#1
|
||||
|
||||
ชีวิตยุ่งๆของกุ้งพยาบาล
ชีวิตยุ่งๆของกุ้งพยาบาล : วินิจ รังผึ้ง ในบรรดาสรรพชีวิตที่สร้างสีสันให้กับแนวปะการังโดยเฉพาะบริเวณแนวปะการังโครงสร้างแข็งที่ไม่ค่อยจะมีสีสันนั้น กุ้งนับเป็นสัตว์ทะเลที่สร้างสีสัน และชีวิตชีวาให้กับแนวปะการังเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเพราะสัตว์ประเภทกุ้งและญาติใกล้ชิดอย่างปูนั้นนับเป็นสัตว์กลุ่มที่มีจำนวนชนิดมากมายหลากหลาย มีรูปร่างหน้าตา ทรวดทรง และสีสันแปลกแตกต่างกันออกไป แต่สัตว์ในกลุ่มนี้ก็ดูไม่ยากครับว่าตัวไหนเป็นกุ้ง ตัวไหนเป็นปู เรียกว่าเห็นปุ๊บแม้จะยังไม่รู้จักชื่อว่าเป็นชนิดไหน แต่นักดำน้ำก็จะสามารถบอกได้ทันทีว่านี่เป็นกุ้ง ตัวนี้เป็นปู สิ่งที่ทำให้นักดำน้ำสามารถจำแนกสัตว์ทะเลประเภทนี้ออกจากสัตว์ทะเลกลุ่มอื่นๆก็คือ ลักษณะที่เหมือนกันคือ มีขาสิบขา และมีเปลือกห่อหุ้มร่างกาย พวกมันจึงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลจำพวก Crustacean ซึ่งมาจากรากศัพท์ภาษาละตินที่แปลว่า ผู้สวมเกราะ แม้นกุ้งกับปูจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่กุ้งจะต่างกับปูตรงที่กุ้งนั้นจะแบ่งลำตัวออกเป็นส่วนหัวและส่วนลำตัว ในขณะที่ปูนั้นจะมีกระดองชิ้นเดียวครอบลำตัว ในท้องทะเลนั้นมีกุ้งมากมายหลากหลายชนิด มีทั้งขนาดใหญ่อย่างกุ้งมังกรชนิดต่างๆ ซึ่งกุ้งมังกรนั้นมักจะอาศัยอยู่ตามช่องหิน โพรงถ้ำ หรือในซอกหลืบของปะการังโขดขนาดใหญ่ ตอนกลางวันจะหลบนอนไม่ค่อยจะโผล่ออกมาให้เห็น กระทั่งยามค่ำคืนจึงจะออกมาหาอาหารภายนอก แต่แม้นกุ้งมังกรจะพยายามหลบซ่อนตัวมากเท่าไร มันก็ยังไม่วายถูกจับขึ้นมากินจนเกือบจะหมดท้องทะเลอยู่แล้ว ส่วนกุ้งที่มีขนาดเล็กลงมาก็มีทั้งกุ้งที่อาศัยอยู่ตามพื้นทราย พื้นเลน และกุ้งที่อาศัยอยู่ตามอยู่ตามโขดปะการังโครงสร้างแข็ง ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดความยาวของลำตัวไม่เกิน 5 เซนติเมตร รวมทั้งกุ้งที่อาศัยอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก มีความยาวไม่เกิน 2 - 3 เซนติเมตรเท่านั้น ในบรรดากุ้งที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกับสัตว์อื่นๆในท้องทะเลก็เช่นบรรดากุ้งพยาบาล(Cleaner shrimp) ทั้งหลาย โดยกุ้งพยาบาลเหล่านี้จะมีหน้าที่ทำความสะอาดให้กับปลาหรือสัตว์ทะเลอื่นๆที่เข้ามาในบริเวณที่กุ้งพยาบาลเหล่านี้อยู่อาศัย ซึ่งบริเวณนั้นจะเป็นเสมือนสถานีทำความสะอาด หรือคล้ายๆกับสถานบริการสปาใต้ท้องทะเลก็ไม่ผิด เพราะผู้ใช้บริการซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลานานาชนิดจะว่ายเรียงคิวกันมารอรับบริการโดยลอยตัวนิ่งๆให้กุ้งพยาบาลตัวเล็กๆเหล่านี้โดดขึ้นไปเกาะตามลำตัว เพื่อจับกินปรสิตเล็กๆที่เกาะอยู่บนตัวปลา ซึ่งปลาเหล่านี้ไม่สามารถจะสลัดหลุดหรือกำจัดปรสิตได้ด้วยตัวเอง เพราะไม่มีมือจะไปแกะออก ครั้นจะใช้เพื่อนฝูงปลาชนิดเดียวกันผลัดกันใช้ปากตอด ปลาเหล่านี้ก็มีปากที่กว้างใหญ่โตเกินกว่าจะทำความสะอาดให้กันและกันได้ ที่สุดก็ต้องมาอาศัยใช้บริการของกุ้งพยาบาลหรือปลาพยาบาลมืออาชีพนี่แหละ กุ้งพยาบาลเหล่านี้ก็จะยินดีให้บริการด้วยความเต็มใจและกระตือรือร้น เพราะเหมือนกับมีผู้นำอาหารมาส่งให้ถึงที่ ไม่เฉพาะปลานะครับ แม้นแต่เพื่อนนักดำน้ำบางคนลองยื่นหน้าเข้าไปใกล้แล้วถอดเร็คกูเรเตอร์ อ้าปากกว้างใกล้ๆ เจ้ากุ้งพยาบาลก็ยังวิ่งเข้าไปในปากเพื่อปฏิบัติการทำความสะอาดให้อย่างมิได้รังเกียจ (แต่หลังจากนั้นกุ้งพยาบาลจะมีชะตากรรมเป็นเช่นใดก็ไม่มีใครบอกได้) นอกจากกุ้งพยาบาล (Cleaner shrimp) ที่ตั้งคลินิกหรือสถานพยาบาลใต้ท้องทะเลแล้ว ยังมีกุ้งพยาบาลที่อาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ซึ่งกุ้งตัวเล็ก ๆ เหล่านี้ก็จัดว่าเป็นกุ้งพยาบาลเช่นกันอย่าง กุ้งจักรพรรดิ (Emperor shrimp) ซึ่งมักจะแอบฝากชีวิตติดพ่วงไปกับสัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่น หนอนทะเล ปลิงทะเล และดาวหมอนปักเข็ม หรือบางครั้งก็พบบนทากทะเลขนาดใหญ่ (Spanish dancer) ซึ่งกุ้งตัวจิ๋วเหล่านี้จะใช้เรือนร่างของสัตว์ทะเลเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัย เป็นห้องนั่งเล่น เป็นห้องครัว เป็นที่หลบภัยอันอบอุ่น และถือโอกาสใช้เป็นยานพาหนะที่ไม่ต้องเติมน้ำมันไปในตัว ไม่ว่าเจ้าหนอนทะเลตัวโตรูปร่างคล้ายขนมปังปอนด์จะเลื้อยคืบคลานไปไหนเจ้ากุ้งตัวน้อยก็จะเกาะติดไปด้วยตลอด และคอยเก็บกินอาหารที่ลอยมาติดตามเนื้อตัวเจ้าของเรือนร่างที่มันอาศัยอยู่ ถือเป็นการทำความสะอาดร่างกายให้เพื่อนที่มันอยู่อาศัยไปในตัว เป็นการเกื้อกูลและพึ่งพากันอย่างหนึ่ง เจ้ากุ้งจักรพรรดิ หรือ กุ้งพยาบาลที่อาศัยอยู่บนหนอนทะเลและดาวหมอนปักเข็มนี้ จะปรับสีสันของมันเองให้เข้ากับสีสันของสัตว์ที่มันอาศัยอยู่ด้วย และที่อาศัยดีที่สุดซึ่งเจ้ากุ้งตัวน้อยชอบซุกอยู่ก็คือใต้ท้องของหนอนทะเล ใต้ดาวหมอนปักเข็ม ซึ่งมีอุ้งเท้าสำหรับดูดยึดกับพื้นทรายที่มันเคลื่อนที่ไป เป็นเสมือนเท้านับพัน ๆ เท้าที่ช่วยในการกระดืบคืบคลานไปข้างหน้า เจ้ากุ้งตัวน้อยนี้มักจะแอบซุกอยู่ตามซอกหลืบอุ้งเท้านับพันนี้ เพราะเป็นที่ที่ปลอดภัย หลบสายตาศัตรูได้ดีที่สุด ชีวิตของกุ้งพยาบาล หรือกุ้งจักรพรรดิตัวน้อยนี้จึงเป็นชีวิตใต้ฝ่าเท้าดี ๆ นี่เอง แต่จะอยู่ใต้ฝ้าเท้าหนอนทะเล หรือบนหัวกุ้งมังกร ก็ไม่สำคัญสำหรับชีวิตใต้ท้องทะเล ขอเพียงอยู่รอดปลอดภัย สุขสบาย อิ่มท้อง เท่านั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับชีวิต นอกจากกุ้งพยาบาลแล้ว ยังมีกุ้งอีกกลุ่มที่ใช้ชีวิตอิงแอบอยู่กับชีวิตอื่นๆในท้องทะเล อย่างเช่นกุ้งที่อาศัยอยู่ในดอกไม้ทะเล ที่ส่วนใหญ่จะมีลำตัวใสเพื่อพรางตัวให้เข้ากับดอกไม้ทะเล ซึ่งดอกไม้ทะเลเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะมีเข็มพิษที่สัตว์อื่นไม่กล้าเข้ามายุ่งอยู่แล้ว มันจึงเป็นบ้านที่แสนจะปลอดภัย เพราะกุ้งเหล่านี้มีเกราะแข็งหุ้มลำตัว มันจึงไม่ต้องกลัวเข็มพิษของดอกไม้ทะเล นอกจากนี้ยังมีกุ้งหางกระดกที่อาศัยอยู่ตามปะการังลูกโป่ง กุ้งดาวขนนกที่อาศัยอยู่ตามแขนขาของดาวขนนก ซึ่งมักจะปรับสีของตนเองตามสีของดาวขนนกไปด้วย เช่นดาวขนนกสีเหลืองสดกุ้งที่อาศัยอยู่ในนั้นก็จะมีสีเหลือสดไปด้วย หรือกุ้งที่อาศัยอยู่กับเม่นทะเล ซึ่งกุ้งชนิดนี้จะพัฒนารูปทรงของลำตัวให้มีลักษณะแหลมยาวคล้ายกับหนามแหลมๆของเม่นทะเล และมีสีสันเช่นเดียวกับเม่นทะเลที่มันอาศัยอยู่ ชีวิตของบรรดากุ้งในท้องทะเลนั้น แม้นจะได้ชื่อว่าเป็นสัตว์ที่มีเกราะห่อหุ้ม และมีกลวิธีการใช้ชีวิต การหากิน การเอาตัวรอดในท้องทะเลด้วยวิธีการต่างๆที่แยบยล เหมือนน่าจะเป็นชีวิตที่ปลอดภัยไร้กังวลจากศัตรู แต่ความจริงก็มิได้เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีนักล่าจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบกับเนื้อหวานๆของกุ้งทะเลเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปลานักล่าชนิดต่างๆ งูทะล หมึกหรือปลาหมึก ที่ชื่นชอบอาหารจำพวกกุ้ง ปู ที่มีเปลือกแข็งมีกระดองหนา มีเกราะป้องกันตัวเหล่านี้เหลือเกิน ด้วยปลาหมึกโดยเฉพาะหมึกยักษ์นั้นแม้นร่างกายของมันทั้งตัวจะอ่อนนุ่มเหมือนไม่มีกระดูก แต่มันก็มีฟันที่แข็งแรงไว้บดเคี้ยวอาหารแข็งๆอย่างกระดองปู และเปลือกกุ้งได้อย่างสบาย จาก : ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2552
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
|||
|
|||
....นึกว่าพยาบาลชื่อ กุ้ง
|
|
|