#1
|
||||
|
||||
สรุปข่าวทะเลและสิ่งแวดล้อม : วันพุธที่ 25 มกราคม 2566
ขอบคุณข้อมูลพยากรณ์จาก กรมอุตุนิยมวิทยา
สภาวะอากาศทั่วไป บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศเย็นถึงหนาวกับมีลมแรง โดยภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 2?4 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งและลมแรงในระยะนี้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย ฝุ่นละอองในระยะนี้: ประเทศไทยตอนบนมีการสะสมฝุ่นละออง/หมอกควันลดลง เนื่องจากลมที่พัดปกคลุมมีกำลังแรงขึ้น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศเย็นกับมีลมแรง อุณหภูมิจะลดลง 2-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 18-21 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. คาดหมาย ในช่วงวันที่ 25 - 26 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นลง กับมีลมแรง โดยอุณหภูมิจะลดลง 5 ? 7 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 3 ? 5 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนล่างและภาคใต้ ส่งผลทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 27 - 30 ม.ค. 66 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงอีกระลอกหนึ่งจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลงอีก 1 ? 3 องศาเซลเซียส สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันยังคงมีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนบริเวณอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ข้อควรระวัง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง รวมถึงระวังอันตรายจากอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศแห้งและลมแรง ส่วนประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างควรระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง ส่วนชาวเรือบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วยตลอดช่วง
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#2
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก เดลินิวส์
นักวิจัยพบ 'แบคทีเรีย' ช่วยย่อยขยะพลาสติกในทะเล เปลี่ยนเป็นสารชีวภาพที่ปลอดภัย หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์พบข้อกังขามานานว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลนั้น หายไปไหนบ้าง ผลวิจัยใหม่นี้ ช่วยหาคำตอบได้ส่วนหนึ่ง และยังเป็นความหวังใหม่ในการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทร แต่ละปีมีขยะพลาสติกที่โดนทิ้งลงสู่มหาสมุทรอย่างน้อย 14 ล้านตัน แต่มีการตรวจพบพลาสติกจากการเก็บตัวอย่างเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก่อให้เกิดข้อสงสัยว่าขยะพลาสติกในทะเลหายไปไหนบ้าง? เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีผลการศึกษาจากสถาบันวิจัยทางทะเล โดยสถาบันรอแยลเนเธอร์แลนด์ (NIOZ) ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin ระบุว่า สามารถพิสูจน์ได้ว่า แบคทีเรียที่มีอยู่ทั่วไปในท้องทะเลชื่อว่า Rhodococcus ruber เป็นตัวย่อยขยะพลาสติก เปลี่ยนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์และสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต Maaike Goudriaan นักศึกษาปริญญาเอกของ NIOZ ชี้ว่า กรณีศึกษานี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการพิสูจน์ได้ว่า แบคทีเรียนี้สามารถย่อยพลาสติกได้จริง อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกที่มีอยู่เกลื่อนมหาสมุทร แต่เป็นเพียงหนึ่งในคำตอบต่อคำถามที่ว่า "พลาสติกหายไปไหนบ้าง" เมื่อมันลงไปอยู่ในมหาสมุทร ในการวิจัยครั้งนี้ ทีมงานได้ดำเนินการทดลองเชิงห้องปฏิบัติการหลายครั้ง ด้วยการป้อนพลาสติกให้แบคทีเรียในน้ำทะเลหลังจากที่นำไปผ่านแสงยูวีมาก่อนแล้ว เพื่อเลียนแบบสภาพการโดนแสงแดดในมหาสมุทร? เป็นที่รู้กันดีว่า แสงอาทิตย์เป็นตัวทำให้พลาสติกสลายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งทำให้แบคทีเรียดูดซึมชิ้นส่วนพลาสติกได้ง่ายขึ้น ทีมวิจัยได้ประเมินว่า เพียงแค่แบคทีเรีย Rhodococcus ruber ชนิดเดียวก็สามารถสลายพลาสติกได้อย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนพลาสติกที่โดนทิ้งลงทะเลต่อปี จึงมีความเป็นไปได้ว่า จะนำแบคทีเรียเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรได้มากขึ้น? กระนั้น ก็ยังมีข้อควรระวัง หากใช้แบคทีเรียจำนวนมากกำจัดขยะพลาสติกที่มีอยู่หลายล้านตัน กระบวนการย่อยสลายพลาสติกจำนวนมหาศาล จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีโลก Rhodococcus ruber?เป็นแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปและทั่วโลก มีอยู่ทั้งในพื้นดิน ในแหล่งน้ำจืดและน้ำทะเล ส่วนแบคทีเรียที่ใช้ในการทดลองของทีมวิจัย เป็นสายพันธุ์ที่คัดเลือกแล้วว่าสามารถเปลี่ยนสารที่เป็นมลพิษ เช่น สารเคมีจากธุรกิจอุตสาหกรรมและยาฆ่าแมลง ให้เป็นโมเลกุลของสารประกอบที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังพบในระหว่างการทดลองว่า แสงอาทิตย์มีส่วนช่วยอย่างมากในการกำจัดขยะพลาสติก เนื่องจากแสงแดดช่วยย่อยสลายพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติก ซึ่งทำให้แบคทีเรียย่อยพลาสติกเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ทีมวิจัยชี้ว่า จากข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นความเป็นไปได้ว่า แสงอาทิตย์เป็นตัวการสำคัญในการสลายขยะพลาสติกที่ล่องลอยอยู่ในทะเลตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1950 และประเมินว่า แสงแดดสามารถทำลายขยะพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเลในอัตราปีละ 2% ของขยะทั้งหมด แม้ว่าการค้นพบครั้งนี้ จะทำให้มีความหวังและช่องทางใหม่ที่นำไปสู่การกำจัดขยะพลาสติกในทะเล แต่หนทางที่ดีกว่าการ "ทำความสะอาดทะเล" ด้วยแบคทีเรีย ก็คือการป้องกันการทิ้งขยะลงทะเล ซึ่งมีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะทำได้ https://www.dailynews.co.th/news/1925653/
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#3
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก ผู้จัดการออนไลน์
เฮ! กองเรือเบ็ดทูน่าไต้หวันกลับเข้าภูเก็ต เชื่อช่วยสานฝันให้ภูเก็ตเป็นฮับทูน่า ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เฮ! กองเรือเบ็ดทูน่าไต้หวันกลับมาแล้ว หลังหยุดเข้าภูเก็ตมานานกว่า 7 ปี เชื่อแนวโน้มดี สานฝันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการค้าและส่งออกปลาทูน่าในอาเซียนต่อไป ทำเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต สร้างรายได้มหาศาลอย่างแน่นอน วันนี้ (24 ม.ค.) ที่บท่าเทียบเรือน้ำลึก จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสำนักงานประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบเรือประมงทูน่า จากไต้หวันซึ่งขออนุญาตเทียบท่าขึ้นปลาทูน่า ที่จังหวัดภูเก็ต โดยเรือลำดังกล่าวสามารถจับปลาทูน่าชนิดต่างๆ ได้กว่า 50 ตัน และนับว่าเป็นกองเรือทูน่าชุดแรกที่กลับเข้ามาเทียบท่าที่จังหวัดภูเก็ต หลังหายไปนานกว่า 7 ปี นายสิทธิพล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การกลับมาของกองเรือทูน่าจากไต้หวันส่งผลดีต่อจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก เดิมจังหวัดภูเก็ตนับว่าเป็นศูนย์กลางของกองเรือทูน่า โดยเมื่อปี 2556 จังหวัดภูเก็ตมีเรือเบ็ดราวทูน่าย้ายฐานมาจากรัฐปีนัง มาขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตเกือบทั้งหมด เนื่องจากใกล้กับแหล่งจับปลา มีท่าเทียบเรือ มีสนามบินที่สามารถส่งออกปลาไปญี่ปุ่นได้โดยตรง มีโรงงาน มีสถานที่พักผ่อน และสถานบันเทิงของลูกเรือประมง โดยมีกองเรือประมงทูน่านำปลามาขึ้นที่จังหวัดภูเก็ตประมาณ 11,000 ตัน ทำให้มีรายได้สะพัด 1,100 ล้านบาท แต่ในปี 2558 ประเทศไทยได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป ที่ระบุว่าประเทศไทยทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ทำให้ประเทศไทยต้องดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย และออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ส่งผลให้เรือประมงทูน่าเข้ามาเทียบท่าลดลง ปริมาณขนถ่ายปลาทูน่าเหลือเพียง 158 ตัน เงินหมุนเวียน 15 ล้านบาทเท่านั้น สำหรับการกลับมาของกองเรือทูน่าในครั้งนี้ เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อจังหวัดภูเก็ต และจะทำให้ภูเก็ตก้าวขึ้นสู่การเป็นฮับของทูน่า หรือศูนย์กลางการค้าขายและส่งออกปลาทูน่าในอาเซียนต่อไป ตามแผนพัฒนาของจังหวัดภูเก็ตได้ ซึ่งปีนี้มีเรือทูน่าเข้ามาขึ้นปลาแล้ว 4 ลำ และมีแนวโน้มว่าเรือทูน่าจะเข้ามาเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม ทั้งเรื่องของการขนส่ง มีท่าเทียบเรือประมงที่อนุญาตให้เรือประมงต่างชาตินำสัตว์น้ำขึ้นท่าเรือได้เลย มีสนามบินนานาชาติบินตรงไปประเทศที่มีการบริโภคทูย่ารายใหญ่ เช่น ญี่ปุ่น อเมริกา ซึ่งนิยมใช้ปลาสดในการปรุงอาหาร เพราะฉะนั้นปลาที่ส่งออกไปจะต้องเป็นปลาที่สด มีคุณภาพ นอกจากนั้น จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา ยังมีโรงงานแปรรูปทูน่ามากถึง 8 โรงงาน สามารถรองรับปลาทูน่าได้ถึง 300 ตัน จังหวัดภูเก็ตยังมีอู่เรือ คานเรือรองรับเรือทูน่าที่ต้องการซ่อมบำรุง ที่สำคัญ ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตไม่มีผู้มีอิทธิพลที่จะบีบบังคับเรียกค่าคุ้มครองจากเรือทูน่า สิ่งเหล่านี้จะเป็นทางเลือกที่สำคัญที่ทำให้เรือประมงทูน่ากลับมาขึ้นปลาที่จังหวัดภูเก็ต เชื่อว่าในปีนี้จะมีเรือกลับมาจำนวนมาก ซึ่งจะสร้างงานและสร้างรายได้ให้จังหวัดภูเก็ตมากขึ้น แม้จะยังไม่ดีเท่าปี 2556 แต่เชื่อว่าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน นายสิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการเข้ามาของกองเรือทูน่ายังมีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากขณะนี้เรือไม่สามารถเข้าไปจอดที่ท่าเทียบเรือขององค์การสะพานปลาได้ เนื่องจากร่องน้ำตื้น ทำให้ต้องมาขึ้นปลาที่ท่าเทียบเรือน้ำลึกแทน ซึ่งการมาเทียบท่าที่ท่าเรือน้ำลึกมีปัญหาเรื่องของความไม่พร้อมของสถานที่ เพราะเป็นที่โล่ง ซึ่งเรื่องนี้จะนำเสนอปัญหาไปทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้ามาขึ้นปลาทูน่าของกองเรือเบ็ดราวทูน่า เชื่อว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้ การจะก้าวขึ้นเป็นฮับด้านทูน่าของจังหวัดภูเก็ตมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน https://mgronline.com/south/detail/9660000007340
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#4
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก สำนักข่าวไทย
ลูกเต่ามะเฟืองฟักเป็นรังที่ 2 ของปี พังงา 24 ม.ค. ? ลูกเต่ามะเฟืองลืมตาดูโลกเป็นรังที่ 2 ของปี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสั่งติดตามสถานการณ์การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าทะเลและให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า ได้รับรายงายจากศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง ตำบลโคกกลอย อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงาว่า ไข่เต่ามะเฟืองฟักเป็นรังที่ 2 ของปีนี้ โดยพบการยุบตัวของปากหลุมรังฟักไข่รังที่ 2 ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ของวันที่ 23 มกราคม 2566 เจ้าหน้าที่จึงเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด ปากหลุมได้ยุบตัวมากขึ้นเรื่อยๆ จนเวลา 00.24 น. คืนที่ผ่านมา (24 มกราคม) ลูกเต่ามะเฟืองได้ทยอยขึ้นปากหลุมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยเปิดปากหลุมและขุดช่วยเหลือลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกจากไข่ขึ้นมาจากหลุมนำไปปล่อยลงสู่ทะเล 56 ตัว นำไปอนุบาลที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน (ศวอบ.) 25 ตัว ส่วนลูกเต่ามะเฟืองอ่อนแอนำเข้าพักฟื้นในตู้ ICU Box 5 ตัว มีไข่เต่ามะเฟืองที่ไม่พัฒนา 28 ฟอง และลูกเต่ามะเฟืองตายแรกคลอด 4 ตัว อัตราการฟักอยู่ที่ 76.27% อัตราการรอดตาย 96% ซึ่งรังไข่เต่ามะเฟืองรังที่ 2 เป็นรังที่ตรวจพบเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 จำนวนไข่ 118 ฟอง นับเป็นวันที่ 55 หลังจากที่พบร่องรอยการขึ้นมาวางไข่ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ได้รับข่าวดีว่า มีแม่เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดตอนบนของหาดท้ายเหมือง จังหวัดพังงาซึ่งเป็นข่าวดีในช่วงเทศกาลตรุษจีน และคาดว่า หลังจากนี้แม่เต่าทะเลจะทยอยขึ้นมาวางไข่กันตามฤดูกาล ก่อนจะกลับลงสู่ทะเลและกลับขึ้นมาวางไข่อีกครั้งในฤดูกาลถัดไป นายอรรถพลกล่าวว่า ได้กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์และดูแลความปลอดภัยของหลุมฟักไข่เต่ามะเฟืองอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดลาดตระเวนชายหาด (เดินเต่า) เพื่อคอยช่วยเหลือหากพบการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล อีกทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงข้อมูลด้านสัตว์ทะเลหายากแก่ผู้เยี่ยมชมอีกด้วย. https://tna.mcot.net/environment-1100856
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
#5
|
||||
|
||||
ขอบคุณข่าวจาก BBCThai
หอยนางรมช่วยป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างไร ที่มาของภาพ,THINKSTOCK หอยนางรมถือเป็นอาหารยอดนิยมสำหรับผู้คนทั่วโลก แต่ในเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาของสหรัฐฯ นอกจากจะเป็นอาหารเลิศรสแล้ว เปลือกของหอยนางรมยังถูกนำไปสร้างเป็นปราการป้องกันน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่ง และน้ำท่วมจากพายุเฮอร์ริเคนอีกด้วย โครงการนี้เกิดขึ้นจากบรรดาร้านอาหารในเมืองนิวออร์ลีนส์ที่มีแนวคิดในการนำเปลือกหอยนางรมที่บริโภคแล้วปริมาณมหาศาลมาใช้สร้างแนวกั้นน้ำทะเลกัดเซาะพื้นที่ชุ่มน้ำของเมืองที่มักเผชิญปัญหาน้ำท่วมในฤดูพายุเฮอร์ริเคนเป็นประจำทุกปี ดิ๊ก เบรนแนน จากร้านอาหาร Bourbon House เล่าว่า ร้านอาหารของเขาเพียงแห่งเดียวรีไซเคิลเปลือกหอยนางรมไปแล้วกว่า 700 ตัน โดยเปลือกหอยที่ได้ถูกนำไปใส่ถุงตาข่ายแล้วนำไปวางกั้นริมตลิ่งพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อสร้างแนวกั้นที่มีชีวิตและเติบโตได้ ดาร์ราห์ บาค จากแนวร่วมฟื้นฟูชายฝั่งลุยเซียนา อธิบายว่า "เปลือกหอยที่เราวางไว้ในน้ำ จะดึงดูดลูกหอยนางรมให้เกาะตามเปลือกหอย และทำให้แนวกั้นมีขนาดใหญ่ขึ้น" เธอบอกว่า ไม่เพียงเปลือกหอยพวกนี้จะช่วยให้มีประชากรหอยนางรมเพิ่มขึ้น แต่ยังดึงดูดสัตว์ชนิดอื่นด้วย และช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่แถบนี้ ปัจจุบัน โครงการนี้ได้สร้างแนวกั้นจากเปลือกหอยนางรมครอบคลุมพื้นที่แนวชายฝั่งระยะทาง 2.4 กม. และพบว่าสามารถลดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรัฐลุยเซียนาลงได้ 50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา https://www.bbc.com/thai/articles/cd1zw36k868o
__________________
การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่รักษ์ทะเลไทยจ้า .... |
|
|