เลือกสีตามสไลต์ที่คุณชอบ:
SaveOurSea.NET  

กลับไป   SaveOurSea.NET > สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม

ตอบ
 
Share คำสั่งเพิ่มเติม เรียบเรียงคำตอบ
  #1  
เก่า 21-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันเสาร์ที่ 21 ตุลาคม 2566

ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา


สภาวะอากาศทั่วไป

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นได้ในระยะแรก และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนล่าง และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มในระยะนี้

สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง


กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักและลมกระโชกแรงบางแห่ง
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส
ลมแปรปรวน ความเร็ว 10-25 กม./ชม.


คาดหมาย

ในช่วงวันที่ 21 ? 23 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน และทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออก เกิดขึ้นได้ในระยะแรก หลังจากนั้นฝนจะลดลง ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

ส่วนในช่วงวันที่ 24 ? 26 ต.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนเริ่มมีกำลังอ่อนลง ส่งผลให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย
เข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น โดยฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักบางแห่ง ขณะที่ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยตลอดช่วง โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตลอดช่วง

อนึ่ง พายุโซนร้อน "ซันปา" (SANBA) บริเวณอ่าวตังเกี๋ย คาดว่าจะอ่อนกำลังลงในช่วงวันที่ 21 - 22 ต.ค. 66 โดยพายุนี้ไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย สำหรับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย


ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 20 ? 21 ต.ค. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย สำหรับประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วยตลอดช่วง






__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #2  
เก่า 21-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์


ฮือฮาซากสัตว์ประหลาดจากทะเล ดูคล้าย 'เงือก' สีขาว

พบซากสัตว์ทะเลเกยหาดในปาปัวนิวกินี รูปร่างคล้าย 'เงือก' ด้านผู้เชี่ยวชาญคาด เป็นสัตว์ประเภทเลี้ยงลูกด้วยนม แต่สรุปไม่ได้ว่าคืออะไร



ผู้เชี่ยวชาญสัตว์ทะเลรุมวิเคราะห์ภาพซากสัตว์สีขาวรูปร่างประหลาดที่เกยตื้น ณ หาดบนเกาะแห่งหนึ่งในประเทศปาปัวนิวกินี แต่ยังไม่อาจหาข้อสรุปได้

ภาพของซากสัตว์ทะเลดังกล่าวมีผู้นำมาโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กเพจ 'นิวไอร์แลนเดอร์ส โอนลี' เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 ระบุว่าชาวบ้านพบซากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่นี้มาเกยตื้นริมหาดบนเกาะเล็ก ๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อว่า ซิมเบริ ?

เกาะแห่งนี้เป็นเกาะที่เกิดจากภูเขาไฟในทะเลบิสมาร์ก จังหวัดนิวไอร์แลนด์ ประเทศปาปัวนิวกินี มีประชากรราว 1,000 คน

ซากดังกล่าวไม่มีส่วนหัว มีเพียงท่อนหางและลำตัวซึ่งชิ้นเนื้อหลุดหายไปบางส่วน ทั้งร่างเป็นสีขาว ขนาดใหญ่พอ ๆ กับตัวคน เมื่อมองโดยผิวเผิน ชวนให้จินตนาการไปได้ว่าเป็นซากของ 'เงือก' ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานและเทพนิยาย

ซากสัตว์ประหลาดนี้ถูกเรียกรวม ๆ กันว่า Globster หมายถึงซากวัตถุ? ซากสัตว์หรือก้อนเนื้อลึกลับที่ไม่อาจระบุที่มาได้ และโดนซัดมาเกยตื้นที่ชายฝั่ง ส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์เพราะความเน่าเปื่อยทำให้บางชิ้นส่วนหลุดหายไป จนไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่าคือซากอะไร?

ซากสัตว์สีขาวในกรณีนี้มีชิ้นส่วนที่หลุดหายไปคือส่วนหัวและเนื้อชิ้นใหญ่บางจุด อีกทั้งไม่มีรายละเอียดเรื่องขนาดและน้ำหนักของซากดังกล่าว เพราะชาวบ้านที่พบไม่ได้จดบันทึกหรือวัดขนาดไว้ตามหลักเกณฑ์ ไม่มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอ ก่อนที่จะนำซากดังกล่าวไปฝัง ทำให้ไม่สามารถระบุชนิดของสัตว์ที่กลายเป็นซากในครั้งนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจึงทำได้เพียงสันนิษฐานจากภาพถ่ายมุมต่าง ๆ ที่มีผู้บันทึกไว้เท่านั้น

เฮเลน มาร์ช นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยเจมส์ คุกแห่งออสเตรเลีย ให้ความเห็นว่ามันน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล ส่วน ซาชา ฮูเคอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลจากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์สแห่งสกอตแลนด์ มองว่าน่าจะเป็นซากที่เน่าเปื่อยของสัตว์จำพวกวาฬหรือโลมา โดยผิวหนังของสัตว์เหล่านี้จะมีการเปลี่ยนสี เมื่อเน่าเปื่อยและหลุดออกจากร่าง

เอริค ฮอยต์ นักวิจัยจากศูนย์อนุรักษ์โลมาในอังกฤษก็เห็นด้วยว่าน่าจะเป็นซากของวาฬขนาดเล็ก อย่างไรก็ตาม เขามองว่าอีกความเป็นไปได้คือ อาจเป็นซากของพะยูน ซึ่งมักมาหากินในทุ่งหญ้าทะเลซึ่งอยู่ในเขตมหาสมุทรน้ำตื้นของปาปัวนิวกินี คาดว่ามันน่าจะตายมาแล้วหลายสัปดาห์

แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญที่เห็นแย้งว่า ซากสัตว์สีขาวนี้ไม่น่าจะเป็นวาฬหรือพะยูน แต่น่าจะเป็นปลานักล่าอย่างฉลาม

แกวิน เนย์เลอร์ นักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดาซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับปลาฉลามเป็นพิเศษ คิดว่าซากนี้อาจเป็นซากที่เหลืออยู่ของฉลามขนาดใหญ่ แม้ว่ามันจะดูประหลาดมากที่ส่วนผิวหนังของสัตว์ตัวนี้เน่าเปื่อยและหลุดออกไปเกือบหมดทั้งตัว?

ทว่า เกรกอรี สโคมัล ซึ่งเป็นนักชีววิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยบอสตัน และเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องฉลามเช่นกัน กลับมองว่า ซากร่างนี้ไม่น่าจะเป็นปลาฉลาม แม้ว่าในตอนแรกเขาก็คิดว่ามันน่าจะเป็นฉลามตัวใหญ่ แต่เมื่อพิจารณาไปนาน ๆ เขากลับมองว่ามันน่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลมากกว่า

เขาชี้ว่าในรูปที่ถ่ายให้เห็นส่วนที่น่าจะเป็นกระดูกสันหลังของสัตว์ตัวนี้ ดูแล้วเหมือนกระดูกสันหลังของวาฬมากกว่าฉลาม นอกจากนี้ยังมีชิ้นส่วนที่ดูคล้ายกับหลอดลมห้อยอยู่ตรงบริเวณใกล้ส่วนที่น่าจะเป็นหัวที่หายไปของมัน ซึ่งหากเป็นหลอดลมจริง ก็แสดงว่าซากนี้ไม่ใช่ปลาฉลาม

แต่ที่แน่นอนยิ่งกว่าอะไรทั้งหมดคือไม่มีผู้เชี่ยวชาญคนไหนมองว่านี่คือซากของ 'เงือก' ในตำนานเลย

ที่มา : livescience.com.


https://www.dailynews.co.th/news/2824217/

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....

แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย สายน้ำ : 21-10-2023 เมื่อ 03:02
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #3  
เก่า 21-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก กรุงเทพธุรกิจ


ภาวะโลกร้อน ทำลาย 'ใบไม้เปลี่ยนสี' เกิดช้าลง-สีเปลี่ยน .......... โดย กฤตพล สุธีภัทรกุล



ปรากฏการณ์ ?ใบไม้เปลี่ยนสี? ในญี่ปุ่นและสหรัฐ เป็นแหล่งดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไปชมความสวยงาม แต่ความงามนี้กำลังจะหายไป เพราะภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้อากาศแปรปรวน

ช่วงเดือนก.ย.- ต.ค. เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนเข้าฤดูใบไม้ร่วง โดยปรกติแล้วจะเป็นช่วงเวลาที่เกิด "ใบไม้เปลี่ยนสี" ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐ แคนาดา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปชมความสวยงามของแนวป่าไม้ที่ผลัดจากสีเขียวกลายเป็นสีแดงปนส้มสวยสะดุดตา แต่ดูเหมือนว่าในช่วงระยะหลังมาสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น ทำให้ใบไม้ร่วงก่อนที่เปลี่ยนสี

การเปลี่ยนสีของใบไม้ เป็นกลไกทางธรรมชาติ เกิดช่วงก่อนเข้าฤดูหนาวที่กลางวันสั้นกว่ากลางคืน และมีอุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้ใบหยุดกระบวนการสร้างอาหาร คลอโรฟิลล์ค่อยๆ สลายตัว สีเขียวของใบไม้จึงเริ่มจางลง ส่งผลให้รงควัตถุสีอื่นๆ ในใบไม้ เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีม่วง ที่ถูกบดบังจากสีเขียวในสภาวะปรกติ ปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ผลัดใบทิ้ง


ใบไม้เปลี่ยนสี มาช้าทั่วโลก

เนื่องด้วยในปีนี้อุณหภูมิของโลกพุ่งสูงขึ้นตนกลายเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่งผลให้กรุงโตเกียวมีวันที่อุณหภูมิสูงกว่า 30 องศาเซลเซียส ถึง 88 วัน ส่วนในเมืองนาโกยาเจออุณหภูมิสูงทะลุ 40 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่มีการบันทึกไว้

ดูเหมือนว่าอุณหภูมิยังคงสูงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นสภาพอากาศแปรปรวนผิดฤดูกาลไปหมด ส่งผลให้ปรากฏการณ์ใบไม้เปลี่ยนสี หรือ "โคโย" (Koyo) จะอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีแทน และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ใบไม้เปลี่ยนสีจะไม่สดใสเหมือนเดิม กลายเป็นเพียงใบไม้แห้งคาอยู่บนกิ่งไม้เท่านั้น

ดร.โยชิฮิโระ ทาจิบานะ ศาสตราจารย์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และระบบนิเวศของมหาวิทยาลัยมิเอะ กล่าวว่า ในอนาคตญี่ปุ่นจะมีเพียงฤดูร้อนที่ยาวนาน และฤดูหนาวในช่วงสั้น ไม่มีฤดูใบไม้ผลิหรือฤดูใบไม้ร่วงเลยก็ได้ แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องปรกติ แต่มันจะกลายเป็นสภาพอากาศ "ปรกติ" ของญี่ปุ่นในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายเร็วขึ้น และขั้วโลกเหนือยังคงอุ่นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในสหรัฐ และแคนาดาก็ประสบปัญหาใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วงหรือ "Fall Foliage" มาช้ากว่าปรกติด้วยเช่นกัน ต้นไม้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสีเขียว แม้ว่ามันควรจะเป็นสีอื่นๆ แล้วก็ตาม


ต้นไม้ปรับตัวไม่ทัน

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2021 ของนักวิจัยในสหรัฐพบว่า ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนเป็นสีแดงช้าลงร่วมเดือน นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 โดยมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงการเกิดหยาดน้ำฟ้า การแพร่ระบาดของแมลงและโรคระบาด ซึ่งทำให้คาดเดาช่วงเวลาของใบไม้เปลี่ยนสีได้ยากขึ้น

เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนานขึ้น ทำให้ฤดูใบไม้ผลิมาเร็วกว่าปกติ ต้นไม้จึงมีช่วงการเจริญเติบโตที่ยาวนานขึ้น แต่กลับมีระยะพักตัวในฤดูใบไม้ร่วงที่สั้นลง ผลที่ตามมาคือ

ต้นไม้อาจไม่มีโอกาสดูดซับน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่ยังคงอยู่ในใบสีเขียว ก่อนที่น้ำค้างแข็งในฤดูหนาวครั้งแรกจะหมดลง ซึ่งอาจทำให้ต้นไม่มีอาหารเพียงพอจนถึงฤดูใบไม้ผลิถัดไป

"ต้นไม้อาจไม่เคยชินกับสภาพแวดล้อมใหม่ และใบไม้อาจร่วงหล่นก่อนที่พวกมันจะดึงสารอาหารออกไปจนหมด เปรียบเหมือนกับเราถูกแช่แข็งโดยไม่ทันตั้งตัว" ฮาวเวิร์ด นอยเฟลด์ นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยรัฐแอปพาเลเชียน เตือนภัยแล้งที่รุนแรง สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้ต้นไม้เกิดความเครียด หากแห้งแล้งมาก ใบไม้จะกลายเป็นสีน้ำตาลเพราะขาดน้ำ และร่วงหล่นตั้งแต่เดือนส.ค. เช่นเดียวกับสภาพอากาศสุดขั้ว เช่น การเกิดพายุสามารถทำให้ใบไม้ร่วงลงจากต้นไม้หมดทั้งต้น

การศึกษาในปี 2003 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Tree Physiology นั้นระบุว่า "ความเครียดที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม" อาจเร่งการเสื่อมโทรมของใบไม้ได้ ความแห้งแล้งที่รุนแรงจะส่งผลกระทบต่อต้นไม้ หนึ่งในนั้นคือ การเกิดสภาวะที่เรียกว่า "ใบไม้แห้งเกรียม" เป็นช่วงเวลาที่ใบไม้เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเร็วเกินไป ใบไม้เปลี่ยนสีตั้งแต่เนิ่น ๆ และร่วงหล่นลงบนพื้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ฤดูกาลชมใบไม้สั้นลง และความสวยงามลดน้อยลง

เมื่อต้นไม้ไม่แข็งแรงพอ ก็จะดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ได้ลดลง ขณะเดียวกันเมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น ยิ่งทำให้สภาวะเรือนกระจกรุนแรงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตสีของใบไม้เปลี่ยนสีอาจจะเปลี่ยนไปด้วย เนื่องจากมีต้นไม้จำนวนหนึ่งที่ตายลง เพราะไม่สามารถปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศได้ โดยนักวิทยาศาสตร์คาดว่า สีของต้นไม้ที่มีสีแดงจะอยู่บนเทือกเขาทางตอนเหนือ ส่วนทางใต้จะเป็นสีเหลืองทอง

นอกจากวิกฤติทางธรรมชาติแล้ว ช่วงเวลาใบไม้เปลี่ยนสีที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้การท่องเที่ยวสะดุดด้วยเช่นกัน เพราะการท่องเที่ยวในฤดูใบไม้ร่วงสามารถทำเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์มาเข้าสู่ประเทศ โดยเฉพาะในปีนี้ที่พึ่งฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวต้องการไปเยี่ยมชมความสวยงามของธรรมชาติ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาวะโลกร้อนที่เป็นปัจจัยหลักที่ทำลายการเกิดใบไม้เปลี่ยนสี และสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ทาจิบานะหวังให้คนตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม

"แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์ และเราไม่สามารถหวังให้น้ำแข็งขั้วโลกกลับมาเป็นเหมือนเดิมในเร็ววัน

แต่เราทุกคนก็ยังจำเป็นต้องเปลี่ยนความตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เพราะเราจะต้องอยู่กับสภาพอากาศที่เลวร้ายยิ่งกว่าที่เราเผชิญในปีนี้"


ที่มา: Financial Times, Japan Today, National Geographic, VOA Thai


https://www.bangkokbiznews.com/environment/1094819

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
  #4  
เก่า 21-10-2023
สายน้ำ's Avatar
สายน้ำ สายน้ำ is offline
Senior Member
 
วันที่สมัคร: May 2009
ข้อความ: 12,879
Default

ขอบคุณข่าวจาก Nation TV


วาฬไรต์ เสี่ยงสูญพันธุ์ เนื่องจากเรือละเมิดกฎควบคุมความเร็วที่แอตแลนติก



ปัจจุบันนี้ ประชากรของวาฬไรต์เหลืออยู่ราว 340 ตัว ซึ่งสาเหตุที่วาฬสายพันธุ์นี้ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกปี ก็เพราะชนเข้ากับเรือจนได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ก็เสียชีวิต สถานภาพของ 'วาฬไรต์' ที่อาศัยอยู่แถบมหาสมุทรแอตแลนติก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง

เป็นที่ทราบกันดีว่า วาฬไรต์ (Right Whale) ถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภัยคุกคามจากเรือเดินสมุทร และล่าสุด The Guardian รายงานว่า สถานภาพของ 'วาฬไรต์' ที่อาศัยอยู่แถบมหาสมุทรแอตแลนติก กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงจากการที่ เรือหลาย ๆ ลำที่แล่นผ่านโซนแล่นช้า (Slow zone) ละเมิดกฎควบคุมความเร็ว

ปัจจุบันนี้ ประชากรของวาฬไรต์เหลืออยู่ราว 340 ตัว ซึ่งสาเหตุที่วาฬสายพันธุ์นี้ เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ ทุกปี ก็เพราะชนเข้ากับเรือจนได้รับบาดเจ็บ หรือไม่ก็เสียชีวิต นั่นก็เพราะ วาฬชนิดนี้มักว่ายอยู่บริเวณผิวน้ำ และด้วยร่างกายที่มีสีเข้มของพวกมันที่กลืนไปกับผิวน้ำ ทำให้คนผู้บังคับเรือยากที่จะสังเกตเห็นวาฬได้

แล้วเรือที่แล่นอยู่บริเวณดังกล่าวมีกฎอะไรควบคุมหรือไม่ เพื่อลดการสูญเสียของประชากรวาฬไรต์ ชวนย้อนดูกฎความเร็วที่ออกโดย องค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติ (the national oceanic and atmospheric administration หรือ NOAA) ที่ออกเมื่อปี 2551

ข้อบังคับมีอยู่ว่า เรือทุกลำที่มีความยาว 65 ฟุตขึ้นไป ต้องแล่นเรือที่ความเร็ว 10 น็อต หรือราว ๆ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในโซนเฉพาะ หรือโซนพื้นที่มีการจัดการตามฤดูกาลในแถบชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยจุดประสงค์ของข้อบังคับนี้ก็เพื่อช่วยปกป้องอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับวาฬนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม กฎดังกล่าวก็ยังไม่สามารถควบคุมอะไรได้มากพอ เพราะการละเมิดกฎเกิดขึ้นอยู่เรื่อย ๆ นับตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าไล่ไปจนถึงเรือยอร์ชสุดหรูหรา ก็ล้วนถูกบันทึกว่าแล่นเรือด้วยความเร็วเกินกว่าที่ NOAA กำหนดถึง 3 เท่า

สถิติที่ได้รับการบันทึกไว้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ถึงเดือนกรกฎาคม 2022 เกี่ยวกับประเด็นการแล่นเรือในบริเวณโซนแล่นช้าตามบริเวณชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐพบว่า

ในบรรดาเรือที่แล่นผ่านโซนแล่นช้า เรือบรรทุกสินค้าคือผู้ที่ละเมิดกฎดังกล่าวมากที่สุด คิดเป็นครึ่งหนึ่งของเรือเร่งทั้งหมด

"เรือที่แล่นเร็วสามารถฆ่าวาฬไรต์ในแอตแลนติกเหนือได้" กิ๊บ โบรแกน ผอ. การรณรงค์หาเสียงของโอเชียนากล่าว

"โซนแล่นช้า ที่มีการบังคับใช้อย่างดี คือวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการปกป้องวาฬจากภัยคุกคามบนน่านน้ำ"

กิ๊บ โบรแกน เปรียบเทียบให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นว่า ?โซนแล่นช้า? ในทะเล สามารถเปรียบได้กับ ป้ายลดความเร็วบริเวณโรงเรียน ที่มีไว้เพื่อปกป้องเด็ก ๆ จากอุบัติเหตุบนท้องถนน

แต่ครั้นมีกฎที่ควบคุมแล้ว เหล่าวาฬก็ไม่วายได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยปกติแล้ว วาฬจะตกลูกและอาศัยอยู่ที่บริเวณน่านน้ำฟลอริดา จอร์เจีย และเซาท์แคโรไลนา ฉะนั้น การชนเข้ากับเรือ อาจทำให้วาฬได้รับบาดเจ็บจากแรงกระแทกจากเรือ หรือถูกเกี่ยวเข้ากับอุปกรณ์ดักปลาต่าง ๆ ที่มนุษย์วางเอาไว้ ร้ายแรงกว่านั้น วาฬอาจถูกถูกใบพัดเรือเฉือนที่บริเวณลำตัว จนทำให้เสียชีวิตได้

"หากผู้นำสหรัฐฯ และแคนาดา สามารถเพิ่มมาตรการสำหรับการคุ้มครองวาฬไรท์ในแถบแอตแลนติกเหนือจากภัยคุกคามได้ บางทีวาฬไรต์อาจจะยังไม่ถึงคราวที่ต้องสูญพันธุ์"

เราคงได้เห็นแล้วว่า การจำกัดความเร็วการแล่นเรือบนน่านน้ำที่ 10 น็อต สามารถช่วยลดสาเหตุที่อาจนำไปสู่ การบาดเจ็บหรือการเสียชีวิตของวาฬได้ อีกทั้งยังช่วยให้ คนบนเรือสามารถสังเกตได้ง่ายขึ้น ว่าขณะนี้มีวาฬว่ายอยู่บริเวณเรือ จะได้มีการระมัดระวังมากยิ่งขึ้น


ขอขอบคุณที่มา: https://www.theguardian.com/environm...e_iOSApp_Other


https://www.nationtv.tv/gogreen/378933809

__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า ....
ตอบพร้อมอ้างอิงข้อความเดิม
ตอบ


กฎการส่งข้อความ
You may not post new threads
You may not post replies
You may not post attachments
You may not edit your posts

BB code is ใช้ได้
Smilies are ใช้ได้
[IMG] code is ใช้ได้
HTML code is งดใช้

Forum Jump


เวลาทั้งหมดอยู่ในเขตเวลา GMT +7 และเวลาในขณะนี้คือ 04:56


vBulletin รุ่น 3.8.10
สงวนลิขสิทธิ์ ©2000-2024, บริษัท Jelsoft Enterprises จำกัด
Ad Management plugin by RedTyger