอง โดยนอกจากเขื่อนกั้นคลื่นตามชายฝั่งแล้ว ยังมีเขื่อนกั้นปากร่องน้ำ ซึ่งกลายเป็นสาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง รวมกันถึงกว่า 60% มากกว่าสาเหตุทางธรรมชาติ ทั้งนี้ เครือข่าย Beach for Life ที่ติดตามสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งและการจัดการพื้นที่ชายฝั่งและนักวิชาการในเครือข่าย พบว่า หลังปี 2557 ที่มีการยกเลิกการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว มีถึงกว่า 70 โครงการที่ถูกผลักดันโดยกรมโยธาธิการฯ และกรมเจ้าท่า ความยาวรวมกันกว่า 34,800 เมตร มูลค่ากว่า 6,900 ล้านบาท อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งก็ยังเป็นหนึ่งในโจทย์ที่สำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งของประเทศในภาพรวม แต่หลักคิดและการจัดการปัญหา คือสิ่งที่กำลังเป็นปัญหาในเวลานี้ ที่ปรึกษาฯ ทช. กล่าวว่า ระบบนิเวศและพื้นที่ชายฝั่งต้องการการคิดเพื่อการบริหารจัดการที่เป็นระบบตามสภาพของระบบนิเวศนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ระบบไหวเวียนของน้ำของภาคใต้ ที่ไม่ได้ไหลสู่ทะเลตรงๆ หากแต่ไหลเลียบชายฝั่ง ซึ่งเป็นเหตุผลว่า การออกแบบท่อระบายน้ำของหลายๆโครงการไม่ได้ผล และตัวเขื่อนอาจขวางกั้นทางน้ำและอาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ได้ โครงสร้างแข็งเหล่านี้ กลับจะไปเปลี่ยนสภาพนิเวศโดยเฉพาะกระแสน้ำและการเกิดของหาดทราย ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะทางด้านข้างขึ้นไปไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่เกิดขึ้น จึงสะท้อนถึงความไม่เข้าในระบบนิเวศชายฝั่ง โดยคิดแต่การแก้ปัญหาเชิงวิศวกรรม ซึ่งบางหน่วยงาน อาจแทบไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับทะเลและชายฝั่งเลย การจัดการปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง เคยถูกนำเสนอรัฐบาลพร้อมข้อเสนอในการจัดการปัญหาที่ผ่านการศึกษามาแล้วในช่วงปี 2561 โดยแบ่งระดับของการแก้ปัญหาออกเป็นระดับสีขาว ซึ่งหมายถึงการยอมรับปรับตัว ถอยร่นจากโซนเสี่ยง, ระดับสีเขียว หมายถึงการใช้มาตรการอ่อน (soft measures) ต่างๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นการปรับล้อไปกับธรรมชาติ อาทิ การเติมทราย การฟื้นฟูป่าชายหาด, และระดับท้ายสุดคือสีเทา ซึ่งหมายถึง สิ่งก่อสร้างต่างๆ (hard structure) ซึ่งอาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าวว่า เป็นทางเลือกสุดท้ายของการแก้ปัญหามากกว่าจะเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน "สิ่งก่อสร้างต่างๆ ถือเป็นโครงสร้างที่เสี่ยงที่สุดในการแก้ปัญหา เพราะมันมีสิทธิ์ลุกลามบานปลายมากที่สุด มันจะถูกเลือกใช้จริงๆ ในกรณีที่เราต้องการปกป้องอะไรที่สำคัญจริงๆ ซึ่งนั่นแปลว่า เราเลือกที่จะยอมให้ตรงอื่นพังจากผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งก่อสร้าง องค์ความรู้นี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ยอมรับและปรับเปลี่ยนกันนานแล้วโดยเฉพาะในต่างประเทศ แต่ของบ้านเรา วิศวกรยังคิดถึงแต่สิ่งก่อสร้างที่มันแข็งๆ เพื่อสู้ธรรมชาติ" อาจารย์ศักดิ์อนันต์กล่าว หลังปี 2557 เป็นต้นมาที่กระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการในลักษณะนี้ถูกยกเลิกไป อาจารย์ศักดิ์อนันต์แนะว่า จำเป็นที่จะต้องนำกระบวนการตรวจสอบและกลั่นกรองโครงการกลับมาใหม่ แม้จะไม่มีความเข้มข้นเท่า EIA อาจารย์ศักดิ์อนันต์คาดการณ์ว่า ปัจจัยที่สำคัญอีกประการที่จะทำให้วิธีการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแหลมคมขึ้นคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในทางวิชาการ ก็ได้ให้การยอมรับในแนวคิดการปรับตัวในระยะยาวมากกว่าเช่นกัน "ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อในเคสของม่วงงาม และโครงการอื่นๆ แต่มันทำให้คนสนใจและศึกษาประเด็นชายฝั่งมากขึ้น และเป็นโอกาสที่จะให้ความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องนี้กัน "ในเชิงวิชาการ การแก้ปัญหาในระดับสีขาวและสีเขียวคือทางเลือก แต่ประเด็นก็คือ มันใช้งบไม่เยอะ" อาจารย์ศักดิ์อนันต์ทิ้งท้าย https://www.bangkokbiznews.com/news/...m_campaign=eco
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
