เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 17-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม 2567

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักไว้ด้วย ส่วนบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย

ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยมีการสะสมของฝุ่นละออง/หมอกควันอยู่ในเกณฑ์น้อย เนื่องจากมีฝนตกหลายพื้นที่ และการระบายอากาศอยู่ในเกณฑ์ที่ดี


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อากาศร้อนในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่
กับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 27-29 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-37 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 16 ? 17 พ.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมทะเลจีนใต้ ทำให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนเข้าปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนอง กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ บริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 18 ? 19 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางจะพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

หลังจากนั้นในวันที่ 20 - 22 พ.ค. 67 ลมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 1 ? 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 16 ? 17 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ส่วนในช่วงวันที่ 18 ? 22 พ.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 17-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


ในวันที่ปัญหาปลาทูไทยกำลังวิกฤติ ทำไมลูกปลาทูยังคงถูกจับกิน
.......... โดย ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย


Summary

- เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่าปลาทูไทยแท้อย่าง ?ปลาทูแม่กลอง? กำลังจะหายไป ทำให้ปลาทูส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ตามตลาดกลายเป็นปลาทูที่นำเข้าจากต่างประเทศและจากทางทะเลใต้ของไทย ซึ่งมีเนื้อสัมผัสที่ต่างออกไปและขนาดเล็กลง

- ต้นเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งเป็นมาจากการทำประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มักจับลูกปลาทูติดอวนลากมาด้วยจำนวนมาก ทำให้หลายคนน่าจะเคยเห็นคนขายลูกปลาทูหลายกิโลกรัมตามตลาดและทางออนไลน์ได้ไม่ยาก

- เมื่อไม่นานมานี้ บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ออกมาพูดถึงการจับลูกปลาทู จากที่มีคลิปวิดีโอขายลูกปลาทูออนไลน์ ด้วยราคาหลักร้อยต่อ 1 กิโลกรัม ทำให้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล เพราะการจับลูกปลาทูโดยเฉพาะในช่วงฤดูวางไข่ ส่งผลให้จำนวนปลาทูลดลง

- ปัญหาการจับลูกปลาทูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานหลายปี เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่ลูกปลาทูก็ยังถูกนำมาขายในท้องตลาดให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เป็นคำถามว่าในวันที่ปลาทูไทยกำลังจะหายไป ทำไมลูกปลาทูยังคงถูกจับเป็นจำนวนมากขนาดนี้




หน้างอ คอหัก ยัดอยู่ในเข่ง นั่นคือปลาทูแสนอร่อยตัวอวบแน่นที่ใครๆ ก็ชอบ แต่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินว่าปลาทูไทยแท้ อย่าง ?ปลาทูแม่กลอง? กำลังจะหายไป และปลาทูส่วนใหญ่ที่ขายอยู่ตามตลาดก็คือปลาทูนำเข้าจากต่างประเทศและจากทางทะเลใต้ของไทย ซึ่งมีเนื้อสัมผัสที่ต่างออกไปและขนาดเล็กลง

ต้นเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการทำประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มักจับลูกปลาทูติดอวนลากมาด้วยจำนวนมาก และมีการนำลูกปลาทูมาขายคราวละหลายกิโลกรัม จนพบเห็นตามตลาดและทางออนไลน์ได้ไม่ยาก พร้อมคำโฆษณาว่าลูกปลาทูเหล่านี้มีแคลเซียมสูงและสารอาหารเยอะ อีกทั้งราคายังถูกกว่าปลาทูขนาดปกติ จึงมีหลายคนที่ถูกโน้มน้าวและซื้อมารับประทาน

แต่เมื่อไม่นานมานี้ บรรจง นะแส ที่ปรึกษาสมาคมรักษ์ทะเลไทย ออกมาพูดถึงการจับลูกปลาทู จากที่มีคลิปวิดีโอขายลูกปลาทูออนไลน์ ด้วยราคาหลักร้อยต่อ 1 กิโลกรัม ทำให้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียล เพราะการจับลูกปลาทูโดยเฉพาะในช่วงฤดูวางไข่ส่งผลให้จำนวนปลาทูลดลง

ปัญหาการจับลูกปลาทูไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานหลายปี เช่น แคมเปญในเว็บไซต์ change.org เพื่อให้หยุดซื้อและหยุดบริโภคลูกปลาทูตากแห้ง หรือแคมเปญ ?ทวงคืนน้ำพริกปลาทู? นำโดยชาวประมงพื้นบ้านที่ยกขบวนเรือประมงเพื่อยื่นชื่อประชาชนกว่า 3,000 คน ต่อรัฐสภาเมื่อปี 2565 เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน

แต่ลูกปลาทูก็ยังถูกนำมาขายในท้องตลาดให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เป็นคำถามว่าในวันที่ปลาทูไทยกำลังจะหายไป ทำไมลูกปลาทูถึงยังคงถูกจับเป็นจำนวนมากขนาดนี้


ทำไมลูกปลาทูถึงถูกจับได้

การบังเอิญจับลูกสัตว์น้ำเป็นเรื่องปกติของชาวประมง ซึ่งส่วนใหญ่มักปล่อยกลับลงทะเลเพื่อให้พวกมันเติบโตตามวัฏจักร แต่เมื่อการทำประมงกลายเป็นธุรกิจมากขึ้น วิถีการหาปลาแบบยั่งยืนจึงค่อยๆ หายไป และตามมาด้วยปัญหาการจับลูกสัตว์น้ำที่กระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง

สาเหตุสำคัญที่ลูกปลาทูยังคงถูกจับอยู่มีต้นเหตุสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ข้อ ได้แก่

1. ขนาดตาอวนที่เล็ก ประเทศไทยถือว่าใช้ขนาดตาอวนขนาดที่เล็กและถี่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งขนาดตาอวนจะถูกกำหนดขนาดแตกต่างกันออกไปตามประเภทเรือและสัตว์น้ำที่จะจับ แต่ส่วนใหญ่ขนาดอวนที่กำหนดไว้ก็เล็กพอที่จะจับลูกปลาทูได้ เช่น ลูกปลาทูอายุ 1 เดือนจะมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร ในขณะที่ขนาดตาอวนที่กำหนดไว้จะอยู่ที่ประมาณ 2.5-4 เซนติเมตร โอกาสที่ลูกปลาทูจะติดมาด้วยก็คงไม่แปลก

2.อุปกรณ์หาปลาของเรือประมงพาณิชย์ เช่น อวนขนาดใหญ่มหึมาเท่าเครื่องบิน เพียงแค่ลงน้ำ 1 ชั่วโมงก็ได้ปลามา 2 ตัน แต่ 2 ใน 3 ของปลาที่จับได้ดันไม่ใช่ปลาเป้าหมาย และมักเป็นปลาที่ยังไม่โตเต็มวัย

อีกกรณีคือเรือปั่นไฟ เป็นเรือที่ใช้แสงไฟล่อปลาเข้ามาเพื่อให้ติดอวน มักใช้เพื่อจับปลากะตัก แต่ก็ทำให้ลูกปลาทูติดไปด้วย ความจริงแล้วเรือปั่นไฟเคยถูกห้ามใช้มาแล้วเมื่อปี 2526 ตามประกาศกระทรวงฯ แต่เมื่อปี 2539 (ในยุคที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี) กลับยกเลิกประกาศเก่า และออกประกาศกระทรวงฉบับใหม่ โดย มณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น ประกาศให้กลับมาใช้วิธีการทำการประมงด้วยวิธีใช้แสงไฟล่อปลาได้เช่นเดิม ทำให้เรือปั่นไฟนี้ยังคงส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อนอย่างมาก

โดยธรรมชาติ ปลาทูจะวางไข่บริเวณอ่าวไทยตลอดปี โดย 1 ตัวสามารถวางไข่ได้ 7 ครั้งต่อปี วางครั้งละประมาณ 20,000 ฟอง ทำให้ชาวประมงสามารถจับได้ตลอดทั้งปี แต่ฤดูกาลที่ปลาทูวางไข่มากมี 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 ระหว่างกุมภาพันธ์-เมษายน ช่วงที่ 2 ระหว่างมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งกรมประมงจะประกาศปิดอ่าวตามช่วงเวลาเหล่านั้นในพื้นที่อ่าวไทยตามแต่ละเขตที่กำหนดไว้ เพื่อให้ลูกปลาทูเติบโตก่อน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะมีช่วงเวลาที่เรียกว่า ?ช่วงปิดอ่าว? เช่นตอนนี้อยู่ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม-14 มิถุนายน 2567 จะปิดอ่าวตั้งแต่ปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึงอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อไปจะปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน-15 สิงหาคม 2567 ในพื้นที่อ่าวไทยตอนในฝั่งตะวันตกของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้เป็นช่วงที่ลูกปลาเกิดใหม่จะเดินทางเข้าหาฝั่ง

แต่คำว่า ?ปิดอ่าว? ในที่นี้ไม่ได้แปลว่าจะห้ามเรือประมงทุกประเภทออกหาปลา แต่มีข้อยกเว้นให้สำหรับเรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส หรือเรือประมงพื้นบ้าน ยังสามารถทำประมงได้ โดยมีเงื่อนไขตามประกาศของกรมประมง เช่น ข้อกำหนดอุปกรณ์จับปลาต่างๆ ที่สามารถใช้ได้ หลายครั้งจึงมีเหตุการณ์ลักลอบหาปลาในช่วงนี้อยู่ไม่น้อย เพราะมักจะเจอปลาที่มีไข่อยู่ด้วย


จับลูกปลาทูไม่ผิดกฎหมายหรือ?

แม้จะมีกฎหมายที่ห้ามจับลูกปลาทูนั่นคือ พระราชกําหนดการประมง (พ.ร.ก.) พ.ศ. 2558 มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แต่กฎหมายนี้กลับถูกสังคมวิจารณ์ว่าไม่สามารถใช้ได้ควบคุมได้จริงและสมควรต้องแก้ไข

ทางด้าน เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อดีตอธิบดีกรมประมง ก็ออกมาชี้แจงว่า กรมประมงได้ดำเนินการในหลายวิธีเพื่อแก้ไขปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนในช่วงที่ผ่านมา เช่น

1. ประกาศปิดอ่าวในช่วงฤดูกาลสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัววัยอ่อน

2. กำหนดห้ามไม่ให้อวนล้อมจับที่มีขนาดตาอวนเล็กกว่า 2.5 เซนติเมตร ทำการประมงในเวลากลางคืน

3. กำหนดขนาดตาอวนก้นถุงของเรืออวนลาก ไม่น้อยกว่า 4 เซนติเมตร, ขนาดตาอวนครอบหมึก ไม่น้อยกว่า 3.2 เซนติเมตร, ขนาดตาอวนครอบปลากะตัก ไม่น้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร และตาอวนของลอบปู ไม่น้อยกว่า 2.5 นิ้ว เป็นต้น

ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย เฉลิมชัย อธิบายว่า เนื่องจากเครื่องมือประมงที่ใช้ในประเทศไทยไม่สามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดได้อย่างชัดเจน การทำประมงแต่ละครั้งจะได้สัตว์น้ำหลากหลายทั้งชนิดและขนาด เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนจึงมีสัตว์น้ำหลายชนิด ซึ่งแตกต่างจากการทำประมงในเขตอบอุ่นที่มีความหลากหลายของสัตว์น้ำน้อยกว่า จึงสามารถเลือกจับสัตว์น้ำเป็นรายชนิดในการทำประมงแต่ละครั้งได้

ขณะที่ข้อกำหนดของมาตรา 57 หากพบสัตว์น้ำขนาดเล็กบนเรือประมงแม้เพียงตัวเดียวหรือชนิดเดียวก็มีความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตรา 71(2) ประกอบด้วย เพื่อให้สามารถออกข้อกำหนดที่ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่ถูกจับได้โดยบังเอิญ จึงจะสามารถนำไปสู่การควบคุมตามกฎหมายได้

ทั้งนี้ คณะทำการศึกษา ที่แต่งตั้งโดยกรมประมง เสนอแนวทางในการประกาศกำหนดการจับ หรือการนำสัตว์น้ำขนาดเล็กขึ้นเรือประมง คือ

1. กำหนดชนิดสัตว์น้ำเพื่อนำร่องกำหนดมาตรการ ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง และปูม้า

2. กำหนดความยาวของสัตว์ที่ห้ามจับ โดยปลาทู ปลาลัง เท่ากับ 15 เซนติเมตร ปูม้า 8.5 เซนติเมตร

3. กำหนดสัดส่วนร้อยละของสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ห้ามจับ

ฉะนั้นด้วยข้อกำหนดเหล่านี้ ทำให้การควบคุมการจับลูกปลาทูจึงยังไม่สามารถเอาผิดได้ในทุกกรณี และยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะชาวประมงก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจับสัตว์ทะเลวัยอ่อนได้ทั้งหมด โดยเฉพาะเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่จับปลาได้มาทีละหลายๆ ตัน คงไม่สามารถคัดแยกลูกปลาทูปล่อยกลับทะเลได้ทั้งหมด ส่วนใหญ่จึงก็มักจับมาคัดแยกในภายหลัง

สัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกปลาทู มักถูกจัดเป็นประเภทปลาเป็ด หรือปลาที่คนกินไม่ได้ ในราคาต่ำประมาณ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม และมักแปรรูปไปเป็นปลาป่น บางคนจึงคัดเหล่าลูกปลาทูออกมาเพื่อแปรรูปเป็นอาหารทะเลแห้ง ซึ่งเพิ่มมูลค่าได้สูงกว่า


ปลาทูไทยจะเป็นอย่างไรต่อ

ชาวประมงรายเล็กได้รับผลกระทบอย่างหนักกับจำนวนปลาทูไทยที่ลดลงจากช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนน่าหวั่นใจ แม้สถานการณ์ปลาทูไทยตอนนี้ถือว่าดีขึ้นแล้ว ตามคำพูดของ บัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมงคนปัจจุบันที่บอกว่า ในปี 2566 มีปริมาณการจับปลาทูในอ่าวไทยมากถึง 41,310 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,316.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 5,602 ตัน และพบการแพร่กระจายของลูกปลาทู ปลาลัง และสัตว์น้ำเศรษฐกิจชนิดอื่นในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการ รวมถึงพ่อแม่ปลาทูมีความสมบูรณ์ในอัตราสูงเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์

อีกทั้ง ปีนี้ยังมีร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง ทั้ง 8 ร่าง ที่สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการไปแล้ว เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2567 เข้ามาแก้ไขปัญหานี้ด้วย โดยมีทั้งหมด 7 ร่าง ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย พรรคเพื่อไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ และพรรครวมไทยสร้างชาติ จะแก้ไขมาตรา 57 เพื่อให้มีการรับฟังความเห็นจากชาวประมงและทุกฝ่ายก่อนประกาศข้อกำหนดการจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก ส่วนร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่แก้ไขมาตรานี้

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจทำให้เรามีความหวังว่า สถานการณ์ปลาทูไทยจะไม่แย่ไปกว่าเดิม แต่ลูกปลาทูที่ยังคงถูกวางขายตามแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นภาพสะท้อนหนึ่งว่าเรื่องนี้คงไม่จบง่ายๆ และจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกับทุกฝ่าย เพื่อปกป้องสัตว์น้ำวัยอ่อนให้โตตามธรรมชาติ การไม่จับหรือกินลูกปลาทูก็เป็นอีกทางหนึ่งที่พวกเราช่วยกันได้


อ้างอิง: thairath.co.th (1,2), greennet.or.th , twitter.com/bnasae, 4.fisheries.go.th (1,2,3), technologychaoban.com, greenpeaceth, mgronline.com, thaipbs.or.th


https://plus.thairath.co.th/topic/na...JhdGgtcGx1cw==

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 17-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก แนวหน้า


อุทยานพีพีเปิดให้เที่ยวดำน้ำตามปกติหลังสำรวจปะการังพบฟอกขาวเล็กน้อย

อุทยานแห่งชาติพีพี ลงสำรวจปะการัง บริเวณหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เผยพบการฟอกขาวเล็กน้อย ยังเปิดให้ท่องเที่ยวตามปกติ



วันที่ 15 พ.ค.67 นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่ระดับน้ำลึก บริเวณหมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ไม่รุนแรงโดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธาราหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ ดำน้ำ สำรวจปะการังบริเวณเกาะยูง หมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งปะการังแหล่งใหญ่ เป็นแปลงปะการังพ่อพันธ์แม่พันธ์ ปิดห้ามทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวมากว่า 10 ปี สำรวจที่ระดับน้ำ 2-5 เมตร อุณหภูมิน้ำทะเล 29-30 องศา พบปะการังสีซีดประมาณร้อยละ 10 ประเภท ปะการังโขด ปะการังวงแหวน ปะการังรังผึ้ง พบการฟอกขาวเล็กน้อย ปะการังส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์สวยงาม มีสัตว์ ปลา อาศัย เป็นจำนวนมาก

นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาว ที่ระดับน้ำลึกบริเวณหมู่เกาะพีพี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ไม่รุนแรง ไม่พบการฟอกขาว พบเพียงมีสีซีดไม่มาก ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวดำน้ำเที่ยวชมตามปกติ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังคง เฝ้าระวัง ดำน้ำสำรวจ แหล่งปะการ ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง หากพบมีการฟอกขาว เกินร้อยละ 50 จะต้องประกาศปิดชั่วคราว


https://www.naewna.com/likesara/804823

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 17-05-2024
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation


เดี๋ยวร้อนจัด เดี๋ยวฝนถล่ม เชื่อได้หรือยังว่า "โลกรวน" เพราะมนุษย์จริงๆ
.............. โดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์



ไม่ว่าจะเผชิญกับอากาศร้อนดังนรก หรือโดนถล่มโดยฝนห่าใหญ่ จนถึงปัจจุบันนี้ยังมีคนเชื่ออยู่ว่า "โลกรวน" หรือ Climate Change ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากมนุษย์ แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปตามวัฏจักรของธรรมชาติ แม้วิทยาศาตร์จะมีคำตอบให้กับเรื่องนี้มานานนับทศวรรษก็ตาม

ฝนถล่มฟ้าเมื่อหลายวันที่ผ่านมาคงจะทำให้ชีวิตหลายคนลำบากไม่น้อย ถึงแม้ในอีกมุมนึงฝนห่าใหญ่จะมาคลายความร้อนที่ต่อเนื่องเนิ่นนานตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมไปได้บ้าง อากาศที่ร้อนขึ้นอย่างผิดสังเกตกลายเป็นกระแสเสียงบ่นระงมว่า 'ร้อนกว่าสมัยเด็กๆ'

ความรู้สึกของเราสอดคล้องกับสถิติที่ Copernicus Climate Change Service เปิดเผยว่าอุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกในเดือนเมษาที่ผ่านมาร้อนขึ้นราว 1.61 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ปฏิเสธไม่ได้ว่าความร้อนทะลุปรอทเมื่อนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากปรากฎการณ์เอลนีโญที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ 99 คนจาก 100 คน เห็นต้องตรงกันว่าแนวโน้มอุณภูมิบนพื้นผิวโลกเฉลี่ยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมามีสาเหตุสำคัญจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

การรับมือ 'สภาวะโลกร้อน' เป็นประเด็นที่ถูกอภิปรายอย่างกว้างขวางบนเวทีโลกมายาวนานกว่าสามทศวรรษโดยมีจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการคืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งช่วงแรกเริ่มประสบอุปสรรคและคำถามนานัปการ


แต่เมื่อภาวะโลกรวนเริ่มเผยตัวรุนแรงยิ่งขึ้น นานาประเทศจึงเริ่มตระหนักว่าภาวะโลกร้อนคือ ?ของจริง? ไม่ใช่แค่คำทำนายหายนะในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ความพยายามรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังจึงเริ่มต้นอีกครั้งโดยมีหมุดหมายสำคัญคือข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาซึ่งมุ่งมั่นจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในบทความนี้ ผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านไปคลายข้อสงสัยว่าด้วยพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ของภาวะโลกร้อน รวมถึงข้อพิสูจน์ว่าภาวะโลกร้อนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์


ต้นธารของวิทยาศาสตร์โลกร้อน

แม้หลายคนจะมองว่าศาสตร์ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องสลับซับซ้อน แต่ทราบไหมครับว่าครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยากาศจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ต้องสืบย้อนไปถึงปี 1896 ซึ่งเป็นปีเดียวกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป (พ.ศ.2439)

ในปีนั้น สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius) นักเคมีชาวสวีเดนตีพิมพ์ผลงานที่เปิดเผยว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์จะเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ เนื่องจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนั้นมากเกินกว่าที่กลไกตามธรรมชาติจะรองรับไหว

หลังจากนั้นราวสองทศวรรษ อาร์เรเนียสประยุกต์ทฤษฎีฟิสิกส์เมื่อราวสองศตวรรษก่อน คำนวณตัวเลขทั้งหมดโดยไม่มีคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเผยว่าถ้าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้นสองเท่าตัวจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นราว 4 องศาเซลเซียส สอดคล้องกับการประมาณการโดยเครื่องมือล้ำสมัยและทฤษฎียุคใหม่ในปัจจุบันที่คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น 2.5-4 เซลเซียส

แต่ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียนะครับ เพราะองค์ประกอบที่พอเหมาะในชั้นบรรยากาศนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเหมาะสมกับการถือกำเนิดของสิ่งมีชีวิต


ว่าด้วยปรากฎการณ์เรือนกระจก

เมื่อดวงอาทิตย์แผ่รังสีมายังโลก เหล่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศและก้อนเมฆจะทำหน้าที่ดูดซับและปลดปล่อยรังสีเหล่านั้นมายังพื้นโลก ดังนั้น อุณหภูมิในพื้นผิวโลกจึงถูกกำหนดโดยปัจจัยสองประการ อย่างแรกคือรังสีจากดวงอาทิตย์โดยตรง และอย่างที่สองคือรังสีที่สะท้อนจากก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ โดยทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลในระดับใกล้เคียงกัน นี่คือหลักการฟิสิกส์พื้นฐานซึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในหมู่นักวิทยาศาสตร์

ปรากฎการณ์สะท้อนรังสีไปมาระหว่างชั้นบรรยากาศและพื้นผิวโลกเรียกว่าปรากฎการณ์เรือนกระจกซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตบนโลกเฉกเช่นในปัจจุบัน หากไม่มีก๊าซเรือนกระจก ความร้อนก็จะถูกสะท้อนออกจากชั้นบรรยากาศจนทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกลดเหลือ -20 องศาเซลเซียส แต่ในทางกลับกัน หากก๊าซเรือนกระจกหนาแน่นเกินไปก็อาจกลายสภาพเป็นแบบดาวเสาร์ที่อุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 464 องศาเซลเซียสทั้งที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์กว่าโลก แต่กลับมีอุณหภูมิสูงกว่าดาวพุธที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ที่สุดมากถึงสามเท่าตัว

ในชั้นบรรยากาศโลกมีก๊าซเรือนกระจกราว 0.3% โดยส่วนใหญ่จะเป็นไอน้ำ (เฉลี่ยราว 0.25%) ส่วนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วนเพียง 405 โมเลกุลต่ออากาศ 1,000,000 โมเลกุล หรือเรียกได้ว่าน้อยมากๆ

สาเหตุที่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อปรากฎการณ์เรือนกระจกคือ 'ระยะเวลา' ที่ก๊าซล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศซึ่งอาจยาวนานนับพันปี ขณะที่ปริมาณไอน้ำผันผวนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จอห์น ทินดัล (John Tyndall) นักฟิสิกส์ชาวไอริชพบว่าตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีความสัมพันธ์อย่างยิ่งต่ออุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวโลก และธรรมชาติเองก็มีกลไกในการควบคุมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศผ่านกระบวนการผุพังของชั้นหิน (rock weathering)

อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิของโลกผันแปรอยู่เสมอเนื่องด้วยหลากหลายปัจจัยโดยที่ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหนึ่งในนั้น นำไปสู่คำถามว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีสาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์จริงหรือไม่


รู้ได้อย่างไรว่าโลกร้อนเพราะ 'เรา'

เครื่องวัดอุณหภูมิอย่างเทอร์โมมิเตอร์ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 แต่กว่าการจัดเก็บข้อมูลอุณหภูมิโลกทั้งบนบกและในทะเลจะเกิดขึ้นอย่างจริงจังก็ล่วงเลยมาถึงราวทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เราพบว่าอุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ เกิดเป็นคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่อง 'ปกติ' ที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

นักวิทยาศาสตร์ค้นหาคำตอบด้วยวิธีประมาณการจากตัวแปรต่างๆ โดยรวบรวมข้อมูลจากแผ่นน้ำแข็ง วงปีต้นไม้ และตะกอนจากพื้นมหาสมุทร แล้วนำมาวิเคราะห์ส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และอุณหภูมิพื้นผิวโลกย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนที่มนุษย์จะถือกำเนิดขึ้นบนโลกด้วยซ้ำ

พวกเขาพบว่าอุณหภูมิโลกผันแปรไม่เคยหยุดนิ่ง บางช่วงเวลาโลกก็กลายสภาพเป็นยุคน้ำแข็งที่เหน็บหนาว บ้างคราวก็เป็นยุคที่ร้อนจนระดับน้ำทะเลสูงกว่าในปัจจุบันกว่า 200 เมตร แต่การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิตามธรรมชาติขยับอย่างเนิบช้าแต่ละวัฏจักรอาจใช้เวลาหลักหนึ่งแสนปี ดังนั้นการที่อุณหภูมิพุ่งพรวดๆ ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษย่อมเกิดจากปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่วัฏจักรตามธรรมชาติ

มีสมมติฐานมากมายว่าตัวแปรอื่น เช่น การแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ที่รุนแรงขึ้น อาจส่งผลต่อภาวะโลกร้อนที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน แต่เหล่านักวิทยาศาสตร์ก็ค่อยๆ ตัดสมมติฐานอื่นๆ ออกไป ก่อนจะได้ข้อสรุปว่าภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติในปัจจุบันเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

ถึงแม้อาจมีนักวิทยาศาสตร์บางคนที่เห็นต่าง เช่น จอห์น เคลาเซอร์ (John Clauser) นักฟิสิกส์ผู้ร่วมรับรางวัลโนเบลที่สร้างเสียงฮือฮาด้วยการประกาศว่า "วิกฤติภูมิอากาศไม่มีอยู่จริง" แต่หากชั่งน้ำหนักด้วยเรื่องความเสี่ยง ผลกระทบ และโอกาสที่จะเกิดวิกฤติ การป้องกันปัญหายักษ์ใหญ่เช่นนี้ล่วงหน้าย่อมดีกว่าการตามแก้ไขปัญหาในวันที่สายเกินไป

ที่ผ่านมา เรามักคิดว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัวหรือเป็นปัญหาของประเทศร่ำรวย แต่ความจริงแล้ว ประเทศกำลังซึ่งตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรอย่างไทยคือกลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงอย่างยิ่ง ทั้งอุณหภูมิที่สูงขึ้นจนไม่สามารถปลูกพืชหรือทำงานกลางแจ้งได้ อุทกภัยที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเงินงบประมาณในการรับมือวิกฤติที่จำกัดจำเขี่ย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยกลับไม่กระตือรือร้นกับเรื่องนี้สักเท่าไหร่ โดยประเทศไทยตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่ากับศูนย์ไว้ถึงปี 2065 เรียกได้ว่าช้าที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนามที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี 2050 และอินโดนีเซียที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี 2060

เป้าหมายเชิงนโยบายดังกล่าวนับว่าน่าเสียดายไม่น้อย เพราะนอกจากไทยจะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤติภูมิอากาศแล้ว ยังอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลังในวันที่ประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำกันไปหมดแล้ว


ข้อมูลอ้างอิง
Emanuel, K. (2024). MIT Climate Primer. Retrieved from https://climate.mit.edu/primer
Emanuel, K. A. (2012). What We Know about Climate Change. MIT Press.
Copernicus: Global temperature record streak continues ? April 2024 was the hottest on record. (2024, May 7). Climate Copernicus. https://climate.copernicus.eu/copern...hottest-record
The causes of climate change. (n.d.). NASA. https://science.nasa.gov/climate-change/causes/
Joselow, M. (2023, November 16). He won a Nobel Prize. Then he started denying climate change. The Washington Post. https://www.washingtonpost.com/clima...limate-denial/



https://www.nationtv.tv/blogs/columnist/378943824
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 08:38


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger