เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 5 ? 8 มิ.ย. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ด้านตะวันตกของประเทศไทยตอนบน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านตะวันตกของภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 9 ? 10 มิ.ย. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังปานกลาง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง












__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ


ดีใจ! ดร.ธรณ์เผยภาพผลงานที่บังแดดปะการัง หลังช่วยปะการังรอดตาย แม้จะเพียงเล็กน้อย



ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยภาพผลการช่วยเหลือเหตุวิกฤตปะการังฟอกขาว หลังทำที่บังแดดพบปะการังรอดตาย ลั่นแม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแนวปะการังกว้างใหญ่ แต่ทุกชีวิตล้วนมีค่า

วันนี้ (4 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ระบุข้อความว่า "วันนั้นปะการังฟอกขาวใกล้ตาย เห็นแล้วตัดสินใจลงมือทำ ?บังแดดปะการัง? ในทันที จะล้มเหลวก็ไม่มีอะไรเสีย มาถึงวันนี้ กลับไปว่ายดูปะการังที่รอดมาได้ ปลาน้อยว่ายเริงร่าอยู่ในบ้านที่ไม่ตายแล้ว แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับแนวปะการังกว้างใหญ่ แต่ทุกชีวิตล้วนมีค่า ไม่มีปะการังหรือปลาตัวไหนอยากตาย

ดีใจมากๆ ที่ตัดสินใจเช่นนั้น ในวันที่เราต้อง "ลงมือทำ" ครับ ขอบคุณทุกคนที่ crossroads maldives เราตัดสินใจ เราทำ และเราช่วยชีวิตพวกเธอได้ net zero คืออีก 30 ปี แต่ปะการังกำลังจะตายวันนี้ เราช่วยวันนี้ นั่นคือความหมายของยั่งยืนที่แท้จริง"


https://mgronline.com/onlinesection/.../9670000047841

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


3 แม่วาฬบรูด้าอ่าวไทย อยู่ในเกณฑ์ผอม-พบรอยโรค TSD

ทช.สำรวจวาฬบรูด้าอ่าวไทย ช่วง 14-16 พ.ค.นี้ พบ 13 ตัว ตั้งชื่อไว้ 9 ตัว อีก 4 ตัวไม่ทราบชื่อ ระบุแม่วันสุข แม่สดใส แม่พาฝัน ผอมอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง พบรอยโรค TSD



วันที่ 27 พ.ค.2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวไทยตอนบน เผยผลชันสูตรซากวาฬลอยใกล้จุดท่องเที่ยวสะพานแดง ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร จากการตรวจสอบพบว่าเป็นวาฬบรูด้า ไม่ทราบเพศ โตเต็มวัย ความยาว 9.6 เมตร ไม่รวมส่วนหางที่ขาดหายไป น้ำหนัก 8 ตัน

ผลการชันสูตรซาก พบว่าสภาพซากเน่ามาก ส่วนหางหายไป ผิวหนังหลุดลอก กะโหลกกรามล่างและกระดูกซี่โครงโผล่ยื่น ส่วนช่องอกและช่องท้องแตกออก ไม่พบอวัยวะภายใน เช่น หัวใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ทำให้ไม่ทราบสาเหตุการตายจึงได้เก็บตัวอย่างพันธุกรรม กะโหลก กรามล่าง และกระดูกซี่โครงซี่แรก เพื่อใช้ในการศึกษา

นายเกรียง มหาศิริ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 (สมุทรสาคร) กล่าวว่า เนื่องจากสภาพวาฬค่อนข้างเน่ามาก จึงไม่สามรถระบุเพศ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอัตลักษณ์ชื่อวาฬบรูด้าที่ทช.เคยสำรวจไว้ แต่อาจจะยากเพราะซากค่อนข้างเสียหาย


พบ 3 แม่วาฬบรูด้าอยู่ในเกณฑ์ผอม-รอยโรคTSD

ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) สำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณอ่าวไทยตอนบน ครอบคลุมพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และกทม.วันที่ 14-16 พ.ค.พบสัตว์ทะเลหายาก จำนวน 2 ชนิด คือ

วาฬบรูด้า 13 ตัว ระบุชื่อจำนวน 9 ตัว ได้แก่ แม่วันสุขกับลูกตัวใหม่ แม่สดใสกับเจ้าแสนรัก แม่วันดีกับเจ้าวันวาน เจ้าสีสัน เจ้าสาลี่ และแม่พาฟัน และไม่ทราบชื่อ จำนวน 4 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี ระยะห่างจากฝั่ง 8-15 กิโลเมตร

ส่วนอีกชนิดคือ โลมาอิรวดี จำนวน 1 ตัว บริเวณชายฝั่งทะเลจังหวัดสมุทรสาคร ระยะห่างจากฝั่ง 8 กิโลเมตรสัตวแพทย์ทำการตรวจสุขภาพวาฬบรูด้าที่สำรวจชพบมีอัตราการหายใจและคุณภาพการหายใจปกติ มีความสมบูรณ์ร่างกาย อยู่ในเกณฑ์พอใช้

"พบแม่วันสุข แม่สดใส และแม่พาฝัน ผอมอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง และพบรอยโรค Tattoo skin disease (TSD) บนผิวหนังวาฬบรูด้าจำนวน 7 ตัว ได้แก่ แม่สดใส เจ้าแสนรัก แม่วันสุข แม่วันดี เจ้าสีสัน และวาฬบรูด้าไม่ทราบชื่อ 2 ตัว และพบรอยถูกพันรัดพาดกลางลำตัวของเจ้าวันวาน"

สำหรับวาฬบรูด้าในไทยซึ่งเป็นสัตว์สงวนชนิดใหม่ในบัญชีพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งกรณีที่พบ Tattoo skin disease (TSD) ลักษณะรอยโรคจะเป็นปื้นสีเทาเข้ม สีดำ หรือสีค่อนข้างเหลือง ไม่มีรูปร่างแน่นอน และนูนเล็กน้อย เกิดสัตว์ที่มีความเครียด ความอ่อนแอ ภาวะภูมิคุ้มกันตก เช่น อดอาหาร การติดเชื้อ และมีพยาธิ


https://www.thaipbs.or.th/news/content/340414
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ปะการังฟอกขาว" ภาพสะท้อน "โลกร้อน" ขั้นวิกฤต



กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เร่งสำรวจ "ปะการังฟอกขาว" ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมป้องกันฟอกขาวและตายเพิ่ม ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ปิดอุทยานฯ ทางทะเล งดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบแล้ว 12 แห่ง ขณะที่พบ "ปะการังฟอกขาว" ใน 21 อุทยานฯ ทางทะเล

เดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา อุณหภูมิในประเทศไทย สูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ นอกจากส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในภาพรวมแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่า สัตว์น้ำ และท้องทะเล โดยเฉพาะปะการัง ที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NOAA) และหน่วยงานความริเริ่มด้านแนวปะการังระหว่างประเทศ (ICRI) ประกาศภาวะ ?ปะการังฟอกขาว? ครั้งใหญ่ ในระดับโลก ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2567 ที่ผ่านมา

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของโลกและปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และส่งผลให้แนวปะการังทั่วโลกได้อย่างน้อย 54 ประเทศ และดินแดนเผชิญกับภาวะปะการังฟอกขาว ตั้งแต่เดือน ก.พ.2023 ที่ผ่านมา

ซึ่งภาวะ "ปะการังฟอกขาว" จะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้น จนเกินจุดที่ปะการังจะทนไหว ซึ่งแน่นอนว่า ก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น

และทำให้ "ปะการังฟอกขาว" เนื่องจากความร้อนในน้ำทำให้ปะการังขับเอาสาหร่ายที่มีสีสันสดใสซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังออกไปจากตัวเอง

บางครั้งเมื่ออุณหภูมิของน้ำเย็นลงปะการังบางประเภทสามารถฟื้นตัวได้ แต่สภาวะที่ปะการังเผชิญกับความร้อนมากจนเกินไปสามารถทำให้ตายได้เช่นกัน

โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2566 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ปี 2022 ระบุในรายงานฉบับที่ 6 ว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่โลกจะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 2030-2040

แต่ข้อเท็จจริงอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2015 ส่งผลให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศทั้งบนดินและในทะเลลึก โดยเฉพาะปะการัง

ซึ่งไม่เพียงแต่ในทะเลต่าง ๆ ทั่วโลก ที่เกิดปรากฏการณ์ ?ปะการังฟอกขาว? แม้แต่ในทะเลไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โดยเฉพาะในปีนี้ (2567) เกิดปรากฎการณ์ ?ปะการังฟอกขาว? จำนวนมากในหลายพื้นที่


ประกาศปิดอุทยานแห่งชาติทางทะเล ให้ปะการังฟื้นตัว

ล่าสุด วันที่ 1 มิ.ย.2567 ที่ผ่านมา นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ และพันธุ์พืช ระบุว่า ตามที่ได้เกิด ?ปะการังฟอกขาว? ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทั้งฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ข้อมูลถึงปัจจุบันรวม 21 แห่ง (ข้อมูลระหว่างวันที่ 2 เม.ย.-29 พ.ค.2567) ประกอบด้วย

1.อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอ่าวไทย จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง จ.ตราด อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร จ.ประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) จ.ประจวบคีรีขันธ์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร จ.ชุมพร อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จ.สุราษฎร์ธานี อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี และอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ (เตรียมการ) จ.นครศรีธรรมราช

2.อุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน 12 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา อุทยานแห่งชาติแหลมสน จ.ระนอง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล และอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล

ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด พบ "ปะการังฟอกขาว" ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 163 บริเวณ แบ่งเป็น ฟอกขาวรุนแรงมาก (การฟอกขาวมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) จำนวน 63 บริเวณ ฟอกขาวรุนแรง (การฟอกขาว 11-50 เปอร์เซ็นต์) จำนวน 61 บริเวณ ฟอกขาวไม่รุนแรง (การฟอกขาว 1-10 เปอร์เซ็นต์) จำนวน 37 บริเวณ ปะการังสีซีดจาง 2 บริเวณ และเริ่มมีปะการังตายจากการฟอกขาว 1-10 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 7 บริเวณ

จึงสั่งการให้อุทยานแห่งชาติทางทะเลทุกแห่ง ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากมีแนวโน้มที่จะเกิดวิกฤตฟอกขาวเพิ่มขึ้น ให้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทางทะเล พิจารณาประกาศปิดการท่องเที่ยวในพื้นที่แหล่งปะการัง เพื่อลดกิจกรรมที่จะก่อผลกระทบเร่งการเกิดปะการังฟอกขาว

"มีการปิดแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ของอุทยานแห่งชาติไปแล้ว 12 แห่ง ประกอบด้วยอุทยานแห่งชาติ ที่ปิดการท่องเที่ยวตามฤดูกาล 6 แห่ง และปิดเนื่องจากสถานการณ์ฉุกเฉิน 6 แห่ง"

ล่าสุดได้รับรายงานสถานการณ์ฟอกขาวของปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล จากการสำรวจและติดตามของอุทยานแห่งชาติทางทะเล และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล 1-5 โดยการติดตามการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิน้ำทะเลอย่างต่อเนื่อง

นายอรรถพลกล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน ตั้งแต่เดือน พ.ค.-ต.ค. ส่งผลให้สถานการณ์ปะการังฟอกขาวในขณะนี้ มีแนวโน้มคงที่ ไม่มีการฟอกขาวในระดับที่รุนแรงเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีฝนตกและมีปริมาณเมฆเพิ่มขึ้น

"เมฆจะช่วยในการบดบังแสงแดด ที่ตกกระทบสู่ท้องทะเล ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง เฉลี่ย 30-31 องศาเซลเซียส นอกจากนี้บางพื้นที่มีกระแสน้ำเย็น ช่วยทำให้แนวโน้มการฟอกขาวดีขึ้น"

สำหรับอนาคตอันใกล้นี้คาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้น เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา อีกทั้งบางพื้นที่ยังมีแนวปะการังที่มีสภาพสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ต่อไปได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อแนวปะการังจากการฟอกขาวเพิ่มขึ้น

อุทยานแห่งชาติบางแห่ง ได้ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อลดผลกระทบจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเร่งให้ปะการังเกิดการฟอกขาว ในอุทยานแห่งชาติทางทะเล จนกว่าสถานการณ์การฟอกขาวของปะการังจะคลี่คลาย

ขณะที่กรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งรับผิดชอบทรัพยากรในทะเลทั่วประเทศ เฝ้าจับตาสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" อย่างต่อเนื่อง และพบว่า สถานการณ์ขณะนี้อยู่ในข่าย "วิกฤต"


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" ว่า ขณะนี้มหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ El Ni?o-Southern Oscillation (ENSO) ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลที่สูงกว่าค่าเฉลี่ย (SST)

"คาดการณ์ว่า จะเกิดปะการังฟอกขาวในประเทศไทย ในช่วงระหว่างเดือนเม.ย.-ก.ค.2567 โดยระดับความรุนแรงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่"


ออกสำรวจ-ติดตาม-ปกป้อง "ปะการังฟอกขาว"
นอกจากนี้พบว่า ในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ. ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง) ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง


เกาะมันใน จ.ระยอง

วันที่ 9 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) สำรวจและติดตามสถานการณ์การเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะมันใน อ่าวต้นเลียบ และหาดหน้าบ้าน จ.ระยอง

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า เกาะมันใน อ่าวต้นเลียบ ที่ระดับความลึก 4-5 เมตร ปะการังสภาพปกติ 10 % สีซีดจาง 25 % ปะการังฟอกขาว 50 % และปะการังตาย 15 % บริเวณหาดหน้าบ้าน ที่มีระดับความลึก 3-5 เมตร ปะการังสภาพปกติ 10 % สีซีดจาง 20 % ปะการังฟอกขาว 50 % และปะการังตาย 20 %

ปะการังที่เริ่มมีสีซีดจาง ได้แก่ ปะการังสมองร่องใหญ่ (Lobophyllia spp.) ปะการังดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) และปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.) ทั้งนี้พบปะการังตายจากการฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.)


เกาะไข่ จ.พังงา

วันที่ 9 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน สำรวจและติดตามสถานการณ์ การเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะไข่ใน เกาะไข่นอก จ.พังงา เกาะนาคาใหญ่ เกาะนาคาน้อย เกาะรังใหญ่ เกาะตะเภาใหญ่ และอ่าวตั้งเข็ม จ.ภูเก็ต

จากการสำรวจแนวปะการัง โดยการดำน้ำตื้นพบว่า เกาะไข่นอก และเกาะไข่ใน มีปะการังฟอกขาวประมาณ 10 % สีซีดจาง 30 % และปะการังสภาพปกติ 60 %

สำหรับเกาะนาคาใหญ่ เกาะนาคาน้อย เกาะรังใหญ่ เกาะตะเภาใหญ่ และอ่าวตั้งเข็ม ส่วนใหญ่ปะการังมีสีซีดจาง 40 % และปะการังสภาพปกติ 60 % ส่วนปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังดอกเห็ด (Cycloseris spp.) ปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.)

ส่วนปะการังที่เริ่มมีสีซีดจาง ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) ปะการังดอกเห็ด (Cycloseris spp.) ปะการังโขด (Porites lutea) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.) อุณหภูมิน้ำทะเลทุกพื้นที่สำรวจวัดได้ 32 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ยังไม่พบปะการังตายจากการฟอกขาว


เกาะหนู และเกาะแมว จ.สงขลา

วันที่ 14 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ติดตาม ตรวจสอบการเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณแนวปะการังเกาะหนู และเกาะแมว จ.สงขลา

จากการสำรวจแนวปะการังด้วยสายตาโดยวิธีการดำน้ำลึก พบปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะหนู ประมาณ 40 % สีจางลง 40 % และปกติ 20 % ปะการังที่ฟอกขาวและสีเริ่มจางลงส่วนใหญ่เป็นปะการังโขด (Porites sp.)

ส่วนเกาะแมว พบปะการังฟอกขาว ประมาณ 70 % สีจางลง 20 % และปกติ 10 % ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites sp.) ปะการังรังผึ้ง (Goniastrea sp.) และปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.)

ส่วนปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) พบสีเริ่มจางลง จากการติดตามอุณหภูมิน้ำทะเลด้วยวิธีวาง data temperature logger ระหว่างวันที่ 18 เม.ย.-14 พ.ค.2567 อุณหภูมิน้ำทะเลเฉลี่ย 32.69 องศาเซลเซียส ซึ่งมีค่าสูงกว่าช่วงเดือนที่ผ่านมา 1.74 เซลเซียส เพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณแนวปะการังเกาะหนู และเกาะแมว


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #5  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS


"ปะการังฟอกขาว" ภาพสะท้อน "โลกร้อน" ขั้นวิกฤต ............ ต่อ


เกาะมันใน (อ่าวต้นเลียบ,หาดหน้าบ้าน) และหินต่อยหอย จ.ระยอง

วันที่ 16 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก สำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะมันใน (อ่าวต้นเลียบ,หาดหน้าบ้าน) และหินต่อยหอย

ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า ที่ความลึก 2-5 เมตร อุณหภูมิน้ำทะเล 32 เซลเซียส โดยเฉลี่ยปะการังสภาพปกติ 5 % สีซีดจาง 20 % ฟอกขาว 55 % และตายจากการฟอกขาว 20 % ปะการังกลุ่มที่ฟอกขาว (อ่อนไหว) ได้แก่ ปะการังโขด (Porites spp.) และปะการังเขากวาง (Acropora spp.)

ปะการังกลุ่มที่มีสีซีดจาง (ทนทาน) ได้แก่ ปะการังสมองร่องสั้น (Platygyra spp.) และปะการังวงแหวน (Dipsastraea spp.) พร้อมทั้งทดลองช่วยชีวิตหอยมือเสือ จากการฟอกขาว โดยการย้ายหอยมือเสือ (Tridacna squamosa) จำนวน 5 ตัว บริเวณหินต่อยหอย จากแนวน้ำตื้น 1.4 เมตร ไปบริเวณน้ำลึก 4-5 เมตร


ติดตั้งสแลนลดแสง (Shading) แนวปะการังเกาะกา จ.กระบี่

วันที่ 16 พ.ค.2567 กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล โดยส่วนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ทดลองติดตั้งสแลนลดแสง (Shading) บริเวณแนวปะการังเกาะกา อ.เหนือคลอง จ.กระบี่

โดยทดลองจำนวน 5 แปลง กับปะการัง 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบแผ่น รูปแบบก้อน และรูปแบบกิ่งก้าน ที่มีลักษณะสีซีดจาง และเปรียบเทียบกับปะการังรูปแบบเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง ที่ไม่ได้กางสแลนลดแสง และได้ติดตั้ง data temperature logger เพื่อติดตามอุณหภูมิน้ำทะเล


ประเมินสถานภาพปะการังบริเวณหมู่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช

วันที่ 13-17 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สงขลา) สำรวจประเมินสถานภาพปะการังบริเวณหมู่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช

ผลการสำรวจแนวปะการังที่ระดับน้ำทะเลลึกประมาณ 5-15 เมตร อุณหภูมิน้ำ 31.9 องศาเซลเซียส ความเค็ม 32 พีพีที พบปะการังกลุ่มเด่น ได้แก่ ปะการังเขากวางแบบกิ่ง (Acropora sp.) ปะการังที่พบได้โดยทั่วไป ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังสมองร่องยาว (Platygyra daedalea) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) ฯลฯ และพบปะการังฟอกขาวประมาณ 20 % สีซีดจาง 60 % และปะการังสภาพปกติ 20 %

ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites sp.) ปะการังจาน (Turbinaria sp.) และปะการังดอกเห็ด (Fungia sp.) ทั้งนี้ยังไม่พบปะการังตายจากการฟอกขาว ส่วนปะการังที่เริ่มมีสีซีดจาง ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.) และปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.)

ปลากลุ่มเด่น ได้แก่ ปลาสลิดหินคอดำ (Dascyllus reticulatus) สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่พบ คือ เม่นทะเล (Echinotrix calamaris) พบหอยทาก (Drupella sp.) เกาะกินปะการังในบางพื้นที่ ขยะในแนวปะการรังที่พบเป็นพวกเศษอวน เชือก และสายเอ็น เป็นต้น


ติดตั้งสแลนลดแสงแนวปะการัง ด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต

วันที่ 17 พ.ค.2567 กองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ร่วมกับ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่โรงแรมเกาะไม้ท่อน ติดตั้งสแลนลดแสง (Shading) บริเวณแนวปะการังด้านทิศตะวันออกของเกาะไม้ท่อน อ.เมือง จ.ภูเก็ต

โดยทดลองกับปะการัง 3 แปลง ที่มีลักษณะสีซีด ฟอกขาว และลักษณะปกติ เปรียบเทียบกับปะการังชนิดเดียวกันในบริเวณใกล้เคียง ที่ไม่ได้กางสแลนลดแสง

สำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะยา จ.ตรัง

วันที่ 18 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) สำรวจและติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะยา จ.ตรัง จากการสำรวจด้วยการดำน้ำลึก ที่ระดับความลึก 2-9 เมตร พบว่า เกาะยา มีปะการังสีซีดจาง 10 % ปะการังฟอกขาว 70 % และปะการังสภาพปกติ 20 %

ส่วนใหญ่ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites spp.) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังจาน (Turbinaria sp.) ปะการังวงแหวน (Dipsastraea spp.) และปะการังสมองร่องสั้น (Platygyra spp.) และพบกลุ่มดอกไม้ทะเลฟอกขาวและบางส่วนมีสีซีดจางจนเกือบขาว

สำหรับข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลที่ได้จาก data temperature logger ที่ระดับความลึก 6 เมตร พบว่า อุณหภูมิของน้ำทะเลช่วงกลางเดือนเม.ย.-พ.ค.2567 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 32.78 ? 0.41 องศาเซลเซียส


สำรวจ-ชี้จุดที่สามารถวางทุ่นของเรือบาร์จ ในการซ่อมปรับปรุงกระโจมไฟ สำรวจติดตามสถานการณ์ "ปะการังฟอกขาว" บริเวณเกาะโลซิน

วันที่ 21?23 พ.ค.2567 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ร่วมปฏิบัติงานสำรวจและชี้จุด ที่สามารถวางทุ่นของเรือบาร์จในการซ่อมปรับปรุงกระโจมไฟ เกาะโลซิน ซึ่งดำเนินงานโดยกรมช่างโยธาทหารเรือ

พร้อมนี้ได้สำรวจติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะโลซิน พบปะการังฟอกขาวประมาณ 40 % สีจางลง 30 % และปกติ 30 % ปะการังที่ฟอกขาว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites sp.) ปะการังช่องเล็ก (Montipora sp.) และกลุ่มปะการังเขากวางแผ่แบนแบบโต๊ะ (Acropora spp.)


ส่วนปะการังที่มีสีเริ่มซีดจาง ได้แก่ ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora sp.) ปะการังเขากวางแบบกิ่งก้าน (Acropora spp.) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) และปะการังจาน (Turbinaria sp.) อุณหภูมิน้ำทะเล 31 องศาเซลเซียส

ในการสำรวจครั้งนี้ พบปะการังฟอกขาวเพิ่มขึ้น 30 % จากการสำรวจในครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2567 และพบปะการังโขดเริ่มตายจากการฟอกขาว (recently dead)

อย่างไรก็ตามในช่วงนี้ เริ่มมีฝนตกลงมาในพื้นที่ คาดว่าน่าจะช่วยให้อุณหภูมิน้ำทะเลลดลงได้บ้าง และเพื่อเป็นการเฝ้าระวังการเกิดปะการังฟอกขาว บริเวณเกาะโลซิน

จากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เราพบเห็น และการเร่งแก้ไขสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจไม่ทันเวลา หรือล่าช้า ซึ่งนั่นหมายถึงผู้คนต่าง ๆ ในประเทศเรา ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือ เพื่อป้องกันมิให้เกิด "ปะการังฟอกขาว" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว


https://www.thaipbs.or.th/news/content/340664

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #6  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


"จูราสสิค เวิลด์ 4" เตรียมมาถ่ายทำ ที่แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของตรัง



ช่วงกลางเดือน มิ.ย. 67 นี้ "จูราสสิค เวิลด์ 4" เตรียมยกกองมาถ่ายทำ บนเกาะกระดาน และถ้ำมรกต แหล่งท่องเที่ยวดังของ จ.ตรัง ซึ่งได้ชื่อว่ามีชายหาดที่สวยสุดในโลก

4 มิถุนายน 2567 มีรายงานว่า กองถ่ายฮอลลีวุ้ด นำทีมงานนักแสดงหนังเรื่องดัง "จูราสสิค เวิลด์ 4" ถ่ายทำบนเกาะกระดาน และ ถ้ำมรกต แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังก้องโลกของ จ.ตรัง ที่มีชายหาดทรายที่สวยที่สุดในโลก กลางเดือน มิ.ย. 67 นี้ ขณะที่ ปธ.หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เชื่อจะส่งผลดีต่อจังหวัดตรัง มีเงินสะพัดจากการท่องเที่ยว ทำให้เกาะกระดานสถานที่ถ่ายทำหนัง จูราสสิค เวิลด์ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แต่ให้กองถ่ายภาพยนตร์ ระมัดระวังเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเสียไปแล้วฟื้นฟูยาก


นายสลิล โตทับเที่ยง ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เปิดเผยว่า การที่กองถ่ายของฮอลลีวู้ดจะเข้ามาถ่ายทำภาพยนต์เรื่องจูราสสิค เวิลด์ในจังหวัดตรังและในจังหวัดกระบี่ในเดือนมิถุนา-กรกฎาคมนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เท่าที่เราเคยเห็นที่จังหวัดพังงาเขาตาปูซึ่งเคยถ่ายเรื่องเจมส์บอนด์ในตอนนั้นก็ยังโด่งดังมาจนถึงทุกวันนี้ส่งผลการท่องเที่ยวในระยะยาว

ฉะนั้นการที่กองถ่ายมาถ่ายหนังเรื่อง จูราสสิค เวิลด์ ภาค 4 ที่จังหวัดตรังแม้จะเป็นบางส่วนเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกาะกระดานซึ่งได้ขึ้นชื่อว่าเป็นชายหาดที่สวยที่สุดในโลก ตามประกาศให้คะแนนของเวิลด์บีซเรคคอร์ดมา 2 ปีซ้อน ตนก็มั่นใจว่าจากการที่ท่องเที่ยวมาประทับใจ กองถ่ายฮอลลีวู้ดมาถ่ายมำแล้วภาพมันออกไปก็จะส่งผลในระยะยาวให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวในจังหวัดตรัง โดยเฉพาะเกาะกระดานซึ่งเป็นเกาะที่มีชายหาดสวยที่สุดในโลก ยิ่งมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงที่กองถ่ายมาถ่ายทำ จากการประเมินโดยทางการท่องเที่ยวจะส่งผลให้เงินสะพัดทั้งตรังและกระบี่ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท นั่นคือในเบื้องต้น แต่มันก็จะมีในส่วนของเงินสะพัดต่อเนื่องในส่วนของการใช้ล็อตอื่น ๆ ที่อยู่ในกระบวนการของการถ่ายทำติดตามมาอีกจำนวนมาก

"ตนอยากจะขอให้ผู้ประกอบการทุกส่วนให้ความร่วมมือและประชาชนพี่น้องต่าง ๆให้ความร่วมมือดูการถ่ายทำห่าง ๆ อย่าไปรบกวนการถ่ายเพื่อที่จะให้การถ่ายทำได้เรียบร้อยและออกมาสวยงาม และสิ่งสำคัญก็คือเจ้าของพื้นที่อย่างอุทยานฯต้องเข้าไปกำกับดูแลให้การถ่ายแต่ละที่นั้นภาพออกมาสวยงามไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตรงนี้ตนมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ หากการถ่ายทำนั้นมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวก็อาจจะทำลายทรัพย์สิน แต่เท่าที่สอบถามอุทยานฯแล้วก็ได้มีการวางแผนอย่างดีเยี่ยมและป้องกันไว้แล้ว ก็ขอให้พี่น้องประชาชนวางใจ" ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กล่าว

นายสลิล กล่าวอีกว่า ส่วนการท่องเที่ยวทางทะเลสำหรับปีนี้กรมอุทยานฯ ได้มีการยกเว้นการปิดเกาะในทะเลตรังช่วงโลซีซั่น จำนวน 4 เกาะ เช่น เกาะกระดาน เกาะมุกด์ เกาะแหวน เกาะเชือก ออกไปอีก 2 เดือน จากวันที่ 1 มิ.ย.ถึง 31 ก.ค.67 โดยจะไปปิดวันที่ 1 ส.ค.67 บางเกาะที่ไม่ปิดตนมองว่าเป็นเรื่องดี เพราะจังหวัดตรังที่นักท่องเที่ยวมาเน้นมาเที่ยวทะเล แต่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเพราะในช่วงนี้เป็นช่วงหน้ามรสุมแล้ว ก็ขอให้นักท่องเที่ยวที่มาฟังคำพยากรณ์อากาศและดูเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ เราอยากให้นักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยวในจังหวัดตรังแล้วปลอดภัยทุกที่


ทางด้าน นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกลุ่มเซ็นทรัล ที่เดินทางมาจังหวัดตรัง เพื่อศึกษากิจการในเครือฯ กิจการและพาครอบครัวมาพักผ่อนท่องเที่ยวในจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองเดินทางมาตรังเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา ตนมองว่าตรังเป็นจังหวัดที่ดีมีเสน่ห์มาก มาตรังครั้งนี้ตนได้ไปเยี่ยมชม ชุมชนนาหมื่นศรี เยี่ยมชมการทอผ้านาหมื่นศรีและผลิตภัณฑ์ ซึ่งแถวบริเวณนั้นมีที่ท่องเที่ยวเยอะ

มาถึงวันนี้ก็รู้สึกดีใจมากว่าทางจูราสสิค เวิลด์มาถ่ายทำที่ตรัง ขณะนี้เริ่มมาดูโลเคชั่น ตนคิดว่าน่าจะเป็นผลดีในหลายคนที่ไม่เคยมาจังหวัดตรัง ที่นี่มีทะเล ไม่ใช่ทะเลอย่างเดียว ผู้คน อาหาร หรือว่าในท้องนาก็จะมีภูเขาวิวทิวทัศน์ที่สวยงามใครที่ไม่เคยมาอยากให้มาเที่ยวตรัง ซึ่งถ้ากองถ่ายฮอลลีวู้ดมาถ่ายทำก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ส่วนเงินสะพัดที่เป็นผลมาจากนักท่องเที่ยวสร้างความรู้จักจังหวัดตรัง โดยเฉพาะเกาะกระดาน ทะเลตรัง หลังจากหนังออกฉายทั่วโลก ตนคาดว่าสร้างเงินสะพัดอยู่ที่ 200-300 ล้าน แต่หลังจากหนังฉายมีผลระยะยาว เพราะทุกครั้งที่มีฮอลลีวู้ดเข้ามาถ่ายก็จะมีผลเป็นปี อย่างเมื่อก่อนที่ลีโอนาโด้มาถ่ายเรื่องเดอะบีซ คนทั่วโลกก็มาเที่ยวเกาะในจังหวัดกระบี่ ตนมองว่าครั้งนี้ก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้คนทั้งโลกมาสนใจที่จะมาท่องเที่ยวทะเลตรัง โดยเฉพาะสถานที่เคยถ่ายทำหนังเรื่องจูราสสิค เวิลด์ ภาค 4 เป็นต้น


https://www.nationtv.tv/news/social/...ecommendations


__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #7  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


วันสิ่งแวดล้อมโลก ภาวะโลกร้อนทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นทะเลทรายหรือไม่ ?


SHORT CUT

- องค์การสหประชาชาติ รายงานว่าประชาชนกว่า 2 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มกลายเป็นทะเลทราย

- ประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ ทั้งประเทศ

- การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว การเผาป่า คือปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดพื้นที่ทะเลทราย




วันสิ่งแวดล้อมโลก จากภาวะโลกร้อน สู่การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ประเทศไทยมีโอกาสมากน้อยแค่ไหม และถ้าเป็นไปได้เราจะมีวิธีรับมืออย่างไร ?

วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นวันที่ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี สืบเนื่องมาจากโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความร่วมมือ เกิดความตะหนัก และรู้ทันเหตุการณ์ จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 เป็นการประชุมวาระโลกเรื่อง "มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม" ซึ่งนับเป็นการหารือด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือระหว่างชาติทั่วโลก จึงมีการกำหนดให้วันแรกของการประชุม ซึ่งก็คือวันที่ 5 มิถุนายน เป็น "วันสิ่งแวดล้อมโลก" โดยทาง UN จะกำหนดหัวข้อ (Theme) ในแต่ละปีแตกต่างกันและกำหนดประเทศเจ้าภาพในการดำเนินกิจกรรม

โดยธีมในปีนี้ คือ การฟื้นฟูดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทรายและ การรับมือกับภัยแล้ง "Land restoration, desertification and drought resilience" และมีคำขวัญ "Our land, Our Future. We are#GenerationRestoration" "พลิกฟื้นผืนดิน สู้วิกฤติภัยแล้ง" โดยมีประเทศซาอุดิอาระเบีย เป็นเจ้าภาพ ตามที่ได้มีการประชุมและวิเคราะห์สถานการณ์โลกในอนาคต พบว่าปัญหาสำคัญของโลกอันดับหนึ่งที่ตรงกันในทุกสาขา คือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั้งในวงการเศรษฐกิจและสังคมโลก ธีมในปีนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายที่เชื่อมโยงกันระหว่างความเสื่อมโทรมของทีดินที่จะต้องได้รับการฟื้นฟู ความแห้งแล้งที่มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องก็จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปรสภาพที่ดินเป็นทะเลทรายได้ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพและความเป็นอยู่ของมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไข


การกลายสภาพเป็นทะเลทราย (Desertification) คือ สภาวะเสื่อมโทรมของดินในพื้นที่แห้งแล้ง จากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลจากการกระทำของมนุษย์ นอกจากนี้ การกลายสภาพเป็นทะเลทรายยังหมายถึงสภาวะแวดล้อมของพื้นที่ซึ่งสูญเสียความชุ่มชื้นเพราะการขาดน้ำเป็นเวลานาน จนส่งผลให้ดินเกิดการแตกระแหง เสื่อมสภาพลง และเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของสภาพภูมิอากาศโดยรอบและความหลากหลายของพืชพรรณต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่


ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เรียบเรียงข้อมูลถึง ปัจจัยที่นำไปสู่ภาวการณ์กลายสภาพเป็นทะเลทราย ประกอบด้วย

จากธรรมชาติ : ความเสื่อโทรมดินตามธรรมชาติเกิดจากการชะล้างพังทลายของดิน(Soil Erosion) และการผุพังจากกระแสลมและคลื่นน้ำ (Weathering) เป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การสูญเสียคุณสมบัติของดิน ทั้งในทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ

สภาพภูมิอากาศ : เกิดจากการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฝน การคายน้ำ และอุณหภูมิ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลโดยตรงต่อภาวะการกลายสภาพเป็นทะเลทราย ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากการสูญเสียความชื้นในดิน (Soil Moisture) การสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลาย (Soil Erosion) รวมทั้งการสูญเสียแร่ธาตุในดินที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรม (Soil Degradation)

กิจกรรมของมนุษย์ : มีกิจกรรมของมนุษย์มากมายที่ถูกดำเนินไปอย่างไม่เหมาะสมและเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียความสมดุลระบบนิเวศทางธรรมชาติ ความแปรปรวนปริมาณหรือวัฎจักรน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ การตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว การใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการเกษตรปริมาณมาก ที่นำไปสู่การสูญเสียธาตุอาหารและความอุดมสมบูรณ์ของดิน และกลายเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการกลายสภาพเป็นทะเลทรายสูงขึ้น


องค์การสหประชาชาติ รายงานว่าประชาชนกว่า 2 พันล้านคน อาศัยอยู่ในพื้นที่แห้งแล้ง มีแนวโน้มกลายเป็นทะเลทราย ภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ แอฟริกา เอเชียตะวันออก และเอเชียกลาง โดยกว่า 15.5% ของที่ดินของโลกได้เสื่อมโทรมไปแล้ว และเพิ่มขึ้น 4% ในรอบหลายปี โดยในพื้นที่ที่เสื่อมโทรมก็มีโอกาสแปรสภาพเป็นทะเลทรายสูง ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้จึงได้ก่อตั้งอนุสัญญาขึ้น ภายใต้กรอบUN คืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification (UNCCD)) เพื่อเป็นกรอบข้อตกลงทางกฎหมาย ในการจัดการการแปรสภาพเป็นทะเลทรายและผลกระทบจากภัยแล้ง โดยมีสมาชิก 197 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยจะมีการประชุม Conference of the Parties (COP16) ครั้งต่อไป ของอนุสัญญาที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ในต้นเดือนธันวาคม 2567 นี้

นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ยังเรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในปัจจุบันยังส่งผลและเร่งให้หลายพื้นที่ทั่วโลกเข้าสู่การกลายสภาพเป็นทะเลทรายรวดเร็วยิ่งขึ้น การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกเพียง 1.5-2.0 องศาเซลเซียส จะสามารถนำไปสู่การสูญเสียน้ำและภาวะแห้งแล้งมากถึงร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวโลกทั้งหมด และเมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายความสามารถของดินในการสร้างผลผลิตและอาหาร เพื่อรองรับประชากรมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆก็จะไม่เพียงพอ การป้องกันและแก้สามารถดำเนินการได้ด้วย

- การปลูกป่าและการฟื้นฟูระบบนิเวศทางธรรมชาติ

- การปรับปรุงการระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการทั้งระบบ การใช้นำอย่างมีประสิทธิภาพ

- การบำรุงรักษาดิน การปลูกพืชคลุมดิน การลดการใช้สารเคมี

- การหยุดยั้งการบุกรุกและตัดไม้ทำลายพื้นที่ป่า การเพิ่มพื้นที่สีเขียว


ประเทศไทยจะกลายเป็นทะเลทรายหรือไม่ ?

สำหรับโอกาสการกลายเป็นทะเลทรายในประเทศไทยนั้น กรมพัฒนาที่ดินได้ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการศึกษาวิเคราะห์ และการประเมินจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรจะได้รับ พบว่าในประเทศไทย มีพื้นที่ที่มีความเสี่ยงรุนแรงต่อภาวะการเป็นทะเลทรายกว่า 6.9 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของพื้นที่ ทั้งประเทศ แบ่งออกเป็นพื้นที่ราบ 2.4 ล้านไร่ และพื้นที่สูง 4.5 ล้านไร่ ดังนั้นประเทศไทยจะต้องเข้าใจเพื่อนำไปสู่การป้องกันไว้ล่วงหน้า และการเผยแพร่ข้อมูลเชิงพื้นที่มาใช้เพื่อเตือนภัยจะสามารถ ลดระดับความรุนแรงของพื้นที่เสี่ยงภัยต่อภาวะการเป็นทะเลทรายลงได้ โดยเฉพาะการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือพื้นที่แหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อปลูกพืชเกษตรเชิงเดี่ยว การเผาป่า เป็นต้น

ความร่วมมือเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องพัฒนาเครือมือและทรัพยากรในการรักษาและฟื้นฟูที่ดิน เพื่อต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการปรับตัวต่อภัยแล้ง การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


อ้างอิง

คัดคณัฐ ชื่นวงศ์อรุณ และณภัทรดนัย. 2021. การเกิดขึ้นของ ทะเลทราย ผลกระทบสำคัญจากความแปรปรวนของวัฏจักรน้ำ และ ภาวะโลกร้อน. NATIONAL GEOGRAPHIC (https://ngthai.com/)

ทะเลทราย การแปรสภาพเป็นทะเลทราย: คืออะไร สาเหตุ ผลที่ตามมา และแนวทางแก้ไข | Renovables Verdes (https://www.renovablesverdes.com/)

ยุทธศาสตร์ อนุรักติพันธ์. 2560. แบบจจำลองเชิงพื้นที่การเป็นทะเลทรายของประเทศไทย. กรมพัฒนาที่ดิน

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่งานสื่อสารและบริการสังคม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

ชุตินาฏ พงษ์ทองวัฒนา (นุ่น) มือถือ : 097-1300162 อีเมล chutinad@tei.or.th



https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850766

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #8  
เก่า 05-06-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก SpringNews


เป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่เราจะเจอ "น้ำท่วมโลก" ในศตวรรษนี้


SHORT CUT

- ท่ามกลางภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิด"น้ำท่วม" บ่อยขึ้น ในช่วงไม่กี่ปียิ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายหนักขึ้นกว่าเดิม

- คาดว่าหลังปี 2100 ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะบังคับให้มนุษย์ต้องย้ายไปอยู่ที่สูงมากขึ้น ภายในปี 2150 จะเกิดพายุบ่อยขึ้น อาจจะมากเป็นสองเท่าของที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้

- หลังจากปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1-2 เมตร ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างให้แก่พื้นที่ชายฝั่งทะเล




ปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล เนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ทะเล ถึงเวลาแล้วที่ควรร่วมมือช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามต่อไป

ท่ามกลางภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อม เราพบเจอ "น้ำท่วม" บ่อยขึ้น และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งรุนแรงและสร้างความเสียหายหนักขึ้นกว่าเดิม ในคัมภีร์ไบเบิลของศาสนาคริสต์ มีการพูดถึงตำนานน้ำท่วมโลกกับเรือโนอาห์ แต่ในความเป็นจริง นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า เราไม่น่าจะเจอน้ำท่วมโลกแบบนั้น แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เราจะเจอกับน้ำท่วมตามพื้นที่ต่างๆ รุนแรงขึ้น โดยจุดที่อันตรายก็คือ ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐฯ หมู่เกาะต่างๆ และภูมิภาคเอเชีย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราพบเห็นปัญหาชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ จากน้ำแข็งขั้วโลกละลาย อีกทั้งยังมีปัญหาพายุพัดถล่ม ที่ทำให้เกิดน้ำท่วมและน้ำเอ่อล้นตลิ่งตามแม่น้ำสายต่างๆ เว็บไซต์ของนาซา หน่วยงานด้านอวกาศของสหรัฐฯออกมาระบุถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจมอยู่ใต้น้ำในช่วงศตวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยชี้ว่า จุดที่อันตรายก็คือ ชายฝั่งด้านตะวันออกของสหรัฐฯและอ่าวเม็กซิโก หมู่เกาะต่างๆ และเอเชีย

ความเสี่ยงเหล่านั้นไม่ได้มาจากระดับน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเพราะน้ำแข็งละลายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากปัญหาน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น ทำให้เกิดพายุบ่อยขึ้น และปัญหาน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง

โดยคาดว่า หลังปี 2100 เป็นต้นไป ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจะบังคับให้มนุษย์ต้องย้ายไปอยู่ที่สูงมากขึ้น และภายในปี 2150 โลกจะเกิดพายุบ่อยขึ้น อาจจะมากเป็นสองเท่าของที่เกิดอยู่ในทุกวันนี้ และหลังจากปี 2100 ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นในระดับ 1-2 เมตร ซึ่งจะสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้างให้แก่พื้นที่ชายฝั่งทะเล ในช่วงแรก การใช้กลยุทธ์ต่างๆอาจจะช่วยได้ เช่น การสร้างกำแพงกั้นน้ำทะเล แต่ในท้ายที่สุด ปัญหาจะเลวร้ายลง เนื่องจากผลกระทบที่มีต่อมนุษย์จะเพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการรับมือจะสูงมาก


กรุงเทพเสี่ยงจมน้ำ พิจารณาย้ายเมืองหลวง

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว AFP สื่อต่างประเทศ ได้ตีข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ในอนาคต โดยปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลไทย ได้กล่าวกับสำนักข่าว AFP ถึงกรณีการย้ายเมืองหลวงหนีน้ำเอาไว้ดังนี้

"กรุงเทพฯ อาจไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันได้ ผมคิดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกของเราเกิน 1.5 องศาฯ ไปแล้ว ตอนนี้เราต้องกลับมาคิดถึงการปรับตัว ผมคิดว่ากรุงเทพฯ จะจมน้ำแน่นอน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้อยู่"

จากเครื่องมือคาดการณ์ระดับน้ำทะเลของนาซาชี้ว่า ป้อมพระจุล จะมีระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1.79 เมตรในปี 2100


เมืองดังเมืองใหญ่ระดับโลกเสี่ยงไม่แพ้กรุงเทพฯ

ก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่ง ซึ่งนักวิจัยได้ใช้เครื่องมือขององค์กร Climate Central ที่ชื่อว่า Coastal Risk Screening Tool ลิสต์เมืองท่องเที่ยวเสี่ยงจมน้ำ หากน้ำทะเลสูงขึ้น 1.5 เมตร มาให้ดู โดยพบว่า นอกจากกรุงเทพฯแล้ว ยังมีอีกหลายเมืองในเอเชียที่เสี่ยงจมน้ำเช่นกัน เช่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น นครมุมไบ ประเทศอินเดีย นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เป็นต้น

ขณะที่อินโดนีเซียเตรียมย้ายเมืองหลวงแล้ว โดยประเทศอินโดนีเซียจะเปิดตัว "นูซันตารา" เป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ในฐานะศูนย์กลางทางการเมืองในวันที่ 17 สิงหาคมปีนี้ แทนที่เมืองหลวงปัจจุบันอย่าง "กรุงจากาตาร์" ซึ่งตกอยู่ในสภาพไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นั่นคือเฟื่องไปด้วยมลพิษและกำลังจมน้ำ

ในปี 2565 อินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเปิดทางย้ายเมืองหลวง อินโดฯ ถือเป็นชาติแรกในแถบภูมิภาคนี้ที่มีการสั่งย้ายเมืองหลวงผ่านกฎหมายของประเทศแต่ก็ไม่วายโดนครหาว่าไม่ศึกษาภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมให้ดี ไม่รู้หรือไงว่าต้องมีการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งทำให้เจ้าอุรังอุตังอาจไม่มีที่อยู่อาศัยอีกต่อไป


หลายรัฐในสหรัฐฯ เสี่ยงจมบาดาล

ส่วนที่สหรัฐฯ มีรายงานว่า พื้นที่ชายฝั่งของรัฐหลุยเซียนาเสี่ยงต่อการจมบาดาล เนื่องจากพื้นที่แถบดังกล่าวสร้างขึ้นจากการทับถมของตะกอนเมื่อราว 5,000 ปีก่อน และปัจจุบัน พื้นดินของรัฐดังกล่าวก็เริ่มจมลง 1 นิ้วทุกๆ 3 ปี นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว ก็ทำให้หลุยเซียนาสูญเสียที่ดินราว 65-91ตารางกิโลเมตรทุกปีในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา

ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ซึ่งเป็นบริเวณที่รัฐหลุยเซียนาตั้งอยู่ กำลังประสบปัญหาการถูกกัดเซาะชายฝั่งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผลการศึกษายังชี้ด้วยว่า การทำเหมืองเรือขุดในคลองต่างๆ โดยอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มีผลทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำและทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ดังกล่าวตามมา

นอกจากนี้ ระหว่างปี 2550-2563 พื้นดินบริเวณ New York, Baltimore และ Norfolk ในรัฐ Virginia จมลงระหว่าง 1-2 มิลลิเมตรต่อปี สถานที่อื่นๆ จมลง 2 เท่าหรือ 3 เท่าของอัตรานั้น และเมืองชาร์ลสตัน รัฐเซาท์แคโรไลนา จมเร็วที่สุดที่ 4 มิลลิเมตรต่อปี ในเมืองหนึ่งเหนือระดับน้ำทะเลไม่เกิน 3 เมตร โดยการทรุดตัวบางส่วนเป็นผลมาจากการสูบน้ำบาดาลออกไปเพื่อเป็นแหล่งน้ำหรือก๊าซธรรมชาติ แต่นิวยอร์กและเมืองอื่นๆ กำลังจมอยู่ใต้น้ำหนักที่แท้จริงของอาคารที่กดทับลงสู่ดินอ่อน

ที่มา : nasa


https://www.springnews.co.th/keep-th...-change/850759
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 17:51


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger