#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง และอ่าวไทยตอนบน ทะเลมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองในระยะนี้ไว้ด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-36 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 12 ? 14 มิ.ย. 66 ร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมาและประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยจะมีกำลังปานกลาง โดยทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ส่วนบริเวณทะเลอันดามันตอนล่างและบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 15 ? 18 มิ.ย. 66 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้ คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ข้อควรระวัง ในช่วงวันที่ 13 ? 14 มิ.ย. 66 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนตกสะสม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการ
ผงะ! ชายหาดบ้านอำเภอ เมืองสัตหีบ จ.ชลบุรี ทรุดโทรมหนักหลังขาดการดูแล ศูนย์ข่าวศรีราชา -ผงะ! ชายหาดบ้านอำเภออีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล เมืองสัตหีบ จ.ชลบุรี ไร้การเหลียวแลจนเกิดการเสื่อมโทรมอย่างหนัก ทั้งขยะถูกคลื่นซัดลอยเกลื่อน ทุ่นลอย 37 ล้านบาทเสียหายหนัก ชาวบ้านจี้หน่วยงานรัฐดูแลด่วน วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากประชาชนและนักท่องเที่ยวให้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณชายหาดบ้านอำเภอ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หลังพบว่าปัจจุบันมีสภาพเสื่อมโทรมอย่างหนัก จนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว จากการตรวจสอบพบว่า บริเวณชายหาดมีสภาพเสื่อมโทรมจริง น้ำทะเลเป็นสีดำสกปรก และยังมีขยะมูลฝอยลอยอยู่ในทะเล รวมถึงถูกคลื่นซัดเกยชายหาดกินพื้นที่เป็นวงกว้าง ไม่เพียงเท่านั้น ทุ่นลอยอเนกประสงค์ ที่จัดทำไว้เพื่อเป็นสะพานทอดยาวลงไปในทะเล ด้วยงบประมาณสูงถึง 37 ล้านบาท ก็เกิดการชำรุดเสียหาย ชิ้นส่วนกระจัดกระจาย ต้นไม้บางส่วนยืนต้นตาย เบื้องต้นยังไม่มีหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาดูแล ชาวบ้านในพื้นที่จึงฝากวอนให้เร่งเข้าดำเนินการซ่อมแซมทุ่นลอยที่มีสภาพชำรุดอย่างหนัก เพราะเกรงว่าหากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่นักท่องเที่ยวและอาจหลุดลอยหายไปในทะเล จนเกิดความเสียหาย ส่วนสภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยขยะมูลฝอยก็ขอให้เร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำการฟื้นฟูให้กลับมาสวยงามดังเดิม https://mgronline.com/local/detail/9660000053729 ****************************************************************************************************** ชาวประมงพื้นบ้านอ่างศิลาพบ "อำพันทะเล" หนักเกือบ 2 กก.ชี้หากเป็นของจริงราคาถึงหลักล้าน ศูนย์ข่าวศรีราชา - สุดโชคดีชาวประมงพื้นบ้านอ่างศิลา จ.ชลบุรี พบ "อำพันทะเล" หรืออ้วกวาฬ หนักเกือบ 2 กก.ขณะออกเก็บอวนปูม้ากลางทะเล แต่ยังข้องใจใช่ของจริงหรือไม่ วอนผู้เชี่ยวชาญช่วยตรวจสอบชี้หากเป็นของจริงราคาถึงหลักล้าน วันนี้ (12 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านในพื้นที่ ม.5 ต.อ่างศิลา อ.เมืองชลบุรี ว่ามีชาวประมงพบอำพันทะเล หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า "อ้วกวาฬ" ซึ่งถือเป็นวัตถุหายากและมีราคาแพง หลังรับแจ้งจึงเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบ กระทั่งพบกับ นายวิรัช บุญลาด อายุ 46 ปี และภรรยา ที่ได้นำวัตถุคล้ายก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนกับอัมพันทะเล น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม ซึ่งเมื่อใช้นิ้วกดลงไปพบว่ามีความนิ่ม และมีกลิ่นคาว เมื่อนำไปลนไฟมีน้ำมันไหลออกมา นายวิรัช บอกว่า หลังจากได้ออกไปเก็บอวนปูม้าในทะเลอ่างศิลา บริเวณปากคลองชมนาค ได้พบวัตถุคล้าย "อำพันทะเล" จึงรีบนำขึ้นจากทะเล และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากออนไลน์พบวัตถุดังกล่าวมีลักษณะตรงกับ "อำพันทะเล" ทุกประการจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นของจริง เนื่องจากที่ผ่านมา ตนเองเคยพบเห็นโลมา และปลาวาฬเข้ามาว่ายเล่นน้ำทะเลบริเวณดังกล่าว แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจ จึงอยากให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบว่าวัตถุที่พบเป็น "อำพันทะเล" หรือไม่ "หากเป็นของจริงพร้อมที่จะขายให้ผู้ที่สนใจเนื่องจากช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดีทางครอบครัวจึงอยากมีเงินไว้สำรองใช้ และเก็บเป็นทุนต่อยอดในการดำรงชีวิต ทั้งนี้หากใครสนใจสามารถโทรศัพท์สอบถามมาได้ที่เบอร์ 09-6326-1460" นายวิรัช กล่าว ทั้งนี้ "อำพันทะเล" คือขี้ หรืออ้วกของวาฬหัวทุย ที่เกิดจากอาหารจำพวกหมึกที่วาฬกินเข้าไป แต่ร่างกายไม่สามารถขับไขมันจากหมึกได้จึงทำให้ไขมันของหมึกสะสมอยู่ในลำไส้ของวาฬ และเมื่อร่างกายขับถ่ายไขมันส่วนนี้ออกมาพร้อมอุจจาระ หรือสำลอกไขมันออกมา ชาวประมงจะเรียกว่า "อ้วก" ซึ่งส่วนที่ละลายน้ำทะเลได้จะเหมาะกับการนำไปทำน้ำหอมเกรดเอ จึงทำให้มีราคาแพงถึงกิโลกรัมละ 1 ล้านบาท https://mgronline.com/local/detail/9660000053669
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ข่าวสด
ประมงประกาศ 'ปิดอ่าวไทยรูปตัว ก' 8 จังหวัด ฟื้นฟูสัตว์น้ำฤดูวางไข่ กรมประมง ประกาศใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ และเลี้ยงตัวอ่อน ในทะเลอ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ประจำปี 2566 ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.- 15 ส.ค. และช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.-30 ก.ย. ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัด จึงขอความร่วมมือพี่น้องชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงประกาศใช้มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2566 จำนวน 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.-15 ส.ค. 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตก บางส่วนของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจาก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,350 ตารางกิโลเมตร ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.- 30 ก.ย. 2566 ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของ จ.สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจาก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และสิ้นสุดที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1,650 ตารางกิโลเมตร สำหรับบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษ ปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสามสิบล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือประมง หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำการประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า และต้องได้รับโทษทางปกครองอีกด้วย ทั้งนี้ ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน หากพิจารณาจากผลจับสัตว์น้ำจากเครื่องมือประมงพาณิชย์ (เครื่องมืออวนล้อมจับ) เฉพาะในพื้นที่อ่าวไทยตอนในช่วงหลังมาตรการฯ พบว่าปี 2565 มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 11,716.75 กิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ถึง 8,631.33 กิโลกรัม/วัน (ปี 2564 ที่มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 3,085.42 กิโลกรัม/วัน) โดยสัตว์น้ำหลักที่จับได้ อาทิ ปลามงโกรย ปลาหลังเขียว ปลาสะดือขอ แต่โดยภาพรวม การปิดอ่าวฯ ส่งให้ผลการจับปลาเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นจากการเพิ่มของกลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น ปลาสีกุนเขียว ปลาหลังเขียว และปลาตะเพียนน้ำเค็ม สำหรับปลาทู ลูกปลาที่เกิดมาใหม่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนกลาง (ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี) เริ่มเดินทางเข้าหาฝั่ง ซึ่งกรมประมงประกาศปิดต่อเนื่องบริเวณเขตชายฝั่งทะเลของจ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. เพื่ออนุรักษ์ลูกปลาทูที่เกิดใหม่ รวมทั้งประกาศปิดเขตต่อเนื่องบริเวณปลายแหลมเขาม่องไล่ ถึง อ.หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรักษาปลาทูสาวให้หากินและเลี้ยงตัว จนมีขนาดประมาณ 11-12 ซม. หลังจากนั้นจะเริ่มเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่อ่าวไทยตอนใน (อ่าวไทยรูปตัว ก) ฝั่งตะวันตก ในช่วงเดือนมิ.ย.-ก.ค. ในช่วงเวลาดังกล่าวจะพบปลาทูที่มีขนาด ประมาณ 14-15 ซม. ซึ่งเรียกว่า ปลาทูสาว และอยู่หากินในพื้นที่ โดยค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ และเริ่มเคลื่อนเข้าสู่ก้นอ่าว หรือพื้นที่ปิดฝั่งเหนือช่วงเดือนส.ค.-ก.ย. ในช่วงเวลาดังกล่าวพบปลาทูมีขนาด ประมาณ 16-17 ซม. ซึ่งเป็นขนาดพ่อแม่พันธุ์ เริ่มมีไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จะเลี้ยงตัวอยู่ในบริเวณอ่าวไทยตอนในจนปลายปี เมื่อมีความพร้อมที่จะวางไข่ ปลาทูกลุ่มนี้จึงเริ่มอพยพเคลื่อนตัวลงสู่แหล่งวางไข่ในอ่าวไทยตอนกลางอีกครั้งเป็นไปตามวงจรชีวิตปลาทู ซึ่งเป็นผลจากการกำหนดมาตรการ ดังนั้น การดำเนินตามมาตรการจึงต้องมีต่อไป เพื่อคุ้มครองสัตว์น้ำ มิให้ถูกจับก่อนที่จะมีโอกาสได้ผสมพันธุ์และวางไข่ หรือถูกจับก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้สมดุลภายในขีดความสามารถของระบบนิเวศ และจะเป็นหนทางในการนำปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ https://www.khaosod.co.th/economics/news_7710883
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ไทยโพสต์
ปั้นบุคลากรรุ่นใหม่อนุรักษ์โบราณคดีใต้น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ภายใต้องค์การรัฐมนตรี ศึกษาธิการแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอสปาฟา) กรมศิลปากร ยูเนสโก และศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดี ใต้น้ำ ณ เมืองซาดาร์ (ICUA) ประกาศความร่วมมือจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรใหม่ เน้นสร้างความแข็งแกร่ง ด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การฝึกอบรมครั้งนี้ มีกำหนดระยะเวลา 2 สัปดาห์ ในหัวข้อ ?South-East Asian Sub-regional Introductory Course on Conservation and Restoration of Underwater Archaeological Finds? (หลักสูตรเบื้องต้นด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุใต้น้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ระหว่างวันที่ 19 ? 29 มิถุนายน 2566 ณ กรุงเทพมหานคร จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดจันทบุรี นับเป็นการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์และบูรณะโบราณวัตถุครั้งแรกในภูมิภาคที่ครอบคลุมวัสดุหลากหลายประเภท ซึ่งมักพบในแหล่งมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ฟรังกา โคล นักโบราณคดี นักอนุรักษ์ด้านโบราณคดี และวิทยากรร่วมบรรยายจากพิพิธภัณฑ์ซาราวัค (Sarawak Museum ? JMS) กล่าวว่า ประเทศมาเลเซียงานโบราณคดีใต้น้ำมีความท้าทายอย่างมากต่อกิจกรรมโลจิสติกส์ แต่สภาพแวดล้อมใต้น้ำกลับช่วยรักษาวัสดุอินทรีย์และโบราณวัตถุในระดับที่พบได้น้อยมากหรือไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย หากอยู่บนบก การฝึกอบรมฯ ผู้เข้าร่วมจะได้รับความรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงอย่างครอบคลุมตามหลักการและเทคนิคการอนุรักษ์และบูรณะวัสดุประเภทเครื่องดินเผาหรือเซรามิก แก้ว โลหะ ไม้ และวัสดุอินทรีย์อื่น ๆ ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะสำคัญอันจะนำไปสู่การปกป้องและสงวนรักษาโบราณวัตถุล้ำค่าเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป ฟรังกา โคล กล่าวอีกว่า การวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อการอนุรักษ์เชิงคัดเลือกเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพียงวิธีเดียวที่จะช่วยปรับเปลี่ยนเป้าหมายการวิจัยและการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมให้สมดุลกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถที่มีอยู่ การฝึกอบรมครั้งนี้ ซีมีโอสปาฟา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และยูเนสโก จะพัฒนาการอนุรักษ์และบูรณะ มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ โดยบูรณาการความรู้ความชำนาญและทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์ด้านองค์ความรู้และทรัพยากรจำเป็นอื่น ๆ จากศูนย์นานาชาติว่าด้วยโบราณคดีใต้น้ำ (ศูนย์นานาชาติประเภท 2 ที่จัดตั้งขึ้นด้วยความอุปถัมภ์จากยูเนสโก) ณ เมืองซาดาร์ สาธารณรัฐโครเอเชีย หน่วยงานสำคัญทั้ง 4 แห่งนี้มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงพัฒนาศักยภาพของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้พร้อมต่อการดำเนินงานเพื่อปกป้องคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำไว้ให้คนรุ่นหลังต่อไป "เราตั้งความหวังไว้ว่าการฝึกอบรมนี้จะช่วยสร้างบุคลากรรุ่นใหม่จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความรู้ความชำนาญวิชาชีพด้านโบราณคดีใต้น้ำและด้านอนุรักษ์" นายเขมชาติ เทพไชย ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสปาฟากล่าว การฝึกอบรมครั้งนี้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาองค์การยูเนสโกว่าด้วยการคุ้มครองมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ ค.ศ. 2001 ซึ่งรับรองในเดือนพฤศจิกายน 2544 ให้กำหนดกรอบกฎหมายร่วมและแนวปฏิบัติเพื่อให้แต่ละประเทศ สามารถดำเนินการที่เกี่ยวข้องทั้งการบ่งชี้มรดกวัฒนธรรมใต้น้ำ การวิจัย มาตรการปกป้อง และการอนุรักษ์มรดก วัฒนธรรมใต้น้ำ ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นางสาวชิฮิโระ นิชิกาวะ ผู้เชี่ยวชาญโครงการของ ยูเนสโก ได้กล่าวว่า ยูเนสโกยินดีมากที่ได้กลับมาเปิดหลักสูตรฝึกอบรมด้านมรดกวัฒนธรรมใต้น้ำในประเทศไทยอีกครั้ง หลังจากเคยจัดฝึกอบรมในประเทศไทยมาแล้วหลายครั้งระหว่างปี 2552 ถึง 2554 นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ โครงการของยูเนสโกยังมองภาพในอนาคตไว้ว่า อีกสิบปีข้างหน้า ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีใต้น้ำและมีทักษะด้านการอนุรักษ์เพียงพอที่จะปกป้องและบริหารจัดการมรดกทาง วัฒนธรรมใต้น้ำได้อย่างยั่งยืนตามอนุสัญญายูเนสโก ปี ค.ศ. 2001 https://www.thaipost.net/news-update/395434/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ThaiPBS
CAT ประเมินไทยติดกลุ่มแย่ ทำอุณหภูมิโลกสูง 4 องศาฯ ไทยร้อนเพิ่ม 10 เท่า เสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางอากาศอันดับ 9 ของโลก ติด 1 ใน 42 ประเทศเฝ้าระวังขาดแคลนอาหาร -เสี่ยงแห้งแล้งสูง การเสวนาเรื่อง "นโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กับการปรับตัวในภาคเกษตร? จัดขึ้นที่บ้านสวนซุมแซง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก40% ดร.อัศมน ลิ่มสกุล ผอ.กลุ่มการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่า 30 ปี ช่วงแรกๆ อาจมองว่าไกลตัว ไม่เกิดขึ้นจริง หรือเกิดแค่บางพื้นที่ ต่อมาทราบว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดจากคน และการใช้พลังงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญ เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศ ก๊าชที่ปล่อยออกไปอยู่บนบรรยากาศ 10-20 ปี แม้ต้นไม้ และทะเลจะช่วยดูดซับไว้ แต่ส่วนที่เหลืออยู่ก็มากพอที่จะทำให้โลกร้อนขึ้น และมีความเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นเข้ามาด้วย ทั้ง น้ำท่วม น้ำแล้ง ดร.อัศมน กล่าวว่า ที่ผ่านมานานาชาติ มีการทำกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประเทศที่เป็นสมาชิก เพราะไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย จึงให้แต่ละประเทศกำหนดเป้าหมายว่าจะลดก๊าชเรือนกระจกเท่าใด ขณะที่ประเทศร่ำรวยมองว่า การลดก๊าชเรือนกระจกต้องลงทุนมาก จึงให้เงินกับประเทศกำลังพัฒนาไปซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อลดและทดแทน ดร.อัศมน กล่าวว่า ไทยมีเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก 20-25% ก่อนขยับขึ้นมา 40 % ในปัจจุบัน มีแผนแม่บทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ครอบคลุมไปถึงปี ค.ศ.2050 มี 3 กรอบคือลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน อุตสาหกรรม ขยะหรือส่วนอื่นๆ การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม "ปัจจุบันโลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ และวันที่ร้อนก็เพิ่มขึ้น เดิมคือเดือน มี.ค.-เม.ย. ตอนนี้ พ.ค.ก็ยังร้อน คาดอีก 20-30 ปี อุณหภูมิในช่วงที่ปลูกข้าวตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.จะขยับ 2-4 องศาเซลเซียส" นับจากนี้จะมีข้าวหรือพืชบางชนิดอ่อนไหวต่ออุณหภูมิในการผสมเกสร ดังนั้นภาคเกษตร จึงเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย ไทย-อินโดฯ ร้อนจัดแบบดอกเบี้ยทบต้น นายประสาท มีแต้ม นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ผู้ที่ทราบว่า โลกร้อนขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปีพ.ศ.2520 คือ บริษัทขายน้ำมัน แต่ปกปิดข้อมูลไว้ 11ปี ระหว่างนั้นมีการตั้งงบประมาณ30 ล้านเหรียญฯ และเสนอข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสน ความจริง 75 % ของโลกร้อน เกิดจากพลังงาน สหรัฐอเมริกา ปล่อยคาร์บอนฯ 15 ตัน/คน/ปี คนไทยปล่อย 5 ตัน/คน/ปี หรือไฟฟ้า 1 หน่วย ปล่อยคาร์บอนครึ่งกิโลกรัม ขณะที่ต้นไม้ขนาดใหญ่ ดูดซับได้แค่ 20 กก./ปี คำถามคือ ต้องปลูกต้นไม้มากเท่าใด และใช้พื้นที่ตรงไหน จึงจะดูดซับได้เท่ากับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ถ้าเราไม่เปลี่ยนพลังงาน นายประสาท กล่าวว่า โมเดลจากการศึกษา พบไทยจะเจอความร้อนเพิ่มขึ้น 10 เท่า ขณะที่บางประเทศเจอ 3 เท่า ข้อมูลปี 2563 พยากรณ์ว่า มีโอกาส 20 % ที่จะถึง 1.5 องศาฯ ภายใน 5 ปี และในปี 2565 เพิ่มโอกาสเป็น 50% ล่าสุดปีนี้ความร้อนเพิ่มเป็น 66 % ขณะที่น้ำทะเลในแถบที่จะเกิดเอลนีโญ อเมริกาใต้ เปรู ฝั่งตรงข้ามกับอินโดนีเซีย และไทย ความร้อนเพิ่มเร็วแบบ "สูตรดอกเบี้ยทบต้น" จนนักวิทยาศาสตร์ตกใจ ความร้อนเป็นเหมือนโดมิโน ล้มทับกันเป็นทอดๆ ขยายใหญ่ขึ้น และไทยยังเป็น 1 ใน 42 ประเทศที่ถูกเตือนให้ระวังการขาดแคลนอาหาร และเสี่ยงเกิดความแห้งแล้ง "ฤดูกาลอุตริ" ผลกระทบก๊าชเรือนกระจก นักวิชาการอิสระคนเดิม ชี้ว่า ผลการประเมินขององค์กร CAT (Climate Action Tracker) 37 ประเทศ พบว่าทั้งหมดปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 90% ของทั้งโลก โดยกลุ่มประเทศที่ถูกจับว่า"แย่" มี 5 ประเทศ คือ รัสเซีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ และไทย ซึ่งทำให้อุณหภูมิโลกสูงถึง 4 องศาเซลเซียส และไทยยังถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลกที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางภูมิอากาศอีกด้วย นอกจากนี้ ยังพบอัตราส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าของไทยว่า มีการใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วยทั่วประเทศ และหากนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ ก็จะลดค่าไฟฟ้า และลดโลกร้อนได้ แสงอาทิตย์มีมากกว่าที่มนุษย์ใช้ 10,000 เท่า "หากทั้งโลก ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งปี เท่ากับใช้แสงอาทิตย์ที่ส่องถึงโลกเพียง 8 นาที แต่ปัญหาคือ เราไม่มีเทคโนโลยีที่จะไปเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้" จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา ระบุว่า ไทยสามารถเป็นแหล่ง Super power ได้ เนื่องจากมีพลังงานจาก ลม แดด แบตเตอรี่ และหากลงทุนเพิ่มประมาณ 1% ของ GDP ติดต่อกัน 10 ปี จะมีพลังงานใช้เหลือเฟือ และปัญหาโลกร้อนจะจบลงภายในปี 2035 เพราะลดคาร์บอนได้ถึง 90 % ใช้พลังงานหมุนเวียนหักดิบลดโลกร้อน ด้าน ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา อธิบายว่า สาเหตุก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน มาจากระบบทุนนิยม 2 กลุ่มใหญ่ที่เป็นฐานหลัก คือกลุ่มทุนนิยมพลังงานและกลุ่มทุนนิยมเกษตร หากโลกยังถูกขับเคลื่อนด้วยทุนนิยมและมีระบบผูกขาดขนาดใหญ่ของโลกจะแก้ไขได้ยาก "ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมีหลายมิติ เช่น แห้งแล้งสุดขั้ว ในช่วง 1-2 ปีนี้จะเกิดบ่อย ฤดูกาลอุตริ อยู่ดีๆ ฝนตกหนัก บางช่วงเกิดพายุ อุทกภัยรุนแรง ผลผลิตการเกษตรลด เกิดไฟป่า" ผลกระทบด้านสุขภาพ ระบบนิเวศที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานถูกทำลายจากภัยธรรมชาติ การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช เชื้อโรค ความขัดแย้งเรื่องทรัพยากร การย้ายถิ่น มีผู้ลี้ภัยทั้งจากการสูญเสียการผลิต และลี้ภัยจากการทำลายของระบบนิเวศ น้ำสะอาด น้ำจืด ลดลง ความหิวโหย และความยากจน ดร.กฤษดา ชี้ว่า หากต้องการลดผลกระทบโลกร้อน ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบหักดิบ อุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรเคมี เกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เปลี่ยนไปสู่เกษตรเชิงนิเวศ และที่ผ่านมา มีงานวิจัยที่แสดงผลชัดเจนว่า คาร์บอนเครดิตไม่ได้ผลในการช่วยลดโลกร้อน "แผนของไทยที่เสนอกับ UN ในการลดก๊าซเรือนกระจก คือ ภาคเกษตรควรจะเหลือราว 1 ล้านตัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรมีสมรรถนะ แต่จากการประเมินของทีมวิชาการเรื่องการปรับตัวภาคเกษตร พบว่าคนรับรู้น้อยมาก แผนของประเทศยังมาไม่ถึงเกษตรกร" ทั้งนี้ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยในมาเลเซีย ระบุว่า มี 5 ปัจจัยหลักที่เกษตรอาเซียนต้องเร่งปรับตัวคือ ระบบนิเวศน์ ดิน น้ำ พันธุ์พืชมั่นคง เกษตรกรมีอิสระในการผลิต มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ติดตามข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำมาสู่การวางแผนของตัวเอง ยืดหยุ่นในการปรับตัว และมีเครือข่ายทางสังคมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ https://www.thaipbs.or.th/news/content/328711
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|