#1
|
||||
|
||||
กระเบนน้ำจืด
กระเบนน้ำจืด .................... โดย วินิจ รังผึ้ง นับเป็นข่าวที่ทำให้หลายๆคนเศร้าใจ ในกรณีที่เรือบรรทุกน้ำตาลขนาดใหญ่ล่มลงในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำที่กระแสน้ำเปลี่ยนทางเดินแล้วไหลกัดเซาะตลิ่งจนบ้านเรือนพังไปหลายหลัง ซึ่งกว่าจะทำการกู้เรือกันขึ้นมาได้ก็ต้องใช้เวลาหลายวัน ซึ่งนอกจากผลกระทบต่อบ้านเรือชาวบ้านริมฝั่งใกล้ที่เกิดเหตุแล้ว ผลกระทบใหญ่หลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือ น้ำตาลปริมาณมหาศาลที่จมอยู่ใต้น้ำหลายวันได้ละลายปนเปื้อนไปกับมวลน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เกิดผลกระทบต่อกุ้ง หอย ปู ปลา และสรรพชีวิตในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีคนเป็นห่วงเป็นใยว่าในอีก 3-5 ปีจากนี้ไป สัตว์น้ำในเจ้าพระยาบริเวณที่ได้รับผลกระทบจะลดปริมาณลง ความจริงน้ำตาลที่เราบริโภคกันทุกเมื่อเชื่อวัน แม้นจะไม่ใช่สารพิษ แต่เมื่อมันผสมลงไปในน้ำเป็นปริมาณมากและมีความเข้มข้นสูง ก็จะทำให้ปริมาณของออกซิเจนในน้ำลดน้อยลง ปลาและสัตว์น้ำต่างๆจึงไม่สามารถจะทนอยู่ได้ โดยน้ำตาลที่มีน้ำหนักและความหนาแน่นมากกว่าน้ำก็จะผสมและปนอยู่ใต้พื้นน้ำเป็นจำนวนมากและเข้มข้นกว่าบริเวณผิวน้ำ สัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกก็คือสัตว์ที่อาศัยหรือหากินอยู่บริเวณน้ำลึก เช่นพวกปลาหน้าดินทั้งหลายอย่างปลากระเบนน้ำจืดขนาดยักษ์ที่เรียกกันว่า "กระเบนราหู" ตัวขนาดความกว้าง 2-3 เมตร ซึ่งน่าจะมีอายุอยู่คู่กับเจ้าพระยามาเป็นสิบๆปี ก็ต้องลอยขึ้นมาฮุบอากาศหายใจบนผิวน้ำ และตายลงอย่างน่าอเนจอนาถไปหลายตัว นอกจากนี้ยังมีปลาลิ้นหมาซึ่งว่ายน้ำหากินบนพื้นทรายใต้น้ำก็ลอยขึ้นมาตายเป็นจำนวนมาก และยังมีปลากด ปลาดุก รวมถึงปลากลางน้ำพวกปลาเกล็ดทั้งหลายก็ลอยขึ้นมาฮุบน้ำ ฮุบอากาศบนผิวน้ำและตายลงไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆในสัปดาห์แรก ปลาตายลอยกันเป็นแพ บางพื้นที่ตายกันทั้งคุ้งน้ำ ซึ่งปลาที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติที่มีความแข็งแรงทนทานต่อสภาพแวดล้อมยังไม่สามารถจะทานทนอยู่ได้ แล้วประสาอะไรกับปลาเลี้ยงในกระชังที่เป็นประเภทปลาคุณหนูทั้งหลายที่ถูกเลี้ยงดูแบบประคบประหงมก็เลยพร้อมใจลอยตายกันทั้งกระชัง สร้างความเสียหาย สร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งปลาทั้งเกษตรกรและผู้คนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นอย่างมาก แม้นเหตุการณ์จะเริ่มคลี่คลายโดยเรือบรรทุกน้ำตาลต้นเหตุก็ถูกกู้ขึ้นมาแล้ว และสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็กลับเข้าสู่ภาวะปรกติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นลำดับแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่ยังน่าเป็นห่วงเป็นใยก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นจะได้รับการเยี่ยวยากันอย่างไร และจะต้องใช้เวลาเท่าใด ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีอยู่และเป็นมาจะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง โดยเฉพาะกระเบนราหูขนาดใหญ่ที่เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ต้องตายลงไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระเบนราหูน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นนับเป็นปลากระเบนพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกระเบนราหูน้ำเค็ม (Manta ray) ที่อยู่ในท้องทะเลเลยทีเดียว โดยกระเบนราหูน้ำจืด (Giant freshwater whipray) เป็นกระเบนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำขนาดใหญ่เช่นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำบางประกง แม่น้ำโขง ในทะเลสาบเขมร หรือในแม่น้ำกลางผืนป่าบนเกาะบอเนียว นิวกีนี ไปจนถึงออสเตรเลียตอนเหนือ ลักษณะลำตัวแบนกว้างทรงกลมมีส่วนหัวแหลมยื่นออกมา มีหางยาวลักษณะเป็นคล้ายแส้ ที่โคนหางจะมีเงี่ยงแหลม 2 อัน ใช้เป็นอาวุธที่สามารถจะตวัดทิ่มแทงศัตรูผู้รุกรานให้เจ็บปวดรวดร้าวได้อย่างแสนสาหัส ด้วยเงี่ยงแหลมนี้จะมีต่อพิษที่อยู่ใกล้ๆโคนหางที่พร้อมจะฉีดออกมาเพิ่มความร้ายกาจให้กับอาวุธป้องกันตัวของมันเป็นอย่างยิ่ง เงี่ยงของกระเบนราหูขนาดใหญ่นั้นอาจจะมีความยาวได้ราว 8-10 นิ้วเลยทีเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับดาบปลายปืนของทหารเท่าใดนัก และเจ้าเงี่ยงที่เป็นอาวุธป้องกันตัวนี้ หากเกิดแทงศัตรูจนหักคาอก มันก็สามารถจะงอกขึ้นมาใหม่ได้ กระเบนราหูน้ำจืดนั้นหากโตเต็มที่จะมีขนาดความกว้างของลำตัวกว่า 4 เมตร และหนักได้ถึง 600 กิโลกรัมได้เลยทีเดียว ด้วยขนาดความใหญ่โตน่าเกรงขามของลำตัว และรูปทรงกลมสีน้ำตาลเข้มที่คล้ายราหูอมจันทร์ เหมือนจะว่ายเข้าบดบังและกลืนกินอะไรต่อมิอะไรได้ ชาวบ้านจึงเรียกกันว่ากระเบนราหู แม้นเรื่องราวของกระเบนราหูน้ำจืดจะดูลึกลับมืดดำเหมือนชื่อและวิถีชีวิตที่ชอบอาศัยอยู่ใต้น้ำลึกในน้ำขุ่นใต้บาดาล แต่ก็ยังอุตส่าห์มีนักวิชาการที่ทำการศึกษาและมีข้อมูลว่าเจ้าปลากระเบนราหูน้ำจืดนั้นตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ซึ่งอาจจะใหญ่และมีน้ำหนักมากกว่าได้ถึง 80 เท่าเลยทีเดียว เพราะปลากระเบนราหูตัวเมียจะต้องมีบทบาทหน้าที่ในการอุ้มท้องเผยแพร่เผ่าพันธุ์ โดยปลากระเบนราหูจะออกลูกเป็นตัว ซึ่งลูกปลาที่คลอดออกมาใหม่ๆ จะมีขนาดความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร และจะมีปลอกหุ้มเงี่ยงแหลมที่โคนหางเอาไว้ เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อแม่ปลา โดยแม่ปลาจะออกลูกครั้งละ 2-3 ตัว ซึ่งก็ต้องถือว่ามีปริมาณลูกน้อย จึงเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้กระเบนราหูจะสูญพันธุ์ได้โดยง่าย และในปัจจุบันตามแหล่งน้ำลำคลองก็ยังมีการล่ากระเบนราหูกันขึ้นมากินขึ้นมาขายอยู่เป็นประจำ ยิ่งต้องมาประสบกับปัญหาเรือบรรทุกน้ำตาลล่มทำให้ปลาตาบแบบล้างคุ้งน้ำกันเช่นนี้ ก็น่าเป็นห่วงว่ากระเบนราหูในแม่น้ำเจ้าพระยาจะยิ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากเข้าไปทุกที ด้วยความที่กระเบนราหูน้ำจืดอาศัยอยู่ใต้น้ำลึกบริเวณก้นแม่น้ำ และแม่น้ำลำคลองของบ้านเรานั้นส่วนใหญ่น้ำก็จะมีความขุ่นจนยากที่จะมองเห็นหรือดำลงไปพบตัวหรือดำลงไปถ่ายภาพได้ง่ายๆ จะเห็นกันอีกทีก็ตายลอยขึ้นมาติดฝั่ง หรือถูกจับถูกล่าขึ้นมาเท่านั้น ผมจึงได้แต่นำภาพของปลากระเบนราหูน้ำเค็ม และปลากระเบนหน้าดินซึ่งมีขนาดใหญ่และรูปร่างหน้าตาคล้ายๆกับปลากระเบนราหูน้ำจืดมาให้ดูหน้าตาเป็นการเปรียบเทียบไปก่อนครับ จาก .................... ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 14 มิถุนายน 2554
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|