เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 31-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันศุกร์ที่ 31 กรกฏาคม 2563

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักไว้ด้วย อนึ่ง หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงในทะเลจีนใต้มีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่บริเวณชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ซึ่งจะส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2563


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

เมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 5 ส.ค. 63 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้นเป็นกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชัน และพายุโซนร้อนในระยะต่อไป และจะเคลื่อนตัวมาผ่านบริเวณเกาะไหหลำ ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศเวียดนามและลาวตอนบนในช่วงวันที่ 2 - 4 ส.ค. 63 ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าฟ้าคะนองจะคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 5 ส.ค. 63 ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และขอให้ชาวเรือในบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ด้วย



*********************************************************************************************************************************************************



ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา "ฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม ถึง 4 สิงหาคม 2563)" ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563

หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชันในระยะต่อไป และเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือสู่ชายฝั่งประเทศจีนตอนใต้ ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ในช่วงวันที่ 31 ก.ค. - 4 ส.ค. 63

ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย

อนึ่ง มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลาดังกล่าว









__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 31-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐ


นักท่องเที่ยวผงะ เจอปลายักษ์หน้าตาประหลาดตายเกยตื้นชายหาดออสเตรเลีย

ปลายักษ์หน้าตาประหลาด ความยาวกว่า 2 เมตร ถูกพบตายเกยตื้นบนชายหาดออสเตรเลีย สร้างความตกตะลึงให้กับบรรดานักท่องเที่ยวที่พบเห็น



เคธ แรมป์ตัน และทอม ผู้เป็นสามี สองนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลีย พบปลาหน้าตาแปลกประหลาดขนาดใหญ่ ลำตัวยาวกว่า 2 เมตร ตายเกยตื้นอยู่บนชายหาดเคนเน็ตต์ ริเวอร์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐวิคตอเรีย

สองนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นสัตวแพทย์ เปิดเผยกับเว็บไซต์ข่าว Daily mail ว่าพวกเขาพบปลาตัวนี้ขณะเดินเล่นบนชายหาด เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (25 ก.ค.) เลยถ่ายภาพเก็บไว้ โดยพบว่า ปลาตัวนี้อาจจะเป็น "ปลาแสงอาทิตย์" (Ocean sunfish) สัตว์ทะเลขนาดใหญ่และหายากที่สุดในโลก เจ้าตัวนี้มีขนาดลำตัวยาว 2 เมตร เชื่อว่าเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่กว่านี้อีกเท่าตัว

เธอเล่าว่า ตอนที่พบปลาตัวนี้ นักท่องเที่ยวหลายคนต่างตื่นเต้นตกใจและบอกว่า หน้าตามันแปลกประหลาดเหมือนเอเลี่ยน แม้จะมาเที่ยวที่ชายหาดแห่งนี้บ่อยครั้ง แต่พวกเขาไม่เคยเห็นปลาแบบนี้และตัวใหญ่เท่านี้มาก่อน

นายราล์ฟ ฟอสเตอร์ ผู้จัดการแผนกของสะสมประเภทปลา ของพิพิธภัณฑ์เซาท์ ออสเตรเลียน เปิดเผยว่า ปลาแสงอาทิตย์เป็นปลาขนาดใหญ่ ประมาณ 3-4.2 เมตร น้ำหนักประมาณ 2.5 ตัน นับว่าเป็นปลาหายาก อาศัยอยู่ตามกระแสน้ำทะเลเขตร้อนทั่วโลก ทั้งบริเวณน่านน้ำแถบเอเชีย อย่างออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน โดยอันตรายของพวกมันที่ทำให้ถึงตายได้ส่วนใหญ่คือการถูกเรือใหญ่ชน บางครั้งก็กินขยะพลาสติกเข้าไป หรืออาจจะไปกินแมงกะพรุนมีพิษร้ายแรง.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1899867


*********************************************************************************************************************************************************


ยูนิเซฟเตือนเด็กกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก มีสารตะกั่วในเลือดระดับอันตราย

กลายเป็นภัยเงียบ สำหรับสารตะกั่วที่ถูกพบเป็นอย่างมากในเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก และส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้และเศรษฐกิจ



เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม องค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้เปิดเผยรายงานที่ทำร่วมกับองค์การ "เพียว เอิร์ธ" (Pure Earth) พบว่าเด็กกว่า 800 ล้านคนทั่วโลกหรือคิดเป็นเด็ก 1 ใน 3 มีสารตะกั่วอยู่ในเลือดมากกว่า 5 ไมโครกรัมต่อ 1 เดซิลิตร ซึ่งเป็นระดับที่เป็นพิษต่อระบบประสาท และเป็นอันตรายต่อสมองของเด็กๆจนไม่สามารถเยียวยาได้ โดยปริมาณสารตะกั่วที่มากจะมีผลต่อการพัฒนาการเรียนรู้รับรู้ของเด็ก โดยในรายงานระบุว่าเด็กที่ได้รับสารตะกั่วในปริมาณดังกล่าวทำคะแนนวัดความฉลาดได้น้อยกว่าคนทั่วไป 3 ถึง 5 คะแนน

เจ้าหน้าที่ขององค์การยูนิเซฟ ระบุว่ามันเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างมากที่โลกอาจจะเผชิญกับปัญหาด้าน "ไอคิว" หรือความฉลาดทางปัญญา ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะประเทศโลกที่ 3 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความคิดสร้างสรรค์และเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งในรายงานระบุว่ากลุ่มคนที่ได้รับสารตะกั่วเป็นปริมาณมากนับตั้งแต่เด็กส่งผลให้รายได้รวมกันลดลงกว่า 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ในรายงานยังระบุอีกว่า เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ถือเป็นกลุ่มที่อันตรายมากเป็นพิเศษ เนื่องจากร่างกายในช่วงอายุดังกล่าวสามารถซึมซับสารตะกั่วได้ดีกว่าในช่วงอายุอื่นๆ และจากการสำรวจของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระบุว่าเด็กที่ได้รับสารตะกั่วจะมีพฤติกรรมก้าวร้าวและสมาธิสั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยกล่าวว่า "สารตะกั่วเป็นภัยเงียบในตลอดช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อเด็กรุ่นใหม่ที่ควรจะมีประสิทธิภาพในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจมากกว่านี้"

โดยประชาชนส่วนใหญ่ได้รับสารตะกั่วจากเหมืองตะกั่วหรือท่อประปา รวมไปถึงการเผาขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่สาเหตุที่ใหญ่ที่สุดและคิดเป็นร้อยละ 85 มาจากการรีไซเคิลแบตเตอรี่รถยนต์ที่ผิดวิธี โดยการรีไซเคิลที่ถูกวิธีนั้น จำเป็นต้องมีกฎระเบียบที่ถูกต้องและการดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งมีรายงานเป็นจำนวนมากว่ามีโรงงานลักลอบรีไซเคิลแบตเตอรี่ ส่งผลให้สารตะกั่วรั่วไหล ทั้งนี้มีรายงานว่าประชาชนจำนวนหนึ่งไม่รู้ถึงอันตรายของสารตะกั่วและใช้ชีวิตตามปกติอย่างไม่ระมัดระวัง

ทางองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ประชาชนสามารถลดระดับสารตะกั่วในเลือดได้ในอนาคต แต่ทางองค์การไม่สามารถซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นไปกับร่างกายและสมองไปแล้ว.


https://www.thairath.co.th/news/foreign/1900077
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 31-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


พิษโควิดทำพลาสติกระบาด: เรื่องสุขภาพที่เราลืมป้องกัน .................. โดย ณิชา เวชพานิช

พลาสติกและพฤติกรรมใช้ครั้งเดียวทิ้งกลับมาระบาดทั่วโลกท่ามกลางโควิด ปริมาณขยะพลาสติกไทยช่วงล็อกดาวน์เพิ่ม 15% รมต.ทส.เผย คนไทยยังตระหนักเรื่องนี้ดี มุ่งหน้าตามโร้ดแมพจัดการพลาสติกเดิมที่ตั้งไว้ ด้านนักวิชาการชี้พฤติกรรมใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังสร้างปัญหาสุขภาพระยะยาว แถมไม่ได้ช่วยให้ปลอดภัยจากไวรัส


ปลาตายเพราะขยะพลาสติก กรกฎาคม พ.ศ.2563 / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / ปรัชญ์ รุจิวนารมย์

หลายคนมักพูดว่าหากไม่สบาย ให้ไปพักผ่อนริมทะเล ? ห่างไกลความวุ่นวาย ภาระงาน และมลพิษในเมือง ทว่าทุกวันนี้การไปทะเลอาจไม่ได้ดีต่อสุขภาพกายและใจขนาดนั้น เพราะเราพาตัวเองมายืนมองคลื่นสีครามนำพาเค้าลางของปัญหามาเกยฝั่ง?ขยะทะเลจำนวนมหาศาล

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลสูงสุดอันดับ 6 ของโลก

จนกระทั่งเมื่อปลายปีพ.ศ.2562 เราได้ลดลำดับลงมาเป็นที่ 10 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแถลงว่าเป็นผลสำเร็จจากการร่วมมือลดขยะของทุกภาคส่วน

ทว่ากระแสดังกล่าวได้จางหายไปเมื่อคลื่นลูกใหม่ชื่อ "โควิด-19" เข้ามาขโมยความสนใจ โรคระบาดได้แทรกแซงและปรับแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต ผู้คนเปลี่ยนมาทำงานจากบ้านและใช้บริการเดลิเวอรี่อาหารเพิ่มขึ้น จนปริมาณขยะพลาสติกจากอุปกรณ์ทานอาหารต่างๆ เพิ่มขึ้นจากปกติ 15% ยังไม่ได้นับรวมขยะหน้ากากอนามัยและขยะจากการกักตัว ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้เพราะเป็นขยะอันตรายทางการแพทย์

ปริมาณขยะเป็นสิ่งที่ประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้ กระนั้น ยังมีอีกสิ่งสำคัญที่เราไม่อาจรู้ได้แน่ชัดด้วยซ้ำว่าเปลี่ยนไปเท่าไหร่ คือ ?พฤติกรรมลดขยะ? ที่สังคมไทยรณรงค์กันมาตลอด


ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นช่วงล็อกดาวน์ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม


ชีวิตติดพลาสติก : นิวนอร์มอลหลังโควิด ?

โรคระบาดทำให้หลายประเทศทั่วโลกประกาศเลื่อนแผนการลดขยะพลาสติกเพราะเป็นห่วงเรื่องสุขอนามัย สำนักข่าว New York Times รายงานว่า รัฐและเมืองใหญ่ในอเมริกาไม่น้อยกว่า 4 แห่งเปลี่ยนแผน เช่น นครนิวยอร์กและรัฐเมนส์เลื่อนการแบนถุงพลาสติกออกไปจากที่ตั้งไว้ปีนี้ รัฐนิวแฮมเชอร์ประกาศให้ร้านค้าแจกถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษแทนการให้ลูกค้าใช้ถุงผ้า นอกจากนี้ เมืองบางแห่งที่ออกกฎหมายแบนการใช้พลาสติกไปแล้วยังกลับลำ กรุงเม็กซิโกซิตี้ เมืองหลวงประเทศเม็กซิโก ได้ยกเลิกมาตรการแบนผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคมที่ผ่านมา แม้ว่ามาตรการนี้จะช่วยลดขยะพลาสติกกว่า 85%

ด้านประเทศไทย วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมว่าโควิด-19 จะไม่ทำให้โร้ดแมพการจัดการพลาสติก พ.ศ. 2561 ? 2573 ที่ตั้งไว้ล่าช้า

"ช่วงโควิด ขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะความปลอดภัยของชีวิตของพี่น้องประชาชนต้องมาก่อน จริงๆ แล้วโครงการลดขยะต่างๆ ยังทำการอยู่ตลอด แต่เราไม่อยากเพิ่มความกดดันให้พี่น้องประชาชนก็เลยดูเหมือนจะแผ่วไป"

ตามโร้ดแมพ ภายในปีพ.ศ.2563 นี้ ประเทศไทยจะต้องลดการใช้กล่องอาหารโฟม หลอด แก้วน้ำพลาสติกแบบบาง และถุงพลาสติกความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอนได้ 50% เพื่อจะได้เลิกใช้อย่างสมบูรณ์ในปีพ.ศ. 2565

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่งได้ระงับนโยบายให้ลูกค้านำภาชนะส่วนตัวมาซื้อสินค้าและไม่เผยแนวโน้มว่าจะกลับมาดำเนินการตามเดิมเมื่อไหร่ แม้นักวิชาการหลายคนจะออกมาชี้แจ้งว่า ความคิดดังกล่าวเป็น "ความเชื่อที่ไร้เหตุผล"


จะติดโควิด หรือติดพลาสติก : ทางสองแพร่งที่ต้องเลือก?

