#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 10 มกราคม 2567
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้มีกำลังอ่อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาว ถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 6-13 องศาเซลเซียส ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าว ดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นในตอนเช้าและเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้เริ่มมีกำลังอ่อนลง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง อนึ่ง ในช่วงวันที่ 12 - 15 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันปานกลางถึงค่อนข้างมาก เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง และมีการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ดี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมฆบางส่วน กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 10 - 11 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังอ่อนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น 1 ? 2 องศาเซลเซียส กับมีหมอกในตอนเช้า ในขณะที่ลมตะวันตกเฉียงเหนือในระดับบนพัดปกคลุมภาคเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียส สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 5 - 12 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11 - 17 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 12 - 15 ม.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาจะเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลง 1 - 2 องศาเซลเซียสในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลงเล็กน้อย สำหรับบริเวณยอดดอยของภาคเหนือมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 4 - 11 องศาเซลเซียส และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง ส่วนยอดภูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10 - 16 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังคงทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนและทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและห่างฝั่งมีคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร ในช่วงวันที่ 9 ? 12 ม.ค. 67 หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 13 ? 15 ม.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 10 ? 11 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย ส่วนในช่วงวันที่ 12 ? 14 ม.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองที่จะเกิดขึ้น ส่วนประชาชนในภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากฝนตกหนัก สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
ชาวโซเชียลฮือฮา หนุ่มออสซี่โพสต์ภาพปลาประหลาดติดเบ็ด หน้าตาสุดสะพรึง นักตกปลาหนุ่มจากนิวเซาท์เวลส์ โพสต์ภาพปลาขนาดใหญ่ หน้าตาน่ากลัว ที่มีคนตกได้ลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดข้อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันคือปลาอะไรกันแน่ เครดิตภาพ : Facebook / Trapman Australia เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา เจสัน มอยซ์ นักตกปลาหนุ่มใหญ่จากออสเตรเลีย เจ้าของเฟซบุ๊กคือ "Trapman Australia" ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความเล่าประสบการณ์ที่ได้เห็นปลาหน้าตาสุดสะพรึงตัวใหญ่ หน้าตาคล้ายปลาไหล โดยระบุว่าเป็นปลาที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งที่เขาเองมีประสบการณ์การตกปลาในเชิงพาณิชย์มากว่า 50 ปีแล้ว? "ผมไม่เคยเห็นปลาแบบนี้มาก่อน มันไม่ใช่ปลาไหลหอกหรือปลาไหลเงิน ฟันของมันเหมือนฟันปลาหลดหิน แต่หน้าของมันดูทู่ ๆ ตัวมันยาวประมาณ 9 ฟุต" มอยซ์ โพสต์ข้อความบอกรายละเอียดของปลาบนโซเชียลมีเดียของเขา อย่างไรก็ตาม ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดว่าใครคือผู้ที่ตกปลาตัวนี้ได้ บอกแต่ว่าบริเวณที่ตกได้คือแถวปากน้ำพิตต์วอเตอร์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย? มอยซ์ โพสต์ภาพปลาประหลาดตัวนี้หลายภาพ เทียบความยาวของมันกับลำเรือ แสดงให้เห็นสีของลำตัวของมันซึ่งเต็มไปด้วยกล้ามเนื้ออยู่ในโทนสีน้ำตาลอ่อน และฟันเรียงรายเต็มปาก? ภาพชุดนี้เรียกผู้เข้าชมได้เป็นจำนวนมาก นอกจากมีผู้กดถูกใจและแสดงความรู้สึกอื่น ๆ มากกว่า 1,350 ครั้ง ก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นหลายร้อยคน โดยส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่ามันเป็นปลาที่มีหน้าตาดุร้ายน่ากลัว "เหมือนมาจากหนังสยองขวัญ" และแนะนำให้ผู้ที่ตกมันได้ ปล่อยมันไปเสีย เพราะว่า "มันดูเหมือนปิศาจ"? ขณะเดียวกันก็มีชาวเฟซบุ๊กอีกพวกหนึ่ง ที่พยายามหาคำตอบว่ามันคือปลาอะไรกันแน่ โดยคาดเดาถึงปลาไหลพันธุ์ต่าง ๆ ตั้งแต่ ปลาไหลทะเลคองเกอร์, ปลาไหลมอเรย์ หรือปลาหลดหินหางยาว ไปจนถึงปลาไหลมอเรย์สีเขียว แต่ มอยซ์ ก็แย้งว่าลักษณะของมันไม่ตรงกับปลาไหลพันธุ์ต่าง ๆ ที่ชาวเฟซบุ๊กกล่าวถึงเลย อย่างไรก็ตาม ท้องทะเลของออสเตรเลียได้ชื่อว่าเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหลดหิน หรือปลาไหลมอเรย์มากกว่า 60 สายพันธุ์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม้กระทั่งนักตกปลามากประสบการณ์จะไม่รู้จักปลาไหลครบทุกชนิด? ตามข้อมูลของเว็บไซต์ Fishes of Australia ระบุว่า ปลาไหลส่วนใหญ่เป็นปลากินเนื้อที่หากินตอนกลางคืน มีขนาดลำตัวตั้งแต่ 8 นิ้วจนถึง 13 ฟุต ฟันของมันมีลักษณะแหลมคม คนมักจะกลัวปลาไหลมอเรย์ เพราะมันเป็นสายพันธุ์ที่มีลำตัวใหญ่และยาว มีฟันแหลมคม แต่โดยปกติแล้ว มันเป็นปลาที่ไม่มีนิสัยก้าวร้าว ยกเว้นแต่ว่าจะโดนรบกวน ก็อาจกัดเอาได้ ที่มา : miamiherald.com https://www.dailynews.co.th/news/3068384/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
จ้างศึกษาออกแบบแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง "หาดทรายแก้ว ภูเก็ต" หลังถูกกัดเซาะเหลือแค่ 50 เมตร ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมโยธาธิการและผังเมือง จัดรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบ พื้นที่หาดทรายแก้วภูเก็ต เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (9 ม.ค.) ที่โรงเรียนท่าฉัตรไชย ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายศรัทธา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต โดยมี นายจารุวิทย์ เสถียรรังสฤษดิ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต นายสุรัฐ พงษ์สนิท ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม นายจารุวิทย์ เสถียรรังสฤษดิ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้สืบเนื่องจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท บุญปัญญา เทคโนโลยี จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาโครงการงานจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างเป็นระบบในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) พื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เพื่อนำพื้นที่ที่ได้รับการจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในกรณีเร่งด่วนให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาก่อน ในระบบกลุ่มหาดหลักทะเลอันดามันตอนบน (T7) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในลักษณะการบูรณาการเป็นระบบกลุ่มหาดพื้นที่ชายฝั่งทะเลหาดทรายแก้ว ช่วงมรสุมคลื่นลมแรงได้รับความเสียหายจากแรงคลื่นจากฝั่งทะเลอันดามันกัดเซาะชายฝั่งหาดทรายแก้วเรื่อยมา จากเดิมแนวชายหาดห่างจากถนนประมาณ 300-400 เมตร ปัจจุบันคงเหลือประมาณ 50 เมตร เนื่องจากคลื่นลมแรง จนทำให้มวลน้ำทะเลถูกคลื่นซัดขึ้นมาท่วมถึงถนนจนไม่สามารถสัญจรได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยต้องปิดกั้นการจราจร ส่งผลให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก "สำหรับการประชุมในวันนี้ เป็นการประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ และแนะนำโครงการ นำเสนอแนวทางการป้องกันชายฝั่งเบื้องต้น โดยนำเสนอข้อมูลทางเลือกการป้องกันชายฝั่งที่เหมาะสมอย่างน้อย 3 ทางเลือก เสนอรายละเอียดของแต่ละทางเลือก ข้อเด่น-ข้อด้อยของทุกทางเลือก และแนวทางการศึกษาออกแบบและการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาโครงการ นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนต่างๆ ในการสนับสนุนการศึกษาโครงการ โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องระดับจังหวัด ระดับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และตัวแทนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมการประชุม https://mgronline.com/south/detail/9670000002205
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า
'อ.ธรณ์'แจ้งข่าวดี แม้สำรวจไม่พบ'วาฬเผือก' แต่เจอญาติพี่น้อง'วาฬโอมูระ'อีก 4-6 ตัว 9 ม.ค.67 จากกรณีพบพิกัด"วาฬเผือก"ที่เกาะคอรัล จ.ภูเก็ต จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูลว่า เป็นวาฬเผือกรายงานแรกของไทย และน่าจะเป็นวาฬโอมูระเผือกรายงานแรกของโลกด้วย ก่อนที่มีการนำโดรนขึ้นบินสำรวจเป็นครั้งแรกนั้น ( อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 'อ.ธรณ์'เผยคลิปการสำรวจวาฬในวันแรก กับภารกิจตามหา'น้องถลาง'วาฬเผือก) ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้โพสต์ข่าวดีล่าสุดว่า "ไม่มีวาฬเผือก ก็ไม่มีข้อมูลดีๆ แบบนี้ กรมทะเลสำรวจพบวาฬโอมูระอย่างน้อย 4 ตัวในพื้นที่เกาะภูเก็ต-ราชา-พีพี นับเป็นการพบวาฬโอมูระมากที่สุดในการสำรวจหนเดียวในไทย ข้อมูลเบื้องต้นที่พอบอกได้ก่อนสำรวจคือเรารู้ว่าวาฬโอมูระในอันดามันมีน้อยมาก ที่ได้เป็นสัตว์สงวนก็เพราะเรื่องนี้แหละ เรายังเข้าใจว่าวาฬโอมูระกลุ่มนี้อยู่แยกจากกลุ่มอื่นๆ ในอ่าวไทย น่าจะเป็นกลุ่มวาฬท้องถิ่นในอันดามัน แต่เราแทบไม่รู้อะไรมากกว่านั้นเลย แต่ตอนนี้เราเริ่มก้าวหน้าแล้วครับ น้องวาฬเผือกและกระทรวงทรัพยากรที่ลงมือเต็มที่ ข้อมูลอัตลักษณ์จะช่วยให้เราระบุวาฬแต่ละตัวได้แน่ชัด นำไปสู่การตั้งชื่อและติดตามพื้นที่อยู่อาศัย ข้อมูลพฤติกรรม เช่น ว่ายน้ำ หาอาหาร ฯลฯ ช่วยให้เราเข้าใจวาฬหายากชนิดนี้มากขึ้น มากๆ หากทำการสำรวจครั้งใหญ่เช่นนี้เป็นระยะ เราอาจพัฒนาการศึกษาไปจนถึงขั้นอนุรักษ์วาฬได้ในระดับใกล้เคียงกับวาฬบรูด้าในอ่าวไทย จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกับวาฬ ช่วยยกระดับการท่องเที่ยว จนอาจถึงขั้น whale watching ที่ประสบความสำเร็จในอ่าวไทยมาแล้ว สำคัญมากต่อการเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวแถบนั้น ยกระดับเป็น green tourism ของแท้ ทำให้เกิดประโยชน์มากมายต่อเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการท่องเที่ยวด้านอื่นๆ ซึ่งได้ผลแน่นอน เพราะน้องวาฬน่ารัก ไม่เชื่อดูคลิปสิครับ ว่ายฟิ้วๆ เลย เย้ ! หมายเหตุ - สังเกตสันกลางหัว บรูด้ามี 3 สัน โอมูระมี 1 สัน เห็นชัดเลยครับ ขณะที่เฟซบุ๊กของ Kongkiat Kittiwatanawong โพสต์ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จบภารกิจ 3 วัน ตามแผนการค้นหา "น้องถลาง" วาฬโอมูระเผือก เรายังไม่พบน้องเค้า แต่ก็ได้ข้อมูลของญาติพี่น้องวาฬโอมูระอีก 4-6 ตัว ในบริเวณอ่าวพังงาตอนล่าง การสำรวจครั้งนี้ต้องขอขอบคุณการบูรณาการของทีม อส ทช และภาคประชาชน โดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือ สรรพกำลังทุกอย่างที่เรามีอยู่อย่างเต็มที่ ข้อมูลที่ได้นำไปต่อยอดความรู้ความเข้าใจอันจะนำไปสู่แนวทางการอนุรักษ์ที่มีประสิทธิภาพ ผมดูภาพวิดิโอน้องถลางที่บันทึกโดยคุณก้อยซ้ำไปซ้ำมา แน่ใจว่าเราต้องมีโอกาสเจอน้องเค้าในวันนึง แจ้งการพบเห็นวาฬทั่วไทยได้ที่ ThaiWhales ขอบคุณข้อมูล Thon Thamrongnawasawat,Kongkiat Kittiwatanawong https://www.naewna.com/likesara/779719
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
โลกเดือด ชะตากรรมของมหาสมุทร (ตอนที่ 1) ............... Earth Calling โดย เพชร มโนปวิตร "ถ้าคุณคิดว่ามหาสมุทรไม่สำคัญ อยากให้ลองจินตนาการถึงโลกที่ไม่มีมหาสมุทร โลกของเราคงไม่ต่างจากดาวอังคาร แห้งแล้งไร้ชีวิต เพราะไม่มีมหาสมุทรก็ไม่มีระบบค้ำจุนชีวิต" ? Sylvia Earle ถ้าคิดว่าทะเลเป็นเรื่องไกลตัว อยากให้ทุกคนลองหลับตา แล้วสูดหายใจลึก ๆ รู้ไหมว่าครึ่งหนึ่งของออกซิเจนที่เราสูดเข้าไปมีที่มาจากท้องทะเล จากแพลงก์ตอนพืชจำนวนมหาศาลที่สร้างออกซิเจนไม่แพ้ป่าดงดิบ ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ใกล้หรือไกลจากทะเลก็ตาม ทะเลเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของทุกคน ตั้งแต่อากาศที่เราหายใจ น้ำสะอาดที่คุณดื่ม อาหารที่วางอยู่บนโต๊ะ เราทุกคนเชื่อมโยงกับทะเลโดยไม่รู้ตัว และความอยู่รอดของเราก็ขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของท้องทะเลเช่นกัน แต่บทสนทนาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ตอนนี้ถูกเปลี่ยนจากภาวะโลกร้อนมาเป็นภาวะโลกเดือด กลับไม่ค่อยพูดถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับมหาสมุทรเท่าไหร่ ลองมาไล่เรียงดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับมหาสมุทรที่กำลังจะเป็นทะเลเดือด ขอเริ่มต้นด้วยความจริงที่ว่ามหาสมุทรช่วยควบคุมสภาพอากาศของโลกอย่างไร หลายคนคงไม่รู้ว่ามหาสมุทรเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน (Carbon Sink) ที่สำคัญไม่น้อยกว่าระบบนิเวศป่าไม้เลย มหาสมุทรช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในแต่ละปีไว้ถึง 30% แต่ผลลัพธ์ก็คือตอนนี้มหาสมุทรมีความเป็นกรด (Ocean acidification) สูงขึ้นแล้วถึงร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม มหาสมุทรยังช่วยดูดซับความร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจกไว้มากถึง 93% ถ้าไม่ได้ทะเลช่วยเอาไว้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงกว่าปัจจุบันถึง 36 องศาเซลเซียส! ซึ่งเราคงจะอยู่กันไม่ได้แล้ว เมื่อกักเก็บความร้อนไว้มากขนาดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจที่มหาสมุทรก็เริ่มอุ่นขึ้นเช่นกัน โดยมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้นแล้ว 0.88 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี ค.ศ.1900 เป็นต้นมา การที่มหาสมุทรอุ่นขึ้นส่งผลกระทบหลายประการ 1) ทำให้พายุที่ก่อตัวในทะเลมีกำลังแรงขึ้น มีพลังงานมากขึ้น อันตรายมากขึ้น 2) ปริมาณน้ำที่ระเหยมากขึ้นทำให้เกิดฝนตกโดยรวมมากขึ้น และมักนำไปสู่อุกทกภัยรุนแรง 3) มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้น้อยลง 4) มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อนิเวศวิทยาทางทะเล โดยเฉพาะปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว และ 5) เมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้นจะขยายตัวมากขึ้น นั่นหมายความว่าจะยิ่งทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น นอกจากการละลายของน้ำแข็งจากความร้อนในอากาศ การขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำทะเลสูงขึ้นในปัจจุบัน (Contributing factor: การขยายตัวของน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น 42% เมื่อเทียบกับการละลายของธารน้ำแข็ง 21% และการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์ 15%) รายงานการประเมินฉบับล่าสุดของ IPCC (Sixth Assessment Report) คาดว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นอย่างน้อย 0.5 ? 1 เมตรภายใน ปี ค.ศ.2100 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สิ่งที่น่าตกใจคืออัตราการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลเป็นไปอย่างก้าวกระโดดจากที่เคยเพิ่มขึ้นปีละ 2.1 มิลลิเมตรเมื่อปี 1993 ปัจจุบันน้ำทะเลสูงขึ้นปีละ 4.5 มิลลิเมตรหรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าในช่วงเวลา 30 ปี (ภาพประกอบที่ 1) เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมตอนนี้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นแล้วประมาณ 20 เซนติเมตรและได้ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับพายุฝนที่มีความรุนแรง เมื่อพิจารณาถึงความไม่แน่นอนต่าง ๆ รวมทั้งอัตราการละลายของมวลแผ่นน้ำแข็ง IPCC เตือนว่าเป็นไปได้เหมือนกันที่ระดับน้ำทะเลอาจเพิ่มสูงถึง 2 เมตรภายในศตวรรษนี้ หรือแม้แต่เพิ่มขึ้นถึง 5 เมตรภายใน ค.ศ. 2150 อุณหภูมิที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อนทำให้ปรากฏการณ์คลื่นความร้อนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะบนบกอีกแล้ว แต่ได้เกิดคลื่นความร้อนใต้น้ำอีกด้วย และที่น่ากังวลคือความถี่ในการเกิดคลื่นความร้อนในทะเลสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่าในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่เกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงตามไปด้วย ทำให้ปะการังจำนวนมากไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้ทัน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าหากอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเราจะสูญเสียแนวปะการังราว 70 ? 90% และหากอุณหภูมิเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสอย่างที่แนวโน้มในปัจจุบันกำลังมุ่งหน้าไปนั้น เราอาจสูญเสียแนวปะการังเกือบทั้งหมด (99%) บนโลกนี้ไปภายในปลายศตวรรษนี้ นั่นหมายถึงนิเวศบริการต่าง ๆ ที่เราเคยได้รับจากระบบนิเวศปะการังก็จะหายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตราวหนึ่งในสี่ของมหาสมุทร ปราการใต้น้ำที่ช่วยลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ยังไม่นับรายได้มหาศาลที่เกิดจากกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการัง ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังสูงถึงปีละกว่า 8 หมื่นล้านบาท มหาสมุทรที่อุ่นขึ้นยังส่งผลให้การแพร่กระจายของปลามีแนวโน้มขยับเข้าหาขั้วโลกทั้งสองฝั่งมากขึ้นตามรูปแบบอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารและการประมงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อุณหภูมิของน้ำทะเลยังส่งผลกระทบต่อแพลงตอนพืช ผู้ทำหน้าที่ผลิตออกซิเจนราวครึ่งหนึ่งของโลก งานวิจัยพบว่าปริมาณออกซิเจนที่แพลงตอนพืชผลิตออกมากำลังลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตรา 1% ต่อปีอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นแล้ว ลักษณะทางเคมีของน้ำทะเลก็กำลังเปลี่ยนไปอย่างน่ากังวล เมื่อมหาสมุทรดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จะเกิดปฏิกิริยาทางเคมีระหว่างคาร์บอนไดออกไซด์กับน้ำทะเลเกิดเป็นกรดคาร์บอนิก แม้กรดคาร์บอนิกจะเป็นเพียงกรดอ่อน ๆ แต่ก็มากพอที่ส่งผลให้มหาสมุทรมีความเป็นกรดมากขึ้นแล้ว นับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ของน้ำทะเลที่พื้นผิวมหาสมุทรลดลงไปแล้ว 0.1 หน่วย แม้จะดูเหมือนเป็นการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริงแล้ว 0.1 หน่วยที่ลดลง หมายความว่า น้ำทะเลทั่วโลกมีค่าความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 30 ปัญหาที่เกิดขึ้นต่อมาคือความเข้มข้นไฮโดรเจนไอออนที่เพิ่มขึ้นจะไปจับตัวกับคาร์บอเนตไอออน เกิดเป็นไบคาร์บอเนตไอออน (ดูภาพประกอบที่ 3) สัตว์ทะเลที่สร้างเปลือกและโครงสร้างแข็งอาทิ หอย กุ้ง ปู หรือแม้แต่ปะการัง จำเป็นต้องใช้คาร์บอเนตไอออนจับกับแคลเซียมไอออน เพื่อสร้างเป็นแคลเซียมคาร์บอเนต (เปลือกและโครงสร้างแข็ง) สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ไม่สามารถใช้ไบคาร์บอเนตไอออนได้ นั่นหมายความว่าสัตว์เปลือกแข็งจำนวนมากจะประสบกับความยากลำบากในการสร้างเปลือกและโครงสร้างแข็ง ส่งผลต่อการเจริญเติบโต ปะการังก็จะยิ่งโตได้ช้าขึ้นเมื่อคาร์บอเนตไอออนมีปริมาณน้อยลง ตัวอ่อนของกุ้ง หอย ปู อาจอ่อนแอลง เปลือกบางลง โตช้าลง และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากขึ้น ผลกระทบของภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทรอีกด้านคือทำให้ปลาสับสน เนื่องจากปลาล่าเหยื่อและหลบเลี่ยงสัตว์ผู้ล่าด้วยการดมกลิ่น ค่าความเป็นกรดด่างที่เปลี่ยนไปจะรบกวนประสาทสัมผัสส่วนนี้โดยตรง ปลาจำนวนหนึ่งอาจมีสภาพเป็นกระทงหลงทาง หาทางกลับบ้านไม่ได้ด้วยสภาพแวดล้อมทางเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างที่เราคาดไม่ถึง รายงานประเมินผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาคาดว่าภายในปี ค.ศ.?2050 ร้อยละ 86 ของมหาสมุทรทั่วโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นและมีความเป็นกรดเพิ่มมากขึ้น และเมื่อถึงปี 2100 ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำทะเลที่พื้นผิวมหาสมุทรอาจลดต่ำลงกว่า 7.8 หรือเป็นกรดขึ้นมากกว่า 150% เมื่อเทียบกับระดับในปัจจุบัน ซึ่งนับได้เป็นภาวะความเป็นกรดที่สูงสุดในรอบ 20 ล้านปี ในระบบนิเวศที่อ่อนไหว เช่น มหาสมุทรอาร์กติก (Arctic Ocean) ภาวะความเป็นกรดอาจรุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่าตัว ลักษณะทางเคมีที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันของมหาสมุทรเช่นภาวะเป็นกรดเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์หวั่นเกรงที่สุดประการหนึ่ง เพราะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศกว้างไกลเกินจินตนาการ ตั้งแต่สิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋วอย่างแพลงตอน ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่เช่น วาฬและโลมา ประวัติศาสตร์โลกสอนให้เรารู้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตในอดีต หรือเรากำลังมุ่งหน้าสู่เส้นทางอันมืดมิด ตอนหน้าจะพาไปดูว่าเราจะพลิกมหาวิกฤตทะเลเดือดให้กลายเป็นโอกาสในการปกป้องมหาสมุทร และกอบกู้โลกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างไร https://decode.plus/20231226-global-...-warming-ocean
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|