พบฟอสซิลหอยน้ำเค็ม อายุ 270-290 ล้านปี จ.กระบี่ พบฟอสซิลหอยน้ำเค็มในยุคดึกดำบรรพ์ ยุคเพอร์เมียน คาดว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเป็นเวลานาน มีอายุราว 270-290 ล้านปี วันนี้ (11 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่น พร้อมชมรมคนรักถ้ำกระบี่ เข้าสำรวจซากฟอสซิลหอยกาบ บริเวณลำห้วยปากหมาก บ้านคลองยา ต.คลองยา อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ หลังจากรับแจ้งพบฟอสซิล อยู่ตลอดแนวลำห้วย การสำรวจเบื้องต้น พบเป็นฟอสซิลหอยน้ำเค็ม อยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ ยุคเพอร์เมียน คาดว่ามีอายุราว 270-290 ล้านปี นายนิวัฒน์ เปิดเผยว่า เป็นเรื่องแปลก เนื่องจากบริเวณห้วยปากหมาก อยู่ในเนินหุบเขาสูง มีลักษณะชั้นดิน และชั้นหิน ห่างจากทะเลหลายสิบกิโลเมตร แต่กลับพบเจอฟอสซิลหอยกาบ หรือหอยติบ ซึ่งเป็นหอยน้ำเค็มจำนวนมาก คาดว่าอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เป็นระยะเวลาหลายล้านปี เหมาะเป็นแหล่งอนุรักษ์ เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้สืบค้นศึกษาเรียนรู้ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวในอนาคต และคาดว่าบริเวณดังกล่าว หากมีการสำรวจอย่างจริงจัง อาจะมีจะมีฟอสซิลอื่นเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ การพบฟอสซิลหอยกาบครั้งนี้ ไม่เคยพบมาก่อน นับเป็นนครั้งแรกของจังหวัด ขณะนี้เตรียมแจ้งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับทราบ เพื่อแจ้งกรมทรัพยากรธรณีวิทยา เข้าสำรวจอีกครั้ง https://news.thaipbs.or.th/content/293523 ********************************************************************************************************************************************************* นักวิจัยออสเตรเลียใช้โดรนช่วยนับจำนวนเต่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย ใช้โดรนช่วยนับจำนวนเต่าตนุเป็นครั้งแรก ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์คาดการณ์จำนวนเต่าสายพันธุ์นี้ ต่ำกว่าความเป็นจริง วันนี้ (11 มิ.ย.2563) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ รัฐควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ระบุว่า ภาพนี้ถ่ายจากโดรน แสดงให้เห็นฝูงเต่าตนุหลายหมื่นตัวที่กำลังว่ายน้ำ เพื่อไปวางไข่บนเกาะเรน ที่อยู่ใกล้กับเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 348,000 ตารางกิโลเมตร ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนมาใช้โดรนสำรวจฝูงเต่าตนุ ที่มีมากถึง 64,000 ตัว เมื่อเดือน ธ.ค.2562 เนื่องจากการใช้โดรน ทำให้การนับจำนวนเต่ามีความแม่นยำ โดยใช้การวิเคราะห์จากภาพแต่ละเฟรม ในขณะที่วิธีเดิม คือการใช้สีขาว ซึ่งไม่มีสารพิษ พ่นลงบนกระดองเต่า และให้เจ้าหน้าที่ล่องเรือออกไปนับเต่ากลางทะเล ทั้งเต่าที่ถูกพ่นสี และไม่มีสี โดยพบว่าวิธีนี้มีโอกาสคลาดเคลื่อนสูง สำหรับแนวปะการัง แบร์ริเออร์ รีฟ ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์และพืชหลากหลายสายพันธุ์ ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2524 https://news.thaipbs.or.th/content/293527 ********************************************************************************************************************************************************* ขีดเส้น 2 เดือน รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำ "คอกหอย" หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เวลาผู้บุกรุกอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นเวลา 2 เดือน รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง หลังเกิดเหตุใช้ปืนยิงขึ้นฟ้าขับไล่ชาวประมงพื้นบ้าน ขณะที่ ศรชล.ประกาศจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก ขณะที่ผู้ก่อเหตุได้รับการประกันตัวแล้ว วันนี้ (11 มิ.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวประมงพื้นบ้านหลายร้อยคนที่กำลังเก็บหอยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวบ้านดอน ต.ลีเล็ด อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ต้องเร่งขับเรือหนีเอาชีวิตรอด หลังจากนายสันติ นวลเสน ขับเจ็ตสกีใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า ขับไล่ชาวประมงพื้นบ้าน เมื่อวานนี้ (10 มิ.ย.) โดยอ้างว่าชาวประมงเข้าไปตักเก็บลูกหอยแครงในคอกที่เลี้ยงมา หลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมนายสันติ ดำเนินคดีฐานความผิดพกพาอาวุธปืน และยิงปืนในที่สาธารณะไม่มีเหตุอันควร และญาติได้ประกันตัวในชั้นศาลแล้ว วงเงิน 30,000 บาท ขณะที่ พล.ร.ท.สำเริง จันทร์โส ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 หรือ ศรชล., ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เข้าหารือเพื่อบูรณาการใช้กฎหมายร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งชิงผลประโยชน์ในอ่าวบ้านดอน แผนรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง 3 ระยะ ส่วนการหารือได้เพิ่มพนักงานอัยการจังหวัดมาเป็นคณะทำงานด้วย และให้เวลาผู้บุกรุกทำการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเอง ภายใน 2 เดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ส.ค.2563 ซึ่งทางจังหวัดจะทำประกาศแจ้งผู้บุกรุกทราบ โดยทำแผนรื้อ 3 ระยะ เริ่มตั้งแต่สร้างความเข้าใจผู้บุกรุกให้รื้อถอนด้วยตัวเองก่อน หากไม่รื้อถอนตามกำหนด จะดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากรัฐดำเนินการรื้อถอนเองตามคำสั่งศาล ต้องมีการเรียกค่ารื้อถอนจากผู้บุกรุก ทั้งหมดจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2564 เพื่อไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำในอ่าวบ้านดอน และไม่มีเหตุการณ์รุนแรง พล.ร.ท.สำเริง เปิดเผยว่า ช่วงแรกจะนัดผู้ประกอบการ และตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านมาคุยก่อน ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ เป็นการสะท้อนความรุนแรง ซึ่งทาง ศรชล.จะไม่ให้เกิดขึ้นอีก กมธ.เกษตรฯ พร้อมแก้คอกหอย คณะอนุกรรมาธิการในกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ของวุฒิสภา เชิญผู้แทนกรมประมง ประมง จ.สุราษฎร์ธานี เข้าให้ข้อมูลถึงปัญหาความขัดแย้งคอกหอยอ่าวบ้านดอน จ.สุราษฎร์ธานี โดยรองอธิบดีกรมประมง และประมง จ.สุราษฎร์ธานี ชี้แจงถึงปัญหาที่สะสม แม้ภาครัฐจะพยายามแก้ปัญหา และล่าสุดใช้กลไกผ่านคณะทำงานของ จ.สุราษฎร์ธานี และ ศรชล. กองทัพเรือ จากปัญหาที่ซับซ้อน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้เวลาในการแแก้ไข ขณะเดียวกัน กำหนดให้ผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มากถึง 1,000 หลัก ภายใน 60 วัน และจะใช้หลักรัฐศาสตร์นำกฎหมายแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง นำปัญหาคอกหอยหารือ 15 มิ.ย.นี้ ส่วนนายลักษณ์ วจนานวัช รองประธานคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า จะนำข้อมูลปัญหาไปประชุมกับกรรมาธิการฯ วันที่ 15 มิ.ย.นี้ โดยจะดำเนินการใน 2 แนวทาง คือการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด และหากแก้ไขไม่ได้จะใช้กลไกวุฒิสภา ด้วยการตั้งกระทู้ถามฝ่ายบริหารถึงแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำประมง นายลักษณ์ กล่าวอีกว่า พื้นที่จากเขตทะเลชายฝั่งออกทะเลไป 1,000 เมตร ต้องการให้เป็นพื้นที่สาธารณะโดยสมบูรณ์ ผ่านการบริหารจัดการให้ตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย โดยมีพื้นที่ได้รับการขออนุญาตเกือบ 40,000 ไร่ จาก 400,000 ไร่ แต่ขณะนี้มีการรุกล้ำทำประมงเกินที่กำหนดไว้ 155,000 ไร่ โดยเป็นชาวประมงนอกพื้นที่ และนายทุนนอกและในพื้นที่เข้าไปเลี้ยงหอยในพื้นที่สาธารณะ ให้ชาวประมงเก็บเกี่ยวให้หมดก่อน นอกจากนี้ ยังเปิดให้ชาวประมงที่เลี้ยงหอยไว้ได้เก็บเกี่ยวให้หมดก่อนในฤดูกาลนี้ จากนั้นจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ตาม พ.ร.ก.การทำประมงปี 2558 พร้อมกับกำหนดพื้นที่สำหรับเพาะพันธุ์ลูกหอย ซึ่งจะให้ประมงพื้นที่บ้านเข้ามาร่วมการบริหารจัดการ พร้อมย้ำว่าจะไม่อนุญาตให้ประมงนอกพื้นที่และนายทุน เว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นในพื้นที่เกือบ 40,000 ไร่ https://news.thaipbs.or.th/content/293531
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#6
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก PPTV
ประกาศ!! ปิดอ่าวไทยตอนใน 15 มิ.ย.-30 ก.ย.ฟื้นฟูสัตว์น้ำ กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวในวัยอ่อนทะเลอ่าวไทยตอนใน หรือ อ่าวไทยรูปตัว ก.ระหว่าง วันที่ 15 มิ.ย.? 30 ก.ย. พร้อมขอความร่วมมือชาวประมง โปรดปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด วันนี้ 11 มิ.ย. 2563 นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2563 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 วันที่ 15 มิ.ย. ? 15 ส.ค. 2563 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร ช่วงที่ 2 วันที่ 1 ส.ค.? 30 ก.ย. 2563 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร โดยมีการกำหนดให้ใช้เครื่องมือและวิธีทำการประมงที่สามารถทำการประมงได้ ดังนี้ 1. อวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้เฉพาะในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง 2. อวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีขนาดช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติดตา หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน 3. อวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก 4. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 5. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้ 6. ลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงเกินกว่า 300 ลูก ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง 7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด 8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบการทำประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง 9. เครื่องมือคราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเครื่องมือทำการประมง รูปแบบ และพื้นที่ทำการประมงของเครื่องมือประมงคราดหอย ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำร่วมด้วย 10. เครื่องมืออวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรูปแบบของอวน ขนาดของเรือ วิธีที่ใช้ บริเวณพื้นที่ และระยะเวลาในการทำการประมงที่ผู้ทำการประมงด้วยเครื่องมืออวนรุนเคยที่ใช้ประกอบเรือยนต์ทำการประมงต้องปฏิบัติร่วมด้วย 11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก 12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง 13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า โดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงบางประเภทที่ถูกกำหนดเป็นประมงพาณิชย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่ออกตามความในมาตรา 5 และต้องมิใช่การใช้เครื่องมือทำการประมงอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) รวมทั้งเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่ออกตามมาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับการใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ที่กำหนด และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงต้องไม่ใช้เครื่องมือที่กำหนดห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา 67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในส่วนของบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า และเครื่องมือประมง สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตวน้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบและต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย ทั้งนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาจากข้อมูลการศึกษาและสำรวจปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำหลังมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ผลการจับปลาเศรษฐกิจปรับตัวสูงขึ้น 1.6 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงก่อนมาตรการ โดยกลุ่มปลาเศรษฐกิจ ที่พบมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว และปลาทู แต่อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของปลาทู ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้ว่าผลผลิตโดยรวมสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำ ที่อพยพตามห้วงเวลาในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนก.ย.ของทุกปี ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในมีสัตว์น้ำขนาดก่อนเริ่มสืบพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก จากผลการสำรวจทางวิชาการพบปลาทูในเขตอ่าวไทยรูปตัว ก ฝั่งตะวันตก (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1) มีขนาดเฉลี่ย 13 ? 14 เซนติเมตร หรือ ที่ชาวประมงเรียก ปลาสาว ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้ ซึ่งปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ตอนเหนือ (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2) และพบว่ามีขนาดเฉลี่ย 16-18 เซนติเมตร ถือว่าเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าวไทยตอนกลาง) ในปีถัดไป ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้มิให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร เพื่อเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่าของสัตว์น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญจะส่งผลให้ปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม รองอธิบดีฯ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมประมงต้องขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับทางภาครัฐในการปฎิบัติตามในมาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก จนกระทั่งท้องทะเลฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ดังเช่นแต่ก่อน จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่ามาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน บริเวณอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) นั้นมีส่วนช่วยทำให้ประชากรสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้นและช่วยฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเล อีกประการหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เรื่องของความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจ เมื่อภาครัฐดำเนินการและภาคประชาชนขานรับให้การสนับสนุนจะนำไปสู่ความสำเร็จ การขับเคลื่อนการบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความสมดุลกับกำลังการผลิตของธรรมชาติ สัตว์น้ำ และเกิดความยั่งยืนของการประกอบอาชีพประมง ถึงแม้ในปีนี้ กรมประมงจะไม่ได้ประกอบพิธีประกาศใช้มาตรการฯ เนื่องจากการเกิดสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 แต่การใช้มาตรการฯ ยังคงเป็นไปตามเดิม จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังการทำการประมง โดยให้ใช้เฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้สามารถทำการประมงได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ นอกจากชนิดหรือประเภทที่กำหนดไว้ในประกาศ ห้ามใช้ทำการประมงโดยเด็ดขาด https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/127144 ********************************************************************************************************************************************************* "ดอยอินทนนท์" ปิด 3 เดือน ธรรมชาติฟื้นตัว ความงดงามของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ที่กลับมาฟื้นตัว อย่างเต็มที่หลังปิดไปนานกว่า 3 เดือน จากสถานการณ์ โควิด-19 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้เผยแพร่ภาพผืนป่าในเขตอุทยานฯที่กลับมาสมบูรณ์อย่างเต็มที่ หลังธรรมชาติได้ฟื้นตัวในช่วงปิดอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศตามมาตการป้องกันโรคระบาด โควิด-19 จะเห็นว่าพื้นที่ป่ากลายเป็นสีเขียวปกคลุมแทบทุกตารางเมตร ส่วนแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอย่างเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน ก็เต็มไปด้วยมอส เฟิร์น เต็มพื้นที่ ช่วงนี้มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง ก็ทำให้เกิดภาพทะเลหมอกปกคลุมเกือบตลอดทั้งวัน เป็นความสวยงามตามรรมชาติที่พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัส ด้านนายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ กล่าวว่า ภาพทั้งหมดเจ้าหน้าที่อุทยานได้รวบรวมเผยแพร่เพื่อให้คนรักธรรมชาติได้หายคิดถึงในช่วงที่อุทยานฯ ยังปิดทำการ ขณะนี้ทางอุทยานฯ ได้เตรียมความพร้อมเปิดการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ทันทีหากมีคำสั่งจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8...0%B8%99/127094
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|