#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน 2564
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในตอนกลางวัน กับมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนถึงร้อนจัดไว้ด้วย สำหรับภาคใต้มีลมตะวันตกและลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นในระยะนี้ อนึ่ง ในช่วงวันที่ 26 - 30 เม.ย. 64 ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนในตอนกลางวัน กับมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 25-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-38 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 24 - 25 เม.ย. 64 บริเวณประเทศไทยมีมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด กับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้เนื่องจากความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนที่ยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกัยมีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันและอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมบริเวณดังกล่าว ส่วนในช่วงวันที่ 26 - 30 เม.ย. 64 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และมีฝนตกหนักบางแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้และลมใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน สำหรับบริเวณทะเลอัดามัน อ่าวไทย และภาคใต้ มีลมตะวันตกพัดปกคลุม ตลอดช่วง ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 26 - 30 เม.ย. 2564 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ที่จะเกิดขึ้นไว้ด้วย โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
ขยะ "แมสก์" ล้นเมือง อยากจะทิ้งก็ทิ้งก็ได้เหรอ!? ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขยะติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 (Covid-19) โดยเฉพาะขยะหน้ากากอนามัย (Mask) ถูกทิ้งเกลื่อนกลาดตามแหล่งสาธารณะกำลังลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้ว 11.48 ตันต่อวัน แน่นอนว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จวบจนการระบาดสิ้นสุดลง นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพุ่งพรวดทั่วทั้งโลก ขณะที่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกประเมินไปในทิศทางเดียวกัน ขยะหน้ากากอนามัยทุกรูปแบบจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ยกตัวอย่าง หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) ผลิตขึ้นรูปจากแผ่นใยสังเคราะห์ (non-woven fabric) วัตถุดิบหลักซึ่งเป็น พอลิโพรไพลีน (Polypropylene) และถ่านกัมมันต์ในปริมาณมาก ทำให้หน้ากากอนามัยกลายเป็นขยะพลาสติกที่ใช้เวลาในการย่อยสลายนานกว่าจะย่อยสลาย อีกทั้ง ระหว่างย่อยสลายสามารถปลดปล่อยสารพิษได้อย่างต่อเนื่อง หรือหากหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำหรือทะเล อนุภาคพลาสติกที่ถูกปลดปล่อยระหว่างการย่อยสลาย จะยังคงสะสมอยู่ในน้ำและในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำจืดหรือทะเล ซึ่งในที่สุดก็ย้อนกลับมาอยู่ในวงจรสิ่งแวดล้อม วงจรแหล่งอาหาร สร้างผลกระทบถึงมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากนี้ รูปลักษณ์ที่ดูคล้ายพืชหรือสิ่งมีชีวิต อาจจะทำให้สัตว์น้ำบางชนิด เช่น เต่าทะเล อาจเข้าใจผิดว่าหน้ากากอนามัย คือ อาหาร ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศไทย ทำให้ประชาชนต้องมีการปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัดกันมากยิ่งขึ้น ดังนั้นปริมาณของขยะหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะหน้ากากอนามัยแบบใช้แล้วทิ้งเพิ่มสูงมากขึ้นตามไปด้วย ในประเด็นนี้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับรู้ถึงปัญหาเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาโดยประสานไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมการทิ้งและกำจัดขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัย ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้กำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักวิชาการ ทั้งนี้ กำหนดให้ "หน้ากากอนามัยใช้แล้ว" เป็น "มูลฝอยติดเชื้อ" ที่ต้องมีการจัดการตามกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545 โดยรวบรวมในภาชนะที่มีสีหรือสัญลักษณ์ที่แสดงถึงมูลฝอยติดเชื้อ ต้องเก็บรวบรวมและกำจัดทำลายอย่างถูกต้อง เน้นย้ำว่า "ขยะหน้ากากอนามัย" เป็น "ขยะติดเชื้อ" เนื่องจากผ่านการใช้งานที่ทำให้มีการปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ซึ่งอาจจะมีเชื้อโรคหรือเชื้อไวรัสปะปนมาด้วยได้ ดังนั้น ในการ "กำจัดขยะหน้ากากอนามัย" นี้ต้องมี "การคัดแยก" และ "ทิ้งในภาชนะที่ปิดมิดชิด" ซึ่งสิ่งที่ควรปฎิบัติคือทิ้งในถังขยะที่ระบุว่าเป็น "ถังขยะติดเชื้อ" เพื่อส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป ห้ามทิ้งปะปนกับขยะทั่วไปโดยด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะหน้ากากอนามัยเหล่านี้ตกค้างปนเปื้อนออกสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนตามมา ก่อนหน้านี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เปิดเผยผลคาดการณ์ว่าอาจจะมีปริมาณหน้ากากอนามัยใช้แล้วถึง 1,800 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่คิดจากประชากร 60 ล้านคนใช้งานคนละ 1 ชิ้นต่อวันหลายพื้นที่ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปริมาณขยะหน้ากากอนามัยเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ข้อมูลระหว่างวันที่ 15 ธ.ค.2563 - 12 เม.ย.2564 เฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครมีปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 รวมถึงขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้ว รวมทั้งสิ้น 1,366.29 ตัน หรือเฉลี่ย 11.48 ตันต่อวัน ขณะที่ในช่วงการแพร่ระบาดระลอก 3 เดือน เม.ย. 2564 วันที่ 1 - 12 เม.ย ปริมาณมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 12.92 ตันต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.44 ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 12.5 โดยตัวเลขเหล่านี้เป็นขยะติดเชื้อที่เก็บขนและกำจัดจากสถานพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 และสถานที่สำหรับผู้กักตัว เช่น บ้านพักอาศัย สถานที่กักตัวของรัฐและโรงแรมทางเลือกสำหรับผู้กักตัวเท่านั้น ยังไม่นับรวมส่วนที่ลอบทิ้งในตามแหล่งสาธารณะ ซึ่งจะสร้างปัญหาในอนาคตอย่างเลี่ยงไม่ได้ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ เป็น 1 ใน 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามคำสั่ง ศบค.ที่ 1/2564 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หมายความว่าขยะติดเชื้อต้องมีปริมาณเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ การดำเนินการของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อจากสถาการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ได้มีการจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ในการจัดเก็บขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และติดตั้งถังขยะสีแดงสำหรับรองรับหน้ากากอนามัยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ต้องยอมรับว่ามีเป็นจำนวนน้อย ไม่ครอบคลุมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมด นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ในฐานะผู้ดำเนินการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อจากสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันบริษัทมีความสามารถในการจัดการขยะติดเชื้อรองรับได้สูงสุด 70 ตันต่อวัน โดยมีขยะติดเชื้ออื่นๆ และขยะติดเชื้อโควิด-19 นำสู่ระบบการเผากำจัดของบริษัท อยู่ที่ 60 ตันต่อวัน ยังเหลือกำลังการกำจัดขยะติดเชื้อได้อีก 10 ตันต่อวัน ด้วยศักยภาพแล้วจะไม่เกิดปัญหาขยะโควิด-19 ตกค้างในพื้นที่ กทม. ขยะมูลฝอยติดเชื้อจำพวกหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซ้ำเติมสถารการณ์ปัญหาขยะมูลฝอยในประเทศไทย อย่างที่ทราบมาก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาล พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งเครื่องแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ โดยให้สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG Model) กำหนดเป็นโมเดลเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและเป็นวาระแห่งชาติ อาทิ จัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 ? 2573 ตั้งเป้าเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม พลาสติกผสมสารอ็อกโซ่ และไมโครบีดส์ ภายในปี 2562, คลอดนโยบายเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมใส่อาหาร หลอดและแก้วพลาสติกชนิดบางแบบใช้ครั้งเดียว ภายในปี 2565 รวมถึง ตั้งเป้าการนำขยะพลาสติกเป้าหมาย กลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 เป็นต้น ต้องบอกว่าปัญหาขยะวาระแห่งชาตินับเป็นความท้าทายของรัฐบาลไทย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ปัจจุบันปริมาณขยะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วพุ่งพรวด อีกทั้งมีข้อมูลจากสถาบันพลาสติก ระบุว่าประเทศไทยมีขยะพลาสติกปีละกว่า 2 ล้านตัน ถูกนำกลับมารีไซเคิลเพียง 0.5 ล้านตัน ที่เหลือต้องไปอยู่ในหลุมฝังกลบและบางส่วนหลุดรอดสู่สิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบในระบบนิเวศ ที่น่าจับตาคือ ขยะมูลฝอยจากบริการส่งอาหาร Food Delivery ดันปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (single use-plastics ) เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่า 1 ยอดการสั่งอาหาร จะมีขยะพลาสติกเฉลี่ย 7 ชิ้น ประกอบด้วย กล่องอาหาร ถุงใส่น้ำจิ้ม ช้อนพลาสติก ส้อมพลาสติก ถุงใส่ช้อนส้อม ถุงน้ำซุป และถุงพลาสติกหูหิ้วสำหรับใส่อาหารทั้งหมด สถิติปี 2563 ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกแรก ข้อมูลจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่าปริมาณขยะพลาสติกพุ่งสูงขึ้น 15% จากเฉลี่ยวันละ 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ยังไม่รวมขยะติดเชื้อจำพวกหน้ากากอนามัยใช้แล้ว คาดว่ามีอัตราการทิ้งหน้ากากอนามัยประมาณ 1.5 ? 2 ล้านชิ้นต่อวัน ซึ่งส่วนใหญ่ทิ้งปะปนรวมกับขยะมูลฝอยทั่วไป อย่างไรก็ดี ปี 2563 ที่ผ่านมา แม้เกิดวิกฤตขยะติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ยังพอมีเรื่องดีๆ อยู่บ้าง เพราะประเทศไทยสามารถปรับลดอันดับสถานะประเทศที่มีขยะพลาสติกในทะเลสูงสุดในโลกจากอันดับ 6 เป็น อันดับที่ 10 ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้กว่า 25,284 ล้านใบ หรือ 228,820 ตัน สืบเนื่องจากความเข้มข้นของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว การจัดการสถานการณ์ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วปริมาณพุ่งพรวด ไม่เฉพาะมาตรการของรัฐที่ต้องชัดเจน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนก็เป็นสิ่งจำเป็น ประการสำคัญการมีจิตสำนึกสาธารณะ เริ่มต้นจากตัวเองด้วยการแยกขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วอย่างถูกวิธีก่อนทิ้ง แม้ไม่อาจลดปริมาณขยะติดเชื้อ แต่อย่างน้อยๆ จะไม่เพิ่มปัญหาต่อสภาพแวดล้อมที่เข้าขั้นโคม่า https://mgronline.com/daily/detail/9640000038405
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
สูญเสีย53ชีวิต ทัพอินโดฯ แถลงเรือดำน้ำจม นาทีซ้อมยิงตอร์ปิโด สูญเสีย53ชีวิต ? เอพี รายงานว่า เมื่อ 24 เม.ย. กองทัพเรืออินโดนีเซีย ประกาศยืนยันว่า เรือดำน้ำที่หายไปสองวันมานี้จมสู่ใต้ทะเลและปริแตก ยุติความหวังว่าลูกเรือ 53 นายอาจรอดชีวิตอย่างแน่นอนแล้ว พลอากาศเอก ฮาดี เตียห์จานโต ผู้บัญชาการทหารอินโดนีเซีย กล่าวว่า ทีมค้นหาพบคราบน้ำมันและเศษซากใกล้กับบริเวณที่เรือซ้อมรบระบบยิงตอร์ปิโด นอกชายฝั่งเกาะบาหลี เมื่อวันพุธที่ 21 เม.ย. และแน่ชัดแล้วว่า เรือเคอาร์ไอ นังกาลา-402 จมลง และกองทัพ สูญเสีย53ชีวิต ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเรือเพียงแต่หายไป และเหลือออกซิเจนสำหรับคนที่อยู่ในเรือได้เพียงช่วงเช้าวันเสาร์ที่ 24 เม.ย. เดิมเชื่อว่า เรือน่าจะจมลงไปลึกถึง 600-700 เมตร พลเรือเอก ยูโด มาร์โกโน ผบ.ทร. กล่าวระหว่างการแถลงข่าวที่บาหลี ว่า หากมีการระเบิด เรือจะแหลกเป็นชิ้นๆ และระบบตรวจสอบโซนาร์ต้องจับเสียงได้ กรณีนี้เรือค่อยๆ ร้าวตรงบางจุด และค่อยๆ จมลงจากระดับลึก 300 ไปที่ 400 และ 500 เมตร ส่วนความลึกของทะเลตรงจุดดังกล่าวอยู่ที่ 850 เมตร "ด้วยหลักฐานแน่ชัดที่พบ เราเชื่อว่ามาจากเรือดำน้ำ และตอนนี้เราจะเปลี่ยนจากคำว่า เรือหาย เป็น เรือจม" พลเรือเอก มาร์โกโน กล่าว และว่า ช่วงสองวันมานี้ ทีมค้นหาพบชิ้นส่วนของตัวตอร์ปิโด อีกชิ้นมาจากขวดหยอดน้ำมันหล่อลื่น และมีชิ้นส่วนที่แตกออกจากท่อหล่อเย็นที่สั่งทำใหม่ที่เกาหลีใค้ เมื่อปี 2555 ซึ่งทีมของอินโดนีเซียและชาติอื่นๆ จะตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป สำหรับสาเหตุที่เรือประสบเหตุนี้ยังไม่แน่ชัด เป็นไปได้ว่า ระบบไฟฟ้าขัดข้องจนไม่อาจจะเดินเครื่องให้เรือลอยขึ้นเหนือผิวน้ำ และผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า เรือถูกบีบอัดด้วยแรงดันน้ำใต้ทะเล อินโดนีเซียมีเรือดำน้ำอยู่ 5 ลำ ในจำนวนนี้ 2 ลำ มาจากเรือที่สร้างในเยอรมนี รวมถึงเรือนังกาลา อายุ 40 ปี ซึ่งนำไปปรับให้ใช้งานได้ที่เกาหลีใต้ เมื่อปี 2555 และอีก 3 ลำต่อใหม่ เป็นของเกาหลีใต้ https://www.khaosod.co.th/update-news/news_6360955
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
วิกฤตด้านภูมิอากาศหลังปี 1990 ทำแกนหมุนโลกเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม ธารน้ำแข็ง Ngozumpa บนเทือกเขาหิมาลัย อยู่ในส่วนที่เป็นเขตแดนของประเทศเนปาล ภาวะโลกร้อนเข้าขั้นวิกฤต ซึ่งทำให้ธารน้ำแข็งทั่วโลกเกิดการละลายครั้งมโหฬาร กำลังส่งผลให้แกนหมุนของโลกเคลื่อนตัวออกห่างจากตำแหน่งเดิม ทั้งยังทำให้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ของขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ผลการศึกษาตำแหน่งล่าสุดของแกนหมุนโลก ที่จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ชี้ว่าตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา แกนหมุนของโลกเคลื่อนตัวออกห่างจากตำแหน่งเดิม 4 เมตร และนับแต่ปี 1995 เป็นต้นมาได้เปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่ จากเดิมที่มุ่งหน้าลงทิศใต้เป็นเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกแทน สาเหตุที่ทำให้เป็นเช่นนี้ เนื่องจากเกิดความเปลี่ยนแปลงในสัดส่วนการกระจายตัวของมวลบนพื้นโลก โดยอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งต่าง ๆ บนผืนทวีป ละลายกลายเป็นน้ำที่ไหลลงมหาสมุทรไปในที่สุด นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่ามีน้ำแข็งบนพื้นโลกที่ละลายหมดไปถึงหลายแสนล้านตันต่อปี "นับแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา ปริมาณน้ำที่ถูกกักเก็บไว้บนผืนทวีปลดลงอย่างฮวบฮาบด้วยอัตราเร่ง ปรากฏการณ์นี้คือปัจจัยหลักที่ทำให้แกนหมุนโลกเคลื่อนตัวในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา" ดร. เติ้ง ซานซาน ผู้นำทีมวิจัยของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกล่าว รายงานวิจัยข้างต้นซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Geophysical Research Letters ยังระบุว่า อัตราความเร็วเฉลี่ยของการเปลี่ยนตำแหน่งแกนหมุนโลกระหว่างปี 1995-2020 นั้น รวดเร็วยิ่งกว่าอัตราเฉลี่ยของปี 1981-1995 ถึง 17 เท่า โดยทีมผู้วิจัยสามารถวิเคราะห์ได้จากข้อมูลดาวเทียมที่ตรวจวัดความโน้มถ่วงทั่วโลก ตามปกติแล้วตำแหน่งของแกนหมุนโลกสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยปัจจัยทางธรรมชาติ เช่นการเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำในมหาสมุทร และการไหลเวียนของหินร้อนหลอมละลายใต้ผืนโลก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์สามารถพิสูจน์ได้ว่า กิจกรรมของมนุษย์ซึ่งทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้ส่งผลสะเทือนถึงระดับโครงสร้างสำคัญของโลกเลยทีเดียว การสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมหาศาล เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การกระจายตัวของมวลบนพื้นโลกเปลี่ยนแปลงไป นอกจากการละลายของธารน้ำแข็งเพราะภาวะโลกร้อนแล้ว ทีมผู้วิจัยยังสันนิษฐานว่าการสูบน้ำบาดาลมาใช้อุปโภคบริโภคในปริมาณมหาศาล จนแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดินไม่มีน้ำไหลเข้ามาแทนที่อีกต่อไปนั้น ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนการกระจายตัวของมวลบนพื้นโลกเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบถึงแกนหมุนของโลกด้วย ดร. วินเซนต์ ฮัมฟรีย์ จากมหาวิทยาลัยซูริกของสวิตเซอร์แลนด์ แสดงความเห็นในฐานะผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยว่า "แม้วิกฤตด้านภูมิอากาศจากฝีมือมนุษย์จะทำให้ตำแหน่งของแกนหมุนโลกเคลื่อนไปจากเดิมเพียงเล็กน้อย ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแปลงระยะเวลา 1 วันบนโลกให้สั้นลงเพียงไม่กี่มิลลิวินาทีเท่านั้น แต่มันก็เป็นหลักฐานที่ชัดเจนของการเคลื่อนย้ายมวลน้ำในธรรมชาติโดยมีสาเหตุมาจากมนุษย์ ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลทางธรณีวิทยาในระดับที่ลึกซึ้งใหญ่หลวงยิ่งต่อโลกของเรา" https://www.bbc.com/thai/international-56871714
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|