#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย สำหรับทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลนในระยะต่อไป คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศและเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. 66 แต่ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 11-14 พ.ค. 66 บริเวณประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ในช่วงวันที่ 11-16 พ.ค. 66 ฝุ่นละอองในระยะนี้ : ประเทศไทยมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีฝนเพิ่มขึ้นและการระบายอากาศดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 11 - 14 พ.ค. 66 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 15 - 16 พ.ค. 66 ลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น สำหรับภาคใต้ ในช่วงวันที่ 10 - 13 พ.ค. 66 ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่งส่วน ส่วนในช่วงวันที่ 14 - 16 พ.ค. 66 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ฝั่งอันดามันมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้น โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อนึ่ง พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนล่าง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไซโคลน คาดว่าจะเคลื่อนผ่านอ่าวเบงกอลตอนบน และในช่วงวันที่ 14 ? 15 พ.ค. 65 จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศบังคลาเทศและเมียนมา ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 11 ? 14 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ส่วนในช่วงวันที่ 14 ? 16 พ.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่ง ตลอดช่วง ****************************************************************************************************** พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอล (มีผลกระทบถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2566) ฉบับที่ 2 (140/2566) เมื่อเวลา 04.00 น.ของวันนี้ (11 พ.ค. 66) พายุดีเปรสชันบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 10.8 องศาเหนือ ลองจิจูด 88.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือค่อนทางตะวันตกเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 15 กม./ชม. คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณประเทศบังคลาเทศและเมียนมาในช่วงวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ส่งผลให้ในช่วงวันที่ 11-15 พ.ค. 66 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 3 เมตร และมีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นในวันที่ 14-15 พ.ค. 66 ทำให้บริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง สำหรับเรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งจนถึงวันที่ 16 พ.ค. 65
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ
ปลูกป่าชายเลน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องปลูก .......... โดย ผศ. ดร.ไตรเทพ วิชย์โกวิทเทน สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) หลายท่านคุ้นเคยกับ "ป่าชายเลน" และอาจเคยทำกิจกรรมเพื่อสังคมใน "โครงการปลูกป่าชายเลน" มาแล้ว ปัจจุบันกิจกรรมนี้อาจกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ไม่หวือหวา ทำเสร็จได้ในวันเดียว มีหน่วยงานช่วยดำเนินการเตรียมกล้าไม้และสถานที่ไว้ให้ เราเพียงแค่ลงไปปลูก ถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์ก่อนจะแยกย้ายกันกลับ เป็นอันเสร็จพิธี แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ว่า ถ้าทุกอย่างง่ายขนาดนี้แล้วทำไมพื้นที่ป่าชายเลนของประเทศไทยถึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจเมื่อเทียบกับพื้นที่ที่เราปลูก ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง คนส่วนใหญ่อาจจะเรียกว่า "ป่าโกงกาง" แต่ที่จริงในป่าชายเลนของไทยไม่ได้มีเฉพาะโกงกางเท่านั้น ยังมีพรรณไม้หลักชนิดอื่นที่พบได้แก่ ไม้ในสกุลแสมทั้งแสมขาว แสมทะเล และแสมดำ นอกจากนี้ยังมีไม้ที่คุ้นเคยเช่น ลำพู ลำแพน ไม้พุ่มขนาดเล็กอย่างชะคราม หรือไม้หน้าดินอย่างผักเบี้ย ป่าชายเลนสำคัญทั้งต่อเศรษฐกิจและระบบนิเวศ ผู้คน ชุมชน และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ตามแนวชายฝั่งในฐานะที่เป็นแหล่งอาหาร ที่อาศัย ที่หลบภัย และแหล่งขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำนานาชนิด ทั้งยังทำหน้าที่กำบังและลดความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่เกิดจากลมและกระแสน้ำ การศึกษากรณีสึนามิที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งอันดามันของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 ชี้ชัดว่าป่าชายเลนช่วยลดความรุนแรงของสึนามิลงได้ ป่าชายเลนยังมีความสำคัญทางด้านนิเวศวิทยา ในฐานะที่เป็นแหล่งผลิตธาตุอาหารให้กับระบบนิเวศที่อยู่ใกล้เคียง โดยเศษซากใบไม้ที่เกิดขึ้นในป่าชายเลน เมื่อเกิดการย่อยสลายจะส่งผลต่อปริมาณธาตุอาหารในป่าชายเลนและสามารถเคลื่อนย้ายออกสู่ระบบนิเวศข้างเคียง เช่น แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี ลักษณะโครงสร้างของป่าชายเลนยังมีส่วนช่วยในการสะสมตัวของตะกอน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณชายฝั่งในหลายพื้นที่ของไทย ได้สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศของป่าชายเลน เนื่องจากปริมาณตะกอนและสารอินทรี ย์ที่ถูกปล่อยออกมาจากแผ่นดินเกิดการสะสมตัวในพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงไมโครพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ส่งผลกระทบต่อป่าชายเลน ผลกระทบที่เกิดขึ้นนี้รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระดับความเค็มของน้ำ ที่มีผลลบต่อการแพร่กระจายของพืชด้วย การย่อยสลายของสารอินทรีย์ที่สะสมตัวในป่าชายเลนในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ยังส่งผลให้เกิดไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) หรือก๊าซไข่เน่า ที่เป็นพิษต่อพืชรวมไปถึงไม้ในป่าชายเลนด้วย หลายท่านที่เคยไปเดินตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติในป่าชายเลนจึงอาจจะเคยได้กลิ่นเหม็นของก๊าซไข่เน่ามาบ้าง ปริมาณของ H2S ส่งผลต่อการแพร่กระจายและการตายของไม้ในป่าชายเลน ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนในธรรมชาติลดลง และยังส่งผลต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมจากที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ (ป่าชายเลนคงสภาพ) 1.74 ล้านไร่ (ข้อมูลปี 2563) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการรณรงค์และประชาชนให้ความสนใจต่อกิจกรรมการปลูกป่าเพิ่มขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรให้กิจกรรมการปลูกป่าชายเลนประสบความสำเร็จในการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนได้ตรงตามพื้นที่ที่เราปลูก ประเด็นสำคัญอยู่ที่การบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อลดการสะสมตัวของตะกอนและสารอินทรีย์ภายในป่าชายเลน ด้วยคุณสมบัติที่เป็นข้อดีของไม้ในป่าชายเลนที่ช่วยเหนี่ยวนำให้เกิดการตกตะกอนในบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง แต่ถ้ามีต้นไม้ในป่าชายเลนขึ้นอย่างหนาแน่น ประกอบกับน้ำทิ้งจากชุมชนก็มีตะกอนและสารอินทรีย์เป็นจำนวนมาก จะทำให้การตกตะกอนเกิดขึ้นได้ในปริมาณมาก การตกตะกอนกลับจะก่อให้เกิดผลเสียต่อไม้ในป่าชายเลน เนื่องจากความเป็นพิษของ H2S ทำให้โอกาสที่กล้าไม้จะมีชีวิตรอดจนเจริญเติบโตเป็นไม้ใหญ่ลดน้อยลงไปด้วย การลดความหนาแน่นของต้นไม้และการเพิ่มการระบายน้ำในพื้นที่ป่าชายเลน จึงเป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดของกล้าไม้ที่เราปลูกได้ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ชายฝั่งเพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนในธรรมชาติและการปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติม เราสามารถดำเนินการได้ โดยลดปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชายฝั่ง หากดำเนินการได้เช่นนี้แล้ว การปลูกป่าชายเลนก็จะประสบความสำเร็จ ไม่ใช่แต่เพียงตัวเลขพื้นที่ปลูก แต่ยังก่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้อยู่คู่ทะเลไทยไปอีกนานเท่านาน. https://www.bangkokbiznews.com/environment/1067582
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก อสมท.
คลัง DNA บาร์โค้ดฉลาม-กระเบน ไทย ควบคุมการค้าอย่างเหมาะสม 10 พ.ค.66 - วช. หนุนทีมวิจัย ม.บูรพา พัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โค้ดของปลาฉลาม-ปลากระเบนในประเทศไทยและพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคุมการค้าปลาฉลามอย่างเหมาะสม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา ในการพัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอบาร์โค้ดของปลาฉลามและกระเบนในประเทศไทย รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ข้อมูลดีเอ็นเอใช้จำแนกชนิดฉลามและกระเบนร่วมกับสัณฐาน ช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์กลุ่มนี้ในหลายระดับ ทั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจากฉลามและกระเบน ที่มีการขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ครีบปลาฉลามตากแห้ง ครีบปลาฉลามบรรจุกระป๋อง อาหารที่ทำจากชิ้นส่วนของปลาฉลามหรือกระเบน ซึ่งข้อมูลพันธุกรรมจะถูกนำมาช่วยระบุชนิดของปลาฉลาม-กระเบนที่เป็นชนิดคุ้มครองและหายาก ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ละเมิดกฎหมายได้ และทำให้ผู้ผลิตมีความระมัดระวังในการใช้วัตถุดิบด้วย ซึ่งเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม เสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลโดยเฉพาะสัตว์น้ำหลายชนิด นับวันจะลดจำนวนลง บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลาฉลามและกระเบน เนื่องจากสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรม รูปแบบการทำประมงที่ไม่เหมาะสม รวมถึงความนิยมในการบริโภคครีบปลาฉลาม ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องนี้พร้อมหามาตรการเพื่อช่วยกันอนุรักษ์ รวมทั้งงานวิจัยของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยบูรพาที่ได้ร่วมกันวิจัยออกแบบพัฒนาคลังข้อมูลดีเอ็นเอ เพื่อใช้ในการจำแนกชนิดจากความหลากหลายทางพันธุกรรมนำไปสู่การพัฒนาฐานของมูลของประเทศไทยในอนาคต ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันศุกร์ เสนานาญ แห่งภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า โครงการนี้ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมประมง ในการทำวิจัย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในกลุ่มปลาฉลามและกระเบน ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากกว่า 1,100 ชนิดทั่วโลก แต่ในระยะเวลา 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดวิกฤต และหลายชนิดมีความชุกชุมลดลงมากกว่า 70% จากที่เคยมีในอดีต และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากการประมงที่เกินกำลังการทดแทนของประชากร การทำประมงอย่างไร้การควบคุมและทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงผลกระทบอื่นจากมนุษย์ที่ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยมีสภาพเสื่อมโทรมลง นอกจากนี้ ความนิยมบริโภคครีบปลาฉลามในภูมิภาคเอเชีย ยังมีส่วนส่งเสริมให้เกิดการทำประมงปลาฉลามทั่วโลกที่มากเกินไปอีกด้วย แม้ว่าหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และได้มีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายระดับนานาชาติที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส และระดับชาติ (พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า) แต่สัตว์กลุ่มนี้ยังคงถูกคุกคามอย่างหนัก โดยมาตรการด้านการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนยังไม่ได้มีประสิทธิผลเท่าที่ควร เนื่องจากขาดข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชนิดที่พบ ชีววิทยา การกระจายพันธุ์ และสถานภาพของประชากร ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อความจำเป็นเร่งด่วนในการหาแนวทางที่เหมาะสมในการบริหารจัดการปลาฉลามและกระเบน ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ? 2567 ที่มีความสอดคล้องกับมาตรการระดับนานาชาติ โดยระบุความจำเป็นเร่งด่วนในการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยา นิเวศวิทยา และสถานภาพทางการประมง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากปลาฉลามและกระเบน ซึ่งโครงการวิจัยนี้ได้ออกแบบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการฯ ที่จะสร้างคลังความรู้ด้านดีเอ็นเอ ที่จะช่วยการจำแนกชนิดในกลุ่มที่มีสัณฐานใกล้เคียงกันจนยังไม่สามารถยืนยันชนิดได้ (look alike หรือ cryptic species) ระบุความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากร และพัฒนาเครื่องมือที่จะตรวจสอบชนิดในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากปลาฉลามและกระเบนที่ไม่สามารถระบุชนิดได้อย่างชัดเจนจากชิ้นส่วนได้ ปัจจุบันมีการรายงานการพบปลาฉลามและกระเบนในน่านน้ำของประเทศไทย จำนวน 186 ชนิด แบ่งเป็น ปลาฉลาม87 ชนิด และ กระเบน 99 ชนิด ทั้งนี้ ปลาฉลามและกระเบนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะถูกคุมคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยจากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญด้วยเกณฑ์ของไอยูซีเอ็น (International Union of Conservation of Nature, IUCN) พบว่าปลาฉลาม จำนวน 66 ชนิดจาก 87 ชนิด (ร้อยละ 60) และกระเบน จำนวน 71 ชนิดจาก 99 ชนิด (ร้อยละ 70) มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งยังไม่รวมชนิดที่ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการประเมิน (ประมาณร้อยละ 10 ? 20) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันศุกร์ กล่าวว่า ผลการศึกษางานวิจัยโครงการนี้สามารถพัฒนาฐานข้อมูลดีเอ็นเอของปลาฉลามและกระเบนที่พบในน่านน้ำของประเทศไทย (ประมาณ 80 ชนิดจาก 186 ชนิด) ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับสัณฐานในการสร้างความกระจ่างในการจัดจำแนกชนิดในปลาฉลามกบและปลากระเบนธง เป็นพื้นฐานสำหรับการประเมินสถานะความเสี่ยงของชนิด และประชากรได้ทราบถึงการแบ่งกลุ่มประชากรของปลาฉลามที่เป็นชนิดเด่นของประเทศไทย เช่น ปลาฉลามหูดำ ที่มีกระจายทั่วทั้งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ซึ่งจะสามารถใช้ประกอบกับการวางมาตรการให้เหมาะสมกับสถานที่และวิธีทำการประมงที่อาจแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และชุดตรวจสอบดีเอ็นเอของปลาฉลามที่อยู่ในบัญชีไซเตสที่จะสามารถตรวจสอบการมีหรือไม่มี ชนิดปลาฉลามในบัญชีในผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถออกแบบมาตรการควบคุมการค้าปลาฉลามระหว่างประเทศได้อย่างเหมาะสม https://www.mcot.net/view/EZw4rgI9
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
ทช.เอาผิดต่างชาติโพสต์คลิปจับ "ปลาจิ้มฟันจระเข้" เกาะพะงัน ทช.เอาผิดต่างชาติโพสต์คลิปจับ "ปลาจิ้มฟันจระเข้" เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี พบเคยต้องคดีในลักษณะเดียวกันเมื่อปี 63 และโดนผลักดันออกนอกประเทศไปแล้ว วันนี้ (10 พ.ค.2566) นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช) กล่าวว่า จากกรณีที่มีการโพสต์คลิปวิดีโอในช่องทางยูทูป เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบในคลิปพบภาพผู้โพสต์กำลังดำน้ำในทะเลเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ใช้มือไปจับและสัมผัสปลาจิ้มฟันจระเข้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นความผิดฐานจับหรือครอบครองปลาสวยงามโดยไม่ได้รับอนุญาต กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 (สุราษฎร์ธานี) ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริง เบื้องต้นพบว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนเดิมที่เคยโดนดำเนินคดี เมื่อปี 2563 กระทำความผิดฐานจับสัตว์ทะเลในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมขึ้นมาถ่ายรูปเล่น หรือการประกอบกิจการใด ๆ ในแนวปะการังที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อเต่าทะเล ปลาสวยงาม หรือทำให้หอยมือเสือ กัลปังหา ปะการัง ซากปะการัง หรือหินปะการัง ทำลายหรือเสียหาย ตามเลขคดีที่ 637/2563 ประจำวันข้อ 1 เวลา 16.30 น. ของวันที่ 1 ก.ย. 2563 กระทั่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา นายชลธิชาญ ผลทับทิม ตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดสุราษฎร์ธานี สังกัดสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 ได้เดินทางเข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.เกาะพะงัน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย จากการตรวจสอบแล้วทราบว่า ชื่อ นายแอตติลา ออต สัญชาติฮังการี และได้เรียกตัวมาพบเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในฐานความผิด ?จับหรือครอบครองปลาสวยงาม (ปลาจิ้มฟันจระเข้ สกุล (Genus) Tracyrhamphus) โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มาตรา 45, 100 จากการสืบสวนบุคคลที่ถูกกล่าวหาของพนักงานสอบสวน พบว่าเป็นบุคคลเดียวกันที่เคยต้องคดีในลักษณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 ในพื้นที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งถูกตำรวจดำเนินคดีตามกฎหมาย และโดนผลักดันออกนอกราชอาณาจักรไปแล้ว ส่วนสาเหตุที่กลับเข้ามาในประเทศไทยได้อีกนั้น ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะพะงันให้ข้อมูลว่า บุคคลดังกล่าวได้ยื่นขออุทธรณ์ต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะพะงัน เพื่อขอกลับเข้ามาดูแลย่า ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีอายุมาก และมีถิ่นพำนักในพื้นที่เกาะพะงัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะพะงันจึงอนุญาตให้เข้ามาได้ ส่วนคลิปภาพวิดีโอตามที่ลงโพสต์ในยูทูปครั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหาแจ้งว่าเป็นภาพเก่าซึ่งถ่ายไว้นานแล้ว ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเกาะพะงัน ได้แจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหานำพยานและหลักฐานมาแสดงต่อหน้าพนักงานสอบสวนต่อไป นายอภิชัย กล่าวว่า หากประชาชนพบเจอเหตุการณ์แบบนี้อีก ให้รีบแจ้งเบาะแสมายังสายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร. 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดำเนินการได้ทันท่วงที และขอให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสัมผัสความงามของธรรมชาติทางทะเล ให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบของกรมฯ อย่างเคร่งครัด https://www.thaipbs.or.th/news/content/327574
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|