สาเหตุที่สังคมกลับมาเป็นมิตรกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกอีกครั้ง ตั้งอยู่บนฐานความเชื่อว่าบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งนั้นสะอาดและปลอดภัยกว่าภาชนะใช้ซ้ำ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจากสถาบันชั้นนำกว่า 125 คนได้ร่วมลงชื่อในจดหมายเรียกร้องให้สังคมทบทวนความคิดดังกล่าว

"การเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งไม่ได้ทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น"
Dr.Ben Locwin นักระบาดวิทยาและที่ปรึกษาศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC-Centers of Disease Control and Preventions) ชี้แจ้ง "การใช้บรรจุภัณฑ์ส่วนตัวและหมั่นทำความสะอาดนั้นปลอดภัยจากไวรัส และผมขอย้ำว่า วิธีนี้ 'ไม่เคย' ไร้ประสิทธิภาพ"

เขาอธิบายว่า ไวรัสโคโรน่ามีลักษณะเป็นไวรัสที่มีเปลือกเป็นไขมันห่อหุ้ม (Enveloped Virus) ดังนั้นสารทำความสะอาด เช่น สบู่และน้ำยาซักผ้าซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารลดแรงตึงผิวจึงมีศักยภาพฆ่าเชื้อได้ โดยจะทำให้ไขมันหลุดไปแขวนลอยกับน้ำ

"ไวรัสโคโรน่าทำลายได้ง่ายมาก คุณใช้น้ำสบู่ร้อนทำความสะอาดแก้วน้ำหรือถุงผ้าก็เพียงพอ วิธีการป้องกันอีกระดับหนึ่งคือเวลาไปซื้อของควรหลีกเลี่ยงให้ผู้อื่นสัมผัสภาชนะส่วนตัว เช่น เวลาซื้อกาแฟให้วางแก้วบนโต๊ะ ให้พนักงานริน หรือเวลาไปซื้อของก็หยิบของใส่ถุงผ้าด้วยตนเอง ปลอดภัยทั้งคนซื้อและคนขาย ปัจจุบัน เราไม่เคยพบเคสติดเชื้อผ่านอาหาร"


วิธีใช้บรรจุภัณฑ์ใช้ซ้ำให้ปลอดภัย ไร้โควิด / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

เขาเน้นว่า พฤติกรรมใช้ซ้ำอาจปลอดภัยกว่าการใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย เพราะพลาสติกเป็นวัสดุที่ไวรัสติดอยู่บนพื้นผิวนานถึง 2-3 วัน และทำให้ผู้บริโภคเผลอ "การ์ดตก" นึกว่าปลอดภัยไร้โรค แม้ภาชนะดังกล่าวจะต้องผ่านมือพนักงานมาก่อน กระนั้น ถึงแม้ว่าข้อมูลต่างๆ จะการันตีความปลอดภัยของพฤติกรรมใช้ซ้ำ ทว่าสังคมได้มีอคติไปแล้วจึงเป็นเรื่องแก้ยาก

"ตามทฤษฎีจิตวิทยากลุ่ม ในวิกฤตโรคระบาดแบบตอนนี้ คนเราจะเครียดและขาดการใช้เหตุผล เราจะมองแต่ปัจจุบันและปัดให้เรื่องของอนาคตตกไป ทว่าเรื่องโรคระบาดและสิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่ทางสองแพร่งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ปัญหาขยะพลาสติกก็เป็นปัญหาสุขภาพ เราต้องป้องกันปัญหาหลายอย่างได้พร้อมกัน" Ben กล่าว

งานวิจัยหลายชิ้นได้รับรองความเกี่ยวโยงของไมโครพลาสติกกับสุขภาพมนุษย์ แม้ขยะพลาสติกจะจัดเก็บถูกวิธีและถูกส่งไปฝังกลบมักจะรั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำและต่อสู่ทะเล โดนย่อยสลายตามธรรมชาติจากแสงพระอาทิตย์และคลื่นทำให้แตกหักจากพลาสติกชิ้นใหญ่กลายเป็นชิ้นจิ๋ว เรียกว่า "ไมโครพลาสติก"

ผศ.ดร.ถนอมศักดิ์ บุญภักดี อาจารย์จากภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อธิบายถึงอันตรายของไมโครพลาสติกว่า

"น้ำ 1 ลิตรมีไมโครพลาสติกกว่าหมื่นชิ้น ไมโครพลาสติกเองก็เป็น ?มลพิษ? อย่างหนึ่ง ปนเปื้อนอยู่ในทะเล อยู่ในลำคลอง และอาหารทะเลที่คนกินกันอย่างหอยแมลงภู่และหอยนางรมเพราะมันมีขนาดเล็กกว่า 1 ไมครอนเลยสามารถเคลื่อนไปอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิตได้"

"งานวิจัยที่ผมทำ พบว่าหอยแมลงภู่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อเยื่อเมื่อไมโครพลาสติกเข้าสู่เซลล์ ทำให้ระบบสืบพันธุ์ล้มเหลว นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งที่แสดงว่าไมโครพลาสติกมีคุณสมบัติทางเคมีคือไม่ละลายน้ำ (Hydrophobics) ไมโครพลาสติกจะทำหน้าที่เป็นนิวเคลียสให้สารละลายอื่นๆ มาเกาะ เช่น สารตระกูลปิโตรเลียม ดังนั้นพอไมโครพลาสติกปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารและเข้าร่างกายคนได้ มันก็จะพาเอาสหายสารพิษทั้งหลายเข้าไปด้วย"

ถนอมศักดิ์พบไมโครพลาสติกจำนวนมากกับสาร BPA (Bisphenol A) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตขวดพลาสติกในน้ำทิ้งลงลำคลองที่ชลบุรี แม้จะยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าเมื่อสารสองตัวนี้มาเจอกันจะเกิดปฏิกิริยาอะไรขึ้น แต่เขาตั้งคำถามถึงผลกระทบทางสุขภาพเพราะสารตัวนี้นับเป็นสารก่อมะเร็งตัวหนึ่งที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการสมอง

"ปัจจุบัน งานวิจัยเกี่ยวกับไมโครพลาสติกในไทย รวมถึงในต่างประเทศยังมีน้อยมาก เป็นเหตุให้ยังไม่สามารถออกค่ามาตรฐานได้ว่าไมโครพลาสติกปริมาณเท่าไหร่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและหาทางรับมือที่เหมาะสม ผมว่าเราต้องพูดคุยเรื่องนี้กันต่ออย่างเร่งด่วน"


(มีต่อ)
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 31-07-2020
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Greennews


พิษโควิดทำพลาสติกระบาด: เรื่องสุขภาพที่เราลืมป้องกัน ..... ต่อ


ทางเลือกของคนไทย

ปัญหาขยะพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยเป็นห่วงมากที่สุด Kantar บริษัทเก็บข้อมูลได้ออกรายงานเมื่อเดือนมีนาคม เผยว่าผู้บริโภคไทย 18% เป็นห่วงเรื่องขยะพลาสติก สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 15% เรียกได้ว่า คนไทยเป็นชาติที่ใส่ใจปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก

งานวิจัยดังกล่าวยังเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า 35% ของผู้บริโภคคาดหวังให้บริษัทผู้ผลิตเป็นผู้รับผิดชอบและนำเทรนด์การลดขยะพลาสติก

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษร่วมมือกับบริษัทจัดส่งอาหารภาคเอกชน ลดปริมาณขยะพลาสติกจากการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ ซึ่งนับเป็นต้นกำเนิดหลักของขยะพลาสติกช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ความร่วมมือนี้จะพัฒนาบริการรับส่งอาหารแบบไร้ขยะ แต่ยังรักษาความพอใจของลูกค้า เช่น ให้ลูกค้าเลือกใช้บริการกล่องอาหารที่ใช้ซ้ำได้ โดยจ่ายค่ามัดจำไว้แล้วรับคืนเมื่อส่งคืนกล่องอาหารในเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ภาชนะดังกล่าวจะต้องนำไปรีไซเคิลได้ เป็นแนวทางหนึ่งที่รองรับธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ที่เติบโตขึ้นกว่า 300% ช่วงล็อกดาวน์


แนวทางลดขยะจากการสั่งเดลิเวอรี่ / สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม / พรเทพ จันทร์ยม

สำหรับคำชี้แจ้งว่าพฤติกรรมใช้ซ้ำนั้นปลอดภัยไร้โรคเหมือนที่สังคมกังวลหรือไม่ เขาแจ้งว่าไม่ทราบรายละเอียด แต่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการต่างๆ ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน

"ชาวไทยทุกคนยังตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาขยะพลาสติกดีและพร้อมจะกลับมาลดปริมาณขยะพลาสติกกันทุกคน ต้องขอบคุณพี่น้องคนไทยทุกคนครับ" ผู้นำทิศทางสิ่งแวดล้อมไทย กล่าว


https://greennews.agency/?p=21480

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 10:59


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger